|
|
|
 |
ผู้ตั้ง |
ข้อความ |
admin
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886
|
ตอบเมื่อ:
16 ส.ค. 2007, 9:30 am |
  |
ปิด...อีกหนึ่งตำนานพระนักเคลื่อนไหว พระมหา ดร.ต่วน สิริธมฺโม
ท่ามกลางกระแสความสับสนทางการเมืองเรื่องการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๕๐ วงการศาสนาได้สูญเสียนักเผยแผ่และพระนักเคลื่อนไหวที่สำคัญอีกรูปหนึ่ง คือ พระมหา ดร.ต่วน สิริธมฺโม (พิมพ์อักษร) ป.ธ.๕, พธ.บ., M.A. (Skt.), M.Phil., Ph.D. อดีตรองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และกรรมการบริหารศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้มรณภาพลงอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยโรคไตวาย เบาหวาน และน้ำท่วมปอด เมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น. วันเสาร์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา
ก่อนมรณภาพพระมหา ดร.ต่วน ได้เดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๐ และอาพาธ จึงเข้ารับการรักษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เดินทางกลับมารักษาตัวต่อที่เมืองไทย ตั้งแต่วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ที่โรงพยาบาลสงฆ์ หลังจากนั้นได้ย้ายไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
หลังจากมรณภาพ เมื่อวันจันทร์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๐ เวลา ๑๕.๓๐ น. สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานในพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ (เป็นกรณีพิเศษ)
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยญาติ และศิษยานุศิษย์ ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศล ณ วัดเทพนารี ซอยจรัญสนิทวงศ์ ๖๘ เขตบางพลัด กทม. จนถึงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๐ แล้วจะเก็บศพไว้ ๑๐๐ วัน เพื่อขอพระราชทานเพลิงศพในโอกาสต่อไป
พระมหา ดร.ต่วน เป็นพระนักเทศน์และพระนักเผยแผ่ที่มีชื่อเสียง ทั้งยังเป็นพระนักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ท่านได้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์มาโดยตลอด
ท่านได้พูดถึงการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ไว้อย่างน่าคิดว่า การออกมาเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ก็อยู่ในพระวินัย ไม่ได้ทำอะไรที่เกินเลย ทุกอย่างของการเคลื่อนไหวก็อยู่ในความสงบเรียบร้อย แม้จะมีหลายฝ่ายออกมาวิจารณ์ว่า ไม่เหมาะสม ความรู้สึกที่ผ่านมาคิดว่า การออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ให้ชาวพุทธ จึงเป็นเรื่องจำเป็น ยิ่งเป็นเรื่องแปลก หากไม่มีพระสงฆ์ออกมาเคลื่อนไหว กลุ่มคนที่ออกกฎหมายกลับไม่มีการแก้ไข ไม่เช่นนั้นศาสนาพุทธของประเทศก็จะถูกครอบงำ หรือถูกทำลายจากคนบางกลุ่ม
ในกรณีที่พระสงฆ์ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.จัดรูปที่ดิน พระมหา ดร.ต่วน ออกมาเปิดเผยข้อมูลบางส่วนว่า ถ้าพระสงฆ์เราไม่ออกมาเคลื่อนไหว มันก็ไม่แก้กฎหมาย เพราะกฎหมายที่ออกมาล้วนเอาเปรียบพระพุทธศาสนาตลอด ตัวอย่าง พ.ร.บ.จัดรูปที่ดิน ก็มีนักวิชาการนำเรื่องมาบอกอาตมาว่า การที่จะสร้างทางด่วนบริเวณถนนพระราม ๒ ผ่านไปถึงชะอำ หรือหัวหิน เป็นโครงการที่ตัดถนนผ่านวัดมากมาย และวัดจะต้องถูกเวนคืนที่ดินทั้งหมด แต่ที่ร้ายกว่านั้น ภาครัฐกลับตัดถนนหลบที่ตั้งของโรงแรมดังๆ
แต่ใช่ว่าพระมหา ดร.ต่วน จะเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของม็อบพระสงฆ์ทุกครั้งไป โดยเฉพาะม็อบต้านน้ำเมา ท่านพูดไว้ว่าการต่อต้านธุรกิจน้ำเมา โดยยกข้ออ้างว่า ขัดต่อหลักธรรมคำสอนของศาสนานั้น จะต้องต่อต้านธุรกิจอื่นๆ ที่ขัดต่อหลักธรรมคำสอนของพระศาสนาด้วย และน่าจะเป็นปัญหาต่อสังคมรุนแรงมากกว่าด้วยซ้ำ การต่อต้านเจาะจงเฉพาะบริษัทใดบริษัทหนึ่ง มีความเสี่ยงที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่า มีผลประโยชน์อื่นๆ แอบแฝง หรือมีใครอยู่เบื้องหลัง เป็นนายทุนในการเคลื่อนไหว
อย่างไรก็ตาม พระมหา ดร.ต่วน เคยพูดถึงเรื่องการสูญเสียพระผู้ใหญ่เป็นคติธรรมไว้อย่างน่าคิดว่า การที่พระผู้ใหญ่มรณภาพหลายรูปในช่วงนี้ คงมีผลอยู่บ้าง ที่จะกระทบกระเทือนจิตใจของชาวพุทธ แต่ก็ขอให้อย่าลืมความเป็นจริง เรื่องการเกิดและดับ ซึ่งการมรณภาพแบบติดๆ กันของพระเกจิอาจารย์ พระเถระผู้ใหญ่ หากจะเปรียบกับฆราวาสก็เหมือนกับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง รุ่นหนึ่ง พอแก่ชราก็ย่อมจะทยอยล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา และสังขาร หากเคารพศรัทธาท่าน ก็ไม่ควรยึดติดกับสังขารที่สูญสลายไปของท่าน ทั้งนี้ ควรยึดถือหลักธรรมของแต่ละท่าน ที่ได้แนะนำสั่งสอนไว้ แล้วนำไปปฏิบัติตามจะดีกว่า การละสังขารของพระดังๆ ที่ปรากฏขึ้นบ่อยในระยะนี้ เป็นเสมือนหลักธรรมที่ชี้นำให้มนุษย์เห็นว่า ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถหลีกพ้นจากกฎของธรรมชาติได้ แม้แต่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ดังนั้นชาวพุทธไม่ควรยึดติดกับรูปลักษณ์ แต่ควรจะพิจารณาในหลักธรรมของพระเกจิอาจารย์ที่ตนเลื่อมใสศรัทธา
ชาติภูมิ
พระมหา ดร.ต่วน สิริธมฺโม สิริรวมอายุ ๖๒ ปี พรรษา ๔๒ เคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นนักวิชาการ นักจัดรายการวิทยุ นักเผยแผ่ธรรมะ พิธีกร นักพูด นักเทศน์ที่มีชื่อเสียงรูปหนึ่งของคณะสงฆ์
สำเร็จการศึกษา เปรียญธรรม ๕ ประโยค, พุทธศาสตรบัณฑิต (พธบ.) จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, M.A. (ปรัชญา), M.A. (สันสกฤต), Ph.D. (ปรัชญา) จาก Banaras Hindu University, Varauasi India สำเร็จหลักสูตรอบรมผู้บริหารการศึกษาระดับสูงเพื่อความเป็นเลิศจากมหาวิทยาลัยสงฆ์, อบรมนักเผยแผ่ธรรมะทางวิทยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์
ประวัติการทำงาน เคยดำรงตำแหน่งรองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย, อาจารย์คณะพุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย, คณะอนุกรรมการเผยแผ่มหาเถรสมาคม, คณะอนุกรรมการจัดพิมพ์หนังสือเฉลิมพระเกียรติสำนักงานเอกลักษณ์ของชาติ, เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายวิชาการสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง, เป็นกรรมการควบคุมและกรรมการตรวจวิทยานิพนธ์สถาบันการศึกษาต่างๆ
ประสบการณ์ เคยศึกษาและค้นคว้าพุทธสถานที่ประเทศอินเดีย ๑๑ ปี, เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยไปร่วมประชุมเอ็นจีโอ เพื่อรอมชอมเขมรหลายฝ่ายที่ Berkley University USA, ได้รับอาราธนาไปบรรยายธรรมที่ยุโรป ๖ ประเทศ อาทิ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยียม ฯลฯ, เป็นผู้เจรจาเพื่อความสงบวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๕, วิชาที่เชี่ยวชาญพุทธศาสนากับการประชาสัมพันธ์, ภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ ฝรั่งเศส เขมร ฮินดี เยอรมัน), การเผยแผ่ธรรมทางวิทยุโทรทัศน์
หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก 15 สิงหาคม 2550 18:46 น.
เรื่องโดย ไตรเทพ ไกรงู |
|
|
|
    |
 |
|
|
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่ คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ คุณไม่สามารถลงคะแนน คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้ คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
|
| | |