|
 |
|
กำลังอ่านอยู่ : 8 คน |
|
|
|
|

บุญโขเป็นคนยากจน
เขาเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง แต่ก็พอมีรายได้เลี้ยงตัวไปวัน ๆ ไม่มีเหลือเก็บ
วันหนึ่งพอเขาได้ข่าวการเสียชีวิตของพ่อ
จึงเดินทางกลับบ้าน เพื่อมาทำศพให้พ่อตามประเพณี
วันที่เขามาถึง
เขาพบว่า ทุกอย่างได้ถูกจัดการให้เรียบร้อยแล้ว มีคนมาช่วยงานและช่วยเฝ้าศพตอนกลางคืน
โดยมีเหล้ามากมายเป็นตัวยืนโรง ค่าใช้จ่ายในงานทั้งหมดทำให้เขาเป็นหนี้หนึ่งแสนบาท
ทันทีที่เขาก้าวถึงหัวบันไดบ้าน

เสียงพระเทศน์บังสุกุลเป็นภาษาบาลี
บุญโขฟังไม่รู้เรื่องว่าท่านเทศน์อะไร มีคนบอกว่าพระเทศน์ว่า
การสงบสังขารเสียได้เป็นสุข ทำให้บุญโขแปลต่อเอาเองว่า ตายแล้วจะเป็นสุขได้
อย่างน้อยก็ไม่ต้องเป็นหนี้อย่างเขาในเวลานี้
ความจริงบทเทศน์บังสุกุลได้กล่าวว่า
สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา
เกิดขึ้นแล้วดับไป การสงบสังขารเสียได้เป็นสุข
ความหมายที่แท้จริง
ของคำว่าสังขารในบทนี้ ไม่ใช่สังขารที่แปลว่าร่างกายคนเราที่เรามักพูดกันอยู่บ่อยๆ
แต่ท่านหมายถึงสังขาร ที่แปลว่าการปรุงแต่ง ดังนั้น จึงแปลว่า ถ้าเราหยุดปรุงแต่งจิตใจไม่ให้ฟุ้งซ่านเสียได้ก็จะเป็นสุขได้
การสงบร่างกาย
คือ ตายไปนั้นไม่เป็นสุข เพราะว่าถ้าถือตามหลักพุทธศาสนา ก็ยังมีการเวียนว่ายตายเกิด
ยังต้องเดินทางต่อไป วนเวียนในสังสารวัฏ ซึ่งเป็นทุกข์
งานพิธีศพที่บุญโขคิดว่าเป็นพิธีทางศาสนาและต้องเสียเงินมากมายนั้น
ความจริงในส่วนของศาสนาก็คือ การที่พระสวดบังสุกุล เพื่อเตือนสติคนเป็นที่มาฟังสวด
ไม่ได้สวดให้คนตาย เพราะไม่ได้ยินไปแล้ว แต่เนื่องจากคนมางานก็ไม่มีใครฟัง
และฟังก็เป็นภาษาบาลี ไม่เข้าใจ จึงเสียประโยชน์ไป
ส่วนตอนรดน้ำศพ
ท่านก็ให้ทำเพื่อเตือนคนเป็นให้เห็นกับตาตัวเองว่า เมื่อตายไปแล้ว
แม้แต่น้ำที่รดลงบนมือ ก็ยังเอาไปไม่ได้ ไหลทิ้งลง จึงเตือนให้เราอย่ายึดมาก
หลงโลภไปมาก แต่เราก็คิดว่าไปรดน้ำให้คนตายเป็นการอำลาหรือขอขมา ทำให้เสียประโยชน์
ไม่ได้เตือนสติไปอีก
อื่นๆ
นอกจากนั้นไม่ว่าจะเป็นพวงหรีด ฯลฯ ไปจนถึงการเลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้ง
จนเป็นหนี้เป็นแสน ไม่ใช่ส่วนของศาสนา แต่เป็นประเพณีบ้าง ส่วนที่เติมไปเองตามความต้องการของผู้คนบ้าง
พอไม่เลี้ยงก็จะถูกกล่าวหาว่างก ขี้เหนียว แต่พอจัดไปเรื่อยก็ประสบปัญหาอย่างบุญโข
แบบที่ชาวบ้านเรียกว่า คนตายขายคนเป็น
ท่านพุทธทาส
ได้สั่งไว้ในพินัยกรรมของท่าน ให้เผาศพท่านในป่า ไม่มีการสร้างเมรุโดยเฉพาะให้ท่าน
มีเพียงขึงผ้ายาว ผืนเดียวแทนหลังคา เพราะท่านต้องการจะสอนคนด้วยงานศพของท่านว่าไม่ต้องมีอะไรมาก
เป็นสัจธรรมที่แท้จริง เรียบง่าย
หลวงปู่มั่น
ภูริทัตโต ได้แสดงธรรม ณ วัดป่าหนองผือ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
ในขณะที่มีชีวิตนั้นทำบุญดีมาก
การทำศพถึงผู้ตายนั้นไม่ได้เป็นส่วนมาก แต่ทำตามประเพณีเท่านั้น พระอรหันต์นิพพานภูเขาถ้ำต่าง
ๆ ใครทำศพให้ท่านเล่า ท่านทำไมถึงนิพพาน
หลวงปู่ดูลย์
อตุโล ท่านตอบโยมคนหนึ่งที่เรียนถามท่านว่า ที่จริงแล้ว เราควรไว้ทุกข์กี่วันกันแน่
เพราะเห็นธรรมเนียมออกจะต่างกัน บางคนถือ 7 วัน 50 วัน 100 วัน หลวงปู่ตอบว่า
ทุกข์ ต้องกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วให้ละเสีย ไปไว้มันทำไม
งานศพนั้นเรียบง่ายได้
ถ้าทุกคนมางานศพด้วยใจผูกผันกับผู้ตาย มาไว้อาลัย มาแสดงระลึกถึงเป็นครั้งสุดท้าย
ไม่เรียกร้องการต้อนรับมากมายจากเจ้าภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาศึกษาธรรมะด้วยเห็นของจริง
คือการตายที่เป็นสัจธรรมอยู่เบื้องหน้า
ถ้าเป็นได้ดังนี้
คงไม่ต้องมีใครหนีหนี้ไปกลางดึกอย่างบุญโข

|