Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เย้ยมัจจุราช (หลวงตาแพรเยื่อไม้) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 21 ต.ค.2004, 9:31 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เย้ยมัจจุราช
โดย หลวงตาแพรเยื่อไม้


จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา


บรรยายเรื่องนี้เกิดขึ้นที่นครกบิลพัสดุ์ ปรารถเหตุพระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดาทรงปรีดาปราโมทย์เมื่อพระโอรสสิทธัตถะคืนสู่พระบุรี ตลอดเวลาที่พระโอรสจากไป พระทัยของพระองค์วุ่นวายอยู่ด้วยความอาวรณ์ถวิล ไม่เคยทรงพระเกษมสำราญเลย

ฉะนั้น จึงทรงปรีดาปราโมทย์นักหนา เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นพระโอรสซึ่งประทับยืนอยู่บนแพขนาน จากฝั่งโรหิณีฟากโน้น เคลื่อนใกล้เข้ามาพลางหันไปตรัสกับบรรดาพระญาติ และราชบริพารด้วยพระสุรเสียงแจ่มใสว่า

สุทโธทนะ “การกลับมาของเขา มีความหมายแก่ดวงใจข้าเสมือนดังพายุแห่งความสุขได้พัดกระพือ ไล่หมู่เมฆบนน่านฟ้า ที่บดบังเทพจันทราหรือดวงสุรีย์มาชั่วกาลนาน เป็นโอกาสของจันทะและสุริยะจะได้เปล่งแสงกระจ่างหล้าเมฆหมอกนั้นคือทุกข์ถวิลของข้า สุริยันจันทรานั้นคือดวงใจของข้า...อา ! ไม่เสียเวลาเลยที่ข้าหวังในการคอย”

บรรยาย ดวงพระทัยของเหล่าศากยราชญาติประยูรและหัวใจของประชานิกร ก็ดุจเดียวกับจอมบดินทร์ปิ่นสักกะพักตร์อิ่มเอิบ และอาบชุ่มด้วยแววสุขสีชมพู ราวกะพระพิรุณโบกขรพรรษได้หลั่งซู่ซ่าลงมาจากวิมานเมฆ ดวงใจทั้งกบิลพัสดุ์ ได้รับการปลอบขวัญอย่างสมค่าสมกับเศร้ากำสรดมาเนิ่นนานพระพุทธเจ้าถูกนำเสด็จไปประทับที่อุทยานนิโครธ เมื่อมีโอกาสพระเจ้าสุทโธทนะเคลื่อนองค์เข้าไปใกล้พระโอรสแล้ว ตรัสว่า

สุทโธทนะ “ลูกเอ๋ย...! บ่อยครั้งเหลือเกิน ที่พ่อได้ข่าวทั้งในความตื่นและความฝัน ว่าลูกไม่ได้รับความสำเร็จ เพราะความตายเข้ามาตัดรอนทอนโอกาสของลูกเสียก่อน เขาเปลี่ยนหน้ากันเข้ามาเสนอข่าวแก่พ่อ ฐานะเป็นพ่อค้าวาณิชบ้าง ชาวไพรบ้าง เป็นเทพเจ้ามาบ้าง แต่ทุกครั้งและทุกคน ไม่ได้รับความเชื่อถือจากพ่อเลย เพราะพ่อมั่นใจในลูกของพ่อมาก

แม้ลูกจะได้เคยทำให้พ่อผิดหวังในเรื่องการครองราชย์ก็ตาม แต่พ่อก็คิดว่าบางทีความชราจะทำให้หัวใจพ่อ ไม่แจ่มใสพอที่จะมองเห็น คุณค่าของชีวิตได้เท่าเทียมกับสายตาของคนหนุ่มเช่นลูกเหตุนี้พ่อจึง ไม่เคยสิ้นหวังในลูกเลย พ่อมั่นใจว่า ไม่มีมารตนใดดอกที่จะมาตัดรอนความเป็นอัจฉริยะของลูกได้ เพราะพ่อรู้ว่า ลูกมีความเข้มแข็ง ที่เหนือกว่าความพยายามของปวงมาร และบัดนี้ จริงไหมล่ะ ? อา...! พ่อกำลังคิดถูก ลูกไม่เคยทำให้พ่อคิดอะไรผิดเลย...ลูกที่ดี ทำให้หัวใจพ่อแม่มีเหตุผลเสมอ”

พระพุทธเจ้า “มหาบพิตร ใช่ว่าพระองค์จะมีความมั่นพระทัยในตถาคต ผู้โอรสแต่เฉพาะบัดนี้ก็หาไม่ แม้ในกาลก่อนพระองค์ก็ทรงเป็นเช่นนี้ ”

สุทโธทนะ “เรื่องเคยมีมาแล้วหรือลูกเอ๋ย ?”

พระพุทธเจ้า “เป็นเช่นนั้น มหาบพิตร”

สุทโธทนะ “หากเห็นว่าเป็นประโยชน์แล้ว พูดเถิดลูก”

พระพุทธเจ้า “ถ้าเช่นนั้นขอเชิญพระองค์สดับ”

(ดนตรี)

บรรยาย หมู่บ้านนั้น เรียกกันว่า ธรรมปาลคาม เหตุที่ได้ชื่อตำบลอย่างนี้ก็เพราะถือเอาตามนามของนายบ้าน ซึ่งมีชื่อว่ามหาธรรมบาล และเหตุที่นายบ้านได้ชื่ออย่างนี้ ก็เพราะนายบ้านผู้นี้ปกครองคนในตำบลนี้ด้วยธรรมะ

ธรรมปาลคาม ควรจะเป็นหมู่บ้านตัวอย่างตามอุดมคติของนักปกครองทีเดียว เพราะมีความสงบสุขอย่างยากที่จะหาจากชุมชนอื่นๆ ใบหน้าของทุกคนเป็นใบหน้าที่แจ่มใสสดชื่น ทุกคนมีพลานามัยแข็งแรง และไม่มีอาชญากรรมและทุษกรรมที่น่าบัดสี (หากหนังสือพิมพ์มีเรื่องที่ปรากฏเป็นข่าว ก็มีแต่เรื่องที่เป็นมงคลควรรู้เห็นเท่านั้น) ไม่เหมือน น.ส.พ. ทุกวันนี้

นายบ้านมีภรรยาที่น่ารัก มิเพียงแต่รูปกายเท่านั้น, น้ำใจก็งามสมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติของแม่บ้านอีกด้วย และภรรยาผู้นี้แหละ ให้กำเนิดบุตรขึ้นคนหนึ่ง หากมีภรรยาจะเป็นดวงใจมิ่งขวัญของกันและกัน แต่ลูกคนเดียวนี้ก็เป็นดวงตาของเขาทั้งสอ งและเขาตั้งนามบุตรว่า ธรรมบาลกุมาร อีกนั่นแหละ อย่างไรก็ตามธรรมบาลกุมารผู้นี้ก็ได้เจริญวัยขึ้นมา ภายใต้อ้อมกอดของคุณธรรมจริงๆ จนกระทั่งอายุย่างเข้าสู่วัยควรจะศึกษาวิทยาการ สองสามีภรรยาก็ปรารถแก่กันและกัน

มหาธรรมบาล “มัทนา บัดนี้ชีวิตและความรักของเราก็มีผลสมบูรณ์แล้ว แต่หน้าที่ของเรายังหาสมบูรณ์ไม่”

มัทนา “ข้าแต่นาย ฉันฟังท่านยังไม่เข้าใจนะเจ้าคะ โปรดอธิบายหน่อยซิ...!”

มหาธรรมบาล “ที่ว่าชีวิต...ความรักของเราสมบูรณ์ก็คือว่า ความรักของเรามีพยานและสายใยที่จะผูกพันเรามิให้ทอดทิ้งกัน เหมือนดังความวิตกกังวลในใจของคนที่ไม่มีบุตร และก็บุตรนี่แหละมาทำให้ความเป็นชายความเป็นหญิงของเราทั้งสองสมบูรณ์อย่างแท้จริง ก็คือฉันได้เป็นพ่อ เธอได้เป็นแม่ไงล่ะจ๊ะ”


(มีต่อ ๑)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 21 ต.ค.2004, 9:33 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มัทนา “อ้อ...ฉันเข้าใจแล้วเจ้าค่ะ ที่แท้ก็ (ให้มีสำเนียงเหนียมอาย) ไม่เบื่อบ้างหรือคะ จนลูกโตจะเป็นหนุ่มแล้ว”

มหาธรรมบาล “(หัวเราะ) ก็ไม่เห็นจะน่าอายอะไรนี่เธอ จะเก่าหรือจะใหม่ ถ้อยคำอ่อนหวานมีเหตุมีผลนั้นใช้ได้ทุกกาลสมัย มีคนอีกมากหลายที่ละเลยในเรื่องนี้ จะอ่อนจะหวานยกย่องกันก็เมื่อเวลาวันแรกรักกันเท่านั้นพอรักสมหวังก็เลิกอ่อนหวานใช้แต่ถ้อยคำกระด้างหยาบคาย ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเรือน ต้องฟังคำหยาบๆ คายๆ ของมารดาบิดา แล้วก็ก่อนิสัยที่ไม่ดีขึ้น ทำไมเดี๋ยวนี้ เธอเบื่อคำเกี้ยวของฉันเสียแล้วหรือ มิ่งขวัญของฉัน”

มัทนา “อุ๊ย...ฟังเข้าซี ขันจะตายแล้ว (หัวเราะ) คำเกี้ยวเป็นคำที่ไม่ได้เกิดจากความสุจริตใจผู้พูดหวังผลกำไรในผู้ฟัง จึงเฝ้าเสกคำไพเราะให้ใจลอย หญิงเราน่ะเสียหายมาเพราะคำเกี้ยวนี้มากนักแล้ว… เพราะเพลินหูน่ะซิจึงต้องเสียใจ พอรู้ว่าเสียหายก็หมดโอกาสจะกลับตัว เสียใจยังไม่ช้ำเท่าเสียตัวนะเจ้าคะ”

มหาธรรมบาล “แต่ที่พี่กล่าวถึงนี้มิได้เกี้ยวด้วยเล่ห์กลดอกนะ เพราะเรามีสิ่งจำเป็นที่จะต้องเกี้ยวกันไว้รักกันไว้ มิใช่เพื่อความสุขของเราเท่านั้น แต่เพื่อลูก”

มัทนา “อ้อ...นี่เกี้ยวเมียเผื่อลูกหรือเจ้าคะ ?”

มหาธรรมบาล “ใช่แล้วที่รัก พี่ต้องการให้ลูกได้ยินถ้อยคำของเรา ซึ่งล้วนแต่สุนทรอ่อนหวาน จะได้เป็นทางปลูกฝังนิสัยทางวาจาแก่ลูกในกาลต่อไป เพราะหน้าที่ของเราที่จะปฏิบัติต่อลูกนั้น มันละเอียดประณีตยิ่งนัก”

มัทนา “ทำไม ก็หน้าที่ของบิดามารดาให้เกิดมาได้นั้น ยังไม่สมบูรณ์อีกหรือเจ้าคะ ?”

มหาธรรมบาล “โอ ! นั่นมันหยาบและง่ายเกินไปสำหรับมนุษย์ วิสัยมนุษย์นั้นมิใช่จะวัดความเจริญแต่ทางรูปกายอย่างเดียว ต้องวัดความเจริญทางด้านนิสัยใจคออีกด้วย ฉะนั้น การให้กำเนิดทางกายจึงนับว่าเป็นการทำหน้าที่ได้เพียงแต่เริ่มต้นเท่านั้น หน้าที่ต่อไปของเราผู้เป็นพ่อคนแม่คนจะต้องคอยแนะนำ ปลูกฝังคุณธรรมให้จิตใจของลูก เจริญด้วยคุณสมบัติอีกด้วย”

มัทนา “เราจะทำอย่างไรอีกเจ้าคะ ทุกวันนี้เราก็แนะนำสั่งสอนอยู่แล้ว”

มหาธรรมบาล “มันยังไม่เป็นการเพียงพอที่รัก เพียงแต่เราสองคนเกิดมาก็อยู่แต่ในหมู่บ้าน อย่างจะได้รู้ได้เห็นอะไรก็แต่ในหมู่บ้าน แต่โลกที่ลูกของเราจะอยู่นั้น มันมิใช่จะแคบเพียงบริเวณหมู่บ้านธรรมปาลคามนี้เท่านั้น ฉะนั้นเราควรจะได้ส่งลูกไปศึกษาหาความรู้ ความฉลาดในถิ่นที่เขานิยมกัน”

มัทนา “ที่ไหนเล่าเจ้าคะ ?”

มหาธรรมบาล “มหานครตักกสิลา”

มัทนา “(ทำเสียงตกใจ) ตักกสิลา อุ๊ย ตายแล้วไม่ได้ดอกเจ้าค่ะ ไฉนท่านจึงดำริเป็นการทารุณโหดร้ายแก่ลูกเช่นนั้น ลูกเรายังเล็กและเรายังไม่เคยจากกันแล้วใครจะคอยช่วยเหลือแกจะกินอย่างไร จะนอนอย่างไร ลูกจะไปลำบาก โอ้ฉันทนให้ลูกจากไปไม่ได้แน่ๆ”

มหาธรรมบาล “อย่ารักลูกในทางผิด อย่าหลงเก็บลูกไว้กับความโง่และอ่อนแอ มีพ่อแม่มากหลายที่ต้องรับความขมขื่น เพราะรักลูกด้วยวิธีที่ไม่ฉลาดทะนุถนอมลูกจนเกินควร ไม่ให้โอกาสลูกได้ใช้ความสามารถหรือสติปัญญา เช่น มีพี่เลี้ยง พี่ ป้า ตา ยาย พะนอเอาใจ จะเหยียดมือเหยียดเท้าออกแรงเหน็ดเหนื่อยสักหน่อยก็เฝ้ารำพันสงสารลูกสมเพทหลาน ชิงกระทำเสียเองไม่ยอมให้ลูกได้ออกเรี่ยวแรงและใช้มันสมอง

ในที่สุดเมื่อพลัดพรากจากกันไป เพราะเหตุที่ไม่อาจรักคอยพะเน้าพะนอไปตลอดค้ำฟ้าได้ เคราะห์ร้ายก็ตกอยู่แก่ลูกหลาน มีมือก็เหมือนไม่มี มีสมองก็เสมือนไม่มี ทำอะไรไม่ได้ คิดอะไรเองไม่เป็น ต้องมีชีวิตอยู่ในโลกเหมือนคนพิการ เป็นง่อยทั้งๆ ที่ร่างกายสมบูรณ์ นี้คือผลของความรักของผู้ใหญ่ ที่หลับหูหลับตารักลูกรักหลาน คำโบราณท่านก็ว่าไว้ว่า บิดามารดาที่ไม่ให้การศึกษาแก่บุตรได้ชื่อว่าเป็นโจรปล้นอนาคตของบุตร เธอต้องการเป็นแม่ที่ปล้นลูกตัวเองหรือ ?”

มัทนา “ฉันคิดว่า ลูกเราไม่เห็นจะต้องฉลาดเลิศลอยไปถึงไหน เพราะทรัพย์สมบัติที่เราสั่งสมไว้นี้ก็พอที่จะทำให้ลูกมีความสุขไปจนตาย เหตุนี้ฉันจึงไม่เคยคิดที่จะให้ลูกจากไปไหน เพราะเราไม่เคยจากกัน จะดีจะเลวจะโง่ฉลาดอย่างไรก็ขอให้ดีเลวโง่ฉลาดอยู่ใกล้แม่เถิด เท่านั้นก็พอแล้ว”

มหาธรรมบาล “ข้อนั้นฉันเองก็เห็นใจ ใช่ว่าฉันจะสุขนักเมื่อไรที่ลูกมาจากไกล แต่ความสำนึกของพ่อทำให้ฉันต้องข่มใจ และอยากจะขอร้องให้เธอกระทำเช่นนี้ด้วย”

มัทนา “สุดที่จะหักจะห้ามนะเจ้าคะ”

มหาธรรมบาล “แต่ก็ไม่เกินวิสัยที่จะหักจะห้ามมิใช่หรือ? เลี้ยงลูกจะให้เข้มแข็งก็อย่าแสดงความอ่อนแอให้ลูกเห็นซิที่รัก จริงอยู่สมบัติเรามีมากแต่สมบัติที่อยู่ในมือของคนโง่อาจจะกลายเป็นอาวุธประหารเขาเองก็ได้ ใครจะทำนายหรือประกันได้ว่าลูกจะไม่นำทรัพย์ออกใช้เป็นเครื่องทำลายตัว เมื่อเรายังมองไม่เห็นความฉลาด รอบคอบของเขา แล้วยามตายเราจะนอนหลับตาตายเป็นสุขได้อย่างไร ?”

มัทนา “ถ้าเช่นนั้นฉันก็จะพยายามหักใจ แต่มันคงจะทารุณจิตใจไม่น้อยนะเจ้าคะ”


(มีต่อ ๒)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 21 ต.ค.2004, 9:35 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มหาธรรมบาล “การจากกันเช่นนี้เป็นเรื่องที่หลีกไม่พ้นแน่ แม้ขณะนี้เราจะไม่จากกันแต่ ชีวิตของเราจะอยู่ชั่วฟ้าดินสลายไม่ได้ เราก็ต้องจากกันอยู่นั่นเองสักวันหนึ่ง ข้างหน้า การส่งลูกไปศึกษาเล่าเรียนในแดนไกล นอกจากเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกทดสอบต่อสู้กับเหตุการณ์ด้วยลำพังตัวเองแล้ว ยังเป็นการทดสอบตัวเราเอง ฝึกหัดตัวเราเองให้รู้จักกับความพลัดพรากจากกัน จงยินดีทำตามความดำริของพี่เถิดที่รัก อ้อ ! นั่นพ่อกุมารลูกเรามาพอดี”

(ดนตรี)

บรรยาย เด็กชายปรากฏร่างด้วยท่าทางสดชื่นร่าเริง เดินยิ้มแป้นเข้ามาร่วมวงสนทนากับบิดามารดา เมื่อทำการคารวะแล้วเขาจึงเอ่ยขึ้น

กุมาร “ลูกสังเกตเห็น แม่จ๋า ! ดูหน้าแม่ซีดเจียว แม่ไม่สบายหรือจ๊ะแม่ ?”

มัทนา “เปล่าหรอกลูก แม่พูดธุระกับพ่อของลูก ตกลงกันยากหน่อยเท่านั้น”

กุมาร “อ้อ...คุณแม่กับคุณพ่อกำลังพูดธุระเรื่องการงาน ถ้าอย่างนั้นลูกขอโทษ”

มหาธรรมบาล “พ่อได้ปรึกษากับแม่ของลูก และตกลงกันแล้วว่าจะให้ลูกไปเล่าเรียนยังนครตักกสิลา”

กุมาร “อ้อ...แล้วคุณพ่อกับคุณแม่ไปด้วยหรือเปล่า”

มหาธรรมบาล “พ่อกับแม่ไปด้วยไม่ได้หรอก เราจะต้องอยู่ที่นี่ เพื่อเป็นที่พึ่งของชาวบ้านธรรมปาลคามและพร้อมกันก็เพื่อทำงานสะสมทรัพย์เพื่อส่งไปให้ลูกเป็นทุนศึกษาเล่าเรียน ลูกจะต้องไปคนเดียว”

กุมาร “ไปเมื่อไร”

มหาธรรมบาล “อีกสองสามวันข้างหน้า มีพ่อค้าชาวนครตักสิลาที่เขาได้มาแวะพักขายสินค้า อยู่ในหมู่บ้านเราหลายวันแล้ว เขาเป็นคนมีนิสัยโอบอ้อมอารีดีมาก ได้รับปากกับพ่อว่าจะพาลูกไปในขบวนเกวียนด้วย จงเตรียมตัวนะลูกนะ !”

กุมาร “ลูกไม่อยากไปเลย ถึงลูกจะไม่ฉลาดแต่ลูกก็สบายเมื่ออยู่ใกล้คุณพ่อคุณแม่”

มัทนา “(ปนสะอื้น) โถ ! ลูกเอ๋ยเหมือนควักเอาหัวใจแม่ไปพูด”

มหาธรรมบาล “พ่อกับแม่ก็เป็นสุขเมื่อมีลูกอยู่ใกล้ แต่เห็นว่าการปล่อยให้ลูกจากไปสักชั่วครั้งชั่วคราวเช่นนี้จะเป็นทางช่วยให้ชีวิตลูกจำเริญก้าวหน้ามากกว่า ฉะนั้นเราจึงควรจะต้องข่มใจอย่าเห็นแก่สุขสบายจนเกินไป ลูกรัก ! สมบัติอะไร ? จะยืนยงคงทนเท่าวิชาความรู้เป็นไม่มี เพราะวิชาความรู้เป็นเสมือนกุญแจวิเศษที่จะไขกลไกแห่ง ความลับเข้ากอบโกยเอาสุขสมบัติ ได้สมปรารถนาจงจำความสำคัญข้อนี้ไว้ว่า

(กลอนนี้จะเปลี่ยนเป็นทำนอง และดนตรีคลอก็จะดี)

คชสารเสียงาสง่าหมด
อุโบสถไร้ช่อฟ้าโสภาหา
โคต่างเตี้ยเสียหางงามจางคลาย
เกิดเป็นชายไร้วิชาพาเสียงาม”


(มีต่อ ๓)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 21 ต.ค.2004, 9:38 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บรรยายและด้วยประการฉะนี้ ในที่สุดธรรมบาลกุมารก็ไปปรากฏ เป็นศิษย์ของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ณ นครตักกสิลา ด้วยการสั่งสอนอบรมของบิดามารดาประกอบ ด้วยความเฉลียวฉลาดอันเป็นทุนอยู่โดยธรรมชาติ ก็ทำให้ธรรมบาลกุมารเป็นศิษย์คนหนึ่งที่อาจารย์ภาคภูมิใจไม่น้อย

อยู่ต่อมาเหตุการณ์เศร้าสลดได้เกิดขึ้นคือบุตรชายของอาจารย์ ซึ่งอยู่ในวัยเดียวกับกุมาร และเป็นเพื่อนที่รักใคร่กันถึงแก่กรรมลงด้วยโรคปัจจุบัน ยังความเศร้าโศกให้แก่เพื่อนร่วมสำนัก และบิดามารดาเป็นอันมาก เพราะปรากฏว่าชายหนุ่มผู้นี้เป็นผู้มีนิสัยน่าคบค้าสมาคม จำนวนคนร้องไห้อาลัยจึงมีมาก

แต่ธรรมบาลกุมารไม่เคยร้องไห้จนทำให้เพื่อนร่วมศึกษาคิดว่า ธรรมบาลกุมารไม่มีความเสียใจในการตายของบุตรอาจารย์ จึงมีบางคนเข้าไปกระซิบบอกอาจารย์เป็นเชิงหาความดีใส่ตัว แต่อาจารย์ก็เป็นอาจารย์พอคือรักเหตุผล คิดว่าเท่าที่ธรรมบาลกุมารไม่ร้องไห้เหมือนคนอื่นนั้น คงมีเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่ วันหนึ่งจึงเรียกธรรมบาลกุมารเข้าไปสนทนาแต่ลำพัง

อาจารย์ “กุมาร...ชะรอยเธอจะมีเรื่องกับบุตรเรากระมัง เธอจึงไม่สู้มีความรู้สึกในการตายของบุตรเราเหมือนคนอื่น”

กุมาร “ท่านอาจารย์ครับ กระผมประพฤติอย่างไรผิดไปหรือ จึงทำให้อาจารย์คิดเช่นนั้นขอรับ ?”

อาจารย์ “น้ำตาเป็นเครื่องหมายแห่งความอาลัยรัก บุตรเราตายมีคนมากหลายร้องไห้ แม้แต่เราซึ่งแก่เฒ่าแล้วก็อดที่จะหลั่งน้ำตาไม่ได้ แต่เธอไม่เคยเสียน้ำตาให้แก่บุตรของเราเลย”

กุมาร “อาจารย์ครับ ใจนั้นมันจะรู้สึกอย่างไร ในขณะเดียวกันหลายอย่างไม่ได้ ขณะนี้ผมไม่มีความรู้สึกเพื่อจะร้องไห้เพราะความสงสัยมันเข้าครอบงำใจผมเสียก่อน กระผมจึงไม่อาจเชื่อว่าเพื่อนของกระผมจะตายจริง เพราะคนหนุ่มๆ จะตายได้อย่างไร ?”

อาจารย์ “อะไรทำให้เธอคิดสงสัยเช่นนั้น ?”

กุมาร “เพราะตั้งแต่กระผมเกิดมา กระผมยังไม่เคยพบคนที่อายุยังน้อยเท่านี้ตาย และที่บ้านของกระผมคนหนุ่มคนสาวก็ไม่เคยตาย จะตายกันก็ต่อเมื่ออายุเข้าเขตชรา แล้วเท่านั้น ฉะนั้นจึงปรากฏอีกอย่างหนึ่งว่า การร้องไห้เพราะการตายในหมู่บ้านกระผมไม่เคยมี เพราะคิดกันว่าการตายของทุกๆ คนเขามีอายุมากสมควรจะตายแล้วจึงไม่มีการร้องไห้”

อาจารย์ “เป็นไปได้หรือกุมาร ที่เธอพูดมานี้ ?”

กุมาร “แต่ก็เป็นอย่างนี้ตลอดมาครับ”

อาจารย์ “เราเห็นผิดวิสัยนักเพราะความตายไม่ว่ากาลไหนๆ และถิ่นที่ใดๆ ไม่เคยเลือกวัย แก่เฒ่า สาว หนุ่ม หรือเด็กทารก ก็ล้วนแต่มีอันต้องตายทั้งนั้น แต่ที่เธอยืนยันว่าหมู่บ้านธรรมปาลคามมีปกติเช่นนั้น อาจจะมีอุบายวิธีป้องกันความตายเมื่อยังไม่ถึงเวลากระมัง”

กุมาร “ท่านอาจารย์ขอรับ กระผมไม่สามารถเรียนถึงข้อนี้ได้ เพราะกระผมเองก็ยังมีอายุน้อยคงจะมีแต่กระผมไม่ทราบก็เป็นได้ขอรับ”

(ดนตรี)

บรรยาย คำตอบของธรรมบาลกุมารทำให้อาจารย์ทิศาปาโมกข์เกิดความคิดที่จะพิสูจน์เรื่องนี้ จึงได้ออกอุบายมอบหน้าที่สั่งสอนศิษย์แก่ธรรมบาลกุมาร แจ้งว่าตนจะจาริกไปเพื่อให้ลืมความเศร้าสะเทือนใจสักชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ความมุ่งหมายที่แท้จริงนั้น ท่านมุ่งตรงไปสู่ธรรมปาลคาม ในระหว่างทางพบกระดูกแพะกองอยู่ จึงเก็บใส่ห่อผ้าขาวแบกสะพายไปจนถึงธรรมปาลคาม และพบกับนายบ้านอย่างไม่ยากเลย


(มีต่อ ๔)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 21 ต.ค.2004, 9:42 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อาจารย์ “หมู่บ้านของท่านเป็นถิ่นที่น่าอยู่มาก ข้าพเจ้าย่างเข้ามาครั้งนี้เป็นครั้งแรกก็จริง แต่ก็เหมือนกำลังเดินอยู่ในหมู่ญาติซึ่งคุ้นเคยกันมานานปี ช่างอบอุ่นเสียจริงๆ ทุกคนมีใบหน้ายิ้มแย้มแช่มชื่น เพียงแต่เอ่ยปากถามถึงบ้านท่านเพียงครั้งเดียว ก็มีคนรับอาสาพามาส่งเป็นขบวนยืดยาว เออ ! ช่างน่าเป็นสุขจริงหนอ ?”

มหาธรรมบาล “เราชาวบ้านปาลคามต่างถือเป็นธรรมเนียมว่าแขกที่มาสู่บ้านเรา เป็นผู้ที่เอาศิริมาเป็นของขวัญแก่หมู่บ้าน เราจึงให้เกียรติแก่คนแปลกหน้า และถือเป็นประเพณีมาชั่วกาลนาน ว่าแต่ท่านผู้เจริญเถอะท่านคงมาจากถิ่นไกลกระมัง ?”

อาจารย์ “ถูกแล้วข้าพเจ้ามาจากนครตักกสิลา”

มัทนา “โอ ! เป็นมงคลแก่เรายิ่งนักที่ท่านมาจากตักกสิลา เพราะบุตรของเราก็กำลังไปศึกษาอยู่ที่โน่น เราจึงถือว่าอะไรมาจากถิ่นที่บุตรเราอยู่นั้น ล้วนเป็นสิริมงคลไปทั้งนั้น”

อาจารย์ “แต่ข้าพเจ้ามีความเสียใจที่การมาของข้าพเจ้าครั้งนี้ ไม่อาจจะนำสิริมงคลมาให้แก่ท่านเหมือนหวัง เพราะข้าพเจ้านี่แหละคืออาจารย์ของบุตรชายคนเดียวของท่าน”

มหาธรรมบาล “มัทนา (เป็นสำเนียงตกใจพูดพร้อมๆ กันแสดงเอะอะ) เอ๊ะ ! ทำไมหรือ บุตรเราประพฤติเสียหายให้แก่สำนักอย่างไรหรือ ? (ซ้ำๆ)”

อาจารย์ “ข้าพเจ้าเห็นอาการของท่านแล้ว ไม่กล้าบอกความเรื่องนี้เสียเลย”

มหาธรรมบาล “บอกเถอะท่าน อย่าเกรงใจเลย”

อาจารย์ “ในห่อผ้าขาวนี้แหละ เป็นข่าวคราวทั้งหมดที่ข้าพเจ้านำมา ข้าพเจ้ามีความเสียใจที่ให้ความฉลาดแก่บุตรท่านได้ แต่ไม่อาจรักษาชีวิตของเขาไว้ได้ เขาตายเสียแล้ว”

มหาธรรมบาล “มัทนา (เว้นระยะสักครู่ แล้วก็ต่างหัวเราะ หรือจะมีใครร่วมหัวเราะด้วยก็ได้ เพื่อแสดงว่าในวงสนทนาว่ามีหลายคน) โธ่ ! ท่านอาจารย์ไม่น่าเลย...ขำดี...สงสัยจะเป็น พวกแสดงละครเร่น่ะนา (หัวเราะ) นั่นซี กุมารตาย...คนหนุ่มตาย...(พูดหลายๆ คน หัวเราะไม่เชื่อ)”

อาจารย์ “เอ๊ะ ! ท่านทั้งหลายเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ท่านควรหัวเราะเลยนะ”

มหาธรรมบาล “ชะรอยท่านจะมีเรื่องพนันขันต่อกับบุตรเรา ? ถ้าจริงเช่นนั้น ท่านก็แพ้ เพราะเราทั้งหมดนี้สนุกกับข่าวของท่านเสียจริงๆ เพราะกุมารลูกเรา เกิดมาในธรรมปาลคามจึงจะต้องไม่ตายในวัยหนุ่ม”

อาจารย์ “ก็กระดูกในห่อผ้าขาวนี้ไม่ได้เป็นพยานที่ดีอีกหรือ ?”

มหาธรรมบาล “นี่มันเป็นพยานเท็จของความตาย อย่าพยายามเลยท่านผู้เจริญ”

อาจารย์ “(ทอดระยะ...) ข้าพเจ้าก็ดีใจที่ท่านไม่เชื่อ กระดูกนี้เป็นกระดูกแพะ ที่ข้าพเจ้าพบระหว่างทาง เก็บเอามาก็มิใช่จะหลอกลวงให้ท่านเสียใจ แต่ต้องการพิสูจน์ถ้อยคำของกุมารศิษย์เรา ซึ่งบอกว่าที่นี่ไม่มีการตายก่อนวันอันสมควร และข้าพเจ้าก็เห็นจริงจากความเชื่อถือของท่านทั้งหลาย ณ บัดนี้...ท่านนายบ้านผู้เจริญ ท่านมีอุบาย หรือของขลังศักดิ์สิทธิ์อย่างไรหรือ ? จึงทำให้คนในหมู่บ้านของท่านบุญมั่นขวัญยืนอย่างนี้ ?”

มหาธรรมบาล “เรามีมนต์ป้องกันมัจจุราช ทุกคนในธรรมปาลคาม สาธยายมนต์อย่างขึ้นใจ”

อาจารย์ “มนต์ที่ว่านี้ เป็นมนต์ที่มีค่ามากหนักหนา ข้าพเจ้าแม้จะมีฐานะอาชีพเป็นครูอาจารย์ แต่มนต์นี้ไม่เคยสดับเล่าเรียนมาเลย ท่าน ท่านหวงหรือไม่ ?”

มหาธรรมบาล “เป็นกุศลแก่ข้าพเจ้านักหนาทีเดียว หากใครจะเรียนเอาไปจากข้าพเจ้า ขอแต่ให้รู้ความหมายของมนต์ปฏิบัติตามความหมายของมนต์เท่านั้น อย่าเอาไปท่องแต่เพียงปากจะไม่เกิดประโยชน์อย่างใดเลย”


(มีต่อ ๕)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 21 ต.ค.2004, 9:46 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อาจารย์ “มนต์นั้นมีว่าอย่างไร ?”

มหาธรรมบาล “มีว่า ปา, อะ, กา, มุ, สุ, เป็นคาถาห้าพยางค์เท่านั้นแหละ ท่านผู้เจริญ”

อาจารย์ “มันมีความหมายอย่างไร ? และจะต้องปฏิบัติต่อมนต์นี้อย่างไร ?”

มหาธรรมบาล “ปา หมายถึงการเว้นจากความโหดร้าย ต้องทำจิตใจให้มากด้วยเมตตา กรุณา แผ่ความรัก ความเมตตาไปในชีวิตทั้งมวลโดยไม่มีขอบเขต,

อะ หมายถึงการเว้นจากการหาเลี้ยงชีพในทางทุจริตผิดธรรม และต้องปฏิบัติตนเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละประโยชน์ตนเพื่อความสุขของผู้อื่น,

กา หมายถึงการเว้นจากความมักมากในกามคุณและต้องปฏิบัติตนเป็นคนพอใจในสิ่งที่รัก เช่น สามีภรรยาเป็นต้น,

มุ หมายถึงการเว้นจากความไม่จริงทั้งปวง และต้องอบรมตนเป็นคนรักความจริง,

สุ หมายถึงการเว้นสัมผัสสิ่งที่ทำให้จิตใจเลอะหลงและปฏิบัติตนเป็นคนมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ

อาจารย์ “ข้าพเจ้าใคร่จะฟังเหตุผล มนต์ที่มีความหมายและต้องปฏิบัติดังกล่าวนี้ จะทำให้อายุคนยืนยาวได้อย่างไร ?”

มหาธรรมบาล “ท่านผู้เจริญ คนที่ต้องตายก่อนเวลานั้นก็เพราะไม่อาจควบคุมตนอยู่ในคุณธรรมได้ ปล่อยใจให้ความโลภ โกรธ หลงเข้าครอบงำจิตใจ แล้วก็ประทุษร้ายกันและกัน ถ้าไม่สิ้นชีวิตเพราะการประหัตประหารกัน กิเลสร้ายก็จะเผาสุมชีวิตให้เกราะเหมือนแรงไฟเผาสุมภาชนะให้เปราะแตกง่าย จะเห็นได้จากใบหน้าราศีของคนมักโกรธ มากด้วยโทสะมักมีสีหน้าเหมือนถูกไฟรนไหม้อยู่ตลอดเวลา และมีอาการเหมือนคนที่นอนไม่เต็มตื่น

เพราะต้องระวังทรัพย์เกรงคนร้ายใจเลวจะมาฉกลักเอาไป นี่ก็เป็นทางแห่งอายุสั้นพลันตายและอีกอย่างหนึ่งคนที่เสพกามบันเทิงสุขเกินขอบเขต ก็เป็นที่สังเกตให้เห็นได้ชัดๆ ว่าอายุไม่ยืนสักรายเดียว ฯ คนเช่นนี้ในธรรมปาลคามของข้าพเจ้าไม่มีเลย ทั้งที่ท่านก็เห็นอยู่แล้ว การที่ข้าพเจ้าไม่เชื่อกุมารสิ้นชีวิตนั้น ก็เพราะข้าพเจ้ามั่นใจในบุตรข้าพเจ้า เราทั้งสองได้อบรมบุตรเรา ให้มั่นคงในคุณธรรมเก่าแก่เท่านั้น และเชื่อว่าถึงอย่างไรๆ บุตรเราคงไม่ทอดทิ้งมนต์ป้องกันมัจจุราชอย่างแน่นอน”

- ลาวดวงเดือน -

บรรยาย อาจารย์ทิศาปาโมกข์กลับตักกสิลาด้วยจิตใจที่เยือกเย็น ท่านพึ่งได้สำนึกเมื่อมาธรรมปาลคามนี่เอง ว่าบำเพ็ญหน้าที่อาจารย์บกพร่องตลอดมา คือให้แต่ความรู้ แต่ไม่ได้ให้ความประพฤติที่ดีงามด้วย ต่อจากนั้นมาในสำนักศึกษาแห่งนี้ก็เปิดวิชาจริยธรรมขึ้นอีกวิชาหนึ่ง และถือเป็นวิชาเอกในบทเรียนทีเดียว ในกาลต่อมามัจจุราชในแดนตักกสิลาก็ถูกเย้ย



---------- จบ ----------
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
เย้ยมัจจุราช
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 16 พ.ค.2007, 8:34 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ
 
chanon
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 06 ส.ค. 2007
ตอบ: 8

ตอบตอบเมื่อ: 09 ส.ค. 2007, 12:10 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ศีล 5 เย้ยมัจจุราช โมทนา สาธุ
 

_________________
อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
tiger36
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 06 ก.ย. 2007
ตอบ: 18

ตอบตอบเมื่อ: 28 ต.ค.2007, 7:09 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุๆ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
suvitjak
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 26 พ.ค. 2008
ตอบ: 457
ที่อยู่ (จังหวัด): khonkaen

ตอบตอบเมื่อ: 08 ส.ค. 2008, 1:14 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ ขอบคุณครับ ซึ้ง
 

_________________
ซื่อกินไม่หมดคดกินไม่นาน
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง