Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ...ธรรมอันเป็นเหตุให้เกิดสุข...(หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 12 พ.ค.2008, 3:27 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ธรรมอันเป็นเหตุให้เกิดสุข คือความสามัคคี แปลว่าความพร้อมเพรียงกัน คุณข้อนี้สำคัญเพราะเป็นเครื่องจูงใจให้ชื่นบาน เป็นทางให้เกิดผลคือความสุข สมดังพุทธศาสนสุภาษิตว่า
"สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี" ความสามัคคีของหมู่คณะให้เกิดสุข

สามัคคีนี้มี ๒ ประเภทคือ
กายสามัคคี พร้อมเพรียงกันด้วยกายอย่างหนึ่ง
จิตสามัคคี พร้อมเพรียงกันด้วยน้ำใจอย่างหนึ่ง


พร้อมกันทั้ง ๒ ประเภทจึงเป็นเหตุให้ได้ผลดีเต็มที่ ถ้าเป็นแค่สามัคคีด้วยกาย ใจไม่สามัคคีด้วย เช่น คนงานที่อยู่ในอำนาจของนายงาน เมื่อเขาบังคับให้ช่วยยกของที่หนักให้ถึงที่ตามประสงค์ได้ เป็นแค่สามัคคีเพราะเขาบังคับผลของการทำนั้นก็บกพร่อง ไม่ดีเท่ากับทำด้วยน้ำใจจริง ถึงอย่างนั้นก็ยังดีกว่าคนที่ดื้อหลีกเลี่ยงเอาตัวรอด ถึงจะทำด้วยความไม่เต็มใจ ก็ยังไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือดูดายให้เกิดบาดหมางกับหมู่คณะ

การทำก็ยังมีผลอยู่บ้าง แต่ถ้าพร้อมทั้งจิตสามัคคีจะได้ผลทวีมากกว่านั้นหลายเท่า เพราะผู้ที่มีใจประกอบด้วยไมตรีอารีแก่กัน จะมีผู้บังคับหรือไม่มีก็ตาม ย่อมพรักพร้อมช่วยกันทำช่วยกันคิดให้กิจการสำเร็จโดยชื่นตาชื่นใจ สามัคคีลักษณะดังกล่าวมานี้มีอยู่ในหมู่ใดสมาคมใด หมู่นั้นสมาคมนั้นย่อมดำเนินไปสู่ความเจริญ ไม่มีความเสื่อมทราม ต้องตามพุทธภาษิตที่สมเด็จพระบรมศาสดาของเราตรัสสรรเสริญไว้ ความว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันหนึ่งเมื่อเกิดขึ้นในโลกย่อมเกิดขึ้น เพื่อความต้องการ เพื่อความเกื้อกูล เพื่อความสุขแห่งชนเป็นอันมากทั้งเทวดาและมนุษย์ ธรรมอันหนึ่งนั้น คือ ความสามัคคีแห่งหมู่ เพราะเมื่อหมู่พร้อมเพรียงกันแล้ว ความขัดใจ ความกระทบกระทั่ง ความร้าวราน ย่อมไม่มีแก่กัน คนที่ยังไม่เลื่อมใสย่อมเลื่อมใสในหมู่คณะนั้น ที่เลื่อมใสแล้วย่อมเลื่อมใสยิ่งขึ้น

สามัคคีเป็นคุณสำหรับหมู่คณะ คนเราจะอยู่ในโลกตามลำพังคนเดียวไม่ได้ นายกับลูกน้อง บิดากับบุตร สามีกับภรรยา ถ้าขาดความปองดองกันก็หาความสุขมิได้ หมู่คณะกว้างออกไปเพียงใดสามัคคีก็ห่างออกไปเพียงนั้น เพราะคนเรามีอัธยาศัยและความประพฤติต่างๆ กัน เพราะฉะนั้นต่างคนต่างต้องยึดธรรมเป็นหลัก จึงจะทำให้ความเป็นหมู่คณะเจริญอยู่ได้

ธรรมสำหรับยึดเหนี่ยวน้ำใจกันไว้ได้นั้นมี ๔ ประการเรียกว่า สังคหวัตถุ ได้แก่

๑. ความเผื่อแผ่แบ่งปันกัน
๒. กล่าวถ้อยคำที่มีน้ำใจต่อกัน
๓. ช่วยเหลือทำประโยชน์แก่กัน
๔. ประพฤติตนสม่ำเสมอกัน ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน


๑. ความเผื่อแผ่แบ่งปันกัน

เป็นคุณยึดเหนี่ยวน้ำใจกันไว้อย่างหนึ่ง คนใจจืดเหนียวแน่น เห็นแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว ทำกิจการอันใดก็เอาแต่ได้ส่วนตัว ไม่เหลียวแลถึงผู้อื่น กิริยาของคนเช่นนี้ เป็นเหตุทำลายความสามัคคี เพราะเมื่อเขาเห็นอัธยาศัยใจคอเช่นนั้น ก็ไม่ต้องคบหาสมาคมด้วย คนที่มีอัธยาศัยเอื้อเฟื้อเจือจานแก่กันตามกำลังของตน ย่อมเป็นที่รักใคร่ของชนเป็นอันมาก เพราะเมื่อมีไมตรีจิตแก่เขา เขาก็มีไมตรีตอบ ต่างอาศัยความดีของกันและกัน ไมตรีก็สนิทสนมกลมเกลียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวสมดังพุทธภาษิตว่า ททฺ มิตฺตานิ คนฺถติ ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้ เพราะฉะนั้นความเผื่อแผ่แก่กันจึงเป็นคุณยึดเหนี่ยวน้ำใจรักษาสามัคคีไว้ได้ประการหนึ่ง

๒. วาจาที่พูด

ก็เป็นคุณสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความยินดีปรีดา หรือความบาดหมางแก่กัน การพูดเสียดสีกระทบกระทั่งบริภาษให้บาดใจ เป็นเหตุตัดทอนความสามัคคี เพราะวาจาหยาบไม่เป็นที่พอใจของใครๆ วาจาที่อ่อนหวานนุ่มนวลควรดื่มไว้ในใจ เป็นคุณทำให้เกิดความยินดีปรีดาแก่ผู้ที่ได้สดับ แม้ถึงวาจานั้นจะไม่ถูกใจ แต่เป็นเครื่องเตือนใจให้ประพฤติดี วาจาเช่นนี้ก็ควรดื่มไว้ในใจ นับว่าเป็นสุภาษิตที่สรรเสริญของนักปราชญ์ ลักษณะของถ้อยคำที่เป็นสุภาษิตนั้น ท่านกล่าวไว้ ๔ อย่างคือ

* คำเป็นสุภาษิต
* คำเป็นธรรม
* คำเป็นที่รัก
* คำสัตย์


ถ้อยคำใดที่เว้นจากการส่อเสียดยุยงให้เขาแตกร้าวกัน เป็นถ้อยคำชักจูงกันให้ตั้งอยู่ในความสามัคคี เมื่อมีการแก่งแย่งบาดหมางเกิดขึ้น การพูดไกล่เกลี่ยชี้เหตุชี้ผลให้ตกลงกันโดยสามัคคี ถ้อยคำเช่นนี้ชื่อว่าสุภาษิต เพราะเป็นคำไม่ทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน เพราะฉะนั้นพึงละคำพูดส่อเสียดเสีย พูดถ้อยคำที่ชักนำกันให้ตั้งอยู่ในความสามัคคี แม้พระวังคีสเถระเจ้า ซึ่งเป็นสาวกของพระบรมศาสดา เมื่อจะประกาศให้ทราบเนื้อความนี้ ได้กล่าวคาถาเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระบรมศาสดา ความว่า บุคคลพึงกล่าววาจาอันเป็นเหตุไม่ทำตนและบุคคลให้เดือดร้อน ไม่เบียดเบียนคือทำลายผู้อื่นด้วยวาจาใด วาจานั้นแลชื่อว่าสุภาษิต

ถ้อยคำที่มีเหตุผลอันผู้ฟังอาจตริตตรองเห็นตามได้ เป็นประโยชน์แก่ผู้ได้ยินได้ฟัง ชื่อว่า ถ้อยคำเป็นธรรม ผู้ใดกล่าวถ้อยคำเพ้อเจ้อหาประโยชน์มิได้ ผู้นั้นชื่อว่ากล่าวถ้อยคำไม่เป็นธรรม วาจาของบุคคลเช่นนั้นหาหลักฐานไม่ได้ ไม่เป็นถ้อยคำ ที่ควรยกขึ้นสู่บัญญัติของหมู่คณะซึ่งเป็นระเบียบอันดี คนเช่นนี้ชื่อว่าทำตน และหมู่คณะของตนให้เสื่อม หาความเจริญมิได้ ส่วนผู้ที่กล่าวถ้อยคำเป็นธรรมคือ มีเหตุผลควรเชื่อเป็นหลักฐาน เป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ผู้ได้ยินได้ฟัง ทำความเห็นของหมู่คณะให้เป็นไปถูกต้องตามคลองธรรม

เมื่อรับฟังความเห็นของกันและกัน ยึดธรรมเป็นหลัก ความประพฤติก็เป็นไปทางเดียวกัน ความแก่งแย่งกันก็ไม่มี มีแต่ความสามัคคีพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นนักปราชญ์ท่านจึงสอนไว้ว่า บุคคลควรพูดวาจาที่ดี ไม่ควรพูดวาจาชั่วเลย เพราะพูดวาจาที่ดียังประโยชน์ให้สำเร็จ พูดวาจาชั่วย่อมเดือดร้อน

ถ้อยคำที่ไม่หยาบทำให้ผู้ฟังรักใคร่นิยมนับถือ โดยเป็นวาจาสุภาพนุ่มนวล ชื่อว่า วาจาเป็นที่รัก วาจาไพเราะ เป็นเครื่องจับใจของผู้ฟังให้เกิดปิติโสมนัสนิยมนับถือในผู้พูด จูงใจให้สามัคคีพร้อมเพรียงกันได้อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นสมเด็จพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย จึงสอนพระภิกษุไว้ความว่า ภิกษุเข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตาในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือมีเมตตาปราศรัยไต่ถามถึงทุกข์สุขของกันและกัน คุณข้อนี้จัดเป็นสารณียธรรม คือธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความนึกถึงกัน เพราะถ้อยคำเช่นนั้นเป็นเครื่องจับใจ ให้รู้สึกอุปการคุณของกันและกัน

แม้ถ้อยคำของผู้อื่นจะหยาบไม่เป็นที่เสนาะหู ไม่ควรยึดถือถ้อยคำนั้นให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยว รั้งถ้อยคำของตัวพลอยเสียไปด้วย พูดดีเป็นหลักไว้อาจชนะวาจาหยาบนั้นได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนไว้ว่า บุคคลควรกล่าวแต่วาจาเป็นที่รัก ซึ่งทำผู้ฟังให้เพลินด้วยน้ำใจอันเบิกบาน ไม่ยึดถือถ้อยคำอันชั่ว คือคำหยาบอย่างปฏิกูลของผู้อื่น

คำพูดที่จริง ไม่เท็จ เรียกว่า คำสัตย์ ข้อนี้เป็นคุณสำหรับบุคคล คำเท็จทำผู้ฟังให้เข้าใจผิด กิจที่ทำด้วยความเข้าใจเช่นนั้นย่อมไม่มีประโยชน์ กลับให้โทษอย่างร้ายแรง แม้เป็นเรื่องเล็กน้อยก็ไม่ควรพูดให้คลาดเคลื่อน เพราะกิริยาเช่นนี้เป็นลักษณะของคนสับปลับ เคยตัวหนักเข้าเรื่องใหญ่ๆ ก็อาจประพฤติเช่นนั้นได้ ภาชนะปากกว้างวางไว้กลางแจ้งยังเต็มไปด้วยเม็ดฝนอันตกทีละหยดๆ ฉันใด ความแม้ประพฤติทีละน้อยๆ ก็ชั่วเต็มที่ได้ฉันนั้น

คนสับปลับแม้บางคราวจะพูดจริงก็ไม่มีใครเชื่อถือ ไม่อาจนำความเจริญมาสู่หมู่คณะของตนได้ คนที่มีถ้อยคำกอปรด้วยความสัตย์ความจริง มีถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นิยมนับถือของประชุมชน อาจบำรุงคณะของตนให้เจริญไพศาล เพราะเป็นที่เชื่อถือของหมู่คณะ ชักจูงให้กลมเกลียวกันได้ เพราะฉะนั้นคำสัตย์จึงเป็นคุณยึดเหนี่ยวน้ำใจกันประการหนึ่ง

วาจามีลักษณะ ๔ ประการดังพรรณนามา นับว่าเป็นสุภาษิต
เป็นเครื่องประพฤติของบัณฑิต ต้องตามพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้ความว่า

สัตบุรุษทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญ คำสุภาษิตว่าเป็นคุณสูงสุด เป็นลักษณะแรก
พึงกล่าวถ้อยคำเป็นธรรม ไม่พึงกล่าวถ้อยคำเว้นจากธรรมนั้นเป็นลักษณะที่ ๒
พึงกล่าวถ้อยคำเป็นที่รัก ไม่พึงกล่าวถ้อยคำน่าเกลียดน่าชังนั้นเป็นลักษณะที่ ๓
พึงกล่าวคำสัตย์ไม่พูดพล่อยๆ นั้นเป็นลักษณะที่ ๔
ถ้อยคำที่ประกอบด้วยลักษณะนี้ ชื่อว่า พูดจามีน้ำใจ
เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกันให้ตั้งอยู่ในความสามัคคี


๓. การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

เป็นคุณเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจกันประการหนึ่ง คนที่มีพวกพ้องมากสามารถทำกิจการใหญ่ๆ ให้สำเร็จได้ ก็เพราะอาศัยกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังความคิด ของพวกพ้องเข้าประกอบกัน ผลของความช่วยเหลือกัน นอกจากทำกิจให้สำเร็จยังเป็นคุณปลุกความชื่นบานแก่หมู่คณะ เมื่อทำการใดได้เห็นพวกพ้องช่วยเหลือโดยเต็มใจ ย่อมรู้สึกเบิกบานมีใจชื่นชม ก็เพราะเขาเหล่านี้มีไมตรีสนิทสนมต่อกัน ฝ่ายใดมีกิจช่วยกันทำช่วยกันคิดให้กิจนั้นๆ สำเร็จลุล่วงไป โดยความช่วยเหลือกันนำมาผลซึ่งผลคือปีติและโสมนัสแก่กัน ต้องตามพุทธภาษิตว่า อตฺถมฺหิ ชาตมฺหิ สุขา สหายาสหาย (คนร่วมกิจการร่วมสุขร่วมทุกข์กัน) นำความสุขมาให้ในเมื่อกิจเป็นประโยชน์เกิดขึ้น

สุภาษิตข้อนี้ชี้ให้เห็นว่า คนที่เป็นสหายกันจะเห็นน้ำใจกันก็เมื่อเวลามีกิจเกิดขึ้น เมื่อได้รับความช่วยเหลือก็แลเห็นผลอันเกิดแก่ความที่มีสหาย ความดูดายเพิกเฉยในเวลาที่พวกเดียวกันมีกิจเกิดขึ้น หรือฝ่ายหนึ่งต้องทุกข์ภัยได้รับความลำบากทำเพิกเฉยไม่นำพา หรือกลับซ้ำเติมส่งเสริมโทษภัย เป็นเหตุทำลายความสามัคคี คนเช่นนี้ไม่นับว่าเป็นสหาย เมื่อหมู่คณะเห็นน้ำใจก็ชักเบื่อ ไม่อยากคบหาสมาคม เพราะฉะนั้น ความช่วยเหลือกัน จึงเป็นคุณสำคัญในการยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน

๔. ความประพฤติตนสม่ำเสมอ

เป็นคุณยึดเหนี่ยวน้ำใจกันประการหนึ่ง ข้อนี้มีต่างอาการที่จะพึงประพฤติคนที่เป็นญาติกัน ประพฤติตนตามฉันที่เป็นญาติ ที่เป็นมิตรกันประพฤติตนตามฉันที่เป็นมิตร ที่นับเนื่องเป็นหมู่เดียวกันประพฤติตนตามฉันที่เป็นพวกเดียวกัน ที่เป็นผู้ใหญ่ประพฤติตนตามฉันที่เป็นผู้ใหญ่ ที่เป็นผู้น้อยประพฤติตนตามฉันที่เป็นผู้น้อย ไม่คิดเอารัดเอาเปรียบ ต่างรักษาประโยชน์ของกัน รู้จักผ่อนผันประพฤติตามสมควรแก่ประชุมชนที่ตนเนื่องอยู่ด้วย

มีจิตคงที่ไม่แปรผัน สงเคราะห์กันตามฉันที่สนิทและห่าง แม้จะมีโภคสมบัติหรืออำนาจ หรือคุณวุฒิวิทยาความรู้อย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ก็ไม่ดูหมิ่นผู้อื่นว่าเลวทรามกว่าตนเกินไป ทำความเห็นและความประพฤติให้สม่ำเสมอกัน ธรรมดาบุคคลจะเป็นที่รักใคร่เคารพนับถือของประชุมชน ต้องอาศัยความประพฤติของตนอย่างหนึ่ง เมื่อได้ทำกิจธุระของกันและกันด้วยกายหรือวาจาก็ดี ด้วยเมตตาจิตคิดจะช่วยจริงๆ ก็ดี ต่อหน้าฉันใดลับหลังก็ฉันนั้น ผู้ที่เห็นความดีเช่นนั้น ก็รู้สึกยินดีนิยมนับถือ และกิจการที่จะทำร่วมกันก็ไม่ทำให้ลักลั่นตลอดกาลเวลา

ประพฤติเที่ยงธรรมตามหน้าที่ ไม่ให้เสียระเบียบของหมู่คณะข้อนี้สมเด็จพระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ก็ตรัสสอนเป็นพุทธโอวาทไว้ ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต ความว่า เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงกันช่วยกันทำกิจที่ต้องทำอย่างนี้พึงหวังความเจริญฝ่ายเดียวหาความเสื่อมมิได้

ความประพฤติเที่ยงธรรมตามระเบียบอย่างนี้ ก็นับว่าประพฤติตนสม่ำเสมอ ความประพฤติเสมอต้นเสมอปลายนอกในเสมอกันแล้ว แม้จะไม่แสดงกิริยากายและวาจาแต่น้ำใจหวังสุขประโยชน์ต่อกันแล้ว กิริยากายวาจาก็เป็นที่ต้องตาต้องหูของกันและกัน ผู้ที่ได้รับไมตรีจิตเช่นนั้นภายหลังก็แสดงไมตรีจิตตอบ ข้อนี้เป็นธรรมดา ปูชโก ลภเต ปูชฺ ผู้บูชาย่อมได้บูชา, วนฺทโก ปฏิวนฺทนฺ ผู้ไหว้ย่อมได้ไหว้ตอบ

อนึ่ง ไม่ควรถือความเห็นของตนฝ่ายเดียว ต้องคอยผ่อนผันสั้นยาว เอาใจซึ่งกันและกันเป็น ประมาณด้วย ถ้ามีเหตุอันจะนำความเห็นให้แตกต่างกันเกิดขึ้น ต้องชี้เหตุผลทำให้ตกลงกันโดยนุ่มนวลไม่หักหาญ เมื่อมีเหตุซึ่งเป็นทางแห่งความเคลือบแคลงเกิดขึ้น ควรพูดจาและไต่ถามกันตรงๆ เพื่อมิให้เข้าใจผิด คิดกินแหนงแก่กันและกัน เพราะธรรมดาคนจะวิวาทแตกร้าวกัน ก็เพราะอาศัยต่างคนต่างเห็นว่าไม่หวังประโยชน์ต่อกันบ้าง

ถ้าต่างคนต่างประพฤติเสมอๆ กัน ทำความเห็นให้ตรงกัน ก็จะไม่วิวาทแตกร้าวกัน เพราะฉะนั้นความประพฤติตนสม่ำเสมอ จึงเป็นคุณหน่วงเหนี่ยวน้ำใจกันประการหนึ่ง

ธรรม ๔ ประการ คือ ความเผื่อแผ่แบ่งปันกัน กล่าวถ้อยคำที่มีน้ำใจต่อกัน ช่วยเหลือทำประโยชน์แก่กัน ประพฤติตนสม่ำเสมอ มีลักษณะดังพรรณนามา เป็นหลักแห่งความประพฤติที่จะหน่วงเหนี่ยวน้ำใจของหมู่คณะให้ร่วมสามัคคีพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียว แต่ความสามัคคีเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยากที่จะรักษาให้คงอยู่เสมอได้ เพราะน้ำใจมักจะวิปริตผันแปรไม่คงที่ ต้องอาศัยขันติคือความหนักเอาเบาสู้เป็นหลักด้วย เมื่อสิ่งไม่พอใจมากระทบกระทั่งต้องอดกลั้นไว้โดยอุบายที่ชอบ ไม่เห็นแก่ความได้เปรียบและเสียเปรียบ ประพฤติกิจการตามหน้าที่ หวังความเจริญแก่หมู่คณะเป็นที่ตั้ง การถือเปรียบเกี่ยงงอน ความผลุนผลันหูเบาใจเร็วเป็นเหตุให้เกิดความบาดหมาง ซึ่งเป็นการแตกสามัคคี เมื่อมีขันติประจำอยู่แล้วจะได้บั่นรอนสิ่งจะมาตัดทอนสามัคคีนั้นๆ ต้องตามสุภาษิตความว่า ผู้ที่มีขันติความอดทน ย่อมบั่นรอนมูลรากที่ตั้งแห่งความข้อครหาและการทะเลาะได้

สามัคคีธรรมเป็นคุณสำคัญสำหรับหมู่คณะเพราะเมื่อพร้อมเพรียงกันทั้งกายทั้งใจ อาจทำกิจตามหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วงถึงที่สุด เพราะฉะนั้นท่านสาธุชนทั้งหลายควรยึดธรรมเครื่องบำรุงสามัคคี กล่าวคือไม่ทำตนให้เป็นคนใจจืด ไม่พูดคำหยาบ ไม่ดูดายเพิกเฉยในกิจการของหมู่คณะ ไม่ประพฤติตนเป็นคนโลเล ไม่เที่ยงธรรมต่อหน้าที่ พึงบำรุงอัธยาศัยให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน กล่าวถ้อยคำนุ่มนวลมีน้ำใจ ตั้งใจทำกิจที่เป็นประโยชน์แก่หมู่คณะ ประพฤติตนสม่ำเสมอควรแก่ฐานะของตน จะได้รับผลแห่งธรรมคือความสามัคคีปรองดองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยกันทำกิจให้สำเร็จตามหน้าที่ของตน


คัดลอกจาก...หนังสือกฎแห่งกรรม เล่ม 18
http://www.jarun.org

สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
I am
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 25 ต.ค. 2006
ตอบ: 972

ตอบตอบเมื่อ: 13 พ.ค.2008, 7:33 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ.. สาธุ โมทนาครับคุณลูกโป่ง..

ยิ้มเห็นฟัน ทักทาย
 

_________________
ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
กุหลาบสีชา
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 เม.ย. 2007
ตอบ: 1466
ที่อยู่ (จังหวัด): กทม.

ตอบตอบเมื่อ: 15 พ.ค.2008, 2:29 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เป็นคุณธรรมที่สังคมไทย
และสังคมโลกกำลังต้องการอย่างเร่งด่วน...จริงๆ
เศร้า

โมทนาสาธุด้วยนะคะคุณลูกโป่ง สาธุ ยิ้ม
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง