Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 “เจ้าคุณประยุทธ์” ตอบคำถามกระแสจตุคามรามเทพ อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 11 มิ.ย.2007, 5:49 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

“เจ้าคุณประยุทธ์”
ตอบคำถามกระแสจตุคามรามเทพ



ณ ห้วงเวลานี้กระแสคลั่งไคล้จตุคามรามเทพก็ยังไม่จางหายไปจากสังคมคนไทย มีการห้อยองค์จตุคามฯ กันทั่วบ้านทั่วเมืองจนดูเหมือนกลายเป็นแฟชั่น ทำให้หน่วยงานหลายแห่ง ซึ่งรวมทั้งวัด หันมาใช้กระแสนี้จัดสร้างจตุคามฯ ออกให้เช่าบูชากันอย่างมากมาย ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการนำเรื่องของจตุคามฯ ไปต่อยอดหารายได้ในส่วนอื่นๆ อาทิ ธุรกิจการทำกรอบ การอัดขยาย ภาพขนาดใหญ่เพื่อจำหน่าย ธุรกิจเพลง ธุรกิจหนังสือ ที่มีการจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับจตุคามฯ มากมายหลายปกหลายเรื่อง เป็นต้น

หลายรายเปลี่ยนจากอาชีพเดิม แล้วหันมาทำมาค้าขายเกี่ยวกับเรื่องขององค์จตุคามฯ เพราะเห็นว่าทำรายได้ดี กระทั่งมีการประเมินเม็ดเงินรายได้ของธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าอยู่ในราว ๒๐,๐๐๐ กว่าล้าน !!

แต่ยังมีผู้คนอีกส่วนหนึ่งที่มิได้หันเหไปตามกระแส ขณะเดียวกันก็รู้สึกไม่สบายใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา ที่เรียกกันว่าเป็นเมืองพุทธ

ในประเด็นเรื่องราวเหล่านี้ ได้มีผู้เข้าไปสนทนาธรรมกับ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา

พระพรหมคุณาภรณ์ หรือ “เจ้าคุณประยุทธ์” เป็นพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับนับถือของผู้คนในสังคมว่าท่านเป็นปราชญ์ในพุทธศาสนา มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้แสดงทัศนะต่อเรื่องดังกล่าวไว้ได้อย่างน่าสนใจ พร้อมกับให้ความรู้เพื่อเพิ่มพูนปัญญาแก่ พุทธศาสนิกชนด้วย

ในโอกาสนี้ กองบรรณาธิการธรรมลีลา จึงได้นำธรรมบรรยายในครั้งนั้น มาถ่ายทอดเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจในเรื่องราวเหล่านี้มากยิ่งขึ้น เพราะเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกท่านที่สนใจใฝ่หาความรู้อย่างถูกหลักถูกธรรม


• เข้าใจ เห็นใจ แต่ไม่ตามใจ

ต่อข้อถามถึงประเด็นในการนับถือจตุคามรามเทพ ซึ่งดูเหมือนว่าขณะนี้จะนับถือมากกว่าพระพุทธเจ้า จนกลายเป็นแฟชั่นไปทุกวงการนั้น ท่านได้ให้ทัศนะและอรรถาธิบาย ว่า

“มันไม่ใช่เฉพาะญาติโยม เป็นพระด้วย คืออาจจะเป็นแฟชั่นก็ได้ แต่ทีนี้วัดไปถือโอกาสหารายได้ หาผลประโยชน์ ๑. หาลาภ ๒. มันเสียหลักการ เพราะว่าวัดไปปลุกเสกเทพได้อย่างไร ไปปลุกเสกในวัด

มันมีเข้าหลักอยู่นิดหนึ่ง แต่ว่าเราต้องเข้าใจด้วย คือไม่ใช่ว่ามัวเถียงกันเป็นสองฝ่ายอย่างเดียว ไม่ใช่เป็นฝ่ายเอาหรือไม่เอาเรื่องจตุคามรามเทพ ยังมีเรื่องที่ต้องเข้าใจเขาด้วย ก็มีแง่ที่น่าเห็นใจอยู่นิดหน่อย แต่ไม่มีแง่ที่จะตามใจ คือเข้าใจ เห็นใจ แต่ไม่ตามใจ”


• ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเทวดา

พระพรหมคุณาภรณ์ได้ยกตัวอย่างให้เห็นถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเทวดา ตามคติแต่โบราณว่า คติโบราณของเราที่ถือว่าพระศักดิ์สิทธิ์ อย่างหลวงพ่อโสธร พระแก้ว ก็นึกไปว่าหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ท่านเป็นผู้บันดาลโน่นนี่ มันไม่ใช่...แต่มีเทพผู้ใหญ่คอยรักษา

มีคติแต่โบราณมาในคัมภีร์ต่างๆ ว่าเวลามีการสร้างสถานที่สำคัญ หรือแม้แต่บ้านชาวบ้าน พวกเทวดาก็จะไปจับจองยึดครองสถานที่ เช่นที่ซุ้มประตูบ้านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งเป็นผู้มีศรัทธาในพุทธศาสนา และจะนิมนต์พระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์ไปรับบาตรอยู่เนืองๆ พวกเทพซึ่งอยู่ที่ซุ้มประตูก็จะไม่พอใจ เพราะต้องลงมาแสดงความเคารพ เนื่องจากไม่สามารถจะอยู่ข้างบนได้ เพราะพระท่านเป็นผู้มีศีล ต้องแสดงความเคารพ เทวดาก็เลยคิดขัดเคือง ว่าตนลำบากเหลือเกิน เพราะพระเป็นสาเหตุ ทำอย่างไรจึงจะให้ท่านไม่ต้องมาอีก

ตอนนั้นอนาถบิณฑิกเศรษฐีเริ่มยากจนลง เทวดาก็เลยได้โอกาส วันหนึ่งจึงไปปรากฏตัวแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐี แล้วก็พรรณนาว่า ท่านเศรษฐีเป็นผู้มีศรัทธา ทำความดีช่วยเหลือผู้คน แต่เวลานี้ได้จนลงเพราะว่าสละทรัพย์มากเหลือเกินมาถวายบำรุงพระสงฆ์ นี่เป็นเพราะพระพุทธศาสนา และก็บอกว่าพวกตนยินดีจะบอกขุมทรัพย์ให้ไปขุด เพื่อจะช่วยให้เศรษฐีร่ำรวยขึ้นมาอีก แต่เศรษฐีจะต้องไม่ทำบุญทำทานอีกต่อไป

แต่อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้ที่มั่นคงในพระรัตนตรัย ทำความดีช่วยเหลือพระพุทธศาสนา ทำทานแก่คนยากไร้ ไม่เคยเสียดาย เมื่อได้ยินเทวดาว่าอย่างนี้ ก็คิดว่าเทวดาชวนผิดทางเสียแล้ว จึงบอกไปว่าข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยที่ท่านมาพูดเช่นนี้ เพราะเป็นการชวนออกนอกลู่นอกทาง เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าในฐานะเจ้าบ้านไม่อยากจะให้ท่านอยู่ในบ้านอีกต่อไป

เรื่องนี้เป็นสิทธิโดยชอบธรรม เพราะเศรษฐีเป็นเจ้าของบ้าน เจ้าบ้านมีสิทธิ์ เทวดาไม่สามารถอยู่ได้ถ้าเขาไม่ให้อยู่ ซึ่งเป็นคติมาแต่โบราณ

ฝ่ายเทวดาเดือดร้อนเพราะไม่มีที่อยู่ จึงไปหาพระอินทร์ พระอินทร์ก็บอกว่าข้าพเจ้าก็ช่วยไม่ได้ แต่ว่าจะแนะอุบายให้อย่างหนึ่ง ก็คือท่านก็ไปพูดกับเขา บอกว่าท่านเศรษฐีทำบุญ ทำกุศลช่วยเหลือผู้คน ทำสังคมสงเคราะห์มากมายเป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์มาก ข้าพเจ้าจะสนับสนุน จะบอกขุมทรัพย์ให้ ท่านจะได้มีเงินมาทำมากๆ เทวดาก็เลยมาพูดใหม่ เศรษฐีจึงยอมให้อยู่

“ทีนี้คตินี้ก็เข้ามาสู่พระพุทธศาสนา คือว่า เทวดาจะไม่ใหญ่กว่ามนุษย์ แต่ว่ามีธรรมเป็นตัวตัดสิน พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นก็เปลี่ยนจากเทพสูงสุดเป็นธรรมสูงสุด...

ชาวพุทธไม่ศึกษาคติของพระพุทธศาสนาให้ถือธรรมเป็นใหญ่ มนุษย์จะมีเรื่องขัดแยังกับเทวดาอย่างไร ต้องยุติที่ธรรมะ ถ้าเทวดาผิดธรรมะเทวดาต้องไป มีเรื่องอยู่ในคัมภีร์ คือ ท่านพยายามสอนเพื่อจะให้ชาวพุทธเปลี่ยนเบนจากทิศทางของคนโบราณ ที่ไปหวังพึ่งเทวดา อ้อนวอนขอให้ท่านบันดาล ให้มายึดถือธรรมเป็นใหญ่”


• เทวดาหันมานับถือและคุ้มครองพุทธศาสนา
จตุคามก็เป็นจัดเป็นเทพที่เข้าในแนวนี้


พระพรหมคุณาภรณ์ เล่าต่อไปว่า ต่อมาเทวดาจำนวนมากมานับถือพระพุทธศาสนา ก็ต้องถือธรรมเป็นใหญ่ด้วย ดังนั้นเวลามีการสร้างสถานที่สำคัญต่างๆ เทวดาก็จะไปยึดครองที่อยู่ หรือเวลาสร้างที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญๆ เทวดาก็จะมายึดครองเพื่อที่จะได้เฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ และก็ทำหน้าที่คุ้มครองรักษาด้วย

“มีเทวดาคุ้มครองรักษาพระพุทธรูปสำคัญๆ ทั่วไปหมด ที่ว่าพระพุทธรูปองค์นั้นศักดิ์สิทธิ์ บันดาลโน่นบันดาลนี่ ก็คือเทวดาที่คุ้มครอง เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ พระพุทธเจ้าไม่มาบันดาลลาภยศให้ใครหรอก พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ก็เป็นเรื่องของเทวดาที่รักษา ก็เป็นหลักมาอย่างนี้

ทีนี้ พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ก็เลยมีประวัติซึ่งเข้าคตินี้ คือเป็นเจดีย์ใหญ่อุทิศต่อพระพุทธเจ้า พวกเทวดาก็ต้องมาเฝ้า ก็เทวดาที่ชื่อว่า จตุคามรามเทพ มีประวัติว่าไปกันใหญ่ว่าท่านจตุคามรามเทพเคยเป็นกษัตริย์ในสมัยศรีวิชัยเก่า แล้วได้สวรรคต และมาเป็นเทพแล้วก็มาเฝ้าพระบรมธาตุ ก็หวังจะทำความดี จะได้บำเพ็ญบารมีต่อไป จะได้เป็นพระโพธิสัตว์ จะได้สู่การตรัสรู้ นี่ก็เป็นคติทางพระพุทธศาสนา ตกลงจตุคามฯ ท่านก็เป็นเทพที่เข้าในแนวนี้”


• เรื่องจตุคาม...ต้องจับให้ถูกจุด

“แต่ว่าข้อสำคัญ พระและญาติโยมจะต้องจับให้ถูกจุด คือต้องมาเน้นจุดที่ว่า ท่านทำหน้าที่ของผู้ที่มีศรัทธา เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี เป็นตัวอย่างของการที่จะมาปกปักษ์รักษาพระพุทธศาสนา ชาวพุทธจะต้องปฏิบัติตัวอย่างนี้ๆ แบบเดียวกับท่าน ไม่ใช่มาหวังผลที่จะได้รับจากความศักดิ์สิทธิ์ให้ท่านมาบันดาล คือ

๑. ต้องโยงเข้าหาหลัก หลักการคติแต่เดิมที่ท่านมาเป็นเทวดาคุ้มครองพิทักษ์รักษาพระบรมธาตุ

๒. หลักการที่ว่าวิธีปฏิบัติตัว เพื่อให้ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ คือการทำตามที่ว่าประพฤติดีอย่างเทวดา ท่านมีแนวทางความประพฤติอย่างไร มีวัตรปฏิบัติอย่างไร ก็เอามาสอน”
พระพรหมคุณาภรณ์กล่าวย้ำ


• ต้องโยงกระแสใหญ่ เข้าหากระแสหลัก คือหลักธรรม

เมื่อกระแสใหญ่คือจตุคามฯ ซึ่งตามมาด้วยเม็ดเงินที่สะพัดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกว่า ๒๐,๐๐๐ ล้านบาทนั้น เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน ให้ทัศนะว่าเราต้องรู้ทันว่าสังคมนี้กำลังต้องการเรื่องเงินทองมาก เป็นเรื่องสังคมธุรกิจ เป็นสังคมบริโภคนิยม เห็นแก่การเสพบริโภค หาผลประโยชน์ หาเงินหาทอง ระบาดเข้ามาแม้กระทั่งวัด

“ทีนี้กระแสใหญ่เป็นอย่างนี้ เราจะทำอย่างไรที่จะโยงให้กระแสใหญ่เข้ามาหากระแสหลัก”

จากนั้นท่านได้เล่าถึงสมัยพุทธกาลว่า พระพุทธเจ้าก็อยู่ในสภาพสังคมคล้ายอย่างนี้ สังคมสมัยพุทธกาลกำลังเจริญรุ่งเรือง มีการค้าการขายระหว่างแคว้นต่างๆ มีคาราวานกองเกวียน และเศรษฐีกำลังเป็นชนชั้นนำขึ้นมา จากเดิมที่มีวรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร...

เมื่อพวกเศรษฐีมีอิทธิพลมากขึ้น ก็กลายเป็นว่าตำแหน่งเศรษฐีนั้นต้องพระราชาเป็นผู้ตั้งประจำเมือง เศรษฐีมีหน้าที่ไปเฝ้าพระราชาวันละ ๒ ครั้ง เมืองไหนรัฐไหนไม่มีเศรษฐีที่มีทรัพย์มาก ก็เป็นรัฐที่ไม่รุ่งเรือง จึงจำต้องหาทางมีเศรษฐี ในพุทธกาลนี้ก็มีรัฐบางรัฐต้องขอเศรษฐีจากอีกรัฐหนึ่ง ดังเช่นนางวิสาขา ซึ่งมีพ่อคือธนัญชัยเศรษฐี ก็เดินทางไปอยู่อีกแคว้นหนึ่งที่ขอมา

เวลานั้นการค้าขายระหว่างรัฐระหว่างแคว้นก็ถึงกันทั่ว ก็มีพวกสิ่งอุปโภคบริโภคต่างๆ มากมาย มีการอวดกันถึงการใช้พวกผ้าไหม จากแคว้นนั้นจากรัฐนั้น ว่าเป็นของชั้นดี ในท่าม กลางสภาพอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ต้องใช้ความนิยมกระแสของเขา มาเป็นจุดเริ่มที่จะสอนให้ คนพวกนี้มาใฝ่ธรรมะ

ทำอย่างไรเศรษฐีเหล่านี้จะไม่หันไปในทางที่ใช้อำนาจอิทธิพลข่มเหงคนอื่น แล้วไม่ใช้ใน ทางทุจริต ขณะเดียวกันก็นำทรัพย์มาทำประโยชน์ ดังเช่นอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ และหันมานับถือพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ตั้งโรงทานบริจาคช่วยเหลือคนยากจน ให้มีกินมาใช้ จนได้ชื่อว่า “อนาถบิณฑิก” แปลว่าผู้มีก้อนข้าวช่วยคนอนาถา และทรัพย์อีกส่วนหนึ่งก็นำมาบำรุงพระพุทธศาสนา นางวิสาขาก็เช่นเดียวกัน นี่ก็คือความเปลี่ยนแปลงสังคม

“ถ้าเราดูลึกลงไป มันไม่ใช่มีเพียงคำสอน คำสอนมันเนื่องอยู่กับเรื่องของเหตุการณ์สภาพความเป็นจริงว่า พระพุทธเจ้าต้องไปยุ่งไปเกี่ยวข้องบุคคลเหล่านั้น ว่าทำอย่างไรเขาจะอยู่กันดี สังคมจะดี ชีวิตเขาจะดี นี่ก็เหมือนกัน สังคมเวลานี้เป็นอย่างนี้ ต้องรู้เข้าใจ และทำอย่างไรจะให้ธรรมะไปเกิดประโยชน์กับคนเหล่านั้นได้”


• ความเชื่อเรื่องอภินิหารของจตุคามฯ

สำหรับประเด็นเรื่องอภินิหารของจตุคามฯ ที่มีคนพูดถึงกันมากมายนั้น โดยเฉพาะกับคนที่ห้อยเหรียญจตุคามฯ ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการปลุกกระแสในการพยายามสร้างอภินิหารให้เกิดขึ้น โดยมีการรู้เห็นกันก่อน หรือว่าอภินิหารดังกล่าวมีจริง

พระพรหมคุณาภรณ์ ให้ความเห็นว่า

“มันได้สองอย่าง คือ ๑. คือเขาเตรียมกันอย่างนั้น ๒. กระแสมนุษย์นี่ความเชื่อมันทำให้เกิดผลได้เอง เพราะว่าเชื่อ จิตใจมันก็เข้มแข็งขึ้นมา เกิดเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา

แต่อย่างไรก็ตาม กระแสนี่ ถ้าเราจับเรื่องได้ มีความรู้ก็โยงเข้าหาพระบรมธาตุ ว่าพวกคุณนี่ลูกศิษย์จตุคาม แล้วจตุคามเป็นลูกศิษย์พระบรมธาตุ คุณต้องไปพระบรมธาตุใช่ไหม อย่างน้อยก็ต้องไปไหว้พระบรมธาตุใช่ไหม มันก็ตรงเลย ในเมื่อคุณนับถือจตุคาม แล้วจตุคามท่านเฝ้าพระบรมธาตุอยู่ ถ้าคุณอยากจะถึงจตุคามจริง คุณก็ต้องไปพระบรมธาตุใช่ไหม ตกลงว่าถ้าพูดให้ถูกต้องแล้วมันเข้าทางเลย ตอนนี้วัดพระบรมธาตุรับไม่ไหว

ต้องโยงให้ได้ซิ โยงให้ถึง ว่าเรื่องมันมีจริงๆ อย่างที่เล่ามา บอกว่าประวัติที่แท้ คือจตุคามรามเทพ เป็นกษัตริย์ศรีวิชัยที่สวรรคตแล้วไปเฝ้าอยู่ที่พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ท่านเฝ้าอยู่และคนที่นับถือเขารู้เรื่องเดิมนี้อยู่ ก็คือท่านที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมา ท่านเป็นผู้ที่นับถือจตุคาม ท่านรู้ว่าจตุคามรามเทพเป็นเทพที่เฝ้าพระบรมธาตุอยู่ คือคนเดิมน่ะรู้ แต่ว่าตอนที่เชื่อมต่อกันนี้มันขาดตอนกันอยู่ มันไปอยู่ที่เงินอย่างเดียว เราก็ดึงกลับมาซะ ให้มันเข้าหลักเข้าเกณฑ์บ้าง”


จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 79 มิ.ย. 50 โดย กองบรรณาธิการ
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 11 มิถุนายน 2550 16:27 น.
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง