Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หลวงปู่สงฆ์ จนฺทสโร อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 พ.ย.2006, 6:55 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สงฆ์ จนฺทสโร


วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย
ต.บางลึก อ.เมือง จ.ชุมพร



๏ อัตโนประวัติ

“หลวงปู่สงฆ์ จนฺทสโร” เป็นพระมหาเถระผู้มีปฏิปทาจริยวัตรอันงดงามยิ่ง ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวันโดยไม่ขาด ท่านเป็นพระอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในการเจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐานอย่างยิ่งยวด รักความสงบ สันโดษ มักน้อย พูดน้อย สำรวมระวังกาย วาจา ใจ และฉันอาหารเพียงวันละมื้อเดียว นับเป็นพระอริยบุคคลผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง

หลวงปู่สงฆ์ มีนามเดิมว่า “สงฆ์” เป็นนามที่ชาวกรุงเทพมหานครเรียกชื่อท่านด้วยความเคารพเลื่อมใส นามสกุลไม่ทราบ เพราะท่านไม่ได้บอกใคร เกิดเมื่อวันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ.2433 ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีขาล อันเป็นแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นลูกชาวนาวิสัยใต้ บ้านแหลมนาว อ.สวี จ.ชุมพร โยมบิดาชื่อ นายแดง โยมมารดาชื่อ นางนุ้ย (ไม่ทราบนามสกุล)


๏ การบรรพชาและอุปสมบท

ชีวิตวัยเด็ก ท่านชอบศิลปะทางฟ้อนรำ และหนังตะลุง เคยแสดงมโนราห์เป็นตัวร้าย ชอบตลก ครั้นเมื่ออายุ 18 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรกับพระอธิการชื่น วัดสวี ต.ปากแพรก อ.สวี จ.ชุมพร อันเป็นวัดใกล้ๆ บ้านเกิดของท่าน เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ท่านก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่เพียง 2 ปี จึงลาสิกขา ออกไปช่วยเหลือโยมบิดา-โยมมารดาประกอบอาชีพทำงานท้องนาและไร่สวน

เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสวี จ.ชุมพร โดยมีพระครูธรรมลังกาวี เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ไปอยู่จำพรรษาที่วัดควน (ทึงทั่ง) อ.สวี จ.ชุมพร 1 พรรษา ในระหว่างพรรษาท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัยเพิ่มเติม จนพอรู้แนวทางการดำเนินชีวิตในเพศพรหมจรรย์


๏ การออกเดินธุดงคกรรมฐาน

หลังจากออกพรรษาแล้ว ท่านมีความสนใจทางสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน แต่ในจังหวัดชุมพรไม่มีพระอาจารย์สอนทางด้านนี้เลย ท่านจึงกราบลาพระอุปัชฌาย์และพระอาจารย์ ออกจากจังหวัดชุมพรมุ่งหาพระอาจารย์สอนกรรมฐานในถิ่นอื่นๆ โดยได้ออกเดินทางไปท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพรอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง เพราะท่านยังไม่รู้จักคำว่า “เดินธุดงค์” ในสมัยนั้น แต่หลวงปู่สงฆ์มีความแน่ใจว่า การเดินทางอยู่ในป่าดงพงไพรนี้จะต้องพบกับพระผู้ปฏิบัติบ้าง เพราะพระกรรมฐานชอบอยู่ถ้ำผาป่าดงมากกว่าอยู่วัดวาอาราม หลวงปู่สงฆ์รอดพ้นจากอันตรายต่างๆ รอบด้าน เช่น สัตว์ป่า ไข้ป่า อันดุร้ายไปได้ ก็เพราะแรงใจที่มุ่งปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่ง เมื่อพบก็จะมอบตัวเป็นศิษย์ขอฝึกอบรมปฏิบัติพระกรรมฐานด้วยเท่านั้น

หลวงปู่สงฆ์ประสบความสมหวัง เมื่อได้ทราบว่า หลวงปู่รอด (หลวงพ่อทวดรอด) วัดโต๊ะแซ่ หรือวัดโต๊ะแซะ (วัดโฆสิต ในปัจจุบัน) เป็นพระอาจารย์ที่ทรงฌานสมาบัติสูงองค์หนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ท่านจึงได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ ขอฝึกอบรมปฏิบัติพระกรรมฐานอยู่กับหลวงปู่รอด 2 พรรษา และยังมีพระอาจารย์อีกองค์หนึ่งคือ หลวงพ่อทวดเวียน ซึ่งพบกันขณะเดินธุดงค์

ท่านมีความพากเพียรอย่างคร่ำเคร่ง มีสมาธิแก่กล้าสามารถในทางปฏิบัติมากแล้ว หลวงปู่รอดได้ให้ออกเดินธุดงค์ไปอยู่ตามป่าช้า ตามถ้ำผาป่าดงต่อไป เพื่อความรู้แจ้งในจิตใจ และจะได้ปรารภธรรมตามสติปัญญา หลวงปู่สงฆ์ท่านจึงมีความชำนาญในเรื่องสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัยก่อนโน้น ทางภาคใต้นับตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป ครูบาอาจารย์ต่างๆ มักจะสนใจปฏิบัติสมถกรรมฐานแล้วเดินจิตเล่นฤทธิ์กันเสียโดยส่วนมาก สำนักเรียนวิชาต่างๆ ภายใน (จิต) สำนักเขาอ้อ มีชื่อเสียงมากในเรื่องนี้ แต่หลวงปู่สงฆ์ก็ดี หลวงปู่หมุนก็ดี ตามที่มีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในปัจจุบันนี้ ท่านสามารถหันเข้ามาดำเนินจิตสู่วิปัสสนากรรมฐานเสีย เพราะเป็นหนทางออกจากความยึดมั่นในอำนาจจิต อำนาจฌาน ได้อย่างสิ้นเชิง เป็นความจริงดังนี้

ต่อมาหลวงปู่สงฆ์ท่านเกิดสติปัญญามองเห็นภัยในวัฎสงสาร ที่มันไม่เที่ยงแท้แปรปรวนหมุนเวียนไม่รู้จบ ท่านเกิดเบื่อหน่าย คิดดำเนินชีวิตในป่าดงพงไพร ปฏิบัติจิตเร่งบำเพ็ญเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ การเดินธุดงคกรรมฐานของครูบาอาจารย์นั้น มิใช่ว่าจะเดินไปในที่แห่งหนึ่งแล้วไปในที่อีกแห่งหนึ่ง พึงรีบเดินเพื่อให้ถึงที่หมายเร็วๆ นั้นหาไม่ แต่การเดินธุดงค์ก็เหมือนการเดินแบบปกติหรือเดินจงกรมนั่นเอง ท่านเดินอย่างมีสติ คือ ขณะที่ก้าวเดินไปนั้น ท่านกำหนดคำบริกรรมหรือพิจารณาธรรมไปเรื่อยๆ โดยไม่นับก้าวแต่อย่างใด ท่านเดินด้วยสติ แม้อะไรจะเกิดขึ้นมาในช่วงนั้น ท่านก็รู้ชัด ไม่มีอาการของจิตแส่ส่ายไปมา เพราะสติเป็นกำลังอันสำคัญขณะบำเพ็ญความเพียร ไม่ว่าจะเป็นอิริยาบถยืน เดิน นั่ง นอน

หลวงปู่สงฆ์ท่านได้อาศัยชีวิตอยู่ในป่าดงเป็นเวลาหลายปี อาศัยโคนไม้ ถ้ำผาต่างๆ เป็นที่พักผ่อน ไม่มีความอาลัยในชีวิตว่าจะสุขหรือทุกข์ ท่านมุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อความรู้ธรรม เมื่อรู้ธรรมแล้ว ท่านก็นำธรรมะนั้นมาสอนจิตสอนใจตนเอง ขัดเกลา กิเลส ตัณหา อุปาทาน ซึ่งเป็นสมบัติประจำสันดานมนุษย์ ให้หลุดให้ลอกออกไปจากจิตใจ ชำระจิตใจด้วยธรรมเพื่อความสะอาดหมดจดแห่งชีวิต

หลวงปู่สงฆ์ออกธุดงค์ยาวนาน 7 ปีเศษ เป็นช่วงเวลาแห่งการทรมานกิเลสภายในจิตใจ ท่านไม่เคยออกจากป่าสู่เมืองเลย มีความอดทนค้นคว้าสัจธรรมความเป็นจริงของพระพุทธเจ้า ด้วยชีวิตเป็นเดิมพัน ท่ามกลางป่าดง ท่านอาศัยภูเขาลำเนาไพรมาโดยตลอด การบิณฑบาตท่านโคจรไปในหมู่บ้านชาวป่า ได้บ้างอดบ้างตามอัตภาพ จนมีความพอดีแก่จิตใจ ปล่อยวางของหนักได้หมดสิ้นแล้วอย่างมั่นใจ ทำให้สภาพจิตสดใสแจ่มแจ้งในธรรมะ แต่สภาพสังขารดูออกจะเป็นฤาษีชีไพร หนวดเครารุงรัง ผมเผ้ายาว จีวร สบง ขาดรุ่งริ่ง นั่งภาวนาในป่า

ท่านออกธุดงค์ตั้งแต่ภูเก็ตเข้าเขตพม่าด้านตะนาวศรี มะริด ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี เข้าเขตกาญจนบุรี สุพรรณบุรี แล้วมุ่งหน้ากลับสู่ชุมพร บ้านเกิด ปักกลดปฏิบัติธรรมแสวงหาความสันโดษ ใกล้บ้านศาลาลอย


๏ มาพำนักอยู่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย

คล้ายกับวาสนาท่านจะต้องมาอยู่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย มีเรื่องเล่ากันว่า ขณะนั้นมี 2 แม่ลูกออกหาของป่าละแวกวัดร้าง มีนกแก้วบินส่งเสียงร้องว่า “หนักก็วางเสีย” เป็นสำเนียงนก และบินนำหน้า 2 แม่ลูก ไปจนถึงบริเวณที่พ่อหลวงสงฆ์ปักกลด นกก็บินหายไป 2 แม่ลูกเข้าไปกราบหลวงปู่สงฆ์ และนิมนต์ให้เข้าไปในหมู่บ้าน ซึ่งมีวัดร้างอยู่อีกแห่งหนึ่ง ปัจจุบันก็คือ “วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย” ต.บางลึก อ.เมือง จ.ชุมพร นั่นเอง

ขณะเดียวกัน กำนันเฉย ในหมู่บ้านนั้นเกณฑ์ชาวบ้านมาปลูกกุฏิเล็กๆ ถวายให้ท่านอยู่ 1 หลัง หลังจากนั้นมาความศรัทธาความเจริญก็บังเกิดแก่หมู่บ้านนี้มาโดยลำดับ ต่อมาหลวงปู่สงฆ์ท่านได้เข้าพำนักอยู่ประจำและก่อสร้างวัดเจ้าฟ้าศาลาลอย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2462 เป็นต้นมา จนเจริญรุ่งเรืองในปัจจุบัน

ด้วยมีสมณะวิสัยรักในสันโดษ หลวงปู่สงฆ์ไม่ยอมรับตำแหน่งใดๆ ภายในวัด เป็นเพียงประธานสงฆ์ของพระหนุ่ม เณรน้อยเท่านั้น ปัจจัยไทยทานอันเป็นสมบัติของสงฆ์ท่านไม่ข้องแวะ ท่านไม่สนใจ และไม่รู้ค่าของเงินด้วยว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพราะท่านไม่จับและแตะต้อง ไม่ยินดีในเอกลาภ ชีวิตในสมมติสงฆ์มีเพียงปัจจัยสี่เท่านั้น ท่านมีอายุก็ยืนยาวถึง 5 แผ่นดิน ซึ่งกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (เสด็จเตี่ย) พระบิดาแห่งราชนาวีสยาม ทรงฝากพระองค์เป็นศิษย์ด้วยความเลื่อมใสในบารมีธรรม


๏ เทพเจ้าของชาวชุมพร “ผู้มีวาจาสิทธิ์”

หลวงปู่สงฆ์ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในพระธรรมวินัย ปฏิบัติกับลูกศิษย์ลูกหาและชาวบ้านทั่วไปอย่างคงเส้นคงวา มีเมตตาสูงต่อคนและสัพพะสัตว์ที่เดือดร้อน ท่านเมตตาช่วยเหลือแทบทุกรายที่ไปขอความช่วยเหลือตลอดเวลา เสมอต้นเสมอปลาย ท่านได้รับสมญานามว่าเป็น เทพเจ้าของชาวชุมพร “ผู้มีวาจาสิทธิ์” ดังนั้น บรรดาลูกศิษย์ลูกหาญาติโยมทั้งหลาย มักจะมาชุมนุมกันที่ศาลา ในช่วงเวลาเช้าก่อนไปทำงานเป็นประจำ เพื่อขอวาจาสิทธิ์ของท่าน ถ้าท่านกล่าวคำใดกับใครจะเป็นความจริงตามนั้นเสมอ

ครั้งหนึ่ง มีข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เดินทางเข้าไปนมัสการ พร้อมกับนำสัตว์เลี้ยงสี่เท้าไปถวายท่านด้วย หลวงปู่สงฆ์เห็นดังนั้น ได้สอบถามว่า “อ้าว...นั่นเอานกมาทำไมกัน”

ข้าราชการผู้ใหญ่นั้นตอบว่า “ไม่ใช่นกหรอกครับ หลวงปู่”

ว่าแล้วก็เปิดกรงออกเท่านั้น ปรากฏว่าทุกคนต่างตกตะลึงในความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้น เพราะแทนที่จะเป็นสัตว์สี่เท้าที่จับใส่กรง แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่กลับกลายเป็นนกตัวหนึ่ง บินออกมาจากกรงหนีไปทันที บรรดาลูกศิษย์ลูกหาญาติโยมทั้งหลายในวัดต่างพูดกันว่า “นี่เป็นวาจาสิทธิ์ของหลวงปู่”

ตามปกติ หลวงปู่สงฆ์ชอบใช้ยาเส้น (ยาฉุน) สีปากแล้วอมเอาไว้ ดังนั้น ยาเส้นที่ท่านใช้แล้ว จะกลับกลายเป็นของวิเศษศักดิ์สิทธิ์ ครั้งหนึ่ง ได้มีคนมาหาหลวงปู่ ท่านได้มอบยาเส้นให้ไป เมื่อได้แล้วก็นำเก็บไปไว้ในตู้เซฟ รวมกับเอกสารและทรัพย์สินของมีค่ามากมาย

หลังจากนั้นได้มีขโมยเข้าบ้านชายคนนี้ เมื่อขโมยเปิดตู้เซฟ ต้องเบือนหน้า เพราะในตู้เซฟไม่มีสมบัติทรัพย์แม้แต่ชิ้นเดียว ภายในเซฟมีแต่ยาเส้นกองเต็มไปหมด ไม่มีของมีค่า จึงต้องหลบหนีกลับไปมือเปล่า

แต่ทว่าหัวขโมยนี้ก็ไปไม่รอด โดนเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวและเตรียมดำเนินคดี แต่ไม่มีของกลาง เพราะไม่ได้ทรัพย์สินกลับไป โดยบอกกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “ในเซฟมีแต่ยาเส้น ใครจะเอาไปทำไม” ในความเป็นจริง ยาเส้นในตู้เซฟนั้น มีเพียงก้อนเล็กๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือเท่านั้น

หลวงปู่สงฆ์ ยังมีวิชารักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นานา เคยทำการรักษาโรคของผู้ป่วยทุกคน จนอาการทุเลาดีขึ้น ครั้งหนึ่ง มีผู้ป่วยชาวนครศรีธรรมราชที่มีอาการปวดท้องมานาน 10 กว่าปี ไปรักษาที่ไหนตามโรงพยาบาลต่างๆ เสียเงินไปเป็นแสนบาท นายแพทย์เก่งขนาดไหนก็รักษามาแล้ว ที่ไหนว่าเก่งๆ พอเจอโรคบุคคลนี้เข้าไป รักษาไม่หาย ผู้ป่วยจึงได้หอบสังขารชนิดผอมติดกระดูก เดินทางมาหาหลวงปู่ด้วยความศรัทธา เพื่อขอให้หลวงปู่รักษาโรค โดยได้นำน้ำปลาไปให้ท่านเพ่งกระแสจิตนานกว่า 10 นาที

หลวงปู่นำน้ำปลานั้นมาให้และบอกว่าให้กินน้ำปลานี้แทนยา ด้วยความศรัทธาในองค์หลวงปู่ ผู้ป่วยได้เปิดขวดน้ำปลาดื่มเข้าไป แม้ว่าน้ำปลาจะมีรสเค็ม แต่เวลาน้ำปลาผ่านลำคอไปแล้ว รู้สึกเย็นๆ พอไปถึงท้อง อาการปวดเสียดนั้นหายเป็นปลิดทิ้งทันที และไม่เกิดอาการปวดในภายหลังอีกแต่อย่างใด และมีอาการยิ้มแย้มทันที ผู้ป่วยคนนั้นก็ล้มลงกราบหลวงปู่สงฆ์ด้วยความศรัทธา


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 17 พ.ย.2006, 8:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงปู่สงฆ์ จนฺทสโร


๏ กิจวัตรปฏิบัติ

เวลา 04.00 น. ไหว้พระทำวัตรเช้า

เวลา 06.10 น. ออกจากห้องเพื่อเตรียมที่จะออกบิณฑบาต ในระหว่างนั้นสามเณรอุปัฏฐากจะขึ้นปฏิบัติ และญาติโยมมากราบขอพร

เวลา 07.00 น. ออกบิณฑบาต เมื่อกลับมาแล้วท่านเข้าห้องไหว้พระอีก

เวลา 09.00 น. ลงหอฉันเพื่อฉันภัตตาหาร เมื่อฉันภัตตาหารและให้พรเรียบร้อยแล้ว ท่านจะพูดคุยกับญาติโยมที่มาทำบุญ หลังจากนั้นท่านกลับขึ้นกุฏิและต้อนรับพุทธศาสนิกชนที่มาจากใกล้และไกลพอสมควร แล้วเข้าห้องพักผ่อน

เวลา 12.30 น. ออกจากห้องเพื่อต้อนรับศรัทธาญาติโยมที่มาขอพร

เวลา 14.00 น. ท่านสรงน้ำแล้วเข้าห้องไหว้พระสวดมนต์

เวลา 16.00 น. ออกจากห้องเพื่อต้อนรับศรัทธาญาติโยมที่มาขอพร

เวลา 18.00 น. เข้าห้องทำกิจภาวนา และให้ภิกษุสามเณรทั้งหมดต้องทำกิจภาวนาด้วยจนถึงเวลา 20.00 น.

เวลา 20.00 น. เสร็จจากทำกิจภาวนาแล้ว ออกจากห้องให้ภิกษุสามเณรขึ้นปรนนิบัติ และเป็นโอกาสที่ท่านให้โอวาทแนะนำสั่งสอน

เวลา 22.00 น. เข้าห้องพักผ่อน

เวลา 24.00 น. ล่วงจากนี้ไปแล้วท่านจะทำกิจภาวนาไปจนถึงเวลา 04.00 น.

* อนึ่ง ถ้าเป็นวันพระกลางเดือนและสิ้นเดือน เวลา 13.00 น. ท่านจะลงอุโบสถพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เพื่อสวดและฟังพระปาฎิโมกข์โดยมิได้ขาด


๏ การมรณภาพ

เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา สังขารมนุษย์จึงกลายเป็นสิ่งไม่จีรังยั่งยืน หลวงปู่สงฆ์ท่านได้เข้าพำนักอยู่ประจำที่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอยนี้ ตั้งแต่ พ.ศ.2462 จนถึงวันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2526 ตรงกับแรม 9 ค่ำ เดือน 8 ปีกุน ก่อนหน้านี้หนึ่งวันหลวงปู่ได้ให้คนไป ตามหลวงพ่อคงจากวัดวิสัย ซึ่งเป็นหลานชายของท่านให้มาพบ และกล่าวว่า เมื่อท่านสิ้นขอมอบบาตร, ไม้เท้า และย่ามให้แก่หลวงพ่อคงนำไปเก็บรักษาไว้ด้วย

วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2526 ตอนเช้าหลวงปู่ท่านยังรู้สึกตัว มีสายน้ำเกลือติดอยู่ที่แขนท่าน นอนสงบอยู่บนเตียงที่กุฏิ เวลาประมาณ 10.00 น. เศษๆ ลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดที่มาปรนนิบัติหลวงปู่ เห็นท่านนอนนิ่ง แต่ทว่าน้ำเกลือไหลเปรอะออกมาจึงได้ไปตามหมอมาดู ปรากฏว่าหลวงปู่ท่านได้จากไปอย่างสงบเสียแล้ว น้ำไม่ได้เข้าสู่ร่างกายเพราะลมหายของหลวงปู่หยุด น้ำเกลือจึงไหลล้นออกมาไม่อาจเข้าสู่ร่างกาย หลวงปู่จากไปอย่างสงบไม่ทราบเวลาที่แน่นอน เพราะท่านนอนนิ่งอยู่อย่างนั้นไม่กระวนกระวายจนผิดสังเกต บรรยากาศ ณ เวลานั้นช่างเงียบเชียบ แม้แต่สายลมยังหยุดนิ่ง ใบไม้ไม่ไหวติง ไม่มีแม้แต่เสียงนก เสียงการ้องเหมือนปกติเช่นเคย แสงแดดส่องประกายเหลืองจ้าผิดปกติจากทุกๆ วัน ทุกสรรพเสียงเงียบเชียบ มีเพียงแต่เสียงฆ้องกลองดังระงมไปทั่ว ซึ่งเป็นการบอกเหตุให้ชาวบ้านได้รับรู้ บ้างต่างก็พากันงุนงงเต็มไปด้วยความสงสัย สับสน มีบ้างที่รู้ถึงข่าวการอาพาธของหลวงปู่ก็เกิดความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก ถึงลางบอกเหตุของการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่

ดั้งนั้น ทุกคนในบริเวณที่รัศมีเสียงฆ้องกลองสามารถดังถึง ก็รีบมาที่วัดเป็นการด่วน บางคนทิ้งจอบทิ้งเสียมไว้กลางทุ่งนาโดยมิได้นึกถึงสิ่งใด เพราะตอนนี้ทุกคนต่างต้องการมาให้ถึงวัดโดยเร็ว เมื่อมาถึงในบริเวณวัด พอทราบว่าหลวงปู่ท่านได้จากไปเสียแล้ว สร้างความอาลัยเศร้าโศกเสียใจเป็นยิ่งนัก บางคนถึงกับร้องไห้ฟูมฟาย บางคนน้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัว ด้วยคิดว่าตอนนี้ที่พึ่งทางใจได้จากไปเสียแล้ว ต่อไปนี้จะพึ่งใครเพราะตอนสมัยหลวงปู่ท่านยังอยู่ ไม่ว่าจะเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเดือดร้อนด้วยเรื่องอันใด ก็จะได้หลวงปู่เป็นที่พึ่งปัดเป่าทุกข์ร้อนต่างๆ ให้สิ้นไป ต่อจากนี้ไปจะหันหาไปพึ่งใครได้อีกเล่า ยิ่งทำให้บรรยากาศในบริเวณวัดวังเวงยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อบรรดาศิษย์ทั้งหลายที่อยู่ไกลออกไปทราบข่าวคราว ต่างก็พากันมาที่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอยอย่างเนืองแน่นจากทั่วทุกสารทิศ เพื่อกราบนมัสการสรีระและบำเพ็ญกุศลถวายแด่หลวงปู่สงฆ์

ตั้งแต่เช้าจรดค่ำคืน ที่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอยจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คน บ้างต้องจอดรถยนต์เดินกันเป็นระยะทาง 2-3 กิโลเมตร ในระหว่างงานมีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้น คือ หาใช่เพียงแต่ผู้คนไม่ที่มานมัสการสรีระของหลวงปู่ แม้แต่เต่าที่ท่านได้เคยเลี้ยงและได้ปล่อยไปแล้ว ยังกลับมาที่วัดเสมือนว่ามันจะทราบว่าหลวงปู่ได้ละสังขารแล้ว

ในวันที่เต่าปรากฏนั้นเกิดพายุหมุน เล่นเอาสังกะสีหลังคาโรงที่สร้างเอาไว้สำหรับรองรับคนที่มาฟังเทศน์ ฟังการสวดพระอภิธรรม กระจัดกระจาย สังกะสีปลิวว่อนแต่ไม่มีใครได้รับอันตรายแต่อย่างใด เต่าตัวนี้มีขนาดประมาณ 15-20 นิ้วเห็นจะได้ เมื่อมาถึงที่ศาลามีคนอุ้มเอาขึ้นไปวางไว้ตรงหน้าหีบศพของหลวงปู่ เมื่อวางเสร็จเต่าตัวนี้ก็ทำหัวผงกๆ จากนั้นก็นิ่ง มีคนเห็นเต่าน้ำตาไหลอาบแก้มทั้งสอง ข่าวนี้กระจายไปทั่วเมืองชุมพร คนก็เลยมาดูเต่ากันมากขึ้น สิ่งที่น่าประหลาด คือ เมื่อนำเต่าออกมาถ่ายรูปหรือจะนำออกมาวางในลักษณะใดก็ตาม พอวางเสร็จซักครู่เต่าก็จะหันหัวกลับไปที่หีบศพทุกครั้ง แล้วกลับไปนอนนิ่งใต้หีบศพของหลวงปู่

ความแปลกยังมีอีก จนกระทั่งถึงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2526 จากจำนวนเต่า 1 ตัวแรก กลายเป็น 9 ตัว เพราะมีเต่าเพิ่มมาอีก บางตัวมาปรากฏอยู่หน้าลานวัด บางตัวชาวบ้านจับเอามาส่งที่วัด เพราะเขาเล่าว่าตอนขณะที่พวกเขาจะเดินทางมานมัสการหลวงปู่ เต่าได้ออกมาขวางหน้ารถ คล้ายกับว่าจะให้พามันมานมัสการหลวงปู่ด้วยนั่นเอง ที่เป็นอย่างนี้เพราะเหตุว่าเมื่อตอนหลวงปู่ยังอยู่นั้นหากชาวบ้านพบเต่าคลานอยู่หรือว่าจับได้ ก็จะนำมาถวายหลวงปู่ที่วัด ท่านก็จะเอาสีเขียนทาลงไป เขียนชื่อท่านบ้าง เขียนชื่อวัดบ้าง บางตัวก็จะมีอักขระขอม เป็นที่รู้กันว่านี่คือเต่าของหลวงปู่ เป็นเต่าพันธุ์เต่าหก มีลักษณะ 6 ขา เป็นเต่าพันธุ์เฉพาะถิ่นในแถบเมืองชุมพรนี้ บางตัวหากจะยกต้องใช้ผู้ชายกำลังดีๆ ถึง 4 คนจึงจะยกได้

มีเรื่องแปลกอีกว่า หลวงปู่ไปเข้าฝันชายคนหนึ่งแถวบ้านสามแก้ว ว่าให้ไปช่วยลูกของท่านที่ตกบ่อด้วย ชายคนนั้นไปดูตามบ่อต่างๆ ก็พบเต่ากำลังตะเกียกตะกายจะขึ้นจากบ่อมาให้ได้ เขาก็ช่วยมาจากบ่อ พอดูที่กระดองเต่าก็เห็นอักษรเขียนว่า ว.ศ.ล. คือ เป็นตัวย่อของวัดเจ้าฟ้าศาลาลอยนั่นเอง ก็เลยนำมาที่วัด มีชาวบ้านที่ได้มานมัสการหลวงปู่ เมื่อมาพบเห็นเต่าก็นำไปตีเป็นตัวเลข นำไปแทงหวย ในงวดวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2526 ถูกกันเกือบทั้งเมืองชุมพร ข่าวเรื่องเต่าของหลวงปู่เป็นที่เกรียวกราวมากในจังหวัดชุมพร

หลวงปู่สงฆ์ท่านได้เข้าพำนักอยู่ประจำที่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอยนี้ ตั้งแต่ พ.ศ.2462 จนถึงวันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2526 ตรงกับแรม 9 ค่ำ เดือน 8 ปีกุน เวลาประมาณ 10.00 น. เศษๆ หลวงปู่สงฆ์ได้มรณภาพลงอย่างสงบ สิริอายุได้ 94 ปี 3 เดือน 2 วัน รวมเวลาที่ท่านพำนักอยู่ที่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอยทั้งสิ้น 64 ปี

ทางคณะสงฆ์และคณะศิษยานุศิษย์ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลศพของ “หลวงปู่สงฆ์ จนฺทสโร” ตั้งแต่วันที่ 2-16 สิงหาคม พ.ศ.2526 และได้ทำพิธีปิดศพในคืนวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2526 หลังจากนั้นทุกๆ คืนจะมีการสวดพระอภิธรรมโดยพระภิกษุสงฆ์ภายในวัด และโดยเฉพาะในวันอังคารซึ่งกับวันคล้ายวันเกิดและวันมรณภาพของหลวงปู่ท่าน จะมีการสวดพิเศษคือการสวดในบทอานัตลักขณสูตรและอาทิตปริยายสูตร สลับกันไปทุกๆ วันอังคารของแต่ละสัปดาห์ และจะมีการสวดครบรอบวันมรณภาพในแต่ละปี ซึ่งตรงกับวันที่ 2 สิงหาคม ของทุกๆ ปี โดยจะมีการนิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดชุมพรมาสวดเป็นประจำทุกๆ ปี

ปัจจุบัน สรีระสังขารของหลวงปู่ได้ตั้งประดิษฐานอยู่บนศาลา 100 ปี ศาลาธรรมสังเวช วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย เพื่อให้คณะศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปได้กราบสักการบูชา แม้ท่านจะมรณภาพรูปกายแตกดับ แต่ท่านยังคงเป็นเทพเจ้าของชาวชุมพรตลอดไป

หลวงปู่สงฆ์ จนฺทสโร เป็นพระอริยสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีจริยวัตรอันงดงาม ปฏิบัติธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่ต้นจนหลวงปู่มรณภาพ อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกวันโดยไม่ขาด ด้วยปฏิปทานี้จึงเป็นที่เคารพศรัทธาในบารมีของหลวงปู่ ซึ่งกิจวัตรของหลวงปู่เป็นกิจวัตรที่เคร่งครัด ยากที่พระสงฆ์รูปอื่นจะปฏิบัติตามได้



.............................................................

รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
1. หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก คอลัมน์ พระเครื่อง คม ชัด ลึก
ฉบับวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2549
2. http://www.chumphontour.com/history/watchaofasalaloi_01.html
3. http://www.geocities.com/thaimedicinecm/loungpusong.htm
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 14 พ.ย.2009, 7:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กระทู้ในบอร์ดใหม่

ประวัติและปฏิปทาหลวงปู่สงฆ์ จนฺทสโร

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=22333
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง