Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เสียงปลุก (หลวงตาแพรเยื่อไม้) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 22 ต.ค.2004, 5:55 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เสียงปลุก
โดย หลวงตาแพรเยื่อไม้


จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา


นำเรื่อง

เมื่อฟ้าไร้แสงเดือนตะวัน ดาวอันอาภัพแสงก็จะย่างเข้าเยือนเป็นเพื่อนทุกข์ แต่พอเดือนตะวันเข้าครองน่านฟ้า เจ้าดาวก็ถูกลืม แต่ถึงแม้ใครจะลืม ฟ้าจะมืดหรือสว่าง ดาวก็จะเฝ้าจ้องดูเขาอยู่ชั่วนิจนิรันดร์ โอ ! เหมือนตาพ่อตาแม่ไม่ผิดแล้ว

ยามมีคนฉอเลาะให้ชื่นใจ พ่อแม่ก็เหมือนดาวกลางแสงเดือนตะวัน เพียงได้รับคำข้าวที่คนถูกใจเขาประจงป้อนสักช้อนเดียวเท่านั้นก็พลันลืมทุกอย่าง แม้กระทั่งชื่อพ่อชื่อแม่ อนิจจาเอ๋ย! ทำไมไม่คิดบ้างว่ากว่าจะโตมารับป้อนจากผู้อื่นได้นั้น พ่อแม่ช่วยกันประจงป้อนมากี่พันกี่แสนช้อน แต่ถึงคราวสิ้นไร้, โผเข้ามาเถอะ ลูกเอ๋ย, เอ้า ! ร้องไห้อยู่กับอกแม่ตักพ่อนี่แหละ อย่ากระดากใจเลยว่า ครั้งหนึ่งเจ้าเคยลืมพ่อลืมแม่ เอ้า ! ร้องเข้าไป หากว่ามันจะช่วยให้หายทุกข์ได้ อกแม่ตักพ่อจะขอเป็นภาชนะรองน้ำแห่งความระทมทุกข์ให้แก่ลูก เอ้า ! ร้องเถิดเพราะน้ำตา เขาว่ามันเป็นสิ่งฟอกความโง่ของคนได้ดีนัก ร้องเถิดลูกเอ๋ย !

หมู่บ้านวิปโยค

ณ หมู่บ้าน ซึ่งตั้งอยู่ยังชานกรุงราชคฤห์ด้านทิศอุดร มีคฤหาสน์หลังหนึ่ง แลดูโอ่อ่าสง่างามกว่าอาคารบ้านเรือนหลังอื่นๆ บรรดาที่ได้ปลูกสร้างประกอบเป็นหมู่บ้านขึ้น เป็นเครื่องหมายแสดงถึงฐานะเจ้าของว่าเป็นคหบดีผู้มั่งคั่ง แม้ยามปกติ จะอบอุ่นพูนสุขอย่างไรก็ตาม สำหรับในกาละเวลาที่กล่าวถึงนี้แล้ว มันก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับแม้กระท่อม ของคนเข็ญใจ เพราะเหตุที่ทั้งหมู่บ้านโรคร้ายกำลังระบาด ล้างผลาญชีวิตไม่เลือกหน้า ว่าไพร่ผู้ดีมีหรือจน แม้กระทั่งเดียรัจฉานบรรยากาศของความเงียบงันแผ่คลุมไปทั่วดวงใจทุกดวงเต็มไปด้วยความวิปโยคและหวาด เศร้าสยอง !

ผู้เฒ่าผู้แก่ จะบอกแก่ลูกๆ หลานๆ ว่า เจ้าโรคปีศาจนี้มันจะเริ่มกวาดล้างชีวิตให้ล่วงลับราวกับใบไม้ถูกปลิดด้วยอำนาจมหาวาตะ นับแต่สัตว์เล็กๆ ดะขึ้นมา ไปถึงสุกรสุนัข แมวไก่ และโคกระบือแพะแกะตลอดจนถึงคน เริ่มที่คนใช้ชายหญิงก่อน ต่อแต่นั้นมันก็จู่จับเจ้าของบ้าน เรียกด้วยคำสามัญว่า โรคห่าลง

สำหรับมนุษย์นั้น จากจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นที่น่าสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คือมักจะเป็นผู้หญิงกับเด็กๆ เสียส่วนมาก ทั้งนี้ว่ากันว่า คนสองประเภทนี้ เป็นทาสของลิ้นกินจุกกินจิก จึงเป็นช่องทางให้เจ้าโรคห่ามีโอกาสแอบแฝงเข้าสู่ร่างได้มากกว่าคนประเภทอื่น เพราะเขาว่าเจ้านี่มันมักเข้าทางปาก

อาการขั้นแรกของมัน ผู้ป่วยจะเริ่มอาเจียน แล้วต่อแต่นั้นก็ถ่าย และถ่ายอย่างแรงเพียงสองครั้งเท่านั้น ผู้ป่วยก็สิ้นกำลัง และก็ถ่ายเรื่อยไป ซีดลงๆ แล้วก็สิ้นลม มันรวดเร็วมาก ราวกะพิษงูเข้าจับหัวใจ ฉะนั้นเขาจึงเรียกมันอีกอย่างหนึ่งว่าอหิวาต์ ลมงูพิษ ลงเป็นกับใครแล้วมีหวังรอดน้อยเหลือเกิน

ฉะนั้น ในหมู่บ้าน แถบชานนครราชคฤห์ที่กล่าวนี้ นับแต่โรคร้ายระบาดจึงกลายเป็นหมู่บ้านแห่งความวิปโยคไปทันที ดวงตะวันบนฟ้าที่สาดแสงลงมาก็ดูช่างจืดๆ เป็นสีเทาเหมือนจะพลบอยู่ตลอดวัน กระแสวาตะที่ซัดต้องยอดพฤกษ์นั้นเล่าก็ราวกับ จะเป็นสื่อประมวลเอาความรู้สึกของสรรพชีพไปสะอื้นให้เสียเอง ควันไฟที่ลอยม้วนต้วนจากห้องปรุงอาหาร จะผิดอะไรกับกลุ่มควันที่ลอยขึ้นจากเชิงตะกอน ? เออ เจ้าลั่นทมที่ชอบเกาะ ยืนต้นอยู่ตามชะง่อนหินชายธารน้ำนั่นสิ ! ช่างบานสะพรั่งขาวพรึ่บไปหมด แล้วก็โรยดอกลงมายังผิวลำธารเหมือนเจตนาจะให้เป็นหรีดมาลา หว่านลงบนสรีระที่สิ้นปราณ อยู่วันแล้วก็วันเล่าอนิจจา ! สกุณปักษาที่ถาร่อนอย่างไพเราะในยามปกติ ก็กลายเป็นสัญญาณที่ร้องเตือนให้คิดหวาดไปว่าเป็นเสียงจากปีศาจส่งมาล้อแลเยาะเย้ย ยิ่งเสียงหอนอันเยือกเย็นของสุนัขด้วยแล้ว มันเป็นดุจเสียงเรียกจากอเวจีมหานรกชัดๆ ทีเดียว

การอพยพหลบหนีมรณภัย ที่เป็นไปด้วยอาการหลบๆ ซ่อนๆ เพื่อไม่ให้เจ้าโรคปีศาจนี้ ติดตามร่องรอยถูกทิศทางคงมีอยู่เรื่อยๆ ทั้งหมู่บ้านเหลือผู้คนน้อยลงทุกวัน คนที่ไม่มีทรัพย์สมบัติเป็นหลักฐานปึกแผ่น กลับเป็นผู้ที่น่าจะขอบคุณชะตากรรม อันอาภัพคับแค้นของตนไปเสียแล้ว เพราะไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ในการจากสละละไป แต่สำหรับผู้ที่มั่งคั่งอยู่ด้วยโภคทรัพย์สิน กลับตกอยู่ในฐานะลำบาก เพราะทรัพย์สมบัติทั้งหลาย มันกลายมาเป็นโซ่เส้นใหญ่ผู้ล่ามไว้ด้วยความห่วงใย ยากที่จะตัดให้ขาดได้ , จึงมีอยู่บางคนที่ต้องจำทนอยู่รับรู้เห็นความวิบัติหายนะอย่างสยดสยองใจ วันแล้ววันเล่า กลางวันก็หวั่นผวาอยู่ด้วยเสียงนกกลางคืนก็ขนลุกขนพองอยู่ด้วยเสียงสุนัขซึ่งหอนอย่างวังเวงยะเยือกอยู่กลางแสงสลัวๆ ของดวงดาว รุ่งเช้าก็ต้องรับฟังว่า เมื่อคืนนี้ ชีวิตดับไปกี่ดวง ทั้งๆ ที่ไม่อยากจะรับรู้ อา ! นี่ไงล่ะ ! ที่คำพระท่านว่า “ธนํ ปาเท” ทรัพย์เป็นห่วงล่ามเท้า

พวกที่ไม่มีทรัพย์จะล่าม หรือไม่ยอมให้ทรัพย์ล่ามเพราะอำนาจที่เห็นว่าชีวิตสำคัญกว่า ก็พากันตะบึงไป ไปให้ไกล ให้สุดแรงแมลงวันจะบินถึง นั่นแหละจึงจะปลอดภัย เพราะเจ้าโรคห่านี้ เขาว่ามันอาศัยแมลงวันเป็นพาหะ

ณ เคหาสน์ที่กล่าวมาแต่ต้น เป็นตัวอย่างที่รับรองคำพระที่ว่า “ทรัพย์เป็นเครื่องล่าม” ได้อย่างดี เพราะท่านคหบดีเจ้าของเคหาสน์อันสง่างาม ทั้งสองสามีภรรยา ห่วงใยทรัพย์สมบัติมากกว่าชีวิตของตัวเอง จึงเลือกทางอยู่เฝ้าดูความย่อยยับของชีวิต ข้าทาสญาติมิตรและเพื่อนบ้านอย่างเอน็จอนาถ แต่แล้วตัวเองก็ไม่พ้นเอื้อมเงื้อมหัตถ์ของมัจจุราช ทั้งคู่ล้มป่วยลงในเวลาไล่เรี่ยกัน



(มีต่อ 1)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 22 ต.ค.2004, 5:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หากจะต้องการหาเรื่องพิสูจน์ความรักของมารดาบิดาที่มีต่อบุตร สักเรื่องหนึ่งให้เห็นได้ง่ายสักหน่อยก็น่าจะเลือกเอาเรื่องนี้

ท่านคหบดีสองสามีภรรยา มีบุตรชายอยู่คนหนึ่ง และทั้งยังเป็นสิ่งเดียวที่ทั้งสองทุ่มเทความหวังลงไปอย่างหมดหัวใจ ความเป็นเศรษฐีของท่านทั้งสองนี้ มิได้เป็นด้วยเพราะการรับมรดก แต่เป็นจากความเป็นคู่ผัวตัวเมียที่ยากจนมาก่อน ฉะนั้นทั้งคู่จึงรู้รสของความยากจนมาแล้วว่ามันขมขื่นเพียงไหน และไม่ปรารถนาที่จะลิ้มมันอีก ทรัพย์ทุกกหาปณะที่เขาได้ช่วยกันสะสมไว้ มันจึงเป็นเสมือนคะแนนของความเข็ดขยาดความยากจน, ๔๐ โกฏิเป็นจำนวนที่ทั้งคู่น่าจะนอนใจได้แล้วว่ามันจะเป็นหลักประกันไม่ให้กลับยากจนลงอีกได้ง่ายๆ แต่ท่านทั้งสองก็ไม่มีวันจะลืมอดีต จึงครองชีวิตอย่างสำนึกถึงการเริ่มต้นอยู่เสมอ และมีอีกคนหนึ่งที่ท่านทั้งสอง ไม่ต้องการให้ได้ลิ้มรสของชีวิตรสนี้ นั่นคือบุตรเขาช่วยกันเล่าถึงประวัติของทรัพย์ ๔๐ โกฏินี้ให้บุตรชายฟังเสมอๆ ว่ามันเป็นจำนวนที่เกิดขึ้นได้อย่างยากเข็ญเพียงไร เขาบอกกับบุตรว่า ทรัพย์จำนวนนี้แหละจะเป็นชีวิตดวงที่สองของมารดาบิดา ซึ่งจะอยู่บำรุงบุตรให้เป็นสุขต่อไป

ก็บัดนี้ โรคร้ายกำลังคุกคามย่ำยีชีวิตเขาทั้งสองอยู่เขาพากันแน่ใจว่า หมดหวังที่จะอยู่กับบุตรต่อไป แต่ก็เพียงกายเท่านั้นดอก ส่วนดวงใจอันมากอยู่ด้วยความรักในบุตร เจ้าโรคร้ายนี้ไม่อาจจะย่ำยีได้เลย แม้รู้ตัวว่ากำลังจะตาย ความหวังก็ยังไม่สิ้น บุตรถูกเรียกหาเขาผวาสู่ร่างบิดามารดาซึ่งนอนซมอยู่ไม่ห่างกัน แต่ก็ต้องชะงักหยุดเมื่อเห็นมารดาโบกมือขึ้นห้ามอย่างเพลียๆ

“อย่าเข้ามาลูก ! อย่าเข้ามาใกล้แม่ !” เสียงเครือแผ่วโผย

“แม่จ๋า” เจ้าหนูน้อยร้องออกมา ดวงตาดำขลับจ้องตื่นตระหนก

“ถอยออกไปห่างๆ ลูกเอ๋ย” คราวนี้เป็นเสียงพ่อร้องเตือนมา

“พ่อ” พ่อหนูเริ่มสะอื้นไห้ และถอยหลังอย่างว่าง่าย

ทั้งสองร้องห้าม ทั้งๆ ที่มีเรื่องสำคัญจะต้องบอกแก่บุตรก็เพราะเกรงโรคปีศาจนี้จะติดต่อลุกลามไปถึงบุตรเข้าด้วย ถ้าเป็นเช่นนั้น ? ก็ยิ่งร้ายกาจกว่าตนเองต้องตกเป็นเหยื่อของมันเสียอีก !

“โถ ลูกยังเล็กนัก !” เสียงภรรยารำพึงออกมา

“แต่เราก็คงไม่รอด” สามีตอบ “ทรัพย์ที่เราฝังไว้นั่นแหละจะอยู่ให้ความสุขแก่ลูก เมื่อเราสิ้นโอกาส แต่ก็เป็นสุขใจไม่ใช่หรือ ? เพราะเราทำหน้าที่พ่อแม่สมบูรณ์แล้ว ก่อนที่จะจากเขาไป”

“ลูกยังเล็กนัก” ภรรยาย้ำความเดิม “จะเข้าใจถ้อยคำของเราเพียงไหนก็ไม่รู้ หากการสั่งสอนที่แล้วๆ มาทั้งหมดแกไม่เข้าใจ ทรัพย์ทั้งหลายก็คงจะช่วยตัวแกไม่ได้ เพราะ ทรัพย์อยู่ในมือคนโง่ก็มีแต่จะไร้ประโยชน์ ซ้ำร้ายจะเป็นภัยแก่ตัวเองด้วย”

“ นั่นก็สุดแต่ พระ !” สามีตอบด้วยเสียงร้าวๆ ส่อความรันทดในอก “ถึงอย่างไรๆ เราก็ต้องรีบบอกตำแหน่งที่ฝังทรัพย์แก่ลูกเสีย แล้วให้แกรีบหลบเอาตัวรอดไป ขืนชักช้าจะหมดหวัง”

“ลูกจ๋า ! มีใครอยู่ในห้องนี้บ้างหรือเปล่า ?” มารดาร้องถาม เพราะตนเองสิ้นแรงที่จะลุกจากที่นอนไปตรวจดูได้ แต่ก็มั่นใจว่าคงไม่มีใคร เพราะทาสคนสุดท้ายของเคหาสน์นี้ ได้สิ้นชีวิตเมื่อก่อนหน้านี้ไม่นาน ถึงกระนั้นก็อดระแวงไม่ได้ เกรงจะมีคนมาร่วมรู้ร่วมได้ยิน ถ้อยคำที่เขาจะช่วยกันบอกแก่บุตร ในที่สุดพ่อหนูน้อยก็ยืนร้องไห้รับรู้ถึงตำแหน่งที่ซ่อนทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาลนั้นพร้อมทั้งสิ่งที่ควรกำหนดช่วยความจำซึ่งถูกบอกเล่าอย่างละเอียดถี่ถ้วน

ทั้งคู่หายใจหอบ วาระสุดท้ายคืบคลานเข้ามาทุกขณะ

“ไปเถอะลูก ! ไปเสียก่อนที่จะเห็นพ่อเห็นแม่ขาดใจลง อย่าออกทางประตู เดี๋ยวเจ้าโรคฉิบหายนั่นมันจะสะกดตามไปอีก ออกทางฝาเรือน พังมันเถอะ ! อย่าเสียดายมันเลยลูกเอ๋ย !”

เจ้าหนูน้อยร้องไห้ปานใจจะขาด

คำพูดของคนเมื่อใกล้จะตาย เสมือนโองการสวรรค์มีค่าไปทุกวลี ทุกประโยค ทั้งนี้เพราะเป็น ถ้อยคำที่ผู้พูดรู้ตัวว่ามีโอกาสน้อยเหลือเกินจึงไม่ยอมให้มีมารยาสาไถยเจือปนอยู่ด้วย นอกเสียจากความจริงอันเป็นแก่นสารเท่านั้น ฉะนั้นผู้อยู่เบื้องหลัง จึงนิยมถือว่าคำพูดของคนใกล้จะตาย เป็นบัญชาประกาสิตที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เจ้าหนูน้อยอาจจะไม่รู้สึกอย่างนี้ แต่ทว่าหลังจากนั้น ก็มีเสียงฝาเรือนพังและหมู่บ้านแห่งนี้ก็ไม่มีเขาอีกต่อไป

ดวงหน้าอันระบมอยู่ด้วยแววแห่งความสิ้นหวังทั้งสองดวงนั้น ดูเหมือนยิ้มออกมาได้ชั่วแวบหนึ่ง เมื่อได้ยินเสียงฝาเรือนพัง และต่อมาก็เสียงเท้ากระทบพื้นดินเบาๆ แล้วก็เสียงวิ่งแผ่วๆ หายไปท่ามกลางความอึงอลของประสาทที่กำลังจะดับลงและในไม่ช้ามันก็ดับลงจริงๆ

หากจะมีใครย่องเข้าไปดูแล้ว จะแลเห็นว่าดวงตาของผู้ตายทั้งคู่ไม่ได้หลับเลย มันยังเผยออยู่มีแววเหมือนแสงดาว, ที่ส่องฝ่าหมอกลงมาจากฟ้าเศร้า แต่ประกายแห่งความรักยังสว่างอยู่ในดวงตาทั้งสองคู่ ซึ่งดวงวิญญาณจากไปแล้ว

ความเชื่อถือที่ว่า วิญญาณออกจากสังขารที่สลายตัวต้องแสวงหาภพชาติเพื่อเกิดใหม่ทันที หากเป็นความจริงแล้ว ดวงวิญญาณของคหบดีสามีภรรยาคู่นี้ จะมัวแสวงภพใหม่อยู่ได้ไฉน ในเมื่อร่างกระจ้อยร่อยของบุตรน้องวิ่งร้องไห้ออกจากบ้านที่กำลังกลายเป็นสุสานนั้น เป็นร่างที่ลอยคว้างอยู่กลางพิภพอันไพศาล ขาดที่พึ่งที่พักพิงยังไม่ควรจะห่างอกพ่อตักแม่ แต่เขาก็ต้องเป็นไปเช่นนั้น ยังไม่รู้เหมือนกันว่าเขาควรจะไปไหน เบื้องหน้าเห็นแต่ทิวเขาลำเนาอรัณย์ มันรกชัฏและมืดมนเต็มที ใจเขาบอกแต่ว่า ไปให้ไกลอย่าให้แมลงวันบินตามถึง

แต่สำหรับดวงวิญญาณอันเต็มไปด้วยความห่วงใยของมารดาบิดาแล้ว หนีไปถึงเพียงไหนก็ไม่พ้น ดอก หนูน้อยเอ๋ย ! ไม่มีอะไรจะมากีดกั้นความรักของมารดาบิดา ไม่ให้ตามไปปักษ์รักษาบุตรที่กำลังตกอยู่ในลักษณาการพเนจร ร่อนเร่ได้ดอก แม้กระทั่งความตาย ทุกหนทุกแห่ง ที่มีลูกต้องเป็นทุกหนทุกแห่งที่บรรจุวิญญาณรักของพ่อแม่ไว้ นี่แหละรักที่เหมือนแสงดาว !

พระราชาพิมพิสาร ทรงสดับข่าวแห่งหมู่บ้านวิปโยคนี้อย่างสลดพระทัย ทรงจัดส่งพนักงานและแพทย์ออกไปช่วยบรรเทาทุกข์หลายครั้งหลายรุ่น แต่ไม่มีใครจะเดินตรงทางทั้งๆ ที่รู้เหมือนกันว่าการขัดขืนพระราชบัญชานั้นน่าจะได้รับผลอย่างไร แต่ก็คิดตรงกันว่าการตายด้วยอาชญาดูจะดีกว่าตายเพราะการต่อสู้กับปีศาจซึ่งมองไม่เห็นตัว พระราชาได้ลองเอาพระทัยเข้าประมาณดู ก็ทรงเห็นอกเขาอกเราอกเจ้าอกข้า

ต่อแต่นั้น หมู่บ้านนี้จึงต้องถูกปล่อยให้ต่อสู้กับชะตากรรมไปโดยลำพัง และเห็นชัดว่าไม่มีหนทางชนะเลย อนิจจา ! อนาถนัก !!

แต่พระองค์ทรงพิศวงเป็นหนักหนา ความย่อยยับอับปางของคหบดีหัวหน้าหมู่บ้าน ธนปาละกับเรวดี มีคนพบซากสังขารของเขาอยู่ในคฤหาสน์ใหญ่ เขาสาบสูญทุกอย่างแม้กระทั่งหลักทรัพย์และทายาท ไม่มีใครรู้ร่องรอยเลย นี่แหละชีวิต



(มีต่อ 2)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 22 ต.ค.2004, 5:58 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ปิยราช

อาณาจักรมคธ กว้างใหญ่ไพศาลมาก หากจะเทียบด้วยแว่นแคว้นอื่นๆ ในแดนชมพูด้วยกัน ทิศบูรพาไปจนถึงอาคเนย์เป็นป่าทึบสุดลงที่ฝั่งมหาสมุทร จากด้านทักษิณตลอดไปถึงหรดี เป็นพรมแดนในแคว้นกลิงค์ ในทิศปัจฉิมเบื้องตะวันตกจรดเขตโกสัมพีของพระเจ้าอุเทน ส่วนด้านพายัพอันไกลมากกว่าด้านอื่นจรดแดนโกศลของปเสนทิราช เบื้องอุดรนั้นเล่าก็ชนแคว้นวัชชีของกษัตริย์ลิจฉวี และกุสินาราของมัลลกษัตริย์โดยลำดับ ไปจนถึงหิมาลับบรรพตอันเป็นดุจปราการพิภพ

ภายในวงบริเวณที่กล่าวนี้ พอจะช่วยให้ประมาณได้ว่ามคธนั้นยิ่งใหญ่เพียงใด ประกอบกับเป็นปฏิรูปเทศของบรรดาพ่อค้าวานิชจากดินแดนต่างๆ และชัยภูมิที่ตั้งราชธานีราชคฤห์เข้าด้วยแล้ว ก็พอจะทำให้พระทัยกษัตริย์เพื่อนบ้านลืมคิดที่จะรุกรานเอาทีเดียว คงมีแต่ประสงค์เจริญไมตรีมากกว่าคิดตั้งตัวเป็นศัตรู แต่ถึงกระนั้นมคธก็เคยมีศึกเตือนให้สงบไม่ลงอยู่บ้างบางสมัย เพราะเอาแน่อะไรกับกิเลสมนุษย์

สำหรับชัยภูมิอันเป็นที่ตั้งราชธานีนั้น, ธรรมชาติได้ประทานปราการอันมั่นคงไว้ให้ ซึ่งได้แก่ภูเขาห้ายอดแวดล้อมอยู่เป็นเครื่องหมาย ให้เรียกกันว่าเบญจคีรีบ้าง คีรีวราชบ้าง แต่เก่าก่อนเคยเรียกกันตามยุคตามสมัยต่างๆ ว่า วสุมาตี เพราะกษัตริย์ชื่อวสุเป็นผู้สร้างบ้าง เรียกว่า พารหัทรัตตามพระนามของกษัตริย์ผู้เรืองเดชาองค์หนึ่งบ้าง และเรียกกุศาครก็มี แต่ที่นิยมเรียกกันมาก็คือ ราชคฤห์ เพราะมีปราสาทราชฐานมากกว่าเมืองอื่นๆ

อันพระเจ้าพิมพิสาร ราชาธิบดีผู้เป็นประมุขแห่งมวลชนนั้น เสวยราชโดยการสืบสันตติวงศ์ต่อจากพระบิดาพระองค์ก็เป็นมนุษย์ดีๆ นี่เอง แต่มักจะมีเกร็ดพระประวัติพิศดารชวนพิศวงราวกับนิยายดึงดำบรรพ์ทีเดียว ทั้งนี้ก็เพราะผู้นำมาเล่านั้นหัวใจเต็มไปด้วยฉันทาคติ เขาจะเฝ้าเจียรไนถึงความเป็นอัจริยะต่างๆ นานา เรื่องราวเกี่ยวแก่พระองค์นั้น จะเท็จบ้างจริงบ้างอย่างไรก็ช่าง แต่ปรากฏว่ามีผู้นำมาเล่ากันโดยไม่รู้จักเบื่อหน่าย

มีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่ชอบเก็บมาเล่าสู่กันฟังอย่างชื่นชมในขัตติจรรยา เรื่องมีว่าเมื่อพระราชาพิมพิสาร รับช่วงราชสมบัติจากพระบิดาใหม่ๆ พระองค์ก็ทรงตั้งพระทัยที่จะบูรณะสร้างสรรค์พระนครให้สง่างามตามอัธยาศัย ปราสาทราชฐานก็เกิดขึ้นราวกะเนรมิต จากนั้นพระองค์ก็ทรงหันพระทัยไปดำริสร้างวนอุทยาน และสำเร็จลงอย่างงดงามสมพระทัยปรารถนา ข่าวราชคฤห์กลายเป็นเทพนครกระฉ่อนไปทั่วหล้า จึงพระราชาแคว้นหนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าราชศรีเสด็จมาสู่ราชคฤห์เพื่อชมความงามตามคำลือ พระเจ้าพิมพิสารทรงปฏิสันถารพระสหายอย่างดียิ่ง

วันหนึ่งทรงพาแขกผู้อุดมเกียรติประพาสชมวนอุทยาน พระเจ้าราชศรีทรงเกษมสำราญเป็นที่ยิ่ง ขณะที่เสด็จดำเนินไปตามทางเล็กๆ ลดเลี้ยวไปตามสุมทุมพุ่มไม้ที่แตกช่อระบัดใบอยู่อย่างสดสะพรั่ง บางตอนก็มีน้ำอันใสปานกระจกกระเพื่อมไหลมาตามธารที่เกลื่อนกล่นอยู่ด้วยชะง่อนหิน และกรวดทรายหลากสี เสียงหวู่หวิวของกระแสลมผสมอยู่กับเสียงหึ่งๆ ของแมลงภู่และผึ้ง ซึ่งผงมเคล้าอยู่ตามช่อผกามาลีนั้นเล่าปานจะกล่อมพระทัยให้ลืมโลกลงได้ พระเจ้าพิมพิสารก็ทรงโสมนัสที่ได้เห็นพระสหายทรงสำราญสดชื่น เพราะผลงานของพระองค์ จึงได้ตรัสเป็นเชิงหยั่งพระทัยและอวดอยู่ในทีว่าทรงรู้สึกอย่างไร ? พระเจ้าราชศรีทูลตอบว่า เหมือนฝัน หากไม่มีสิ่งนี้รั้งใจไว้พระองค์จะต้องคิดว่ากำลังเดินอยู่ในสวนนันทวันของเทพสักกะแน่ๆ ประกอบคำทูล พระเจ้าราชศรีชี้ให้เจ้าของบ้านดูกระท่อมโกโรโกโสหลังหนึ่ง สภาพของมันทุเรศพอที่จะทำให้ฝันหวานไม่ได้เอาจริงๆ

“ที่อาศัยของหญิงแก่คนหนึ่ง พระเจ้าค่ะ !” พระเจ้าพิมพิสารทรงตรัสบอกแก่พระสหาย

“นั่นสิ ! ทำไมฝ่าบาทจึงปล่อยไว้ให้เป็นเครื่องทำลายความงามอยู่เช่นนั้น ทำไมไม่ทรงไล่แกไปอยู่ที่อื่นเล่าพระเจ้าค่ะ !” พระเจ้าราชศรีทรงถวายความเห็น

“ความจนเป็นสภาพที่ควรจะได้รับความเห็นใจมิใช่การรุกราน เพียงแต่ ความเป็นอยู่ของแก ก็เหมือนถูกกดขี่รังแกอยู่มากแล้ว หากหม่อมฉัน จะใช้อำนาจซ้ำเติมลงไปอีก แกจะได้ที่พึ่งที่ไหน ในเมื่อหม่อมฉัน จะใช้อำนาจซ้ำเติมลงไปอีก แกจะได้ที่พึ่งที่ไหน ในเมื่อหม่อมฉันที่แกยึดมั่นว่าเป็นพระราชาของแก ไม่เป็นที่พึ่งให้แกได้แล้วความเป็นราชาจะมีความหมายสำหรับแก”

พระเจ้าราชศรีทรงอึ้ง

“ความชั่วสิ พระเจ้าค่ะ ! ที่หม่อมฉันต้องการปราบ”

ทรงตรัสต่ออีก “มันยังความย่อยยับหายนะให้ยิ่งกว่าความจนมากนัก ความจนมันเกิดขึ้นโดยคนไม่เจตนาจะจน ฉะนั้นความจนจึงไม่ควรจะเป็นความผิด ส่วนความชั่วคนประกอบมันขึ้นมา ด้วยความสมัครใจเห็นงามของเขาเอง มันจึงเป็นความผิดควรแก่การลงอาชญา ฉะนั้น ยายแก่คนนี้แกจึงไม่มีความผิดในทัศนะของหม่อมฉัน และแกก็รักพระราชาของแกไม่น้อยกว่าคนอื่นๆ ปล่อยไว้อย่างนั้น กระท่อมอันคร่ำคร่าบางทีมันจะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งไม่ให้หม่อมฉันลืมตัวว่าเดินดิน รักสุข เกลียดทุกข์ เหมือนชีวิตอื่นเช่นกัน”

ฉะนั้น กระท่อมหญิงชราหลังนั้น จึงยังคงอยู่ที่นั่นต่อไป ภายในสิ่งแวดล้อมที่เป็นดุจเทพอุทาน

พระเจ้าราชศรี กลับนครของพระองค์ ด้วยพระทัยเปี่ยมไปด้วยมนุษย์ธรรม

พระราชอัธยาศัยของพระเจ้าพิมพิสาร มากไปด้วยพระเมตตาคุณทำนองนี้ยังมีอีกมาก จึงลงเนื้อเห็นกันได้โดยไม่เป็นการเยินยอว่า พระองค์ทรงธรรมเป็นอำนาจมากกว่าใช้ศาสตราอาญาสิทธิ์ พระองค์ทรงสมาคมกับนักปราชญ์ได้ไม่เลือกประเภท ทั้งนี้ก็เพราะทรงต้องการอุบายที่เอื้อแก่การปกครองแว่นแคว้นเป็นใหญ่ มิใช่ขัตติยมานะอย่างบ้าคลั่ง ด้วยทางสำนึกว่าความถือศักดิ์มากยศ จนหลงตนเอง มันกลายเป็น กำแพงสะกัดกั้นความดีงามเสียอย่างน่าเสียดาย เพราะความดีนั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่จำกัดชั้นวรรณะ การถือตนด้วย อำนาจขัตติยมานะนั้นสติปัญญาจะงอกงามได้อย่างไร ? มีแต่จะทำให้เมาตัวเองและโง่ดักดานอยู่กับขีดวงอันคับเพราะใจแคบของตนเท่านั้น และโดยเฉพาะปราชญ์ที่พระองค์สนพระทัยเป็นพิเศษก็คือนักพรต พระราชทานอุปถัมภ์อย่างไม่เลือกลัทธิศาสนาเลย

มีนักพรตอยู่ประเภทหนึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงได้รับประโยชน์จากพวกนี้อย่างมากคือพวกปริพพาชก พวกนี้บางคนก็คลั่งลัทธิจนเลยพอดีไป จนทำให้เสียชื่อของหมู่คณะเช่นสอนลัทธิด้วยความมักมากในลาภสักการะ จนลืมจรรยาของนักพรต แต่นั่นก็เพียงความเสื่อมในส่วนมรรยาทของบุคคล ส่วนมากยังดีอยู่ และส่วนมากนักพรตพวกนี้ ก็อยู่ในวัยหนุ่ม ซึ่งมาจากสำนักศึกษาที่ตนเล่าเรียนสำเร็จมาแล้ว เมื่อยังไม่มีพันธะทางครอบครัว ก็เที่ยวหาความรู้เพิ่มเติมด้วยใจรัก พร้อมกันนั้น ก็ประกาศลัทธิแก่ประชาชนเป็นวิทยาทานและหาความจัดเจนไปในตัวด้วย หากไปพบเจ้าลัทธิศาสนาคนใดที่มีชื่อเสียงก็ขอโอกาสเข้าปราศัยโต้คารม และบางทีก็ถึงกับยกเอาเหตุผลเข้ามาหักล้างกัน (หากจะกล่าวว่าพวกนี้ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เที่ยวพิสูจน์ความแน่นอนของทฤษฎีที่สั่งสมไว้ก็เห็นจะได้กระมัง !) หากพอใจก็ยอมตัวเป็นศิษย์หรือสาวก ถ้าไม่ศรัทธาก็ผ่านไปที่อื่น เหตุที่พวกนี้รักการศึกษาเป็นชีวิตเช่นนี้เอง เขาจึงไม่ย่อท้อที่จะท่องเที่ยวไปในเขตแคว้นแดนไกล และด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาของพระราชาพิมพิสาร ที่ทรงสงเคราะห์เขาด้วยราชธรรม

เขาจึงได้จดจำเอาพระนามของพระองค์ไปบันลือในนครต่างๆ เหมือนดังกระพือกลิ่นบัวในสระอโนดาตให้ฟุ้งไปต้องฆานะประสาทปวงผึ้งฉะนั้น เหตุนี้เองนครราชคฤห์ จึงกลายเป็นแหล่งชมรมของบรรดาวาณิชจากแคว้นต่างๆ ซึ่งเป็นเสมือนผึ้งภู่ที่โบยบินมาสู่สระบัวและเป็นผลให้เกิดความสมบูรณ์พูนเพิ่มแก่ราชธานี นี่คือผลโดยปริยายของนักพรตปริพาชก

ในระยะกาลที่พระเจ้าพิมพิสารกำลังบันลือกิตติคุณจนกลายเป็นเทพเจ้าของประชาราษฎร์ไปนี่เอง ชาวนครก็พากันตื่นเต้นในข่าวของนักบวชอีกคณะหนึ่ง เหตุที่ถึงกับตื่นเต้นก็เพราะพระราชาของเขา ประกาศพระองค์เป็นผู้นับถือธรรมวินัยของพระศาสดาเจ้าลัทธิใหม่นี้ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่เคยปรากฏแก่ลัทธิศาสนาอื่นมาก่อน

ฉะนั้น เจ้าลัทธิใหม่นี้ในฐานที่เอาชนะพระทัยของกษัตริย์ ที่เจ้าลัทธิอื่นพยายามกันมานักต่อนัก แต่ไม่สำเร็จนั้น จึงพลอยได้รับความสนใจใคร่รู้ไปด้วย ว่าเป็นใคร มาแต่ไหน ? ในที่สุด ก็รู้และเรื่องลือกันไปทั่ว ว่าท่านผู้นี้มาจากแคว้นเล็กๆ ที่ไกลออกไปทางเหนือจรดชานหิมพานต์บรรพต ซึ่งอยู่ในอำนาจของพระเจ้าปเสนทิราชแห่งโกศลรัฐ นั่นคือแคว้นสักกะชนบท ซึ่งมีนครกบิลพัศดุ์เป็นราชธานี และเจ้าลัทธิผู้อุดมปัญญานี้ ใช่จะเป็นผู้มีอดีตคับแคบสิ้นหวัง เหมือนเจ้าลัทธิบางคนก็หาไม่ เป็นโอรสกษัตริย์ศากยะผู้เรืองเกียรติและประชาราษฎร์ก็ตั้งความหวังไว้ว่า จะเป็นกษัตริย์ในอนาคตที่เรืองศักดากว่ากษัตริย์พระองค์ใดของเขา

แต่แล้วท่านก็สลัดสิทธิและโชควาสนา ออกบำเพ็ญตนเป็นอนาคาริก เพื่อแสวงหาอุบายหลุดรอดจากบ่วงโลก เมื่อสมหวังแล้วก็กล่าวว่า ความสำเร็จผลแบบใหม่นี้มีค่ายิ่งกว่าสมบัติจักรพรรดิเสียอีก นับแต่นั้นมาก็ท่องเที่ยวประกาศธรรมคืออุบายพ้นทุกข์ จนกระทั่งเข้าสู่เขตนครราชคฤห์ แน่ละบรรดาเจ้าลัทธิศาสนาผู้เป็นเจ้าถิ่นพากันต่อต้านราวกะผึ้งหวงรัง แต่แล้วก็พ่ายต่อเหตุผลจำนนไปตามๆ กัน ในจำนวนนี้มีชฎิลสามพี่น้องที่ตั้งอาศรมแพร่ลัทธิอยู่ชายฝั่งนทีเนรัญชรา ตำบลคยาร่วมอยู่ด้วย และการมีชัยต่อชฎิลสามพี่น้อง ผู้มีบริวารจำนวนมากนี้มีผลเรียกความนิยมสนใจจากคนทั่วไปอยู่ไม่น้อยเลย และแม้แต่พระราชาพิมพิสารก็เกิดศรัทธาเสด็จออกต้อนรับสดับธรรม ที่ป่าตาลนอกนคร

และ ณ ที่นั้นเองพระองค์ทรงซาบซึ้งในอรรถธรรมที่เจ้าลัทธิผู้นี้แสดง ถึงกับประกาศพระราชปณิธาน ออกมาท่ามกลางราชบริพารว่า ในสมัยเยาว์วัยเคยตั้งความปรารถนาไว้ ๕ ประการ คือ ๑. ขอให้ได้รับการอภิเษกเป็นราชาแห่งแคว้นมคธ ๒. ขอให้พระอรหันตพุทธเจ้าได้ย่างเข้ามาสู่เขตขัณฑสีมา ๓. ให้ได้เสวนาสมาคมกับพระอรหันตศาสดานั้น ๔. ขอให้ได้สดับธรรมของพระพุทธเจ้า ๕. ขอให้ได้รู้แจ้งตามธรรมที่สดับแล้วนั้น

บัดนี้ความหวังของพระองค์สมบูรณ์ทุกประการแล้ว การประกาศถึงพระราชปณิธานท่ามกลางข้าราชบริพาร และนักบวชจำนวนมากนั้นก็คือการรับรองความเป็นผู้ตรัสรู้ และเทิดไว้ในฐานะศาสดาผู้ชนะโลกนั่นเอง ตั้งแต่นั้นมา เจ้าลัทธิใหม่ผู้นี้ก็ได้พระนามว่า “พระพุทธเจ้า”

รุ่งขึ้นแต่ตอนเช้า แดดพึ่งจะเริ่มส่องแสงอ่อนๆ เงาคิชฌกูฎ และอิสิคิลิ ยังทอดคลุมอยู่ ชาวพระนครส่วนมากพากันแปลกใจที่ได้เป็นขบวนของนักบวชประหลาดจำนวนมากมาย ทุกคนโกนศีรษะจนโล้นเลี่ยน โกนหนวดหน้าเกลี้ยงเหมือนหน้าสตรี นุ่มห่มผ้าย้อมน้ำฝาดแลดูเหลืองช้ำ แต่เมื่อต้องแสงอ่อนๆ ของดวงตะวันยามเช้าก็แลสุกปลั่งราวกับถนนหนทางในกรุงราชคฤห์ดาดไว้ด้วยแถบทองเคลื่อนเข้าสู่ทวารพระราชฐาน ด้วยอาการสงบเงียบและสง่างามปานจะสะกดความลำพองของผู้มองเห็นให้งันอยู่ชั่วครู่ คนที่รู้เหตุการณ์ดีก็เที่ยวตะโกนบอกผู้ที่ยังไม่รู้ ว่านี่แหละคือพระสงฆ์สาวกของพระสมณโคดมศาสดาองค์ใหม่ของโลกละ กำลังตามเสด็จพระศาสดาเข้าไปในพระราชฐานตามคำอาราธนาของพระราชา

และในตอนสายวันนั้นเอง หลังจากเวลาภัตตาหารผ่านไปแล้ว พระราชาพิมพิสารก็ได้อุทิศที่ดินส่วนหนึ่ง ที่อยู่ด้านอุดรย่านกลางระหว่างป่าตาลกับนคร ซึ่งอุดมไปด้วยป่าไผ่และพันธุ์ไม้อันรื่นรมย์และสงัด เหมาะแก่ผู้รักวิเวกสันโดษเป็นพุทธนิวาส นับแต่นั้นพระราชอุทยานที่โปรดแห่งนี้ ซึ่งเรียกกันว่าเวฬุวันก็กลายเป็นอาณาจักรที่บริสุทธิ์ศักดิ์สิทธิ์ไป



(มีต่อ 3)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 22 ต.ค.2004, 6:01 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เวฬุวันขวัญชีวิต

บรรขัติย์ตกเป็นหนี้กระแตน้อย เพราะเจ้าช่วยให้พ้นจากอสรพิษ กลายเป็นแดนชำระหนี้หทัยด้วยอำนาจกตเวที เวฬุวันสะอาดจากเวร ยอดขุนพลของจอมโยธาธรรม พบทางพ้นจากป่าชัฏแห่งชีพ รีบละลัทธิมายาพามิตรบริวารเข้าสู่เวฬุวัน สะอาดจากมายามลทิน เสียงไผ่เหมือนดังครวญ กลิ่นลำดวนทิพย์มณฑาแจ้งๆ แว่วลอยมา สกุณาเจ้ากล่อมไพร

อาศรมในเงาลำเนาพฤกษ์ เกิดขึ้นด้วยหัตถ์ศรัทธาจอมไผท ไร้สำเนียงอึงฉาว เร้าอารมณ์ ผงมแต่ความเงียบ เวฬุวัน ถิ่นสงบ

สง่าตระหง่าน ปานเทพสภา ยามสายัณหเวลาคราคร่ำไปด้วยฝูงชนผู้ใฝ่ธรรม ชวาลาวะวับวาม แต่ยังด้อยกว่าสำเนียงพระพุทธองค์ เวฬุวัน ถิ่นสว่าง

เวฬุ วนาศรม ช่างรื่นรมย์ นี่กระไร
ทิพา ผ่องอำไพ แต่ว่าไร้ อำนาจรน
รัตติ กาลสมัย ก็สิ้นไร้ ความมัวมนธ์
เชิญเถิด สาธุชน สู่เวฬุ วนาราม
จะสุข และสดชื่น ชีพจะยืน ทุกโมงยาม
เพราะพบ ทางอันงาม มัชฌิม ปฏิปทา ฯลฯ

(กวีต้อย)

นับแต่อุทิศอุทยานเวฬุวัน ถวายเป็นพุทธนิวาสแล้วพระองค์ยังทรงติดตามอุปถัมภ์อย่างเต็มพระราชศรัทธา เวฬุวันซึ่งยามปกติก็เป็นอาณาบริเวณที่รื่นรมย์อยู่แล้ว ยิ่งได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมเช่นนี้ ก็ย่อมจะงดงามขึ้นอีกเป็นธรรมดา ยิ่งกว่านั้นยังรับสั่งให้บรรดานักอักษรศาสตร์ราชกวี ร้อยกรองพรรณนาเวฬุวัน แล้วให้นักเพลงไปขับคลอสังคีตอย่างไพเราะในที่ต่างๆ ทำให้แลเห็นภาพเป็นสวนทิพย์ไปเลย

เหตุที่พระราชาพิมพิสาร ทรงสนพระทัยต่อเวฬุวัน ซึ่งดูเป็นอาการคลั่งไคล้เช่นนี้ ก็ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ประชาราษฎร์ที่รักของพระองค์ได้ไปสู่ที่นั่น เพื่อเขาจะได้มีโอกาสสดับธรรมของพระบรมศาสดาพุทธเจ้า ทั้งนี้ ก็เพราะทรงเห็นว่าธรรมะที่พระองค์ทรงแสดงนั้น เอื้ออำนวยต่อการปกครองอาณาจักรของพระองค์ ให้ไปสู่สันติได้สมปรารถนาและไม่ช้า ยามสนธยามรรคาที่พุ่งออกจากกรุงไปสู่เวฬุวัน ก็เกลื่อนกล่นไปด้วยฝูงชน ที่มุ่งไปด้วยลักษณาการต่างๆ กัน คนสามัญก็เดินด้วยเท่า ส่วนคนที่มีฐานะสูงก็นิยมนั่งยานมีเครื่องหมายบ่งบอกชั้นเชิงแห่งชีวิต และเกือบจะทุกคนจะต้องมีสักการ์วรามิสไปอุทิศบูชา ตามแรงศรัทธา พระราชาเสด็จเป็นนิจและภาพของปวงชนที่หลั่งไหลไปสู่สถานที่พระองค์ทรงประสงค์นั้น มันเป็นภาพที่น่าชื่นพระทัย หากแต่ยังขาดอยู่อีกผู้เดียวที่พระองค์ทรงประสงค์จะให้มาร่วมในขบวนอันนี้ แต่วันแล้ววันเล่าเจ้าก็ไม่ยอมมา นั่นคือพระนางเขมาเทวี ศรีประจำพระขวัญของพระองค์

“เวฬุวันหรือเพคะ ? เป็นสถานที่เหมาะจะต้อนรับพวกสัปเหร่อ หรือแม่มดมากกว่า ! อย่างหม่อมฉัน พระท่านไม่ปรารถนาต้อนรับดอกเพคะ !” พระนางจะทูลทำนองนี้ เมื่อพระสวามีทรงวอน

“เทวีของพี่ควรจะได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์เพราะ...”

“ฟังพระ ? โถ ! จะมีอะไรเพคะ ! นอกจากคำเสียดสีอิจฉาของพวกสิ้นหวัง”

พระราชาทรงทอดถอนพระทัย ทรงทราบดีว่า พระเทวีของพระองค์มีศิริโฉมโสภิต พอที่จะพันธนาสายเนตรของพระองค์ไว้ไม่ให้ไปทอดยังสตรีอื่นในเชิงสวาทได้ และพระนางเองก็ทรนง ในความเด่นโดยไม่ต้องลงทุนอันนี้จนกลายเป็นความมัวเมา หวาดระแวงความจริง แม้กระทั่งกิตติศัพท์ของพระบรมศาสดา ซึ่งพระนางได้ยินเสมอว่าพระองค์มีปรกติชอบกล่าวถึงแต่ในเรื่องราวที่แห้งแล้งสิ้นหวังและปากจัด ฉะนั้นพระนางจึงหวาดเกรงว่า จะถูกวิจารณ์ตำหนิศิริโฉมอย่างย่อยยับอัประมาณ ไม่นิยมในพระพุทธองค์ดุจพระสวามี และทรงรังเกียจเวฬุวัน สำนักของคนปากร้าย

และแล้ว เสียงเพลงขับกล่อมสดุดีเวฬุวัน ก็เกิดขึ้น ระงมไปทั่วนคร และดูเหมือนว่าอำนาจเสียงเพลงนั้น มันเจตนาเสียจริงๆ ที่จะสู่สิงเฉพาะดวงหทัยอันรักแต่ความรื่นรมย์ เช่นเขมาเทวี ในที่สุดความรังเกียจเวฬุวันก็ปราศไปจากสำนึกของพระนาง

“หม่อมฉันใคร่จะชมเวฬุวัน เพคะ !” พระนางทูลในวันต่อมา

“ พี่ต้องไปด้วยไหม ?” ทรงตรัสถาม อย่างดีพระทัย

“แต่หม่อมฉันไม่เข้าไปภายในดอกเพคะ ! ขอชมแต่รอบๆ นอกเท่านั้น” ทรงยิ้มอย่างยียวนฉอเลาะ “ทรงอนุญาตไหม เพคะ !”

เฉลียวพระทัยได้ทันที ความงามของเวฬุวันที่ถูกบรรยายด้วยเสียงเพลงเท่านั้นที่ผูกพันหทัยนาง ส่วนพระพุทธองค์เจ้าแห่งสัจจธรรม ยังเป็นที่หวาดสำหรับพระนางอยู่ และการที่พระนางทูลเลี่ยงคำถามไปเช่นนั้น ก็ด้วยเกรงว่าพระองค์จะเป็นเหตุให้จำเป็นต้องไปสู่ที่ๆ ไม่ปรารถนาจะไป พระองค์หรือจะขัดหทัยนาง

สายัณห์วันนั้น ก่อนที่ขบวนยาตราอันสมแก่ศักดิ์นางพระยาจะเคลื่อนจากพระราชฐาน นายสารถีประจำราชยานถูกรับสั่งให้เฝ้าโดยด่วน พระราชากระซิบความบางประการแก่เขาแล้ว เขาก็รีบเข้าประจำราชยาน และแล้วขบวนเสด็จอันสง่างามนั้นก็เคลื่อนออกทันที พระราชาประนมหัตถ์ขึ้นระหว่างอุระ พระเนตรพริ้มอย่างมีสุข ส่งพระทัยลอยไป เปล่า ! มิได้ล่องลอยไปกับขบวนของพระเทวีดอก แต่ทว่าลอยไปสู่เวฬุวันสถานที่ประทับของพระบรมศาสดา อธิษฐานอ้อนวอนขออานุภาพแห่งพุทธบารมี เพื่อปกแผ่ดวงหทัยเทวีผู้เมาศิริโฉมของพระองค์ ทรงหวังอย่างมั่นพระทัย

ตราบจนค่ำคืนพระนางจึงเสด็จกลับมา ส่งยิ้มมาถวายพระองค์ซึ่งประทับยืนรออยู่ที่หน้าปราสาท ด้วยพระอาการอายๆ รอยยิ้มอันเคยหวานยั่วยวนท้าทายอยู่เป็นนิตย์นั้นมีรอยแห่งความสำนึกแฝง อยู่อย่างเห็นชัด ดวงเนตรที่มองนั้นเล่าก็มีแววดังจะวิงวอนขอลุแก่โทษแต่หนหลัง เสด็จดำเนินผ่านผู้เฝ้ายืนรอรับไป ด้วยพระอาการสงบราวกะว่า ผู้เฝ้ายืนรออยู่เป็นเพียงรูปหินสลักประดับปราสาทชิ้นหนึ่งฉะนั้น

พระราชสามี เสด็จติดตามพระเทวีขวัญชีวิตไปด้วยความประหลาดแกมตระหนกในอาการนั้น ท้าวเธอทรงเห็นพระนางเสด็จถึงห้องบรรทม ประทับยืนอยู่เบื้องหน้าพระแท่นไสยาอาสน์ และหัตถ์น้อยของพระนาง ก็ทรงไต่ไปตามวรกายในตำแหน่งที่มีรัตนะประดับทุกแห่ง ทรงปลดปลิดมันออก และโยนลงยังพื้นอย่างไม่อาลัย มันลงไปส่งประกายสะท้อนแสงอยู่เกลื่อนกล่น พระวรกายของพระนางขณะนี้เหลือแต่พระภูษาอาภรณ์เท่าที่จะพึงจำเป็นเท่านั้น แล้วก็หันร่างเสด็จย่ำรัตนะมณีอันส่งแสงวูบวาบนั้นไปด้วยพระอาการที่ปราศจากลังเลประทับยืนอยู่ที่ช่องพระบัญชร เบิ่งมองฝ่าความมืดสลัวไปภายนอก ด้วยพระอาการสดชื่น และพระองค์ทรงพบว่าพระนางมีความงามลึกซึ้ง อย่างที่ไม่เคยปรากฏในเชิงยียวนมาก่อน ทำให้พระทัยพระองค์แจ่มใสขึ้นด้วย

พระจันทร์เสี้ยว แผ่แสงสลัวๆ ลงมาอาบพิภพ จะมืดจะสว่างก็ไม่ใช่ จะมองอะไรให้ถนัดก็ไม่เชิง มันเป็นบรรยากาศที่ชวนให้สุข ระคนเศร้าเหมือนดังกำลังยืนอยู่กึ่งกลางแห่งแดนจริง กับฝันพระนางเขมาประทับทอดพระเนตรมองพระจันทร์เสี้ยวราวกับเกิดมาไม่เคยเห็น และก็ทรงทราบดีว่าใครมายืนชิดอยู่เบื้องปฤษฎางค์ พระอังสารับสัมผัสหัตถ์อย่างนุ่มนวล แต่พระนางก็ไม่ติงองค์ รู้สึกขยะแขยงตัวเองที่เป็นสาเหตุแห่งความละเมอเพ้อพกแต่หนหลัง

“เขมา” พระนางได้ยิน “เป็นอะไรไปหรือ ?”

“กำลังต้องการหนีตัวเอง เพคะ !” พระนางสนองทั้งๆ ไม่ยอมเหลียวองค์

“เทวีของพี่ ทำไมเดี๋ยวนี้ชังตัวเองเสียแล้วหรือ ?”

“เพราะหม่อมฉัน เพิ่งรู้จักตัวเองวันนี้เพคะ” ผู้แนะนำบอกว่า “เขมา เธอจงดูร่างกายอันอาดูร ไม่สะอาด เน่า ไหลเข้าไหลออก อันคนพาลทั้งหลายปรารถนายิ่งนัก”

“ใครเป็นผู้แนะนำน้องหญิง ?”

“พระเพคะ ! พระพุทธองค์ที่หม่อมฉันเคยเข้าใจว่าท่านทรงเกลียดสตรี ใครไปก็ถูกด่ากลับมา จนหม่อมฉันไม่ปรารถนาจะไป ครั้นแล้ววันนี้ สารถีทำม้าพยศพารถเตลิดไปถึงโรงธรรมสภา ภายในเวฬุวัน และแล้วภาพที่หม่อมฉันได้เห็นที่นั่น มันผิดไปจากที่เคยเข้าใจเพคะ”

“อะไรหรือพระน้องนาง ?”

“สตรีเพคะ ! กำลังอยู่ในวัยกำดัดดรุณี ถวายงานพัดแก่พระพุทธองค์อยู่เบื้องหลังขณะทรงแสดงธรรม สวยงามอะไรเช่นนั้น หล่อนทำให้หม่อมฉันเห็นตัวเองกลายเป็นยายแก่ไปความทะนงตัวว่ารูปงามก็เสื่อมสูญหมดสิ้น แต่และแล้วนางงามก็เปลี่ยนไปเป็นลำดับๆ เป็นสาวเต็มตัว สาวใหญ่ มีลูก เลยวัยกลางคน ย่างเข้าวัยชรา และก็งอม และหง่อม ในที่สุดล้มลงสิ้นลม พองอืดขึ้นมา น้ำเหลืองน้ำเลือดไหลโซมเน่าเฟะและเหม็น อนิจจา ! พระพุทธองค์ทรงชี้ให้หม่อมฉันดูและว่า แม้หม่อมฉันก็ต้องเป็นเช่นนั้นเพคะ !”

“ต่อไปซิ เขมา”

ในความสลดฝ่อแฝ่ใจนั้น หม่อมฉันเหมือนดังก้าวเข้าไปสู่ดินแดนใหม่ รู้สึกโปร่งโล่งดังถูกปลดปล่อยจากเครื่องพันธนา แล้วพระองค์ก็ตรัสอีก “เขมา สัตว์ที่ต้องระทมทุกข์อยู่ในสังสาระ ก็เพราะเยิ้มอยู่ด้วยความกำหนัด รุมร้อนอยู่ด้วยความกระทบกระทั่งใจ และปองร้ายพยาบาท งวยงง มืดมนอยู่ด้วยความโง่เขลา จึงไม่อาจตัดกระแสตัณหาได้ข้องอยู่ในกระแส ของความอยากสารพัดอยาก เหมือนแมลงมุมชักใยพันตัวเอง เหมือนนักโทษอยู่ในกรงที่ตัวเองสร้างขึ้น ผู้ใดตัดตัณหาได้ ก็เป็นอิสระเสรีแก่ตน พ้นทุกข์ จบหน้าที่ของชีวิต ทูลกระหม่อมฉันเพคะ ! บัดนี้หม่อมฉันเหมาะที่จะเป็น เพียงเพื่อนของพระองค์เท่านั้น โปรด ปล่อยกายของหม่อมฉันออกจากกรงแห่งความเสน่หาเสียเถิดเพคะ ! สิ่งที่พระองค์ถนอมนี้มิใช่หม่อมฉันดอก มันเป็นเพียงเครื่องล่อของมารเท่านั้นเพคะ !”

“เขมา หากพี่เห็นเจ้าพรากจากไปสู่แดนอื่น พี่คงทนไม่ไหว แต่นี่เจ้าจากไปสู่อาณาจักรที่ประเสริฐเกินกว่าที่พี่จะรู้สึกว่าสูญเสียได้ ไปเถิดที่รัก ! ไปสู่แดนอมตะ เจ้าไปไกลกว่าที่พี่ตั้งใจเสียอีก”

รุ่งขึ้น พระนางเขมาราชินีก็เปลี่ยนภาวะเป็นเขมาภิกษุณีที่พระเวฬุวัน ดวงหทัยจอมกษัตริย์ว้าเหว่ แต่ไม่สิ้นหวัง และรำลึกถึงข้อความที่ทรงกระซิบสั่งสารถี !



(มีต่อ 4)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 22 ต.ค.2004, 6:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เสียงปลุก

ณ ถนนสายนั้น ยังมีมูลดินเสริมใหม่ๆ ตัดผ่านเข้าไปในหมู่บ้านร้าง ซึ่งกลายสภาพเป็นสุสานมานานปี สิ่งที่เหลือส่อให้ทราบว่า มันเคยมีอดีตที่ไม่สงัดเหงาเศร้าสร้อยดังขณะนี้ ก็คือซากคฤหาสน์ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางกระท่อมและอาคารขนาดย่อมซึ่งมีอยู่มากล้วนแต่ไร้ประโยชน์ นอกจากจะเป็นวัตถุพยานให้ย้อนระลึก ไปถึงความวิปโยคหายนะของหมู่บ้านแห่งนี้ ว่าเมื่อสิบสองปีมาแล้วมันถูกโรคระบาดผลาญให้กลายเป็นสุสานบ้านร้างไป

พระราชาพิมพิสาร ได้เฝ้าทรงคำนึงถึงความสำคัญของหมู่บ้านแห่งนี้อยู่เสมอ เพราะมันอยู่เพียงชานนครเป็นเสมือนรอยพิการในเรือนร่างที่สมบูรณ์ของกรุงราชคฤห์ จึงทรงปรารภมานานแล้วที่จะบูรณะพัฒนา ให้คงคืนสู่สภาพปรกติเสียที แต่ยังติดขัดอยู่ที่ความเชื่อ ที่สืบเนื่องมาแต่โบราณว่าพื้นที่อย่างนี้จะต้อง ปล่อยทิ้งไว้เกินสิบสองปีก่อน แล้วจึงควรใช้เป็นแหล่งพำนักอาศัยได้ เลยต้องถูกทอดทิ้งมาจนบัดนี้

บัดนี้ สิบสองปีได้ล่วงไปแล้ว หมู่บ้านนี้จึงถูกกำหนดเป็นถิ่นบูรณะพัฒนาและการชักชวนประชาชนให้มาตั้งหลักแหล่งก็ไม่เป็นการยากอีกต่อไป เพราะทุกคนเลิกหวาดกลัวการกำเริบของโรคปีศาจนั่นแล้ว จึงไม่ช้าอาคารบ้านเรือนก็เกิดขึ้นตามบริเวณที่ทรงกำหนดอนุญาต ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามแผนผังที่จัดไว้เป็นเครื่องสงเคราะห์แก่ระเบียบความงาม และพระประสงค์เพื่อให้เจริญอย่างรวดเร็ว จึงเอาพระทัยฝักใฝ่เป็นพิเศษ ทรงสร้างตำหนักฤดูร้อนขึ้นที่นี่และเสด็จออกมาพักแรมอยู่เพื่อประทานขวัญแก่ชาวประชาที่อพยพมาใหม่ ซึ่งเป็นผลสมพระทัยอยู่มาก

ร่างสองร่าง โผล่ออกจากเงากำแพงพระตำหนักฤดูร้อน พากันเดินไปตามถนนสายนั้น ด้วยอาการเรื่อยๆ ช้าๆ ทั้งสองมิได้เดินเคียงกันอย่างควรจะเป็น คนหลังเป็นสตรีอยู่ห่างจากบุรุษที่เดินหน้า พอจะเป็นที่สังเกตได้ว่า คนทั้งสองอยู่ในฐานะต่างกัน พระราชาพิมพิสารกับนางสนมนั่นเอง

แสงอรุณลำแรก เพิ่งจะฉายขอบฟ้า สีดำมืดของกลางคืน ที่ตีนฟ้าด้านตะวันออก เริ่มสางขึ้นเรืองๆ น้ำค้างยามอรุณโรงละอองหนาขึ้น ทำให้อากาศเพิ่มความเย็น แม้ไก่ก็ยังไม่ยอมโก่งคอขัน ดาวประกายพฤกษ์เปล่งรัศมีแจ่มจ้าอยู่เหนือแสงสีทองที่ซ่านสูงขึ้นทุกขณะ

ทั้งเจ้ากับข้า ยังคงเดินเรื่อยๆ ผ่านสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ไปโดยลำดับ บางครั้งก็หยุดพิจารณาสิ่งที่สะดุดตาตามระยะทาง ในยามนี้คนที่เห็นที่นอนเป็นสวรรค์ ก็มักจะไม่เห็นประโยชน์ของอากาศยามรุ่ง แต่พระเจ้าพิมพิสารทรงถือเอาเป็นเวลาเสด็จตามปรกติ

เมื่อเสด็จผ่านถึงตอนที่มีบ้านหลังใหญ่ตั้งอยู่พระองค์มักจะชลอบาท ประทับยืนสงบไปชั่วขณะและในชั่วเวลาที่ทรงสงบนั้น ดูเหมือนทุกสิ่งทุกอย่างจะพลันสงัดราวกับโลกจะหลับลงไปอีก และแล้วในสายลมที่ครางแผ่วอยู่บนยอดไม้ก็มีเสียงแหวกความเงียบออกมาจากกระท่อมเล็กๆ อันตั้งอยู่ลึกเข้าไปสุดลานบ้าน เปล่า, ไม่ใช่เสียงไก่หรือดุเหว่าเจ้าเวลา แต่มันเป็นเสียงมนุษย์ มันก้องไปในอากาศ มีกังวานแจ่มใส ราวกับเป็นสัญญาณเบิกอรุณ “อุ. อา. ก. ส...อุ. อา. ก. ส...อุ. อา-อุทัยแล้ว ตื่นเถิด ได้เวลาทำงานแล้ว ท่านทั้งหลายเอ๋ย” แล้วต่อมาไก่กับเจ้าดุเหว่าเสียงหวานก็พลอยผสม

มันดังอยู่เพียงเท่านี้ ซ้ำๆ กันอยู่ทุกคราอรุณ แต่นางสนมผู้ตามเสด็จ ก็ได้เห็นเจ้าชีวิตของนาง ประทับนิ่งราวกันเสียงนั้นเป็นเสียงสาปทุกครั้ง ต่อมาก็ได้ยินพระดำรัสว่า “นั่นเป็นเสียงคนเจ้าทรัพย์” แล้วก็เสด็จดำเนินต่อไป

วันแรกๆ เสียงนั้น ก็พอจะทำให้นางสนใจอยู่บ้าง แต่บัดนี้ เมื่อได้ยินพระดำรัสอีกนางก็ซ่อนยิ้มเหมือนจะแกมเยาะด้วย เพราะนางได้ส่งคนไปสืบดูเจ้าของเสียงนั้นแล้ว เขาเป็นคนพเนจร ไม่มีใครรู้ว่ารกรากถิ่นฐานเดิมเขาอยู่ที่ไหน และบัดนี้เขาจะเป็นคนเจ้าทรัพย์ได้อย่างไร ในเมื่อฐานะของเขาสูงกว่าวณิพกนิดเดียว ที่ไม่ต้องร้องเพลงแลกอาหาร แต่เปลี่ยนเป็นรับจ้างปลุกทาสให้ลุกขึ้นทำงาน เขาทำหน้าที่ได้เหมาะดีหรอก เพราะเสียงของเขาดังก้องไปไกล ใครได้ยินแล้วจะยังขืนนอนอยู่อีกไม่ได้ ใครๆ ก็พากันตั้งชื่อให้เขาว่า “กุมภโฆสก”

วันนี้ นางได้ยินพระดำรัสเช่นนี้อีก นิสัยอวดฉลาดประกอบกับความรู้สึกหมั่นไส้ ทำให้นางลืมเจียมฐานะ ทูลขัดออกไปทันทีว่า

“เขาเป็นคนกำพร้าคนหนึ่งเท่านั้น เพคะ !”

“งั้นรึ !” ตรัสด้วยสำเนียงยั่วๆ “คนกำพร้าเป็นเศรษฐีก็ถมไปนี่นะ”

“แต่หม่อมฉัน ส่งคนไปสืบดูรู้แล้วเพคะ! เขารับจ้างปลุกคนงานในบ้านนั้น”

“เสียงปลุก ให้ลุกขึ้นทำงานนั่นแหละ เป็นสัญญาณของเศรษฐีละ เพราะคนร่ำรวยได้เพราะการทำงาน ไม่ใช่เพราะการเห็นแก่ความอบอุ่นในที่นอน อากาศเช้า ฟ้าสีทอง ใกล้รุ่ง ขจัดเสนียดอัปมงคลของมนุษย์ดีนัก ใครตื่นนอนทันรับแสงอรุณได้ทุกวันๆ อย่างชายผู้นี้แล้ว เป็นเจริญ”

“แต่ขณะนี้ เขาเป็นคนอนาถานะเพคะ !” นางเถียงอย่างไม่ยอมลดละ

“คนอนาถา เพราะเหตุไร้ที่พึ่ง ไม่ใช่เพราะไร้ทรัพย์”

ตรัสเปรยๆ เป็นปริศนา ทำให้นางสนมปากกล้ายืนงง ทรงเห็นอาการของนางก็ยิ้มสัพยอก “ชอบเป็นเศรษฐีกะเขาบ้างไหมล่ะ ? ถ้าชอบก็อย่านิ่งเป็นซากอย่างนั้นซิเจ้า ออกเดินกันเถอะ” แล้วเสด็จนำต่อไปพร้อมกับทรงอุทาน “ความเกียจคร้านเป็นความมรณะแห่งกาลเวลา เป็นมหาโจรปล้นชีวิต”

แม้ฟ้าจะไม่สว่าง เพราะอำนาจเสียงปลุกนั้นก็จริง ดวงทิวาที่เยี่ยมพักตร์ขึ้นมาเหนือขอบโลกนั้นต่างหาก ที่แผ่แสงเปิดพิภพ สกุณาปักษาร่อนผ่าน โผไปสู่แหล่งที่อุดมด้วยอาหาร แต่ภาพคนงานในบ้านหลังใหม่นั้น ต้องเกิดขึ้นเพราะเสียงปลุกแน่ ในเมื่อดวงตะวันให้ความสว่างแก่โลกได้ แต่จะปลุกคนเกียจคร้านให้ลุกขึ้นทำงานเหมือนเสียงปลุกของกุมภโฆสกนั้นไม่เคยสำเร็จ ปศุสัตว์ถูกปล่อยจากคอก แล้วก็บ่ายหน้าไปสู่ทุ่งหญ้าอันเขียวสด โคถูกคนงานจูงออกเทียมกับแอกเกวียน แล้วต่อมาก็ก่อให้เกิดเสียงเอี๊ยดอ๊าด ระงมกับเสียงกระดึงที่คอโค ไปสู่ที่โน่น ที่นั่นสุดแต่จะมีธุรกิจคอยอยู่ คนงานบางส่วนก็กำลังทำความสะอาดคอกปศุสัตว์ และสัตว์พาหนะ เสียงภาชนะกระทบกันดังรอดออกมาถึงภายนอก ควันอันเกิดจากการปรุงอาหาร ลอยอ้อยอิ่งขึ้นเหนือหลังคาเรือนไปทุกบ้าน ทุกเรือน อา...ตื่นแล้ว !

นับแต่ได้ทูลขัดเจ้าชีวิต ไม่ว่าจะทำอะไร ? อยู่ที่ไหน ? และเวลาใด ? เสียงอันมีกังวานประหลาดนั้นแว่วอยู่ในมโนสำนึกของนางสนมตลอดกาล พระดำรัสของเจ้าชีวิต จะเป็นการอุทานทัก หรือวิจารณ์ได้ตอบก็ตาม ยังฟังเอาเป็นหลักฐานไม่ได้ ว่าทรงหมายถึงกระแสสำเนียงหรือเพียงแต่ให้เป็นปริศนาธรรม ดังที่ผู้มีการศึกษานิยมใช้กันอยู่ แต่ความว้าวุ่นที่หนักไปทางช่วยให้มั่นใจ ก็คือเจ้าชีวิตของนาง ต้องไม่ตรัสอะไรเหลวไหลแน่ๆ

ความเป็นคนกำพร้าอนาถาของกุมภโฆสก อาจจะเป็นเครื่องอำพรางวาสนาของตนต่อผู้อื่นได้ แต่สำหรับต่อเจ้าชีวิตจะได้หรือ ? เพราะพระกิติคุณของท้าวเธอ เป็นที่ทราบกันดีอยู่ข้อหนึ่งว่า ทรงสามารถในเชิงสัทศาสตร์เป็นเยี่ยมยอด แม้กระทั่งสดับเสียงนกเสียงกา ก็รู้ความหมาย ก็เสียงอย่างกุมภโฆสก จะยากอะไรสำหรับพระองค์ ?

“ถ้าเขาเป็นเศรษฐีในคราบของยาจกจริงแล้วที่ฐานะที่แท้ของเขา ควรจะถูกเปิดเผยเพราะเรา นามสนมคิดตกลงใจหลังจากทบทวนเห็นอะไรชัดเจนแล้ว แน่ละ ! นางคิดตามวิสัยข้าที่รักเจ้า, แม่ที่รักลูกและคนที่ไม่ชังทรัพย์ ฉะนั้น นางจึงกราบทูลเจ้าชีวิตรับอาสาที่จะนำตระกูลเศรษฐีมาเพิ่มพระบารมีอีกสักตระกูลหนึ่ง แต่ขอพระราชทานทรัพย์หนึ่งพันกหาปณะ, ทรงพระสรวล เมื่อได้สดับคำทูลอาสาของนาง”

“อะไรกัน ! นี่ยังไม่ลืมเสียงปลุกนั้นอีกหรือ ? เจ้าคนปากกล้า”

“ยังเพคะ ! หม่อมฉันคิดหาทางอยู่ทุกคืนวันว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถนำเขามาสู่พระบารมีได้ บัดนี้คิดตกแล้วเพคะ ! แต่ต้องขอพระราชทานหนึ่งพันเพคะ !”

“ไม่น้อยไปหรือสำหรับราคาความตั้งใจอันสูงส่งของเจ้า” นางรู้ทันทีว่านั่นเป็นวิธีประชดยั่วเย้า

“แต่ไม่แพงนะเพคะ! ที่จะแลกกับตระกูลอันมั่งคั่งที่จะมาเพิ่มพระบารมีอีกตระกูลหนึ่ง”

“เอาละ เอาละ ! ตกลง” ทรงผ่อนตาม “ข้าอยากจะรู้เหมือนกันว่า ผู้หญิงอย่างเจ้า นอกจากปากเก่งแล้ว ยังจะทำอะไรได้บ้าง แต่เจ้ามีวิธีการอย่างไรรึ ?”

“เป็นความลับเพคะ” นางทูลแล้วหัวเราะ

“ชะ ! สำคัญ นางแสนกล” ทรงสัพยอก “แต่เจ้ารู้ความหมายนั่นดีรึ ? เสียงปลุกน่ะ !”

“ไม่ทราบเกล้าเพคะ !”

“ปัญญาอย่างเจ้า ก็ดีแต่เอาไว้คิดวางเล่ห์ดักผู้ชาย ถึงเรื่องราวที่เป็นสาระแล้วไม่เห็นได้ความ” ทรงสรวลอีก เมื่อเห็นนางสนมสะดุ้ง “ข้าจะบอกให้รู้ไว้บ้างพอเป็นเครื่องช่วยในการวางอุบายของเจ้า เจ้าของบ้านที่กุมภโฆสกไปอยู่นั้น ชะรอยจะเป็นสาวกของพระสมณโคดม จึงกำหนดให้เขาใช้ คำว่า อุ. อา. ก. ส. นี้ ปลุกทาส

อุ. คือความขยันหมั่นเพียรในกิจการงาน อา. คือความคุ้มครองรักษาสมบัติ ก. คือ การเลือกคบแต่คนดีมีศีลธรรมเป็นมิตร ส. คือการเลี้ยงชีวิตให้เหมาะสมสภาพฐานะ ไม่ขี้เหนียวจนเดือดร้อนฝืดเคือง และไม่สุรุ่ยสุร่ายในการจ่าย เรียกว่าประหยัด ธรรม ๔ ประการนี้ พระสมณโคดมทรงแสดงสำหรับบุคคลที่ต้องการจะเป็นเศรษฐี อุ. อา. ก. ส. ใครภาวนาไว้เป็นนิจแล้วจะไม่ยากจน” นางสนมชักจะง่วงๆ นอน ทรงสังเกตเห็นก็ส่ายพระพักตร์

“หน้าอย่างเจ้า ก็เห็นเหมาะที่จะอยู่เป็นทาสเขาชั่วชีวิต ไปจัดการเอาตามประสงค์”

ชีวิตมีธรรมดาของมันอยู่อย่างหนึ่ง คือนอกจากดิ้นรนเพื่อลมปราณแล้ว ยังดิ้นรนเพื่อแข่งขันกัน จะเป็นอยู่ต่างชั้นต่างฐานะกันอย่างไร ก็แข่งกันตามวิสัยแห่งชั้นเชิงเท่าที่ตนครองอยู่ ยาจกก็แข่งขันกับยาจกด้วยกัน ที่จะได้รับส่วนทานให้มาก โจรก็แข่งขันกันปล้น พาณิชก็แข่งกันหากำไร พระราชาก็แข่งขันกันบันลือวาสนาบารมี ตระกูลเศรษฐีเป็นเครื่องวัดวาสนาบารมีได้อย่างหนึ่ง ฉะนั้นการสะสมตระกูลเศรษฐีไว้ประดับแว่นแคว้น จึงเป็นเศรษฐีกรีฑาของกษัตริย์ แคว้นใดมีตระกูลเศรษฐีไว้มาก ก็ภาคภูมิว่ามีอำนาจวาสนาสูง หากแคว้นใดไม่มี ก็ถือว่าเป็นกษัตริย์อนาถา น่าอัปยศต้องพยายามให้มี มีแล้วแต่ยังน้อย ก็พยายามมีให้มาก สงครามระหว่างแคว้น จะประกาศว่าเกิดเพราะเหตุอะไรก็ตาม แต่สาเหตุอันเป็นมูลฐานของสงครามแล้ว ส่วนมากก็เพราะเหตุนี้ทั้งนั้น ?

พระเจ้าพิมพิสาร เป็นกษัตริย์ที่อุดมวาสนาพระองค์หนึ่ง เพราะแคว้นมคธของพระองค์มีเศรษฐีอยู่หลายคน ครั้งหนึ่งเคยเจือจานแบ่งไปถวายพระเจ้าปเสนทิแห่งโกศลรัฐ ซึ่งเป็นภัสดาภคินีแห่งกันและกันอยู่ คือท่านธนญชัยเศรษฐี ซึ่งไปตั้งหลักฐานอยู่ระหว่างนครทั้งสอง คือ สาเกตเมืองของเบญจกัลยาณี วิสาขา อันเป็นบุตรีของท่านธนญชัยนั่นเอง ซึ่งภายหลังได้เป็นอุบาสิกาสำคัญยิ่งผู้หนึ่งในพุทธศาสนา ฉะนั้น การที่นางสนมรับอาสาครั้งนี้ จึงเป็นที่ต้องพระทัยของพระเจ้าพิมพิสารอยู่



(มีต่อ 5)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 22 ต.ค.2004, 6:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นางพราน

พระตำหนักฤดูร้อนรู้สึกว่าเงียบลงไปบ้าง นับแต่นางสนมกับธิดารูปงามของนางได้จากไป ทั้งนี้ใช่ว่าจะไร้เสีย ซึ่งนางสนมพนักงานอื่นๆ

พระตำหนักฤดูร้อนรู้สึกว่าเงียบลงไปบ้าง นับแต่นางสนมกับธิดารูปงามของนางได้จากไป ทั้งนี้ใช่ว่าจะไร้เสียซึ่งนางสนมพนักงานอื่นๆ ข้าราชบริพารนั้นยังหนาแน่นพรั่งพร้อมตามวิสัยราชา แต่ใครๆ ก็ไม่เหมือนนาง เพราะทุกคนไม่เคยเข้ามาก้าวก่ายเกินเลยต่อพระองค์ หน้าที่วางไว้อย่างไรก็ทำอย่างนั้น จนทรงเห็นว่าพวกนี้ดีกว่าตุ๊กตานิดหนึ่ง ที่หายใจ หัวเราะและร้องไห้ได้เอง การจากไปของสนมปากกล้าผู้นั้นทำให้พระองค์ได้คิดว่า การเป็นอยู่ที่ไม่ถูกล่วงเกินบ้างเลยนี้ มันก็ไม่ผิดอะไรกับรูปเคารพเหนือแท่นบูชาถูกเทิดทูนดอก แต่ว้าเหว่สิ้นดี ความสูงศักดิ์อุดมอำนาจมันทำให้คนเคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลา ความไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงทะลุกลางปล้องบ้องตื้นของนาง ที่ใครๆ เขาพากันตำหนิติเตียนนั้นมันกลับเป็นสิ่งที่ช่วยให้พระองค์สดชื่นสนุกสนาน ไม่มีใครรู้หรอกว่าพระองค์อยากจะถูกล่วงเกินอยู่เหมือนกัน แต่อะไรเล่ามันแยกพระองค์กับคนเหล่านั้นไว้ ราวกับว่าอยู่กันคนละโลก

หลายวันต่อมา นางก็ส่งคนมาทูลขอให้พระองค์มีพระราชโองการประกาศไปในย่านของคนรับจ้างว่า ให้ทุกคนจัดมีงานรื่นเริงในบ้านของตัว หากใครไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกปรับไหม พระองค์ก็ส่งราชบุรุษออกไปจัดการตามความประสงค์ของนาง ในวันถัดมาพระองค์ก็ได้รับกหาปณะที่นางส่งเข้ามาถวายหนึ่งอัน และอีกสามวันต่อมานางก็ส่งข่าวมาทูลขอให้ประกาศอย่างเดิมอีก และก็ส่งกหาปณะเข้ามาอีกเท่าเดิม แต่คราวนี้นางขอให้มีหมายเรียกกุมภโฆสกมาเฝ้าด้วย ซึ่งพระองค์ก็อำนวยตาม ทั้งๆ ที่ยังไม่เข้าพระทัยการกระทำของนางเลย แต่ก็ทรงสนุกสนานพอควร

ราชบุรุษยังไม่ทันนำกุมภโฆสกมาเฝ้า นางสนมกับธิดาสาว ก็เดินหน้าชื่นเข้ามาก่อน

“ไหนเล่าเศรษฐีของข้า ?” ทรงตรัสด้วยพระพักตร์เบิกบาน

“จะมาถึงภายหลังเพคะ ! เพราะต้องออกแรงกันบ้าง” นางทูล

“ทำไม ?” ทรงเบิกเนตรอย่างงงๆ

“เข้าใจว่าจะถูกเรียกมาลงอาชญาเพคะ !” นางหมายถึงกุมภโฆสก “เถียงราชบุรุษเสียงก้องทีเดียว งานรื่นเริงก็มีให้แล้วถึงสองครั้ง ทำไมต้องมาแอบอ้างคร่าตัวไปข่มเหงกันอีก เถียงพลางดิ้นรนปัดป้องไปพลาง แรกๆ หม่อมฉันก็ขำ แต่ดูอาการและสีหน้าแล้วก็สงสาร เลยเข้าไปปลอบว่าหม่อมฉันกับลูกหญิง จะเข้ามาร้องทุกข์ต่อพระองค์แต่ก็ไม่ลืม”

“ไม่ลืมอะไร ?”

“ไม่ลืมแอบเข้าไปกระซิบกับราชบุรุษ ว่าให้ช่วยกันมัดมาให้ได้ภายหลัง”

“เจ้ามีหลักฐานเพียงพอหรือ ?”

“กหาปณะที่ส่งเข้ามาถวายนั่นแหละเพคะ”

ทรงเอื้อมไปหยิบเอากหาปณะ ๒ อันมาพินิจอยู่ชั่วครู่ “ ลำบากมากไหม ?”

“ลำบากน่ะไม่เท่าไหร่เพคะ ! แต่ยากสิไม่น้อย” ยิ้มอย่างหน้าเป็น “เขาเป็นคนที่เข้าถึงยาก ระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา จะติดต่อกับใคร จะต้องดูแล้วดูอีกเหมือนกวางหวาดภัย แต่ก็หนีไม่พ้นฝีมือพราน”

“เจ้าวางอุบายอย่างไรล่ะ จึงเข้าถึงตัวเขาได้”

“หม่อมฉันใช้ วิธี เอาน้ำเข้าสอนปลาเพคะ !” คำตอบของนาง ทำให้พระองค์งงไปชั่วขณะแต่พอเห็นนางมองๆ ไปทางธิดาสาว ซึ่งหลบตาลงด้วยเชิงเอียงอาย พระองค์ก็เข้าพระทัยได้

“อืมม์ เจ้ากล้าลงทุนเพียงนั้นเทียวหรือ ?”

“เมื่อเทียบกับพระมหากรุณาแล้ว ไม่คุ้มกันดอกเพคะ !”

“งั้นรึ ? ข้าคิดว่าเจ้าหวังผลมากกว่า ที่ปากหวานช่างยอพล่อยออกมาเสียอีกนะ” ทรงสรวลเบาๆ แลชายเนตรชำเลืองดูธิดาสาวของนางสนม ซึ่งยังพะวงซ่อนอายไม่สร่างซา “เล่าให้ข้าฟังซิ! เป็นหมากรุกให้เจ้ากำหนดตาเดินมาหลายวันแล้วยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย”

นางสนมเล่าเหตุการณ์ถวายว่า

“หม่อมฉันชวนลูกหญิงภาวนาออกไป ด้วยความเชื่อมั่นในกฎธรรมชาติที่ว่า “ปลาย่อมไม่ชังน้ำฉันใด ชายย่อมไม่ชังหญิงฉันนั้น” แต่เพราะน้ำเป็นที่รักของปลา หญิงจึงเป็นที่ปรารถนาของชาย ภาวนาของหม่อมฉันหน้าตาพอดูนะเพคะ

“เออๆ ! งามเหมือนแม่มัน ว่าต่อไปเถอะ เจ้าแสนกล” นางสนมหัวเราะกิ๊ก แล้วเล่าต่อ

“แม้การสงบเสงี่ยมเจียมตน ดังที่หม่อมฉันสืบทราบล่วงหน้ามาก่อนก็จะยากอะไร ที่จะเข้าให้ถึงตัวเขา หม่อมฉันสองแม่ลูกก็ลดตัวลงเป็นนางยาจกอนาถา เข้าไปถึงเขาด้วยอาการอันเหนื่อยอ่อน พเนจรต่อไปไม่ไหวเอาเลยแม้แต่ก้าวเดียว นั่งแปะลงแล้วก็ขอเขาอาศัยพักสัก ๒-๓ วัน ครั้งแรกเขาปฏิเสธ เราก็เลยกรีดน้ำตาอ้อนวอนให้เวทนา เขาจึงยินยอมให้พักอย่างไม่เต็มใจ แต่ชั่วคืนกันวันหนึ่งเท่านั้น ตอนนี้แหละเพคะ หม่อมฉันวางบ่วง”

“เอาน้ำล่อปลาละซี” ทรงทาย

“ยังเพคะใช้รส มือก่อน คืนแรกเขาให้เราแม่ลูกนอนในห้อง ส่วนเขาลากเตียงเชือกมานอนหน้าห้อง พอตรู่ๆ เขาก็ร้องปลุกทาส สว่างแล้วก็ไปทำงาน เราสองแม่ลูกเลยช่วยกันไปจ่ายอาหารดีๆ มาปรุงอย่างสุดฝีมือ เท่าที่ชั่วชีวิตได้รับการอบรม ฝึกปรือมาจากในวังจะพึงทำได้ ทำให้ใบหน้าของเขาแจ่มใสเบิกบานขึ้นอย่างเห็นชัด และเราเลยถือโอกาสนั้นแหละละเมิดสัญญาของเขาพักต่อไปอีก เขาตอบทันทีไม่ทราบว่าจะคิดหรือเปล่าว่า “ได้จ๊ะ”

“สำคัญๆ นางพรานเจ้าเล่ห์” ทรงตรัสชมอย่างสัพยอก “ท้องอิ่มใจก็อิ่ม พูดกันรู้เรื่องง่าย ฉะนั้นการปรึกษา การงานธุรกิจ เขาจึงนิยมเลี้ยงอาหารกันเสียก่อน ความหิวไม่ดีเลย ทำให้เข้าใจกันยาก ต่อไปซิ”

“มาตอนนี้ ดูเหมือนเขาจะลืมเสียแล้ว ว่าเราจะต้องจากไป ค่ำคืนหนึ่งหลังจากเรามาอยู่หลายวันแล้ว เขาบริโภคอาหารเสร็จก็ล้มตัวลงนอนบนเตียง แต่สายเตียงขาดเขาจึงฟุบไปอยู่ระหว่างขอบเตียง” นางหยุดหัวเราะ

“ทำไมจึงขาดล่ะ !”

“หม่อมฉันลอบตัดไว้เพคะ !” นางหัวเราะอีก “หม่อมฉันบอกกะเขาว่าเด็กๆ ภายนอกมันมาเล่นพัง เขาโกรธใหญ่ร้องประกาศว่า แต่ก่อนจะไปไหนปิดประตูก็พ้นภัย แต่พอเรามาอาศัยก็เดือดร้อน หม่อมฉันปลอบเขาอย่างอ่อนหวานแล้วบอกให้เขามานอนในห้อง อนุญาตให้ร่วมเตียงกับลูกหญิง รุ่งขึ้นเขาลืมปลุกทาสขึ้นทำงาน ภาวนาของหม่อมฉันร้องไห้”

“อ้าวทะเลาะกันหรือ ?”

“เปล่าเพคะ ! เขารักกันน่ะ เพคะ !” ชำเลืองดูภาวนาธิดาสาว เห็นอายโผล่มาอีก เสียงระบายอัสสาสะปัสสาสะจากทรวงดังถนัด

“ผู้หญิง ข้าเข้าใจน้องลงทุกวัน เศร้าโศกในสิ่งที่ถูกใจ ขวยอายในเรื่องที่ต้องการ” ตรัสยั่วเย้าสรวลผสม

“นับแต่นั้นหม่อมฉันก็เป็นแม่ยายเขาเพคะ !” นางเล่าต่อ “แต่แม้จะเป็นเขยเป็นแม่ยายกันแล้ว ก็ยังไม่อาจจะรู้แหล่งทรัพย์ของเขาได้เพราะ เขายังนุ่งเจียมห่มเจียมมีสติสัมปชัญญะดีอยู่เสมอ หม่อมฉันจึง วางอุบายบีบให้เขาจำเป็นต้องใช้ทรัพย์มากให้จงได้ จึงได้ทูลให้พระองค์ทรงประกาศให้คนรับจ้างมีมหรสพประจำบ้าน ดังมีไปแล้วน่ะแหละเพคะ

ครั้งแรกเขาไม่ยอมทำตาม บ่นว่าไม่มีเงิน หม่อมฉันแนะว่าไม่มีก็ต้องหา ไม่มาก็ต้องไป เพราะเราเป็นข้าแผ่นดินมีฐานะเสมือนลูกหนี้ของเจ้าชีวิต ควรแสดงกตัญญูสนองพระราชประสงค์ให้ได้ อีกสถานหนึ่งเล่า ก็ด้วยพระมหากรุณาของเจ้าชีวิตนั้นเอง เพื่อจะเป็นนิมิตรมงคลแก่ท้องถิ่น เพราะ ณ ที่นี้เคยประสบกับโรคร้ายระบาดล้างผลาญชีวิตคนมาจนกลายเป็นบ้านร้างบางล่มไปครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อสิบกว่าปีโน้นเขาจึงยอมอ่อนข้อให้

ต่อแต่นั้นเราสองแม่ลูกก็ช่วยกันจับกิริยาของเขาว่าเขาจะไปนำเงินมากจากไหนเพราะเรารู้แน่ว่าเงินที่ติดบ้านอยู่น่ะไม่มีพอจัดงานรื่นเริงแน่ๆ คืนก่อนที่จะถึงวันกำหนดมีงานสองวัน เขาเดินออกจากบ้านด้วยอาการเหมือนกวางหวาดภัย ตอนดึกสงัดหม่อมฉันย่องตามไปดู แต่เขาก็ไปไกล จนกระทั่งเลยหมู่บ้านเข้าแดนป่าไปทางทิศตะวันตก หม่อมฉันเกิดกลัวขึ้นมาจึงไม่ตามต่อไป แต่นอนไม่หลับ จึงรู้ว่าเขากลับมาค่อนสว่าง ก่อนออกจากบ้านไปทำงาน เขาเอากหาปณะมาให้หม่อมฉันจำนวนหนึ่ง บอกว่าแม่ช่วยจัดตามประกาศทีเถอะ พอไม่พอก็มีเท่านี้ ถามว่าได้มาแต่ไหน เขากลับรีบเดินจากไป เหมือนดังกลุ้มแสนกลุ้ม หม่อมฉันจึงได้เอาเหรียญกหาปนะของเขามาถวาย ทั้งสองคราว โดยเอาของหม่อมฉันจ่ายในงานรื่นเริงแทน มันพอจะเป็นหลักฐานสำหรับบังคับให้เขาเปิดเผยแสดงฐานะได้แล้วมิใช่หรือเพคะ ?”

นางจบเรื่องลงด้วยคำถาม พระราชาพิมพิสารสดับเรื่องราวปะติดปะต่อกันได้แล้ว ก็ทรงเห็นช่องทาง พยักพระพักตร์เป็นเชิงรับรองความเห็นของนาง

“สำคัญมาก นางพรานแสนกล”

“พอจะทรงทราบหรือยังเพคะ ? ว่าผู้หญิงอย่างหม่อมฉันพอจะทำอะไรได้บ้าง” นางหาญยั่ว ด้วยการฟื้นคำประนามแต่หลัง จนถึงกับสรวลอย่างต้องพระทัย “ผู้หญิงเป็นเพศอ่อนแอเพคะ ! เหมือนน้ำที่ใครๆ ก็ว่าเหลวไหล แต่อย่าลืมนะเพคะ ! น้ำที่เซาะที่ไหนพังที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นภูเขา หรือฝุ่นทราย ถ้าจะทรงงานสำคัญแล้ว อย่าลืมผู้หญิงนะเพคะ !”

คราวนี้ ไม่มีรอยแย้มสรวล ก้มเศียรรับมติของนางด้วยพระอาการจริงจัง พลันเสียงฝีเท้าหนักๆ ของคนหลายคนดังอยู่นอกพระตำหนัก

“เห็นจะมาถึงกันแล้วกระมังเพคะ !” นางสนมเหลียวกลับไปทางประตู

“เราจะได้รู้กันเสียทีว่า เขาคือใคร”

“เขาเป็นลูกเขยหม่อมฉันเพคะ !”

“เออน่ะ ! นางแม่ยายเศรษฐี”

นางสนมบ้องตื้น หัวเราะกิ๊ก แล้วก็คลานเข้าไปเบื้องพระปฤษฎางค์ริมพระฉาก รวมอยู่กับภาวนาธิดาสาว



>>>>> จบ >>>>>
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
ว่าวสวน
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 27 ม.ค. 2007, 12:03 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง