Home
•
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทาน
•
หนังสือ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
•
แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้
ค้นหา
สมัครสมาชิก
รายชื่อสมาชิก
กลุ่มผู้ใช้
ข้อมูลส่วนตัว
เช็คข้อความส่วนตัว
เข้าสู่ระบบ(Log in)
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
พระเรวตขทิรวนิยเถระ (เอตทัคคะ)
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
:: ลานธรรมจักร ::
»
ประวัติพระอสีติมหาสาวก
ผู้ตั้ง
ข้อความ
admin
บัวทอง
เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886
ตอบเมื่อ: 04 ก.ย. 2006, 4:09 pm
พระเรวตขทิรวนิยเถระ
เอตทัคคะในทางผู้อยู่ป่าเป็นวัตร
พระเถระที่ชื่อ เรวตะ นี้ในพระบาลีมีอยู่ ๒ รูป คือ
๑. พระกังขาเรวตะ เอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้ยินดีในฌาน และ
๒. พระเรวตขทิรวนิยเถระ เอตทัคคะมหาสาวกเลิศทางผู้อยู่ป่าเป็นวัตร
ประวัติในตอนนี้เป็นเรื่องของพระเรวตขทิรวนิยเถระรูปนี้ ได้บำเพ็ญบุญสมภารไว้ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแห่งพระนิพพานในภพนั้นๆ ไว้เป็นอันมาก และการที่พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งท่านให้เป็นเอตทัคคะเช่นนั้น นอกจากเหตุที่ ท่านมิได้อยู่ป่าเหมือนอย่างพระเถระเหล่าอื่น ซึ่งเมื่อจะอยู่ในป่าก็ต้องเลือกป่า น้ำ และที่ภิกขาจารที่ถูกใจจึงอยู่ในป่า แต่ท่านไม่ยึดถือของที่ถูกใจเหล่านี้ อาศัยอยู่ในป่าตะเคียนที่เต็มไปด้วยก้อนกรวดและก้อนหินบนที่ดอน ฉะนั้น ท่านจึงชื่อว่า เป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้อยู่ป่าเป็นวัตร เท่านั้น แต่ยังเนื่องจากท่านได้ตั้งความปรารถนาไว้ตลอดแสนกัป อีกด้วย ตามเรื่องที่จะกล่าวตามลำดับดังต่อไปดังนี้
๐ บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า
แม้พระเถระนี้ ก็ได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ก่อสร้างบุญทั้งหลายอันเป็นอุปนิสัยแก่วิวัฏฏะไว้ในภพนั้นๆ ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลของนายท่าเรือในนครหังสวดี กระทำการงานเป็นนายเรืออยู่ที่ท่าเรือชื่อว่า ปยาคติตถะซึ่งเป็นท่าริมกระแสอันเชี่ยวของแม่น้ำคงคานั้น รับส่งบุคคลทั่วไปที่ประสงค์จะข้ามไปมาระหว่างฝั่งแม่น้ำนั้น วันหนึ่ง ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยหมู่สาวกเสด็จมายังฝั่งแม่น้ำเพื่อจะข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง ก็บังเกิดจิตเลื่อมใส จึงประกอบเรือขนานคือนำเรือสองลำมาผูกติดกันแล้วทำปะรำที่ทำไว้อย่างดีไว้บนเรือนั้น นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ประทับในปะรำบนเรือนั้นแล้วนำส่งพระพุทธองค์ให้ข้ามฟาก ขณะอยู่กลางลำน้ำ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า
ผู้ใดข้ามส่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสงฆ์ผู้ไม่มีอาสวะ ผู้นั้นจักรื่นรมย์อยู่ในเทวโลก ด้วยจิตอันเลื่อมใสนั้น วิมานอันสวยงามและมีสัณฐานดังเรือจักเกิดแก่ท่าน หลังคาดอกไม้จักกั้นอยู่บนอากาศทุกเมื่อ
ในกัปที่ ๕๘ ผู้นี้จักได้เป็นกษัตริย์ พระนามว่า ตารกะ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิทรงครอบครองแผ่นดิน มีสมุทร ๔ เป็นขอบเขต
ในกัปที่ ๕๓ จักได้เป็นกษัตริย์ พระนามว่า จัมมกะทรงพระกำลังมาก จักรุ่งเรือง ดังพระอาทิตย์อุทัยฉะนั้น
ในกัปที่แสน พระศาสดาทรงพระนามว่า โคดมโดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกากราชจักเสด็จอุบัติในโลก ผู้นี้เคลื่อนจากภพแล้ว จักมาเกิดเป็นมนุษย์มาเป็นบุตรแห่งพราหมณ์ มีนามชื่อว่าเรวตะ จักออกจากเรือนบวชในศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า หลังจากเขาบวชแล้ว จักประกอบความเพียรเจริญวิปัสสนา กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะ นิพพาน
ต่อมาวันหนึ่ง ในขณะที่อยู่ในพระวิหารเพื่อฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เห็นภิกษุรูปหนึ่งที่พระศาสดาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเลิศแห่งภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า จึงปรารถนาฐานันดรนั้นบ้าง จึงได้กระทำมหาทานถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์ แล้วแสดงความปรารถนานั้นไว้ต่อพระพุทธองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ว่า ความปรารถนาของเขาจักเป็นไปตามประสงค์
นับแต่นั้น เขาได้สั่งสมบุญทั้งหลาย ท่องเที่ยวไปในภูมิเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เสวยสมบัติทั้งสองอยู่
๐ กำเนิดเป็นเรวตะในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า
ในสมัยพระพุทธเจ้าของเรานี้ ท่านก็ได้มาปฏิสนธิในครรภ์ของนางสารีพราหมณีในบ้าน อุปติสสคาม ณ หมู่บ้านนาลกะ (นาลันทะ) ไม่ไกลกรุงราชคฤห์ บิดาคือ วังคันตพราหมณ์ มารดาคือ สารีพราหมณี ญาติทั้งหลายขนานนามท่านว่า เรวตะ เพราะเกิดในเรวดีฤกษ์ ท่านเป็นบุตรคนสุดท้องของนางพราหมณี มีพี่ชายคือ อุปติสสะ หรือต่อมาคือ พระสารีบุตร (ตามชื่อมารดา) พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระจุนทเถระ และพระอุปเสนเถระ (หรือในพระบาลีเป็น พระอุปเสนวังคันตบุตร ตามชื่อบิดา) ซึ่งต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแต่งตั้งให้เป็นเอตทัคคมหาสาวกผู้นำความเลื่อมใสมาโดยรอบ ท่านมีพี่สาว ๓ คน ชื่อ จาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา และหลานชายสามคนคือ จาลี อุปจาลี สีสูปจาลี ซึ่งเป็นบุตรของพี่สาวแต่ละคน ซึ่งต่อมาทั้งหมดได้บวชในพระธรรมวินัยทั้งหมด
มารดาของพระเถระคือนางรูปสารีนั้น ตามประวัติกล่าวว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้เป็นมารดาของพระอรหันต์ ๗ รูป ก็ไม่เลื่อมใส ในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
๐ พระสารีบุตรชวนพี่น้องบวช
ความพิสดารว่า ท่านพระสารีบุตร เมื่อได้ละทรัพย์ ๘๗ โกฏิบวชแล้ว ก็ได้ชักชวน น้องสาว ๓ คน คือนางจาลา นางอุปจาลา นางสีสุปจาลา และ น้องชาย ๒ คนนี้ คือ นายจุนทะ นายอุปเสนะ ให้บวชแล้วทั้งหมด คงไว้แต่เรวตกุมารผู้เดียวเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่แล้วในบ้าน ในครั้งนั้นมารดาของท่านคิดว่า อุปติสสะบุตรของเรา ละทรัพย์ประมาณเท่านี้บวชแล้วยังชักชวน น้องสาว ๓ คน น้องชาย ๒ คน ให้บวชอีกด้วย เรวตผู้เดียวเท่านั้นยังเหลืออยู่ ถ้าเธอจักชักชวนเรวตะนี้ให้ไปบวชอีกคนละก็ ทรัพย์ของเราก็จักฉิบหาย วงศ์สกุลก็จักขาดสูญ เราจักผูกมัดเรวตะนั้นไว้ด้วยการให้เขาแต่งงานเสียแต่ในเวลาที่เขาเป็นเด็กเถิด
ฝ่ายพระสารีบุตรเถระก็ได้สั่งภิกษุทั้งหลายไว้ก่อนทีเดียวว่า ผู้มีอายุ ถ้าเรวตะมาเพื่อประสงค์จะบวช ไซร้ พวกท่านจงให้เขาบวช เพราะมารดาของกระผมเป็นมิจฉาทิฏฐิ จะมีประโยชน์อะไรที่เรวตะจะบอกลาท่านทั้งสองนั้นเล่า ? ขอให้ถือว่าผมเองเป็นมารดาและบิดาของเรวตะนั้น
๐ มารดาบิดาให้เรวตะแต่งงาน
มารดาของพระสารีบุตรเถระนั้นเมื่อจะจัดการให้เรวตกุมารผู้มีอายุ ๗ ขวบอยู่ข้องเกี่ยวกับโลกนั้น จึงหมั้นเด็กหญิงที่มีชาติตระกูลเสมอกัน เมื่อถึงกำหนดวันวิวาห์แล้ว ก็ได้ประดับตกแต่งกุมาร แล้วพาไปสู่เรือนของญาติเด็กหญิง พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ลำดับนั้น เมื่อพวกญาติของทั้งสองผู้ทำการมงคลประชุมกันแล้ว พวกญาติได้ให้เขาทั้งสองจุ่มมือลงในถาดน้ำแล้ว กล่าวมงคลทั้งหลาย หวังความเจริญแก่เด็กหญิง จึงกล่าวว่า เจ้าจงอายุยาวนาน เหมือนยายของเจ้า นะแม่ เรวตกุมารจึงถามว่า คนไหนเป็นยายของหญิง ?
พวกญาติจึงได้บอกกะเขาว่า พ่อ คนนี้ มีอายุ ๑๒๐ ปีมีฟันหลุด ผมหงอก หนังหดเหี่ยว ตัวตกกระ หลังโกง เจ้าไม่เห็นหรือ ? นั่นเป็นยายของเด็กหญิงนั้น
เรวตะเห็นดังนั้นจึงถามว่า ก็แม้หญิงนี้ จักเป็นอย่างนั้นหรือ ?
พวกญาติก็ตอบว่า ถ้าเธออายุมากเช่นนั้น ก็จักเป็นอย่างนั้นแหละ
เรวตะคิดหาอุบายออกบวช
เรวตะนั้นคิดว่า ได้ยินว่า รูปสรีระนี้ก็จักมีหนังเหี่ยวโดยทำนองนี้ จักมีผมหงอก ฟันหักโดยทำนองนี้ เราจะยินดีในรูปเช่นนี้ไปทำไม เราจักไปตามทางที่อุปติสสพี่ชายของเราไปแล้วนั่นแหละ ควรที่เราจะหนีไปบวชเสียในวันนี้แหละ ทีนั้น พวกญาติอุ้มเขาขึ้นสู่ยานอันเดียวกันกับเด็กหญิงพาหลีกไปแล้ว เขาไปได้หน่อยหนึ่งอ้างการถ่ายอุจจาระ พูดว่า ท่านทั้งหลาย จงหยุดยานก่อน ฉันลงไปแล้วจักมา ดังนี้แล้ว ลงจากยานทำให้ชักช้านิดหน่อยหนึ่ง ที่พุ่มไม้พุ่มหนึ่งแล้วจึงได้ไป เขาไปได้หน่อยหนึ่งแล้ว ก็อ้างเช่นเดิมแล้วลงไปอีก
พวกญาติของเขาก็คิดว่า เรวตะนี้ หมั่นไปแท้ๆ จึงมิได้ทำการรักษาอย่างเข้มแข็ง เขาไปได้หน่อยหนึ่งก็ลงไปอีกด้วยการอ้างเช่นเดิมนั้นนั่นแหละแม้ แล้วพูดว่า พวกท่าน จงขับไปข้างหน้า ฉันจักค่อยๆ เดินมาข้างหลัง จึงลงไปแล้ว ได้บ่ายหน้าตรงไปยังพุ่มไม้
๐ เรวตะได้บรรพชา
พวกญาติของเขาก็ได้ขับยานไปด้วยสำคัญว่า เรวตะจักตามมาข้างหลัง ฝ่ายเรวตะนั้นหนีไปจากที่นั้นแล้ว ไปยังสำนักของภิกษุประมาณ ๓๐ รูป ซึ่งเป็นที่อยู่ของภิกษุผู้ถือบังสุกุลเป็นวัตรอยู่ในบริเวณหนึ่ง ไหว้พระเถระและเรียนว่า ท่านขอรับ ขอท่านทั้งหลายจงให้กระผมบวช
พวกภิกษุ : ผู้มีอายุ เธอประดับด้วยเครื่องอลังการพร้อมสรรพพวกข้าพเจ้าไม่ทราบว่า เธอเป็นพระราชโอรสหรือเป็นบุตรของอำมาตย์จักให้เธอบวชอย่างไรได้
เรวตะ : พวกท่านไม่รู้จักกระผมหรือ ? ขอรับ
พวกภิกษุ : ไม่รู้ ผู้มีอายุ
เรวตะ : กระผมเป็นน้องชายของอุปติสสะ
พวกภิกษุ : ชื่อว่าอุปติสสะนั่น คือใคร
เรวตะ : ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เรียกพี่ชายของกระผมว่า สารีบุตร เพราะฉะนั้น เมื่อกระผมเรียนว่า อุปติสสะ ท่านผู้เจริญทั้งหลายจึงไม่ทราบ
พวกภิกษุ : ก็เธอเป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระหรือ ?
เรวตะ : อย่างนั้น ขอรับ
ภิกษุเหล่านั้นกล่าวว่า ถ้ากระนั้น มาเถิด พี่ชายของเธออนุญาตไว้แล้วเหมือนกัน ดังนี้แล้ว ก็ให้เปลื้องเครื่องอาภรณ์ของเขาออกให้วางไว้ ณ ที่สุดแห่งหนึ่ง ให้เขาบวชแล้ว จึงส่งข่าวไปแก่พระเถระ
๐ เรวตสามเณรบรรลุพระอรหัต
ฝ่ายเรวตสามเณรคิดว่า ถ้าเราอยู่ในที่นี้ต่อไป พวกญาติก็คงติดตามมาเพื่อเรียกเรากลับ ดังนั้นจึงเรียนกัมมัฏฐานจากสำนักของภิกษุเหล่านั้น ถือบาตรแลจีวร เที่ยวจาริกไปถึงป่าไม้ตะเคียนในที่ประมาณ ๓๐ โยชน์จากสำนักนั้น บำเพ็ญสมณธรรม เมื่อท่านเพียรพยายามอยู่ด้วยตั้งใจว่า ถ้าเรายังไม่บรรลุพระอรหัต ก็จักไม่ไปเฝ้าพระทศพลหรือพระเถระพี่ชาย เวลาล่วงไป ๓ เดือน ในระยะแรก ด้วยความที่เป็นผู้สุขุมาลชาติ แต่ต้องมาบริโภคโภชนะอันปอน จิตก็ไม่ประณีต ไม่ก้าวหน้าในพระกัมมัฎฐาน ครั้นล่วงไป ๓ เดือน ปวารณาออกพรรษาแล้วท่านก็บำเพ็ญสมณธรรมในที่นั้นต่อไป เมื่อท่านเพียรบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ จิตก็มีอารมณ์เป็นอันเดียวแล้ว ท่านเจริญวิปัสสนาแล้วบรรลุพระอรหัตในระหว่าง ๓ เดือนภายในพรรษานั่นแล บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย
การที่ท่านได้พักอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียนนั่นเอง จึงเป็นเหตุให้ท่านได้ชื่อว่า พระเรวต ขทิรวนิยเถระ เพราะ ขทิระ แปลว่า ต้นตะเคียน วินยะ แปลว่า อยู่ป่า
๐ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปเยี่ยม
ครั้งนั้น พระสารีบุตร เมื่อได้ทราบข่าวการบวชของท่านเรวัตตะ จึงได้กราบทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นัยว่า พระเรวตะผู้เป็นน้องชายของข้าพระองค์บวชแล้ว ข้าพระองค์จักไปเยี่ยมเธอ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบว่าพระเรวตะเพิ่งจะเริ่มทำความเพียรเจริญวิปัสสนา จึงทรงห้ามพระสารีบุตรถึง ๒ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ เมื่อพระสารีบุตรทูลอ้อนวอนอีก ทรงทราบว่า พระเรวตะได้บรรลุพระอรหัตแล้วจึงตรัสว่า สารีบุตร แม้เราเองก็จักไป เธอจงบอกให้พวกภิกษุได้ทราบด้วย
พระเถระสั่งให้ภิกษุทั้งหลายมาประชุมกันแล้ว แจ้งให้ภิกษุทั้งหมดได้ทราบด้วยคำว่า ผู้มีอายุทั้งหลาย พระศาสดา ทรงมีพระประสงค์จะเสด็จไปสู่ที่จาริก พวกท่านผู้มีความประสงค์จะตามเสด็จด้วย ก็จงมาเถิด ในกาลที่พระทศพลจะเสด็จไปสู่ที่จากริก ชื่อว่าพวกภิกษุผู้ที่ไม่ประสงค์จะติดตามไปมีจำนวนน้อย พวกภิกษุโดยมากมีความประสงค์จะตามเสด็จด้วยเพราะตั้งใจกันว่าพวกเราจักได้เห็นพระสรีระอันมีวรรณะดุจทองคำของพระศาสดา หรือว่าพวกเราจักได้ฟังพระธรรมกถาอันไพเราะ เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงเสด็จออกไปด้วยพระประสงค์ว่า จักเยี่ยมพระเรวตะ โดยมีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร
๐ พวกภิกษุอาศัยบุญของพระสีวลี
ในเวลาเสด็จไปหน่อยหนึ่ง มาถึงหนทาง ๒ แพร่ง พระอานนเถระจึงกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญตรงนี้มีหนทาง ๒ แพร่ง ภิกษุสงฆ์จะไปทางไหน พระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสถามว่า อานนท์หนทางไหน เป็นหนทางตรง พระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญหนทางตรงมีระยะประมาณ ๓๐ โยชน์ เป็นหนทางที่มีอมนุษย์ ส่วนหนทางอ้อมมีระยะทาง ๖๐ โยชน์ เป็นหนทางสะดวกปลอดภัย มีภิกษาดีหาง่าย พระศาสดาตรัสว่า อานนท์ สีวลีได้มาพร้อมกับพวกเรามิใช่หรือ พระอานนท์กราบทูลว่า ใช่ พระสีวลีมาแล้วพระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นพระสงฆ์จงไปตามเส้นทางตรงนั้นแหละ เราจักได้ทดลองบุญของพระสีวลี พระศาสดามีพระภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร เสด็จขึ้นสู่เส้นทาง ๓๐ โยชน์ เพื่อจะทรงทดลองบุญของพระสีวลีเถระ
เมื่อพระศาสดาทรงดำเนินไปทางนั้น พวกเทวดาคิดว่า พวกเราจักทำสักการะแก่พระสีวลีเถระ พระผู้เป็นเจ้าของเรา ให้สร้างวิหารในที่โยชน์หนึ่งๆ ไม่ให้เกินไปกว่าโยชน์หนึ่ง ลุกขึ้นแต่เช้าเทียวถือเอาวัตถุมีข้าวต้มเป็นต้นอันเป็นทิพย์แล้วเที่ยวไปด้วยตั้งใจว่า พระสีวลีเถระผู้เป็นเจ้าของเรา นั่งอยู่ที่ไหน ?
พระเถระให้เทวดาถวายภัตที่นำมาเพื่อตน แก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระศาสดาพร้อมทั้งบริวารเสวยบุญของพระสีวลีเถระผู้เดียว ได้เสด็จไปตลอดทางกันดารประมาณ ๓๐ โยชน์
จำเดิมแต่ที่ได้เสด็จไปตามหนทาง หมู่เทวดาได้เนรมิตวิหารในที่ทุกๆ โยชน์ ช่วยกันจัดแจงพระวิหารเพื่อเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์และเป็นที่อยู่ของภิกษุสงฆ์ พวกเทวดาทั้งหลายได้ถือเอาข้าวยาคูและของเคี้ยวเป็นต้น เที่ยวเดินหาและถามกันอยู่ว่า พระผู้เป็นเจ้าสีวลีของพวกเราไปไหน ดังนี้แล้ว จึงไป พระเถระให้ช่วยกันถือเอาสักการะและสัมมมานะแล้วไปเฝ้าพระศาสดา พระศาสดาได้ทรงเสวยร่วมกับภิกษุสงฆ์ โดยทำนองนี้แหละ พระศาสดาเมื่อจะทรงเสวยสักการะ เสด็จไปวันละโยชน์เป็นอย่างสูง จนล่วงพ้นหนทางกันดาร ๓๐ โยชน์ เสด็จถึงที่อยู่ของพระขทิรวนิยเรวตเถระแล้ว
ฝ่ายพระเรวตเถระ ทราบการเสด็จมาของพระศาสดา จึงนิรมิตพระคันธกุฎีเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า นิรมิตวิหาร ที่จงกรม และที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันจำนวนเพียงพอแก่ภิกษุสงฆ์ ณ ที่อยู่ของตนนั่นแหละ แล้วออกไปทำการต้อนรับพระตถาคตเจ้า พระศาสดาเสด็จเข้าไปยังพระวิหารตามหนทางที่ประดับตกแต่งแล้ว ครั้นเมื่อพระตถาคต เสด็จเข้าไปยังพระคันธกุฎีแล้ว พวกภิกษุจึงค่อยเข้าไปยังเสนาสนะที่ถึงแล้วตามลำดับพรรษา พวกเทวดาคิดว่า เวลานี้มิใช่เวลาอาหาร จึงได้นำเอาน้ำปานะ ๘ อย่างถวายพระศาสดา ทรงดื่มน้ำปานะร่วมกับภิกษุสงฆ์ เมื่อพระตถาคตเสวยสักการะและสัมมานะโดยทำนองนี้นั่นแหละ เวลาผ่านไปแล้วครึ่งเดือน
ก็บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุแก่ ๒ รูป ในเวลาพระศาสดาเสด็จเข้าไปสู่ป่าไม้ตะเคียน คิดแล้วอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้ทำการก่อสร้างได้ยิ่งใหญ่ถึงเพียงนี้ จะทำสมณธรรมได้อย่างไร ? พระศาสดาทรงเห็นแก่หน้าว่าเป็นน้องชายของพระสารีบุตร จึงเสด็จมาสู่สำนักของเธอ
ลำดับนั้น พระศาสดาทรงดำริว่า เมื่อเราอยู่ในที่นี้นานไป สถานที่นี้จักกลายเป็นที่ไม่สงบไป ธรรมดาพวกภิกษุผู้อยู่ในป่า ต้องการความสงบเงียบมีอยู่ การอยู่ด้วยความผาสุกจักไม่มีแก่พระเรวตะแน่ แต่นั้นก็เสด็จไปสู่ที่พักกลางวันของพระเถระ แม้พระเถระก็อยู่เพียงผู้เดียวอาศัยแผ่นกระดานพาดยึดที่ท้ายจงกรม นั่งบนหลังแผ่นหินแล้วได้มองเห็นพระศาสดา เสด็จมาแต่ไกลเทียว จึงลุกขึ้นต้อนรับแล้ว
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสถามเธอว่า เรวตะ สถานที่นี้เป็นที่มีสัตว์อันตราย เธอได้ฟังเสียงช้างม้าเป็นต้นที่ดุร้ายแล้ว จะทำอย่างไร ? พระเถระกราบทูลว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมดาว่าความยินดีในการอยู่ป่า บังเกิดขึ้นแล้วแก่ข้าพระองค์ ก็เพราะได้ฟังเสียงของสัตว์เหล่านั้นแล ณ สถานที่นั้นพระศาสดาได้ตรัสถึงชื่อว่า อานิสงส์ในการอยู่ป่า ด้วยพระคาถา ๕๐๐ คาถาแด่พระเรวตเถระ
๐ พระศาสดาทรงอธิษฐานให้ภิกษุลืมบริขาร
วันรุ่งขึ้นเสด็จไปบิณฑบาตในสถานที่ไม่ไกล ตรัสเรียกพระเรวตเถระมาแล้ว ได้ทรงบันดาลให้ภิกษุผู้ที่กล่าวโทษพระเถระให้หลงลืมไม้เท้า รองเท้า ทะนานน้ำมันและร่มแล้วจึงเสด็จออกไป ครั้นเมื่อเวลาเสด็จออกไปภายนอกแต่อุปจารวิหารแล้วจึงทรงคลายพระฤทธิ์พวกภิกษุเหล่านั้นจึงนึกขึ้นได้ว่าตนลืมบริขาร จึงพากันกลับมาเพื่อนำบริขารของตนไป แม้ภิกษุเหล่านั้นจะย้อนกลับไปตามเส้นทางที่มาแล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถจะจำสถานที่นั้นได้ เพราะเมื่อไปครั้งแรก ภิกษุเหล่านั้นเดินไปตามเส้นทางที่พระเรวตเนรมิตประดับตกแต่งไว้งดงาม ราบเรียบ
แต่วันนั้น กลับต้องเดินไปตามทางขรุขระ ในบางที่นั้นต้องนั่งยองๆ บางที่ต้องเดินเข่า ภิกษุเหล่านั้นพากันเดินเยียบย่ำกอไม้พุ่มไม้ และหนาม ไปถึงสถานที่ที่ตนเคยอยู่ จึงจำได้ว่าร่มของตนคล้องไว้ที่ตอตะเคียนตรงนั้น ตรงนั้น จำได้ว่ารองเท้าไม้และทะนานน้ำมันอยู่ตรงนั้น ในตอนนั้น ภิกษุเหล่านั้น จึงทราบว่า พระเรวตเถระนี้มีฤทธิ์ ได้เนรมิตสิ่งต่างๆ ทั้งหลายที่ตนพบมา จึงถือเอาบริขารของตนที่ลืมไว้ แล้วพากันพูดว่า สักการะเห็นปานนี้ ย่อมเป็นสักการะที่พระเถระจัดแจงไว้เพื่อรับรองพระทศพล ดังนี้แล้ว จึงได้พากันไป
๐ นางวิสาขาถามถึงที่อยู่ของเรวตะ
พระบรมศาสดาเสด็จเข้าไปสู่บุพพาราม ภิกษุเหล่านั้นจึงไปยังเรือนของนางวิสาขา ซึ่งได้ถวายภัตตาหารแต่พระภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นได้ดื่มข้าวต้มแล้วฉันของเคี้ยวแล้วนั่งอยู่ นางวิสาขาอุบาสิกาจึงเรียนถามพวกภิกษุพวกที่ล่วงหน้ามาก่อนเหล่าภิกษุที่ลืมบริขารนั้นว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สถานที่อยู่ของพระเรวตะเป็นที่น่าจับใจไหมหนอ ? พวกภิกษุกล่าวว่า ดูก่อนอุบาสิกา น่าจับใจ เสนาสนะนั้นมีส่วนเปรียบด้วยนันทวันและจิตตลดาวันแล
ต่อมานางวิสาขาก็ถามพวกภิกษุผู้หลงลืมบริขารแล้วตามมาภายหลังกว่าภิกษุเหล่านั้นบ้างว่า พระคุณเจ้าสถานที่อยู่ของพระเรวตะเป็นที่น่าพอใจไหม ? ภิกษุเหล่านั้นกลับตอบว่า อย่าถามเลย อุบาสิกา สถานที่นั้นเป็นที่ไม่สมควรจะกล่าว สถานที่อยู่ของพระเรวตะนั้นอยู่ในสถานที่ซึ่งมีแต่ที่แห้งแล้ง ก้อนกรวด ก้อนหิน ขรุขระและตอไม้เท่านั้นแล
นางวิสาขา ได้ฟังถ้อยคำของพวกภิกษุผู้มาก่อนและมาหลังแล้ว คิดว่าถ้อยคำของภิกษุพวกไหนหนอเป็นความจริง จึงถือเอาของหอมและดอกไม้ไปเข้าเฝ้าพระทศพลเจ้า ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สมควรข้างหนึ่ง กราบทูลถามพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญภิกษุบางพวกพากันนินทาที่อยู่ของพระเรวตเถระ สถานที่อยู่นั่นเป็นอย่างไรพระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนวิสาขา ที่อยู่จะเป็นสถานที่อยู่รื่นรมย์หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ว่า จิตของพระอริยะทั้งหลายย่อมยินดีในสถานที่ใด สถานที่นั้นนั่นแหละชื่อว่าสถานที่รื่นรมย์ใจ ดังนี้แล้วจึงตรัสพระคาถานี้ว่า :
พระอรหันต์อยู่ในที่ใด จะเป็นบ้านก็ตาม
ป่าก็ตาม ที่ลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม ที่นั้นย่อม
เป็นภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ใจ
๐ พวกภิกษุชมเชยบุญของเรวตะ
วันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า แม้สามเณรผู้เดียวทำเรือนยอด ๕๐๐ หลัง เพื่อภิกษุ ๕๐๐ รูป มีลาภ มีบุญ น่าชมจริงพระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยถ้อยคำอะไรหนอ ? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ด้วยถ้อยคำข้อนี้พระเจ้าข้า ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเราไม่มีบุญ ไม่มีบาป เพราะ บุญและบาปทั้งสองเธอสละเสียแล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ ในพราหมณวรรค ว่า :
บุคคลใดในโลกนี้ ล่วงเครื่องข้อง ๒ อย่างคือ บุญและบาป
เราเรียกบุคคลนั้น ผู้ไม่โศก ปราศจากกิเลสเพียงดังธุลี ผู้หมดจดว่า เป็นพราหมณ์
๐ พระเรวตเถระอุปการะหลาน
ในกาลต่อมา พระเถระนั้นไปยังบ้านเกิดของตน นำหลาน ๓ คนคือนายจาลา นายอุปจาลา และนายสีสุปจาลา ซึ่งเป็นบุตรของน้องสาว ๓ นาง คือนางจาลา นางอุปจาลา และนางสีสุปจาลา มาให้บวชแล้วแนะนำกรรมฐานให้ หลานๆ เหล่านั้น ขวนขวายประกอบตามพระกรรมฐานอยู่
ก็สมัยนั้น อาพาธบางอย่างเกิดขึ้นแก่พระเถระ พระสารีบุตรเถระได้ฟังดังนั้นจึงเข้าไปหาด้วยหวังใจว่า จักทำการถามถึงความป่วยไข้และถามถึงการบรรลุมรรคผลของพระเรวตะ พระเรวตะเถระเห็นพระธรรมเสนาบดีเดินมาแต่ไกล เมื่อจะโอวาทโดยการทำสติให้เกิดขึ้นแก่สามเณรทั้ง ๓ เหล่านั้น จึงได้กล่าวว่า เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีสติอยู่เถิด ดังนี้ แล้วกล่าวเหตุในการเรียกมานั้นว่า พระเถระผู้เป็นลุงของพวกท่านประหนึ่งนักแม่นธนู เดินมาแล้ว ซึ่งคำที่ท่านเตือนหลานทั้งสามมีความหมายดังนี้
พระเถระซึ่งเป็นลุงของพวกท่านนั้น เป็นเสมือนนักแม่นธนู เพราะมีปัญญากล้า ปัญญาไว และมีปัญญาชำแรกกิเลส กำลังมาถึงแล้ว เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลาย จงตั้งอยู่ในสมณสัญญา คือจงเป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะอยู่เถิด คือจงเป็นผู้ไม่ประมาทในธรรมเครื่องอยู่ตามที่ได้บรรลุแล้วเถิด
สามเณรเหล่านั้นได้ฟังดังนั้น จึงกระทำวัตรมีการต้อนรับเป็นต้นแก่พระธรรมเสนาบดี แล้วนั่งเข้าสมาธิอยู่ในที่ไม่ไกลเกินไป ในเวลาที่พระเถระผู้เป็นลุงทั้งสองปฏิสันถารกัน พระธรรมเสนาบดีกระทำปฏิสันถารกับพระเรวตเถระแล้ว ลุกจากอาสนะเข้าไปหาสามเณรเหล่านั้น เมื่อพระธรรมเสนาบดีเข้าไปหา สามเณรเหล่านั้นได้ลุกขึ้นไหว้แล้วยืนอยู่ พระธรรมเสนาบดีถามว่า พวกเธออยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อย่างไหน ? เมื่อสามเณรเหล่านั้นบอกให้ทราบแล้ว พระธรรมเสนาบดีจึงสรรเสริญพระเถระว่า น้องชายของเรามีปกติกล่าวคำสัจจริงถึงผู้มีปกติประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ดังนี้แล้วหลีกไป
๐ พระเถระโปรดนางสุภัททา
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้กรุงสาวัตถี ก็สมัยนั้น กุฏุมพีคนหนึ่งเป็นอุปัฏฐากของท่านพระเรวตเถระ จากนาลกคาม ได้มีธิดาสองคน คนหนึ่งชื่อ ภัททา อีกคนหนึ่งชื่อ สุภัททา ในธิดาสองคนนั้น นางภัททาไปสู่ตระกูลสามี นางมีศรัทธาเลื่อมใสฉลาด และเป็นหมัน นางภัททาพูดกะสามีว่าฉันมีน้องสาวอยู่คนหนึ่ง ชื่อสุภัททา พี่ไปนำเขามาเถิด หากน้องสุภัททานั้นพึงมีบุตร บุตรนั้นก็จะเป็นบุตรของฉันด้วย และวงศ์ตระกูลนี้ก็จะไม่สูญ สามีรับคำได้ทำตามที่ภรรยาบอก
จึงนางภัททาได้สอนนางสุภัททาว่า น้องสุภัททา น้องต้องยินดีในการแจกทาน ไม่ประมาทในการประพฤติธรรม ด้วยอาการอย่างนี้ประโยชน์ในปัจจุบันและสัมปรายภพ ก็จะอยู่ในเงื้อมมือของน้องแน่นอน นางสุภัททาตั้งอยู่ในโอวาทของพี่สาว ปฏิบัติตามที่พี่สาวสอน วันหนึ่งนางนิมนต์ท่านพระเรวตเถระ เป็นรูปที่ ๘ พระเถระหวังให้นางสุภัททาสร้างสมบุญจึงพาภิกษุ ๗ รูป โดยเป็นองค์สงฆ์ ไปเรือนของนาง นางสุภัททามีจิตเลื่อมใส อังคาสท่านพระเรวตเถระและภิกษุเหล่านั้นด้วยของเคี้ยว ของบริโภคด้วยน้ำมือของตนเอง พระเถระทำอนุโมทนาแล้วกลับ
ครั้นต่อมา นางสุภัททาถึงแก่กรรมไปเกิดเป็นสหายกับเทวดาชั้นนิมมานรดี ส่วนนางภัททาได้ให้ทานในบุคคลทั้งหลาย แล้วก็ไปเกิดเป็นบริจาริกาของท้าวสักกะจอมเทพ ครั้งนั้น นางสุภัททาพิจารณาถึงสมบัติของตนครุ่นคิดอยู่ว่า เรามาเกิดในสวรรค์นี้ด้วยบุญอะไรหนอ จึงเห็นว่า เราตั้งอยู่ในโอวาทของพี่ภัททา จึงประสบสมบัตินี้ด้วยทักษิณที่มุ่งไปในสงฆ์ พี่ภัททาไปเกิดที่ไหนหนอ ได้เห็นนางภัททานั้นไปเกิดเป็นบริจาริกาของท้าวสักกะ จึงหวังจะอนุเคราะห์ ได้เข้าไปยังวิมานของนางภัททาเทพธิดา
นางภัททาเทพธิดา จึงถามนางสุภัททาเทพธิดาว่า
ท่านรุ่งเรืองด้วยรัศมี ทั้งเป็นผู้เรืองยศ ย่อมรุ่งโรจน์เกินทวยเทพชั้นดาวดึงส์ทั้งหมดด้วยรัศมี ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นท่าน เพิ่งจะมาเห็นในวันนี้ เป็นครั้งแรก ท่านมาจากเทวโลกชั้นไหน จึงได้เรียกข้าพเจ้าโดยชื่อเดิมว่า ภัททา ดังนี้เล่า
นางสุภัททาเทพธิดาจึงบอกแก่นางภัททาเทพธิดาว่า
พี่ภัททา น้องชื่อสุภัททา ในภพครั้งยังเป็นมนุษย์อยู่ น้องได้เป็นน้องสาวของพี่ ทั้งได้เป็นภรรยาร่วมสามีกันกับพี่ด้วย น้องตายจากมนุษยโลกนั้นมาแล้ว ได้มาเกิดเป็นเทพธิดา ร่วมกับเทวดาชั้นนิมมานรดี
นางภัททาเทพธิดา จึงถามต่อไปว่า แม่สุภัททา เธอจงบอกถึงการอุบัติของเธอในหมู่เทพเจ้าเหล่านิมมานรดี ซึ่งเป็นที่ที่สัตว์ทั้งหลายต้องสั่งสมบุญไว้อย่างเพียงพอ จึงจะมาบังเกิดได้ เธอได้มาบังเกิดในที่นี้เพราะทำบุญสิ่งใดไว้ และใครเป็นผู้สั่งสอนให้ทำเช่นนั้น เธอเป็นผู้รุ่งเรืองยศ และถึงความสุขพิเศษไพบูลย์ถึงเช่นนี้ เพราะได้ให้ทานและรักษาศีลเช่นไรไว้ แม่เทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว นี่เป็นผลแห่งกรรมอะไร โปรดบอกฉันด้วย
นางสุภัททาเทพธิดาตอบว่า เมื่อชาติก่อน ฉันมีใจเลื่อมใส ได้ถวายบิณฑบาตร ๘ ที่ แก่สงฆ์ผู้เป็นทักขิไณยบุคคล ๘ รูป ด้วยมือของตนเอง เพราะบุญกรรมนั้น ดีฉันจึงมีวรรณะงานเช่นนี้ ฯลฯ และมีรัศมีสว่างไสวไปทั่วทุกทิศ
เมื่อนางสุภัททาเทพธิดา บอกอย่างนี้แล้ว นางภัททาเทพธิดา จึงถามต่อไปว่า
พี่ได้อังคาสภิกษุทั้งหลาย ผู้สำรวม ประพฤติพรหมจรรย์ ด้วยข้าวและน้ำ ด้วยมือของตนเองมากกว่าเธอ ครั้นถวายทานมากกว่าเธอแล้ว ก็ยังเกิดในเหล่าเทพเจ้าต่ำกว่าเธอ ส่วนเธอได้ถวายเพียงเล็กน้อย ทำไมจึงได้รับผลวิเศษไพบูลย์เช่นนี้เล่าดูก่อนเทพธิดา ฉันถามเธอแล้ว จงบอกว่านี่เป็นผลกรรมอะไร
นางสุภัททาได้บอกถึงกรรมที่ตนทำต่อไปว่า
เมื่อชาติก่อน ฉันได้เห็นภิกษุผู้อบรมจิตใจจึงได้นิมนต์ท่านรวม ๘ รูป มีพระเรวตเถระเป็นประธานด้วยภัตตาหาร พระเรวตเถระมุ่งจะให้เกิดประโยชน์ เพื่ออนุเคราะห์แก่ฉัน จึงบอกฉันว่า ดูก่อนสุภัททา หากว่าท่านประสงฆ์จะถวายทานแก่ภิกษุ ๘ รูปไซร้ เพราะการถวายทานที่เป็นไปในสงฆ์มีผลมากกว่าการถวายทานที่เป็นไปในบุคคล ฉะนั้น ท่านจงถวายทานในสงฆ์เถิด จงถวายทานเฉพาะสงฆ์เถิด ดังนี้ ฉันได้ทำตามคำของท่าน ทักขิณานั้นจึงเป็นสังฆทานอันตั้งไว้ ในสงฆ์ซึ่งหาประมาณมิได้ ส่วนทานที่พี่ได้ถวายแก่ภิกษุเป็นรายบุคคล จึงมีผลไม่มาก
เมื่อนางสุภัททาเทพธิดากล่าวอย่างนี้แล้ว นางภัททาเทพธิดา เมื่อจะรับรองความข้อนั้น และประสงค์จะปฏิบัติอย่างนั้นให้ยิ่งๆ ขึ้น จึงกล่าวคาถาว่า
พี่เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่า การถวายสังฆทานมีผลมากหากพี่ไปเกิดเป็นมนุษย์อีก จักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอ จักเป็นผู้ปราศจากความตระหนี่ ถวายสังฆทานและไม่ประมาทเป็นนิจ
ส่วนนางสุภัททาเทพธิดาก็กลับไปสู่เทวโลกของตน
๐ ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ
ครั้นท่านได้เป็นพระอรหันต์แล้ว เพื่อจะถวายบังคมพระศาสดาและไหว้พระธรรมเสนาบดี จึงเก็บงำเสนาสนะแล้วถือบาตรจีวรออกไป ถึงเมืองสาวัตถีโดยลำดับ จึงเข้าไปยังพระเชตวัน ๒-๓ วัน ลำดับนั้น พระศาสดาประทับนั่งในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้า ประทานพระดำรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรวตะนี้เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเราผู้อยู่ป่าเป็นวัตร
แล้วท่านก็กลับมาป่าไม้ตะเคียนนั่นแล ยับยั้งอยู่ด้วยสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติ และด้วยพรหมวิหารธรรม
๐ พระเถระถูกกล่าวหาว่าเป็นโจร
เมื่อกาลเวลาล่วงไป วันหนึ่งท่านเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ซึ่งทรงพักอยู่ในที่ไม่ไกลจากกรุงสาวัตถี ในระหว่างทาง ก็เกิดโจรกระทำการปล้นในพระนคร ได้ทรัพย์แล้วกะพากันหนีมาทางที่พระเถระอยู่ เหล่าชนเจ้าของทรัพย์ ราชบุรุษและพระราชาก็พากันไล่ติดตาม พวกโจรเห็นจวนตัวจึงได้ทิ้งห่อทรัพย์ไว้ในที่ใกล้พระเถระ ผู้ที่ติดตามเห็นห่อทรัพย์ที่ตกอยู่ในที่ใกล้พระเถระ จึงได้จับตัวท่านไปด้วยเข้าใจว่าท่านเป็นโจร เมื่อชนเหล่านั้นพาท่านมาแสดงต่อพระราชาแล้วทูลว่า ผู้นี้เป็นโจรพระเจ้าข้า พระราชารับสั่งให้ปล่อยพระเถระแล้วตรัสถามว่า ท่านขอรับ ท่านกระทำโจรกรรมนี้หรือไม่ ? พระเถระเพื่อจะประกาศกรรมเช่นนั้น ที่ตนไม่เคยกระทำตั้งแต่เกิดมา เพราะตัดกิเลสได้เด็ดขาด และไม่ควรกระทำในกรรมเช่นนั้น เมื่อจะแสดงธรรมแก่พระราชา จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า
นับแต่เราออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว ไม่รู้สึกถึงความดำริอันไม่ประเสริฐประกอบด้วยโทษเลย
ในระยะกาลนานที่เราบวชอยู่นี้ เราไม่รู้สึกถึงความดำริว่า ขอให้สัตว์เหล่านั้น จงถูกฆ่า ถูกเขาเบียดเบียน จงได้รับทุกข์
เรารู้สึกแต่การเจริญเมตตาอันหาประมาณมิได้ อบรมสั่งสมดีแล้วโดยลำดับ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว
เราได้เป็นมิตรเป็นสหายของสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้อนุเคราะห์สัตว์ทั้งปวง ยินดีแล้วในการไม่เบียดเบียน เจริญเมตตาจิตอยู่ทุกเมื่อ
เรายังจิตอันไม่ง่อนแง่นไม่กำเริบให้บันเทิงอยู่ เจริญพรหมวิหาร อันบุรุษผู้เลวทรามไม่ซ่องเสพ
สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เข้าทุติยฌานอันไม่มีวิตกวิจารประกอบด้วยความเป็นผู้นิ่งเป็นอริยะ โดยแท้จริง
ภูเขาศิลาล้วนไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่คงที่ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้น ย่อมไม่หวั่นไหวดุจบรรพตเพราะสิ้นโมหะ
ความชั่วแม้มีประมาณเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏเหมือนประมาณเท่าหมอกเมฆ แก่ท่านผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ผู้แสวงหาความสะอาดเป็นนิตย์
เมืองหน้าด่านเป็นเมืองอันเขาคุ้มครองแล้วทั้งภายในและภายนอก ฉันใด ท่านทั้งหลายจงคุ้มครองตนฉันนั้นเถิด ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
เราไม่ยินดีต่อความตาย ไม่เพลิดเพลินต่อความเป็นอยู่ แต่เรารอเวลาตาย เหมือนลูกจ้างคอยให้หมดเวลาทำงานฉะนั้น เราไม่ยินดีความตาย ไม่เพลิดเพลินความเป็นอยู่ แต่เรามีสติสัมปชัญญะ รอท่าเวลาตาย
พระศาสดา เราคุ้นเคยแล้ว เราทำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว ปลงภาระอันหนักลงแล้วถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพแล้ว ได้บรรลุถึงประโยชน์ที่กุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตต้องการแล้ว บรรลุถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง
ครั้นท่านพระเถระได้กล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านก็เห็นกาลปรินิพพานแห่งตนปรากฏขึ้นในจิต จึงให้โอวาทแก่พวกเหล่านั้นโดยสังเขปนั่นแล เมื่อจะประกาศพระนิพพานจึงกล่าวคาถาสุดท้าย
เธอทั้งหลายจงยังสิกขา ๓ มีทานและศีลเป็นต้น ที่ควรให้ถึงพร้อม ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด จงเป็นผู้ไม่ประมาทในการตามรักษาศีลอันเป็นไปแก่คฤหัสถ์ อันต่างด้วยประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในเบื้องหน้า ในการตามประกอบสมณะ และวิปัสสนาภาวนา ท่านทั้งหลายจงไม่ประมาทในทานและศีลเป็นต้น นี้เป็นคำพร่ำสอน คือเป็นโอวาทของเรา
ครั้นแสดงข้อปฏิบัติอันเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างนี้แล้ว เมื่อจะถือเอาที่สุดแห่งข้อปฏิบัติอันเป็นประโยชน์ตน จึงกล่าวว่า
เอาเถอะ เราจักปรินิพพาน เราเป็นผู้หลุดพ้นแล้วในที่ทุกสถาน
เราเป็นผู้หลุดพ้นแล้วจากกิเลสและภพทั้งหลาย โดยประการทั้งปวง เพราะเหตุนั้น เราจักปรินิพพานโดยส่วนเดียวฉะนี้แล
ก็แล ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว นั่งขัดสมาธิเข้าฌานมีเตโชธาตุเป็นอารมณ์ เมื่อไฟลุกโพลงอยู่ ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
.............................................................
คัดลอกมาจาก ::
http://www.dharma-gateway.com/
http://www.manager.co.th/Dhamma/
_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:
แสดงทั้งหมด
1 วัน
7 วัน
2 สัปดาห์
1 เดือน
3 เดือน
6 เดือน
1 ปี
เรียงจากเก่า-ใหม่
เรียงจากใหม่-เก่า
:: ลานธรรมจักร ::
»
ประวัติพระอสีติมหาสาวก
ไปที่:
เลือกกลุ่ม บอร์ด
กลุ่มสนทนา
----------------
สนทนาธรรมทั่วไป
แนะนำตัว
กฎแห่งกรรม
สมาธิ
ฝึกสติ
การสวดมนต์
การรักษาศีล-การบวช
ความรัก-ผูกพัน-พลัดพลาก
กลุ่มข่าวสาร-ติดต่อ
----------------
ข่าวประชาสัมพันธ์
ธรรมทาน
รูปภาพ-ประมวลภาพกิจกรรมต่างๆ
สำหรับนักเรียน นักศึกษา ขอความรู้ทำรายงาน
แจ้งปัญหา
รูปภาพในบอร์ด
กลุ่มสาระธรรม
----------------
หนังสือธรรมะ
บทความธรรมะ
นิทาน-การ์ตูน
กวีธรรม
นานาสาระ
ต้นไม้ในพุทธประวัติ
วิทยุธรรมะ
ศาสนสถานและศาสนพิธี
----------------
สถานที่ปฏิบัติธรรม
วัดและศาสนสถาน
พิธีกรรมทางศาสนา
พุทธศาสนบุคคล
----------------
พระพุทธเจ้า
ประวัติพระอสีติมหาสาวก
ประวัติเอตทัคคะ (ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา)
สมเด็จพระสังฆราชไทย
ประวัติและปฏิปทาของครูบาอาจารย์
ในหลวงกับพระสุปฏิปันโน
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณ
ไม่สามารถ
สร้างหัวข้อใหม่
คุณ
ไม่สามารถ
พิมพ์ตอบ
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลบข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลงคะแนน
คุณ
สามารถ
แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ
สามารถ
ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
เลือกบอร์ด •
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทานธรรมะ
•
หนังสือธรรมะ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
สถานที่ปฏิบัติธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ
•
วิทยุธรรมะ
•
เสียงธรรม
•
เสียงสวดมนต์
•
ประวัติพระพุทธเจ้า
•
ประวัติมหาสาวก
•
ประวัติเอตทัคคะ
•
ประวัติพระสงฆ์
•
ธรรมทาน
•
แจ้งปัญหา
จัดทำโดย กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ
webmaster@dhammajak.net
Powered by
phpBB
© 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
www.Stats.in.th