Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เรื่องดี ๆ แทรกธรรมะเล็ก ๆ ให้ทุกคนอ่าน อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
หมาขี้เรื้อน
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 25 พ.ย.2004, 8:49 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เรื่องดี ๆ แทรกธรรมะเล็ก ๆ ให้ทุกคนอ่าน



แม่ปู – ลูกปู



อมรา มลิลา





ปัญหาที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ทุกข์ คือ ไม่สามารถพูดจากับลูกรู้เรื่อง ลูกไม่สนใจการเรียน หรือใส่ใจว่าโตแล้วจะเป็นอะไร ถ้าเราสามารถหยุดชีวิตของเราสักชั่วขณะ แล้วก้าวออกมานั่งมองภาพสะท้อนของชีวิตที่ผ่านมา อย่างมองภาพวีดีโอเราอาจจะสะดุด ได้ข้อคิดเห็นหลายประการที่ไม่เคยคิดมาก่อน ตั้งแต่วันเกิดมา เราได้ทำอะไร และได้เป็นอะไรมาแล้วบ้าง เราจะพบด้วยความตกใจและคาดไม่ถึงว่า ชีวิตของเราเป็นเหมือนด้ายยุ่งๆ กลุ่มหนึ่ง ที่ส่วนใหญ่แล้วเราไม่รู้ที่ไปที่มาของมัน ไม่เข้าใจว่าเหตุใด เราจึงตัดสินใจทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้ลงไป หรือหลายๆ สิ่งที่เราคิดว่า เราได้เลือกเฟ้นอย่างดีแล้ว ผลกลับหน้ามือเป็นหลังมือ อะไรคือตัวคอยบงการ จัดสรรผลเหล่านั้น



เราเริ่มชีวิตกันด้วยความฝัน เพราะความหวัง ความคาดคิดทั้งหลายทั้งปวงที่ทอดไปสู่อนาคตนั้น แท้จริงแล้วก็ไม่ต่างจากฝัน เพียงแต่เป็นฝันทั้งๆ ลืมตาตื่น เท่านั้นเอง ก็เมื่อเราสร้างชีวิตไว้บนรากฐานของความฝัน ทำอย่างไรจึงจะมั่นคง ทำอย่างไรจึงจะสำเร็จดังความมุ่งหวังเหล่านั้น เราต้องฝันอย่างมีสาระ อย่างสมเหตุสมผลไม่ใช่ฝันด้วยอารมณ์ ด้วยความอยากชั่วแล่น ด้วยความเผลอใจลืมตัว



ถ้ามองดูสภาวะธรรมชาติล้อมรอบตัวเราด้วยความพินิจพิจารณา จะเห็นว่า ของทุกอย่างเกิดแต่เหตุ ต้นหญ้าก็เกิดจากละอองเกสรดอกหญ้า ที่ปลิวมาตกลงในดิน ต้นขนุนก็มาจากเม็ดขนุน ลูกไก่ก็มาจากไข่ไก่ แม้เราจะเอาไข่เป็ดออกมาหากกลายเป็นลูกไก่ไปไม่ แม้สิ่งไม่มีชีวิต เช่น แผ่นเหล็ก เอามาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ หรือตะไบออกเป็นผง เศษที่ได้มาแต่ละชิ้นละส่วน ก็คงความเป็นเหล็กไว้ครบถ้วนทุกอณู ไม่เคยปรากฏว่าเอาสังกะสีมาหลอมแล้ว จะกลายเป็นทองคำไปได้ หรือเอาทองคำมาหลอมแล้วจะกลายเป็นทราย ความจริงเหล่านี้เป็นสัจธรรมที่ไม่เคยแปรเปลี่ยนไปตามกาล ตามสมัย เคยเป็นจริงอย่างนี้มาแต่อดีตกาลอย่างไร ก็ยังเป็นจริงแท้แน่อย่างนั้นในปัจจุบัน และจะยังคงเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไปในอนาคต



เมื่อเราเห็นในสัจธรรมข้อนี้แล้ว จะได้เพ่งเล็ง ทุ่มเทความสนใจไปที่เหตุ เราฝันอยากเป็นนักดนตรี แทนการเสียเวลานั่งฝัน เราเอาเวลาเหล่านั้นมาฝึกฝนตนเองด้วยการฝึกซ้อม จนเกิดเป็นความชำนิชำนาญมากเพียงใด โอกาสที่ผลจะกลายเป็นความจริงย่อมมากขึ้นเพียงนั้น แต่คนโดยมากมักลืมความจริงข้อนี้ เวลาที่ควรข่มใจให้ไม่เถลไถลเพลินเพลิด ตามใจตนเองไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็ไม่นึกถึง ปล่อยให้ระเหยกลายเป็นอากาศธาตุไปโดยไม่รู้ตัว ดังนิทานอีสปเรื่องมดง่ามกับจั๊กจั่น



จั๊กจั่นเห็นมดง่ามตั้งหน้าตั้งตาขนเมล็ดข้าวไปรัง ก็ถามว่า “ท่านจะขนข้าวไปทำไมให้เหน็ดเหนื่อย ในเมื่อข้าวก็มีเหลือเฟือให้กินจนเกินอิ่มอย่างนี้แล้ว มาเต้นระบำเล่นกันจะไม่ดีกว่าหรือ” มดง่ามก็ตอบว่า “เราต้องขนไปเก็บไว้เป็นเสบียงกรัง เพราะเมื่อหน้าหนาวมาถึงแล้ว อาหารย่อมฝืดเคือง ถ้าไม่รีบสะสมไว้แต่บัดนี้ จะลำบากภายหลัง” จั๊กจั่นได้ฟังดังนั้นก็นึกหัวร่อขบขันอยู่ในใจ แล้วขยับปีกเต้นระบำไปมาด้วยความสนุกสนาน ครั้นหน้าหนาวมาถึง มดง่ามก็มีอาหารที่สะสมเป็นเสบียงไว้กินอย่างเพียงพอ ขณะที่จั๊กจั่นได้แต่เลียน้ำค้างตามใบหญ้ากิน จนในที่สุด ผอมโซตายไป



ผู้เป็นพ่อแม่ส่วนใหญ่อาจลืมไปว่า จิตใจของเด็กนั้นเปรียบเสมือนฟองน้ำ พร้อมที่จะดูดซับทุกอย่างที่มากระทบประสาทสัมผัส แล้วเก็บสั่งสมเข้าไว้เป็นอุปนิสัย การอบรมเด็กเป็นแบบอย่าง เข้าทำนอง “จงทำอย่างที่ฉันบอก แต่อย่าทำอย่างที่ฉันทำ” เป็นการอบรมที่ไร้ผล เราละเลยขณะประกอบเหตุ แล้วจะร่ำร้องได้อย่างไรว่าผลิตผลขาดคุณภาพ ไม่เป็นไปดังปรารถนา การจะ “ปั้น” คนขึ้นมาสักคนหนึ่งนั้น ไม่ใช่สิ่งบังเอิญ หรือเรื่องเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรม หากเป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจให้ด้วยความรัก ความเอาใจใส่ ที่ไม่มีวันแห้งเหือด



มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่เป็นหมู่ หรือเป็นกลุ่ม สังคมหน่วยเล็กที่สุด คือบ้าน จำเดิมเริ่มแรก มีแต่พ่อแม่ ต่อมาก็มีลูกๆ เกิดตามมาโดยลำดับ ส่วนใหญ่ทั้งพ่อและแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ลูกๆ จึงเป็นภาระของคนรับใช้ เมื่อเด็กคลุกคลีใกล้ชิดกับสิ่งใด ย่อมดูดซับอุปนิสัยใจคอ ความนึกคิดของสิ่งนั้นมา พ่อแม่กลับถึงบ้านก็เหน็ดเหนื่อย จนละลืมความสำคัญของการมีเวลาใกล้ชิดให้ลูกๆ ได้คุยเล่าถึงความรู้สึกนึกคิด และเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นให้ฟัง เพื่อจะได้มีโอกาสแนะสอน ให้เหตุผล ชี้แนวทางที่เหมาะสมที่ควรให้



เปรียบเหมือนต้นไม้ ที่ถูกปล่อยปละละเลยให้ทอดลำต้นสูงขึ้นไป ตามบุญตามกรรม จนลำต้นเริ่มแข็งเกินดัดแล้ว เราจึงแลเห็นความบกพร่อง เริ่มจ้ำจี้จี้จ้ำไชบ่นว่า ซึ่งก็เป็นเวลาที่สายเกินกาลเสียแล้ว เพราะอุปนิสัยนั้นๆ หยั่งรากฝังโคลนลงไปเป็นความเคยชินเป็นxxxดองเข้าไปในเนื้อจิตแล้ว เด็กๆ กลับถึงบ้าน ไม่เคยเอาวิชาที่เรียนมาทบทวน หรือทำแบบฝึกหัด ไม่รู้จักว่า หน้าที่ และความรับผิดชอบ คืออะไร อยู่แต่หน้าโทรทัศน์ อ่านหนังสือการ์ตูน เล่นเกมคอมพิวเตอร์ เคยชินต่อการปล่อยตัว ปล่อยอารมณ์ ให้โลดแล่นคะนองไป ตามเรื่องราวที่ห่างไกลจากความเป็นจริงของชีวิต ต้องการความสะดวกสบายในสิ่งใด ก็เรียกร้องข่มขู่เอาจากคนรับใช้



สภาวะแวดล้อม และความเคยชิน บ่มให้เด็กเติบโตขึ้นมาอย่างขาดขอบเขต ไร้ระเบียบวินัย ขาดทัศนคติต่อชีวิตที่แท้จริงไม่มีความพอใจรักใคร่ผูกพัน อันเป็นสายโซ่ของฉันทะต่อสิ่งใดๆ เมื่อเป็นดังนี้ เด็กย่อม “รัก” ไม่เป็น กรุณาอย่าไขว้เขวกิริยาประจบประแจงของเด็ก ขณะต้องการสิ่งใดจากเราว่า นั่นคือความรักที่เด็กมีต่อเรา นั้นเป็นเพียงกรรมวิธีที่เด็กใช้ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนปรารถนา เท่านั้นเอง เมื่อรักไม่เป็น ก็ขาดอิทธิบาทในชีวิต ในการเล่าเรียนในทุกสิ่งทุกอย่าง



อิทธิบาทนั้น คือ กุญแจที่จะไขให้เราไปถึงความสำเร็จ ได้แก่ ฉันทะ ความพอใจ จะทำสิ่งใด ก็น้อมใจให้รัก ให้พอใจในสิ่งที่กระทำ มิใช่สักแต่ทำพอให้เสร็จๆ ไป วิริยะ ความเพียร เมื่อใจผูกพันในสิ่งที่กระทำอยู่ ก็หมั่นขยัน พยายามกระทำ เอาธุระไม่ทอดทิ้ง ไม่ท้อถอย จิตตะ ความมีใจฝักใฝ่ ขณะกระทำก็ตั้งจิตคิดอยู่แต่ในงานนั้น ไม่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไปนึกถึงสิ่งอื่น วิมังสา ความพิจารณาใคร่ครวญ ขณะทำก็คอยตรวจตราสอบสวนว่า ผลที่ได้นั้นถูกต้องตามต้องการ หรือเกิดบกพร่องประการใด คิดค้นหาเหตุผล เพื่อแก้ไขปรับปรุงให้รัดกุม ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปโดยลำดับ เมื่อจิตใจตั้งอยู่ด้วยความใส่ใจผูกพันดังนี้ จะหยิบจับสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีทั้งสิ้น



ถ้าเราสะดุดใจว่า วิธีเลี้ยงลูกของเรายังบกพร่องอยู่ เราก็ต้องหันมาสำรวจตัวเอง เรามีความสม่ำเสมอในการปลูกฝังอุปนิสัยแก่ลูกเพียงใด โปรดเตือนตนเองว่า การปลูกคนนั้น เป็นงานที่ต้องใช้เวลาชั่วชีวิตของเรา ไม่ใช่งานนอกเวลา ที่ทำฉาบฉวยชั่วครั้งชั่วคราว แล้วจะสัมฤทธิ์ผลได้ดังใจ เราเรียกลูกให้มาอาบน้ำ ลูกกำลังเล่นสนุกอยู่ ก็ทำหูทวนลม ผัดผ่อนเพื่อจะเล่นต่อไป เราลงโทษลูก ลูกถึงเวลานอน มาตามให้เราไปส่งนอน เรากำลังติดพันรายการโทรทัศน์อยู่ ก็บอกลูกว่า ไปเล่นต่ออีกเดี๋ยวก่อนก็แล้วกันนะ



ถ้าระบบการอบรมลูกเป็นดังนี้ เราจะได้ลูกที่ขาดความรับผิดชอบ ดื้อเงียบ หูทวนลม ปิดหู ปิดใจต่อเหตุผลทั้งปวงที่เรายกมาพูด เพราะจิตใต้สำนึกของลูกเห็นแล้วว่า เราเป็นคน “จงทำอย่างที่ฉันบอก แต่อย่าทำอย่างที่ฉันทำ” ถ้าเรารังเกียจสิ่งที่เราลงโทษลูกหมดหัวใจ เหตุไฉนเราเองจึงยังประพฤติเช่นนั้น?



ก่อนจะดุว่าใคร ๆ คอยจับผิดตัวเองเสียก่อนว่า เราเองก็ไม่ได้เผลอประพฤติเช่นนั้น เราค่อนลูกว่า เป็นคนทำงานเอาหน้า แต่เราเอง พอจะเชิญเพื่อนมาบ้าน ก็เก็บข้าวของที่เคยวางเกะกะอยู่เป็นประจำซุกหลีกไปชั่วคราว ครั้นไม่มีใครมา ข้าวของเหล่านั้นก็ออกมาเกะกะดังเดิม สิ่งเหล่านี้เล็กน้อย ธรรมดาสามัญ เกิดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนเป็นความเคยชิน แต่ถ้าเราสละเวลาใคร่ครวญอย่างพินิจพิเคราะห์ จะเห็นถึงอันตรายร้ายแรงที่แอบแฝงอยู่



จิตใจของคนเรา เป็นธรรมชาติที่ยากต่อการรู้จักและเข้าใจโดยถ่องแท้ แม้ตัวเราเอง ก็หารู้จักใจของตนไม่ เราตั้งความปรารถนาจะเป็นโน่น เป็นนี่ ตามสิ่งที่ได้เห็น หรือได้ฟังมา เราพากเพียร ขัดเกลา ประดุจเอาผ้าแพรเนื้อนุ่มเนียนมาสวมใส่ให้ใจของเรา แล้วเราก็เอามันออกเที่ยวแนะนำ ทำความรู้จักกับผู้คนที่มาเกี่ยวข้องด้วย เป็นใจส่วนที่เป็น “จิตสำนึก” ส่วนเปลือก ที่เราได้พากเพียร เอาสติปัญญาความรู้ทั้งมวลมาพัฒนา ตกแต่ง ขัดเกลา แต่เนื้อในเข้าไป ส่วนที่เป็นกระพี้ และแก่นหรือจิตใต้สำนึก และจิตไร้สำนึกนั้น ยังหยาบ ขรุขระ เกรอะกรังด้วยสนิมของความโลภ ความอยาก ความดื้อรั้น ถือตนถือตัว หงุดหงิด ชิงชัง ริษยา อาฆาต พยาบาท ยึดมั่นสำคัญหมายรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนมองไม่เห็นส่วนที่เป็นสติและปัญญา



เปรียบเสมือนเรามองผิวน้ำในสระแห่งหนึ่ง ดูก็ใสสะอาดดี แต่พอแสงแดดสาดทะลุกลุ่มเมฆ ส่องลงไปในสระ จึงแลเห็นสายสีเขียวของสาหร่ายลอยพริ้วระเกะระกะ ตั้งแต่ก้นสระขึ้นมาจนเกือบถึงปากบ่อ บางแห่งที่มีปลาว่ายไปมา หรือมีก้อนหินตกลงไปกระทบ ก็มีตะกอนขุ่นคลั่กลอยฟุ้งขึ้น ครั้นหมดสิ่งกระทบ ตะกอนเหล่านั้นก็ค่อยสงบนอนก้นลงไปดังเดิม



สิ่งกระทบใจคนเรามีทั้งจากภายนอก และจากภายในใจของเราเอง จากภายนอก เช่น ก้อนหิน ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ซึ่งผ่านสู่ใจทางประสาทรับรู้ของตา หู จมูก ลิ้นและกาย จากภายใน เช่น ปลา คือ สัญญา อารมณ์ที่ปรุงคิดขึ้นในใจเอง แล้วก็ทำให้ใจของเราเพลิดเพลิน หรือขุ่นข้องไปกับอารมณ์นั้น ๆ สนิมใจเหล่านี้ กัดกร่อน ก่อกวน บ่อนทำลายคุณภาพของจิตใจเราอยู่ทุกบ่อย ๆ ตลอดเวลา ทั้งลืมตาตื่น และทั้งหลับโดยฝัน แต่เราไม่เคยรับรู้ เพราะไม่เคยตั้งสติเพ่งมองใจของตนเอง มัวแต่มองเพ่งโทษ หาความผิดของผู้อื่น



เมื่อใดที่หงุดหงิด ไม่พอใจกับการกระทำของคนรอบข้าง ให้สงบใจค้นมองเข้าไปในตนเอง ส่วนใหญ่จะพบว่าการกระทำของคนเหล่านั้น คือกระจกเงาที่ฉายให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเรา เพราะเขาดูดซับไปจากการกระทำของเรา ที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่เราหวังจะเห็นเขาเป็นอย่างที่เราพร่ำบอก จะแก้ไขเขาให้ได้ผล ก็แก้ไขที่ตัวของเราก่อน อย่าเริ่มด้วยการคิดแก้ไขสิ่งภายนอก เพราะเราจะหมดแรงก่อนสัมฤทธิ์ผล ตั้งใจ ตั้งสติ เฝ้าจับความเผลอ ความไม่คงเส้นคงวาของเราเอง และเมื่อจับได้ครั้งใด ต้องรีบขัดเกลาแก้ไขโดยเด็ดขาดทุกครั้งไป



โปรดให้การกระทำของเราเองเป็นการสอนผู้อื่น แทนที่จะมัวพร่ำสอนแต่ปาก แต่ละเลยที่จะปรับปรุงแก้ไขตน ให้หมดจดจากคำตำหนิทั้งปวง สาระของชีวิตมิใช่อะไรอื่น นอกไปจากการคลี่ด้ายยุ่ง ๆ กลุ่มนั้นออก ด้วยเหตุผล สติปัญญา รอบคอบ อ่อนน้อมถ่อมตน จนปมทั้งหลายหลุด กลับเป็นเส้นด้ายที่สามารถม้วนไว้อย่างเรียบร้อย เตรียมพร้อมสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ตามวาระอันควร



หากแม่ปูเดินตรงทางแล้ว ก็ย่อมวางใจ แน่ใจได้ว่า ลูกปู จะเดินตรงทางตามไปด้วย และเมื่อแต่ละหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม คือบ้าน มีความอบอุ่นเข้าใจซึ่งกันและกันเป็นอันดี ชุมชนนั้น ประเทศนั้น และมนุษยชาติ ซึ่งเกิดขึ้นจากหน่วยเล็กที่สุดเหล่านั้น มารวม ๆ กันเข้า ย่อมอยู่กันด้วยความสงบผาสุก



ฝากต่ออีกนิด

ถาม-ตอบ เรื่องความรัก



อมรา มลิลา





ถาม : พ่อแม่รักลูกทุกคนจริงหรือเปล่า



ตอบ : จริงค่ะ แต่จริงในแง่ของครูนะ นิ้วของเรา 5 นิ้วเท่ากันไหม ไม่เท่า ถ้าครูถามคุณว่า รักนิ้วไหนมากที่สุด เอ…นิ้วก้อยดูจะไม่ได้เรื่องกว่าเพื่อน งั้นขอสับนิ้วก้อยทิ้งเถอะ ตัวก็เล็กนิดเดียว ไม่เห็นจะน่าดูตรงไหนเลยนะ ไม่มีใครยอมให้ครูสับทิ้งแน่ ขืนครูรุ่มร่ามเข้าไปใกล้ เจ้าของนิ้วอาจจะชกครูกระเด็นไปเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น ที่ครูบอกว่า พ่อแม่ทุกคนรักลูกแต่ละคนเท่ากันนั้น ดูเผินๆ ก็ทำนองเดียวกับนิ้ว 4 นิ้วที่ไม่เท่ากัน ถ้าดูไม่เป็นก็เหมือนกับพ่อแม่ลำเอียง แต่ความจริงท่านรักเท่าเทียมกันหมดทุกคนแหละ ถ้าเรามีตาทิพย์มีหูทิพย์เข้าไปเห็นไปได้ยินในใจของท่านได้



ครูเคยเจอะเจอแม่คนหนึ่ง ถ้าลูกคนนี้มาเฝ้าพยาบาลอยู่ แม่ก็จะตำหนิว่า เจ้านี่นะไม่ได้เรื่องเลย สู้อีกคนที่ไม่ได้มาไม่ได้ ลูกก็น้อยใจเสียใจกลับไป ครั้นคนที่ถูกชมอยู่เมื่อกี้นี้มาเฝ้า กลับกลายเป็นว่าไม่ได้เรื่อง ทำอะไรก็ไม่ถูกใจ สู้เจ้าคนที่เพิ่งกลับไปก็ไม่ได้ ก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ทุกวัน คือ คนที่กำลังเฝ้าอยู่จะถูกบ่นว่าอย่างโน้นอย่างนี้ คนไม่อยู่กลายเป็นตัวที่ดี รู้ใจ จนในที่สุด ลูกๆ มาคุยกันจึงรู้ความจริง ก็เลยหายน้อยอกน้อยใจ



หรือพ่อแม่อีกคนหนึ่ง ลูกคนนี้เรียกใช้ได้เรื่อง ถูกใจ ก็จะเรียกใช้แต่คนนี้ทุกครั้งไป จนลูกนึก อะไรกัน เรียกใช้แต่เราอยู่คนเดียว ครั้นมีของกันของใช้อะไร กลับนึกถึงลูกสุดท้อง ให้อยู่แต่คนนั้น ส่วนคนที่เรียกใช้ไม่เคยให้อะไรเลย จนลูกน้อยใจ เมื่อมีคนถามว่า รักลูกคนไหน ท่านตอบทันทีว่า รักคนที่ไม่เคยให้อะไรสุดหัวใจเลย



เพราะฉะนั้น จำไว้ พ่อแม่รักลูกทุกคนเท่ากัน แต่แสดงออกเหมือนนิ้ว 5 นิ้ว ที่ยาวสั้นไม่เท่ากัน ท่านรักแต่ละคนในแง่ที่ท่านเห็นของท่าน แล้วแสดงออกขาดๆ เกินๆ ตามแบบของท่าน เราก็อย่าไปน้อยใจ ถ้าบังเอิญท่านรักเราแบบถูกใจใช้แต่เรา แล้วไม่เคยนึกถึงเราเมื่อมีของจะให้ ก็อย่าไปอิจฉาน้องตัวเล็กที่ทำอะไรก็ไม่เป็น แต่ท่านเอ็นดู มีอะไรก็ต้องหวงเก็บเอาไว้ให้



ท่านอาจารย์สอนครูว่า ลูกบางคนโตแล้วก็จริง แต่ในสายตาพ่อแม่ยังเหมือนเด็กปัญญาอ่อน เพราะฉะนั้น ก็ต้องให้ทรัพย์สินเงินทองเป็นมรดกไว้เยอะๆ เพื่อใช้เลี้ยงตัวได้ พวกเรา ท่านเห็นว่าโตแล้ว ทำมาหากินได้ มีหลักมีฐานแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องให้อะไร ตั้งตัวได้แล้ว ท่านภูมิใจในเรา เวลาเราดูพ่อแม่ ดูให้เป็นอย่างนี้ เราจะได้ภูมิใจในตัวเอง จะได้ชื่นใจ ไม่น้อยใจว่าท่านรักลูกไม่เท่ากัน









ถาม : พ่อกับแม่ชอบชมลูกคนอื่น พอเราทำดีกว่าลูกคนอื่นนั้น พ่อแม่ไม่เคยชมเลย



ตอบ : อันนี้เป็นความจริง พ่อแม่ครูก็เหมือนกัน จนกระทั่งครูเคยน้อยใจ แล้วก็ไปประท้วงว่า ทำอย่างนี้ได้ยังไง พ่อแม่เลยอธิบายว่า หน้าที่ชมลูกเป็นของคนอื่น หน้าที่พ่อแม่ต้องเคี่ยวเอาไว้ พ่อแม่ชื่นใจนะที่เราดีกว่าลูกคนอื่น แต่ต้องหวงคำชมไว้ ชมแล้วเดี๋ยวเราเหลิง ดีแตก แต่คนอื่นอย่ามาตำหนิลูกฉันนะ เป็นได้ฆ่ากันตายเลย ผู้ใหญ่ท่านเชื่ออย่างนี้ พ่อแม่จะไม่ชมลูกนะ จำไว้ การที่พ่อแม่เงียบเฉยแปลว่าท่านพอใจแล้ว ชื่นใจแล้ว แต่ถ้าท่านตำหนิแปลว่าเรายังไม่ดี ยังบกพร่อง ถ้าท่านเฉย แอบดูสิว่า ท่านแอบชมกับคนอื่น แต่ไม่ชมให้เราได้ยิน เพราะผิดธรรมเนียม เดี๋ยวเราเหลิง ดีจะแตกเสีย









 
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 25 พ.ย.2004, 1:49 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน





ขออนุโมทนาบุญกับเจ้าของกระทู้ด้วย

สำหรับการนำเนื้อหาธรรมที่มีประโยชน์ของคุณหมออมรา มลิลา

มาให้เพื่อนๆ ลานธรรมจักรได้อ่าน/ศึกษากัน นะค่ะ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
เด็กบ้านยางสีสุราช
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 05 มิ.ย. 2004
ตอบ: 305

ตอบตอบเมื่อ: 25 พ.ย.2004, 10:34 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน





อนุโมทนานำแหน่ครับ





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง