ความพิการ มี ๒ ประเภท คือ ก. พิการทางร่างกาย
ข. พิการทางจิตใจ การพิการทางร่างกาย แยกออกเป็น ๒ คือ
๑. พิการมาแต่กำเนิด ๒. พิการหลังกำเนิด
ในความพิการทุกประเภท ความพิการทางจิตใจ ถือว่าเป็นความพิการที่น่ากลัวที่สุด
ทั้งนี้เพราะจิตใจเป็นผู้นำกาย
ดังนั้น การพิการทางกาย ไม่ว่าจะเป็นมาก่อนกำเนิด หรือหลังกำเนิดก็ตาม
เป็นสิ่งที่ไม่ควรวิตกเลย
เราจะเห็นได้ในที่ทั่วไปมา คนที่พิการทางร่างกาย มิใช่เป็นคนที่เป็นภาระแก่สังคมเสมอไป
ที่ตาบอดแต่จบปริญญาก็มี ที่ทำงานเลี้ยงตัวและครอบครัวได้ดีก็มีมาก
ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับระดับของสติปัญญา ถ้ามีความคิดคือปัญญาแล้ว
ไม่ว่าในการศึกษาหรือการทำงาน ก็หาทำได้ไม่ยากนัก แต่ถ้าจนปัญหาหรือใจพิการเพียงอย่างเดียว
แม้ร่างกายจะปกติดี ก็เอาตัวไม่รอด
มีความพิการเพียงไม่กี่ประเภท ที่ไม่อาจช่วยตัวเองได้
เช่นเป็นอัมพาตทั้งตัว หรือสมองพิการ เป็นต้น แม้กระนั้นก็ตาม
ถ้าระบบประสาทอื่นๆ ที่รับรู้ทางตา หู ยังทำงานได้ดี
ก็อาจจะทำประโยชน์แก่ตนและสังคมได้บ้าง
ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เชื่อว่าความพิการทุกประเภทล้วนเกิดมาแต่อกุศกรรมเท่าทั้งสิ้น
ดังนั้นเพื่อลดปัญหาทางด้านจิตใจ ควรจะปลงให้ตก คือยอมรับความจริงในกฎแห่งกรรม
เมื่อเรายอมรับกฎแห่งกรรม เพียงประกอบเดียวเท่านั้น
ความทุกข์ก็จะลดลงไปเกือบหมดสิ้น และถ้าปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักธรรม
ของพระพุทธองค์เพิ่มเข้ามาอีก ความรู้สึกที่ว่าเราเป็นคนพิการ
ก็จะหมดไปในทันที
ถ้าคิดในแง่ของความเป็นจริง ชีวิตของคนเราก็อยู่กันไม่นานเลย
ทำเป็นลืมหรือไม่สนใจเสีย ไม่ทันไรก็จะเห็นว่า คนที่แก่กว่าเรา
ก็ต่างล้มหายตายจากไปทีละคนสองคน เมื่อคิดมาถึงตัวเราเข้า
ก็ใจหายวาบ
นี่..อีกไม่นานก็จะถึงเวร หรือคิวของเราบ้างละสิ?ดูซิอะไรๆก็ยังทำไม่เสร็จเลย
อายุก็ปาเข้าไปห้าสิบแล้ว (ของผู้เขียน) แล้วจะอยู่ดูโลกไปได้อีกสักกี่ปี
?
เมื่อเราเข้าใจซึ้ง ถึงชีวิตของทุกคนที่เกิดมา แล้วอยู่ในโลกนี้ไม่นานเลย
เราก็จะตัดเรื่องความทุกข์ เกี่ยวกับความพิการทางร่างกายไปได้หมดสิ้น
ยิ่งผู้ที่พิการทางกายบางส่วน แต่ประสาทอื่นยังดีอยู่
ก็น่าจะปรับความคิดเสียใหม่ว่า บางทีความพิการนี้อาจจะก่อคุณให้เสียด้วยซ้ำไป
ถ้ามีผู้เลี้ยงดู หรือมีฐานะทางเศรษฐกิจดี
คุณที่ว่านี้ก็คือ เราก็ถือโอกาสศึกษาและปฏิบัติธรรมเสียเลย
เมื่อก่อนที่ยังไม่พิการ เราต้องทำมาหากินชนิดหัวหกก้นขวิด
แต่เมื่อพิการแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคนอื่น ที่จะต้องทำแทนเราบ้าง
เราก็เอาเวลาว่างช่วงนี้ปฏิบัติธรรม ก็นับว่าเป็นโชคดีของชีวิตที่มหาศาล
ขอแต่ว่าอย่าให้ใจพิการก็แล้วกัน ถ้าใจพิการคือเป็นมิจฉาทิฐิเสียแล้ว
แม้ร่างกายจะปกติดี มันก็ไม่เห็นสัจจะของชีวิต ก็คงเกิดเปล่าและตายเปล่า
ไม่ต่างกับคนพิการ
แง่คิดอีกประการหนึ่ง เมื่อเราเป็นคนพิการ ขอให้คิดไว้เสมอว่า
ยังมีคนที่พิการและโชคร้าย หรือเคราะห์ร้ายกว่าเราอีกมากนัก
ซึ่งเป็นเรื่องจริง มีตัวอย่างอยู่จริงๆ หาดูได้ตามโรงพยาบาลใหญ่
ๆ ทุกแห่ง
ถ้ามีความสามารถจะไปดูได้ อยากจะขอร้องให้ไปดูให้เห็นกับตา
แล้วจะเกิดความประทับใจ และเกิดความภูมิใจว่า เรายังดีกว่าเขาอีกมากมายนัก
บางคนแสนเจ็บปวดนอนดิ้นรน ร้องโอดโอยครวญคราง เหมือนจะขาดใจตาย
เห็นแล้วอนาจใจเป็นที่สุด
จากการที่เคยมีโรคเรื้อรังประจำตัว จึงทำให้ต้องเที่ยวตระเวนไปรักษา
ในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ หลายแห่ง แม้ว่ามันจะไม่หายก็ตาม
แต่จากการไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ และไปหลายแห่งนี่เอง ทำให้ได้เห็นคนเจ็บป่วยหลายประเภท
มองเขาแล้วก็ย้อนกลับมาดูเรา อะพิโธ่เอ๋ย!..
แกเป็นโรคแค่นี้ ก็เที่ยววิ่งรักษาให้วุ่นวายไปได้ คนอื่นเขาเป็นมากกว่าแก่
เขายังเฉย จากนั้นจึงไม่รักษามากว่าห้าปีแล้ว คิดว่าจะปล่อยให้มันตายไปกับตัว
ก็ยังเหลืออยู่อีกไม่กี่ปีแล้ว คิดและปลงได้ มันเลยสบายใจมาจนทุกวันนี้
ทางแก้
๑. ถ้ามีทางรักษาได้ ก็ควรจะรักษาไปก่อน
๒. ถ้ารักษาทางกายไม่ได้ ก็ให้หันมารักษาทางจิต คือใช้
ธรรมโอสถ ของพระพุทธเจ้ารักษา
๓. ขอให้มันพิการแต่กาย ส่วนใจอย่าให้พิการ แล้วเราจะเป็นคนโชคดี
๔. ให้คิดเปรียบเทียบ กับคนที่พิการมากกว่าเรา แล้วเราจะเกิดความสบายใจ
และภูมิใจในตัวเรา
๕. ยอมรับความจริงว่า ความพิการเกิดจากอกุศกรรมเก่าของเราเอง
เป็นการชดใช้กรรมไป หายกันไป
๖. ถือโอกาสที่ร่างกายพิการ เป็นการปฏิบัติธรรมหรือศึกษาธรรมะเสียเลย
๗. ชีวิตของคนและสัตว์ เป็นของเล็กน้อย ยังอยู่อีกไม่นานนัก
ก็จะต้องจากโลกนี้ไป ไม่ว่าคนพิการหรือไม่พิการ ตายแล้วความพิการมันก็ไม่ติดไป
ติดไปแต่ความดีและความชั่ว เท่านั้นแหละเพื่อนเกิด แก่
เจ็บ ตาย ทั้งหลายเอ๋ย.