พิธีตักบาตรเทโวโรหณะในสมัยปัจจุบัน
ตอนรุ่งอรุณของวันตักบาตรเทโว พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ
พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันใดสวรรค์
บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมุติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง
ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า ยังมีพวกแฟนตาซีอีก
แต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พรหม นางเทพธิดา
นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน
อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้
ภาคกลาง
จังหวัดนครปฐม ที่พระปฐมเจดีย์ พระภิกษุสามเณรจะมารวมกันที่องค์พระปฐมเจดีย์
แล้วก็เดินลงมาจากบันใดนาคหน้าวิหารพระร่วง
สมมติว่าพระเดินลงมาจากบันใดสวรรค์ชาวบ้านก็คอยใส่บาตร
จังหวัดอุทัยธานีซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง
ณ วัดสะแกกรัง พระภิกษุจะเดินลงมาจากเขารับบิณฑบาตรจากชาวบ้าน
อนึ่ง ขบวนพระภิกษุสงฆ์นั้นที่ลงมาจากบันใดนั้นนิยมให้มีพระพุทธรูป
นำหน้าสมมติว่าเป็นพระพุทธเจ้าจะใช้พระปางอุ้มบาตร
ห้ามมาร ห้ามสมุทร รำพึง ถวายเนตรหรือปางลีลา
โดยตั้งบนรถ หรือตั้งบนคานหาม มีที่ตั้งบาตรสำหรับอาหารบิณฑบาตร
สำหรับบางที่ไม่นิยมตักบาตรเทโว แต่นิยมตักบาตรตอนเช้าถวายอาหารพระภิกษุแล้ว
ฟังเทศน์รักษา อุโบสถศีล
สำหรับที่นิยมตักบาตรเทโว จะทำบุญเป็น ๒
วันคือวันออกพรรษากับวันเทโว ในวันแรม 1
ค่ำเดือน ๑๑ ในวันออกพรรษานั้น ขึ้น ๑๕
ค่ำ เดือน ๑๑ ก็มีการฟังเทศน์ตอนสาย และรักษาอุโบสถศีล
ภาคใต้
ประเพณีชักพระ (พระพุทธรูป) ทางภาคใต้เรียกว่า
พิธีลากพระมีสองกรณี คือ ชักพระทางบก และชักพระทางน้ำ
ถึงแม้ภาคนี้จะมีความแตกต่างไปจากภาคอื่น
ภาคใต้ ก็มีจุดประสงค์ปรารภเหตุ การเสด็จลงมาของพระพุทธเจ้าจากเทวโลกมาถึงพื้นโลก
ในวันปวารณาออกพรรษาเช่นเดียวกัน ก็จัดให้มีประเพณีแห่พระพุทธรูป
ในวันแรม 1 ค่ำเดือน ๑๑ จึงนำมากล่าวในที่นี้ด้วยประเพณีชักพระ
มี ๒ ประเภท คือ ชักพระทางบก กับชักพระทางน้ำ
พิธีชักพระทางบก
จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนวันชักพระ ๒ วันจะมีพิธีใส่บาตรหน้าล้อ
นอกจากอาหารคาวหวาน ยังมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน
" ปัด" คือข้าวต้มผัด น้ำกะทิห่อด้วยใบมะพร้าว
บางที่ห่อด้วยใบกะพ้อ (ปาล์มชนิดหนึ่ง)
ในภาคกลางเขาเรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน ก่อนจะถึงวันออกพรรษา
๑ - ๒ สัปดาห์ทางวัดจะทำเรือบก คือเอาท่อนไม้ขนาดใหญ่
๒ ท่อนมาทำเป็นพญานาค ๒ ตัว เป็นแม่เรือที่ถูกยึดไว้อย่างแข็งแรง
แล้วปูกระดาน วางบุษบก (ร้านม้า)บนบุษบกจะนำพระพุทธรูปยืนรอบบุษบกก็วางเครื่องดนตรี
ไว้บรรเลงเวลาเคลื่อนพระไปสู่บริเวณงานพอเช้าวัน
๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวบ้านจะช่วยกันชักพระ
โดยถือเชือกขนาดใหญ่ ๒ เส้นที่ผูกไว้กับพญานาคทั้ง
๒ ตัวเมื่อถึงบริเวณงานจะมีการสมโภช และมีการเล่นกีฬาพื้นเมืองต่าง
ๆ กลางคืนมีงานฉลองอย่างมโหฬาร การชักพระที่ปัตตานี
มีอิสลามร่วมด้วย
พิธีชักพระทางน้ำ
ก่อนถึงวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ทางวัดที่อยู่ริมน้ำ
ก็จะเตรียมการต่าง ๆ ก็จะนำเรือมา ๒ - ๓
ลำ มาปูด้วยไม้กระดานเพื่อตั้งบุษบก หรือพนมพระประดับประดาด้วยธงทิว
ในบุษบกก็ตั้งพระพุทธรูปในเรือบางที่ ก็มีเครื่องดนตรีประโคมตลอดทางที่เรือเคลื่อนที่ไปสู่จุดกำหนด
คือบริเวณงานท่าน้ำที่เป็นบริเวณงานจะมีเรือพระหลาย
ๆ วัดมาร่วมงาน ปัจจุบันจะนิยมใช้เรือยนต์จูง
แทนการพาย เมื่อชักพระถึงบริเวณงานทั้งหมดทุกวัดที่มาร่วม
จะมีการฉลองสมโภชพระ มีการเล่นต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน
เช่นแข่งเรือปาโคลน ซัดข้าวต้ม เป็นต้น
เมื่อฉลองเสร็จ ก็จะชักพระกลับวัด บางทีก็จะแย่งเรือกัน
ฝ่ายใดชนะก็ยึดเรือ ฝ่ายใดแพ้ต้องเสียค่าไถ่ให้ฝ่ายชนะ
จึงจะได้เรือคืน
พิธีรับพระภาคกลาง
พิธีรับพระเป็นพิธีบูชาพระพุทธเจ้า ในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากการจำพรรษา
ณ ดาวดึงส์เทวโลก พิธีนี้มักจะปรากฏในภาคกลางที่อยู่ติดกับแม่น้ำ
ลำคลอง ที่เป็นคมนาคมทางน้ำ เช่น อำเภอบางบ่อ
บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทางวัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปยืนลงบุษบกในตัวเรือแล้วแห่ไปตามลำคลอง
ชาวบ้านก็จะโยนดอกบัวจากฝั่งให้ตกในเรือหน้าพระ-พุทธรูป
แล้วโยนข้าวต้ม ยังมีการแข่งขันเรือชิงรางวัลอีกด้วย
ประเพณีตักบาตรพระร้อย
"ประเพณีตักบาตรพระร้อย" หรือ
ใส่บาตรพระร้อยรูป เป็นบุญประเพณีของชาวประเพณีโดยเฉพาะ
ส่วนมากจัดพิธีขึ้นทางน้ำเนื่องด้วยแต่เดิมบ้านอยู่ติดริมน้ำลำคลอง
จึงใช้เรือสัญจร พระส่วนมากจึงใช้เรือบิณฑบาต
เนื่องมาแต่ความเชื่อเดิมว่าหลังวันเสด็จลงจากเทวโลก
คือวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ หรือวันตักบาตรเทโว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงนำพระภิกษุสงฆ์จำนวนเป็นร้อยออกบิณฑบาต
ชาวประชาจึงหลั่งไหลมาถวายสักการะต้อนรับด้วยดอกไม้และบิณฑบาตทาน
จึงมีพิธีตักบาตรเทโวขึ้น แต่ชาวปทุมธานีนิยมกำหนดเอาพระบิณฑบาตจำนวนร้อยรูป
จึงเรียกว่า ตักบาตพระร้อยสืบมา
ประโยชน์ของพิธีออกพรรษา
๑. เมื่อวันออกพรรษามาถึงเป็นการเตือนใจชาวพุทธว่า
เวลาที่ผ่านไป ชีวิตก็ใกล้ตายเข้าไปทุกขณะแล้ว
ควรเร่งทำกุศล และยังได้ถึงความปีติ ที่ได้บำเพ็ญกิจมาตลอดพรรษาและเป็นการเตือนสติอย่าให้จิตของตนละเลิกการทำกุศลไม่ให้ตกไปสู่ทางอบายมากเกินไป
๒. ประโยชน์ที่โดดเด่น คือประโยชน์ของการปวารณาที่สงฆ์การกระทำกันในวันออกพรรษาเพื่อ
ให้สงฆ์ดำรงค์ความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวยากแก่การทำลาย
ถ้าคนในชาติเราทุกฝ่ายหันมา ปวารณากัน คือเปิดใจกัน
เปิดเผยซึ่งกันและกัน หันหน้ามารวมพลังกันพัฒนาประเทศความทุกข์ก็จะบรรเทาเบาบางลง
จากพิธีออกพรรษา
๑. เตือนสติว่าเวลาที่ผ่านพ้นไปอีกพรรษาหนึ่งแล้วได้คร่าชีวิตมนุษย์
ให้ผู้คนนั้นดำรงค์อยู่ในความไม่ประมาทและหันมาสร้างกุศล
๒. การทำบุญออกพรรษาเปิดโอกาสให้ผู้อื่นชำระความผิดของตนได้
คือหลักปวารณา ปกติคนเราคบกันนาน ๆ ก็จะเผย
"สันดาน" ที่แท้ออกมาอาจจะไม่ดีนักแต่ตนเองไม่รู้ตัวแล้วมองไม่เห็น
แต่ผู้อยู่ข้าง ๆ มองเห็นแต่ไม่กล้าเตือน
ดังนั้นตนเองต้องปวารณาตัวให้ผู้อื่นชี้แนะได้
ความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้นและยั่งยืน
๓. ได้ข้อคิดที่ว่า คนเราส่วนใหญ่มักจะลำเอียงเข้าข้างตนเองเป็นฝ่ายถูก
ความผิดของคนอื่นเห็นง่ายส่วนตนเองนั้นความผิดนั้นเห็นยาก
นี่แหละสัญชาตญาณของคนเรา
๔. เป็นการให้รู้ถึงการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในการเปิดใจซึ่งกันและกันโดยไม่มีเล่ห์เหลี่ยมลับลมคมในใด
ๆ ต่อในการคบหาหรืออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
บรรณานุกรม
๑. จ. เปรียญ. ประเพณีและพิธีมงคลไทย. ธรรมบรรณาคาร.
๒๕๑๘ กรุงเทพ ฯ.
๒. สมปราชญ์ อัมมะพันธ์. ประเพณีและพิธีกรรมในวรรณคดี.
โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮ้า.๒๕๓๖ กรุงเทพ ฯ.
๓. สุเมธ เมธาวิทยกุล. สังกัปพิธีกรรม.
พริ้นติ้ง เฮ้า. ๒๕๓๒ . กรุงเทพ ฯ.
๔. แสงฉาย อนงคาราม. อานิสงค์จากพระไตรปิฎก.
ส. ธรรมภักดี. กรุงเทพ ฯ.
๕. ประพันธ์ กุลวินิจฉัย เทศกาลและพิธีกรรมทางพุทธศาสนา
คณะมนุษยศาสตร์ ม.มจร กรุงเทพ ฯ.
............................
ข้อมูล และภาพจาก
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
http://www.onab.moe.go.th
|