Home
•
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทาน
•
หนังสือ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
•
แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้
ค้นหา
สมัครสมาชิก
รายชื่อสมาชิก
กลุ่มผู้ใช้
ข้อมูลส่วนตัว
เช็คข้อความส่วนตัว
เข้าสู่ระบบ(Log in)
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
การรับประทานอาหารมังสวิรัติ กับ การกินเจ (ชำนาญ นิศารัตน์)
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
:: ลานธรรมจักร ::
»
บทความธรรมะ
ผู้ตั้ง
ข้อความ
ฌาณ
บัวเงิน
เข้าร่วม: 23 ก.ค. 2008
ตอบ: 1145
ที่อยู่ (จังหวัด): หิมพานต์
ตอบเมื่อ: 11 ต.ค.2008, 2:03 pm
การรับประทานอาหารมังสวิรัติ กับ การกินเจ
อาจารย์ชำนาญ นิศารัตน์ อดีตศึกษานิเทศก์ ระดับ ๙
กรมการศึกษานอกโรงเรียน (จาก...หนังสือทางเดิน)
การรับประทานอาหารมังสวิรัติ กับ การกินเจ
แม้จะมีพฤติกรรมเหมือนกัน คือ งดเว้นการกินเนื้อสัตว์เหมือนกัน
แต่มีวัตถุประสงค์ต่างกัน คือ ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ ก็เพราะมีเจตนาจะละเว้นการกินเนื้อสัตว์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเบียดเบียนสัตว์
คือ ไม่กินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นเหตุทำให้ไม่ฆ่าสัตว์เพื่อเอามาเป็นอาหาร
แต่การกินเจ เป็นประเพณีของชาวจีน การกินเจ ไม่ใช่งดเว้นเนื้อสัตว์ตลอดเวลานาน แต่งดกินเนื้อสัตว์ชั่วระยะเวลาเทศกาลกินเจเท่านั้น คือ ตั้งแต่วันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ของจีน เป็นเวลา ๙ วัน โดยจะตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑๑ ของไทย
(แต่เฉพาะในปีที่ปฏิทินจีนมีเดือน ๕ สองครั้งนั้น จะตรงกับวันขึ้น ๑-๙ ค่ำ เดือน ๑๒ ของไทย) การกินเจมีวัตถุประสงค์เพื่อบูชาพระเจ้าเก้าพระองค์ (เก๊า-ฮ้วง-ฮุดโจ้ว) ซึ่งเป็นเทพเจ้าอยู่บนสวรรค์ ในหนึ่งปีพระเจ้าเก้าพระองค์จะลงมาตรวจดูคนในมนุษยโลกว่าใครทำดีทำชั่ว แล้วจะจดบันทึกไว้ เพราะเจ้าทั้งเก้าจะลงมาในมนุษยโลก ผู้ที่ต้องการให้พระเจ้าทั้งเก้าช่วยเหลือ ก็ต้องรักษาศีลกินเจเป็นเวลา ๙ วัน นอกจากไม่กินเนื้อสัตว์แล้ว ยังต้องไม่กินผักที่มีกลิ่นแรงก่อให้เกิดราคะ ๕ ชนิด ที่มีในเมืองไทย ๓ ชนิด คือ หอม กระเทียม และกุยช่าย (อีก ๒ ชนิด คือ หลักเกี๋ย และเฮงกื๋อ ไม่มีในประเทศไทย)
ดังนั้น ในวันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง วันขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ของจีน คนจีนจึงกินเจ เพื่อทำความดีให้พระเจ้าเก้าพระองค์ (เก๊า-ฮ้วง-ฮุดโจ้ว) เห็น แล้วจะได้จดบันทึกไว้ และบันดาลให้มีอายุยืนต่อไป
ทำไมพระมหายานจึงฉันอาหารเจ
พระสงฆ์มหายาน คือ พระจีนและพระญวน
มีอุดมคติหรือจุดหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรมต่างกับพระสงฆ์เถรวาท
พระสงฆ์เถรวาท คือ พระสงฆ์ไทย ลังกา พม่า ลาว เขมร
มีจุดมุ่งหมายสูงสุดในการปฏิบัติธรรม คือ ทำจิตให้บริสุทธิ์ หมดกิเลส
เป็นพระอรหันต์ หรือเรียกว่า บรรลุนิพพาน นิพพาน คือ จุดหมายสูงสุด
แต่พระสงฆ์มหายานไม่ต้องการบรรลุนิพพานแต่ลำพังตนเอง แต่ต้องการช่วยให้มหาชน บรรลุนิพพานทั้งหมด
จึงต้องบำเพ็ญบารมีให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในระหว่างที่บำเพ็ญบารมีอยู่นี้เรียกว่า เป็นพระโพธิสัตว์
คำว่าพระโพธิสัตว์ หมายถึง ท่านผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์จะต้องรักษาศีลเรียกว่า สิกขาบท พระโพธิสัตว์ เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ปฏิบัติพร้อมกันกับสิกขาบทที่มีมาในพระปาฏิโมกข์เหมือนกับพระสงฆ์เถรวาท
แต่ต้องรักษาศีลสำหรับพระโพธิสัตว์เพิ่มขึ้น ๕๘ ข้อ ในสิกขาบทพระโพธิสัตว์ ๕๘ ข้อนี้ มีบัญญัติว่าห้ามบริโภคโภชนาหารปลาและเนื้อ และห้ามบริโภคผักที่มีกลิ่นฉุน ก่อให้เกิดราคะ ๕ อย่าง ที่มีในเมืองไทย ๓ ชนิด คือ หอม กระเทียม และกุยช่าย (อีก ๒ ชนิด คือ หลักเกี๋ย และเฮงกื๋อ ไม่มีในประเทศไทย)
พระพุทธเจ้าทรงห้ามพุทธบริษัทรับประทานเนื้อสัตว์หรือไม่
คำถามนี้ต้องแยกตอบเป็น ๒ พวก คือ
๑. พุทธบริษัทที่เป็นคฤหัสถ์
๒. พุทธบริษัทที่เป็นบรรพชิต
สำหรับพุทธบริษัทที่เป็นคฤหัสถ์นั้น พระพุทธเจ้าไม่ห้ามการรับประทานอาหารทุกชนิด เพราะชาวบ้านมีขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมต่างกัน ความเชื่อถือในเรื่องการรับประทานอาหารก็เป็นไปตามตระกูลและวรรณะของตน พระพุทธเจ้าจึงไม่ห้ามชาวบ้านในเรื่องการเลือกอาหาร
แต่สำหรับบรรพชิต คือ ภิกษุ ภิกษุณี และสามเณรนั้น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติข้อห้ามไว้ ๒ กรณี
คือ
กรณีที่ ๑ ห้ามรับประทานเนื้อ ๑๐ ชนิด
คือ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อสุนัข เนื้องู
การที่พระพุทธเจ้าบัญญัติห้ามภิกษุฉันเนื้อเสือ ๓ ชนิด แทนที่จะพูดรวมๆ เนื้อเสือ เพราะในภาษาบาลี เสือแต่ละชนิด ใช้คำเรียกต่างกัน คือ เสือโคร่ง ใช้คำว่า พยคฺฆมํสํ, เสือดาว ใช้คำว่า ตรจฺฉมํสํ, เสือเหลือง ใช้คำว่า ทีปิมํสํ เนื้อ ๑๐ ชนิดนี้ ถ้าภิกษุฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ (ที่มา : ฉบับหลวง เล่ม ๕ ข้อ ๕๗ หน้า ๖๙-๗๒)
กรณีที่ ๒ พระพุทธเจ้าห้ามภิกษุฉันเนื้อที่เขาฆ่าเพื่อทำอาหารถวายพระโดยเฉพาะ เรียกในพระวินัยว่า อุททิสุสมังสะ
แปลว่า เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่าเจาะจงเพื่อถวายภิกษุ ท่านห้ามมิให้ภิกษุฉัน หากภิกษุฉัน ทั้งได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อถวายตน ต้องอาบัติทุกกฎ
พุทธบัญญัติข้อนี้ มีในพระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่ม ๕ ข้อ ๘๐ หน้า ๑๐๐-๑๐๑ ดังนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรู้อยู่ ไม่พึงฉันเนื้อที่เขาทำจำเพาะ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฎ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ปลาเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ
การรับประทานอาหารมังสวิรัติ คือ งดเว้นจากการรับประทานเนื้อสัตว์
เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนาใช่หรือไม่ ?
คำตอบที่ถูกต้อง คือ
ไม่ใช่
พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสนับสนุน มิได้ทรงสรรเสริญ มิได้ทรงติเตียน การบริโภคอาหารมังสวิรัติแต่อย่างใด และการบริโภคอาหารมังสวิรัตินั้น ก็มิได้ช่วยให้บรรลุธรรมพิเศษแต่อย่างใด บางคนยึดถือว่า การบริโภคอาหารมังสวิรัติเป็นสิ่งสำคัญ เป็นข้อปฏิบัติอันประเสริฐ จึงสรรเสริญผู้บริโภค ติเตียนผู้ไม่บริโภค
เคยมีภิกษุสำนักหนึ่ง ติเตียนผู้ที่กินเนื้อสัตว์ว่าเป็นยักษ์มาร ปากที่กินเนื้อสัตว์ เป็นปากของคนใจดำอำมหิต กระเพาะของคนที่กินเนื้อสัตว์เป็นป่าช้า ที่ฝังของเนื้อและปลาทั้งหลาย คำกล่าวอย่างนี้ ความเห็นอย่างนี้เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง คือ มานะ ถือตัว, อติมานะ ดูหมิ่นท่าน, สาเถยยะ โอ้อวด
การรับประทานอาหารมังสวิรัติเป็นบุญหรือไม่ ?
การที่จะวินิจฉัยว่าการกระทำอะไร เป็นบุญหรือไม่เป็นบุญนั้น ต้องอาศัยกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ว่าด้วย บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่าง คือ
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่
๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลือขวนขวายในกิจการงานต่างๆ
๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ
๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ
๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม
๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความคิดเห็นของตนให้ตรง
เมื่อเทียบเคียงกับบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ วิธีแล้ว ไม่พบว่าการรับประทานอาหารมังสวิรัติ คือ รับประทานแต่พืชผักเป็นวิธีทำบุญข้อใดเลย จึงไม่นับว่าเป็นวิธีทำบุญในพระพุทธศาสนา
ลองคิดดูว่าถ้าการกินพืช เช่น ผัก หญ้า ได้บุญ แล้วสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร เช่น วัว ควาย แพะ แกะ ก็ต้องได้บุญมากกว่ามนุษย์ เพราะสัตว์พวกนี้กินพืชตลอดชีวิตไม่กินเนื้อสัตว์เลย
การกินเนื้อสัตว์เป็นบาปหรือไม่ ?
การที่จะวินิจฉัยว่าบาปหรือไม่บาปนั้น ต้องพิจารณาว่าการกินเนื้อสัตว์ที่ตายแล้วเป็นการผิดศีลข้อปาณาติบาตหรือไม่ ศีลข้อปาณาติบาต คือ งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ นั้นจะผิดศีลก็ต่อเมื่อประกอบด้วยองค์ ๕ คือ
๑. ปาโณ สัตว์มีชีวิต
๒. ปาณสญฺญิตา รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
๓. วธกจิตฺตํ จิตคิดจะฆ่า
๔. อุปกฺกโม พยายามที่จะฆ่า
๕. เตน มรณํ สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น
เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง ๕ ข้อ จึงถือว่าเป็นการฆ่าสัตว์ ผิดศีลข้อที่ ๑ เป็นบาป
แต่ถ้าไม่ได้ลงมือฆ่าเอง และไม่ได้ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ก็ไม่เป็นบาป
ตัวอย่าง เราไปจ่ายตลาด ซื้อกุ้งแห้ง ปลาดุกย่าง ปลาทู เนื้อหมู ฯลฯ เราได้มีส่วนร่วมในการฆ่าสัตว์เหล่านั้นหรือไม่ สัตว์เหล่านั้นย่อมตายก่อนที่เราจะไปซื้อมาเป็นอาหาร ถึงเราจะซื้อหรือไม่ซื้อ สัตว์เหล่านั้นก็ตายอยู่แล้ว เราไม่ได้มีส่วนทำให้ตาย มีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า นตฺถิ ปาปํ อกุพฺพโต บาป ไม่มีแก่ผู้ไม่ทำ
พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์หรือไม่ ?
ปัญหาเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์หรือไม่นี้ พูดกันถามกันอยู่เสมอ คำตอบที่ถูกต้อง คือ พระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์ หลักฐานที่จะนำมาอ้างมีในพระไตรปิฎกหลายแห่งที่ยกมาเป็นตัวอย่างเพียง ๒ แห่ง คือ
๑. เรื่องสีหะเสนาบดี พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่ม ๕ ข้อ ๘๐ หน้า ๙๙
๒. อรรถกถาอามคันธสูตร พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฎราชวิทยาลัย เล่ม ๔๗ หน้า ๘๗ และหน้า ๙๒
เรื่องที่ ๑ สีหะเสนาบดี แห่งแคว้นวัชชี
เดิมเป็นสาวกของนครนถ์ (นักบวชเปลือย) ต่อมาได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน จึงเปลี่ยนศาสนามาเป็นอุบาสก และอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์หมู่ใหญ่ไปรับภัตตาหารที่นิเวศน์ของสีหะเสนาบดี ในวันรุ่งขึ้นพระพุทธเจ้าทรงรับอาราธนาแล้ว สีหะเสนาบดีจึงได้สั่งให้มหาดเล็ก ไปซื้อเนื้อสดที่เขาขายในตลาด มาทำภัตตาหารถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงเสวยภัตตาหารนั้น
เรื่องที่ ๒ อามคันธสูตร
ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ตรัสรู้ มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ อามะคันธะ บวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าหิมพานต์ มีบริวาร ๕๐๐ ดาบสเหล่านั้นออกจากป่าหิมพานต์ไปจำพรรษาอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เป็นเวลาปีละ ๔ เดือน เป็นประจำชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธามาก ให้การต้อนรับเลี้ยงดูเป็นอย่างดี
สมัยต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปยังหมู่บ้านแห่งนั้น พร้อมด้วยภิกษุทั้งหลาย เมื่อชาวบ้านได้เห็นพระพุทธเจ้าก็เกิดความศรัทธาเลื่อมใสถวายมหาทาน พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่คนเหล่านั้น คนเหล่านั้นบางพวกเป็นพระโสดาบัน บางพวกเป็นพระสกทาคามี พระอนาคามี บางพวกได้บรรพชาอุปสมบทบรรลุเป็นพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปยังกรุงสาวัตถี
ต่อมาดาบสเหล่านั้นได้เข้าไปสู่หมู่บ้านนั้นอีก แต่คราวนี้ชาวบ้านไม่ได้ให้การต้อนรับอย่างโกลาหลเหมือนคราวก่อนๆ ดาบสเหล่านั้นเห็นผิดจากเดิม จึงถามคนเหล่านั้นว่าเพราะอะไรพวกท่านจึงไม่เป็นเช่นคราวก่อน ชาวบ้านได้เรียนให้ดาบสทราบว่า บัดนี้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระองค์ทรงแสดงพระธรรมเพื่อประโยชน์แก่คนเป็นอันมาก คนทั้งหลายได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลชั้นต่างๆ มีพระโสดาบัน เป็นต้น พวกดาบสเมื่อได้ยินคำว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก ก็เกิดความปลาบปลื้มปิติยินดีอย่างยิ่ง แต่ยังไม่ค่อยเชื่อว่า จะเป็นพระพุทธเจ้าจริง จึงสอบถามชาวบ้านถึงพระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้า โดยถามว่าพระพุทธเจ้าเสวยอย่างไร ทรงเสวยปลาหรือเนื้อหรือไม่ คนเหล่านั้นกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเสวยปลาและเนื้อ
เมื่ออามะคันธดาบสได้ฟังดังนั้นก็ไม่ชอบใจ เพราะไม่ตรงกับความคิดของตน เพราะมีความเชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าต้องไม่เสวยปลาและเนื้อ อามะคันธะดาบสพร้อมด้วยดาบสบริวารจึงเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระวิหารเชตวัน ที่พระนครสาวัตถี และได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า
พระองค์เสวยปลาและเนื้อหรือไม่
พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า พระองค์เสวยปลาและเนื้อที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และไม่ได้รังเกียจ (คือไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อตน) จัดเป็นสิ่งหาโทษมิได้
อามะคันธะดาบส ได้โต้แย้งกับพระพุทธเจ้าว่า การเสวยปลาและเนื้อไม่เหมาะสมแก่ชาติสกุลของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ไม่ควรที่จะเสวยปลาและเนื้อ
พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้อามะคันธะดาบสเข้าใจว่า การไม่กินปลา กินเนื้อ ย่อมไม่ทำสัตว์ให้บริสุทธิ์ได้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแสดงความที่บุคคลไม่สามารถจะทำตนให้บริสุทธิ์ด้วยการไม่บริโภคปลาเนื้อเป็นต้น อย่างนี้แล้ว ทรงแสดงพระธรรมที่สามารถจะทำสัตว์ให้บริสุทธิ์ได้ด้วยหลักธรรม คือ อินทรีย์สังวร การสำรวมอินทรีย์ ความเป็นผู้มีศีลอันบริสุทธิ์ ทำให้บางเบาซึ่งกิเลสทั้งหลาย มีราคะและโทสะ เป็นต้น ดำรงอยู่ในธรรม คือ อริยสัจ ๔ อันจะพึงบรรลุได้ด้วยอริยมรรค
อามะคันธะดาบส ครั้นสดับพระธรรมเทศนานั้นแล้ว ก็มีใจอ่อนน้อม ถวายบังคมที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลขอบวชพร้อมกับดาบสผู้เป็นบริวารของตน พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ท่านทั้งหลาย จงเป็นภิกษุมาเถิด ดาบสเหล่านั้นได้เป็นภิกษุด้วยพระวาจานั้น ต่อมาอีก ๒-๓ วัน ทุกท่านก็ได้บรรลุพระอรหันต์
การรับประทานอาหารมังสวิรัติไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเป็นคำสอนของใคร ?
คำสอนให้งดเว้นจากการกินเนื้อสัตว์ เป็นคำสอนของพระเทวทัต
พระเทวทัตเป็นราชบุตรของพระเจ้าสุปปพุทธะ เป็นเชฏฐภาดา (พี่ชาย) ของพระนางยโสธราพิมพา ผู้เป็นพระชายาของสิทธัตถราชกุมาร
เจ้าชายเทวทัตออกบวชพร้อมกับเจ้าชายในราชวงศ์ศากยะ ๕ คน มีพระอานนท์ เป็นต้น และมีพนักงานภูษามาลา (ช่างตัดผม) ชื่อ
อุบาลี
รวมเป็น
๗ คน
ออกบวชพร้อมกัน
หลังจากออกบวชแล้วเจ้าชายในราชวงศ์ศากยะทั้ง ๕ พระองค์ และพระอุบาลี ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล ส่วนพระเทวทัตไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล ได้สำเร็จโลกียฌาน มีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ
ต่อมาพระเทวทัตอยากจะมีอำนาจปกครองสงฆ์ จึงกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า
พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงขวนขวายน้อย ประกอบทิฏฐิธรรมสุขวิหารอยู่เถิด ขอจงมอบภิกษุสงฆ์แก่ข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าจักปกครองภิกษุสงฆ์
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามว่า อย่าเลย ! เทวทัต เธออย่าพอใจที่จะปกครองภิกษุสงฆ์เลย
แม้พระพุทธเจ้าทรงห้ามแล้ว พระเทวทัตก็ไม่ฟัง ยังกราบทูลขอปกครองสงฆ์ถึง ๓ ครั้ง แต่พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้พระเทวทัต เป็นผู้ปกครองสงฆ์
พระเทวทัตโกรธ น้อยใจ จึงคิดจะเป็นพระพุทธเจ้าเสียเอง พระเทวทัตเข้าไปหาเจ้าชายอชาตศัตรู ผู้เป็นโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร ยุยงให้เจ้าชายอชาตศัตรูเป็นกบฏ ชิงราชบัลลังก์ โดยกล่าวว่า
ดูก่อนกุมาร ถ้ากระนั้นท่านจงปลงพระชนม์พระชนกเสีย แล้วเป็นพระเจ้าแผ่นดิน อาตมาจักปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วเป็นพระพุทธเจ้า
พระเทวทัตวางแผนปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า ๓ ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ ๑
พระเทวทัตขอให้เจ้าชายอชาตศัตรูส่งทหารแม่นธนูไป พบพระพุทธเจ้าแล้วไม่กล้ายิง พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรม ทหารแม่นธนูได้ฟังธรรมแล้ว ได้บรรลุธรรมประกาศตนเป็นอุบาสกแล้วกลับไป
ครั้งที่ ๒
เมื่อแผนการแรกไม่สำเร็จ พระเทวทัตจึงลงมือเองโดยขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏ กลิ้งศิลาก้อนใหญ่ลงมาขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ที่เชิงเขา ด้วยจงใจว่าเราเองจักเป็นผู้ปลงพระชนม์พระสมณโคดม แต่ศิลานั้นกลิ้งไปกระทบศิลาก้อนอื่น แตกเป็นสะเก็ดกระเด็นไปกระทบพระบาท (หัวแม่เท้า) ทำให้ห้อพระโลหิต บรรดาภิกษุช่วยกันทำแคร่หามพระองค์ไปยังบ้านหมอชีวก หมอชีวกทำการรักษาด้วยการพอกยาจนพระโลหิตที่ห้อนั้นหายสนิท
ครั้งที่ ๓
พระเทวทัตไม่ละความพยายามเข้าไปหาควาญช้างหลวง แอบอ้างรับสั่งของพระเจ้าอชาตศัตรู พระราชาพระองค์ใหม่ ให้ปล่อยช้างนาฬาคิรี ออกไปทำร้ายพระพุทธองค์ขณะเสด็จบิณฑบาต เมื่อช้างแลเห็นพระพุทธองค์ก็ปรี่เข้าไปจะทำร้าย พระอานนท์ออกไปยืนขวางหน้าด้วยความจงรักภักดี ตั้งใจสละชีวิตเพื่อปกป้องพระพุทธองค์ ด้วยอำนาจเมตตาจิตที่พระศาสดาทรงแผ่เจาะจงยังช้างนาฬาคิรี ทำให้ช้างนั้นเมื่อได้สัมผัสกับกระแสเมตตาจิตของพระพุทธองค์ก็ลดงวงลง เข้าไปหมอบอยู่ต่อหน้าพระพักตร์แล้วกลับไปสู่โรงช้างตามเดิม
ทำสังฆเภท
พระเทวทัต เมื่อพยายามทำร้ายพระพุทธองค์ถึง ๓ ครั้งไม่เป็นผลสำเร็จ จึงใช้อุบายที่จะทำให้สงฆ์แตกแยกกัน พระเทวทัตจะได้แบ่งแยกพระสงฆ์ส่วนหนึ่งไปจากพระพุทธเจ้า
พระเทวทัต กับบริวารของตนเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบท ๕ ประการ โดยอ้างว่าเพื่อความเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ความขัดเกลา ความจำกัดกิเลส การไม่สั่งสม เพื่ออาการที่น่าเลื่อมใส เรื่องที่พระเทวทัตทูลขอให้พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทขึ้นใหม่ ๕ ข้อนั้น เรียกว่า
วัตถุ ๕ ประการ
คือ
๑. ภิกษุทั้งหลาย พึงถือการอยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดอาศัยบ้านอยู่ รูปนั้นพึงต้องโทษ
๒. ภิกษุทั้งหลาย พึงถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีกิจนิมนต์ รูปนั้นพึงต้องโทษ
๓. ภิกษุทั้งหลาย พึงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีคหบดีจีวร รูปนั้นพึงต้องโทษ
๔. ภิกษุทั้งหลาย พึงถืออยู่โคนไม้เป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดเข้าอาศัยที่มุงที่บัง รูปนั้นพึงต้องโทษ
๕. ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันปลาและเนื้อ รูปนั้นพึงต้องโทษ
พระศาสดารับสั่งว่า ภิกษุพึงถือเป็นวัตรได้ตามความสมัครใจ ภิกษุรูปใดปรารถนาจะอยู่ป่าเป็นวัตร ก็จงอยู่ป่าเป็นวัตร รูปใดปรารถนาจะอยู่บ้าน ก็จงอยู่บ้าน รูปใดปรารถนาจะถือบิณฑบาตเป็นวัตร ก็จงถือบิณฑบาตเป็นวัตร รูปใดปรารถนาจะรับกิจนิมนต์ ก็จงยินดีกิจนิมนต์ รูปใดปรารถนาจะถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ก็จงถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร รูปใดจะรับผ้าคหบดีจีวร ก็จงรับ เราอนุญาตการอยู่โคนไม้เป็นเสนาสนะ ๘ เดือนนอกฤดูฝน ในฤดูฝนต้องอยู่ในที่มุงที่บัง เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ คือไม่สงสัยว่าเขาฆ่าสัตว์นั้นเพื่อถวายพระ
พระเทวทัตประกาศให้ประชาชนทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาตข้อวัตรที่ตนทูลขอทำให้ประชาชนที่ไร้ปัญญาเข้าใจว่า พระเทวทัตเป็นผู้มีความประพฤติขัดเกลา ส่วนพระพุทธเจ้าเป็นผู้มีความประพฤติมักมาก
พระเทวทัตประกาศโฆษณาให้พระภิกษุเห็นด้วยกับ วัตถุ ๕ ประการ โดยอ้างว่าเป็นการปรารถนาความเพียร เพื่อความมักน้อย พระเทวทัตอ้างว่าคำสอนของตนประเสริฐกว่า เคร่งครัดกว่า น่าเลื่อมใสกว่า
พระภิกษุวัชชีบุตร (ชาวเมืองเวสาลี) ประมาณ ๕๐๐ รูป เป็นพระบวชใหม่ และรู้พระธรรมวินัยน้อย พากันหลงเชื่อ ยอมตนเข้าเป็นสาวกของพระเทวทัต พระเทวทัตพาภิกษุเหล่านี้ไปอยู่ที่ตำบลคยาสีสะ เป็นการแยกคณะสงฆ์
พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่าพระพุทธเจ้าข้า พระเทวทัต ทำลายสงฆ์แล้ว พาภิกษุประมาณ ๕๐๐ หลีกไปทางคยาสีสะ
พระเทวทัตเข้าใจว่า พระอัครสาวกทั้งสองตามมาเพราะชอบใจธรรมะของตน จึงนิมนต์ให้นั่ง หลังจากพระเทวทัตแสดงธรรมกถาเป็นเวลานานแล้ว จึงมอบให้พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะแสดงธรรมต่อ โดยกล่าวว่า ท่านจงแสดงธรรมต่อจากเราเถิด เราเหนื่อยแล้ว จักนอนพัก จากนั้นก็ล้มตัวลงนอนแล้วหลับไป
พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ แสดงธรรมเจือด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ กลับใจภิกษุเหล่านั้นให้เข้าใจความจริง แล้วพาภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้นกลับไปอยู่กับพระพุทธเจ้าตามเดิม
พระเทวทัตตื่นขึ้นมา ปรากฏว่าพระภิกษุส่วนใหญ่ตามพระอัครสาวกทั้งสองกลับไปแล้ว คงเหลือพระภิกษุที่ยังอยู่เพียงเล็กน้อย พระเทวทัตเสียใจมาก ล้มป่วยถึง ๙ เดือน ในกาลสุดท้ายสำนึกผิด ต้องการจะไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลขอขมา จึงให้สาวกที่เหลือนำตนไปเฝ้า เมื่อสาวกนำพระเทวทัตมาใกล้ถึงพระเชตวัน ก็วางคานหามลงริมฝั่งสระโบกขรณี พระเทวทัตลุกขึ้นนั่ง ก้าวลงจากคานหาม พอเท้าทั้งสองถึงพื้นดิน แผ่นดินสูบพระเทวทัตจมลงในพื้นดิน ไปเกิดในอเวจีมหานรก ถูกไฟนรกเผา เพราะอนันตริยกรรมที่ตนได้กระทำทั้ง ๒ อย่าง คือ ทำร้ายพระพุทธเจ้าถึงห้อพระโลหิต และทำสังฆเภท ทำให้สงฆ์แตกกัน
คำสอนของพระเทวทัต ให้งดเว้นจากการรับประทานปลาและเนื้อ หรือที่เราเรียกกันว่า รับประทานอาหารมังสวิรัติ ก็ยังมีผู้ปฏิบัติตามจนทุกวันนี้
รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ การกินเจ-มังสวิรัติ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=19&t=39721
_________________
ผมจะพยายามให้ได้ดาวครบ 10 ดวงครับ
admin
บัวทอง
เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886
ตอบเมื่อ: 30 พ.ค.2013, 2:08 pm
รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ การกินเจ-มังสวิรัติ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=19&t=39721
_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:
แสดงทั้งหมด
1 วัน
7 วัน
2 สัปดาห์
1 เดือน
3 เดือน
6 เดือน
1 ปี
เรียงจากเก่า-ใหม่
เรียงจากใหม่-เก่า
:: ลานธรรมจักร ::
»
บทความธรรมะ
ไปที่:
เลือกกลุ่ม บอร์ด
กลุ่มสนทนา
----------------
สนทนาธรรมทั่วไป
แนะนำตัว
กฎแห่งกรรม
สมาธิ
ฝึกสติ
การสวดมนต์
การรักษาศีล-การบวช
ความรัก-ผูกพัน-พลัดพลาก
กลุ่มข่าวสาร-ติดต่อ
----------------
ข่าวประชาสัมพันธ์
ธรรมทาน
รูปภาพ-ประมวลภาพกิจกรรมต่างๆ
สำหรับนักเรียน นักศึกษา ขอความรู้ทำรายงาน
แจ้งปัญหา
รูปภาพในบอร์ด
กลุ่มสาระธรรม
----------------
หนังสือธรรมะ
บทความธรรมะ
นิทาน-การ์ตูน
กวีธรรม
นานาสาระ
ต้นไม้ในพุทธประวัติ
วิทยุธรรมะ
ศาสนสถานและศาสนพิธี
----------------
สถานที่ปฏิบัติธรรม
วัดและศาสนสถาน
พิธีกรรมทางศาสนา
พุทธศาสนบุคคล
----------------
พระพุทธเจ้า
ประวัติพระอสีติมหาสาวก
ประวัติเอตทัคคะ (ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา)
สมเด็จพระสังฆราชไทย
ประวัติและปฏิปทาของครูบาอาจารย์
ในหลวงกับพระสุปฏิปันโน
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณ
ไม่สามารถ
สร้างหัวข้อใหม่
คุณ
ไม่สามารถ
พิมพ์ตอบ
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลบข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลงคะแนน
คุณ
สามารถ
แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ
สามารถ
ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
เลือกบอร์ด •
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทานธรรมะ
•
หนังสือธรรมะ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
สถานที่ปฏิบัติธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ
•
วิทยุธรรมะ
•
เสียงธรรม
•
เสียงสวดมนต์
•
ประวัติพระพุทธเจ้า
•
ประวัติมหาสาวก
•
ประวัติเอตทัคคะ
•
ประวัติพระสงฆ์
•
ธรรมทาน
•
แจ้งปัญหา
จัดทำโดย กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ
webmaster@dhammajak.net
Powered by
phpBB
© 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
www.Stats.in.th