Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 สตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาประจำปี พ.ศ.2551 อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
มุทิตาภาวนา
บัวพ้นดิน
บัวพ้นดิน


เข้าร่วม: 24 ก.พ. 2008
ตอบ: 62

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.พ.2008, 9:48 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

สตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาประจำปี พ.ศ.2551
คอลัมน์ หน้าต่างความจริง
โดย สุวิดา แสงสีหนาท และน้ำทิพย์ ศรีจันทร์


“รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ประจำปี พ.ศ.2551” ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติของสตรีผู้ประกอบคุณงามความดีในพระพุทธศาสนา เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลแห่งสหประชาชาติ จะจัดขึ้นที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ถนนเดชะตุงคะ แขวงทุ่งสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ (โทร. 0-2929-2301-5) ในวันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2551 ตั้งแต่เวลา 08.30-15.30 นาฬิกา โดยในปีนี้จะมีสตรีชาวพุทธจากทั่วโลกได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น 20 คน จาก 7 ประเทศ ดังนี้

ภิกษุณีมุทิตา ชาวเยอรมัน
เป็นผู้ก่อตั้งเครือข่าย Inter-faith Community of Social Engagement สร้างสถานวิปัสสนาสำหรับสตรีถึง 3 แห่งที่ Ravenburk ซึ่งเคยเป็นค่ายกักกันในเยอรมนี รวมทั้งก่อตั้ง Anenja Vihara เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรมสำหรับสตรีในประเทศเยอรมนี

ซิลเวีย เวทเซล ชาวเยอรมัน
มีความเชี่ยวชาญในพุทธศาสนาแบบทิเบต เป็นผู้แปลหนังสือพระพุทธศาสนาออกเป็นภาษาเยอรมันหลายเล่ม รวมทั้ง ผลักดันให้เกิดหลักสูตรการศึกษาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน

โนบูโกะ โอโนะ ชาวญี่ปุ่น
เป็นหัวหน้าศูนย์ชุมชนอะมากาเซะในเกาะกิวชิว พยายามผลักดันให้มีการปรับปรุงการศึกษาของสังคมชนบทในประเทศญี่ปุ่น ด้วยจิตใจที่โอบอ้อมอารีดุจดังพระโพธิสัตว์ โนบูโกะ โอโนะ รับนักศึกษานานาชาติเข้าพักอาศัยอยู่กับครอบครัวเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเทศกาลปีใหม่ ติดต่อกันเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว แม้จะอยู่ในชนบทของประเทศญี่ปุ่น แต่เธอก็มีครอบครัวที่ผูกพันไปทั่วโลก โนบูโกะ โอโนะคือทูตแห่งสันติภาพโลก

ภิกษุณี ดร.เมียง ซุง ซูนิม ชาวเกาหลีใต้
เป็นผู้ก่อตั้ง National Bhikhuni Association of Korean Buddhist Jogye Order ขึ้นในปี ค.ศ.1985 ปัจจุบันเป็นประธานสมาคมดังกล่าวในเกาหลีใต้ โดยมุ่งฝึกฝนนักบวชสตรีให้มีสุขภาวะที่ดีทั้งทางด้านร่างกาย สิ่งแวดล้อม และจิตใจ

ภิกษุณีซิก เจียน เยน ชาวจีนไทเป
เป็นหัวหน้าภิกษุณีแห่งสำนัก Zhi Cheng ที่ประเทศไต้หวัน เป็นผู้ส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มีบทบาทด้านการสังคมสงเคราะห์ โดยให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้การสงเคราะห์แก่คนชรา เยาวชน และผู้ยากไร้ในประเทศไต้หวัน

ภิกษุณีซิก เว่ย ชุน ชาวจีนไทเป
เป็นผู้ก่อตั้งสำนัก Daksinavana Bhiksuni Sangha Ashram ก่อตั้งวัด Dakinava ก่อตั้งสมาคม Dakinava Buddhist Cultural Society และก่อตั้ง Daksinavana Institute of Buddhist Studies นอกจากนี้ยังให้ทุนการศึกษาแก่เด็ก ให้ที่พักแก่คนชราและผู้พิการทางสมอง และก่อตั้งโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์คำสอนพระพุทธศาสนาออกเผยแผ่

แพทย์หญิงหลี่ หัว หยาง ชาวจีนไทเป
เป็นแพทย์แผนโบราณด้านการฝังเข็มแบบจีน ควบคู่ไปกับการสอนธรรมะ เธอเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเผยแผ่ธรรมะด้วยการแพทย์แผนโบราณ และการดูแลผู้ป่วยใกล้ตายมานานกว่า 30 ปี จนได้รับการยกย่องเป็นอาสาสมัครนานาชาติดีเด่นจากสหประชาชาติในปี ค.ศ.2001

ภิกษุณีเปมะ โชดรอน ชาวอเมริกัน
บวชในพระพุทธศาสนาแบบทิเบต เป็นผู้ก่อตั้ง Tibetan Buddhist Monasticism ขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาแบบทิเบตในตะวันตก ท่านเขียนหนังสือพระพุทธศาสนาไว้หลายเล่ม อาทิ The Wisdom of No Escape และ Start Where You Are เป็นต้น

ภิกษุณีเบธ เคนจิ โกลด์ริง ชาวอเมริกัน
ผู้ก่อตั้งโครงการ AID Brahmavihara ขึ้นที่กัมพูชาในปี ค.ศ.2000 เพื่อใช้เป็นสถานพยาบาล “ธรรมะโอสถศาลา” ในการบำบัดรักษาจิตใจและอารมณ์ของผู้ติดเชื้อเอดส์ ตามแนวทางพุทธศาสนานิกายเซน เช่น ทำสมาธิ สวดมนต์ และเยียวยาทางสัมผัส เป็นต้น ปัจจุบันมีผู้ป่วยเอดส์เข้ารับการรักษากว่า 200 คน และยังให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ป่วยเอดส์อื่นๆ ด้วย

ภิกษุณีแพทริเซีย ไดเอน เบนเนจ ชาวอเมริกัน
ได้ฝึกฝนการปฏิบัติพระพุทธศาสนาแบบเซน จนได้เป็น Roshi หรืออาจารย์เซน ภิกษุณีแพทริเซีย แปลหนังสือเรื่อง Zen Seeds ออกเป็นภาษาอังกฤษ และเป็นผู้จัดหลักสูตรวิปัสสนาแบบเซนให้กับมหาวิทยาลัย Bucknell ในประเทศสหรัฐอเมริกา

แจคเกอลีน เครเมอร์ ชาวอเมริกัน
นับถือพระพุทธศาสนาแบบศรีลังกามานานกว่า 30 ปี เป็นผู้เขียนหนังสือ Buddha Mom ซึ่งมีเนื้อหาประยุกต์พระพุทธศาสนากับการตั้งครรค์ การให้กำเนิดบุตร การเป็นแม่ และการสร้างครอบครัว เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Hearth เพื่อพัฒนาครอบครัวพุทธในแบบตะวันตก และสอนการปฏิบัติธรรมฟรีทางอินเตอร์เน็ตแก่ผู้สนใจทั่วไป

ภิกษุณีอานันทะโพธิ ชาวอังกฤษ
สัมผัสพระพุทธศาสนาครั้งแรกจากการเรียนรู้เรื่องอริยสัจสี่ที่โรงเรียน ทำให้เธอหันมานับถือพระพุทธศาสนาและบวชเป็นภิกษุณีในปี ค.ศ.1995 ได้เป็นผู้ดูแลและสอนธรรมะอยู่ที่ Chithurst และ Hartridge ในประเทศอังกฤษ ปัจจุบันกำลังก่อตั้งสถานปฏิบัติธรรมแห่งใหม่สำหรับสตรีในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

ภิกษุณีศีลนันทา ชาวไทย
เป็นหนึ่งในอิฐก้อนแรกๆ ที่ปูทางไปสู่การจัดตั้งสถาบันภิกษุณีในประเทศไทย ท่านตั้งมั่นในการศึกษาธรรมะ ปัจจุบันกำลังศึกษาพระพุทธศาสนาระดับปริญญาโทอยู่ที่ International Buddhist Collage จังหวัดสงขลา

สิกขมาตุผุสดี สะอาดวงศ์
อายุ 83 ปี เป็นสิกขมาตุรูปแรกแห่งสำนักสันติอโศก ท่านไม่กินเนื้อสัตว์มาตั้งแต่อายุ 13 ปี จนปัจจุบันเป็นเวลากว่า 70 ปีแล้ว ท่านสมาทานศีล 10 เคยบำเพ็ญตบะด้วยการอดอาหาร 14 วัน นั่งเนสัชชิ (ไม่เอาหลังแตะพื้น) 1 พรรษา และเขียนหนังสือธรรมะหลายเล่ม

แม่ชีพิมพ์ใจ มณีรัตน์
เป็นแม่ชีชาวไทย เป็นผู้ก่อตั้งโครงการ “ศูนย์การศึกษาตามอัธยาศัยนานาชาติไทยภูเขา” เพื่อช่วยเด็กชาวไทยภูเขาที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา ให้มีโอกาสได้เรียนหนังสือขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสพัฒนาตนเองไปสู่การศึกษาขั้นสูงต่อไป โดยท่านเชื่อว่า “ความรู้คืออำนาจ ความรู้คือโอกาส”

แม่ชีวารี ชื้อทัศนะประสิทธิ์
ออกบวชในพระพุทธศาสนามาเป็นเวลากว่า 40 ปี ท่านทำหน้าที่เป็นครูฝึกแม่ชีไทยให้ออกไปเป็นครูสอนธรรมะและครูสอนวิชาทั่วไป จนถึงปัจจุบันมีลูกศิษย์มากมายหลายรุ่น ท่านพำนักอยู่ที่วิทยาลัยจิตตภาวัน จังหวัดชลบุรี และดำรงตำแหน่งเลขานุการของสถาบันแม่ชีไทย

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์มานานกว่า 20 ปี ท่านเป็นชาวพุทธที่ยึดมั่นคำสอนในพุทธศาสนา และถือศีลห้าเป็นสรณะในการปฏิบัติงานมาโดยตลอด เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่เพื่อนมนุษย์ที่เสียชีวิตด้วยความเที่ยงตรงและซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ

เตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์
เป็นนักเขียนที่สนใจความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและมนุษย์กับมนุษย์ ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ.2539 และรางวัลคนดีศรีสังคมสาขางานสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2534 เธอเขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติและชาวไทยภูเขาหลายเล่ม

อังกูร วงศ์เจริญ
เป็นพยาบาลวิชาชีพชาวไทย ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ประสบภัยพิบัติทางภาคใต้ของไทย ตามหลักโพธิสัตวธรรมในพุทธศาสนามหายานแบบจีน โดยได้ประสานงานกับสภากาชาดไทยในเหตุภัยพิบัติสึนามิ และเป็นผู้ริเริ่มโครงการลดความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติตามชุมชนชายฝั่งและหมู่เกาะต่างๆ

อรสม สุทธิสาคร
เป็นนักเขียนอิสระที่เขียนสารคดีสะท้อนปัญหาสังคมไทยที่เกี่ยวกับเด็ก ผู้หญิง ครอบครัว ความรุนแรง และผู้อยู่ในมุมมืด มานานกว่า 20 ปี โดยเชื่อว่าการสะท้อนความจริงของชีวิตจะทำให้เรารู้จักคุณค่าของชีวิตและตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท เธอเขียนหนังสือกว่า 30 เล่ม เช่น สนิมดอกไม้ เด็กพันธ์ใหม่วัยเอ็กซ์ เป็นต้น


หนังสือพิมพ์มติชน หน้า 6 คอลัมน์ หน้าต่างความจริง
โดย สุวิดา แสงสีหนาท และน้ำทิพย์ ศรีจันทร์
วันที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10949
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
มุทิตาภาวนา
บัวพ้นดิน
บัวพ้นดิน


เข้าร่วม: 24 ก.พ. 2008
ตอบ: 62

ตอบตอบเมื่อ: 02 มี.ค.2008, 9:07 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

สิกขมาตุผุสดี สะอาดวงศ์
สตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาประจำปี พ.ศ.2551


“สิกขมาตุ” หมายถึง นักศึกษาหรือนักบวชฝ่ายหญิงที่ใช้เรียกในกลุ่มชาวอโศก หรือที่รู้จักกันในนาม สันติอโศก ปัจจุบัน สิกขมาตุผุสดี สะอาดวงศ์ อายุได้ 83 ปีแล้ว “ข้าพเจ้าปฏิบัติธรรมตั้งแต่เยาว์วัยโดยได้ไปฟังเทศน์กับคุณป้า ได้ฟังพระท่านให้ศีล คือศีล 5 และศีล 8 ฟังแล้วกลัวบาปจึงเลิกรับประทานพวกเนื้อสัตว์ใหญ่ๆ เช่น วัว หมู ไก่ และเลิกรับประทานเนื้อสัตว์ทุกชนิดตอนอายุ 13 ปีจนถึงปัจจุบันรวมเวลาได้ 70 ปีแล้ว”

เริ่มฝึกปฏิบัติธรรมตั้งแต่ยังไม่รู้จักสมณะโพธิรักษ์ โดยไปบวชเป็นแม่ชีที่วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ ได้รู้จักกับสมณะโพธิรักษ์ที่นั่น “ซึ่งท่านฉันอาหารมังสวิรัติ จึงเกิดความศรัทธาเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติของท่าน ได้ติดตามไปฟังพระธรรมเทศนาจากท่านที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์, วัดธาตุทอง และได้ไปร่วมงานบวชพระชาวอโศก ฟังพระท่านให้ศีล 10 มีความรู้สึกซาบซึ้งประทับใจมาก จึงตั้งจิตอธิษฐานสมาทานศีล 10 และในเวลาต่อมาได้รับศีล 10 จากสมณะโพธิรักษ์ หลังจากที่ถือศีล 10 เป็นนักบวชฝ่ายหญิง ก็ได้เปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากสีขาวมาเป็นสีน้ำตาล และให้เรียกว่า “แม่กรัก” ต่อมาให้เรียกว่า “แม่เณร” ปัจจุบันเรียกว่า “สิกขมาตุ” เป็นนักบวชหญิงรูปแรกของชาวอโศก ถือศีล 10 ฉันอาหารมังสวิรัติวันละ 1 มื้อ”

เกิดที่จังหวัดสมุทรปราการ จบการศึกษาจากโรงเรียนการช่างสตรีพระนครใต้ กรุงเทพฯ ไม่เคยแต่งงาน ก่อนที่จะออกบวชเคยช่วยติดต่อประสานงานกับตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษา ให้กับร้านขายทองเพราะเขามีเรื่องต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เคยเป็นผู้จัดการโรงเรียนการช่าง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ไม่เก็บค่าเล่าเรียนจากนักเรียน คือทำการสอนฟรี ทำงานบริษัทก่อสร้างทำหน้าที่รับวัสดุในการก่อสร้าง และเป็นสมุห์บัญชีบริษัทน้ำมัน

ด้วยศรัทธาแก่กล้าในพระธรรม สิกขมาตุผุสดี สะอาดวงศ์ เคยบำเพ็ญตบะธรรม ด้วยการอดอาหาร 14 วัน นั่งเนสัชชิ (ไม่เอาหลังแตะพื้น) นาน 1 พรรษา เดินจาริกกับหมู่สิกขมาตุ จากแดนอโศก จ.นครปฐม ไปชลบุรี ระยอง และเกาะสีชัง ใช้เวลาในการเดินประมาณ 1 เดือนเศษ ปัจจุบันฝึกปฏิบัติสมาธิแบบลืมตาให้รู้เท่าทันทวารทั้ง 6 ตลอดเวลา

นอกจากการปฏิบัติที่กล่าวแล้ว ยังเขียนหนังสือเป็นธรรมทาน 3 เล่ม คือหลักปฏิบัติตนให้บริสุทธิ์ ทางเดินชีวิต และบุญบาปที่เห็นได้ในชาตินี้

ปัจจุบัน สิกขมาตุผุสดี สะอาดวงศ์ ประจำอยู่ที่พุทธสถานราชธานีอโศก หมู่ที่ 10 ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี สอนหรืออบรมนักเรียนสัมมาสิกขา สัปดาห์ละ 3 วัน รวมทั้งให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำกับญาติโยมที่แสวงหาความพ้นทุกข์


หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ มองอย่างพุทธ โดย ฌาน ตรรกวิจารณ์
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10942
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 02 มี.ค.2008, 4:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ...สาธุ...สาธุด้วยค่ะ สาธุ คุณมุทิตาภาวนา สู้ สู้ ยิ้มเห็นฟัน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
มุทิตาภาวนา
บัวพ้นดิน
บัวพ้นดิน


เข้าร่วม: 24 ก.พ. 2008
ตอบ: 62

ตอบตอบเมื่อ: 26 มี.ค.2008, 10:13 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
ผู้ได้รับรางวัลทุกท่านถ่ายภาพร่วมกัน


รางวัล “สตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา”
เชิดชูสตรีผู้กล้าแห่งกองทัพธรรม
โดย.....เชตวัน เตือประโคน


โล่รางวัลสะท้อนแสงแวววับ กรอบประกาศเกียรติคุณสีทองอร่ามทรงคุณค่า เป็นเสมือนกำลังใจที่ทำให้ผู้ได้รับรางวัลรู้สึกสดชื่น อันเนื่องจากว่า มีคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเธอทำ

ใช่ ! - สรรพนามบุรุษที่ 3 ใช้คำว่า “เธอ” เพราะรางวัลที่พูดถึงนี้ มีชื่อว่า “รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา” โดยการสนับสนุนขององค์การยูเนสโก ซึ่งจัดงานขึ้นและมอบรางวัลเป็นประจำทุกปี เพื่อประกาศและเชิดชูคุณความดีของผู้กล้า สตรีแห่งกองทัพธรรมทั่วโลก เชิดชูเกียรติของสตรีผู้ประกอบคุณงามความดีในพระพุทธศาสนา

สำหรับปี พ.ศ.2551 นี้ ได้มีการจัดงานและมอบรางวัลให้กับสตรีดีเด่นทั้งหมดจำนวน 20 คน จาก 7 ประเทศ ซึ่งได้มีการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติไปแล้ว ที่สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ

สำหรับรายนามของทั้ง 20 คน นั้นได้แก่ ภิกษุณีมุทิตา (เยอรมัน), ซิลเวีย เวทเซล (เยอรมัน), โนบูโกะ โอโนะ (ญี่ปุ่น), ภิกษุณี ดร.เมียง ซุงซูนิม (เกาหลีใต้), ภิกษุณีซิก เจียน เยน (จีนไทเป), ภิกษุณี เว่ย ชุน (จีนไทเป), แพทย์หญิงหลี่ หัว หยาง (จีนไทเป), ภิกษุณีเปมะ โชดรอน (อเมริกัน), ภิกษุณีเบธ เคนจิ โกลด์ริง (สหรัฐอเมริกา), ภิกษุณีแพทริเซีย ไดเอน เบนเนจ (สหรัฐอเมริกา), แจคเกอลีน เครเมอร์ (สหรัฐอเมริกา), ภิกษุณีอานันทะโพธิ (อังกฤษ)

และสำหรับสตรีไทยที่คว้ารางวัลอันทรงเกียรตินี้อีก 8 คน คือ

ภิกษุณีศีลนันทา นักบวชผู้ถือเป็นหนึ่งในอิฐก้อนแรกๆ ที่ปูทางไปสู่การจัดตั้งสถาบันภิกษุณีในประเทศไทย ท่านตั้งมั่นในการศึกษาธรรมะ โดยในปัจจุบันกำลังศึกษาพุทธศาสนาระดับปริญญาโทอยู่ที่ lnternational Buddhist Collage จ.สงขลา

สิกขมาตุผุสดี สะอาดวงศ์ ที่เป็นสิกขมาตุรูปแรกแห่งสำนักสันติอโศก ท่านไม่กินเนื้อสัตว์มาตั้งแต่อายุ 13 ปี ตราบจนกระทั่งปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 70 ปีแล้ว ท่านสมาทานศีล 10 เคยบำเพ็ญตบะด้วยการอดอาหาร 14 วัน นั่งเนสัชชิ (ไม่เอาหลังแตะพื้น) 1 พรรษา และเขียนหนังสือธรรมะหลายเล่ม

แม่ชีพิมพ์ใจ มณีรัตน์ เป็นผู้ก่อตั้งโครงการ “ศูนย์การศึกษาตามอัธยาศัยนานาชาติไทยภูเขา” เพื่อช่วยเด็กชาวไทยภูเขาที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา ให้มีโอกาสได้เรียนหนังสือขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสพัฒนาตนเองไปสู่การศึกษาขั้นสูงต่อไป โดยท่านเชื่อว่า “ความรู้คืออำนาจ ความรู้คือโอกาส”

แม่ชีวารี ชื้อทัศนะประสิทธิ์ ออกบวชในพุทธศาสนามาเป็นเวลากว่า 40 ปี ท่านทำหน้าที่เป็นครูฝึกแม่ชีไทยให้ออกไปเป็นครูสอนธรรมะและครูสอนวิชาทั่วไป จนถึงปัจจุบันมีลูกศิษย์มากมายหลายรุ่น ท่านพำนักอยู่ที่วิทยาลัยจิตตภาวัน จ.ชลบุรี และดำรงตำแหน่งเลขานุการของสถาบันแม่ชีไทย

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์มานานกว่า 20 ปี

เตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์ เป็นนักพัฒนา นักเขียนที่สนใจความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับมนุษย์ ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นแห่งชาติ พ.ศ.2539 และรางวัลคนดีศรีสังคมสาขางานสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2534 เธอเขียนหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติและชาวไทยภูเขาหลายเล่ม

อังกูร วงศ์เจริญ พยาบาลวิชาชีพ ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ประสบภัยพิบัติทางภาคใต้ของไทยตามหลัก “โพธิสัตวธรรม” ในพุทธศาสนามหายานแบบจีน โดยประสานงานกับสภากาชาดไทยในเหตุภัยพิบัติสึนามิ และเป็นผู้ริเริ่มโครงการลดความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติตามชุมชนชายฝั่งและหมู่เกาะเต่า

อรสม สุทธิสาคร เป็นนักเขียนอิสระที่เขียนสารคดีสะท้อนปัญหาสังคมไทยที่เกี่ยวกับเด็ก ผู้หญิง ครอบครัว ความรุนแรง และผู้อยู่ในมุมมืดมานานกว่า 20 ปี โดยเชื่อว่าการสะท้อนความจริงของชีวิตจะทำให้เรารู้จักคุณค่าของชีวิตและตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท เธอเขียนหนังสือกว่า 30 เล่ม เช่น สนิมดอกไม้ เด็กพันธุ์ใหม่วัยเอ็กซ์ เป็นต้น

รางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนานี้ มีทั้งนักบวชและอุบาสิกา หลายคนอาจสงสัย ทางพระพุทธศาสนานั้นแตกต่างกันอย่างไร ระหว่าง ภิกษุณี แม่ชี และสิกขมาตุ

“ภิกษุณี” เป็นคำใช้เรียกนักบวชหญิงในพระพุทธศาสนา คู่กับคำว่า ภิกษุ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกนักบวชชาย สำหรับ “แม่ชี” เป็นเพียงอุบาสิกา หรือพุทธศาสนิกชนเพศหญิงที่ถือศีล 8 ข้อ อย่างชาวพุทธที่เคร่งครัด และ “สิกขมาตุ” หมายถึง นักศึกษาหรือนักบวชฝ่ายหญิงที่ใช้เรียกในกลุ่มชาวอโศก หรือที่รู้จักกันในนาม สันติอโศก


Image
ภาพบรรยากาศในวันมอบรางวัล


มีโอกาสได้คุยกับผู้ได้รับรางวัลนี้บางคน ถามถึงบทบาทของสตรีในปัจจุบัน ตลอดจนการทำงานของแต่ละคน เรื่องราวคำบอกเล่าที่ได้รับฟังนั้นน่าสนใจ..

ภิกษุณีศีลนันทา บอกว่า เรื่องของรางวัลที่ได้รับนั้นภูมิใจ แต่สิ่งที่สำคัญคือ รู้สึกดีที่ได้ทำดีแล้วมีประชาชนโลกได้รับรู้ เผยแพร่สิ่งที่ทำให้คนอื่นได้ดำเนินเป็นแบบอย่างสานต่อความดีนั้นต่อไป เพราะเท่าที่สังเกต ทุกวันนี้เรื่องร้ายๆ มักเป็นข่าว เรื่องดีๆ มักไม่ค่อยเป็น

“อาตมาเป็นคนตัวเล็กๆ แต่อาจเป็นเพราะผู้ใหญ่หลายท่าน เห็นว่าเราตั้งใจจริง มีความจริงใจในการช่วยเหลือสังฆะ (สงฆ์) ตัวอย่าง เช่น ได้ช่วยเหลือสามเณรีท่านหนึ่งที่เพิ่งบวชใหม่ ที่ไม่รู้หันหน้าไปฝั่งไหน ชีวิตเกิดปัญหา เราก็ได้เข้าไปช่วยเหลือ สามเณรีรูปนั้นเป็นชาวอาเจนตินา และไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับทางประเทศมาเลเซีย จึงเกิดเป็นมิตรสัมพันธ์กันกว้างไกล” ภิกษุณีศีลนันทา กล่าวด้วยน้ำเสียงราบเรียบ

ดังคำประกาศเกียรติคุณของคณะกรรมการที่ตัดสินรางวัล

ภิกษุณีศีลนันทา เป็นนักบวชหญิงท่านแรกๆ ที่พยายามผลักดันให้เกิดการจัดตั้งสถาบันภิกษุณีในประเทศไทย โดยท่านมองถึงผลที่จะได้รับว่า หากสตรีคนใดเกิดปัญหา ก็จะได้เข้ามาหาและปรึกษาภิกษุณี เพราะเรื่องลึกซึ้งบางเรื่องพูดกับพระเพศตรงข้ามลำบาก ก็มาพูดกับพระฝ่ายหญิง ซึ่งก็ไม่ได้พูดหรือให้คำปรึกษาแต่เรื่องทางโลก จะพยายามดึงให้เข้ามาสู่การปฏิบัติธรรม แม้จะเป็นจุดเล็กๆ แต่ภิกษุณีท่านนี้คิดว่าจะสามารถช่วยพัฒนาสังคมได้อย่างแน่นอน

เป็นบทบาทของพระฝ่ายหญิงที่สำคัญ “สิ่งที่อาตมาอยากเห็น คือ พระทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหญิงหรือชายก็ตาม เกิดการปฏิบัติเข้าใจจิตใจของตัวเอง ซึ่งจะทำให้รู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร ผู้อื่นก็ไม่ต่างไปจากนั้น ใครที่เป็นทุกข์ก็เข้ามาปฏิบัติธรรม ฝึกเผยแพร่ ทั้งทางจิต และทางโลก อนาคตอยากเห็นพระชายและพระหญิงปรองดองกัน ประสานกัน ดำเนินไปบนทางหลุดพ้นแห่งความพุทธ พร้อมกับช่วยเหลือคนด้วย พ้องกับความเป็นพุทธบริษัททั้งสี่”

ภิกษุศีลนันทากล่าว พร้อมกับวิเคราะห์บทบาทของสตรีในปัจจุบันว่า...

“บทบาทสตรี จริงๆ แล้ว พบว่าพระฝ่ายหญิงทำงานดีๆ มากมาย และก็ทำมานานแล้ว แต่บ้านเรายังไม่ยอมรับ บอกว่าผู้หญิงบวชไม่ได้ เพราะการบวชภิกษุณีต้องมีภิกษุณีมาบวชให้ ซึ่งในประเทศไทยตั้งแต่แรกเริ่ม ไม่มีภิกษุณีอยู่แล้ว ในปัจจุบันมีภิกษุณีในเมืองไทย 6-7 รูปเท่านั้น ซึ่งบวชมาจากต่างประเทศ แต่มองสถานการณ์นี้กำลังดีขึ้นเรื่อยๆ”

ทางฟากฝั่งของฆราวาสที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ แม้จะยังถ่อมตนอยู่ว่า ยังทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาน้อย ไม่เหมาะกับรางวัล แต่หากมองลึกลงไปแล้วจะพบว่า “เตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์” นั้น พยายามสนับสนุนเรื่องของสถานภาพภิกษุณีมาโดยตลอด

ในสมัยที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตือนใจพยายามเสนอ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมสถานภาพของนักบวชสตรี เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และรัดกุม พิจารณากันในอนุกรรมาธิการกิจการสตรีแล้ว และจะเสนอต่อชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรี ซึ่งประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทน (ส.ส.) หญิง และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หญิง บางส่วน

กฎหมายนี้มีขึ้นเพื่อให้รัฐได้คุ้มครองและส่งเสริมสถานภาพนักบวชหญิง

“เพราะว่าในยุคนี้ ผู้หญิงค่อนข้างเป็นเหยื่อสังคมมาก ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว สังคม การเป็นเหยื่อของบริโภคนิยม วัตถุนิยม โลกาภิวัตน์ การปฏิบัติธรรมผู้หญิง 80 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าใส่ใจธรรมะ ให้ธรรมะเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าเป็นหลักศาสนาใด แต่ว่าโอกาสศึกษาเป็นผู้เผยแพร่ธรรมะน้อยไป ดีใจที่มีภิกษุณีในพระพุทธศาสนาในหลายประเทศ” เตือนใจกล่าว

ปัจจุบันผู้หญิงมีบทบาทในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมมากขึ้น ผู้หญิงทั่วโลกมีการรวมตัวกัน เรียกร้องเกิดความเสมอภาค แต่พุทธศาสนามองไปไกลกว่าความเสมอภาคของความเป็นหญิงเป็นชาย นั่นคือเรื่องการบรรลุธรรม เข้าถึงธรรม ปฏิบัติธรรม และเผยแพร่ธรรม

“การมอบรางวัลสตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นรางวัลระดับโลก จะทำให้คนทั้งโลกเข้าใจ ว่าศาสนาไม่ใช่สิ่งมอมเมา แต่ศาสนาคือแก่นของธรรมะ น่ายินดีที่ผู้หญิงทั่วโลกมองเห็นว่า แก่นธรรมของพระพุทธศาสนา ทำให้มนุษย์ชีวิตดำเนินไปอย่างมีหลัก คือ หลักที่ไม่ไปตามกระแส...อย่างน้อยที่สุด หลักไตรสิกขา อย่าง 1. ทาน คือ การให้อย่างสละตัวตน ให้ความรู้ ให้ธรรมะ ให้อภัย 2. ศีล การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ทำให้ชีวิตผู้คนอยู่ร่วมกันในสังคมได้ไม่เบียดเบียนกัน และ 3. ภาวนา การเจริญสติ เจริญปัญญา จะทำให้เรามองโลกอย่างที่เป็นจริง ไม่ใช่มองโลกอย่างสมมติบัญญัติ แต่ต้องมองอย่างปรมัตถ์ คือมองอย่างหลุดพ้น ถึงแก่นธรรม คือความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตน” อดีตสมาชิก สนช. กล่าว

โดยเธอมีความคาดหวังว่า หากได้กลับมาอยู่ในแวดวงการเมืองอีกครั้ง อยากทำให้รัฐสภา ตลอดจนศาลต่างๆ มีความเป็นสัตบุรุษ คือ มีความซื่อสัตย์ เข้าถึงธรรมะ

ทางด้าน อรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีอิสระ ผู้มีผลงานเกี่ยวกับผู้หญิงมากมาย เปิดเผยความรู้สึกว่า...“เป็นรางวัลแรกในการทำงานสารคดีกว่า 20 ปี ทั้งยังได้จากแวดวงอื่นที่ไม่ใช่แวดวงวรรณกรรม” เธอกล่าวกลั้วหัวเราะ

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่หลุดลอยจากหลักการในการพิจารณารางวัลของคณะกรรมการ เพราะงานสารคดีของนักเขียนหญิงผู้นี้สะท้อนสัจจะของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้หญิง เด็ก ความรุนแรง เป็นเรื่องในมุมมืดของสังคม ที่เธอฉายผ่านงานเขียนให้เห็นทางสว่างของชีวิต ให้ความหวังแก่ผู้หมดหวัง จุดไฟพลังให้ผู้มีความทุกข์หยัดยืนลุกขึ้นสู้ต่อ


Image
ภิกษุณีศีลนันทา-อรสม สุทธิสาคร-เตือนใจ กุญชร ณ อยุธยา ดีเทศน์


อรสม บอกว่า “ปัจจุบัน มีผู้หญิงที่มีความทุกข์อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เฉพาะเรื่องเงินทอง บางคนมีฐานะดี การศึกษาดี ก็ยังประสบความทุกข์ โดยเฉพาะเรื่องครอบครัว เรื่องความรัก จากประสบการณ์ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริง สิ่งที่สามารถช่วยดับทุกข์เหล่านั้นได้ คือการมีธรรมะกำกับ จะช่วยให้รับมือกับปัญหาหรือความทุกข์ที่จะเกิดได้ดีขึ้น”

“บทบาทสตรี ทุกวันนี้มีการพูดถึงเยอะ มีการเรียกร้องสิทธิในหลายๆ เรื่อง เชื่อว่าสังคมไทยเปิดกว้างมากขึ้น แต่ด้วยสถานะความเป็นผู้หญิง การที่จะได้รับการยอมรับคงต้องพิสูจน์ตัวเองหนักกว่าผู้ชาย ด้วยการทำงานหนักขึ้น ทุ่มเทมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีเป้าหมายชีวิตชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ รู้ว่าเราต้องการอะไรในชีวิต จะทำให้เราก้าวเดินไปสู่จุดหมายง่ายกว่าคนที่ไม่รู้จักเป้าหมายของตัวเอง” นักเขียนสารคดีหญิงกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง

หากมองในเรื่องสิทธิพื้นฐานของทุกผู้ทุกคน สิทธิอย่างการที่จะมีความสุข และการที่จะไม่ทุกข์เป็นเรื่องที่ทุกคนเท่าเทียม เช่นเดียวกับเรื่องการปฏิบัติธรรม การประกอบคุณงามความดี ก็ไม่ได้จำเพาะเจาะจงไว้ที่บุรุษเพศเท่านั้น หากแต่สตรีเพศก็สามารถที่จะเข้าถึง สร้างคุณประโยชน์ให้พระพุทธศาสนา ให้สังคม ให้ประเทศ ให้โลกใบนี้สงบสุขได้เช่นกัน


หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 20
วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10973
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
RARM
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 28 ก.ค. 2007
ตอบ: 417

ตอบตอบเมื่อ: 26 มี.ค.2008, 10:54 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอแสดงความคิดเห็นครับ

ข้อความขัดแย้งนะครับ

ภิกษุณีไม่สามารถเกิดขึ้นในโลกได้อีกแล้วครับ

เพราะต้องบวช ด้วยสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ สงฆ์ฝ่ายภิกษุ และก็ฝ่ายภิกษุณี ถึงจะสมบูรณ์เป็นภิกษุณี ได้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ครับ

สตรีดีเด่นในพระพุทธศาสนาประจำปี พ.ศ.2551(และตลอดไป)

แม่ของข้าพเจ้าเอง เพราะถ้าไม่มีท่าน ผมคงไม่มาเกิด เพราะอาศัยท่าน และบุญที่ทำมา
รวมถึงทำกับท่านมาด้วย จึงได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น แม่ ประเสริฐที่สุด
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง