Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 23 มิ.ย.2007, 8:06 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ประวัติและปฏิปทา
พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ)


วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร
แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ


๑. ชาติภูมิ

พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙) มีนามเดิมว่า “หนูค้าย นามโสม” ภายหลัง ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารีมหาเถระ) วัดมหาธาตุฯ ได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “โชดก” ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๑ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเมีย ณ บ้านหนองหลุบ ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โยมบิดาชื่อ “นายเหล้า นามโสม” โยมมารดาชื่อ “นางน้อย นามโสม” มีพี่น้องร่วมตระกูลทั้งหมดรวม ๑๐ คน เป็นพี่สาว ๘ คน และน้องชาย ๑ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๙ คุณปู่ของท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นขุน ชื่อขุนวงษ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านติดต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย มีฐานะความเป็นอยู่ดี ส่วนโยมบิดาของท่านเป็นชาวนา แต่มีความรู้พิเศษเป็นหมอชาวบ้าน-ช่างไม้-ช่างเหล็ก ประจำหมู่บ้าน

๒. การศึกษาเบื้องต้น

พ.ศ. ๒๔๗๒ จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านหนองหลุบ ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี

Image
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารีมหาเถระ)


๓. บรรพชา-อุปสมบท

วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เมื่ออายุ ๑๕ ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดโพธิ์กลาง ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมีพระครูเลิ่ง เจ้าอาวาสวัดโพธิ์กลาง เป็นพระอุปัชฌาย์ และย้ายไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดกลาง ในตัวเมืองขอนแก่น สอบนักธรรมตรีได้จากวัดนี้ และย้ายไปอยู่วัดยอดแก้ว ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อเรียนนักธรรมชั้นโทและบาลีมูลกัจจายน์ และสอบนักธรรมชั้นโทได้

พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยครั้งแรกได้อยู่ที่วัดเทพธิดาราม แขวงสำราญราษฏร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ สอบ ป.ธ. ๓, ป.ธ. ๔ และนักธรรมชั้นเอกได้ในสำนักนี้

พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้ย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุฯ โดยขุนวจีสุนทรรักษ์เป็นผู้นำมาฝากท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารีมหาเถระ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพิมลธรรม ได้เมตตารับไว้ให้พำนักอยู่คณะ ๑ วัดมหาธาตุฯ

๔. วุฒิการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๗๗ สอบได้นักธรรมชั้นตรี ณ สำนักเรียนวัดโพธิ์กลาง ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

พ.ศ. ๒๔๗๘ สอบได้นักธรรมชั้นโท ณ สำนักเรียนวัดกลาง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๑ สอบได้นักธรรมชั้นเอก, ป.ธ. ๓-ป.ธ. ๔ ณ สำนักเรียนวัดเทพธิดาราม แขวงสำราญราษฏร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๙๔ สอบได้ ป.ธ. ๕-ป.ธ. ๙ ณ สำนักเรียนวัดมหาธาตุฯ ในสมัยสอบ ป.ธ. ๙ ได้เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๔ นับเป็นผู้สอบได้เพียงผู้เดียวในประเทศไทย

พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๙๒ ไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ จังหวัดขอนแก่น โดยครั้งแรกเปิดสอนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรม-บาลี ที่วัดสว่างวิทยา อำเภอเมือง ประมาณ ๑ ปี แล้วย้ายมาอยู่วัดศรีนวล ในเขตเทศบาลเมืองขอนแก่น ปรากฏว่าได้ส่งเสริมการศึกษาในสำนักพระปริยัติธรรมแห่งนี้ให้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีพระภิกษุสามเณรสอบนักธรรมและบาลีได้มากทุกปี ต่อมาท่านได้ลาออกจากตำแหน่งสาธารณูปการจังหวัด เพื่อกลับมาอยู่วัดมหาธาตุฯ สำนักเดิม

Image
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ)


๕. การปฏิบัติศาสนกิจ

พ.ศ. ๒๔๙๓ ย้ายกลับเข้ามาอยู่วัดมหาธาตุฯ ในสมัย ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพิมลธรรม เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้อยู่ที่คณะ ๕ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะ ๕ วัดมหาธาตุฯ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ และประจำอยู่ที่คณะ ๕ ตลอดมาจนมรณภาพ

๖. หน้าที่การงานเกี่ยวกับการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๕๓๐

- เป็นครูสอนปริยัติธรรมทั้งนักธรรม-บาลี ในมหาธาตุวิทยาลัย ได้เป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์ชั้นมูล ๓ ได้นิตยภัตตั้งแต่เดือนละ ๖ บาท ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ จนกระทั่งสอน ป.ธ. ๗-๘-๙

- เป็นกรรมการตรวจประโยคนักธรรม-บาลี สนามหลวง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๗ ตลอดมาจนมรณภาพ

- เป็นผู้อำนายการแผนกบาลี สำนักเรียนวัดมหาธาตุฯ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นต้นมา

๗. หน้าที่เกี่ยวด้วยพระไตรปิฎก

พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ในแผนกตรวจสำนวน

พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจทานพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง

พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการปาลิวิโสธกะ พระอภิธรรมปิฎก ฉบับสังคายนา พ.ศ. ๒๕๓๐

พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานบรรณกรในการพิมพ์พระไตรปิฎก ฉบับสังคายนา พ.ศ. ๒๕๓๐

(มีต่อ)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 23 มิ.ย.2007, 8:22 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ)

Image
พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด จนฺทสโร)


๘. งานด้านวิปัสสนาธุระ

พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่ ณ พระมณฑปพระบรมธาตุ วัดมหาธาตุฯ ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ถึง ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ รวมเวลา ๗ เดือน ๑๙ วัน โดยมี พระภาวนาภิรามเถระ (สุข) วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นอาจารย์สอน

พ.ศ. ๒๔๙๕ ไปดูงานการพระศาสนาที่ประเทศพม่า และได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ สำนักศาสนายิสสา เมืองแรงกูน ประเทศพม่า เมื่อสำเร็จการศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ได้เดินทางกลับประเทศไทย พร้อมกับพระอาจารย์ด้านวิปัสสนากรรมฐาน ๒ รูป ที่รัฐบาลไทยขอจากรัฐบาลพม่า เพื่อมาสอนวิปัสสนากรรมฐานประจำอยู่ในประเทศไทย พระวิปัสสนาจารย์ชาวพม่า ๒ รูปนั้น คือ ท่านอาสภเถระ ปธานกัมมัฏฐานาจริยะ และท่านอินทวังสะ ธัมมาจริยะ กัมมัฏฐานาจริยะ

เมื่อท่านกลับมาประเทศไทยแล้ว ท่านได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่ออีก ๔ เดือน ในสมัยนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพิมลธรรม ได้ประกาศตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานแห่งประเทศไทยขึ้นที่วัดมหาธาตุฯ และได้แต่งตั้งพระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙ ให้เป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระเป็นรูปแรก ท่านจึงได้รับภาระหนักมาก เพราะเป็นกำลังสำคัญของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ในการวางแผนขยายสำนักสาขาไปตั้งในที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จัดทำหลักสูตรวิปัสสนากรรมฐาน คัดเลือกพระวิปัสสนาจารย์ไปสอนประจำอยู่ตามสำนักสาขาที่ตั้งขึ้น และจัดไว้สอนประจำที่วัดมหาธาตุฯ พระวิปัสสนาจารย์ทั่วประเทศส่วนมากเป็นศิษย์ของท่าน

อนึ่ง ในครั้งนั้นท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จัดตั้งกองการวิปัสสนาธุระขึ้นเป็นศูนย์วิปัสสนากรรมฐานที่คณะ ๕ วัดมหาธาตุฯ และได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้อำนวยการกองการวิปัสสนาธุระ ในความอำนวยการของท่านมีกิจการเจริญก้าวหน้ามาก มีผลงานปรากฏดังนี้

๑. จัดพิมพ์วิปัสสนาสาร ซึ่งเป็นวารสารราย ๒ เดือน (ออกปีละ ๖ เล่ม) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ และได้ออกติดต่อตลอดมาถึงบัดนี้ มีสมาชิกให้การอุดหนุนวารสารนี้มีมากพอสมควร

๒. จัดการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานขึ้นที่คณะ ๕ โดยจัดสร้างห้องปฏิบัติขึ้นรับผู้ประสงค์จะเข้าปฏิบัติ หรือผู้มีปัญหาชีวิตเข้าปฏิบัติได้ทุกเวลา ทั้งประเภทอยู่ประจำและไม่ประจำ (คือมารับพระกรรมฐานจากอาจารย์ไปปฏิบัติที่บ้านแล้วมารับสอบอารมณ์ หรือมาปฏิบัติในเวลาว่าง แล้วกลับไปพักที่บ้าน)

๓. อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ และคณะศิษย์ของท่านได้ไปสอนวิปัสสนากรรมฐาน ในพระอุโบสถวัดมหาธาตุฯ ตึกมหาธาตุวิทยาลัย ตึกธรรมวิจัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทุกวันพระ และวันอาทิตย์

๔. ให้ความอุปถัมภ์สำนักวิปัสสนากรรมฐานอื่นที่เป็นสาขาอีกหลายสำนัก เช่น สำนักวิเวกอาคม อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักวิปัสสนาภูระงำ อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น และสำนักบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น

Image
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ท่านเจ้าคุณพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙)
ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระอุดมวิชาญาณเถร ได้เป็นพระอาจารย์ถวายวิปัสสนากรรมฐาน
แด่สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (ปัจจุบันคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)
ซึ่งได้เสด็จมาสมาทานพระกรรมฐาน ณ วัดมหาธาตุฯ เป็นเวลาถึง ๑ เดือน



พระธรรมธีรราชมหามุนี ได้อุทิศชีวิตอบรมและเผยแผ่แนวทางปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานติดต่อมาเป็นเวลายาวนานประมาณ ๔๐ ปี จึงมีศิษยานุศิษย์และมีผู้เคารพศรัทธาเลื่อมใสมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และบุคคลผู้มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น มีทุกระดับชั้น ทุกฐานะอาชีพ เช่น ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระอุดมวิชาญาณเถร” ได้เป็นพระอาจารย์ถวายวิปัสสนากรรมฐานแด่สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (ปัจจุบันคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า) ซึ่งได้เสด็จมาสมาทานพระกรรมฐาน เมื่อวันอังคารที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ เวลา ๑๗.๐๐ น. ณ พระมณฑปพระบรมธาตุ วัดมหาธาตุฯ

ธรรมจักร ประวัติย่อเกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
ของสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์
(ปัจจุบันคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)


สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (ปัจจุบันคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า) ท่านทรงบรรทมไม่หลับต้องเสวยพระโอสถเป็นประจำ และต้องเพิ่มพระโอสถขึ้นไปเรื่อยๆ จึงจะบรรทมหลับได้ ถ้าจำไม่ผิดก็มีคุณหมอสายหยุด ดิษฐการภักดี (เก่งระดมยิง) เป็นผู้ถวายการแนะนำพระองค์ท่านให้ทรงทราบ จนได้เสด็จมาสมาทานพระกรรมฐาน ณ พระมณฑปพระบรมธาตุ วัดมหาธาตุฯ เมื่อวันอังคารที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ เวลา ๑๗.๐๐ น. โดยมี ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระพิมลธรรม” เป็นผู้ถวายศีล และแนะนำวิธีกราบเบญจางคประดิษฐ์ อีกโสดหนึ่งท่านเจ้าคุณพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระอุดมวิชาญาณเถร” เป็นผู้ถวายพระกรรมฐาน และถวายการสอบอารมณ์พระกรรมฐานเป็นประจำทุกๆ วัน ณ พระมณฑปพระบรมธาตุ ในเวลา ๑๗.๐๐ น. ทั้งได้ถวายพระพรให้พระองค์ทรงเลิกเสวยพระโอสถตั้งแต่วันแรก จนกระทั่งได้ฟังเทศน์ลำดับญาณเป็นต้นมา

พระองค์ทรงได้เสด็จมาสอบพระกรรมฐานทุกๆ วัน เป็นเวลาประมาณ ๑ เดือน ปรากฏว่าพระองค์ทรงสนพระทัยตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติจริงๆ ทรงเพียบพร้อมไปด้วยพระวิริยะอุตสาหะเป็นพิเศษ ได้สอบอารมณ์ถวาย ได้อธิบายธรรมถวายตามโอกาสอันควร ได้เพิ่มบทเรียนถวายตั้งแต่ระยะที่ ๑ จนถึงระยะที่ ๖ และเมื่อสภาวธรรมปรากฏชัดดีแล้ว ก็ให้ทรงอธิษฐานไปตามลำดับๆ ดุจหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ จนกระทั่งได้ฟังเทศน์ลำดับญาณพร้อมกันกับหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภายในพระอุโบสถ วัดมหาธาตุฯ

ปรากฏว่าได้ผลดีมากอยู่ พระองค์ท่านทรงเลิกเสวยพระโอสถแล้วก็บรรทมหลับได้สบายเสมอมา จนมีพระวรกายดีขึ้นมาเรื่อยๆ ใครได้เห็นพระองค์ท่านก็ชมว่า พระองค์มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ดี ผิวพรรณวรรณะดี ทรงเบิกบานพระทัย ทรงยิ้มแย้มแจ่มใสดี บางคนก็ถามว่า พระองค์ทรงเสวยยาอะไร จึงสมบูรณ์ดีอย่างนี้ก็มี ถึงในตอนที่พระองค์แม้จะมีพระชนมายุจะ ๘๕ พรรษาแล้ว ก็ยังทรงแข็งแกร่งอยู่เช่นเคย เสด็จไปบำเพ็ญมหากุศล สาธารณประโยชน์ แก่ไพร่ฟ้าประชาชนด้วยพระวิริยะอุตสาหะ อันเต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาธรรมทุกหนแห่ง ดังที่ปรากฏแก่สายตาของสาธุชนอยู่แล้วนั้น ข้อนี้สมด้วยพระบาลีที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ได้ตรัสไว้ในพระไตรปิฏกว่า “ธมฺมจารี สุขํ เสติ” ผู้ปฏิบัติธรรม ย่อมอยู่เป็นสุข ดังนี้


นอกจากนั้น ยังได้เป็นพระอาจารย์ถวายวิปัสสนากรรมฐานแด่ท่านเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ) ตั้งแต่ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระภาวนาโกศลเถร” ซึ่งท่านเป็นพระอาจารย์มีเกียรติคุณในด้านสมถกรรมฐาน (วิชชาธรรมกาย) ที่มีชื่อเสียงมากในประเทศไทย โดยในวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ ท่านเจ้าคุณพระภาวนาโกศลเถรได้มอบหมายให้พระทิพย์ปริญญา มาติดต่อกับท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม ขอให้พระอุดมวิชาญาณเถรไปสอนวิปัสสนากรรมฐานแก่ท่าน ดังนั้น พระอุดมวิชาญาณเถร พระทิพย์ปริญญา และนายเสวต เปี่ยมพงศ์สานต์ จึงได้เดินทางไปถวายวิปัสสนากรรมฐานแก่ท่านในตอนเย็นวันนั้น ณ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เนื่องจากท่านเจ้าคุณพระภาวนาโกศลเถรได้อธิษฐานไว้ว่าท่านจะไม่ไปค้างคืนที่วัดอื่น ดังนั้น ท่านจึงขอร้องให้พระอุดมวิชาญาณเถรไปสอนภายในพระอุโบสถ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านได้ปฏิบัติครบบทเรียน ครบหลักสูตรแล้วใช้เวลาประมาณ ๑ เดือน

ต่อมาท่านได้มาฟังเทศน์ลำดับญาณ ณ พระอุโบสถ วัดมหาธาตุฯ โดยพระอุดมวิชาญาณเถรได้ถวายเทศน์ลำดับญาณ เทศน์จบก็ได้ถวายวิชาครูท่านไป ๑ ชุด ปรากฏว่า ท่านเจ้าคุณพระภาวนาโกศลเถรได้ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างดี เพราะท่านได้นำสมถกรรมฐานมาต่อวิปัสสนากรรมฐาน พิจารณาไตรลักษณ์ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นว่าท่านเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถทั้งในด้านสมถะและด้านวิปัสสนา เป็นพระเถระที่ไม่มีทิฏฐิมานะสมเป็นนักปฏิบัติธรรมแท้ ควรแก่การเคารพบูชาเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้นท่านเจ้าคุณพระภาวนาโกศลเถร ได้ส่งภาพของท่านมาถวายไว้เป็นที่ระลึกแก่สำนักวิปัสสนากรรมฐานวัดมหาธาตุฯ และได้เขียนบันทึกใต้ภาพยกย่องว่า “ให้สำนักวิปัสสนา วัดมหาธาตุ ไว้เป็นที่ระลึก ในโอกาสที่ฉันได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนาตามแบบแผนที่วัดมหาธาตุ สอนอยู่ในปัจจุบันนี้แล้ว ยืนยันได้ว่า การปฏิบัติแบบนี้ถูกต้องร่องรอยในมหาสติปัฏฐานสูตรทุกประการ”

ลงชื่อ พระภาวนาโกศลเถร วัดปากน้ำ ธนบุรี ลงวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๘


สาธุ อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ >>>
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=25&t=44884

Image

Image

(มีต่อ)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 23 มิ.ย.2007, 8:37 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๙. หน้าที่เกี่ยวกับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๕๓๐

- ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการชำระหนังสือธัมมปทัฏฐกถา ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

- เป็นอาจารย์บรรยายวิชาพระพุทธศาสนาในชั้นอุดมศึกษา

- เป็นกรรมการบริหารกิจการ

- เป็นกรรมการพิจารณาหลักสูตรบาลีสำหรับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

- เป็นรองประธานกรรมการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์

- เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย

๑๐. หน้าที่เกี่ยวกับการบริหารคณะสงฆ์

พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๕๓๐

- ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการกรรมการสงฆ์จังหวัดขอนแก่น

- กรรมการสาธารณูปการจังหวัดขอนแก่น

- เจ้าคณะภาค ๑๐

- เจ้าคณะภาค ๙

- พระอุปัชฌาย์ประจำวัดมหาธาตุฯ

- รองเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ

- รองประธานกรรมการสงฆ์บริหารวัดมหาธาตุฯ รูปที่ ๑

๑๑. หน้าที่งานพิเศษ

- ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๓

- เป็นหัวหน้าผู้อำนวยการ งานพระธรรมทูตสายที่ ๖

- เป็นอนุกรรมการมหาเถรสมาคม เพื่อร่วมพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาวัดที่ว่างเจ้าอาวาสเพื่อหาข้อมูล

๑๒. งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

- เป็นพระธรรมกถึกทั้งเทศน์คู่และเทศน์เดี่ยว

- เป็นองค์ปาฐกแสดงปาฐกถาธรรม

- องค์บรรยายธรรม

- บรรยายธรรมทางวิทยุเป็นประจำหลายสถานี

- บรรยายธรรมทางสถานีโทรทัศน์

นับว่าท่านเป็นพระสงฆ์มีความเชี่ยวชาญในการบรรยายธรรม ได้รับความนิยมมากจากผู้ฟังทั้งหน่วยราชการและภาคเอกชน ประชาชนเป็นอย่างดี

๑๓. งานสาธารณูปการและสาธารณสงเคราะห์

พระธรรมธีรราชมหามุนี มีผลงานด้านสาธารณูปการและสาธารณสงเคราะห์ ปรากฏอย่างกว้างขวางทั้งภายในวัดมหาธาตุฯ และภายนอก ดังมีหลังฐานปรากฏตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๓๐ ดังนี้

๑) งานสาธารณูปการภายในวัดมหาธาตุฯ

- จัดหาทุนสร้างห้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนในวัดมหาธาตุฯ

- จัดหาเงินสมทบทุนมูลนิธิวิปัสสนากรมฐาน

- สร้างตึกอุดมวิชาในคณะ ๕ วัดมหาธาตุฯ

- เป็นประธานกรรมการหาทุนก่อสร้างตึกมหาธาตุวิทยาลัยอาคารทรงไทย ๔ ชั้น

- เป็นประธานกรรมการหาทุนบูรณะโรงเรียนธรรมมหาธาตุวิทยาลัย และสร้างโรงครัวครูปริยัติธรรม

- เป็นประธานกรรมการจัดหาทุน และก่อตั้งมูลนิธิศรีสรรเพชญ์

- ร่วมสมทบบูรณะคณะ ๘ วัดมหาธาตุฯ

- บริจาคร่วมสร้างพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

- เป็นประธานกรรมการจัดหาทุนสร้างพระไตรปิฎก ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

- เป็นกรรมการอุปถัมภ์จัดหาทุนสร้างโรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

รวมงานสาธารณูปการภายในวัดมหาธาตุที่ได้ดำเนินการมา เป็นเงินประมาณ ๑๔,๓๒๕,๐๐๐ บาท (สิบสี่ล้านสามแสนสองหมื่นห้าพันบาท)

๒) งานสาธารณูปการภายนอกวัด

- งานก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดสว่างพิทยา บ้านหนองหลุบ ซึ่งเป็นถิ่นบ้านเกิด

- จัดหาทุนสร้างโรงเรียนปริยัติธรรมวัดธาตุ จังหวัดขอนแก่น ๒ หลัง

- จัดหาทุนสร้างอุโบสถวัดโพธิ์ชัย จังหวัดขอนแก่น

- จัดหาทุนสร้างโรงเรียนประชาบาลบ้านหนองหลุบ ๒

- เป็นประธานจัดหาทุนสร้างวัดพุทธประทีปในระยะเริ่มแรก

- อุปถัมภ์สร้างอาคารเรียนในโรงเรียนประชาบาลบ้านหนองบัว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

- เป็นประธานจัดหาทุนสร้างตึกสงฆ์อาพาธสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร) ในโรงพยาบาลขอนแก่น

- บริจาคสร้างตึกสยามินทร์ โรงพยาบาลศิริราช

- อุปถัมภ์สำนักวิปัสสนากรรมฐานภูระงำ อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น

- หาทุนสร้างสำนักวิเวกอาคม ตำบลบางขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

รวมงานสาธารณูปการภายนอกวัด เป็นเงินประมาณ ๑๓,๔๕๖,๐๐๐ บาท (สิบสามล้านสี่แสนห้าหมื่นหกพันบาท) รวมเงินที่จัดหาในงานสาธารณูปการ ทั้งภายในวัดมหาธาตุฯ และภายนอกวัด เป็นเงินประมาณ ๒๗,๐๘๑,๐๐๐ บาท (ยี่สิบเจ็ดล้านแปดหมื่นหนึ่งพันบาท)

๑๔. งานต่างประเทศ

พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๒๘

- ไปดูงานการพระศาสนาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ ประเทศพม่า

- ไปสอนวิปัสสนากรรมฐาน ณ ประเทศอังกฤษ ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์สมาคมแห่งประเทศอังกฤษ

- เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตประจำประเทศอังกฤษ

- ริเริ่มสร้างวัดไทยในประเทศอังกฤษ ปัจจุบันได้สร้างเป็นวัดไทยโดยสมบูรณ์ ชื่อว่า “วัดพุทธประทีป” โดยท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธประทีปรูปแรก

- เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตที่จะไปต่างประเทศ

- ไปสอนวิปัสสนากรมฐานที่วัดไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา

- รับชาวต่างชาติปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่วัดมหาธาตุฯ และให้ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา

๑๕. งานนิพนธ์

พระธรรมธีรราชมหามุนี เป็นพระมหาเถระที่เชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎก และมีความทรงจำเป็นเลิศ สามารถบอกเรื่องราวต่างๆ ว่าอยู่ในเล่มใด และบางครั้งบอกหน้าหนังสือเล่มนั้นด้วย และท่านยังเป็นนักประพันธ์ที่นิพนธ์เรื่องทางศาสนาได้รวดเร็ว และได้นิพนธ์ไว้มากมายหลายเรื่อง เฉพาะที่หาข้อมูลได้ แยกบทนิพนธ์ของท่านเป็นประเภท ดังนี้

๑) ประเภทวิปัสสนากรรมฐาน มีหนังสือประมาณ ๒๑ เรื่อง เช่น เรื่องความเป็นมาของวิปัสสนากรรมฐาน, คำบรรยายวิปัสสนากรรมฐาน จำนวน ๙ เล่ม ฯลฯ

๒) ประเภทพระธรรมเทศนา มีหนังสือประมาณ ๔ เรื่อง เช่น เรื่องเทศน์คู่อริยสัจ ฯลฯ

๓) ประเภทวิชาการ มีหนังสือประมาณ ๘ เรื่อง เช่น อภิธัมมัตถสัคหะปริเฉทที่ ๑-๙ ฯลฯ

๔) ประเภทสารคดี มีหนังสือประมาณ ๒๐ เรื่อง เช่น เรื่องพระมาลัยโปรดสัตว์นรก ฯลฯ

๕) ประเภทตอบปัญหาทั่วไป มีหนังสือประมาณ ๕ เรื่อง เช่น ตอบปัญหา เรื่องบุญบาปและนรกสวรรค์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีคำขวัญ คำอนุโมทนา คติธรรม เพื่อลงตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ต่างๆ ที่มีผู้ขอมา

๑๖. ลำดับสมณศักดิ์

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ (อายุ ๓๖ พรรษา ๑๕) ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (สป.วิ) ในพระราชทินนามที่ “พระอุดมวิชาญาณเถร”

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ (อายุ ๔๔ พรรษา ๒๓) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในพระราชทินนามที่ “พระราชสิทธิมุนี ศรีปิฎกโกศล วิมลปัสสนาจารย์ อุดมวิชาญาณวิจิตร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ (อายุ ๕๒ พรรษา ๓๑) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในพระราชทินนามที่ “พระเทพสิทธิมุนี สมถวิธีธรรมาจารย์ วิปัสสนาญาณโสภณ ยติคณิศสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ (อายุ ๖๙ พรรษา ๔๘) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในพระราชทินนามที่ “พระธรรมธีรราชมหามุนี คัมภีรญาณวิมล โสภณธรรมานุสิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

๑๗. อวสานชีวิต

พระธรรมธีรราชมหามุนี ได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบในอิริยาบถนั่งเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ขณะไปทำการสอนวิปัสสนากรรมฐานที่บ้านโยมอุปัฏฐาก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๑ เวลา ๑๕.๐๐ น. สิริอายุรวมได้ ๗๐ ปี ๒ เดือน ๑๕ วัน นำความเศร้าโศกแสนเสียดายอาลัยมาสู่คณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไปเป็นยิ่งนัก ขออำนาจบุญกุศลทั้งปวงได้โปรดดลบันดาลให้ท่านประสบสันติสุขในสัมปรายภพทุกประการ ดังสุนทรโวหารที่ท่านได้นิพนธ์ในสุดท้ายแห่งชีวิต ดังนี้

“เตรียมสร้างทางชอบไว้ หวังกุศล
ตัวสุขส่งเสริมผล เพิ่มให้
ก่อนแต่มฤตยูดล เผด็จชีพ เทียวนา
ตายพรากจากโลกได้ สถิตด้าว แดนเกษม”


Image
พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙)

.............................................................

สาธุ รวบรวมและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
- หนังสือประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ อาจ อาสภมหาเถร
และประวัติพระธรรมธีรราชมหามุนี โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.9
วิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานสังเขป
เรียบเรียงโดย สำนักงานกลางกองกลางวิปัสสนากรรมฐานสังเขป
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร
- “อาสภาสาส์น” วารสารรายสี่เดือน
สำนักวิปัสสนากรรมฐาน วัดภัททันตะอาสภาราม
- เว็บไซต์ http://www.geocities.com/roob_nam/


เทียน หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ-สมเด็จย่า
ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับ “ท่านเจ้าคุณโชดก”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=25&t=44884

เทียน “เจ้าคุณโชดก” และ “หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ”
๒ ครูบาอาจารย์ของ “หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=48697

เทียน เมื่ออาตมาเรียนกรรมฐานที่วัดมหาธาตุฯ : หลวงพ่อจรัญ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=47470
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 07 ส.ค. 2009, 12:29 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

Image

ดอกไม้ กระทู้ในบอร์ดใหม่ >>>

ดอกไม้ ประวัติและปฏิปทา
พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=19975

ดอกไม้ รวมคำสอน “พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=49279

ดอกไม้ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ-สมเด็จย่า
ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับ “ท่านเจ้าคุณโชดก”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=25&t=44884

ดอกไม้ “เจ้าคุณโชดก” และ “หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ”
๒ ครูบาอาจารย์ของ “หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=48697

ดอกไม้ เมื่ออาตมาเรียนกรรมฐานที่วัดมหาธาตุฯ : หลวงพ่อจรัญ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=47470

ดอกไม้ สมเด็จอาจ อาสโภ (พระพิมลธรรม) กับ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=59027
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง