Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 พระพุทธศาสนา : ศาสนาแห่งสิกขา (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 20 พ.ค.2007, 6:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

พระพุทธศาสนา :
ศาสนาแห่งสิกขา (การศึกษา)

โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก



พักเรื่องพระพุทธศาสนากับรัฐธรรมมนูญไว้ชั่วคราว มาพูดถึงวันวิสาขบูชา ซึ่งใกล้จะมาถึงดีกว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่ชาวพุทธไทยจะพึงหยุดรำลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ผู้ประกาศพระพุทธศาสนาแพร่หลายจนเป็นมรดกมาถึงบัดนี้ ปัจจุบันเราก็ยินดีว่า แม้แต่ “องค์การยูเนสโก” ก็ได้ประกาศให้เป็นวันสำคัญของโลก

แต่นั่นไม่มีความหมายอะไร ถ้าเราชาวพุทธเองมิได้นำเอาคำสอนของพระองค์มาปฏิบัติให้เกิดสันติภาพในจิตใจตนเองและแก่เพื่อนมนุษย์

พระพุทธศาสนานั้น เน้นคำสอนที่มนุษย์ต้องฝึกฝนตนเอง เพื่อพึ่งตนเองได้ ให้ผู้อื่นพึ่งได้ และให้ต่างคนต่างพึ่งพากันและกัน ทั้งนี้เพราะพระพุทธศาสนาเชื่อในหลักความจริงว่า “มนุษย์เป็นสัตว์ฝึกฝนได้ มนุษย์ที่ฝึกตนดีแล้ว ประเสริฐสุด ถึงขั้นเทวดาก็ชม พรหมก็สรรเสริญ” พระพุทธเจ้าทรงฝึกฝนพระองค์เองเป็นตัวอย่าง ทรงบรรลุจุดสุดยอดที่มนุษย์ผู้ฝึกฝนตนพึงได้พึงถึงแล้ว ทรงวางระบบฝึกฝนให้มนุษย์อื่นๆ ดำเนินตาม

หลักคำสอนของพระพุทธองค์จึงชื่อว่า “สิกขา” คือเป็นระบบการศึกษา ระบบฝึกฝนตนเอง ด้วยความพากเพียรของตนเอง ด้วยสติปัญญาของตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใดๆ มาดลบันดาล

ในการฝึกฝนตนนั้น มนุษย์ต้องพึ่งตนเอง พระศาสดาเป็นเพียงผู้ทรงชี้แนะแนวทางให้เดินเท่านั้น ทรงชี้ว่าทางนี้ดี ทางนี้ไม่ดี เพราะทรงผ่านมาก่อนแล้ว แต่ผู้ฝึกฝนจะต้องเดินด้วยตนเอง พิสูจน์ผลด้วยตนเอง การวัดประเมินผล ต้องวัดด้วยตนเอง ความล้มเหลวหรือสำเร็จ เป็นประสบการณ์ตรงของตนเอง มิใช่ให้คนอื่นบอก เมื่อมองทั้งระบบการศึกษาตามแนวพุทธ มีองค์ประกอบอยู่สามหรือสี่ส่วน จะเรียกว่า ขั้นตอนของการฝึกฝนก็ได้ คือ

ส่วนที่ 1 ขั้นเตรียมการ ก่อนจะเข้าสู่ระบบฝึกฝนตน ต้องเตรียมการในสองเรื่องนี้ก่อน ท่านเจ้าคุณเรียกว่า “บุรพภาคแห่งการศึกษา” คือ

1. สิ่งแวดล้อมภายนอกต้องดี ต้องเอื้อต่อการฝึกฝน สิ่งแวดล้อมนี้รวมตั้งแต่สิ่งแวดล้อมทางวัตถุ สิ่งแวดล้อมทางบุคคล เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ผู้รู้อื่นๆ เป็นต้น ตลอดจนถึงสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือ สังคมทั้งหมดจะต้องเอื้อต่อการฝึกฝน ทางพระเรียกรวมว่า สิ่งแวดล้อมต้องเป็น “กัลยาณมิตร”

2. ในส่วนผู้ฝึกฝนเองต้องรู้จักคิดวินิจฉัย ใช้ท่าทีแห่งปัญญาในการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับโลกภายนอก ที่สมัยหนึ่งบัญญัติคำว่า “คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น” ทางพระเรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” (=คิดโดยอุบายอันแยบคาย)

โยนิโสมนสิการ เป็นคำสามัญรู้กันทั่วไปในแวดวงการศึกษาพอสมควร ทับศัพท์ก็คงไม่เป็นไร ในทางพระพุทธศาสนานั้น ท่านมีวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ 10 วิธี แต่ละวิธีล้วนเหมาะสมที่จะฝึกฝนทั้งนั้น คือ

1. คิดแบบสืบสาวปัจจัย
2. คิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ
3. คิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา
4. คิดแบบแก้ปัญหา
5. คิดแบบสัมพันธ์หลักการกับเป้าหมาย
6. คิดแบบคุณโทษและทางออก
7. คิดแบบคุณค่าแท้คุณค่าเทียม
8. คิดแบบปลุกเร้าคุณธรรม
9. คิดแบบอยู่ในปัจจุบัน
10. คิดแบบแยกประเด็น

หมายเหตุ : เพื่อให้รู้โดยทั่วกัน ในพระไตรปิฎกมิได้พูดไว้จะอย่างนี้ดอกนะครับ แม้กระทั่งชื่อของวิธีคิดแบบต่างๆ ก็มิได้ให้ไว้ พูดแต่เพียงโยนิโสมนสิการ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ท่านไปเก็บเอามารวมแล้วแยกประเภท พร้อมให้ชื่อเสร็จเพื่อสะดวกแก่การศึกษา จึงได้โยนิโสมนสิการ 10 วิธี

แต่ถ้าเปิดอรรถกถา (พูดแค่นี้รู้ไหมว่าหมายถึงอะไร ถ้าไม่รู้ก็รู้เสียว่า อรรถกถาคือตำราที่แต่งอธิบายพระไตรปิฎก) พระอรรถกถาจารย์ท่านประมวลวิธีคิดไว้เพียง 4 วิธีเท่านั้นคือ

1. คิดเป็นระเบียบ (ปถมนสิการ)
2. คิดถูกวิธี (อุปายมนสิการ)
3. คิดเป็นเหตุเป็นผล (การณมนสิการ)
4. คิดเร้ากุศล (อุปปาทกมนสิการ)

เท่ากับบอกว่า วิธีคิดทั้ง 10 วิธีข้างต้นนั้น สรุปแล้วอยู่ใน “กรอบทั้ง 4” นี้เท่านั้น ไม่หนีจากนี้ ว่าอย่างนั้นเถอะ สรุปก็คือว่า ผู้ฝึกฝนตนจะต้องเตรียมให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีวิธีคิดที่ถูกต้อง หลังจากนั้นก็ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนที่สอง

ส่วนที่ 2 กระบวนการฝึกฝน (สิกขา) ผู้ฝึกฝนตน จะต้องฝึกฝนทั้ง 3 ด้านคือ

1. ฝึกฝนด้านปัญญา พัฒนาความรู้ความเข้าใจให้ถูกต้อง มีเจตคติ มีค่านิยม มีแนวคิดที่ถูกต้อง สอดคล้องกับกระบวนการฝึกฝนอบรม คัมภีร์ท่านเรียกว่า มีสัมมาทิฐิ มีสัมมาสังกัปปะ นั้นแล

2. ฝึกฝนด้านศีล ควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา (ไม่ครอบคลุมถึงใจ) ให้สอดคล้องเหมาะสมกับความรู้ความเข้าใจนั้น

3. ฝึกฝนด้านจิต จิตจะต้องได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพ มองอีกมุมหนึ่ง ทั้ง 3 ด้านนี้ครอบคลุมถึง กาย วาจา และใจ เพราะฉะนั้นจะพูดอีกนัยหนึ่งว่า กระบวนการฝึกฝนนั้นก็คือ ฝึกกาย วาจา และใจ อย่างนี้ก็ได้ครับ

โปรดทราบว่า ขณะที่ยังอยู่ในระหว่างฝึกฝนตนนี้ เรียกว่า เสขะ (แปลว่าผู้ยังศึกษา หรือนักศึกษา) ยังไม่จบว่างั้นเถอะ เมื่อฝึกฝนจนครบกระบวนการแล้ว พูดอย่างนักปฏิบัติก็ว่า เมื่อ “มรรคสมังคี” องค์มรรคกลมกลืนถูกส่วนกันแล้ว ก็จะเกิดผลแห่งการฝึกฝน

ผลนั้นก็คือ เกิดญาณหยั่งรู้ตามความเป็นจริง เป็นความรู้ระดับสูงสุด สูงขนาดไหน พูดได้ว่า เมื่อเกิดความรู้อย่างนี้แล้ว จะเกิดจักษุตาในมองเห็นแจ่มชัด (จักษุ) ความรู้แจ้ง (วิชชา) ความรู้ทั่วถึง (ปัญญา) เกิดความสว่างโพลงภายใน (อาโลกะ) เรียกในที่นี้ด้วยศัพท์เทคนิคว่า “สัมมาญาณะ” สัมมาญาณะนี้มีสมรรถนะที่จะกำจัดกิเลสความมัวหมองใจออกหมดเกลี้ยงไม่เหลือหลอ จิตก็จะเป็นอิสระจากพันธะของกิเลส เป็น “สัมมาวิมุติ” (ความหลุดพ้นโดยสิ้นเชิง, อิสรภาพแท้จริง)

พอถึงระดับนี้เสขบุคคล ก็จะกลายเป็น “อเสขะ” (แปลว่าผู้ไม่ต้องศึกษาอีกต่อไป หรือผู้จบการศึกษานั้นเอง) ได้ปริญญาสูงสุดตามหลักพระพุทธศาสนา ท่านผู้นี้จะเรียกว่า พุทธ (ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) ก็ได้ อรหันต (ผู้ไกลจากกิเลส) ก็ได้ ขีณาสวะ (ผู้สิ้นอาสวกิเลส) ก็ได้

ส่วนที่ 3 เมื่อจบกระบวนการฝึกฝนตนแล้ว ก็จะมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

ก. มองในแง่การพัฒนา บุคคลเช่นนี้นับว่าได้พัฒนาแล้วทั้ง 4 ด้านคือ

(1) พัฒนากาย คือ มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางกายภาพอย่างดี มีความสมบูรณ์ของชีวิตในด้านกาย

(2) พัฒนาศีล คือ มีพฤติกรรมทางสังคมที่พัฒนาแล้ว มีความสัมพันธ์ทางสังคมในลักษณะสร้างสรรค์และก่อสันติสุข

(3) พัฒนาจิต มีจิตที่เจริญแล้ว คือ ได้ฝึกฝนอบรมจิตจนกระทั่งมีสุขภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพ

(4) พัฒนาปัญญา คือ มีความรู้แจ้งเห็นจริง ชนิดที่เป็นอิสระจากการครอบงำของกิเลส เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง หรือตามที่มันเป็น รู้เท่าทันธรรมดาจนเป็นอิสระโดยสมบูรณ์

ข. มองในแง่การดำเนินชีวิต

(1) บุคคลนี้นับว่าได้ทำประโยชน์ตน (อัตตัตถะ) สมบูรณ์ พึ่งตนเองได้ในทุกทาง (อัตตนาถะ)

(2) นอกจากตนเองจะดำเนินชีวิตได้ดีแล้ว ยังพร้อมที่บำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นด้วยความเสียสละ ไม่เห็นแก่ตน ช่วยให้เขาได้พึ่งตัวเองได้เป็นอย่างดี (ปรนาถะ)

ค. มองในแง่คุณธรรมที่เด่น

(1) มีปัญญาสมบูรณ์ ลดอวิชชาความโง่เขลาลงตามลำดับจนหมดสิ้นเชิง

(2) มีความกรุณาหาขอบเขตมิได้ ช่วยเหลือคนอื่นด้วยความสงสารกรุณา ไม่หวังประโยชน์ตอบแทนใดๆ

คนมักถามกันว่า จบการศึกษาตามแนวพุทธแล้ว จะเป็นคนอย่างไร คำตอบก็อย่างที่ว่ามานั้นแหละครับ วาดภาพเอาก็แล้วกันว่าจะหล่อเหลาปาน....



............................................................

หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10662
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
amarita
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 05 พ.ค. 2007
ตอบ: 25
ที่อยู่ (จังหวัด): กรุงเทพมหานคร

ตอบตอบเมื่อ: 20 พ.ค.2007, 4:00 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุ
อนุโมทนาคะ
 

_________________
ดีชั่วตัวทำ สูงต่ำทำตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 21 พ.ค.2007, 11:30 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ สาธุ สาธุค่ะ...คุณ webmaster

ธรรมะสวัสดีค่ะ

ยิ้ม ยิ้มแก้มปริ อายหน้าแดง
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง