Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หลับสบาย ปลายจมูก : นานาจิตตัง อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 26 พ.ย.2005, 10:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นี่ แถวๆนี้ขีดเส้นสีแดง สีเขียว สีเหลือง อะไรก็ได้ไว้เลยนะ มันจะสำคัญตอนที่เราจะฝึกสมาธิกันตอนหลัง พิสมัยกำชับข้าวฟ่าง



สรุปก็คือ ในตัวของข้าวฟ่างนี้จะมีธาตุอยู่ตามที่เคยเล่ามาแล้ว ถ้าเรามองแบบวิชาชีวเคมี รึ ไบโอเคม (Biochemistry) ที่เคยเรียนสมัยอยู่โรงเรียนเป็นหลัก ตัวข้าวฟ่างนี้ก็จะมีธาตุต่างๆที่สำคัญคือ ออกซิเจน คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส อยู่ถึงร้อยละ 99



แต่ถ้าเรายึดเอาตามแนวธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นหลักแล้ว ตัวข้าวฟ่างก็จะประกอบไปด้วยธาตุต่างๆ 6 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสธาตุ แล้วก็วิญญาณธาตุ



โดยข้อเท็จจริงแล้ว ถ้าเรามองในภาพใหญ่ ทั้งสองแบบคือทั้งแนวไบโอเคมแล้วก็แนวของธรรมะในพระพุทธศาสนา ตัวของข้าวฟ่างก็จะประกอบด้วยธาตุเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดที่เกี่ยวกับธาตุ เราอาจสมมติชื่อธาตุต่างกัน เหมือนเราสมมติชื่อพืชชนิดหนึ่งว่า ข้าวฟ่างไม้กวาด แต่ฝรั่งกลับไปสมมติชื่อว่าเป็นข้าวโพดไม้กวาด อย่างนั้นแหละ



แต่ความจริงแล้ว มันเป็นสิ่งๆเดียวกัน นี่มันเป็นเรื่องของการสมมติชื่อที่ทำให้ข้าวฟ่างเข้าใจสับสน แล้วก็งง ไม่รู้เรื่อง ใครจะว่าอะไรก็จะเถียงสะบัด พิสมัยได้ทีเลยขี่แพะไล่ อธิบายใหญ่



เรื่องงงนี้ ข้าวฟ่างงงมาตั้งแต่ได้ยินคำว่าธาตุดินแล้ว ถ้าพูดถึงดิน ข้าวฟ่างเคยฟังนักการเมืองตอนปราศรัยหาเสียงกับประชาชนว่า เราจะต้องรักษาผืนแผ่นดินของเราไว้ พูดพลางก็ชี้ไปที่พื้นดินที่ตนยืนอยู่ ข้าวฟ่างก็เลยจำเอาไว้เลยว่า ดินคือพื้นดินที่ข้าวฟ่างยืนอยู่นี่แหละ



พอข้าวฟ่างมาเรียนในวิชาดิน หรือวิชาปฐพีวิทยา ครูท่านก็สอนอีกนั่นแหละ ว่าถ้าข้าวฟ่างจะปลูกข้าวฟ่างไว้กินโดยใช้ที่ดินน้อยๆ แต่ให้ผลผลิตมากๆ แล้ว หลักๆก็จะต้องดูสองอย่างก็คือ



ความอุดมสมบูรณ์ของดิน หมายถึงคุณสมบัติของดินในการที่จะให้ธาตุอาหารที่จำเป็น แก่การเจริญเติบโตของข้าวฟ่าง ในปริมาณและอัตราส่วนที่เหมาะสม ( Soil fertility)

 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 26 พ.ย.2005, 10:10 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อีกอย่างก็คือ ความสามารถในการให้ผลผลิตของดิน ที่หมายถึงความสามารถของดิน ในการให้ผลผลิตข้าวฟ่างได้ภายใต้การดูแลรักษาในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หรือพูดง่ายๆว่า เหมาะที่จะปลูกข้าวฟ่างดีหรือไม่ ( Soil productivity) ข้าวฟ่างก็รู้มาแบบเนี๊ยะ พอมาฟังเรื่องดินในการศึกษาธรรมะ เลยชักสับสน



พิสมัยกลัวว่าข้าวฟ่างจะสับสนจนกระทั่งเลิกกิจการศึกษาธรรมะไปเสียก่อน ก็เลยรีบอธิบายให้ข้าวฟ่างฟังว่า ดินที่ข้าวฟ่างโม้ไปโม้มาว่าเรียนมา ว่ารู้มา เนียะ เป็นการดูที่ตัวดิน ตัวเนื้อดิน ตัววัตถุดิน พูดง่ายๆก็คือ ดู Object ของมัน แต่ในทางธรรมะเขาดูอีกแบบหนึ่ง ถ้าพูดถึงธาตุดิน ในทางธรรมะนี้จะเป็นการพูดถึงคุณสมบัติของมัน หรือคุณลักษณะของมัน (Characteristic)



ถ้าพูดถึงธาตุดินในทางธรรมะ เราจะหมายถึงคุณสมบัติของมัน คุณสมบัติของมันก็คือมันเป็นของแข็ง มันจึงกินเนื้อที่ มันจะยึดกันเป็นโครงสร้างที่เป็นของแข็งขึ้นมา สังเกตได้จากพวก ผม เล็บ ฟัน หนัง อะไรพวกนี้ อย่างผมมันก็มีทั้งส่วนที่เป็นของแข็ง แล้วก็มีพวกน้ำ พวกไขมันและอื่นๆผสมปนเปกันรวมกันอยู่ ไปอธิบายว่าผมเป็นธาตุดินอย่างนี้ไม่ถูก มันถูกเถียงได้



พูดถึงตรงนี้ ข้าวฟ่างปิ๊งเลย เพราะตอนเรียนวิชาปฐพีวิทยา ครูท่านสอนว่า ถ้าเราดูดินตามส่วนประกอบของดิน ( Soil component) จะเห็นว่าดินที่มีความเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืชมี 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนอนินทรียวัตถุ ( Mineral matter) เช่นพวกชิ้นเล็กชิ้นน้อยของพวกแร่และหินต่างๆ ส่วนอินทรียวัตถุ (Organic matter) คือพวกเศษพืชและสัตว์ที่สลายตัวทับถมกันอยู่บนดิน ส่วนน้ำ (Water) ก็พบอยู่ระหว่างก้อนดิน และส่วนอากาศ ที่เป็นส่วนที่ว่างในดินและระหว่างก้อนดิน โดยมีxxxส่วนรวมของส่วนที่หนึ่งกับส่วนที่สองประมาณร้อยละ 50 โดยปริมาตร ส่วนที่เหลือเป็นส่วนของช่องว่างคืออากาศ และส่วนของน้ำ



นี่แสดงว่า ดินในวิชาปฐพีวิทยาที่ข้าวฟ่างเรียนมา ก็มีทั้งดิน หิน อากาศ น้ำ เวลาเขาจะใช้ประโยชน์ เอาไปปลูกพืช เขาก็ต้องดูคุณลักษณะของมันไม่ใช่ดูที่ตัวดินเหมือนที่นักการเมืองชี้ให้ดู นักการเมืองกับนักวิชาการส่วนมากมักดูกันคนละมุม



ส่วนดินที่คนส่วนมากพูดถึง ว่ามีลักษณะแข็ง อย่างเช่น ผม อย่างนี้ก็ไม่ใช่ เพราะมันก็ไม่ได้มีส่วนที่แข็งอย่างเดียว อย่างเช่นเวลาข้าวฟ่างซื้อยาสระผม เขาก็โฆษณาว่า แบบนี้เหมาะสำหรับใช้กับผมแห้ง แบบโน้นเหมาะสำหรับใช้กับผมมัน แสดงว่าผมมันก็ต้องมีน้ำหรือน้ำมันผสมอยู่ด้วย ไม่ใช่มีธาตุดินธาตุเดียว มันมีหลายธาตุ เพราะฉะนั้น เวลาเราจะใช้ประโยชน์ เช่นเวลาเราจะนั่งสมาธิให้ได้ผลสูงสุดเราก็ต้องดูที่คุณลักษณะของมัน ( Characteristic)



 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 26 พ.ย.2005, 10:12 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ได้ยินเสียงพิสมัยเล่าต่อว่า ถ้าเป็นธาตุน้ำ จะมีคุณสมบัติอ่อนตัว แต่ก็เกาะกุมกันอยู่ มันจึงเป็นของเหลว ไหลไปไหลมาได้ เปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ สังเกตได้จากพวก เลือด หนอง และอื่นๆ แต่มันก็ไม่ใช่ตัวเลือดตัวหนอง เพราะมันก็จะมีพวกธาตุดิน ธาตุไป ธาตุลม รวมอยู่ด้วย



ถ้าพูดถึงธาตุไฟ เราไม่ได้พูดถึงตัวเปลวไฟ ที่ถูกจุดขึ้นโดยตัวฟืน แต่พูดถึงคุณสมบัติที่ร้อนของมัน ที่มีอุณหภูมิ คุณสมบัติของมันนี่สามารถจะเผาสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ โดยไม่ต้องใช้เปลวไฟ เพราะตอนเราปากเป็นแผล ไปหาหมอสมัยโบราณเขาก็บอกว่าร้อนใน ข้างในตัวเราไม่เห็นมีเปลวไฟเลย



ส่วนธาตุลม เราก็พูดถึงคุณสมบัติที่ระเหยได้ เคลื่อนไหวได้ ลอยไปลอยมาอยู่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงตัวลม แต่หมายถึงคุณสมบัติอย่างนั้น ถ้าไปหาหมอไทยให้บีบนวด หมอจับเส้นโน้นไปจับเส้นนี้มา จับเสร็จหมอหันมาบอกว่า เลือดลมไม่ดี แสดงว่าลมมันเคลื่อนไหวพาเลือดไปไม่ดี ไม่ใช่ลมพัดไม่ดีในร่างกาย



ถ้าตัดเนื้อคนมาวางไว้ซักก้อนนึง มันก็จะมีส่วนที่เป็นของแข็งที่เป็นใยเนื้อเกาะกันอยู่ นี่ก็เป็นพวกลักษณะของธาตุดิน ส่วนที่เป็นของเหลวก็เช่นเลือดเป็นต้น ก็เป็นลักษณะของธาตุน้ำ ที่มันมีคุณสมบัติที่ทำให้มันเกิดการยึดกัน ธาตุไฟ มันก็มีความอบอุ่น เป็นอุณหภูมิระดับนึง แล้วแต่มันจะเม็ตตาโบลิซึ่มมากน้อย ถ้าทิ้งไว้นานๆ มันก็เย็น คนตายตัวเย็นเลยเพราะธาตุไฟดับ ส่วนธาตุลมก็พวกกลิ่น พวกแก๊สที่ลอยอยู่ มันก็ผสมปนเปกันไป มันอยู่แบบองค์รวม



สี่ธาตุที่ว่ามานี้เป็นฝ่ายวัตถุ หรือฝ่ายรูปธรรม มันเป็นส่วนประกอบของชีวิตที่เป็นส่วนของรูปธรรมคือร่างกาย



ธาตุที่ 5 เรียกว่าอากาสธาตุ แปลว่าที่ว่างสำหรับให้สิ่งต่างๆ อาศัยอยู่ อากาสธาตุนั้นมีคุณสมบัติว่าง ให้สิ่งอื่นเข้าไปอาศัยได้ ถ้ามันมีอะไรอยู่เต็มแล้วสิ่งอื่นก็เข้าไปอยู่ไม่ได้ โลกที่เราอยู่นี้ ก็ตั้งอยู่บนที่ว่างเหมือนกัน



 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 26 พ.ย.2005, 10:14 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ธาตุสุดท้ายคือ วิญญาณธาตุ หรือธาตุจิตธาตุใจก็ได้ ธาตุนี้ไม่เหมือนสี่ธาตุข้างบน เพราะมันเป็นนามธาตุ ถ้ามันเป็นนามแล้วมันก็อยู่เองลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยรูปธาตุที่เล่ามาข้างบนเป็นที่ตั้ง หรือเป็นที่ทำงาน หรือเป็นออฟฟิศ ก็ได้



เพราะมันเป็นธาตุฝ่ายนามมันก็น้อมไปได้ มันรู้สึกนึกคิดไปได้ มันน้อมไปตามอารมณ์ที่มากระทบ เราก็เลยคิดแว๊ปไปโน่นไปนี่อยู่เรื่อยไม่หยุดนิ่ง กำลังนั่งอ่านอยู่นี่ เดี๋ยวก็คิดแว๊ปไปไหนแล้วไม่รู้ แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราก็น้อมมันไปในที่ๆ เราต้องการได้



ข้าวฟ่างเริ่มงงแล้วว่า อะไรน้อมอะไรกันแน่ ตอนแรกบอกว่าวิญญาณธาตุน้อมไปตามอารมณ์ พูดไปพูดมาพูดว่า เราไปน้อมอารมณ์ได้



พิสมัยดูท่าชักรำคาญข้าวฟ่าง เลยรีบตัดบทว่า เออน่า ตอนแรกวิญญาณธาตุมันน้อมไปตามอารมณ์ แต่พอเราฝึกนั่งสมาธิจนเข้าที่เข้าทางแล้ว วิญญาณธาตุมันก็ไปน้อมอารมณ์ได้ก็แล้วกัน



เดี๋ยวตอนนั่งสมาธิจะบอกละเอียดอีกครั้ง รับรองถึงตอนนั้นไม่สงสัยเลย รู้เรื่องเลย ภาษาบาลีเขาบอกว่ามันเป็น สัณฐิติโก คือรู้เห็นได้ด้วยตัวของตัวเอง อย่างที่ข้าวฟ่างเคยได้ยินในบทสวดมนต์อย่างนั้นแหละ



ที่เล่ามาให้ฟัง 6 ธาตุนี่เราไม่ได้ยกเมฆขึ้นมาเองนะ พิสมัยรีบบอกข้าวฟ่าง เพราะกลัวข้าวฟ่างจะดักคอ มันอยู่ในบาลีที่ท่านเขียนไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุ บุรุษหรือคนเรานี้ ประกอบไปด้วยธาตุ 6 อย่าง ( ฉ ธาตุโร อะยัง ภิกขุ ปุริโส)



เมื่อมีการประชุมพร้อมกันสมบูรณ์ครบถ้วนสมบูรณ์ตามxxxส่วนของธาตุทั้ง 6 อย่างแล้ว ก็จะเกิดสิ่งที่มีชีวิตขึ้นมา หรือเกิดคนขึ้นมา หรือเกิดข้าวฟ่างขึ้นมานั่นเอง พิสมัยรีบสรุปตัดบท





เอกสารอ้างอิง



หลักธรรมอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ของอาจารย์วศิน อินทสระ



หนังสือธรรมโฆษณ์ เรื่องปรมัตถสภาวธรรม ของอาจารย์พุทธทาส



หนังสือเรื่อง แก่นพุทธศาสตร์ ของอาจารย์พุทธทาส



หนังสือเรื่องปฐพีวิทยาเบื้องต้น ของคณะอาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์



 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 04 ธ.ค.2005, 6:53 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ความจริงตอนต่อไปจะเป็นเรื่อง อายตนะ ที่มันเชื่อมต่อมาจากเรื่องธาตุ แต่คราวนี้ dt ยัง Edit เรื่องไม่เสร็จ เลยขออนุญาตเอาเรื่องนี้มาโพสแทน ฮะ







เรื่องของ บันทึกนึกเรื่อยเปื่อย (Diary) และบันทึกนึกเป็นเรื่อง (Journal)



ว่ากันว่าสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกอันวุ่นวายใบนี้ ย่อมมีทั้งการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และการดับไป เป็นไปตามธรรมดาของกฎอนิจจัง หรือ The Low of Impermanent การบันทึกเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นไว้ ย่อมเป็นการดีทั้งกับตนเองและผู้อื่น ที่จะทำให้ทราบถึงเหตุการณ์ต่างๆที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ ในช่วงเวลาขณะนั้น



ผลดีกับตนเองก็คือ สามารถที่จะนำเอาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตที่เริ่มเลือนรางไป มาใช้ประโยชน์เมื่อต้องการใช้ หรืออาจนำไปวิเคราะห์เหตุการณ์ก็ได้ เช่นมีการบันทึกเรื่องเกี่ยวกับรายจ่ายประจำวันว่าใช้ไปในกิจกรรมอะไรบ้าง เมื่อครบเดือนก็นำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือนว่าคงเหลือหรือติดลบเท่าไร ค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปเน้นใช้ไปในกิจกรรมอะไรบ้าง อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคหรือ Entertainment แล้วอาจนำมาปรับปรุงแก้ไขในโอกาสต่อไป



