ผู้ตั้ง |
ข้อความ |
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993
|
ตอบเมื่อ:
13 พ.ค.2007, 5:57 am |
  |
พระพุทธศาสนาในกัมพูชา
โดย ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์
อาณาจักรขอมโบราณ มีความเชื่อเรื่องสิ่งเร้นลับในธรรมชาติ เช่น ผีสางนางไม้ และรุกขเทวดา เป็นต้น อันเรียกโดยภาพรวมว่า "วิญญาณนิยม" (Animism) ต่อมาเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับชนชาติอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดีย ก็ได้รับเอาความเชื่อของศาสนาอื่นเข้ามาด้วย ที่สำคัญได้แก่ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู พุทธศาสนามหายาน และพุทธศาสนาเถรวาทตามลำดับ แต่ในที่สุดพุทธศาสนาเถรวาทก็ได้รับชัยชนะในสังคมกัมพูชา ทำให้ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ (กว่าร้อยละ 90) นับถือพุทธศาสนาเถรวาทตราบกระทั่งปัจจุบัน
คติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู มีอิทธิพลต่ออาณาจักรขอมมาช้านาน ทั้งในเรื่องของศาสนา การปกครอง ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ ต่อมาเมื่อประมาณสามศตวรรษก่อน คริสตศักราช พุทธศาสนามหายาน (เข้ามาในสมัยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2) และพุทธศาสนาเถรวาท (เข้ามาในสมัยพระเจ้าทเรนวรมันที่ 2) ก็ได้เผยแผ่มาถึงดินแดนสุวรรณภูมิ และมีอิทธิพลต่ออาณาจักรขอมเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อาณาจักรขอมนับถือทั้งพุทธศาสนามหายาน และเถรวาท (ซึ่งรับมาจากอาณาจักรทวารวดี) งานที่สำคัญของพระองค์ก็คือการสร้าง "นครธม" ซึ่งมี "วิหารบายน" เป็นศูนย์กลางตามคติความเชื่อของพุทธศาสนามหายาน ต่อมาพระเจ้าอินทรวรมันที่ 3 ทรงให้การสนับสนุนพุทธศาสนาเถรวาท จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันพาราเมศวร ทรงโปรดให้มีการจารึกสรรเสริญพระเจ้าแผ่นดินด้วยภาษาบาลี (แทนที่จะเป็นภาษาสันสกฤตดังในอดีต) แสดงให้เห็นว่าอาณาจักรขอมได้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาเถรวาทโดยสมบูรณ์
พุทธศาสนากับการปกครองในอดีต
ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้ทรงเลื่อมใสพุทธศาสนามหายานและหลักการของพระโพธิสัตว์ ทรงพิจารณาว่า ความทุกข์ที่กล่าวไว้ในพุทธศาสนามิได้หมายเพียงความทุกข์ทางใจเท่านั้น แต่ยังหมายรวมความทุกข์ทางกายอีกด้วย พระองค์จึงทรงเร่งสร้างถนนหนทาง วัด ที่พักคนเดินทาง สระน้ำ และโรงพยาบาล (โรคยาศาลา) เพื่อขจัดความทุกข์ของทวยราษฎร์ นับว่าพระองค์ทรงเป็นนักปฏิวัติสังคม ผู้ทรงนำหลักการ "ธรรมราชา" ในพุทธศาสนามาใช้แทน "เทวราชา" ตามคติความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ในปี ค.ศ.1186 พระองค์ทรงสร้าง "ปราสาทตาพรม" เพื่อเป็นที่ประดิษฐานภาพสลักศิลาของพระมารดา (พระนางศรีชัยราชจุฑามณี) ในรูปของ "พระโพธิสัตว์ปรัชญาปารมิตา" อันเป็นสัญลักษณ์ของปัญญา และ "ปราสาทชัยศรี" เพื่อเป็นที่ประดิษฐานภาพสลักศิลาของพระบิดา (พระเจ้าธรณันทรวรมัน) ในรูปของ "พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร" อันเป็นสัญลักษณ์ของกรุณา ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนามหายาน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิกายวัชรยาน) ที่ว่า "การสมรสระหว่างปัญญากับกรุณาทำให้เกิดการตรัสรู้" นับตั้งแต่สมัยของพระองค์เป็นต้นมา อาณาจักรกัมพูชาได้พลิกโฉมกลายมาเป็นอาณาจักรแห่งพุทธศาสนาโดยแท้
พุทธศาสนากับการเมืองสมัยใหม่
ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 พุทธศาสนาเถรวาทได้กลายเป็นศาสนาของชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ หลังจากที่กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส พุทธศาสนาก็ได้เข้ามามีบทบาทต่อการเมืองของกัมพูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา
สีหนุกับพุทธสังคมนิยม
เจ้านโรดมสีหนุ นำเสนอ "พุทธสังคมนิยม" (Buddhist Socialism) ในลักษณะที่แตกต่างไปจากแนวคิด "สังคมนิยม" ของทั้งตะวันตกและตะวันออก พุทธสังคมนิยมของพระองค์ตั้งอยู่บนฐานคิดของพุทธศาสนาและโครงสร้างทางสังคมวัฒนธรรมกัมพูชา โดยการเน้นหลักความเสมอภาค ความเป็นอยู่ที่ดีของคนยากจน และเอกลักษณ์ของชาติ พระองค์ทรงย้ำว่าความเป็นกลางทางการเมืองระหว่างประเทศของกัมพูชา มาจากหลัก "ทางสายกลาง" ในพุทธศาสนา
ตามทรรศนะของพุทธศาสนา ผู้ปกครองจะต้องปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเมตตากรุณาและเที่ยงธรรม หลักการนี้ขัดแย้งกับลัทธิมาร์กซิสม์ (Marxism) ที่เรียกร้องให้ประชาชนโค่นล้มรัฐบาลและสถาปนาระบอบ "เผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพ" ขึ้น พุทธสังคมนิยมยังไม่เห็นด้วยกับการปฏิเสธทรัพย์สินส่วนบุคคลของสังคมนิยมมาร์กซิสม์ โดยเจ้านโรดมสีหนุกล่าวว่าเศรษฐีจะถูกชักชวนให้ทำทานแก่คนยากจนมากกว่าจะถูกยึดทรัพย์ไปเป็นสมบัติของส่วนรวม
เจ้านโรดมสีหนุถูกนายพลลอนนอล (Lon Nol) กระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ.1970 และต่อมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน นายพลลอนนอลได้ประกาศให้กัมพูชาเป็นสาธารณรัฐ
พุทธศาสนากับการเมืองยุคลอนนอล
ชนชั้นปกครองของสาธารณรัฐกัมพูชาได้สัญญากับประชาชนว่า จะยกย่องพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาประจำชาติ และจะเคารพขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวกัมพูชา บทบาททางศาสนาที่เคยปฏิบัติโดยพระมหากษัตริย์จะถูกแทนที่โดยประธานาธิบดี และเพื่อเป็นหลักประกันแก่ประชาชน มีการจารึกบนอนุสาวรีย์สาธารณรัฐหน้าพระราชวังว่า "พุทธศาสนาสอนให้เราซื่อสัตย์ ปฏิเสธความเห็นแก่ตัว และส่งเสริมการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เหนือสิ่งอื่นใดพุทธศาสนาคือสัญลักษณ์ของเสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ความก้าวหน้า และความสมบูรณ์พูนสุข"
นายพลลอนนอลได้เรียกร้องให้ประชาชนออกมาต่อต้านคอมมิวนิสต์เขมรแดงและเวียดนาม โดยให้เหตุผลเป็นคำขวัญว่า "ถ้าคอมมิวนิสต์มา พุทธศาสนาจะหมดสิ้นไป"
พุทธศาสนาภายใต้เขมรแดง
สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน ค.ศ.1975 ด้วยชัยชนะของเขมรแดง รัฐบาลเขมรแดงปกครองประเทศอย่างเข้มงวด และเปลี่ยนแปลงสังคมกัมพูชาอย่างถึงรากถึงโคน รัฐธรรมนูญคอมมิวนิสต์ได้ถูกประกาศใช้โดยกล่าวถึงเสรีภาพทางศาสนาในมาตรา 20 ว่า "พลเมืองกัมพูชาทุกคนมีสิทธิที่จะนับถือศาสนาหรือไม่นับถือศาสนาก็ได้ ศาสนาปฏิกิริยาซึ่งขัดขวางกัมพูชาประชาธิปไตยและประชาชนเป็นสิ่งต้องห้าม"
ภายใต้รัฐบาลเขมรแดง พุทธศาสนาต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงทั้งในด้านคำสอน คณะสงฆ์ และวัด พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าถูกตีความให้รับใช้การปฏิวัติ พระสงฆ์ต้องเข้ารับการศึกษาใหม่ และต้องใช้แรงงานเช่นเดียวกับฆราวาสทั้งในท้องนา การก่อสร้างถนนและเขื่อน มีการทำลายวัดวาอารามและพระพุทธรูป มีการเผาคัมภีร์และตำราทางศาสนา ภายในระยะเวลาเพียงสี่ปีพุทธศาสนาเกือบสูญสิ้นไปจากประเทศ
พุทธศาสนาภายใต้ระบอบเฮงสัมริน
การยึดครองกรุงพนมเปญของกองทัพเวียดนามเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1979 ทำให้การปกครองของเขมรแดงสิ้นสุดลง ระบอบเฮงสัมริน (Heng Samrin) ได้ถูกสถาปนาขึ้นภายใต้การควบคุมของเวียดนาม รัฐบาลใหม่ได้ฟื้นฟูพุทธศาสนาในระดับหนึ่ง โดยซ่อมแซมวัดและพระพุทธรูปจำนวนหนึ่ง รวมทั้งอนุญาตให้ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปบวชเป็นพระภิกษุได้ แทนที่จะตำหนิพุทธศาสนาว่าเป็นฝิ่นของประชาชนดังเช่นเขมรแดง เฮงสัมริน กลับยกย่องพุทธศาสนาว่าเป็นพลังทางศีลธรรมที่สำคัญในการสร้างสังคมใหม่ โดยกล่าวว่า
"พุทธศาสนาสอนเราให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นประชาธิปไตยและเป็นเอกภาพ โดยคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน พุทธศาสนาสอนเราให้รู้จักช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น อันสอดคล้องกับสังคมมนุษย์ที่ต้องการสันติภาพและสันติสุข"
เฮงสัมริน (Heng Samrin) ได้ใช้พุทธศาสนาและคณะสงฆ์กัมพูชา เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการต่อสู้กับเขมรแดง ภายใต้ระบอบเฮงสัมริน แม้พระสงฆ์จะมิได้ถูกมองว่าเป็นกาฝากของสังคม และเป็นผู้ยังประโยชน์แก่ประเทศ แต่คณะสงฆ์ก็ถูกควบคุมจากรัฐบาลอย่างใกล้ชิด โดยต้องเข้ารับการอบรมลัทธิคอมมิวนิสต์จากเวียดนามและโซเวียต นิกายธรรมยุตและมหานิกายของกัมพูชาถูกยุบรวมเป็นหนึ่งเดียว และพระสงฆ์ต้องตีความพุทธศาสนาให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ
พุทธศาสนากับสังคมกัมพูชาปัจจุบัน
เมื่อรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตยถูกจัดตั้งขึ้นโดยมี นายกรัฐมนตรีซอนซาน (Son Sann) เป็นผู้นำนั้น ซอนซาน (Son Sann) เชื่อมั่นว่า พุทธศาสนาอันเป็นรากฐานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวกัมพูชา จะเป็นพลังอันสำคัญในการรวมชาติกัมพูชาให้เป็นหนึ่งเดียว รัฐบาลซอนซานจึงสนับสนุนการฟื้นฟูพุทธศาสนาเถรวาทในรูปแบบดั้งเดิมของกัมพูชาขึ้นมาใหม่
ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันของ สมเด็จฮุนเซน (Hun Sen) สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ โดยเจ้านโรดมสีหโมลี (พระโอรสของเจ้านโรดมสีหนุ) ทรงเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน พุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีได้รับการส่งเสริมสนับสนุน พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยที่มีพรรคการเมืองหลายพรรค สำหรับชาวกัมพูชาแล้วพุทธศาสนาและเอกลักษณ์ความเป็นกัมพูชาคือสิ่งเดียวกัน เป็นการยากที่จะจินตนาการว่า ชาวกัมพูชาจะสามารถอยู่ภายใต้ระบอบการเมืองที่มีอุดมการณ์เป็นปฏิปักษ์กับพุทธศาสนาได้
หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ หน้าต่างความจริง
วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10473 |
|
_________________ -- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง -- |
|
   |
 |
ก้อนดิน
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 07 ก.ค. 2004
ตอบ: 623
|
ตอบเมื่อ:
28 ก.พ.2008, 9:22 am |
  |
ขออนุโมทนาบุญด้วยครับ |
|
|
|
  |
 |
บัวหิมะ
บัวเงิน


เข้าร่วม: 26 มิ.ย. 2008
ตอบ: 1273
|
ตอบเมื่อ:
10 ส.ค. 2008, 1:21 pm |
  |
 |
|
_________________ ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ |
|
  |
 |
|