|
|
|
 |
ผู้ตั้ง |
ข้อความ |
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623
|
ตอบเมื่อ:
02 ธ.ค.2006, 8:25 am |
  |
พุทธสถาน บุโรพุทโธ
หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
บุโรพุทโธ หรือ โบโรบูดูร์ (borobodur) พุทธสถานอันงามสง่า หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ตั้งอยู่ใจกลางเกาะชวา อยู่ห่างจากเมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakata) หรือยอกยา ของอินโดนีเซีย ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 14 ในสมัยของ กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ แห่งอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งสมัยนั้นหมู่เกาะต่างๆ ของอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอินเดีย ทั้งด้านการค้าและวัฒนธรรม ทำให้ได้รับอิทธิพลทางด้านความเชื่อของฮินดูและพุทธเป็นอย่างมาก แต่กษัตริย์ของศรีวิชัยซึ่งเป็นชาวฮินดู เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และชนชาวศรีวิชัยส่วนใหญ่ก็นับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ทำให้เกาะชวาเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรศรีวิชัยนี้
มหาสถูปบุโรพุทโธ อันงดงามนั้นรังสรรค์ขึ้นด้วยความรักความศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นต่อพระพุทธศาสนาของชนชาวศรีวิชัย ประติมากรรมแต่ละชิ้นได้รับการจัดวางอย่างงดงามลงตัวและมีความหมายอันมีนัยถึงธรรม ธรรมชาติ หรือจักรวาล โดยสร้างขึ้นจากหินลาวา มีพื้นที่โดยรวมประมาณ 55,000 ตารางเมตร รูปทรงด้านฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวด้านละ 123 เมตร แต่ละด้านมีบันไดและซุ้มประตูขึ้นสู่มหาเจดีย์ ซึ่งมีทั้งหมด 10 ชั้น ชั้น 1-6 มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ส่วนชั้นที่ 7-10 มีลักษณะเป็นรูปทรงกลม
ส่วนฐานของบุโรพุทโธ ประกอบด้วยขั้นบันไดใหญ่ 4 ขั้น กำแพงรอบฐานมีภาพสลักประมาณ 160 ภาพ เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่ยังข้องอยู่ในกาม ผูกพันกับความสุข สนุกสนาน ความปรารถนาทางโลกอันไม่รู้จบ ส่วนนี้จัดอยู่ในขั้นกามภูมิ
ในส่วนที่สอง คือส่วนบนของฐานนั้น ผนังทั้งด้านนอกด้านในมีรูปสลักเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติและชาดกต่างๆ ประมาณ 1,460 ภาพ ในส่วนนี้ถือเป็นขั้นรูปภูมิ คือขั้นตอนที่มนุษย์หลุดพ้นจากกิเลสทางโลกมาได้บางส่วน
พุทธศาสนิกชนร่วมเจริญพระพุทธมนต์ และเวียนเทียนที่พุทธสถานบุโรพุทโธ
ส่วนที่สาม คือส่วนของฐานกลมที่มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ จำนวน 72 องค์ แต่ละองค์บรรจุด้วยพระพุทธรูป ตั้งเรียงรายอยู่ 3 ระดับ โอบล้อมพระเจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สุดยอดของบุโรพุทโธ จำนวน 72 นั้น หากพิจารณาในทางธรรมแล้วหมายถึง รูป 18 เจตสิก 52 จิต 1 นิพพาน 1 และฐานพระเจดีย์ที่เป็นรูปบัวผลิบานนั้นบ่งบอกถึงการรู้ตื่นและเบิกบาน ส่วนพระเจดีย์องค์ใหญ่นั้นภายในไม่ได้บรรจุสิ่งใดไว้ อาจสื่อให้เห็นถึงความว่าง อันถึงที่สุดของนิพพานแล้ว ย่อมไร้ลักษณ์ ไร้รูปรอยใดๆ ในส่วนนี้ถือเป็นขั้นอรูปภูมิ ที่มนุษย์ไม่ผูกพันกับทางโลกอีกต่อไป
บุโรพุทโธคงความยิ่งใหญ่ยึดเหนี่ยวจิตใจผู้คน ผ่านกาลผ่านสมัยจวบจนเข้าต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งใกล้สิ้นยุคของศรีวิชัย ซึ่งในเวลานั้นชาวโปรตุเกสได้เริ่มเข้ามายึดครองหมู่เกาะต่างๆ และอิทธิพลของศาสนาอิสลามได้เข้ามาแทนที่ บุโรพุทโธได้ถูกลืมเลือนไปและถูกทิ้งร้างท่ามกลางป่าเขาเป็นเวลานับร้อยๆ ปี จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 24 เซอร์โทมัส แสตนฟอร์ด ราฟเฟิล ชาวดัทซ์ ได้ค้นพบบุโรพุทโธขึ้นอีกครั้งในสภาพที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง และมีการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งแรก ในระหว่าง พ.ศ.2448-2453
ต่อมาใน พ.ศ.2516 รัฐบาลอินโดนีเซียได้เริ่มต้นโครงการปฏิสังขรณ์ใหญ่อีกครั้งโดยมีองค์การยูเนสโก ของสหประชาชาติ ได้ให้ทุนสนับสนุน รวมทั้งเงินทุนอุดหนุนจากบางประเทศที่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งประเทศไทยก็มีส่วนร่วมด้วย (ขอเพิ่มเติมว่า ท่ารำของระบำศรีวิชัยในบ้านเรานั้น ได้ค้นคว้ามาจากภาพจำหลักที่บุโรพุทโธนี่เอง)
แล้ว...ความสง่างามของบุโรพุทโธก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง เฉกเช่นในอดีต !!
บุโรพุทโธ พุทธสถานอันงามสง่า
ไม่อาจจะสรรหาคำใดมาอธิบายความยิ่งใหญ่ ของบุโรพุทโธได้ แต่เผอิญได้มีโอกาสอ่านหนังสือของ ท่านเขมานันทะ เรื่อง บุรีแห่งบรมพุทโธ ซึ่งท่านเขียนได้ลึกซึ้งกินใจมาก เลยขอถือโอกาสนำบางส่วนมาถ่ายทอดความรู้สึกปิดท้ายกันตรงนี้
...โบโร คือพลังสร้างสรรค์บริสุทธิ์...คือพลังแรงแห่งน้ำใจและน้ำมือมนุษย์เดินดิน ด้วยรักและตระหนักรู้ต่อพุทธธรรมว่าจะเกื้อกูลค้ำจุนโลกได้แท้จริง...
ถ้าว่าความรัก ความงาม ความจริง และความดีมีอยู่จริง โบโรบูดัวหรือบรมพุทโธเป็นอันนั้นคือ การุณยธรรมอันสำแดงออกในงานศิลปะชั้นสูงส่งเท่าที่มนุษย์เคยสร้างสรรค์แล้วในโลกพิภพ...
บรมพุทโธ คือ สื่อสืบสานมโนคติ หากได้สัมผัสคงเป็นบุญแห่งขันธ์และการจาริกมาก็เป็นบุญกิริยา และแม้ไม่มา เพียงรู้ล้วนๆ ในช่วงขณะใดขณะหนึ่ง ล่วงพ้นนิมิตต่างๆ ก็ชื่อว่ามาถึงบุรีแห่งพุทโธ และถ้ามันกลายเป็นวาสนาบารมีไปแล้ว การเข้าผ่านประตูกาลมุขนั้น ก็คือการเข้าถึงไวโรจนพุทธะ สภาพตื่นผลิบานอันรุ่งเรือง คือ พระสถูปมหาสุญญตา แต่การภาวนาที่โน้มทั้งกาย วาจา และใจ เข้าทางธรรมนั้นนับว่างดงาม...
......................................................................
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 พฤษภาคม 2546 11:57 น. |
|
|
|
  |
 |
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993
|
ตอบเมื่อ:
15 ก.ย. 2008, 6:42 am |
  |
บุโรพุทโธมหาเจดีย์อันยิ่งใหญ่แห่งอินโดนีเซีย
มหัศจรรย์ บุโรพุทโธ
แม้ไม่ใช่ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก แต่ มหาเจดีย์ บุโรพุทโธ หรือ โบโรบูดูร์ (Borobudur) หรือ บรมพุทโธ ก็จัดได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ในระดับน้องๆ ของสิ่งมหัศจรรย์แห่งโลก ในขณะที่ชาวอินโดนีเซียนต่างยกให้มหาเจดีย์แห่งนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์สำคัญของประเทศและเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของอินโดนีเซีย
จากจาการ์ต้า เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ได้เดินทางด้วยสายการบินราคาประหยัดในประเทศ (อินโดฯ แอร์ เอเชีย) มุ่งหน้าสู่สนามบินเมืองโซโล เพื่อจะเดินทางต่อด้วยรถบัสสู่ เมืองยอกยาการ์ตา (Yogyakata) หรือยอกยา เมืองเก่าแก่ศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมชวาอันเป็นที่ตั้งของบุโรพุทโธอันลือลั่น
ปรัมบานัน เทวสถานฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย
แต่ว่าก่อนจะไปถึงยังบุโรพุทโธไฮไลท์สำคัญของทริปนี้ เราไปแวะเที่ยวที่ วิหารปรัมบานัน (Candi Prambanan) กันก่อน
วิหารปรัมบานัน ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านปรัมบานัน ทางทิศตะวันออกของเมืองยอกยา ปรัมบานันเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบุโรพุทโธ เพราะเป็น เทวสถานในศาสนาฮินดูที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย
วิหารแห่งนี้มีเทวาลัยหลักขนาดใหญ่ 3 หลังด้วยกัน คือ องค์ประธานหลังกลางที่ใหญ่ที่สุด เด่นที่สุด และสูงที่สุด (ประมาณ 47 เมตร) เป็นเทวาลัยที่สร้างขึ้นถวายแด่พระอิศวร อีก 2 หลังเล็กลงมา แบ่งเป็นเทวาลัยทิศเหนือที่สร้างถวายแด่พระนารายณ์ และเทวาลัยทิศใต้ที่สร้างขึ้นถวายแด่พระพรหม
มหาเจดีย์บุโรพุทโธ สิ่งมหัศจรรย์แห่งอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ปรัมบานันยังมีเทวาลัยขนาดเล็กรายรอบอีกร่วม 250 หลังเป็นองค์ประกอบ รวมไปถึงรูปปั้นรูปสลักอีกมากมาย ซึ่งด้วยความเก่า ความเก๋า ความขลัง ความงาม ความยิ่งใหญ่อลังการ และความสำคัญแห่งรอยอดีตในศาสนาฮินดู ทำให้วิหารปรัมบานันได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น มรดกโลก (World Heritage) ในปี ค.ศ. 1991
หลังซึมซับความยิ่งใหญ่อลังการของวิหารปรัมบานันกันจนถึงเวลาอันควรแล้ว ก็ออกเดินทางต่อไปยังบุโรพุทโธในเขต Magelan ในทันที
ประมาณ 1 ชั่วโมงต่อจากนั้น ก็ได้มายืนยังบริเวณทางเข้าบุโรพุทโธที่แหงนหน้ามองขึ้นไปเห็นบุโรพุทโธที่ตั้งตระหง่านโดดเด่นเป็นสง่าบนเนินดินธรรมชาติอยู่ลิบๆ...เมื่อเห็นอย่างนั้นเราก็ไม่รอช้ารีบจ้ำอ้าวก้าวเดินเข้าสู่มหาเจดีย์บุโรพุทโธอย่างไม่รีรอ
ซุ้มพระพุทธรูปมากมายที่บุโรพุทโธ
ระหว่างทางมีคนเดินสวนขึ้น-ลงเจดีย์กันขวักไขว่ ดูไม่ต่างอะไรกับงานมหกรรมย่อยๆ เลย เพราะวันนั้นเป็นวันเสาร์ จึงมีนักเรียน นักศึกษา ประชาชน และนักท่องเที่ยว มาเที่ยวชมบุโรพุทโธกันอย่างเนื่องแน่น ซึ่งนี่ถือเป็นการการันตีความยิ่งใหญ่ของมหาเจดีย์แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
สำหรับมหาเจดีย์แห่งนี้ ไกด์ประจำบุโรพุทโธอธิบายให้ฟังว่า นี่เป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างเชิดหน้าชูตาอย่างยิ่งแห่งอินโดนีเซีย ได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น มรดกโลก (World Heritage) ในปี ค.ศ. 1991
ตามประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า บุโรพุทโธน่าจะสร้างขึ้นในระหว่าง ค.ศ. 778 ถึง ค.ศ. 850 โดยกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์
ระเบียงภาพจำหลักบนชั้น 2
บุโรพุทโธ เป็นงานพุทธสถานแบบฮินดูชวาที่ผสมผสานศิลปะแบบอินเดียกับอินโดนีเซียให้เข้ากันได้อย่างกลมกลืนลงตัว องค์เจดีย์มีลักษณะเป็นรูปทรงดอกบัว (สื่อถึงสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา) ส่วนแผนผังนั้นเชื่อว่าน่าจะหมายถึงคติจักรวาลและอำนาจของพระพุทธเจ้า อันได้แก่พระพุทธเจ้าผู้สร้างโลกตามคติพุทธมหายาน นอกจากนี้บุโรพุทโธยังมีความลี้ลับบางประการทั้งทางการก่อสร้างและการสื่อสัญลักษณ์ที่ ณ วันนี้ ยังรอให้นักวิชาการได้ค้นคว้าศึกษาตีความกันต่อไป
บุโรพุทโธแบ่งเป็น 3 ชั้นหลักด้วยกัน ซึ่งเปรียบเหมือนชีวิตที่แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ กามาธาตุ (กามธาตุ) รูปธาตุ และอรูปธาตุ
เอาล่ะ เมื่อรู้เรื่องราวคร่าวๆ ของมหาเจดีย์แห่งนี้แล้ว ทีนี้ก็ได้เวลาลุยถั่วชมบุโรพุทโธกันแล้ว
พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์แห่งบุโรพุทโธ
จุดแรกก่อนขึ้นไปยังมหาเจดีย์ ได้เดินไปหามุมถ่ายรูปตามแสงบริเวณสนามหญ้ารอบๆ ก่อนเดินละเลียดสำรวจชมซุ้มพระพุทธรูปมากมาย จากนั้นจึงเดินหน้าต่อไปสู่มหาเจดีย์ชั้นแรก คือ กามาธาตุหรือขั้นตอนที่มนุษย์ยังผูกพันอย่างใกล้ชิดกับความสุขและความร่ำรวยทางโลก ชั้นนี้เปรียบเสมือนส่วนฐานของเจดีย์ มีภาพสลักหินนูนต่ำกว่า 160 ภาพให้เดินชมได้โดยรอบ โดยภาพที่เด่นๆ ชวนชมในชั้นนี้ก็มี ภาพวิถีชีวิตประจำวันของชาวชวา ภาพแสดงถึงบาปบุญคุณโทษ กฎแห่งกรรมต่างๆ เป็นต้น
แต่ถ้าใครอยากชมภาพสลักหินนูนต่ำอย่างหลากหลาย ขอแนะนำว่าที่ชั้น 2 หรือชั้นรูปธาตุ ที่เปรียบเสมือนขั้นตอนการหลุดพ้นจากกิเลสในทางโลกของมนุษย์เพียงบางส่วน ที่ชั้นนี้มีภาพสลักสวยๆ งามๆ บนระเบียงให้ชมกันเพียบถึง 1,400 ภาพ (ยาวทั้งหมดเกือบ 4 กม.) ภาพในชั้นนี้ส่วนใหญ่จะเป็นภาพพุทธประวัติที่ได้รับอิทธิพลศิลปะอินเดียในสมัยหลังยุคคุปตะ เน้นการสลักภาพบุคคลที่ดูค่อนข้างอวบอ้วนแต่แฝงความสงบอยู่ในที
นักท่องเที่ยวเดินชมเจดีย์บนชั้น 3
อนึ่งการเดินขึ้นชมบุโรพุทโธนั้นก็ว่าแค่พอเหงื่อซึมเท่านั้น ไม่ถึงกับเหนื่อยหนาสาหัส ซึ่งเมื่อเดินต่อไปก็จะสู่ชั้นไฮไลท์ในชั้น 3 หรือชั้นอรูปธาตุ ที่เปรียบเสมือนการหลุดพ้นของมนุษย์ ไม่ผูกพันใดๆ ในทางโลกอีกต่อไป
บนชั้น 3 มีฐานเป็นลานทรงกลม เจดีย์เล็กๆ 3 แถว 72 องค์รายล้อมรอบเจดีย์องค์ใหญ่ (แถวแรก 16 องค์, แถวสอง 24 องค์, แถวสาม 32 องค์) ซึ่งมีหลายคนตีความว่าอาจจะสื่อถึงการหลุดพ้นใน 3 ระดับคือ นิพพาน ปรินิพพาน และมหานิพพาน ส่วนเจดีย์องค์ใหญ่ยักษ์ตรงกลางนั้นน่าจะหมายถึงแกนจักรวาล
พระพุทธรูปอธิษฐานในเจดีย์
สำหรับเจดีย์องค์เล็กๆ จำนวนมาก บนชั้น 3 นี้ หากสังเกตดีๆ จะพบว่ามีลักษณะค่อนข้างต่างไปจากเจดีย์บ้านเรา คือเป็น เจดีย์ยอดตัด (ไม่ใช่ยอดแหลมเหมือนบ้านเรา) และเป็น เจดีย์โปร่ง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย ซึ่งถือเป็นเกราะกำบังการลักลอบตัดเศียร และการทำลายพระพุทธรูปได้เป็นอย่างดี
แต่กระนั้นก็มีเจดีย์อยู่ 2 จุด ที่พังทลายไปเผยให้เห็นองค์พระพุทธรูปภายใน ซึ่งตอนหลังกลายเป็นมุมถ่ายรูปยอดฮิตของนักท่องเที่ยวไป ส่วนเจดีย์อีก 1 องค์ที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ เจดีย์ที่เรียกว่า เจดีย์พระพุทธอธิษฐาน เพราะในเจดีย์องค์นั้นจะมีพระพุทธรูปที่ชาวอินโดฯ เชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ สามารถลูบคลำอธิษฐานขอพรให้สมหวังได้ ส่วนใครเจ็บไข้ได้ป่วยตรงส่วนไหนของร่างกายก็ให้ลูบคลำตรงส่วนนั้น ซึ่งก็ทำให้พระพุทธรูปองค์นี้เริ่มเป็นมันเลื่อมๆ แล้ว เพราะมีคนมาลูบขอพรกันเป็นประจำ
นี่แหละความเชื่อความหวัง ไม่ว่าชาติไหนในโลกก็มีเหมือนกันทั้งนั้น
บุโรพุทโธตั้งอยู่บนเนินธรรมชาติ สามารถมองลงไปเห็นวิวรอบข้างได้ชัดเจน
อ้อ!!! มีอย่างหนึ่งบนบุโรพุทโธที่อาจดูขัดตาชาวพุทธอย่างเราๆ ท่านๆ นั่นก็คือ การที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ทั้งชาวอินโดนีเซียนและชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวพุทธ ต่างปฏิบัติต่อองค์พระพุทธรูปเหมือนรูปปั้นทั่วไปไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างที่เรานับถือ แต่หากมองด้วยใจเป็นธรรมนั่นเป็นเพราะประชากรอินโดนีเซียนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม (ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็นับถือศาสนาอื่น) นอกจากนี้หากเรานำหลักคิดแบบพุทธมาเป็นแนวทาง สิ่งที่เราเห็น ณ เบื้องหน้านี้ต่างเป็นสิ่งสมมติทั้งสิ้น
ส่วนถ้าใครมองโลกด้วยความเป็นจริงก็จะพบว่ามีบางสิ่งควรให้การยกย่องต่อชาวอินโดฯ ไม่น้อยเลย เพราะแม้ว่าส่วนใหญ่ชาวอินโดฯ จะเป็นมุสลิม แต่ว่าพวกเขา (เท่าที่ได้สอบถามจากนักท่องเที่ยวหลายๆ คน) ต่างก็ภาคภูมิใจในพุทธศาสนาสถานแห่งนี้ ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังได้ดูแลรักษามหาเจดีย์บุโรพุทโธให้อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างดี
ในขณะที่บ้านเราที่เป็นเมืองพุทธ แต่กลับปรากฏว่านับจากอดีตถึงปัจจุบันยังคงมีข่าวการทำร้าย ทำลาย พุทธศาสนสถานและศาสนสถานอื่นๆ อยู่เสมอมา อา...เพราะเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น!?!
มหาเจดีย์ บุโรพุทโธ
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
บุโรพุทโธ (Borobudur) เป็นศาสนสถานสำคัญอันศักดิ์สิทธิ์ของอินโดนีเซีย ตั้งอยู่ในเมืองยอกยาการ์ตา อู่วัฒนธรรมแห่งชวา ที่นอกจากปรัมบานันและบุโรพุทโธแล้วยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ อาทิ ภูเขาไฟเมอร์ราพี, Kraton หรือวังสุลต่าน, วังตามันซารี ส่วนเมืองโซโลที่อยู่ใกล้เคียงนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นเมืองบาติก (ปาเต๊ะ) ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก อินโดฯ ใช้เงินสกุลรูเปีย มีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 บาท ประมาณ 250-300 รูปเปีย (ตามการขึ้นลงของค่าเงิน) เทียบเวลาตรงกับเมืองไทย ทั้งนี้ผู้สนใจข้อมูลท่องเที่ยวเกี่ยวกับอินโดนีเซียสามารถสอบถามได้ที่ สถานทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2252-3135-9
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 มิถุนายน 2551 16:00 น. |
|
_________________ -- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง -- |
|
   |
 |
ฌาณ
บัวเงิน


เข้าร่วม: 23 ก.ค. 2008
ตอบ: 1145
ที่อยู่ (จังหวัด): หิมพานต์
|
ตอบเมื่อ:
22 ก.ย. 2008, 9:20 pm |
  |
สวยมากครับ  |
|
_________________ ผมจะพยายามให้ได้ดาวครบ 10 ดวงครับ |
|
  |
 |
|
|
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่ คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ คุณไม่สามารถลงคะแนน คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้ คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
|
| | |