วิธีการข้อนี้
เป็นการปฏิบัติใกล้แนววิปัสสนา หรือเอาความรู้ทางวิปัสสนามาใช้ประโยชน์
คือ มองดูชีวิตนี้ มองดูสัตว์ บุคคล เรา เขา ตามความเป็นจริงว่า
ที่ถูกที่แท้แล้วก็เป็นแต่เพียงส่วนประกอบทั้งหลายมากมายมาประชุมกันเข้า
แล้วก็สมมติเรียกกันไปว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นฉัน เป็นเธอ
เป็นเรา เป็นเขา เป็นนาย ก. นาง ข. เป็นต้น ครั้นจะชี้ชัดลงไปที่ตรงไหนว่าเป็นคน
เป็นเรา เป็นนาย ก. นาง ข. ก็หาไม่พบ มีแต่ส่วนที่เป็นธาตุแข็งบ้าง
ธาตุเหลวบ้าง เป็นรูปขันธ์บ้าง เป็นเวทนาขันธ์บ้าง เป็นสัญญาขันธ์
สังขารขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์บ้าง หรือเป็นอายตนะต่างๆ
เช่น ตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง เป็นต้น
เมื่อพิจารณาตามความจริงแยกให้เป็นส่วน
ๆ ได้อย่างนี้แล้ว พึงสอนตัวเองว่า นี่แหละเธอเอ๋ย ก็ที่โกรธเขาอยู่น่ะโกรธอะไร
โกรธผมหรือโกรธขน หรือโกรธหนัง โกรธเล็บ โกรธกระดูก โกรธธาตุดิน
โกรธธาตุน้ำ โกรธธาตุไฟ โกรธธาตุลม หรือโกรธรูป โกรธเวทนา
โกรธสัญญา โกรธสังขาร โกรธวิญญาณ หรือโกรธอะไรกัน ในที่สุดจะหาฐานที่ตั้งของความโกรธไม่ได้
ไม่มีที่ยึดที่เกาะให้ความโกรธจับตัว
อาจพิจารณาต่อไปในแนวนั้นอีกว่าในเมื่อคนเรา
ชีวิตเราเป็นแต่เพียงสมมติบัญญัต ความจริงก็มีแต่ธาตุ
หรือขันธ์ หรือนามธรรมและรูปธรรมต่าง ๆ มาประกอบกันเข้า
แล้วเราก็มาติดสมมตินั้น ยึดติดถือมั่นหลงวุ่นวายทำตัวเป็นหุ่นถูกชักถูกเชิดกันไป
การที่เขาโกรธ กระฟัดกระเฟียด งุ่มง่าน เคืองแค้นกันไปนั้น
มองลงไปให้ถึงแก่นสาร ให้ถึงสภาวะความเป็นจริงแล้วก็เหลวไหลไร้สาระทั้งเพ
ถ้ามองความจริงทะลุสมมติบัญญัติลงไปได้ถึงขั้นนี้แล้ว
ความโกรธก็จะหายตัวไปเอง
อย่างไรก็ตาม
คนบางคนจิตใจและสติปัญญายังไม่พร้อม ไม่อาจพิจารณาแยกธาตุออกไปอย่างนี้ได้หรือสักว่าแยกไปตามที่
ได้ยินได้ฟังได้อ่านมา แต่มองไม่เห็นความจริงเช่นนั้นก็แก้ความโกรธไม่สำเร็จ
ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็พึงดำเนินการตามวิธีต่อไป |