Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 นางสุชาดา (อุบาสิกา-เอตทัคคะ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.ย. 2006, 11:00 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

นางสุชาดา (มารดาพระยสมหาสาวก)
เอตทัคคะในทางผู้ถึงสรณะก่อน


นางสุชาดาเป็นธิดาของเสนียะ (เสนานิกุฏุมพี) ผู้มีทรัพย์ซึ่งเป็นนายใหญ่แห่งชาวบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา และเป็นมารดาของพระยสมหาสาวก

ในอดีตกาล ครั้งพระพุทธเจ้านามว่า ปทุมุตตระ บังเกิดใน เรือนสกุล กรุงหังสวดี ต่อมา นางฟังธรรมกถาของพระศาสดา เห็นพระศาสดา ทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้หนึ่งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถึงสรณะก่อนอุบาสิกาทั้งปวง จึงทำกุศลให้ยิ่งยวดขึ้นไป ปรารถนาตำแหน่งนั้น

นางเวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ถึงแสนกัป บังเกิดในครอบครัวของกุฎุมพีชื่อเสนียะ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ก่อนพระศาสดาของเราบังเกิด เจริญวัยแล้วได้ทำความปรารถนาไว้ ณ ต้นไทรต้นหนึ่งว่า

ถ้านางไปมีเหย้าเรือนกะคนที่เสมอๆ กัน ได้บุตรชายในท้องแรกจักทำพลีกรรมประจำปี ความปรารถนาของนางก็สำเร็จ

เมื่อพระมหาสัตว์ทรงทำทุกรกิริยาครบปีที่ ๖ ในวันวิสาขปุณณมี นางมีความประสงค์จะทำพลีกรรมในวันเพ็ญเดือน ๖ และก่อนหน้านั้นแหละ ได้ปล่อยแม่โคนมพันตัวให้เที่ยวไปในป่าชะเอม ให้แม่โคนม ๕๐๐ ตัว ดื่มน้ำนมของแม่โคนม ๑,๐๐๐ ตัวนั้น แล้วให้แม่โคนม ๒๕๐ ตัว ดื่มน้ำนมของแม่โคนม ๕๐๐ ตัวนั้นรวมความว่า นางต้องการความข้นความหวาน และความมีโอชะของน้ำนมจึงได้กระทำการหมุนเวียนไป จนกระทั่งแม่โคนม ๘ ตัวดื่มน้ำนมของแม่โคนม ๑๖ ตัว ด้วยประการฉะนี้ ในวันเพ็ญเดือน ๖ นางคิดว่า จักทำพลีกรรมตั้งแต่เช้าตรู่ จึงลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่งของราตรี แล้วให้รีดนมแม่โคนม ๘ ตัวนั้น ลูกโคทั้งหลายยังไม่ทันมาใกล้เต้านมของแม่โคนม แต่เมื่อพอนำภาชนะใหม่เข้าไปที่ใกล้เต้านม ธารน้ำนมก็ไหลออกโดยธรรมดาของตน

นางสุชาดาเห็นความอัศจรรย์ดังนั้น จึงตักน้ำนมด้วยมือของตนเองใส่ลงในภาชนะใหม่ แล้วรีบก่อไฟด้วยมือของตนเอง

เมื่อนางกำลังหุงข้าวปายาสนั้นอยู่ ฟองใหญ่ๆ ผุดขึ้นไหลวนเป็นทักษิณาวัฏ น้ำนมแม้จะแตกออกสักหยาดเดียว ก็ไม่กระเด็นออกไปข้างนอก ควันไฟแม้มีประมาณน้อยก็ไม่ตั้งขึ้นจากเตาไฟ

สมัยนั้น ท้าวจตุโลกบาลมาถือการอารักขาที่เตาไฟ ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร ท้าวสักกะทรงนำดุ้นฟืนมาใส่ไฟให้ลุกโพลงอยู่ เทวดาทั้งหลายรวบรวมเอาโอชะที่สำเร็จแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวารมาใส่ลงในข้าวปายาสนั้น ด้วยเทวานุภาพของตนๆ เสมือนคั้นรวงผึ้งซึ่งติดอยู่ที่ท่อนไม้ถือเอาต้นน้ำหวานฉะนั้น

จริงอยู่ ในเวลาอื่นๆ เทวดาทั้งหลายใส่โอชะในทุกๆ คำข้าว แต่ในวันบรรลุพระสัมโพธิญาณ และวันปรินิพพานใส่ลงในหม้อเลยทีเดียว

นางสุชาดาได้เห็นความอัศจรรย์มิใช่น้อย ซึ่งปรากฏแก่ตนณ ที่นั้น ในวันเดียวเท่านั้น จึงเรียกนางปุณณาทาสีมาพูดว่า

นี่แน่ะแม่ปุณณา วันนี้เทวดาของพวกเราน่าเลื่อมใส่ยิ่งนัก เพราะว่าเราไม่เคยเห็นความอัศจรรย์เห็นปานนี้ ในเวลามีประมาณเท่านี้ เธอจงรีบไปปัดกวาดเทวสถานโดยเร็ว นางปุณณาทาสีรับคำของนางแล้วรีบด่วนไปยังโคนไม้

ในตอนกลางคืนวันนั้น แม้พระโพธิสัตว์ก็ได้ทรงเห็นมหาสุบิน ๕ ประการ เมื่อทรงใคร่ครวญดู จึงทรงกระทำสันนิษฐานว่า วันนี้ เราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าโดยไม่ต้องสงสัย เมื่อราตรีนั้นล่วงไป จึงทรงกระทำการปฏิบัติพระสรีระ ทรงคอยเวลาภิกขาจาร

พอเช้าตรู่ จึงเสด็จมาประทับนั่งที่โคนไม้นั้น ยังโคนไม้ทั้งสิ้นให้สว่างไสวด้วยพระรัศมีของพระองค์

ลำดับนั้น นางปุณณาทาสีนั้นมาได้เห็นพระโพธิสัตว์ประทับนั่งที่โคนไม้ มองดูโลกธาตุด้านทิศตะวันออกอยู่ และต้นไม้ทั้งสิ้นมีวรรณดุจทองคำ เพราะพระรัศมีอันซ่านออกจากพระสรีระของพระองค์ นางปุณณาทาสีนั้นได้เห็นแล้วจึงมีความคิดดังนี้ว่า วันนี้ เทวดาของเราเห็นจะลงจากต้นไม้มานั่งเพื่อคอยรับพลีกรรมด้วยมือของตนเอง จึงเป็นผู้มีความตื่นเต้น รีบมาบอกเนื้อความนั้นแก่สุชาดา

นางสุชาดาได้ฟังคำของนางปุณณาทาสีนั้นแล้วมีใจยินดีพูดว่า ตั้งแต่วันนี้ไป เจ้าจงตั้งอยู่ในฐานะเป็นธิดาคนโตของเรา แล้วได้ให้เครื่องอลังการทั้งปวงอันสมควรแก่ธิดา ก็เพราะเหตุที่ในวันจะได้บรรลุความเป็นพระพุทธเจ้า ควรจะได้ถาดทองใบหนึ่งซึ่งมีราคาหนึ่งแสน ฉะนั้นนางสุชาดานั้นจึงทำความคิดให้เกิดขึ้นว่า เราจักใส่ข้าวปายาสในถาดทองนางมีความประสงค์จะให้นำถาดทองราคาหนึ่งแสนมา เพื่อใส่ข้าวปายาสในถาดทองนั้น จึงรำพึงถึงโภชนะที่สุกแล้ว ข้าวปายาสทั้งหมดได้กลิ้งมาตั้งอยู่เฉพาะในถาด เหมือนน้ำกลิ้งมาจากใบปทุมฉะนั้น ข้าวปายาสนั้นได้มีปริมาณเต็มถาดหนึ่งพอดี

นางจึงเอาถาดใบอื่นครอบถาดใบนั้นแล้วเอาผ้าขาวพันห่อไว้ ส่วนตนประดับประดาร่างกายด้วยเครื่องประดับทุกอย่างเสร็จแล้ว ทูนถาดนั้นบนศีรษะของตนไปยังโคนต้นไทรด้วยอานุภาพใหญ่ เห็นพระโพธิสัตว์แล้วเกิดความโสมนัสเป็นกำลัง สำคัญว่าเป็นรุกขเทวดา จึงโน้มตัวเดินไปตั้งแต่ที่ที่ได้เห็น ปลงถาดลงจากศีรษะแล้วเปิด (ผ้าคลุม) ออก เอาสุวรรณภิงคาร คนโทน้ำทองคำ ตักน้ำที่อบด้วยดอกไม้หอมแล้วได้เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ยืนอยู่

บาตรดินที่ฆฏิการมหาพรหมถวาย ไม่ได้ห่างพระโพธิสัตว์มาตลอดกาลมีประมาณเท่านี้ ขณะนั้นได้หายไปพระโพธิสัตว์ไม่ทรงเห็นบาตร จึงเหยียดพระหัตถ์ขวาออกรับน้ำ นางสุชาดาจึงวางข้าวปายาสพร้อมทั้งถาดลงบนพระหัตถ์ของพระมหาบุรุษๆ ทรงแลดูนางสุชาดาๆ กำหนดพระอาการได้ทูลว่า

ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ดิฉันบริจาคแก่ท่านแล้ว ท่านจงถือเอาถาดนั้นไปกระทำตามความขอบใจเถิด ถวายบังคมแล้วทูลว่า

มโนรถของดิฉันสำเร็จแล้ว ฉันใด แม้มโนรถของท่านก็จงสำเร็จ ฉันนั้น นางบริจาคถาดทองซึ่งมีราคาตั้งหนึ่งแสน เหมือนบริจาคใบไม้เก่าไม่เสียดายเลย แล้วหลีกไป

Image

พระโพธิสัตว์เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงวางถาดทองไว้ริมฝั่ง ลงสรงสนานแล้วเสด็จขึ้น ทรงปั้นเป็นก้อนได้ ๔๙ ก้อน เสวยข้าวมธุปยาสแล้ว ทรงลอยถาดทองลงในแม่น้ำ เสด็จขึ้นสู่โพธิมัณฑสถานตามลำดับ ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ประทับ ณ โพธิมัณฑสถานล่วงไป ๗ สัปดาห์ ทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐโปรดแก่ปัญจวัคคีย์แล้ว ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน ทรงเห็นอุปนิสัยของเด็กชื่อ ยสะ บุตรของนางสุชาดา จึงเสด็จไปประทับนั่ง ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง

แม้ยสกุลบุตรเห็นนางบำเรอนอนเปิดร่างในลำดับต่อจากครึ่งราตรี เกิดความสลดใจพูดว่า วุ่นวายหนอ ขัดข้องหนอ แล้วออกจากนิเวศน์เดินไปยังสำนักพระศาสดานอกพระนครฟังธรรมเทศนาแล้วแทงตลอดมรรคผล ๓

ขณะนั้น บิดาของยสกุลบุตรเดินตามรอยยสกุลบุตรไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามเรื่องของยสกุลบุตร

พระศาสดาทรงปกปิดยสกุลบุตรไว้ ทรงแสดงธรรมจบเทศนา เศรษฐีคฤหบดีก็ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล

ส่วนยสะบรรลุพระอรหัต

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะเขาว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด

ทันใดนั้นนั่นเอง เพศคฤหัสถ์ของเขาก็หายไป เขาได้เป็นผู้ทรงบาตรและจีวรสำเร็จด้วยฤทธิ์. แม้บิดาของท่านก็นิมนต์พระศาสดา พระศาสดาทรงมีพระยสกุลบุตรเป็นปัจฉาสมณะ ติดตามไปข้างหลัง เสด็จไปเรือนของเศรษฐีนั้น เสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว ก็ทรงแสดงธรรมโปรด

จบเทศนา นางสุชาดามารดาและภริยาเก่าของพระยสะ ก็ดำรงอยู่ในพระโสดาปัตติผล

ในวันนั้น นางสุชาดากับหญิงสะใภ้ ก็ดำรงอยู่ในเตวาจิสรณะคือถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ครบ ๓ เป็นสรณะ นี้เป็นความย่อในเรื่องนั้น ส่วนโดยพิสดาร เรื่องนี้มาแล้วในคัมภีร์ขันธกะ

ภายหลังต่อมา พระศาสดาเมื่อทรงสถาปนาเหล่าอุบาสิกาไว้ในตำแหน่งต่างๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาอุบาสิกาผู้นี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถึงสรณะ แล


[อ้างอิง : องฺ.อ. ๑/๒/๘๓-๘๖ ; วินย. ๔/๒๗-๒๙ ; อป.อ. ๘/๑/๑๓๗-๑๔๐]



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
สารานุกรม พระไตรปิฎกฉบับธรรมทาน
http://www.dharma-gateway.com/
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 17 มิ.ย.2015, 6:27 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

นางสุชาดา เสนิยธิดา ผู้ถึงสรณะเป็นคนแรก
:: ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้

หมดอุบาสกแล้วก็ต่อด้วยอุบาสิกา ท่านแรกคือ สุชาดา เสนิยธิดา นางเป็นบุตรสาวของกุฎุมพี (เศรษฐี) นามว่า เสนิยะ แห่งตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ) ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกแห่งแม่น้ำเนรัญชรา ตรงข้ามกับตำบลพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ว่ากันว่านางได้บนเทพเจ้าที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทร เมื่อได้ตามต้องการแล้วก็ลืมแก้บนไปหลายปี

สิ่งที่นางบนไว้ก็คือ ขอให้ได้บุตรชายสืบสกุล ถ้าได้สมปรารถนาแล้วจะมาแก้บน นางก็ได้บุตรชายสมปรารถนาจริงๆ

บุตรชายคนนี้นามว่า ยสะ
จนกระทั่งยสะโตเป็นหนุ่มแล้ว ผู้เป็นแม่จึงนึกขึ้นมาได้ว่า ได้ “ค้างชำระ” กับเทพเจ้าแห่งต้นไทรไว้

เมื่อนางรำลึกได้ว่าเคยบนบานศาลกล่าวกับเทพแห่งต้นไทรไว้แล้วยังไม่ได้แก้บน จึงตระเตรียมเครื่องแก้บนไว้พร้อมสรรพ คือ ข้าวมธุปายาส หุงด้วยนมโคอย่างดี เสร็จแล้วได้สั่งนางปุณณา สาวใช้ให้ไปปัดกวาดโคนต้นไทรให้สะอาด ก่อนนำเครื่องเซ่นไปถวาย

สาวใช้รีบไปยังต้นไทร แลไปแต่ไกล เห็นมีคนนั่งสงบอยู่ที่โคนต้นไม้ ยังไม่ทันพิจารณาถ้วนถี่ นึกว่าเป็นเทพแห่งต้นไทรไม่ต้องปัดกวาดกันละ รีบจ้ำอ้าวมาบ้าน ตะโกนบอกนายหญิงว่า เทพเจ้าท่านนั่งรออยู่แล้วเจ้าค่ะ ยกเครื่องเซ่นไปเถิด

ผู้ที่นั่งสง่าและสงบอยู่ใต้ต้นไทรหาใช่ใครไม่ คือพระบรมโพธิสัตว์เจ้า หลังจากทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาจนกระทั่งผอมซูบซีดเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เป็นลมสลบแล้วสลบอีก แทบจะสิ้นพระชนม์หลายครั้ง แว่วเสียงพิณสามสายลอยมา นัยว่าเป็นพระอินทร์มาเทียบเสียงพิณให้ฟัง ก็พลันได้คิดว่าการบำเพ็ญเพียรก็ไม่ต่างกับการเทียบสายพิณ ถ้าตึงนักสายก็จะขาด ถ้าหย่อนนักเสียงก็จะไม่ไพเราะ ต้องขึงสายให้พอดีๆ จึงจะบรรเลงเพลงไพเราะเสนาะโสต

ทรงคิดได้ดังนี้แล้ว ก็ทรงหันมาดำเนินทางสายกลาง คือไม่ตึงนัก ไม่หย่อนนัก เริ่มเสวยพระกระยาหาร เพื่อให้พระวรกายคงคืนสู่สภาพที่แข็งแรง การที่ทรงทำเช่นนี้ ทำให้ปัญจวัคคีย์ที่คอยเฝ้าปรนนิบัติอยู่ผิดหวัง ถึงกับชวนกันหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

การที่ศิษย์ทั้งห้าหนีไปในช่วงนี้กลับเป็นผลดี เพราะบรรยากาศโดยรอบจะได้สงัดสงบ เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิตอย่างยิ่ง

Image

ขณะพระบรมโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นไทร สาวใช้ก็มาเห็นดังกล่าวข้างต้น รีบไปรายงานให้นายหญิงทราบ นายหญิงคือนางสุชาดา ก็เอาข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองแล้วปิดฝาอย่างดี ถือไปยังต้นไทร ที่คิดว่าเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ และกำลังรอรับเครื่องเซ่นบูชาจากนาง ไปถึงก็ไม่กล้ามองดูตรงๆ รีบยกถาดข้าวมธุปายาสขึ้นถวาย แล้วก็รีบกลับบ้าน (ถวายทั้งข้าวทั้งถาด)

พระบรมโพธิสัตว์เมื่อเสวยข้าวมธุปายาสแล้ว ก็ทรงลงไปยังแม่น้ำเนรัญชราทรงอธิษฐานจิตว่า ถ้าหากจะได้สำเร็จในสิ่งที่ตั้งปณิธานไว้มายาวนาน (คือได้สำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ) ก็ขอให้เกิดนิมิตให้เห็น ว่าแล้วก็ทรงลอยถาดทองนั้นลงในแม่น้ำเนรัญชรา ทันใดนั้นถาดทองก็ลอยทวนกระแสน้ำเป็นที่อัศจรรย์ไปได้หน่อยหนึ่งแล้วก็จมลง

ว่ากันว่าจมลงไปยังนาคพิภพโน่นแน่ะ พญานาคขี้เซา นอนหลับมาหลายกัปหลายกัลป์ ได้ยินเสียงถาดจมลงมากระทบใบเก่าดังกริ๊ก ก็ผงกหัวขึ้นรับรู้หน่อยหนึ่งว่า อ้อ มาตรัสรู้อีกหนึ่งองค์แล้ว เมื่อวานนี้ก็อีกหนึ่ง วันนี้ก็อีกองค์หนึ่ง อะไรทำนองนั้น

เทียน เห็นจะต้องหมายเหตุตัวใหญ่ไว้ตรงนี้ว่า เรื่องราวดังว่ามานี้ไม่มีในพระไตรปิฎก อาจารย์ผู้แต่งพุทธประวัติเขียนกันขึ้นมาเป็น “ภาษาสัญลักษณ์” ไม่ให้แปลตามตัวอักษร

ถาดทอง หมายถึง พระศาสดา
แม่น้ำ หมายถึง โลกหรือคนในโลก
การที่ถาดทองลอยทวนกระแส หมายถึง คำสอนของพระศาสดาทวนกระแสโลกไปสู่กระแสนิพพาน
พญานาคนอนหลับ หมายถึง ปุถุชนผู้หลับใหลอยู่ด้วยกิเลสนิทรา


Image

ตกบ่าย พระบรมโพธิสัตว์ก็ทรงข้ามน้ำไปยังฝั่งตะวันตก คือตำบลพุทธคยา ทรงรับหญ้ากุศะ (แปลกันว่าหญ้าคา แต่คงไม่ใช่) จากพราหมณ์ตัดหญ้าคนหนึ่งนาม โสตถิยะ จำนวน ๘ กำมือ ทรงนำไปปูลาดเป็นอาสนะ ณ ควงไม้ “อัสสัตถะ” (ไม้ตระกูลไทร) ที่มีร่มเงาร่มเย็น ประทับพระปฤษฎางค์พิงต้นไม้ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก (ต้นไม้นี้ต่อมาได้เรียกกันว่า ต้นโพธิ์ เพราะพระโพธิสัตว์ตรัสรู้ “โพธิ” ณ ที่นี้)

ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณที่พึงบรรลุได้ด้วยเรี่ยวแรงแห่งบุรุษ ด้วยความบากบั่นแห่งบุรุษ จะไม่ยอมลุกขึ้นจากบัลลังก์นี้เป็นอันขาด แม้ว่าเลือดและเนื้อจะแห้งเหือดไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตามที

ทรงเข้าฌาน ๔ ทำฌานนั้นให้เป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนา ล่วงปฐมยามก็ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ระลึกชาติแต่หนหลังได้) ล่วงมัชฌิมยามก็ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ (ตาทิพย์ การเกิดตายของสรรพสัตว์ตามกรรมที่ทำไว้) พอล่วงถึงปัจฉิมยามก็ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ (ตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ สิ้นกิเลสอาสวะทั้งมวลเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ พระผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง)

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ณ วันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์วิสาขะ ตรงกับวันเพ็ญเดือนหกพอดี


นางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมธุปายาส หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงเลิกทุกรกิริยา และอาหารมื้อนี้ทำให้พระองค์มีพละกำลังสดชื่น ทรงอิ่มต่อมาอีกหลายวันทีเดียว

พระพุทธเจ้าตรัสภายหลังว่า ในบรรดาบิณฑบาตที่มีอานิสงส์มาก มีอยู่ ๒ คราวเท่านั้น คือ ข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาถวายก่อนตรัสรู้ กับ “สูกรมัททวะ” ที่นายจุนทะกัมมารบุตรถวายก่อนพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน

นางสุชาดาได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะ (เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางถวายทาน คือ การถวายข้าวมธุปายาสนี้เองครับ


เรื่องราวของนางสุชาดานั้น ควรจะจบตั้งแต่คราวที่แล้ว แต่ยังจบไม่ลง เพราะมีเรื่อง “ค้างใจ” ผมอยู่ประเด็นหนึ่ง คือ ตำราว่า นางสุชาดาเป็นมารดาของยสกุลบุตร ผมเลยต้องสะดุด สะดุดเพราะเหตุใด ขอนำประวัติยสกุลบุตร หรือ ยสะ มาเล่าก่อนครับ

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จจากพุทธคยาไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี (แคว้นกาสี) เพื่อแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ ศิษย์เก่าซึ่งหนีมาพักอยู่ที่นี่ ปัญจวัคคีย์ได้ละความเห็นผิด (ความเห็นที่ว่าพระพุทธเจ้าทรงคลายความเพียร เวียนมาเป็นคนมักมาก ไม่มีทางตรัสรู้แน่) กลับมามีความเห็นถูกต้อง และเชื่อว่าพระพุทธองค์ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแน่นอน จึงได้นั่งลงฟังธรรม

หลังจบพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก โกณฑัญญะได้ “ดวงตาเห็นธรรม” ทูลขอบวชเป็นสาวกองค์แรก

วันต่อๆ มา สี่ท่านที่เหลือนั้นก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และขอบวชเช่นเดียวกัน

หลังจากโปรดปัญวัคคีย์แล้ว พระพุทธองค์ประทับจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เวลาจวนรุ่งวันหนึ่ง ขณะทรงจงกรม (เดินกลับไปกลับมาโดยมีสติกำกับ) ทรงสดับเสียงว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” แว่วมา จึงตรัสตอบว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง เข้ามานี่สิ เราจะแสดงธรรมให้ฟัง”

เจ้าของเสียง “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” เป็นเด็กหนุ่มบุตรชายโทนของเศรษฐีเมืองพาราณสี นามว่า ยสะ เศรษฐีคนนี้คือใครไม่บอกชื่อไว้ มารดาของยสะ ชื่ออะไรก็ไม่บอกเช่นกัน ยสะถูกเลี้ยงดูมาอย่างทะนุถนอม เอาอกเอาใจจากพ่อแม่ดุจ “ไข่ในหิน” ตามประสาลูกเศรษฐี หรือคนชั้นสูงสมัยนั้น

บิดาสร้างปราสาทสามฤดูให้บุตรชายอยู่ มีเครื่องอำนวยความสะดวกพร้อม ทุกคืนจะจัด “ปาร์ตี้” ย่อยๆ ในบ้าน มีการขับร้องฟ้อนรำบำรุงบำเรอให้สนุกสำราญเต็มที่

ว่ากันว่า “วงดนตรี” ที่ขับร้องฟ้อนรำนั้น เป็นชนิดที่ “มีสตรีล้วน” ไม่มีบุรุษเจือปนเลย

ยสะเธอก็สนุกสนานสำเริงสำราญเต็มที่ แต่อย่างว่านั่นแหละครับอะไรก็ตามถ้ามากไปก็ให้เบื่อหน่ายหรือ “เอือม” ได้

แล้ววันนั้นก็มาถึง ยสะตื่นนอนกลางดึก มองเห็นบรรดาสาวนางรำเหล่านั้นนอนหลับสนิท มีกิริยาอาการแปลกๆ น่าสังเวชใจ

ตรงนี้ปฐมสมโพธิกถาบรรยายเห็นภาพดีว่า นางบางจำพวกก็นอนกลิ้งเกลือก มีเขฬะ (น้ำลาย) ไหล บางเหล่าก็นอนกรนสำเนียงเสียงกา บางหมู่ก็นอนเคี้ยวทนต์ (ฟัน) นางบางพวกก็นอนละเมอเพ้อฝันจำนรรจาต่างๆ บางหมู่ก็นอนโอษฐ์อ้าอาการวิปลาส

บางเหล่านางก็นอนมีกายเปลือย ปราศจากวัตถา สำแดงสัมพาธฐานให้ปรากฏ “สัมพาธ” แปลว่า แคบ “ฐาน” แปลว่า... ที่รวมกันแล้วแปลยังไงก็เชิญแปลเอาเองเทอญ

ยสะเห็นอาการวิปลาสต่างๆ ดังนั้น ก็เกิดความเบื่อหน่าย สังเวชใจ ร้องได้อย่างเดียวว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” เดินลงมาจากคฤหาสน์กลางดึกโดยไม่มีใครเห็น


ยสะเดินบ่นมาตลอดทาง เดินไปอย่างไร้จุดหมาย มาจวนจะรุ่งสางเอาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระพุทธองค์ทรงสดับเสียงบ่นของเขา จึงรับสั่งตอบว่าที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่สิ เราจะแสดงธรรมให้ฟัง ยสะดังหนึ่งตื่นจากภวังค์เข้าไปหาพระพุทธองค์ ถอดรองเท้าเข้าไปถวายบังคม แล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถา (เรื่องที่พึงแสดงลุ่มลึกลงตามลำดับ คือ ทาน ศีล โทษของกาม สวรรค์ การออกจากกาม) เพื่อวางพื้นฐานให้ยสะพอจะรับรู้เรื่องสูงกว่านั้น แล้วก็ทรงแสดงอริยสัจสี่ประการ

พอจบพระธรรมเทศนา ยสะก็มีดวงตาเห็นธรรม


เช้าวันรุ่งขึ้น บิดามารดาของยสะ เห็นบุตรหายไป (เอ หายไปไม่เห็น) ก็เกณฑ์ผู้คนตามหาเป็นการใหญ่ ทั้งสองคนเดินมุ่งหน้ามาทางป่าอิสิปตนมฤคทายวันพบพระพุทธเจ้า จึงเข้าไปถวายบังคม ถามว่า พระองค์เห็นเด็กหนุ่มบุตรชายของตนมาทางนี้หรือไม่

ความจริงในขณะนี้ ยสะเธอก็อยู่กับพระพุทธองค์นั้นเอง แต่พระองค์ทรงใช้อิทธิภินิหาริย์ บันดาลให้พ่อแม่ลูกไม่เห็นกัน พระพุทธองค์ทรงแสดงอนุปุพพิกถาให้สามีภรรยาคู่นั้นฟัง จบพระธรรมเทศนา ยสะได้บรรลุพระอรหัต สองสามีภรรยาได้ประกาศตนเป็นอุบาสก

บิดามารดาพระยสะ จึงนับว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคู่แรก ก่อนหน้านี้มีพาณิชย์สองคน คือ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ เปล่งวาจาถึงพระรัตนะสอง คือ พระพุทธ พระธรรม เป็นสรณะ

จากนั้นพระพุทธองค์ทรงคลายฤทธิ์ พ่อแม่ลูกทั้งสามจึงมองเห็นกัน บิดาและมารดาของยสะ ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวภัตตาหารที่บ้าน ยสะทูลขออุปสมบทจากพระพุทธเจ้า แล้วโดยเสด็จไปยังบ้านตน

เพื่อนซี้ของยสะล้วนเป็นบุตรของผู้มีอันจะกินทั้งนั้น รวม ๕๔ คน ได้ข่าวว่ายสะออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ก็พากันมาบวชตาม หลังจากบวชแล้วก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์โดยทั่วหน้ากัน

เป็นอันว่า เวลาไม่นานได้เกิดมีพระอรหันต์ขึ้นในโลก จำนวน ๖๐ องค์ (ไม่นับพระพุทธเจ้า) ด้วยกัน นี้คือเรื่องราวอดีตเพลย์บอย นามว่า ยสะ ยสะคนนี้แหละที่คัมภีร์อรรถกถาบอกว่าเป็นบุตรชายของนางสุชาดา หรือพูดอีกนัยหนึ่ง นางสุชาดาเป็นมารดาของยสะคนนี้


สงสัย ที่ผม “ค้างใจ” ก็เพราะว่า นางสุชาดาอยู่ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ใกล้กับสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงทำทุกรกิริยา ก่อนตรัสรู้อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตรงข้ามกับตำบลพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ อยู่ในเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ห่างกันคนละโยชน์และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ อยู่คนละเมือง คนละแคว้นเลยทีเดียว ถ้าดูตามแผนที่ปัจจุบันนี้ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมอยู่ห่างจากป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี (ปัจจุบันนี้เรียกว่า สารนาถแห่งรัฐพิหาร) ประมาณ ๒๐๐ กว่ากิโลเมตร

แล้วอย่างนี้ คัมภีร์อรรถกถาท่านว่า นางสุชาดาเป็นมารดาของยสะได้อย่างไร หรือว่าคนละยสะ แต่เมื่อเปิดดูพจนานุกรมวิสามานยนามของ ดร.มาลาลา เสเกรา ท่านก็บอกว่าเป็นสุชาดาคนเดียวกัน และเป็นยสะคนเดียวกัน

ถ้าจะให้ผมเดา (สมมติว่าที่พูดนี้เป็นเรื่องจริง) เมืองพาราณสี แคว้นกาสีในสมัยนั้นอยู่ในปกครองของพระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ นี้คือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

เมื่อรัฐทั้งสองอยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน ผู้คนโดยเฉพาะเศรษฐีย่อมจะย้ายนิวาสสถาน หรือไปมีบ้านอยู่ในแคว้นทั้งสองได้นี้เป็นเรื่องธรรมดา นางสุชาดาก็คงอยู่ที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธบ้าง ตามสามีไปอยู่ที่เมืองพาราณสี แคว้นกาสีบ้างเป็นครั้งคราว ตอนนางบนเทวดาและให้กำเนิดบุตรนามยสะนั้น คงอยู่ที่แคว้นมคธ พอบุตรชายโตแล้วก็คงมาอยู่ที่เมืองพาราณสี จนเกิดเรื่องราวดังกล่าวมาข้างต้น

ถ้าจะให้เดาก็เดาดังนี้แล ผิดถูกอย่างไร ท่านผู้รู้ (จริง) ต้องชี้แจงมาให้ผมทราบ ส่วนผู้รู้ไม่จริงไม่ต้องบอกมา เพราะมีอยู่แล้วคนหนึ่งคือตัวผม
สงสัย หลับ สงสัย



สาธุ สาธุ สาธุ คัดมาจาก...หนังสือ พุทธสาวก พุทธสาวิกา
ประมวลประวัติพระเถระพระเถรี อุบาสกอุบาสิกาสมัยพุทธกาล

เรียบเรียงโดยศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50297

==============

ดอกไม้ นางสุชาดา เอตทัคคะในทางผู้ถึงสรณะก่อน
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7472

ดอกไม้ อุบาสิกา ในสมัยพุทธกาล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=46456

ดอกไม้ อนุปุพพิกถา คืออะไร ?
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=42446

เทียน ยสเจติยสถาน หรือ “ยสสถูป” ณ สารนาถ
อนุสรณ์สถานที่่พระพุทธเจ้าทรงพบยสกุลบุตร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=43040
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่หัวข้อนี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไข หรือตอบได้
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง