10.
มีความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะความเห็นชอบประเภทที่เรียกว่า
กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาอันเห็นชอบในกฎแห่งกรรมเท่านั้น
คำว่า
กรรม
เป็นคำกลาง ๆ แปลว่า การกระทำ
ทำดีก็เรียกว่า กรรมดี
หรือ กุศลกรรม
ทำชั่วก็เรียกว่า กรรมชั่ว
หรือ อกุศลกรรม
ทั้งกรรมดีกรรมชั่วนี้ ทำได้ 3 ทาง คือ ทางกาย ทางวาจา
และทางใจ (คิด)
คำว่า
วิบาก หรือ
ผลของกรรม ก็คือ ผลที่เกิดจากการกระทำทั้ง
3 ทาง ดังกล่าวนั่นเอง
ตัวอย่างง่าย
ๆ เช่น เรารับประทานอาหารเป็นกรรม
ความอิ่มเป็นผลของกรรม
(คือ วิบากของการรับประทาน) แล้วความอิ่มก็เป็นของเรา
คนอื่นจะอิ่มแทนเราไม่ได้ จึงเป็นกฎตายตัวเลยว่า ใครก็ตามที่ทำกรรมแล้วจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมเสมอ
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ และให้คิดอยู่เสมอว่า
"เรามีกรรมเป็นของ
ๆ ตน จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ใครทำกรรมอันใดไว้ จะดีหรือชั่วก็ตาม
จะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น"
ทำดีได้ดี
ทำชั่วได้ชั่ว นี้เป็นกฎความจริงธรรมดาที่จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
เราปลูกต้นมะม่วงก็จะออกผลมาเป็นมะม่วง จะเป็นผลมะพร้าวไปไม่ได้
มีผู้คิดอย่างคนพาลว่า
ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป นั้นไม่จริงหรอก
คนที่พูดอย่างนี้ เพราะเขาทำความดีไม่เป็น ไม่เข้าใจว่าการทำความดีนั้นจะต้องทำให้
ถูกดี ถึงดี และ
พอดี
ถูกดี
ก็คือ ทำดีให้ถูกกาละเทศะให้ถูกจังหวะ และพอเหมาะพอสม
ถึงดี
ก็คือ ทำดียังไม่ทันถึงดี ก็เบื่อหน่ายเกียจคร้านเลิกทำดีเสียแล้ว
พอดี
ก็คือ บางคนทำดีเกินพอดี ล้ำหน้าเพื่อนฝูงเอาเด่นเอาดังเพียงคนเดียว
อย่างนี้จะดีได้อย่างไร
การทำความดีนั้น
นอกจากจะต้องรู้กาละเทศะ และโอกาสที่เหมาะสมแล้ว ยังจะต้องดูความเกี่ยวข้องกับบุคคลกับกลุ่มคนกับสังคมด้วย
การวางตัวดีตามความเหมาะสมอย่างตอนนี้ต้องให้ของ ตอนนี้ต้องพูดจากัน
ตอนนี้ต้องช่วยเหลือในกิจการงาน เป็นต้น และต้องไม่มีลักษณะอันใดส่อให้เห็นว่า
ออกจะประเจิดประเจ้อมากไป เสนอหน้ามากไปหน่อย สรุปว่าเรื่องของการทำความดี
ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถ้าอะไรมันเกิน ๆ เลย ๆ ไปก็ไม่ดี
เพราะในสังคมคนธรรมดา มีคนบางพวกพร้อมที่จะทำลาย พร้อมที่จะคอยจับผิดอยู่
อย่างที่หลวงวิจิตรวาทการท่านว่า
"อันที่จริงคนเขาอยากให้เราดี
แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้
จงทำดีแต่อย่าเด่น จะเป็นภัย
ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน"
จงพิจารณาให้เห็นความจริง
เรื่องกฎของกรรมตามที่กล่าวมาแล้วว่า "ใครทำกรรมอันใดไว้
จะดีหรือชั่วก็ตาม จะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น"
เพราะอะไร ก็เพราะว่าทำความดีมันจะดูดดีเข้ามา ทำความชั่วมันก็จะดูดชั่วเข้ามาเช่นกัน
เรียกว่า ดีดูดดี ชั่วดูดชั่ว
ตามกฎของแรงดึงดูดในทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง เช่น แม่เหล็กมันก็จะดูดได้แต่เหล็ก
จะไม่ดูดไม้หรือวัตถุอื่น ๆ ซึ่งมีอญูต่างกัน เราทำแต่ความดีมีความซื่อสัตย์สุจริตขยันขันแข็งในการทำงาน
ไปทำงานที่ไหน บริษัทห้างร้านไหนก็ยินดีรับเข้าทำงานทั้งนั้น
นี่คือ ดีดูดดี
ดูดทั้งงาน ดูดทั้งเงิน ดูดเจ้านายผู้บังคับบัญชาให้มารักใคร่เอ็นดู
อันเป็นผลของการทำความดีนั่นเอง
ในทางตรงกันข้าม
คนที่สร้างความชั่วไว้มาก ๆ ก็เป็นแรงดึงดูดเหมือนกัน
แต่มันดูดเอาสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาให้มาทำลายตน เช่น
ดูดเอาความเกลียดชัง ดูดเอาโทษทัณฑ์ ดูดเอาโซ่ตรวน คุกตะราง
ดูดลูกปืน ลูกระเบิด เป็นต้น บางคนที่ร้ายมาก ๆ สามารถดูดเอาตำรวจทั้งโรงพักให้วิ่งตามไปจับ
ไปทำลาย ก็มี นี่คือ ชั่วดูดชั่ว
ซึ่งเป็นผลของการทำความชั่ว
ดังนั้น
เราทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด ก็ตาม จะเชื่อเถิดว่า
ถ้าได้กระทำความชั่วแล้วจะไม่ได้รับผลชั่วที่เป็นบาปเป็นทุกข์นั้นเป็นไปไม่ได้
จะต้องได้รับแน่ ๆ เร็วหรือช้าเท่านั้น ถึงแม้ชาตินี้ผลกรรมชั่วยังไม่ให้ผลก็จะต้องได้รับในชาติต่อ
ๆ ไปอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้น
ยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มทำความดี ถ้าได้ประพฤติปฏิบัติโดยสม่ำเสมอจนเป็นปกตินิสัยแล้ว
นั่นก็คือเราได้พัฒนาจิตของเราให้สูงขึ้น เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ
และจะเป็นคนดีได้ตลอดไปด้วย
การกระทำใด
ๆ ที่เป็นความชั่ว การกระทำอย่างไรที่เป็นความดี ทางใดให้ผลเป็นความสุข
และความทุกข์ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้วโดยวิธีการต่าง
ๆ ขอเพียงแต่เราทั้งหลายพยายามเป็นผู้รู้ด้วยปัญญาอันชอบ
เว้นการทำความชั่วทั้ง 10 ประการ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
จนสามารถปลุกตนให้ตื่น เกลียดกลัวอำนาจของความชั่ว ดำรงชีวิตอยู่ในโลกร่วมกับคนอื่นด้วยการทำแต่ความดี
ทั้งทางกาย ทางวาจาและใจ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความเมตตากรุณา
ซื่อสัตย์สุจริตต่อกัน ไม่อาฆาตพยาบาทจองเวรกัน ละการใช้อารมณ์และใช้เหตุผลตัดสินปัญหาข้อขัดแย้งต่าง
ๆ ก็จะทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สมความปรารถนาด้วยกันทุกคน
และอย่างลืมว่า ......
ความดีไม่มีขาย
อยากได้ต้องทำเอง
...........................................................
คัดลอกจากหนังสือ "คู่มือทำความดี"
น. พึ่งพระธรรม เรียบเรียง
สมาชิกชมรมผู้สูงอายุ รพ.ตากสิน
พิมพ์แจกเป็นธรรมทาน