ผู้ตั้ง |
ข้อความ |
webmaster
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 04 มิ.ย. 2004
ตอบ: 769
|
ตอบเมื่อ:
23 ก.พ.2008, 7:24 am |
  |
สดับปกรณ์
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
จำได้ว่าใน งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จย่า มีการถ่ายทอดพระราชพิธีทางทีวี ให้ประชาชนได้ชมกันทั่วประเทศ พระสงฆ์ได้รับนิมนต์มาสวดหน้าพระบรมศพ พิธีกรบอกผู้ชมผู้ฟังว่า พระสงฆ์จำนวนเท่านั้นเท่านี้ “สดับปกรณ์” แม้ใน งานพระราชพิธีพระศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระพิธีธรรมก็รับนิมนต์มา “สดับปกรณ์” เช่นกัน
หลายคนถามผมว่า “สดับปกรณ์” คืออะไร
คำว่า “สดับปกรณ์” มาจากคำเดิมว่า “สัตตัปปกรณ์” ซึ่งแยกเป็น สัตต (เจ็ด) + ปกรณ์ (คัมภีร์) รวมเป็น สัตตัปปกรณ์ แล้วก็กร่อนเป็น สดับปกรณ์
สดับปกรณ์ จึงหมายถึง อภิธรรม 7 คัมภีร์ คำนี้ความจริงเป็นคำนามใช้เรียก อภิธรรม 7 คัมภีร์ แต่เห็นใช้เป็นคำกริยาได้ด้วยว่า “พระสงฆ์สดับปกรณ์ (คือ สวดอภิธรรม 7 คัมภีร์)” และใช้เรียกผ้าบังสุกุลว่า “ผ้าสดับปกรณ์”
ถ้าเป็นงานศพสามัญชน เราเรียกการสวดแบบนี้ว่า “สวดมาติกา” ส่วนสดับปกรณ์ใช้เฉพาะกับงานพระราชทานเพลิงศพเจ้านายชั้นสูง ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป
อภิธรรม 7 คัมภีร์ ที่พระสงฆ์นำมาสวดนี้ ไม่ได้สวดหมดทั้ง 7 คัมภีร์ สวดเฉพาะ “หัวข้อ” หรือ “แม่บท” ของพระคัมภีร์ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสรุปใจความสั้นๆ อันเรียกว่า “มาติกา” (แม่บท, หัวข้อใหญ่)
7 คัมภีร์ที่ว่านี้คืออะไรบ้าง ถ้าไม่นำมาเล่าให้ฟังก็จะไม่เป็นบทความที่ครบถ้วน จึงต้อง “กัดฟัน” นำมาลงให้อ่าน (ที่ต้อง “กัดฟัน” ก็เพราะอภิธรรมนั้นเป็นพระไตรปิฎกส่วนที่ว่าด้วยเนื้อหาลึกซึ้ง อ่านไม่ค่อยจะเข้าใจ ยิ่งเป็นบท “มาติกา” สั้นๆ ด้วยแล้วยิ่งยากขึ้นอีกหลายเท่า)
อภิธรรม 7 คัมภีร์ คือ
1. ธัมมสังคณี รวบรวมหัวข้อธรรมต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ มาจัดเข้าเป็นกลุ่มๆ แล้วแยกออกอธิบายเป็นประเภทๆ
2. วิภังคะ แยกแยะหัวข้อธรรมที่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ในข้อ 1 นั้นออก แสดงให้เห็นรายละเอียดโดยพิสดาร
3. ธาตุกถา จัดธรรมที่กล่าวไว้ในธัมมสังคณีและวิภังค์เข้าเป็น 3 ประเภท คือ ขันธ์ อายตนะ และธาตุ ว่าเข้ากันได้หรือไม่โดยชาติ สัญชาติ กิริยา และคณนา
4. ปุคคลบัญญัติ ว่าด้วยการบัญญัติเรียกบุคคลตามคุณธรรมหรือคุณสมบัติที่มีในบุคคลนั้น จัดเป็นพวกๆ และอธิบายให้เห็นลักษณะอาการของบุคคลที่บัญญัติเรียกอย่างนั้นๆ โดยชัดเจน
5. กถาวัตถุ ว่าด้วยคำถามคำตอบแสดงทรรศนะที่ขัดแย้งกันของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนายุคแรกๆ (ในราวพุทธศตวรรษที่ 2-3) รวม 18 นิกาย แล้วชี้ให้เห็นว่าทรรศนะที่ถูกต้องเป็นอย่างไร รวมทั้งสิ้น 219 กถา คัมภีร์นี้เป็นนิพนธ์ของพระเถระรูปหนึ่งชื่อ พระโมคคลีบุตรติสสเถระ รจนาขึ้นเมื่อมีการสังคายนาครั้งที่ 3
6. ยมกะ ว่าด้วยการอธิบายธรรมเป็นคู่ๆ เช่นกุศลกับอกุศล เป็นต้น โดยวิธีตั้งคำถามคำตอบ
7. ปัฏฐาน อธิบายปัจจัย (เงื่อนไขทางธรรม) 24 อย่าง ว่าธรรมข้อใดเป็นปัจจัยของธรรมข้อใด โดยปัจจัยชื่ออะไร
คำสอนในอภิธรรมปิฎกมีเนื้อหาบรรจุในหนังสือถึง 12 เล่มใหญ่ ย่อความได้สั้นขนาดนี้ อ่านเข้าใจก็บุญแล้วครับ
มีคำถามอีกว่า ทำไมชาวพุทธจึงได้นำเอาอภิธรรม 7 คัมภีร์ มาใช้สวดในงานศพ ก็เห็นจะต้องเล่าถึงความเป็นมาของอภิธรรมสักเล็กน้อย ดังนี้ขอรับ
พระพุทธเจ้าหลังจากทรงประกาศพระศาสนา สั่งสอนประชาชนให้ได้ลิ้มรสพระธรรมเป็นจำนวนมากแล้ว ทรงหวนรำลึกว่า พระองค์ได้สงเคราะห์เวไนยสัตว์ทุกหมู่เหล่าแล้ว ยังเหลือแต่พระพุทธมารดาเท่านั้นที่มิได้รับรสพระธรรมจากพระองค์ เนื่องจากพระนางได้สิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์เพียง 7 วัน ด้วยพระประสงค์จะ “โปรด” พระพุทธมารดา ซึ่งขณะนั้นได้ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต พระพุทธองค์จึงเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์สวรรค์ เหล่าเทพยดาอันมีท้าวสักกเทวราช หรือพระอินทร์เป็นประมุข ได้มาเฝ้าฟังธรรมจากพระพุทธองค์ตลอดเวลา 3 เดือน ที่พระองค์เสด็จประทับจำพรรษา
เทพบุตร อดีตพุทธมารดา ความจริงอยู่บนสวรรค์ชั้นสูงกว่า แต่ก็ลงมาร่วมฟังธรรมด้วย ว่ากันว่าธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น คือ อภิธรรม อันเป็นหลักธรรมที่ลึกซึ้ง
กล่าวถึงประชาชนทั้งหลาย เมื่อพระองค์ทรงหายไป ก็ถามไถ่พระสารีบุตร อัครสาวก พระสารีบุตรก็แจ้งให้ประชาชนทราบว่าพระองค์ประทับจำพรรษาอยู่ ณ ดาวดึงส์สวรรค์ ต่างก็ใคร่จะสดับธรรมจากพระองค์ดังที่เคยปฏิบัติ พระพุทธองค์ทรงทราบความประสงค์ของประชาชน จึงเสด็จลงมายังมนุษย์โลก ทรงแสดงอภิธรรม (ที่พระองค์ตรัสสอนเหล่าเทวดา) ให้พระสารีบุตรฟัง พระสารีบุตรก็นำไปถ่ายทอดให้ประชาชนฟังอีกต่อหนึ่ง
นี้คือเหตุผลที่ว่า ทำไมอภิธรรมที่ทรงแสดงแก่เทวดา มนุษย์จึงมีโอกาสได้รับรู้ และได้รับการบันทึกลงในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (คือรู้จากพระสารีบุตรอีกต่อหนึ่งนั่นเอง)
เมื่อครบสามเดือนแล้ว พระองค์ก็เสด็จลงมายังโลก ณ เมืองสังกัสสะ ท่ามกลางประชาชนคอยเฝ้ารับเสด็จมากมาย ว่ากันว่า วันนี้เป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ “เปิดโลก” คือทรงบันดาลให้สัตว์โลกทุกหมู่เหล่าได้มองเห็นกัน บันดาลให้เทพ พรหม มนุษย์ สัตว์นรก อยู่ในมิติเดียวกัน สามารถมองเห็นกันหมด ยังกับอยู่ใกล้กัน
ชาวพุทธเรามีประเพณีทำบุญตักบาตรในวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากเทวโลกนี้ เรียกว่า “วันเทโวโรหณะ” (วันที่เสด็จลงจากเทวโลก) มาจนทุกวันนี้ บางวัด (อย่างวัดทองนพคุณ ที่ผมเคยบวชอยู่) จำลองสถานที่คล้ายกับสวรรค์ และมนุษย์โลกจริงๆ คือนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นไปบนเขาที่บรรจุพระพุทธบาท สมมุติเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะพระสงฆ์อุ้มบาตรเดินลงจากเขา ประชาชนที่ยืนรออยู่บนพื้นราบก็เตรียมใส่บาตรทีละรูปๆ ในใจก็นึกไปถึงเมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เมื่อสองพันกว่าปีล่วงมาแล้ว
ฟังประวัติความเป็นมาแล้ว โยงได้ไหมครับ ว่าทำไมอภิธรรม 7 คัมภีร์ จึงเกี่ยวข้องกับคนตาย หรืองานศพ ไม่เกี่ยวก็ต้องอธิบายให้เกี่ยวจนได้สิน่า
พระพุทธองค์ทรงมีพระประสงค์จะ “โปรด” พระพุทธมารดาซึ่งได้สวรรคตไปเกิดในเทวโลก ได้ทรงแสดงอภิธรรม ซึ่งเป็น “ปรมัตถธรรม” (ธรรมชั้นสูง, ธรรมชั้นยอด) ชาวพุทธจึงดำเนินตามรอยพระยุคลบาท เมื่อต้องการจะให้ผู้ล่วงลับซึ่งเป็นผู้มีบุญคุณต่อตน เช่น บิดามารดา เป็นต้น ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ประเสริฐที่สุด จึงให้มีการสวดอภิธรรม 7 คัมภีร์
คติเทศน์อภิธรรมโปรดมารดานี้ สืบได้ว่า ถือมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังพระยาลิไททรงพระราชนิพนธ์ “ไตรภูมิกถา” (ไตรภูมิพระร่วง) ก็เพื่อโปรดพระราชมารดาของพระองค์
ว่ากันอย่างนั้นนะครับ จริงเท็จอย่างไรผู้รู้ย่อมรู้เอง ผู้ไม่รู้ย่อมไม่รู้เป็นของธรรมดา (อยู่แล้ว)
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10935 |
|
_________________ ธรรมจักรดอทเน็ต |
|
   |
 |
กุหลาบสีชา
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.
|
ตอบเมื่อ:
24 ก.พ.2008, 9:57 pm |
  |
|
    |
 |
ลูกโป่ง
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089
|
ตอบเมื่อ:
26 ก.พ.2008, 2:30 pm |
  |
สาธุ สาธุ สาธุค่ะ...คุณ webmaster
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับสาระดีดี...ที่นำมาฝาก
ธรรมะสวัสดีค่ะ
 |
|
|
|
   |
 |
|