81.
แต่ความทุกข์จะหมดไป เพราะท่านมีจิตที่สงบและฉลาด รู้จักหยุดและปล่อยวาง
รู้จักสร้างสรรค์และเสียสละ อย่างนี้เรื่อยไป
82.
ในขณะที่ทำสมาธิ ถ้ามันมีความคิดมากมายประดังเข้ามา
ก็จงดูมัน และรอมันสักครู่หนึ่ง ความคิดมากมายนั้นก็จะสลายไป
83.
จงรู้ว่า สมาธินั้น จะต้องมีอยู่เสมอ แม้ท่านจะทำกิจการงานใด
ๆ อยู่ก็ตาม
84.
สมาธิเปรียบเสมือนลมหายใจที่มีอยู่ตลอดเวลา แต่ท่านลืมดูมันเท่านั้นเอง
ถ้ารู้อย่างนี้ สมาธิก็จะกลายเป็นสิ่งที่ฝึกได้ไม่ยาก
85.
เพียงแต่ท่านสำรวมจิตเข้ามา เลิกสนใจสิ่งภายนอกเสียเท่านั้น
สมาธิก็จะปรากฏขึ้นมาในจิตทันที
86.
จงรู้ไว้ว่า สมาธิอย่างเดียวยังไม่สามารถทำให้จิตของท่านหมดทุกข์ได้
แต่สมาธินั้นจะต้องมีปัญญาประกอบด้วย ท่านจึงจะเอาชนะปัญหาทางใจของท่านได้
87.
ศีล สมาธิ ปัญญา เท่านั้นคือทางออกไปจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง
ทางอื่นหรือลัทธิความเชื่ออย่างอื่น ไม่สามารถจะทำให้ท่านหลุดพ้นออกไปจากความทุกข์ได้
88.
การอ้อนวอนหรือบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ได้อะไรๆ
ตามที่ปรารถนานั้น มันก็ขึ้นอยู่กับกฎแห่งความไม่เที่ยงเหมือนกัน
บางทีก็ได้ บางทีก็ไม่ได้ และที่ท่านได้อะไรมา ก็เพราะมันมีเหตุที่จะทำให้ท่านได้สิ่งนั้นอยู่แล้ว
มันจึงได้มา ไม่ใช่มันได้มาเพราะสิ่งอื่นมาช่วยให้ท่านได้มา
ไม่ใช่อย่างนั้นเลย
89.
อย่างไรก็ตาม แม้ท่านจะได้อะไร ๆ มาตามที่ปรารถนา แต่สิ่งนั้นก็จะไม่อยู่กับท่านอย่างถาวรตลอดไป
สักวันหนึ่งมันก็จะสูญเสียไปจากท่านอยู่ดี ดังนั้นผู้มีปัญญาจึงไม่ควรปรารถนา
หรืออ้อนวอนเพื่อจะได้จะเป็นอะไรเลย
90.
เพียงแต่ว่า ท่านทำมันให้ดีที่สุด ต้องการจะได้อะไร
ก็จงใช้สติคิดดูว่าทำอย่างไรจึงจะได้สิ่งนั้นมาด้วยความบริสุทธิ์และถูกต้อง
แล้วก็ทดลองทำไปตามนั้น ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะได้ มันก็จะได้ของมันเอง
แต่ถ้าไม่ได้ก็ให้มันแล้วไป อย่าเป็นทุกข์ไปกับมัน
91.
ถ้าทำอย่างนี้ ท่านก็มีสิทธิ์ที่จะได้อะไร ๆ เหมือนเดิม
และที่ดีไปกว่านั้นคือ ถึงแม้ท่านจะไม่ได้สิ่งนั้น ๆ
ท่านก็จะไม่เป็นทุกข์ หรือเมื่อได้มาแล้วและมันเกิดสูญเสียไป
ท่านก็จะไม่เป็นทุกข์อีกเช่นเดียวกัน ประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม
เพื่อการรู้เท่าทันสิ่งทั่งปวงนั้น มันดีอยู่อย่างนี้
คือมันจะทำให้ท่านไม่เป็นทุกข์ในทุก ๆ กรณี
92.
ดังนั้น จงฝึกจิตให้สงบด้วยสมาธิ เพื่อเรียกปัญญาคือความฉลาดของจิตให้เกิดขึ้นมา
เพื่อจะเอาไปใช้แก้ปัญหา ด้วยการทำจิตให้ปล่อยวางอยู่เสมอ
และในที่สุดความหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงก็จะเกิดขึ้นอย่างถูกต้องได้ไม่ยากนัก
93.
เวลาพบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ มันชวนให้ท่านโกรธ หรือเดือดร้อนใจขึ้นมา
จงอย่าเพิ่งพูดอะไรออกไป หรือจงอย่างเพิ่งทำอะไรลงไป
แต่จงคิดให้ได้ก่อนว่า นี่คือสิ่งที่คนทุกคนในโลกนี้ไม่ปรารถนาจะพบเห็น
แต่ทุกคนก็ต้องพบกับมัน สิ่งนี้คือสิ่งที่ท่านจะเอาชนะมัน
ด้วยการสลัดมันให้หลุดออกไปจากใจก่อน ถ้าท่านสลัดมันออกไปจากใจได้
ท่านก็จะเป็นอิสระและไม่เป็นทุกข์ เมื่อท่านไม่เป็นทุกข์เพราะมัน
ก็หมายความว่าท่านชนะมัน
94.
เมื่อคิดได้ดังนั้น จนจิตมองเห็นสภาวะที่ใสสะอาดในตัวมันเองแล้ว
จงหวนกลับไปคิดว่า แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ? ไม่กี่นาทีท่านก็จะรู้วิธีที่จะแก้ปัญหานั้นอย่างถูกต้องที่สุดและฉลาดเฉียบแหลมที่สุด
โดยที่ท่านจะไม่เป็นทุกข์กับเรื่องนั้นเลย
95.
เวลาที่พบกับความพลัดพรากสูญเสีย ก็จงหยุดจิตไว้อย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว
และจงยอมรับว่า นี่คือสภาวะธรรมดาที่มีอยู่ในโลก มันเป็นของที่มีอยู่ในโลกนี้มานานแล้ว
ท่านจะไปตื่นเต้นเสียอกเสียใจกับมันทำไม ? มันจะเป็นอย่างไรก็ให้มันเป็น
ไม่ต้องตื่นเต้น และจงคิดให้ได้ว่า ในที่สุดแล้ว ท่านจะพลัดพรากและสูญเสียแม้กระทั้งชีวิตของท่านเอง
วิธีคิดอย่างนี้จะทำให้ท่านไม่เป็นทุกข์เลย
96.
เวลาประสบกับเรื่องที่ไม่ดี จงอย่าคิดว่า ทำไมถึงต้องเป็นเรา
? ทำไมเรื่องอย่างนี้จึงต้องเกิดขึ้นกับเรา ? จงอย่าคิดอย่างนั้นเป็นอันขาด
เพราะยิ่งคิดเท่าไหร่ ท่านก็ยิ่งจะเป็นทุกข์เท่านั้น
ความคิดอย่างนั้นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา
97.
จงคิดอย่างนี้เสมอว่า ไม่เรื่องดีก็เรื่องเลวเท่านั้นแหละที่จะเกิดขึ้นกับเรา
ไม่ต้องตื่นเต้นกับมัน จงยอมรับมัน กล้าเผชิญหน้ากับมัน
และทำจิตให้อยู่เหนือมันด้วยการไม่ยึดมั่นในมัน และไม่อยากจะให้มันเป็นตามใจของท่าน
แล้วท่านก็จะไม่เป็นทุกข์
98.
จงเฝ้าสังเกตดูความรู้สึกของตัวเองอยู่เสมอ ถ้าจะไม่สบายใจ
จงหยุดคิดเรื่องนั้นทันที ถ้าสบายใจอยู่ก็จงเตือนตัวเองว่า
อย่าประมาท ระวังสิ่งที่มันจะทำให้เราไม่สบายใจจะเกิดขึ้นกับเรา
ให้ท่านพร้อมรับมันอย่างนี้ ด้วยจิตที่เปิดกว้างอยู่เสมอ
99.
จงรู้ความจริงว่า ทั้งความพอใจและความไม่พอใจ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ท่านจะต้องปลดเปลื้องมันออกไปจากใจของท่าน
จิตของท่านจึงจะเป็นอิสระเสรีก็ได้ถึงที่สุด
100.
ถ้าจะเกิดความสงสัยอะไรขึ้นสักอย่างหนึ่ง ก็จงตอบตัวเองว่า
อย่าเพิ่งสงสัยมันเลย จงทำจิตให้สงบและเพ่งให้เห็นความสะอาดบริสุทธิ์ภายในจิตของตัวเองอย่างชัดเจน
และสรุปว่า ไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่าการเข้าถึงสภาวะแห่งความสงบและเป็นอิสระเสรี
ภายในจิตของท่านได้
101.
ความรู้ชัดในการรักษาจิตให้สงบและสะอาดอยู่เสมอ นี่แหละคือสติปัญญาความรู้แจ้งธรรมตามความเป็นจริง
ความทุกข์จะเกิดขึ้นในใจของท่านไม่ได้เลย
102.
เมื่อถึงเวลาพักผ่อน จงเข้าสู่สมาธิตามสมควรแก่เวลาที่จะเอื้ออำนวย
กำหนดจิตให้ตั้งมั่นอยู่กับลมหายใจ นับ 1-2 ครั้งแล้วครั้งเล่า
ไม่ต้องสนใจสิ่งอื่น ไม่ต้องปรารถนาจะเห็นหรือจะได้จะเป็นอะไรจากการทำสมาธิ
103.
เมื่อจิตสงบเย็นแล้ว จึงเพ่งพิจารณาชีวิตสิ่งแวดล้อม
และปัญหาที่ตัวเองกำลังประสบอยู่ แล้วสรุปว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นไม่ควรยึดมั่นถือมั่นเลย
104.
จงทำกับปัญหาทุกอย่างให้ดีที่สุด ใช้ปัญญาแก้ไขมัน ไม่ต้องวิตกกังวลกับมัน
ถึงเวลาแล้วจงเข้าสู่สมาธิได้เวลาแล้วจงออกมาสู้กับปัญหา
อย่างนี้เรื่อยไป
105.
จงปฏิบัติเช่นนี้ทุกวัน แล้วจิตของท่านก็จะบรรลุถึงความสะอาดบริสุทธิ์ได้อย่างสมบูรณ์สูงสุด
ในสักวันหนึ่งซึ่งไม่นานนัก
ทั้งหมดนี้คือ
แนวทางที่ถูกต้องที่สุดในการที่จะเอาชนะความทุกข์ในชีวิตของท่าน
ซึ่งแนวทางนี้เรียกว่า การปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น
อันเป็นเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ทรงพระประสงค์ที่จะให้ทุกคนเข้าถึง
เพื่อความหมดทุกข์ทางใจในที่สุด.