Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ...ธรรมะเอกเขนก (ขวัญ เพียงหทัย)... อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2005, 3:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ภิกษุชาวโกสัมพี





ใจสว่างกับติ๊งต่างไปกราบพระนอนวัดโพธิ์

เสร็จแล้วพากันเดินเที่ยวชมวัด

ไปกราบพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางนาคปรกก่อน

เพราะใจสว่างเกิดวันเสาร์ แล้วจึงเดินต่อไป

ได้พบพระพุทธรูปองค์ใหญ่อีกองค์หนึ่ง ปางเลไลยก์

มีพระพุทธเจ้านั่งอยู่ และมีช้างกับลิงอยู่ข้างหน้า

ติ๊งต่างยืนอ่านป้ายซึ่งเขียนอธิบาย ใจสว่างมายืนข้างๆ

พูดว่า

“ปางนี้พระพุทธเจ้าท่านเบื่อพวกพระทะเลาะกัน

เลยทรงปลีกวิเวกไปอยู่องค์เดียว

มีลิงกับช้างคอยอุปัฏฐากดูแล”

“เคยรู้เรื่องนี้เหรอ เล่าอีกหน่อยซี”

ใจสว่างชวนให้ออกมานั่งข้างนอก

จะได้ไม่ส่งเสียงรบกวนใคร

ทั้งสองจึงเดินกลับมานั่งเล่นที่ภูเขาน้ำตกจำลอง

ลมพัดเย็นสบาย เพราะกำลังแดดร่มลมตก

“มันเริ่มที่การทะเลาะกันของพระ ๒ รูปที่โฆสิตาราม

เมืองโกสัมพี เป็นพระอาจารย์ของคณะ ๒ คณะ

คือคณะพระวินัยธร เชี่ยวชาญทางวินัย กับคณะพระธรรมกถึก

เชี่ยวชาญการแสดงธรรม แต่ละคนก็มีลูกศิษย์มากมาย

วันหนึ่ง พระธรรมกถึกเข้าไปถาน ส้วมน่ะ ใช้น้ำแล้ว

เหลือน้ำไว้ในภาชนะ พระวินัยธรเข้าไปทีหลัง

เห็นน้ำเหลืออยู่ จึงถามพระธรรมกถึกว่า

“ท่านเหลือน้ำไว้หรือ”

“ใช่ครับ ผมเหลือไว้เอง”

“ท่านไม่รู้หรือว่า การเหลือน้ำไว้อย่างนี้เป็นอาบัติ”

“ผมไม่รู้”

“ถึงไม่รู้ก็เป็นอาบัติ” พระวินัยธรบอก

“ถ้าอย่างนั้น ผมจะทำคืนเสีย ผมจะแสดงอาบัติ”

พระธรรมกถึกก็ยอมรับนะ ไม่ได้เถียงอะไร

แต่พระวินัยธรกลับบอกว่า

“แต่ถ้าท่านไม่ได้แกล้งทำ ท่านทำเพราะไม่มีสติ

อาบัติก็ไม่มี”

พระธรรมกถึกก็เลยไม่ได้แสดงอาบัติ”

“อ้าว ก็จบแล้ว” ติ๊งต่างท้วง ใจสว่างหัวเราะ

“ไม่จบน่ะซี

พระวินัยธรเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้ลูกศิษย์ฟัง

ว่าพระธรรมกถึกแม้ต้องอาบัติก็ยังไม่รู้”

“อ้าว แล้วกัน” ติ๊งต่างงง

“พวกลูกศิษย์กลุ่มนี้ไปพูดดูหมิ่นลูกศิษย์กลุ่มโน้นว่า

อุปัชฌาย์ของท่านต้องอาบัติแล้วไม่รู้

พวกลูกศิษย์พระธรรมกถึกไปถามอาจารย์ว่า

เรื่องเป็นยังไงกัน ทำไมพวกกลุ่มนั้นมาพูดแบบนี้

พระธรรมกถึกเล่าให้ลูกศิษย์ฟังแล้วว่า พระวินัยธร

ทีแรกพูดว่าไม่เป็นอาบัติ ทำไมมาตอนนี้ว่าเป็นอาบัติ

พระวินัยธรพูดมุสา”

“เป็นเรื่องสิทีนี้ พูดแรง”

ติ๊งต่างเห็นปัญหาขึ้นมารำไร

“ต่อมาทีหลัง

พระวินัยธรเลยประกาศไม่ให้สงฆ์ร่วมอุโบสถสังฆกรรม

ไม่ให้ร่วมฉัน ไม่ให้ร่วมที่อยู่อาศัยกับพระธรรมกถึก

ตั้งแต่นั้นมา พระสงฆ์ในโฆสิตาราม ก็แตกออกเป็น ๒ พวก

ทำให้อุบาสก อุบาสิกาก็แตกกันด้วย ตามตำราว่า

แม้แต่เทวดาก็แตกกัน

พระรูปหนึ่งจึงไปทูลพระพุทธเจ้า ท่านส่งพระโอวาทไป ๒

ครั้งว่า ขอให้ภิกษุทั้งหลายจงพร้อมเพรียงกัน

ก็ทรงได้สดับว่า ภิกษุไม่อยากจะพร้อมเพรียงกัน

ครั้งที่สามทรงทราบว่าภิกษุแตกกันแล้ว

จึงเสด็จไปที่อยู่ของพวกภิกษุ

ตรัสโทษของการกระทำของพระวินัยธรที่สั่งห้ามสงฆ์ร่วมอุโบสถสังฆกรรม

และเรื่องต่างๆ ตรัสโทษของพระธรรม- กถึกที่ไม่เห็นอาบัติ

แต่ไม่ได้ประโยชน์ ภิกษุทั้งหลายยังพอใจที่จะแตกแยก

แม้พระพุทธเจ้าจะทรงสั่งสอนก็ไม่อยากทำตาม

พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทเป็นอันมากเพื่อประสาน

รอยร้าว เช่น

ภิกษุทั้งหลาย

การแตกแยกแก่งแย่งกันนั้นนำมาแต่ความพินาศ

ไม่เป็นไปเพื่อความดีแก่ใครเลย แล้วตรัสชาดกเป็นอันมาก

มีภิกษุรูปหนึ่ง ไม่อยากให้พระพุทธเจ้าลำบาก

จึงทูลพระองค์ว่า

ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอพระองค์จงทรงขวนขวายน้อย

ขอพระองค์จงเป็นสุขอยู่ในปัจจุบันเถิด

ข้าพระองค์ทั้งหลายจะปรากฏด้วยกรรมของตนเอง”

“หมายถึงอะไรจ๊ะ ช่วยแปลด้วย” ติ๊งต่างไม่เข้าใจ

“แปลว่า พวกเราทำอะไรไว้

กรรมนั้นคงจะปรากฏให้เราเห็นเอง ว่าพวกเราจะโดนอะไรมั่ง

นี่ขนาดรู้นะเนี่ย ยังดื้อเลย

พระพุทธเจ้าทรงเมตตา

ตรัสเล่าเรื่องของพระเจ้าพรหมทัตที่ปลงพระชนม์พระเจ้าฑีฆีติโกศล

พร้อมกับพระอัครมเหสี ต่อมาฑีฆาวุกุมาร

โอรสพระเจ้าฑีฆีติโกศล จับพระเจ้าพรหมทัตได้ จะแก้แค้น

แต่ในที่สุดกลับเป็นมิตรกัน

เพราะพระกุมารยกโทษให้พระเจ้าพรหมทัต

กษัตริย์ทั้งสองสามัคคีกันต่อมา”

“สงสารพระพุทธเจ้าจัง

น่าจะปล่อยไปตามที่พวกนั้นแนะนำแหละดีแล้ว” ติ๊งต่างว่า

“พระพุทธเจ้าสอนว่า ภิกษุทั้งหลาย

ฑีฆาวุและพระเจ้าพรหมทัตเป็นผู้มีอาวุธ

ยังมีความอดกลั้นและสงบเสงี่ยม ให้อภัยกันได้

ทำไมเล่าเธอทั้งหลายจะปรองดองกันไม่ได้

ภิกษุทั้งหลาย จะเป็นความงามไม่น้อยเลย

หากเธอผู้บวชในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วจะเป็นผู้อดกลั้นและสงบ

เสงี่ยมเรียบร้อย

แต่พระองค์ก็ทำให้ภิกษุเหล่านั้นดีกันไม่ได้”

“เฮ้อ แค่ฟังยังเบื่อแทนพระพุทธเจ้า” ติ๊งต่างเปรย

“ใช่ พระพุทธเจ้าทรงระอา

เลยเสด็จหลีกไปอยู่โดดเดี่ยวเสียเลย

เช้าวันหนึ่ง จึงเสด็จไปบิณฑบาตในเมืองโกสัมพี

ทรงถือบาตรด้วยพระองค์เอง ไม่ได้ตรัสบอกใครเลย

เสด็จไปทางพาลภโลณการาม พบพระภคุเถระ ที่อยู่ในวัดนั้น

ก็ตรัสบอกถึงวัตรของพระซึ่งอยู่คนเดียว

แล้วเสด็จต่อไปป่าปาจีนวังสะ ซึ่งเป็นป่ามิคทายวัน

หมายถึงป่าที่พระราชาประทานให้เนื้ออาศัยอยู่

ใครจะทำร้ายไม่ได้ พระพุทธเจ้าได้พบชายหนุ่ม ๓ คน

ทรงสั่งสอนถึงอานิสงส์ของความสามัคคี

แล้วเสด็จต่อไป ทางหมู่บ้านชื่อปาริเลยยกะ

แล้วทรงอาศัยที่หมู่บ้านนี้ เสด็จจำพรรษาใต้ต้นสาละใหญ่

แถวราวป่าชื่อ รักขิตวัน”

“แสดงว่าพระพุทธเจ้าออกบิณฑบาตแล้ว ทรงเสด็จไปต่อ ไปต่อ

จนออกไปเลย เงียบๆ ง่ายๆ อย่างนั้นเลยนะ ยอดจริงๆ เลย”

ติ๊งต่างชื่นชม

“ใช่แล้วไม่มีใครรู้เรื่องเลย

พวกชาวบ้านมาโฆสิตารามไม่พบพระพุทธเจ้า ก็ถามไถ่

พอรู้เรื่องเข้า ก็คิดว่าเพราะภิกษุพวกนี้

ทำให้เราไม่พบพระพุทธเจ้า พระองค์ให้สามัคคี

ก็ไม่ยอมสามัคคี เราจะลงโทษภิกษุพวกนี้ จะไม่ไหว้

ไม่ถวายอาสนะ ไม่ถวายอาหาร”

ติ๊งต่างหัวเราะ นึกไม่ถึงความคิดอย่างนี้

“ภิกษุก็ไม่ได้อาหาร ผอมลงเลย อดข้าว ๒-๓ วัน ก็คลายพยศ

ต่างขอโทษซึ่งกันและกัน”

“อ้อ ได้ผลด้วย” ติ๊งต่างแปลกใจ

“แล้วภิกษุก็ขอโทษชาวบ้านด้วย

บอกว่าตอนนี้สามัคคีกันแล้ว ให้ถวายอาหารเถอะ

ชาวบ้านถามว่า แล้วทูลขอขมาพระพุทธเจ้าแล้วหรือ

พระบอกว่ายัง ชาวบ้านเลยบอกว่า งั้นก็ขอขมาซะก่อน

แล้วเราถึงจะปฏิบัติเหมือนเดิม แต่พระไปขอขมาไม่ได้

เพราะติดอยู่ในพรรษา ต้องรอให้ออกพรรษาก่อน”

“อ้อ ดีๆ จะได้เข็ด” ติ๊งต่างพอใจ





“พระพุทธเจ้าก็มีช้างปาริเลยยกะ อุปัฏฐากอยู่

ช้างนี่ก็หนีความรำคาญในโขลงมาอยู่ตัวเดียวเหมือนกัน

เพราะอยู่ในโขลงจะเดินก็เบียดเสียด

จะกินอะไรลูกช้างก็แย่งกินเสียก่อน จะกินน้ำ ก็ช้างเยอะ

น้ำขุ่น อยากอยู่ตัวเดียว เลยหนีมา

มาพบพระพุทธเจ้า ก็ถวายบังคมนะ เข้าไปหาไปปัดกวาดบริเวณ

เอางวงจับหม้อตักน้ำเสวย น้ำใช้มาตั้งให้พระพุทธเจ้า

หาผลไม้มาถวาย ต้มน้ำร้อนเป็นด้วย”

“ช้างเนี่ยนะ” ติ๊งต่างร้อง ใจสว่างเล่าตามตำรา

“ท่านว่ามันเอางวงจับไม้แห้งสีให้เกิดไฟ

ใส่ฟืนให้ไฟลุกเผาก้อนหินจนร้อน

แล้วเอาท่อนไม้กลิ้งหินให้ตกลงไปในแอ่งน้ำ

อยากรู้ว่าน้ำร้อนมั้ย ก็เอางวงไปแตะ ถ้าอุ่นแล้ว

มันก็ไปถวายบังคมพระพุทธเจ้า เป็นทำนองทูลว่า

ทรงใช้น้ำร้อนได้แล้ว”

“ยอดเลย ทำได้ไงเนี่ย” ติ๊งต่างทึ่ง

“เวลาพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน

มันก็จะตามไป วางบาตรและจีวรของพระองค์ไว้บนตระพอง

พอไปถึงเขตหมู่บ้าน

พระพุทธเจ้าจะรับสั่งให้เอาบาตรจีวรถวาย

ไม่ให้เข้าไปด้วย อันตราย

มันคอยจนกว่าพระพุทธเจ้าจะกลับมา

เวลากลางคืน ช้างจะมีไม้ท่อนใหญ่

เดินวนเวียนป้องกันอันตรายให้พระพุทธเจ้าจนเช้า

ในตอนนั้นมีลิงตัวหนึ่ง

เห็นช้างทำโน่นทำนี่ก็อยากทำบ้าง

ไปเห็นรังผึ้งที่กิ่งไม้ ไม่มีตัวผึ้ง

จึงหักกิ่งไม้ไปถวาย แล้วนั่งจ้องดูว่าจะเสวยมั้ย

พระพุทธเจ้ารับแล้วเฉยอยู่ ลิงคิดว่าทำไมไม่เสวย

เลยเข้าไปจับกิ่งไม้ดูใหม่ เห็นมีตัวอ่อนอยู่ จึงค่อยๆ

เอาออกแล้วถวายใหม่ พระพุทธเจ้าก็เสวย

พอเห็นอย่างนั้น ลิงดีใจมาก กระโดดโลดเต้นไปมาบนต้นไม้

บังเอิญกิ่งไม้หัก มันตกลงมาถูกตอไม้แทงตาย

แต่มันมีจิตเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ได้ไปเกิดในดาวดึงส์”

“โถ กำลังว่าจะดีใจด้วยซะหน่อย ดันมาตายได้ แต่ก็ดี

ตายแล้วเป็นเทวดา ก็ดีกว่าอยู่เป็นลิงเนอะ”

ติ๊งต่างพยักพเยิด

“ข่าวเรื่องพระพุทธเจ้าไปอยู่ป่ารักขิตวันนี่

กระจายไปทั่วชมพูทวีป ทางเมืองสาวัตถี

ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขา

ก็ส่งสาส์นไปถึงพระอานนท์ว่าขอให้นำเสด็จพระพุทธเจ้าไปสู่สาวัตถี

ภิกษุจำนวนมากที่อยู่ตามทิศต่างๆ พอออกพรรษาแล้ว

อยากเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อฟังธรรม

ไปอ้อนวอนพระอานนท์ว่าอยากเฝ้าพระพุทธเจ้า พระอานนท์พาไป

พอถึงก็ให้รออยู่ก่อน ท่านเข้าไปรูปเดียวก่อน

ทีนี้ช้างพอเห็นพระอานนท์ก็จับท่อนไม้วิ่งจะไปไล่

พระพุทธเจ้าตรัสบอกให้ช้างหลีกไปก่อน

ภิกษุนั้นเป็นอุปัฏฐากของเรา

ช้างรีบทิ้งท่อนไม้ แสดงท่าทางจะรับบาตร

แต่พระอานนท์ไม่ยอมให้ ช้างก็ดูอยู่ คิดว่า

ถ้าภิกษุรูปนี้ มีมารยาทดี

ก็ต้องไม่วางบริขารของตนไว้บนแผ่นหินที่พระพุทธเจ้าประทับ

พระอานนท์วางของไว้ที่พื้น ช้างเลยเลื่อมใส

พระอานนท์ถวายบังคมพระพุทธเจ้า ทรงตรัสถามว่า

มาคนเดียวหรือ ทูลว่ามีพระมารอเฝ้ามากมาย

พระพุทธเจ้าจึงให้นำมาเฝ้า”

ติ๊งต่างนั่งฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ

แม้ใจสว่างจะเล่ายาวก็ยังไม่เบื่อ

ติ๊งต่างเดินไปซื้อน้ำมาให้เป็นของกำนัล

“พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้เลยใช่มั้ย” ติ๊งต่างถาม

“ใช่ ทรงแสดงพระพุทธพจน์ว่า

ถ้าบุคคลได้เพื่อนที่มีปัญญามีคุณธรรม

มุ่งแต่ประโยชน์อันดี ไว้เป็นเพื่อนไปมาด้วยกัน

ก็ควรมีใจยินดี มีสติ คอยป้องกันอันตรายให้เพื่อน

ถ้าไม่ได้เพื่อนอย่างนี้ ก็ควรไปคนเดียวดีกว่า

เหมือนพระราชาทรงสละราชบัลลังก์ เที่ยวไปคนเดียว

หรือเหมือนช้างชื่อมาตังคะ เที่ยวไปตัวเดียวในป่า

การเที่ยวไปคนเดียวดีกว่า

เพราะความเป็นเพื่อนไม่มีในคนพาล

เมื่อไม่ได้เพื่อนที่มีปัญญาคุ้มครองตน

ก็ควรเที่ยวไปคนเดียว และไม่ควรทำบาปทั้งหลาย”

ท่านเทศนาจบ ภิกษุ ๕๐๐ รูปได้สำเร็จเป็นอรหันต์”

“โอ้โห วิเศษ ติ๊งต่างฟังยังไม่ไปถึงไหนเลย”

“พระอานนท์ทูลว่า อนาถปิณฑิกเศรษฐี และนางวิสาขา

ทูลเชิญเสด็จสาวัตถี

พระพุทธเจ้าจึงให้พระอานนท์รับบาตรและจีวร แล้วเสด็จไป

ช้างมายืนขวางทางไว้ พวกพระทูลถามว่า ทำไมช้างมายืนขวาง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เขาอยากจะถวายอาหาร

ช้างนี้มีอุปการะต่อเรามานาน ไม่ควรทำให้เขาขัดใจ

พวกเราอย่าเพิ่งไปเลย แล้วเสด็จพาพระกลับมาที่เดิม

ช้างรีบเข้าป่าไปหาผลไม้มากองไว้ วันรุ่งขึ้น

พระพุทธเจ้าทรงเสวย และพระก็ฉันผลไม้ แต่ฉันไม่หมด

เสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าทรงถือบาตร

และจีวรด้วยพระองค์เองเสด็จออกไปก่อน

ช้างติดตามและขวางทางพระองค์ไว้ พวกพระถาม

พระองค์ตรัสว่าช้างให้พระกลับ แต่จะให้พระองค์อยู่

จึงตรัสกับช้างว่า

ปาริเลยยกะเอย ชีวิตนี้เธอเป็นเดรัจฉาน ไม่อาจบรรลุฌาน

หรือวิปัสสนา หรือมรรคผลได้ เจ้าจงอยู่ที่นี่เถิด

อย่าติดตามเลย

ช้างก็ร้องไห้ ยังติดตามต่อไป จนเสด็จเข้าถึงเขตบ้าน

ก็ตรัสอีกว่า

ปาริเลยยกะเอย ต่อไปนี้เป็นแดนมนุษย์ ไม่ใช่ถิ่นของเจ้า

มีภัยอยู่รอบด้าน จงหยุดแค่นี้เถิด

อย่าเดินต่อไปอีกเลยช้างติดตามต่อไปไม่ได้

ก็ยืนร้องไห้อยู่ตรงนั้น”

“สงสารจัง ติ๊งต่างจะร้องไห้ตามแล้วเนี่ย”

“พอพระพุทธเจ้าลับสายตาไป ช้างก็หัวใจสลาย

ตายลงด้วยความรัก ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

เป็นเทพบุตรปาริเลยยกะ”

ติ๊งต่างยิ้มแฉ่ง



“ภิกษุชาวโกสัมพีที่ทะเลาะกันน่ะ พอรู้ข่าวพระพุทธเจ้า

เสด็จสาวัตถี ก็พากันมาเพื่อขอขมา

พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลพระพุทธเจ้าว่า

จะไม่ยอมให้ภิกษุเหล่านี้เข้าเมือง

ท่านอนาถปิณฑิกะก็ทูลว่าจะไม่ยอมให้เข้าวัด”

“ใช่ ใช่” ติ๊งต่างหมั่นไส้ตามไป

“พระพุทธเจ้าชี้แจงว่า ภิกษุเหล่านี้ล้วนมีศีล

แต่ไม่เชื่อคำพระองค์ ก็เพราะทะเลาะกัน

บัดนี้ชวนกันมาเพื่อขอขมาพระองค์ ให้เข้ามาเถิด

ภิกษุเหล่านั้นมาถึง

พระพุทธเจ้ารับสั่งให้จัดเสนาสนะคือที่อยู่แห่งหนึ่ง

เป็นที่สงัดให้อยู่ ไม่ให้ปนกับภิกษุเหล่าอื่น

เวลาประชุม ทรงให้ภิกษุโกสัมพีอยู่ที่หนึ่ง

พระอื่นอยู่อีกที่หนึ่ง ประชาชนถามพระพุทธเจ้า

พวกไหนคือภิกษุโกสัมพี พระองค์ชี้ให้ดูว่าพวกนั้น

จนภิกษุโกสัมพีละอายใจก้มหน้านิ่ง

ฟุบลงแทบพระบาททูลขอขมา









พระพุทธเจ้า จึงตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย เธอทำกรรมหนักเสียแล้ว

เธอบวชในศาสนาของเรา เมื่อเราสมานสามัคคี เธอก็ไม่ทำตาม

ในสมัยก่อน มีบัณฑิตผู้ต้องถูกประหารชีวิตแล้ว

แต่ฟังคำสอนของบิดามารดา แล้วปฏิบัติตามคำสั่งสอน

ภายหลังท่านได้ประสบโชคดี ได้ครองแคว้นถึง ๒

แคว้นคือกาสีและโกศล

แล้วทรงเล่าเรื่องฑีฆาวุกุมาร

แล้วตรัสต่อไปว่าคนพวกอื่นไม่รู้ดอกว่า

เราทั้งหลายย่อยยับอยู่ เพราะการทะเลาะวิวาท

ส่วนพวกใดรู้ เห็นโทษของการทะเลาะวิวาท

ก็จะหยุดเพ่งโทษซึ่งกันและกัน

เอาละ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้”

ใจสว่างสรุป ติ๊งต่างยื่นน้ำให้อีก

แล้วชวนใจสว่างกลับไปกราบพระใหม่อีกครั้ง บอกว่า

“จะดูช้างอีกที เผื่อมันกำลังจะต้มน้ำ”







 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2005, 3:52 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นางจิญจมาณวิกา





กังสดาลกับจันทร์เจ้า หอบหนังสือเข้าไปในโบสถ์

แล้ววางลงบนพานทองใบใหญ่

เพื่อให้ผู้ที่มากราบไหว้พระประธานได้หยิบหนังสือไปอ่าน

เสร็จแล้วกราบพระประธาน สวดมนต์

อธิษฐานจิตกันเรียบร้อยแล้ว นั่งพัก

จันทร์เจ้ามองดูผนังโบสถ์

มีภาพเขียนเป็นรูปพระพุทธเจ้าผจญมาร

พลางสะกิดให้กังสดาลดูอยู่ครู่หนึ่ง

แล้วคลานกลับออกไปจากโบสถ์

กังสดาลชวนไปนั่งเล่นใต้ต้นไม้

ทางวัดจัดเป็นสวนหย่อมเล็กๆ มีภูเขาหินและน้ำตก

มีสัตว์เล็กสัตว์น้อย น่ารักเช่นกระต่าย กวาง

วางอยู่ตรงนั้นตรงนี้ บรรยากาศน่ารื่นรมย์

“เห็นรูปพระพุทธเจ้าผจญมารแล้ว

ไม่รู้จะเป็นกำลังใจดีหรือจะท้อใจดี” จันทร์เจ้าเอ่ย

“อ้าว ก็ต้องเป็นกำลังใจซี่

เพราะคิดอะไรเราต้องเลือกคิดทางที่ดี” กังสดาลแนะ

“เพราะเราก็มีมารผจญเยอะๆ รอบๆ ตัวเหมือนในรูปไง

แต่เรานิ่งสงบไม่ได้อย่างพระพุทธเจ้านี่

เรามันปุถุชนเต็มขั้น” จันทร์เจ้าเสียงอ่อย

“เขาเรียกตามรอยบาทพระศาสดา” กังสดาลว่า

“คือเราทำไม่ได้อย่างท่านก็จริง

แต่ก็ทนทำไปอย่างที่ท่านทำ ทำได้มากได้น้อยก็ทำไป

ฝึกมากก็ทำได้มาก ฝึกน้อยก็ทำได้น้อย แต่ก็ทำไป

ทำตามท่านก็คือมีแนวว่าให้เราทำอย่างไร

เราจะได้ไม่ไปคิดเองว่าจะทำยังไง คิดเองมีสิทธิ์ผิดได้

เพราะยังโง่อยู่

ทำตัวเหมือนเราอยู่ในที่มืดแต่เดินจับราวที่พระพุทธเจ้าขึงนำไว้ให้นั่นแหละ

เดินไม่ได้ปร๋อก็จริง แต่เดินถูกทาง

วันหนึ่งต้องถึงที่สว่างจนได้ ขืนคลำทางเอง

เดี๋ยวหลงป่าตาย”

“บทสวดถวายพรพระนี่

เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าชนะเรื่องต่างๆ มา

เอามาผูกเป็นบทสวด ใช่มั้ย” จันทร์เจ้าถาม

“ใช่” กังสดาลพยักหน้า

“มีบทหนึ่งเป็นเรื่องของนางจิญจมาณวิกา สนุกดี

ครูเคยเล่าให้ฟังในห้องเรียนตอนมัธยม ยังจำได้”

“เล่าให้ฟังมั่งซี” จันทร์เจ้าว่า กังสดาลหัวเราะเบาๆ

เพราะในใจรู้สึกสนุก เมื่อนึกถึงเรื่องราวต่างๆ

“จิญจมาณวิกา ชื่อเพราะ เป็นผู้หญิงสวย

แต่เป็นคนนับถือพวกเดียรถีย์ เป็นพวกนอกศาสนาพุทธ

เป็นเรื่องในช่วงที่พระพุทธเจ้าประกาศศาสนาใหม่ๆ

แต่พระพุทธเจ้ามีสาวกเยอะๆ ในเวลาที่เร็วพอสมควร

และเป็นพระอรหันต์ก็เยอะ ประชาชนเลื่อมใสนับถือมาก

เอาของมาถวายสักการะมาก ทำให้พวกนอกศาสนาหลายๆ ลัทธิ

อย่างเช่นเดียรถีย์นี่ก็กลุ่มหนึ่ง พวกนี้ลำบากไปเลย

ไม่มีคนให้ของสักการะอะไร

ลำบากมากขนาดไปยืนประกาศกลางถนนเลยว่า

พระโคดมเท่านั้นหรือเป็นพระพุทธเจ้า

พวกเราก็เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน

ให้ทานแก่พระโคดมเท่านั้นหรือจะมีผลมาก

ให้พวกเราก็มีผลมากเหมือนกัน ให้เราเถอะ”

จันทร์เจ้าหัวเราะ

การเลียนเสียงของกังสดาลและก็ขำเรื่องราว

“อะไร ขอกันดื้อๆ อย่างนี้เลยเหรอ”

“อื้อ ขออย่างนี้แหละ แต่ก็ไม่มีใครสนใจ วันหนึ่ง

นางจิญจมาณวิกามาเยี่ยม นางไหว้ ทุกทีมีคนรับไหว้ต้อนรับ

คราวนี้ทุกคนเฉยหมด ไม่รับไหว้ด้วย

นางถามว่ามีเรื่องอะไร

พวกนี้ก็เล่าให้ฟังถึงความเดือดร้อน

นางบอกว่าให้เป็นหน้าที่ของนางเอง

จะทำให้พระพุทธเจ้าเสื่อมเสีย

ลาภสักการะก็จะกลับมาสู่พวกเดียรถีย์”

“แหม น่าเสียดายความสวยนะ” จันทร์เจ้าว่าทำเสียง จุ๊

จุ๊ กังสดาลเล่าต่อไป

“วิธีการก็คือ แต่งตัวให้สวยสุดๆ เลย แล้วพอตอนเย็น

ชาวบ้านเดินออกจากวัดจะกลับบ้าน นางก็เดินสวนเข้าไป

พอใครๆ ถามว่าจะไปไหนเวลานี้ นางตอบว่า ธุระอะไรของท่าน

แต่นางเดินทะลุลัดไปค้างที่วัดของพวกเดียรถีย์ใกล้ๆ

นั่นเอง

พอตอนเช้า ชาวเมืองเดินมาเข้าวัด

นางก็ทำท่าเหมือนว่าค้างที่วัดทั้งคืน

แล้วตอนเช้าก็เดินสวนออกมา พอใครๆ ถามว่า ไปพักที่ไหนมา

นางตอบว่าธุระอะไรของท่าน กับที่พักของข้าพเจ้า

ทำอย่างนี้อยู่ประมาณ ๒ เดือน คราวนี้พอชาวเมืองถามอีก

ก็จะพูดว่า ข้าพเจ้าพักอยู่ในพระคันธกุฎีของพระสมณโคดม

ในวัดเชตวัน

พวกชาวบ้านสงสัยกันใหญ่ว่าที่นางพูดนั้นจริงหรือเปล่า

แต่พระอริยบุคคลไม่มีใครเชื่อเลย

ผ่านไป ๓-๔ เดือน นางเอาผ้าพันท้องให้หนาขึ้น

ทำเหมือนตั้งท้องแล้ว

พอไปเดือนที่ ๘ ที่ ๙ ก็เอาไม้กลมๆ ผูกไว้ที่ท้อง

เอาผ้าห่มทับไว้ เอาไม้ทุบหลังมือหลังเท้าให้บวม

ให้ดูเหมือนว่าใกล้คลอดเต็มที”

“แหม อุตส่าห์จังเลยนะ

คนเรานี่เวลาจะทำร้ายใครนี่ยอมลงทุนจริงๆ”

จันทร์เจ้าถอนใจ

“เย็นวันหนึ่ง พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรมอยู่

นางก็ไปยืนต่อว่าพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์ดีแต่แสดงธรรม

ไม่ได้สนพระทัยหม่อมฉันเลย

หม่อมฉันตั้งครรภ์เพราะพระองค์นะ พระองค์ไม่เอาใจใส่เลย

ถ้าไม่ทำเองก็ให้ลูกศิษย์สักคน อย่างนางวิสาขา

หรืออนาถปิณฑิกะมาดูแลก็ยังดี

แต่นี่พระองค์รู้แต่การอภิรมย์อย่างเดียว

ไม่สนพระทัยการคลอดของหม่อมฉันเลย

พระพุทธเจ้าก็หยุดแสดงธรรมครู่หนึ่ง พอนางพูดจบ

พระองค์ก็ตรัสด้วยพระกระแสเสียงอันเรียบว่า

น้องหญิง

เรื่องนี้เราทั้งสองคนเท่านั้นที่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง”

“โอย เจ็บปวด ต้องยังงี้แหละถึงจะสะใจ สาธุ

พระพุทธเจ้าของเรา” จันทร์เจ้ายกมือขึ้นสาธุ

กังสดาลหัวเราะท่าทางของจันทร์เจ้า

“นางจิญจมาณวิกาโกรธมาก เต้นเร่าๆ

ด่าพระตถาคตจนเชือกขาด ผ้ากับท่อนไม้ร่วงลงมา

บางตำราว่าเทวดาแปลงเป็นหนูมากัดเชือกขาดก็มีนะ

ชาวบ้านเห็นความจริงแล้วเข้าไป ถ่มน้ำลายใส่บ้าง

เอาหินขว้างบ้าง เอาไม้ตีบ้าง ฉุดกระชากนางออกไปจากวัด

พอลับคลองพระเนตรของพระพุทธเจ้าเท่านั้นแหละ

ถูกแผ่นดินสูบไปเกิดในนรกเลย”

“เออ เร็วดีจังแฮะ” จันทร์เจ้าว่า

“ทำไมเวลาคนสมัยนี้มันเลว มันไม่เกิดอะไรเร็วๆ

ยังงี้มั่งก็ไม่รู้ คนจะได้เห็นกันมั่ง

แล้วจะได้กลัวความเลวร้ายกลับไปทำดีกันมั่ง”

จันทร์เจ้าบ่น แล้วยิ้มหวานขอโทษกังสดาลที่ตัวเองบ่น

“จบแล้วใช่ไหมจ๊ะ”

กังสดาลหัวเราะ

“ยังมีอีกนิดหนึ่ง คือวันรุ่งขึ้น

พระทั้งหลายก็คุยกันใน ธรรมสภา

ถึงเรื่องที่นางจิญจมาณวิกาใส่ร้ายพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้วตรัสว่า แม้ในชาติก่อน

นางจิญจมาณวิกา ก็เคยใส่ร้ายตถาคตมาแล้วเหมือนกัน

จึงตรัสเล่ามหาปทุมชาดกว่า





ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าเกิดเป็นพระมหาปทุม

ส่วนนางจิญจมาณวิกาเป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระบิดา

นางมีใจรักในพระมหาปทุม

จึงเย้ายวนชวนเชิญให้ร่วมอภิรมย์กัน

แต่พระมหาปทุมเป็นพระโพธิสัตว์ ไม่ยินยอมตาม

นางจึงแกล้งทำว่าเป็นไข้ และมีอาการแบบคนแพ้ท้อง

เมื่อพระราชาถามว่าพระมหาปทุมทำให้เป็นอย่างนี้

พระราชาก็ทรงกริ้ว ให้จับพระมหาปทุมไปทิ้งในเหวทิ้งโจร

เทวดาที่สถิตอยู่ก็อุ้มเอาไว้

แล้วเอาไปวางที่พังพานนาคราช

พญานาคราชเลยพาลงไปที่นาคพิภพ

แล้วแบ่งราชสมบัติให้ครองครึ่งหนึ่ง”

“แหม ดีจัง ใจดี” จันทร์เจ้าชอบใจ

“แต่อยู่ได้ปีหนึ่ง ก็นึกอยากบวช เลยไปบวชที่หิมวันต์

จนได้ฌานและอภิญญา

ต่อมามีนายพรานไปพบเข้าจำได้รีบไปทูลพระราชา

พระราชามาเฝ้า ทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว

เลยเชิญให้กลับไปครองราชสมบัติ แต่พระโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธ

ขอให้พระบิดาครองสมบัติต่อไป

พระราชากลับมา

แล้วเลยจับนางมเหสีที่ใส่ร้ายไปทิ้งเหวโจร”

“ทีนี้เทวดาไม่มารับแล้ว คนไม่ดี” จันทร์เจ้าต่อให้

“เออ ใช่ ตายไปเลย

ผู้หญิงคนนั้นก็ต่อมาเป็นนางจิญจมาณวิกา

ส่วนพระมหาปทุมก็คือพระพุทธเจ้า”

“นี่แหละกรรมสนอง เวลาคนไม่ดี

พอกรรมมาสนองก็ไม่มีใครมาช่วย”

จันทร์เจ้าสรุปให้แทนกังสดาล

“ใช่ เราต้องทำดี สะสมบุญไว้

เวลามีเรื่องเดือดร้อนถึงจะมีคนมาช่วย

ทำกรรมดีได้ดีนั่นเองแหละ จริงมั้ย”





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2005, 3:54 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อาจารย์สัญชัย





ปานอรุณคลานเข่าเข้าไปวางพวงมาลัยลงบนพาน

หยอดเงินใส่ตู้บำรุงวัด แล้วคลานกลับมาหาอุ่นฤดี

ซึ่งกราบพระเสร็จแล้ว นั่งคอยอยู่

ในโบสถ์สงบเงียบ วันนี้ไม่มีคนมามากนัก

พระประธานสีทององค์ใหญ่

ทอดพระเนตรอันเมตตาลงมาด้วยพระพักตร์อันสงบเย็น

ปานอรุณเงยหน้ามองนิ่งอยู่นานด้วยความรู้สึกเคารพบูชา

เธอกราบลงด้วยเบญจางคประดิษฐ์ช้าๆ ๓ ครั้ง

ทุกครั้งที่หน้าผากจรดปลายนิ้วบนพื้น

มีความตื้นตันเต็มอยู่ในหัวใจ

เมื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม

และพระอริยสงฆ์ปานประหนึ่งว่า น้ำตาจะซึมออกมาจากใจ

รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นนกตัวเล็กๆ

ที่บินฝ่าสายฝนอันหนาวเย็น จนตัวสั่นงันงก

และได้เข้ามาสู่รวงรังที่ปลอดภัยและอบอุ่น

กราบเสร็จแล้ว ก็ยังคงนั่งมองพระพุทธรูปอยู่เป็นนาน

จนกระทั่ง อุ่นฤดี กระเถิบเข้ามาใกล้และกระซิบถาม

“ข้างหน้ามีพระพุทธรูปยืน ๒ องค์ นี้คือใครรู้มั้ย”

ปานอรุณพยักหน้า

“องค์ทางขวา คือพระอัครสาวกเบื้องขวา คือ พระสารีบุตร

อีกองค์คือพระอัครสาวกเบื้องซ้าย คือพระมหาโมคคัลลานะ”

“เป็นอัครสาวก คล้ายๆ คำว่าผู้ช่วยในสมัยนี้หรือเปล่า”

อุ่นฤดีถาม ปานอรุณหัวเราะเบาๆ

“ถ้าสมัยนี้พระพุทธเจ้าเป็นประธาน

พระอัครสาวกก็เป็นรองประธาน นั่นแหละ”

“แสดงว่า ท่านคงจะบวชก่อนเป็นรุ่นแรกๆ” อุ่นฤดี เดา

“ไม่ใช่หรอก ตอนท่านมาบวชมีพระเยอะแยะแล้ว

แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ให้ใครเป็นรองประธาน

รอจนสองท่านนี้มา

พอพระพุทธเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นก็เอ่ยเลยว่า

อัครสาวกของเรามาแล้ว”

“ทำไมอย่างนั้นล่ะ” อุ่นฤดีสงสัย

“เพราะว่าท่านทั้งสองเคยอธิษฐานตั้งความปรารถนามาในชาติก่อนๆ

ว่าจะขอมาเป็นพระอัครสาวก จึงได้เป็น

เรื่องนี้เหล่าพระทั้งหลายก็ท้วงถามเหมือนกัน

ว่าทำไมไม่ให้พระที่บวชก่อนเป็น อย่างเช่น ท่านโกณฑัญญะ

พระพุทธเจ้าทรงอธิบายว่าแต่ละคนเขาได้ตำแหน่งกันไปตามที่เคยตั้งความปรารถนาไว้ดีแล้ว

และเหมาะแก่บารมีของตนแล้ว”

อุ่นฤดีอยากฟังเรื่องประวัติความเป็นมาของท่านทั้งสอง

ปานอรุณจึงเล่าให้ฟัง





“เดิมท่านพระสารีบุตรชื่อ อุปติสสะ

พระมหาโมคคัล-ลานะชื่อ โกลิตะ เป็นเพื่อนรักกัน

เป็นคนรวยทั้งสองคน

พ่อของอุปติสสะเป็นผู้ใหญ่บ้านในอุปติสสคาม

ส่วนพ่อของโกลิตะเป็นผู้ใหญ่บ้านในโกลิตคาม

สองตระกูลนี้สนิทกันมา ๗ รุ่นแล้ว

ท่านอุปติสสะ กับท่านโกลิตะ ก็สนิทกัน

เป็นเพื่อนเรียนกันด้วย ชอบไปดูละครด้วยกันบ่อยๆ

ก็เที่ยวไปเหมือนคนหนุ่มทั่วไป

แต่วันหนึ่ง อุปติสสะมีอาการแปลกไป

คือดูละครแล้วนั่งเฉย เหมือนคิดอะไรที่ลึกซึ้ง

โกลิตะจึงถาม ท่านตอบว่า ข้าพเจ้าคิดอยู่ว่า

คนเหล่านี้ไม่ถึงร้อยปีก็ตายกันหมด

จะเพลิดเพลินอะไรกันอยู่ เราน่าจะแสวงหาโมกขธรรม

โกลิตะบอกว่า เราคิดอย่างนั้นเหมือนกัน

เราออกแสวงหาโมกขธรรมกันเถอะ”

อุ่นฤดี แทรกขึ้นว่า “โมกขธรรมคืออะไรจ๊ะ”

“คือธรรมอันเป็นทางให้พ้นทุกข์จ้ะ แล้วสองคนก็เลยออกบวช

ไปบวชในสำนักอาจารย์สัญชัยปริพาชก

เป็นอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหามากในสมัยนั้น”

“อ้อ ยังไม่พบพระพุทธเจ้า” อุ่นฤดีเอ่ย

“ยัง เรียนกับอาจารย์สัญชัยไป ๒-๓ วันจบแล้ว”

อุ่นฤดีหัวเราะเบาๆ ปานอรุณเล่ายิ้มๆ

“ก็เลยออกไปเที่ยวแสวงหาต่อ ใครว่าที่ไหนมีบัณฑิต

ทั้งสองก็ไปถกปัญหาด้วย ปัญหาที่บัณฑิตถามมา

ท่านตอบได้หมด แต่พอถามกลับบัณฑิตตอบไม่ได้

ก็เที่ยวไปทั่วชมพูทวีปเลย แต่ไม่พบสิ่งที่แสวงหา

ในที่สุด เลยกลับมาสำนักอาจารย์สัญชัยอีก แล้วบอกกันว่า

ใครได้บรรลุธรรมก่อน ให้มาบอกกัน”

“พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหนเหรอตอนนั้น” อุ่นฤดีถาม

“ทรงอยู่กรุงราชคฤห์ วัดเวฬุวัน ซึ่งพระเจ้าพิมพิสาร

สร้างถวาย

วันหนึ่ง พระสาวกหนึ่งในปัญจวัคคีย์ คือพระอัสสชิ

ออกบิณฑบาต เช้าวันนั้นอุปติสสะออกแต่เช้าเหมือนกัน

ได้เห็นพระอัสสชิมีกิริยาสงบสำรวม น่าเลื่อมใส ก็คิดว่า

นักบวชอย่างนี้ เราไม่เคยพบเลย

คงจะเป็นรูปหนึ่งรูปใดในบรรดาผู้บรรลุแล้วซึ่งอรหัตผล

ทำยังไงจะเข้าไปสอบถามได้

เขาคิดว่าเวลานี้ยังไม่ควร เพราะกำลังบิณฑบาต

จึงติดตามไปข้างหลัง เห็นพระเถระได้อาหารพอสมควรแล้ว

เตรียม จะไปหาที่นั่งฉัน เขาก็เข้าไปดูแลจนฉันเสร็จ

รินน้ำถวายแล้ว ได้โอกาสจึงถามว่า

“ท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง

ท่านบวชอุทิศใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน

ท่านชอบใจธรรมของใคร”

พระอัสสชิ คิดว่า

ปกติ ปริพาชกย่อมเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพระพุทธศาสนา

เราจะแสดงความซึ้งในพระศาสนาแก่ปริพาชกนี้

ท่านได้กล่าวถ่อมตนก่อนว่า

“ผู้มีอายุ ข้าพเจ้ามาสู่ธรรมวินัยนี้ไม่นานนัก

ยังเป็นผู้ใหม่อยู่

ข้าพเจ้าไม่สามารถแสดงธรรมอย่างละเอียดได้”

อุปติสสะเรียนว่า

“ข้าพเจ้าชื่อ อุปติสสะ

ขอพระผู้เป็นเจ้าจงกล่าวธรรมตามสามารถเถิด

จะน้อยหรือมากไม่สำคัญ

การจะเข้าใจธรรมนั้นเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าต้องการแต่ใจความเท่านั้น”

“แหม ประทับใจ

คนสมัยนี้มีแต่ว่าจะให้อาจารย์ป้อนข้อมูลให้หมด

ยังกะตัวเองเป็นกล่องคอมพิวเตอร์

แล้วยังให้ป้อนความเข้าใจด้วย พอตัวเองไม่เข้าใจ โทษครู

แทนที่จะโทษตัวเอง”

“แต่ครูก็ต้องให้ความเข้าใจได้ก่อนด้วย

ครูบางคนสอนไม่เข้าใจก็มี มันต้องช่วยกันและกัน”

ปานอรุณให้ความเห็นแล้วเล่าต่อ

“พระอัสสชิจึงแสดงหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาทั้งปวง

อันรวมเอาหลักอริยสัจและปฏิจจสมุปบาทไว้ด้วย

หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หลักแห่งเหตุผล โดยกล่าวว่า

“สิ่งใดมีเหตุเป็นแดนเกิด

พระตถาคตตรัสเหตุแห่งสิ่งนั้นไว้ด้วย

ความดับทุกข์อันใดมีอยู่

พระตถาคตตรัสเหตุแห่งการดับทุกข์นั้นไว้ด้วย

พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้

พระศาสดาทรงแสดงเหตุแห่งทุกข์ (คือสมุทัย)

และเหตุแห่งความดับทุกข์ (คือมรรค) ท่านแสดงอริยสัจ ๔

โดยย่อด้วยพระคาถานี้”

(พูดให้ง่ายขึ้นคือ ทุกข์เกิดจากเหตุ

พระพุทธเจ้าตรัสบอกเหตุที่เกิดทุกข์

และวิธีดับทุกข์ไว้ด้วย)

อุปติสสะฟังเพียง ๒ บทต้นเท่านั้น

ก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน เมื่อพระเถระกล่าวจบลง

เขาเรียนว่า

ท่านไม่ต้องขยายธรรมเทศนามากกว่านี้แล้ว

ข้าพเจ้าอยากทราบว่า พระศาสดาประทับที่ใด

พระอัสสชิบอกว่าอยู่วัดเวฬุวัน

อุปติสสะบอกว่าจะไปหาเพื่อนก่อน เพราะสัญญากันไว้

แล้วจะพาไปหาพระพุทธเจ้า แล้วเขาก็รีบไปหาโกลิตะ

โกลิตะพอเห็นเพื่อนเดินมา หน้าผ่องเชียว

รู้เลยว่าพบธรรมดีแล้วแน่ๆอุปติสสะบอกข้อธรรมที่พระอัสสชิกล่าวโกลิตะ

ก็บรรลุเป็นพระโสดาบันเลยเหมือนกัน”

“โอ้โฮ ช่างเก่งอะไรอย่างนี้” อุ่นฤดีอุทาน “มิน่าเล่า

ถึงได้เป็นพระอัครสาวก”

“แต่ทั้งสองก็ยังแวะไปชวนอาจารย์สัญชัยนะให้ไปด้วยกัน

แต่อาจารย์ไม่ยอมไป บอกว่าเป็นอาจารย์คนอื่นแล้ว

มีลูกศิษย์มากมาย จะไปเป็นลูกศิษย์คนอื่นอีกได้ยังไง

แล้วก็ถามว่า โลกนี้คนโง่กับคนฉลาดอย่างไหนมีมากกว่ากัน

ทั้งสองตอบว่า คนโง่มากกว่า

อาจารย์สรุปว่า ขอให้พวกฉลาดๆ ไปหาพระพุทธเจ้าเถิด

คนโง่จงมาหาเรา

พอเห็นว่าชวนไม่สำเร็จ สองคนก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

มีลูกศิษย์คนอื่นๆ ตามกันมาเกือบหมดเลย

อาจารย์สัญชัยเห็นแล้วเสียใจ อาเจียนเป็นเลือดเลย

ลูกศิษย์เห็นก็สงสารเลยกลับมาเสียบ้างก็มี”

“พอไปหาพระพุทธเจ้า

ท่านก็ทักว่าเป็นอัครสาวกของท่านเลยใช่มั้ย” อุ่นฤดีถาม

“ใช่ ท่านตรัสอย่างนั้น แต่ยังไม่ได้แต่งตั้งทันทีหรอก

เมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วนั่นแหละ จึงแต่งตั้ง”

“อ้าว ไม่สำเร็จทันทีเหรอ” อุ่นฤดีสงสัย

“ไม่หรอก พอขบวนทั้งท่านอุปติสสะ โกลิตะมาถึง

พระพุทธเจ้าท่านทรงเทศนามุ่งเอาอุปนิสัยของบริวารที่ตามมาก่อน

พอจบเทศนา บริวารทั้งหxxx็สำเร็จอรหัตผล

แต่สองท่านนี้ยัง เพราะอะไร

ท่านว่าสาวกบารมีญาณเป็นของใหญ่ ต้องมีคุณมากมาย

เปรียบเหมือนการเสด็จของพระราชา

ย่อมต้องมีการเตรียมการมากกว่าสามัญชน

อีกอย่างคนมีปัญญามาก ย่อมไตร่ตรองมาก

ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ตรองเห็นเหตุผลแล้วจึงเชื่อ”

“อ๋อ เข้าใจแล้วจ้ะ” อุ่นฤดีคลายใจ





“หลังบวชแล้ว อุปติสสะได้นามใหม่ว่า พระสารีบุตร

คือลูกของพราหมณีชื่อสารี ส่วนโกลิตะได้นามใหม่ว่า

โมคคัลลานะ เพราะเป็นลูกของพราหมณีชื่อ โมคคัลลี

“พระโมคคัลลานะบวชได้ ๗ วัน

ไปทำความเพียรที่บ้านกัลลวาลมุตตะ อยู่ในแคว้นมคธ

ท่านเป็นคนที่ชอบง่วง

พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมเกี่ยวกับการบรรเทาความง่วง

แสดงธาตุกรรมฐาน จนพระโมคคัลลานะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์”

“แสดงว่า พระสารีบุตรยัง” อุ่นฤดีคะเน

“ยัง พระสารีบุตรบวชได้ ๑๕ วัน

ไปอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตากับพระพุทธเจ้าบนเขาคิชฌกูฏ

วันนั้นท่านกำลังถวายงานพัดพระพุทธเจ้าอยู่

มีหลานชายเป็นปริพาชกชื่อทีฆนข แปลว่าเล็บยาว

มาเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมชื่อ เวทนาปริคหสูตร

เป็นสูตรว่าด้วยการกำหนดเวทนา ให้แก่ทีฆนข

ตอนนั้น พระสารีบุตรก็พลอยฟังไปด้วย

ส่งใจไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนา

ได้บรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันต์”

“ดีจังนะ ฟังเทศน์คนอื่น ตัวเองก็ได้ด้วย”

อุ่นฤดีชื่นใจ

“บ่ายวันนั้นเอง

พระพุทธเจ้าจึงทรงประกาศให้ทั้งสองเป็นอัครสาวก”

“น่าเสียดาย อาจารย์สัญชัยไม่มา” อุ่นฤดีพูดคล้ายบ่น

“ถ้ามาอาจจะได้เป็นพระอรหันต์ไปด้วย”





“พระสารีบุตรเล่าเรื่องอาจารย์สัญชัยให้พระพุทธเจ้าฟังเหมือนกัน

ตรัสว่า สัญชัยถือสิ่งที่ไม่เป็นสาระเอามาเป็นสาระ

แต่กลับถือสิ่งที่เป็นสาระว่าไม่มีสาระ

เพราะมีมิจฉาทิฏฐิ คือมีความเห็นในทางที่ผิด

ทำให้ไม่อาจพบสิ่งที่เป็นสาระได้

ส่วนเธอทั้งสองเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่าเป็นสาระ

สิ่งไม่เป็นสาระก็ว่าไม่เป็นสาระ

อย่างนี้มีความคิดที่ถูก

ทำให้สามารถพบสิ่งที่เป็นสาระได้”

“จริงนะ คนเราบางทีเรื่องไม่เป็นเรื่อง

ก็จับเอามาให้เป็นเรื่องเป็นราวกันใหญ่โต

แต่บางเรื่องที่ดีที่จริงจัง กลับมองข้ามไปเสียนี่”

อุ่นฤดีคล้อยตามคำสอน

ปานอรุณพยักหน้ารับ “ความคิดเป็นสิ่งสำคัญ

ท่านว่าความคิดนำโลกไป ใครจะทำดี ทำชั่ว

มันเริ่มที่ความคิดก่อน ดังนั้น เราจึงควรระวังความคิด

ต้องคิดแต่สิ่งที่ดีที่เป็นกุศล

ถ้าเริ่มคิดอกุศลต้องหยุดคิดทันที เตือนตัวเองให้ทัน

แล้วคิดสิ่งที่เป็นกุศลต่อไป

จึงจะนำชีวิตให้อยู่ในทางที่ดีได้ แล้วจะนำความสุขมาให้”





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2005, 3:55 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระติสสะ





เกริกภพ พาภรรยาและลูกสาวลงไปเล่นน้ำในสระหน้าโรงแรม

น้ำกำลังอุ่นดี

เกริกภพดำน้ำแล้วโผล่พรวดขึ้นมาจ๊ะเอ๋กับดีดี

ลูกสาวซึ่งนั่งอยู่ริมสระ ดีดีหัวเราะชอบใจ

และขอให้พ่อพาไปเล่นสไลเดอร์

ชิดชื่นว่ายไปที่อ่างน้ำวน แล้วเข้าไปนั่ง

ให้สายน้ำที่พุ่งๆ ด้วยแรงดันของลมนั้นช่วยนวดเอว

เธอนั่งสบายอยู่อย่างนั้น จนสองคนพ่อลูกวิ่งกลับมา

แล้วว่ายมานั่งรวมกันที่อ่างน้ำวนด้วย

“ลูกมานั่งฝั่งนี้ซีจ๊ะ แดดจะได้ไม่เข้าตา”

ชิดชื่นจูงลูกเดินข้ามมา

“แดดร้อน เดี๋ยวคุณพ่อปิดพระอาทิตย์ให้”

เกริกภพยกมือขึ้นปิดพระอาทิตย์ ดีดีมองตามด้วยความสนใจ

ครู่ใหญ่ก็หัวเราะเอิ๊กอ๊าก “คุณพ่อปิดพระอาทิตย์ไม่ได้”

เกริกภพยิ้ม “สงสัยเครื่องพ่อเสียน่ะลูก

วันก่อนยังปิดได้อยู่เลยนี่นา เอ๊ ทำไมปิดไม่ได้”

ดีดียังคงหัวเราะ “คุณพ่อโม้” แล้วหันไปคุยกับแม่

“คุณแม่ขา ใครปิดพระอาทิตย์ได้ เรียกมาซ่อมพ่อที

เครื่องคุณพ่อเสีย”

ชิดชื่นหัวเราะ ทำท่านึกๆ อยู่ครู่หนึ่ง

“มีอยู่คนหนึ่งนะ คงจะปิดได้

ในนิทานนี่เขาหยุดพระอาทิตย์ไว้ไม่ให้ขึ้นล่ะ

ตอนเช้าพระอาทิตย์ไม่ขึ้น”

“โหย ก็มืดตึ๊ดตื๋อซีคะ” ดีดีเริ่มสนใจ “ใครคะคุณแม่

คุณแม่เล่านิทานให้ดีดีฟัง”

เกริกภพปีนขึ้นไปนอนเหยียดบนขอบอ่างน้ำวน

ตัวของเขาจึงแช่น้ำอยู่ครึ่งหนึ่ง และตากแดดครึ่งหนึ่ง

“เขาชื่อนารทะจ้ะ” ชิดชื่นบอกดีดี

“แล้วทำไมเขาถึงไม่ให้พระอาทิตย์ขึ้นล่ะคะ” ดีดีสงสัย

“เพราะว่าเขาต้องการจะช่วยคนคนหนึ่งไว้

เรื่องเป็นอย่างนี้จ้ะ คือมีดาบสรูปหนึ่งชื่อเทวละ”

“ดาบสคืออะไรคะคุณแม่” ดีดีไม่รู้จัก

“ดาบสคือนักบวช เทวละนี่เขาอยู่ป่าหิมวันต์ ๘ เดือน

กินแต่ผลไม้ เขาเลยเข้าเมืองพาราณสีอยากจะพักอยู่สัก ๔

เดือน เพื่อจะได้กินอาหารที่มีรสชาติบ้าง

เขาก็มาขออาศัยอยู่ที่โรงทำหม้อของช่างทำหม้อคนหนึ่ง

เย็นวันเดียวกันก็มีดาบสอีกรูปหนึ่ง คือนารทะนี่แหละ

มาขอพักอยู่ที่เดียวกัน

พอถึงเวลานอน นารทะเขาก็ดูว่าเทวละเนี่ยนอนตรงไหน

เผื่อกลางคืนมืดๆ เขาจะเดินออกไปจะได้ไม่เดินไปชนเข้า

ดูเสร็จแล้วเขาก็เข้านอน

แต่พอนอนจริงๆ เทวละก็กลับไม่นอนที่เดิม

ไปนอนขวางอยู่ที่ประตู ตกดึก นารทะจะออกไป

เลยไปเหยียบเอาชฎาเข้า”

ดีดีหัวเราะชอบใจ แล้วถามว่า “ชฎา คืออะไรคะ”

“หมวกที่เขาใส่จ้ะ เขาก็ปึงปังโมโหใหญ่ ถามว่าใคร

ทำไมเหยียบชฎาของเรา นารทะบอกว่าไม่ได้แกล้ง

คิดว่านอนอยู่ตรงโน้น มานอนตรงนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่

ขอโทษด้วย

แล้วนารทะก็ออกไป”

เกริกภพ เดาเสริมว่า

“ยังงี้คงย้ายที่อีกแหงเลย

กลัวขากลับเขาจะมาเหยียบเอาอีก”

ชิดชื่นตอบว่า “ไม่ได้ย้ายที่

แค่นอนกลับหัวไปอีกทางหนึ่ง พอนารทะกลับเข้ามา

คิดว่าเทวละนอนแบบเดิม ก็ระวังแล้วนะ

ไม่รู้ว่าเขากลับหัวมาเลยเหยียบเอาก้านคอ”

ดีดีหัวเราะเอิ๊กอ๊าก “เหยียบคอเลย”

ชิดชื่นเอ็นดูลูกสาว “เทวละโกรธธธธธมากกก

ขอโทษเท่าไหร่ก็ไม่ยอมแล้ว สาปนารทะเลยว่า

ถ้าพระอาทิตย์ขึ้นเมื่อไหร่ ให้หัวของนารทะแตกเป็น ๗

เสี่ยง

ฝ่ายนารทะก็สาปมั่งว่า

ใครมีความผิดก็ขอให้หัวคนนั้นแหละ แตกเป็น ๗ เสี่ยง”

“เป็น ๗ เสี่ยง” ดีดีร้องเสียงแหลม เอามือตบน้ำแรงๆ

เหมือนตีกลอง

“นารทะเป็นคนที่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก

ระลึกชาติได้ถึง ๘๐ กัป คือในอดีต ๔๐ กัปในอนาคต ๔๐ กัป

พอสาปไปแล้วก็รู้ว่าหัวของเทวละจะแตกแน่ๆ

ก็เกิดเมตตาขึ้นมา

เลยใช้อานุภาพห้ามพระอาทิตย์ไม่ให้ขึ้น”

“มืดตึ๊ดตื๋อ” ดีดีร้องดัง

“ทีนี้พอพระอาทิตย์ไม่ขึ้น ชาวบ้านก็เดือดร้อน

พากันไปเฝ้าพระราชา พระราชาว่า เอ๊

เราไม่ได้ทำอะไรบกพร่องนี่นา

จะเกิดแบบนี้ได้ยังไงสงสัยมีใครที่มีฤทธิ์ทะเลาะกันแน่ๆ

เลย”

“นารทะทะเลาะกับเทวละค่ะ” ดีดีตอบ เกริกภพหัวเราะ

“ใช่แล้ว” ชิดชื่นตอบรับ “พระราชาเลยไปดู

แล้วก็ถามนารทะว่าจะแก้ไขยังไง

นารทะบอกว่าต้องให้เทวละขอโทษก่อน จึงจะพ้นคำสาปได้

พระราชาขอให้เทวละขอโทษ แต่เทวละไม่ยอม

พระราชาสั่งให้จับเทวละหมอบลงแทบเท้าของนารทะ”

“แหม ผิดแล้วยังไม่ยอมขอโทษอีก” ดีดีทำเสียงงอนๆ

เกริกภพสอนว่า “ดีดีทำผิดแล้ว ต้องรีบขอโทษนะลูก

อย่าทำเหมือนเทวละ”

“ดีดีขอโทษค่ะ”

ชิดชื่นกอดลูกสาวทีหนึ่ง แล้วเล่าต่อ

“นารทะทูลพระราชาว่า

ขอโทษแบบไม่เต็มใจนี่ไม่พ้นคำสาปหรอก แต่เขาเมตตานะลูก

เขาออกอุบายให้ว่า ให้เอาเทวละลงไปแช่ในสระน้ำ

แล้วให้เอาดินเหนียวพอกหัวไว้ พอท่านคลายฤทธิ์

พระอาทิตย์จะขึ้นมา ก็ให้เทวละดำน้ำหนีไป

เทวละก็ทำตาม พอนารทะคลายฤทธิ์ พระอาทิตย์ขึ้นมา

เทวละรีบดำไปที่อื่น

ส่วนดินเหนียวที่อยู่ตรงนั้นก็แตกเป็น ๗ เสี่ยง”

“แตกโพละเลย” ดีดีตีน้ำแตกกระจาย

เกริกภพกลิ้งตัวลงน้ำ เข้าไปกอดลูกไว้

“ฟังนิทานจบแล้ว สนุกมั้ย”

“สนุกค่ะ เครื่องคุณพ่อหายเสียยัง ดีดีร้อน”

เกริกภพหัวเราะ ส่ายหน้า “เครื่องคุณพ่อไม่มีแล้วจ้ะ

โยนทิ้งไปเมื่อกี้นี้ มันเสียบ่อย

ไปเล่นสไลเดอร์อีกมั้ยลูก จะได้ลืมร้อน”

“เล่นสไลเดอร์ค่ะ” ดีดีลุกขึ้นยืน พลางกางแขน

อ้อนให้คุณพ่ออุ้มไปเล่นสไลเดอร์





เกริกภพพาครอบครัวออกไปกินอาหารที่ร้านชายทะเล

เป็นวันที่ผู้คนไม่พลุกพล่านมากนัก ลมพัดเย็นสบาย

“มืดๆ อย่างนี้

นารทะปิดพระอาทิตย์ไว้หรือเปล่าคะคุณแม่” ดีดีถาม

ที่ชายฟ้าสุดขอบทะเลฟากโน้น

มีแสงไฟจากเรือหาปลาเกาะราวฟ้าอยู่เรียงราย

“ไม่ใช่หรอกจ้ะ นี่เป็นธรรมชาติ

ตอนนี้เป็นเวลาที่พระจันทร์ต้องทำงานแทนพระอาทิตย์”

เกริกภพบอกลูก

“เทวละดื้อจังนะคะคุณแม่ ทำผิดแล้วยังดื้ออีก

ดีดีไม่ดื้อ”

“ดีแล้วจ้ะลูก เด็กดื้อไม่น่ารักหรอก”

“เทวละดำน้ำไปไหนเหรอคะคุณแม่” ดีดีถามอีก

“ก็หนีไปเลย ไม่ต้องหัวแตกแล้วนี่จ๊ะ

แต่เขาดื้ออย่างนี้แหละ

ตายแล้วไปเกิดใหม่ก็ยังดื้ออยู่อีก”

“คุณแม่เล่า คุณแม่เล่า” ดีดีร้อง เกริกภพหัวเราะเบาๆ

รู้ว่าคุณแม่โดนให้เล่านิทานอีกแล้ว ชิดชื่นจึงเล่าว่า

“เทวละมาเกิดใหม่ เป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า ชื่อติสสะ

เขามาบวชกับพระพุทธเจ้าตอนที่เขาแก่แล้ว

เขาเป็นคนที่ชอบห่มจีวรสวยๆ รีดเรียบๆ

แล้วชอบไปนั่งวางภูมิอยู่ที่โรงฉัน

ที่มีกุฏิพระหลายหลังล้อมรอบอยู่”

“นั่งวางภูมินั่งยังไงคะ คุณแม่” ดีดีไม่รู้จักคำนี้

“ก็นั่งทำท่าเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนมีความรู้ดี อย่างนี้ไง”

เกริกภพทำท่าเคร่งขรึม วางมาดเท่ ดีดีหัวเราะ

“เขานั่งอยู่อย่างนั้นบ่อยๆ วันหนึ่ง

ก็มีพระจากที่อื่นเป็นแขกมาเฝ้าพระพุทธเจ้า

ผ่านมาเห็นพระติสสะนั่งภูมิฐานอยู่

ก็คิดว่าเป็นพระผู้ใหญ่ จึงเข้าไปทำความเคารพ

และปรนนิบัติ”

“คืออย่างนี้นะลูก” เกริกภพอธิบาย

“พระเขามีระเบียบวินัยว่า

พระบวชทีหลังต้องไหว้พระที่บวชก่อน

แล้วเวลาพระที่บวชน้อยปีกว่า เวลาเจอพระผู้ใหญ่กว่า

ต้องเอื้อเฟื้อดูแลท่าน ต้องถามว่า จะต้องการน้ำดื่มมั้ย

เดินทางมาปวดเมื่อยมั้ย อยากให้นวดมือนวดเท้ามั้ย

อะไรอย่างนี้แหละ”

ดีดีตั้งใจฟัง มองพ่อตาแป๋ว ชิดชื่นเล่าต่อว่า

“พระติสสะนั่งเฉยๆ พระรูปหนึ่งถามว่า

ท่านบวชได้กี่พรรษาแล้ว กี่พรรษาก็คือกี่ปีแล้วนะลูก

ท่านตอบว่ายังบวชได้ไม่ถึงปีเลย พระรูปนั้นเลยต่อว่า

บอกขรัวตานี่ฝึกยาก เห็นพระเถระผู้ใหญ่มา ทำนั่งเฉย

ไม่ทำสิ่งที่ควรทำ อย่างที่พ่อบอกเมื่อกี้น่ะลูก

ไม่แสดงความเคารพ ไม่ถามว่าจะต้องการน้ำมั้ย

จะให้นวดมือนวดเท้ามั้ย

พระติสสะก็โกรธธธธ โดนว่าเข้าโกรธใหญ่

แล้วถือตัวด้วยว่าเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า

ถามพระเหล่านั้นว่า ท่านมาหาใคร พวกพระตอบว่า

มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระติสสะออกเสียงไว้อำนาจ บอกว่า

ท่านรู้มั้ยว่าข้าพเจ้าคือใคร

แล้วพาพระเหล่านั้นไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

ไปถึงก็ร้องไห้

ฟ้องพระพุทธเจ้าว่าพระกลุ่มนี้มาว่าข้าพเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงถามความเป็นจริงทั้งหมด

แล้วไม่เข้าข้างพระติสสะ เพราะอะไรจ๊ะ”

ชิดชื่นถามลูก ดีดีนั่งคิดแล้วตอบว่า

“เพราะพระติสสะทำผิดเอง”

“เก่งมากลูก ถูกแล้ว ท่านทำผิดพระพุทธเจ้าก็ไม่เข้าข้าง

ไม่ใช่ว่าพอใครเป็นพระญาติแล้วจะถูกต้องไปซะทั้งหมด

พระพุทธเจ้าก็ให้พระติสสะขอโทษ”

“ไม่ขอโทษ เป็นเทวละก็ไม่ขอโทษ” ดีดีร้อง

ยังจำเรื่องเทวละได้ เกริกภพหัวเราะเบาๆ เลียนเสียงลูก

“ไม่ขอโทษ ไม่ขอโทษ”

ชิดชื่นพยักหน้ารับ “ใช่ ไม่ขอโทษ

พระเหล่านั้นจึงทูลว่า พระติสสะหัวดื้อ ว่ายากสอนยาก

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระติสสะไม่ใช่แค่ดื้อว่ายาก

ตอนเป็นเทวละก็เป็นคนว่ายากเหมือนกัน

แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงเล่าเรื่องเทวละให้พระเหล่านั้นฟัง

เหมือนที่คุณแม่เล่าเมื่อตอนเย็นนั่นแหละจ้ะ”

ดีดีพยักหน้าเป็นเชิงว่ารู้แล้ว

“แล้วพระพุทธเจ้าจึงสอนพระติสสะว่า

ถ้าคอยคิดว่าคนโน้นฆ่าเรา คนนี้ชนะเรา คนนี้ขโมยของเรา

คิดอย่างนี้ก็จะเป็นเวรต่อกันไปเรื่อย ไม่อาจหยุดลงได้

ถ้าใครไม่คิดอย่างนั้น เวรของเขาจึงจะหยุดลงได้”

เกริกภพ ลูบหัวลูกสาว

“คือท่านให้เราไม่คอยจ้องจับผิดคนอื่นนะลูก

ให้เรามีเมตตา รู้จักให้อภัยคนอื่น ดีดีรู้จักขอโทษแล้ว

ต้องรู้จักยกโทษให้คนอื่นด้วย”

“ดีดียกโทษ” ดีดีพูดตามพ่อ

แม้จะไม่ค่อยเข้าใจนักว่ายกโทษนั้นคืออะไร ยกยังไง

จะหนักมั้ยเวลายก แต่ดีดีเชื่อพ่อ ถ้าพ่อบอกว่ายกได้

ดีดีคงจะยกขึ้นได้เอง

“อิ่มแล้ว ไปกันหรือยังคะคุณแม่ ดีดีจะนอนแล้ว”







 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2005, 3:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มัฏฐกุณฑลี





ละอองนวลกับคิมหันต์ ก้มกราบพระพุทธรูปสีทององค์ใหญ่

แสงไฟในโบสถ์ที่เปิดไว้

ฉายความงามขององค์พระให้ดูงดงามจับใจยิ่งขึ้น

พระพักตร์สงบเย็นทำให้จิตใจเป็นสุข

ดวงเนตรที่ทอดลงมาดูเปี่ยมด้วยมหากรุณา

จนละอองนวลรู้สึกเหมือนได้รับกระแสความเมตตากรุณาจากพระเนตรที่ทอดลงมา

คิมหันต์กราบเสร็จแล้ว กระเถิบมานั่งใกล้ๆ

“งดงามจริงๆ นะ น่าเลื่อมใส” คิมหันต์กระซิบเบาๆ

ละอองนวลยิ้มให้

“เลื่อมใสก็ดีแล้ว พระพุทธเจ้าสอนว่า

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงสำคัญที่ใจ ใจประเสริฐที่สุด ถ้าใจดี

ใจผ่องใส การทำการพูดก็พลอยดีด้วย ทุกอย่างสำเร็จมาจากใจ

เราเลื่อมใสพระศรัทธาพระ เราก็จะทำดีอย่างที่พระสอน

ความดีนั้นก็จะนำความสุขมาให้”

คิมหันต์ชื่นใจ ละอองนวลเล่าว่า

“รู้มั้ยว่า

เพียงแค่เราทำใจให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ยังได้ไปเกิดเป็นเทวดาเลย เคยได้ยินหรือเปล่า”

คิมหันต์ส่ายหน้า “ยังไม่เคยเลย เรื่องอะไรหรือ

เล่าให้ฟังมั่งซี จะได้รู้บ้าง”

ละอองนวลจึงเล่าเรื่องของมัฏฐกุณฑลีให้ฟัง

“มัฏฐกุณฑลี เป็นลูกชายเศรษฐี ตระกูลพราหมณ์

พ่อแม่รวยมากก็จริง แต่พ่อขี้เหนียวมากเลย

จนใครก็ให้สมญาว่า อทินนปุพพกะ แปลว่า ไม่เคยให้อะไรใคร

แต่เขาก็ยังอุตส่าห์ให้ตุ้มหูลูกนะ

เขาเอาทองมาตีแผ่ทำตุ้มหูเกลี้ยงๆ ให้ลูกคู่หนึ่ง

ชาวบ้านก็เลยเรียกเด็กคนนี้ว่า มัฏฐกุณฑลี

แปลว่ามีตุ้มหูเกลี้ยง ตุ้มหูนี่ก็พ่อตีเอง

เพราะจ้างช่างตีมันเสียเงิน”

คิมหันต์หัวเราะเบาๆ นิ่งฟัง

“พออายุ ๑๖ ลูกชายป่วยหนัก แม่บอกให้พ่อไปหาหมอมา

พ่อไม่ยอม กลัวเสียตังค์ ได้แต่ไปถามหมอว่า

เวลาคนเป็นอย่างนี้ๆ มา หมอจัดยายังไง

เสร็จแล้วตัวเองก็ไปหารากไม้ใบไม้อย่างที่หมอบอกมาทำเองให้ลูกกิน”

“โอย เสี่ยงกับชีวิตลูกเลย เสียเงินจะเท่าไหร่เชียวหรือ

ไหนว่าเป็นเศรษฐี” คิมหันต์ต่อว่าเศรษฐี

“ก็จนทรุดมากนั่นแหละจ้ะ พ่อถึงยอมไปหาหมอ

แต่หมอเห็นแล้วก็ไม่รับรักษา เพราะรักษาไม่ไหวแล้ว

บอกให้ไปหาคนอื่นเถอะ

พราหมณ์รู้ว่าลูกตัวเองต้องตายแน่ๆ กลัวคนมาเยี่ยม

จะเห็นทรัพย์สมบัติ

ช่วยกันหามลูกชายออกมานอนที่ระเบียงนอกห้อง”

“โอย อะไรจะขนาดนั้น เหลือเชื่อเลยนะเนี่ย”

คิมหันต์ร้องเบาๆ

“พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์ทั้งหลายในตอนเช้าตรู่

เห็นมัฏฐกุณฑลี จึงเสด็จมาโปรด

ตอนที่เสด็จมาถึง เด็กหนุ่มกำลังนอนตะแคง

หันหน้าเข้าฝาบ้าน

พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าเขาไม่เห็นพระองค์

จึงทรงเปล่งพระรัศมีไปวาบหนึ่ง เขาคิดว่า

“เอ๊ แสงอะไรนะ”

แล้วหันหน้าออกมาดู เห็นพระพุทธเจ้า ก็คิดว่า

เพราะพ่อเราเป็นอันธพาล ไม่ได้ถวายทาน ไม่ได้ฟังธรรม

เราเลยไม่เคยได้เฝ้าพระพุทธเจ้าไปด้วย มาตอนนี้

แม้แต่จะยกมือไหว้พระพุทธเจ้าเราก็ยกไม่ไหว จะทำอะไรได้

คิดอย่างนั้นแล้ว เขาก็ทำใจให้เลื่อมใสในองค์พระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงทราบว่า

เขาทำจิตให้เลื่อมใสในพระองค์แล้ว ก็เสด็จออกไป

พอลับตาเท่านั้น เขาก็ตายลงแล้วไปเกิดในวิมานทอง”

“โอ้ เป็นเทวดาไปเลยเหรอ” คิมหันต์ตื่นเต้นแปลกใจ

ละอองนวลรับคำ

“ฝ่ายพ่อ

พอทำศพลูกชายเสร็จแล้วก็ไปยืนร้องไห้ที่ป่าช้าทุกวันเลย

ว่าลูกชายอยู่ไหน มาหาพ่อเถอะ”

คิมหันต์ทำค้อนหล่นจากสายตาด้วยความหมั่นไส้





“เทพบุตรมัฏฐกุณฑลี เป็นเทวดาแล้ว พิจารณาว่า เอ๊

วิมานนี่ได้มายังไง เลยรู้ว่า อ๋อ

เพราะทำใจเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า

มองลงมาเห็นพ่อยืนร้องไห้ที่ป่าช้า ก็สงสารอยากจะช่วย

เขาเลยแปลงกายเป็นคนมายืนร้องไห้อยู่ใกล้ๆ

พ่อได้ยินเสียงคนร้องไห้ จึงเข้าไปถาม บอกว่าพ่อหนุ่ม

แต่งกายคล้ายลูกชายข้า มาร้องไห้นี่มีทุกข์อะไร

“ท่านเล่ามีทุกข์อะไร” ชายหนุ่มถาม

“ข้าพเจ้าทุกข์ถึงลูกชายที่ตายไป”

“ข้าพเจ้ามีรถคันหนึ่ง” ชายหนุ่มบอก “เป็นรถทองคำล้วน

สวยมาก แต่ยังหาล้อรถไม่ได้ ทุกข์ใจมาก”

เศรษฐีตกตะลึง พอบอกว่าเป็นรถทองคำ แล้วก็บอกว่า

“พ่อหนุ่ม จะต้องการล้อเงินหรือล้อทอง หรือแก้วมณีอะไร

เราจะจัดหามาให้ท่าน”

ชายหนุ่มคิดว่า ดูสิ ตอนเราป่วยจะตาย

ไม่ยอมเสียเงินค่าหมอนิดหน่อย ตอนนี้เห็นเรามีรถทอง

จะยอมจ่ายล้อทองให้ คิดแล้วก็แกล้งพูดว่า

“ไม่มีอะไรเหมาะกับรถของข้าเท่ากับดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์

ถ้าได้มาเป็นล้อละก็เยี่ยมที่สุด”

พราหมณ์คิดว่าชายหนุ่มคนนี้บ้า เขาพูดว่า

“ท่านต้องการในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ท่านโง่เขลาเหลือเกิน ตายแล้วเกิดอีกเท่าไหร่

ก็เอาดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์มาทำล้อไม่ได้หรอก”

ชายหนุ่มย้อนว่า แต่เรายังอยากได้ในสิ่งที่เห็นได้อยู่

ท่านซีร้องไห้คร่ำครวญในสิ่งที่ใครๆ ก็มองไม่เห็น

ท่านว่าใครโง่กว่าใคร” พราหมณ์ก็เลยได้สติว่า เออใช่

เราสิต้องการในสิ่งที่มองไม่เห็น

แล้วก็ไม่เคยมีใครเรียกคืนมาได้”

คิมหันต์เห็นด้วย “แหม เทวดาฉลาดจัง”





“พราหมณ์ก็พูดชมเชยว่า ตัวเองเร่าร้อนนักหนา

ได้ชายหนุ่มมาให้ความเห็นทำให้เย็นลง

ความเศร้าโศกถึงลูกชายก็คลายลงด้วย แล้วถามว่าเขาเป็นใคร

เขาจึงเฉลยว่าคือลูกชายของพราหมณ์นั่นเอง

ได้ทำกุศลก่อนตายเลยไปเกิดเป็นเทวดา

พ่อก็ เอ๊ ไม่เคยเห็นลูกทำบุญทำกุศลอะไรเลย

ไปเกิดเป็นเทวดาได้ยังไง

ชายหนุ่มเล่าเรื่องที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดให้ฟัง

พ่อฟังแล้วปีติมาก ร้องว่า อัศจรรย์จริงๆ

การไหว้พระพุทธเจ้ามีผลถึงปานนี้

ข้าพเจ้าจะทำจิตให้เลื่อมใสพระพุทธเจ้าตั้งแต่วันนี้ไปทีเดียว

พราหมณ์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ปฏิญาณว่าจะรักษาศีล ให้ทาน

และเลื่อมใสในพระรัตนตรัย

แล้วทูลอาราธนาไปเสวยที่บ้านในวันรุ่งขึ้น

พระพุทธเจ้าเสด็จไปบ้านพราหมณ์ มีคนมาชุมนุมกันมาก

จะมาดูพราหมณ์ถามปัญหาพระพุทธเจ้า

เมื่อเสวยเสร็จแล้ว พราหมณ์ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า

“บุคคลไม่ได้ถวายทานแก่พระองค์ ไม่ได้บูชาพระองค์

ไม่ได้รักษาอุโบสถ

เพียงแต่ทำจิตเลื่อมใสในพระองค์อย่างเดียว

ก็ได้ไปเกิดในสวรรค์”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านถามทำไม ในเมื่อมัฏฐกุณฑลี

ได้บอกความจริงนั้นแล้ว

พราหมณ์ก็แกล้งสงสัย แกล้งถามโน่นนี่

พระพุทธเจ้าจึงทรงเล่าเรื่องที่พ่อลูกได้พบปะพูดคุยกันที่ป่าช้า

พระพุทธเจ้าทรงทราบว่า ผู้คนที่มาชุมนุมยังไม่หายสงสัย

จึงทรงอธิษฐาน ให้มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรลงมาพร้อมกับวิมาน

แล้วทรงไถ่ถาม เทพบุตรตอบความจริงทุกอย่าง

ผู้คนทั้งหลายจึงอุทานออกมาด้วยความเลื่อมใสว่า

ดูเถอะลูกชายพราหมณ์ไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย นอกจาก

ทำใจให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ยังได้สมบัติขนาดนี้

พระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณน่าอัศจรรย์แท้”

“อ๋อ” คิมหันต์เอ่ย

“ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าสิ่งทั้งหลายสำคัญที่ใจ ใช่มั้ย

เพียงใจเลื่อมใสก็นำบุญกุศล นำสุขต่อๆ มาได้”

“ใช่แล้ว พอใจเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย ก็จะคิดดี

ทำดีเสมอ จึงมีความสุขตามมา”

“สาธุ แหม ฟังแล้วชื่นใจ มีกำลังใจ ขอกราบพระอีกที

รู้สึกรักท่านจังเลย”

คิมหันต์ขยับนั่งท่าเทพธิดา

แล้วก้มกราบพระพุทธรูปอย่างนอบน้อมอีกครั้งหนึ่ง





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2005, 4:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พาหิยะ





บุษบามินตราเป็นคนขยัน

ในหนึ่งวันถ้ามีงานอะไรเป็นต้องเก็บทำให้เสร็จ

ไม่ชอบค้างไปวันรุ่งขึ้น แล้วก็มีงานทำอยู่เรื่อยๆ ด้วย

พองานหxxx็หางานใหม่ทำ

ส้มโอถามว่า “จะทำอะไรเยอะแยะไปทำไมนะแม่ดอกพุทธรักษา”

(ส้มโอชอบเรียกคำแปลชื่อของบุษบามินตรา)

บุษบามินตราเล่าว่า “ชีวิตนี้สั้นนัก

เราไม่รู้ทำบุญทำบาปอะไรมั่ง ตอนนี้เลยอยากทำอะไรดีๆ

ทำเอาไว้เยอะๆ ให้เป็นประโยชน์แก่ศาสนาและสังคม เช่น

หางานถอดเทปธรรมะมาทำบ้าง

เอาไปให้เป็นต้นฉบับแก่คนที่เขาอยากพิมพ์หนังสือธรรมะ

หรือไปช่วยงานบุญที่โน่นที่นี่

ทำตนให้เป็นประโยชน์มากที่สุดในทุกเวลานาทีที่ผ่านไป

อย่าให้เวลาสูญเปล่า เพราะไม่รู้จะตายเมื่อไหร่”

ส้มโอสะดุ้งเมื่อได้ยินตอนท้าย

“อาราย คิดเรื่องตายแล้ว ยังแข็งแรงอยู่เลย

ไม่ได้เป็นอะไรสักกะหน่อย”

“แข็งแรงก็ดี จะได้ทำอะไรได้เยอะๆ

แต่แข็งแรงไม่เกี่ยวกับเรื่องว่าตายเมื่อไหร่

คนป่วยบางทีป่วยไป ๑๐ ปีไม่ตาย

คนแข็งแรงพรุ่งนี้ก็อาจจะตายได้

พระพุทธเจ้าให้เราไม่ประมาท ให้ระลึกถึงความตายเสมอๆ

จะได้มีสติ ทำอะไรที่ถูกที่ควร” ส้มโอนั่งคิดพิจารณา

แต่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับการคิดถึง ความตาย

รู้สึกไม่เป็นมงคลกับตัวเอง บุษบามินตราบอกว่า

“การคิดถึงความตาย เป็นการไม่ประมาท รู้ความจริงว่า เออ

เราอาจจะตายเมื่อไหร่ก็ได้ จะได้รีบทำดี

ไม่ใช่ไม่เป็นมงคล ไม่ใช่การแช่งตัวเอง

แต่เป็นการปลุกสติ”

อธิบายแล้ว บุษบามินตราเล่าเรื่องพาหิยะให้ส้มโอฟัง





“พาหิยะ เป็นคนหนุ่มนะ แล่นเรือไปกลางมหาสมุทร

เจอคลื่นลมแรง เลยเรือแตก คนบนเรือจมหายไปหมด

ตัวเองเจอกระดานแผ่นหนึ่งเลยเกาะลอยมา

ในที่สุดมาถึงเมืองชื่อ สุปปารกะ

เสื้อผ้าหลุดลุ่ยตามน้ำไปหมด เลยเอาไม้แห้งผูกปอมัดๆ

ปกปิดร่างกาย แล้วหลับไปในเทวาลัย

พอตื่นขึ้นมาก็เอาจานที่คนเขาใช้ใส่ของบูชาน่ะ

ไปขออาหารชาวบ้าน

ชาวบ้านเห็นเข้าก็แตกตื่น นึกว่าเป็นพระอรหันต์

คือกล้าสละทุกอย่างไม่นุ่งผ้าทำนองนั้น

ความจริงเขาไม่ได้คิดจะหลอกใคร

แต่มีข้าวกินก็เลยปล่อยเลยตามเลย

พอคนมาเคารพบูชามากๆ เข้า ก็เผลอถามตัวเองว่า เอ

หรือเราจะเป็นอรหันต์จริงๆ

แต่จิตสำนึกยังบอกว่าไม่ใช่หรอก เราไม่ใช่อรหันต์

พระก็ไม่ได้เป็นด้วย

เขานอนคิดว่า เอ๊ะ ทำยังไงดี จะหนีไปเสียให้พ้น

หรือจะเป็นอรหันต์จริงๆ เสียเลย

ตอนนั้นข่าวของพระพุทธเจ้าแพร่ไปทั่ว

พาหิยะตัดสินใจไปเฝ้าพระพุทธเจ้า”

“ทำไมถึงตัดสินใจไปหาพระพุทธเจ้าล่ะ” ส้มโอสงสัย

“เพราะบารมีเก่าชาติก่อนมาดลใจ” บุษบามินตราตอบ

“ชาติก่อนเป็นยังไง” ส้มโอสนใจ

“ชาติก่อนตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าองค์ที่พระนามว่ากัสสป

องค์ก่อนพระพุทธเจ้าของเรานะ คราวนั้นมีพระเป็นเพื่อนกัน

๗ รูป เห็นว่าพระทั่วๆ ไปเสื่อมลงในเรื่องการปฏิบัติแล้ว

ไม่อยากอยู่ด้วย เลยชวนกันไปบำเพ็ญธรรมที่ภูเขาสูง

โดยทำบันไดพาดขึ้นไป พอขึ้นแล้วก็ผลักบันไดทิ้งเลย

กะตายบนนั้นเลยถ้าปฏิบัติไม่สำเร็จ

ปรากฏว่ามีรูปหนึ่งสำเร็จเป็นอรหันต์

อีกรูปหนึ่งสำเร็จเป็นอนาคามี ส่วนอีก ๕ รูปไม่บรรลุอะไร

เลยไม่ยอมกินอาหาร และผอมตายใน ๗ วัน ไปเกิดในเทวโลก”

“โอ้ อะไรจะปานนั้น” ส้มโอรำพึง แล้วสลบไปจิ๊กหนึ่ง

“พอมาถึงพระพุทธเจ้าของเรา ทั้ง ๕ คนก็ตายจากเทวโลก

คนหนึ่งมาเกิดเป็นพระราชานามว่า ปุกกุสาติ

คนหนึ่งเป็นพระกุมารกัสสป คนหนึ่งเป็นพระทัพพมัลลบุตร

คนหนึ่งเป็นสภิยะปริพาชก แล้วคนสุดท้ายก็คือพาหิยะ

ทารุจิริยะ คนนี้เอง”

“จำชื่อได้ไงเนี่ย เขียนให้ส้มโออ่านยังยากเลย”

ส้มโอบ่น บุษบามินตราหัวเราะ





“ต่อจากตอนแรกนะ คืนนั้นพาหิยะ เดินทางจากสุป-ปารกะ

เดินทางอย่างไม่นึกถึงความเหน็ดเหนื่อยกันละ

รีบไปเรื่อยไปสาวัตถี จะไปหาพระพุทธเจ้า

พอไปถึงก็รุ่งเช้า

ชาวบ้านบอกว่าพระพุทธเจ้ากำลังออกบิณฑบาตอยู่

เขารีบตามไปพอพบพระพุทธเจ้า ก็ลงกราบแทบพระบาทเลย

ขอร้องให้แสดงธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่า พาหิยะ

ยังไม่ใช่เวลานะ เวลานี้เรากำลังบิณฑบาต”

“ใจร้อนดีนะ” ส้มโอว่า

“รอให้พระพุทธเจ้าพักก่อนก็ไม่ได้”

“ไม่ได้ เขาใจร้อน เขาตอบว่า พระองค์ผู้เจริญ

ไม่มีใครที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏนี้แล้วจะไม่ได้รับอาหาร

แต่ที่ไม่รู้คือ

ไม่รู้ว่าอันตรายจะเกิดกับชีวิตเมื่อไหร่”

“ชีวิตใคร” ส้มโอสงสัย

“ทั้งชีวิตของพระพุทธเจ้า แล้วก็ชีวิตของพาหิยะด้วย

ไม่รู้ใครจะเป็นอะไรไปเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น

ขอพระองค์จงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้าเถิด

พระพุทธเจ้าตรัสอีกว่า พาหิยะ

เวลานี้ไม่ใช่เวลาแสดงธรรม

พาหิยะโอดครวญบอกว่า

ข้าพระองค์เดินทางมาโดยไม่ได้คิดถึงอันตรายของชีวิต

เดินทางมาตลอดคืนไม่ได้พักเลย ไม่ได้หยุดยืน ไม่ได้นั่ง

เพื่อฟังธรรมของพระองค์ ขอพระองค์แสดงธรรมเถิด

เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพระองค์ตลอดกาลนาน”

ความจริงพระพุทธเจ้า เห็นว่าพาหิยะนั้นน่ะพอได้พบ

พระองค์แล้วเกิดปีติมาก

คนที่กำลังมีปีติล้นเหลืออย่างนี้ ฟังธรรมก็ไม่บรรลุหรอก

เพราะมันตื่นเต้น มันไปอยู่ที่ดีใจเสียหมด

ท่านจึงชะลอไว้ด้วยการตรัสห้าม

ทีนี้พอพาหิยะทูลขอเป็นครั้งที่ ๓ พระองค์ก็เลยแสดงธรรม”

ส้มโอพลอยอยากรู้ตามพาหิยะไปด้วยเลยตอนนี้

“พระพุทธเจ้าตรัสว่า พาหิยะ จงสำเหนียกว่า

จงสักแต่ว่าเห็นในสิ่งที่ได้เห็น

จงสักแต่ว่าได้ยิน ในสิ่งที่ได้ยิน

จงสักแต่ว่ารู้ ในสิ่งที่ได้รู้ อันนี้คือรู้ทางจมูก

ลิ้น กาย นะส้มโอ ภาษาบาลีท่านว่า มุตเต มุตะ มัตตัง

จงสักแต่ว่ารู้ ในสิ่งที่ได้รู้ อันนี้คือรู้ทางใจ

บาลีว่า วิญญาเต มุตะ มัตตัง

พอตรัสจบนะ พาหิยะก็บรรลุเป็นพระอรหันต์เลย

ส้มโอไปถึงไหนแล้ว”

ส้มโอยิ้ม “ยังปุถุชนเต็มร้อยอยู่จ้ะ”

“พระพุทธเจ้าตรัสยกย่องว่า พาหิยะ

เป็นพระสาวกที่ตรัสรู้ได้เร็วกว่าสาวกทั้งหลาย

พอพาหิยะได้บรรลุเป็นอรหันต์แล้ว จึงขอบวชกับพระพุทธเจ้า

พระองค์จึงให้ไปหาเครื่องบริขารสำหรับบวช เขาทูลลาไป

แต่ก็ถูกโคขวิดตายก่อนจะได้บวช”

“โอยโย่ ทำไมถึงทำกับฉันด้ายยย......”

ส้มโอร้องครวญครางเป็นเพลงเก่าของดาวใจ ไพจิตร

บุษบามินตราหัวเราะ

“อ้าว มันมีที่มาที่ไปซี ไม่ใช่เรื่องบังเอิญนาเนี่ย”

“ทำไมเหรอ” ส้มโอสงสัย

“วัวตัวนั้นเป็นยักษิณีแปลงร่างมา

มาขวิดตายด้วยความแค้น มีเวรต่อกันมา จองเวรไว้

ในชาติอดีต มีลูกชายเศรษฐี ๔ คน พาหญิงโสเภณีไปเที่ยว

ก็มีความสุขกับหญิงคนนั้นไปทั้งวัน

พอตกเย็นก็กลับซุบซิบกันว่าน่าจะฆ่าหล่อนเสีย

แย่งเอาเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ และเครื่องประดับ”

“ลูกเศรษฐีเนี่ยนะ แย่งไปจะได้สักเท่าไหร่เชียว

ยิ่งแบ่งตั้ง ๔ ยังงี้ด้วย ไม่น่าเล้ย คิดสั้น”

ส้มโอบ่นยาว

“ฝ่ายโสเภณีก็คิดว่า คนพวกนี้ไม่มียางอาย

หาความสุขกับเราแล้วยังจะฆ่าเอาเงินอีก

ตอนที่ถูกฆ่านางก็เลยผูกอาฆาตไว้ว่า

ชาติต่อไปขอให้เป็นยักษิณี สามารถฆ่าตอบคนพวกนี้ได้

เวรที่ผูกไว้นี่แหละ พานางมาเกิดเป็นยักษิณี

ตามฆ่าผู้ชาย ๔ คนนี้มาหลายร้อยชาติ ๑ ใน ๔ คนนี้ก็คือ

พาหิยะของเรานี่แหละ ซึ่งเมื่อตอนที่ฆ่าโสเภณีตาย

ก็ไปตกนรกอยู่นานมากนะ พอใช้กรรมเสร็จ

ยังต้องมาถูกยักษิณีฆ่าตายอีกหลายร้อยชาติ

จ่ายหนี้เวรเสร็จแล้วแหละ

จึงจะได้กลับมารับบุญที่เคยบำเพ็ญมา

มาเกิดเป็นพาหิยะได้ฟังธรรมต่อในชาตินี้

แล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์”

“แต่ก็ใช้เวรสุดท้ายอีกหนหนึ่งก่อน” ส้มโอสรุป

“พระพุทธเจ้าก็ทรงให้ภิกษุทั้งหลาย

นำศพของพาหิยะมาทำฌาปนกิจ แล้วทำสถูป

บรรจุอัฐิธาตุไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์”

“ได้เป็นพระอรหันต์ทั้งที่ยังไม่ได้บวชเลยนะ สาธุ”

ส้มโอว่า บุษบามินตราพยักหน้า

“นี่ไง ถึงบอกว่า ให้รีบทำประโยชน์ไว้

เพราะคนเราไม่รู้จะตายเมื่อไหร่

แบบพาหิยะพูดไว้เลยว่าขอให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรม

เพราะเขาไม่รู้จะตายเมื่อไหร่”

คราวนี้ ส้มโอพยักหน้าเห็นด้วยแต่โดยดี







 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2005, 4:02 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นายมาลาการชื่อสุมน





จิ๋งนุ้ย กับจุ้มปุ้ย นั่งเรือไปปากคลองตลาด

แล้วหอบดอกไม้กลับมาหลายกําใหญ่

ด้วยเหตุที่ว่าดอกกุหลาบก็อยากได้ ดอกเบญจมาศก็อยากได้

ดอกบัวสวรรค์ก็อยากได้ ดอกสารพัดก็อยากได้ อยากได้ไปหมด

จนจิ๋งนุ้ยเริ่มปวดแขนถึงได้หยุดอยาก

กลับมาบ้านแล้ว ก็ช่วยกันจัดดอกไม้

ไม่ได้มีเทศกาลหรืองานเลี้ยงอะไร เพียงแต่เป็นวันเกิด

คือเกิดอยากจัดดอกไม้ขึ้นมา เท่านั้นเอง

จัดไปก็เม้าท์กันไปสนุกสนาน ถูกหนามตําบ้างพอประมาณ

เป็นที่รื่นรมย์

จิ๋งนุ้ยบอกว่า “พระพุทธเจ้าสอนว่า ช่างดอกไม้ที่ฉลาด

ต้องเลือกเก็บดอกไม้สวยๆ มาจัด ดอกไม่สวยทิ้งไป

เหมือนใจเราต้องเลือกสิ่งดีๆ มาไว้ในใจ

เรื่องไม่ดีทิ้งไป”

จุ้มปุ้ยถามว่า เคยรู้เรื่องของคนจัดดอกไม้ชื่อสุมนมั้ย

จิ๋งนุ้ยไม่รู้จัก จุ้มปุ้ยจึงเล่าให้ฟัง

“คนจัดดอกไม้ เขาเรียกว่านายมาลาการ

มาลาก็คือดอกไม้นั่นแหละ ช่างดอกไม้ชื่อสุมน

มีหน้าที่หาดอกมะลิวันละ ๘

ทะนานไปถวายพระเจ้าพิมพิสารทุกเช้า ได้เงินวันละ ๘

กหาปณะ”

“๘ กหาปณะนี่เท่าไหร่” จิ๋งนุ้ยถาม จุ้มปุ้ยส่ายหน้า

“ไม่รู้เหมือนกัน” หัวเราะแล้วเล่าต่อ

“วันหนึ่งก็เอาดอกไม้มาแต่เช้า เดินเข้าเมืองมา

พอดีพบพระพุทธเจ้ากําลังเสด็จเข้าเมืองมาเหมือนกัน

วันนี้พระพุทธเจ้ามีพุทธประสงค์จะโปรดนายสุมนมาลาการ

จึงทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสี คือ เปล่งพระรัศมีเสด็จไป

ทําให้นายสุมนเห็นพระพุทธเจ้าราวกับพระองค์เป็นทองคําเปล่งปลั่ง

เกิดจิตเลื่อมใสอย่างยิ่งเลย

เขาก็ตัดสินใจว่ายอมสละชีวิตแล้ว

จะเอาดอกไม้ถวายพระพุทธเจ้า ไม่เอาไปถวายพระราชาแล้ว

เขาคิดว่า พระราชาถ้าไม่ได้ดอกไม้แล้วจะฆ่าเรา

หรือเนรเทศเราก็ตาม เราจะบูชาพระพุทธเจ้าด้วยดอกไม้นี้”

“แหม” จิ๋งนุ้ยฉุน “อะไร

แค่ดอกไม้นี่จะฆ่ากันเลยเชียวรึ”

“อ้าวไม่แน่ สมัยก่อนทําอะไรหน่อยก็เป็นโทษไปหมดแหละ

คงน่ากลัวจริงๆ นา เพราะอะไรรู้มั้ย”

“อะไรเหรอ” จิ๋งนุ้ยชักจะตกใจเล็กๆ

“ก็พอแกกลับไปบ้านเล่าให้เมียฟังนะ

เมียตกใจถึงขนาดด่าว่าคนโง่ไม่รู้จักตาย

พระราชาอาจจะตัดมือตัดเท้าเสียก็ได้นะ

ว่าแล้วก็รีบเผ่นแน่บไปเฝ้าพระราชาแล้วทูลเรื่องให้ทรงทราบ”

“อ้าว ทําไมไปฟ้องซะเอง” จิ๋งนุ้ยไม่เข้าใจ

จุ้มปุ้ยหัวเราะ

“ไปฟ้องเพื่อจะบอกว่า อะไรๆ ที่สุมนทําไปก็ตาม

ไม่เกี่ยวข้องกับข้าพเจ้า เราหย่ากันแล้ว”

“อ้าว” จิ๋งนุ้ยร้องอีก “เอ๊ ได้ยังไง”

“แต่พระราชาไม่ใจร้ายหรอก

พระเจ้าพิมพิสารท่านเป็นพระโสดาบัน

เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ทรงคิดว่าหญิงนี้เป็นคนไม่ดี

ไม่เลื่อมใสพระพุทธเจ้า ก็แกล้งบอกยายเมียว่า เออ

เลิกกันก็ดีแล้ว

แล้วพระราชาก็รีบเสด็จออกไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

เวลานายสุมนถวายดอกไม้พระพุทธเจ้า ไม่ได้ใส่พานถวายนะ

วิธีถวายคือ เขาโยนดอกไม้ขึ้นไปบูชา

แต่ปรากฏว่าคราวนี้พระพุทธเจ้าจะประกาศคุณของนายสุมนว่า

ยอมสละชีวิต เพื่อได้ถวายดอกไม้บูชา

เพราะฉะนั้น พอโยนดอกไม้ขึ้นไป

ดอกไม้ก็ลอยล้อมรอบพระพุทธเจ้าอยู่ ทรงเสด็จไปทางไหน

ดอกไม้ก็ล้อมลอยตามไป ไม่ได้ตกลงพื้นดิน”

“โอ้โฮ อยากเห็นจัง” จิ๋งนุ้ยรําพึง

“ประชาชนตื่นเต้นกันใหญ่ เดินตามดูไปเรื่อยๆ เลย

พระพุทธเจ้าเสด็จมาพระลานหลวง พระราชาทรงรับบาตร

จะเชิญเสด็จเข้าวัง

แต่พระพุทธเจ้าแสดงอาการว่าจะประทับที่พระลานหลวง

พระราชาก็สั่งให้ทําปะรําขึ้นถวาย

ดอกไม้ก็ยังลอยอยู่อย่างนั้น

จนพระพุทธเจ้าเสวยเสร็จแล้ว ทรงอนุโมทนา

แล้วเสด็จกลับวัดเวฬุวัน พอเสด็จเข้าพระคันธกุฎี

ดอกไม้ทั้งหxxx็ตกลงกองอยู่หน้าพระคันธกุฎี”

“แหม น่าจะมีใครวาดภาพนี้ไว้จัง ไม่เคยเห็นเลย

คงจะสวยนะ นายสุมนคงจะปลื้มน่าดูเลย”

“ไม่ใช่ปลื้มอย่างเดียวหรอก

พระราชาเรียกเข้าไปถามเหตุผลว่า คิดยังไง

นายสุมนบอกว่ายอมถวายชีวิตแล้ว

อยากจะถวายดอกไม้พระพุทธเจ้าให้ได้ พระราชาโปรดปรานว่า

เจ้าเป็นมหาบุรุษ แล้วพระราชทานช้าง ๘ ม้า ๘ ทาสผู้ชาย ๘

ทาสผู้หญิง ๘ เครื่องประดับชุดใหญ่ ๘ ชุด เงิน ๘,๐๐๐

กหาปณะ หญิงจากราชสกุล ๘ คน และพระราชทานบ้านส่วย ๘

ตําบลด้วย”

“แล้วเมียกลับมามั้ย” จิ๋งนุ้ยถาม

“คราวนี้ร้องไห้กลับมาละซี แต่จะเอามาทําไมเนอะ

เมียใจร้ายอย่างนี้ พระราชาให้สาวๆ มาตั้ง ๘ คนแล้ว”

จุ้มปุ้ยเล่าว่า พระอานนท์ทูลถามพระศาสดาว่า

ผลกรรมของนายสุมนเป็นอย่างไร

“พระพุทธเจ้าตรัสว่า อานนท์

เธออย่าคิดว่ากรรมดีของนายสุมนเป็นเรื่องเล็กน้อย

เขาสละชีวิตเพื่อเรา จิตของเขาเลื่อมใสในเราอย่างนี้แล้ว

จะไม่ไปสู่ทุคติถึงแสนกัป เขาจะเกิดในภพเทวดา

และมนุษย์ตลอดแสนกัปนี้ นี่เป็นผลของการบูชา

ภายหลังเขาจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่า สุมนะ

ตอนเย็นวันนั้น

ภิกษุคุยกันในธรรมสภาเรื่องนายสุมนนี่อีก

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

บุคคลทํากรรมใดแล้ว ไม่มีความเดือดร้อนในภายหลัง

มีแต่ปิติเมื่อระลึกถึง กรรมนั้นควรทําแท้”

“วันนี้ เราก็จะมีปีติเหมือนกัน” จิ๋งนุ้ยยิ้มแย้ม

ยกแจกันดอกไม้ที่จัดเสร็จแล้ว เดินเข้าไปในห้องพระ

เอาไปตั้งไว้หน้าโต๊ะหมู่บูชา จุ้มปุ้ยก็ไม่รอช้า

ยกแจกันของตัวเองไปตั้งคู่ไว้เหมือนกัน

แล้วทั้งสองก็ก้มกราบพระพุทธรูปด้วยความเคารพนอบน้อมและมีปีติในใจอย่างยิ่ง





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2005, 4:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระเจ้าปเสนทิโกศล







สวนศรี กับมณีสรร พี่น้องฝาแฝดได้เงินโบนัสมาก้อนหนึ่ง

อยากจะทําบุญวันเกิด ฉลองครบรอบที่เป็นฝาแฝดกันมาครบ ๓๖

ปี แต่ยังไม่รู้จะทําอะไรดี

พิมพิลาแนะว่าให้ซื้อหนังสือธรรมะมาแจก

เพราะเป็นการให้ปัญญา ทําให้คนอ่านมีโอกาสได้ศึกษาธรรม

และมีชีวิตที่มีความสุขขึ้นได้

ทั้งสามไปช่วยกันเลือกซื้อหนังสือมากองโต

วันนี้มานั่งจัดแบ่งว่าจะส่งไปที่ใดบ้าง

พิมพิลาเตรียมชื่อที่อยู่เป็นห้องสมุดโรงเรียน

ห้องสมุดวัด และห้องสมุดเรือนจํา

“ห้องสมุดเรือนจําเหรอ เขาอ่านกันเหรอ”

มณีสรรถามอย่างแปลกใจ พิมพิลาพยักหน้า

“อ่านซี อยู่ในเรือนจําว่างๆ ก็อ่านหนังสือ

อ่านธรรมะน่ะดี เพราะมีความทุกข์ใจอยู่แล้ว

ธรรมะก็เป็นยาแก้ทุกข์ใจ

ไม่ใช่ทุกข์กายอยู่แล้วเหมือนกัน”

“ความจริงอยู่เรือนจํานี่เหมือนอยู่วัดเหมือนกันนะ”

สวนศรีเอ่ย “ถ้าวันๆ คอยปฏิบัติ คอยสวดมนต์

ก็จะเป็นกิจกรรมที่เหมือนพระเลย”

“กิจกรรมเหมือนแต่ใจอาจจะไม่เหมือน พระใจสุข

แต่เขาใจทุกข์” มณีสรรออกความเห็น

“ถ้าน้อมใจเข้าหาพระ ก็คลายทุกข์ได้

เขามีเวลาที่จะอ่านหนังสือเยอะเลย” พิมพิลาอธิบาย

“คนอยู่ในทุกข์นั้น เวลาย่อมยาวนาน คนที่เป็นทุกข์แล้ว

ก็ย่อมอยากออกจากทุกข์ แต่ก็ต้องสร้างเหตุดี

จึงจะออกจากทุกข์ได้ บางคนเห็นทุกข์แล้ว อยากเตือนคนอื่น

ก็ยังเตือนยาก อย่างเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเล่า

เรื่องสัตว์นรกที่มาเตือน

แต่ละตนก็โผล่ขึ้นมาเตือนได้คนละคํา แล้วก็จมลงไปอีก”

สวนศรีร้อง “อ๋อ ทุ สะ นะ โส”

มณีสรร บอกว่า “คืออะไร เล่าดิ”

สวนศรีจึงเล่าว่า

“พระพุทธเจ้าเล่าว่า สมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า

ตอนนั้นคนมีอายุสองหมื่นปีนะ

พระพุทธเจ้าเสด็จมาที่กรุงพาราณสี

ชาวบ้านก็มาทําบุญกันมาก แต่ลูกเศรษฐี ๔ คน

กลับชวนกันทําบาป เที่ยวผิดลูกผิดเมียชาวบ้าน

ตายแล้วไปตกนรกนานเป็นพุทธันดรเลย

ตายจากนรกขุมนี้ไปรับเศษกรรมในนรกขุมโน้นอีก

คนแรกก็อยากจะเตือนคนอื่นว่า เราเมื่อมีเงินอยู่

ก็ไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้ทําบุญทําที่พึ่งให้ตัวเอง

จัดว่ามีชีวิตอยู่อย่างชั่วช้า

แต่โผล่ขึ้นมาร้องว่า ทุ ได้คําเดียวก็จมลงไปอีก

คําว่าทุนี่มันยังมีบาลีต่ออีกยาว จําไม่ได้

แต่ตัวแรกเป็นทุก็แล้วกันนะ

คนที่สองขึ้นมาร้องว่า สะ เมื่อเราถูกไฟไหม้อยู่ในนรก

หกหมื่นปี เมื่อไหร่จะสิ้นสุด ก็พูดได้ว่า สะ

คําเดียวเอง แล้วก็จมลงไป

คนที่สามพูดว่า นะ เขาว่า เพื่อนเอ๋ย

ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก

เพราะกรรมชั่วที่เราเคยทํามานั้นแหละ

คนที่สี่ก็โผล่มาว่า โส

ถ้าเราขึ้นจากนรกแล้วได้เกิดเป็นคน จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

รักษาศีล พยายามทําแต่กุศลให้มาก

นี่แหละ อยากมาบอกทุกคน แต่บอกไม่ได้”

สวนศรีให้พิมพิลาจัดหนังสือเป็นกองๆ

มณีสรรกําลังเขียนชื่อที่อยู่สําหรับแปะหน้ากล่อง

ตัวเองหยิบชิ้นฝรั่งจิ้มพริกเกลือกินและเล่าว่า

“แต่เรื่องนี้มีที่มานะ

พระเจ้าปเสนทิโกศลแหละเป็นคนได้ยินเสียง ทุ สะ นะ โส

เนี่ย ได้ยินตอนดึกๆ ไม่รู้ว่าเป็นเสียงอะไรก็กลัว

นอนไม่หลับทั้งคืน พอเช้าให้หาโหรมาทํานาย โหรก็ไม่รู้

แต่จะบอกว่าไม่รู้ก็เสียภูมิอาจารย์ เลยบอกว่า

นี่จะเกิดอันตรายแก่พระองค์แล้ว ต้องบูชายัญถึงจะได้”

“โอย บาปกรรม” มณีสรรร้อง

“บาปหนักเลยแหละ เพราะอะไรรู้แมะ สัตว์อย่างละร้อยนะ

ช้าง ม้า พ่อวัว แม่วัว แพะ แกะ ไก่ หมู เด็กชาย

เด็กหญิง”

“โห เด็กด้วยเหรอ ร้ายกาจ” มณีสรรร้องเป็นครั้งที่สอง

“พระราชาสั่งเลยให้ไปหามา ทีนี้ก็ระงมเลย

สัตว์เยอะแยะมารวมหน้าพระลานหลวง พ่อแม่เด็กก็มาร้องไห้

เจ้าของสัตว์ก็มาร้องไห้ ระงมไปหมด”

“คนมีอํานาจ แต่ไม่มีความรู้ ก็เป็นอย่างนี้”

พิมพิลาบ่น “เวลาผิดพลาด มันพลาดไปไกล”

“ทีนี้นางมัลลิกา มเหสี รู้เรื่องเข้าก็บอกว่า

ไม่ควรจะฆ่าสัตว์เพื่อรักษาชีวิตของตัวเอง

การที่เราจะได้ชีวิต จะต้องเกิดจากการให้ชีวิต

ไม่ใช่การทําลายชีวิต

ถ้าไม่รู้ก็น่าจะลองไปขอคําแนะนําจากพระพุทธเจ้าดู

พระราชาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า เสียง

ทุ สะ นะ โส น่ะไม่เกี่ยวอะไรกับพระราชา

สัตว์นรกเขาอยากบอกความในใจแก่โลก

พยายามขึ้นมาร้องเท่านั้นเอง

พระราชาจึงยกเลิกการบูชายัญ”

“เฮ้อ บุญแท้ๆ นี่ถ้าไม่ไปหาพระพุทธเจ้าละก็

ตายกันเยอะแยะเลย” มณีสรรคนใจอ่อนโล่งอก

พิมพิลาหยุดพัก มานั่งกินฝรั่งด้วย

สวนศรีจึงลงไปจัดหนังสือต่อให้ พิมพิลาเล่าต่อว่า

“ความจริงพระเจ้าปเสนทิโกศลเองก็กําลังทําบาปอยู่เหมือนกัน”

“บาปตรงไหน แค่เกณฑ์สัตว์มา ยังไม่ได้ฆ่า” มณีสรรงง

พิมพิลาปฏิเสธ

“ไม่ใช่ตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องบูชายัญ”

แล้วพิมพิลาก็เล่าเรื่องใหม่



“อีกเรื่อง คือพระเจ้าปเสนทิเสด็จไปเลียบพระนครอยู่

ผ่านปราสาทแห่งหนึ่งเห็นผู้หญิงคนหนึ่งชะโงกหน้าออกมาทางหน้าต่าง

แล้วหลบเข้าไป เห็นแวบเดียวแค่นั้นปิ๊งเลย

ปิ๊งหนักเกือบเป็นลมตกช้างเลย

พอกลับวังก็ให้อํามาตย์คนหนึ่งไปสืบดู

ปรากฏว่ามีสามีแล้ว เลยวางอุบายจะฆ่าสามีเสีย

เอาเมียมาเข้าวัง

สั่งให้พาสามีมา ผู้ชายคนนั้นรู้ทันทีเลยว่า

ตัวเองเคราะห์ร้ายแล้ว แต่ขัดขืนไม่ได้ ต้องเข้าเฝ้า

พระราชาให้อยู่รับใช้ในวัง ก็อ้อนวอนขอปฏิเสธ

พระราชาไม่ยอม เลยจําใจอยู่เป็นมหาดเล็กรับใช้

เขารู้ตัว รู้เจตนาของพระราชา

ก็ทําตัวดีไม่ให้มีความผิด พระราชาหงุดหงิด

xxxนี่ไม่ทําผิดซะที

วันหนึ่งเลยสั่งว่า ให้ไปหาดินสีอรุณ ดอกโกมุท ดอกอุบล

มาถวายให้ทันเวลาอาบน้ำตอนเย็น ถ้าทําไม่ได้จะตัดหัวเสีย

เขาจะไม่ไปก็ไม่ได้ ก็กลับบ้านไปหาเมียก่อน

เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง

ให้เมียหุงข้าวทํากับข้าวสําหรับไปกินกลางทาง

ได้แล้วก็รีบไป ระหว่างทางเขากินข้าว

แต่เหลือไว้หน่อยหนึ่ง พอเจอคนเดินทางที่หิวมา

เขาก็ให้ข้าวกิน

เสร็จแล้วเขาโปรยข้าวกํามือหนึ่งในน้ำ แล้วพูดดังๆ ว่า

นาค ครุฑ เทพยดาทั้งหลาย ขอจงฟังคําข้าพเจ้า

พระราชาต้องการลงโทษข้าพเจ้า

บังคับให้ข้าพเจ้านําดินสีอรุณ ดอกโกมุท

และดอกอุบลไปถวายให้ทันเวลาเย็น

ข้าพเจ้าได้ให้อาหารแก่คนเดินทาง

ทานนั้นมีอานิสงส์หนึ่งพัน ข้าพเจ้าได้ให้อาหารปลา

ทานนั้นมีอานิสงส์หนึ่งร้อย ข้าพเจ้าขอแบ่งส่วนบุญ

เหล่านี้แก่ท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายโปรดนําดินสีอรุณ

ดอกโกมุท ดอกอุบลมาให้ข้าพเจ้าด้วย

พญานาคได้ยิน ก็แปลงกายเป็นชายชรามาบอกว่า

“ท่านให้ส่วนบุญแก่ข้าพเจ้าบ้างได้หรือไม่”

ชายหนุ่มก็รับปากรับคํา พญานาคจึงเอามาให้ทั้ง ๓

อย่างเลย เขาขอบคุณแล้วรีบกลับสาวัตถีทันที

แต่พระราชากลัวเหมือนกันว่า

ผู้ชายคนนี้อาจจะเอาของที่สั่งมาได้ เรื่องมันไม่แน่

กันไว้ก่อน เลยสั่งให้ปิดประตูเมือง

ผู้ชายคนนี้กลับมาทันเวลาอาบน้ำตอนเย็น

แต่เข้าประตูเมืองไม่ได้ คนเฝ้าประตูก็บอกเปิดไม่ได้

พระราชาเอากุญแจไปเก็บเอง”

“โห ขนาดนั้น” มณีสรรโมโห “แล้วทําไง”

พิมพิลาหัวเราะ

“เขาเอาดอกไม้แขวนที่ประตูด้านนอก

แล้วโยนดินเข้าไปในกําแพงเมือง

ป่าวประกาศให้ชาวเมืองที่มามุงดูให้รู้ว่า

พี่น้องทั้งหลาย ขอจงเป็นพยานว่า

สิ่งที่พระราชาสั่งให้ทํา เราทําแล้ว

พระราชาอยากจะลงโทษเราด้วยเหตุไม่สมควร

แล้วเขาคิดว่าจะไปหลบที่ไหนดี

ก็คิดว่าธรรมดาพระเป็นผู้ใจดี เข้าวัดไปพึ่งพระดีกว่า

ฝ่ายพระราชาก็เร่าร้อนคิดถึงเมียคนอื่น

อยากให้เช้าเร็วๆ จะได้จับตัวสามีมาประหาร

แล้วจะได้ไปรับสาวเจ้ามาเร็วๆ”

“พอตอนดึกๆ ก็ได้ยินเสียง ทุ สะ นะ โส” สวนศรีต่อให้

“เลยแวะไปเกณฑ์สรรพสัตว์มาบูชายัญซะก่อน

ลืมเรื่องผู้หญิงไปชั่วคราว”

“เพราะกลัวตายก่อน” มณีสรรว่า





“ตอนไปฟังพระพุทธเจ้าเล่าเรื่อง ทุ สะ นะ โส

ฟังแล้วก็เกิดสลดใจว่า เออ เรากําลังทําบาปเหมือนกัน

ฝันถึงเมียชาวบ้านจนคิดจะฆ่าผัวเขา จนนอนไม่หลับทั้งคืน

รู้สึกขึ้นมาว่า ทําไม่ดี เลยเปลี่ยนใจ

เลิกสนใจเมียคนอื่นแล้ว

แล้วทูลพระพุทธเจ้าว่า

ข้าพระองค์เพิ่งทราบว่าราตรีเป็นของนานเมื่อคืนนี้เอง”

“แปลว่าทุกข์ใจเร่าร้อน อยากให้เช้าเร็วๆ ทําไมนานจัง

ไม่เช้าซักที ใช่มั้ย” มณีสรรหัวเราะ

สวนศรีพยักหน้ารับรอง

พิมพิลา บอกว่า

“ตอนนั้น ผู้ชายคนนั้นก็มาฟังพระพุทธเจ้าด้วยนะ

ได้ยินพระราชาเอ่ยอย่างนั้น

ก็หวังให้พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง จึงกราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

พระราชาทรงทราบว่าราตรีเป็นของนาน เมื่อคืนนี้

แต่ข้าพระองค์ทราบความที่โยชน์เป็นทางไกล

ตั้งแต่เมื่อวานนี้”

สวนศรีอธิบายให้มณีสรรฟังว่า

“คือเขารีบร้อนเดินทางไปไกล ใจก็กลัวกลับมาไม่ทัน

เหน็ดเหนื่อย และหวาดกลัว

กังวลเลยทําให้รู้สึกว่าหนทางมันยาวไกลซะเหลือเกิน

เหมือนเราเดินไปตลาด ปกติเดินสบายใจเฉิบ ๑๐

นาทีก็ถึงแล้ว แต่วันไหนรีบจะรู้สึกเดินเหมือนขาพันกัน

เดินตั้งเกือบ ๒๐ นาทีกว่าจะถึง ใจมันไปก่อน”

พิมพิลาเล่าต่อ

“พระพุทธเจ้าทรงเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด

แล้วกล่าวพุทธภาษิตว่า

ราตรีของผู้ตื่นอยู่ยาวนาน

ระยะทางหนึ่งโยชน์สําหรับผู้เมื่อยล้าแล้ว ไกล

สังสารวัฏคือ

การเวียนว่ายตายเกิดของคนที่ไม่รู้พระสัทธรรม

เป็นของยาวนาน

พอเทศน์จบ ชายคนนั้นก็บรรลุเป็นพระโสดาบัน”

“แล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลล่ะ” มณีสรรถาม

“ยัง พระเจ้าปเสนทิ ไม่เคยบรรลุธรรมเลยตลอดชีวิต”

สวนศรีตอบ

รายชื่อห้องสมุดทั้งหมดเตรียมเสร็จแล้ว สวนศรีไป

ยกลังเปล่ามาแล้วเริ่มยกหนังสือใส่ลัง

มณีสรรไปช่วยพิมพิลา ปิดลังและปิดใบจ่าหน้าที่อยู่

ชุลมุนกันอยู่พักใหญ่ๆ กล่องทุกใบก็เรียบร้อย

พร้อมที่จะส่งได้ในวันพรุ่งนี้



สวนศรีเริ่มคลานลงไปนอน มณีสรรหัวเราะตามไปนวดหลังให้

พลางเอ่ยว่า

“พระนางมัลลิกานี่ก็ฉลาดนะ นี่ถ้าไม่ได้มเหสีอย่างนี้

พระเจ้าปเสนทิบาปกรรมหนักเลยนะเนี่ย”

พิมพิลานั่งเหยียดขายาว บอกว่า

“ไม่ใช่ฉลาดแต่ชาตินี้ ชาติก่อนก็ฉลาด

เคยช่วยชีวิตคนไว้เยอะแยะเลย

พระพุทธเจ้าทรงเล่าอดีตชาติของเธอไว้”

“อ๋อเหรอ งั้นเล่าหน่อย” มณีสรรอยากฟังต่อ

“ก็มีโอรสของพระเจ้ากรุงพาราณสี

บนไว้กับเทวดาที่ต้นไทรใหญ่ว่า

ถ้าตัวเองได้ครองราชย์ต่อจากพระราชบิดา ก็จะจับกษัตริย์

๑๐๑ พระองค์กับมเหสี ๑๐๑ พระองค์ มาทํา เทวตาพลี

คือบูชาเทวดา

พอพ่อตาย ท่านก็ได้ขึ้นครองราชย์จริง

แต่ไม่ใช่เทวดาช่วย เป็นบุญของตัวเอง

แต่ก็ทําตามที่บนนะ

ไปทําสงครามจับกษัตริย์กับมเหสีมาเลยทุกพระองค์

ยกเว้นพระเจ้าอุคคเสน

ซึ่งเป็นพระราชาที่มีอํานาจน้อยที่สุดในชมพูทวีป

องค์นี้จับมาแต่ตัวพระราชา มเหสีไม่ได้พามาด้วย

เพราะมีท้องแก่อยู่

เสร็จแล้ว พระองค์ต้องการจะฆ่ากษัตริย์ ๑๐๑ องค์

กลุ่มนี้ด้วยยาพิษ ให้คนมาทําความสะอาดโคนต้นไทร

เทวดาที่สถิตอยู่ที่ต้นไทรคิดว่า

“พระราชาคิดว่างานสําเร็จ เพราะอานุภาพของเรา

ความจริงไม่ใช่ หากฆ่ากษัตริย์เหล่านี้แล้ว จะบาปมาก

โคนต้นไม้ของเราก็จะไม่สะอาด เราจะห้ามพระราชาได้มั้ยนะ”

พิจารณาแล้วเห็นว่าคงจะห้ามไม่ได้

เลยไปหาเทวดาที่มีศักดิ์ใหญ่ๆ

ก็ไม่มีใครให้ความเห็นอะไรได้ จึงไปเฝ้าท้าวสักกะ

ท่านบอกว่า

“ให้ท่านนุ่งผ้าแดงออกจากต้นไม้

ขณะที่พระราชาทอดพระเนตรเห็น

พระราชาก็จะอ้อนวอนให้ท่านกลับเพื่อรับการบูชาของเขา

ให้ท่านบอกว่า ‘ท่านบนไว้ว่าจะนํากษัตริย์ ๑๐๑ และมเหสี

๑๐๑ มา บัดนี้ พระองค์ไม่ได้นําพระนางธัมมทินนา

มเหสีของพระเจ้าอุคคเสนมา

ข้าพเจ้าไม่ขอรับพลีกรรมของผู้พูดเท็จ’

ถ้าท่านกล่าวอย่างนี้

พระราชาก็จะไปนําพระนางธัมม-ทินนามา

พระนางจะช่วยปลดปล่อยกษัตริย์เหล่านี้ได้

เทวดาก็ทําตามนั้น พอพระราชานําพระนางธัมมทินนามา

พระนางก็ถวายบังคมพระสวามีองค์เดียว

คือไม่ไหว้คนอื่นอีกเลย ทั้งๆ

ที่พระสวามีเป็นพระราชาพระองค์น้อย นั่งปลายแถวสุด

พระราชาที่จับมาก็กริ้วว่า เราเป็นใหญ่กว่าใครทั้งปวง

ทําไมไม่ไหว้ ไปไหว้พระราชาที่เป็นผู้น้อยกว่าใครทั้งหมด







พระนางตอบว่า

“หม่อมฉันไม่ไหว้พระองค์

เพราะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับหม่อมฉัน

ส่วนพระเจ้าอุคคเสนเป็นพระสวามี

ที่ให้ความเป็นใหญ่แก่หม่อมฉัน หม่อมฉันจึงไหว้”

เทวดายืนอยู่ก็อนุโมทนา “จริงทีเดียว

พระนางตรัสชอบแล้ว”

แล้วบูชาพระเทวีด้วยดอกไม้กํามือหนึ่ง

พระราชาก็ยังว่า “ท่านไม่ไหว้เราก็ช่างเถอะ

แต่ทําไมไม่ไหว้เทวดาของเรา ผู้ให้ความเป็นราชาแก่เรา”

พระเทวีทูลว่า

“ที่พระองค์จับพระราชาได้เพราะอานุภาพ

และบุญของพระองค์เอง ไม่ใช่เพราะเทวดาช่วยจับให้”

เทวดาบอกอีกว่า “จริงอย่างนั้น พระเทวีตรัสชอบแล้ว”

แล้วบูชาด้วยดอกไม้อีก

“หากเทวดามีฤทธิ์จับพระราชา ๑๐๑ พระองค์ได้จริงแล้ว

ทําไมตอนนี้ต้นไม้ใหญ่ถูกไฟไหม้อยู่ด้านซ้ายนั่น

เทวดาจึงดับไฟไม่ได้”

“เทวดาอนุโมทนาอีก” มณีสรรเล่าต่อเองได้

หัวเราะแล้วต่ออีกว่า “แล้วบูชาด้วยดอกไม้อีก”

พิมพิลาเล่าว่า

“พระเทวียืนอยู่ ทั้งร้องไห้ทั้งหัวเราะ พระราชาถามว่า

เป็นบ้าไปหรือไง ตอบว่าไม่ได้บ้า

แต่ร้องไห้เพราะสงสารพระองค์นั่นแหละว่า

จะต้องไปตกนรกนานแค่ไหน เพราะฆ่าคนถึง ๑๐๑

พร้อมด้วยพระเทวี

มีอยู่ชาติหนึ่ง

หม่อมฉันเคยฆ่าแม่แพะตัวหนึ่งเพียงเพื่อทําอาหารมารับแขกเพื่อนของสามี

เพราะกรรมนั้นหม่อมฉันต้องตกนรกนานแสนนาน

เพราะเศษกรรมนั้นหม่อมฉันต้องถูกตัดศีรษะเป็นร้อยๆ

ชาติเท่าจํานวนขนแพะ

หม่อมฉันนึกถึงทุกข์ใหญ่ของพระองค์จึงร้องไห้

ส่วนที่หัวเราะก็เพราะยินดีว่าได้พ้นจากทุกข์นั้นแล้ว”

“เทวดาอนุโมทนา” มณีสรรต่อ “จริงอย่างนั้น พระเทวี

ที่พระนางตรัสนั้นเป็นความจริง”

“พระราชาพิจารณาแล้วสลดใจ ปล่อยทุกคนเลย ไหว้ทุกคนเลย

แล้วส่งกลับเมืองไป

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

พระเจ้าพาราณสีองค์นั้นมาเกิดเป็นพระเจ้าปเสนทิโกศล

พระนางธัมมทินนามาเกิดเป็นพระนางมัลลิกา เทวดาที่ต้นไทร

คือพระพุทธเจ้าเอง”

สวนศรีเพิ่งจะมีแรงพูด “นี่แหละ ท่านสอนว่า

อย่าฆ่าสัตว์ พระพุทธเจ้าสอนว่าขึ้นชื่อว่าปาณาติบาตแล้ว

ไม่ควรทํา เพราะบุคคลที่ฆ่าสัตว์เป็นปกติ

ย่อมเศร้าโศกสิ้นกาลนาน

เมื่อเรารู้ว่าความเกิดมานี้เป็นทุกข์ ก็ไม่ควรฆ่ากัน

ไม่ควรเบียดเบียนกัน”

“สาธุ” มณีสรรยกมือไหว้สาธุ

“ต้องพยายามรักษาศีล ๕ ให้ดีที่สุดเข้าไว้

ชีวิตจะได้สงบสุข” พิมพิลาสรุปการบรรยายธรรมของคืนนี้





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2005, 4:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระมหาโมคคัลลานะ





โดโด้เป็นคนสนุกสนาน ชอบรู้ชอบอ่านชอบดูไปหมดทุกเรื่อง

และชอบกินขนมแป้งจี่ เพื่อนๆ เลยเรียกเขาว่า โดเรมอน

วันนี้โดเรมอนถือใบปลิวมาหาคงกระพัน

เป็นใบโฆษณาพระเครื่ององค์หนึ่ง

และมีข้อความเล่าถึงผู้ที่เคยบูชาไปแล้วคลาดแคล้วอันตราย

ใบปลิวนั้นเชิญชวนให้ไปบูชาพระเครื่องที่วัดซึ่งกำลังมีงานประจำปี

คงกระพันอ่านแล้วก็พยักหน้าหงึกหงัก แต่ไม่ไป

“อยู่ยงคงกระพันเองแล้ว ไม่ต้องบูชาพระเครื่องละซี”

โดเรมอนแซว ทั้งๆ

ที่ตัวเองก็ไม่เคยสนใจเรื่องนี้มาก่อนเหมือนกัน

แต่ไม่เป็นไร แซวไว้ก่อนพ่อสอนไว้

คงกระพันหัวเราะหึหึ แล้วลงนั่งคุยกัน

คุยกันไปคุยกันมาเลยไปถึงเรื่องฤทธิ์

คงกระพันเล่าเรื่องพระมหาโมคคัลลานะให้โดเรมอนฟัง

“พระมหาโมคคัลลานะ

เป็นพระอัครสาวกฝ่ายซ้ายของพระพุทธเจ้า” คงกระพันเริ่ม

โดเรมอนถามว่า

“อัครสาวก แปลว่าผู้เป็นใหญ่ในบรรดาสาวกใช่มั้ย

ผู้ช่วยมือซ้ายของพระพุทธเจ้าว่างั้นเถอะ”

คงกระพันยิ้มๆ แล้วเล่าต่อ

“สมัยนั้นมีศาสนามากมายนะ

พวกนักบวชนอกศาสนาพุทธนี่เรียกรวมกันว่าเดียรถีย์

มีนิครนถ์ ปริพาชก อะไรๆ อีกเยอะแยะ

แล้วก็มีศาสนาพุทธขึ้นมา มีชาวบ้านเลื่อมใสมาก

ชาวบ้านเอาข้าวของมาถวายมาก ทำให้กลุ่มอื่นๆ ขาดลาภไป

พวกเดียรถีย์ก็ขาดลาภสักการะไปเหมือนกัน

เดือดร้อนกันทั่วหน้า

วันหนึ่ง พวกเดียรถีย์มาประชุมหาสาเหตุกันว่า

ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นด้ายยย.... ก็สรุปกันว่า

เป็นเพราะพระมหาโมค-คัลลานะนี่แหละคนสำคัญ

เป็นเพราะท่านมีฤทธิ์มาก ไปนรก ไปสวรรค์

แล้วมาเล่าให้ชาวบ้านฟังว่า คนทำกรรมอย่างนี้นะไปสวรรค์

คนทำกรรมอย่างนี้นะไปนรก ทำให้คนเลื่อมใส

นี่ถ้ากำจัดพระมหาโมคคัลลานะได้

พระพุทธเจ้าจะขาดกำลังสำคัญไป

ชาวบ้านก็จะเอาสิ่งของมาสักการะพวกเราแทน”

โดเรมอนถอนหายใจเฮือก ความที่โดเรมอนเป็นคนใจดี

มองโลกดีตลอด ฟังแล้วรู้สึกเหนื่อยใจ “คิดได้ยังไงเนี่ย”

กลุ้มใจ หันไปหยิบขนมแป้งจี่ที่หอบมาด้วยมากินแก้กลุ้ม

“ไม่คิดเปล่าซี คิดแล้วก็ไปเรี่ยไรเงินมา

แล้วเอาไปจ้างโจรไปฆ่าเลยล่ะ

พวกโจรตามพระท่านอยู่ ๓ เดือน ท่านก็หนีได้ตลอด

เพราะมีฤทธิ์มาก โจรมาก็เหาะหนีไปทุกที พอ ๓

เดือนแล้วท่านมาคิดว่า เออ กรรมเก่าตามมาทวงแล้วนะ

ใช้หนี้ซะทีก็แล้วกัน ท่านเลยไม่เหาะหนีแล้ว

พวกโจรก็รุมกันทุบตีจนกระดูกแตกหมดเลย

แล้วเข้าใจว่าตายแล้ว เลยจับไปโยนทิ้งในพุ่มไม้”

โดเรมอนแย้งว่า

“พระมหาโมคคัลลานะนี่ท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว

ทำไมยังมีกรรมเก่าตามมาได้อีก

บุญไม่เจือจางกรรมเก่าลงหรือ”

คงกระพันยิ้มๆ

“กรรมมีหลายระดับ ถ้ากรรรมไม่แรงนัก ผู้มีบุญมาก

ก็เจือจางกรรมเก่าลงได้มาก แต่ถ้าเป็นกรรมหนักๆ

นี่ไปเจือจางเขาไม่ได้หรอก ความเข้มข้นมันสูง

อีกอย่างมันเป็นแรงเฉื่อยด้วย เช่น เวลานายพายเรือมา

พอยกพายขึ้นพาด ไม่ได้พายต่อแล้ว

แต่เรือก็ยังแล่นไปได้อีกระยะหนึ่งใช่มั้ย

กรรมเก่าจะมาสนองผลก็ได้เต็มที่ในชาตินี้แหละ

เพราะท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว

ถ้าตายเมื่อไหร่ก็ไม่เกิดอีกแล้ว กรรมอะไรที่ยังค้างอยู่

ยังไม่ตามมาเก็บหนี้ ก็ต้องเลิกเรียกเก็บหนี้ไป

เพราะไม่มีชาติหน้าให้เรียกเก็บ แต่ถ้ายังอยู่ก็ยังเรียก

เช็กบิลได้”

โดเรมอนหน้ายุ่ง กินขนมแป้งจี่เพิ่มเป็นสองชิ้น

ให้สมองจะได้มีแรงคิด

“งั้นแสดงว่ากรรมเก่านี่ต้องแรงมากเลย

ท่านไปทำอะไรมาหรือ”





“ในอดีตชาติ ท่านเป็นคนดีมีกตัญญู ปรนนิบัติพ่อแม่ดี

แม่ขอให้แต่งงาน จะได้มีคนช่วยแบ่งเบาภาระ

เขาก็ปฏิเสธหลายครั้ง แต่ในที่สุด

แม่ก็หาผู้หญิงมาแต่งให้จนได้

แต่สะใภ้ไม่ดี ปรนนิบัติพ่อแม่อยู่ได้เพียง ๒-๓

วันเท่านั้นก็เบื่อ คิดกำจัด

บอกผัวว่าอยู่ร่วมกับพ่อแม่ไม่ได้

เพราะสองคนชอบทำสกปรกเลอะเทอะ แต่ผัวก็ไม่เชื่อ

วันหนึ่ง พอผัวออกไปข้างนอก เมียก็เอาเชือกปอ ข้าวยาคู

พวกน้ำนม มาทิ้งเรี่ยราดเต็มบ้าน

ผัวกลับมาก็ถามว่ามันอะไรกัน เมียบอกว่าพ่อแม่ทำ

ในที่สุดหลงเชื่อเมีย คิดฆ่าพ่อแม่”

“ขนาดนั้นเลย” โดเรมอนร้องตกใจ คงกระพันพยักหน้า

“ใช่ หลอกพ่อแม่ว่าจะพาไปบ้านญาติ

ระหว่างทางทำเป็นบอกว่า แถวนี้มีโจรมาก

ให้พ่อถือเชือกวัวไว้ ไปเกวียนน่ะ

แล้วตัวเองจะลงไประวังภัยให้ เสร็จแล้วตัวเองก็ทำเป็นโจร

กลับมาทุบตีพ่อแม่จนตาย”

“โอ พระเจ้าจอร์จ ช่วยด้วย” โดเรมอนครางข้ามประเทศ

“กรรมนี้ทำให้พระมหาโมคคัลลานะตกนรกหลายแสนปี

เวลาเกิดมาเป็นคน ก็ถูกทุบให้ตายเป็นร้อยชาติ

เพราะเศษบาปที่เหลือ”

โดเรมอนหงายหลังเป็นลม คงกระพันพัดให้

“แล้วจับพวกโจรได้มั้ย” โดเรมอนลุกขึ้นมาถามต่อ

“ได้ พอข่าวแพร่ไป

พระเจ้าอชาตศัตรูก็สั่งให้ออกตามจับทันที

พวกโจรได้เงินแล้วก็เอาไปกินเหล้า

แล้วต่างคนก็พูดคุยโอ้อวดกันว่าตัวเองเป็นคนลงมือตีก่อน

พวกตำรวจก็เลยจับได้

พระเจ้าอชาตศัตรูสั่งให้จับพวกเดียรถีย์กับพวกโจรเปลือยแล้วฝังลงในหลุมแค่สะดือ

กลบด้วยฟางแล้วก่อไฟเผา แล้วเอาไถเหล็กไถเป็นท่อนๆ เลย”

“โจรอบฟาง ฮะ ฮะ” โดเรมอนหัวเราะ

“แต่ตอนที่โจรทิ้งพระโมคคัลลานะไว้ในพุ่มไม้น่ะ

ท่านยังไม่ตายหรอก”

“อ้าว เรอะ ดีจัง” โดเรมอนดีใจจนต้องกินขนมอีก

“แต่ก็เละหมดแหละ

ท่านก็ใช้ฤทธิ์ของท่านประสานกระดูกทั้งหมด

แล้วจึงเหาะไปหาพระพุทธเจ้าเพื่อทูลลาตาย

พระพุทธเจ้าบอกว่าจะไม่ได้เห็นกันอีกแล้ว

เพราะพระมหาโมค-คัลลานะเป็นพระอรหันต์

ไม่ได้มาเกิดอีกแล้ว

ก็ทรงขอให้พระมหาโมคคัลลานะบรรยายธรรมให้พระองค์ฟัง

ตรงนี้น่าสังเกตนะ

ว่าพระพุทธเจ้าของเราไม่ได้ถือพระองค์ว่าเป็นธรรมราชา

เวลาสาวกจะปรินิพพาน ยังทรงขอให้แสดงธรรมให้แก่พระองค์

เรียกว่าทรงเป็นผู้เคารพธรรมอย่างแท้จริง”

โดเรมอนซาบซึ้งใจ

“พระมหาโมคคัลลานะก็เหาะขึ้นไปในอากาศแสดงฤทธิ์ต่างๆ

แล้วบรรยายธรรมถวายพระพุทธเจ้า เสร็จแล้วจึงถวายบังคมลา

เหาะไปยังกาฬสิลาเพื่อปรินิพพานที่นั่น

พวกภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า พระมหาโมคคัลลานะ

เป็นคนดีมีธรรมมหาศาล ไม่น่าต้องมาตายในสภาพอย่างนี้

ดูไม่สมควรเลย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถึงจะดูเหมือนไม่เหมาะสมในชีวิตนี้

แต่ถ้าดูกรรมเก่าของท่านแล้ว

ก็เป็นการเหมาะสมสำหรับกรรมเก่านั้นแล้ว”

โดเรมอนทำท่าอ่อนระโหย “ขนาดมีฤทธิ์มากอย่างนี้

ยังหนีกรรมเก่าไม่พ้นเลย แล้วเรายังจะป้องกันอะไรได้”

คงกระพันพยักหน้า “เราก็ต้องพยายามไม่ทำบาปนั่นแหละ

จะได้ไม่มีสาเหตุของบาปที่จะตามมาให้ผลทำร้ายเรา

ถ้ามีเหตุเมื่อไหร่ มันก็ต้องมีผลเมื่อนั้น

เป็นเรื่องธรรมดา

การหยุดทำบาปเป็นเครื่องป้องกันตัวดีที่สุดแล้วล่ะ

โดเรมอนเอ๋ย จงรีบสะสมบุญเข้าเถอะ”

“สาธุ” โดเรมอนยกมือไหว้อย่างจริงใจ





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2005, 4:10 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ยมกปาฏิหาริย์





ไข่ตุ๋นซื้อหนังสไปเดอร์แมนมานั่งดูที่บ้าน

พร้อมกับกินข้าวโพดคั่วหอมเนยไปด้วย

เพื่อให้เหมือนไปดูหนังที่โรงฉาย

แต่สบายกว่าเพราะนอนเอกเขนกดู

คำชื่นเข้ามาตอนหนังจบพอดี

ไข่ตุ๋นเล่าให้ฟังพร้อมกับฉายใหม่ตอนที่พระเอกกำลังโลดแล่นไปตามตึกต่างๆ

“เหมือนเหาะไปเลย” ไข่ตุ๋นว่า

“แค่เหมือนเหาะนะ

แล้วตอนถ่ายทำก็ยังเอาสลิงผูกเอวทำแต่ท่าเหาะด้วย”

“อ้าว” ไข่ตุ๋นเข้าข้างพระเอก “ก็มันหนังอ่ะ

ดูแล้วมันดี”

“พระที่ท่านได้อภิญญาท่านก็เหาะได้นะ

เหาะเองไม่ต้องมีอะไรช่วย” คำชื่นบอกไข่ตุ๋น

ไข่ตุ๋นทำท่าเหาะ

“รู้ เคยได้ยิน แต่ท่านไม่แสดงให้ใครรู้ใช่มั้ย”

“ใช่ พระพุทธเจ้าทรงห้ามไว้ไม่ให้อวด”

“แต่เคยไปที่โบสถ์ เห็นมีรูปพระพุทธเจ้าแสดงอภินิหาร”

ไข่ตุ๋นเอ่ยเป็นเชิงถาม

“อ๋อ เรื่องยมกปาฏิหาริย์ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์

จะทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์”

“แล้วอะไรทำให้ท่านต้องแสดงล่ะ” ไข่ตุ๋นอยากรู้

คำชื่นจึงเล่าเรื่องตั้งแต่ต้นมา

“มีเศรษฐีคนหนึ่ง เขาได้ไม้จันทน์แดงมาท่อนหนึ่ง

ลอยน้ำมาตอนเขาไปอาบน้ำ

เขาไม่รู้จะเอาไม้จันทน์แดงไปทำอะไร

เศรษฐีคนนี้เขายังไม่ได้นับถือศาสนาอะไร

เลยได้ความคิดขึ้นมาว่า

ในโลกนี้มีคนอ้างตัวว่าเป็นอรหันต์อยู่มาก

ไม่รู้ว่าใครเป็นอรหันต์จริงหรือไม่ได้เป็น

เศรษฐีเลยให้กลึงท่อนจันทน์ทำบาตร แล้วเอาไปแขวนสูงตั้ง

๖๐ ศอก แล้วประกาศว่า

ใครเหาะขึ้นไปเอาได้แสดงว่าเป็นอรหันต์

จะขอนับถือศาสนานั้น”

“แล้วมีคนไปเอาบาตรเยอะมั้ย” ไข่ตุ๋นสนใจ

“มีคนอยากได้เยอะ แต่เหาะไม่เป็น

คนที่เป็นอาจารย์มีลูกศิษย์เยอะ

ก็มาขอกับเศรษฐีว่าให้ตัวเองเถอะ

แต่ตัวเองไม่อยากเหาะโชว์ แต่เศรษฐีไม่สนใจ

จะให้เหาะขึ้นไปเท่านั้น มีอาจารย์คนหนึ่งชื่อ นาฏบุตร

อยากได้ นัดแนะกับลูกศิษย์ว่าถ้าอาจารย์ทำท่าเหาะ

ให้ฉุดแขนฉุดขาไว้นา แล้วไปหาเศรษฐี

เศรษฐีบอกให้เหาะก็ทำท่าจะเหาะ

พวกลูกศิษย์รีบเข้าไปฉุดไว้

บอกว่าอาจารย์แสดงคุณวิเศษไม่ได้นะ

อุตส่าห์ปกปิดเป็นความลับมานาน

จะมาแลกเอาของเล็กน้อยแค่บาตรไม้จันทน์มันไม่คุ้ม

นาฏบุตรบอกเศรษฐีให้ยกบาตรให้

เศรษฐียืนยันให้เหาะขึ้นไปเอาเอง

จน ๗ วันไปแล้ว ยังไม่มีใครได้ไป

วันนั้นพระมหา-โมคคัลลานะ กับพระปิณโฑละภารทวาชะ

กำลังยืนห่มจีวรอยู่ ตั้งใจจะเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์

ได้ยินพวกนักเลงพูดกันว่า ๗

วันแล้วยังไม่มีใครไปเอาบาตรได้เลย

แสดงว่าไม่มีพระอรหันต์อยู่ในโลกนี้”

“แหม สรุปกันง่ายๆ ยังงี้ได้ยางงายฮะ” ไข่ตุ๋นบ่น

คำชื่นหัวเราะ หยิบข้าวโพดคั่วมากินไปเล่าไป

“ใช่ พระมหาโมคคัลลานะ

ท่านเลยบอกให้พระภาร-ทวาชะไปเอาบาตร

ให้คนเห็นว่าโลกนี้มีพระอรหันต์

ภารทวาชะเลยเหาะไปปรากฏอยู่ที่ยอดเรือนของเศรษฐี

เศรษฐีเห็นแล้วหมอบลงทำความเคารพ แล้วบอกว่า

“ลงมาเถิดพระคุณเจ้า บาตรเป็นของท่าน”

พระภารทวาชะลงมา เศรษฐีเอาบาตรมาใส่อาหารแล้วถวาย

ท่านก็รับไป

เกียรติคุณเล่าลือไปอย่างรวดเร็วเลย

คนที่อดดูมาขอให้ท่านแสดงให้ดู ท่านก็แสดงให้ดู

จนพระพุทธเจ้าทรงทราบ ถามภารทวาชะว่า ไปแสดงจริงหรือ

ท่านรับว่าจริง ทรงติเตียน แล้วรับสั่งให้ทำลายบาตร

เอาไปแจกจ่ายแก่พระให้เอาไปบดผสมทำยาหยอดตา

แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามพระสาวกทำปาฏิหาริย์อีก”

“เลยอดดูเลย” ไข่ตุ๋นเสียดาย

กินข้าวโพดคั่วอีกคำโตแก้เสียดาย





“ทีนี้พวกเดียรถีย์ได้ข่าวแล้ว เที่ยวไปบอกต่อๆ กันว่า

พระพุทธเจ้าห้ามแสดงฤทธิ์แล้ว

อย่างนี้พระสาวกไม่กล้าขัดคำสั่งพระพุทธเจ้าหรอก

เราจะท้าแข่งแสดงฤทธิ์กัน เลยเที่ยวไปประกาศป่าวร้องว่า

พวกเรารักษาคุณของตนจึงไม่แสดงแก่มหาชน

เพียงเพราะบาตรไม้จันทน์ที่เป็นของเล็กน้อย

บัดนี้พวกเราจะทำปาฏิหาริย์แข่งกับพระสมณโคดม

พระเจ้าพิมพิสาร แคว้นมคธ ทราบข่าวนี้

จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าว่า

พวกเดียรถีย์ไปป่าวประกาศอย่างนี้แล้ว

พระพุทธเจ้าจะทรงทำอย่างไร”

“แหม พวกนี้มาหาเรื่องจริงๆ นะ” ไข่ตุ๋นโวยวาย

รู้สึกฉุน อยากจะปีนเพดาน

“แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เราทำปาฏิหาริย์ได้เหมือนกัน”

“อ้าว” ไข่ตุ๋นงง ตกจากเพดาน

“ก็พระพุทธเจ้าห้ามเองว่าไม่ให้พระสาวกทำไง”

คำชื่นหัวเราะ พยักหน้า “เออ นั่นแหละ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

พระองค์บัญญัติสิกขาบทไว้สำหรับพระสาวก

ไม่ใช่สำหรับพระองค์เอง เปรียบเหมือนผลไม้ในอุทยานหลวง

ใครเอาไปกินก็มีความผิด แต่พระราชาเองเป็นเจ้าของอุทยาน

เพราะฉะนั้นกินได้”

“เออจริง” ไข่ตุ๋นเห็นทางสว่าง

“ไม่งั้นต้นมะม่วงในบ้านไข่ตุ๋นก็อดกินน่ะซีนะ ใช่แล้ว

ไข่ตุ๋นกินเองได้ แต่คนนอกบ้านมาเอาไปกิน ไม่ล่าย”

ไข่ตุ๋นสนุกสนาน

“เอ๊ะ ยังงี้พวกเดียรถีย์ก็หงายเก๋งซี

ตัวเองเหาะเป็นซะเมื่อไหร่”

คำชื่นรับคำ “ใช่แล้ว ตกใจกันใหญ่ วุ่นไปเลยล่ะ

พระราชาก็ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า

จะแสดงปาฏิหาริย์เมื่อไหร่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า วันเพ็ญ

เดือน ๘ คือรอไปอีก ๔ เดือน ที่เมืองสาวัตถี

เพราะเป็นเมืองที่ทำปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์

และที่รอเวลาเพื่อให้ชาวเมืองได้มาชุมนุมกันทัน

พวกเดียรถีย์ตกลงกันว่า

จะคอยตามพระพุทธเจ้าไปทุกแห่งเลย ถ้ามีใครถามจะตอบว่า

ตกลงจะทำปาฏิหาริย์แข่งกับพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้ากำลังหนีไป

ชาวบ้านชาวเมืองก็ติดตามไปเพื่อจะดู

จนพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงเมืองสาวัตถี

พวกเดียรถีย์เรี่ยไรเงินสร้างมณฑป แล้วประกาศว่า

พวกเราจะทำปาฏิหาริย์ที่นี่

ที่เมืองสาวัตถีนี่ เจ้าเมืองคือ พระเจ้าปเสนทิโกศล

เข้าเฝ้าแล้วทูลว่าจะสร้างมณฑปถวาย พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธ

ตรัสว่าจะแสดงปาฏิหาริย์ที่ใต้ต้นมะม่วงใหญ่”

“โอ้โห” ไข่ตุ๋นร้อง

“ยังงี้พวกนั้นต้องถอนต้นมะม่วงทิ้งแหงเลย”

“ใช่แล้ว ถอนหมดเลย

แม้แต่ต้นที่เพิ่งงอกวันนั้นก็ถอนด้วย”

“แหม แสดงว่ากลัวมากเลยเนี่ย” ไข่ตุ๋นหัวเราะ





“พอถึงวันเพ็ญเดือน ๘

มีคนสวนของพระราชาคนหนึ่งชื่อนายคัณฑะ

ไปเห็นมะม่วงสุกลูกหนึ่งซ่อนอยู่ในใบไม้ที่มดแดงมันทำรังไว้

เขาเลยเก็บมะม่วงเพื่อจะไปถวายพระราชา ระหว่างทางคิดว่า

ถวายแล้วคงได้เงินนิดหน่อย

แต่ถ้าเอาไปถวายพระพุทธเจ้าจะได้บุญมาก

เลยเอาไปถวายพระพุทธเจ้า”

ไข่ตุ๋นตบมือดีใจ

“พระพุทธเจ้าทรงรับมะม่วงจากนายคัณฑะแล้ว ทรง

แสดงอาการให้พระอานนท์รู้ว่าจะประทับตรงนั้น

พระอานนท์ปูจีวรถวาย แล้วพระอานนท์ก็กรองน้ำ

เอามะม่วงทำเป็นน้ำ ปานะถวาย

พระพุทธเจ้าเสวยแล้ว

รับสั่งให้นายคัณฑะคุ้ยดินขึ้นปลูกมะม่วงตรงนั้น

ทรงล้างพระหัตถ์บนหลุมมะม่วง

มะม่วงก็งอกโตขึ้นทันทีเลยสูงประมาณ ๕๐ ศอก มีกิ่งใหญ่ ๕

กิ่ง แผ่ไป ๔ ทิศ ทิศละกิ่ง

แล้วชูขึ้นไปบนฟ้าอีกกิ่งหนึ่ง แต่ละกิ่งยาวประมาณ ๕๐

ศอกเหมือนกัน มะม่วงนั้นมีช่อมีมะม่วงสุกเยอะแยะไปหมดเลย

พระที่ตามพระพุทธเจ้ามาทีหลัง ก็ได้ฉันมะม่วงพวกนี้ด้วย

พระราชาได้ทราบว่ามีต้นมะม่วงใหญ่ที่พระพุทธเจ้าจะใช้แสดงปาฏิหาริย์

จึงให้ทหารมารักษาต้นมะม่วงนั้น ไม่ให้ใครมาตัดได้

มะม่วงต้นนั้นได้ชื่อว่าคัณฑามพฤกษ์ เพราะนายคัณฑะ

ปลูกไว้

พวกนักเลงก็มากินมะม่วง

แล้วเอาเมล็ดมะม่วงปาพวกเดียรถีย์”

ไข่ตุ๋นหัวเราะหึหึ

“ตำนานเล่าว่า ท้าวสักกะบันดาลให้เกิดพายุใหญ่

หอบเอามณฑปพวกเดียรถีย์ไปทิ้งกระจายเลย มีเทวดาชื่อ

วาต-วลาหกเทพบุตร โปรยฝุ่นลงบนตัวของพวกเดียรถีย์

แล้วฝนเม็ดใหญ่ๆ ก็ตกลงมา

เนื้อตัวของพวกเดียรถีย์เลยดูกระดำ- กระด่างไปเลย

วิ่งหนีกันใหญ่

มีอาจารย์คนหนึ่งของพวกเดียรถีย์ชื่อ ปูรณกัสสป

วิ่งหนีไป พอดีไปเจอลูกศิษย์คนหนึ่ง

เป็นชาวนาหอบหม้อข้าวต้มกับเชือกมา

กำลังจะมาดูอาจารย์แสดงปาฏิหาริย์

พอวิ่งสวนกันอาจารย์เลยขอหม้อขอเชือกจากลูกศิษย์

แล้ววิ่งไปที่แม่น้ำผูกหม้อแล้วผูกคอตัวเอง

กระโดดน้ำตายไปเลย”

“โอ๊ย เลยไม่ได้ดูพระพุทธเจ้าแสดงด้วย”

“ตอนบ่ายพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากพระคันธกุฎี

คือที่พักของพระพุทธเจ้า มาประทับยืนที่หน้ามุข

พระสาวกขอแสดงปาฏิหาริย์แทน

เพื่อแสดงว่าขนาดสาวกยังทำได้มากเท่านี้

พระพุทธเจ้าจะทำได้มากเท่าไหร่

เช่นสาวกจะทำแผ่นดินให้เป็นทะเล แล้วดำน้ำลงไป

ชำแรกภูเขาให้คนดู เคี้ยวกินภูเขา ม้วนแผ่นดิน เป็นต้น

แต่พระพุทธเจ้าปฏิเสธข้อเสนอหมด

จะทรงแสดงพระยมกปาฏิหาริย์”

“คืออะไรหรือจ๊ะ ยมกปาฏิหาริย์นี่”

ไข่ตุ๋นสงสัย คำชื่นอธิบาย

“ยมกปาฏิหาริย์นั้นแปลว่า

ปาฏิหาริย์ที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำเป็นคู่ๆ พระสาวกอื่นๆ

ไม่สามารถทำได้ เช่น

1. ท่อไฟ ไหลออกจากพระกายเบื้องบน

ท่อน้ำ ไหลออกจากพระกายเบื้องล่าง

2. ท่อไฟ ไหลออกจากพระกายเบื้องล่าง

ท่อน้ำ ไหลออกจากพระกายเบื้องบน

3. ท่อไฟ ไหลออกจากพระกายเบื้องหน้า

ท่อน้ำ ไหลออกจากพระกายเบื้องหลัง

4. ท่อไฟ ไหลออกจากพระกายเบื้องหลัง

ท่อน้ำ ไหลออกจากพระกายเบื้องหน้า ฯลฯ

ในทำนองเดียวกัน ท่อไฟและท่อน้ำ

ไหลออกจากพระกายเบื้องซ้าย เบื้องขวา จากพระโสต (หู)

พระนาสิก (จมูก) พระอังสะ (บ่า) พระหัตถ์ (มือ)

พระองคุลี (ข้อนิ้ว) ขุมพระโลมา (ขุมขน) แต่ละขุม

ทรงเปล่งพระฉัพพรรณรังสี คือสีเขียว เหลือง แดง ขาว

หงสบาท (แดงเหมือนดอกหงอนไก่) และประภัสสร

(เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก)

ท่อไฟที่ไหลออกมานั้น เพราะทรงเข้าเตโชกสิณสมาบัติ

(กสิณไฟ) ท่อน้ำที่ไหลออก เพราะทรงเข้าอาโปกสิณสมาบัติ

(กสิณน้ำ)

ทรงแสดงปาฏิหาริย์บ้าง

ทรงแสดงธรรมให้ประชาชนที่มาชมบ้าง

มีผู้ฟังแล้วได้เห็นธรรมขึ้นมากมาย

ในขณะที่ทรงแสดงธรรม พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า

ไม่มีใครสามารถถามปัญหาพระองค์ได้

จึงทรงเนรมิตพระพุทธนิมิตขึ้นองค์หนึ่ง

สำหรับถามและตอบปัญหา

ทรงผลัดเปลี่ยนกันแสดงธรรมกับพระพุทธนิมิตตลอดเวลา”

“ชื่นใจจัง บรรยากาศคงมหัศจรรย์มากเลยนิ” ไข่ตุ๋นชื่นชม

“ยิ่งใหญ่มากกกกเลยเนี่ย”

คำชื่นก็ชื่นชมด้วย

เมื่อนึกถึงภาพเรื่องราวที่กำลังเล่า

“ในขณะนั้น พระพุทธเจ้าทรงดำริว่า พระพุทธเจ้าในอดีต

เวลาท่านแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว ท่านเสด็จไปจำพรรษา ณ

ที่ใด ทรงทราบว่าเสด็จจำพรรษา ณ ภพดาวดึงส์

ดังนั้น พอพระพุทธเจ้าทำปาฏิหาริย์เสร็จ

ท่านจึงเสด็จไปดาวดึงส์ ด้วยอานุภาพของพระองค์

ไปจำพรรษาอยู่ดาวดึงส์

ในพรรษานั้นท่านก็เทศนาโปรดพระมารดา

ที่ดาวดึงส์นั้นด้วย”

ไข่ตุ๋นซาบซึ้งพระพุทธเจ้ามากมาย

เก็บหนังสไปเดอร์แมนเข้าลิ้นชัก บอกคำชื่นขำๆ ว่า

“เอาเข้าลิ้นชักก่อน สไปเดอร์แมนตัวนี้ไม่ใช่ปาฏิหาริย์

เป็นแค่ปาxxx่ แหะ แหะ”





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2005, 4:12 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อนาถปิณฑิกเศรษฐี





เปี่ยมปรีดานั่งสบายอยู่ในศาลาใต้ร่มไม้

มองเงาต้นไม้ที่ทอดลงในสระ

เด็กน้อยคนหนึ่งกำลังโยนขนมปังลงไปเลี้ยงปลา

โดยมีคุณพ่ออยู่ข้างๆ คอยชี้หาปลาให้

เสร็จพิธีทำบุญของวัดแล้ว ตอนนี้ทุกคนกำลังหาอะไรทานกัน

หมูหวานเอาอาหารมานั่งกินกันที่ศาลา

“วันนี้หลวงพ่อเทศน์สนุกดี” หมูหวานเอ่ย

เริ่มกินข้าวกับไข่พะโล้ของโปรด

“เรื่องอนาถปิณฑิกเศรษฐีนี่ ได้ยินชื่อบ่อยนะ”

เปี่ยมปรีดาเปรย วันนี้หลวงพ่อเทศน์เรื่องการให้ทาน

หมูหวานพยักหน้าเห็นด้วย

“เขาเป็นยอดผู้ให้ทาน และเป็นคนสำคัญพอๆ กับนางวิสาขา

มีเรื่องอะไรก็ต้องมีสองคนนี้เข้ามาช่วยเกี่ยวด้วยทุกที”

“แล้วรู้ประวัติของเขามั้ย” เปี่ยมปรีดาชักสนใจ

หมู-หวานพยักหน้าหงึกหงัก

“รู้ซี เพราะคนนี้เราชอบ เรื่องสนุกดี”

“เออ งั้นเล่าให้ฟังหน่อยซี” เปี่ยมปรีดารุก

หมูหวานจึงเริ่มเล่า

“อนาถปิณฑิกเศรษฐี ใครเข้าวัดเข้าวามาศึกษาธรรม

แล้วไม่รู้จักคนนี้ไม่ได้นะ เดี๋ยวอนาถ จะเชยมากไป

เขาดัง ชื่อเขาไม่ได้แปลว่าอนาถานะ

แต่เขาแปลว่าผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา เป็นไง ซึ้งมั้ย”

เปี่ยมปรีดาหัวเราะ ครางรับ อือ อือ ในลำคอ

“ชื่อจริงคือสุทัตตะ ตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ

เขายังไม่รู้จักหรอก

มีวันหนึ่งเดินทางไปหาเพื่อนที่กรุงราชคฤห์

พอไปถึงบ้านเพื่อน เขาก็ออกมาต้อนรับนิดหน่อย

แล้วรีบกลับไปสั่งคนทำโน่นทำนี่วุ่นไปหมด

สุทัตตะถามว่ามีงานอะไร เพื่อนบอกว่า

พรุ่งนี้ได้อาราธนาพระพุทธเจ้ามาเสวยที่บ้าน

สุทัตตะก็ว่า โอ้ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกแล้วหรือนี่”

หมู-หวานทำเสียงตื่นเต้นประกอบการเล่า

“เพื่อนบอกใช่ แล้วสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้ามากมายเลย

ทำให้สุทัตตะตื่นเต้นมากกกกก.....ค่าอาหารเลี้ยงพระพุทธเจ้าเท่าไหร่

เสนอออกให้เกลี้ยงเลย แต่เพื่อนไม่ยอม บอกว่า

โอ๊ย จะเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม กว่าจะนิมนต์ได้

ฉันจองเป็นหลายนานนะ โอกาสอย่างนี้คอยมานาน

จะมายกให้ง่ายๆ ได้ยังไง

สุทัตตะ

เป็นคนที่บุญกุศลแต่ชาติปางก่อนมาหล่นแปะลงบนตักแล้ววันนี้

ทำให้ปีติซาบซ่านไปหมด แค่ได้ยินคำว่า พระพุทธเจ้า

คิดว่าจะต้องไปเฝ้าให้ได้ แต่ก็ค่ำมืดต้องรอให้สว่างก่อน

คืนนั้นผวาตื่น ๓ ครั้ง เพราะคิดว่าเช้าแล้ว

แต่ที่จริงยังไม่เช้า

พอเริ่มเช้าก็ออกไปเลย ไปถึงประตูเมืองยังปิดอยู่

ต้องไปนั่งอ้อนวอนคนเฝ้าประตูซะเพลีย

กว่าจะยอมเปิดประตูให้ แล้วเขาก็รีบเผ่นแน่บไปเลย

ไปหาพระพุทธเจ้า

ตอนนั้นพระพุทธเจ้าอยู่ที่สีตวัน เป็นทางเปลี่ยว

แต่ก็ไม่กลัวอะไรแล้ว จะไปหาพระพุทธเจ้าท่าเดียว

พระพุทธเจ้าทรงตื่นบรรทมแล้ว ปกติในตอนเช้าๆ

พระพุทธเจ้าจะทรงแผ่ข่ายพระญาณไปดูนะว่าวันนี้ควรจะโปรดใคร

บุญใครจะมาถึงวันนี้แล้วมั่ง

เห็นสุทัตตะว่าจะได้บรรลุธรรม ทรงคอยอยู่ พอเขามาถึง

ท่านจึงตรัสว่า เข้ามาเถิด สุทัตตะ ตถาคตอยู่นี่”

“หืม ขนลุก ปลื้ม แหม ท่านเรียกอย่างนี้

เป็นเราปลื้มใจตาย” เปี่ยมปรีดาว่า

หมูหวานพยักหน้าเห็นด้วย

“ใช่

สุทัตตะก็ปลื้มมากเหมือนกันที่ทรงตรัสเรียกเขาถูกโดยไม่รู้จักกันมาก่อน

แล้วกราบทูลว่า

เป็นโชคดีของข้าพเจ้ายิ่งแล้วที่ได้มาเฝ้าพระองค์สมปรารถนา

ข้าพระองค์รอคอยจนพระองค์เสด็จเพื่อเสวยอาหารไม่ไหว

ต้องออกมาเฝ้าก่อน แล้วทูลว่า

เมื่อคืนนี้ราตรียาวนานเสียเหลือเกิน

หม่อมฉันรู้สึกเหมือนเดือนหนึ่ง

เป็นเวลานานเหลือเกินที่สัตว์โลกจะได้สดับคำว่า พุทโธ

พุทโธ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อน สุทัตตะ

ผู้ตื่นอยู่มิได้หลับ ย่อมรู้สึกว่าราตรีหนึ่งยาวนาน

ผู้ที่เดินทางจนเมื่อยล้าแล้ว

รู้สึกว่าโยชน์หนึ่งเป็นหนทางที่ยืดยาว แต่สังสารวัฏ

คือการเวียนว่ายตายเกิด ของสัตว์ผู้ไม่รู้พระสัทธรรม

ยังยาวนานกว่านั้น”

เปี่ยมปรีดาซาบซึ้งไปกับคำสุภาษิต

ชมหมูหวานว่าเทศน์ได้ดี หมูหวานปลื้ม

เอ่ยสุภาษิตอย่างมีจังหวะจะโคนไพเราะ

“ดูก่อน สุทัตตะ สังสารวัฏนี้

หาเบื้องต้นเบื้องปลายได้โดยยาก

สัตว์ผู้พอใจความเกิดย่อมเกิดบ่อยๆ และการเกิดบ่อยๆ นั้น

ตถาคตกล่าวว่าเป็นความทุกข์

เพราะสิ่งที่ติดตามมาคือความชรา ความเจ็บ และความตาย

มีการต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก

และต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความแห้งใจ

ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ

อุปมาเหมือนเห็ดที่โผล่ขึ้นมาจากดิน

ก็ต้องนำดินติดขึ้นมาด้วย หรืออุปมาเหมือนโค

ซึ่งเทียมเกวียนแล้วจะเดินไปไหน

ก็มีเกวียนติดตามไปทุกแห่ง

สัตว์โลกเกิดมามีทุกข์ประจำตัว

ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออกไป

ความทุกข์ติดตามอยู่เสมอ

เหมือนล้อเกวียนที่ต้องตามโคไปทุกฝีก้าว

ดูก่อนสุทัตตะ แม้ต้นไม้จะถูกตัดแล้ว แต่รากยังมั่นคง

ก็สามารถขึ้นได้อีก เช่นเดียวกัน เมื่อบุคคลยังไม่ถอน

ตัณหา-นุสัยออกไปจากใจ ความทุกข์ก็เกิดได้บ่อยๆ”

“ตัณหานุสัยนี่อะไร” เปี่ยมปรีดาถาม

“ตัณหาคือความอยาก อยากได้นั่นได้นี่

อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้

อยากให้ไม่เป็นอย่างนั้นไม่เป็นอย่างนี้

อนุสัยคือนิสัยลึกๆ มีนิกเนมว่าสันดาน ตัณหานุสัย

คือความอยากที่นอนแช่อยู่ติดแหมะกับสันดาน

ไม่ยอมหายไปไหน รักเจ้าของมาก ไล่ก็ไม่ไป”

หมูหวานหัวเราะ เปี่ยมปรีดาถึงบางอ้อ

หมูหวานจึงเทศน์ต่อด้วยสุ้มเสียงกังวาน

“สุทัตตะเอย น้ำตาของสัตว์ผู้ต้องร้องไห้

เพราะความทุกข์โทมนัสทับถม

ในขณะที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏนี้มีมากเหลือคณา

บอกไม่ได้เลยว่ามีเท่าไหร่

กระดูกคนตายถ้าเอามารวมกันหมดคงกองสูงเท่าภูเขา

บนแผ่นดินนี้ไม่มีตรงไหนเลย ที่ไม่เคยมีคนตาย

แต่แผ่นดินนี้กลับเกลื่อนกล่นไปด้วยกระดูกของสัตว์ที่ตายแล้วตายเล่า

ทุกย่างก้าวของคนเราเหยียบย่ำไปบนกองกระดูก นั่ง นอน

บนกองกระดูก เพลิดเพลินสนุกสนานอยู่บนกองกระดูกทั้งสิ้น

ไม่ว่าภพไหนๆ ล้วนมีลักษณะเหมือนกองไฟ

คือสัตว์ทั้งหลายดิ้นรนอยู่ในความทุกข์

เหมือนเต่าที่เขาโยนลงในกองไฟทั้งสิ้น”

“ฟังแล้วสลดใจจังเลย”

เปี่ยมปรีดาส่งใจไปตามคำบรรยายที่หมูหวานเล่า

หมูหวานชะงักดูเพื่อน

“เดี๋ยวก็บรรลุหรอก” หมูหวานว่า

“นี่แค่นักเล่านิทานนะเนี่ย

นี่ถ้าเจอพระพุทธเจ้าสงสัยบรรลุเลย”

ว่าแล้วหมูหวานก็หัวเราะ

“แต่สุทัตตะน่ะบรรลุไปเลยนะ ได้ดวงตาเห็นธรรม

เป็นพระโสดาบันไปเลย พระพุทธเจ้าจึงตรัสในตอนสุดท้ายว่า

การได้เกิดเป็นคนเป็นของยาก

การดำรงชีวิตอยู่ของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นของยาก

การได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ คือคนดี ก็เป็นของยาก

การอุบัติเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าก็เป็นของยาก ฉะนั้น

การแสดงธรรมของสัตบุรุษ การเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า

ล้วนเป็นเหตุนำความสุขความสงบมาสู่โลก”

ทั้งสองกินข้าวเสร็จแล้ว เก็บข้าวของเรียบร้อย

เปี่ยม-ปรีดาก็นั่งพิงเสา มองไปรอบๆ

เห็นผู้คนบางตาลงแล้ว บรรยากาศในวัดจึงสงบยิ่งขึ้น

พอดีหันไปเห็นฟ้าใสกำลังเดินตามทาง

จึงกวักมือเรียกให้เข้ามาในศาลา

“มาคนเดียวหรือวันนี้” เปี่ยมปรีดาถาม ฟ้าใสยิ้ม

วางตะกร้าเปล่าลงข้างตัว

“ใช่ วันไหนก็มาคนเดียวทั้งนั้นแหละ

คนอื่นเขายังไม่ชอบมากัน ยังไม่กลับกันเหรอ”

เปี่ยมปรีดาพยักพเยิดไปทางหมูหวาน

“นั่งฟังเทศน์รอบสองอยู่” หมูหวานหัวเราะ

ฟ้าใสรู้แกวว่าคนนี้ชอบเล่า “เทศน์เรื่องอะไรล่ะ”

“อนาถปิณฑิกกะ” หมูหวานตอบ

“ตอนไปเฝ้าพระพุทธเจ้าครั้งแรก นี่ คนนี้”

ชี้ไปทางเปี่ยมปรีดา “กำลังจะบรรลุแล้ว ซาบซึ้งตาลอย”

ฟ้าใสหัวเราะ “บรรลุได้ก็ดีซี่ แสดงว่าบุญเยอะ

เรื่องนี้เราชอบตอนสร้างวัด” และโดยไม่รอให้นิมนต์

ฟ้าใสก็เทศน์เอง “ตอนสร้างวัด

ไปขอซื้อที่กับเจ้าชายเชตะ

เจ้าชายโก่งราคาเหลือหลายเหมือนคนสมัยนี้เลย

บอกให้เอาทองมาปูเต็มพื้นที่น่ะ เป็นราคาขาย

เศรษฐีก็สู้นะ ปูจนเกือบเต็มแต่ไม่เต็ม

เหลือที่อีกหน่อยพอดีเงินหมด

ยังดีเจ้าชายเกิดเห็นใจเลยยกที่ตรงนั้นให้”

“ถ้าใจร้าย เดี๋ยวกลายเป็นเจ้าชายกบ”

หมูหวานสอดด้วยนิทานฝรั่ง ทั้งสามหัวเราะกันสนุกสนาน

“พอสร้างวัดเสร็จ ตรงที่ยกให้ตรงนั้นก็ทำซุ้มประตู

และก็เพื่อเรียกแขกน่ะ เหมือนสมัยนี้อีกแหละ

ต้องเชิญไฮโซมาเป็นกิตติมศักดิ์

เอาชื่อเจ้าชายมาตั้งเป็นชื่อวัดเรียกวัดเชตวัน

วันแปลว่า ป่า แต่ใครๆ ก็เรียกต่อท้ายนะว่า

วัดเชตวันวัดของอนาถปิณฑิกเศรษฐี วัดนี้ก็สร้างไปไม่แพง

แค่ ๕๔๐ ล้านเอง”





“อนาถปิณฑิกะนี้ดีนา” หมูหวานต่อ “เป็นคนดีมาก

เวลาไปวัดไม่เคยไปมือเปล่า ต้องมีของติดมือไปด้วยเสมอ

เวลาฟังธรรมก็ไม่เคยถาม

กลัวพระพุทธเจ้าจะคิดว่าตัวเองเป็นคนมาคอยอุปัฏฐากแล้วจะเกรงใจ

เดี๋ยวพระพุทธเจ้าจะต้องมาตั้งใจตอบคำถาม

ทำให้พระพุทธเจ้าลำบาก

พระพุทธเจ้าก็รู้นะว่าคนนี้จะไม่กล้าถาม เพราะเกรงใจ

ท่านเลยเทศน์ให้เองโดยไม่ต้องให้ถาม”

“พระพุทธเจ้าทรงกรุณามากเหลือเกิน” เปี่ยมปรีดา

เอ่ยด้วยความตื้นตันใจอีกครั้ง

“เรื่องลูกชายสิยิ่งขำใหญ่” ฟ้าใสว่าพลางหัวเราะ

“เออใช่” หมูหวานรับรอง “ลูกชายไม่ฟังเทศน์ ไม่ฟังธรรม

ไม่ไปวัด ไม่เหมือนพ่อเลย”

“พ่อเลยจ้างไปฟังธรรม” ฟ้าใสช่วยต่อ “ฟังวันแรกจ้างไป

๑๐๐ กหาปณะ ลูกชายก็ไปวัดนะ แล้วแอบไปนอน ตอนเย็นกลับมา

ทวงตังค์ พ่อก็ให้ พอวันต่อมาพ่อเลยบอกว่า จะให้ ๑,๐๐๐

กหาปณะ แต่ต้องจำข้อธรรมมาสักบทหนึ่งนะ มาพูดให้พ่อฟัง

พระพุทธเจ้าทรงรู้ล่วงหน้าแล้ว ว่าหมอนี่มาฟังเอาตังค์

ทรงบันดาลให้จำไม่ได้

เขาก็เลยต้องตั้งใจฟังยิ่งขึ้นไปอีก ฟังขึ้นไปอีก”

“เลยบรรลุโสดาบันเลย” หมูหวานรวบ เปี่ยมปรีดาตาโต

หัวเราะอีก ถามว่า “จริงเหรอ”

“วันรุ่งขึ้นก็กลับบ้าน พระพุทธเจ้าเสด็จมาด้วย

เศรษฐีถวายอาหารพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์แล้ว

ก็สั่งอาหารมาให้ลูกชายด้วย ลูกชายก็ภาวนาในใจ

ขออย่าให้พ่อเอาตังค์มาให้ตอนนี้เล้ย”

“เสียเซ้วหมด” ฟ้าใสแซว

“แต่พ่อก็เอามาให้” หมูหวานเล่า

“พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกให้เศรษฐีรู้ว่าลูกชายบรรลุโสดาบันแล้ว

พ่อก็ดีใจสุดๆ”

“เป็นเราก็ดีใจสุดๆ เหมือนกัน” เปี่ยมปรีดาสนับสนุน

แล้วถาม “แล้วที่เขาชอบให้ทานนี่ขนาดไหนล่ะ” ฟ้าใสตอบว่า

“ก็ให้ทานมาก บริจาคเงินเลี้ยงภิกษุสงฆ์ทุกวันหลายปี

จนยากจนเลยแหละ แถมยังโดนพวกพ่อค้าที่กู้เงินไปโกงอีก

ไม่ยอมใช้หนี้”

หมูหวานเติมให้ว่า

“สมบัติที่ฝังไว้ใกล้แม่น้ำเกิดฝั่งพัง

สมบัติจมน้ำหายไปหมดเลย ทำไมไม่ฝังไว้บนภูเขาก็ไม่รู้”

“โอย แล้วเป็นไง ยากจนอย่างนั้นน่ะ”

เปี่ยมปรีดามีท่าทางเป็นห่วง ฟ้าใสหัวเราะ

“ก็ยังให้ทานเหมือนเดิม แต่มีแค่ข้าวหักป่นกับน้ำผักดอง

พระพุทธเจ้าถามว่า ยังให้ทานอยู่หรือ

เขาตอบว่าให้ทานอยู่ แต่ของไม่ค่อยดี”

“ภาษาสมัยนั้น เขาพูดว่าเศร้าหมอง” หมูหวานบอก

“แต่พระพุทธเจ้าปลอบใจว่า

อย่าคิดว่าทานของท่านเศร้าหมอง

เพราะมีจิตประณีตคือจิตดีแล้ว ทานที่ถวายก็ถือว่าดีด้วย

ไม่เศร้าหมอง

แล้วการถวายทานแด่พระอริยเจ้าที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

มีอานิสงส์ผลบุญมาก

ขนาดพระพุทธเจ้าเองสมัยที่เกิดเป็นเวลามพราหมณ์

ให้ทานแก่ชาวชมพูทวีปมากมาย แต่ไม่มีทักขิไณยยบุคคล

คือผู้ที่สมควรรับของทำบุญเลย คือไม่มีพระอริยะเลย

ตอนนี้เศรษฐีได้พบอริย-สงฆ์ เพื่อรับทานก็ดีแล้ว”

เปี่ยมปรีดาฟังอย่างพิจารณาไตร่ตรอง หมูหวานเล่าว่า

“ตอนนั้นเทวดาที่สถิตอยู่ที่ซุ้มประตูบ้านอนาถปิณฑิกะ

เหาะมาหา บอกว่าทำไมเศรษฐีให้ทานมากจนยากจนอย่างนี้

จะได้ประโยชน์อะไร ตัวเองก็เกือบไม่มีจะกินอยู่แล้ว

การให้ทานแก่พระสมณโคดมและสาวกมีประโยชน์อะไร

ยังบอกว่าถ้าอานิสงส์ผลบุญมีจริง

อนาถปิณฑิกะก็ไม่ควรยากจนลง ยิ่งทำบุญน่าจะยิ่งรวยขึ้น

ขอให้เลิกให้ทานเสียเถอะ

รีบไปขวนขวายทำมาค้าขายจะได้รวยเหมือนเดิม”

“โอ้โฮ” เปี่ยมปรีดาคราง “แล้วเป็นไง” หมูหวานหัวเราะ

“โดนเด้งออกจากบ้านเดะ เศรษฐีไล่ บอกมาสอนอย่างนี้

ออกไปเลย ไม่ให้อยู่บ้านแล้ว ไล่เทวดาออกจากบ้าน”

เปี่ยมปรีดาหัวเราะ ฟ้าใสเล่าต่อว่า

“เทวดาก็เลยกะเตงลูกระเหเร่ร่อนไปหาที่อยู่ใหม่

แต่มันหาไม่ได้ง่ายๆ นา เลยชักลำบาก

อยากจะกลับมาอยู่ที่เดิม”

“ยังงี้แหละ เขาว่าอยู่ที่ดีแล้วไม่รู้ว่าดี

ต้องออกไปลำบากนั่นแหละ ถึงจะรู้ว่าดีแล้ว” หมูหวานเบื่อ

ฟ้าใสต่อ

“ก็เลยไปเที่ยวอ้อนวอนเทพบุตรผู้รักษาพระนคร

ให้ช่วยไปพูดกับเศรษฐีหน่อย เทพบุตรไม่กล้าไป

บอกให้ไปหาท้าวสักกะ ท้าวสักกะก็แนะว่า

ให้เทวดาปลอมเป็นเสมียนของเศรษฐี เอาหนังสือสัญญาเงินกู้

๑๘๐ ล้านที่ถูกโกงไปน่ะ ให้ไปตามเก็บมาให้หมด

แล้วให้เทวดาไปงมเอาสมบัติที่จมน้ำหายไปอีก ๑๘๐

ล้านมาคืน แถมยังให้เอาสมบัติที่อยู่อีกแห่งหนึ่ง

อันนั้นหาเจ้าของไม่ได้ เอามาให้เศรษฐีอีก ๑๓๐ ล้าน

เอาทั้งหมดเนี่ยมากองให้เต็มห้องเลย

แล้วค่อยไปขอโทษเศรษฐี เทวดาก็รีบทำตามจนเสร็จ

แล้วเข้าไปหาเศรษฐี ขอให้ยกโทษให้”

หมูหวานบอกว่า

“เทวดาว่าอย่างนี้น่ะ ข้าพเจ้าคือเทวดาอันธพาล

สมัยนี้ไม่เห็นมีใครพูดอย่างนี้เลยแฮะ

สถิตอยู่ซุ้มประตูที่ ๔ ของบ้านท่าน

คำอันใดที่ข้าพเจ้าพูดไป เพราะความอันธพาล

ขอท่านจงอภัยแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ไปรวบรวมทรัพย์มา

๕๔๐ ล้าน สมัยนั้นเขานับเป็น ๕๔ โกฏินะ ๑๐ ล้านเป็น ๑

โกฏิ ข้าพเจ้าเอามาบรรจุไว้เต็มห้องแล้ว

ตามบัญชาของท้าวสักกะ ข้าพเจ้าลำบาก ไม่มีที่อยู่”

หมูหวานทำเสียงออดอ้อน ฟ้าใสต่อ

“เศรษฐีคิดว่า เทวดานี่รู้สึกสำนึกแล้ว ก็จะให้อภัย

แต่ต้องให้พระพุทธเจ้าให้อภัยก่อน ตัวเองจะให้อภัยทีหลัง

เลยพาไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เอ้า ออดอ้อนเร็วหมูหวาน”

ฟ้าใสสั่งเพื่อนด้วยเสียงหัวเราะ หมูหวานเริ่มออด

“ข้าพระพุทธเจ้าไม่ทราบพระคุณของพระองค์

ได้กล่าวคำชั่วช้าใดเพราะความอันธพาล

ขอพระองค์จงอดโทษคำนั้นแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วย”

“สมัยนั้นเขาพูดว่าอดโทษ แปลว่าให้อภัย”

ฟ้าใสอธิบายก่อน “พระพุทธเจ้าก็ยกโทษให้อยู่แล้วล่ะ

เทวดาเลยรอดตัวไป ได้กลับไปอยู่แฟลตซุ้มประตูตามเดิม”

“พระพุทธเจ้ายังตรัสให้โอวาทแก่เศรษฐีและเทวดา

เรื่องวิบาก (ผล) แห่งกรรมดีกรรมชั่วว่า

ดูก่อนคหบดี คนบาปในโลกนี้ย่อมเห็นบาปว่าดี

เมื่อบาปยังไม่ให้ผล คนทำกรรมดีก็เห็นกรรมดีเป็นชั่ว

เมื่อกรรมดียังไม่ให้ผล

แม้เมื่อใดกรรมให้ผล เมื่อนั้นคนบาปย่อมเห็นบาป

คนทำกรรมดี ย่อมเห็นอานุภาพของกรรมดี”

เปี่ยมปรีดาซาบซึ้งกับสุภาษิตอีกครั้ง

วันนี้เปี่ยมปรีดาได้ซาบซึ้งหลายครั้ง

ด้วยความที่เป็นคนละเอียดอ่อน จึงซาบซึ้งได้มาก

ดีใจที่เพื่อนๆ ช่วยกันเล่าเรื่องดีๆ ให้ฟัง

รู้สึกเต็มอิ่มเต็มบุญ

เปี่ยมปรีดามีความสุขมากในการมาวัดวันนี้





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2005, 4:14 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นางวิสาขา





ผกาแก้ว ไปดูละครเวทีกับเพลินไฉน

ได้ที่นั่งแถวหน้าของชั้นสอง

ผกาแก้วเพลินกับบรรยากาศในโรงละครที่มีคนเข้าชมมากมาย

เพลินไฉนอ่านสูจิบัตรอยู่อย่างตั้งใจ

ไม่นานนักไฟเวทีก็สลัวลง

คณะดนตรีบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ก่อนเริ่มการแสดง

ม่านกำมะหยี่สีแดงเคลื่อนตัวออกไปสองข้าง

เผยให้เห็นฉากริมฝั่งน้ำ หญิงสาวหลายคนเดินกันเป็นกลุ่มๆ

ท่าทางรื่นเริง

ที่มุมซ้ายของเวทีมีศาลาริมน้ำ

และเบื้องหน้าเป็นพราหมณ์ ๘ คน ยืนมองดูสาวๆ

ที่กำลังเดินกันขวักไขว่

พราหมณ์หนุ่มคนหนึ่ง พูดว่า

“วันนี้เป็นวันนักขัตฤกษ์ประจำปี ดูสิ พวกสาวๆ

ทุกคนที่เคยปิดหน้า วันนี้พากันเปิดผ้าคลุมหน้า

เดินไปท่าน้ำอาบน้ำกัน”

พราหมณ์อีกคนถามว่า

“ตรงนั้นทำไมมีพวกผู้ชายยืนซุ่มๆ อยู่ตั้งหลายคนน่ะ

เห็นมั้ย”

พราหมณ์คนแรกมองตาม

“ก็วันนี้แหละเป็นวันที่อนุญาตให้ชายหนุ่มเอาพวงมาลัยมาคล้องให้หญิงที่ตัวเองรักชอบใจได้ยังไงเล่า

ถ้าผู้หญิงเขาพอใจตอบ เขาก็รับพวงมาลัยไว้

แล้วให้ฝ่ายชายไปสู่ขอกับพ่อแม่ จะได้แต่งงานกัน”

ลึกเข้าไปในเวที

มีหญิงสาวหลายคนที่รับพวงมาลัยจากชายหนุ่ม

และยืนอ้อยอิ่งคุยกันอยู่

เวทีทางขวามือ มีกลุ่มหญิงเดินมากลุ่มหนึ่ง

ผู้นำกลุ่มเป็นหญิงสาวสวย เดินมาด้วยท่วงท่าสง่างาม

หัวหน้าพราหมณ์เดินออกมายืนมองเป็นพิเศษ

“อา นี่แหละ หญิงเบญจกัลยาณี ที่เราเฝ้าติดตามหา”

พราหมณ์ทั้งกลุ่มเริ่มหันมาสนใจเช่นกัน

“ดูสิ เธอมีลักษณะของเบญจกัลยาณี

มีผมงามยาวสลวยลงมาเหมือนกำหางนกยูง

แล้วปลายกลับช้อนขึ้น

ดูริมฝีปากสิ แดงสดเหมือนลูกตำลึงสุก เรียบชิดสนิทดี

งามจริง

ผิวก็งาม ขาวเหมือนดอกกรรณิการ์”

พราหมณ์อีกคนก็ยืนชมชอบอยู่เช่นเดียวกัน “ใช่

หรือถ้าใครผิวดำต้องดำเหมือนดอกบัวเขียว

ก็จะเป็นเบญจกัลยาณีเหมือนกัน

อีกอย่างคือกระดูกงาม คือฟันสวยนั่นเอง

แต่เราจะเห็นฟันของเธอได้อย่างไร”

ขณะนั้นเอง ฝนก็ตกลงบนเวที ผู้ชมตบมือชอบใจ

นักแสดงทั้งหลายวิ่งกันชุลมุน สาวๆ ส่งเสียงวี้ดว้าย

สาวๆ

กลุ่มทางขวาก็พากันวิ่งหน้าเวทีแล้วเข้าไปหลบฝนในศาลา

ยกเว้นหญิงที่พราหมณ์กำลังเอ่ยชม ที่ยังคงเดินเป็นปกติ

เสื้อผ้าเริ่มเปียกปอน ทำให้เห็นรูปร่างงดงาม

เมื่อเธอเดินมาถึงศาลา หัวหน้าพราหมณ์ก็กระแอมเสียงดัง

พูดเปรยๆ ออกไปว่า

“ธิดานี้เฉื่อยชาเหลือเกิน

เมื่อแต่งงานสามีของเธอคงไม่มีอะไรกิน”

หญิงสาวหยุดชะงัก

และเอ่ยถามด้วยเสียงอันไพเราะเหมือนกังสดาล

“ท่านว่าใครคะ”

“ก็เธอนั่นแหละแม่หนู”

“ทำไมจึงว่าฉันคะ”

พราหมณ์ จึงอธิบายว่า “เวลาฝนตก

หญิงบริวารของเธอวิ่งเข้าศาลาเพื่อไม่ให้เปียก

แต่เธอไม่ได้รีบเหมือนคนอื่น ปล่อยให้เสื้อผ้าเปียกหมด”

เธอจึงเอ่ยว่า

“ท่านทั้งหลาย อย่าว่าฉันอย่างนั้น

ฉันแข็งแรงกว่าหญิงบริวารมาก แต่ที่ฉันไม่วิ่ง

เพราะมีเหตุผลบางอย่าง”

พราหมณ์จึงขอให้เธออธิบาย

“เหตุผลประการแรก ธรรมดาหญิงเมื่อวิ่งย่อมดูไม่งาม

ต้องเดินปกติ จึงจะดูงาม

ท่านกล่าวว่าคน ๔ จำพวกวิ่งไม่งาม คือ

พระราชา ผู้ทรงเครื่องประดับ

แล้ววิ่งไปในพระลานหลวงย่อมดูไม่งาม

คนทั้งหลายจะติเตียนว่า พระราชาวิ่งไปเหมือนสามัญชน

ช้างมงคลประดับประดาด้วยคชาภรณ์ แล้ววิ่งไปย่อมดูไม่งาม

ถ้าค่อยๆ เดินไปด้วยลีลาของช้างจึงจะดูงาม

พระภิกษุเมื่อวิ่งไปย่อมไม่งาม

คนทั้งหลายจะติเตียนว่าวิ่งเหมือนคฤหัสถ์

สุดท้ายคือหญิง เมื่อวิ่งไปย่อมได้รับคำติเตียนว่า

ทำไมหญิงนี้วิ่งเหมือนชาย”

พวกพราหมณ์ทั้ง ๘ แสดงท่าทางพออกพอใจ เธอกล่าวต่อไปว่า

“เหตุผลประการที่ ๒ คือพ่อแม่ย่อมถนอมลูกมาแต่เยาว์วัย

หากฉันวิ่งไปอาจสะดุดหรือลื่นหกล้ม มือหรือเท้าหัก

ต้องตกเป็นภาระของครอบครัว ส่วนเสื้อผ้านั้น

เปียกแล้วก็แห้งได้ ดังนั้น ฉันจึงไม่วิ่ง”

ขณะที่เธอพูด พราหมณ์ทั้ง ๘ ก็คอยสังเกตดูฟันของเธอ

หัวหน้าพราหมณ์กล่าวว่า

“ฟันอันงามเช่นนี้ เราไม่เคยเห็นเลย”

พราหมณ์อีกคนหนึ่ง ถามว่า

“เธอชื่ออะไร เป็นธิดาของใคร”

“ฉันชื่อวิสาขา

คุณพ่อฉันคือท่านธนัญชัยเศรษฐีแห่งเมืองสาเกตนี้”

หัวหน้าพราหมณ์หันไปหาพราหมณ์ผู้ถือพวงมาลัยทองคำอยู่

ให้นำมามอบให้หญิงสาว

เธอยังไม่ได้รับพวงมาลัยทองคำ แต่สอบถามความเป็นมา

พราหมณ์เล่าให้ฟังว่า

“พวกเราเป็นตัวแทนของท่านมิคารเศรษฐี แห่งเมืองสาวัตถี

ท่านมีลูกชายชื่อปุณณวัฒนกุมาร

ท่านมิคาระต้องการให้พวกเราสืบเสาะหาหญิงเบญจกัลยาณี

คือผู้ที่มีผมงาม เนื้องาม กระดูกงาม ผิวงาม และวัยงาม

เพื่อไปเป็นสะใภ้

พวกเราเห็นว่า เธอนี้งามสมเป็นเบญจกัลยาณีที่เราค้นหา

จึงขอมอบพวงมาลัยทองคำนี้ให้ โปรดจงรับไว้ด้วยเถิด”

วิสาขารับพวงมาลัยทองคำนั้น

ม่านสีแดงค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้าหากัน

ผู้ชมปรบมือให้นักแสดง





ผกาแก้วหันไปคุยกับเพลินไฉน

“เลือกนางเอกมาสวยดีนะ หน้าตาดูสวยเย็นๆ

สมเป็นนางวิสาขา”

“แต่อีกหน่อยจะไม่สมหรอก” เพลินไฉนหัวเราะเบาๆ

“เพราะนักแสดงคนนี้อีก ๒๐-๓๐ ปีก็จะดูแก่

แต่นางวิสาขาตัวจริงไม่แก่ คืออาจจะแก่กว่าเดิมหน่อย

เมื่อเทียบกับตัวเอง

แต่ถ้าเทียบกับคนอื่นเหมือนจะไม่แก่”

“ทำไมยังงั้น” ผกาแก้วถาม

“ก็เป็นเบญจกัลยาณี คือวัยงาม วัยงามคือมีลูก ๑๐

คนก็ยังสวยเหมือนเดิม นางวิสาขานี่อายุ ๑๒๐ ปีนะ

มีลูกชาย ๑๐ คน ลูกสาว ๑๐ คน มีหลานเป็นร้อยละ

แต่เวลาเดินไปกับหลานนี่ จะเดาไม่ออกว่าคนไหนคุณยาย

คนไหนคุณหลาน สวยพอๆ กัน”

“โอ้โฮ ขนาดนั้น” ผกาแก้วอุทาน





ม่านสีแดงค่อยๆเคลื่อนตัวเปิดอีกครั้ง

เป็นฉากบ้านของธนัญชัยเศรษฐี

มีข้าทาสบริวารมากมายขวักไขว่

ธนัญชัยเศรษฐี กำลังคุยอยู่กับนางวิสาขา

“พ่อได้รับข่าวจากท่านมิคารเศรษฐีแล้วล่ะลูก พวกพราหมณ์

๘ คนได้ไปแจ้งเรื่องของลูกกับเขาแล้ว เขาพอใจมาก

ก็น่าจะพอใจอยู่หรอกนะ ลูกสาวพ่อดีออกอย่างนี้”

วิสาขายิ้ม ก้มหน้าไม่ได้พูดอะไร

“ความจริง ทางมิคารเศรษฐี มีทรัพย์สมบัติอยู่เพียง ๔๐

โกฏิ

เงินเท่านี้เมื่อเทียบกับพ่อแล้วเป็นเงินเพียงเล็กน้อย

แต่พ่อไม่ได้คิดเรื่องนั้นหรอก พ่ออยากให้ลูกได้แต่งงาน

จะได้มีคนคุ้มครองรักษา แค่นี้พ่อก็พอใจแล้ว”

วิสาขาถามว่า “เขาส่งข่าวมาว่ายังไงจ๊ะพ่อ”

“เขาบอกว่า พระเจ้าปเสนทิโกศลจะเสด็จมาด้วย”

“ทำไมท่านจึงเสด็จล่ะจ๊ะพ่อ” วิสาขาสงสัย

“ท่านคงจะเห็นว่า ตระกูลของเราท่านนำมาเอง

ท่านคงจะยกย่องให้เกียรติแก่เรา

ลูกจำได้มั้ยเมื่อตอนที่ลูกยังเล็ก

เราอยู่กับคุณปู่ที่เมืองภัททิยะ ใครๆ

ก็รู้จักเมณฑกเศรษฐีกันทั้งนั้น”

“จำได้ค่ะ” วิสาขาตอบ “พระพุทธเจ้าเคยเสด็จภัททิยนคร

ลูกอายุได้ ๗ ขวบ ได้ฟังธรรมในครั้งนั้นด้วย”

“เมืองภัททิยะของเราอยู่ในแคว้นอังคะ

ซึ่งอยู่ในปกครองของพระเจ้าพิมพิสาร

ครั้งนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปทูลขอเศรษฐีใหญ่สักคนหนึ่ง

พระเจ้าพิมพิสาร

ก็ส่งให้พ่อมาอยู่กับพระเจ้าปเสน-ทิโกศล”

“ลูกยังจำการเดินทางคราวนั้นได้

เรามาถึงที่นี่ในเวลาเย็น

พ่อถึงตั้งชื่อเมืองนี้ว่าเมืองสาเกต”

“ใช่ พ่ออยากตั้งเมืองตรงนี้ ก็ห่างจากสาวัตถีแค่ ๗

โยชน์เท่านั้น ในเมืองสาวัตถีมีคนแออัดมาก

พ่อไม่อยากเข้าไปเพิ่มความแออัดอีก อยู่ตรงนี้แหละดีแล้ว

สบายกว่ากันเยอะเลย”

“พระราชาเสด็จมา ก็คงจะพาข้าราชบริพารมาด้วยมาก

ทีเดียวนะจ๊ะพ่อ”

“พระราชามาสัก ๑๐ องค์ เราก็ยังต้อนรับได้ลูก”

“ท่านมิคารเศรษฐี ก็คงมีคนมาด้วยมากเหมือนกันนะจ๊ะ”

“พ่อว่าคงจะมากันหมดบ้านละมัง

ลูกจะช่วยพ่อต้อนรับดูแลแขกเหรื่อนี่ได้มั้ย วิสาขา

ลูกเป็นคนฉลาด แม้ลูกจะยังอายุน้อย

แต่พ่อเชื่อว่าลูกจะจัดการกับทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างดี”

“ได้จ้ะพ่อ เรื่องนี้ให้เป็นหน้าที่ของลูกเอง

ลูกจะดูแลทุกอย่างจนแม้แต่คนเลี้ยงช้าง

ลูกก็จะจัดเตรียมให้

คนเลี้ยงช้างของพวกเขาจะได้มีโอกาสเที่ยวชมบ้านเมืองของเรา”

วิสาขา ลุกจากที่เดินไปกลางเวที

แสงไฟสาดส่องมาจับที่เธอโดยเฉพาะ

พื้นบริเวณที่นั่งของพ่อค่อยๆ เลื่อนไปทางขวาของเวที

ไฟที่ส่องตรงลงมาหรี่ลงมาก

ทำให้พ่อนั่งอยู่ในความสลัวลาง

นี่เป็นการเปลี่ยนฉากด้วยแสงไฟ

โดยที่ผู้แสดงไม่ต้องลุกออกไป

บริวารคนโน้นคนนี้เดินเข้าไปหาวิสาขาเป็นกลุ่มๆ

เพื่อรับคำสั่งให้ไปเตรียมงานด้านต่างๆ

ในไม่ช้า

ทั่วเวทีก็เหมือนมีงานรื่นเริงประจำปีของเมืองสาเกต

มีคนร้องรำทำเพลง ซุ้มอาหารมีคนไปขอตักอาหารตลอดเวลา

บางคนจับกลุ่มคุยกันสนุกสนาน วิสาขาเดินช้าๆ

ไปดูความเรียบร้อยตามจุดต่างๆ



ไฟเปลี่ยนมาเจิดจ้าบริเวณที่นั่งของธนัญชัยเศรษฐี

ซึ่งขณะนี้มีพระเจ้าปเสนทิโกศลประทับอยู่ด้วย

พร้อมกับมิคาร-เศรษฐี

พระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสว่า

“เราก็มาอยู่ได้ ๒-๓ วันแล้ว

เศรษฐีจะเลี้ยงดูพวกเราก็ลำบากนัก จงรีบส่งลูกสาวเถิด”

ธนัญชัยเศรษฐีทูลว่า

“บัดนี้ฤดูฝนแล้ว การเสด็จไปเป็นการลำบาก

ขอให้ทรงประทับที่นครสาเกตนี้ การบริการต่างๆ

แก่ไพร่พลของพระองค์ เป็นหน้าที่ของข้าพระองค์

พระองค์จะเสด็จกลับได้ก็เมื่อข้าพระองค์จะส่งเสด็จพระเจ้าข้า”

พระเจ้าปเสนทิโกศล และมิคารเศรษฐี แสดงความพอใจ

และแสงไฟมุมนี้ก็สลัวลง กลับไปเจิดจ้าตรงกลางทั่วเวที

ซึ่งดูเหมือนงานรื่นเริงที่มีชีวิตชีวาอย่างยิ่ง

มีชายกลุ่มหนึ่ง เดินออกมาทางซ้ายของเวที

และเดินมาจนเกือบถึงกลางเวที ธนัญชัยเศรษฐี

เดินมาจากทางขวา และได้มายืนสนทนากันตรงกลางเวที

ธนัญชัยเศรษฐีกล่าวว่า

“นี่แน่ะ นายช่างทอง

เราต้องการให้พวกท่านทำเครื่องประดับ มหาลดาปสาธน์

ทำด้วยทองสุกพันลิ่ม เงิน แก้วมณี แก้วมุกดา แก้วประพาฬ

และเพชร ที่มีจำนวนเท่าทอง”

ช่างทองยกมือขึ้นพนม “ต้องใช้เวลามากนะท่านเศรษฐี”

“ต้องใช้เวลาเท่าใด”

“ประมาณ ๔ เดือนขอรับ”

“ตกลง” เศรษฐีกล่าว

ช่างทองเดินกลับออกไปทางซ้ายของเวที

เศรษฐีเดินกลับไปนั่งที่มุมขวาตามเดิม

นั่งคุยกับพระเจ้าปเสนทิโกศล และมิคารเศรษฐีในแสงไฟสลัว





กลุ่มรื่นเริงต่างๆ กลางเวที ค่อยๆ

ทยอยถอนออกไปทีละกลุ่ม

ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มใหม่ซึ่งแต่งตัวและเตรียมข้าวของสำหรับการเดินทางค่อยๆ

ทยอยเข้ามาแทนที่ทีละกลุ่มเหมือนกัน ดังนี้เรื่อยๆ ไป

จนกลางเวทีทั้งหมดได้กลายเป็นภาพของการเตรียมการเดินทางขนานใหญ่ของผู้คนจำนวนมาก

พื้นส่วนห้องที่นั่งของธนัญชัยเศรษฐี เลื่อนกลับมา

กลางเวที ธนัญชัยเศรษฐี พระเจ้าปเสนทิโกศล

และมิคารเศรษฐี กำลังสนทนากันเรื่องการเดินทาง

“ข้าพเจ้าได้ให้อุปกรณ์เครื่องเรือนทุกอย่างแก่วิสาขา

เพื่อจะได้ไม่ต้องเดือดร้อน

เมื่อจะหยิบจับใช้สอยและให้วัวไปหนึ่งหมื่นตัว

ส่วนคนรับใช้ชายหญิงนั้นแล้วแต่ใครจะสมัครใจไป”

มิคารเศรษฐี พูดว่า “คนติดตามไปมากเกินไป จริงๆ ขอรับ

ข้าพเจ้าให้ลดลงเสียบ้างน่ะขอรับ คงจะเอาไปหมดไม่ไหว”

“พวกเขาจะเลี้ยงตัวเขาเองแหละท่าน”

ธนัญชัยเศรษฐีแก้ไขให้ แต่มิคารเศรษฐีส่ายหัว

“ขอลดเถอะขอรับ

ข้าพเจ้าบอกไปแล้วว่าอนุญาตให้ใครไปบ้าง”

“งั้นก็ตามแต่ท่านเถอะ”

ขณะนั้น

กลุ่มนายช่างทองเดินเข้ามาและนั่งลงทางเบื้องซ้าย

วิสาขาเดินออกมาจากเวทีด้านขวา

สวมชุดเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์สวยงามมายืนนิ่งอยู่

แสงไฟส่องจับเธอจนดูโดดเด่นงามตา

ผู้ชมปรบมือต้อนรับกันเกรียว

เพราะชุดเครื่องประดับนั้นสวยงามแปลกตาและดูหรูหรามาก

ช่างทองคนหนึ่งลุกขึ้นยืนอ่านใบรายงานว่า

“เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ มีเครื่องประกอบคือ เพชร ๔

ทะนาน แก้วมุกดา ๑๑ ทะนาน แก้วประพาฬ ๒๐ ทะนาน แก้วมณี

๓๓ ทะนาน

ส่วนที่พึงใช้ด้ายใช้เงินแทน

เครื่องประดับคลุมศีรษะยาวลงมาจรดหลังเท้า

ลูกดุมทำด้วยทอง ห่วงลูกดุมทำด้วยเงิน

นกยูงรำแพนที่ประดับเหนือศีรษะ ทำด้วยวัตถุต่อไปนี้

ขนปีกขวาทำด้วยทอง ๕๐๐ ขน ขนปีกซ้ายทำด้วยทอง ๕๐๐ ขน

จะงอยปากทำด้วยแก้วประพาฬ นัยน์ตาทำด้วยแก้วมณี

คอและแววหางทำด้วยแก้วมณี ก้านขนทำด้วยเงิน ขาทำด้วยเงิน

เครื่องประดับนี้มีราคา ๙ โกฏิ ค่าแรงงาน ๑ แสน

ขอรับท่าน”

ม่านกำมะหยี่สีแดงค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้ามา





ผกาแก้วหันไปบอกเพลินไฉน

“ชุดมหาลดาปสาธน์นี่สวยจริงๆ นะ

แต่จะใส่ยังไงคงจะหนักแย่เลย”

“ก็ไม่ได้ใส่บ่อยหรอก

ท่านว่าในชมพูทวีปมีผู้หญิงมีบุญอยู่ ๓

คนเท่านั้นที่ได้เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์ คือ วิสาขา

มัลลิกา ภรรยาของพันธุลเสนาบดี

และลูกสาวเศรษฐีเมืองพาราณสีอีกคนหนึ่งเท่านั้น”

“นับเป็นของหายากและก็มียากด้วยใช่มั้ย”

“คือเครื่องประดับนี้เป็นผลแห่งการถวายจีวร

ท่านว่าอย่างนั้น ถ้าเป็นชายก็จะได้รับจีวรและบาตร

ด้วยฤทธิ์นะ เวลาบวชแล้วก็จะมีจีวรและบาตรขึ้นมา

เรียกว่าเป็นอานิสงส์แห่งจีวรทาน”





ฉากที่ ๓ บนเวทีเป็นฉากบ้านของมิคารเศรษฐี

เศรษฐีกำลังเลี้ยงอาหารพวกชีเปลือย

โดยนักแสดงแต่งชุดแนบเนื้อสีเนื้อตลอดตัว

ผมเผ้ายาวรุงรังลงมาตามหลังไหล่ มีจำนวนเกือบ ๑๐ คน

นั่งกินอาหารกันอยู่

ครู่ใหญ่ เศรษฐีสั่งให้คนไปเรียกวิสาขา

“เจ้าจงไปพาวิสาขามาไหว้พระอรหันต์”

คนรับใช้เดินไปหาวิสาขา

ซึ่งนั่งอยู่ในเงาสลัวมุมขวาของเวที

เมื่อคนรับใช้เดินไปถึงก็นั่งคุกเข่าลง

ไฟที่มุมนี้ก็เจิดจ้าขึ้น เห็นวิสาขานั่งฟัง

“ท่านเศรษฐีให้มาเชิญท่านไปไหว้พระอรหันต์”

“พระอรหันต์หรือ เราจะได้กราบพระอรหันต์ โอ ดีจริง”

วิสาขารีบลุกเดินไปยังที่มิคารเศรษฐีนั่งอยู่

พอเธอเห็นพวกชีเปลือยกำลังกินข้าว แทนที่จะเป็นภิกษุสงฆ์

ก็ผงะถอยหลัง มีอาการกระดาก หันมารำพึงกับตนเองว่า

“คนไม่มีความอายเช่นนี้ จะเป็นอรหันต์ไม่ได้

ทำไมคุณพ่อจึงเรียกเรามา”

เธอแสดงอาการนิ่งเฉย ไม่ไหว้ ไม่นั่ง

แล้วเดินกลับไปเสียเฉยๆ

พวกชีเปลือยเห็นอาการดังนั้น ก็กล่าวตำหนิเศรษฐี

“ท่านเศรษฐี หญิงอื่นที่ดีกว่านี้ไม่มีแล้วหรือ

ทำไมเอาหญิงกาฬกรรณีอย่างนี้มาเป็นสะใภ้

จงไล่เธอออกจากบ้านโดยเร็วเถอะ”

เศรษฐีรำพึงเบาๆ ว่า

“สะใภ้เรามาจากตระกูลใหญ่

จะขับไล่เธอไปเพียงเพราะคำพูดของพระคุณเจ้า ก็ไม่สมควร”

เศรษฐีจึงรีบเข้าไปพูดกับชีเปลือยว่า

“ท่านทั้งหลายอย่าถือสาเลย นางเป็นเด็ก

ทำไปด้วยรู้บ้างไม่รู้บ้าง”

พวกชีเปลือยก็ค่อยๆ เดินออกไปจากเวที

เศรษฐีกลับมานั่งที่โต๊ะ ลงมือรับประทานข้าว

วิสาขาเข้ามาปรนนิบัติอยู่ใกล้ๆ

ขณะนั้นพระภิกษุรูปหนึ่งมายืนอยู่หน้าเรือน

วิสาขาก็ไปยืนอยู่ข้างหนึ่ง เพื่อให้พ่อผัวสังเกตเห็นพระ

เศรษฐีเห็นพระแล้ว แต่ก็ก้มหน้ากินข้าวต่อไปอย่างไม่สนใจ

วิสาขาท่าทางผิดหวัง ครู่หนึ่งจึงหันไปกล่าวกับพระว่า

“นิมนต์ข้างหน้าเถิด พ่อผัวของดิฉันกำลังบริโภคของเก่า”

พระภิกษุเดินจากไป เศรษฐีลุกขึ้นพรวดพราด

ตะโกนให้คนรับใช้ยกข้าวออกไปด้วยความโมโห

แล้วชี้หน้าวิสาขา

“เธอจงกลับบ้านไปซะ มาหาว่าเรากินของไม่สะอาดได้ยังไง”

วิสาขาพูดเสียงเรียบๆ

“คุณพ่อ ดิฉันไม่ยอมออกจากบ้านด้วยเรื่องเพียงเท่านี้

คุณพ่อไม่ได้พาดิฉันมาเหมือนพาคนรับใช้มานะคะ

ดิฉันเป็นลูกของตระกูลที่ยังมีพ่อแม่ เมื่อดิฉันมา

คุณพ่อของดิฉันได้ให้พราหมณ์ ๘ คนมาด้วย

เพื่อคอยดูแลและชำระโทษของดิฉันถ้าหากมีขึ้น

ดิฉันขอให้เรียกพราหมณ์ทั้ง ๘ คนมาชำระโทษก่อน”

มีพราหมณ์ ๘ คนเดินออกมาทางด้านซ้าย

เศรษฐีเข้าไปพบและสนทนากันเบาๆ อยู่ครู่หนึ่ง

วิสาขายืนคอยอยู่เงียบๆ ท่าทางมั่นอกมั่นใจ

พราหมณ์คนหนึ่งก้าวมาข้างหน้า

ถามวิสาขาว่าเป็นดังที่เศรษฐีเล่าหรือไม่ วิสาขาตอบว่า

“ดิฉันไม่ได้เจตนาว่าพ่อผัวกินของไม่สะอาด

หากแต่หมายความว่า

พ่อผัวของดิฉันมั่งมีศรีสุขอยู่เดี๋ยวนี้ เพราะบุญเก่า

ไม่ต้องทำงานเหน็ดเหนื่อยก็มีกินมีใช้”

พราหมณ์กล่าวกับเศรษฐีว่า

“ในเรื่องนี้ ท่านไม่สามารถกล่าวโทษลูกสาวของเราได้

เธอพูดถูกแล้ว ทำไมท่านจึงโกรธ”

เศรษฐีหงุดหงิด หน้ายังยุ่งเหมือนเดิม

“ถึงเธอไม่ผิดในเรื่องนี้ เธอก็ยังมีโทษข้ออื่นๆ อีก

คืนก่อนเธอกับคนใช้หลายคนลงไปหลังบ้าน ไปทำไม”

วิสาขาชี้แจงว่า

“นางลามันตกลูก

ดิฉันจึงให้คนใช้ถือโคมไฟลงไปดูไปช่วยเหลือมัน

ดิฉันจะมีความผิดอย่างไร”

มิคาระยังไม่หายหงุดหงิด

“ตอนคืนก่อนที่เธอจะมาบ้านฉัน พ่อของเธอให้โอวาทแก่เธอ

๑๐ ข้อ การให้โอวาทของพ่อเธอนั้นเป็นเรื่องไม่สมควร

เช่นข้อที่หนึ่งว่า ไฟในอย่านำออก

ก็เมื่อไฟของบ้านอื่นดับ เขามาขอไฟ เราจะใจแคบยังไง

ขนาดไม่ยอมให้ไฟเขาไป

ส่วนไฟนอกอย่านำเข้า ก็เหมือนกัน ภายในบ้านเราไฟดับ

เราก็ต้องไปขอไฟจากภายนอก

โอวาทของพ่อเธอ เราไม่อาจเข้าใจความหมายได้

นี่เป็นความผิดของเธอเหมือนกัน”

วิสาขาจึงอธิบาย ด้วยสุ้มเสียงอันหนักแน่น แต่นุ่มนวล

“ข้อที่ว่า “ไฟในอย่านำออก” นั้นหมายความว่า

เมื่อเห็นโทษของพ่อผัว แม่ผัว หรือสามีแล้ว

อย่านำโทษนั้นไปพูดให้คนภายนอกรู้

ข้อว่า “ไฟนอกอย่านำเข้า” นั้นหมายความว่า

เมื่อคนบ้านใกล้เรือนเคียงพูดถึงความไม่ดีของพ่อผัว

แม่ผัวหรือสามี จงอย่านำคำพูดนั้นมาพูดให้ท่านฟังอีก

ข้อว่า “เจ้าจงให้แก่คนที่ควรให้” นั้น หมายความว่า

ใครมายืมเงินหรือของใช้ไปแล้ว นำมาคืนในเวลาสมควร

ก็จงให้แก่คนนั้น

ข้อว่า “จงอย่าให้แก่คนที่ไม่ให้” หมายความว่า

ใครมายืมเงินทองของใช้ ยืมแล้วไม่คืน

ก็อย่าให้แก่คนนั้นอีก

ข้อว่า “จงให้แก่บุคคลทั้งที่ให้และไม่ให้”

คือเมื่อญาติหรือมิตรยากจนมาพึ่งพาอาศัย

หรือยืมเงินทองของใช้ก็จงให้

ไม่ว่าเขาจะคืนหรือไม่คืนก็ตาม

ข้อว่า “พึงนั่งให้เป็นสุข” คือนั่งในที่เหมาะกับตน

เช่น ไม่นั่งขวางประตู เมื่อพ่อผัวแม่ผัวนั่งในที่ต่ำ

ตนก็ไม่ควรนั่งที่สูง เป็นต้น

ข้อว่า “พึงบริโภคให้เป็นสุข” คือไม่ควรกินก่อนพ่อผัว

แม่ผัว หรือสามี ดูแลให้ทุกคนกินก่อน ตนจึงกินทีหลัง

ข้อว่า “พึงนอนให้เป็นสุข” คือไม่นอนก่อนสามี พ่อผัว

หรือแม่ผัว ปฏิบัติให้ทุกคนนอนให้เรียบร้อยก่อน

แล้วจึงค่อยนอนทีหลัง

ข้อว่า “พึงบำเรอไฟ”

อธิบายว่าพ่อผัวแม่ผัวและสามีเหมือนกองไฟ

คือสามารถให้คุณให้โทษได้

เพราะฉะนั้นต้องปฏิบัติท่านโดยชอบ

ข้อว่า “พึงนอบน้อมเทวดาภายใน” อธิบายว่า พ่อผัว แม่ผัว

และสามี ภรรยาควรเห็นเป็นเหมือนเทวดา

พึงปฏิบัติท่านเหล่านั้นด้วยความเคารพอ่อนน้อม”

เศรษฐีมิคาระ ฟังคำอธิบายแล้ว ก้มหน้านิ่ง เถียงไม่ออก

พราหมณ์ถามว่า ยังเห็นโทษข้อไหนอีกมั้ย

“ไม่มีแล้ว” เศรษฐีตอบ อายนิดหน่อย

“เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านจะไล่ลูกสาวเราไปด้วยเหตุใด

ท่านทำไปโดยไม่มีเหตุผลเลย”

เศรษฐีก็ยังนิ่งอยู่อีก วิสาขาจึงพูดว่า

“เมื่อบิดาแห่งสามีขับไล่ให้ออกจากบ้าน

ดิฉันยังไม่ออกเพราะยังไม่ทราบว่า

ดิฉันมีความผิดถูกประการใด บัดนี้รู้แน่นอนแล้วว่า

ไม่มีความผิด ดิฉันพร้อมจะกลับบ้านอย่างผู้บริสุทธิ์

ขอท่านทั้งหลายจัดยานพาหนะไว้ให้พร้อม”

มิคารเศรษฐีตกใจ รีบเข้าไปขอโทษวิสาขา

“ยกโทษให้พ่อเถอะ อย่าไปเลย”

“ดิฉันไม่ได้ถือโทษคุณพ่อค่ะ

แต่ดิฉันเติบโตมาในตระกูลอันเลื่อมใสพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง

ไม่คลอนแคลน

ดิฉันมาอยู่ที่นี่ไม่ได้ปฏิบัติบำรุงพระสงฆ์เลย

ดิฉันไม่อยากจะอยู่

นอกจากว่าคุณพ่อจะอนุญาตให้ฉันเลี้ยงพระได้”

“พ่ออนุญาต” มิคาระรีบตอบ วิสาขาดีใจมาก บอกเศรษฐีว่า

“ดิฉันจะไปนิมนต์พระ”

วิสาขารีบเดินออกไปทางด้านขวาของเวที

มิคาระยืนยิ้มอย่างสบายใจอยู่กลางเวที

ไฟดวงเดียวฉายส่องลงมาที่เขา





ม่านชั้นในยกขึ้น

เผยให้เห็นพระพุทธเจ้าทรงประทับเป็นประมุข

มีภิกษุสงฆ์นั่งเรียงกันอยู่

วิสาขาถวายน้ำแด่พระพุทธเจ้า

แล้วหันมาบอกคนรับใช้ให้ไปเชิญเศรษฐีมา

ขณะเดียวกันนั้นเอง พวกชีเปลือยก็มาล้อมมิคาระไว้

ชีเปลือยคนหนึ่งมากระซิบเศรษฐีว่า

อย่าเข้าใกล้พระพุทธเจ้า

เศรษฐีจึงหันไปบอกเด็กรับใช้ว่า

“ไปบอกวิสาขาว่าจงเลี้ยงพระไปเองเถอะ”

พวกชีเปลือยจัดแจงกั้นม่านที่ด้านข้างเวที

วิสาขาให้คนรับใช้มาเชิญเศรษฐีอีก

พวกชีเปลือยเข้าฉุดมือเศรษฐีไว้

เศรษฐีทำท่าลังเล ในที่สุด

ก็บอกชีเปลือยว่าจะไปฟังพระพุทธเจ้า

ชีเปลือยก็พาเศรษฐีไปนั่งหลังม่าน

มีเสียงดนตรีบรรเลงเบาๆ และเสียงบรรยายดังขึ้นมา

ในขณะที่เหตุการณ์บนเวทีกำลังดำเนินไปอย่างเงียบๆ

“พระศาสดานั้น ทรงมีบุญญาธิการมาก

ทรงมีพระบารมีเต็มเปี่ยม แม้บุคคลอยู่คนละฟากภูเขา

ฟากแม่น้ำ หากมีพระประสงค์จะให้ได้ยินพระธรรมเทศนา

บุคคลนั้นย่อมได้ยิน อย่าว่าแต่ฟังนอกม่าน

ดังนั้น เมื่อเศรษฐีนั่งเรียบร้อยแล้ว

พระศาสดาจึงเริ่มอนุปุพพิกถา และธรรมปริยายอื่นๆ อีก

พระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นอุปมาดังดวงจันทร์

คือคนทุกคนก็จะเห็นว่าดวงจันทร์อยู่เหนือศีรษะตนหรืออยู่ตรงบ้านของตน

ไม่ว่าบ้านเขาจะอยู่ที่ไหน

พระพุทธเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาอยู่

คนฟังก็จะเข้าใจว่าตรัสอยู่กับตน

นี่เป็นผลแห่งทานที่พระพุทธเจ้าทรงทำมาดี

ทรงบริจาคสิ่งที่บริจาคได้ยาก เช่น บุตร

ภรรยาอันเป็นที่รัก เลือดเนื้อ และชีวิต เป็นต้น

พระศาสดาทรงแสดงธรรม มุ่งเอามิคารเศรษฐีเป็นสำคัญ

เศรษฐีส่งกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนาได้บรรลุโสดาปัตติผล

มีศรัทธาไม่หวั่นไหว หมดความสงสัยในคุณพระรัตนตรัย

มิคาระ ยกชายม่านขึ้น แล้วจุมพิตถันหญิงสะใภ้

แล้วยกให้เป็นมารดาของตนในฐานะได้ชักชวนให้มองเห็นแสงสว่างทางชีวิต

คนทั้งหลายจึงเรียกนางวิสาขาว่า มิคารมารดา”



เสียงบรรยายจบลง พวกชีเปลือยถอยออกจากเวทีจนหมด

เหลือเพียงพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์อันงดงาม

พระพุทธเจ้าประทับยืน มิคาระก้มลงจุมพิตพระบาท

เอ่ยชื่อตนเอง ๓ ครั้ง เป็นการทำความเคารพ แล้วทูลว่า

“ข้าพระองค์ไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า

ทานที่บุคคลทำแล้วในศาสนานี้มีผลมาก

เพราะได้อาศัยลูกสะใภ้ จึงสามารถพ้นจากอบายทุกข์ทั้งปวง

วิสาขามาสู่เรือนของข้าพระองค์

เพื่อประโยชน์และความสุขของข้าพระองค์โดยแท้”

วิสาขาทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เพื่อเสวยที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้นอีก

มิคาระและวิสาขาเดินออกมากลางเวที

ม่านชั้นในเลื่อนลงมาจากเพดาน

จนปิดบังภาพของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ทั้งหมด

แสงไฟกลางเวทีเด่นชัดขึ้น

เศรษฐีกำลังมอบเครื่องประดับให้แก่วิสาขา

“พ่อเห็นว่า เครื่องประดับมหาลดาปสาธน์นั้นหนักมาก

ไม่อาจจะใส่ไปไหนมาไหนได้บ่อยๆ

พ่อเลยจ้างให้ช่างทองทำเครื่องประดับเบาๆ นี้ให้เจ้า

เรียกว่า “ฆนมัฏฐกะ” แปลว่า กลมๆ เกลี้ยงๆ นะลูก

ราคาไม่แพงนัก เพียงแสนเดียว

พ่อทูลนิมนต์พระศาสดาและภิกษุสงฆ์มาเสวย

และฉันอาหารที่บ้าน

เจ้าจงอาบด้วยน้ำหอมแล้วสวมเครื่องประดับใหม่นี้

และถวายบังคมพระศาสดาในที่อันสมควรเถิดนะลูก

จะได้เป็นมงคลแก่เจ้า”

วิสาขากราบขอบคุณเศรษฐี





ละครหยุดพัก ๑๕ นาที ผู้ชมต่างพากันเดินออกไปพักผ่อน

ยืดเส้นยืดสายข้างนอก

ผกาแก้วกับเพลินไฉน

เดินออกไปยืนสูดอากาศที่ริมสนามหญ้านอกโรงละคร

น้ำค้างเย็นชื่น

ดวงจันทร์ขาวนวลลอยเด่นอยู่ในท้องฟ้าสีน้ำเงิน

ผกาแก้วรู้สึกมีความสุข

เพลินไฉนเล่าว่า

“นางวิสาขา ทำบุญมาก ให้ทานมาก ได้รับพร ๘

ประการจากพระพุทธเจ้า

จะไปไหนก็เหมือนดวงจันทร์สว่างมีรัศมีเย็น

เป็นที่ชื่นชมของคนที่ได้อยู่ใกล้”

ผกาแก้วอยากรู้ว่า พร ๘ ประการคืออะไร เพลินไฉน

บรรยายให้ฟังว่า

“คำว่าขอพรในสมัยโบราณ แปลว่าขออนุญาต

ไม่ใช่ขอพรอย่างที่เราไปขอพระว่า

ให้สอบได้อะไรอย่างนี้นะ คือเมื่อพระพุทธเจ้าให้พร

ก็หมายความว่าทรงอนุญาตให้ทำอย่างที่ขอได้

นางวิสาขาขอพร ๘ ประการว่า

๑. ขอถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์

๒. หากมีพระที่เพิ่งมาจากเมืองอื่น

ขอให้นางได้ถวายอาหาร

๓. หากมีพระจะออกจากสาวัตถีไปเมืองอื่น

ก็ขอให้นางได้ถวายอาหารก่อนไป

๔. ขอถวายอาหารสำหรับพระที่ป่วย

๕. ขอถวายอาหารสำหรับพระที่อุปัฏฐากพระป่วย

๖. ขอถวายยาแก่พระป่วย

๗. ขอถวายข้าวต้มเช้าแก่พระตลอดทุกวัน

คือท่านจะไปบิณฑบาตที่ไหนยังไงก็ตาม

นางขอถวายข้าวต้มด้วยทุกวัน

๘. ขอถวายผ้าอาบน้ำแก่ภิกษุณี”

ผกาแก้วชื่นชม สักครู่หนึ่งก็หัวเราะเบาๆ ถามว่า

“พ่อผัวเรียกเธอว่าแม่อย่างนี้ ไปไหนไม่เขินแย่เหรอ”

“ก็คงเขินเหมือนกัน

ต่อมาถึงได้ตั้งชื่อลูกชายคนหนึ่งว่า มิคาระ เหมือนปู่

เวลาใครเรียกวิสาขาว่ามิคารมารดา จะได้เป็นว่า

แม่ของมิคาระ คือหมายถึงมิคาระคนลูกของวิสาขา

ไม่ใช่คนพ่อ ทำนองนี้แหละ”

“ฉลาดดีนะ” ผกาแก้วชอบใจ

“รู้มั้ย วิสาขานี่

เมื่อตอนที่ฟังพระพุทธเจ้าเทศนาที่บ้านคุณปู่

ก่อนจะย้ายตามพ่อมาเมืองสาเกตน่ะ ตอนนั้นอายุ ๗ ขวบ

ได้บรรลุเป็นโสดาบันแล้วนะ”

“เหรอ โอ้โฮ บุญจริง เป็นคนฉลาดมากเลยนะ”

ผกาแก้วชื่นชมอย่างจริงใจ





เมื่อม่านกำมะหยี่สีแดงเผยออก

ผู้ชมได้เห็นพระภิกษุรูปหนึ่งนั่งอยู่

เบื้องหน้าเป็นคนรับใช้นั่งคุกเข่าร้องไห้อยู่

“พระคุณเจ้า วันนี้นายหญิงของข้าพเจ้า

แม่นายวิสาขาไปงานมงคล ได้สวมเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์

เมื่อกลับจากงานแล้ว แม่นางต้องการเข้าเฝ้าพระศาสดา

จึงได้ถอดเครื่องประดับให้ข้าพเจ้าถือไว้ แต่พอขากลับ

ข้าพเจ้าลืมไว้ที่ประทับของพระศาสดา

แม่นายวิสาขาให้ข้าพเจ้ามาลองถามพระคุณเจ้าดูเจ้าค่ะ”

พระภิกษุวางห่อเครื่องประดับลงตรงหน้า

“นี่เครื่องประดับของนาย จงรับไปเถิด”

หญิงนั้นยิ่งร้องไห้หนักขึ้น

“ข้าแต่พระคุณเจ้า แม่นายสั่งไว้ว่า

ถ้าพระคุณเจ้าจับต้องและเก็บเครื่องประดับไว้แล้วก็ไม่ต้องรับคืน

แม่นายบอกว่า พระคุณเจ้าเป็นที่เคารพของแม่นายอย่างยิ่ง

แม่นายไม่สมควรจะสวมเครื่องประดับที่พระคุณเจ้าจับต้องแล้ว

เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้ารับคืนไม่ได้หรอกเจ้าค่ะ”

“อาตมาจะเอาไว้ทำอะไร จงรับคืนไปเถิด

และบอกนายว่าอาตมาให้รับคืนไป

น้องหญิงทำตามคำขอร้องของอาตมา

นายของเธอคงไม่ว่ากระไรดอก”

หญิงรับใช้รับห่อของคืน เดินร้องไห้ไปพลาง

มาหาวิสาขาซึ่งนั่งอยู่ในมุมสลัว ทางด้านขวาของเวที

แสงไฟส่องตามหญิงรับใช้มา ไฟด้านภิกษุสลัวลง

และไฟด้านวิสาขาสว่างเจิดจ้าขึ้น

วิสาขาเห็นคนรับใช้ร้องไห้ จึงถามว่า

“พระคุณเจ้าอานนท์เก็บไว้หรือ”

“เจ้าค่ะ”

“แล้วเธอร้องไห้ทำไม”

“ข้าเสียใจที่รักษาของแม่นายไว้ไม่ได้

แม่นายจะลงโทษประการใดก็ตามเถิด ข้ายอมรับผิดทุกประการ”

แล้วลงคร่ำครวญแทบเท้าวิสาขา

“จงลุกขึ้นเถิด อย่าคร่ำครวญนักเลย เธอเป็นผู้ทำงานดี

ซื่อตรงทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีความจงรักภักดี

ด้วยเหตุนี้จึงได้อยู่ใกล้ชิดเรา

ความดีของเธอนั้นมีอยู่มาก

ความพลั้งเผลอบกพร่องเพียงเท่านี้จะลบล้างความดีของเธอได้ยังไง”

วิสาขาลุกขึ้นยืนเดินมาข้างหน้า

“ว่าแต่เราจะทำอย่างไรกับเครื่องประดับนี้

เราไม่สามารถจะใช้ได้อีก แต่จะเก็บไว้เฉยๆ

ก็ดูจะเสียประโยชน์”

เธอเดินไปมา ครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง

“พรุ่งนี้เราจะลองบอกขาย ถ้าได้เงินมาแล้ว

เราจะเอาเงินไปทำบุญ”

วิสาขาเดินกลับไปนั่งที่เดิม แสงไฟค่อยๆ สลัวลง

หญิงรับใช้นำเครื่องประดับไปขาย มีผู้คนมาดูบ้าง

แล้วก็จากไป ไม่มีใครซื้อเลย จนในที่สุด

นางก็หอบเครื่องประดับกลับมาหาวิสาขา

“ไม่มีใครซื้อเลยเจ้าค่ะ

ไม่มีใครกล้าเอาเครื่องประดับของแม่นายท่านไปแต่งหรอกเจ้าค่ะ

ไม่มีใครเหมาะสมพอ ผู้ใดนำไปแต่งกาย

แทนที่จะได้รับยกย่อง จะกลับได้รับการเยาะเย้ยหยามหยัน

เพราะไม่เหมาะสมกับเครื่องประดับนี้”

วิสาขานิ่งอยู่ครู่หนึ่ง

“ถ้าอย่างนั้นเราจะซื้อไว้เอง เครื่องประดับนี้มีราคา

๙ โกฏิ เราจะซื้อตามราคานั้น เจ้าจงให้คนขนเงิน ๙ โกฏิ

ใส่เกวียนนำไปยังวิหาร เราจะไปเฝ้าพระศาสดา”

วิสาขาเดินนำหน้า

คนรับใช้ขนเงินใส่เกวียนตามหลังไปพักอยู่ด้านซ้ายของเวที

ที่กลางเวที ผ้าม่านชั้นในถูกยกขึ้น

เผยให้เห็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่

วิสาขาเข้าไปหมอบอยู่เบื้องหน้า ทรงตรัสว่า

“วิสาขา ตถาคตเห็นว่า เธอควรสร้างที่อยู่เพื่อสงฆ์

ใกล้ประตูทางทิศตะวันออกแห่งนครสาวัตถี”

วิสาขาก้มลงกราบพระพุทธเจ้า แล้วเดินออกมากลางเวที

ผ้าม่านชั้นในเลื่อนลงมาปิดตามเดิม





แสงไฟสว่างไปทั่วเวที

ฉากไม้บนฐานมีล้อเลื่อนเข้ามาทางซ้ายมือหลายฉากเป็นภาพอารามกำลังเกิดขึ้นทีละตอน

จนสำเร็จเป็นอาราม ๒ ชั้น ในชั่วครู่เดียว

วิสาขายืนชมอยู่ พระมหาโมคคัลลานะยืนอยู่ไม่ไกลออกไปนัก

วิสาขายกมือพนม กล่าวแก่พระเถระว่า

“ดิฉันเลื่อมใสในฤทธานุภาพของพระคุณเจ้า

จึงได้ขออนุญาตองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้พระคุณเจ้าอยู่สาวัตถีก่อน

อย่าได้ตามเสด็จพระองค์ไป

นี่ก็สมศรัทธาของดิฉันแล้วจริงๆ

เพราะอานุภาพของพระคุณเจ้า

วัดบุพพารามของดิฉันซึ่งมีห้องทั้งหมด ๑,๐๐๐ ห้อง

ชั้นล่าง ๕๐๐ ห้อง ชั้นบน ๕๐๐ ห้อง

สามารถสำเร็จได้รวดเร็วในเวลา ๙ เดือนเช่นนี้”

“อีกไม่นาน พระพุทธองค์ก็จะเสด็จกลับมาแล้ว”

พระมหาโมคคัลลานะกล่าว

“ดิฉันจะอาราธนาพระศาสดา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์

ประทับที่ปราสาทนี้เป็นเวลา ๔ เดือน เพื่อฉลองปราสาท”

“เจริญพร” พระมหาโมคคัลลานะอนุโมทนา

ขณะนั้น หญิงคนหนึ่งนำผ้าเข้ามาหาวิสาขา

“เพื่อนเอย ข้าพเจ้านำผ้ามาผืนหนึ่ง ท่านจะให้ปูที่ใด”

“โอ ถ้าข้าพเจ้าจะตอบว่าไม่มีสถานที่จะให้ปู

ท่านก็จะเข้าใจว่าข้าพเจ้าไม่ปรารถนาจะให้ท่านร่วมกุศล

เพราะฉะนั้นขอให้ท่านดูเองเถิด

เห็นสมควรปูลงที่ใดก็ปูลงเถิด”

หญิงคนนั้นเดินไปรอบๆ ปราสาท

เดินเข้าทางนี้ออกทางนั้นอยู่หลายครั้งหลายครา

แต่มือยังถือผ้าอยู่ แสดงว่ายังหาที่ปูลงไม่ได้

สักครู่ใหญ่ๆ เธอก็ไปยืนร้องไห้อยู่

พระอานนท์เดินออกมา หญิงนั้นก้มลงกราบด้วยน้ำตานองหน้า

“ดิฉันนำผ้าราคา ๑,๐๐๐ มาเพื่อจะทำบุญ

แต่เดินจนทั่วปราสาทแล้ว

ไม่เห็นที่ใดที่จะปูด้วยผ้ามีราคาน้อยกว่า ๑,๐๐๐

กหาปณะเลย ดิฉันไม่รู้จะปูลงที่แห่งใด”

พระอานนท์แนะนำด้วยเสียงอ่อนโยน

“น้องหญิง ผ้าซึ่งปูที่เชิงบันได ย่อมอำนวยผลมาก

มีอานิสงส์ไพศาล เพราะภิกษุทั้งหลายเมื่อล้างเท้าแล้ว

ย่อมเช็ดเท้าด้วยผ้าซึ่งอยู่ตรงนี้ แล้วเข้าไปข้างใน”

หญิงสาวดีใจอย่างเหลือประมาณ

รีบนำผ้าไปปูที่บันไดปราสาท

ก้มลงกราบแล้วกราบอีกดีใจที่ได้ทำบุญ

ภิกษุสงฆ์หลายรูปทยอยกันเดินมา และเช็ดเท้าด้วยผ้านั้น

แล้วเข้าไปในปราสาท

วิสาขาเดินออกมาพร้อมกับลูกหลานและบริวาร

มาเดินเวียนรอบปราสาท

วิสาขาเปล่งถ้อยคำออกมาด้วยความเบิกบานใจว่า

“บัดนี้ความปรารถนาของเราที่จะถวายวิหารทาน

เป็นปราสาทใหม่มีเครื่องฉาบทาอย่างดีสำเร็จแล้ว

บัดนี้ความปรารถนาของเราที่จะถวายเสนาสนภัณฑ์

มีเตียงตั่ง และหมอน เป็นต้น สำเร็จบริบูรณ์แล้ว

บัดนี้ความปรารถนาของเราที่จะถวายสลากภัตด้วยอาหารที่สะอาดประณีต

สำเร็จบริบูรณ์แล้ว

บัดนี้ความปรารถนาของเราที่จะถวายจีวรทาน

ด้วยผ้าที่ทำจากแคว้นกาสี ผ้าเปลือกไม้ และผ้าฝ้าย

เป็นต้น สำเร็จบริบูรณ์แล้ว

บัดนี้ความปรารถนาของเราที่จะถวายเภสัชทาน มีเนย ใส

เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย เป็นต้น

ก็สำเร็จบริบูรณ์แล้ว”



ผ้าม่านชั้นในเลื่อนขึ้น

เผยให้เห็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ภิกษุหลายรูป

ทูลถามพระพุทธเจ้า

“พระองค์ผู้เจริญ

ข้าพระองค์ไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นนางวิสาขาขับร้องเลย

มาวันนี้นางพร้อมด้วยบุตรหลานเดินเวียนปราสาทขับร้องอยู่

ดีของนางจะกำเริบหรือนางเป็นบ้าประการใด”

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“ธิดาของเราหาได้ขับร้องไม่

แต่เพราะอัธยาศัยในการที่จะบริจาคของนางเต็มบริบูรณ์แล้ว

จึงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานใจ

ภิกษุทั้งหลาย วิสาขา

ธิดาของเราน้อมจิตไปเพื่อทำกุศลต่างๆ

เมื่อทำได้สำเร็จสมความปรารถนา ก็ย่อมบันเทิงเบิกบาน

ปานประหนึ่งช่างดอกไม้ที่ฉลาดรวบรวมดอกไม้นานาพันธุ์ไว้

แล้วร้อยเป็นพวงมาลัยให้สวยงามฉะนั้น

ช่างดอกไม้ผู้ฉลาดย่อมทำพวงดอกไม้เป็นอันมาก

จากกองดอกไม้ที่รวบรวมไว้ฉันใด

สัตว์ผู้เกิดมาแล้วและจะต้องตาย

พึงสั่งสมบุญกุศลไว้ให้มากฉันนั้น

บัดนี้วิสาขาดีใจว่า

ความปรารถนาที่ตั้งไว้ได้บรรลุถึงที่สุดแล้ว

จึงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานใจ”

ภิกษุทูลถามว่า

“นางวิสาขา

ได้ตั้งความปรารถนาไว้ตั้งแต่เมื่อใดพระเจ้าข้า

ทรงโปรดเมตตาเล่าให้ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายฟังด้วยเถิด”

แสงไฟด้านซ้ายที่ฉายปราสาทของวิสาขาเริ่มสลัวลง

วิสาขาและบุตรหลาน ยังคงยืนอยู่นิ่งๆ ในบริเวณนั้น





เพื่อเล่าอดีตชาติของวิสาขา

แสงไฟด้านขวาของเวทีเรื่อเรืองขึ้น

เผยให้เห็นพระพุทธเจ้าปทุมุตตระประทับนั่งอยู่

มีหญิงสาวคนหนึ่งกำลังถวายสิ่งของแล้วหมอบกราบ

หญิงอีกคนหนึ่งหมอบอยู่ใกล้ๆ

ครู่หนึ่ง หญิงคนที่สองได้คลานเข้าไปใกล้ขึ้นอีกนิด

แล้วทูลถามว่า

“ข้าแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพื่อนหญิงของดิฉันนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดแห่งอุปัฏฐายิกา

(อุปัฏฐากที่เป็นผู้หญิง)

ดิฉันอยากทราบว่าเธอได้ทำกรรมอันใดไว้

จึงได้รับตำแหน่งเช่นนี้”

พระพุทธเจ้าปทุมุตตระตรัสตอบว่า

“เธอได้ตั้งความปรารถนาไว้ตั้งแสนกัปมาแล้ว”

“หากหม่อมฉัน ปรารถนาตำแหน่งเช่นนี้บ้าง จะได้หรือไม่”

พระพุทธเจ้า พิจารณาอยู่ครู่หนึ่ง จึงตรัสว่า

“เธอจะได้เป็นนางวิสาขา

ได้รับตำแหน่งเป็นยอดแห่งอุปัฏฐายิกา ในศาสนาแห่งพระโคดม

สัมมาสัมพุทธเจ้า”

หญิงนั้นถวายผ้าสาฎก (สาฎกแปลว่า ผ้า) แก่พระสงฆ์

ถวายบังคมพระศาสดา แล้วหมอบลงแทบพระบาท

เอ่ยคำตั้งใจอธิษฐานว่า

“ข้าแต่พระองค์ หม่อมฉันถวายทาน ๗ วัน และถวายผ้าสาฎก

ด้วยอำนาจผลแห่งทานนี้

หม่อมฉันไม่ปรารถนาความเป็นใหญ่ในเทวโลกอย่างใดอย่างหนึ่ง

แต่ขอให้หม่อมฉันพึงได้รับพร ๘ ประการ

ในสำนักแห่งพระพุทธเจ้า

ขอให้หม่อมฉันได้มีโอกาสดูแลพระสงฆ์ดุจมารดาดูแลบุตรน้อย

ได้เป็นยอดแห่งอุบาสิกาผู้สามารถบำรุงด้วยปัจจัย ๔”

พระพุทธเจ้าปทุมุตตระให้พร

“จงสำเร็จดังประสงค์เถิด”

แสงไฟค่อยๆ สลัวลงจนมืด พื้นบริเวณนั้นค่อยๆ

เลื่อนไปทางขวา ลับไปในฉากด้านข้าง

พานักแสดงทั้งหxxxลุ่มนั้นออกไปจากเวที







แสงไฟสว่างชัดขึ้นที่กลางเวทีชั้นใน

ซึ่งพระพุทธเจ้าและพระภิกษุยังคงนั่งอยู่ที่เดิม

ขณะที่ละครแสดงถึงประวัติของนางวิสาขา

พระพุทธเจ้าเล่าให้ภิกษุฟังต่อไปว่า

“เมื่อตั้งจิตอธิษฐานแล้ว นางก็ได้ทำบุญไปตลอดชีวิต

เมื่อตายแล้วไปเกิดในเทวโลก

ท่องเที่ยวอยู่ในเทวโลกและมนุษย์โลกเป็นเวลานาน

ต่อมาในศาสนาแห่งพระกัสสปพุทธเจ้า

นางมาเกิดเป็นพระราชธิดาองค์สุดท้องของพระเจ้ากิกิแห่งกรุงกาสี

นางมีพระนามว่าสังฆทาสี

นางได้ตั้งความปรารถนาไว้เหมือนเดิม

หลังจากนั้นก็ท่องเที่ยวในเทวโลกและมนุษย์โลกอีกนาน

จนบัดนี้จึงได้มาเกิดเป็นนางวิสาขา”

วิสาขาและลูกหลาน

เดินจากปราสาทมาหมอบลงทางซ้ายของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

“นี่แหละภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเราไม่ได้ร้องรำทำเพลง

แต่อุทานด้วยความเบิกบานใจ

ที่ความปรารถนาในบุญกุศลทุกอย่างเต็มเปี่ยมบริบูรณ์

ภิกษุทั้งหลาย จิตของวิสาขาน้อมไปในกุศลอยู่เสมอ

เหมือนช่างดอกไม้ผู้ฉลาด รวบรวมดอกไม้ไว้มากมาย

แล้วเลือกทำพวงมาลัยให้สวยงาม

สัตว์ผู้เกิดมาแล้ว และจะต้องตาย

พึงสั่งสมบุญกุศลไว้ให้มาก”

ม่านกำมะหยี่สีแดงค่อยๆ เคลื่อนเข้าหากัน

ผู้ชมปรบมือให้นักแสดงที่ออกมาโค้งคำนับ

มีคนนำช่อดอกไม้ไปมอบให้แก่ผู้แสดงเป็นวิสาขาด้วย





ผกาแก้วรอจนคนออกไปเกือบหมด จึงค่อยๆ เดินตามออกไป

เพราะไม่ชอบการเบียดเสียด

อากาศข้างนอกเริ่มเย็น ลมดึกโชยมาแผ่วๆ ลมชื้นชื่นใจ

เพลินไฉนมีความสุข ชวนผกาแก้วว่า

“ดูแล้วอยากทำบุญเลยล่ะ พรุ่งนี้ไปทำบุญกันนะ”

“ได้เลย” ผกาแก้วรับคำ “กำลังจะชวนอยู่เหมือนกัน

ทำบุญเยอะๆ จะได้มีบุญคุ้มตัวบ้าง

แต่คงไม่มีปัญญาทำอย่างนางวิสาขาหรอก”

เพลินไฉนปลอบใจด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้า

“อย่าดูหมิ่นบุญว่าเล็กน้อย น้ำหยดลงตุ่มทีละหยด

ยังเต็มได้นะ เราค่อยๆ สะสมบุญไปก็แล้วกัน ทำไปเรื่อยๆ

อาจจะทำน้อย แต่ทำบ่อย หรือทำไม่หยุด

บุญย่อมจะมากขึ้นเองจนได้ รู้มั้ยจ๊ะ”





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2005, 4:15 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บันทึกท้ายเล่ม





เมื่อคุณอ่านมาถึงบทนี้ คงจะได้เห็นถึงหลายๆ

สิ่งที่นิทานได้แสดงให้คุณชอบ

ตั้งแต่ภาพชีวิตของตัวละครทุกตัว ความสุข ความทุกข์

การสร้างกรรม และการส่งผลของกรรม การทําดีได้ดี

ทําชั่วได้ชั่ว

และการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอันยาวนาน

ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของเราเช่นกัน

เพราะในชีวิตของเรา เราก็เคยทําดี ทําชั่ว เคยทํากรรม

และ กําลังเสวยผลของกรรมที่เราเคยทํามา

ชีวิตเราก็เหมือนชีวิตคนอื่น และเหมือนชีวิตในนิทาน

ที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านทุกข์ผ่านสุข

และดําเนินชีวิตไปด้วยการตัดสินใจของเรา

ไม่ว่าจะตัดสินใจถูกหรือผิดก็ตาม

และต่อไปเราเองก็เป็นคนรับผลของการตัดสินใจนั้น

พุทธศาสนาสอนให้เราทําดี และทํากุศลให้กับตัวเราเอง

เพราะว่าตัวเราเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้

คนอื่นแม้จะพึ่งได้ก็เป็นครั้งคราว

เป็นวาระหรือแล้วแต่สถานการณ์ และความสามารถ

แต่ตัวเราเองต่างหากที่อยู่กับเราตลอดเวลา

และเป็นที่พึ่งได้ตลอดเวลา

ถ้าหากเราสร้างตัวเราให้เป็นที่พึ่งของตัวเองได้

หนังสือเล่มนี้ มาเล่านิทานให้คุณฟัง

ด้วยหวังว่าจะแสดงภาพของชีวิตในสังสารวัฏให้คุณเห็น

และเพื่อคุณจะได้เริ่มต้นศึกษาธรรมะต่อไป

เพื่อจรรโลงชีวิตของคุณให้ดีงามและเจริญในทางธรรม

และด้วยความห่วงใย ถ้าคุณยังเป็นคนใหม่ในโลกแห่งธรรมะ

จะขออนุญาตแนะนําเส้นทางเพื่อไม่ให้คุณหลงเสียเวลาไปในเส้นทางที่อาจจะไม่ถูกตรง

หนังสือที่แนะนําจะเป็นแผนที่ให้คุณเดินตามไป

และเมื่อคุณเข้าใจดีแล้ว

หลังจากนั้นคุณก็จะวินิจฉัยได้เองว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกหรือผิด

ถ้าคุณอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรก

ขอชวนคุณอ่านหนังสือของผู้เขียนอีก ๒ เล่มคือ

ช้อปปิ้งบุญ

ซึ่งจะแนะนําการมีธรรมะในชีวิตประจําวันอย่างง่ายๆ

ให้คุณรู้จักก่อน

ต่อจากนั้นขอให้อ่านหนังสือธรรมะรอบกองไฟ

ซึ่งจะแนะนําใจความแก่นของพุทธศาสนา ทั้งข้อธรรมหลัก

หลักกรรม หลักการทําบุญ

อันจะทําให้คุณเห็นภาพคําสอนของศาสนาเป็นแนวทางสําหรับเข้าไปศึกษาธรรมะต่อไป

ในการศึกษาธรรมะขอแนะนําให้คุณศึกษาหนังสือดังนี้

หนังสืออาจารย์วศิน อินทสระ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ

หลวงพ่อพุทธทาส หลวงพ่อชา สุภัทโท หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

หนังสือดังกล่าวสามารถหาอ่านได้ที่ห้องหนังสือเรือนธรรม

ถนนพิชัย โทรศัพท์ ๐-๒๒๔๔-๘๒๙๒ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ

หรือลองหาอ่านตามห้องสมุดโรงเรียน

ห้องสมุดประจําจังหวัด หรือหาซื้อจากร้านหนังสือทั่วไป



หากต้องการทําบุญฟังเทศน์ที่วัด :-

๑. วัดชลประทานรังสฤษฏ์ ปากเกร็ด เวลา ๙.๐๐ น.

วันอาทิตย์

๒. วัดสวนแก้ว เวลา ๑๓.๐๐ น. วันอาทิตย์

๓. สวนโมกขพลาราม อําเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี

อบรมนั่งสมาธิทุกเดือน โทร. ๐-๗๗๔๓-๑๕๙๖-๗

๔. วัดสุนันทวนาราม พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

ลูกศิษย์หลวงพ่อชา สุภัทโท เป็นเจ้าอาวาส วัดอยู่ไทรโยค

กาญจนบุรี เป็นวัดป่าร่มรื่นสวยงามมาก

ติดต่อสอบถามเวลาการอบรมของทางวัด

กรุณาติดต่อมูลนิธิมายา โคตมี โทรศัพท์ ๐-๒๖๗๖-๓๔๕๓

๕. วัดป่าแสงธรรม อําเภอเกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โทร. ๐-๗๗๓๗-๔๑๑๐ ท่านพระครูสันติธรรมรังษีเป็นเจ้าอาวาส

๖. วัดมเหยงคณ์ ตําบลหันตรา อําเภอพระนคร ศรีอยุธยา

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โทร. ๐-๓๕๒๔-๒๘๙๒

๗. วัดปัญญานันทาราม ตําบลคลองหก อําเภอคลองหลวง

จังหวัดปทุมธานี โทร. ๐-๒๙๐๔-๖๑๐๑-๒

มีกิจกรรมวันอาทิตย์ตอนเช้า ๙.๐๐ น.



อย่าคิดว่าการเข้าวัดเป็นเรื่องน่าอาย เชย ความคิดนี้

ตอนนี้ล้าสมัยแล้ว คนที่คิดแบบนี้ต่างหากที่เชย

เพราะได้เปิดเผยความไม่รู้จักธรรมะออกมา การเข้าวัด

เป็นการเข้าไปหาธรรมะดีๆ มาประดับกายใจ

เข้าวัดแล้วทําบุญ ฟังธรรม สบายใจแล้วหน้าผ่องใส

ไม่ต้องใช้ครีมหน้าเด้ง นั่งสมาธิแล้วใจสงบ ทําให้ใจเย็น

คนใจเย็นใครๆก็รัก คุณว่าจริงมั้ย คุณเองชอบคนใจเย็นมั้ย

หรือรักคนขี้โมโห มีสมาธิแล้วมีสติ มีสติแล้วเรียนดี

หรือถ้าทํางานแล้ว จะทํางานได้ดี

คนทํางานดีไม่มีวันตกงาน ถ้าเศรษฐกิจแย่ คุณคิดว่า

ระหว่างคนทํางานดีกับคนทํางานงั้นๆ ใครจะถูกเลย์ออฟ อ๊ะ

นี่ไม่ด้ายยขู่นะจ๊ะ

มาศึกษาธรรมะกันเถอะค่ะ

เพื่อสร้างสิ่งดีๆให้กับชีวิตของคุณเอง

คุณจะพบว่าชีวิตมีความสุขขึ้น และการมีชีวิตอยู่

เป็นชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมายมากขึ้น

ขอให้ทุกๆ คนมีความสุขในธรรม สวัสดีค่ะ





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2005, 4:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระพุทธสุภาษิต จากหนังสือ ธรรมบท

โดย อาจารย์ เสฐียรพงษ์ วรรณปก









ขุนเขาไม่สะเทือนเพราะแรงลมฉันใด

บัณฑิตย่อมไม่หวั่นไหว

เพราะนินทาหรือสรรเสริญ ฉันนั้น



ห้วงน้ำลึก ใสสะอาดสงบฉันใด

บัณฑิตฟังธรรมแล้ว

ย่อมมีจิตใจสงบฉันนั้น



ถ้าหากคนเราจะทําความดีไซร้

ก็ควรทําบ่อยๆ

ควรพอใจในการทําความดีนั้น

เพราะการสะสมความดีนําสุขมาให้



อย่าดูถูกบุญว่าเล็กน้อยจักไม่สนองผล

น้ำตกจากเวหาทีละหยาดๆ ยังเต็มตุ่มได้

นักปราชญ์สะสมบุญทีละเล็กละน้อย

ย่อมเต็มด้วยบุญได้เช่นกัน





ถ้าเธอทําตนให้เงียบเสียงได้เหมือนฆ้องปากแตก

ก็นับว่าเธอเข้าถึงนิพพานแล้ว

เธอก็จะไม่ต้องทะเลาะเบาะแว้งกับใครอีก



สอนคนอื่นอย่างใด ควรทําตนอย่างนั้น

ฝึกตนเองได้แล้ว จึงควรฝึกคนอื่น

เพราะตัวเราเองฝึกยากยิ่งนัก



เราต้องพึ่งตัวเราเอง

คนอื่นใครเล่าจะเป็นที่พึ่งได้

บุคคลผู้ฝึกตนดีแล้ว

ย่อมได้ที่พึ่งที่ได้แสนยาก



ถึงจะทําประโยชน์แก่คนอื่นมากมาย

ก็ไม่ควรจะทิ้งจุดมุ่งหมายปลายทางของตน

เมื่อรู้ว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายปลายทางของตนแล้ว

ก็ควรใฝ่ใจขวนขวาย





ผู้ใดทําบาปไว้แล้ว ละได้ด้วยการทําดี

ผู้นั้นย่อมส่องโลกนี้ให้สว่าง

เหมือนพระจันทร์ที่พ้นจากเมฆฉะนั้น



ไม่มีไฟใดเสมอด้วยราคะ

ไม่มีโทษใดเสมอด้วยโทสะ

ไม่มีทุกข์ใดเสมอด้วยเบญจขันธ์

ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบ



ควรละความโกรธ ละมานะ

เอาชนะกิเลส เครื่องผูกมัดทุกอย่าง

ผู้ที่ไม่ติดอยู่ในรูปนาม หxxxิเลสแล้ว

ทุกข์ก็ครอบงําเขาไม่ได้



ไม่ว่าในอดีต ปัจจุบัน อนาคต

คนที่ถูกสรรเสริญโดยส่วนเดียว

หรือถูกนินทาโดยส่วนเดียว ไม่มี





คนมีปัญญา

ควรขจัดมลทินของตน

ทีละน้อยๆ ทุกๆ ขณะโดยลําดับ

เหมือนนายช่องทองปัดเป่าสนิมแร่



พวกเธอจงพยายามทําความเพียรเถิด

พระตถาคต เป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น

ชนทั้งหลายผู้เดินทางสายนี้

โดยปฏิบัติภาวนา





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2005, 4:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คำอนุโมทนา





ขวัญ เพียงหทัย ได้เขียนหนังสืออันโดนใจคนอ่านไว้หลายเล่ม เช่น ธรรมะรอบกองไฟ ช้อปปิ้งบุญ เป็นต้น เรื่องธรรมะเอกเขนก นี้ก็คงเป็นเช่นเดียวกัน เธอได้ร้อยเรียงจากหนังสือของข้าพเจ้าหลายเล่ม เช่น ทางแห่งความดี เป็นต้น ตามที่เธอได้บอกไว้แล้วใน ก่อนเล่าเรื่อง



เรื่องส่วนมากดึงมาจาก อรรถกถาธรรมบท ส่วนน้อยที่ดึงมาจาก อรรกถาชาดก ธรรมบท เป็นคัมภีร์หนึ่งในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ เป็นพระพุทธภาษิตล้วนๆ ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ นี้ มีหลายคัมภีร์ เช่น อุทาน อิติวุตตกะ เป็นต้น แต่ที่โดดเด่นมากๆ ก็คือ คัมภีร์ธรรมบทอยู่ในขุททกนิกาย (กลุ่มย่อย เล็กๆ น้อยๆ)



ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๑๐๐๐ โดยเฉพาะ พระพุทธโฆสาจารย์ ชาวอินเดีย แต่มาทำงานในลังกา ได้แต่งอรรถกถา (คำอธิบายพระไตรปิฎก) เป็นอันมาก รวมทั้งอรรถกถาธรรมบทด้วย ธรรมบทและอรรถกถานี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ กล่าวเฉพาะในประเทศไทย คณะสงฆ์ได้จัดให้เป็นหลักสูตรเรียนของเปรียญธรรมหลายระดับชั้น ได้แพร่หลายอยู่วงวัดเป็นเวลาหลายศตวรรษ



ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๔ ข้าพเจ้าได้นำอรรถกถาธรรมบทมาเรียบเรียงใหม่ด้วยภาษาร่วมสมัย อรรถกถาธรรมบทในชื่อใหม่ว่า ทางแห่งความดี จึงได้แพร่ออกไปทั้งในวัดและทั้งสู่ประชาชนในวงกว้าง



ส่วนอรรถกถาชาดกนั้น ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือต่างๆ หลายเล่ม เช่น เพื่อเยาวชน พุทธชัยมงคลคาถา จริยาบถและความหลัง เป็นต้น



เกี่ยวกับชาดกนี้ ตัวชาดกจริง ๆ อยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ และ ๒๘ เป็นคำฉันท์ภาษาบาลีไม่มีเรื่องเล่าประกอบ ที่มีเรื่องเล่ามากมายนั้นเป็นอรรถกถาชาดกผลงานของพระอรรถกถาจารย์ทั้งหลาย มีพระพุทธโฆสาจารย์ เป็นต้น



บัดนี้ ขวัญ เพียงหทัย ได้นำเอาเรื่องราวต่าง ๆ ดังกล่าวมาร้อยเรียงใหม่ โดยให้มีบทสนทนาแต่เนื้อหาสาระยังคงเดิม เป็นการจูงใจคนรุ่นใหม่และยังใหม่ต่อคำสอนทางศาสนาให้เข้าหาศาสนาได้ง่ายขึ้น ตามแนวที่เธอเคยทำมาแล้วในเรื่อง ธรรมะรอบกองไฟ และช้อปปิ้งบุญ มองอีกแง่หนึ่งเหมือนเป็นการทาสีรักษาเนื้อไม้ ยังทำให้ไม้ดูงามขึ้นด้วย



พิจารณาโดยตลอดแล้วดูเหมือนว่า ขวัญ เพียงหทัย ต้องการให้คนเชื่อกรรมและผลของกรรม โดยผ่านทางหนังสือเล่มนี้ ซึ่งความเชื่อเรื่องกรรมนี้ ถ้ามีอย่างแน่นแฟ้นแล้ว ก็จะทำให้คนวางมือจากกรรมชั่ว มาประกอบกรรมดี สังคมของเราจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน



ข้าพเจ้าขออนุโมทนาต่อกุศลกรรมของ ขวัญ เพียงหทัย ขอให้เธอและท่านผู้อ่านทั้งหลายพึงประสบผลดีและมีความสุขตลอดกาลทุกเมื่อ



ด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่ง

วศิน อินทสระ

๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘



.......





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.ย. 2005, 4:25 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เนื้อหาได้รับจาก "ห้องหนังสือเรือนธรรม"

ซึ่งเป็นห้องหนังสือและสถานที่ปฏิบัติธรรม ของคุณขวัญ
http://www.dhammajak.net/ruendham/









 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.ย. 2005, 5:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



หนังสือนี้มีเจตนาเผยแพร่พุทธธรรมแก่ผู้เริ่มต้นสนใจธรรมะ

เพื่อความเข้าใจในศาสนาพุทธ

และยังความสุขเย็นให้เกิดขึ้นในจิตใจจากรสพระธรรม

ท่านสามารถร่วมงานเผยแพร่นี้ได้

ด้วยการรับเป็นเจ้าภาพในราคาเล่มละ ๓๐ บาท (ค่าส่งฟรี)

เพื่อมอบให้ห้องสมุดโรงเรียน, วัด, ห้องสมุดสำนักงาน, หรือญาติมิตร

เพื่อส่งเสริมความสนใจในศาสนาเป็นเบื้องต้น

ท่านที่ประสงค์จะเป็นเจ้าภาพกรุณาโอนเงินดังนี้ :-

ชื่อบัญชี นายโก้ แซ่อึ้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาราชวัตร

เลขที่บัญชีออมทรัพย์ ๑๓๐-๒-๑๕๑๕๔-๕

แล้วส่งใบฝากเงิน พร้อมชื่อ-ที่อยู่-เบอร์โทรศัพท์ของท่านไปที่

ฝ่ายจัดการ : วิมลลักษณ์ อาศัยพานิชย์

โทร. ๐-๒๒๔๓-๑๒๗๘ ต่อ ๒๐๓ โทรสาร ๐-๒๖๖๙-๓๔๙๑

หากเป็นธนาณัติ กรุณาสั่งจ่าย ปท.ดุสิต ในนาม นายโก้ แซ่อึ้ง

๒๙๐/๑ ถ.พิชัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐

ขออนุโมทนาบุญกุศลในการช่วยกันเผยแพร่ศาสนาของท่านในครั้งนี้

ขอให้ธรรมะคุ้มครองโดยทั่วกัน





...........................

หรือติดต่อ

ห้องหนังสือ เรือนธรรม

๒๙๐/๑ ถนนพิชัย แขวงถนนนครไชยศรี

เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐ โทรศัพท์ ๐-๒๒๔๔-๘๒๙๒
http://www.dhammajak.net/ruendham/



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 03 ก.ย. 2005, 6:03 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



ดาวน์โหลดชนิดไฟล์ .PDF


http://www.dhammajak.net/ruendham/book3/PDF/book3.zip



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
จินตนา
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 09 ก.ย. 2005, 4:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



อยากได้หนังสือ "ธรรมะเอกเขนก" จำนวน 2 เล่ม ต้องทำอย่างไร ค่ะ เพราะได้อ่าน "ธรรมะรอบกองไฟ" แล้ว ชอบมากค่ะ (สั่งซื้อผ่าน มูลนิธิวัดสวนแก้ว) จะให้ช่วยสมทบค่าพิมพ์หรืออย่างใดรบกวนแจ้งให้ทราบด้วยค่ะ



ขอบคุณมากค่ะ



จินตนา
 
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 09 ก.ย. 2005, 5:04 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ตอบคุณจินตนา



ติดต่อได้ตามที่ได้แจ้งไว้แล้ว ที่ความคิดเห็นที่ 36 ด้านบน หรือในหนังสือธรรมะรอบกองไฟ ก็ได้นะครับ



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง