เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993
|
ตอบเมื่อ:
02 มิ.ย.2007, 8:10 am |
  |
วัดพระธาตุลำปางหลวง
ปูชนียสถานเก่าแห่งล้านนา
“วัดพระธาตุลำปางหลวง” ณ บ้านลำปางหลวง ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง เป็นปูชนียสถานสำคัญของ จ.ลำปาง ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่สวยงามที่สุดของล้านนา ภายในวัดมีความงดงามอลังการของสถาปัตยกรรมล้านนา ตั้งแต่พระเจดีย์ พระวิหาร ซุ้มประตูโขง จนถึงซุ้มพระเจ้าล้านนาซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง ล้วนแต่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาและศิลปกรรมล้านนาเป็นอย่างดี
เป็นวัดที่ตำนานระบุไว้ชัดเจนว่า มี “พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า” ส่วนสำคัญบรรจุอยู่ในองค์พระธาตุเจดีย์ที่เป็นประธานของวัด เป็นวัดที่ประดิษฐาน “พระแก้วมรกต” อันล้ำค่าอีกองค์หนึ่งของประเทศไทย และยังคงประดิษฐานอยู่จนถึงทุกวันนี้
วัดพระธาตุลำปางหลวงแห่งนี้ ปัจจุบัน ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวไทยและต่างประเทศเข้ามาเยือนอย่างไม่ขาดสาย เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านชาวเมืองทั้งใกล้และไกล
ในอดีตพระมหากษัตริย์ไทยทรงใช้สถานที่แห่งนี้ ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ความเชื่อทางคติธรรม สิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัด นอกจากมีหน้าที่ใช้สอยทางพิธีกรรมในศาสนาแล้ว ยังมีความหมายสำคัญที่แฝงอยู่ คือ ช่างโบราณได้จำลองจักรวาลที่มีอยู่ในคัมภีร์โบราณ เช่น ไตรภูมิพระร่วง เป็นต้น
กล่าวคือ องค์พระธาตุเจดีย์อันเป็นศูนย์กลางของวัด คือ สัญลักษณ์แทนเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางจักรวาล ขณะเดียวกัน องค์พระธาตุจึงเปรียบได้กับ พระเจดีย์จุฬามณี ที่ประดิษฐานบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นวิมานของพระอินทร์ ดังนั้น การได้นมัสการองค์พระธาตุลำปางหลวง เปรียบได้ว่าเป็นการได้กราบไหว้บูชาพระเจดีย์จุฬามณีอันศักดิ์สิทธิ์ไปพร้อมกันด้วย
สถาปัตยกรรมแห่งวัดพระธาตุลำปางหลวง
พระวิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกขององค์เจดีย์ประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลักษณะของพระวิหารหลวงเป็นวิหารโถงเครื่องไม้แบบเปิดโล่ง ก่อสร้างด้วยไม้สักทั้งหลังยกพื้นสูงจากพิ้นดินเล็กน้อย การลดของชั้นหลังคาพระวิหารถือเป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมล้านนา คือ ลดด้านหน้า 3 ชั้น และด้านหลัง 2 ชั้น
ส่วนโครงสร้างของพระวิหารหลวงเป็นแบบเสาและมีคานรับน้ำหนัก ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าพระวิหารหลวงหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยใด แต่จากข้อมูลที่ได้จากศิลาจารึก จุลศักราช 838 (พ.ศ.2019) กล่าวเพียงว่า มีการสร้างวิหาร แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นวิหารแห่งใด
อย่างไรก็ตาม พระวิหารหลวงหลังนี้น่าจะสร้างขึ้นก่อน พ.ศ.2044 เนื่องจากได้มีการหล่อพระพุทธรูปพระเจ้าล้านทอง เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง
พระวิหารหลวง วัดพระธาตุลำปางหลวง ที่ปรากฏในปัจจุบัน เป็นอาคารที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ.2466 โดยพระธรรมจินดานายก เจ้าคณะจังหวัดลำปางในสมัยนั้น
“กู่” หรือ “พระมณฑป” พระเจ้าล้านทองในพระวิหารหลวง
ในการบูรณปฏิสังขรณ์ได้พยายามรักษารูปแบบดั้งเดิมเอาไว้ แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงบางส่วนของพระวิหาร เช่น เปลี่ยนเสาแปดเหลี่ยมที่รับโครงสร้างหลังคาส่วนบนตอนกลางพระวิหารมาเป็นเสากลม สร้างเพดานและลานประดับเป็นไม้ แกะสลักประดับกระจกสีภาพ 12 ราศี แต่เดิมพระวิหารหลวงไม่มีเพดาน เป็นอาคารที่เปิดให้เห็นโครงสร้างหลังคาทั้งหมด
ภายในพระวิหารหลวง มี “กู่” หรือ “พระมณฑป” อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พระเจ้าล้านทอง พระประธานของพระวิหารหลวง ซึ่งหล่อด้วยสำริดปิดทอง ในท่าขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย พุทธลักษณะแบบศิลปะเชียงแสนผสมกับศิลปะสุโขทัย
นอกจากนี้ ภายในพระวิหารหลวงยังมีภาพเขียนจิตรกรรมประดับอยู่บนแผงคอสองด้านข้างทั้งสองด้าน ภาพจิตรกรรมเหล่านี้เป็นภาพเขียนที่สวยงามและหาดูได้ยาก เป็นฝีมือของช่างท้องถิ่น เขียนเรื่องราวทศชาติชาดก พุทธประวัติ และพรหมจักรหรือรามเกียรติ์ ฉบับสำนวนล้านนา
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเดินทางไปนมัสการพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านลำปางหลวง ต.ลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง ห่างจากถนนสายเอเชีย ประมาณ 4 กิโลเมตร
พระธาตุลำปางหลวง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำปาง
หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 31
คอลัมน์ สดจากหน้าพระ โดย วิชัย ทาเปรียว
วันที่ 02 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 16 ฉบับที่ 6029 |
|
_________________ -- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง -- |
|