ผลดีกับผู้อื่นก็คือ ผู้อื่นอาจสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่นในกรณีที่มีการบันทึกเกี่ยวกับรายได้รายจ่ายดังกล่าว ถ้ามีการจัดระเบียบกระดาษที่บันทึกให้เป็นตารางที่มีหัวข้อต่างๆ สมบูรณ์ แบ่งหมวดหมู่ตามที่ต้องการ มีการบันทึกเป็นประจำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ก็อาจจะนำมาทำเป็นระบบบัญชีได้ เป็น Book-keeping ที่ใช้วิเคราะห์เหตุการณ์ตามกลุ่มเป้าหมายได้ หรือถ้านำไปให้เกษตรกรบันทึก ก็จะเป็นสิ่งที่เราเรียกมันว่า Farm book-keeping ถ้าให้เกษตรกรหลายๆ คนบันทึก แล้วเราเอามารวมกันทำการวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ ก็จะได้ผลการวิเคราะห์ที่ไม่ใช่ของคนเพียงคนเดียว แต่เป็นผลการวิเคราะห์ของเกษตรกรทั่วทั้งประเทศที่จะนำเอามาวางแผนในระดับประเทศได้ และในอดีตประเทศไทยก็ใช้วิธีนี้วิเคราะห์เพื่อกำหนดนโยบายด้านการเกษตรมาแล้ว



การบันทึกเหตุการณ์ต่างๆนี้ในสังคมตะวันตกทำกันมาแล้วแต่ในอดีต และในสังคมก็ให้ความเคารพผู้บันทึกว่าเป็นผู้ให้กำเนิดความรู้ ในขณะที่ในสังคมตะวันออกมักมีการสืบต่อเหตุการณ์หรือถ่ายทอดประสบการณ์ทางวิชาการกันมาโดยวิธีพูดบอกเล่ากันต่อๆกันมา ครูอาจารย์กับลูกศิษย์ในอดีตมักมอบตัวอยู่รับใช้กันอย่างใกล้ชิด ดังตัวอย่างเช่นในญี่ปุ่น



แม่ชีชื่อริโยเน๊ะ เกิดเมื่อปี พศ. 2340 เธอเป็นหลานสาวของซิงเงน นักรบผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยรั้น เธอเป็นนักกวีและมีความงดงามมาก ทำให้เธอมีโอกาสได้เป็นนางสนองพระโอษฐ์ของสมเด็จพระราชินีแห่งพระเจ้าจักรพรรดิตั้งแต่อายุเพียง 17 ปี ชื่อเสียงและเกียรติคุณกำลังรอคอยเธออยู่เบื้องหน้า



อนิจจา สมเด็จพระราชินีอันเป็นที่รักของเธอมาด่วนสวรรคตเสียก่อน ความฝันของเธอพังทลาย เธอมองเห็นความอนิจจังของชีวิต เธอจึงปรารถนาที่จะศึกษาเซ็น



พี่น้องของเธอไม่เห็นด้วย ต้องการให้เธอแต่งงานแล้วให้กำเนิดบุตรธิดาให้ครบ 3 คนเสียก่อนแล้วจึงตัดสินใจใหม่ว่าจะเอาอย่างไรกันในเรื่องนี้ ดังนั้นเธอจึงยอมแต่งงานก่อน



เมื่อเธอให้กำเนิดบุตรธิดาจนครบ 3 คนซึ่งในช่วงนั้นเธอมีอายุ 25 ปี เธอจึงได้โอกาสโกนหัว แล้วออกธุดงค์







 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 04 ธ.ค.2005, 6:55 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เธอต้องการไปมอบตัวรับใช้เป็นศิษย์ของอาจารย์เทสซูยุ ผู้เก่งกาจในเรื่องนี้ แต่ช่างโชคร้ายเสียนี่กระไร ทันทีที่เห็นหน้าเธอ อาจารย์ก็รีบปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ว่า เธอสวยเกินไป................



เธอไม่ย่อท้อ มุ่งไปหาอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ชื่อว่าอาจารย์ฮะซูโอ๊ะ เหตุการณ์เหมือนเดิม แผ่นเสียงถ้าจะตกร่อง ท่านอาจารย์ปฏิเสธเธอด้วยข้อหาเดียวกัน ว่าเธอสวยเกินไป................. ความสวยของเธอเป็นอุปสรรคในการเข้ามาอยู่ในวงการสงฆ์ เพราะพระที่อยู่กันอย่างสงบสันติในวัด อาจลุกขึ้นมาก่อความวุ่นวายโกลาหลได้



ริโยเน๊ะตัดสินใจเอาแท่งทองแดงร้อนๆนาบเข้าที่หน้าตัวเอง ไม่กี่นาทีความสวยของเธอก็อันตรธานหายไป อาจารย์ฮะซูโอ๊ะจึงยอมรับตัวเข้าเป็นศิษย์เพื่อถ่ายทอดความรู้ ซึ่งเธอก็ประสบความสำเร็จมากมายทั้งเรื่องของบทกวีและเรื่องของการปฏิบัติธรรม



นี่เป็นการถ่ายทอดความรู้แบบปากต่อปากโดยวิธีมอบชีวิตทั้งชีวิตเข้ารับใช้เพื่อศึกษาวิชาตามที่ตนต้องการศึกษาตามแนวทางของเซ็น ที่อาศัยความกตัญญูกตเวที รู้คุณคนเป็นที่ตั้ง กตัญญูหมายถึงการรู้คุณท่าน..... กตเวทีหมายถึงการสนองคุณท่าน......... วัฒนธรรมดังกล่าวมีการสืบต่อกันมายาวนานในสังคมของชาวตะวันออก ซึ่งค่อนข้างแตกต่างไปจากวัฒนธรรมด้านตะวันตก



ย้อนกลับไปทางตะวันตก ในยุคแสวงหาอานานิคมในหลายทศวรรษที่ผ่านมา มักมีการเดินทางไปล่าเมืองขึ้นในพื้นที่ห่างไกลออกไป สาเหตุเนื่องจากที่อาศัยเดิมเริ่มมีการขาดแคลนทรัพยากร มนุษย์เมื่อมีปริมาณเพิ่มขึ้นการใช้ทรัพยากรย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การแสวงหาทรัพยากรใหม่ๆ จึงเริ่มตามมา



การแสวงหาทรัพยากรมักเดินทางไปเป็นคณะโดยแบ่งแยกหน้าที่กันทำ ในคณะหนึ่งๆ จะมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอยู่รวม 4 กลุ่มคือ กลุ่มนักเดินเรือ กลุ่มนักการทหาร กลุ่มพ่อค้า และกลุ่มมิชชันนารีผู้เผยแพร่ศาสนา



กลุ่มนักเดินเรือพวกไต้ก๊งลูกเรือ ก็จะมีความเชี่ยวชาญทางการเดินเรือ นำเรือมุ่งเข้าสู้เป้าหมายที่กำหนดไว้



เมื่อเดินทางถึงเป้าหมายกลุ่มที่มีความสำคัญอันดับต่อมาก็คือกลุ่มทหาร หรือกลุ่มนักรบ ซึ่งเมื่อนำเรือขึ้นสู่ฝั่งที่ต้องการทรัพยากรใหม่ เจ้าของดินแดนเดิมย่อมมีการต่อต้านเป็นธรรมดา กลุ่มนี้จึงต้องใช้กำลังเข้าแย่งชิง ด้วยความเป็นต่อด้านอาวุธที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่า ส่วนใหญ่จึงมักจะยึดพื้นที่ได้



เมื่อยึดพื้นที่ได้ กลุ่มที่มีความสำคัญอันดับต่อมาก็คือกลุ่มของพ่อค้า ซึ่งมีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญทางการจัดการกับทรัพยากรให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้นเพื่อนำกลับมายังประเทศแม่



ในกลุ่มสุดท้ายที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับหัวข้อของเราที่เราเขียนถึง ก็คือกลุ่มมิชชันนารี่ ที่มีหน้าที่สืบต่อพระศาสนา



กลุ่มนี้จะเข้าไปเผยแพร่พระศาสนาตามความเชื่อของแต่ละนิกาย



ในขณะที่ทำการเผยแพร่ศาสนาไปนั้น ด้วยความเป็นนักเผยแพร่ศาสนากลุ่มนี้จึงมีความรู้ มีวิสัยทัศน์ มีทักษะการเขียน การอ่านดีกว่ากลุ่มอื่น เมื่อเผยแพร่ศาสนาไปก็จดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ไปด้วย

 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 04 ธ.ค.2005, 7:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การจดบันทึกของชนกลุ่มนี้มักจะจดบันทึกเป็น 2 ลักษณะคือ แบบ Diary และแบบ Journal



Diary จะเป็นการจดบันทึกสั้นๆ ประจำวันในแต่ละวัน ในแต่ละวันอาจจะประติดประต่อก็ได้ หรือไม่ประติดประต่อก็ได้ หรือบันทึกตามแต่จะนึกขึ้นได้ก็สุดแล้วแต่ความสะดวกของตน การจดบันทึกในลักษณะนี้แม้จะให้ประโยชน์แก่ผู้บันทึกเองมากกว่าแก่ผู้อื่น แต่ผู้อื่นก็สามารถเลือกประเด็นที่มีประโยชน์ไปใช้ได้ตามความเหมาะสม



ส่วนการบันทึกอีกลักษณะหนึ่งเป็นการบันทึกเป็นเรื่องเป็นราว เกี่ยวกับการเดินทางหรือ Journey เป็นการบันทึกเรื่องยาวมีความประติดประต่อมากกว่าแบบแรก และให้ประโยชน์กับผู้อ่านได้มากกว่า



และนี่ก็คือที่มาของคำว่า Journal ที่บันทึกเกี่ยวกับผลการทดลองในงานวิจัยต่างๆ ที่นักวิจัยได้คิดค้นขึ้น ก็มาจากแนวของการบันทึกในลักษณะนี้



การบันทึกในลักษณะนี้มีประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังมาก เพราะงานที่กลุ่มมิชชันนารี่ต่างๆเหล่านี้ผลิตขึ้นมามักทำกันด้วยความศรัทธา ซึ่งย่อมจะให้ผลของงานดีกว่าทำด้วยตัณหา เป็นธรรมดา



เมื่อศรัทธา ชนกลุ่มนี้จึงทุ่มชีวิตทั้งชีวิตลงไปในตัวงาน และมิชชันนารี่ไม่น้อย ที่ทำงานจนต้องทิ้งชีวิตไว้ในดินแดนที่ไม่ใช่บ้านเกิด เหลือเพียงมรดกตกทอดไว้แต่อนุชนรุ่นหลัง ก็คือบันทึกต่างๆ เหล่านี้



บันทึกต่างๆ เหล่านี้ เมื่อกลับถึงแผ่นดินแม่แล้ว จะมีประโยชน์ต่อผู้อื่นเป็นอันมาก เพราะทำให้ผู้อื่นรู้ว่าผู้ตายได้ทำอะไรไปแล้ว ศึกษาวิจัยเรื่องอะไรไปแล้ว และมีผลเป็นอย่างไร เมื่อต้องการทำต่อศึกษาต่อ ก็อ้างผลงานเดิมเอาจากบันทึกต่างๆเหล่านี้



ชนรุ่นหลังมีความสำนึกในบุญคุณของชนกลุ่มนี้ จึงให้ความเคารพชนกลุ่มนี้ว่าเป็นพวก Armchair scholar ที่ประสิทธิประสาทวิชาความรู้ต่างๆ แก่พวกตน



เราจึงต้องอ้างถึงเอกสารอ้างอิง ในงานวิจัยหรืองานวิทยานิพนธ์ด้วยประการฉะนี้ แล......

 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 01 ม.ค. 2006, 10:12 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนต่อไปเป็นเรื่องอายตนะ ฮะ



 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 01 ม.ค. 2006, 10:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อายตนะเป็นบ่อเกิดแห่งเรื่องราวของมนุษย์



ธาตุ จะเปลี่ยนชื่อมาเป็นอายตนะได้หรือไม่ อยู่ๆ พิสมัยก็ถามข้าวฟ่าง ข้าวฟ่างก็งงนะซิ



พิสมัยเลยถามใหม่ว่า ย้ายธาตุที่ทำหน้าที่เหมือนๆกัน มาอยู่ในบริเวณเดียวกัน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอายตนะได้หรือไม่ ข้าวฟ่างก็ยังงงอีก ไม่รู้เรื่อง



พิสมัยคงเคยนั่งสมาธิมาได้ระดับหนึ่งแล้ว ใจเย็น เลยถามใหม่ว่า ย้ายพวกเซลล์ต่างๆ ของข้าวฟ่างที่ทำหน้าที่เหมือนๆกัน มาอยู่ในที่เดียวกัน เช่นเซลล์ที่ทำหน้าที่ประสาทสมอง ก็มารวมกันที่สมอง แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็นเซลล์สมอง หรือย้ายพวกเซลที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็น มาอยู่ในที่ตาของข้าวฟ่าง แล้วเรียก ดวงตาอย่างนี้ได้หรือไม่



เอ๊ะ อย่างนี้ชักจะเข้าเค้า ต้องเทียบเคียงกับวิชาวิทยาศาสตร์ที่เคยเรียนมาจากโรงเรียน ก็ได้ซิ เราพูดถึงเซลล์ เราก็พูดรวมๆกันทั้งหมด แต่พอพวกที่ทำหน้าที่ๆเหมือนๆกันไปอยู่ในที่เดียวกัน ก็ เรียกว่าเชลล์สมอง เซลล์ดวงตา เซลล์แก้วตา แล้วก็เซลล์อะไรต่อมิอะไรอีกตั้งมากมายก่ายกอง



เหมือนกัน ธรรมชาติมันย้ายพวกธาตุที่ทำหน้าที่เหมือนๆ กัน มาอยู่ในที่เดียวกัน จากธาตุมาเป็นจักขุธาตุ พอมันทำหน้าที่ เราก็เปลี่ยนชื่อให้มันใหม่ว่า จักขุอายตนะ



แล้วข้าวฟ่างก็งงอีก จักขุ แปลว่าตา ธาตุ แปลว่าส่วนที่เป็นรากฐาน จักขุธาตุ คือส่วนที่เป็นรากฐานของตา



ธรรมชาติเอาพวก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ทั้ง 6 ธาตุ ผสมคลุกเค้ากันไปตามตามxxxส่วนของมันจนเป็นดวงตา เป็นธาตุที่เกี่ยวกับตา หรือ จักขุธาตุ อย่างนี้ ข้าวฟ่างพอยอมรับได้ แล้วอายตนะมันเกี่ยวอะไรด้วย พิสมัยพูดมาทำไม



ข้าวฟ่างถนัดทางท่อง ท่องตะพึดตะพือ ขนาดตารางธาตุตั้งร้อยกว่าธาตุ ข้าวฟ่างยังท่องได้เลย ท่องจนครูรำคาญ เลยให้ข้าวฟ่างสอบผ่าน พอมาศึกษาเรื่องอายตนะ พิสมัยก็ให้ข้าวฟ่างท่องอีก

 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 01 ม.ค. 2006, 10:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พอพูดถึงอายตนะ ก็ต้องแปลว่า ทางมา ที่มา หรือบ่อเกิดแห่งเรื่องราว หรืออาจจะแปลว่า ที่ต่อ หรือแดนต่อ หมายถึง ที่ต่อกันทำให้เกิดความรู้ หรือแดนเชื่อมต่อให้เกิดความรู้ก็ได้ แต่ตอนนี้แค่ท่องว่า อายตนะหมายถึง บ่อเกิดแห่งเรื่องราว ก็พอ



แล้วพิสมัยก็เล่าต่อว่า อายตนะก็มี 6 อย่าง ภาษาไทยเรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างนี้เรียกว่า อายตนะภายใน หรือแดนต่อความรู้ภายใน หรือ บ่อเกิดแห่งเรื่องราวภายใน



ส่วน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็ ธรรมารมณ์ ก็เป็นอายตนะภายนอก หรือแดนต่อความรู้ภายนอก อย่างโผฏฐัพพะ นี่อ่านดูแล้วชื่อแปลกๆ ข้าวฟ่างก็ต้องท่องคำแปลด้วย คือแปลว่า สิ่งที่มากระทบผิวหนัง ส่วนธรรมารมณ์ นั้น ก็คือ สิ่งที่เป็นความรู้สึกทางใจ ทำให้เกิดวิญญาณ หรือ มโนวิญญาณขึ้นมาที่ฝ่ายใจ



อายตนะภายนอก เราอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อารมณ์ก็ได้ เวลาเรานั่งสมาธิ เราจะเรียกพวกนี้ว่า อารมณ์ อารมณ์คือสิ่งที่จิตรับรู้ หรือ จิตคือธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ มันก็เหมือนกัน แล้วแต่ว่าเราจะมองออกไป หรือ มองเข้ามา อารมณ์ตัวนี้ไม่ใช่อารมณ์ในภาษาที่เราเคยพูดๆกันที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Emotion แต่อารมณ์ตัวนี้เป็นอารมณ์ในภาษาธรรมะ หรือใช้ภาษาปะกิตแทนว่า Object



พิสมัยบอกว่าถ้าจะให้ง่ายเขียนผังสรุปย่อน่าจะง่ายดีกว่า เพราะมันจะเกิดเป็นเรื่องเป็นราว หรือบ่อเกิดแห่งเรื่องราว เป็นอย่างๆ แล้วก็หันไปที่กระดานเขียนผังย่อไว้ดังนี้



ตา(จักขุ) กระทบ รูป(รูป) เกิด จักขุวิญญาณ(เห็น)

หู(โสต) กระทบ เสียง(สัททะ) เกิด โสตวิญญาณ(ได้ยิน)

จมูก(ฆานะ) กระทบ กลิ่น(คันธะ) เกิด ฆานวิญญาณ(ได้กลิ่น)

ลิ้น(ชิวหา) กระทบ รส(รส) เกิด ชิวหาวิญญาณ(รู้รส)

กาย(กาย) กระทบ สิ่งกระทบกาย(โผฏฐัพพะ) เกิด กายวิญญาณ(สิ่งที่ต้องกาย)

ใจ(มโน) กระทบ สิ่งกระทบใจ(ธรรมารมณ์) เกิด มโนวิญญาณ(รู้เรื่องในใจ)



ข้าวฟ่างเห็นที่พิสมัยเขียนแล้ว มันรู้สึกลานตาไปหมด มันแยะเกินไป ถ้าพิสมัยไม่เล่าอะไรต่อเพิ่มเติมบ้าง ข้าวฟ่างว่าข้าวฟ่างม้วนเสื่อกลับบ้านดีกว่า เรื่องอายตนะนี่มันคงยากเกินไปสำหรับข้าวฟ่างแล้ว

 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 01 ม.ค. 2006, 10:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พิสมัยคงเข้าใจความรู้สึกของข้าวฟ่าง ว่าข้าวฟ่างเตรียมจะลาโรงแล้ว เลยเอาใจข้าวฟ่างว่า เนียะ ท่องแค่เนี๊ยะ เอาบรรทัดบนสุดบรรทัดเดียว ได้บรรทัดแรกแล้ว อีก 5 บรรทัดที่เหลือก็วิเคราะห์เอาเอง เพราะมันก็เหมือนๆกัน



เอ้า ท่อง ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ.....ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ....ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ แล้วเดี๋ยวเข้าใจเอง มันเป็นสูตร เหมือนท่องสูตรคูณ ซองหนึ่งซอง...ซองซองสี่...สองซามหก...ซองสี่แปด...ซองห้าสิบ..อย่างงั้นแหละ



ข้าวฟ่างก็ท่องซิ ท่องแค่นี้สบายมาก ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ...ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ...ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ ...ท่องได้แล้ว ข้าวฟ่างรีบบอก



พิสมัยเล่าต่อว่า ตาเนียะ เรามองเป็นสองนัยยะ หรือสองมุมมองว่างั้นเถิด นัยยะแรกก็คือก้อนเนื้อที่เป็นลูกกะตา อีกนัยยะหนึ่งก็คือ ตาที่มีประสาทมองเห็นด้วย ที่ภาษาบาลีใช้คำว่า ปสาท (อ่านว่า ปะ-สา-ทะ : ประสาทแปลว่าสิ่งที่ทำให้รู้สึกได้)



ปกติแล้วถ้าไม่กระทบอะไรมันก็จะเป็นตาแบบแรก ก็คือลูกตา มันก็เป็นตาเฉยๆ ไม่เกิดทุกข์เกิดสุขอะไร หรือมันไปกระทบแล้วเราไม่ไปปรุงมันต่อ มันก็คล้ายไม่เห็นอะไร มันก็เป็นลูกตาเฉยๆอยู่ดี คือมันเป็นธาตุตา หรือจักขุธาตุเท่านั้น



ใช่แล้ว ข้าวฟ่างชักจะยอมรับ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ข้าวฟ่างอกหัก แฟนไปมีแฟนใหม่ ข้าวฟ่างเสียใจมากเลย มึนไปหมดเหมือนถูกค้อนทุบหัว คิดอะไรก็ไม่ออก พอดีเกิดไปเดินผ่านเพื่อนอีกคนหนึ่ง ตาของข้าวฟ่างก็มองไปที่เพื่อนคนนี้แหละ แต่ข้าวฟ่างไม่รู้หรอกว่าเป็นเพื่อนคนนี้ มันเบลอไปหมด



เพื่อนคนนี้ตอนหลังโกธรกับข้าวฟ่างเลย หาว่าข้าวฟ่างหยิ่ง เดินผ่านไม่ทักไม่ทายกันเลย มองเห็นแล้วยังไม่ทัก ความจริงแล้วข้าวฟ่างมองไม่เห็นหรอก ตามันไม่ทำหน้าที่ของมัน มันก็เลยเป็นลูกตาเฉยๆตามแบบนัยยะแรก คือมองไปงั้นแหละ แต่ก็แยกไม่ออกว่าสิ่งที่ผ่านตาไปนั้นมันเป็นอะไร มันเลยไม่ใช่ตาที่มีประสาทมองเห็นและรับรู้ตามแบบนัยยะที่สอง



 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 01 ม.ค. 2006, 10:20 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตาแบบนัยยะแรก คือลูกตาเฉยๆ อย่างนี้เราอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จักขุธาตุก็ได้ คือมันเกิดจากส่วนผสมของพวก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ทั้ง 6 อย่างนี้ผสมปนเปกันไปตามxxxส่วนของมัน



หรือพูดตามแบบวิชาพันธุศาสตร์ที่เราเรียนมา เราก็ว่ามันตกทอดมาตามยีนของพ่อแม่ปู่ย่าตาทวด เลยทำให้ตาของข้าวฟ่างมีลักษณะเหมือนตาของมนุษย์อย่างนี้แหละ พวกนี้เป็นธาตุที่อยู่ในลักษณะมีรูป



เอาอีกแล้ว ธาตุที่อยู่ในลักษณะมีรูป แล้วพิสมัยเคยเล่าให้ข้าวฟ่างฟังหรือเปล่าเนียะ



พิสมัยได้ทีเลยบอกว่า เคยเล่าแล้ว ข้าวฟ่างจำไม่ได้เอง ตอนนั้นคงจะมัวใจลอยคิดถึงแฟนอยู่มั้ง บอกใหม่ก็ได้ ธาตุในคนเรามีอยู่ 6 ธาตุ (ฉะธาตุโร อะยัง ภิกขุ ปุริโส... : ดูก่อนภิกขุ บุรุษคือคนเรานี้ ประกอบด้วยธาตุหกอย่าง....)



ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม พวกนี้จัดเป็นพวกรูปธาตุ ส่วนพวกอากาศธาตุ และวิญญาณธาตุจัดเป็นพวกอรูป คือไม่มีรูป หรือธาตุนาม หรือนามธรรม



กลุ่มนามหรือจิตเป็น Mentality หมายถึงนาม ส่วนรูปก็เรียกว่า Form รูปธรรมก็เรียก Corporeality สองอย่างหลังนี่ใกล้ๆ กัน รูป กับรูปธรรม



คราวนี้กลับฐานเดิมใหม่ เดินต่อเดี๋ยวหลงทาง กลับฐานเดิมคือสูตรของเราใหม่ ท่องใหม่ พิสมัยบอก ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ .....ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ....ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ...



เมื่อกี๊นี้เราเล่าให้ข้าวฟ่างฟังแล้วว่า ตาที่เป็นอายตนะภายใน มันมีสองนัยยะ คราวนี้เราจะเล่าต่อถึงคำว่ากระทบบ้าง



กระทบ คือสัมผัส หรือในภาษาบาลีเรียกว่าผัสสะ อาจแบ่งเป็นสามประเภทคือ



กระทบตามธรรมชาติตามปกติ เช่นเราได้ยินเสียงนกหรือเสียงอะไรก็ได้ เราไม่มีความรู้สึกมากกว่าการได้ยิน ไม่เกิดเรื่องราวอะไร ไม่เป็นบ่อให้เกิดเรื่องราวอะไร

 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 01 ม.ค. 2006, 10:21 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ประเภทที่สองคืออวิชาสัมผัส เช่นเราเห็นรูปที่น่ารักหรือน่าเกลียด หรือรูปยั่วยวนอะไรก็ได้ เราคิดต่อเลย อย่างนี้อายตนะก็เป็นบ่อเกิดแห่งเรื่องราว คือนำไปปรุงต่อ อันนี้สำคัญ อาจก่อให้เกิดทุกข์เกิดสุขได้



ส่วนอันสุดท้ายคือ วิชชาสัมผัส คือมีสติ สัมปชัญญะอยู่ มีความรู้อยู่ แสดงว่าเราก็รู้แจ้งว่า อย่างนี้ดีอย่างนี้เสียอย่างไร อย่างนี้จึงไม่เป็นบ่อเกิดแห่งเรื่องราว เพราะเรารู้แล้ว



ท่องใหม่ ...ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ ...ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ...ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ....



ตาไปแล้ว กระทบไปแล้ว คราวนี้มาถึงรูปกันบ้าง รูปมันอยู่ภายนอก เรียกเป็นอายตนะภายนอกก็ได้ รูปมันก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งที่อยู่ล้อมรอบตัวเรา พูดภาษาสมัยใหม่เขาก็บอกว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่ล้อมรอบตัวเรา ก็ได้



สมมติเรามองตาข้าวฟ่าง เป็นตามองตา ตาของข้าวฟ่างก็คือรูป ตาของเราก็คือตา ตาของเราก็เป็นอายตนะภายใน ตาของข้าวฟ่างก็คือรูปของเรา หรือเป็นอายตนะภายนอกของเรา เมื่อมันกระทบกัน เราเห็นแล้ว ท่าทางข้าวฟ่างตั้งใจฟังดีมากเลย



อย่างนี้ เป็นตาของเรากระทบรูป ซึ่งก็คือตาของข้าวฟ่างหรือตัวของข้าวฟ่าง หรือท่าทางของข้าวฟ่าง อย่างนี้เกิดแล้ว เกิดจักขุวิญญาณ จักขุแปลว่าตา วิญญาณแปลว่ารับรู้ รวมกันเรียกว่าการรับรู้ทางตา อย่างนี้ตาเราเปลี่ยนชื่อเป็นอายตนะภายใน ตาของข้าวฟ่างหรือตัวของข้าวฟ่าง หรือลักษณะท่าทางของข้าวฟ่างก็เปลี่ยนชื่อเป็น อายตนะภายนอก



เมื่ออายตนะภายในกระทบอายตนะภายนอก ก็เกิดการรับรู้ทางอายตนะ อายตนะก็เกิดขึ้น แต่ถ้าจะให้ชี้ที่ตัวข้าวฟ่างว่าอายตนะอยู่ตรงไหนแล้ว ก็ไม่มีส่วนไหนเลยที่เรียกว่าอายตนะ อายตนะเกิดขึ้นแป๊บเดียวแล้วมันก็หายไป เหลือแต่ลูกกะตา ซึ่งมันเป็นธาตุเฉยๆ ตามที่เราเล่าให้ฟัง



เมื่อธาตุทั้งสามอย่างนี้พบกัน ท่านเรียกว่าผัสสะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ติณนัง ธรรมานัง สังคติ ผัสโส แปลว่า การกระทบกัน หรือความพบกัน หรือการประจวบกันระหว่างสิ่งทั้งสามคือ ตากับรูป และวิญญาณทางตา เรียกว่าผัสสะ เมื่อเกิดผัสสะ นั่นหมายถึงธาตุทั้งสามอย่างมันทำหน้าที่แล้ว

 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 01 ม.ค. 2006, 10:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ดังนั้น ผัสสะ จึงเป็นกริยาอาการ ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้ธาตุต่างๆ เปลี่ยนชื่อไป เช่น จักขุธาตุ (ธาตุทางตาของเรา) กระทบรูป (ธาตุที่ประกอบเป็นตัวของข้าวฟ่าง) เกิดจักขุวิญญาณธาตุ (การรู้เห็นทางตาของเรา) เมื่อเกิดผัสสะของสิ่งทั้งสามสิ่งนี้ มันก็จะเปลี่ยนชื่อไป เป็นจักขุ(อายตนะภายในของเรา) กระทบรูป (อายตนะภายนอกของเรา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ธาตุที่ประกอบเป็นตัวของข้าวฟ่าง) เกิด จักขุวิญญาณ (การรับรู้ทางตาของเรา)



อย่างนี้เกิดแล้ว อายตนะภายใน กระทบอายตนะภายนอก เกิดจักขุวิญญาณ ที่ตาเรารู้เห็น อย่างที่เราเห็นนี่ เห็นข้าวฟ่างตั้งใจฟังมากเลย เราก็เลยเล่าใหญ่ มันจึงเกิดเรื่องราวให้เราอยากเล่า อายตนะ จึงมีความหมายว่า บ่อเกิดแห่งเรื่องราว ตามที่เราได้เกริ่นนำไปก่อนแล้ว



พอฟังมาถึงช่วงนี้ ข้าวฟ่างเข้าใจแล้ว ของที่มีรากมาจากสิ่งๆ เดียวกัน อาจเปลี่ยนชื่อไปได้ อย่างเช่นฝ้าย เราได้มาจากต้นฝ้าย ที่พอเราเอาดอกฝ้ายมาปั่นพอปั่นเสร็จกลายมาเป็นฝ้าย พอเอาฝ้ายไปถักทอเป็นผืน เราก็เรียกมันว่าผ้า ถ้าเอาผ้ามาตัดเป็นกางเกงสวมใส่ เราก็เรียกว่ากางเกง ถ้าเอาไปตัดเป็นเสื้อสวมใส่ เราก็เรียกมันว่าเสื้อ ทั้งๆ ที่มันก็มาจากฝ้ายทั้งเสื้อและกางเกง



ที่ชื่อมันเปลี่ยนไปเพราะมันไปทำหน้าที่ต่างกัน ชื่อนี้มันเป็นเพียงสมมติเพื่อสะดวกในการเรียกเพื่อสื่อกัน ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆ



เปลี่ยนชื่อจากฝ้ายมาเป็นกางเกง เพราะมันผ่านกระบวนการตัดเย็บนิดหน่อย เลยเปลี่ยนรูปมาเป็นกางเกง แล้วทำหน้าที่เป็นกางเกง เราเลยเรียกมันว่ากางเกง



พอกางเกงมันขาดแล้ว ใช้ไม่ได้แล้ว หมดหน้าที่ที่จะเป็นกางเกงของเราแล้ว เราก็เอามันไปเช็ดพื้น แล้วเปลี่ยนชื่อมันไปเป็นผ้าขี้ริ้วซะเลย สรรพสิ่งทุกชนิดมันเปลี่ยนชื่อไปได้ เราสมมติชื่อมันไปตามหน้าที่ ที่มันเป็นอยู่



มันก็เหมือนกับธาตุ ที่ผ่านกระบวนการผัสสะ หรือกระบวนการกระทบกันนิดหน่อย มันก็เลยเปลี่ยนชื่อมาเป็นอายตนะขณะทำหน้าที่ของมัน



แล้วอายตนะพวกนี้มันจึงกลายมาเป็นบ่อเกิดแห่งเรื่องราว ที่เราจะต้องศึกษาและวิเคราะห์มัน ทำความเข้าใจกับมัน ด้วยประการฉะนี้แล





เอกสารอ้างอิง พุทธธรรม อาจารย์ ป.อ. ปยุตฺโต



 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 28 เม.ย.2006, 11:54 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอนต่อไปความจริงจะเป็นเรื่อง ขันธ์ แต่พอดี dt ยังไม่ได้เอาไปให้พระที่อยู่ในป่าซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ Edit ให้ เลยไม่รู้ว่ามันผิดมากน้อยเพียงใด สำหรับท่านผู้อ่านที่อ่านแล้วไม่นำไปปฏิบัติก็คงไม่เป็นไร แต่สำหรับท่านผู้อ่านที่อ่านแล้วนำไปปฏิบัติ แล้วเอาสิ่งที่ dt บอกผิดๆไปปฏิบัติ มันก็คงเป็นบาปของ dt เป็นแน่ เหมือนกับเรื่อง ธรรมะของป้าที่ได้เล่ามาแล้ว อย่ากระนั้นเลย dt ขออนุญาตโพสตอนต่อไปก่อนก็แล้วกัน อาจข้ามไปข้ามมาหน่อย ขออภัยด้วยฮะ
 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 28 เม.ย.2006, 11:56 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

หลับสบายปลายจมูก: อานาปานสติ


คราวก่อนเราเล่าให้ข้าวฟ่างฟังแล้วว่าทำไมข้าวฟ่างจึงกินข้าวฟ่างแล้วอร่อย เลยทำให้ได้คำตอบว่า เหตุที่ข้าวฟ่างกินข้าวฟ่างแล้วอร่อยก็เพราะข้าวฟ่างขาดสติ


ของที่ขาดหายไป เราอาจสามารถหาใหม่เพิ่มเติมได้ สติก็เช่นกัน เมื่อขาดหายไปบ้าง เราก็หาใหม่เพิ่มเติมได้เช่นกัน วิธีการหาใหม่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ การฝึกสติ


การฝึกสติก็มีหลายแบบหลายวิธี อย่างที่เราคุ้นๆกันก็เช่น วิธีบริกรรมพุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ วิธียุบหนอพองหนอ หายใจเข้าพองที่ท้อง หายใจออกยุบที่ท้อง วิธีสัมมาอรหัง เพ่งลูกแก้วที่ศูนย์กลางกายเหนือสะดือ วิธีอานาปานสติ คือการดูลม หรือสังเกตลมที่ผ่านปลายจมูกก็ได้หรือดูลมยาวๆตามลมไปก็ได้ ดูไปดูมาดูตามลมจนเหนื่อย เราก็เลยดูมันที่จุดจุดเดียวคือที่ปลายจมูกอย่างนี้ก็ได้


ท่านบอกว่า เหมือนเราไกวเปลเด็ก ตอนแรกเรากลัวเด็กตกจากเปล เราก็เลยต้องดูเด็กในเปลที่แกว่งไปไกวมาซ้ายทีขวาที แต่พอดูไปดูมาหันไปหันมาจนเมื่อยคอ แล้วเห็นว่าเด็กไม่ตกจากแปลแน่แล้ว เราก็เลยดูมันที่จุดกลางเปลหรือจุดไหนก็ได้จุดเดียว เพราะเราดูจนรู้แน่อยู่แก่ใจแล้วว่าเด็กไม่ตกแน่ เลยดูมันอยู่ที่จุดๆเดียว อย่างนี้ก็ได้


เวลาดูลมของอานาปานสติที่จุดๆเดียวบางทีเขาก็ดูที่ปลายจมูก เพราะเป็นทางผ่านของลมหายใจจากนอกร่างกายเข้าสู่ในร่างกาย เขาบอกว่ามันเป็นต้นลม


ต้นลมมันก็ที่จมูก กลางลมมันก็ที่หน้าอก ปลายลมมันก็ที่ท้อง เขาบอกว่าอย่างนั้น แต่ถ้าพูดแบบนี้เดี๋ยวคนฝึกยุบหนอพองหนอจะน้อยใจเลิกอ่านเลย เพราะยุบหนอพองหนอเขาดูที่ท้อง ท้องมันก็ปลายลม
 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 28 เม.ย.2006, 12:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถ้าอย่างนั้นขอพูดใหม่เอาใจคนฝึกแบบยุบหนอพองหนอก็ได้ว่า ท้องมันก็เป็นต้นลมเหมือนกัน เพราะตอนเราหายใจออกท้องมันก็เป็นต้นลม ลมออกทิ้งที่ปลายจมูก ปลายจมูกมันก็เป็นปลายลม


ความจริงต้นลมกลางลมปลายลมมันก็ลมเส้นเดียวกัน วิธีไหนก็ได้ ฝึกให้ได้ที่แล้วมันก็จะเหลือจิตอยู่ตัวเดียว หรือจะสมมติชื่อให้เป็นอะไรก็ได้ ตัวรู้ก็ได้ ตัวรู้ตัวเดียวลอยอยู่ อย่างนี้ก็ได้


มันก็เหมือนกันกับตอนที่เราหิวอยากจะกินอาหาร เราจะใช้ตะเกียบกินก็ได้ ช้อนกินก็ได้ อิ่มเหมือนกัน อิ่มแล้วก็เอาเวลาที่เหลือไปทำการงานอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อ คงไม่มีใครมาเถียงกันว่า ใช้ช้อนกินดีหรือใช้ตะเกียบกินดี


วิธีฝึกจิตให้เหลือตัวจิตดวงเดียวหรือจิตที่มีสมาธินี่ก็เหมือนกัน ป่วยการที่จะเถียงกันว่าวิธีไหนดีกว่ากัน พอฝึกได้วิธีใดวีธีหนึ่งจนถึงระดับหนึ่งแล้ว วิธีอื่นเราแอบไปทำแป๊บเดียวก็ได้แล้ว เหมือนเราฝึกกินช้อนเป็นได้ไม่นาน เราก็จะกินตะเกียบเป็นเหมือนกัน


เป็นอันว่าเราจะฝึกวิธีกินช้อนกันก่อนก็แล้วกัน สมมติว่าวิธีกินช้อนเป็นวิธีอานาปานสติ เพราะฉะนั้นเราก็เลยจะเล่าให้ข้าวฟ่างฟังถึงวิธีฝึกสติแบบที่เรียกว่า อานาปานสติ ก่อน
 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 28 เม.ย.2006, 7:39 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อานะ แปลว่า หายใจเข้า


อปานะ แปลว่า หายใจไม่เข้า ซึ่งก็คือ ออก อะ แปลว่าไม่ อปานะ แปลว่าหายใจไม่เข้า


ดังนั้น อานาปานะ ก็คือ การหายใจเข้าและหายใจออก บวกกับคำว่าสติ เลยกลายมาเป็นอานาปานสติ แปลว่า สติกำหนดลมหายใจเข้าออก นี่เป็นการแปลคัมภีร์แบบฝ่ายพระสูตร


ถ้าเป็นแบบคัมภีร์ของฝ่ายพระวินัย เขาแปลคำว่าอานะก็คือออก และอปานะก็คือเข้า ดังนั้นอานาปานสติ ก็คือสติกำหนดลมหายใจออกเข้า


เราก็เดาต่อเอาไปตามความเห็นของเราเลยว่า เพราะเด็กเกิดมาร้องไห้จ๊ากก่อนเลย แสดงว่าหายใจออกก่อน ขืนหายใจเข้าก่อนเด็กคงหายใจเอาน้ำเข้าไปในปอดเป็นโรคปอดบวมแน่ อีกอย่างหนึ่ง เด็กคงต้องสั่งอะไรที่มันยังคั่งค้างอยู่ในรูจมูกออกมาก่อนกระมัง แล้วจึงหายใจเข้า


แปลกนิ เด็กเกิดมาพร้อมเสียงร้องไห้เลย แสดงว่าเศร้าใจที่ต้องเกิดมา เพราะเกิดมางวดนี้มีความทุกข์รออยู่เบื้องหน้าจมเลย แต่ผู้ใหญ่ที่อยู่รอบๆที่เป็นกองเชียร์กลับชอบใจ หัวเราะกันใหญ่คงดีใจมั้ง ที่มีเพื่อนมาร่วมแบกทุกข์อีกคนหนึ่ง ถ้าเด็กไม่ร้องไห้ผู้ใหญ่ก็ไปตีเด็กใหญ่ เพื่อให้เด็กร้องไห้ แต่ถ้าเด็กไม่ยอมร้องไห้จริงๆเพราะขี้เกียจเกิดมาแบกทุกข์ ผู้ใหญ่ก็เลยต้องร้องห่มร้องไห้แทนเพราะเสียใจที่เด็กตายไปแล้ว
 
dt
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 28 เม.ย.2006, 7:48 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

โลกนี้มักมีอะไรแปลกๆ เสมอ ร้องไห้ท่ามกลางเสียงหัวเราะ หัวเราะท่ามกลางเสียงร้องไห้ โลกมันจึงชุลมุลชุลเก ยุ่งเหมือนยุงตีกันอยู่แบบนี้ ว่าแล้วเราก็กลับมาเข้าเรื่อง การกำหนดลมหายใจเข้าออกของเรากันต่อดีกว่า


เราจะกำหนดลมหายใจเข้าก่อนหรือกำหนดลมหายใจออกก่อน ก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน แต่ในช่วงที่เริ่มฝึก เพื่อความสะดวกที่จะได้ทำไปพร้อมๆกันอย่างมีระบบระเบียบ เราอาจทำแบบง่ายๆตามแบบที่ครูบาอาจารย์หลายท่านแนะนำกันต่อๆมา นั่นก็คือการหายใจเข้าก่อนแล้วจึงหายใจออกก็แล้วกัน ง่ายดี พิสมัยแนะนำ


เอาละ ฝึกเลย ฝึกเลย ฝึกเดี๋ยวนี้เลย เอาที่ปัจจุบันนี้เลย ธรรมะเป็นเรื่องของปัจจุบัน ที่นี่และเดี๋ยวนี้ พิสูจน์ได้ทันทีเลย เพราะเป็นวิทยาศาสตร์ แล้วก็ปกติเราก็ต้องหายใจอยู่แล้ว ไม่ต้องหาอุปกรณ์อะไรเพิ่มเติมอีก เราจะจัดการพิสูจน์เดี๋ยวนี้เลย เอาให้รู้เรื่องเดี๋ยวนี้เลย พิสมัยกระตุ้น


เอาตอนนั่งอ่านนี่แหละ นั่งตัวตรงตรง ยืดตัวตรงตรง ดำรงสติให้มั่น........แล้วหายใจเข้าให้ลึกกก.....ลึกกกกกก.......ลองทำดู


หายใจเข้าให้ลึกกก.........ลึกกกกก.......ให้เต็มปอดเลย......แล้วก็หายใจออกให้ ยาววว.....ยาวววว......ให้หมดปอดเลย...ออกทางจมูกก่อนนะ อย่าออกทางปาก เข้าก็ทางจมูก แล้วก็ออกก็ทางจมูก เข้าให้ลึกๆนี่ใช้เวลาเท่าไรก็ได้ ยิ่งนานยิ่งดี ออกให้ยาวๆ ก็เหมือนกัน นานเท่าไรก็ได้แต่ยิ่งนานก็ยิ่งดี ทำใหม่ ทำใหม่


หายใจเข้าให้ ลึกกก....ลึกกกก........หายใจออกให้..ยาววว.....ยาวววว........


หายใจเข้าให้ ลึกกก....ลึกกกก........หายใจออกให้..ยาววว.....ยาวววว........


เห็นอะไรเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า ...เห็นอะไรเปลี่ยนแปลงไหม...


ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย......


...อ้าว แล้วกัน...


ความจริงเราว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงนะ...แต่ข้าวฟ่างไม่รู้เอง..พิสมัยบอก...


คือตอนที่เราหายใจเข้า เรารู้สึกว่าเราหายใจเข้า ตอนที่เราหายใจออกเราก็รู้สึกว่าเราหายใจออก


ปกติเราจะรู้ว่าคนที่มีชีวิต ต้องหายใจ มันเป็นปราณ มันเป็นลมปราณ ที่ทำให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้


แต่เรา..ไม่รู้สึกว่าเราหายใจ..ใช่หรือไม่...เรารู้ว่าคนเราต้องหายใจ........แต่เราไม่รู้สึกว่าเรากำลังหายใจในช่วงเวลาปกติ


เอ..แปลกดีนิ..พูดไง..งง..งง..


เอาใหม่ หายใจเข้าใหม่....ทำเลย...ทำเลย..


หายใจเข้าให้ ลึกกก....ลึกกกก........หายใจออกให้..ยาววว.....ยาวววว........


หายใจเข้าให้ ลึกกก....ลึกกกก........หายใจออกให้..ยาววว.....ยาวววว........


ฮั่นแน่...เริ่มรู้สึกตอนเราหายใจเข้า หายใจออกแล้ว


แล้วไง....รู้ก็รู้ซิ.....


แต่ก่อนที่เราจะพูดคุยกันนั้น เราไม่รู้สึกเลยว่าเรากำลังหายใจ แสดงว่าตอนนี้เรามีความรู้เพิ่มขึ้นมาอีกนิดหนึ่งแล้ว ใช่ไหม


เรารู้ว่าเรามีการหายใจ เรารู้สึกได้ว่า เรามีการหายใจ เพราะเรารู้ได้จาก....ลมหายใจ.....ของเราเอง
การหายใจ กับลมหายใจมันคนละตัวกัน การหายใจเป็นกริยา เป็น Verb เป็นกริยาอาการ แต่ ลมหายใจ เป็น Noun หรือเป็นนาม ที่เราจับต้องได้ด้วยประสาทสัมผัสที่มันสัมผัสกับรูจมูกของเรา


ตัวลมหายใจนี่มันเป็นโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่มากระทบผิวหนัง มันก็เป็นอายตนะภายนอก ตามที่เคยกล่าวมาแล้วในบทก่อน


อายตนะภายนอกก็มี 6 สิ่ง สิ่งที่มันมาสัมผัสทางกายเราเรียกมันว่าโผฏฐัพพะ ส่วนกายหรือในที่นี้ก็คือผิวหนังเป็นอายตนะภายใน โผฏฐัพพะเป็นอายตนะภายนอก สำหรับ 5 คู่ที่เหลือก็คือ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส และใจกับธรรมารมณ์


อายตนะภายนอกพวกนี้ ถ้าเรานั่งสมาธิแล้วเพ่งมัน มันก็จะกลายมาเป็นอารมณ์ (Object) ที่ถูกเราเพ่ง หรือพูดให้ง่ายที่สุดก็คือ ถ้าเราเพ่งที่ลมหายใจ ก็เป็นการนั่งสมาธิโดยมีลมหายใจเป็นอารมณ์


ทำไมจึงต้องมีลมหายใจเป็นอารมณ์ ก็เพราะลมหายใจตัวนี้สติของเราไปกำหนดไว้ ตามความหมายของวิธีการฝึกอานาปรานสติที่ว่า เอาสติไปกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก


เมื่อเราเอาสติไปกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ สติมันก็ไม่หนีไปไหน มันก็อยู่กับลมหายใจเข้าลมหายใจออก ลมหายใจมันก็เลยเป็นสิ่งที่ยึดหน่วงสติไว้


คำว่าสิ่งที่ยึดหน่วง เราอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อารมณ์ก็ได้ เพราะในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานปี 2542 ให้ความหมายของคำว่าอารมณ์ไว้ว่า อารมณ์เป็นนาม แปลว่าสิ่งที่ยึดหน่วงจิตโดยผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น รูปเป็นอารมณ์ของตา โผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์ของกาย เป็นต้น


เราจะต้องยึดหน่วงอะไรไว้สักอย่างหนึ่งเวลานั่งสมาธิ เพราะถ้าเราไม่ยึดหน่วงอะไรไว้เลยมันก็จะลอยไปลอยมา กลายเป็นนั่งใจลอยไม่ใช่การนั่งสมาธิเป็นแน่


ตัวที่เราจะยึดหน่วงเอาไว้ได้ดีที่สุดก็คือลมหายใจของเรานี่แหละ เพราะมันเป็นวัตถุ หรือเป็น Object ที่มันวิ่งเข้ามาชนโครมโครมเข้ากับรูจมูกของเราอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา ตอนเราสูดลมหายใจเข้า สูดลมหายใจออกขณะที่เรานั่งสมาธินี่แหละ


เห็นไหม เมื่อก่อนเราไม่รู้จักกับ...ลมหายใจ....แต่ตอนนี้เรารู้จักกับ...ลมหายใจ...ของเราแล้ว....โดยที่เราเพ่งที่ตัวลมหายใจ แล้วถ้าเราทำติดต่อกันไปเรื่อยเรื่อย..แบบกัดติดไม่ปล่อย...จนเรารู้จักกับลมหายใจของเรานานนานแล้ว ได้เรื่องเลย เราจะรู้จักกับสติ


แล้วถ้าเราทำต่อไปเรื่อยเรื่อย...เราจะรู้จักกับจิต...แต่ตอนนี้ชั่งมันก่อน...เอาเป็นว่าตอนนี้เรารู้จักแต่เพียง..ลมหายใจ...แค่นี้ก็เจ๋ง สุด สุด แล้ว


อ้าว...เฟ้ย..เฟ้ย.. ลมหายใจของข้าวฟ่างหายไปไหนแล้วเนี๊ยะ...พิสมัยหลอกให้ข้าวฟ่างอ่านเพลินไปหน่อย ลมหายใจมันเลยหายไปไหนแล้วก็ไม่รู้


หายใจเข้าให้ ลึกกก....ลึกกกก........หายใจออกให้..ยาววว.....ยาวววว........


หายใจเข้าให้ ลึกกก....ลึกกกก........หายใจออกให้..ยาววว.....ยาวววว........


อ๋อ อ๋อ ...ยังอยู่...อิ..อิ.. เผลอแป๊บเดียว ลืมลมหายใจ ไม่รู้ว่าลมหายใจหายไปไหนซะแล้ว


ลมหายใจนี่ก็ช่างกระไรเลย ชอบหนีข้าวฟ่างไปเที่ยวอยู่เรื่อยเลย....
 
๛ Nirvana ๛
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 09 เม.ย. 2006
ตอบ: 403

ตอบตอบเมื่อ: 30 เม.ย.2006, 7:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อนุโมทนาด้วยครับคุณ dt สาธุ สาธุ สาธุ
 

_________________
ขอความสวัสดีจงมีแด่ท่าน
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวตำแหน่ง AIMMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง