Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ใคร? ดื่มเหล้าในวัดเป็นครั้งแรก อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
webmaster
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 04 มิ.ย. 2004
ตอบ: 769

ตอบตอบเมื่อ: 29 พ.ค.2008, 7:01 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ใคร? ดื่มเหล้าในวัดเป็นครั้งแรก

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้มี พระราชบัญญัติหรือกฏหมายควบคุมการขายและการดื่มแอลกอฮอล์ ในวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา ไว้ ๒ มาตราด้วยกัน คือ มาตรา ๒๗ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา และ มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา เว้นแต่ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา

โดยมีการกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนไว้ด้วย คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อนึ่ง ในกฎหมายฉบับนี้ มิได้ระบุว่า วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนานั้น เป็นศาสนาใดเป็นการเฉพาะ หากรวมหมายทุกศาสนาที่มีอยู่ในประเทศไทย ในที่นี้จะขอพูดเฉพาะส่วนของพระพุทธศาสนาเท่านั้น

เป็นที่ทราบโดยทั่วไปแล้วว่าสุราเมรัยนั้น มีพิษและโทษภัยแก่ผู้ดื่มมากมาย ทำให้เสียภาพพจน์ ก่อการวิวาท และเกิดคดีอาชญากรรมมากมาย สติสัมปชัญญะเสื่อมถอย มีผลต่อการขับขี่ยวดยานพาหนะ ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน จะเห็นได้ในเทศกาลปีใหม่ก็ดี เทศกาลสงกรานต์ก็ดี มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เพราะผู้ขับขี่เมาสุราเป็นอันดับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บคือพิษสุราเรื้อรัง เป็นคนปราศจากความอาย จะแสดงอาการกิริยาอย่างไรก็ได้ เพราะขาดจิตสำนึกชั่วดี ด้วยอำนาจแห่งความมึนเมา และกล้าที่จะกระทำความชั่วได้ทุกขณะและทุกอย่าง

การที่ต้องออกกฎหมายมาควบคุมการขายและการดื่มเหล้าในวัดหรือในศาสนสถานนั้น ก็เพราะปัจจุบันมีคนแสวงหาประโยชน์ในการขายเหล้าในสถานที่ดังกล่าว โดยไม่คำนึงถึงว่า วัดหรือศาสนสถานนั้นเป็นแหล่งฟื้นฟูและปลูกฝังศีลธรรมอันดีแก่ชนทั่วไป เป็นสถานที่ต้องให้ความเคารพ ที่ไม่ควรถูกมองว่าเป็นแหล่งอบายมุขเสียเอง เมื่อมีกฎหมายออกมาควบคุมก็จะขจัดสิ่งไม่ดีให้หมดไป และส่งเสริมสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

ในพระพุทธศาสนานั้นถือว่าการดื่มสุราเมรัยเป็นเรื่องไม่ดี ไม่ควรกระทำ จึงบัญญัติไว้ในศีล ๕ ข้อสุดท้าย โดยสอนให้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา การงดเว้นเป็นเรื่องจิตใจของผู้ต้องการทำความดี โดยปราศจากการบังคับ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงห้าม และไม่ทรงบังคับใคร เพราะพระองค์ห้ามไม่ได้ ถ้าพระองค์ทรงห้ามได้ จะมีคนทำความชั่วอยู่หรือ พระพุทธองค์เป็นเพียงผู้บอกผู้ชี้ทางสว่างแก่ผู้คน ถ้าใครปฏิบัติตามธรรมของพระองค์ก็ได้รับคุณประโยชน์ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามธรรมของพระองค์ ก็จะได้รับในสิ่งไม่ดีที่ตนกระทำลงไป

Image

ในส่วน พระวินัยปิฎก ได้กล่าวถึงเรื่องที่พระภิกษุดื่มสุราไว้ใน สิกขาบทที่ ๑ สุราปานวรรค ในปาจิตตีย์กัณฑ์ว่า พระสาคตะ ปราบนาค (งูใหญ่) ของพวกชฎิลได้ ชาวบ้านดีใจ อยากจะถวายของที่หาได้ยากแก่ท่าน พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ (พวกหกคน) แนะให้ถวายเหล้าสีแดงดั่งสีเท้านกพิราบ ชาวบ้านจึงทำตาม โดยถวายเหล้าให้พระสาคตะดื่ม พระสาคตะดื่มแล้วเมานอนกลิ้งอยู่ที่ประตูเมือง ความทราบถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุดื่มเหล้า (น้ำเมาที่กลั่น) และเมรัย (น้ำเมาที่หมักดอง) ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ผู้ล่วงละเมิด

การดื่มสุราจัดเป็นอบายมุข คือ หนทางแห่งความเสื่อมประการหนึ่งของอบายมุขทั้งหลาย ที่ผู้ครองเรือนควรงดเว้นเด็ดขาด เพราะการดื่มสุรามีโทษมากมายดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ดังตัวอย่างเรื่องของลูกเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก ต้องกลายเป็นขอทาน ปรากฏในธรรมบทภาค ๕ ความว่า

เศรษฐีในเมืองพาราณสีมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ มีลูกชายคนหนึ่งให้แต่งงานกับลูกสาวผู้มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิเช่นกัน เมื่อพ่อแม่ตายแล้ว ก็ได้ครอบครองทรัพย์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ๑๖๐ โกฏิ แต่เพราะคนทั้งสองไม่รู้จักการบริหารทรัพย์สิน สามีไปคบกับนักเลงสุรา เที่ยวดื่มกิน เพลิดเพลินและมัวเมาไปด้วยรูป รส กลิ่น เสียง จนทรัพย์หมดเกลี้ยงทั้งของตนและของภรรยา ในที่สุดต้องกลายเป็นขอทานยังชีพไปวันๆ

ในธรรมบทภาค ๕ เช่นเดียวกัน ได้กล่าวถึงหญิงผู้เป็นสหายของนางวิสาขา มหาอุบาสิกา ๕๐๐ คน ที่สามีของพวกนางนำมาฝากให้ดูแล เพราะพวกเขาจะไปดื่มเหล้าในเทศกาลที่จัดขึ้นตามประเพณี เป็นเวลา ๗ วัน พอวันที่ ๘ สามีของพวกนางออกจากบ้านไปทำงาน พวกภรรยาเหล่านี้ก็ชักชวนกันดื่มสุรา โดยแอบพกสุราที่สามีดื่มเหลือไว้ติดตัวไปด้วย ขอร้องให้นางวิสาขาพาไปเที่ยวในสวน นางวิสาขาก็พาไป สหายหญิงเหล่านั้นก็แอบกินเหล้าจนเมามาย ร้องรำทำเพลงกันไป นางวิสาขาได้รับความอับอายเป็นอันมาก จึงตำหนิติเตียนหญิงสหายเหล่านั้น และเมื่อพวกนางกลับไปบ้านก็ถูกสามีทุบตีเอา เพราะไปดื่มเหล้าเมามายที่ผู้หญิงไม่ควรกระทำ

ต่อมา มีงานรื่นเริงอื่นๆ อีก พวกหญิงสหายเหล่านั้นอยากกินเหล้า จึงพากันไปหานางวิสาขา ขอให้พาไปเที่ยวเล่นในสวน นางวิสาขาปฏิเสธ เพราะกลัวจะถูกหลอก พวกนางจึงแกล้งเอาใจว่าจะไปทำพุทธบูชา ขอให้พาไปวัดเชตวันมหาวิหาร นางวิสาขาจึงพาไป โดยไม่ทราบว่าหญิงเหล่านั้นแอบนำเหล้าไปด้วย เมื่อถึงวิหารแล้วก็ไปแอบดื่มกันจนเมามาย แล้วจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า บางคนแสดงอาการพิกลพิการเริ่มหัวเราะ บางคนเริ่มปรบมือ พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุดังนั้น จึงบันดาลให้หญิงเหล่านั้นสร่างจากอาการมึนเมา มีสติสัมปชัญญะดังเดิม ตรัสตำหนิว่า คนที่มาสู่สำนักของพระองค์ไม่ควรกระทำกิริยาเช่นนี้ แล้วตรัสพระคาถาว่า

“เมื่อโลกสันนิวาส อันไฟลุกโพลงอยู่เป็นนิตย์ พวกเธอยังร่าเริงบันเทิงอะไรกันหนอ? เธอทั้งหลายอันความมืดปกคลุมแล้ว ทำไมไม่แสวงหาประทีปเล่า?”

ในเวลาจบพระธรรมเทศนา หญิงทั้ง ๕๐๐ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว

นี่เป็นการเข้าไปดื่มเหล้าในวัดเป็นครั้งแรกในพระพุทธศาสนา แต่อาศัยที่พระพุทธเจ้ามีพุทธบารมีอันยอดยิ่ง จึงทำให้พวกเธอเหล่านั้นบรรลุธรรมได้ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็อย่าหวังเช่นนั้นเลย แถมยังถูกจับติดคุกอีกต่างหาก

* หมายเหตุ : โลกสันนิวาส หมายถึง โลกอันเป็นที่อยู่ร่วมกัน

Image


จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 91 มิ.ย. 51 โดย ธมฺมจรถ
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 พฤษภาคม 2551 16:48 น.



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑
http://www.sohnglp.net/db/allkorhor.pdf

ห้ามดื่มเหล้าในวัด
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=15815


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
 

_________________
ธรรมจักรดอทเน็ต
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
Buddha
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 29 พ.ค. 2007
ตอบ: 415

ตอบตอบเมื่อ: 30 พ.ค.2008, 9:08 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สรุปแล้ว พระสงฆ์ ดื่มเหล้าก่อนว่างั้นเถอะ
พอต่อๆ มา พระสงฆ์ถูกห้ามมิให้ดื่ม
ฆราวาสก็เลยถือเอาวัฒนธรรม จารีต ประเพณี เป็นข้ออ้างในการดื่มสุรา ซะเลย

ห้ามไม่ได้ดื่มสุราในวัด ดีแล้วขอรับ
เพราะเป็นการเคารพสถานที่
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
มุทิตาภาวนา
บัวพ้นดิน
บัวพ้นดิน


เข้าร่วม: 24 ก.พ. 2008
ตอบ: 62

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.ค.2008, 12:03 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ ยิ้ม ยิ้มเห็นฟัน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง