Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เบญจศีลและเบญจธรรม อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 ส.ค. 2006, 11:41 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เบญจศีล และเบญจธรรม


คำว่า "ศีล" ได้แก่ ข้อประพฤติข้อปฏิบัติสำหรับควบคุมกายและวาจาให้ตั้งอยู่ในความดีงาม นอกจากนี้ "ศีล" ยังแปลได้อีกหลายอย่าง เช่น แปลว่า เย็น ศีรษะ เกษม สุข อดทน ความสำรวม ความก้าวล่วงละเมิด เป็นต้น

ผู้ที่ถือศีลย่อมได้รับอานิสงส์ อย่างนี้ คือ

๑. ไม่ต้องประสบความเดือดร้อนในภายหน้า
๒. ย่อมประสบความสำเร็จในการทำมาหากิน
๓. ชื่อเสียงเกียรติยศของผู้มีศีลย่อมแพร่หลายไปในหมู่นรชน (ในหมู่คนดี)
๔. ย่อมเป็นผู้องอาจ ไม่เก้อเขิน เมื่อเข้าไปในหมู่ของผู้มีศีล
๕. เป็นผู้ไม่หลงทำกาลกิริยา คือ ก่อนตายก็มีสติ ตายไปอย่างสงบ ไม่ทุรนทุราย
๖. เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ไม่ต้องตกนรก
๗. ผู้ที่บำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ มีสติบริบูรณ์ ย่อมทำตนให้สิ้นอาสวะได้ คือ สิ้นกิเลสได้

ศีลในทางพระพุทธศาสนามีการจัดอันดับข้อ ดังต่อไปนี้

ศีล ๕ ข้อ สำหรับสาธุชนทั่วไป มีชื่อเรียกว่า นิจศีล ปกติศีล
ศีล ๘ ข้อ สำหรับอุบาสก อุบาสิกา มีชื่อเรียกว่า คหัฏฐศีล อุโบสถศีล
ศีล ๑๐ ข้อ สำหรับสามเณร สามเณรี มีชื่อเรียกว่า อนุปสัมปันนศีล
ศีล ๒๒๗ ข้อ สำหรับพระภิกษุ มีชื่อเรียกว่า ภิกขุศีล
ศีล ๓๑๑ ข้อ สำหรับพระภิกษุณี มีชื่อเรียกว่า ภิกขุนีศีล

เบญจศีล คือ ศีล ๕ ได้แก่

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากฆ่าสัตว์มีชีวิต
๒. อทินนาทานา เวรมณี เว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของมิได้ให้
๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการกล่าวเท็จ
๕. สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี เว้นจากดื่มนำเมา คือ สุรา และเมรัย


เบญจธรรม คือ ธรรม ๕ ข้อ

๑. เมตตา กรุณา คู่กับ ศีลข้อที่ ๑
๒. สัมมาอาชีวะ คู่กับ ศีลข้อที่ ๒
๓. ความสำรวมในกาม คู่กับ ศีลข้อที่ ๓
๔. ความมีสัตย์ คู่กับ ศีลข้อที่ ๔
๕. ความมีสติรอบคอบ คู่กับ ศีลข้อที่ ๕

คำว่า "ธรรม" ได้แก่ สภาพที่ทรงไว้ หมายความว่า ทรงสัตว์ผู้ปฏิบัติธรรมไว้ไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว
"กัลยาชน" ได้แก่ คนที่ตั้งอยู่ในกัลยาณธรรม เป็นคนมีความประพฤติดีงาม เป็นที่นิยมถือของคนทั่วไป


ข้อความเบื้องต้น

มนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ย่อมมีรูปพรรณสัณฐานเป็นต่าง ๆ กัน บางคนก็มีรูปงามบางคนก็มีรูปทราม ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่เหตุจะตกแต่งให้ เหตุดีก็ตกแต่งให้มีรูปงาม เหตุชั่วก็ตกแต่งให้มีรูปทรามเพราะเลือกเอาตามใจหวังไม่ได้ คนมีรูปงามก็เป็นที่นิยมชมชอบของผู้พบเห็น ถ้ามีรูปเลวทรามก็ตรงกันขาม

เหมือนดอกไม้ที่งามและไม่งาม ถ้าเป็นดอกไม้งามและมีกลิ่นหอม ก็ย่อมเป็นชอบใจของคนทั่วไป ถ้าเป็นดอกไม้ไม่งามทั้งไรกลิ่นหอมด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีคนปรารถนาเลย

คนเราก็เช่นเดียวกัน ถ้ารูปงามน้ำใจดี ย่อมเป็นที่รักใคร่นิยมชมชอบของผู้พบเห็น ถ้ารูปงามหากไร้คุณธรรมประจำใจ ก็สู้คนรูปชั่วเลวทราม แต่มีคุณธรรมประจำใจไม่ได้

รูปพรรณสัณฐานได้มาอย่างไร ย่อมเป็นอยู่อย่างนั้น ตัดแปลงแก้ไข้ไม่ได้ แต่ใจนั้นก็มักเป็นไปตามพื้นเดิมถึงอย่างนั้นก็ยังมีทางแก้ไขได้ ด้วยความตั้งใจอันดีเหมือนของที่ไม่หอมมาแต่เดิม เขายังอบให้หอมได้ แต่ธรรมดาใจนั้นมักผันแปรไม่แน่นอนมั่นคงลงได้ นักปราชญ์มีพระพุทธเจ้า เป็นต้น จึงได้กำหนดวางแบบแผนความประพฤติไว้เป็นหลักฐาน

การตั้งใจประพฤติตามบัญญัตินั้น ชื่อว่า " ศีล" ศีลนี้เป็นแนวทางสำหรับให้คนประพฤติความดี คนเราแรกจะประพฤติความดี ถ้าไม่ถืออะไรเป็นหลัก ใจย่อมไม่มั่นคง อาจเอนเอียงไปหาทุจริตอีกได้ เพราะโมหะครอบงำ เมื่อบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์เป็นปกติมรรยาทได้แล้วจึงจะประพฤติคุณธรรมอย่างอื่น ก็มักยั่งยืน ไม่ผันแปร นี้แลเป็นประโยชน์แห่งการบัญญัติศีลขึ้น

ความมุ่งหมายอันดับแรกพึงรู้ว่า การรักษาศีลห้า หรือที่เรียกว่า "เบญจศีล" นี้เป็นการรักษาตนเอง เป็นการป้องกันตนเอง ไม่ให้เสียคน หรือที่เรียกว่า เสียตัว เพราะตัวเราแต่ละคนนั้นเป็นของหายากและมีจำกัด คือ มีตัวเดียวเท่านั้น ไม่มีตัวแทน อยู่ก็อยู่หมด เสียก็เสียหมด เป็นพระก็เป็นหมด เป็นโจรก็เป็นหมด หรือ เข้าคุกก็เข้าหมดเช่นเดียวกัน

การรักษาศีลห้านั้น มีความมุ่งหมายก็คือ ให้รักษาตนเองไว้ไม่ให้เสียหาย และยังผลพลอยได้อีกมากทั้งทางครอบครัว ทางสังคม ประเทศชาติ และเป็นพื้นฐานให้ตนเองบำเพ็ญ สมาธิ ปัญญา จนถึงได้มรรคผล นิพพาน พึงทราบว่าคนไม่มีศีล ย่อมไม่อาจบำเพ็ญ สมาธิ ปัญญาให้ได้ผลเต็มที่ได้ฯ


หลักสำคัญในการรักษาศีล

ผู้ที่จะรักษาศีลห้า พึงทราบหลักในทางวิชาการ และทางปฏิบัติ โดยย่อ คือ
๑. ความมุ่งหมายในการรักษาศีล ๕
๒. ข้อห้ามของผู้รักษาศีล ๕


๑. ความมุ่งหมายในการรักษาศีล ๕

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า การรักษาศีลห้ามีความมุ่งหมายในการป้องกันรักษาตนไม่ให้เสียหาย ของทุกสิ่งทุกอย่างมันจะดีหรือจะเสีย จะคงทนถาวรหรือชำรุดหักพังโดยง่าย สำคัญอยู่ที่พื้นฐานของสิ่งนั้น ฉะนั้นช่างก่อสร้างที่เขาจะสร้างตึก จึงต้องตอกเสาเข็มลงรากตรงจุดที่จะรับน้ำหนักไว้แข็งแรง

ชีวิตของคฤหัสถ์ก็เช่นกัน ต้องแบกน้ำหนัก เพราะเรื่องครอบครัว เรื่องหน้าที่การงาน เรื่องยากดีมีจน ความสุขความทุกข์ร้อยแปด จำจะต้องสร้างพื้นฐานของชีวิตให้มั่นคง จึงจะรับน้ำหนักไว้อย่างปลอดภัย

เราจะเคยเห็นคนที่มีพื้นฐานชีวิตไม่ดีพอ พอตนจะต้องรับภาระหรือกระทบกระแทกเข้าเลยต้องกระทำความผิดถึงติดคุกติดตะรางก็มี นั่นแสดงความที่ชีวิตพังทลายไป น่าเสียดายมาก

ทางศาสนาชี้จุดสำคัญทีจะต้องสร้างพื้นฐานไว้ให้มั่นคงเป็นพิเศษ ๕ จุด เป็นการปิดช่องทางที่ตัวเองจะเสีย ๕ ทางด้วยกัน และวิธีว่านี้ ก็คือ การรักษาศีล ๕ ข้อ

ศีลข้อที่ ๑ ป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความโหดร้าย
ศีลข้อที่ ๒ ป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความมือไว้
ศีลข้อที่ ๓ ป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความใจเร็ว
ศีลข้อที่ ๔ ป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะขี้ปด
ศีลข้อที่ ๕ ป้องกันทางที่ตนจะเสียหาย เพราะความขาดสติ

หมายความว่า ชีวิตของคฤหัสถ์ทั้งหลายมักจะพังทลายในเพราะ ๕ อย่างนี้ คือ

๑. ความโหดร้ายในสันดาน
๒. ความอยากได้ทรัพย์ของคนอื่นในทางที่ผิดๆ
๓. ความร่านในทางกามเกี่ยวกันเพศตรงข้าม
๔. ความไม่มีสัจจะประจำใจ
๕. ความประมาทขาดสติ สัมปชัญญะ

วิธีแก้ก็คือ การหันเข้ามาปรับพื้นฐานสันดานตนเอง โดยวิธีรักษาด้วยเบญจศีล


๒. ข้อห้ามของผู้รักษาศีล ๕

ความเบียดเบียนกันทางโลกซึ่งเป็นไปโดยกายทวาร ย่อเป็น ๓ ประการ คือ
๑. เบียดเบียนชีวิตร่างกาย
๒. เบียดเบียนทรัพย์สมบัติ
๓. เบียดเบียนประเพณี คือ ทำเชื้อสายผู้อื่นให้สับสน

ความประพฤติเสียด้วยวาจา อันมีมุสาวาทคือกล่าวคำเท็จเป็นที่ตั้ง คนจะประพฤติก็เพราะความประมาท และความประมาทนั้นไม่มีมูลอื่นทียิ่งกว่าน้ำเมา เมื่อดื่มเข้าไปแล้วย่อมทำให้ความคิดวิปริตทันที เหตุนั้นนักปราชญ์ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นเล็งเห็นการณ์น้จึงบัญญัติศีลมีองค์ ๕ ไว้ดังกล่าวแล้ว

คำอาราธนาศีล หมายความว่า การนิมนต์ หรือ เชิญพระภิกษุ หรือผู้หนึ่งให้เป็นผู้ให้ศีล

คำสมาทานศีล หมายความว่า การว่าตามผู้ที่เราอาราธนาเพื่อให้ศีล ตั้งแต่ นโม ตสฺส ภควต เป็นต้นไป

องค์แห่งศีลอย่างหนึ่งๆ เรียกว่า "สิกขาบท" ศีลมีองค์ ๕ จึงเป็นสิกขาบท ๕ ประการรวมเรียกว่า เบญจศีล การรักษาศีล คือ การตั้งเจตนางดเว้นจากการทำความผิดดังท่านบัญญัติไว้เป็นเรื่องที่ตังใจงด ตั้งใจเว้น ตั้งใจไม่ทำอีก ต้องมี "ความตั้งใจ" กำกับไว้เสมอไม่ใช่เพราะมีเหตุอื่นบังคับตน จึงไม่ทำความผิด แต่ไม่ทำเพราะตนเองได้ตั้งใจไว้ว่าจะงดเว้น ความตั้งใจดังว่ามานี้ ทางศาสนา เรียกว่า" วิรัติ" เจตนาที่งดเว้นจากความชั่ว


วิรัติ

ผู้ปฏิบัติตามสิกขาบท ๕ ประการนั้นย่อมมีวิรัติด้วย วิรัติมี ๓ ประการ คือ

๑. สัมปัตตวิรัติ เว้นจากวัตถุที่จะพึงล่วงได้อันมาถึงเฉพาะหน้า ได้แก่ วิรัติของตนทั่วไป

๒. สมาทานวิรัติ เว้นด้วยอำนาจการถือเป็นกิจวัตร ได้แก่ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา

๓. สมุจเฉทวิรัติ เว้นด้วยตัดขาด มีอันไม่ทำอย่างนั้นเป็นปกติ ได้แก่ พระอริยเจ้า (พระอรหันต์)


คำว่า รูปธรรม - นามธรรม

คนที่เกิดมาอาศัยเหตุแต่งขึ้น คุมธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ขึ้นเป็นร่างกาย เรียกว่า รูปธรรม แต่เพราะอาศัยความพร้อมเพรียงแห่งธาตุ ๔ จึงมีใจ รู้จักคิดตริตรองและรู้สึกกำหนดหมายต่าง ๆ จึงเรียกว่า นามธรรม ถ้ารวมรูปธรรมและนามธรรมเข้าด้วยกัน เรียกว่า สังขาร ซึ่งแปลว่าสิ่งที่เหตุแต่งขึ้น


(มีต่อ ๑)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --

แก้ไขล่าสุดโดย admin เมื่อ 07 ก.ย. 2006, 5:24 pm, ทั้งหมด 2 ครั้ง
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 13 ส.ค. 2006, 11:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เบญจศีล สิกขาบทที่ ๑
ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากฆ่าสัตว์มีชีวิต


การบัญญัติศีลข้อนี้มุ่งให้มนุษย์ปลูกเมตตาจิตในสัตว์ทุกข์จำพวกหรือแม้ในมนุษย์ด้วยกันเพราะเมตตาจิตนี้เป็นความดี มีทั่วไปทั้งในมนุษย์และสัตว์เดียรัจฉาน

คำว่า "สัตว์" ในที่นี้หมายถึง สัตว์ที่มีชีวิตทุกชนิด ทั้งมนุษย์และสัตว์เดียรัจฉานที่ว่ามีชีวิตนั้นนับตั้งแต่สัตว์นั้นมีปราณหรือลมหายใจ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือในไข่ จนกระทั่งสิ้นลมหายใจ คือ ตาย

สัตว์ทุกชนิดย่อมมีสิทธิ์โดยชอบในการมีชีวิตของตนไปจนตาย ผู้ใดทำให้เขาเสียชีวิต ด้วยเจตนา ศีลของผู้นั้นก็ขาด เมื่อเพ่งเจตนาจิตเป็นใหญ่ ในสิกขาบทข้อนี้มีห้าม ๓ อย่าง (เว้นการกระทำ) คือ

๑. การฆ่า
๒. การทำร้ายร่างกาย
๓. การทรกรรม


๑. การฆ่า

การฆ่า ได้แก่ การทำให้ตาย โดยต่างแห่งวัตถุ มี ๒ ประเภท คือ
๑. ฆ่ามนุษย์
๒. ฆ่าสัตว์เดียรัจฉาน

วัตถุที่ใช้ฆ่ามี ๒ อย่าง คือ
๑. ศาสตรา วัตถุที่มีคมเป็นเครื่องฟันแทง เช่น หอก ดาบ เป็นต้น
๒. อาวุธ วัตถุไม่มีคน เช่น ไม่พลอง ก้อนดิน

ฆ่ามนุษย์

ฆ่ามนุษย์ มีโทษหนักโดยวัตถุ ฝ่ายพุทธจักรปรับโทษภิกษุกระทำเป็นปาราชิกฝ่ายอาณาจักรก็ปรับโทษแก่ผู้กระทำอย่างสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตจะเบาลงมาก็โดยเจตนาการฆ่าโดยแห่งเจตนาการฆ่าโดยต่างแห่งเจตนาก็มีอยู่ ๒ ประเภท คือ ฆ่าโดยจงใจ และ ฆ่าโดยไม่จงใจ

๑. ฆ่าโดยจงใจ คือ สจิตตะกะ ได้แก่ คิดไว้ทีแรกว่าจะฆ่าในขณะที่ใจไม่งุ่นง่านและเพราะเหตุคือ
ตกอยู่ในฐานะแห่งความโลภ เช่น เป็นโจรปล้นบ้าน แล้วฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย
ตกอยู่ในฐานะแห่งความพยาบาท เช่น ลอบฆ่าคนที่มีเวรต่อกัน
และเพราะสาเหตุอื่นนอกจากนี้ แล้วพยายามให้เครื่องมือ หรืออุบายอย่างใด อย่างหนึ่งทำให้เขาตาย

๒. ฆ่าโดยไม่จงใจ คือ อจิตตกะ ได้แก่ ไม่ได้คิดไว้ก่อน แต่เพราะเหตุเหล่านี้ คือ บังเอิญเป็น -เพราะบันดาลโทสะ เช่น วิวาทกัน บันดาลโทสะขึ้นแล้วฆ่ากันตาย

-ประสงค์จะป้องกันตัว เช่น ต่อสู้กับผู้ที่มาทำร้ายตัว และฆ่าเขาตาย
-เพราะไม่แกล้ง เช่น หมายตีพอหลาบจำ แต่ถูกที่สำคัญ ผู้ถูกตีนั้นตาย

-การฆ่านั้นสำเร็จด้วยประโยค ๒ อย่าง คือ
๑. ฆ่าเอง เรียกว่า สาหัตถิกประโยค เป็นการลงมือฆ่าเอง
๒. ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า เรียกว่า อาณัตติกประโยค

ศีลข้อนี้ขาดทั้งฆ่าเองและใช้ให้คนอื่นฆ่า
การใช้ให้คนอื่นทำนั้นมีนิยม ๖ ข้อ เป็นเครื่องวินิจฉัยว่า จะล่วงศีลหรือไม่ คำว่านิยม คือ

เครื่องกำหนดมี ๖ คือ
๑. นิยมวัตถุ หมายถึง วัตถุที่ถูกฆ่า มีมนุษย์และสัตว์ เป็นต้น
๒. นิยมกาล คือ กำหนดเวลาใช้ฆ่า เช่น ในป่า สาย บ่าย เย็น เป็นต้น
๓. นิยมโอกาส หมายเอากำหนดสถานที่ เช่น ในป่า ในบ้าน เป็นต้น
๔. นิยมเครื่องประหาร หมายเอาเครื่องประหาร มี ศาสตรา อาวุธ เป็นต้น
๕. นิยมอิริยาบถ หมายเอาอิริยาบถ มีการ ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น
๖. นิยมกิริยาวิเศษ หมายถึง วิธีใช้ฆ่า มี ฟัน แทง ยิง เป็นต้น

ในนิยมทั้ง ๖ นี้ เมื่อสั่งให้เขาทำแล้ว ถ้าเขาทำถูกต้องตามนิยมนั้น จึงเชื่อว่า ล่วงศีล แต่ถ้าผู้รับใช้ทำผิดจากนิยมที่เขาสั่งไป ไม่ชื่อว่า ล่วงศีล

เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรม มีโทษหนักเป็นชั้นๆ กัน แบ่งเป็น ๓ คือ วัตถุ เจตนา ประโยค

๑. โดยวัตถุ หมายถึง สิ่งที่มีตัวตน แยกเป็น ๓ ประเภท คือ

ก. ฆ่ามนุษย์ผู้หาความผิดมิได้ คือ ผู้ไม่ได้ประทุษร้ายตนเองและผู้อื่น มีโทษมาก เพราะเว้นจากเหตุจำเป็น

ข. ฆ่ามนุษย์ผู้มีอุปการะมาก เช่น บิดา มารดา ครู อาจารย์ มีโทษมากเพราะตัดประโยชน์สุขของผู้อื่น

ค. ฆ่ามนุษย์ผู้มีคุณความดี มีโทษมาก เพราะไม่เป็นแต่ผลาญชีวิตเปล่ายังทำลายล้างคุณที่เป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นประพฤติตามเสียด้วย

๒. โดยเจตนา หมายถึง ความคิดอ่าน ความตั้งใจ จัดเป็น ๓ คือ

ก. ฆ่าโดยไม่มีสาเหตุ เช่น ผู้นั้นไม่มีโทษผิดถึงตายตามกฎหมายบ้านเมือง หรือไม่ได้จะทำร้ายตน มีโทษมาก

ข. ฆ่าด้วยกำลังกิเลสกล้า เช่น รับจ้างฆ่าเขา มีโทษมาก

ค. ฆ่าด้วยความพยายามอันร้ายกาจ ล้างผลาญเขาให้ถึงความพินาศ มีโทษมาก

๓. โดยประโยค หมายถึง อาการสำหรับประกอบ (การกระทำ) ได้แก่ ฆ่าให้ลำบาก เช่น ทุบตีให้บอบซ้ำกว่าจะตาย มีโทษมาก เพราะผู้ถูกฆ่า เสวยทุกข์เวทนาแสนสาหัส

การฆ่านั้น มิใช่แต่ห้ามฆ่ามนุษย์อื่นเท่านั้น แม้ฆ่าตัวเองให้ตาย ก็ห้าม เพราะเท่ากับเป็นคนสิ้นคิด
การฆ่าตัวเองให้ตายนั้น มีชื่อเรียกว่า อัตตวินิบาตกรรม


ฆ่าสัตว์เดียรัจฉาน

การฆ่าสัตว์เดียรัจฉานนั้น มีโทษเบาลงโดยวัตถุจาการฆ่ามนุษย์ ฝ่ายพุทธจักรปรับโทษแก่ภิกษุผู้กระทำเพียงปาจิตตีย์ ฝ่ายอาณาจักรมีจำกัดโทษแต่เฉพาะการฆ่าสัตว์บางเหล่าที่หวงห้าม เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรม การฆ่าสัตว์เดียรัจฉาน มีโทษหนักเป็นชั้นกันโดยวัตถุ เจตนา ประโยค

๑. โดยวัตถุ จัดเป็น ๕ อย่าง คือ

ก. ฆ่าสัตว์ที่มีเจ้าของหวงแหน
ข. ฆ่าสัตว์ที่มีคุณ คือ อุปการะ
ค. ฆ่าสัตว์ใหญ่อันจะใช้ประโยชน์ได้มาก
ง. ฆ่าสัตว์ของตัวเอง
จ. ฆ่าสัตว์อันหาเจ้าของมิได้
ทั้งหมดนี้มีโทษมาก

๒. โดยเจตนา จัดเป็น ๓ อย่าง คือ

ก. ฆ่าโดยหาสาเหตุมิได้
ข. ฆ่าด้วยกำลังกิเลสกล้า
ค. ฆ่าด้วยความพยาบาท

๓. โดยประโยค ได้แก่ ฆ่าให้ลำบาก หรือ น่าสมเพช เช่น วางยาในหนองน้ำ เบื่อให้ปลาเมาตาย มีโทษมาก

ฉายาปาณาติบาต

ผู้รักษาศีลข้อนี้ นอกจากระวังไม่ให้ขาด เพราะการฆ่าสัตว์แล้ว ถ้าเว้นจากการกระทำที่เป็นฉายาของปาณาติบาตได้ด้วยแล้ว ก็จะทำให้ศีลของตนบริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ถ้าเว้นไม่ได้ ศีลของตนก็ด่างพร้อยเหมือนผ้าที่ขาดแต่สกปรก ฉายาปาณาติบาต คือ การทำร้ายร่างกาย และทรกรรม

การทำร้ายร่างกาย

ข้อนี้หมายเอาเฉพาะทำแก่มนุษย์ แยกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑. ทำให้การ คือ ทำให้เสียอวัยวะเป็นเครื่องใช้การ เช่น การทำให้เสียนัยน์ตาเสียขาเสียแขน
๒. ทำให้เสียโฉม คือ ทำให้ร่างกายเสียรูป เสียงาม ไม่ถึงพิการ
๓. ทำให้เจ็บลำบาก คือ ไม่ถึงกับเสียโฉม แต่ทำให้เสียความสำราญ

ทรกรรม

ข้อนี้หมายเอาเฉพาะสัตว์เดียรัจฉาน เพราะมนุษย์ไม่เป็นวัตถุอันใคร ๆ จะพึงทรกรรมได้ทั่วไป ทรกรรมนี้ได้แก่ ความประพฤติเหี้ยมโหดแก่สัตว์ ไม่มีความกรุณาปรานีสัตว์ ตามที่จัดไว้เป็นแผนกดังนี้

๑. ใช้การ ได้แก่ การใช้การเกินกำลัง ไม่ปรานีสัตว์ ปล่อยให้อดอยากซูบผอมไม่ได้หยุดพักผ่อนตามกาล ทำความสำราญของสัตว์ให้เสียไป ขณะใช้ก็เฆี่ยนตี

๒. กักขัง ได้แก่ กักขังในที่คับแคบ จนเปลี่ยนอิริยาบถไม่ได้

๓. นำไป ได้แก่ นำสัตว์ไปโดยวิธีทรมาน เช่น ลากไป หรือผูกมัด เป็ด ไก่ สุกร หิ้วหามเอาหัวลง เอาเท้าขึ้น หรือเอาปลาขังข้องให้ทับยัดเยียดกัน ปล่อยให้ดิ้นกระเสือกกระสนจนตาย

๔. เล่นสนุก เช่น เอาประทัดผูกหางสุนัข แล้วเอาไฟจุด หรือเอาไฟจุดบนกระดองเต่า เอาก้อนดินก้อนหินขว้างปานกเล่น เป็นต้น

๕. ผจญสัตว์ เช่น กัดปลา ชนโค (วัว) ชนกระบือ (ควาย) ตีไก่ กัดจิ้งหรีด เป็นต้น

หลักวินิจฉัยปาณาติบาต

ปาณาติบาตมีองค์ ๕ คือ

๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสัญญิตา ตนรู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. วธกจิตตัง จิตคิดจะฆ่าให้ตาย
๔. อุปักกโม ทำความพยายามฆ่า
๕. เตนะ มรณัง สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
ศีลข้อนี้จะขาด ต่อเมื่อทำครบองค์ทั้ง ๕ ข้อข้างต้นนี้


ศัพท์ที่ควรรู้

๑. โลกวัชชะ คือ ความผิดที่มนุษย์ทำขึ้น เป็นความผิด เป็นความเสียหาย เช่น ฆ่ามนุษย์ การโจรกรรม ทุบตีกัน เป็นต้น บางอย่างเป็นข้อเสียหายที่ชาวโลกติเตียน ถือว่าไม่เหมาะสมกับความเป็นสมณะ เช่น ดื่มสุรา เป็นต้น จึงเป็นโทษทางโลก

๒. ปัณณัตติวัชชะ คือ ความผิดที่เป็นโทษทางพระบัญญัติ คือ คนสามัญทำเข้าไม่เป็นความผิด ไม่เป็นความเสียหาย ผิดเฉพาะแก่ภิกษุ โดยฐานะละเมิดพระบัญญัติ เช่น ฉันอาหารในเวลาวิกาล ขุดดิน เป็นต้น


เบญจศีล สิกขาบทที่ ๒
อทินนาทานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการลักทรัพย์


ศีลข้อนี้บัญญัติขึ้น เพื่อป้องกันการทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติของกันและกันโดยหวังจะให้เลี้ยงชีพในทางที่ชอบ เว้นจากการเบียดเบียนกันและกัน การประพฤติผิดเช่นนี้ ได้ชื่อว่าประพฤติผิดธรรม เป็นบาป

ข้อนี้หมายถึง การเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ คือ ถือเอาด้วยอาการเป็นโจร สิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ กำหนดดังนี้

ก. สิ่งของที่มีเจ้าของ ทั้งที่เป็นวิญญาณทรัพย์ และอวิญญาณกทรัพย์ อันเจ้าของไม่ได้ให้
ยกให้เป็นสิทธิ์ขาด

ข. สิ่งของที่ไม่ใช่ของใคร แต่มีผู้รักษาหวงแหน ได้แก่ สิ่งของที่เขาอุทิศบูชาปูชนียวัตถุในศาสนานั้นๆ

ค. สิ่งของที่เป็นของในหมู่อันไม่พึงแบ่งกัน ได้แก่ ของสงฆ์ และของมหาชนในสโมสรสถานนั้นๆ

เมื่อเพ่งถึงความประพฤติชอบธรรม ในทรัพย์สมบัติของผู้อื่นเป็นสำคัญ พึงทราบในสิกขาบทนี้ ท่านห้าม ๓ ประการ คือ

๑. โจรกรรม ประพฤติเป็นโจร
๒. ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม
๓. กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม

การกระทำในข้อ ๑ ศีลขาด ในข้อ ๒ และข้อ ๓ พึงตัดสินด้วยเจตนา ถ้ามุ่งทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้อื่น ศีลขาด ถ้าไม่มีเจตนา ศีลด่างพร้อย

โจรกรรม

การถือเอาสิ่งของที่ไม่มีผู้ให้ ด้วยการกระทำอย่างโจรทุกอย่าง จัดเป็นเป็นโจรกรรมในทางศีลธรรม ท่านรวมไว้ ๑๔ วิธีด้วยกัน ดังนี้

๑. ลัก ได้แก่ การขโมยทรัพย์ของคนอื่นที่เจ้าของเขาไม่เห็น มีชื่อเรียกต่างกัน ดังนี้
ก. ขโมย ในเวลาเงียบเห็นเขาตากผ้าไว้ ไม่ให้เจ้าของรู้ หยิบเอาของเขาไป
ข. ย่องเบา เวลาสงัดคน แอบเข้าไปในบ้าน หยิบฉวยเอาของต่าง ๆ ไป
ค. ตัดช่อง งัดหรือเจาะประตูหน้าต่างที่ปิดอยู่ แล้วหยิบเอาของเขาไป

๒. ฉก ได้แก่ การถือเอาของในเวลาเจ้าของเผลอ มีชื่อเรียกต่างกันตามอาการ ดังนี้
ก. วิ่งราว คนถือเอาของมากำลังเผลอ เข้าแย่งแล้ววิ่งหนีไป
ข. ตีชิง ตีเจ้าของทรัพย์ให้เจ็บตัว แล้วถือเอาของไป

๓. กรรโชค แสดงอำนาจ หรือ ใช้อาวุธให้เข้ากลัวแล้วให้ของ เรียกว่า ขู่ หรือจี้

๔. ปล้น ได้แก่ รวมพวกกันหลายคน มีศาสตราวุธเก็บเอาของผู้อื่นด้วยอำนาจ

๕. ตู่ คือ อ้างกรรมสิทธิ์ ยืนยันเอาของคนอื่นมาเป็นของตน

๖. ฉ้อ ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาทรัพย์ของผู้อื่น เช่น รับของแล้วโกงเอาเสียอ้างว่าเป็นของของตน

๗. หลอก ได้แก่ กิริยาที่พูดปด เพื่อถือเอาของของผู้อื่น

๘. ลวง ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาของผู้อื่น ด้วยแสดงของอย่างใดอย่างหนึ่งให้เข้าใจผิด เช่น ใช้เครื่องชั่ง เครื่องตวงโกง

๙. ปลอม ได้แก่ กิริยาที่ทำของปลอมให้คนอื่นเห็นว่าเป็นของแท้ แล้วแลกเปลี่ยนเอาทรัพย์ไป

๑๐. ตระบัด ได้แก่ กิริยาที่ยืมของคนอื่นไปใช้ แล้วเอาเสีย เช่น ยืมของแล้วไม่ส่งคืนกู้เงินเขาแล้ว เบี้ยวไม่ส่งดอก

๑๑. เบียดบัง ได้แก่ กิริยาที่ถือเอาเศษ เชน ท่านใช้ให้ไปเก็บเงินค่าเช้าบ้าน เป็นต้นได้มากแต่ให้ท่านน้อย

๑๒. ลักลอบ ได้แก่ กิริยาที่ลีกลอบเอาของที่ต้องห้ามหลบหนีภาษี เช่น สินค้าเถื่อนเป็นต้น

๑๓. สับเปลี่ยน ได้แก่กิริยาที่ถือเอาสิ่งของของตนที่เลวเข้าไว้แทน แล้วเอาสิ่งของที่ดีของผู้อื่น

๑๔. ยักยอก ได้แก่ กิริยาที่ยักยอกทรัพย์ของตนที่จะต้องถูกยึด เอาไว้เสียที่อื่น

โจรกรรมมีลักษณะต่างประเภทที่กล่าวมานี้ บุคคลทำเอาก็ดี ใช้ผู้อื่นทำก็ดี เป็นแต่รวมพวกไปกับเขาก็ดี เหล่านี้ชื่อว่า ประพฤติผิดเป็นโจรกรรมทั้งสิ้น เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรมมีโทษหนักเป็นชั้นกัน โดยวัตถุ เจตนา ประโยค

ก. โดยวัตถุ ถ้าของที่ทำการโจรกรรมมีค่ามาก ทำความฉิบหายให้แก่เจ้าของทรัพย์มากก็มีโทษมาก

ข. โดยเจตนา ถ้าถือเอาโดยโลภ มีเจาตนากล้า ก็มีโทษมาก

ค. โดยประโยค ถ้าถือเอาโดยการฆ่า หรือทำร้ายเจ้าทรัพย์ หรือประทุษร้ายเคหสถานและพัสดุของเขาก็มีโทษมาก


ความเลี้ยงชีพอนุโลมโจรกรรม

ข้อนี้ ได้แก่ การแสวงหาทรัพย์พัสดุในทางไม่บริสุทธิ์ แต่ไม่นับเข้าในอาการเป็นโจรมีประเภทดังนี้

ก. สมโจร ได้แก่ การกระทำอุดหนุนโจรกรรมโดยนัย เช่น รับซื้อของโจร ข้อนี้เป็นปัจจัยแห่งโจรกรรม

ข. ปลอกลอก ได้แก่ การคบคนด้วยอาการไม่ซื่อสัตย์ ด้วยหวังทรัพย์ของเขาผ่ายเดียวเมื่อเขาสิ้นเนื้อประดาตัว ก็ทิ้งขว้าง ข้อนี้เป็นปัจจัยให้คนตกยาก

ค. รับสินบน ได้แก่ การถือเอาทรัพย์พัสดุที่เขาให้เพื่อช่วยทำธุระให้เขาในทางที่ผิด เช่น ข้าราชการรับสินบนจากประชาชน ข้อนี้เป็นปัจจัยให้บุคคลประพฤติผิดทางธรรม


กิริยาเป็นฉายาโจรกรรม

ข้อนี้ ได้แก่ การทำพัสดุของผู้อื่นให้สูญเสีย และเป็นสินใช้ ตกอยู่แก่ตน มีประเภทดังนี้

ก. ผลาญ ได้แก่ กิริยาที่ทำความเสียหายแก่ทรัพย์พัสดุของผู้อื่น เช่น เผาบ้านฟันโค ฟันกระบือ เป็นต้น

ข. หยิบฉวย ได้แก่ การถือเอาทรัพย์พัสดุของผู้อื่นด้วยความมักงาย ไม่บอกเจ้าของคิดเอาเองว่าเจ้าของไม่ว่าอะไร


หลักวินิจฉัยอทินนาทาน

๑. ปรปริคคหิตัง ของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๒. ปรปริคคหิตสัญญิตา ตนก็รู้ว่าของนั้นมีเจ้าของหวงแหน
๓. เถยยจิตตัง จิตคิดจะลัก
๔. อุปักกโม พยายามเพื่อจะลัก
๕. เตนะ หรณัง นำของนั้นมาด้วยความพยายามนั้น

ศีลข้อนี้จะขาด ต่อเมื่อการกระทำครบองค์ทั้ง ๕ ข้างต้นนี้

สวิญญาณกทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์พัสดุที่มีวิญญาณครอง ได้แก่ สัตว์ต่างๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น

อสวัญญาณกทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์พัสดุที่ไม่มีวิญญาณครอง เช่น บ้าน เรือน เงิน ทอง เป็นต้น

สังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์พัสดุที่เคลื่อนที่ได้ เช่น สัตว์เลี้ยง เตียง ตั่ง ถ้วย ชาม รถยนต์ เป็นต้น บางอย่างก็มีชีวิต บางอย่างก็ไม่มีชีวิต

อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ แก่ได้ ที่ดิน และทรัพย์ซึ่งติดอยู่กับที่ดิน เช่น ตึก บ้าน โรงรถ เป็นต้น


เบญจศีล สิกขาบทที่ ๓
กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย


ศีลข้อนี้ ท่านบัญญัติขึ้น ด้วยหวังปลูกความสามัคคี สร้างความเป็นปึกแผ่น ป้องกันความแตกร้าวในหมู่มนุษย์ และทำให้ไว้วางใจกันและกัน ชายกับหญิงแม้ไม่ได้เป็นญาติกันก็ยังมีความรักใคร่เป็นอันเหนึ่งอันเดียวกันได้ ด้วยอำนาจความปฏิพัทธ์ในทางกาม สิกขาบทข้อนี้ แปลว่า เว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

คำว่า "กามทั้งหลาย" ในที่นี้ได้แก่ กิริยาที่รักใคร่กันในทางประเวณี หมายถึง เมถุนหรือการส้องเสพกามระหว่างชายหญิง

การผิดในกาม หมายถึง การเสพเมถุนกับคนที่ต้องดังจะกล่าวต่อไป ผู้ใดเสพเมถุนกับคนที่ต้องห้าม ผู้นั้นทำผิดประเวณี ศีลข้อนี้ขาด เมื่อเพ่งความประพฤติไม่ให้ผิดเป็นใหญ่สำหรับชายและหญิง มีดังนี้

สำหรับชาย หญิงที่ต้องห้ามสำหรับชาย มี ๓ ประเภท คือ

๑. สัสสามิกา หญิงมีสามี ที่เรียกว่า ภรรยาท่าน ได้แก่ หญิง ๔ จำพวก คือ

ก. หญิงที่แต่งงานกับชายแล้ว
ข. หญิงที่ไม่ได้แต่งงาน แต่อยู่กินกับชายอย่างเปิดเผย
ค. หญิงที่รับสิ่งของ มีทรัพย์ เป็นต้น ของชายแล้วยอมอยู่กับเขา
ง. หญิงที่ชายเลี้ยงเป็นภรรยา

๒. ญาติรักขิตา หญิงที่ญาติรักษา คือ มีผู้ปกครอง ไม่เป็นอิสระแก่ตน ที่เรียกว่าหญิงอยู่ในพิทักษ์รักษาของท่าน คือ หญิงที่มารดาาบิดารักษา หรือญาติรักษา

๓. ธัมมรักขิตา หรือ จาริตา หญิงที่จารีตรักษา ที่เรียกว่า จารีตห้าม ได้แก่หญิงที่เป็นเทือกเถาเหล่ากอ

ก. เทือกเถา คือ ญาติผู้ใหญ่ นับย้อนขึ้นไป ๓ ชั้น มี ย่าทวด ยายทวด ๑ ย่า ยาย ๑ แม่ ๑ เหล่ากอ คือ ผู้สืบสายจากตนลงไป ๓ ชั้น มีลูก ๑ หลาน ๑ เหลน ๑

ข. หญิงที่อยู่ได้พระบัญญัติในพระศาสนา อันห้ามสังวาสกับชาย เช่น ภิกษุณีในกาลก่อนหรือแม่ชีในบัดนี้

ค. หญิงที่บ้านเมือห้าม เช่น แม่หม้ายงานท่านอันมีในกฏหมาย

หญิง ๓ จำพวกนี้ จะมีฉันทะร่วมกันหรือไม่ร่วมกัน ไม่ประมาณ ชายร่วมสังวาสด้วยก็เป็นกาเมสุมิจฉาจาร

หญิงที่เป็นวัตถุต้องห้ามของชายในกาเมสุมิจฉาจาร โดยพิสดาร มี ๒๐ จำพวก คือ

๑. มาตุรักขิตา หญิงที่มารดารักษา
๒. ปิตุรักขิตา หญิงที่บิดารักษา
๓. มาตาปิตุรักขิตา หญิงที่มารดาบิดารักษา
๔. หญิงที่พี่ชายน้อยชายรักษา
๕. หญิงที่พี่สาวน้องสาวรักษา
๖. หญิงที่ญาติรักษา
๗. หญิงที่โคตรหรือมีแซ่รักษา
๘. หญิงที่ธรรมรักษา
๙. หญิงที่สามีรักษา
๑๐. หญิงที่สินไหม คือ พระราชาทรงรักษา
๑๑. หญิงที่ชายไถ่หรือซื้อมาด้วยทรัพย์เพื่อเป็นภรรยา
๑๒. หญิงที่อยู่กับชายด้วยความรักใคร่ชอบใจกันเอง
๑๓. หญิงที่อยู่เป็นภรรยาชายด้วยโภคทรัพย์
๑๔. หญิงที่เข็ญใจ ได้สักว่าผ้านุ่งผ้าห่มแล้วอยู่เป็นภรรยา
๑๕. หญิงที่ขอเป็นภรรยา มีผู้ใหญ่จัดการให้
๑๖. หญิงที่ชายช่วยปลงภาระอันหนักให้แล้วยอมเป็นภรรยา
๑๗. หญิงที่เป็นทาสีอยู่ก่อน แล้วชายเอามาเป็นภรรยา
๑๘. หญิงที่รับจ้างแล้ว ชายเอาเป็นภรรยา
๑๙. หญิงที่ชายรบข้าศึกได้เป็นเชลยแล้ว เอาเป็นภรรยา
๒๐. หญิงที่ชายอยู่ด้วยขณะหนึ่ง และหญิงนั้นก็เข้าใจว่าชายนั้นสามีของตน

สำหรับหญิง ชายต้องห้ามสำหรับหญิง มี ๒ ประเภท คือ

๑. ชายอื่นนอกจากสามี เป็นวัตถุต้องห้ามสำหรับหญิงที่มีสามีแล้ว
๒. ชายที่จารีตห้าม เป็นวัตถุต้องห้ามสำหรับหญิงทั้งปวง

ชายที่จารีตห้ามนั้น มี ๓ จำพวก คือ

๑. ชายที่อยู่ในพิทักษ์รักษาของตระกูล เช่น ปู่ พ่อ ตา ทวด
๒. ชายที่อยู่ในพิทักษ์รักษาของธรรมเนียม เช่น รักพรต นักบวช
๓. ชายที่กฏหมายบ้านเมืองห้าม เช่น พระภิกษุ สามเณร

หญิงที่ไม่เป็นวัตถุกาเมสุมิจฉาจารของชาย มี ๓ อย่าง คือ

๑. หญิงที่ไมีมีสามี
๒. หญิงที่จารีตไม่ห้าม
๓. หญิงที่เป็นภรรยาของตน

ชายที่ไม่เป็นวัตถุแห่งกาเมสุมิจฉาจารของหญิง มี ๓ คือ

๑. ชายที่ไม่มีภรรยา
๒. ชายที่จารีตไม่ห้าม
๓. ชายที่ทำโดยพลการพ้นอำนาจของหญิง (เช่นชายที่ข่มขืน)


โทษของกาเมสุมิจฉาจาร

กาเมสุมิจฉาจารนี้ เป็นความประพฤติชั่วร้าย มีโทษทั้งทางโลก และทางธรรม ฝ่ายอาณาจักร มีกฎหมายลงโทษผู้ประพฤติล่วง ฝ่ายพุทธจักรก็จัดเป็นบาปแก่ผู้ทำ เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรมจัดว่ามีโทษหนักเป็นชั้นกันโดยวัตถุ เจตนา ประโยค

ก. โดยวัตถุ ถ้าเป็นการทำชู้ หรือ ล่วงละเมิดในวัตถุที่มีคุณ มีโทษมาก
ข. โดยเจตนา ถ้าเป็นไปด้วยกำลังราคะกล้า มีโทษมาก
ค. โดยประโยค ถ้าเป็นไปโดยพลการ มีโทษมาก


หลักวินิจฉัยกาเมสุมิจฉาจาร

กาเมสุมิจฉาจารมีองค์ ๔ คือ

๑. อคมนียวัตถุ วัตถุอันไม่ควรถึง ได้แก่ มรรคทั้ง ๓ คือ ปัสสาวมรรค
ช่องปัสสาวะ วัจจมรรค ทวารหนัก มุขมรรค ช่องปาก

๒. ตัสมิง เสวนจิตตัง จิตคิดจะเสพในวัตถุอันไม่ควรถึงนั้น

๓. เสวนัปปโยโค ทำความพยายามในอันที่จะเสพ

๔. มัคเคนะ มัคคัปปฏิปัตติ มรรคต่อมรรคถึงกัน

ในเรื่องกาเมสุมิจฉาจารนี้ ผู้ที่เสพเองเท่านั้นจึงจะชื่อว่า ล่วงกาเมสุมิจฉาจาร ส่วนการใช้คนอื่นให้ทำแก่คนอื่นนั้น ไม่เป็นการผิดกาเมสุมิจฉาจาร

แต่การใช้ให้คนอื่นทำกาเมสุมิจฉาจารแก่ตนนั้น ชื่อว่า เป็นการล่วงกาเมสุมิจฉาจารแท้


เบญจศีล สิกขาบทที่ ๔
มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูดเท็จ


ศีลข้อนี้บัญญัติขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันการทำลายประโยชน์ของกันและกัน ด้วยการพูดคือตัดประโยชน์ทางวาจา และรักษาวาจาของตนให้เป็นที่เชื่อถือของคนอื่น เมื่อเพ่งความเจริญเป็นใหญ่พึงทราบในสิกขาบทนี้ ท่านห้ามเป็นข้อใหญ่ ๓ ประการ คือ

๑. มุสา ๒. อนุโลมมุสา ๓. ปฏิสสวะ

การกระทำตามข้อ ๑ ศีลขาด กระทำตามข้อ ๒ และข้อ ๓ ศีลด่างพร้อย


มุสาวาท

การพูดเท็จ คือ การโกหก หมายถึง การแสดงออกด้วยเจตนาบิดเบือนความจริงให้คนหลงเชื่อ แสดงออกได้ ๒ ทาง คือ

๑. ทางวาจา ได้แก่ พูดโกหกชัดๆ
๒. ทางกาย ทำเท็จทางกาย เช่น เขียนจดหมาย โกหก ทำรายงานเท็จ ทำหลักฐานปลอม หรือมีใครถามข้อความที่ควรรับ ก็สั่นศรีษะแสดงปฏิเสธ

เพื่อความสะอาดในการเรียน และการปฏิบัติ ท่านจำแนกกิริยาที่เป็นมุสาวาทไว้ ๗ อย่าง คือ

๑. ปด ๒. ทนสาบาน
๓. ทำเล่ห์กระเทห์ ๔. มารยา
๕. ทำเลศ ๖. เสริมความ
๗. อำความ

๑. ปด ได้แก่ พูดมุสาชัดๆ ไม่อาศัยมูลเหตุเลย เช่น เห็นว่าไม่เห็น รู้ว่าไม่รู้ โดยโวหารต่างกัน ตามความมุ่งหมายของผู้พูด ท่านแสดงไว้เป็นตัวอย่าง ๔ ข้อ คือ

ก. พูดเพื่อจะให้เขาแตกกัน เรียกว่า ส่อเสียด
ข. พูดเพื่อจะโกงท่าน หลอก
ค. พูดเพื่อจะยกย่อง เรียกว่า ยอ
ง. พูดไว้แล้วไม่รับ เรียกว่า กลับคำ

๒. ทนสาบาน ได้แก่ กิริยาที่เลี่ยงสัตย์ว่าจะพูดตามจริง แต่ใจไม่ตั้งจริงตามนั้น มีพูดปดเป็นลำดับบริวาร เช่น เป็นพยานทนสาบานไว้ แล้วเบิกความเท็จ เป็นต้น

๓. ทำเลห์กระเทห์ ได้แก่ กิริยาที่อวดอ้างความศักดิ์สิทธิ์อันไม่มีจริง เช่น อวดรู้วิชาคงกระพัน ฟันไม่เข้า ยิงไม่ออก เป็นต้น ซึ่งเป็นอุบายหาลาภ

๔. มารยา ได้แก่ กิริยาที่แสดงให้เขาเห็นผิดจากที่เป็นจริง หรือลวงให้เข้าใจผิด เช่น เป็นคนทุศีลก็ทำท่าทางให้เขาเห็นว่ามีศีล เจ็บน้อยก็ครวญครางมาก

๕. ทำเลศ ได้แก่ พูดมุสาเล่นสำนวน เช่น เห็นคนวิ่งหนีเขามา เมื่อผู้ไล่มาถามไม่อยากจะให้เขาจับคนนั้นได้ แต่ไม่ต้องการให้ใครตราหน้าว่าเป็นคนพูดมุสา จึงย้ายไปยืนที่อื่นแล้วพูดว่าตั้งแต่มายืนที่นี่ ยังไม่เคยเห็นใครวิ่งมาเลย

๖. เสริมความ ได้แก่ พูดมุสาอาศัยความเดิม แต่เสริมความให้มีมากกว่าที่เป็นจริง เช่น พรรณนาสรรพคุณยา

๗. อำความ ได้แก่ พูดมุสาอาศัยมูลเดิม แต่ตัดความที่ไม่ประสงค์จะให้รู้ออกเสียเรื่องมากพูดให้เหลือน้อย ปิดความบกพร่องของตน


โทษของมุสาวาท

บุคคลพูดมุสา มีโทษทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกปรับโทษทางกฎหมายที่หักประโยชน์ของผู้อื่น ทางธรรมปรับโทษอย่างหนักถึงปาราชิก อย่างเบาปรับเสมอปาจิตตีย์ กล่าวโดยความเป็นกรรมมีโทษหนักเป็นชั้นกันโดยวัตถุ เจตนา ประโยค

ก. โดยวัตถุ ถ้าข้อความนั้นเป็นเรื่องหักล้างประโยชน์ เช่น ทนสาบาน เบิกพยานเท็จ กล่าวใสความท่าน หลอกลวงเอาทรัพย์ท่าน มีโทษหนัก หรือกล่าวมุสาแก่ผู้มีคุณ เช่น พ่อ แม่ ครู อาจารย์ เจ้านาย และท่านผู้มีศีลธรรม มีโทษหนัก

ข. โดยเจตนา ถ้าผู้พูดคิดให้ร้ายท่าน เช่น กล่าวใส่ความท่าน มีโทษหนัก

ค. โดยประโยค ถ้าผู้พูดพยายามทำให้เขาเชื่อสำเร็จ มีโทษหนัก


อนุโลมมุสา

อนุโลมมุสา คือ เรื่องที่พูดนั้นไม่จริง แต่ผู้พูดมิได้มุ่งจะให้ผู้ฟังหลงเชื่อ แยกประเภท ๒ อย่าง คือ

๑. เสียดแทง กิริยาที่ว่าให้ผู้อื่นให้เจ็บใจ อ้างวัตถุไม่เป็นจริง กล่าวยกให้สุงกว่าพื้นเพเดิม
๒. สับปลับ ได้แก่ พูดปดด้วยคะนองวาจา


โทษของอนุโลมมุสา

อนุโลมมุสา มีโทษทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกจัดว่าเป็นกิริยาที่หยาบช้าเลวทรามไม่สมควรประพฤติ ทางธรรมจัดว่าเป็นบาป เมื่อกล่าวโดยความเป็นกรรม ก็มีโทษหนักเป็นชั้นกันโดยวัตถุ เจตนา ประโยค

ก. โดยวัตถุ ถ้าเป็นข้อความเป็นเรื่องประทุษร้ายท่าน เช่น พูดเสียดแทง มีโทษหนัก และกล่าวแก่ท่านผู้มีคุณ ก็มีโทษหนัก

ข. โดยเจตนา ถ้าพูดใส่ร้ายผู้อื่น เช่น หวังจะให้ท่านเจ็บใจและกล่าวเสียดแทงมีโทษหนัก

ค. โดยประโยค ถ้าผู้พูดพยายามทำความเสียหายแก่ท่านสำเร็จ เช่น ยุให้ท่านแตกกันและเขากันแตกกัน มีโทษหนัก


ปฏิสสวะ

ปฏิสสวะ ได้แก่ เดิมรับคำของคนอื่นด้วยเจตนาบริสุทธิ์ แต่ภายหลังกลับใจ ไม่ทำตามที่รับนั้น แม้ไม่เป็นการพูดเท็จโดยตรง แต่ก็เป็นการทำลายประโยชน์ของคนอื่นได้ มีประเภทเป็น ๓ อย่างคือ

๑. ผิดสัญญา ได้แก่ สองฝ่ายทำสัญญากันว่าจะทำอย่างนั้นๆ แต่ภายหลังไม่ทำอย่างนั้น เช่น ทำสัญญาจ้าง เป็นต้น

๒. เสียสัตย์ ได้แก่ ให้สัตย์แก่ท่านฝ่ายเดียวว่าตนจะทำ หรือไม่ทำเช่นนั้นๆ แต่ภายหลังไม่ทำตามนั้น เช่น ข้าราชการผู้ถวายสัตย์สาบานแล้วไม่ทำตามนั้น

๓. คืนคำ ได้แก่ รับว่าจะทำสิ่งนั้นๆ แล้วภายหลังไม่ทำ เช่น รับว่าให้สิ่งนั้น ๆ แล้วไม่ให้

โทษของปฏิสสวะ คือ ทำให้เสียชื่อเสียง ตามฐานที่ไม่ตั้งอยู่ในสัตย์


ถ้อยคำที่ไม่เป็นมุสา

มีคำพูดอีกประเภทหนึ่งที่ผู้พูดๆ ไม่จริงแต่ก็ไม่ประสงค์ให้ผู้ฟังเชื่อเรียกว่า ยถาสัญญา คือ พูดตามความสำคัญ ผู้พูดไม่ผิดศีล แยกประเภทเป็น ๔ อย่างคือ

๑. โวหาร ๒. นิยาย ๓. สำคัญผิด ๔. พลั้ง

๑. โวหาร ได้แก่ ถ้อยคำที่ใช้เป็นธรรมเนียมเพื่อความไพเราะทางภาษา เช่น เราเขียนจดหมายลงท้ายด้วยความนับถืออย่างสูง ทั้งที่เราไม่ได้นับถือเขาเลย

๒. นิยาย ได้แก่ เรื่องเปรียบเทียบ เพื่อได้ใจความสุภาษิต เช่น ผูกนิยายขึ้น เช่น ลิเก ละคร

๓. สำคัญผิด ได้แก่ ผู้พูดเข้าใจผิด พูดไปตามความเข้าใจของตนเอง เช่น จำวันผิดใครถามก็ตอบตามนั้น

๔. พลั้ง ได้แก่ ผู้พูดตั้งใจว่าจะพูดอย่างหนึ่ง แต่ปากไพลไปพูดอย่างหนึ่ง


หลักวินิจฉัยมุสาวาท

มุสาวาทมีองค์ ๔
๑. อภูตวัตถุ เรื่องที่พูดเป็นเรื่องไม่จริง
๒. วิวาทนจิตตัง จงใจจะพูดให้ผิด
๓. ตัชโช วายาโม พยายามพูดคำนั้นออกไป
๔. ปรัสสะ ตทัตถวิชานนัง คนอื่นเข้าใจเนื้อความนั้น


เบญจศีล สิกขาบทที่ ๕
สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี


เว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท

ศีลข้อนี้บัญญัติขึ้น เพื่อให้คนรู้จักรักษาสติของตนให้บริบูรณ์ เพราะสุราเป็นของที่ทำให้ผู้ดื่มมึนเมา เมื่อมึนเมาแล้วย่อมทำให้เสียสติ เป็นที่ตั้งของความประมาท จะทำอะไรก็ผิดพลาด ทั้งเป็นเหตุทอนคุณความดีที่มีอยู่ให้น้อยลง เมื่อเสพเข้าไปแล้วทำให้สติเลื่อนลอย ขาดการควบคุมตัวเองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ พูดในสิ่งที่ไม่เคยพูดเป็นเหตุให้ล่วงสิกขาบทอื่นอีก ๔ ข้อ ข้างต้นได้ ศีลข้อ ๕ นี้ นับว่ามีความสำคัญที่สุดในเบญจศีล

น้ำเมา มี ๒ ชนิด คือ

๑. สุรา น้ำเมาที่กลั่นแล้ว ภาษาไทยเรียกว่า เหล้า

๒. เมรัย น้ำเมาที่ไม่ได้กลั่น เป็นของหมักดอง เช่น เหล้าดิบ น้ำตาลเมา กระแช่ของมึนเมาเสพติดต่างๆ เช่น ฝิ่น กัญชา ก็รวมเข้าในศีลข้อนี้ด้วย

ในปัจจุบันนี้มีสิ่งเสพติดให้โทษร้ายแรงระบาดอยู่ในหมู่ของประชาชน เท่าที่ราชการพบแล้ว คือ

๑. สุรา น้ำเมาที่กลั่นแล้ว
๒. เมรัย น้ำเมาที่ยังไม่ได้กลั่น
๓. ฝิ่นเป็นยางไม้ชนิดหนึ่ง (ต้นฝิ่น)
๔. กัญชา เป็นต้นไม่ชนิดหนึ่ง (ต้นกัญชา)
๕. มอร์ฟีน เป็นผลิตภัณฑ์ทำจากฝิ่น
๖. เฮโรอี เป็นผลิตภัณฑ์จากมอร์ฟีน
๗. โคเคน เป็นผลิตภัณฑ์จากมอร์ฟีน
๘. แลคเกอร์ ทินเนอร์ ทำมาจากสารเคมี
๙. ยาบ้า เป็นผลผลิตจากสารเสพติดหลายอย่าง

สุรา เมรัย เสพทางการดื่ม ฝิ่น กัญชา เป็นต้น เสพโดยวิธีสูบบ้าง ฉีดเข้าไปในร่างกายบ้างถ


โทษแห่งการดื่มน้ำเมา

ในพระบาลีท่านแสดงโทษของการดื่มน้ำเมาไว้ ๖ อย่าง คือ
๑. เป็นเหตุให้เสียทรัพย์
๒. เป็นเหตุก่อวิวาท
๓. เป็นเหตุให้เกิดโรค
๔. เป็นเหตุให้เสียชื่อเสียง
๕. เป็นเหตุประพฤติมารยาทที่น่าอดสู
๖. ทอนกำลังปัญญา


โทษของการเสพฝิ่น

การเสพฝิ่นนั้นมีโทษมาก เมื่อกล่าวแล้วแบ่งออกเป็น ๔ สถาน คือ
๑. เป็นเหตุให้เสียความสำราญของร่างกาย
๒. เป็นเหตุก่อวิวาท ให้เสียทรัพย์
๓. เป็นเหตุเสียความดี
๔. เป็นเหตุเสียชื่อเสียง

โทษเหล่านี้ ยิ่งหย่อนตามพื้นเพของผู้เสพ


โทษของการเสพกัญชา

กัญชาเป็นสิ่งเสพติดให้โทษเหมือนกัน เพราะฤทธิ์กัญชานั้นย่อมทำมัตถุลง (มันในสมอง) และเส้นประสาทให้เสียไป ตาลาย เห็นอะไรผิดไปจากความจริง เช่น เห็นเชือกเป็นงู หูเชือน ฟังอะไรเขวไปจากความจริง เช่น ได้ยินเสียงกลองเป็นเสียงปืน หรือ เสียงฟ้าร้อง นึกจะทำอะไรก็ยั้งไม่ได้ ความคิดฟั่นเฟือน มักทำให้หวาดกลัวไปต่าง ๆ เหมือนคนบ้าไม่ควรเสพ


หลักวินิจฉัยสุราปานุ

สุราปานะ (การดื่มสุรา) มีองค์ ๔ คือ
๑. มทนียัง น้ำเมา
๒. ปาตุกัมมยตาจิตตัง จิตคิดจะดื่มน้ำเมา
๓. ตัชโช วายาโม พยายามดื่มน้ำเมา
๔. ปีตัปปเวสนัง น้ำเมานั้นล่วงลำคลองไป

ศีลขาด คือ ศีลของผู้มีสมาทานศีลแล้ว แต่ไม่รักษาศีลนั้นให้ดี ล่วงละเมิดเป็นประจำ ทำให้ขาดต้น ขาดปลาย หาที่บริสุทธิ์จริงได้ยาก เหมือนผ้าที่ขาดชายรอบทั้งผืน หรือขาดกลางผืนเลย

ศีลทะลุ คือ ศีลของผู้ที่ชอบล่วงละเมิดสิกขาบททีเดียว ๒ หรือ ๓ ข้อ เหมือนแม่โคด่างที่กระดำกระด่างลายไปทั่วตัว ดำบ้าง ขาวบ้าง

ศีลพร้อย คือศีลของผู้ชอบล่วงละเมิดศีลคราวละสิกขาบท หรือล่วงศีลคราวละองค์สององค์ คือมีศีลบริสุทธิ์บ้าง ไม่บริสุทธิ์บ้างสลับกันไป

ศีลห้าประการนี้เป็นวินัยในพระพุทธศาสนาด้วยประการฉะนี้


อุโบสถศีลข้อที่ ๖ วิกาลโภชนา เวรมณี แปลว่า เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล

คำว่า กาล ได้แก่ เวลาที่กินอาหารได้ คือ เวลาตั้งแต่อรุณขึ้นไปจนถึงเที่ยงวัน
คำว่า วิกาล ได้แก่ เวลาที่กินอาหารไม่ได้ คือ เวลาตั้งแต่เที่ยงวันแล้วไป จนถึงอรุณขึ้นของวันใหม่


อุโบสถ

คำว่า อุโบสถ แปลว่า ดีถีวิเศษที่เข้าอยู่ ดิถีวิเศษที่เว้น มี ๓ อย่าง คือ

๑. นิคคัณฐอุโบสถ เป็นอุโบสถของนักบวชนอกพระพุทธศาสนา คือ ตั้งเจตนาเว้นเป็นบางอย่าง
เช่น เว้นการฆ่าสัตว์ในทิศเหนือ แต่ฆ่าสัตว์ทิศอื่น เป็นการรักษาตามใจชอบของตน

๒. โคปาลอุโบสถ เป็นอุโบสถในพระพุทธศาสนา เป็นอุโบสถที่อุบาสก อุบาสิกาสมาทานรักษาไว้มี
อาการเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโค คือ เวลาสมาทานแล้ว กลับไปพูดติรัจฉานกถาต่าง ๆ เช่น พูดเรื่องการทำมาหากิน เรื่องทะเลาะกันภายในครอบครัว เป็นต้น

๓. อริยอุโบสถ เป็นอุโบสถในพระพุทธศาสนา เป็นอุโบสถที่เหมาะสม และประเสริฐสำหรับ อุบาสก อุบาสิกา เมื่อสมาทานแล้วก็ตั้งใจรักษาศีลของตนให้มั่นคง ใจไม่ข้องแวะกับฆราวาสวิสัย สนทนาแต่ในเรื่องของธรรมวินัย ในเรื่องการบำเพ็ญบุญอย่างเดียว
อริยอุโบสถ นี้จึงเป็นอุโบสถที่นับว่าประเสริฐที่สุด


(มีต่อ ๒)
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 14 ส.ค. 2006, 12:04 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เบญจกัลยาธรรม

กัลยาณธรรม แปลว่า ธรรมอันงาม เมื่อกล่าวโดยความก็คือ ข้อปฏิบัติพิเศษที่ยิ่งขึ้นไปกว่าศีลและเป็นคู่กับศีล ดังพระบาลีที่แสดงคุณของกัลยาณชนว่า เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม

ศีลกับธรรมต้องคู่กัน ข้อนี้ต้องสันนิษฐานว่า ผู้เว้นจากข้อห้ามทั้ง ๕ ข้อ ได้ชื่อว่าผู้มีศีล แต่ผู้มีศีลจะชื่อว่ามีกัลยาณธรรมทุกคนหามิได้ เช่น คนหนึ่งเป็นคนมีศีลไปทางเรือพบเรือล่มคนกำลังว่ายน้ำอยู่ เขาสามารถที่จะช่วยได้แต่ไม่ช่วย จนคนนั้นจมน้ำตาย ศีลของเขาไม่ขาด แต่ปราศจากความกรุณา ยังเป็นที่น่าติเตียนเพราะส่วนนั้นจะจัดว่าเขามีกัลยาณธรรมไม่ได้ ถ้าเขาเห็นแล้วมีความกรุณาเตือนใจ หยุดช่วยคนนั้นให้พ้นอันตรายได้ จึงชื่อว่ามีทั้งศีลมีทั้งกัลยาณธรรม

กัลยาณธรรมนี้มี ๕ อย่าง จึงเรียกว่า เบญจกัลยาณธรรม ท่านจัดตามสิกขาบทในเบญจศีลนั้นเอง ดังนี้

เมตตากับกรุณา ได้ในสิกขาบทที่ ๑
สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ) ได้ในสิกขาบทที่ ๒
ความสำรวมในกาม ได้ในสิกขาบทที่ ๓
ความมีสัตย์ ได้ในสิกขาบทที่ ๔
ความมีสติรอบคอบ ได้ในสิกขาบทที่ ๕


กัลยาณธรรมในสิกขาบทที่ ๑

เมตตา ได้แก่ ความปรารถนาจะให้เขาเป็นสุข ตนได้รับความสำราญแล้ว ก็อยากให้คนอื่นได้บ้าง คุณข้อนี้เป็นเหตุให้สัตว์คิดเกื้อกูลกันและกัน

ของที่เราเห็นอยู่รอบด้าน เช่น วัดเป็นที่ประชมกัน ได้บำเพ็ญกุศลมีประการต่างๆ โรงเรียนเป็นที่สำหรับเด็กได้เล่าเรียนวิชา หาความรู้ใส่ตัว โรงเลี้ยงเด็กเป็นที่เลี้ยงเด็กกำพร้าไร้บิดา มารดา ศาลา สระน้ำ สะพาน เป็นต้น ล้วนประกาศความมีเมตตาจริงของผู้สร้างทั้งนั้น

การแสดงเมตตาเป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนควรทำ เพราะแต่แรกเราต้องอาศัยความเมตตาของผู้อื่นมาก่อน จึงมีชีวิตยืนมาได้ ชั้นแรก บิดา มารดา ครู อาจารย์ มิตรสหาย เมื่อเราโตแล้วก็ควรแสดงเมตตาแก่ผู้อื่นบ้าง ถ้าสามารถอยู่ และไม่มีเหตุขัดข้อง แต่หาแสดงไม่ เช่น มีลูกแล้ว ไม่เอาประธุระเลี้ยงดู รักษา พบคนข้ดสน อดข้าวไม่มีจะบริโภค ตนอาจให้ได้แต่ไม่ได้ให้ ได้ชื่อว่าเป็นคนใจจึดเห็นแก่ประโยชน์ตัว มีหนี้ของโลกติดตัวอยู่ เพราะได้รับอุปการะของโลกมาก่อน เมื่อถึงเวลาเข้าบ้างไม่ตอบแทน

เพราะฉะนั้น คนที่ไม่มีความเมตตา ท่านจึงเรียกว่า คนจิตจึด

การแสงดเมตตานี้ เมื่อกล่าวโดยแผ่ไปในผู้อื่น มีลักษณะ ๒ อย่าง คือ

๑. โอทิสสผรณา หมายถึง การแผ่เมตตาไปในผู้อื่นโดยเจาะจง เช่น ในสัตว์ตัวนั้น ตัวนี้ ในบุคคล หรือ ในคณะนั้น (ไม่ทั่วไป)

๒. อโนทิสผรณา หมายถึง การแผ่เมตตา มีสัตว์ บุคคล ไม่มีประมาณ โดยไม่เจาะจง (ทั่วไป) อโนทิสผรณานี้ จึงมีอานิสงส์มากกว่า โอทิสสผรณา เพราะว่าเป็นการแสดงว่าเราแผ่เมตตาไปไม่เลือกว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู


อานิสงส์ของการแผ่เมตตา

เมตตาเมื่อแผ่ไปเสมอๆ แล้ว จะมีอานิสงส์ ๑๑ ประการ คือ

๑. นอนหลับก็เป็นสุข
๒. ตื่นก็เป็นสุข
๓. ไม่ฝันลามก ไม่ฝันร้าย
๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย
๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย
๖. เทวดาย่อมรักษา
๗. ไฟ ยาพิษ ศาสตราย่อมไม่กล้ำกราย
๘. จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิเร็ว
๙. สีหน้าย่อมเบิกบานแจ่มใส
๑๐. ย่อมไม่หลงตาย คือ ก่อนตายก็มีสติ
๑๑. เมื่อยังไม่ตรัสรู้ย่อมเข้าถึงพรหมโลก

กรุณา ได้แก่ ความคิดปรารถนาจะให้เขาปราศจากทุกข์ เมื่อเห็นทุกข์เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นก็พลอยหวั่นใจไปด้วย คุณข้อนี้เป็นเหตุให้สัตว์คิดช่วยเปลื้องทุกข์ภัยของกันและกัน

การแสดงกรุณานี้เป็นหน้าที่ของมนุษย์ทุกคนควรทำ เราเป็นเด็กเคยได้รับความกรุณาจากท่านผู้อื่นมาแล้ว เมื่ถึงเวลาก็แสดงแก่ผู้อื่นบ้าง คือ ความกรุณาก็ควรทำ ผู้ใดอาจอยู่แต่ไม่กระทำ เช่น เห็นคนเรือล่มจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตก็ไม่ช่วย หรือพบคนเจ็บไข้ตามทางไม่มีผู้อุปถัมภ์ ผ่านไปด้วยไม่สมเพช และไม่ขวนขวายอย่างใดหนึ่ง ผู้นั้นชื่อว่า เป็นคนใจดำ มีแต่เอาเปรียบโลก หวังอุปการะของทางโลกฝ่ายเดียว เมื่อถึงเวลาเข้าบ้างกลับเฉยเสียไม่ตอบแทน เพราะไร้ความกรุณาในจิต

เพราะเหตุนั้น คนที่ไม่มีเมตตากรุณา ท่านจึงเรียกว่าคนใจดำ

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อแสดงความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น แต่เป็นเรื่องทำลายประโยชน์ของคนทั้งหลาย เช่น เห็นเขาจับโจรผู้ร้ายมา คิดจะให้ผู้ร้ายรอดจากอาญาแผ่นดิน เข้าแย่งชิงให้หลุดไป ถึงช่วยผู้ร้ายให้หลุดไปแล้ว ผู้ร้ายนั้นก็จะไปเบียดเบียนคนอื่นอีก และการที่เขาแย่งชิงนั้น ก็เป็นการผิดกฎหมายอีกด้วย อย่างนี้ไม่ควรทำ ควรวางอุเบกขาเสีย คิดว่าเป็นกรรมของโจรคนนั้นเสีย

การแสดงเมตตากรุณานี้ เมื่อใช้ถูกที่แล้ว ย่อมอำนวยผลอันดีให้แก่ผู้ประกอบและผู้รับทำความปฏิบัติของผู้มีศีลให้งามขึ้น เหมือนแหวนประดับเรือนแหวนให้งามฉะนั้น จึงชื่อว่ากัลยาณธรรม เป็นกัลยาณธรรมแต่ละอย่างในสิกขาบทที่ ๑ นี้

การเจริญเมตตา กรุณา ถ้าเจริญดีแล้ว มีคุณแก่ผู้เจริญได้ทั้งทางโลกและทางธรรม คือ

ทางโลก ย่อมเป็นเหตุให้ต่างคนต่างมีความรักใคร่นับถือ เป็นเหตุไมเบียดเบียนกัน
ทางธรรม โดยตรงผู้เจริญธรรม ๒ ประการนี้อยู่เรือย ๆ เมตตาย่อมกำจัดความพยาบาท
กรุณา ย่อมกำจัดความมีวิหิงสา (ความเบียดเบียน)

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมที่คุ้ครองโลกมี ๒ อย่าง คือ เมตตา กรุณา เพราะถ้าในโลกทั้งมนุษย์และสัตว์ ต่างไม่มีความเมตตา กรุณาต่อกันแล้ว ก็คงจะอยู่กันอย่างลำบากเป็นแน่แท้


กัลยาณธรรมในสิกขาบทที่ ๒

ในสิกขาบทที่ ๒ แห่งเบญจศีลนั้น มีกัลยาณธรรม คือ สัมมาอาชีวะเป็นคู่กัน ได้แก่การประกอบการเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ

คุณข้อนี้ อุดหนุนศีลให้สามารถรักษาให้มั่นคง เพราะผู้มีศีลเว้นจากการเลี้ยงชีพในทางที่ผิดแล้ว ถ้าไม่หมั่นทำมาหากินในทางที่ชอบแล้ว จะได้อะไรเป็นกำลังเลี้ยงชีพเสมอไป จะอาศัยทรัพย์เก่าก็มีแต่จะหมดไป ไม่มีของใหม่เพิ่มขึ้นมาแทน เมื่อไม่มีทรัพย์ใหม่เลี้ยงชีพความยากจนบีบคั้นเข้า ก็ไม่อาจตั้งอยู่ในศีลได้ จะรักษาให้บรุสุทธิ์ ก็ด้วยความลำบากแสนเข็ญคนมีศีลยากจนโดยมากเพราะเหตุนี้ ถ้าเขาหมั่นประกอบการงานหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ ได้ทรัพย์มาก็จะได้เป็นเครื่องจับจ่ายใช้สอยเลี้ยงชีพ ทั้งเป็นกำลังรักษาสุจริตให้มั่นคงด้วย

ทางที่ชอบ แม้เว้นจากมิจฉาชีพแล้ว ก็ยังต้องประกอบด้วยกิริยาที่ประพฤติเป็นธรรมในการหาเลี้ยงชีพอีก ซึ่งท่านจัดไว้เป็น ๓ อย่าง คือ

๑. ประพฤติเป็นธรรมในกิจการ
๒. ประพฤติเป็นธรรมในบุคคล
๓. ประพฤติเป็นธรรมในวัตถุ

๑. ประพฤติเป็นธรรมในกิจการ ได้แก่ การซื่อตรงในกิจการงาน เช่น คนเป็นลูกจ้างก็ทำงานด้วยความอุตสาหะตั้งใจ ตรงตามเวลา มาเช้า เลิกทีหลัง ไม่บิดพลิ้วหลีกเลี่ยงงาน

๒. ประพฤติเป็นธรรมในวัตถุ ได้แก่ การประพฤติที่ปราศจากอคติ เช่น ตนเป็นนายงานจ่ายค่าจ้างตามสัญญา หรือตามแรงงาน เป็นพ่อค้า ก็ขายสินค้าเท่าที่ราคากำหนดไว้แก่คนทุกชั้นที่มีซื้อของเสมอไป ไม่ประพฤติเห็นแก่ได้ เช่น คนไง่เซอะซะ ก็ขายแพงๆ คนฉลาดก็ขายตามตรง

๓. ประพฤติธรรมในวัตถุ ได้แก่ ความไม่เอาวัตถุที่ไม่จริงไปหลอกลวงเขาว่าจริง เช่น คนขายสินค้าอะไรเป็นของแท้ หรือเป็นของเทียมกันบอกแก่ผู้ซื้อตามตรง ไม่ขายของเทียมอย่างของแท้อีกอย่างหนึ่ง ทำสัญญารับสร้างบ้านเรือน และกำหนดว่า จะใช้ของชนิดนั้นๆ ทำตรงตามสัญญานั้นไม่ยักเยื้อง ไม่ผ่อนใช้ของชั้นที่สองแทนชั้นที่หนึ่ง ซึ่งจะทำให้บ้านเรือนนั้นไม่คงทนเท่าที่ควร

ผู้ที่เลือกหาการงาน ควรเว้นงานที่ประกอบด้วยโทษเสีย เพราะทรัพย์ที่เกิดจากการงานอันประกอด้วยโทษนั้น ไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จเต็มที่

อีกอย่างหนึ่ง การงานที่ต้องเสี่ยงโชค เช่น การพนัน ก็ไม่ควรจะเลือก เพราะเหตุพลาด่าก็ฉิบหาย ถ้าได้ทรัพย์ก็ไม่ถาวร ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ

๑. เป็นของได้มาง่าย ความเสียดายมีน้อย เก็บไม่ใคร่อยู่
๒. มีความอยากไม่มีที่สิ้นสุด ได้มาแล้วคงอยากได้อีก เคยได้มาทางใด ก็ต้องหาทางนั้นอีกเมื่อเล่นการพนันไม่หยุด ก็คงมีเวลาพลาดท่าสักคราวหนึ่งก็เป็นได้

ทรัพย์ที่ได้มาด้วยความหมั่นขยันทำการงาน ต้องเอาใจใส่ระวังรักษาให้พ้นอันตรายต่าง ๆ ทั้งภายใน คือ คนเอง บุตร ภรรยา สามี ไม่ใช่สอยให้เสียไป เพราะเหตุไม่จำเป็นทั้งภานอก เช่น โจรนำไปเสีย หรือไฟผลาญเสียไป เป็นต้น จับจ่ายใช้สอยพอสมควร อย่าให้ฟุ้มเฟือยเกินรายได้ และไม่เบียดเบียนรอจนถึงกับอดอยาก รู้จักเก็บไว้เพื่อการณ์ข้างหน้าบ้าง ก็พอทำตนให้พอสุขสำราญได้และไม่ต้องประกอบการทุจริต เพราะความเลี้ยงชีวิตเข้าบีบคั้น


กัลยาณธรรมในสิกขาบทที่ ๓

ในสิกขาบทที่ ๓ แห่งเบญจศีลนั้น มีกัลยาณธรรม คือ ความสำรวมในกามเป็นคู่กันได้แก่กิริยาที่ระวังไม่ประพฤติมักมากในกาม

คุณข้อนี้ ส่งความบรุสุทธิ์ผ่องใสของชายหญิงให้กระจ่างแจ่มใส ชายหญิงเว้นจากการเมสุจมิจฉาจารแล้วแต่ยังประพฤติมักมากอยู่ในกามคุณ ย่อมไม่มีสง่าราศี ตกอยู่ในมลทินไม่พ้นจากการติฉินนินทาไปได้

ธรรมข้อนี้ แจกตามเพศของบุคคล เป็น ๒ คือ

๑. ทารสันโดษ ความสันโดษด้วยภรรยาของตน เป็นคุณสำหรับประดับของชาย
๒. ปติวัตร ความประพฤติเป็นไปตามสามีของตน เป็นคุณสำหรับประดับของหญิง

สทารสันโดษ ได้แก่ ความยินดีด้วยภรรยาของตน ชายได้ภรรยาแล้ว พอใจด้วยภรรยาของตน ช่วยกันหาช่วยกันทำ เลี้ยงดูกันไปไม่ละทิ้ง ไม่ผูกสมัครักใคร่หญิงอื่นอีก อย่างนี้ชื่อว่าสทารสันโดษ สันโดษด้วยภรรยาของตนอย่างอุกฤษฏ์ (อย่างสูง)

ในบ้านเมืองที่มีกฎหมาย ยอมให้ชายมีภรรยาได้หลายคน แต่ชายพอประสงค์ด้วยหญิงที่ตนกำลังถือเป็นภรรยา ก็เป็นสทารสันโดษ


โทษของอทารสันโดษ (ไม่ยินดีด้วยภรรยาของตน)

ชายที่ไม่สันโดษด้วยภรรยาของตน เที่ยวซุกซนคบหาหญิงแพศยา ถึงไม่เป็นกาเมสุมิจฉาจารก็ย่อมเป็นความเสื่อมเสียแก่ตนเอง ๓ ประการ คือ

๑. เสียทรัพย์เป็นค่าบำเรอหญิงนั้นทุกครั้ง ไม่ใช่เป็นฐานะอุปการะ แต่เสียค่าปรับเพราะอำนาจกิเลส

๒. เป็นบ่อเกิดของโรค ทำให้ร่างกายพิการไปต่างๆ ไม่แข็งแรง และโรคติดต่อกันได้

๓. ใกล้ต่ออันตรายต่างๆ เพราะหญิงแพศยา ย่อมผูกสมัครรักใคร่กับชายหลายคน เมื่อเกิดหึงหวงกันขึ้นก้ย่อมทำร้ายถึงเสียชีวิตก็มี เรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ

ปติวัตร ได้แก่ ความจงรักภักดีในสามี ฝ่ายหญิงได้สามีแล้ว พึงปฏิบัติสามีของตนตามหน้าที่ที่ภรรยาจะทำให้ดีที่สุด ผูกสมัครรักใคร่เฉพาะสามีของตน ที่สุดเมื่อสามีของตนตายไปก่อนแล้ว ถ้าตนเป็นหญิง ไม่ต้องห้ามจะมีสามีใหม่ก็ได้ ไม่บาปกรรม ไม่ผิดกฎหมายบ้านเมืองแต่ด้วยอำนาจความรักใคร่นับถือในสามีของตนที่ตายไปแล้วคงตัวเป็นหม้ายอยู่อย่างนั้น ไม่มีสามีใหม่ หญิงชนิดนั้ได้ชื่อว่า ปติวัตร ประพฤติเป็นไปตามสามีของตน

ความสำรวมในกาม ส่องความประพฤติงามของชายหญิง ผู้มีศีลยิ่งขึ้น


กัลยาณธรรมในสิกขาบทที่ ๔

ในสิกขาบทที่ ๔ แห่งเบญจศีลนั้น มีกัลยาณธรรม คือ

๑. ความมีสัตย์ เป็นคู่กัน ได้แก่ไม่ทำกิจการให้ผิดด้วยอำนาจอคติ ๔ ประการ คือ

๑. ฉันทาคติ ถึงความบำเอียงเพราะความเห็นแก่กัน
๒. โทสาคติ ถึงความลำเอียงเพราะเกลียดชัง
๓. โมหาคติ ถึงความลำเอียงเพราะหลงไม่รู้ทัน
๔. ภยาคติ ถึงความลำเอียงเพราะกลัว

ข้อนี้พึงเห็นตัวอย่างดังนี้ ผู้พิพากษาผู้ทำการวินิจฉัยอรรถคดีดโดยเที่ยงธรรม ไม่เห็นแก่ฝ่ายโจทก์ หรือฝ่ายจำเลย ไม่กดคดีที่เขาไม่นิยมตน พิจารณาเหตุผล ตรวจคำกล่าวหาคำให้การ คำพยาน ด้วยปรีชาอันสุขุม เพ่งความยุติธรรมเป็นใหญ่ ไม่ถือเอาความกลัวของฝ่ายโจทก์ ฝ่ายจำเลย เป็นเหตุหักล้างความยุติธรรม ดังนี้ จึงเชื่อว่า เที่ยงธรรมในหน้าที่เช่นนี้ ย่อมเป็นที่สรรเสริญของคนทั้งหลายเมื่อถึงคราวที่โอกาสเปิดให้ ย่อมเจริญด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุขปราศจากโทษ เหมือนพระจันทร์ข้างขึ้นฉะนั้น


๒. ความซื่อตรง คือ ความซื่อตรงต่อบุคคลที่เป็นมิตร เมื่อตนได้รับผูกไมตรีกับผู้ใดแล้ว ก็ไม่คิดร้ายแก่ผู้นั้น พึงเว้นจากโทษ ๔ คือ

๑. ปอกลอกเพื่อน
๒. ดีแต่พูด (มีวาจาปราศรัยไม่สงเคราะห์จริง)
๓. ประจบสอพอ
๔. ชักชวนในทางฉิบหาย

และพึงประกอบด้วยคุณ ๔ สถาน คือ
๑. อุปการะเพื่อน
๒. ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน
๓. คอยตักเตือนให้สติแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์
๔. มีความรักใคร่กันจริง


๓. สวามิภักดิ์ คือ ความจงรักภักดีต่อเจ้านายของตน เมื่อยอมยกให้ใครเป็นเจ้านายของตนแล้ว ก็ประพฤติซื่อสัตย์ต่อคนนั้น มีใจจงรักภักดี เป็นกำลังในการงานทุกอย่าง และป้องกันอันตราย เมื่อถึงเวลา ก็อาจสละชีวิตเพื่อประโยชน์แก่เจ้านายของตนได้

๔. ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการะที่ท่านได้ทำแล้วแก่ตน เป็นคู่กับกตเวที คือ การตอบแทนให้ทราบว่าตนรู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว

แต่ในที่นี้ ไม่ได้หมายความทั่วไปอย่างนั้น หมายเอาเฉพาะแต่ว่า บุคคลได้รับอุปการะเช่นนั้น จากท่านใดแล้วยกย่องท่านผู้นั้น ตั้งไว้ในที่ผู้มีคุณ เช่น บิดา มารด ครู อาจารย์ เจ้านาย เป็นต้น ไม่แสดงอาการลบหลู่ดูหมิ่นและยกตนเทียมท่าน

ความมีสัตย์ จึงทำคนให้มีศีลบริบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงชื่อว่ากัลยาณธรรม ในสิกขาบทที่ ๔ มีสัตย์แล้วเบญจธรรมข้ออื่นก็จะสมบูรณ์ได้ยาก


กัลยาณธรรมในสิกขาบทที่ ๕

ในสิกขาบทที่ ๕ แห่งเบญจศีลนั้น มีกัลยาณธรรม คือ ความมีสติรอบคอบเป็นคู่กัน ได้แก่ ความมีสติตรวจตราไม่เลินเล่อ มีอาการที่ท่านแยกเป็น ๔ สถาน คือ

๑. ความรู้จักประมาณอาหารที่จะพึงบริโภค
๒. ความไม่เลินเล่อในการงาน
๓. ความมีสติสัมปชัญญะในการประพฤติตัว
๔. ความไม่ประมาท

๑. ความรู้จักประมาณอาหารที่จะพึงบริโภค อาหารนั้น โดยปกติมีประโยชน์สำหรับบำรุงร่างกาย แต่ถ้ากินโดยไม่รู้จักประมาณก็ให้โทษ ถึงของอื่นก็เหมือนกัน ที่เป็นของมีประโยชน์ใช้ไม่ระวัง กลับให้โทษ เช่น ไฟ เป็นต้น อาหารเสียไม่ควรบริโภคทีเดียว ถึงอาหารไม่เสียบางอย่างเป็นของแสลง บริโภคแล้วไม่สบาย หรือยามเจ็บไข้บริโภคของบางอย่างเข้าไป แล้วโรคกำเริบ บูดขึ้นในกระเพาะ ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ มีลงท้อง เป็นต้น ผู้บริโภคอาหารเป็นเวลา ไม่สำส่อน อาหารที่บริโภคเข้าไปนั้นจึงมีคุณ เป็นเครื่องบำรุงร่างกาย ให้เป็นสุขสำราญ

รู้จักประมาณในการจับจ่ายอาหารบริโภค แต่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ อย่าให้ฟุ่มเฟือยเกินไปจะไม่มีกินในวันข้างหน้า ถึงจะมีทางหาได้ไม่ควรปล่อยให้อดอยาก เพราะทรัพย์นั้นก็เพื่อจับจ่ายเลี้ยงตัวเอง และคนอื่นให้ได้รับความสุขสำราญ

๒. ความไม่เลินเล่อในการงาน คือ ไม่ทอดธุระเพิกเฉย เอาใจใส่ประกอบการงานให้ชอบแก่กาลเทศ ไม่ปล่อยให้การงานอาดูรเสื่อมเสียไป พึงเห็นตัวอย่าง เช่น คนทำนาก็ต้องทำนาในฤดูทำนา เป็นต้น ผู้ประกอบการงานให้ถูกกาลเทศะ ย่อมประกอบการงนมีผลไพบูลย์

๓. ความมีสัมปชัญญะในการประพฤติตัว ได้แก่ ความรู้รอบคอบ รู้จักระวังหน้าระวังหลัง ชื่อว่าสัมปชัญญะ พึงเห็นตัวอย่าง บุคคลผู้ประกอบกิจการใดๆ ตริตรองให้เห็นก่อนว่ามีคุณหรือมีโทษ หรือเสียประโยชน์ ควรทำ หรือไม่ควรทำ ถ้าไม่ควรก็งดเสีย ถ้าควรจึงทำลงไป เวลาจะพูดก็ต้องระวัง ไม่ไปทำความเสียหายแก่ตัวเองและผู้อื่น จะคิดอะไรก็อาศัยหลักฐานไม่ปล่อยให้ความคิดข้ามไป บุคคลมีสติสัปชัญญะ ตรวจทางได้ทางเสียก่อนแล้วจึงทำกิจนั้นๆ ย่อมมีปกติทำอะไรไม่ผิดพลาด

๔. ความไม่ประมาทในธรรม ความเป็นผู้ไม่อยู่ปราศจากสติ เรียกว่า ความไม่ประมาท พึงกำหนดรู้ดังนี้ คนผู้เกิดมาย่อมตกอยู่ในวิสัยของคนธรรมดา เมื่อเกิดแล้วก็มีความปรวนแปรไปตามปกติ มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปเป็นธรรมดาเหมือนกันหมด ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ แก่ ชรา ผู้หยั่งรู้ธรรมดาของสังขารว่าเป็นเช่นนี้แล้วไม่ควรประมาทในวัย ในความสำราญและในชีวิต เวลาเป็นเด็กพึงรีบศึกษาหาวิชาไว้เป็นเครื่องมือ เมื่อเติบใหญ่หมั่นทำงานสั่งสมทรัพย์สมบัติไว้ ชื่อเสียงคุณความดีไว้ ทำกิจสำหรับคนภายหลังให้เรียบร้อย ยามพยาธิครอบงำทำการงานไม่ไหว จะได้อาศัยทรัพย์และชื่อเสียงคุณความดี เลี้ยงชีพตลอดไปโดยผาสุก เมื่อความตายมาถึงจะได้ไม่ห่วงใย อย่างนี้ชื่อว่า ไม่ประมาทในธรรม คือสภาวะอันเป็นอยู่ตามธรรมดาของโลก

คนผู้ตั้งอยู่ในกัลยาณธรรม ได้ชื่อว่า กัลยาณชน คือ คนที่ประพฤติดีงาม เป็นที่นิยมนับถือของคนทั่วไป



............................................................................

จากหลักสูตรวิชาเบญจศีล-เบญจธรรม (ธรรมศึกษาตรี)
http://www.geocities.com/bencha5/suksa/benchaseela.htm
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
นุ้ย
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 24 ส.ค. 2006, 4:44 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขอบคุณค่ะ ขออนุโมทนาในการให้ความรู้ครั้งนี้ด้วยค่ะ
สาธุ สาธุ สาธุ สาธุ
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง