ผู้ตั้ง |
ข้อความ |
admin
บัวทอง
เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886
|
ตอบเมื่อ:
16 ก.พ.2007, 7:39 am |
|
ข้อคิดเรื่องมังสวิรัติ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เอ้า, ทีนี้ก็จะพูดเรื่องเฉพาะตัวบ้าง อย่าเห็นว่าอวดนะแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องส่วนตัวนี้มันก็ต้องทำแหละ ทำแล้วมันมีผลอะไรก็เอามาพูดให้เพื่อนฟัง นี้ออกจะเป็นเรื่องส่วนตัว ขออภัย ให้พูดตามสบายนะ
เมื่อมีสวนโมกข์ใหม่ๆ มีอะไรบ้างจะเล่าให้ฟัง เรื่องใช้จีวรดำ เมื่ออยู่สวนโมกข์ใหม่ๆ ใช้จีวรดำ ย้อมกรักจนสีดำ ต่อมารู้สึกว่า มันบ้า เพราะว่ามันต้องแกล้งย้อม มันต้องแกล้งทำให้ดี จีวรดำนี้มันต้องแกล้งทำให้ดำ วันหนึ่งมันนึกขึ้นมาได้ว่า นี้ทำให้ดำทำไม ? นี้ทำให้ดำทำไม ? เพื่อให้มันแปลกเพื่อน แปลกเพื่อนทำไม ? มันจะดีกว่าเพื่อน มันก็เล่นละครสิ, มันก็เล่นละครสิ, ฉะนั้นแกล้งทำจีวรให้ดำอวดคน นี้เลิกๆ เลิกทีไม่เอา ทำอยู่ได้ไม่กี่ปีก็เลิกจีวรดำ ปล่อยจีวรให้เป็นไปตามยถากรรม มันจะเป็นสีอะไรก็ตามใจมันเถิด นี่เรื่องที่มีมาแล้วแต่หนหลังรู้สึกว่าเจตนานี้ไม่บริสุทธิ์เสียแล้ว การแกล้งทำจีวรให้ดำ ให้แปลก ให้เขาสนใจ ให้เขาหลงใหลในคนจีวรดำ เจตนาไม่บริสุทธิ์ เลิกๆ
เมื่อก่อนก็เคยกินผัก ที่สวนโมกข์นั้นกินผัก อาตมานั้นนำที่สุดแหละในเรื่องกินผัก บางคราวกินผลไม้ล้วนๆ ไม่กินข้าวก็มี, กินหัวเผือกหัวมัน ไม่กินข้าว ก็มี, กินแต่ของหวาน ไม่กินของคาว ก็มี, เกือบตายแหละ ถ้ากินแต่ของหวานล้วนๆ เกือบตายแหละ มันถึงกับหน้ามืดล้มเลย
กินข้าวกับธรรมดา, แล้วก็กินแต่ผัก, แล้วก็กินแต่ผลไม้, แล้วก็กินแต่เผือกมัน, แล้วก็กินแต่ของหวานธรรมดา เกือบตาย แต่ก็ได้ความรู้หลายอย่าง : ถ้าเรากินแต่ผักไม่กินข้าวตัวก็เบา อุจจาระก็ไม่เหม็น คิดว่าเป็นผู้วิเศษแล้ว แล้วประสาทไวมากถ้ากินแต่ผักล้วนๆ ไม่กินข้าว หมายความว่าไม่กินข้าวเลย กินแต่ผักล้วนๆ ประสาทไว ประสาทจมูกไว ประสาทหูไว ได้ยินเสียงเพิ่มขึ้นมากทีเดียวแล้วจมูกไว เดินเฉียดเข้าไปห่างต้นใบแมงลัก โหระพา ตั้ง 3-4 วา ได้กลิ่นแล้ว ได้กลิ่นฉุนแล้ว นี่จมูกไวขนาดนี้ นี่กินแต่ผัก เคยลองแล้วขนาดนี้ นี่คือกินแต่ผัก
ต่อมารู้ว่า นี้จะกินไปทำไม ? มันก็ต้องแกล้งทำ มันก็ต้องฝืนทำ มันก็ต้องเป็นการทำโดยไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม ก็มองเห็นว่า ไม่ต้องกินดอก กินแต่ผักจนรู้ว่าไม่ควรจะกินแต่ผัก, กินเนื้อจนรู้ว่าไม่ควรจะกินเนื้อ, กินข้าวจนรู้ว่าไม่ควรจะกินข้าว นี่คงงงกันแล้ว ฟังไม่ถูกแล้วเห็นไหม ?
ถ้าสำคัญว่า กินเนื้อ มันก็เป็นยักษ์, สำคัญว่า กินผัก มันก็เป็นค่าง, สำคัญว่า กินข้าว มันก็เป็นหนูนา หรือเป็นหมูก็ตาม ถ้าเรากินเนื้อ เขาก็ต้องฆ่าเนื้อมากขึ้น ก็ดูไม่เข้าท่า ถ้าเรากินผัก เขาต้องฉีดยาฆ่าแมลงมากขึ้น เอาผักไปขายคนกินผัก ถ้าเรากินข้าว เขาก็ไถนามากขึ้น ในรอยไถนี้สัตว์ตายกันเลือดแดงฉานไปเลย ไปดูเถอะไม่ว่าไถนาที่ไหน ; ฉะนั้น กินข้าวมันก็ฆ่าสัตว์ในรอยไถ, กินผัก มันก็ฆ่าสัตว์ด้วยยาฆ่าแมลง, กินเนื้อ มันก็ทำให้สัตว์ถูกฆ่า เอาอย่างพระพุทธเจ้าดีกว่า คือไม่กินอะไรหมดเลย ไม่กินมันหมดเลย ไม่ทำความสำคัญในจิตใจว่ากูกินอะไร ผักก็ไม่กิน เนื้อก็ไม่กิน ข้าวก็ไม่กิน กินแต่อาหารที่บริสุทธิ์ที่สมณะควรจะกินโดยไม่มีโทษ อย่าไปทำความสำคัญมั่นหมายว่านี้ข้าว นี้ปลา นี้เนื้อ นี้ผัก นี้ขนม ฯลฯ อย่าไปทำ ถ้าไปทำความสำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นอะไร ผิดหลักธรรมะ เพราะยึดมั่นในสิ่งนั้น
พระพุทธเจ้าท่านสอนไม่ให้สำคัญมั่นหมาย ว่าอะไรเป็นอะไร ให้ถือว่า เป็นธาตุ เป็นธาตุตามธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยตามธรรมดา บทปัจจเวกขณ์ ยถาปัจจยัง วันแรกบวชที่เขาให้เรียนนั่นแหละ วิเศษที่สุด : ของที่กินก็เป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ, ตัวคนที่กินก็ไม่มี ไม่มีคนผู้กิน เพราะเป็นธาตุตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นถ้ามันเป็นธาตุตามธรรมชาติ ที่กินธาตุตามธรรมชาติก็ไม่มีความหมายว่า กินผัก กินเนื้อ กินข้าว กินอะไร ไม่กินทั้งนั้นเลย ทำจิตใจอย่างนี้สิ จะตรงตามพระพุทธประสงค์
กินผักจนรู้ว่า โธ่ ไม่ต้องกินผักเว้ย, กินข้าวกันจนรู้ว่า ไม่ต้องกินข้าวเว้ย, กินเนื้อจนรู้ว่า ไม่ต้องกินเนื้อเว้ย, อย่าทำในใจว่ากินเนื้อ กินข้าว กินผักเลย ถ้าถามว่า กินอะไร ? ก็กินอาหารที่บริสุทธิ์ที่เห็นได้ด้วยสติปัญญา ว่าสิ่งนี้เป็นธาตุตามธรรมชาติ เป็นประโยชน์ เป็นปัจจัยเกื้อกูลแก่ชีวิต กินเท่าที่จำเป็น อย่ากินให้อร่อย อย่ากินให้มาก กินเท่าที่จำเป็น เหมือนกินเนื้อลูกที่ตายกลางทะเลทรายอย่างนั้น บางคนฟังไม่ถูก ก็ต้องเล่าตามบาลี ; พ่อแม่คู่หนึ่ง พาลูกเล็กๆ ข้ามทะเลทราย หลงทางอยู่นั่น ออกไปไม่ได้จนลูกตาย ตัวเองก็จะตายอยู่แล้ว ก็จำใจกินเนื้อลูก มันจะกินได้กี่มากน้อย กินเพียงเพื่อรอดชีวิตอยู่ได้ เพื่อจะออกมาจากทะเลทราย พระพุทธองค์ทรงมุ่งหมายไว้อย่างนี้ ได้ตรัสไว้ในสูตรใน มัชฌิมนิกาย นั่นมี แม้ว่าจะกินธาตุตามธรรมชาติเป็นอาคารควรแก่สมณบริโภค ก็กินอย่างกินเนื้อลูกกลางทะเลทรายเถิด, ไม่ต้องมีข้าว มีผัก มีเนื้อ กันแล้ว
อาตมาจึงบอกเพื่อนฝูงที่อยู่ด้วยกันว่า อย่าเลย อย่าอธิษฐานกินผัก อย่าอธิษฐานกินข้าว อย่าอธิษฐานกินเนื้อเลย ไม่กินอะไรเลย นอกจากสิ่งที่บริสุทธิ์ สมควรแก่สมณะก็แล้วกัน มันก็เป็นธาตุตามธรรมชาติ เป็นการกินอย่างไม่มีตัวผู้กินและถูกกิน
นี่คือไม่กินทั้งหมด คือไม่หมายมั่นว่าอะไรเป็นอะไร เป็นพระพุทธประสงค์ให้ปฏิบัติกันทั้งทางธรรมะ และทางวินัย ชาวบ้านที่ไปนิมนต์พระ ว่าไปฉันขนมจีน ไปฉันแกงไก่ นี่ถ้าถือตามพระวินัยแล้วรับไม่ได้ ชาวบ้านก็อย่าชอบนิมนต์อย่างนั้น : ถ้าไปถูกพระที่ท่านถือวินัย ท่านไม่รับ มันผิดวินัย ไปนิมนต์ออกชื่อของฉัน มั่นหมายเป็นนั่นเป็นนี่ มันผิดวินัย
นี่เรื่องส่วนตัว เคยลองมาแล้ว เรื่องกินผัก เป็นภิกษุไม่ฉันอาหาร หลังจากเที่ยงวันไปแล้ว กินแต่ผักล้วนๆ อยู่ไม่ได้ต้องกินข้าวบ้าง กินแต่ของหวานล้วนๆ แล้วยิ่งอยู่ไม่ได้ใหญ่เหมือนกับเจ็บไข้ทีเดียว ถ้าว่าเป็นฤาษีชีไพร ไม่มีวินัยเรื่องเวลากิน นี้อยู่ได้ กินผักก็ได้ กินผลไม้ก็ได้ แต่ถ้าเป็นพระแล้วอยู่ไม่ได้ กลางคืนหิวเกือบตาย ควรจะทำให้มันถูกเรื่องกัน
(คัดจาก ห้าสิบปีสวนโมกข์ ภาคสอง หน้า 114-117)
มีต่อ >>>>> |
|
_________________ -- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง -- |
|
|
|
admin
บัวทอง
เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886
|
ตอบเมื่อ:
29 มี.ค.2007, 4:29 pm |
|
ตอบปัญหาข้อสงสัยเรื่องมังสวิรัติ
(เนื่องในวันล้ออายุ 27 พฤษภาคม 2525)
ปัญหาที่ 84 : การกินเนื้อ กินผัก
ถาม : มีเรื่องที่ยังเข้าใจกันไม่ได้ ที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหาจะนำมากราบเรียนถามท่านอาจารย์; คือมีผู้ถามว่า ผู้เผยแพร่ศาสนาสอนแนวปฏิบัติสู่นิพพาน แล้วในบาตรนั้นยังเต็มไปด้วยเลือดและเนื้อที่เป็นอาหารอยู่อย่างนั้น จะมีจิตเมตตาได้อย่างไรครับ ?
ตอบ : ว่าให้หมดกันไปเสียทีเดียวเกี่ยวกับเรื่องนี้
ถาม : คือยังมีต่อไปอีกว่า ในขณะที่ฉันเนื้อกับผักนั้นจิตชนิดไหนจะปกติง่ายกว่ากัน เพราะว่าเรื่องของการพิจารณาในการฉันอาหารด้วยเห็นเป็นธาตุนั้น มันเป็นเรื่องของพระอรหันต์เสียมากกว่า อันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับปัญหาครับ ?
ตอบ : ปัญหานี้สรุปความได้ว่า เป็นข้อข้องใจ เกี่ยวกับการฉันเนื้อฉันผัก; ผูกปัญหาในลักษณะที่ว่า เป็นการกระทบต่อภิกษุผู้ฉันอาหารด้วยบาตรที่ยังมีเลือดและเนื้อ การใช้สำนวนโวหารอย่างนี้ เป็นความลำเอียงอยู่มาก ที่ใช้คำว่าบาตรที่เต็มไปด้วยเลือดและเนื้อ, ทำให้เกิดภาพพจน์ว่าเป็นเนื้อสดๆ แดงๆ หรือราดไปด้วยเลือด ข้อปัญหามันสรุปความว่า มันเนื่องมาแต่ความไม่แน่ใจในเรื่องการฉันเนื้อหรือฉันผัก; ตั้งปัญหาใหม่อีกว่า การฉันเนื้อกับการฉันผักนั้นจิตไหนจะเป็นปกติมากกว่ากัน, และไม่ยอมให้ใช้หลักที่ว่า พิจารณาโดยความเป็นธาตุแล้วจึงฉัน เพื่อจะตัดปัญหาว่าเนื้อหรือผักออกไปเสีย ?
อาตมาเข้าใจว่า ที่นั่งกันอยู่ที่นี่ทั้งหมด ทั้งพระทั้งฆราวาสนี่ คงจะมีบางองค์ที่มีปัญหาเรื่องฉันเนื้อฉันผัก; บางองค์บางท่านก็สมาทานการฉันผัก ไม่มีการฉันเนื้อ ไม่มีการกินเนื้อ, ก็เป็นเรื่องที่น่าจะพูดกันให้มันเป็นที่เข้าใจกันเสียบ้างก็จะดีเหมือนกัน. อาตมาก็จะไม่พูดในลักษณะที่เจาะจงบุคคลใดหรือคณะไหน หรือพุทธศาสนานิกายไหน เช่น นิกายมหายาน เขาก็ไม่กินเนื้อกันทั้งหมด, ฝ่ายเถรวาทนี้ ก็ถือไปตรงๆ ตามหลักธรรมะและวินัย บางองค์ฉันเนื้อก็ฉันโดยไม่ผิดวินัย แต่ถ้ามีความรู้ความเข้าใจ ก็จะไม่ผิดหลักธรรมะด้วย เป็นอันว่า ในนิกายเถรวาทนี้ มีทั้งฉันเนื้อ และไม่ฉันเนื้อ คือฉันผัก
ที่จริงคำพูดอย่างนี้ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ที่จะพูดว่าพระนี้ฉันเนื้อหรือฉันผัก พระองค์ใดทำความสำคัญมั่นหมายว่า เรากินเนื้อหรือกินผัก ผู้นั้นไม่ใช่ภิกษุในพระพุทธศาสนา ภิกษุในพุทธศาสนา จะไม่ฉันด้วยความสำคัญว่าเนื้อหรือว่าผัก ถ้ายังสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเนื้อหรือเป็นผัก คนนั้นยังไม่รู้ธรรมะตามหลักของพระพุทธศาสนา ที่ไม่ให้สำคัญมั่นหมายด้วยความสำคัญมั่นหมาย ในความรู้สึกของตนหรือบุคคลทั้งหลาย
การที่เขามีความสำคัญมั่นหมาย : สำคัญว่าเนื้อ กินเข้าไปก็เป็นยักษ์, ถ้าสำคัญว่าผักกินเข้าไปก็เป็นค่าง; ค่างที่อยู่ตามยอดไม้น่ะมันกินแต่ผักไม่กินเนื้อ; นั่นแหละสำคัญว่ากูกินผักก็เป็นค่าง สำคัญว่ากูกินเนื้อ ก็เป็นยักษ์; ฉะนั้นภิกษุในพุทธศาสนา จะไม่ทำความมั่นหมายว่าเป็นเนื้อหรือเป็นผัก แล้วจะสำคัญว่าอะไร ? คือไม่สำคัญว่าอะไรหมด ปล่อยมันไปตามความเป็นจริงว่ามันเป็นอาหารก็แล้วกัน; มันเป็นอาหารที่ถูกต้องและสมควรตามความเป็นไปของภิกษุในพุทธศาสนา ที่เลี้ยงชีวิตอย่างคนขอทาน นี่อาตมาพูดถึงเรื่องฝ่ายภิกษุก่อน
ภิกษุที่แท้จริง อาศัยการเลี้ยงชีวิตด้วยอาหารที่ผู้อื่นให้ ในลักษณะที่เป็นคนขอทาน; คือเขาใส่อะไรให้มาในภาชนะก็มาพิจารณาดู โดยลักษณะแห่งความเป็นอาหารที่ได้มาตามแบบของภิกษุ ผู้เลี้ยงชีวิตเนื่องด้วยผู้อื่น อย่างคนขอทาน ว่าเป็นอาหารที่สมควรแก่สมณะหรือไม่ ทีนี้เมื่อจะฉันเข้าไป คำไหน ชิ้นไหนอย่าได้สำคัญว่ามันเป็นเนื้อหรือเป็นผัก ถ้าเห็นว่า อาหารชิ้นนี้ไม่เหมาะแก่ภาวะเราก็ขว้างทิ้งไปเสีย; อาหารชิ้นนี้เหมาะแก่อัตภาพของเราก็ฉันโดยไม่ต้องเกิดโทษ ไม่ทำความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเนื้อหรือเป็นผัก
ในวินัยก็มีอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งถ้าเขามานิมนต์ไปฉันโดยระบุสิ่งของนั้นว่าเป็นอะไร เช่นว่าเป็นเป็ด เป็นไก่ เป็นปลา เป็นเนื้อ เป็นขนมจีน เป็นขนมต้มอะไร ถ้าระบุลงไปโดยความเป็นชื่อเป็นที่ตั้งแห่งความมั่นหมาย ว่ามันเป็นอะไรแล้ว ภิกษุจะไม่รับนิมนต์ หรือรับฉันอาหารนั้น นี่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความหมายมั่นว่ามันเป็นอะไร กินขนมอะไร กินเนื้ออะไร กินปลาอะไร กินผักอะไร กินน้ำพริกอะไร; ต้องไม่มีความมั่นหมายว่ามันเป็นอะไรในลักษณะนั้น, ให้สังเกตดูแต่ว่ามันเป็นอาหารที่สมควรแก่ภิกษุ ผู้เลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยผู้อื่นอย่างคนขอทาน
ย้ำอีกทีหนึ่งว่า ได้มาอย่างคนขอทาน ในบาตรมีอะไรก็คงจะมีไปตามเหตุตามปัจจัย ตามเรื่องราวที่ชาวบ้านเขาจะใส่ให้มา ถ้าไปขอทานในหมู่มนุษย์ที่มีการกินเนื้อเป็นอาหาร, ในบาตรนั้นมันจะต้องมีเนื้อติดมาด้วยเป็นธรรมดา; ถ้าไปขอทานในหมู่มนุษย์ที่ไม่กินเนื้อเป็นอาหารมันก็ไม่มี มันก็มีแต่ผัก, ภิกษุก็จะไม่สำคัญมั่นหมายว่าผัก ว่ากูจะกินแต่ผัก, อย่างนี้ก็ไม่มี; ถ้ามีเนื้อมาว่ากูจะกินเนื้อ อย่างนี้มันก็เป็นยักษ์ ภิกษุจะไม่ทำความสำคัญว่าเป็นเนื้อหรือเป็นผัก, บริโภคโดยความเป็นอาหารที่สมควรแก่สมณะ; ชิ้นไหนไม่ควรแก่ความเป็นสมณะก็ทิ้งไป, ชิ้นไหนส่วนไหนเป็นอาหารที่สมควรแก่ความเป็นสมณะก็ฉัน
ที่ว่าสมควรหรือไม่สมควรนี้ มันก็มีระเบียบทั้งทางวินัยและทั้งทางธรรมะอยู่แล้ว ทางวินัยก็มีว่า เนื้อที่เขาฆ่าเจาะจง นี้ก็เป็นเรื่องที่ผิดวินัย ก็ไม่ฉัน; นี้เรื่องทางวินัย ทีนี้ถ้าเป็นเรื่องทางธรรมะมันก็มีว่า ภิกษุจะต้องบริโภคอาหาร อย่างบริโภคเนื้อบุตรกลางทะเลทราย มันจะเป็นอาหารอะไรก็ตามที่จะฉันลงไป
มีต่อ >>>>> |
|
_________________ -- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง -- |
|
|
|
admin
บัวทอง
เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886
|
ตอบเมื่อ:
29 มี.ค.2007, 4:42 pm |
|
เรื่องมีว่า ผัวเมียอุ้มทารกลูกน้อยเดินข้ามทะเลทรายวนเวียนอยู่ในทะเลทรายจนเสบียงอาหารหมดไป เพราะหลงทาง ทีนี้ก็เหลือแต่ลูกเล็กที่มันทนกับความลำบากตรากตรำไม่ไหว พ่อแม่ก็ไม่ได้กินอาหารหลายวันแล้ว กระทั่งลูกน้อยมันตายลงไปก่อน บิดามารดานั้นก็ตัดสินใจว่า เมื่อยังไม่ควรจะตาย ก็กินเนื้อลูกของตน เยียวยาชีวิตให้รอดอยู่ได้กว่าจะข้ามทะเลทรายให้พ้นไปได้ เขามีความทุกข์มากเขาก็กินไม่ค่อยลง เหลือที่จะกลืนลงไปได้ นี่ภิกษุจะต้องกินอาหารในลักษณะนั้น; ถึงแม้จะกินผักก็ต้องกินในลักษณะนั้น ไม่ใช่กินด้วยความตะกละในรสอร่อย จะกินเนื้อหรือจะกินผัก ก็ต้องกินด้วยความรู้สึกเหมือนกับว่ากินเนื้อลูกกลางทะเลทราย ไม่กินด้วยกิเลสตัณหา ว่าอย่างนั้นก็แล้วกัน
ฉะนั้นเรามีหลักธรรมะอย่างนี้ มีหลักวินัยอย่างนั้น อย่าต้องมีปัญหาเรื่องเนื้อหรือผักเลย ผู้รู้ธรรมะในพระพุทธศาสนาจะเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็นพระอรหันต์ ท่านก็มีหลักที่จะไม่หมายมั่นว่า อะไรเป็นอะไร โดยหลักธรรมะที่จะหลุดพ้นแล้วจะไม่หมายมั่นแม้แต่ว่าดินนี้เป็นดิน, น้ำนี้เป็นน้ำ, ลมนี้เป็นลม, ไฟนี้เป็นไฟ, จะไม่หมายมั่นว่ามันเป็นตัวตนของมันอย่างนั้นๆ เพราะความหมายมั่นอย่างนั้นมันเป็นเรื่องของอวิชชา อุปาทานที่ยังติดอยู่ในสมมติว่ามันเป็นอย่างนั้นๆ
ท่านไม่หมายมั่นอะไรโดยความเป็นอะไรโดยประการทั้งปวง ตั้งแต่ไม่หมายมั่นดินว่าดินขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งไม่หมายมั่นพระนิพพานโดยความเป็นพระนิพพาน ขอให้เข้าใจว่าไม่หมายมั่นอะไรโดยความเป็นอะไร นี่คือลักษณะของผู้รู้ หรือของพระพุทธ คือผู้รู้ ฉะนั้นเราเมื่อปฏิบัติอยู่ตามหลักของพุทธศาสนาแล้ว ไม่ควรหมายมั่นสิ่งใดโดยความเป็นอะไร หรือเป็นตัวตนของอะไร; จึงไม่หมายมั่นโดยความเป็นเนื้อหรือเป็นผัก
ฉะนั้น พุทธบริษัทที่แท้จริง จึงไม่มีโอกาสได้กินทั้งเนื้อและทั้งผัก เพราะไม่มีความหมายมั่นโดยความเป็นเนื้อหรือความเป็นผักนั่นเอง มีแต่การกินที่เหมือนการกินเนื้อบุตรกลางทะเลทราย โดยรู้สึกว่านี่มันเป็นอาหารที่ได้มาตามลักษณะของภิกษุผู้มีชีวิตอยู่อย่างคนขอทาน ถ้าชิ้นนี้มันจะมีโทษเกิดขึ้น ไม่สบายแก่ร่างกายก็ทิ้งเสียก็ได้ ชิ้นไหนไม่เป็นโทษแก่ร่างกาย ก็บริโภคเข้าไปในลักษณะที่เป็นอาหารเท่านั้น อย่าหมายมั่นเป็นเนื้อหรือเป็นผัก หรือไม่หมายมั่นเป็นอะไร เป็นขนมนั่น ขนมนี่ แกงนั่นแกงนี่ ผัดนั่น ผัดนี่, จะไม่หมายมั่นในลักษณะอย่างนั้น ถ้าไปหมายมั่นโดยความเป็นอะไรเข้าแล้วมันก็จะกลายเป็นคนโง่ มันจะไม่เป็นพุทธบริษัทไปได้เลย นี่สำหรับภิกษุจะต้องมีหลักปฏิบัติอย่างนี้; ไม่กินทั้งเนื้อ ไม่กินทั้งผัก, แต่ฉันอาหารที่เหมาะสมแก่ความเป็นภิกษุของตน โดยหลักว่าเหมือนกับว่ากินเนื้อลูกกลางทะเลทราย
ทีนี้ถ้าว่า ใครที่ยึดมั่นเป็นเนื้อเป็นผัก จนกลายเป็นคนโง่แล้ว ครั้นกินผักแล้วไปเที่ยวเบ่งอวดดี ดูหมิ่นข่มขี่ผู้ที่กินเนื้อ, คนกินผักนั่นแหละ มันกลายเป็นคนกินเนื้อเน่าที่สกปรกที่สุด นี่มันน่าคิดไหม กินผักแล้วไปเที่ยวทับถมคนกินเนื้อ เลยตัวเองน่ะกลายเป็นคนกินเนื้อเน่าที่สกปรกที่สุด มีพระพุทธภาษิตใน ติก.อํ. ว่า อภิชฌาชื่อว่าของเน่าพอง, พยาบาทชื่อว่ากลิ่นเหม็นคาว, ความคิดอกุศลชื่อว่าแมลงวัน ฉะนั้นถ้าใครกินผักก็อย่าอวดดีทับถมคนอื่นที่เขายังกินเนื้ออยู่ ตัวเองจะกลายเป็นคนกินเนื้อเน่า
ขอให้เราปฏิบัติเสียใหม่ว่า เราจะไม่กินทั้งเนื้อและทั้งผัก, เราจะกินอาหาร ที่มีความหมายอันถูกต้องตามธรรมะตามวินัยเพียงเพื่อตั้งอยู่ได้แห่งอัตภาพนี้, พิจารณาอาหารบิณฑบาตโดยความเป็นของว่างจากตัวตน - นิสฺสตฺโต นิชฺชีโว สุญฺโญ, แล้วก็กินโดยไม่ต้องให้มันเป็นเนื้อหรือเป็นผัก นี่คือผู้ที่ปฏิบัติถูกต้องตามหลักแห่งพระพุทธศาสนาทั้งโดยธรรมะและโดยวินัย
เมื่อปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ปัญหาชนิดนี้ก็ไม่เกิด คือไม่เกิดปัญหาที่ว่า สอนการปฏิบัติไปนิพพาน แต่ในบาตรยังเต็มไปด้วยเลือดและเนื้อนี้จะมีเมตตากันที่ตรงไหน ถ้าเขาฉันอาหารด้วยจิตใจอย่างที่กล่าวมาแล้ว ปัญหานี้จะไม่เกิดมันมีความรู้สึกที่ถูกต้อง เมตตามันเป็นเรื่องความรู้สึกว่าเป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายแล้วเราก็ไม่ได้กินเนื้อหรือกินผัก
แล้วทำไมไม่คิดบ้างว่า ผักมันก็มีชีวิต, การทำลายชีวิตผักภูตคาม เป็นอาบัติปาจิตตีย์เท่ากับทำลายชีวิตสัตว์ ผักมันก็เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ในระดับต่ำสุด เราจะไม่เบียดเบียนสิ่งที่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ไม่ว่าจะเป็นผัก, จะขจัดความหมายมั่นอันนั้นออกไปเสีย แล้วก็บริโภคอาหารนั่นอย่างบริสุทธิ์ แม้ในบาตรมันจะมีอะไรที่ควรจะฉันที่ถูกต้องตามธรรมตามวินัย ไม่เป็นที่ขยะแขยงรังเกียจแก่ตนเอง ก็ฉันอย่างที่ว่าเป็นอาหารสำหรับคนขอทาน, ถ้าชิ้นไหนจะเป็นโทษก็ทิ้งมันไปเสีย, มีความรู้สึกเหมือนกับกินเนื้อลูกกลางทะเลทราย, แล้วปัญหาก็ไม่เกิด
ทีนี้ปัญหาที่ว่า ฉันเนื้อและผัก จิตไหนปกติกว่ากัน ? จิตปกตินี้ มันก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อหรือผัก; ไปดูสัตว์ที่มันกินผักมันก็ยังไม่มีจิตปกติ มันก็ไม่ได้เปรียบเสียเปรียบอะไรกันนักในเรื่องเนื้อและผัก ในการที่จะมีจิตเป็นปกติ จิตจะปกติได้ก็เพราะมีสติสัมปชัญญะ ควบคุมจิตไว้ในคลองของธรรม จิตมันจึงจะปกติ การพิจารณาเห็นไม่เป็นเนื้อไม่เป็นผัก แต่เป็นธาตุตามธรรมชาติ ตามเหตุปัจจัยปรุงแต่งนั้น เป็นข้อปฏิบัติไม่เฉพาะผู้ใด, แต่สำหรับทุกคน ที่จริงเขาควรจะตั้งปัญหาว่า เนื้อกับผักอันไหนช่วยให้จิตเป็นสมาธิได้ง่ายกว่า
สำหรับพระอรหันต์นั้น ท่านไม่ต้องระวังหรือตั้งใจปฏิบัติอะไร เพราะว่าความหมายมั่นในสิ่งใดๆ โดยความเป็นอะไรนั้นมันหมดแล้ว; ท่านไม่หมายมั่นแม้แต่ดินว่าเป็นดิน ไม่หมายมั่นแม้แต่น้ำว่าเป็นน้ำ ว่าไฟเป็นไฟ ลมเป็นลม กระทั่งถึงว่าแม้นิพพานก็ไม่หมายมั่นว่าเป็นนิพพาน ฉะนั้นเรื่องจึงไม่เกี่ยวกับพระอรหันต์, มันเกี่ยวกับคนที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ต่างหาก ที่เขาจะต้องพิจารณาอะไรโดยความเป็นอะไร เพราะว่าเราต้องการจะหลุดพ้นหรือเพื่อจะเป็นพระอรหันต์นั่นเอง ฉะนั้นพิจารณาสิ่งที่กินเข้าไป โดยความเป็น นิสฺสตฺโต นิชฺชีโว สุญฺโญ ตามบทปัจจเวกขณ์นั้นถูกต้องแล้ว, ปัญหาก็จะไม่เกิดขึ้นว่า กินเนื้อหรือกินผัก อันไหนจะมีจิตปกติมากกว่ากัน
มีต่อ >>>>> |
|
_________________ -- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง -- |
|
|
|
admin
บัวทอง
เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886
|
ตอบเมื่อ:
29 มี.ค.2007, 5:02 pm |
|
จิตปกติก็ต้องมีการประพฤติกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่โรงเจกินแต่ผักก็มีการทะเลาะวิวาท, มีการบันดาลโทสะจนปรากฏออกมาว่าไม่แพ้คนที่ไม่ได้อยู่ในโรงเจ; พวกที่อยู่ในโรงเจเขาก็ยอมรับและยืนยันว่าอย่างนั้น ฉะนั้นจะเอาเนื้อหรือผักเป็นหลักว่าจิตปกติหรือไม่นี้ มันไม่ได้; มันต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักธรรมะที่จะให้จิตปกติอย่างไร แล้วก็ปฏิบัติก็แล้วกัน
ที่ถามว่าจิตไหนปกติกว่ากัน ? มันก็ไม่มีทางที่จะยืนยันได้โดยเหตุที่ว่ากินเนื้อหรือกินผัก เอาละ, ก็เป็นอันว่า กินเนื้อเป็นยักษ์ กินผักเป็นค่าง; ยักษ์คงจะวุ่นวายกว่าค่าง, ค่างคงจะปกติกว่า; แต่ถ้าคนที่ไม่กินทั้งเนื้อและทั้งผัก นั่นจะมีจิตปกติกว่านะ, ฟังให้ดีเถอะ ไม่กินทั้งเนื้อไม่กินทั้งผัก นั่นจะมีจิตปกติหรือมัชฌิมากว่า; ไม่สำคัญมั่นหมายโดยความเป็นเนื้อหรือโดยความเป็นผัก กินแต่อาหารที่ถูกต้องตามธรรมวินัย
นี่ถ้าให้พูดกันโดยตรงไม่เกรงใจใคร พูดอย่างโดยหลักธรรมวินัยก็ต้องพูดอย่างนี้ การกินผักที่ตบแต่งให้ดูเหมือนเนื้อและปรุงให้อร่อยกว่าเนื้อ ลงทุนแพงกว่าเนื้อนี้ เป็นการกินผักที่หลอกลวง ไม่เป็นธรรมเป็นวินัย, จิตก็ยังไม่ปกติยิ่งกว่าไปอีก
ทีนี้มาพูดกันในข้อปลีกย่อย ว่าถ้าสำหรับเรากินผักสบายกว่าก็กินซี ใครจะมาห้าม และเราก็ไม่ต้องเสียสตางค์มากด้วย; ผักนี่มันถูกกว่าเนื้อ และมันก็มีเหตุผลที่จะกินเพื่อความสบายแก่ร่างกาย แต่อันนี้เอาเป็นหลักสำหรับบรรพชิตไม่ได้ เพราะบรรพชิตเลี้ยงชีวิตอย่างคนขอทาน, อะไรใส่มาอย่างไรก็เลือกเอา, เนื้อทำให้ไม่สบายใจเราก็ไม่กิน, ผักทำให้สบายใจเราก็กิน. ถ้าเป็นชาวบ้านก็จัดเอาเองได้ซื้อหามาเองได้; แต่ขอย้ำว่า กินผักแล้วอย่าไปดูถูกคนกินเนื้อ; คนนั้นมันจะกลายเป็นคนกินเนื้อเน่าที่แสนจะสกปรกนั้น, กินผักแล้วอย่าไปโอ้อวดทับถมผู้กินเนื้อเลย
ทีนี้เป็นเรื่องปลีกย่อยออกไปจากธรรมะจากวินัย คือถ้ากินผักเพื่อประโยชน์ทางอนามัยก็กินซิ, กินผักมันถูกสตางค์ ก็กินซิ; แต่มันยังคงโง่อยู่นั่นแหละที่มัวสำคัญมั่นหมายว่ากินเนื้อหรือกินผัก ไม่ถือว่าเป็นเพียงอาหาร ถ้าเป็นพุทธบริษัท ต้องมีจิตที่ไม่กินเนื้อและไม่กินทั้งผัก, ขอยืนยันอย่างนี้
พุทธบริษัทจะไม่มั่นหมายโดยความเป็นเนื้อ, ไม่มั่นหมายโดยความเป็นผัก; นั่นคือ ไม่กินเนื้อและไม่กินผัก, มีจิตใจที่เป็นกลาง นี้ว่าง, นี้สะอาดกว่า สงบกว่า. ไม่กินทั้งเนื้อ ไม่กินทั้งผักนั้นมีจิตใจปกติกว่าอย่างไหนหมด; ไม่โง่โดยความเป็นเนื้อ ไม่โง่โดยความเป็นผัก. แต่ถ้าเห็นว่า กินผักมีโรคภัยไข้เจ็บน้อย ไม่ค่อยปวดฟันหรืออะไรก็เอาซิ, ก็เลือกกินแต่ผักซิ; หรือว่ามันจะมีเหตุผลอย่างอื่น ก็เอาซิ ไม่เป็นไร
การกินแต่ผักและผลไม้ เคยลองแล้วอุจจาระและเหงื่อไม่มี หรือเกือบจะไม่มีกลิ่นที่น่ารังเกียจ แต่ถ้าให้ดีแล้วละก็ในจิตใจไม่กินทั้งเนื้อและทั้งผักปัญหาจะได้ไม่เกิด ปัญหาอย่างนี้จะไม่เกิด นี่เรื่องการกินเนื้อและกินผักนี่ มีข้อเท็จจริงอย่างนี้; ตามความรู้สึกของอาตมามันเป็นอย่างนี้
ขอสรุปความอย่างสั้นๆ อีกทีหนึ่งว่า ไม่กินทั้งเนื้อและทั้งผัก โดยไม่มีความมั่นหมายว่าเป็นเนื้อหรือเป็นผัก, ให้มันเป็นเรื่องของสัจธรรม คือว่ามีแต่ธาตุตามธรรมชาติ เป็นไปตามการปรุงแต่งของกฎอิทัปปัจจยตา จะเป็นเนื้อหรือเป็นผักก็ตามถ้าไม่ถูกต้องแก่สังขารร่างกายนี้แล้วก็ไม่กิน; ถ้ามันยังมีประโยชน์ไม่เป็นโทษแก่ร่างกายนี้แล้ว, มีความบริสุทธิ์โดยประการทั้งปวงแล้วก็กินได้ จะเป็นเนื้อ เป็นนม เป็นไข่ เป็นผัก เป็นปลา เป็นผลไม้ เป็นอะไรก็ตามใจ อย่าไปมั่นหมายโดยความเป็นเนื้อ เป็นผัก เป็นผลไม้ เป็นขนมโน่นเป็นขนมนี่ อย่าไปมั่นหมายมันจะโง่ ถ้ากินด้วยความมั่นหมายว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้แล้ว มันคือคนโง่หลงที่ยึดถือในการกิน พุทธบริษัทต้องไม่โง่, พุทธบริษัทเป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา
เป็นอันว่าเรื่องกินเนื้อกินผักสรุปความได้อย่างนี้ และตอบได้เพียงเท่านี้ อาตมาไม่สนับสนุนทั้งกินเนื้อและกินผัก, สนับสนุนการไม่กินทั้งเนื้อและผัก, กินอาหารอย่างถูกต้องตามธรรมวินัย เอ้า, มีปัญหาอื่นอะไรที่จะถามต่อไป
ปัญหาที่ 85 : ศีลธรรมแห่งการกินเนื้อกินผัก
ถาม : ทีนี้มีประเด็นปลีกย่อยเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกหน่อยครับ คือเกี่ยวกับการส่งเสริมศีลธรรมนี้ เพื่อขั้นพื้นฐานก็คือต้องทำจิตให้ปกติ อันนี้ก็มีปัญหาโดยทั่วไปนะครับ เกี่ยวกับว่าถ้าเป็นอาหารสองอย่างวางอยู่ด้วยกันเป็นผักกับเนื้อคนโดยทั่วไปแล้วเมื่อเห็นผักจิตย่อมปกติ ไม่เหมือนกับเห็นเนื้อซึ่งจิตจะอยากมากกว่า ฉะนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมศีลธรรม ก็ควรจะมีกฎหมายหรือข้อบังคับที่ออกมาเพื่อบังคับในเบื้องต้นเกี่ยวกับผักและเนื้อ ให้ประชาชนทั่วไปนี้กินผักเพื่อเป็นการส่งเสริมเบื้องต้นเกี่ยวกับจิตปกติเป็นการส่งเสริมในด้านศีลธรรมได้ดียิ่งขึ้น นี้เป็นปัญหาที่อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ ว่าควรจะเป็นอย่างไรครับ ?
ตอบ : ถ้ามันมีเหตุผลชัดเจนแน่นอนว่า เรากินผักแล้วมันจะดีแก่ศีลธรรมและเศรษฐกิจเป็นต้นของเราและของประเทศชาติก็เอาซิ, ก็มีระเบียบกฎหมายออกมาให้ส่งเสริมหรือบังคับการกินผัก พระเจ้าอโศกมหาราชก็เคยชักชวนให้เลิกกินเนื้อ และคงกินแต่ผัก แล้วก็บังคับเข้มงวดเข้าๆ จนมีการกินผัก ไม่มีการกินเนื้อก็เคยมีมาแล้วในประวัติศาสตร์ของพุทธบริษัท นั้นมันเหตุผลอย่างอื่น. ถ้ามันพิสูจน์ได้เป็นความจริงว่ากินผักดีทั้งทางจิตใจและดีทั้งในทางเศรษฐกิจ ดีทั้งร่างกายก็ได้ซิ จะเป็นอะไรไป นั้นมันเป็นเรื่องของชาวบ้าน เรื่องของพระเจ้าแผ่นดิน
แต่ภิกษุจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ขอร้องใครให้ทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ พระเทวทัตเคยไปขอร้องพระพุทธเจ้าว่า จงออกกฎบัญญัติว่า อย่าให้ภิกษุกินเนื้อสัตว์เลย; พระพุทธเจ้าท่านว่าไม่เอา "ฉันไม่ออกกฎบัญญัติอย่างนี้" นี่มันก็เห็นชัดอยู่แล้วว่าในวงของบรรพชิตนั้น จะบัญญัติอะไรบังคับกันอย่างนั้นไม่ได้เพราะสมัครจะเป็นคนขอทานหรือปรทัตตูปชีวี
แต่ถ้าเป็นเรื่องชาวบ้าน มีการปกครองกันเป็นระเบียบเห็นแก่ประเทศชาติ เห็นแก่เศรษฐกิจหรือศีลธรรมอันดีของพลเมือง จะออกกฎบังคับให้กินกันแต่ผักส่งเสริมกันให้กินแต่ผักมันก็ได้เหมือนกัน มันก็มีส่วนถูกอยู่ ที่มันพิสูจน์ได้ก็จะไม่ผิดอะไร ไม่ผิดหลักธรรมะอะไร, ถ้าทำได้ก็ดี นี่เรียกว่าเรื่องทางการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว; ถ้าเราจะชักจูงรัฐบาลให้ทำอย่างนั้นได้ มันก็ดี
แต่ว่าภิกษุไม่อาจรับรู้เรื่องนี้ ไม่ยุ่งด้วย; เหลือแต่ว่าอะไรมันตกลงมาในบาตร ก็พิจารณาโดยความเป็นอาหารที่ควรกินแล้วก็กินไม่ถือว่าเป็นการกินผักหรือกินเนื้อ มันจะเป็นผักมาก็ไม่ถือเป็นความหมายมั่นว่ามันเป็นผัก มันจะโง่ในความหมายมั่น ก็เป็นอันว่า ไม่กินทั้งเนื้อและผักต่อไปตามเดิมสำหรับในวงภิกษุ; แต่ชาวบ้านเขาจะจัดการกันอย่างไหน ก็ทำไปก็แล้วกัน, ให้เลือกแต่ผักไม่มีเนื้อมันก็ได้, แล้วเขาคงจะใส่บาตรให้ภิกษุแต่ผักไม่มีเนื้อเองเป็นธรรมดา; ปัญหาไม่เกิดแก่ฝ่ายภิกษุ
(คัดจาก ห้าสิบปีสวนโมกข์ ภาคสอง หน้า 173-183)
หนังสือพิมพ์ข่าวสด หน้า 29
คอลัมน์ ธรรมะใต้ธรรมาสน์ โดย ไต้ ตามทาง
รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ การกินเจ-มังสวิรัติ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=19&t=39721 |
|
_________________ -- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง -- |
|
|
|
|
|
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่ คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ คุณไม่สามารถลงคะแนน คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้ คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
|
|