Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระผู้นำพุทธศาสนากลับคืนสู่ดินแดนพุทธภูมิ “พระราชรัตนรังษี” อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 18 ส.ค. 2007, 10:10 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

พระผู้นำพุทธศาสนากลับคืนสู่...ดินแดนพุทธภูมิ
พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ)

ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมโพธิวงศ์


หลังจากพุทธศาสนาเสื่อมสูญไปจากอินเดีย จนกลายเป็นว่า “การนับถือพุทธศาสนา เป็นเพียงประวัติศาสตร์เท่านั้น”

พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งตั้งอยู่รัฐพิหาร ถูกทอดทิ้งให้อยู่ในลักษณะรกร้าง สกปรก เป็นที่เลี้ยงสัตว์ ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ทั้งของคนและสัตว์ ไม่มีใครสนใจ มีแต่สลัมเต็มไปหมด ในที่สุดพุทธคยาก็ถูกชาวฮินดูยึดครองเอาไปเป็นกรรมสิทธิ์ทั้งหมด

เมื่อชาวพุทธหลายๆ คณะ โดยเฉพาะ “มหาโพธิสมาคม” ได้พากันเรียกร้องต่อรัฐบาลอินเดีย ขอกรรมสิทธิ์ในที่ดินบริเวณพุทธคยาคืน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของชาวมหันต์ ไม่ใช่ของรัฐบาล รัฐบาลจัดการได้แต่เพียงให้ย้ายสลัมถอยห่างออกไปจากบริเวณพุทธคยา ประมาณ ๑ ไมล์

หลังจากนั้นได้อนุญาตให้มีการพัฒนาสถานที่กันใหม่ โดยอนุญาตให้พุทธศาสนิกชนจากต่างประเทศมาซื้อหรือเช่าที่ดินในระยะยาว เพื่อสร้างวัดประจำชาติของตนในบริเวณรอบๆ มหาโพธิสถาน เช่น วัดไทยพุทธคยา, วัดพุทธญี่ปุ่น, วัดพุทธทิเบต, วัดสักยาทิเบต, วัดพุทธพม่า, วัดภูฏาน, วัดอินโดแซนนิพอนจิ, วัดจีน, วัดไดโจเกียว, วัดทิเบตกัมมะ, วัดเวียดนาม, วัดไทโพธิกัม เป็นต้น และยังมี “มหาโพธิสมาคม” เพื่อคอยพิทักษ์พุทธสถานให้ปราศจากการรุกรานของชนต่างศาสนาอื่นๆ


Image
มหาโพธิสมาคม


ดังนั้นรอบๆ บริเวณนี้จึงมีวัด โบสถ์ วิหาร เจดีย์ สถูป พระพุทธรูป และสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่เป็นศิลปะของแต่ละชาติ นับตั้งแต่ลักษณะ รูปทรง สีสัน เครื่องแต่งกาย และพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งแต่ละนิกายก็จะแตกต่างกันออกไป จนกลายเป็นศูนย์รวมของพุทธศาสนาจากหลายเชื้อชาติ

นอกจากนี้แล้วยังมีการสร้างสวนสาธารณะ สวนสัตว์เล็กๆ ภัตตาคาร โรงแรม ที่พักนักท่องเที่ยว สนับสนุนให้มีโรงเรียน ห้องสมุด อบรมให้ความรู้ในด้านการเกษตร ปรับปรุงการคมนาคมให้สะดวก จนทำให้พุทธคยามีความสะอาดสะอ้าน ดังที่เห็นในปัจจุบัน

พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) ตัวแทนพระธรรมทูตจากประเทศไทย ถือเป็นพระอีกรูปหนึ่งซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในการนำพา “พระพุทธศาสนากลับคืนสู่ดินแดนพุทธภูมิ” ตลอดระยะเวลากว่า ๒๐ ปีของการทำหน้าที่พระธรรมทูตเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปในต่างประเทศ ทำให้พระราชรัตนรังษีได้เห็นความแตกต่างของพระพุทธศาสนากับศาสนาอื่น โดยท่านได้พูดไว้อย่างน่าคิดว่า

“พระพุทธศาสนาสามารถเข้าถึงประชาชนได้ทุกศาสนา เป็นศาสนาที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กับสังคมพุทธในต่างแดน แม้ว่าพระสงฆ์อยู่ในต่างแดนก็ยังจำเป็นต้องมีวัตถุมงคลให้เป็นที่ระลึกแก่ประชาชนที่มาวัด เพราะถ้าไม่มีวัตถุมงคลไว้แจก ก็อาจจะทำให้คนเข้าวัดกันน้อยลง พระเครื่องจึงไม่ใช่เป็นสิ่งงมงายไร้สาระ แต่พระเครื่องเป็นสื่อกลางคอยนำผู้คนหันมาปฏิบัติธรรม เข้าหาแก่นธรรมกันมากขึ้น”

พระราชรัตนรังษี ได้เมตตาอนุญาตให้สัมภาษณ์แบบ “คม ชัด ลึก” ดังต่อไปนี้

• พระธรรมทูตสำคัญอย่างไรครับ ?

- หน้าที่ของพระธรรมทูตเป็นการสั่งสอนอบรมให้ข้อคิด ให้คติธรรมกับผู้คนมาทำบุญที่วัดไทยลุมพินี หรือวัดไทยทั่วๆ ไป เป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ดำรงสืบทอดต่อไปในอนาคต เพราะตั้งแต่พุทธกาลก็มีพระธรรมทูตออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับพระสงฆ์ในปัจจุบัน ญาติโยมที่เดินทางมาจากประเทศไทย พระธรรมทูตเหล่านี้ ก็จะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของสถานที่สำคัญของเมืองนั้นๆ

เช่นเดียวกับการให้ความรู้เกี่ยวกับสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า สถานประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน พระธรรมทูตจะเป็นผู้อธิบายถึงความเป็นไปของเมืองนั้น พร้อมทั้งบอกเล่าถึงความเป็นอยู่ที่ศาสนาพุทธเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือถ้าเป็นประเทศอื่นๆ หากมีชาวไทยไปเที่ยวชมวัดหรือสถานที่สำคัญ พระธรรมทูตก็จะต้องทำหน้าที่แนะนำเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของเมืองนั้นๆ เช่นกัน


• การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมทูตมีปัญหาอะไรบ้างครับ ?

- จุดอ่อนของพระธรรมทูตไทยคือ ความ คม ชัด ลึก ในหลักธรรมของพระธรรมทูต ความเข้าใจในหลักธรรมของตัวเอง เทคนิคในการนำเสนอ ความเข้าใจ ในสิ่งแวดล้อมของภูมิประเทศนั้นๆ เทคนิคการนำเสนอต้องไม่ขัดต่อกฎระเบียบของประเทศนั้น ในกรณีศรีลังกา การเตรียมพระเพื่อเป็นพระธรรมทูตนั้นมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี ส่วนทักษะการใช้ภาษานั้น จัดอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ พระเทศน์เก่งไม่ได้หมายความว่าจะเป็นพระธรรมทูตที่ดี เพราะการเทศน์จบในกัณฑ์ แต่การเป็นพระธรรมทูตจะต้องติดตามผลอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า มหาเถรสมาคมได้ให้ความสำคัญต่องานพระธรรมทูตมาก จัดให้มีการอบรมและพัฒนาการเป็นพระธรรมทูตอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการเปิดหลักสูตรพระธรรมทูตโดยตรง พระธรรมทูตสายยุโรป สายอเมริกา เอาปัญญานำศรัทธาได้ แต่สายอินเดียและสายเนปาล ต้องเอาสายศรัทธานำปัญญา

ที่สำคัญคือ พระธรรมทูตต้องเป็นผู้มีฤทธิ์แปลงร่างได้ อยู่ในโบสถ์ต้องสวมวิญญาณพระนักเทศน์ อยู่ใต้ท้องรถต้องสวมวิญญาณช่างซ่อมรถ อยู่ในห้องพยาบาลต้องเป็นหมอรักษาโรคได้ อยู่ในห้องครัวต้องสวมวิญญาณกุ๊ก อยู่ในสวนต้องเป็นเกษตรกร ต้องมีความรู้ทุกด้าน ทั้งวิชากฎหมาย ภาษาศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม วิศวกรรม สาธารณสุข การเกษตร พระไม่จำเป็นต้องลงมือทำเองทุกอย่าง แต่จำเป็นต้องรู้ทุกๆ เรื่อง ส่วนปัจจัยในการสนับสนุนพระธรรมทูตในสายต่างประเทศนั้น ยังไม่แข็งแรง เพราะรัฐบาลยังมองว่าการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปนานาอารยประเทศนั้น ยังไม่ใช่สิ่งสำคัญ ดังนั้นพระสงฆ์ต้องสร้างศรัทธาเอง


• ดินแดนชมพูทวีปมีความสำคัญต่อชาวพุทธส่วนใหญ่อย่างไรครับ ?

- อาตมาอยากให้โยมลองไปค้นดูก็ได้ว่าศาสดาในโลกนี้มีหลายองค์ แล้วมีองค์ใดบ้างที่นิพพาน หรือนอนนิพพานได้อย่างสงบเหมือนกับพระพุทธเจ้า ไม่ได้แสดงอาการเจ็บปวดรวดร้าวให้เราได้เห็น พระองค์นิพพานด้วยการไม่แสดงอาการห่วงใย แต่พระองค์หลับพระเนตรอย่างสบาย แล้วสังเวชนียสถานเหล่านี้ยังเป็นเหมือนสื่อสัมพันธ์ระหว่างปัจจุบันสู่อดีต และปัจจุบันสู่อนาคต เพราะสถานที่แห่งนี้ทำให้เกิดความสังเวชขึ้น

สังเวชในที่นี้หมายความว่า ๑. สังเวช คือ ความสลดใจ ๒. สังเวช คือ ความกล้าหาญ ความอาจหาญ สลดใจในอะไร คือ การสลดใจในตัวของเราเอง ว่าเราได้มากราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้า แม้แต่องค์พระศาสดายังนิพพาน แล้วอย่างเราชีวิตจะไปถึงไหน ในบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตก็ดี มีการลงไว้เฉพาะวันเกิดเท่านั้น ไม่มีใครสามารถลงวันตายได้ เพราะความตายเป็นของไม่แน่นอน ความตายมากับเราเป็นเพื่อนกับเราตั้งแต่ออกมาจากท้องแม่


• การเดินทางไปสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง มีอานิสงส์หรือได้บุญอย่างไรครับ ?

- เราอยู่เมืองไทยก็ประกาศว่าเป็นชาวพุทธ เราก็จะมีความมั่นใจในองค์พระพุทธเจ้า แต่ใครก็ตามที่ได้เดินตามรอยพระศาสดา มาไหว้สังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง จะกลายเป็นบุคคลที่มีความกล้าหาญ มีสัจจะ หรือสักยบุตร คือ บุตรของผู้กล้า โอรสของผู้กล้า คือกล้าที่อยากจะทำความดี เดินไปไหนก็จะสง่างามอย่างไม่หวั่นไหว

ถ้าสถานที่ทั้ง ๔ แห่งไม่สำคัญพระองค์คงไม่ฝากฝังมาให้เราได้กราบไหว้จนถึงทุกวันนี้หรอก เมื่อเราได้มากราบสถานที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจารึกรอยเท้าเอาไว้ ก็ทำให้เราไม่ประมาทกับชีวิต อาตมาจึงอยากให้เราทุกคนมาคิดดูตัวเองว่า ความดีของเราที่จะเป็นสะพานต่อเชื่อมระหว่างปัจจุบันไปหาอนาคต เราพร้อมหรือยัง เรามีพอหรือยัง บุญเรามีเพียงพอหรือยังที่จะเอาไปใช้จ่ายหลังความตาย การมองตัวเองให้เกิดสังเวชใจ พลิกจากความเสียใจจากความกลัวมาเป็นความดีใจ นั่นเป็นบทบาทของนักปราชญ์ ในที่สุดสังเวชก็ทำให้เราเกิดปัญญา

Image

• พระธรรมถือว่าสุดยอดของพุทธศาสนา แต่ทำไมคนยังยึดติดอยู่กับพระเครื่องกันมากครับ ?

- ก่อนที่จะนำไปสู่ความจริงจะต้องมีความศรัทธา เราจึงต้องให้คนหันมานับถือพระพุทธศาสนาด้วยการผ่านพระเครื่องขึ้นไป ก็คือวัตถุ ซึ่งวัตถุที่อาตมาว่านี้มีอยู่ ๒ อย่าง คือ

๑. วัตถุกาม เป็นวัตถุเพื่อบำเรอ เพื่อเสริม เพื่อบำบัด นั่นคือวัตถุกาม ที่มีเยอะแยะไปหมดในสังคมปัจจุบันนี้ที่เป็นสังคมวัตถุนิยม

๒. วัตถุธรรม ก็คือ วัตถุที่เราทำขึ้นมาแล้วสามารถจะสื่อถึงธรรมะได้ สามารถจะสื่อถึงพุทธะได้ สามารถจะสื่อถึงสังฆะได้ สิ่งที่จะสื่อถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ต้องนำแหล่งที่กำเนิดพุทธัง ธัมมัง สังฆัง

พระพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสเอาไว้ว่า เราให้สังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่งนี้ เป็นจุดกำเนิดวัตถุแล้ว จะเกิดมงคล คือ ความก้าวหน้า เป็นสิ่งที่นำพาให้เจริญ พาไปให้อบอุ่น เราเองก็ต้องช่วยกันสืบทอดพระพุทธศาสนาด้วย พระเครื่องจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้คนหันมาศึกษาพระธรรม เมื่อพวกนี้เขาได้พระเครื่องไปแล้ว เราก็ค่อยสอนให้เขาเข้าใจ เป็นการสอนให้รู้ถึงวิธีการว่า ยานี้แก้อะไรหรือช่วยอะไร นานๆ เข้าก็ค่อยให้เขารู้เรื่องตัวยา


• พระอาจารย์อยากให้หลักธรรมอะไรกับผู้อ่านบ้างครับ ?

- อาตมาอยากให้แนวความคิดต่างๆ ตรงนี้ว่า คิดไกล ใจกว้าง ใฝ่สูง ทั้งสามอย่างนี้ทุกคนต้องพยายามทำให้ได้ ถ้าทั้งสามอย่างนี้ คิดไม่ไกล ใจไม่กว้าง ใฝ่ไม่สูง ก็ไม่อาจไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้ ทุกคนที่มาวัดมาหา อาตมาก็อยากให้ยึดหลักธรรมเหล่านี้ไว้มากกว่ามายึดติดกับตัวอาตมา เพราะคนที่เข้าวัดแล้วยึดติดกับตัวหลวงพ่อมากเกินไป ก็จะทำให้เป็นทุกข์ สร้างบาปให้กับตัวเอง เหมือนกับการทำบุญก็ไม่ควรเลือกวัด แทนที่จะได้บุญกลับได้กิเลสให้กับตัวเองแทน

Image

ชาติภูมิพระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ)

พระราชรัตนรังษี เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ ที่กรุงเทพมหานคร บิดาชื่อ ชุน มารดาชื่อ สอน นามสกุล ประชุมสอน อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๓ มกคาคม ๒๕๑๑ ณ พระอุโบสถวัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร โดยมีพระธีรสารมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นได้ย้ายมาจำพรรษายังวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ จนได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ ในปัจจุบัน

จบการศึกษา B.A. Political Science, M.A. Buddhist Studies (First Class), Ph.D. Buddhist Studies (Ecology) ตำแหน่งพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย วัดไทยพุทธคยา รัฐพิหาร เป็นประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย และปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี เมืองลุมมิเด ประเทศเนปาล

ประสบการณ์ กองงานเลขานุการ เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร, กรรมการศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย, กรรมการมูลนิธิวัดไทยพุทธคยา, วิทยากรอบรมพระธรรมทูต สายต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ฝ่ายจัดการสัมมนาโครงการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, เลขานุการฝ่ายเผยแผ่ธรรมและจัดกิจกรรมทางศาสนา วันวิสาขบูชา ณ ปริมณฑลท้องสนามหลวง

งานเขียน ประกอบด้วย พุทธสถานปริทัศน์, นิเทศธรรมในแดนพุทธภูมิ, ตามรอยบาทพระพุทธเจ้า, อันว่า..เนปาล มหานครโกสัมพี, อันว่า..อินโดนีเซีย สู่แดนพุทธองค์, พระไทยไปเมืองนอก (อเมริกา), สมุดภาพพุทธภูมิ, กุสินารานครากถา, ๑๐๐ มุมมองส่องอินเดีย, ต้นสาละ, บุญญาภินิหาร, คู่มือสวดมนต์ อินเดีย-เนปาล ฯลฯ


หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก - 08/09/2004
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง