Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ทำบุญไหว้พระ ยลยอดศิลปะไทย ที่ “วัดเบญจมบพิตร” อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 18 ส.ค. 2007, 8:47 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร สถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบของศิลปะไทย


ทำบุญไหว้พระ ยลยอดศิลปะไทย ที่ “วัดเบญจมบพิตร”

วันมาฆบูชาที่ใกล้จะถึงนี้ (13 ก.พ. 2549) รู้ว่าหลายคนคงดีใจที่จะได้มีวันหยุดเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง แต่ในเมื่อเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธทั้งที จะหยุดอยู่บ้านเฉยๆ ก็ใช่ที่ ต้องออกมาทำบุญด้วยจึงจะถูก แต่ถ้ายังไม่รู้จะไปทำบุญที่ไหน ขอแนะนำให้มาที่ ‘วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร’ หรือ ‘วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม’ หรือ ‘วัดเบญจมบพิตร’ พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร วัดกลางเมืองตั้งอยู่ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล ที่นอกจากจะได้มาทำบุญแล้วก็ยังจะได้ชมสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบของศิลปะไทยอีกด้วย

สำหรับชาวต่างชาติแล้ว จะรู้จักวัดเบญจมบพิตรแห่งนี้ในชื่อของ “The Marble Temple” หรือวัดหินอ่อนอันงดงามที่ใครๆ ต่างก็อยากมาชม เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกใจเมื่อก้าวเท้าเข้าไปในวัดเบญจมบพิตรแล้ว ได้พบกับนักท่องเที่ยวหลายเชื้อชาติมากหน้าหลายตา กำลังเดินชมวัดบ้าง ตั้งท่าถ่ายรูปอยู่บ้างเต็มไปหมด


Image
พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่ประดิษฐานอยู่รอบๆ พระระเบียงคด


ก่อนที่จะได้ทราบว่าวัดเบญจมบพิตรนี้ มีสุดยอดสถาปัตย์อยู่ตรงไหน มาทราบประวัติของวัดกันก่อนดีกว่า หลายคนเข้าใจผิดว่า “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” เป็นวัดประจำพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จริงๆ แล้ว “วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม” ต่างหากที่เป็นวัดประจำรัชกาลของท่าน แต่ทั้งนี้วัดเบญจมบพิตรก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความผูกพันกับพระองค์ท่านอย่างมากเช่นกัน

วัดเบญจมบพิตร เดิมชื่อว่า วัดแหลม หรือวัดไทรทอง วัดแห่งนี้เคยเป็นกองบัญชาการกองทัพในพระนคร เมื่อครั้งที่เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทน์ยกกองทัพมาตีไทยในปี พ.ศ.2369 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ เป็นผู้บัญชาการกองทัพที่วัดแห่งนี้


Image
พระพุทธชินราชองค์จำลอง พระประธานในพระอุโบสถ


และเมื่อการปราบกบฏเสร็จสิ้นลง พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ พร้อมด้วยพระเชษฐภคินี พระขนิษฐภคินี และพระกนิษฐภาดา ร่วมเจ้าจอมมารดาทั้งหมด 5 พระองค์ ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ขึ้น และมาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดเบญจบพิตร” ซึ่งมีความหมายว่า เป็นวัดของเจ้านาย 5 พระองค์

ต่อมาในรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างสวนดุสิตและพระราชวังดุสิตเพื่อเป็นที่ประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ การสร้างพระราชวังนั้นได้กินพื้นที่ของวัดดุสิต และวัดร้างอีกแห่งหนึ่งในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วจะต้องสร้างวัดทดแทน ดังนั้น พระองค์จึงมีพระราชประสงค์จะ “ผาติกา” หรือสถาปนาวัดเบญจบพิตร วัดใกล้เคียง ซึ่งในขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมอยู่ขึ้นมาแทน เมื่อสถาปนาขึ้นแล้วได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดเบญจมบพิตร” อันมีความหมายว่า วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5


Image
สิงห์สลักหินอ่อนนั่งเฝ้าพระอุโบสถอยู่ด้านหน้า


เอาล่ะ... ทีนี้ก็มาถึงตรงที่ว่า วัดเบญจมบพิตร ถือเป็น “สถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบของศิลปะไทย” อย่างไร ก่อนอื่นต้องขอบอกชื่อของสถาปนิกผู้ที่ออกแบบแปลนแผนผังของวัดเสียก่อน ท่านมีพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ซึ่งทรงได้รับยกย่องว่าเป็น “นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม” พระองค์ได้ทรงออกแบบพระอุโบสถและพระระเบียงอย่างวิจิตรงดงามด้วยแบบอย่างศิลปะและสถาปัตยกรรมไทยโบราณ โดยพระอุโบสถของวัดเบญจมบพิตรนั้นเป็นแบบจตุรมุข มีพระระเบียงโอบรอบด้านหลัง ถือเป็นพระอุโบสถที่สร้างได้สัดส่วนสวยงามเป็นอย่างยิ่ง

และสิ่งที่ช่วยเสริมความงดงามยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ผนังของพระอุโบสถแทนที่จะเป็นลวดลายประดับกระจก หรือกระเบื้องเหมือนวัดอื่นๆ ก็กลับประดับด้วยหินอ่อนอย่างดีที่ส่งตรงมาจากประเทศอิตาลี แลดูสะอาดตา และด้านหน้าพระอุโบสถมี สิงห์สลักหินอ่อน อยู่สองตัวนั่งคุมสองข้างบันไดอยู่ ดูน่าเกรงขามมิใช่น้อย สิงห์ทั้งสองตัวนี้ ขุนสกลประดิษฐ์ ช่างในกรมช่างสิบหมู่ เป็นผู้ปั้นแบบตามภาพที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเขียนขึ้น


Image
พระพุทธชินราชองค์จำลอง พระประธานในพระอุโบสถ


ด้านในพระอุโบสถมีพระประธานคือ พระพุทธชินราช ซึ่งจำลองมาจากพระพุทธชินราชองค์จริงที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ในตอนแรกนั้นรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริจะอัญเชิญพระพุทธชินราชองค์จริงจากเมืองพิษณุโลกมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ แต่ชาวเมืองพิษณุโลกได้แสดงความหวงแหน เพราะพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองพิษณุโลกอีกสององค์ก็ได้ถูกอัญเชิญลงมายังพระนครแล้ว จึงได้กราบบังคมทูลยับยั้ง พระองค์จึงโปรดฯ ให้ช่างหล่อรูปจำลองของพระพุทธชินราชมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถนี้แทน

ด้านในพระอุโบสถนี้มีสิ่งที่แตกต่างไปจากวัดอื่นๆ ที่เคยเห็น นั่นก็คือบนฝาผนังไม่ได้มีงานจิตรกรรมเป็นรูปพุทธชาดก หรือเรื่องรามเกียรติ์อย่างที่นิยมกัน แต่เป็นลวดลายเทพนมพุ่มข้าวบิณฑ์สีเหลืองบนพื้นขาว และที่พิเศษก็คือ มีภาพของพระธาตุและเจดีย์ที่สำคัญๆ ทั่วประเทศอยู่ตามช่องคูหา พอเดินชมรอบๆ แล้วก็เห็นว่ามีทั้งหมด 8 องค์ด้วยกัน คือ พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม, พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน, พระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองเชลียง จังหวัดสุโขทัย, พระมหาธาตุ วัดช้างล้อม เมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย, พระมหาธาตุเมืองละโว้ จังหวัดลพบุรี, พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม, พระเจดีย์ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพระมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช


Image
พระที่นั่งทรงผนวช


ขนาดของพระอุโบสถวัดเบญจฯ นั้นไม่ใหญ่โตนักก็จริง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีมาก ก็ทำให้ภายในพระอุโบสถแคบไปถนัด เดินหลบนักท่องเที่ยวในพระอุโบสถออกมาสู่ พระระเบียงคด (พระวิหารคด) ด้านหลัง ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของวัดเบญจฯ ก็อยู่ที่พระระเบียงนี้ เพราะรัชกาลที่ 5 ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะให้ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมพระพุทธรูปโบราณสมัยต่างๆ และปางต่างๆ ที่สร้างขึ้นทั้งในและต่างประเทศ แสดงให้ประชาชนได้ชม

พระพุทธรูปเหล่านี้ มีทั้งที่เป็นพระพุทธรูปโบราณ และเป็นพระพุทธรูปที่ใช้วิธีหล่อขยาย หรือย่อส่วนจากตัวอย่างของโบราณ นอกจากนั้นยังมีทั้งพระพุทธรูปที่นำมาจากในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างๆ รวมทั้งมาจากต่างประเทศ อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น, อินเดีย, พม่า และลังกาอีกด้วย สำหรับพระพุทธรูปจากประเทศอินเดียหรือพม่า อาจจะแยกแยะไม่ออก แต่ถ้าเป็นพระพุทธรูปของประเทศญี่ปุ่นละก็จะสังเกตได้ทันที เพราะจะมีสัญลักษณ์อยู่ที่แต่ละองค์จะมีดวงอาทิตย์ส่องแสงอยู่ตรงพระเศียร


Image
พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่ประดิษฐานอยู่รอบๆ พระระเบียงคด


ไม่ใช่แต่เพียงเท่านี้ แต่ที่วัดเบญจฯ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมาก หากเดินออกมาทางด้านข้างของพระอุโบสถ จะเจอกับสะพานข้ามคูน้ำสีแดงอยู่สามสะพานด้วยกัน มีชื่อว่า สะพานพระรูป สะพานถ้วย และสะพานงา ข้ามสะพานไปแล้วจะเจอกับพระที่นั่งสองหลัง คือ พระที่นั่งทรงผนวช และพระที่นั่งทรงธรรม

สำหรับ พระที่นั่งทรงผนวช นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อจากพุทธรัตนสถาน ที่สวนศิวาลัย ภายในพระบรมมหาราชวังมาไว้ที่นี่เพื่อเป็นกุฏิเจ้าอาวาส โดยยังรักษารูปแบบเดิมไว้ โดยภายในพระที่นั่งทรงผนวช มีพระแท่นบรรทม พระบรมรูปเมื่อทรงผนวช พระบรมรูปสลักหินอ่อน พระพุทธรูปพระเสลี่ยงน้อย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายเพื่อเป็นธรรมาสน์แสดงธรรมและแสดงพระปาติโมกข์ครั้งแรกในวัดเบญจมบพิตร และภายในยังมีภาพเขียนเกี่ยวกับพระราชประวัติของรัชกาลที่ 5 ไว้ด้วย สำหรับพระที่นั่งองค์นี้จะเปิดให้เข้าชมก็เฉพาะวันที่ 23 ตุลาคมเท่านั้น แต่ถ้าใครจะมาชมเป็นหมู่คณะก็ลองติดต่อขอเข้าชมเป็นพิเศษได้

ได้ทั้งไหว้พระทำบุญ ได้ทั้งชมความงดงามของสถาปัตยกรรมชิ้นเอกไปในคราวเดียวอย่างนี้ ก็ไม่ควรพลาดชม ที่ “วัดเบญจมบพิตร”


Image
พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร สถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบของศิลปะไทย


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ 69 ถนนพระราม 5 แขวงจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 0-2282-2667, 0-2281-7825, 0-2282-5591 เวลาเปิดปิด 08.00-17.00 น. ชาวต่างชาติมีค่าธรรมเนียมเข้าชมคนละ 20 บาท การเดินทาง มีรถประจำทางสาย 5, 16, 23, 50, 70, 72, 99, 201 และรถปรับอากาศสาย 3, 505, 509 ผ่าน

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 กุมภาพันธ์ 2549 18:25 น.
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง