Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หลวงตาพันธุ์ อาจาโร อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.พ.2007, 1:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ประวัติและปฏิปทา
หลวงตาพันธุ์ อาจาโร


วัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย)
แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ



๏ อัตโนประวัติ

“หลวงตาพันธุ์ อาจาโร” หรือ “พระครูใบฎีกาพันธุ์ อาจาโร” มีนามเดิมว่า พันธุ์ เกตุพิมาย เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๕๓ ปีจอ ณ ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา โยมบิดา-มารดาชื่อ นายสี และนางหล้า เกตุพิมาย มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๖ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๕ มีนามตามลำดับดังนี้

๑. นายสี เกตุพิมาย (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๒. นายสิงห์ เกตุพิมาย (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๓. นายตา เกตุพิมาย (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๔. นายสา เกตุพิมาย (ถึงแก่กรรมแล้ว)
๕. หลวงตาพันธุ์ อาจาโร (มรณภาพแล้ว)
๖. นางจันทร์ เกตุพิมาย (ถึงแก่กรรมแล้ว)


๏ การศึกษาเบื้องต้น

จบการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนวัดสระแก้ว อ.เมือง จ.นครราชสีมา

Image
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

Image
พระอริยเวที (หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล)


๏ การอุปสมบท

หลวงตาพันธุ์ มีจิตใจโน้มเอียงไปทางธรรมตั้งแต่ยังเป็นฆราวาส ด้วยเห็นทุกข์ในวัฏสงสารแล้วว่าเป็นสิ่งน่าสะพรึงกลัวยิ่ง ดังนั้น เมื่อโยมมารดา (เป็นแม่ชีและเป็นลูกศิษย์ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร) เอ่ยปากขอให้ท่านบวชเพื่อทดแทนน้ำนม ท่านก็รับปากทันที ทั้งๆ ที่ขณะนั้นมีอายุถึง ๓๘ ปีแล้วก็ตาม (ท่านไม่มีครอบครัว) ก่อนที่จะอุปสมบทนั้น ได้เป็นตาปะขาวอบรมบ่มนิสัยอยู่ ณ วัดป่าศรัทธาธรรม อ.เมือง จ.นครราชสีมา

ครั้นต่อมาได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ณ พัทธสีมาวัดสุทธจินดา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา โดยได้รับเมตตาจาก ท่านเจ้าคุณพระอริยเวที (หลวงปู่เขียน ฐิตสีโล ป.ธ.๙) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทธจินดา และอดีตเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสุทธศีลสังวร วัดสุทธจินดา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์บุญ ปุญญกโร วัดสุทธจินดา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “อาจาโร” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีมารยาทอันงาม”

หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้จำพรรษาแรกที่วัดป่าศรัทธาธรรม เพื่อฉลองศรัทธาโยมแม่หล้า เกตุพิมาย และญาติพี่น้อง ตลอดพรรษาแรก หลวงตาพันธ์ได้ตั้งใจปฏิบัติธรรม และพึงระลึกอยู่เสมอว่าท่านจะเดินธุดงค์เพื่อแสวงหาสัจธรรม หาอุบายในการพ้นจากวัฏสงสารให้ได้

Image
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


๏ หลวงปู่มั่นเมตตาอบรมสั่งสอนธรรม

ประกอบกับสมัยนั้นชื่อเสียงของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งเป็นพระอาจารย์ใหญ่ของพระป่าสายกรรมฐาน เป็นพระภิกษุสงฆ์ผู้มีศีลาจารวัตรงดงาม เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ได้แสดงพระธรรมเทศนาสั่งสอนคณะศิษยานุศิษย์ ทั้งพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส อยู่ที่จังหวัดสกลนคร

ด้วยเหตุนี้เมื่อพ้นพรรษาแรกแล้ว หลวงตาพันธุ์จึงออกเดินทางธุดงค์รอนแรมในป่า ฝ่าฟันความลำบากนานัปการจาก จ.นครราชสีมา ไป จ.สกลนคร โดยใช้เส้นทางผ่าน จ.อุดรธานี จนกระทั่งถึงวัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ช่วงก่อนวันมาฆบูชา ปีพ.ศ.๒๔๙๒ ก็ได้พบกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่แห่งกองทัพพระป่าผู้แสวงธรรมวิมุตติ ตามที่ได้ตั้งจิตปรารถนา

พระอาจารย์มั่น ได้มีเมตตาอบรมสั่งสอนธรรมแก่หลวงตาพันธุ์ โดยให้ถือหลักธรรม “ตจปัญจกกรรมฐาน” พิจารณาขันธ์สังขารของตัวเราว่ามีความเสื่อมเป็นสิ่งธรรมดา อย่าได้ไปยึดติด และปรุงแต่งตามกิเลส

นอกจากนี้ หลวงปู่มั่นยังได้เมตตาอนุญาตให้หลวงตาพันธุ์อยู่ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิหาอุบายธรรม ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) บำเพ็ญเพียรทั้งเดินจงกรมและฟังธรรมจากหลวงปู่มั่นทุกช่วงเย็น จวบจนเวลาใกล้เข้าพรรษา หลวงตาพันธุ์จึงได้กราบลาหลวงปู่มั่น เดินทางกลับ จ.นครราชสีมา บ้านเกิด


๏ ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม

ครั้นเมื่อเดินทางถึง จ.นครราชสีมา หลวงตาพันธุ์ได้มีโอกาสไปฝากตัวเป็นศิษย์รับอบรมธรรมจาก พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม) แห่งวัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้น พระอาจารย์บุญ ปุญญกโร พระกรรมวาจารย์ของท่าน ได้ชวนกันเดินธุดงค์มาทางภาคกลาง เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ครูบาอาจารย์รูปสำคัญอีกหลายรูป

จนได้เดินทางมาปฏิบัติธรรมที่วัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นป่าร่มรื่นสงบยิ่งนัก และได้ขอความเมตตาจาก พระครูธรรมสารวิจิตร (หลวงปู่อ่อน) อดีตเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) รูปที่ ๗ จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๙๔ จนกระทั่งมรณภาพ

Image
พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์ (หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม)


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 ก.พ.2011, 4:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงตาพันธุ์ อาจาโร

Image
หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท


๏ สหธรรมมิก

หลวงตาพันธุ์ มีสหธรรมมิก อาทิเช่น หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท แห่งวัดภูริทัตตปฏิปทาราม ต.คลองควาย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี, หลวงปู่จำปี ชาคโร แห่งวัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา เป็นต้น


๏ สมณศักดิ์

พ.ศ.๒๕๐๘ เป็นพระสมุพันธุ์ อาจาโร ฐานานุกรมในพระสาธุศีลสังวร (สนธิ์ กิญจกาโร ป.ธ.๕) วัดบวรนิเวศวิหาร สมณศักดิ์ในขณะนั้น

พ.ศ.๒๕๑๖ เป็นพระครูใบฎีกาพันธุ์ อาจาโร ฐานานุกรมในพระเทพญาณวิศิษฏ์ (สนธิ์ กิญจกาโร ป.ธ.๕) วัดบวรนิเวศวิหาร สมณศักดิ์ในขณะนั้น


๏ ตำแหน่งทางคณะสงฆ์

- เป็นพระผู้ทรงปาฏิโมกข์
- อดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมัชฌันติการาม
- เป็นกรรมการสงฆ์วัดมัชฌันติการาม
- เป็นปูชนียบุคคลของคณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาวัดมัชฌันติการาม


๏ ปฏิปทาและวัตรปฏิบัติ

ท่านเป็นผู้มักน้อย สันโดษ บิณฑบาตเป็นวัตร เดินจงกรมเป็นวัตร ชอบให้ทานและเมตตาสูง อยู่ง่ายขบฉันง่าย ชอบกระทำให้เห็นมากกว่าการพูด ชอบฟังผู้ที่มาหาท่านพูด มากกว่าจะเป็นฝ่ายให้ท่านพูด ชอบธุดงค์ไปตามถ้ำเขาเพียงผู้เดียว ท่านบอกว่าการเดินธุดงค์ไปองค์เดียว ไม่น่ากลัว และไม่ต้องเป็นห่วงใครด้วย ตายก็ตายคนเดียว หิวก็หิวคนเดียว อดก็อดคนเดียว...สบาย... คำสอนที่ท่านพร่ำสอนอยู่บ่อยๆ คือ “อย่าวุ่นวาย”


๏ การมรณภาพ

ปกติท่านเป็นพระผู้เฒ่าที่แข็งแรงและอารมณ์ดีมาก ครั้นเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๘ คณะศิษยานุศิษย์เห็นว่าท่านผอมลง ฉันข้าวได้น้อย มีอาการเจ็บคอ และเสมหะมาก จึงได้นิมนต์หลวงตาพันธุ์ เพื่อไปตรวจร่างกายที่โรคพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หมอตรวจหาสาเหตุและอาการไม่พบจึงให้กลับวัด

นัดตรวจครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๘ ก็ยังไม่พบสาเหตุของอาการ แต่ได้ตัดเนื้อเยื้อในลำคอของหลวงตาไปตรวจ และนัดตรวจครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ หมอลงความเห็นว่าเป็นมะเร็งที่หลอดอาหาร จึงได้ใส่ท่อช่วยในการขบฉัน และให้ท่านรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล แต่ท่านไม่ต้องการอยู่ต่อที่โรงพยาบาล ขอกลับวัด หมอก็อนุญาตและขอให้มาตรวจตามนัด

เมื่อกลับมาอาการท่านก็ทรงๆ ทรุดๆ จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ อาการหนักมาก มีเสมหะออกเป็นเลือดมาก ถ่ายเป็นเลือด ตัวซีด พระอุ๋ย (พระผู้ดูแล) จึงนิมนต์ท่านไปโรงพยาบาลยันฮี ซึ่งอยู่ใกล้วัดที่สุด ท่านไม่ยอมไป ท่านบอกว่าทนเอา แต่พระอุ๋ยเห็นว่าอาการหลวงตาหนักขึ้นเรื่อยๆ ท่านจึงออกปากนิมนต์ว่า หลวงตาให้หมอช่วยดับเวทนาให้สักหน่อยเถิด หลวงตาจึงยอมไปรักษาตามคำนิมนต์

เมื่อท่านไปรับการรักษา หมอก็ฉีดยาให้ อาการก็ดีขึ้นและให้กลับวัดได้ และเมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม-วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๘ อาการอาพาทของหลวงตาก็หนักขึ้นอีก จึงได้นิมนต์หลวงตาเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลยันฮี อีกครั้ง แต่เนื่องจากสังขารอันเฒ่าชราวัยกว่า ๙๔ ปี ทั้งยังมีโรคแทรกซ้อน รวมไปถึงร่างกายซึ่งไม่รับยาที่ฉีดเข้าไปได้อีกแล้ว คือตามตัวของหลวงตามีแต่น้ำไหลออกมา แม้แต่ยาที่ฉีดเข้าไปก็ไหลออกมา

แต่ถึงกระนั้นสติของท่านก็ยังบริบูรณ์รู้อยู่ทุกขณะจิต ท่านหลับตารับรู้ถึงวิบากเวทนาของร่างกายอยู่โดยตลอด ท่านไม่เคยปริปากร้องโอดครวญให้ใครได้ยินหรือเห็นเลย ท่านจะหลับตาและดูเวทนาอยู่ตลอด แต่ถ้าใครไปหา ท่านจะลืมตาแล้วพยักหน้ารับรู้ว่าเขาเหล่านั้นได้มีน้ำใจมาเยี่ยมเยียนตัวท่าน แล้วท่านก็จะหลับตาต่อไปอีก ท่านเคยพูดว่ามันเจ็บปวดมากจนฉันอะไรลงไปไม่ได้แม้แต่น้ำเปล่า

กระทั่งวันอังคารที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เวลา ๒๔.๑๗ น. หลวงตาพันธุ์ อาจาโร ได้มรณภาพลงด้วยอาการสงบ สิริอายุรวมได้ ๙๔ ปี ๑๐ เดือน ๒๑ วัน พรรษา ๕๕ ทั้งนี้ หลังจากบำเพ็ญกุศลครบ ๗ วันแล้ว ทางคณะศิษยานุศิษย์จะมอบศพของท่านให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ ตามที่หลวงตาพันธุ์ได้สั่งไว้ก่อนมรณภาพ ซึ่งที่ผ่านมาทางวัดใช้เกศากับเล็บของท่านใส่ในโลง บำเพ็ญกุศลตลอดมา


๏ กำหนดการงานพระราชทานเพลิงศพ

กำหนดการงานพระราชทานเพลิงศพหลวงตาพันธุ์ อาจาโร
ณ วัดมัชฌันติการาม (วัดน้อย) แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ

วันเสาร์ที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๐
เวลา ๑๙.๐๐ น. พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๐
เวลา ๐๙.๐๐ น. พระสงฆ์ ๒๐ รูป สวดพระพุทธมนต์ รับทักษิณานุประทาน
เวลา ๑๐.๐๐ น. พระราชาคณะแสดงธรรมเทศนา ๑ กัณฑ์
เวลา ๑๐.๓๐ น. พระสงฆ์ ๑๐ รูป สวดพระพุทธมนต์
เวลา ๑๑.๐๐ น. ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์
เวลา ๑๗.๐๐ น. พระราชทานเพลิงศพ

Image
หลวงตาพันธุ์ อาจาโร



.............................................................

คัดลอกเนื้อหามาจาก ::
http://www.watmatchan.net/
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 21 ก.พ.2011, 4:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กระทู้ในบอร์ดใหม่

ประวัติและปฏิปทาหลวงตาพันธุ์ อาจาโร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=27373
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง