Home
•
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทาน
•
หนังสือ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
•
แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้
ค้นหา
สมัครสมาชิก
รายชื่อสมาชิก
กลุ่มผู้ใช้
ข้อมูลส่วนตัว
เช็คข้อความส่วนตัว
เข้าสู่ระบบ(Log in)
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
พุทธทาสฯ ...ไม่ตายจากพระพุทธศาสนา!!
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
:: ลานธรรมจักร ::
»
สนทนาธรรมทั่วไป
ผู้ตั้ง
ข้อความ
สายลม
บัวเงิน
เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245
ตอบเมื่อ: 26 พ.ค.2005, 7:01 pm
รายงานพิเศษ : พุทธทาสฯ ...ไม่ตายจากพระพุทธศาสนา!!
..............................
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 พฤษภาคม 2548 17:12 น.
อมรรัตน์ ล้อถิรธร...รายงาน
ในโอกาส 99 ปีชาตกาลท่านอาจารย์พุทธทาส ภิกขุ ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ ทางสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี ได้จัดงานวันล้ออายุ ท่านพุทธทาสฯ ขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 พ.ค. มีการเดินตามรอยอดีตพุทธทาส ตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นพุทธทาส กระทั่งเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ และจัดตั้งสวนโมกขพลารามขึ้น โอกาสนี้ ผู้จัดการออนไลน์ ขอย้อนปูมชีวิตและความคิดที่น่าสนใจของท่านอาจารย์พุทธทาสฯ ผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปวงการพระพุทธศาสนา ของไทย เจ้าของหลักธรรมและวลีที่โด่งดัง จิตว่าง..ว่างจากตัวกู ของกู
ท่านอาจารย์พุทธทาส มีนามเดิมว่า เงื่อม นามสกุล พานิช เกิดเมื่อ วันอาทิตย์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย วันที่ 27 พ.ค. 2449 บิดา ชื่อ เซี้ยง มารดาชื่อ เคลื่อน มีน้อง สองคน น้องชายชื่อ ยี่เก้ย น้องสาวชื่อ กิมซ้อย บิดาของท่าน มีเชื้อสายจีน ประกอบอาชีพค้าขายของชำที่ตลาดพุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
อิทธิพลที่ท่านพุทธทาสได้รับจากบิดา คือ ความสามารถทางด้าน กวี และ ทางด้านช่างไม้ ส่วนอิทธิพลที่ได้รับจากมารดา คือ ความสนใจ ในการศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้ง ท่านพุทธทาส มีอุปนิสัยที่เน้นเรื่อง ความประหยัด เรื่องความละเอียดละออในการใช้จ่าย และการทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด และต้องทำให้ดีกว่าครูเสมอท่านได้เรียนหนังสือแค่ชั้น ม.3 แล้วต้องออกมาค้าขายแทนบิดาซึ่งเสียชีวิต พออายุครบ 20 ปี ก็ได้บวชเป็นพระ
ตามคตินิยมของชายไทย ที่วัดโพธาราม อ.ไชยา ได้รับฉายาว่า อินทปัญโญ แปลว่า ผู้มีปัญญา อันยิ่งใหญ่ เดิมท่านพุทธทาสตั้งใจจะบวชเรียนตามประเพณีเพียง 3 เดือน แต่ความสนใจ ความซาบซึ้ง ความรู้สึกเป็นสุข และสนุกในการศึกษา และเทศน์แสดงธรรม ทำให้ท่านไม่อยากสึก เล่ากันว่า เจ้าคณะอำเภอ เคยถามท่าน ขณะที่เป็น พระเงื่อม ว่า มีความคิดเห็น อย่างไร ในการใช้ชีวิต ท่านตอบว่า "ผมคิดว่า จะใช้ชีวิต ให้เป็น ประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ให้มากที่สุด" "..แต่ถ้ายี่เก้ยจะบวชผมก็ต้องสึกออกไปอยู่บ้านค้าขาย" ท่านเจ้าคณะอำเภอ ก็เลยไปคุย กับโยมแม่ของพระเงื่อมหรือท่านพุทธทาสว่า ท่านควรจะอยู่เป็นพระต่อไป ส่วนยี่เก้ย น้องชายของท่านนั้น ไม่ต้องบวชก็ได้ เพราะมีชีวิตเหมือนพระอยู่แล้ว คือ เป็นคนมักน้อย สันโดษ การกินอยู่ ก็ เรียบง่าย ตัดผม สั้นเกรียนตลอดเวลา นายยี่เก้ยก็เลยไม่ได้บวช ให้พี่ชายบวช แทนมาตลอด ซึ่งภายหลังนายยี่เก้ย ก็คือ ท่านธรรมทาส ฆราวาสผู้เป็นกำลังหลักของคณะธรรมทาน ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของสวนโมกขพลาราม
พระเงื่อม ได้เดินทางมาศึกษาธรรมะต่อที่กรุงเทพฯ โดยสอบได้นักธรรมเอก แล้วเรียนภาษาบาลี จนสอบได้ เปรียญ 3 ประโยค ระหว่างที่เรียนเปรียญธรรม 4 อยู่นั้น ด้วยความที่ท่านเป็นคนรักการศึกษา ค้นคว้าจากพระไตรปิฎก และศึกษาค้นคว้าออกไปจากตำรา ถึงเรื่องการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา อินเดีย และ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก ทำให้ท่านรู้สึกขัดแย้งกับวิธีการสอน ธรรมะ ที่ยึดถือรูปแบบตามระเบียบแบบแผนมากเกินไป ความย่อหย่อนในพระวินัยของสงฆ์ ตลอดจน ความเชื่อที่ผิดๆ ของพุทธศาสนิกชนในเวลานั้น ทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาที่สอนที่ปฏิบัติกันในเวลานั้น คลาดเคลื่อนไปมากจากที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ ท่านจึงตัดสินใจ หันหลังให้กับการศึกษาของสงฆ์ เวลานั้น กลับไชยา เพื่อศึกษาและทดลองปฏิบัติ ตามแนวทางที่ท่านเชื่อมั่น โดยร่วมกับนายธรรมทาส และคณะธรรมทาน จัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม"สวนโมกขพลาราม" ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2475 จากนั้น ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมะอย่างเข้มข้น จนเชื่อมั่นว่า ท่านมาไม่ผิดทางแน่ และได้ประกาศ ใช้ชื่อนาม "พุทธทาส" เพื่อแสดงว่า ให้เห็นถึงอุดมคติสูงสุดในชีวิตของท่าน ซึ่งท่านเคยบันทึกไว้ว่า ชีวิตของข้าพเจ้า สละทุกอย่าง มุ่งหมายต่อความสุขนี้ และประกาศเผยแพร่ความสุขนี้เท่านั้น ไม่มีอะไรดีกว่านี้ ในบรรดาที่มีอยู่ในพุทธศาสนา..."
อุดมคติ ที่หยั่งรากลึกลงแล้วนี้ ทำให้ท่านพุทธทาสสนใจใฝ่หาความรู้ทางธรรมะตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท หรือหินยาน แต่ครอบคลุมไปถึงพระพุทธศาสนาแบบมหายาน และ ศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู ซิกข์ เป็นต้น จากความรอบรู้ที่กว้างขวา และลึกซึ้งนี้เอง ทำให้ท่านสามารถประยุกต์วิธีการสอนและปฏิบัติธรรมะได้อย่างหลากหลาย ให้คนได้เลือกปฏิบัติให้สอดคล้องกับพื้นความรู้และอุปนิสัยของตนได้ โดยไม่จำกัดชนชั้น เชื้อชาติ และศาสนา เพราะท่านเชื่อว่า มนุษย์ทุกคน ก็คือ เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ และตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น และหัวใจของทุกศาสนาก็เหมือนกันหมด คือ ต้องการให้คน พ้นจากความทุกข์ ท่านจึงได้ตั้งปณิธานในชีวิตไว้ 3 ข้อ คือ
1. ให้พุทธศาสนิกชน หรือศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตาม เข้าถึงความหมายอันลึกซึ้งที่สุดแห่งศาสนาของตน 2. ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา และ 3. ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม
แม้ในความพยายามที่จะทำตามปณิธานนี้ จะทำให้บางคนไม่เข้าใจท่าน ไม่ชอบท่าน ด่าว่าท่าน และ กล่าวหาว่าท่านจ้วงจาบพระพุทธศาสนา เป็นคอมมิวนิสต์ หรือรับจ้างคนคริสต์มาทำลายล้างพระพุทธศาสนาก็ตาม แต่ท่านกลับรับฟังคำวิจารณ์เหล่านี้ด้วยใจเป็นกลาง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนทางความคิดในเรื่องเนื้อหาและหลักการ มากกว่าที่จะก่อความขัดแย้งส่วนตัว เพราะท่านมีหลักในการทำงานว่า " พุทธบุตรทุกคนไม่มีกังวลในการ รักษาชื่อเสียง มีกังวลแต่การทำความบริสุทธิ์เท่านั้น เมื่อได้ทำความบริสุทธิ์ มองเห็นชัดเจนใจอยู่แล้วว่า นี่มันบริสุทธิ์ เป็นธรรมแท้ ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เราต้องทำด้วยความพยายามอย่างสุดชีวิต จะมีชื่อเสียงหรือไม่นั้น อย่านึกถึงเลยเป็นอันขาด จะกลายเป็นความเศร้าหมองและหลอกลวงไปไม่มากก็น้อย"
ในที่สุด ท่านก็ได้รับการยอมรับจากวงการคณะสงฆ์ไทย วงการศึกษาของไทย และวงการศึกษาธรรมะของโลก และได้รับการยอมรับให้เป็นเสนาบดีแห่งกองทัพธรรมในยุคหลังกึ่งพุทธกาล
ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก กล่าวถึงบทบาทของท่านพุทธทาสภิกขุต่อวงการพระพุทธศาสนาค่ะว่า ท่านมีคุณูปการในการปฎิรูปพระพุทธ
ศาสนา ตีความพระไตรปิฎก และถ่ายทอดด้วยภาษาที่เข้าถึงจิตใจปัญญาชน
ผมคิดว่า พุทธทาสภิกขุท่านมีบทบาทในฐานะนักปฎิรูปพระพุทธศาสนาคนสำคัญ คือ การปฎิรูปพระพุทธศาสนานั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 และหลังจากรัชกาลที่ 4 ก่อตั้งนิกายธรรมยุติขึ้นมาแล้ว พระในสายธรรมยุติก็ได้สืบทอดเจตนารมณ์ในการปฎิรูปคำสอนในพระพุทธศาสนา แต่ต่อมาด้วยความใกล้ชิดกับอำนาจ ทำให้บทบาทของพระสายธรรมยุติในการสืบทอดการตีความหรือการปฎิรูปคำสอนอ่อนด้อยลง ในระยะหลังพระสายมหานิกายกลับมีบทบาทเด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาถึงยุคของท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านได้ปฎิรูปตีความคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างแตกฉาน อย่างลึกซึ้ง โดยที่ท่านตีความพระไตรปิฎกทั้งหมดเลย และพูดออกมาด้วยภาษาสมัยใหม่ร่วมสมัย เข้าถึงจิตใจของผู้ที่มีการศึกษาและปัญญาชน เพราะฉะนั้นการตีความคำสอนในพระพุทธศาสนาของท่านพุทธทาสนั้น ถือเป็นปรากฎการณ์ที่สำคัญและเป็นคุณูปการที่ท่านมีต่อวงการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
ปัจจุบัน ทุกมหาวิทยาลัยที่มีแผนกสอนวิชาศาสนาสากล ทั้งในยุโรป และอเมริกาเหนือ ล้วนศึกษางานของท่านพุทธทาส ซึ่งหนังสือของท่านกว่า 140 เล่ม ได้รับการแปลเป็น ภาษาอังกฤษ, กว่า 15 เล่ม เป็นภาษาฝรั่งเศส, และอีก 8 เล่ม เป็นภาษาเยอรมัน นอกจากนั้นยังแปลเป็นภาษาจีน อินโดนีเซีย ลาว และ ตากาล็อค อีกด้วย กล่าวได้ว่า ในประวัติศาสตร์ไทย ท่านอาจารย์พุทธทาสมีผลงานที่เป็นหนังสือแปลสู่ต่างประเทศมากที่สุด!
อาจารย์ทวีวัฒน์ กล่าวถึงหลักธรรมคำสอนที่เด่นๆ ของท่านพุทธทาสภิกขุค่ะว่า
หลักธรรมที่เด่นๆ ก็จะมีเรื่องของหลัก อนัตตา ซึ่งท่านมักจะขอยืมคำของทางฝ่ายมหายานมาใช้เรียกว่า สุญตา คือความว่าง ซึ่งท่านพูดด้วยภาษาที่ง่าย คือพูดด้วยคำว่า จิตว่าง และท่านก็พูดในลักษณะที่ให้คนจำได้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือท่านใช้คำว่า จิตว่างนั้น ว่างจากตัวตนของตน แต่ท่านใช้คำที่ให้สะดุดตาสะดุดหูของผู้ฟัง คือ จิตนั้นว่างจากตัวกูของกู ตัวกูของกูก็คือ การยึดมั่นถือมั่นในอัตตาตัวตนนั่นเอง อันนี้ผมคิดว่าเป็นข้อเด่นข้อหนึ่งของท่านพุทธทาสภิกขุ ข้อที่ 2 ผมคิดว่าการตีความปฎิจจสมุปบาทของท่านนั้นโดดเด่น แต่เดิมนั้นในพระพุทธศาสนาของไทย รวมทั้งของเถรวาทโดยรวมนั้น มักจะตีความปฎิจจสมุปบาทในลักษณะข้ามภพข้ามชาติ หมายถึงว่า ปฎิจจสมุปบาทสายหนึ่งกินเวลาตั้งแต่ชาติก่อนมาถึงชาตินี้ แล้วก็จะไปชาติหน้า แต่ท่านพุทธทาสนั้นตีความโดยใช้หลักของการเข้าหาปัจจุบันมาทำ ก็คือ ปฎิจสมุปบาทสายหนึ่งกินเวลาเพียงแค่ชั่วขณะจิตเดียว เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นมิติใหม่ที่ท่านพุทธทาสได้นำมาสู่พุทธศาสนาในสังคมไทย และของเถรวาทโดยรวมด้วย หลักต่อไปที่ค่อนข้างเด่นก็ ได้แก่ หลักอิทัปปัจจยตา ซึ่งแต่เดิมนั้น มีพระภิกษุเอ่ยถึงหลักนี้น้อยมาก ทั้งๆ ที่เป็นหลักที่มีความสำคัญ อิทัปปัจจยตาก็คือ หลักของเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ สาระสำคัญก็คือ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี เมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ก็เกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ เพราะฉะนั้นท่านนำเอาหลักปัจจยตาในพระพุทธศาสนามาทำให้เห็นเป็นแนวคิดที่เด่นชัดขึ้นมา ทำให้ปัญญาชนหรือผู้ที่มีการศึกษาเกิดความรู้ความเข้าใจ และเกิดความสนใจในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น
ตลอดชีวิตของท่านพุทธทาส ท่านย้ำอยู่เสมอว่า "ธรรมะ คือ หน้าที่" เป็นการทำหน้าที่ เพื่อความอยู่รอด ทั้งทางฝ่ายกายและฝ่ายวิญญาณของมนุษย์ และท่านได้ทำหน้าที่ในฐานะทาสผู้ซื่อสัตย์ของพระพุทธเจ้า ทุกอณูแห่งลมหายใจเข้าออก จนแม้วาระสุดท้ายแห่งชีวิต จึงไม่น่าสงสัยเลยว่า ผลงานที่ท่านสร้างสรรค์ไว้ เพื่อเป็นมรดกทางธรรมนั้น จะมีมากมายเพียงใด
อาจารย์ทวีวัฒน์ กล่าวถึงมรดกที่ท่านพุทธทาสภิกขุทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังค่ะว่า
สิ่งที่ท่านทิ้งมรดกไว้ให้ก็คือ งานปฎิรูปคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ มีคนกล่าวกันไว้ว่า การปฎิรูปคำสอนในพระพุทธศาสนาซึ่งเริ่มต้นจากรัชกาลที่ 4 นั้น ดำเนินต่อเนื่องมาตลอด 200-300 ปี และมาเสร็จสิ้นสมบูรณ์เอาในงานของท่านพุทธทาสภิกขุ เพราะฉะนั้นถือว่าท่านได้กระทำภารกิจ ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงริเริ่มไว้ และท่านได้สานต่อและได้ทำโดยเสร็จสมบูรณ์ในชั่วชีวิตของท่าน คือ ในทัศนะของนักวิชาการแล้ว มองว่า การตีความพระไตรปิฎกของพุทธทาสภิกขุนั้นค่อนข้างจะสมบูรณ์เกือบจะทุกแง่ทุกมุม เพราะงั้นสิ่งที่นักปราชญ์ในยุคหลังพุทธทาสกระทำนั้น มิใช่เป็นการตีความในพระไตรปิฎก แต่จะ Contribute ในด้านอื่นๆ เช่น พระธรรมปิฎก ความโดดเด่นของพระธรรมปิฎกนั้น การนำเอาหลักพุทธธรรมหรือหลักพุทธศาสนานั้น ไปตอบโต้กับแนวคิดของตะวันตก อันนั้นคือ จุดเด่นของพระธรรมปิฎก ในขณะที่ของท่านพุทธทาสนั้น ท่านตีความพระไตรปิฎกอย่างแตกฉานในเกือบจะทุกแง่ทุกมุม เพราะฉะนั้นงานปฎิรูปคำสอนของพุทธทาสนั้น ถือได้ว่า เป็นการกระทำให้ความใฝ่ฝันของรัชกาลที่ 4 สำเร็จสมบูรณ์ในพระพุทธศาสนาของไทย ผมคิดว่าสานุศิษย์ของท่านพุทธทาสก็ยังมีอยู่ เพราะอิทธิพลทางความคิดของท่านพุทธทาสนั้นมีอยู่อย่างลึกซึ้ง ในพระพุทธศาสนาของไทย แม้ว่าในรูปแบบของพุทธศาสนาที่สามัญชนนับถือกันอยู่นั้น ดูจะไปปะปนกับไสยศาสตร์หรือกับความเชื่ออื่นๆ ก็ตาม แต่ในแง่ของหลักวิชาในแง่ของความแม่นยำของทฤษฎีแล้ว ท่านพุทธทาสได้วางพื้นฐานที่ชัดเจนและมั่นคงให้กับนักวิชาการชาวพุทธในยุคต่อมา อิทธิพลของท่านยังอยู่ แต่เป็นอิทธิพลในระดับลึก ซึ่งจะส่งผลไปในระยะยาว จะไม่หวือหวาแบบหลวงพ่อคูณ หรือแบบพระเกจิอาจารย์อย่างอื่น อิทธิพลของท่านเป็นอิทธิพลทางความคิด ซึ่งส่งผลระดับลึกและยาวนาน
ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ละสังขารกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวัน ที่ 8 ก.ค. 2536 สิริรวม อายุ 87 ปี นับได้ 67 พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่าน ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธาน รับมรดกความเป็น"พุทธทาส" เพื่อพุทธทาสจะได้ไม่ตายไปจากพระพุทธศาสนา!!
...................
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9480000069965
_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
admin
บัวทอง
เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886
ตอบเมื่อ: 05 มิ.ย.2005, 6:06 am
99 ปี พุทธทาสภิกขุ ศาสนากับการพัฒนา
โดย พรศรี ปัญจปิยะกุล
27 พฤษภาคม 2548 ที่ผ่านมา ในวาระแห่งการเวียนบรรจบครบรอบ 99 ปีของวันเกิดท่านพุทธทาสภิกขุ นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ทางพุทธศาสนาของไทย และนักปราชญ์ทางพุทธศาสนาคนสำคัญของโลก เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการของท่าน และเพื่อเป็นการโหมโรงก่อนวาระครบรอบ 100 ปีแห่งชาตกาลของท่านปีหน้า นักวิชาการและนักศึกษาปริญญาเอกกลุ่มหนึ่งนำโดย ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ และ ดร. เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ ได้จัดงานประชุมสัมนาวิชาการ RGJ Seminar Series XXXIV เรื่อง "99 ปี พุทธทาสภิกขุ: ศาสนากับการพัฒนา" ภายใต้การสนับสนุนของโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก โดยมี รศ.ดร.โกศัลย์ คูสำราญ และ ศ.ดร.มนัส พรหมโคตร เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
ช่วงเช้าเริ่มต้นด้วยปาฐกถาพิเศษเรื่อง "แนวคิดพุทธทาสภิกขุในยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์" โดย ดร.ปีเตอร์ แจ๊คสัน (Peter Jackson) มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ที่ได้ตั้งคำถามใหญ่ 2 ข้อคือ "ทุนนิยมเชิงพุทธ จะมีความเป็นไปได้หรือไม่" และ "แนวคิดของท่านพุทธทาสกับปฏิกิริยาของคนไทยต่อทุนนิยมโลกาภิวัตน์เป็นอย่างไร"
นักวิชาการตะวันตกชื่นชมท่านพุทธทาสว่าเป็นคำสอนที่ยังมีชีวิต(Living Tradition) เดี๋ยวนี้เราอยู่ในยุคที่ทุนนิยมครองโลก โลกาภิวัตน์ครอบงำ เป็นยุคที่ระบบเศรษฐกิจและทุนเข้ามาใหญ่เหนือระบบการเมือง เป็นยุคที่มหาเศรษฐีเข้ามาเป็นนายกฯ เป็นยุคที่บูชาเสด็จพ่อ ร.5 บูชาเจ้าแม่กวนอิม ด้วยหลักการค้ามากกว่าหลักแห่งความเมตตา เป็นยุคที่พุทธพาณิชย์รุ่งเรือง "ศาสนาแห่งความร่ำรวย" (คนนับถือเพราะอยากจะรวย) ได้รุกคืบไปไกลไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย ในไต้หวัน จีน อเมริกา ยุโรป หรือออสเตรเลีย ก็ได้รุกเข้าไปถึงและได้แพร่หลายไปทั่วโลก
เมื่อระบบเศรษฐกิจเป็นใหญ่เหนือระบบการเมืองเช่นนี้ "ทุนนิยมเชิงพุทธ" จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ เราจะสร้างหลักการของ "ทศเศรษฐีธรรม" มาใช้กับผู้ปกครองยุคเศรษฐกิจเป็นใหญ่ แทนที่การใช้ "ทศพิธราชธรรม" ที่เคยใช้กับผู้ปกครองยุคที่ระบบการเมืองเป็นใหญ่ได้ไหม
รายการต่อมาเป็นการเสนอบทความของนักศึกษาปริญญาเอก โดยมี ดร.อรศรี งามวิทยาพงศ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ เริ่มต้นด้วยเรื่อง "ชุมชนใหม่ลายคราม: ยุทธศาสตร์ทางเลือกในการพัฒนาสังคมไทย" สุวิดา แสงสีหนาท ตั้งคำถามหลักว่า พุทธปรัชญาจะเสนอทางเลือกในการพัฒนาสังคมไทยอย่างไร โดยทำวิจัยเชิงคุณภาพ สัมภาษณ์เชิงลึก ร่วมกิจกรรม และสังเกตการณ์ แล้วนำมาวิเคราะห์ในเชิงปรัชญาและประวัติศาสตร์ ตีความเพื่อค้นหารากฐานความคิด รวมถึงยุทธศาสตร์การพัฒนา กระบวนการ และผลลัพธ์ จากชุมชนชาวพุทธที่สำคัญ 3 แห่ง คือ
(1) มูลนิธิพุทธฉือจี้ในไต้หวัน ซึ่งใช้ "ความรักที่ยิ่งใหญ่" เป็นยุทธศาสตร์สำคัญ (2) ขบวนการสรรโวทัยในศรีลังกา ซึ่งใช้ความเมตตาและกรุณา ผสานกับแนวคิดเรื่อง "การตื่นของทุกคน" (3) ชุมชนอโศกในประเทศไทย ซึ่งใช้ปรัชญา "บุญนิยม" เน้นโลกุตตรปัญญา ไตรสิกขา และตีความกิเลส และเมตตาธรรมให้ครอบคลุมระดับสังคม
ท่านสมณเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ (ท่านจันทร์) ผู้วิจารณ์เห็นว่า วิธีการศึกษาที่นำตนเองเข้าไปอยู่ร่วมกับชุมชนเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ข้อมูลเกี่ยวกับสันติอโศกถูกต้อง และผลการวิจัยนี้น่าจะตีพิมพ์เผยแพร่ต่อไป
"การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เชิงพุทธ" ฌาน ตรรกวิจารณ์ ศึกษาวิจัยเชิงบุกเบิกและสรุปผลว่า สมมติฐานที่ผิดพลาดของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวตะวันตก ทำให้มนุษย์มีฐานะเป็นเพียงปัจจัยการผลิตที่ต้องปฏิบัติงานตามที่องค์กรต้องการ องค์กรจูงใจด้วยโภคทรัพย์ เป็นการเพิ่มพูนกิเลสไม่รู้จบ การนำพุทธธรรมมาเป็นเป้าหมายในการพัฒนาจะทำให้ทรัพยากรมนุษย์มีชีวิตที่ดี มีความสุข ทำให้มนุษย์พัฒนาไปสู่เป้าหมายทั้งระดับโลกียธรรมและโลกุตรธรรม การบูรณาการพุทธธรรมเข้ากับองค์ความรู้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของตะวันตก นับเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ
ท่านพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี เห็นว่า งานชิ้นนี้จะเป็นการต่อยอดวิชาการที่น่าสนใจ ทั้งในสังคมไทยและต่างประเทศ แต่ควรตีความหลักธรรมที่นำมาใช้ให้ชัดเจน เพื่อให้การวิเคราะห์ถูกตรงไม่เบี่ยงเบน
"พุทธธรรมกับการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย" สถาพร เริงธรรม สังเคราะห์องค์ความรู้ว่าด้วยการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย โดยเอาหลักพุทธธรรมคือปฏิจจสมุปบาทมาเป็นกรอบในการวิเคราะห์ แนวคิดการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายจะใช้ความรู้มากกว่าอำนาจในตำแหน่งหน้าที่เป็นเครื่องมือ และกำลังกลายเป็นเรื่องใหญ่และส่งผลมากต่อสังคมในปัจจุบันและอนาคต
การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายจะเริ่มต้นจากการที่บุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ต้องการจะคอร์รัปชั่นจากกิจกรรมที่เป็นผลประโยชน์ต่อสาธารณะ ได้นำเอาความรู้เฉพาะวิชาชีพ อันได้แก่นโยบายและกฎหมายขึ้นมา เพื่อที่จะสามารถกระทำการคอร์รัปชั่นได้อย่างมีความชอบธรรม และถูกต้องตามกฎหมาย วงจรปฏิจจสมุปบาทสามารถสังเคราะห์กับขั้นตอนการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายได้อย่างลงตัว
ดร.ธีระ นุชเปี่ยม ผู้วิจารณ์ชี้ว่า การนำเอาปฏิจจสมุปบาทอันเป็นเรื่องภายในจิตใจ มาวิเคราะห์ให้เข้ากับขั้นตอนการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายจะนำไปสู่การแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร และการแยกแยะนโยบายสาธารณะกับการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายอาจทำได้ยาก
"พุทธทาสภิกขุกับปรัชญาวิทยาศาสตร์" ดร.ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ ได้วิเคราะห์ว่าท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้สานต่อแนวคิดเรื่องการปฏิรูปพุทธศาสนาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะการนำเอาวิทยาศาสตร์ และระบบ "เหตุผลนิยม" มาตีความพุทธศาสนา ซึ่งนอกจากจะขจัดไสยศาสตร์ออกจากพุทธศาสนาแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่ทำให้อภิปรัชญาในพุทธศาสนาเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น และไม่รับใช้ในเรื่องชนชั้นอีกต่อไป นอกจากนี้ท่านพุทธทาสยังเสนอมุมมองใหม่ในการตีความพุทธศาสนา โดยการทำให้หลักธรรมหรือแนวคิดพุทธศาสนา เช่น นิพพาน และนรก-สวรรค์ ฯลฯ กลายเป็นเรื่องภายในจิตใจของแต่ละบุคคล
ด้วยอิทธิพลจากแนวคิดของท่านพุทธทาส อาจารย์ทวีวัฒน์ได้ตีความพุทธศาสนากับปรัชญาวิทยาศาสตร์ โดยใช้ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ใหม่ที่สำคัญ 3 ทฤษฎี กล่าวคือ ใช้ทฤษฎี "มหากัมปนาท" (Big Bang Theory) และทฤษฎี "วิวัฒนาการ" (Evolution Theory) มาชี้ถึงทฤษฎี "อนัตตา" และใช้ทฤษฎี "ควอนตัมฟิสิกส์" (Quantum Physics Theory) มาชี้ถึงทฤษฎี "อนิจจัง" ในพุทธศาสนา
"พุทธทาสภิกขุกับกระบวนทัศน์ใหม่" ดร.เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ ใช้แนวคิดทางพุทธศาสนาประสานเชื่อมกับกระบวนทัศน์ใหม่ โดยนำเอาพุทธศาสนานิกายเซนมานำเสนอ เล่าเรื่องผ่านเกร็ดชีวิตในช่วงที่ท่านโพธิธรรม(ตักม้อ) จะออกบวชจนได้พบว่าอะไรคือพุทธะอย่างฉับพลัน นอกจากนี้อาจารย์เทียนชัยยังนำเสนอว่า ความเป็นพุทธะไม่ใช่เป็นเรื่องของบุคคลเท่านั้น แต่เป็นเรื่องระบบวัฒนธรรมชุมชนทั้งระบบ ซึ่งวัฒนธรรมชุมชนโบราณ มีฐานคิดและฐานปฏิบัติที่สำคัญ 4 ประการคือ (1) ความรัก และความเอื้ออาทรต่อกัน (2) การเคารพธรรมชาติ (3) การนับถือผู้อาวุโส หรือการกตัญญู รู้คุณต่อผู้ให้กำเนิด (4) การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย สงบ และสันติสุข
"พุทธทาสภิกขุกับทฤษฎีไร้ระเบียบ" อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ กล่าวถึงตัวแปรที่เชื่อมโยงกันไปมาที่ทำให้โลกเกิดสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง ทำให้โลกสลับซับซ้อนยุ่งเหยิงไร้ระเบียบ ทฤษฎีไร้ระเบียบจะเตือนให้เราเป็นคนรู้จักพินิจพิจารณารายละเอียด ไม่มองข้ามหรือดูแคลนเรื่องเล็กน้อย เพราะการป้อนกลับเชิงขยายกำลังทวีคูณ จะเร่งให้เป็นเรื่องใหญ่ได้ในเวลาไม่นานนัก เพราะในโลกที่เชื่อมโยงกันสลับซับซ้อนนี้ มีข่ายใยที่วันนี้เรามองไม่เห็นหรือเห็นไม่ชัด แต่ในวันรุ่งขึ้นมันอาจปรากฏตัว แล้วมาถึงเราทันทีจนตั้งตัวไม่ติด
ท่านพุทธทาสได้พูดไว้เมื่อ 40 ปีก่อนว่า "โลกหมุนเร็วจี๋ยิ่งขึ้นทุกที จนอาจจะละลายไปเพราะการหมุนเร็วเกินขอบขีดนั้นก็ได้ ซึ่งเราต้องเตรียมตัว เตรียมใจกันใหม่ เพื่อรับมือ และลดความเร่าร้อนรุนแรงให้เย็นลง" ท่านยังเตือนว่า ระวังอย่าโดน "เขี้ยวของโลก" โดยท่านใช้หลักอิทัปปัจจยตา ก็คือเรื่องเกี่ยวกับ System Thinking และทฤษฎีไร้ระเบียบก็เป็นส่วนหนึ่งอยู่ใน System Thinking
"พุทธทาสภิกขุกับสุขภาพยุคโลกาภิวัตน์" พระดุษฎี เมธังกุโร นำเสนอว่า ท่านพุทธทาสจำแนกโรคออกเป็น 3 อย่างคือ โรคทางกาย โรคทางจิต และโรคทางวิญญาณ โดยท่านได้แนะให้ใช้ ศีล สมาธิ ปัญญา และอริยสัจ 4 มาแก้ไขโรคแต่ละอย่าง ปัจจุบันโลกาภิวัตน์ทำให้ระบบสุขภาพแย่ลงกว่าเดิม พระดุษฎีได้เล่าเกร็ดชีวิตและการดูแลสุขภาพของท่านพุทธทาส เพื่อให้เราสร้างแนวคิดที่จะรับมือกับปัญหาสุขภาพของยุคนี้
"พุทธทาสภิกขุกับแนวคิดของเถรวาทและมหายาน" ดร.โทโมมิ อิโต จากมหาวิทยาลัยโกเบ เห็นว่า ท่านพุทธทาสอยู่ในระบบความคิดของพุทธศาสนาสายเถรวาทมากกว่ามหายาน ท่านไม่ได้เปลี่ยนรากฐานวิธีคิดและวิธีปฏิบัติของพุทธศาสนาสายเถรวาทแต่อย่างใด แต่ท่านเอาคำศัพท์และโลกทัศน์ของมหายานมาใช้ ทำให้ท่านอธิบายธรรมะของพุทธศาสนาสายเถรวาทชัดเจนและลึกซึ้งขึ้น
ท่านพุทธทาสเข้าใจเรื่องสุญญตาหรือความว่างทั้งในด้านจิตใจของตัวบุคคล และในด้านสิ่งทั้งปวงในธรรมชาติ โดยอธิบายว่า ทุกสิ่งในธรรมชาติว่างจากตัวตน มีความเป็นเช่นนั้นเองตามธรรมชาติ คนเราควรปล่อยวางอัตตาตัวตนในจิตใจ และปล่อยวางให้ธรรมชาติทำงานไปตามกฎของธรรมชาติเองอีกด้วย
ท่านพุทธทาสเป็นผู้บุกเบิกมุมมองใหม่เรื่องธรรมชาติเข้ามาในสายเถรวาท ส่วนที่ไม่เหมือนปรัชญามหายานนั้น ท่านสอนตามระบบสมาธิวิปัสสนาของเถรวาท ซึ่งไม่ได้ถือว่าภาวะที่มีกิเลสเป็นภาวะของนิพพานทันที แต่ค่อยๆ ฝึกอบรมจิตใจให้มีสติกำจัดกิเลสไปสู่ภาวะนิพพาน โดยชี้ว่าภาวะนิพพานไม่ไกลจากภาวะของเราในปัจจุบัน
ขอจบรายงานการเสวนาด้วยบทกลอนของ ท่านสมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ ดังนี้
พุทธทาส ทาสเที่ยงแท้เมธี ธรรมเฮย
ภิกขุ สืบอนุศาสน์ แผ่กว้าง
พุทธทาส เด็ดเดี่ยวฤดี ดุจหลักศิลาแลง
ภิกขุ มารมั่นมล้าง กิเลสร้าย สลายสูญ
ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 05 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9948 หน้า 6
พิมนศิลป์_แมงทับ
บัวผลิหน่อ
เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2005
ตอบ: 4
ตอบเมื่อ: 08 มิ.ย.2005, 1:08 pm
ผมชอบอ่านหนังสือของท่านอาจารย์พุทธทาส มีข่าวกิจกรรมธรรม ที่สวนโมกข์ อย่างไรรบกวนบอกด้วนนะครับ
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:
แสดงทั้งหมด
1 วัน
7 วัน
2 สัปดาห์
1 เดือน
3 เดือน
6 เดือน
1 ปี
เรียงจากเก่า-ใหม่
เรียงจากใหม่-เก่า
:: ลานธรรมจักร ::
»
สนทนาธรรมทั่วไป
ไปที่:
เลือกกลุ่ม บอร์ด
กลุ่มสนทนา
----------------
สนทนาธรรมทั่วไป
แนะนำตัว
กฎแห่งกรรม
สมาธิ
ฝึกสติ
การสวดมนต์
การรักษาศีล-การบวช
ความรัก-ผูกพัน-พลัดพลาก
กลุ่มข่าวสาร-ติดต่อ
----------------
ข่าวประชาสัมพันธ์
ธรรมทาน
รูปภาพ-ประมวลภาพกิจกรรมต่างๆ
สำหรับนักเรียน นักศึกษา ขอความรู้ทำรายงาน
แจ้งปัญหา
รูปภาพในบอร์ด
กลุ่มสาระธรรม
----------------
หนังสือธรรมะ
บทความธรรมะ
นิทาน-การ์ตูน
กวีธรรม
นานาสาระ
ต้นไม้ในพุทธประวัติ
วิทยุธรรมะ
ศาสนสถานและศาสนพิธี
----------------
สถานที่ปฏิบัติธรรม
วัดและศาสนสถาน
พิธีกรรมทางศาสนา
พุทธศาสนบุคคล
----------------
พระพุทธเจ้า
ประวัติพระอสีติมหาสาวก
ประวัติเอตทัคคะ (ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา)
สมเด็จพระสังฆราชไทย
ประวัติและปฏิปทาของครูบาอาจารย์
ในหลวงกับพระสุปฏิปันโน
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณ
ไม่สามารถ
สร้างหัวข้อใหม่
คุณ
ไม่สามารถ
พิมพ์ตอบ
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลบข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลงคะแนน
คุณ
ไม่สามารถ
แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ
ไม่สามารถ
ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
เลือกบอร์ด •
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทานธรรมะ
•
หนังสือธรรมะ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
สถานที่ปฏิบัติธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ
•
วิทยุธรรมะ
•
เสียงธรรม
•
เสียงสวดมนต์
•
ประวัติพระพุทธเจ้า
•
ประวัติมหาสาวก
•
ประวัติเอตทัคคะ
•
ประวัติพระสงฆ์
•
ธรรมทาน
•
แจ้งปัญหา
จัดทำโดย กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ
webmaster@dhammajak.net
Powered by
phpBB
© 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
www.Stats.in.th