Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ทางหลุดพ้นจากวังวนแห่งความขัดแย้ง (พระไพศาล วิสาโล) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 03 ส.ค. 2006, 2:56 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ทางหลุดพ้นจากวังวนแห่งความขัดแย้ง
โดย พระไพศาล วิสาโล


เรื่องต่อไปนี้เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน

“วิชัย” เป็นนักศึกษาที่อึดอัดและหงุดหงิดอย่างยิ่งกับวิธีการสอนของอาจารย์ผู้หนึ่ง เนื่องจากอาจารย์ชอบพูดเล่าเกี่ยวกับตัวเองในชั้นเรียน เช่น เป็นใคร มาจากไหน ทำอย่างไรจึงมีสามีเป็นรองอธิการบดี มีบ้านใหญ่โตแค่ไหน นอกจากนั้น วิชัยยังพบว่าอาจารย์ผู้นี้บรรยายโดยลอกตัวอย่างจากหนังสือของอาจารย์อีกผู้หนึ่ง โดยไม่มีเนื้อหาเป็นของตัวเองเลย ด้วยเหตุนี้เขาจึงประท้วงด้วยการเดินออกจากห้องเรียนกลางคันถึงสามครั้ง อาจารย์เห็นก็ไม่พอใจ พูดตำหนิเขาว่า “ไม่มีสัมมาคารวะ เพราะบุพการีไม่สั่งสอน”

เมื่อผลสอบออกมา ปรากฏว่าวิชัยได้เกรด D เขาเชื่อว่าตนถูกอาจารย์กลั่นแกล้ง จึงตอบโต้ด้วยการทำจดหมายเปิดผนึกระบายความรู้สึกเกี่ยวกับอาจารย์ผู้นี้โดยไม่ระบุชื่อ แล้วพิมพ์แจกให้อาจารย์ทุกคนในภาควิชา พร้อมกับลงชื่อตัวเองด้วย

อาจารย์ไม่พอใจอย่างยิ่ง จึงเอาเรื่องของวิชัยไปพูดในห้อง และตำหนิด้วยถ้อยคำรุนแรง เมื่อวิชัยรู้ก็โกรธ รู้สึกว่าอาจารย์ด่าลับหลัง จึงเข้าไปในห้องที่อาจารย์ผู้นั้นสอนเพื่อจะได้ฟังกับหู ทันทีที่อาจารย์เห็นหน้าวิชัย ก็คิดว่าเขาจะมาก่อกวน จึงพูดว่า “ถ้าเธออยู่ ครูจะไม่สอน และจะเรียก รปภ. ให้มาจับออกไป” วิชัยโกรธมากเพราะตนเพียงแต่เข้าไปนั่งเฉยๆ ยังไม่ได้ทำอะไรเลย จึงเดินตรงไปหาอาจารย์และพูดว่า “อาจารย์ไม่มีสิทธิไม่สอน ทำไมนักศึกษาต้องยอมให้อาจารย์บอกว่าจะสอนหรือไม่สอน”

ระหว่างนั้นอาจารย์หันหลังให้ เพื่อเก็บหนังสือเตรียมเดินออก วิชัยจึงเข้าไปทำท่าจะจิกหัวและคล้ายจะตบหน้าอาจารย์ ในใจนั้นคิดอย่างเดียวว่าทำอย่างไรให้แรงเพื่ออาจารย์จะได้รู้สึกตัว ขณะนั้นเองอาจารย์หันกลับมาเห็น จึงร้องบอกให้นักศึกษาในห้องเป็นพยาน วิชัยจึงพูดสบถว่า “บัดซบ ทุเรศ”

เหตุการณ์ดังกล่าวลงเอยโดยวิชัยถูกลงโทษพักการเรียนหนึ่งภาค ส่วนอาจารย์ผู้นั้นช็อคกับเหตุการณ์เกือบสติขาด กลายเป็นคนหวาดระแวงไป

เรื่องนี้บอกอะไรหลายอย่างที่ควรแก่การพิจารณา ที่เห็นเด่นชัดก็คือปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนเกิดความขัดแย้งขึ้นมา หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น

แต่ถ้ามองให้กว้างแล้วจะพบว่าความขัดแย้งดังกล่าวกำลังเกิดขึ้นกับทุกที่และในความสัมพันธ์ทุกระดับ ไม่ใช่จำเพาะนักศึกษากับอาจารย์เท่านั้น แต่รวมไปถึงลูกกับพ่อแม่ สามีกับภรรยา ลูกน้องกับเจ้านาย และเพื่อนกับเพื่อน ไม่ว่าในบ้าน ที่ทำงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่วัด ล้วนหนีไม่พ้นปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่จำเป็นจะต้องลงเอยแตกหักอย่างเรื่องข้างต้น กระนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้น มีความเป็นไปได้สูงที่จะจบลงในลักษณะนั้นหรือยิ่งกว่า โดยเฉพาะเมื่อทุกฝ่ายลุแก่โทสะ ขาดสติ อีกทั้งยังมีทรรศนะที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

สิ่งหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากกรณีตัวอย่างข้างต้นก็คือ พลวัตหรือพัฒนาการของความขัดแย้ง แม้ว่าความขัดแย้งจะมีหลากหลายลักษณะ แต่กรณีข้างต้นเป็นบทเรียนอย่างดีที่ชี้ให้เห็นว่าความขัดแย้งลุกลามขยายตัวไปได้อย่างไร

เหตุปัจจัยประการแรกก็คือ อคติ เมื่ออคติเกิดขึ้น โดยเฉพาะโทสาคติและภยาคติ (ลำเอียงเพราะเกลียดและกลัว) การรับรู้ย่อมคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เช่น มองผู้อื่นในแง่ลบ รวมทั้งคาดการณ์ล่วงหน้าไปในทางร้าย ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อวิชัยได้เกรด D เขาก็สรุปทันทีว่าเป็นเพราะอาจารย์กลั่นแกล้ง และแทนที่เขาจะทำเรื่องสอบถามคะแนนจากอาจารย์หรือทำเรื่องร้องเรียนถึงหัวหน้าภาควิชา เขากลับปฏิเสธ เพราะเห็นว่าทำไปก็คงไม่ได้รับความเป็นธรรม ถึงอย่างไรอาจารย์ก็ต้องหาเหตุผลมายืนยันว่าเขาสมควรได้รับคะแนนเท่านั้น ส่วนอาจารย์ก็มีอคติกับวิชัยเช่นกัน เมื่อเห็นวิชัยเข้ามาในห้องเรียน ก็ปักใจเชื่อว่าเขาจะมาก่อกวน ถึงกับจะเรียกให้เจ้าหน้าที่ รปภ. มาจับเขาออกไป ซึ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

เหตุปัจจัยประการต่อมาก็คือ การตอบโต้ด้วยอารมณ์และวิธีที่เข้มข้นรุนแรงขึ้น เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อวิชัยแสดงความไม่พอใจอาจารย์ ด้วยการเดินออกจากห้องเรียนกลางคันถึงสามครั้ง อาจารย์จึงตอบโต้ด้วยการว่ากล่าวถึงบุพการี และเมื่ออาจารย์ให้เกรด D แก่วิชัย (ซึ่งไม่แน่ชัดว่าเป็นเพราะต้องการกลั่นแกล้งเขาหรือไม่)

วิชัยก็ตอบโต้ด้วยการทำจดหมายเวียนต่อว่าอาจารย์ไปทั่วภาควิชา อาจารย์ก็ไม่ยอมแพ้ เอาเรื่องของวิชัยไปว่ากล่าวหรือ “ประจาน” ในห้องเรียน และเมื่อวิชัยเข้ามานั่งฟังในห้องเรียน อาจารย์ก็ตอบโต้ด้วยการไล่ออกจากห้องและขู่จะเรียกเจ้าหน้าที่มาจับออกไป วิชัยจึงตอบโต้ด้วยการเข้าไปประชิดตัว ทำท่าจิกหัวอาจารย์และคล้ายจะตบหน้า ถึงตอนนั้นอารมณ์ของทั้งสองฝ่ายก็ระเบิดออกมาจนไม่อาจควบคุมได้ แต่เคราะห์ดีที่ยังไม่ถึงกับทำร้ายร่างกายกัน

วิชัยสารภาพในเวลาต่อมาว่า เป็นความตั้งใจของเขาที่จะ “ทำอย่างไรให้แรงเพื่อให้อาจารย์รู้สึกตัว” ไม่ว่าการประท้วงด้วยการเดินออกจากห้อง การทำจดหมายเวียนไปทั่วภาควิชา รวมทั้ง การทำท่าจิกหัวและตบหน้าอาจารย์ แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เขานึก สถานการณ์กลับเลวร้ายลงอย่างนึกไม่ถึง เขามารู้สึกผิดเมื่อรู้ว่าอาจารย์คู่กรณีนั้นสติแตกและเสียศูนย์ไปหลายวัน

เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นตัวอย่างชัดเจนว่า เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้น หากต่างฝ่ายต่างตอบโต้ด้วยวิธีการที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความขัดแย้งจะไม่ลดลง แต่จะไต่ระดับและลุกลามขยายตัวมากขึ้น ซึ่งเท่ากับยั่วยุให้ทุกฝ่ายใช้วิธีที่รุนแรงขึ้นอีก จนสุดท้ายไม่มีใครเป็นผู้ชนะเลย ทุกฝ่ายกลายเป็นผู้แพ้ เวรนั้นย่อมไม่อาจระงับได้ด้วยการจองเวรฉันใด ความขัดแย้งก็ไม่อาจระงับได้ด้วยความรุนแรงฉันนั้น แต่การจะระงับพฤติกรรมไม่ให้ออกมาในทางรุนแรงนั้น จะต้องจัดการที่ความรู้สึกนึกคิดในใจ เริ่มตั้งแต่อารมณ์ อคติ และความคิดปรุงแต่ง เพราะหากปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ครองใจ ก็จะทำให้การรับรู้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือมองเห็นคู่กรณีแต่ในแง่ร้าย ซึ่งในที่สุดจะปลุกเร้าให้เกิดพฤติกรรมที่รุนแรงออกมา

อารมณ์และอคตินั้น จะจัดการได้ต้องอาศัยสติเป็นสำคัญ เพราะสติช่วยให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ และไม่ปล่อยใจให้ปรุงแต่งไปตามอคติ อีกทั้งยังช่วยให้รับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ที่สำคัญก็คือสติยังสามารถเตือนใจให้รู้จักการให้อภัย หรือใช้ปัญญาในการแก้ไขความขัดแย้ง ชนิดที่เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย

ในวังวนแห่งความขัดแย้ง คู่กรณีทุกฝ่ายต่างเป็นเหตุปัจจัยให้แก่กันและกัน คือเป็นทั้งตัวการ (ผู้กระทำ) และเหยื่อ (ผู้ถูกกระทำ) ของกันและกัน การประณามซึ่งกันและกัน หรือการใช้ความรุนแรงต่อกัน มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งลุกลามมากขึ้นจนอาจเสียหายกันทั้งสองฝ่าย จะว่าไปแล้วความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีสภาพไม่ต่างจากกรณีตัวอย่างข้างต้น เป็นแต่ว่ายังไม่ลงเอยถึงที่สุด คำถามก็คือ เราจะปล่อยให้จบลงอย่างแตกหักดังกรณีวิชัยกับอาจารย์หรือไม่ ?



..............................................................

หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ มองอย่างพุทธ โดย พระไพศาล วิสาโล
วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10144
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
ผู้เยี่ยมชม






ตอบตอบเมื่อ: 03 ส.ค. 2006, 3:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เป็นคติสอนใจดีจริงๆ ครับ
สติ ขันติกับเมตตานั้นต้องพยายามสร้างให้มีในตนให้ได้ทุกขณะจิต
เพื่อฆ่าความโกรธ ความแค้นเคืองและความคับข้องใจที่มีอยู่ในใจตน


โมทนาด้วยนะครับ..คุณสาวิกาน้อย

สาธุ
 
I am
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 03 ส.ค. 2006, 7:03 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ...โมทนาด้วยครับคุณสาวิกาน้อย สาธุ
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง