Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ช้อบปิ้งบุญ-- ขวัญ เพียงหทัย-- อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 12 มี.ค.2005, 8:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

น้ำในเรือ



แม่ของเจี๋ยมเจี้ยมอยู่ในตู้เศร้า ออกมาไม่ได้ เพราะไม่มีลูกกุญแจ ใบหน้าของแม่เคร่งเครียด จิตใจหดหู่ เวลาเจี๋ยมเจี้ยมพูดอะไรบางทีแม่ฟังไม่ทัน ต้องพูดทีละคำ เพราะการรับรู้ของแม่ไม่ได้ทำงานเต็มที่ บอกแล้วเดี๋ยวแม่ก็ลืม แต่เรื่องที่แม่ไม่เคยลืมคือเรื่องที่พ่อทำเมื่อ 50 ปีก่อน 40 ปีก่อน 30 ปีก่อน 20 ปีก่อน เจี๋ยมเจี้ยมบอกให้แม่คิดถึงเรื่องดี ๆ บ้าง แม่กลอกตาควานมองไปในอดีต 2 หายใจแล้วตอบว่า “ไม่เห็นจะมีเรื่องอะไรดี”



เจี๋ยมเจี้ยมตกใจ รีบโทรฯ หาจิตแพทย์ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบที่ถูกใจ



วันหนึ่ง เจี๋ยมเจี้ยมลงไปลุงกองอัลบั้มเก่า ๆ เลือกเอารูปที่แม่ยิ้มสวยตอนพาไปเที่ยว รูปที่แม่ไปทำบุญงานกฐิน รูปที่แม่ไปเลี้ยงพระที่วัด รูปอะไรที่สวย ๆ รวม ๆ มาทำอัลบั้มใหม่ให้แม่



“แม่ดูรูปพวกนี้ แล้วคิดถึงวันพวกนี้ ทุกเช้าสัก 2 อาทิตย์คิดให้สบายใจ จะได้ปลอดโปร่งขึ้น พระท่านว่า การระลึกถึงบุญที่ทำและสิ่งดี ๆ ในชีวิต ทำให้เรามีชีวิตชีวา”



แล้วเจี๋ยมเจี้ยมก็ทำหนังสือสวดมนต์เฉพาะกิจให้แม่ เป็นบทสรรเสริญคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระรัตนตรัย และพาหุงที่แม่สวดอยู่เป็นประจำ ต่อด้วยบทสวดที่ลอกมาเฉพาะภาษาไทย คือมรรคมีองค์ 8 บทกรรม สัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน ฯลฯ บทพิจารณาสังขาร ตามด้วยบทแผ่เมตตาและบทอุทิศส่วนกุศล แม่สวดนานเกิน 20-30 นาทีไม่ไหว มันเหนื่อย จึงลอกเฉพาะภาษาไทย เพื่อให้แม่เข้าใจได้ว่าแม่สวดอะไร จะได้ประโยชน์จากการสวดมากขึ้น ๆ ไว้ตอนไปวัดค่อยสวดบาลี



จากนั้นก็เริ่มอ่านหนังสือหลวงพ่อให้แม่ฟังถึงเรื่องการให้อภัย และการแผ่เมตตา แม่โวยวายเล็ก ๆ



“โอ๊ย จะให้อภัยกันง่าย ๆ ได้ยังไง”



ความจริงแม่ไม่ได้เศร้าแต่โกรธ แต่ก็เศร้าที่ถูกทำให้โกรธคิดว่าการให้อภัยเป็นการขาดดุลของแม่



“ยังงี้เกิดชาติหน้าต้องมาอยู่กันอีก” เจี๋ยมเจี้ยมจี้จุด



“โอ๊ย ไม่เอา เกิดชาติไหนไม่ขอเจอ” แม่ปฏิเสธเป็นพัลวัน



“ก็แม่คิดเรื่องโกรธเขาทุกวัน เหมือนเอากุญแจมือมาผูกกันไว้คนละข้าง ต้องเจอกันแหง๋ ถ้าไม่อยากเจอ ต้องปลดกุญแจมือ””



แม่เงียบ สีหน้าไม่ค่อยดี



“แม่สวดมนต์ทุกวัน แต่ก็ยังไม่เห็นสบายใจเลย”



“ก็แม่สวดมนต์ 20 นาที แต่แม่คิดเรื่อง 50 ปีก่อน 20 นาที 40 ปีก่อน 20 นาที วัน ๆ คิดเป็นชั่วโมง บางวันคิดทั้งคืนเหมือนตักเกลือใส่แก้ววันละช้อน แต่ใส่น้ำวันละ 1 หยด มันก็เค็มแหง๋ แต่เกลือเต็มแก้ว

แม่ลองอย่างนี้มั้ยจ๊ะ ให้แม่เลือกเอาสักเรื่องหนึ่งมาคิดคิดคราวละเรื่องเดียว คิดแล้วมองว่า ก็เพราะเขานิสัยอย่างนี้ เขาจึงทำกับเราอย่างนี้ ชาติก่อนเราคงเคยทำเขามาก ชดใช้คืนเขาไปซะ อภัยให้เขาไปซะ อย่างเขาชอบเอ็ดตะโรแม่เสียงดัง เอ็ดทียาว ๆ แม่ลองนึกภาพดูสิ ชาติก่อนแม่คงเอ็ดเขาท่าทางแบบนี้เหมือนกัน”







เจี๋ยมเจี้ยมแกล้งแสดงท่าทางยกไม้ยกมือ ทำเสียงดังรัว ๆ เจี๊ยวจ๊าวเหมือนคนกำลังทะเลาะกัน แม่ของเจี๋ยมเจี้ยมดูด้วยนึกภาพตามด้วย แล้วก็หัวเราะออกมา



เจี๋ยมเจี้ยมพูดต่อ “แม่ลองค่อย ๆ ล้างออกไปทีละเรื่องเหมือนตักเกลือออกไปช้อนหนึ่ง แล้วสวดมนต์ แผ่เมตตา อุทิศส่วนกุศลให้เขา 3 อย่างนี้เหมือนน้ำช้อนหนึ่ง เอาใส่แก้วของแม่ ตักเกลือออกช้อนหนึ่ง ใส่น้ำลงแก้วช้อนหนึ่งทุกวัน อีกหน่อยแม่จะมีแต่น้ำจืดใสเต็มแก้ว แม่ลองดูนะดีมั้ย”



แม่ของเจี๋ยมเจี้ยมหน้าตาลังเล เอ จะทำได้ไหมนะ แหมให้อภัยแล้วรู้สึกเสียท่า ยังไม่ได้แก้แค้นเลย



“ทำไมน้า เขาจึงดูสุขสบาย ไม่ได้ต้องทุกข์ใจอย่างแม่เลย”



“ดีแล้วจ้ะ แม่ควรจะดีใจ ถามจริง ๆ เลย ถ้าวันนี้พ่อไม่สบาย แม่จะไม่ป้อนน้ำป้อนข้างพ่อหรือจ๊ะ”



แม่พยักหน้า ทอดถอนใจ จริง ก็คงต้องทำ



“ท่านสอนว่า ทุกข์วันนี้มีมากพอแล้ว เราไม่ควรเอาทุกข์ในอดีตมาทับถมลงไปอีก ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ สอนว่า น้ำในมหาสมุทรไม่ทำให้เรือจม แต่น้ำในเรือต่างหากที่ทำให้เรือจมได้ ดังนั้น เราต้องคอยวิดน้ำในเรือ คือวิดความทุกข์ออกไปจากใจเราเสมอ ๆ แม่อย่าปล่อยให้ความทุกข์ขังอยู่ในใจ เดี๋ยวเรือล่ม”



แม่ทำตามเจี๋ยมเจี้ยมอยู่ 2 เดือน ค่อย ๆ สะเดาะกุญแจออกมาจากตู้เศร้าอย่างได้ผล เจี๋ยมเจี้ยมดีใจ ที่แม่ยังคงทำต่อไปเรื่อย ๆ รอยยิ้มและความผ่องใส เริ่มเปล่งประกายบนใจหน้าของแม่



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 16 มี.ค.2005, 6:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ชีวิตหุ่นเชิด



มนสิริเป็นคนคิดมาก หมอดูลายเซ็นบอกว่า การคิดของมนสิรินั้น เหมือนเอาฟางเส้นเดียวมากรีดเป็น 8 เส้น มนสิริจึงได้กลับมาคิดทบทวนตัวเอง แล้วจึงตระหนักอย่างตระหนกว่าจริง



น้ำพลอยขำเพื่อน ที่ตัวเองไม่รู้จักตัวเองต้องให้หมอดูบอกแล้วว่า



"การคิดมาก คิดละเอียด ไม่ใช่เรื่องเสียหาย มันอยู่ที่ว่าคิดเรื่องอะไร แล้วคิดยังไงมากกว่า"



มนสิริทอดถอนใจ "เราชอบคิดแต่เรื่องอดีต คิดแล้วก็ยังมีอารมณ์ เหมือนตอนที่เรื่องเกิดนั้นเปี๊ยบเลย บางทีก็คิดเรื่องอนาคต แล้วก็คิดมาก กลัว กลัวโน่นกลัวนี่ บางทีก็คิดเตรียมรับเมือเลยนะ ว่าถ้าเกิดอย่างนั้นจะได้ไม่เป็นไร เราเตรียมลู่ทางไว้แล้ว"



น้ำพลอยต่อให้ว่า" แล้วก็จะพบว่า ไอ้ที่เตรียมนั้นไม่ค่อยได้ผลหรอก เรื่องมันจะไปทางอื่น เราจะไปเดาอนาคตได้ยังไง"



มนสิริเห็นด้วย เพราะขนาดงานที่ทำอยู่ประจำวัน ยังมีปัญหาใหม่ๆ แปลกๆ มาให้แก้อยู่เรื่อย ๆ เลย ไม่ค่อยตรงกับที่วางแผนไว้



น้ำพลอยกางหนังสือลงตรงหน้า อ่านให้ฟังว่า



"พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความคิดนำโลกไป ความคิดทำให้โลกดิ้นรน สิ่งทั้งปวงตกอยู่ใต้อำนาจของความคิด"



มนสิริสนใจมาก น้ำพลอยอธิบายว่า



"ความคิดนี่เหมือนคนเชิดหุ่นที่อยู่ข้างบน กำลังเชิดตัวเราที่เป็นหุ่นอยู่บนเวที มันเชิดอย่างไร เราก็ตามไปอย่างนั้นนะ ดูง่าย ๆ เลย คน 2 คนเวลากลุ้มใจ คนหนึ่งไปกินเหล้า เมาขับรถชนเสาไฟฟ้า อีกคนกลุ้มใจเข้าห้องพระสวดมนต์ยาว ๆ มันเกิดจากความคิดทั้งนั้น"



"เวลามีความคิดเกิดขึ้นมา เราก็ไหลตามไป รู้สึกตามไป" มนสิริรำพึง "บางทีคิดทั้งคืน นอนไม่หลับเลย ไม่รู้จะทำยังไง"



"นั่นเพราะเราไม่ได้ฝึกที่จะรู้ให้ทันความคิด ในบทสวดมนต์ อริยมรรคมีองค์ 8 ท่านสอนให้มีสติ จนถอนความพอใจและไม่พอใจออกเสียได้ ส่วนเธอตกเป็นทาสของความคิดมากไป เธอจึงเป็นตัวหุ่นอยู่ข้างล่าง คอยเต้นตามที่ความคิดมันเชิด"



"แล้วควรจะทำยังไงล่ะ" มนสิริเริ่มรู้สึกตัวว่าจะต้องแก้ไข น้ำพลอยทำมือเหมือนการเชิดหุ่น



"เราต้องไปเชิดความคิดอีกที ท่านสอนว่าช่างจัดดอกไม้ที่ฉลาด จะเลือกแต่ดอกไม้สวย ๆ มาจัด เราก็จะต้องคอยรู้สึกตัวว่ากำลังคิดอะไร ถ้าคิดเรื่องไม่ดีก็ทิ้งเสีย คิดแต่เรื่องดี ๆ ตั้งใจตั้งปณิธานไว้ว่า ต่อไปนี้เราจะคิดแต่เรื่องดีๆ เพื่อทำแต่เรื่องดี ๆ ส่วนเรื่องในอดีตนะ ทิ้งมันไปเลย ท่านไม่ให้อยู่กับอดีต โดยเฉพาะอดีตที่ทุกข์ใจยิ่งทิ้งไปใหญ่ มันเหมือนดอกไม้ที่เน่าแล้ว เราทำวันนี้ให้สดชื่น"



"แล้วจะฝึกยังไง" มนสิริถามด้วยความรู้สึกอยากจะเปลี่ยนแปลง









"ใหม่ ๆ เราจะไม่รู้ เราจะคิดเรื่องอดีตไปยาว ตอนนี้เราคอยสังเกตว่า เอ๊ะ เราคิดเรื่องนี้อยู่นี่ ซึ่งแน่นอน มันเป็นเรื่องที่เราเคยคิดมาแล้วเป็นร้อยหน เรารู้เลยว่าเดี๋ยวเราจะคิดยังไงต่อจะรู้สึกยังไงด้วย เหมือนอ่านนิยายเล่มเดิม คราวนี้พอเริ่มอ่านบทแรกไปหน่อย ให้เรารู้ตัวแล้ว ใหม่ ๆ อาจจะบอกตัวเองเลยว่า ไม่เอา ไม่คิดเรื่องนี้ แล้วเลิกคิด หันไปหาอย่างอื่นทำ มันจะเลิกคิด เพราะธรรมชาติของใจ มันคิดได้ทีละเรื่องเดียว เรานึกว่าคิดหลายเรื่องพร้อมกัน แต่ถ้าสังเกตให้ละเอียด มันคิดสลับกันต่างหาก"



มนสิริพยายามนึกตาม ยอมรับรู้โดยดี ไม่โต้แย้ง น้ำพลอยสาธยายต่อไป



"พอฝึกนานๆ เข้า พอเรื่องเดิมนี่มันแว้บมาแค่หัวเรื่องเท่านั้น เรารู้แล้ว เปลี่ยนไปคิดอย่างอื่นเลย หรือไม่ก็นึกพุทโธ พุทโธ ตั้งสติตั้งสมาธิไปเลย ดีกว่าไปคิดเรื่องที่จะมาทำร้ายจิตใจเราให้เศร้าหมอง พอเรื่องมันมาปุ๊บ ให้รู้ทันมัน ควบคุมมัน ไม่ใช่เก็บกดหรือปิดกั้นไว้ แต่ทิ้งไป ทิ้งไปบ่อยๆ มันจะไม่กลับมามันเศร้าตาย"



มนสิริหัวเราะ น้ำพลอยสรุปลงอย่างนุ่มนวล



"ในที่สุด เราจะเป็นคนเลือกว่าจะคิดอะไร และไม่คิดอะไร ชีวิตจะเป็นไปตามที่เราเลือกคิด อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนว่า สิ่งทั้งปวงตกอยู่ใต้อำนาจของความคิด ถ้าเราเลือกคิดได้ เราก็เลือกชีวิตได้"



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
นรัสถ์
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 17 มี.ค.2005, 4:18 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ถ้าผมต้องการซื้อหนังสือชอบปิ้งบุญจะหาซื้อได้ที่ไหนครับ



ขอบคุณครับ



นรัสถ์
 
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 17 มี.ค.2005, 5:30 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สมรรถภาพจิต



วันนี้เครื่องแอร์ในห้องอาจารย์อู้งาน มันยังคงส่งเสียงครางเบา ๆ ให้รู้ว่ายังทำงานอยู่ แต่ไม่เย็น มาลัยพรพยายามจะตรวจดูว่ามันเป็นอะไร



"ช่างมันเถอะ" อาจารย์เอ่ยเบา ๆ เอนหลังลงบนเก้าอี้นอนหยิบเครื่องวัดความดันที่วางอยู่ข้าง ๆ มาลัยพรนั่งลงข้าง ๆ ช่วยอาจารย์พันแถบวัดความดันที่แขน



"แอร์มันหมดสภาพแล้วค่ะ อาจารย์ " มาลัยพรเอ่ย



"ธรรมดา ของมันเก่าแล้ว มันก็หมดสมรรถภาพไป ไม่เหมือนจิตที่อบรมแล้ว ยิ่งนานยิ่งมีสมรรถภาพมาก"



"มีสมรรถภาพจิตด้วยหรือค่ะ อาจารย์" มาลัยพรถามอาจารย์ดูตัวเลขบนจอเครื่องวัดความดันแบบพกพา วันนี้ตัวเลขเป็น 110/70 มาลัยพรช่วยถอดและเก็บอุปกรณ์ ขณะที่อาจารย์ให้คำอธิบาย



"จิตที่ดีต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่าง คือมีคุณภาพจิตดี มีสุขภาพจิตดี แล้วก็มีสมรรถภาพจิตดี สมรรถภาพจิตดีก็คือว่า เป็นคนที่จิตใจมีความทนทาน สามารถต้านทานต่อความยั่วยวนต่าง ๆ ได้มาก ทำให้เขาโลภ โกรธ หลง ได้ยาก คือเขามีแรงต้านทานทางจิตใจได้สูง"



มาลัยพรฟังอย่างตั้งใจ "แล้วคุณภาพจิตดีล่ะคะ อาจารย์"



"คุณภาพจิตดี ก็คือเป็นคนมีคุณธรรม มีเมตตา กรุณา เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว"



"แล้วสุขภาพจิตดี คือ ใจแข็งแรง ใช่ไหมคะ"



"ใช่ สุขภาพกายดี ก็มีความสุขทางกาย พอสุขภาพทางใจดีก็มีความสุขทางใจ จิตมีความสุขได้เรื่อย ๆ แม้ในสถานการณ์ที่คนอื่นเขาไม่มีความสุข เช่น แม่ป่วย แต่ก็มีความสุขทางจิตใจ"







มาลัยพรนึกขึ้นได้จึงเล่าให้อาจารย์ฟังว่า



"คงเหมือนที่พระอาจารย์ กัลยาโณ ท่านเทศน์ ท่านเล่าว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งเขาป่วยเป็นมะเร็งอยู่โรงพยาบาล หมอบอกว่าจะอยู่ได้อีก 3 เดือน แต่เขาปฏิบัติธรรมมานาน เขายอมรับได้ว่าการตายเป็นเรื่องธรรมดา เขาไม่ทุกข์ใจ แต่พยาบาลกลับทุกข์ใจว่าทำไมเขาจึงเฉยๆ คนไข้สบายดี แต่พยาบาลไม่สบาย"



มาลัยพรหัวเราะเบาๆ นึกถึงความทุกข์ใจของนางพยบาล



"คนเรารับเรื่องราวได้ไม่เหมือนกัน เพราะว่าข้างในไม่เหมือนกัน" อาจารย์อธิบาย









มาลัยพรเล่าคำเทศน์ต่อว่า " ท่านบอกว่า ถ้าเข้าใจความจริงของโลก ว่าเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา ก็จะเห็นถึงความเป็นธรรมดา แล้วเข้าสู่ความสงบที่แท้จริง มีปัญญา ไม่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ในใจ"



อาจารย์ยิ้มให้มาลัยพร "ดีแล้วลูก ฟังแล้วรู้จักนำมาคิดมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง"



"การเข้าใจความจริงของโลกจนเห็นความเป็นธรรมดา ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนะคะอาจารย์ อย่างเราเห็นความไม่เที่ยงอยู่ทุกวันแต่เหมือนว่าเราจะไม่เข้าใจ ไม่รู้จัก"



อาจารย์เล่าว่า มีผู้ชายคนหนึ่งมาเล่าความทุกข์ให้ฟัง



"พอเขาบอกอะไรมา อาจารย์ก็บอกว่ามันเรื่องธรรมดา จนในที่สุดเขาบอกว่า ทำไมเรื่องอะไรๆ อาจารย์ก็ว่าธรรมดาไปหมด อาจารย์ก็บอกว่า มันธรรมดา"



มาลัยพรหัวเราะ "ถ้าคนเราเห็นความธรรมดาได้เมื่อไหร่คงจะมีความสุขนะคะอาจารย์"



อาจารย์พยักหน้า "ใช่ เราถึงต้องอบรมจิตให้จิตดี"



มาลัยพรกราบขอบคุณอาจารย์ "หวังว่าหนูคงจะสามารถอบรมจิตให้มีสมรรถภาพดีได้นะคะอาจารย์ หนูไม่อยากเป็นเหมือนแอร์เก่า ๆ ่ค่ะ"



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 20 มี.ค.2005, 5:55 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ยำความคิด



ดีชัด เป็นคนชอบทำอาหารมาก เขาเข้าครัวช่วยแม่ตำน้ำพริกตั้งแต่ 5 ขวบ แล้วถือคติตามสุนทรภู่สอนว่า รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล จึงยังคงทำอาหารมาเรื่อยจนเป็นหนุ่มใหญ่ ตอนนี้เปิดลานหน้าบ้านอันร่มรื่นสอนทำอาหาร เรียนกันครั้งละประมาณ 10 คน จึงทำให้ยามบ่ายครึกครื้นกันพอสมควร เหมือนมีงานปาร์ตี้



เวลาดีชัดสอนทำอาหาร จะสอนธรรมะไปด้วยเป็นของแถม วันนี้เมื่อจบรายการที่จะต้องสอนแล้ว เขาก็ทำเมนูง่าย ๆ เป็นการแถม อาหารจานสุดท้ายเป็นยำผักไข่ดาว ดีชัดยกผักกาดขาวที่ล้างสะอาดแล้วขึ้นชู



“ผักกาดขาวนี่เหมือนใจเรา สะอาดสดชื่น และจืดดดดด เวลามีความสุขมันเชิดเหมือนใบนี้เลย ตอนนี้เราก็หั่นมันใส่ในหม้อเตรียมเคล้า”



ดีชัดหันไปเตรียมเครื่องยำ มีกระเทียมสับละเอียด น้ำปลา มะนาว พริกขี้หนูซอย และน้ำตาลทราย แล้วผสมกันลงในชามเล็ก



“เวลายำแม้จะรู้สึกไม่มีรสหวานเลย แต่จริง ๆ ก็มีน้ำตาลนิดหนึ่งนะ ใส่นิ๊ดเดียว”



“พวกเครื่องปรุงนี่คืออะไรคะ อาจารย์” อัญชลีถามอย่างรู้ทันว่าอาจารย์เริ่มสอนธรรมะอีกแล้ว



“เครื่องปรุงคือการปรุงแต่งของเรา คือความคิดของเรานั่นเอง เวลาเราเจออะไร แล้วเราก็มักจะปรุงแต่งต่อ คิดต่อไปเยอะแยะ แล้วก็เกิดอารมณ์ไปตามความคิด”



“คือฟุ้งซ่านครับอาจารย์” เมธีพูดขำ ๆ พลางมองไปที่อัญชลี



“คนเรามีพื้นเดิมวนเวียนอยู่กับโลกธรรม 8 คือ มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ ความคิดของเรามันก็จะเป็นไปตามโลกธรรม 8 นี่แหละ พอคิดแล้ว ก็จะทำให้เราเกิดเวทนา คือสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ ขึ้นในใจ”











ดีชัด ราดน้ำยำครึ่งหนึ่งลงในหม้อ แล้วเคล้าผักไปเรื่อย ๆ เมื่อผักโดนเครื่องยำ มันก็ค่อย ๆ ยุบตัวลง



“ตอนนี้ผักที่แสนซื้อของเราเป็นยังไง “ ดีชัดถาม มือยังคนทัพพีเคล้าผักต่อไป



“สลบไปแล้วค่ะอาจารย์ “ อัญชลีหัวเราะ



“โดนยำซะเละ” เมธีต่อ



ดีชัดเติมน้ำยำลงไป เคล้าต่อไปอีกครู่หนึ่ง ก็เทใส่จาน



“ไข่ดาวนี่ทอดให้ไข่ขาวกรอบ ๆ ถึงจะอร่อย ไข่แดงให้สุกทั่วเลย หั่นโรยหน้าแบบนี้”



ดีชัดวางไข่ดาวที่หั่นแล้วเป็นชิ้นเล็ก ๆ บนผัก แต้มน้ำยำเล็กน้อยบนไข่ดาว



“ความคิดคือเครื่องปรุง เวลาเราไปกินก๋วยเตี๋ยวที่ร้าน เขาจะยกพวงเครื่องปรุงมาตั้งให้ เราก็จะหยอดพริกน้ำส้มนิด พริกป่นหน่อย น้ำตาลบ้าง ถั่วป่นบ้าง กินก๋วยเตี๋ยวเปล่า ๆ ไม่ได้ ต้องปรุง ตัวเราก็เหมือนกัน เวลาไปไหนๆ เหมือนเดินหิ้วพวงเครื่องปรุงไปด้วย พอความคิดแวบเข้ามาหน่อย ก็ปรุงทันที เหยาะพริกน้ำส้มบ้าง พริกป่นบ้าง ปรุงแล้วหัวใจก็กินเข้าไป แซบอีหลีเด๊อ เราคิดว่าสนุก แต่ความจริงไม่ใช่













บางคนรู้ว่าคิดแล้วกลุ้ม ก็ยังคิด เหมือนคนที่กินของเผ็ดน้ำหูน้ำตาไหล แต่ก็ยังกิน ความคิดที่ถูกเราปรุงแล้วก็เหมือนก๋วยเตี๋ยวที่ถูกปรุง เครื่องปรุงคือกิเลสทั้งหลาย โลภ โกรธ หลง นั่นเอง



พระพุทธเจ้าสอนให้เราพยายามฝึกที่จะรู้ทัน ไม่เต้นตามความคิด แต่ไม่ใช่ห้ามคิดนะ เพราะมันห้ามไม่ได้หรอก มันเป็นธรรมชาติของคนเราที่จะต้องคิด แต่ให้เรารู้ทันความคิด และต้องเลือกคิดให้เป็น คิดให้ถูก ภาษาพระท่านเรียกว่ามีโยนิโสมนสิการ เราต้องระวังความคิดให้ดี เลือกคิดแต่สิ่งดี ๆ จะทำให้จิตใจเราผ่องใส และมีชีวิตที่ดีงาม”



ตอนนี้ได้เวลาที่ทุกคนจะนำอาหารที่ปรุงในวันนี้ทั้งหมดมานั่งกินด้วยกันก่อนกลับบ้าน ดีชัดเอ่ยว่า



“ผักที่ถูกยำแล้วมันอร่อยนะ แต่ถ้าเราปล่อยให้ความคิดมายำเราอย่างนี้ละก็…….”



“สลบเหมือดเหมือนผักเลยค่ะ อาจารย์” อัญชลีพูดต่อก่อนตักไข่ดาวเข้าปาก



“ถ้าไม่อยากถูกมันยำก็ยำมันซะก่อนซี” เมธีว่า อัญชลีค้อน



“ทำยังไงล่ะยะ”



“ก็พอมันคิดอะไรฟุ้งซ่านไปมาก ก็หัดหยุดคิดซะมั่ง ชกมันให้สบบเหมือดไปเลย “ ดีชัดตอนแทนเมธี



“แค่รู้สึกตัวว่า กำลังฟุ้งซ่านแล้ว มันก็จะได้สติ เราก็จะหยุดฟุ้งซ่านได้ แล้วก็เปลี่ยนอารมณ์ หันไปทำอย่างอื่นที่มันมีประโยชน์ เราก็ออกจากความฟุ้งซ่านเรื่องนั้นได้”



เมธียักคิ้วให้อัญชลีอย่างยั่วเย้า ดีชัดพูดต่อไป





“มีคำกล่าวว่า “ชีวิตคุณคือสิ่งที่คุณคิด” เราคิดดี ชีวิตก็จะดี ถ้าคิดชั่ว ก็จะนำไปสู่สิ่งที่เลวร้าย เรื่อง ๆ เดียวกัน คิดให้สุขก็ได้ คิดให้ทุกข์ก็ได้ ท่านสอนว่า คนมีปัญญา จะสามารถพบความสุขได้ ในสถานการณ์ที่คนอื่นเป็นทุกข์ ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่าความคิดที่ปรุงแต่งแล้วนี่เองที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในชีวิตของเราเลย เราจะเป็นไปตามที่มันปรุง เพราะฉะนั้นเราจะต้องระวังตัวให้ดี ๆ อย่าให้มันพาไปในทางที่ทำให้เราทุกข์ใจ”



“ไว้อาจารย์ลองคิดเมนู “ยำความคิด” มาทำทานกันนะคะ เผื่อเวลากลุ้มใจจะได้ทำกิน เป็นเครื่องเตือนใจ” อัญชลีบอกอาจารย์ดีชัดพยักหน้ายิ้ม ๆ เสียงเมธีเอ่ยขึ้นมาลอย ๆ



“อ๋อ ก็ยำอัญชลีไง คงจะอร่อย”









 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 21 มี.ค.2005, 5:40 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ผู้ให้



เจิมใจสมัครเข้าฝึกอบรมกรรมฐานที่สถานปฏิบัติธรรมของเอกชนแห่งหนึ่ง กิจกรรมที่ปฏิบัติก็คือตื่นนอนตอนเช้าตั้งแต่ตี 4 เข้าห้องอบรมกรรมฐาน มีการออกกำลังกาย 20 นาที หลังจากนั้นเป็นการนั่งสมาธิสลับกับการเดินจงกรม พักทานอาหารเช้าแล้วมานั่งสมาธิสลับเดินจงกรม พักทานอาหารเที่ยง แล้วก็มานั่งสมาธิสลับกับเดินจงกรมอีกจนเย็น รับน้ำปานะแล้ว ก็ไปอาบน้ำพักผ่อนตามอัธยาศัย หัวค่ำเป็นการสนทนาธรรมและถามตอบปัญหาในการปฏิบัติไปจนสองทุ่ม ก็นั่งสมาธิอีกชั่วโมงหนึ่ง ก่อนจะไปเข้านอน



ในการรับประทานอาหาร จะเป็นโต๊ะตั้งอาหารแบบบุฟเฟ่ต์โดยมีเพื่อน ๆ เจ้าของสถานที่กับญาติมิตร ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันนำอาหารมาจนครบทั้ง 7 วัน



วันหนึ่ง เจิมใจออกมาตักอาหารเป็นคนสุดท้าย ขณะที่เพื่อน ๆ เข้าไปนั่งรอที่โต๊ะอาหารหมดแล้ว เธอรีบตักเพื่อจะกลับเข้านั่งประจำที่



ที่หัวโต๊ะด้านนอก สุภาพสตรีคนหนึ่ง แต่งตัวดี กำลังคุยกับเด็กสาวที่ยืนอยู่ข้างถังไอศกรีม เจิมใจได้ยินเสียงแผ่วเบาที่เต็มไปด้วยความกังวลของสุภาพสตรีท่านนั้น



"เราจะตักไปเสิร์ฟให้ทุกคนเลยดีมั้ย จะได้ไม่ต้องลุกมาตักเอง"



เด็กสาวถามเบา ๆ เช่นกัน "จะตักตอนนี้เลยไหมคะ"



"นั่นสิ จะตักตอนนี้ดี หรือจะให้ทานข้าวก่อน แล้วค่อยตักไปดีล่ะ ตักตอนนี้เลยก็แล้วกันนะ ทานข้าวอิ่มไม่พร้อมกัน"



เด็กสาวช่วยด้วยการทยอยส่งถ้วยให้ สุภาพสตรีท่านนั้นตักไอศกรีมลงในถ้วยซึ่งมีเยลลี่รองอยู่ที่ก้นถ้วยนั้นเรียบร้อยแล้ว ไอศกรีมสีขาวลูกกลม ๆ วางเด่นอยู่บนเยลลี่สีแดง ดูสวยงามน่ากิน



เจิมใจกลับมานั่งที่โต๊ะอาหาร ทุกคนสำรวมกายวาจาอยู่เงียบ ๆ รอคอยการกล่าวนำอนุโมทนาของอาจารย์





เจิมใจรู้สึกถึงความกังวลของสุภาพสตรีท่านนั้น ความเมตตาที่อยากให้สิ่งที่ดีแก่ผู้อื่น อยากจะจัดเตรียมให้เหมาะสมในทุก ๆ ประการ ความกระตือรือร้นในใจอันจะดูแลกิจของตนให้เป็นไปโดยเรียบร้อยสมบูรณ์ เจิมใจเริ่มรู้สึก "ตระหนัก" ขึ้นมาถึงความเป็น "ผู้ให้"



เจิมใจเคยตักบาตรพระหน้าบ้านตอนเช้า เคยไปเลี้ยงพระถวายเพลที่วัด เคยดูแลให้การเตรียมการเป็นไปโดยลุล่วงสมบูรณ์ดีที่สุดเช่นเดียวกัน ในขณะนั้น ๆ ก็รู้สึกว่าจะต้องทำอย่างไรหนอถึงจะคล่องตัวพร้อมที่สุดไม่ติดขัด และได้ถวายอาหารไปโดยราบรื่นที่สุด แต่ไม่ได้ตระหนักซึ้งถึงความเป็นผู้ให้ได้เท่าที่เจิมใจกำลังเป็น "ผู้รับ" และมองกลับไปยัง "ผู้ให้" ในขณะนี้เลย



เจิมใจหิวข้าวจะตายอยู่แล้ว นี่ถ้าไม่มีผู้เมตตานำอาหารมาให้อย่างนี้ เจิมใจคงจะได้ตาย



เมตตาธรรมค้ำจุนโลก เป็นดังนี้เอง ได้ยินได้ฟังมาตั้งนานเพิ่งจะตระหนัก ความเป็นผู้ให้นั้นไม่เพียงอาหารนี้เท่านั้น แม้การให้เสื้อผ้าแก่คนยากจน การให้ทุนเด็กชนบทในการเรียนหนังสือการร่วมกันช่วยเหลือในยามเกิดภัยธรรมชาติ ล้วนหลั่งไหลมาจากเมตตาธรรม แม้พ่อแม่ที่อบรมเลี้ยงดูบุตรด้วยความรักใคร่แม้แต่เพื่อนผู้หวังดีต่อกัน หรือผู้ที่ปลอบใจ ให้คำแนะนำต่อกันเมื่อมีผู้ทุกข์ใจ ก็รินหลั่งมาจากความเมตตาในใจของ "ผู้ให้" ทั้งสิ้นถ้าไม่มีผู้ให้ โลกนี้จะเป็นอย่างไร



"นี่เขาเอาข้าวมาให้เรากินนะ"



เจิมใจรู้สึกตื้นตันใจขึ้นมาจนน้ำตาซึม เธอมองไปยังเพื่อนผู้นั่งอยู่รอบโต๊ะ ทุกคนกำลังรอคอย เจิมใจคิดขำ ๆ ว่าเวลาพระสงฆ์นั่งล้อมวงคอยเจ้าภาพประเคนอาหาร จะรู้สึกเหมือนเจิมใจขณะนี้หรือเปล่านะ



สุภาพสตรีท่านนั้นเสิร์ฟไอศกรีมเสร็จแล้ว อาจารย์กล่าวนำอนุโมทนาแก่เจ้าภาพผู้เลี้ยงอาหารในมื้อนั้น



เจิมใจตั้งจิตให้เป็นกุศลแน่วแน่ ในขณะกล่าวคำอนุโมทนาเพื่อยังบุญกุศลให้เกิดแก่เจ้าภาพมาก ๆ รู้สึกขอบคุณผู้ให้และรู้สึกสำนึกตนในฐานะผู้รับเป็นอย่างมาก เธอเริ่มลงมือทานข้าว และพยายามมีสติตระหนักรู้คำข้าว การเคี้ยวข้าว การกลืนอย่างน้อยการมีสติตลอดเวลารับประทานอาหาร ก็เป็นการปฏิบัติธรรมอันเป็นการตอบแทนคุณผู้ให้ได้อย่างหนึ่ง



นี่ขนาดเธอเป็นผู้รับเพียง 7 วัน ยังสำนึกในบุญคุณคำข้าวของเจ้าภาพได้เพียงนี้ พระสงฆ์ผู้บิณฑบาตรทุกวัน จักตระหนักถึงบุญคุณของคำข้าวได้เพียงใด อย่างนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่า ภิกษุต้องเร่งเพียรปฏิบัติ และเมื่อบรรลุธรรมเมื่อใดจึงจะไม่เป็นหนี้แก่ผู้ถวายภัตตาหารนั้น แต่กลับเป็นเนื้อนาบุญของผู้ถวาย



เจิมใจชอบไอศกรีมแต่ไม่ชอบเยลลี่ เพราะรู้สึกว่าเยลลี่มีรสอมเปรี้ยว เธอพยายามกินไอศกรีมพร้อมแซมเยลลี่เพื่อลดความเปรี้ยวของมันลง และแม้จะกินเยลลี่ไปได้เพียงครึ่งเดียว แต่เธอก็พยายามกินไอศกรีมให้หมด เพื่อให้สุภาพสตรีท่านนั้นได้บุญมาก ๆ



เจิมใจรู้สึกขอบคุณสุภาพสตรีท่านนั้น ที่ทำให้เธอได้ตระหนัก ขึ้นมาในความเป็น "ผู้ให้" ซึ่งเป็นสิ่งที่เหมือนจะ "เห็นอยู่" และ "รู้อยู่แล้ว" แต่บางทีก็มองข้ามไปเป็นเหมือนเรื่องธรรมดา ๆ ที่ไม่ค่อยมีความหมายอะไร เจิมใจคิดว่าถ้าเราตระหนักได้ในความสำคัญของการเป็นผู้ให้ ก็จะส่งเสริมให้เรามีศรัทธาใน "การให้" ได้มากขึ้น เป็นกำลังใจในการปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดียิ่งทางหนึ่งเหมือนกัน



เจิมใจรู้สึกเบิกบานใจ และมีความสุข



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 21 มี.ค.2005, 6:15 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คนมีธรรม



ไศลเจตน์ เป็นคนเก่งและฉลาด ทั้งยังมีความมุ่งมั่นในการทำงานสมชื่อ ไศลเจตน์ ซึ่งหมายถึงมีความมั่นคงในเจตนาของตนดังแผ่นหิน หน้าที่การงานเจริญ ได้เป็นผู้จัดการภัตตาคารใหญ่แห่งหนึ่งตั้งแต่ยังหนุ่ม



ต่อมาเพื่อน ๆ ได้รวมทุนทรัพย์ก้อนใหญ่ ให้ไศลเจตน์จัดการดำเนินงานภัตตาคารแห่งใหม่ เขาลาออกจากที่เดิม มุ่งมั่นกับงานใหม่ ตั้งแต่เรื่องสถานที่ การตกแต่ง การจ้างงาน การสั่งซื้อวัตถุดิบ ฯลฯ เขาทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จนเปิดภัตตาคารแห่งใหม่ได้ในที่สุด เขาหวังว่าเขาจะได้เป็นหุ้นส่วนตามที่เพื่อนได้สัญญาไว้ แต่เขายังคงเป็นเพียงผู้จัดการเมื่อภัตตาคารเปิด กิจการเต็มไปด้วยความก้าวหน้า ลูกค้าเข้าเต็มร้านสม่ำเสมอ นับเป็นร้านที่มีชื่อเสียง เรียกลูกค้าได้มากที่สุดในย่านนั้น



เมื่อทุกอย่างมั่นคงและลงตัว วันหนึ่งก็มีการประชุมคณะกรรมการบริษัท และเสียงส่วนใหญ่ลงมติให้เขาออกจากบริษัท จะมีผู้จัดการคนใหม่มาแทนในเงินเดือนที่ถูกกว่า และไม่มีสัญญาว่าจะได้เป็นหุ้นส่วนในอนาคต



ไศลเจตน์แทนไม่เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขา ความเป็นเพื่อนไม่มีความหมายเมื่อเทียบกับความโลภในทรัพย์ อะไรก็เกิดขึ้นได้







ไพรินกำลังกราบพระพุทธรูป ขณะที่ไศลเจตน์ทรุดตัวลงนั่งข้าง ๆ เขาเล่าเรื่องให้เธอฟัง และถามเธอว่า



"ผมเป็นคนดีตลอดมาไม่ใช่หรือ ทำไมผมได้รับการตอบแทนแบบนี้"



ไพลินกุมมือเขาแผ่วเบาอย่างปลอบโยน



"นี่ไม่ใช่ผลตอบแทนสำหรับความดีของคุณ แต่เป็นวิบากกคือผลกรรมที่คุณกับเพื่อนมีต่อกัน คุณอาจจะเคยมีกรรมสัมพันธ์กับคนกลุ่มนี้มาแต่อดีต บางทีนี่อาจจะเป็นการชดใช้คืน ความดีของคุณอาจจะเหมือนกับมะม่วงที่หน้าบ้านเรา ที่ยังไม่ถึงเวลาออกผล มันคนละเรื่องกันค่ะ คนเราแวดล้อมด้วยกรรมดีและกรรมชั่วหลายเรื่อง แต่ละเรื่องทำหน้าที่ให้ผลของมันตามวาระอันควร"



ไศลเจตน์ถอนหายใจ เขารู้สึกหดหู่ ไพลินปลอบใจสามี



"ไม่เป็นไรหรอกค่ะ เราเริ่มต้นใหม่ได้ ถึงเราจะไม่มีเงินมากนัก แต่สมองเรามี แต่สิ่งที่เราจะต้องมีให้มากคือกำลังใจ เรื่องเพื่อน ๆ อโหสิกรรมให้เขาไปเถอะค่ะ ถือว่าใช้หนี้กันหมดไป อย่าเอามาคิดอีก พระพุทธเจ้าให้อยู่กับปัจจุบัน อดีตให้มันจบไป คิดไปก็มีแต่จะกลุ้มใจ ไม่เป็นประโยชน์ เสียสุขภาพทั้งกายใจ ไม่มีความสุข"



"ทำไมมันจะง่ายอย่างนั้นล่ะ ไพลิน"



"ชีวิตจะง่ายหรือยาก มันอยู่ที่เราจะเลือกนะคะ ลินเลือกให้มันจบดีกว่า เดินจากพวกเขามาเถอะค่ะ ทิ้งเขาไว้กับความชั่วที่เขาทำตรงนั้น เราควรจะคิดว่าดีแล้ว ที่ได้รู้ว่าเขาชั่ว จะได้ไม่ต้องมีชีวิตเกลือกกลั้วกับคนชั่ว และโชคดีแล้วที่เราไม่เป็นคนชั่วแบบเขา พระพุทธเจ้าท่านสอนให้คนแต่กัลยาณมิตร คบคนดี"



ไศลเจตน์มองภรรยา เห็นเธอสงบเย็น ดูจริงจังกับสิ่งที่พูดออกมา เขามองดูตัวเอง เห็นความกังวล เคียดแค้น ผิดหวัง อัดอั้นตันใจ จริงอย่างที่เธอบอก เขาไม่มีความสุขเลย



"นี่เป็นเรื่องธรรมดาของโลกค่ะ" ไพลินเอ่ยด้วยน้ำเสียงเย็น เธอไม่อยากให้สามีจมอยู่กับความคิดหมกมุ่น จึงชวนคุย



"พระพุทธเจ้าสอนเรื่องโลกธรรม 8 การมีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ 8 อย่างนี้วนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราตลอดเวลา เราต้องเรียนรู้ความธรรมดาของ 8 อย่างนี้ เราจะได้รู้ทันเมื่อมันเกิดขึ้น ถ้าเรามองให้เห็นว่ามันเป็นธรรมดาของโลกนี้ได้ เราจะไม่หวั่นไหวมากไป จนควบคุมชีวิตของเราไม่ได้"



ไศลเจตน์รู้สึกไม่อยากพูดอะไร เขารู้สึกเหนื่อย แต่เขาก็รู้สึกอยากฟังเสียงพูดของไพลิน ที่แผ่วเบาสงบเย็น เขาสัมผัสได้ถึงความเย็นนั้น



"โลกของเรานี้ ทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ และอนัตตาไม่ใช่ตัวตน บังคับไม่ได้ หลวงพ่อชา ท่านสอนเสมอว่า ไม่ว่าเราจะเจออะไร ให้พูดว่ามันไม่แน่ คือไม่เที่ยงอยู่เสมอ ทุกข์มาก็บอกไม่แน่ เดี๋ยวมันก็ต้องไป สุขมาก็ไม่แน่เหมือนกัน เดี๋ยวมันก็ต้องจากไปเหมือนกัน เราวางใจว่าจะมีอะไรแน่นอน จีรัง ยั่งยืนไม่ได้เลย สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือความไม่แน่นอนนั่นเอง"



ไพลินเอื้อมมือไปนวดไหล่และต้นคอให้สามี เขาหลับตาลง รู้สึกผ่อนคลายขึ้น



"คุณเป็นคนดีมาตลอดค่ะ คุณแน่ใจได้" ไพลินเอ่ยขึ้น ไศลเจตน์ยิ้มเล็กน้อย



"แต่ท่านสอนว่า ให้เราทำความดีเพื่อความดี ทำความดีเพราะมันเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่ทำความดีหวังผล ท่านหลวงพ่อพุทธทาสสอนว่า "อย่าหวังอะไร ให้มันได้มาเอง" คำนี้ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า คนที่จะไม่หวังอะไรนั้นจะต้องมีธรรมข้อหนึ่งคือ อัตตจาคะ แปลว่าสละตน คือมอบตนให้กับธรรม คือถ้าเราเชื่อว่าธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เราก็มอบตนให้ธรรมไปเลย แล้วแต่ธรรมจะจัดให้เองทั้งความสุขความทุกข์ อย่างนี้แล้วความกลัวต่ออนาคตของคนเราก็จะน้อยลงไป พระพุทธเจ้าท่านทรงยืนยันว่า ธรรมที่ประพฤติพีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้"



ไศลเจตน์ยิ้มทั้งน้ำตา เขาเริ่มเย้าไพลิน



"ยกพระมาทั้งคณะเลยนะวันนี้"



ไพลินหัวเราะเบาๆ



"อ้าว ไม่อย่างนั้น คุณจะเชื่อลินหรือคะ คนเก่งคนฉลาดอย่างคุณนะสอนยาก"



"อ้าวทำไมมาว่าผมล่ะ" เขาแย้ง



"คนฉลาดชอบคิดว่าตัวเองรู้อะไรทั่วไปหมดทุกเรื่อง บางทีเลยไม่ค่อยยอมฟังคนอื่น เลยต้องยกคำอาจารย์หลาย ๆ ท่านมาช่วยลินด้วย"



ไศลเจตน์หัวเราะ ส่ายหัว



"ผมฉลาด แต่สอนง่ายนะ ดูสิ ผมนั่งฟังคุณตั้งนานไม่เถียงสักคำ ไม่เห็นหรือ ผมฉลาดพอที่จะรู้ว่าผมควรจะเชื่อในสิ่งที่คุณพูด จริงมั้ย"



ไพลินพยักหน้า ยิ้มละไม ดีใจในคำของสามี เธอระลึกถึงถ้อยคำแห่งธรรมะที่ว่า ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม เหมือนร่มคันใหญ่ในฤดูฝน







 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
supranee
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 25 มี.ค.2005, 3:59 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อนุโมทนาในความเพียรที่พิมพ์มาให้อ่านค่ะ ดิฉันได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้บ่อย เพิ่งมีโอกาสอ่านทั้งเล่มในกระทู้นี้ค่ะ



ขออนุญาตนำไปโพสต์ให้ชาวลานธรรมเสวนาได้อ่านกันนะคะ จะได้กระจายบุญให้ทั่วถึงกัน



ขอให้ผลบุญนี้จงเสริมส่งให้ผู้เขียน ผู้พิมพ์ได้บรรลุธรรมตามที่ปรารถนาด้วยเทอญ
 
เว็บมาสเตอร์
บัวบานเต็มที่
บัวบานเต็มที่


เข้าร่วม: 19 มี.ค. 2005
ตอบ: 993

ตอบตอบเมื่อ: 28 มี.ค.2005, 7:05 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน





เข้ามาดูความคืบหน้าทุกวันครับคุณเจียง

เดี๋ยวว่างจะนำเนื้อหาไปเรียบเรียงเป็นฉบับเว็บไซต์



อนุโมทนาสาธุด้วยครับ







 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 30 มี.ค.2005, 8:42 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ขออภัยด้วยครับที่หายไปหลายวัน

ผมไปปฏิบัติธรรมที่วัดเทิงเสาหินมา

รอหน่อยนะครับเดี๋ยวตอนเย็น ๆ จะ

มีตอนต่อไปให้อ่าน
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 30 มี.ค.2005, 5:12 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ธรรมะประจำชีวิต



มาริสา เพิ่งกลับมาจากปฏิบัติธรรม 7 วัน ข้าวเม่ายิ้มทักตาโต



"ผ่องมาเชียว ปฏิบัติธรรม"



มาริสายิ้มแฉ่ง พยักหน้ารับ "วันหลังไปด้วยกันมั้ยล่ะ" ข้าวเม่าส่ายหน้า ยิ้มแหยๆ



"ไม่ไหว ทำไม่ด้ายยย จะให้ไปนั่งสมาธิเป็นชั่วโมง ๆ นั่งไม่ได้ เป็นไปไม่ได้ อิมพอสสิเบิ้ล"



"งั้นก็ไม่ต้องไป ปฏิบัติธรรมเอาเองก็ได้"



ข้าวเม่าตาโตอีกหน "นั่งสมาธิที่นี่เหรอ โดนไล่ออกจากงานเดะ แนะนำดีนะ"



มาริสาหัวเราะขัน "ไม่ใช่อย่างงั้น ก็การปฏิบัติธรรมไม่ใช่ต้องไปนั่งสมาธิที่วัดอย่างเดียวนี่ เข้าใจผิด ความจริงธรรมะอยู่กับเราตลอดทั้งวันทั้งคืน ตั้งแต่เช้ายันเข้านอน เราปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลาเลย เพียงแต่เรารู้จักธรรมะเท่านั้นแหละ"



ข้าวเม่าเริ่มสนใจ ความจริงก็มีความใฝ่ดีอยู่ในตัวเหมือนกันแหละ เพียงแต่ขี้เกียจ ไม่ชอบนั่งสมาธิ เพราะความที่นิสัยเป็นลิงเป็นค่าง นั่งเฉย ๆ ไม่ค่อยได้ ข้าวเม่าถาม "ทำไงมั่งล่ะ" มาริสาจึงเริ่มสาธยายธรรม



"พระพุทธเจ้าสอนให้เราปฏิบัติธรรม เพื่อความพ้นทุกข์ทางใจ ทุกข์กายท่านไม่พูดถึง เพราะมันต้องทุกข์เป็นธรรมดาอยู่แล้ว การพ้นทุกข์ใจได้ ขั้นต้นก็ต้องมีชีวิตที่สงบก่อน อันว่าชีวิตจะสงบสุขได้ การมีศีลเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเรารักษาศีล 5 ได้ ชีวิตจะสงบสุข ไม่เดือดร้อน ถ้าศีล 5 ดี เราจะสบายใจเหมือนว่าตัวเราสะอาดปลอดโปร่ง ไม่มีกังวลว่าเคยไปทำอะไรผิดมา ไม่มีเรื่องเศร้าหมองใจ เราก็ทำสมาธิได้"



พอได้ยินคำว่าสมาธิ ยิ้มของข้าวเม่าเริ่มหุบ







"ทำสมาธิ เราทำเพื่อให้ใจสงบ ทำง่าย ๆ สบาย ๆ นะ เอาใจจดจ่อดูลมหายใจอยู่ที่ปลายจมูก ดูลมหายใจเข้า ดูลมหายใจออกที่ผ่านปลายจมูก ไม่ต้องบริกรรมคำอะไรก็ได้ ถ้ามีความคิดแวบเข้ามา เราก็รู้ตัวว่า มีความคิดเข้ามา ความคิดก็จะหายไป เรากลับไปดูลมหายใจใหม่ แค่นี้เอง ทำแบบสบาย ๆ ไม่ต้องเครียดทำแบบเล่น ๆ

     พอมีสมาธิได้พอสงบใจแล้ว เราก็ทำวิปัสสนา คือการตามรู้สึกตัว ให้รู้ทันสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา รู้บ่อย ๆ รู้ตามความจริงที่เกิดขึ้นในใจเรา เช่น ชอบก็รู้ว่าชอบ โกรธก็รู้ว่าโกรธ ตามรู้ตามดูสิ่งที่ใจของเรา "รู้สึก" ขึ้นมานั้นอยู่เรื่อย ๆ ตลอดวัน บางทีก็เผลอไปบ้าง ไม่ได้ดูว่าใจเรารู้สึกอย่างไร ก็ไม่เป็นไร รู้ว่าเผลอไปแล้วก็แล้วกัน ก็มารู้มาดูเอาใหม่ ใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ฝึกรู้ไป"



ข้าวเม่าแกล้งหาว เมื่อมาริสาพูดยาว แต่ก็ยิ้มให้ ยังสนใจฟัง





"ธรรมะข้อต่อไปก็คือ ในชีวิตประจำวันของเรานี่ จะมีโลกธรรม 8 คือ การมีลาภ เสื่อลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ สังเกตมั้ยว่า เรามี 8 อย่างนี้ มาวนเวียนอยู่ทุกวันในชีวิตเราตั้งแต่เข้าจนเย็น ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง"



"วันนี้มาหลายอย่าง เมื่อกี้โดนยายเม้านินทา แล้วยังบัตรเครดิตแม่เหล็กเสีย กดเงินไม่ได้ เป็นทุกข์ " ข้าวเม่าเล่าพลางหัวเราะ "แต่ก็ยังดีมีความสุขด้วย นี่เห็นมั้ย "



ข้าวเม่าหันไปหยิบถุงข้างตัว เอาเสื้อตัวใหม่ที่เพิ่งซื้อออกมาโชว์ "ถูกใจจัง"



มาริสาพยักหน้า



"นั่นไง มันมี 8 อย่างนี้ มาหาเราอยู่เรื่อย ๆ เราต้องรู้ว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาของโลก ต้องมองให้เห็นความเป็นธรรมดาของมันให้ได้ แล้วเราจะอยู่เหนือมัน ไม่ต้องวุ่นวายใจไปกับมัน การเห็นความธรรมดาของมันนี่แหละคือการปฏิบัติธรรม"



"แล้วจะเห็นมันธรรมดาได้ไง" ข้าวเม่าซักไซ้ไล่เลียง



"คือทุกอย่างมันเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง นี่เป็นสัจธรรม เมื่อเรารู้ทฤษฎีของโลกแล้วว่าคือความไม่เที่ยง เราก็จะเห็นความเป็นธรรมดาได้เอง เช่นเรายอมรับว่ามีลาภไม่เที่ยง มีแล้วอาจจะหมดลาภไปเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้น พอลาภมันหมดไป เรารู้ก่อนแล้วนี่ก็เลย เออ ธรรมดา มีแล้วมันต้องหมด เพราะมันไม่เที่ยง รู้ก่อนแล้วว่าไม่เที่ยง ไม่เสียใจ อย่างนี้ไง"



ข้าวเม่าหัวเราะ "ลาบหมด เอาส้มตำแทนก็ได้"



มาริสาหัวเราะ "แต่ส้มตำก็ไม่เที่ยงเหมือนกันนะ"



"ช่าย ส้มตำก็อร่อย มีมาละก้อ......หมดแน่ อันนี้เที่ยง "ข้าวเม่าหัวเราะอีก



"พอเราเห็นความไม่เที่ยงในทุก ๆ อย่าง เราก็เห็นความเป็นธรรมดาได้บ่อยขึ้น ใจของเราก็จะเริ่มคลายจากความยึดมั่นถือมั่น เพราะเราเริ่มได้เรียนรู้แล้วว่า ยึดไปมันก็ไม่ยอมเที่ยงให้เรา บ่อยเข้าใจมันจะเบื่อ มันเมื่อยขี้เกียจยึด มันก็จะเริ่มปล่อยวาง ความทุกข์ใจเราก็จะไม่มี เราก็จะอยู่ในชีวิตประจำวันของเรานี้อย่างมีทุกข์ใจน้อยลงเรื่อย ๆ "



ข้าวเม่า เริ่มเห็นแสงสว่างทางธรรมขึ้นมารำไร



"หมายความว่า เราคิดเรื่องไม่เที่ยงนี่ไปกับทุก ๆ เรื่องในชีวิตประจำวันของเรา ที่มีโลกธรรม 8 เข้ามาพัวพันนัวเนีย จนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แล้วก็จะปล่อยวาง ไม่ไปเดือดร้อนกับอะไรอย่างนี้ถูกมั้ย " ข้าวเม่าสรุป



มาริสายิ้มแฉ่ง "ใช่ นี่คือเราปฏิบัติธรรมในชีวิตเราตลอดวันตลอดคืน เห็นมั้ยว่าไม่ต้องลางานไปวัด 7 วันอย่างเราก็ได้"



"งั้นไปทำไม" ข้าวเม่าถาม



"ที่เราไป ก็เหมือนไปโรงเรียน ไปอบรมให้เข้มข้นหน่อยจะได้ก้าวหน้าเร็ว เพราะไปนี่ไม่ได้ทำงานอย่างอื่นเลย ตามดูใจอย่างเดียว ถ้าฝึกมาก ๆ เราจะได้มีสติสัมปชัญญะที่แข็งแรง เวลามาเจอโลกธรรม 8 ในที่ทำงาน จะได้พิจารณาทัน เหมือนขับรถน่ะ ถ้าขับคล่องก็หลบเก่งหน่อย ไม่ชนง่าย แล้วรถก็แข็ง เวลาถูกชนไม่บุบง่ายเป็นกระป๋อง"



ข้าวเม่าค้อน นึกถึงกันชนท้ายรถที่บุบไปแล้วยังไม่ได้ซ่อม มาริสาทำเป็นไม่เห็นค้นที่เฉี่ยวมา







"อีกเรื่องหนึ่ง ที่เราต้องมีคือ พรหมวิหาร 4 มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

     เมตตา คืออยากให้คนอื่นมีความสุข กรุณา คืออยากให้เขาพ้นทุกข์ มุทิตา ก็คือยินดีกับเขาเมื่อเขาได้ดี อุเบกขา คือการวางเฉยในสิ่งที่เราช่วยเหลือไม่ได้แล้ว เช่นถ้ามีใครเป็นทุกข์ เราช่วยเหลือเขาเท่าที่ทำได้แล้ว แต่ก็ยังทุกข์อยู่ เราต้องอุเบกขาเป็น ไม่อย่างนั้นจิตใจเราก็จะแย่ เป็นทุกข์หนักที่ช่วยเขาไม่ได้ อย่างนี้ไม่ถูก ถ้าช่วยเต็มที่แล้ว ก็ต้องอุเบกขา คือวางเฉย ถือว่าเป็นกรรมของเขาที่เขาจะต้องรับเอง เพราะท่านสอนว่า สัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน

     การมีพรหมวิหาร 4 จะช่วยให้ปลอดโปร่ง เบาสบายในจิตใจตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องเมตตา ยิ่งเป็นคนมีเมตตามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น เป็นเงาตามตัว"



มาริสายิ้มให้ข้าวเม่าที่กำลังยิ้มหวาน เพราะข้าวเม่าเป็นคนมีเมตตาอยู่แล้ว เคยเอาข้าวห่อที่ซื้อไปให้แฟนให้หมากินแทนเพียงแต่ได้สบสายตาอันละห้อยเพราะหิวข้าวของหมา



"ถ้ามีเมตตาอยู่กับเราเนี่ย จะวกกลับไปช่วยเหลือเกื้อกูลให้เรารักษาศีล 5 ได้ดีอีกด้วย เพราะแค่คิดก็คิดไม่ออกแล้วเรื่องจะทำให้ใครเจ็บ อย่าว่าแต่ฆ่าสัตว์ แล้วก็ไม่อยากขโมยของใครไม่อยากแย่งแฟนใคร เพราะสงสารเข้าของเขาว่าจะต้องช้ำใจ ไม่โกหกด้วย เพราะเมตตาว่าพูดเรื่องไม่จริงนั้นไปแล้ว ทำให้คนอื่นเสียหาย แล้วก็ไม่กินเหล้า เพราะเมตตาสุขภาพตัวเอง ธรรมะนั้นเกื้อกูลกันไปมาอย่างนี้แหละ"







ข้าวเม่าขยับบิดขี้เกียจ นั่งมานานจึงสรุปสัมมนา



"ข้าพเจ้ายอมรับแล้วว่า การปฏิบัติธรรมนั้นคือการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรานี่เอง ข้าพเจ้าจะพยายามสนใจศึกษาธรรมมากขึ้น ขอขอบคุณวิทยากรที่กรุณามาเทศน์ในวันนี้" พลางแซวว่า



"แล้วเที่ยงวันนี้ มันจะมีตอนเที่ยงมั้ยเนี่ย เกิดมันไม่เที่ยงขึ้นมา ไม่มีตอนเที่ยง แล้วจะกินข้าวเที่ยงได้ไง"



มาริสาหัวเราะ " เวลาเที่ยงนั้นมีแน่ แต่ข้าวเที่ยงอันนี้ไม่แน่เห็นวาระประชุมยังยาวเหยีอดเลย อดข้าวเที่ยงแน่ อย่างน้อยต้องบ่ายสอง"



ข้าวเม่าหน้าแหย ไม่นึกว่าคำแซวของตัวเองจะเป็นจริงขึ้นมาจึงเอ่ยเอวังขึ้นว่า



"โลกธรรมข้อ 8 วันนี้ว่าด้วยทุกข์ อดข้าวเที่ยง"



b15: :
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 30 มี.ค.2005, 5:45 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

แผ่นดินสอนธรรม



กัมพุชนาฏ กำลังตัดแต่งต้นไม้อยู่ในสวน ขณะที่ลูกชายเดินเข้ามาหาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม



"คุณแม่ระวังหนามมันกัดเอานะครับ" เขาพูดเย้าพลางหัวเราะ กัมพุชนาฎหัวเราะด้วยเบาๆ



"ไปรายงานตัวเรียบร้อยแล้วหรือ" เธอเอ่ยถาม ลูกชายพยักหน้ารับ พาแม่มานั่งลงลนเสื่อที่ปูอยู่ใต้ต้นลั่นทมใหญ่ส่วนตัวเขาลงนอน เห็นเมฆสีขาวลอยอยู่เหนือใบลั่นทม



"เป็นหมอก็เหมือเป็นพระนะลูก " กัมพุชนาฎเอ่ยขึ้นเบา ๆ ลูบผมลูกชาย



"พระรักษาทุกข์ใจ ส่วนหมอรักษาทุกข์กาย และต่างก็กินข้าวของชาวบ้านเหมือนกัน หมอก็เก็บค่ารักษา พระก็บิณฑบาต ชีวิตคนเรานี่ก็มีสองทุกข์แค่นี้แหละ ทุกข์กายกับทุกข์ใจ ต่อไปลูกต้องเป็นหมอที่ดีนะ"



"ดียังไงบ้างล่ะครับแม่"



"ดีคือเอาใจใส่คนไข้ หมอคือความหวังของคนไข้ เคยอ่านข่าวไหม ที่ครั้งหนึ่งหมอตรวจกรุ๊ปเลือดผิด พอให้เลือด คนไข้ตัวเขียวเลย หมอก็ไปประชุม พยาบาลก็ไม่รู้ พอเห็นอาการแย่หนักพยาบาลจึงได้ไปแจ้ง ทีนี้ผู้อำนวยการวิ่งลงมาเองเลย ผัวเขาก้มลงกราบแทบเท้าเลยขอให้ช่วยเมียของเขาด้วย แต่ก็สายไปเสียแล้ว

           ลูกเห็นมั้ยว่าเขาฝากชีวิตทั้งชีวิตไว้ในมือหมอ มันสำคัญมากนะลูก ถ้าอยากจะเป็นหมอ ก็ต้องรับรู้ความสำคัญของจุดนี้ จะละเลยไม่ได้ ถ้าอยากรวยอย่างเดียว หรือเพราะเรียนเก่งอย่างเดียวควรไปทำอาชีพอื่นเสียเลย เพราะการรับผิดชอบต่อขีวิตคน เป็นภารที่หนักมาก ต้องยอมรับว่าความรับผิดชอบนี้มันมากับอาชีพนี้แหละ จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ การรับผิดชอบอย่างเต็มที่และจริงใจนั่นแหละคือเป็นหมอที่ดี ลูกต้องเป็นหมอที่ดี"



ลูกชายยิ้ม พลางขยับตัวมาหนุนตักแม่เหมือนเด็ก ๆ และสำหรับแม่แล้ว ไม่ว่าลูกจะโตแค่ไหน ก็ยังเป็นเด็กน้อยของแม่เสมอ



"เป็นหมอที่ดีต้องมีเมตตา" กัมพุชนาฎ เอ่ยต่อไป เธอชอบเล่าเรื่องธรรมะให้ลูกชายฟัง



"พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้เรามีเมตตาให้มากเหมือนแผ่นดินที่ใครจะขุดให้หมดไม่ได้"



"โอ้โฮ ไพเราะและลึกซึ้งมากเลยนะครับแม่ ถ้าปฏิบัติตามได้นี่ คงจะวิเศษมาก ไม่ใช่ทำได้ง่าย ๆ เลยนะครับ"



"ยังมีเรื่องแผ่นดินอีกอย่างหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระราหุลลูกชาย" กัมพุชนาฎเอ่ยต่อ ลูกชายยิ้มเย้า



"เหมือนแม่กำลังสอนผมนี่มังครับ" กัมพุชนาฎหัวเราะเบา ๆ ลูบผมลูกชายด้วยความรัก



"ท่านทรงสอนว่า ให้เรา อบรมจิตให้เหมือนกับธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ คือไม่ยินดียินร้ายเมื่อกระทบกับสิ่งน่าปรารถนาบ้าง ไม่น่าปรารถนาบ้าง

อบรมจิตให้เหมือนน้ำ ก็คือว่า น้ำจะพัดพาไปหมดทั้งของดีไม่ดี ไฟก็คือ เอาของดีหรือของเลวใส่ลงไป ไฟก็เผาหมดไม่สนใจว่าเป็นอะไร ลมก็เหมือนกัน กลิ่นดีกลิ่นไม่ดี ลมก็พัดไปหมด



สรุปก็คือ ให้เรารับได้ทั้งสิ่งดีและไม่ดีที่มาหาเรา และเมื่อรับมาแล้วก็อบรมจิตไม่ให้ยินดียินร้าย คือรับกระทบแล้วไม่กระเทือนไปกับมัน รู้ทันมัน อยู่เหนือมัน และปล่อยมันไป"



ลูกชายอมยิ้ม แกล้งแหย่แม่ "งั้นผมพบคนไข้ก็ไม่ต้องสนใจสิครับ"



กัมพุชนาฎหยิกเข้าที่ต้นแขนแรง ๆ อย่างหมั่นไส้ จนลูกชายร้องลั่น



"ถ้าลูกแยกแยะคำสอนไม่ออก จะเรียกว่ามีปัญญาจบหมอมาได้ยังไง มีปัญญาทางโลกแล้ว ต้องมีปัญญาทางธรรมด้วยจึงจะสมบูรณ์ ท่านให้อบรมจิตให้เหมือนธาตุ 4 ก็เพราะเราต้องพบกับปัญหาหลายอย่าง จากผู้คนรอบข้าง ในสังคม เช่นการนินทาว่าร้าย หรือการได้รับคำชม คำสรรเสริญ การสูญเสียของที่รัก การได้สิ่งที่ไม่ชอบใจ เราไม่ควรเสียใจหรือดีใจไปกับมัน ให้มั่นคงไว้เหมือนแผ่นดินที่รับได้หมดโดยไม่หวั่นไหวตามสิ่งใด ๆ ที่เข้ามาสู่ดิน ส่วนคนไข้นั้น เราก็ต้องมีเมตตาให้มากเหมือนแผ่นดิน"



"ที่ใครจะขุดให้หมดไม่ได้" ลูกชายรีบต่อให้อย่างเอาใจ กัมพุชนาฎยิ้มชื่นใจ



"ลูกเป็นหมอ เป็นอาชีพที่มีโอกาสทำบุญทุกวัน ช่วยคลายทุกข์กายให้คนไข้ แต่ก็ต้องพูดจาดี รู้ว่าอะไรควรพูดหรือไม่ควรพูด เพราะจิตใจของคนไข้ก็อยู่กับคำพูดของหมอเหมือนกันเป็นทุกข์ใจที่พัวพันกับทุกข์กาย ไม่ใช่ทุกข์ใจแบบที่ไปหาพระ นั่นเขาทุกข์ใจในข้ออื่น "



ลูกชายจับมือแม่มากอดไว้ และพูดอย่างอ่อนโยน



"ผมรู้ครับแม่ แม่ไม่ต้องเป็นห่วงหรอกครับ ผมสัญญาว่าจะเป็นหมอที่ดี ผมรู้อยู่ว่าอาชีพนี้เป็นบุญ ผมทำบุญได้เยอะ ทุกวัน ผมไม่ทิ้งบุญไปหรอกครับ จะเอาบุญมาฝากแม่เยอะ ๆ "



กัมพุชนาฎปลื้มใจ หอมแก้ม "คุณหมอใหญ่" เหมือนเป็นเด็กเล็ก ๆ



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 01 เม.ย.2005, 4:55 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เทียนชีวิตของจอม



           วันที่จอมเอาอัลบั้มเล่มเล็ก ๆ ใส่รูปตอนบวชพระมาให้ดูน้ำรินถึงกับน้ำตาซึมด้วยความตื้นตันใจ ดูรูปชายในผ้าเหลืองนั่งอยู่บนกุฎิเล็ก ๆ แล้วแทบไม่น่าเชื่อว่านั่นคือจอม เพื่อนรุ่นน้องผู้เคย “ใช้ชีวิต” มาอย่างโชกโชน



           หลังจากหายหน้าหายตาไม่ได้เจอะเจอกันนานหลายปี วันหนึ่งก็ได้พบกันโดยบังเอิญ น้ำรินฝากคำสุดท้ายก่อนลากันวันนั้นว่า “จอม เลิกเหล้าได้แล้วนะ ถือศีลสิ”



           ไม่นานหลังจากนั้น เขาก็โผล่มาหา ใบหน้ายิ้มแย้ม



           “พี่ริน ผมเลิกเหล้าแล้ว ถือศีลแล้วนะ”



           น้ำรินคิดว่าเขาล้อเล่น แต่เขายืนยันว่าจริง เธอจึงอนุโมทนา และชวนให้ไปปฏิบัติธรรม และศึกษาธรรม



           จากวันนั้นถึงวันนี้ เพียงแค่ไม่กี่เดือน ไม่นานเลย เมื่อเทียบกับชีวิตที่เขาทิ้งไว้ในอบายมุขจนอายุเกือบ 40 วันนี้เธอมีรูปเขาอยู่ในมือ รูปของภิกษุจอมที่กุฏิหลังน้อยอันวิเวก



           เขาเปิดอัลบั้มหน้าต่อ ๆไปให้เธอดู ศาลาการเปรียญทีเพิ่งจะก่อสร้าง วัดที่เขาไปบวชอยู่ 15 วัน เป็นวัดร้างเดิม เพิ่งจะมีชาวบ้านมาช่วยกันถากถาง และนิมนต์พระมาอยู่ 2 รูป แล้วเริ่มสร้างศาลาเพื่อใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม จอมชวนน้ำรินให้ร่วมทำผ้าป่า เพื่อให้ศาลาการเปรียญนี้สำเร็จลง



           น้ำรินรู้สึกยินดี เธอเคยคิดเสมอว่ามักจะมีคนสร้างวัดใหม่ๆ อยู่เรื่อย ในขณะที่วัดเก่ามากมายถูกทิ้งร้างไปอย่างน่าเสียดายเพิ่งจะคราวนี้เองที่เป็นวัดเก่าถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่



           จอมเล่าให้ฟังว่า หลวงพี่ที่รักษาการอยู่มาจากสวนโมกข์มีความพอใจจะสอนธรรมะแบบปฏิบัติตามแนวสวนโมกข์ ไม่มีเรื่องใบ้หวยหรือรดน้ำมนต์ ตอนนี้เริ่มมีชาวบ้านได้ข่าวละมาปฏิบัตินั่งสมาธิที่วัดบ้างแล้ว



           เป็นข่าวที่น่ายินดี น้ำรินจัดเตรียมหนังสือธรรมะเพื่อฝากไปไว้ที่วัด ให้ชาวบ้านได้ใช้ศึกษาข้อธรรม ครู่หนึ่ง น้ำรินเอ่ยถาม “แต่คงไม่ได้สร้างใหญ่โตหรูหรามากนะ เดี๋ยวจะไปเรื่องวัตถุเสียหมด บางวัดสร้างทีหนึ่งหลายล้าน สร้างแล้วเดี๋ยวคนไปหรือเปล่าก็ไม่รู้ อยากช่วยที่ตั้งใจปฏิบัติจริง ๆ “



           จอมคิดว่าชาวบ้านคงตั้งใจจริง เพราะวัดที่ใหญ่ๆ ในอำเภอนั้นก็มี แต่ชาวบ้านยังมาที่นี่ น้ำรินเล่าว่า สมัยพุทธกาลมีพระองค์หนึ่งสร้างกุฏิสวยงามใหญ่โตมาก จนชาวเมืองร่ำลือกันไปถึงทั่ว ใคร ๆ ก็อยากมาดูกุฏิอันงามนั้น จนเสียงเล่าลือนั้นทราบไปถึงพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสเรียกพระองค์นั้นมาถาม พระองค์นั้นยอมรับว่ามีกุฏิสวยงามจริง พระพุทธองค์จึงตรัสให้ไปรื้อทิ้ง



            “เพราะพระสงฆ์คือผู้สละแล้ว จะมีข้าวของมากมายหรือดีงามไปไม่สมควร ไม่ส่งเสริมการละกิเลส”



           จอมพยักหน้าเห็นด้วย “ใช่ มีข้าวมีของกองอยู่ในห้องให้เห็นว่าเป็นของตัวอยู่ทุกวัน แล้วจะละกิเลสได้ลงยังไง แต่ถ้าพระบวชแล้ว ไม่ทำเพื่อละกิเลส จะบวชเพื่ออะไรนะพี่ริน





           



           น้ำรินเล่มให้จอมฟังถึงเรื่องที่สมพลมาชวนให้สร้างพระครั้งหนึ่ง เมื่อหลายปีมาแล้ว เขาเอาใบเชิญชวนมาให้ดูด้วยว่ารูปพระที่จะหล่อมีรูปทรงอย่างไร พลางบอกว่า

           “องค์ละหมื่นเดียวพี่ริน สร้างแล้วเขียนชื่อเราไว้ที่ฐานพระเขาจะเอาไปตั้งเรียงต่อ ๆ กันไปจนเป็นรูปเจดีย์เลย เวลามีคนมากราบพระ ก็มีชื่อเราอยู่ด้วย ดีนา ผมทำไปแล้วองค์หนึ่ง”



           ครั้งแรกที่ฟัง น้ำรินก็ออกจะตื่นเต้นเห็นด้วย รู้สึกว่าหมื่นเดียว เธอยังพอขวนขวายได้ ยังไม่เคยสร้างพระเลยในชีวิตน่าจะเป็นโอกาสดี ถ้ามีเวลาพอรวบรวมเงินได้ ยังน่าจะทำให้พ่อ แม่สักคนละองค์ด้วย ท่าจะดี



           แต่พอไปเล่าให้วิรุณฟัง เขากลับพูดว่า



            “องค์ละหมื่น เขาทำล้านองค์ ก็หมื่นล้านนะ น่าจะเอาไปล้างหนี้เกษตรกรดีกว่า ชาวบ้านยังยากจนอีกเยอะ เอาเงินมากองไว้ไหว้ทำไมกัน”



           ส่วนพิกุลหอมก็เอ่ยว่า “เอาชื่อเราไปไว้ฐานพระ เกิดคนมีคุณธรรมสูงกว่าเรามากราบไหว้ เราจะบาปหรือเปล่าก็ไม่รู้ เราอาจมีคุณธรรมน้อยกว่าเขานา จะดีเร้อ”



           จากความเห็นของเพื่อนทั้งสอง น้ำรินจึงได้ตรองและเลิกคิดที่จะทำ ระลึกขึ้นมาได้ด้วยสติที่กลับมาว่า พระพุทธเจ้าสอนให้พุทธบริษัทปฏิบัติบูชา ไม่ใช่สร้างวัตถุอันเป็นอามิสบูชา



จอมได้ฟังแล้วก็รู้สึกเห็นด้วยกับน้ำริน เขาเสริมว่า



           “แต่การปฏิบัติ ก็ต้องปฏิบัติถูกด้วยนะ ได้ยินว่าบางคนเขานั่งเพ่งให้เห็นสวรรค์ เห็นไปทำไม เห็นแล้วเราไม่เห็นจะพ้นทุกข์เลย แล้วก็มีบางคนเขานั่งเพ่งให้เห็นดวงแก้วที่ท้อง เขาว่าถ้าเห็นดวงแก้วได้จะมีบารมี ทำให้เงินทองไหลมาเทมา มีลาภมาสู่ตัว บางคนทำบุญแบบไม่ประมาณตน กู้คนอื่นมาทำบุญก็มี เพราะหวังจะได้ลาภมามากกว่าที่กู้ อย่างนี้ไม่ใช่บุญหรอก ทำด้วยกิเลสความโลภ หวังค้ากำไรเกินควรด้วย บาป 2 ต่อ

           ผมว่าอย่างนี้ผิดแล้ว เพราะพระพุทธเจ้าสละสมบัติออกจากวังไปเป็นพระพุทธเจ้าที่ไม่มีอะไร นอกจากบาตรใบเดียว ทรงละลาภภายนอกและสอนให้ละโลภในใจ แล้วเรามาทำให้ลาภเกิดก็ขัดกับพระพุทธเจ้าสอนซี”



           น้ำรินเห็นด้วย “ใช่ เรามีลาภแค่ที่เราทำงานโดยสุจริตมาหล่อเลี้ยงชีวิตก็พอแล้ว ไม่ใช่หวังลาภลอยมาแบบอภินิหาร เราต้องเชื่อพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนว่า สัตว์โลกมีกรรมเป็นของของตน ทำดีจักได้ดี ทำชั่วจักได้ชั่ว ถ้าเรามีกรรมเป็นความรวย เราก็รวยเอง เราคงทำงานประสบผลสำเร็จ ทำให้รวยได้”



จอมผู้เคยผ่านความจนสุดขีดมาแล้วหัวเราะ



           “ผมว่ารวยไม่รวยไม่ใช่เป้าหมายของชีวิต ผมจนผมก็อยู่ได้ แต่ผมทุกข์ใจนี่ผมอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผมเอาสบายใจดีกว่า ปฏิบัติธรรมนี่ ผมมีความสุขมากเลย ยิ่งได้มารู้สัจธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน รู้ว่าอะไร ๆ มันก็ไม่เที่ยง มีเสื่อมมีสิ้นไปเป็นธรรมดา ทุกอย่างเป็นเช่นนั้นเอง ไม่ไม่อะไรเหนือธรรมชาติได้ แล้วผมรู้สึกว่ามันวาง

           ตอนนี้ผมไม่ค่อยซีเรียสกับอะไรมากแล้ว รู้สึกเข้าใจ และยิ่งมองยิ่งนับถือธรรมชาติ ไม่มีอะไรจะเก่งกว่าธรรมชาติอีกแล้ว ธรรมชาติจัดวางไว้แล้วทุกอย่าง

           ที่ท่านสอนว่าตัวเราไม่ใช่ของเรานั้น เป็นเรื่องจริงเลย เราบังคับตัวเราไม่ได้สักอย่าง อยากจะสบายบางทีมันก็ไม่สบาย แต่ธรรมชาติสิเป็นเจ้าของตัวเราอย่างแท้จริง นึกจะมาเอาฟันของเราไปเมื่อไหร่ก็เอาไปเลย นึกจะให้เราปวดหัวตัวร้อนเมื่อไหร่ก็มาสั่งเอาทำเอา นึกจะให้เราตายเมื่อไหร่ ก็เอาไปเลย ไม่บอกไม่กล่าว

           พี่รินเชื่อมั้ย เดี๋ยวนี้ผมนึกถึงภาพสังสารวัฏบ่อย ๆ เห็นสัตว์โลกเวียนว่ายตายเกิดกันเป็นพรวนแล้ว เข้าใจพระพุทธเจ้าเลยว่าทำไมท่านอยากให้พวกเราปฏิบัติธรรมให้พ้นสังสารวัฏนี้ไป

           พวกเราเองนี่แหละที่กลับไม่รู้ คิดว่าชีวิตเป็นสุขจะตายอยากเกิดอีก อยากรวยมาก ๆ พอตายไป บาทเดียวก็เอาไปไม่ได้ พยายามเอาเงินใส่ปาก สัปเหร่อก็ได้ไปแหละ คนตายเอาไปได้ที่ไหน”



           “โอ้โฮ จอมเทศน์ได้แล้วนิ” น้ำรินว่า จอมหัวเราะ



           “อ้าว พี่รินว่าจริงมั้ยล่ะ แล้วถ้าเรายังปฏิบัติไม่เก่งนะ แต่อย่างน้อยเราปฏิบัติถูกแนวทาง เป็นสัมมาทิฐิ เราก็ยังมีโอกาสเกิดมาเป็นคนแล้วปฏิบัติต่อได้อีกนะ

           แต่ถ้าปฏิบัติผิดทางเรียกว่าเป็นมิจฉาทิฐิ ทีนี้ตกนรกไปอีกนานมหานานเลย กว่าจะได้มาเกิดใหม่ แล้วเกิดเป็นอะไรก็ไม่รู้เพราะไม่มีสัมมาทิฐิ ต้องเกิดใหม่ไปเรื่อย ๆ ท่านเรียกว่า เป็นตอเฝ้าสังสารวัฏ คือเหมือนตอในแม่น้ำ ใครจะเกิดใครจะไม่เกิดไปแล้วไม่รู้ เขาก็จะคงจองแช่อยู่ชั่วสังสารวัฏ ชั่วนิรันดร

           ผมว่าผมรีบปฏิบัติให้ถูกตรงดีกว่า สะสมบุญจากการปฏิบัติวิปัสสนาไว้ให้มาก อย่างน้อยได้เข้าในกระแสพระนิพพานก็เหมือนลงเรือถูกลำล่องไปถูกทิศ วันหนึ่งต้องถึงฝั่ง ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง จริงมั้ยพี่ริน”







           น้ำรินชื่นชมความก้าวหน้าในการศึกษาธรรมของจอม เธอหวังว่าเขาจะกลับไปเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมให้ชาวบ้านได้ปฏิบัติธรรมในเส้นทางที่ถูกต้อง



           เธอมอบหนังสือและเทปธรรมะที่เตรียมเสร็จแล้วให้เขาไปด้วยความศรัทธาอันเต็มเปี่ยม ระลึกถึงคำสอนของอาจารย์ว่า

           “คนที่เคยทำไม่ดีมามาก เมื่อกลับตัวมาทำดี เขาจะทำดีได้มากยิ่งกว่าใคร ๆ “



           แสงเทียนของจอมได้จุดขึ้นแล้ว และเขากำลังส่งผ่านแสงสว่างแห่งพระธรรมไปยังญาติธรรมคนต่อ ๆ ไป ให้ทุก ๆ คนได้ต่อไฟเพื่อยังเทียนชีวิตของตนให้สว่างไสวต่อไปคนแล้วคนเล่า



น้ำรินชื่นใจ และกล่าวอนุโมทนาแก่จอมด้วยใจจริง



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 01 เม.ย.2005, 5:19 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ซักใจ



เวลาแดดร่มลมตกของเย็นวันศุกร์ เอื้อนบรรเลงจะจัดไว้เป็นเวลาซักผ้า ที่จัดไว้อย่างนี้ ก็เพราะจะให้วันเสาร์เป็นวันปลอดธุระ นั่งซักไปก็คิดอะไรไปเรื่อยเพลิน ๆ แต่มีอยู่ศุกร์หนึ่งที่ไม่เพลิน



ก็โดนว่ามาตั้งแต่บ่าย 1 ประโยค ประมาณ 5 คำ



ซักผ้าไปก็หน้าหงิกไป ในหัวมีแต่คำเถียงคำอธิบายแก้ตัวกับเจ้า 5 คำเจ้ากรรมนั้น จนโทสะค่อย ๆ เล่นสกีจากหน้าผากฉิวมาตามดั้งจมูก ผลุบเข้าไปในถ้ำจมูก เรื่อยไปตกแอ๊กที่หัวใจ ใจหงิกไปตามใบหน้า



เอ๊ะ ! เราเป็นอะไรไปเนี่ย เอื้อนบรรเลงสะดุด ลมหายใจเรียกสติมาถาม เพื่อลงบันทึกประจำวัน แค่ 5 คำเนี่ยนะ เอามาคิดไปตั้ง 500 คำได้แล้วมั้ง มันทำไมนักเหรอ อ๋อ ! ก็โดนว่าไง



อ้อ! เจอแล้ว เพราะโดนว่านี่เอง



งั้นเราควรจะทำยังไง ให้โดนว่าแล้วไม่เป็นอย่างนี้ เอื้อนบรรเลงถามตัวเอง นี่เราขาดทุนไปตั้ง 495 คำนะ ถ้าเป็นหุ้นก็เจ๊งไปแล้ว



หลวงพ่อชาบอกว่า ล้างจานแต่หน้าหงิก ทำไม่ล้างแต่จานแต่ไม่ล้างใจ เออจริง เอื้อนบรรเลงยอมรับ เราก็ซักผ้าแต่ไม่ซักใจ



งั้นคิดใหม่ คิดยังไงดีนะ



เออน่า ไม่เป็นไรน่า เขาจะว่าก็ว่าไป ไม่เห็นน่าจะเสียหายอะไร พระพุทธเจ้าบอกว่า ให้อยู่เหนือโลกธรรม 8 มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ เราต้องมีสติ เขาว่ามาถ้าเราเป็นอย่างนั้นจริง เราก็แก้ไขไป แต่ถ้าเราไม่เป็นอย่างนั้นจริงก็แค่เขาพูดผิด เราก็เฉย ๆ ไป ไม่เห็นต้องกระเพื่อมในใจให้เดือดร้อนไปเลยนี่นา



มันเป็นเรื่องธรรมดา ที่ใครต่อใครก็ต้องว่ากัน ทุกคนจะคอยว่าคนอื่น คนนี้ว่าคนโน้น คนโน้นก็ว่าคนนี้เหมือนกัน แล้วก็ว่าคนนั้นด้วย เราเองก็เคยว่าคนอื่นเหมือนกัน เอื้อนบรรเลงขำในใจ ว่าคนนั้น ว่าคนนู้น คนนู้นพูดกับคนนี้ก็ก็แอบว่าเรา เราก็ว่าคนนี้กับคนโน้นเหมือนกัน ก็ว่ากันไปว่ากันมาทั้งนั้น ว่ากันเพลิน



พระพุทธเจ้ายังโดนว่าเลย บางทีก็โดนใส่ร้าย อย่างนางจิญจมานวิกาบอกว่าท้องกับพระพุทธเจ้า ทำให้พระพุทธเจ้าต้องโดนว่าอยู่ตั้ง 9 เดือน จนความจริงเปิดเผยออกมา 270 วันเชียวนาที่ท่านไม่กล่าวอะไรออกมา ของเรานี่แค่ 3 ชั่วโมงเอง ก็จะตายแล้ว อย่างนี้จะเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้าได้ยังไง



ในเมื่อพระพุทธเจ้ายังโดนว่า แล้วเราเป็นใคร! ทำไมจะถูกว่ามั่งไม่ได้



ความคิดนี้ทำให้เอื้อนบรรเลงยอมรับกับตัวเอง



เออจริง เอาล่ะ ยอมแล้ว ยอมถูกว่าได้แล้ว ใครจะว่าอะไรก็ว่ามา ยอมถูกว่า หลวงพ่อพระพยอมบอกว่า "ยอม หยุด เย็น ยอมไม่เป็น ก็เย็นไม่ได้" ฉะนั้น ถ้าเราจะเย็น เราต้องยอม

           ปุจฉา : แต่การยอมจะยอมยังไงดี

           วิสัชนา : เวลาคนว่ามา ก็เหมือนสายน้ำในลำธารผ่านมากระทบหิน เราเป็นหินนอนอยู่ตรงนั้น ให้น้ำไหลผ่าน แต่ใจเราต้องแยกไปนั่งริมน้ำ มองกลับมาดูหินอีกทีหนึ่ง จึงจะมีสติได้ ถ้าใจเราอยู่ในหินก้อนนั้นด้วย มันก็คงอดรับแรงกระแทกไม่ได้ แต่ถ้าแยกมาดู ก็จะเห็นหินโดนน้ำไหลผ่าน มองภาพกว้างแล้วก็จะรู้ทันว่า น้ำไหลผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมดา หินยังนอนอยู่ตรงนั้น ไปไหนไม่ได้ แต่สบาย เราต้องทำตามอย่างของหิน



ใจของเรา ถ้าเข้าร่วมจลาจลมันต้องมองไม่เห็นเป็นธรรมดาก็มันกำลังวุ่น แต่ถ้าถอยห่างออกมา ย่อมเห็นภาพจลาจลได้ชัดว่าอะไรเป็นอะไร และทำให้รู้ว่าควรจะคิดจะทำอย่างไรต่อไป อะไรใช่หรือไม่ใช่ อะไรจริงหรือไม่จริง รู้แล้วมันก็สงบได้ ธรรมชาติของคนเราต้องการตัว"รู้" นี้เท่านั้น



เอื้อนบรรเลงได้สติ หลังจากสั่งสอนตัวเองเรียบร้อย คนเรานี่แปลก เรียนรู้มาก็จริง พอเวลาเจอกระทบกลับเบรกไม่ทัน คิดอะไรไม่ออก กระเทือนพึบพั่นไปตามแรงกระทบ อย่างนี้เขาเรียกกระบี่ไร้แรงทาน ไม่ใช่กระบี่ไร้เทียมทาน อย่างนี้ยังต้องฝึกอีกเยอะเชียว



อีกอย่างหนึ่งนะ ธรรมะท่านสอนว่า "ความจริงเป็นสิ่งที่รู้ได้ยาก " ในเหตุการณ์อย่างเดียวกัน เวลาผู้ร่วมเหตุการณ์เล่าความจริง ยังเล่าคนละอย่างเลย เพราะมันจะต่างไปตามเหตุผลและเงื่อนไขของตัวเองแต่ละคน



เอื้อนบรรเลงนึกเห็นภาพตัวเองคลานเข้าไปหมอบกราบแทบพระพุทธเจ้า บอกกับตัวเองว่า ต่อไปนี้ใครจะว่าเรายังไงก็ช่างเถอะ เพราะความจริงเป็นสิ่งที่รู้ได้ยากดังพระพุทธเจ้าสอนแล้ว เราก็จะอยู่กับพระพุทธเจ้า อันเรื่องที่เกิดขึ้นกับเรานั้น แท้จริงเป็นอย่างไร มีพระพุทธเจ้ากับเราเท่านั้นที่รู้ คนอื่นไม่รู้ ก็....ช่างหัวมันเถอะ



คิดได้แล้วก็รู้สึกใจขาวขึ้น มันปิ๊ง มันหลุดไปเลย เหมือนรอยเปื้อนที่โดนผงซักฟอก สบายใจยิ้มได้ ครึ้มอกครึ้มใจหายหน้าหงิก ซักผ้าวันนี้ได้ซักใจไปด้วย โอ๊ย...สบายใจจัง



ปกติเอื้อนบรรเลงมักจะคอยรู้สึกดีกับเย็นวันศุกร์อยู่แล้วไม่รู้เป็นอะไร มันคงรู้สึกหมดภาระไปสัปดาห์หนึ่งอะไรทำนองนั้นแต่วันศุกร์เป็นวันที่ดีขึ้นอีก เหมือนลงจากรถไฟแล้ว ยังได้หันกลับไปโยนเป้หนัก ๆ บนบ่าให้ติดท้ายขบวนไปด้วย เย็นนี้จึงเป็นเย็นวันศุกร์ที่เอื้อนบรรเลงรู้สึกปลอดโปร่งและตัวเบาที่สุด



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 07 เม.ย.2005, 10:21 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สมถะกับวิปัสสนา



วันนี้เอิงเอยมาชวนแป๋วแหวว ไปเข้าคอร์สอบรมสมาธิเบื้องต้น แต่แป๋วแหววส่ายหัวไม่หยุด จนเอิงเอยต้องเอื้อมมือไปจับหน้าไว้



“กลัวอะไร”



“ทำไม่ด้ายยย” แป๋วแหววหลับตาพูด “นั่งสมาธิไม่ได้ มันฟุ้งซ่าน คิดอะไรไปเรื่อย พอไม่คิดก็หลับ” แป๋วแหววสัปหงกให้ดู



“เขานั่งสมาธิกกัน เพื่อให้ใจสงบ เราทำงานกันมาก จิตใจวุ่นวาย ทำให้ใจมันเหนื่อย นั่งสมาธิให้ใจสงบ ใจจะได้มีแรง”



“เออนี่” แป๋วแหววนึกขึ้นได้ “พี่มุ้งมิ้งเขาบอกว่า น้าสาวของเขานั่งสมาธิมาหลายปี เขาเห็นอะไรเยอะแยะเลยล่ะ เธอว่าจริงมะ”



“นี่แป๋วแหวว” เอิงเอยทำเสียงดุ “การนั่งสมาธิไม่ใช่เพื่อจะเห็นอะไรนะ หลวงปู่ดุลย์ อตุโล ท่านบอกว่าที่เขาเห็นนะจริง แต่สิ่งที่เขาเห็นนั้นไม่จริง เรานั่งสมาธิเพื่อให้ใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน”





แป๋วแหววเงียบ แต่แลบลิ้นหลอกให้ เอิงเอยพูดต่อไป



“การนั่งสมาธินั้น ถ้าอย่างเราๆ ก็นั่งสมาธิเพื่อเอาไปใช้ในชีวิตประจำวัน นั่งสมาธิให้จิตใจมีกำลัง มีสติ จะได้กับเรื่องยุ่ง ๆ ที่จะเข้ามาหาเรา”



“ทำยังไงมั่งล่ะจ๊ะ” แป๋วแหววถามเอาใจ



“ในชั่วโมงที่เรานั่งสมาธิ หรือเรียกว่าภาวนา เราก็เอาใจจดจ่ออยู่ที่ปลายจมูก ดูลมหายใจเข้าลมหายใจออกที่ผ่านตรงนั้นเราอาจจะภาวนาพุทโธ พุทโธ ไปด้วยก็ได้ เพื่อเป็นหลักประคองใจไว้ นั่งสักครึ่งชั่วโมง นี่สมาธิเบื้องต้น”





“แล้วที่เขาเรียกว่าสมถะวิปัสสนาล่ะ” แป๋วแหววซักสนใจ



“หลวงพ่อชา สุภัทโท สอนว่า สมถะกับวิปัสสนาเหมือนสันมีดกับคมมีด ไม่แยกกัน เวลายกมีดขึ้นมาก็ขึ้นมาหมดทั้งสันทั้งคม



สมถะเป็นการทำใจให้สงบ ทำให้อารมณ์จดจ่อเป็นอารมณ์เดียว วิธีการที่พระพุทธเจ้าให้ไว้มีถึง 40 วิธี แล้วแต่จริตของแต่ละคน ใครถนัดแบบไหนก็เลือกทำไป ถ้าในที่สุดแล้วใจสงบก็เป็นอันใช้ได้



อย่างพวกศรัทธาจริต ท่านก็ให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น กลุ่มนี้มีจิตใจน้อมเชื่อง่าย เมื่อระลึกจิตก็เป็นกุศล รู้สึกสงบ



ถ้าพวกปัญญา ชอบคิดก็คิดถึงความตาย ชีวิตไม่แน่นอน แต่ความตายนั้นแน่นอน มองเห็นโทษเห็นความเสื่อมไปของร่างกาย ก็ปล่อยวาง เป็นต้น



ส่วนพวกวิกลจริต ชอบคิดชอบสงสัย ให้ดูลมหายใจเข้าออกหรือความว่าง ให้ใจอยู่กับความว่าง



ในชีวิตประจำวันของเราก็เอามาใช้ได้ สังเกตดูว่าขณะนี้อารมณ์จิตใจเราเป็นยังไง มันรู้สึกยินดีพอใจในรูปเห็นเป็นของสวย หัวใจเริ่มหลงตัวเอง ท่านก็ให้ดูกายว่าจริง ๆ ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เป็นของสกปรก



ถ้าจิตกำลังลังเลสงสัยก็ดูลมหายใจ หรือตอนนี้จิตโกรธก็เจริญเมตตา คือสังเกตอารมณ์จิตปัจจุบันว่าเป็นยังไง ก็ทำไปตามจริตเรา เหล่านี้เป็นสมถะเพื่อให้จิตสงบ



ท่านสอนว่า เมื่อเราเจริญสมถะ วิปัสสนาก็ซ่อนอยู่ในที่เดียวกัน วิปัสสนามีไตรลักษณ์เป็นอารมณ์



เช่นแป๋วแหววกำลังเพลินหลงว่าผิวสวยจัง เริ่มฟุ้งซ่านแล้วก็ทำสมถะโดยพิจารณาความตาย มรณังเอ๊ยมรณัง อีกหน่อยผิวนี้ก็ต้องเxxx่ยว ต้องตาย ต้องเน่าไปสลายไป เมื่อจิตสงบจากสมถะ ใจก็ค่อย ๆ ลดลงจากฟ้ามาติดดินตามเดิม แล้วก็เห็นความเป็นทุกข์ของผิวหนัง คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นอนิจจัง ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน เป็นอนัตตาบังคับให้สวยไปนิรันดร์ไม่ได้ เห็นไตรลักษณ์ของสังขารอย่างนี้แล้วก็จะทำปัญญาให้ก้าวหน้าไปตามลำดับจนแจ้งวิปัสสนาได้



สมถะเป็นอุบายให้จิตสงบ วิปัสสนาเป็นอุบายให้จิตมีปัญญา จิตสงบน้อยปัญญาก็เห็นน้อย จิตสงบมากปัญญาก็เห็นมาก หลวงพ่อชาจึงบอกว่ามันมาพร้อมกัน เหมือนมะม่วงจะลูกเล็ก ลูกกลาง ห่าม สุก ก็อยู่ในใบเดียวกัน”





เอิงเอยหยุดดื่มน้ำอึกใหญ่ แป๋วแหววยิ้มเงียบ ๆ มองเอิงเอยตาแป๋ว



“แป๋วแหววว่าพอจะหยุดให้สงบ มันจะยิ่งไม่สงบเข้าไปใหญ่”



“ใจคนเราที่ยังไม่ได้ฝึก ท่านว่าเหมือนลิง มันวิ่งไปทั่ว ทำสมถะก็เหมือนเอาเชือกมาผูกคอลิงไว้กับหลัก มันวิ่งวนไปวนมาเชือกพันหลักไปเรื่อย ๆ ก็สั้นเข้า ๆ มันก็จะมาหยุดอยู่กับหลักในที่สุด



หลวงพ่อปราโมทย์ ท่านเทียบให้ฟังว่า “เหมือนเด็กมาวิ่งเล่นหน้าบ้านเรา สมถะคือเราต้องเอาขนมไปล่อให้เด็กมันหยุดซน มันจะได้มานั่งนิ่งๆ “



การทำสมถะกับวิปัสสนานี่ บางคนก็ทำสมถะก่อน คือ พอให้จิตใจสงบลงดีแล้วก็พิจารณาความเป็นจริงของกายใจไปว่ากำลังเป็นยังไง แต่บางคนก็ถนัดที่จะพิจารณาไปเลย โดยไม่ทำสมถะก่อน แต่เมื่อพิจารณาไปเกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์แล้ว จิตก็สงบลงเองเหมือนกัน เรียกว่า สมาธิที่เกิดจากวิปัสสนา แต่ทั้งสองอย่างก็เป็นไปเพื่อเห็นธรรมะเหมือนกัน แล้วแต่ความชำนาญ”







“วิปัสสนาทำยังไงนะ” แป๋วแหววถามยานคาง



“ตามดูกายเช่น เราอยู่ในท่าไหน ยืนอยู่ เดินอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ ให้รู้สึกตัวบ่อย ๆ หรือตามดูใจเรา ว่าตอนนี้กำลังรู้สึกอะไรอยู่ กำลังโกรธอยู่ กำลังดีใจ กำลังเศร้า กำลังหดหู่ หรือใจสงบก็รู้ว่าใจสงบ



หลวงพ่อปราโมทย์ ท่านเทียบวิปัสสนาว่า “อารมณ์ต่าง ๆ เหมือนเด็กข้างบ้านมาเล่นหน้าบ้านเราเจี๊ยวจ๊าวเชียว ลูกใครก็ไม่รู้ไม่ใช่ลูกเรานี่ เรานั่งดูมันอยู่บนระเบียงเฉย ๆ ดูไปเรื่อย ไม่ลงไปพยายามจับให้เด็กนั่งนิ่งๆ หรอก ดูอย่างเดียว”



แต่ท่านบอกว่าให้ตามดูตามรู้ไปเฉย ๆ ไม่ใช่ไปเพ่งจ้องเอา”



“เกือบรู้เรื่องแล้ว” แป๋วแหววหัวเราะ เอิงเอยเล่าต่อ



“ใครมาว่าให้เราโกรธ ใจเราโกรธ เราก็รู้ทันว่ามันโกรธ โกรธคือสิ่งที่เกิดกับใจเรานี่ เราก็รู้มัน เดินไปเห็นดอกไม้สวยรู้สึกชอบก็ให้รู้ว่าชอบ เพราะชอบเกิดที่ใจ ไม่ใช่ไปรู้ว่าดอกไม้สวยนะ เพราะนั่นมันดอกไม้ ไม่ใช่ใจเรา แป๋วแหววคิดถึงแฟนคิดถึงให้รู้ว่าคิดถึง”



“โอ๊ย คิดถึงจัง” แป๋วแหววหัวเราะ



“สภาพจิตเป็นยังไง เราคอยรู้ รู้อยู่ด้วยสติ ใจโลภรู้ว่าโลภ ใจหลงรู้ว่าหลง มีแต่ตัวรู้ รู้อยู่ตลอดเวลา คอยรู้”



“รู้แล้วเป็นยังไง”



“รู้แล้วสภาพอารมณ์นั้นมันจะหายไป เราก็ตามรู้ไปเรื่อย เกิดอะไรขึ้นกับใจ ตามรู้ให้ทันกับอารมณ์ที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า รู้ซ้ำติดต่อกันไป จนปัญญาก้าวหน้าไปตามลำดับจนเห็นไตรลักษณ์ก็เป็นวิปัสสนา



วันหนึ่งใจมันพัฒนา มันจะเรียนรู้เองว่า อะไร ๆ มันไม่เที่ยงเป็นทุกข์ บังคับไม่ได้ เช่น เราคิดถึงแฟน แต่อีกเดี๋ยว เราไปคิดถึงข้าวเหนียวหมูปิ้งแล้ว คือมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จะไปบังคับว่าให้คิดถึงอย่างเดียวตลอดมันก็ไม่เชื่อนะ บังคับมันไม่ได้หรอก 3 อย่างนี้ อนิจจังความไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ อนัตตาบังคับไม่ได้นี่ เขารวมกันเรียกว่าไตรลักษณ์”



“ไตรลักษณ์ ลักษณะ 3 อย่าง “ แป๋วแหววแปลศัพท์พลางยิ้มหวาน



“ใช่ พอเราฝึกตามรู้นาน ๆ เข้า ใจมันจะเห็นไตรลักษณ์เองเขาเรียกว่าเกิดปัญญา ปัญญาคือการตามรู้ตามความเป็นจริง ว่ากายใจเรานี่เป็นเพียงธรรมชาติที่มันเกิดดับ เช่น เมื่อกี๊คิดถึงแฟนตอนนี้ลืมไปแล้ว คือมันดับไปตอนหนึ่งแล้ว เดี๋ยวอาจจะคิดถึงใหม่ เป็นต้น เกิด ๆ ดับ ๆ “



“คิดถึงใหม่ก็ตามรู้ใหม่” แป๋วแหววหัวเราะอีก



“ใช่ ก็เกิดดับอีก อย่างนี้ พอใจมันเห็นไตรลักษณ์มากๆ เข้า มันเกิดปัญญา มันก็จะเห็นว่าน่าเบื่อ ยึดอะไรไว้ไม่ได้สักอย่าง เพราะธรรมชาติมันเป็นของมันอย่างนั้นเอง ใจมันเบื่อมันก็เกิดความอยากคลายออก อยากวาง ขี้เกียจยึดแล้ว ทำให้ไม่เอาสาระกับพวกอารมณ์ต่าง ๆ ที่คอยฉิวไปฉิวมาผ่านใจเรา มันปล่อยวาง เราก็สบาย ไม่ต้องทุกข์”



“นิพพานัง ปรมัง สุขัง” แป๋วแหววเก่ง เอ่ยบาลีที่เคยได้ยินมา เอิงเอยสาธุ



“เวลาดูจากภายนอกของคนที่ฝึกนั่งนะ จะเห็นว่าเหมือนกัน คือเราไปเห็นเขานั่งเฉย ๆ นั่งนิ่งเงียบ แต่การตามรู้ตามดูข้างในไม่เหมือนกัน



สมถะเขาพยายามทำให้ใจนิ่ง



แต่วิปัสสนา เขานั่งนิ่ง แต่ในใจเขาตามรู้ว่ากำลังคิดละกำลังปวดล่ะ กำลังรำคาญ กำลังสุขใจ ฯลฯ



แล้วเวลากลับไปบ้าน เขาก็ยังตามรู้ให้ได้บ่อย ๆ นะ รู้กาย รู้ใจ ใครพูดให้โกรธรู้ว่าโกรธ อยากกินขนม อยากรู้ว่าอยาก ไปช้อปxxxงเห็นเสื้อสวย โอ๊ยชอบ ชอบรู้ว่าชอบ รู้ให้ทันสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจเรา แต่อย่าปรุงแต่งต่อนะ ไม่ใช่ชอบแล้ว อยากซื้อ รู้ว่าอยาก แล้วซื้อเลย อันนี้โดนกิเลสเอาไปเจี๊ยะแล้ว ผิดฉมัง”



“อ๋อ งั้นอยู่บ้านก็ทำได้” แป๋วแหววร้อง



“ใช่ แต่พอทำจริง ๆ นะ รู้เช้าครั้งหนึ่ง แล้วเผลอไปทั้งวันไปนึกได้อีกที เย็นละ หลวงพ่อบอกว่า หน้าที่ของเรา ทำความรู้สึกตัวให้เกิดบ่อย ๆ อย่าเผลอยาว และอย่าถลำลงไปอยู่ในโลกของความคิด และใจเราเป็นยังไงก็รู้ทันลงไป ท่านบอกว่า ถ้าหากเราสามารถคิดนิดเดียวว่า ปัจจุบันนี้กำลังรู้สึกอะไร รู้หมดเลยเรียกว่าปฏิบัติ”





“แต่แป๋วแหววควรจะรู้นิดหนึ่งว่า ถ้าใครปฏิบัติสมถะแล้วในขั้นแรก ได้จิตสงบแล้วนี่ ควรจะมาวิปัสสนา มาพิจารณาสังขาร คือกายใจโดยความเป็นไตรลักษณ์



เพราะว่ามีบางคนที่พอจิตสงบแล้ว ก็ยังสงบลึกต่อไปอีกเรื่อย ๆ ไม่หยุด เขาเรียกว่าได้ฌาน อันนี้สงบมากจริง แต่ไม่ได้ปัญญา นอกจากจะกลับมาทำวิปัสสนาต่อ ไม่อย่างนั้นจะได้แต่ฌาน ฌานมีตั้ง 8 ขั้นนะ ถ้าตายไปตำราว่าจะได้ไปเกิดเป็นพรหมแต่ถ้าหมดบุญเมื่อไหร่ก็กลับมาเกิดเป็นคนอีก เรียกว่ายังเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสารนี่แหละ ยังไม่ไปไหน ทางนี้จึงไม่ใช่เป้าหมายที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้ชาวพุทธไป



พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เราวิปัสสนา เพราะปลายทางคือนิพพาน พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด พ้นจากสังสารวัฏ นี้ไป ไม่ต้องมาเป็นทุกข์กันอีก







แป๋วแหววห่อไหล่ “ไม่น่าจะไม่ยาก คงอีกนาน”



เองเอยให้กำลังใจ “คิดถึงสังสารวัฏเขาไว้แป๋วแหวว พระพุทธเจ้าตรัสว่า



“ราตรีของผู้ตื่นอยู่ ยาวนาน

โยชน์หนึ่งของผู้เมื่อยล้าแล้ว ไกล

สังสารวัฏของคนพาลผู้ไม่รู้พระสัทธรรม ยาวไกล”

เราฝึกนานสักสิบปียี่สิบปี ก็ยังสั้นกว่าสังสารวัฏนะ แป๋วแหวว อย่ารอช้า”



แป๋วแหววยิ้มไปถอนหายใจไปเฮือกๆ เอิงเอยบอกว่า “ค่อย ๆ ฝึกไป ไม่ต้องเร่งรัดมาก เดี๋ยวเครียด ต้องถือทางสายกลางเอาไว้ แป๋วแหววอาจจะได้เป็นโสดาบันก็ได้ใครจะรู้ เราไม่รู้หรอกว่า เราสร้างบุญมาแล้วเท่าไหร่ แป๋วแหววอาจจะสร้างไว้แยะก็ได้”



“คิดถึงพาหิยะเข้าไว้ แป๋วแหวว” แป๋วแหววร้องเชียร์ตัวเองด้วยเรื่องพาหิยะ ผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเพียงว่า “ขอเธอจงเห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน เมื่อนั้นเธอจักไม่มีในโลก” เท่านั้นเอง พาหิยะผู้สะสมบุญมาเต็มเปี่ยมแล้วในชาติก่อน ก็บรรลุอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ทันที”



เอิงเอยหัวเราะตาม ตบมือเชียร์แป๋วแหวว



“ใช่แล้ว แป๋วแหวว คิดถึงพาหิยะเข้าไว้”



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 12 เม.ย.2005, 8:52 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เมตตาตัวเอง



เย็นวันนี้ บุษบารำไพพาคุณยายมาเดินเล่นออกกำลังกายที่สวนรถไฟ คุณยายรู้สึกเบิกบานที่ได้เดินชมดอกไม้สวย ๆ ที่ปลูกอยู่ข้างทางเดิน เด็กชายเล็ก ๆ คนหนึ่งวิ่งเล่นอยู่บนสนามใกล้แนวต้นลั่นทมที่กำลังออกดอกสีแดงไปทั่ว แกสะดุดเท้าตัวเองเล็กน้อย จนทำท่าเซถลาไปข้างหน้า แต่ก็ตั้งตัวได้ ก่อนที่จะหกล้มลงไป คุณยายร้องอุ๊ยเบาๆ พลางทำท่าเหมือนจะประคองไว้ ทั้งที่อยู่ห่างกันตั้งไกล



บุษบารำไพหัวเราะเบาๆ เอ็นดูทั้งเด็กและคุณยายที่กำลังพึมพำเบา ๆ ว่า “ขอให้เป็นสุขเป็นสุขนะลูก”



“แกเป็นสุขอยู่แล้วนี่คะ คุณยายขา” บุษบารำไพเอ่ยยิ้ม ๆ



“ก็ให้แกเป็นสุขมากขึ้น”



“คุณยายแผ่เมตตาประจำเลยนะคะ”



“ใช่จ๊ะ ยายชอบปฏิบัติเรื่องแผ่เมตตา มันสบายใจดี” คุณยายยิ้มอย่างมีความสุข ดวงหน้าอิ่มเอิบผ่องใส



“การแผ่เมตตานี่ เราแผ่ไปได้ตลอดเวลา เมตตาคือปรารถนาให้ผู้ที่เราพบมีความสุข ส่วนกรุณาคือ ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ มันก็จะมาคู่กันเสมอ เพราะเมื่อเราอยากให้เขาเป็นสุข เราก็อยากช่วยให้เขาพ้นทุกข์”



“เวลาคุณยายสวดมนต์เสร็จ หนูก็เห็นคุณยายนั่งแผ่เมตตาด้วย นานเชียว” บุษบารำไพเข้าประคองแขนคุณยายขณะเดินข้ามสะพาน



“อันนั้นเราแผ่ให้หลาย ๆ คน แต่เราควรจะแผ่เมตตาให้ตัวเองก่อนนะจ๊ะ ท่านมีบทสวดที่ว่า ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข เพื่อให้เราเป็นพยานกับตัวเองว่าเราเองก็อยากจะมีความสุข คนอื่นเขาก็อยากมีความสุขเหมือนกัน แผ่ให้ตัวเองแล้ว ก็แผ่ให้คนอื่น คนที่มีพระคุณ คนที่เรารัก แม้แต่คนที่เราเฉย ๆ หรือคนที่เราไม่ชอบเราก็แผ่ให้ แผ่ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายใน 31 ภูมิเลย”



“แผ่ให้คนที่เกลียดกันนี่ลำบากหน่อยนะคะ คุณยายขา” บุษบารำไพหัวเราะเบา ๆ ส่ายหน้าเล็กน้อย เธอยกไม้ยกมือตามกลุ่มคนที่กำลังเต้นออกกำลังกายไปตามเสียงเพลงอยู่กลางสนาม คุณยายยืนพักพลางแกว่งแขนเบา ๆ



“การแผ่เมตตาให้คนที่เราเกลียด ก็ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปรักเขา แต่หมายความว่าเราจะไม่ไปคิดร้ายเขา แล้วการแผ่ไปให้เขาบ่อย ๆ ก็อาจมีอานิสงส์ ทำให้เขากลับมาดีกับเราได้ เราเองก็ไม่ควรจะนึกเกลียดใครด้วย มันทำให้เราไม่สบายใจ”



“แต่ความที่มันรู้สึกไม่ชอบมันก็ยากนะคะ”



“เราไม่ได้มองที่ความเป็นเขาในนิสัยที่เราไม่ชอบ ตอนที่เราแผ่เมตตา เรามองว่าเขาเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ดิ้นรนอยู่ในสังสารวัฏเหมือนกัน มันเป็นทุกข์โศกของสังสารวัฏ ขอให้เขาเป็นสุขเถิด เพราะเขาเองก็มีความทุกข์ในใจเขาเหมือนกัน เขาก็ทุกข์ร้อนในแบบของความเป็นเขานั่นแหละ ที่เราไม่ชอบเขาเพราะเขาไม่ถูกใจเรา แต่เราเองก็ไม่ได้เป็นที่ถูกใจคนอื่นไปทั้งหมดเหมือนกันไม่ใช่หรือจ๊ะ ก็จะมีคนไม่ชอบใจเราเหมือนกัน ไม่มีใครเป็นที่รักของคนทั้งโลกได้”



........................



บุษบารำไพพาคุณยายเข้าไปนั่งในซุ้มไม้ที่ดอกจันทร์กระจ่างฟ้าสีเหลืองห้อยย้อยลงมา หนุ่มสาวคู่หนึ่งเข็นรถเด็กทารกแฝดผ่านมา เสียงเพลงจากลำโพงของสวนยังคงขับกล่อมผู้มาเดินเล่นให้เพลิดเพลิน สายลมพัดมาเบา ๆ



“การแผ่เมตตาให้ตัวเองนี่ ไม่ใช่เพียงเพื่อเป็นพยานให้ตัวเองก่อนแผ่ให้คนอื่นเท่านั้นนะ เวลาปกติ เราก็ต้องเมตตาตัวเองด้วย” คุณยายเริ่มคุยต่อ เมื่อนั่งพักได้สักครู่



“เมตตาตัวเองคือยังไงคะ คุณยายขา” บุษบารำไพลงมือนวดคุณยายเบา ๆ



“อย่างบางคนไม่ชอบข้อบกพร่องของตัวเอง เช่นไม่ชอบที่ตัวเองมักโกรธ ก็จะหงุดหงิดเมื่อเห็นตัวเองโกรธง่าย แล้วก็พยายามกดดัน บังคับนิสัยขี้โกรธนี้ให้หายไป ซึ่งมันก็จะไม่หายไป ทำให้ตัวเองยิ่งไม่มีความสุขเข้าไปใหญ่ เขาต้องเมตตาตัวเองเห็นและยอมรับว่าตัวเองเป็นคนขี้โกรธ แล้วก็ค่อย ๆ แก้ไขไปคราวใดที่พลาดไป โกรธไปแล้วก็ไม่ต้องต่อว่าตัวเองซ้ำลงไปอีก ในตอนนั้นน่ะเมตตาตัวเอง ให้โอกาสตัวเองอีกครั้งที่จะฝึกแก้ไขใหม่”



“อันนี้เหมือนมีสองคนในตัวเราสิคะคุณยาย คนหนึ่งโกรธ อีกคนเมตตาคนที่โกรธ” บุษบารำไพนึกภาพตาม



“ทำนองนั้นแหละ” คุณยายพยักหน้า บุษบารำไพตั้งสังเกต “บางคนขี้โกรธ แต่ก็ชอบความโกรธของตัวเอง ได้โว้กว้ากใส่คนอื่น เวลาฉันโกรธใครก็เข้าหน้าไม่ติด มีทิฐิว่าตัวเองมีอำนาจรู้สึกว่าฉันใหญ่นะใครอย่ามาแหยม เห็นใคร ๆ กลัวก็เหมือนกับว่าจะเท่ดี หารู้ไม่ว่าเขาเบื่อไม่อยากจะยุ่งด้วยต่างหาก”



คุณยายเสริมว่า “คนขี้โกรธไม่ดี ควรหัดเลิก ใคร ๆ ก็รักคนใจเย็น ใจดี พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ ไม่มีเคราะห์ใดเสมอด้วยโทสะ” เพราะโทสะพาแต่เรื่องเคราะห์ร้ายมาให้อยู่เสมอ



พระพุทธเจ้าทรงสอนภิกษุว่า ให้วางความโกรธ ท่านสอนขนาดว่า ถ้ามีโจรมาทำร้ายมาตัดแขนตัดขา ถ้าภิกษุโกรธตอบนี่ ถือว่าไม่ได้ทำตามที่พระพุทธเจ้าสอนเลยนะจ๊ะ ท่านทรงสอนให้มีเมตตาให้มาก เมตตาคือสิ่งตรงข้ามกับโทสะ เราจะลดความโกรธได้นี่ต้องใช้เมตตามาลบล้างกัน พระองค์สอนให้เรามีเมตตาให้มากอยู่ 4 ข้อ ข้อแรก ให้มีเมตตาให้มากเหมือนแผ่นดินที่ใครจะขุดให้หมดไม่ได้”



“โอ้โฮ” บุษบารำไพร้อง “อะไรมันจะมากได้ขนาดนั้นคะ คุณยายขา” แล้วก็หัวเราะ คุณยายยิ้มสบายใจ



“ใช่จ้ะ มากมายมหาศาล ถ้าเรามีเมตตามากอย่างนั้น ใครจะมาทำให้เราโกรธได้”



“แล้วข้อ 2 อะไรคะ คุณยาย” บุษบารำไพอยากรู้ความน่าสนใจของข้อต่อไปทันที



“ข้อ 2 คือให้มีเมตตามากเหมือนเราเป็นแม่น้ำคงคา ที่ใครจะเอาคบไฟมาจุดให้ติดไม่ได้ จุ่มลงมาทีไรต้องดับไปหมดเองใครหรืออะไรที่จะมาทำให้เราโกรธนี่ มาถึงไม่มีปัญญาทำให้เราโกรธดับไปเองเหมือนคบไฟที่เจอแม่น้ำ”



“คือพร้อมที่จะเป็นที่พึ่งพิงให้ความสบายแก่เหล่าสัตว์โดยทั่วหน้า” คุณยายเสริม แล้วเล่าเรื่องเมตตาต่อไป



“ข้อ 3 คือ ให้เรามีเมตตาให้เหมือนอากาศที่ใครจะวาดภาพให้ติดไม่ได้”



“งง ค่ะ คุณยายขา “ บุษบารำไพหัวเราะ



“หมายความว่า อารมณ์ร้ายที่เข้ามาหาเรา มันไม่สามารถเกาะติดอยู่กับเราได้ เหมือนวาดสีไปบนอากาศ จะให้สีติดอากาศลอยอยู่ไม่ได้ คือ เมตตาเรามากจนดับโทสะ ดับอารมณ์ร้ายที่เข้ามาได้นั่งเอง”



“อ๋อ พอโทสะเข้ามาถึงเรา ก็ร่วงปึ๊ดลงไปเหมือนสะบัดสีไปในอากาศ สีก็ร่วงลงไปหมด “ บุษบารำไพหัวเราะหึ ๆ คุณยายเล่าต่อ



“ข้อ 4 ให้เหมือนถุงหนังแมวที่ใครจะตีให้ดังไม่ได้ ถุงหนังแมวนี่มันนุ่มมาก ตีเท่าไหร่มันก็ไม่ดัง คือเรามีเมตตามาก ใครจะมายั่วให้เราโกรธ คือให้เสียงดังตอบเขาบ้าง หรือทำอะไรตอบโต้กลับไปบ้างอย่างที่เขาต้องการนี่ ทำไม่ได้”



บุษบารำไพยกมือขึ้นเหมือนเด็กนักเรียนตอบครู



“อย่างนี้มาหาหนูได้ หนูจะเป็นหนังวัวที่ขึงหน้ากลอง ตีเบา ๆ ก็ดังลั่นเลย” พูดแล้วก็หัวเราะแล้วรีบประจบคุณยาย



“ล้อเล่นนะคะคุณยายขา หนูเด็กดี ใจเย็น ไม่โวยวายใครหรอกค่ะ”



คุณยายหัวเราะเบา ๆ



“คนที่โวยวายน่ะ ไม่มีอะไรหรอก ท่านสอนว่า คนมีดีเขาเงียบ เหมือนโอ่งน้ำที่มีน้ำเต็ม เราตีข้างโอ่งมันจะเงียบ แต่โอ่งเปล่านี่สิ ตีเบา ๆ ก็ดังกังวาน”



“แล้วเราจะมีเมตตามากขนาดพระพุทธเจ้าสอนได้ยังไงคะคุณยายขา”



“ก็ค่อย ๆ ฝึกไป เปิดใจออกมองเห็นความธรรมดาของโลกความธรรมดาของคน มีเรื่องอะไรกันเราก็ว่า “ไม่เป็นไร” หัดมีเมตตาต่อใคร ๆ ไปเรื่อย ๆ มันก็มากขึ้นได้เอง เหมือนคลองเล็ก ๆ ถ้ามีน้ำมากผ่านมาบ่อย ๆ ก็กลายเป็นแม่น้ำได้ อย่างแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อก่อนก็เป็นคลองเล็ก ๆ มาเหมือนกัน เป็นคลองเชื่อมบางกอกใหญ่กับบางกอกน้อย เดี๋ยวนี้กลายเป็นแม่น้ำ



อีกอย่างหนึ่งคือ พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนมรณานุสติให้เราระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ท่านถามพระอานนท์ว่า วันหนึ่งระลึกถึงความตายกี่ครั้ง พระพุทธเจ้าเองระลึกถึงความตายทุกลมหายใจ ถ้าเราระลึกถึงความตายบ่อย ๆ แล้ว จะรู้สึกว่าเราจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แล้วจะโกรธไปทำไม



การหัดมีเมตตามาก ๆ ก็เป็นการเมตตาตัวเองอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะถ้าเราหัดได้แล้ว มีเมตตามากได้แล้ว เราก็จะมีความสุขมีความเย็น ถ้าเราขี้โกรธนั่นเราทำร้ายตัวเอง ไม่เมตตาตัวเอง คอยทำให้ตัวเองเร่าร้อนพลุ่งพล่านไปด้วยความโกรธอยู่เสมอ ๆ ไม่เมตตาให้ตัวเองได้มีชีวิตที่มีความสุขความสบายใจของอย่างนี้เราไม่ทำให้ตัวเอง จะคอยให้ใครมาทำให้ จะมาหวังว่าให้คนอื่นมาดีกับเราตลอดเวลา เราจะได้ไม่ต้องโกรธงั้นหรือ เราจะไปหวังคนอื่นได้อย่างไร เขาก็เป็นเขา เราเองต่างหากที่ต้องทำตัวเราเองให้เป็นที่พึ่งของตัวเราเองได้ เราหัดมีเมตตามากเอง เราก็เย็นเอง ถึงใครจะเมตตาเรา ถ้าเรายังร้อน เราก็ร้อนอยู่นั่นแหละ เราต้องเมตตาตัวเอง เย็นเอง สบายเอง”



บุษบารำไพยิ้ม นวดคุณยายต่อ กลับมาถามคุณยายเรื่องเมตตาตัวเองที่คุยค้างไว้ คุณยายยกตัวอย่างเรื่องใหม่



“อย่างคนที่ไม่สบาย ลุกไปทำอะไรไม่ได้ถนัดเหมือนปกติจะหงุดหงิดซ้ำว่าทำไมต้องมาป่วย ทำไมทำอะไรไม่ได้อย่างใจ นี่ต้องเมตตาตัวเองว่าเราป่วยอยู่ ทำไมทำอะไรไม่ได้อย่างนี้ นี่ต้องเมตตาตัวเองว่าเราป่วยอยู่ ทำอะไรได้แค่ไหน แค่นั้นก็ดีแล้วมองในแง่ดี เราไม่ต้องไปชอบมันหรอก ที่เราต้องทำคืออดทนกับมันเข้าใจมัน ไม่ไปเกลียดมันเท่านั้นเอง”



“อดทนกับมันคือยังไงคะ คุณยาย”



“อดทนในที่นี้ก็คือเมตตานั่นแหละ ให้ใจเมตตามัน ให้ใจอดทนที่จะอยู่กับความป่วยไข้ ปล่อยวางความกดดัน เหมือนอย่างถ้าเรามีหลานที่เกเรสักคน เราจะทิ้งขว้างเขาหรือ เรายังอยู่กับเขาอย่างอดทนใช่มั้ย แล้วก็พยายามสอนให้เขาเปลี่ยนเป็นคนดี อดทนที่จะสอนอีกด้วย จะมีเมตตา ต้องอดทนกับสิ่งที่เราเมตตาด้วย แต่อดทนอย่างเมตตา ไม่ใช่อดทนอย่างเก็บกด ไม่ถูก”



คุยมาถึงตอนนี้ คุณยายหัวเราะขึ้นมาเบา ๆ



“หลวงพ่อชาเคยเทศน์ว่า ลูกคนมันไม่ใช่ลูกกระสุนนี่ จะได้ยิ่งแล้วทิ้งไป ท่านเทศน์น่ารักดี ยายชอบ”









“อย่างนี้ถ้าบางคนเกเร เป็นอันธพาล เขาจะไม่คิดว่าเขาต้องเมตตาตัวเองที่เกเร แล้วก็เกเรต่อไปหรือคะ คุณยาย” บุษบารำไพตั้งข้อสงสัย



“เวลาเราคุยกันเรื่องธรรมะ เหมือนเราจะละไว้ในฐานะที่เข้าใจว่าเราจะคุยกันโดยมีหลัก 2 ข้อ ว่าสิ่งนั้นดีมั้ย และผิดศีลหรือเปล่า และการฟังธรรมะ เราก็ฟังเพื่อการพัฒนาไปสู่จิตใจที่ถูกต้องดีงาม ทำให้ใจเบาสบายขึ้น



ดังนั้น ถ้าเรื่องเกเร แล้วจะบอกว่าเมตตาให้เกเรมันคงอยู่ต่อไป ฟังแล้วก็รู้ว่าผิดเลย จริงมั้ยหลาน เพราะมันไม่ได้พัฒนาขึ้นไปสู่สิ่งที่ดี”



บุษบารำไพยิ้ม “เขาต้องดูตัวเอง ว่ามีชีวิตที่ไม่ดีอยู่ แล้วเมตตาตัวเองว่าควรจะเปลี่ยนนิสัย เพื่อให้สิ่งดี ๆ กับชีวิตตัวเองบ้าง “



“ใช่ ถูกแล้ว” คุณยายยิ้มรับ



“คุณยายเมตตาตัวเองยังไงมั่งล่ะคะ” บุษบารำไพถามคุณยาย



“ยายก็เมตตาตัวเองว่าแก่แล้ว จะให้คล่องแคล่วเหมือนก่อนนะไม่ได้ มาเดินได้อย่างนี้ก็ดีแล้ว ไม่ได้นึกรังเกียจรำคาญความแก่ของเรา ถ้าเราคอยรู้สึกว่าเราไม่ชอบอะไร ความไม่ชอบนั้นก็จะสร้างทุกข์ขึ้นมาใส่ไว้ในใจเรา เราต้องไม่ปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ความเมตตาคือเราสามารถอยู่กับความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในตัวเรา และที่มาจากภายนอกได้ด้วยความสงบสุข”









คุณยายลุกขึ้นเดินต่อ บุษบารำไพพยุงคุณยายเล็กน้อย



“ความรู้สึกต่าง ๆ มันมาแล้ว มันก็ต้องไป อย่างบางวันที่เรารู้สึกหดหู่ เราก็เมตตาคือ ดูมัน ทำความรู้จักกับมันอย่างสงบไม่ต้องไปรู้สึกขับไสไล่ส่ง ความรู้สึกพวกนี้มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้วมันก็ต้องหายไปเอง ถ้าเรายิ่งไปรังเกียจไปขับไส มันก็ยิ่งติดอยู่กับเรานานขึ้นอีก แทนที่จะหายไป กลายเป็นว่าความจดจ่อใส่ใจที่จะขับไล่นั่นแหละ เป็นตัวดึงเอาไว้ เลยทุกข์ไม่เลิก”



“อย่างนี้การเมตตาตัวเองนี่รู้สึกจะได้ใช้มากกว่าการแผ่เมตตาไปให้คนอื่นอีกนะคะคุณยาย เพราะในตัวเราเองนี่มีเรื่องเยอะเลยค่ะ”



“เราก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกัน เราก็ต้องเมตตาตัวเองด้วย เราจะได้มีความสุขความสงบในใจ พอใจเรามีความสุขแล้วเราจึงจะมีความสุขสำหรับจะแผ่ไปให้คนอื่นด้วยนะจ๊ะ”



“จริงสินะคะ คุณยาย ถ้าเราไม่มีความสุขแล้ว เราจะไปบอกว่า ขอให้คนนั้นคนนี้เป็นสุขเป็นสุขเถิดได้ยังไง เหมือนในถ้วยเรา เราเองยังไม่มีน้ำจะกินเลย แล้วจะยื่นให้คนอื่นกิน ก็คงได้แต่กัดถ้วยเหล่าเท่านั้นเองนะคะคุณยาย” บุษบารำไพหัวเราะร่าเริง คุณยายหัวเราะตามเบาๆ ก่อนจะเอ่ยว่า



“ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกจ้ะ แม้ว่าเราเองจะยังไม่มีความสุขเราก็พยายามดูแลจิตใจของเราเพื่อแก้ปัญญาของเราไป แต่เราก็ยังคงปรารถนาจะให้ผู้อื่นมีความสุขได้เหมือนกัน”



“ยังไงล่ะคะ คุณยาย”



“เหมือนอย่างที่ยายจะเดินไม่ไหวแล้ว แต่ยายก็ปรารถนาจะให้หลานวิ่งฉิว ๆ ไปได้ยังไงล่ะ ถ้าต้องรอให้ยายวิ่งได้ฉิวก่อนหลานคงไม่มีโอกาสได้วิ่งแน่ๆ เลย”



บุษบารำไพหัวเราะชอบใจแล้วเข้าหอมแก้มคุณยายฟอดใหญ่ คุณยายหัวเราะอย่างมีความสุข





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 12 เม.ย.2005, 9:55 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กรรมลิขิต



กิ่งหลิวออกไปเดินช้อปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้ากับชมเพลินผ่านร้านตัดขนสุนัข ชมเพลินก็หัวเราะคิกคัก ยืนดูลูกหมากำลังให้ช่างเซตขน บอกกิ่งหลิวว่า



“หมามีบุญ”



“ช่าย” กิ่งหลิวรับคำ “ แต่อย่าไปนึกอิจฉาหมาเชียว เดี๋ยวไปเกิดเป็นหมา”



ชมเพลินทำตัวสั่น พลางหัวเราะ กิ่งหลิวพูดต่อ



“สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม นี่แสดงว่าหมาตัวนี่ทำบุญมาเยอะ แต่มีความหลงผิดบางอย่าง เลยทำให้ตกภพภูมิของเดรัจฉาน ต้องมาเกิดเป็นหมา แต่ก็เป็นหมาสบาย”



“เกิดเป็นคน บางทียังลำบากกว่าหมาเลยแนะ” ชมเพลินเอ่ยบ้าง “เขาเรียกว่าอะไรนะ มีกรรมเป็นกำเนิดใช่มั้ย”



กิ่งหลิวพยักหน้า “ใช่ มีกรรมเป็นกำเนิด เคยทำกรรมอะไรไว้ ก็ส่งผลให้มาเกิดเป็นอย่างนั้น คนที่เกิดมาลำบากมาก ๆ แม้ชาตินี้จะมองดูว่า เอ๊ เราไม่เคยทำไม่ดี แต่ชาติก่อนคงได้ทำอะไรไว้แหละ จึงมีผลอย่างที่เห็น เพราะวันนี้ของเราเป็นผลมาจากการทำเหตุไว้จากชาติก่อน อาจารย์สอนว่า ชีวิตมนุษย์เป็นเหมือนสนามทดลองแรงกรรม”







ทั้งสองพากันไปนั่งพักที่เก้าอี้ ซึ่งตั้งอยู่ริมทางเดิน มองดูผู้คนที่เดินผ่านไปมา กิ่งหลิวมองดูชายคนหนึ่ง นั่งเหม่อลอยอยู่บนเก้าอี้เยื้อง ๆ กัน ชมเพลินเอ่ยขึ้น



“บางคนชอบพูดว่า ศาสนาพุทธ อะไร ๆ ก็ยกให้กรรมหมด เลยไม่ต้องทำอะไร”



กิ่งหลิวตอบว่า “การรู้เรื่องกรรม ไม่ใช่การรู้เพื่อจะทอดธุระปล่อยชีวิตให้ล่องลอยไปตามเพลงกรรม เหมือนใบไม้ที่ลอยสะเปะสะปะไปในสายน้ำอย่างไร้จุดหมาย แล้วแต่กระแสน้ำจะพาไป



หากแต่การรู้เรื่องกรรม เพื่อจะได้รับรู้ว่าเพราะเหตุใดเราจึงมามีชีวิตอยู่อย่างนี้ เช่น มามีปัญญาตั้งร้านขายของอย่างนี้ มีปัญญาเดินช้อปปิ้งอย่างเรา หรือทำไมต้องลำบากยากจนเหน็ดเหนื่อย ทำไมบางคนจนแต่สบายใจ ทำไมเศรษฐีรวยแต่โดดเดี่ยว บางคนสวยบาดใจแต่ก็ไม่ฉลาด



เมื่อเราเรียนรู้เรื่องกรรม เราจะรู้ว่าเราทำอะไรกับชีวิตของเราได้บ้าง พระพุทธเจ้าทรงสอนวิธีสร้างบุญสร้างกุศลให้เราไว้แล้ว เมื่อเราทำตาม ก็จะสามารถมีชีวิตปัจจุบันที่ดีขึ้น และมีอนาคตที่ดีเป็นจุดหมายได้ เหมือนเรือที่แข็งแรง ซึ่งเราผู้เจ้าของเรือเรียนรู้วิธีถือหางเสือ นำเรือล่องไปในสายน้ำอย่างปลอดภัย และมีจุดหมายปลายทางคือความสงบเย็นของชีวิต”



ชมเพลินยกมือทักทายกับเด็กน้อยผมยาว หน้าตาเหมือนตุ๊กตาเจ้าหญิง วิ่งนำหน้าพ่อแม่มาอย่างสนุกสนาน แล้วมาหยุดยืนดูทั้งสองคุยกัน เมื่อได้รับการทักทาย ก็ออกวิ่งต่อไปอย่างร่าเริง



ชมเพลินเอ่ยว่า “บางคนชอบว่าศาสนาพุทธ เป็นศาสนาของการมองโลกในแง่ร้าย เพราะสอนแต่เรื่องทุกข์ เรื่องกรรม ฟังแล้วหดหู่ทำนองนั้น”



กิ่งหลิวหัวเราะเบา ๆ “เวลาพูดเรื่องกรรม คำว่ากรรม มักจะฟังดูเหมือนเป็นตัวแทนของคำว่าบาป นั่นเพราะเราไปแทนคำว่ากรรมดีด้วยคำว่าบุญ ความจริงกรรมคือการกระทำ เป็นคำกลาง ๆ ทำกรรมดีคือทำบุญ ทำกรรมชั่วก็คือทำบาป แต่พวกเรากลัวผลบาปกันไง อยากทำบาปแต่กลัวผลบาป เช่น อยากตีหัวเขา แต่อยากให้เขาไม่โกรธเรา แล้วก็อยากไม่ทำบุญ แต่ได้ผลบุญ เช่น ไม่อยากให้ทาน แต่อยากรวยขึ้นมา ตอนเช้าก็ให้มีฝนเงินฝนทองตกลงมาที่บ้าน”



ชมเพลินหัวเราะ “ตกบ้านตัวเองคนเดียวเลยนะ ห้ามกระเด็นไปข้างบ้านเชียว”



กิ่งหลิวหัวเราะ ขำท่าทางประกอบที่ชมเพลินทำให้ดู



“แล้วพระพุทธเจ้าสอนเรื่องความทุกข์ ไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้าย หากแต่สอนให้รู้จักกับตัวทุกข์ ว่ามันมีทุกข์อะไรบ้าง ทุกข์ยังไง กิเลสอะไรมันทำให้เราเกิดทุกข์ พอรู้จักทุกข์แล้ว ก็ทรงสอนถึงวิธีดับทุกข์ว่าจะต้องทำยังไงมั่ง นี่เป็นเรื่องธรรมดาของการสอนเหมือนอย่างถ้าเราอยากจะเรียนวิธีดับไฟ เราก็ต้องรู้จักไฟเสียก่อนจริงมั้ย คนพูดน่ะเขาพูดไม่ตลอดทาง พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องทุกข์แล้วจนที่ไหนล่ะ อริยสัจ 4 สอนให้รู้จักทุกข์ ให้รู้จักเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ แล้วบอกวิธีที่จะทำให้เราดับทุกข์ได้”



“แต่จะดับทุกข็ได้ เราก็ต้องทำเอง” ชมเพลินต่อให้กิ่งหลิวยิ้มพยักหน้า



“ใช่ พระพุทธเจ้าทรงเตือนว่า ท่านเป็นเพียงผู้ชี้เส้นทางเท่านั้น แต่เราจะต้องเดินไปเอง นี่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ท่านแสดงให้เห็นเหมือนกัน และเป็นเรื่องธรรมดาที่เต็มไปด้วยเหตุผล ตามหลักสัจธรรมคือความจริงตามธรรมชาติ อย่างเราหิวข้าว ท่านก็ชี้ว่าข้าวอยู่นั่นไง แต่เราต้องกินเอง ถึงจะอิ่มได้ คนอื่นมากินแทนเราก็ยังหิวอยู่อย่างนั้นแหละ”



ชมเพลินพยักหน้าหงึกหงัก ขยับหยิบถุงช้อปปิ้ง



“ใช่ หิวแล้ว ไปหาอะไรกินกันเถอะ”









ทั้งสองลุกขึ้นเดินไปขึ้นลิฟต์เพื่อไปศูนย์อาหาร ลิฟต์นั้นเป็นลิฟต์แก้ว มองออกไปเห็นถนนข้างนอกมีผู้คนเดินกันขวักไขว่ มีป้ายโฆษณาภาพยนตร์แผ่นใหญ่ติดอยู่ที่ตึกตรงข้าม เป็นเรื่องของชายผู้หนึ่ง ซึ่งเรียกร้องความยุติธรรมให้กับพ่อที่ต้องติดอยู่ในเรือนจำโดยไม่ได้ทำความผิด ชมเพลินเอ่ยว่า



“บางทีการมองในแบบสั้น ๆ ในช่วงชีวิตของเราก็ทำให้เราไม่เข้าใจ อย่างหนังเรื่องนี้นะ พ่อเป็นคนดีมาตลอด แต่ต้องมาเป็นแพะรับบาป”



กิ่งหลิวมองตาม



“ถ้าเราดูอย่างนั้นก็ใช่ อย่างที่เขาแซวกันว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป นั่นเรียกว่าพูดพล่อยเอาสนุก พูดเพราะไม่รู้สังสารวัฏนี้ยาวนานนัก เราเคยแกล้งไปโยนความผิดให้คนบริสุทธิ์ที่ไหน เมื่อไหร่ เราไม่รู้หรอก แต่ถ้าเกิดสิ่งนี้กับเรา มันเป็นวิบากคือเป็นผลของกรรมอยู่แล้ว แสดงว่าต้องมีต้นเหตุอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ที่คนอย่างเราสาวไปรู้ไม่ได้ ไม่มีปัญญาความสามารถเพียงพอที่จะรู้ได้นี่แหละที่คนดื้อเอามาเป็นจุดเถียงอย่างเอาเป็นเอาตาย”



“เรื่องผลกรรมนี้มีเหตุมาจากอะไรชาติไหนนั่น มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะบอกได้” ชมเพลินต่อให้ เพราะเคยอ่านในหนังสือพบว่า พระพุทธเจ้าทรงตรัสเล่าถึงกรรมในชาติก่อนของคนนั้นคนนี้ไว้มากมาย



กิ่งหลิวพูดต่อ “การให้ผลของกรรมต้องมีแน่นอน จะเร็วหรือช้าเท่านั้น เหมือนต้นไม้เราปลูกต้นเล็ก ๆ ไว้วันนี้ ก็ต้องมีเวลารอให้มันโต จะให้มันทะลึ่งพรวดสูงขึ้นท่วมหัววันพรุ่งนี้น่ะ ย่อมไม่ได้กรรมก็เหมือนกัน คนเกเรก็เลยเข้าใจผิดว่ากรรมไม่ไห้ผลเลยชะล่าใจทำชั่วต่อไป”



ชมเพลินเอ่ยว่า “ถ้ากรรมชั่วให้ผลทันที คงไม่มีใครกล้าทำชั่วนะ”



“ใช่ กรรมดีหรือกรรมชั่วต้องคอยเวลาให้ผลทั้งนั้น คนดีทำดีแล้วต้องใจเย็นรอคอยผลได้ ส่วนคนชั่วอย่าชะล่าใจ มัวแต่มาเถียงคอเป็นเอ็นว่า กรรมชั่วไม่ส่งผล เถียงแล้ว มันก็ไม่เป็นไปตามที่ใจเราต้องการหรอก”



“ใช่ จริงด้วย” ชมเพลินว่า “สิ่งที่เกิดกับเราวันนี้เป็นวิบากที่มันเกิดขึ้นแล้ว สู้รีบทำกรรมใหม่ให้ดี จะได้เจือจางกรรมเก่าลงบ้าง “



ชมเพลินเดินไปซื้อคูปองอาหาร แล้วไปซื้อข้าวน้ำพริกปลาทูมาชุดหนึ่ง กิ่งหลิวกินก๋วยเตี๋ยวเป็ด และคุยไปด้วย



“ความผิดบาปเป็นเรื่องลบล้างกันไม่ได้ แต่ทำให้เจือจางลงได้ เหมือนเอาเกลือมาใส่ในแก้วนี่ ยังไงน้ำนี่ก็ต้องเค็ม แต่ถ้าเอาน้ำเกลือแก้วนี้ไปเทลงในแม่น้ำสิ เกลือก็ยังอยู่เท่าเดิม แต่น้ำไม่เค็มหรอก เหมือนคนชั่วกลับตัวมาทำดีมาก ๆ ชีวิตก็ดีขึ้นได้”



“เรียกว่า เราลิขิตตัวเราเองด้วยการกระทำของเรา” ชมเพลินสรุป “ ศาสนาพุทธจึงเป็นเรื่องของกรรมลิขิต ผู้ลิขิตก็คือตัวเราเอง ไม่ใช่ใครที่ไหน”



กิ่งหลิวเสริมว่า “แล้วศาสนาพุทธก็ยังมีปลายทางคือนิพพาน การไม่ต้องมาเกิดใหม่ให้เป็นทุกข์อีกด้วย เพราะเรารู้แล้วว่าชีวิตนี้มันทุกข์ ฉะนั้น ถ้าจะปฏิบัติให้ถึงทางดับทุกข์ ก็ดับให้สุด ๆ ไปเลย คือไม่ต้องเกิดใหม่ไปเลย ไม่ใช่แค่ทำดีให้ไปสวรรค์แค่นั้นหรอก เพราะความสุขบนสวรรค์ไม่จีรังยั่งยืน ไม่ใช่นิรันดร พอหมดบุญ ก็กลับมาเกิดอีก ทุกข์อีก”



ชมเพลินหัวเราะ “เทวดาตกสวรรค์”



“ใช่ บางคนเสพสุขจนเพลิน เกิดเป็นโมหะหลงผิด ทีนี้อาจจะไม่ใช่มาเกิดเป็นมนุษย์นะ ไม่เป็นตายตัวแบบนั้นว่า พอเทวดาแล้วต้องมาเป็นคนแน่ ๆ ไม่ใช่”



ชมเพลินหัวเราะอีก “ทำผิดมาก ๆ ตกจากสวรรค์ทะลุเลยแผ่นดินมนุษย์ไปตกนรกซะรึเปล่าก็ไม่รู้”



“เราไม่รู้กันหรอก กรรมใครกรรมมัน ต้องทำให้ดี”



ชมเพลินพยักเพยิดให้กิ่งหลิวดู หญิงสาวสวยคนหนึ่งที่กำลังเดินผ่าน เธออุ้มลูกสุนัขตัวที่แต่งขนใหม่ ซึ่งชมเพลินไปดูอยู่หน้าร้านตัดขนสุนัข มันดูสวยขึ้นเยอะเชียว สมกับราคาค่าเสริมสวยของมันที่เข้าของจ่ายให้



“นี่อาจเป็นเทวดาตกสวรรค์ก็ได้นะ บุญเยอะเจ้าหมาน้อยตัวนี้ ดูสิ น่าร้าก น่ารัก”





....... ........
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 12 เม.ย.2005, 10:01 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เบียดเบียนตนเอง



วันนี้แพรตื่นตั้งแต่ตีห้าครึ่ง เพื่อลุกขึ้นมาทำกับข้าวใส่บาตรที่หน้าบ้าน อากาศยามเช้าเย็นชื่นใจ พระสงฆ์เดินอย่างสงบดูน่าเลื่อมใส แพรรู้สึกเป็นบุญที่มามีบ้านอยู่ในย่านที่มีวัดหลายวัด ทำให้มีพระออกบิณฑบาตรมาก ได้สัมผัสถึงวิถีชาวพุทธที่จะได้ทำบุญกับพระสงฆ์ในเวลาเช้า



ตักบาตรเสร็จแล้วเข้าห้องพระนั่งสวดมนต์ แล้วนั่งสมาธิประมาณ 10 นาที พอจิตใจสงบดีแล้วแพรก็นั่งคิดพิจารณาธรรมเนื่องด้วยวันวานได้ฟังเด็ก ๆ กลุ่มหนึ่งสนทนากันว่า



“ถ้าเราทำวันนี้ให้ดีที่สุด ก็น่าจะพอแล้วจริงมั้ย”



อีกคนก็บอกความเห็นของตนว่า



“คนเราถ้าไม่ทำอะไรให้เบียดเบียนตัวเอง และก็ไม่ได้ไปเบียดเบียนคนอื่น ก็น่าจะหาความสุขได้ ไม่ผิด จริงมั้ย”



อีกคนก็บอกความเห็นของตนว่า



“คนเราถ้าไม่ทำอะไรให้เบียดเบียนตัวเอง และก็ไม่ได้ไปเบียดเบียนคนอื่น ก็น่าจะหาความสุขได้ ไม่ผิด จริงมั้ย”



ในตอนแรก แพรยังนึกคำตอบไม่ค่อยออก เปิดตำราไม่ทันแต่ก็รู้สึกว่าคำสนทนาที่บังเอิญได้ยินมานั้นไม่ถูกต้องเสียทีเดียว วันนี้แพรจึงนั่งสมาธิเพื่อจะค่อย ๆ พิจารณาคำตอบให้กับตัวเอง คิดถึงคำสอนของอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เคยสอนไว้ว่าอย่างไร





การทำวันนี้ให้ดีที่สุด แน่นอน เป็นประโยคทองของนักพูด พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้อยู่กับปัจจุบัน ไม่ต้องคิดคร่ำครวญอยู่กับอดีต เพราะทำให้ทุกข์ใจ ไม่ต้องพะวงถืออนาคต เพราะจะกังวลใจ อนาคตเป็นสิ่งที่เรากำหนดไม่ได้ ไม่เป็นไปอย่างใจเราวางแผนไว้ฉะนั้น ก็คือทำวันนี้ให้ดีที่สุด เพราะเมื่อวันนี้ดีแล้ว พรุ่งนี้เราจะมีอดีตที่ดีด้วยโดยอัตโนมัติ



แต่ประโยคนี้ยังไม่จบใจความ ความหมายเต็ม ๆคือ



“การทำสิ่งที่ดีที่สุดของวันนี้ โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น”



“การทำสิ่งที่ดีที่สุดของวันนี้” กับ “การทำวันนี้ให้ดีที่สุด” นั้น ไม่เหมือนกัน ถ้ามีเพื่อนชวนไปกินเหล้า การทำวันนี้ให้ดีที่สุด อาจจะเป็นการไปกินเหล้ากับเพื่อนให้เมาที่สุด สนุกที่สุดก็ได้ ก็เป็นการทำวันนี้ให้ดี คือ ไม่มีอะไรเศร้าหมอง เมาให้สนุก



แต่ที่ถูกแล้ว ไม่ใช่



การทำวันนี้ให้ดีที่สุด ก็ต้องเป็นสิ่งที่ดีด้วย เมื่อเพื่อนมาชวนไปกินเหล้า คำตอบมี 2 อย่าง ไปกับไม่ไป สิ่งที่ดีคือไม่ไป แต่ถ้าทำวันนี้ให้ดี อาจจะไปหรือไม่ไปก็ได้



อันนี้ไปสอดคล้องกับประโยคที่ 2 ของเด็กกลุ่มนั้นที่ว่า “ถ้าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ได้เบียดเบียนตัวเอง แล้วก็หาความสุขได้”



คนกินเหล้า แล้วมีความสุข กินด้วยเงินของตัวเอง เมาแล้วกลับไปนอนเงียบ ๆ อย่างมีความสุข มองดูแค่วันนี้ตรงนี้แล้วน่าจะเป็นการกระทำที่ปลอดภัย ใช้ได้ แต่ก็แค่วันนี้เท่านั้น



การกินเหล้านั้นผิดศีล ถ้ายกเรื่องศีลออก การกินเหล้าก็เบียดเบียนสุขภาพของตนเอง เป็นการเบียดเบียนตนเอง แม้จะโดยเต็มใจ





กรรมคือการกระทำ วิบากคือผลของกรรม ทุกกรรมที่ทำมีวิบาก นี่คือ กฎของกรรม



กินเหล้าจะผิดศีล หรือไม่ถือศีล กรรมได้สำเร็จแล้ว วิบากเกิดไปรออยู่ในอนาคต เราสร้างอนาคตเลวรอตัวเราอยู่เบื้องหน้าตรงนี้เรียกว่าเบียดเบียนตนเอง ทำให้ตัวเองต้องเดินไปพบสิ่งเลวที่สร้างไว้







ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน คำนี้พูดกันเท่ คือคำว่า เดือดร้อนในความหมายของพวกเรา คนชอบเถียง ต้องเป็นขนาดขับรถชนคนตายเสียก่อน จึงจะเรียกว่าทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ถ้าชนต้นไม้ยังไม่ถือว่าทำให้ใครเดือดร้อน



แน่ใจหรือว่าคนรอบข้างที่รักเรา ไม่มีใครสักคนที่เดือดร้อนใจ เป็นทุกข์ที่เรากินเหล้า



แล้วเงินที่กินเหล้า เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง และครอบครัวมากขึ้น น่าจะดีกว่าหรือเปล่า หรือว่าตัวใครตัวมัน





ส่วนท้ายประโยคที่ว่า "….แล้วก็หาความสุขได้" นั้น



ในเส้นทางแห่งพุทธไม่มีคำว่าสุขที่แท้จริง มีแต่ทุกข์น้อย กับ ทุกข์มาก ทุกข์น้อยก็เป็นสุขแล้ว ความสุขมีหลายระดับ ตั้งแต่ศูนย์ถึงร้อย สุขร้อยคือนิพพาน สุขเก้าสิบคืออนาคามี สุขแปดสิบคือ สกิทาคามี สุขเจ็ดสิบคือ โสดาบัน สุขหกสิบคือ กัลยาณปุถุชน สุขห้าสิบคือ คนดีปกติ สุขสี่สิบลงมาถึงศูนย์คือสุขของปุถุชนระดับที่ว่า “เมาแล้วมีความสุขดีนี่นา ทำไมว่าทุกข์ ไม่เข้าใจ พูดเรื่องอะไร” ทำนองนั้น



ระดับต่าง ๆ ที่แพรแบ่งเอง เพื่อความเข้าใจของตัวเองไม่มีในตำรา



การที่เด็กคนนั้น บอกว่า “คนเราหาความสุขได้ ไม่ผิด” นั้น ถ้าคิดแบบปุถุชนคนยินดีพอใจเวียนว่ายตายเกิดชั่วกับชั่วกัลป์อยู่ในสังสารวัฎนี้ ก็เป็นคำพูดที่จริงอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าสำหรับคนปฏิบัติธรรมแล้วก็ไม่จริง



ในศาสนาพุทธแบ่งโลกนี้ออกเป็น 3 อย่าง คือ โลภะ โทสะ โมหะ ความหมายคือ ใด ๆ ในโลกนี้ที่ยังความเพลิดเพลิน พอใจแก่จิตใจ เรียกว่าโลภะหมด เช่นกินก๋วยเตี๋ยวใส่พริกน้ำส้มเผ็ด ๆ โอ๊ย อร่อยชะมัด ชอบ นี่เป็นโลภะแล้ว คือจัดอยู่ในหมวดเกิดความพอใจแก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทางใดทางหนึ่ง



ใด ๆ ในโลกนี้ที่ยังความโกรธ ความโทมนัส เศร้า เสียใจ ร้องไห้ ศัพท์ท่านยกให้โทสะ



ส่วนโมหะ คือ ความหลงไม่รู้ตามความเป็นจริง อย่างที่เราคิดว่าสุขนี่แหละ เป็นต้น



เวลาเรามีความรัก เราคิดว่าเรามีความสุข แต่ที่จริงแล้วมันคือช็อกโกแลตสอดไส้ความทุกข์ไว้ข้างใน พอรักแล้วก็อยากให้เขาเอาใจเรา ไม่อยากให้เขาคุยกับใคร หึง หวง พอเขาหายไปก็เสียใจ พอเขาโผล่มาก็ดีใจ อารมณ์แห่งกิเลสเข้ามาขย้ำหม่ำกินหัวใจเราเข้าไปเท่าไหร่ ๆ เราก็ยังชื่นใจว่ามีความสุขจากการมีความรัก บางทีน้ำตาไหลก็ยังเดินตามเขาไปต้อยๆ หวังว่าเขาจะหันกลับมาแล้วกอดเราปลอบใจ



ความสุขของชาวพุทธ คือการเรียนให้รู้จักตัวทุกข์ รู้จักตับไตไส้พุงของโลภะ โทสะ โมหะ เพื่อจะขึ้นไปอยู่เหนือมันให้ได้ ไม่ยอมอยู่ใต้ฝ่าเท้ามัน ให้มันย่ำยีเล่น



ความสุขของชาวโลก บางครั้งดูเหมือนไม่น่าอันตรายอะไร ยกตัวอย่างเช่น การดูหนัง ฟังเพลง



ในชาดกเล่าว่า ตระกูลฟ้อนรำ ฟ้อนรำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ถึงรุ่นหลาน กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่าจะได้ไปสวรรค์ชั้นไหนเพราะให้ความสุขเพลิดเพลินแก่ผู้ชม พระพุทธเจ้าตรัสว่าต้องไปตกนรก เพราะชาวโลกมีโลภะ โทสะ โมหะ เพลิดเพลินอยู่แล้ว ยังไปทำให้เขามัวเมาเพลิดเพลินหนักเข้าไปอีก นับว่าเป็นบาป





ในการถือศีล 5 จะไม่มีเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องดูหนัง ฟังเพลง แต่ในการถือศีล 8 จะมีข้อหนึ่งที่ให้งดการดูหนัง ฟังเพลง เพราะเป็นเหตุแห่งกิเลสคือโลภะ



ทั้งนี้เพื่อเป็นการขัดเกลา ฝึกหัดตนเองให้ทวนกระแสไม่หลงใหลไปกับเสียง พัฒนาจิตใจให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปจนได้รับสุขอันประณีตกว่า ๆ ไม่ต้องอาศัยเสียงเพลงมาช่วยให้มีความสุข



คนที่หัดเข้ามาสู่เส้นทางธรรมใหม่ ๆ และชอบดูหนัง ฟังเพลง ก็ไม่ถึงกับต้องเบรกเอี๊ยดเลิกจนหัวคะมำ และรู้สึกสงสัยว่าห้ามความสุขไปเสียทุกอย่างแล้ว ธรรมะจะนำชีวิตที่ร่าเริงไปสู่ความเป็นตอไม้ที่เงียบงัน



ท่านให้ฝึกหัดโดยทำเคียงคู่กันไป ฟังเทปธรรมะบ้าง อ่านหนังสือธรรมะบ้าง หัดเข้าสมาธิภาวนาพุทโธอยู่กับตัวเองเงียบ ๆ บ้าง แล้วว่าง ๆ ก็ฟังเพลงไปบ้าง



แต่พอนาน ๆ เข้าจิตใจจะพัฒนาเอง มันจะเทียบเคียงของมันได้เอง รู้เอง เข้าใจเอง ว่าความสุขเมื่ออยู่กับธรรมะเป็นความสุขสงบที่สูงกว่าประณีตกว่า ทำให้การฟังเพลงจะลดลงไปเองโดยไม่รู้ตัว เพราะมันจะเริ่มมองเห็นว่า การมานั่งฟังเนื้อร้องอันคร่ำครวญหวนไห้ มีแต่เรื่องอกหักรักร้างไปตามอารมณ์ของโลกียชนนั้นเป็นการเสียเวลา จิตใจมันจะอยากอยู่กับสุขอันประณีตที่ได้รู้จักแล้วว่าธรรมะมากกว่า









ดังนั้น แพรสรุปให้ตัวเอง ควรจะเปลี่ยนประโยคแรกจาก “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด” มาเป็น “ทำสิ่งที่ดีที่สุดของวันนี้” สิ่งที่ดีที่สุดอาจจะไม่ถูกใจเช่นอดกินเหล้า แต่ก็ถูกต้อง คือไม่ผิดศีลและไม่เบียดเบียนตัวเอง และคนที่รักเรา



และประโยคที่สองที่ว่า “ถ้าเราไม่เบียดเบียนตัวเอง และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก็หาความสุขได้” อันนี้ก็ต้องมองยาวไกลว่าไม่เบียดเบียนตัวเอง ทั้งในวันนี้และอนาคต ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนทั้งทางกายและใจในวันนี้และอนาคต แล้วก็หาความสุขได้โดยเป็นความสุขที่แท้จริงตามคำสอนของธรรมะ ไม่ใช่ความสุขแบบที่เราพอใจข้างเดียว ข้างกิเลสเสียด้วย คิดว่าถูกแล้ว เพราะไม่รู้ธรรมะ เป็นความสุขที่อาจจะนำเราไปสู่อบายภูมิได้



แพรรู้สึกเหมือนได้ทบทวนตำราที่เรียนมา พิจารณาแล้วก็รู้สึกดี ได้เตือนตัวเองเกี่ยวกับข้อธรรมขึ้นมาบ้าง ทำให้เช้าวันนี้เป็นเช้าที่ดีมาก ๆ อีกวันหนึ่ง



แพรก้มกราบขอบพระคุณพระรัตนตรัยด้วยความเคารพอย่างสุดซึ้ง ที่ได้สอนให้เข้าใจสิ่งดี ๆ ของโลกและชีวิต และเป็นแสงสว่างนำทางเดินไปสู่ชีวิตที่ดีงาม ทั้งวันนี้และวันหน้า



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 27 เม.ย.2005, 9:25 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

คารวะ แด่ อาจารย์วศิน อินทสระ



ตอนเช้าตรู่วันอาทิตย์ ฉันจะเดินออกจากบ้านด้วยความรู้สึกสดชื่น อากาศเย็นของยามเช้ายังคงอ้อยอิ่งอยู่ แสงแดดอ่อนยังไม่ทำให้ร้อนในขณะเดินไปตามถนนราชสีมา เป็นความสุขอย่างหนึ่งของเช้าวันอาทิตย์ ในการเดินไปสู่วัดบวรนิเวศ บางลำพู เพื่อเรียนพระสุตตันตปิฎกกับท่านอาจารย์วศิน อินทสระ



ทุกครั้งที่มีคนถามฉันว่าเรียนอะไรกับอาจารย์ และฉันตอบว่าเรียนพระสุตตันตปิฎก จะมีคำถามย้อนกลับมาเสมอว่าพระสุตตันตปิฎกคืออะไร ฉันตอบว่าคือคำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้า เราเรียนพระสูตรในพระไตรปิฎกกัน คนถามจะพยักหน้าหงึกหงักอย่างไม่เข้าใจ และรู้สึกว่าคงจะเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป ที่ “รู้กันอยู่แล้ว” ฟังพระเทศน์ที่ไหน ๆ ก็ได้



ในห้องเรียน เราจะอ่านพระสูตรกัน แต่เป็นชุดที่อาจารย์ท่านได้ทำภาษาให้ง่ายลงแล้ว แต่กระนั้นเมื่ออ่านแล้ว ก็ยังคงความไพเราะสุนทรีย์ของถ้อยคำและข้อความของพระสูตร อ่านแล้วประทับใจ ทั้งยังได้เห็นพระอัจฉริยภาพของพระพุทธเจ้าในการสั่งสอนศาสนา และรู้สึกอบอุ่นเหมือนได้พบได้ใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าด้วยว่าตอนนั้น ๆ ท่านเสด็จอยู่ที่ใด และเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ประหนึ่งว่าตัวเราเองได้อยู่ในกาลเวลานั้นด้วย การอ่านพระสูตร นอกจากจะยังความประทับใจให้เกิดขึ้นแล้ว ยังได้เปิดโลกแห่งปัญญาให้แก่ตนเองอย่างมหาศาล ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเล่าเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างที่ใครๆ คิดกันว่าเป็นเรื่องที่ “รู้กันอยู่แล้ว” เลยแม้แต่น้อย











นอกจากการอ่านพระสูตรแต่ละบทแล้ว อาจารย์ก็อธิบายรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมให้ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหามากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน อาจารย์ผู้มีพรสวรรค์ในการบรรยายเนื่องจากท่านมีความเป็นนักประพันธ์อยู่ในตัวด้วย ก็มักจะเอื้อเฟื้อสอนธรรมะข้อที่เป็นประโยชน์กับชีวิตประจำวันของเราด้วย ซึ่งฉันก็จะคอยจดตามยิก ๆ อยู่เต็มในหนังสือเรียน เป็นความเพลิดเพลินอีกประการหนึ่งของการเรียน



วันหนึ่งฉันเรียนถามอาจารย์ว่า จะตอบคนกินเหล้าอย่างไรว่าบาป เขาบอกไม่เห็นบาปตรงไหน เงินก็เงินของเขา กินแล้วก็ไม่ได้เมา หรือเมาก็หลับไป ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน อาจารย์ตอบว่า การกินเหล้านั้นเบียดเบียนสุขภาพของตนเอง เงินของเขาเองก็จริง แต่ควรจะใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างอื่นมากกว่า เพราะธรรมะสอนให้ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์



ฉันไปดูส่วนที่ฉันจดจากคำสอนของอาจารย์ในห้อง พบข้อความว่า “ไม่ควรละเลยโทษเล็กน้อย เหมือนผ้าขาดนิดหนึ่ง ต้องรีบปะชุน ไม่อย่างนั้นก็จะขยายเป็นขาดมากในที่สุด”



ธรรมดาคนเรามักจะเข้าข้างตัวเอง อะไรที่ตนเองชอบก็มักจะพยายามหาเหตุผลมาแถลงเพื่อให้เห็นว่าดี เช่นการกินเหล้านี่แหละ แถลงแล้วจะได้สบายใจ แล้วกินต่อไป ความจริงอะไรที่ต้องหาคำมาแถลง ก็ต้องสงสัยหน่อยแล้วว่ามันดีจริงหรือเปล่าเพราะของดีแท้นั้น มันไม่ต้องแถลง เหมือนทองที่มันไม่เคยต้องบอกว่ามันเป็นทอง



อาจารย์สอนว่า “ความดีกับสิ่งที่ดีนั้นไม่เหมือนกัน คนส่วนมากต้องการสิ่งที่ดี แต่ไม่รู้จักความดี สิ่งที่ดีเป็นของใครก็ของคนนั้น สิ่งที่ดีของคนหนึ่งอาจไม่ดีสำหรับอีกคนหนึ่ง เนื้อของคนหนึ่ง อาจเป็นพิษของอีกคนหนึ่ง แต่ความดีเป็นสากล ใครจะดี “ดี” ไม่ดี มันก็ไม่เปลี่ยนเป็นไม่ดี มันเป็นความจริงในตัวของมันเองใครจะคิดว่าไฟเย็นก็แหย่มือเข้าไปดูก็รู้ว่าร้อน มันเป็นความจริงในตัวของมันเอง ไม่เป็นความจริงไปตามความรู้สึกของเรา”



ถ้าคนเราตระหนักในเรื่องนี้อย่างที่อาจารย์พูด เราคงมีการถกเถียงกันน้อยลง ชีวิตคงจะมีเวลาสงบลงอีกนิดหนึ่ง



ปัญหาคือเรามักจะพูดเข้าข้างความคิดของตัวเอง และบางครั้งแม้จะเกิดรู้ทีหลังว่าผิด ก็น้อยคนนักจะยอมแก้ไขความเห็นเพราะเรามีความเป็น”ฉัน” ความเก่ง ความหยิ่ง ทะนงตนอยู่ กลัวจะเสียหน้า เลยยอมผิดทั้งที่รู้ไปก็มี



ส่วนบางคนก็ดีมากเลย เมื่อใครโต้แย้งก็รับฟัง ใครจะผิดหรือถูกก็มาวิเคราะห์กัน ถ้าผิดก็ยอมแก้ไขความเห็น จะได้ส่งต่อความเห็นที่ถูกกันต่อไป แต่ไม่ใช่ทะเลาะกัน



อันนี้ก็ไปเข้ากับธรรมะข้อหนึ่งในสาราณียธรรม 6 ข้อที่ว่าด้วยทิฐิสามัญตา คือมีความเห็นถูกต้องดีงาม และแม้จะมีความเห็นไม่ตรงกันแต่ไม่ทะเลาะกัน เรียกว่า แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง หมายความว่า อะไรที่เห็นต่างกัน พูดแล้วจะทะเลาะกัน ก็ไม่พูด











เรื่องความเห็นนี้ เกิดจากความรู้หรือประสบการณ์ของชีวิตเหมือนกัน บางคนได้เรียนรู้มามาก ผ่านชีวิตมาเยอะ เข้าใจอะไร ๆ ได้ดี ก็อาจจะมองอะไรได้มากกว่า แต่การจะบอกเล่าประสบการณ์ของคนหนึ่ง ให้อีกคนหนึ่งเข้าใจนั้นก็เป็นเรื่องยาก



มันยากอยู่ 2 ประเด็น คือแม้ผู้ฟังเข้าใจอย่างไร ก็ไม่ถ่องแท้ด้วยไม่ได้ประสบกับตนเอง มันนึกไม่ออก กับอีกข้อคือ คนเรามักคิดว่าเรื่องที่เกิดกับเขาไม่ถ่องแท้ด้วยไม่ได้ประสบกับตนเอง มันนึกไม่ออก กับอีกข้อคือ คนเรามักคิดว่าเรื่องที่เกิดกับเขา คงไม่เกิดกับเรา คล้าย ๆ กับที่เราประมาทเพลิดเพลินอยู่ในโลกนี้ทุกวันนี้นั้นแหละ บางทีไปงานศพ เห็นเขาตาย ก็ยังไม่ได้นึกว่าตัวเองก็ต้องตายเหมือนกัน ไม่ได้มรณานุสติติดมือกลับบ้าน มันแต่ไปเม้าท์กับเพื่อน ๆ เหมือนงานคืนสู่เหย้า



พระพุทธเจ้าตรัสว่า “นักปราชญ์ ย่อมมองเห็นคนพาล (คนโง่) เหมือนคนที่ยืนอยู่บนยอดเขาเห็นคนข้างล่าง แต่คนข้างล่างมองไม่เห็นคนบนยอดเขา “ พูดง่าย ๆ คนฉลาดเข้าใจคนโง่ แต่คนโง่ไม่เข้าใจคนฉลาด



ตรงนี้อาจารย์ท่านอธิบายให้ฟังว่า



“คนที่ยืนอยู่บนภูเขา มองลงไปข้างล่าง ก็จะเห็นวิวหมดเลยว่าตรงไหนมีต้นไม้ มีหุบเขา มีลำธาร แต่คนเชิงเขามองไม่เห็นและแม้จะบรรยายยังไง คนเชิงเขาก็นึกไม่ออก ต้องขึ้นไปดูเองบนยอดเขา



หรือแม้แต่คนยืนบนยอดเขาเอง ถ้าคนสองคนยืนบนยอดเขา แต่หันหน้าไปคนละทิศ ก็จะเห็นอะไรไม่เหมือนกันอีก



นี้ก็เป็นสาเหตุทำให้คนเราคิดเห็นไม่เหมือนกัน มีความขัดแย้งกันทางความคิด ด้วยยืนคนละจุดทำให้ไม่เข้าใจกันได้ เหมือนอย่างนายจ้างมองลูกจ้าง นายจ้างก็มองเห็นปัญหาของตัวเอง แต่ไม่เห็นปัญหาของลูกจ้าง ในทำนองเดียวกัน ลูกจ้างก็มองเห็นแต่ปัญหาของตัวเอง ไม่เข้าใจปัญหาของนายจ้าง เพราะมองไม่เหมือนกัน



ผลของข้อนี้ทำให้เรารู้ว่า เราไม่รู้ทุกข์ ไม่เข้าใจทุกข์ของคนอื่น เพราะฉะนั้น เราไม่ควรคิดว่าเราเข้าใจทุกข์ของคนอื่น “



โอ้โฮ คำสอนของอาจารย์ตรงนี้ ใช่เลย โดนใจเป๊ะ เรื่องอย่างนี้เจอบ่อย บางทีเราก็ (นึกว่า) เข้าใจคนอื่น บางทีคนอื่นก็(นึกว่า) เข้าใจเรา สรุปแล้วไม่มีใครเข้าใจใคร แต่แนะนำกันใหญ่ให้วุ่นไป



อันนี้ก็ต้องเรียนกันต่อไป เพื่อวันหนึ่งจะได้เป็นคนฉลาดกับเขาบ้าง อาจารย์สอนอีกว่า “ถ้าอยากได้น้ำ ต้องขุดดินให้ลึก ถ้าอยากรู้ความจริงก็ต้องคิดให้ลึก อย่าคิดอย่างผิวเผิน”



อาจารย์สอนแล้วก็ต้องจำไว้ให้ดีๆ หมั่นขุดดิน เอ๊ย หมั่นคิดให้ลึกเข้าไว้อย่างอดทน วันหนึ่งคงจะได้ดี เพราะอาจารย์เคยบอกว่า



“คนปลูกต้นไม้ ตอนแรกก็ต้องดูแลต้นไม้ แต่ต่อไปต้นไม้ก็จะดูแลคนปลูก คือให้ผลให้ดอกให้ร่มเงา เหมือนพ่อแม่เลี้ยงลูก ต่อไปลูกก็จะเลี้ยงดูพ่อแม่ อันนี้เป็นเรื่องความกตัญญูด้วย ความกตัญญูเป็นสิ่งที่เราทำดีกับคนอื่นแล้วไม่ต้องจำ แต่สิ่งที่คนอื่นทำดีกับตัวเองต้องจำไว้ และตอบแทน ความกตัญญูก็สืบเนื่องมาจากความไม่ประมาท คนไม่ประมาทเป็นเหตุให้ทำดีมากมาย











พุทธศาสนสุภาษิตมีอยู่ว่า



“เพราะมัวเมา ความประมาทก็เกิดขึ้น เพราะประมาท ความเสื่อมก็เกิดขึ้น เพราะความเสื่อม โทษเป็นอันมากก็เกิดขึ้นฉะนั้น ท่านอย่าประมาทเลย”



คนเราบางทีพอประมาท เราก็ขาดความสำรวม เช่น ไม่สำรวมวาจา ก็เลยทำให้ต้องทะเลาะกัน ดังนี้เป็นต้น



อย่างนี้เอง โอวาทสุดท้ายของพระพุทธเจ้า จึงเตือนสติ

“ท่านทั้งหลาย จงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”



สาธุ อ่านแล้วสำนึกในบุญคุณของพระพุทธเจ้าและพระธรรมที่ทรงสั่งสอน ช่างทรงเมตตาแนะนำทางแก่เราผู้อ่อนด้อยโง่เขลา เพื่อประโยชน์ของตัวเอาเองแท้ๆ แต่เราบางคนก็ยังไม่รู้ช่างน่าเสียดาย



เรียนธรรมะกับอาจารย์แล้ว ได้ซาบซึ้งกับรสพระธรรมมากมาย นับเป็นบุญเหลือล้นที่ได้มีโอกาสมาให้ท่านสอนจนได้รู้รสทั้งอรรถและพจน์แห่งพุทธธรรม



ขอถือโอกาสนี้ กราบคารวะและขอบพระคุณท่านอาจารย์วศิน อินทสระ ด้วยความเคารพยิ่ง





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 27 เม.ย.2005, 11:05 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

วันสงกรานต์



ในวันสงกรานต์และวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่มีการจัดงานในชั้นเรียนธรรมะวันอาทิตย์ ของอาจารย์วศิน อินทสระ มีลูกศิษย์หลายคนได้ขึ้นไปพูดหน้าชั้น เพื่อแสดงความเคารพต่อท่านอาจารย์ฉันมีโอกาสได้เป็นผู้หนึ่งในจำนวนนั้นด้วย และขอนำบทความนั้นมาบันทึกลงไว้ ณ ที่นี้ด้วย เพื่อประโยชน์อันพึงมีแก่ท่านผู้อ่าน



13 เมษายน 2546



กราบเรียนท่านอาจารย์



วันนี้เป็นวันครบรอบ 2 ปี ที่หนูมาเรียนกับอาจารย์ แต่หนูรู้สึกเหมือนว่าเรียนมานานกว่านั้น และหนูก็รู้สึกว่าหนูน่าจะจำธรรมะที่อาจารย์สอนได้มากกว่านี้ นี่เป็นความมหัศจรรย์ของท่านอาจารย์ ที่จำธรรมะในพระไตรปิฎกได้มากเหลือเกิน และนี้ก็เป็นความธรรมดาของลูกศิษย์ที่จะจำอะไรไม่ค่อยได้ ปีใหม่นี้ อาจารย์ ช่วยกรุณาอวยพรให้หนูจำได้มากขึ้นนะคะ



วันนี้หนูมีเรื่องหนึ่งจะเล่าให้อาจารย์ฟังค่ะ หนูได้รับจดหมายฉบับหนึ่งจากเรือนจำเทิง จังหวัดเชียงราย เล่าว่าเขาได้ทำผิดต้องโทษ 15 ปี เมื่อก่อนเขาอยู่ที่เรือนจำอื่น เขาได้อ่านหนังสือของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และรู้สึกว่า การปฏิบัติกัมมัฏฐานของหลวงปู่ในป่านั้นลำบากกว่าการอยู่ในเรือนจำของเขาเสียอีก เขาเกิดศรัทธาขึ้นมา และได้เริ่มปฏิบัติธรรม เขาทำกิจกรรมของห้องสมุด โดยเขียนจดหมายไปยังวัดและมูลนิธิต่าง ๆ รวมทั้งหน่วยราชการ จนได้รับบริจาคหนังสือธรรมะเข้ามาถึง 1,000 เล่ม และเขาได้สอนหนังสือให้แก่ผู้อ่านเขียนไม่ได้ เขาเล่าว่า เขาสอนด้วยความสุข เขาสอนสนุกนักเรียนชอบ แต่ไม่เคยรับค่าตอบแทนเลยแม้แต่กาแฟแก้วเดียว









ปัจจุบันเขาย้ายมาที่อำเภอเทิง และตั้งใจปฏิบัติธรรมด้วยการให้ทาน คนที่เข้าไปสนทนากับพระ หรือเริ่มสนใจธรรมะมักจะมีคำถามเสมอเกี่ยวกับการให้ทาน เช่น รู้สึกว่าไม่ค่อยมีเงินจะทำทาน ? ทำทานกับคนหรือกับพระ อย่างไหนจะได้บุญมากกว่ากัน ? ทำแล้วต้องอธิษฐานไหม? อธิษฐานแล้วจะได้ตามนั้นไหม? ทำกับใครจะได้บุญมากกว่า? ถ้าเราสังเกตดี ๆ เราจะเห็นว่าคำถามเหล่านี้น้ำหนักเอียงข้าง คือผลประโยชน์เอียงข้างเขาหาตัวชั่งว่าตัวเองจะได้เท่าไหร่ในการลงทุนไป เราไม่ค่อยได้คิดถึงผู้ที่เราให้เท่าไร เหมือนกับว่าเขาเป็นอุปกรณ์ของเราในการทำทานเท่านั้น



ผู้ชายคนนี้ให้ทานในเรือนจำ หนูรู้สึกว่าเขาก้าวหน้ากว่าคนข้างนอกบางคนอีกนะคะ และมันให้มุมมองอีกว่าเราอยู่ข้างนอกมีทานให้ทำมากกว่านั้น เรายังไม่ขวนขวายทำกันเลย อันนี้โกวเล้งบอกว่า ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา



ผู้ชายคนนี้ทำทานด้วยการช่วยคนแก่ซักผ้า เขียนจดหมายไปถึงครอบครัวให้แก่ผู้ที่เขียนไม่เป็น เขียนใบคำร้องต่อศาลให้แก่ผู้ที่ต้องการส่งใบคำร้อง และเขายังสอนหนังสือต่อไปด้วยความสุข



จดหมายฉบับที่สองของเขา เขียนตอบมาเมื่อหนูส่งหนังสือไปเพิ่มให้ เขาเขียนมายาวเหยียด แต่ที่น่าสนใจคือเขาบอกว่า การทำคนดีให้เป็นคนดีเป็นเรื่องไม่ยาก แต่การทำคนชั่วให้เป็นคนดีนั้นได้บุญมาก เพราะถ้าเขากลับเป็นคนดีแล้ว เขาก็ไม่ไปทำร้ายคนอื่น สังคมจะสงบสุข เพราะคนร้ายหนึ่งคนสามารถทำร้ายคนได้เป็นจำนวนมาก เท่ากับเราได้ช่วยคนจำนวนมากนั้นให้ปลอดภัย



หนูคิดว่า บางทีนี่อาจจะเป็นคำตอบสำหรับคำถามที่ว่าเราควรจะทำบุญกับใคร หรือทำบุญกับใครจะได้บุญมากกว่าคำตอบนี้นำเราไปสู่เรื่อง 3 เรื่อง



เรื่องแรก คือ เห็นความเป็นปฏิจจสมุปบาท เพราะสิ่งนี้เกิดสิ่งนี้จึงเปิดขึ้น เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับไป เพราะคนดีช่วยส่งหนังสือให้ชายผู้นี้ (คนดีนี่ ไม่ใช่หมายถึงขวัญนะคะ หมายถึงคนดีทั่ว ๆ ไปทุกคน) ทำให้ชายผู้นี้ไปชักจูงเพื่อนในเรือนจำให้ใฝ่ธรรมะขึ้นมา ทำให้เปลี่ยนเป็นคนดี ทำให้สังคมถูกทำร้ายน้อยลงเป็นปฏิจจสมุปบาทที่น่าชื่นใจมาก ทำให้เห็นว่าเราควรจะทำดีไปทั่วไม่ต้องเลือกว่าใคร เพราะทุกอย่าโยงใยเป็นปฏิจจสมุปบาททั้งนั้น ย่อมส่งผลไปไกลกว่าที่ว่า เราให้ทานแก่บุคคลผู้นี้ จะได้บุญมากหรือน้อย เหมือนโยนก้อนหินลงไปในน้ำเรียบนิ่ง เราย่อมบังคับให้มันมีระลอกเพียงวงเดียวไม่ได้ มันต้องกระเพื่อมไปหลายวงจนกว่าจะหมดแรงที่หินตกลงไป เพราะฉะนั้น ขอให้เรามีความสบายใจในการทำทาน ว่าเราจะได้บุญมากเสมอ ไม่ว่าจะทำกับใคร



ประการที่ 2 ทำให้นึกถึงเรื่องที่ถามกันว่า พระพุทธเจ้าให้จีวรแก่พระสารีบุตรกับพระสารีบุตรถวายจีวรแก่พระพุทธเจ้าใครได้บุญมากกว่ากัน พระพุทธเจ้าได้บุญมากกว่า เพราะทรงมีคุณธรรมเหนือกว่า เป็นคำตอบที่สอนให้เราทำตัวเราเองให้ดีโดยไม่ต้องไปหวังให้ใครเขาทำดีให้พอแก่ที่เราจะไปทำทานทำบุญกับเขา เรายิ่งทำตัวเราให้มีคุณธรรมมากเท่าไหร่ เราก็จะได้บุญเมื่อให้ทานแก่ผู้อื่นมากเท่านั้น ไม่ว่าเขาผู้นั้น จะมีคุณธรรมมากน้อยอย่างไร นี่เป็นการตัดกังวลของผู้ทำทานลงไปได้อย่างดี



ในข้อนี้ ท่านอาจารย์เองก็ได้เป็นตัวอย่างแก่ลูกศิษย์ทุกคนในการให้ธรรมทานที่อาจารย์ให้อยู่เสมอตลอดเวลา ตั้งแต่มาสอนลูกศิษย์ทั้งพระและฆราวาส สอนโดยการเขียนหนังสือและออกรายการวิทยุ และเมื่อพักผ่อนอยู่บ้าน ก็ยังได้ทำธรรมทานโดยตอบข้อธรรมะแก่ผู้มีปัญหาโทรฯ เข้าไปถามอาจารย์อีกด้วยทำให้เห็นว่าผู้มีคุณธรรมให้ทานได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องนัดหมายกะเกณฑ์เหมือนชาวบ้าน ว่าจะไปวัดวันนั้นวันนี้ เพื่อทำบุญเลี้ยงพระ หรือทำสังฆทานหรือไปบริจาคทานแก่มูลนิธิต่าง ๆ เฉพาะในวันสำคัญ ๆ เช่น วันเกิด วันปีใหม่ แต่เป็นการทำทานตลอดเวลาอย่างสงบเย็นและเป็นประโยชน์ เป็นตัวอย่างให้แก่ทุกคนเช่นเดียวกับคำสอนที่ว่าทำให้ดู เป็นอยู่ให้เห็น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าปฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง



ประการที่ 3 ก็คือ คำสอนของท่านอาจารย์อีกนะคะ ที่ว่า 1. ทำดี ไม่ต้องอยากให้คนชม 2. ทำดีเพื่อความดี ให้ผลหรือไม่เป็นหน้าที่ของกรรม ไม่ใช่หน้าที่ของเรา และ 3. ทำดีเพราะว่ามันดีนี่ก็เป็นความสบายใจในการปฏิบัติธรรมเหมือนกัน ถ้าเราทำดีเพราะว่ามันดี ก็ไม่มีอะไรต้องเครียด ตั้งหน้าตั้งตาขวนขวายทำไปก็แล้วกัน



ที่เล่ามานี้ก็ด้วยความประทับใจชายผู้นี้ รู้สึกเหมือนได้เห็นบัวขาวผุดขึ้นกลางโคลนตมและเป็นกำลังใจในการทำทานของหนูเป็นอย่างมาก แต่เราก็ไม่จำเป็นจะต้องเริ่มเททุกอย่างเข้าไปในเรือนจำ เพราะคนในสังคมปัจจุบัน แม้จะอยู่ข้างนอก แต่ก็ไม่มีความสุขใจพอกัน ได้มีการสำรวจโพลออกมาว่า ปีใหม่คนไปวัด 10 % บางทีเราจะรู้สึกว่าน้อย แต่หนูว่าน่าดีใจ ถ้าโพลออกมาว่าปีใหม่ไม่มีคนไปวัดเลย จะเป็นอย่างไร



สิ่งที่น่าคิดคือ คน 10% นี้ จะหยิบยื่นพระธรรมให้แพร่กระจายออกไปได้อย่างไร เพราะคน 10% นี้ก็เป็นญาติกับคนอีก 90% ที่เหลือนั่นเอง เรียกว่าเรามีสายลับแทรกอยู่ทุกจุดในสังคม 90% นั้นก็ว่าได้ แต่เราจะปฏิบัติการอย่างไร ให้ธรรมะแพร่กระจายออกไปได้ ในขณะที่ตะวันตกสนใจพุทธศาสนาอย่างจริงจังเพิ่มขึ้นทุกที เรากลับเหินห่างออกไปทุกทีเหมือนกัน เป็นเรื่องน่าเสียดาย



แต่อย่างไรก็ตาม ขอกราบเรียนอาจารย์ว่า ปีใหม่นี้หนูยังคงพยายามรักษาประคับประคองความหวังของหนูที่จะเผยแพร่หนังสือธรรมะออกไปให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าคิดถึงเรื่องพระมหาชนก หนูก็คงเพิ่งเริ่มว่ายน้ำได้วันเดียว อีก 6 วันนะคะกว่านางเมขลาจะมาช่วย วันหนึ่งก็ยาวนานประมาณปีหนึ่ง อีก 6 วันก็ประมาณ 6 ปี หนูหวังว่าตัวหนูคงจะยังไม่อนิจจังไปเสียก่อนแต่ถึงวันนั้นนางเมขลาคงยังไม่มา เพราะเธอมองหาแต่พระมหาชนกไม่ได้มองหาหนู





ท่านพุทธทาสสอนว่า ผู้รับทานมี 5 ประเภท คือ

1. ให้เพราะสงสาร ได้แก่ สัตว์ คนพิการ ขอทาน คนช่วยตัวเองไม่ได้

2. ให้เพราะเลื่อมใส เป็นผู้ปฏิบัติดี

3. ให้เพื่อบูชาคุณ ได้แก่ บิดา มารดา ครู อาจารย์ พระ

4. ให้เพื่อใช้หนี้ เจ้าหนี้ คือ คล้ายพวกบูชาคุณ แต่ว่าการใช้หนี้นี้เรารู้สึกในความรับผิดชอบ เช่น พระพุทธเจ้าเป็นเจ้าหนี้เรา เราปฏิบัติดี ให้เป็นการบูชาคุณ หรือแผ่นดินเกิด เรามีชีวิตอยู่บนแผ่นดินนี้มาตลอด ควรทำดีเป็นการตอบแทนคุณแผ่นดิน

5. ให้ทานแก่คนไม่ดี เช่น อันธพาล เราให้เพื่อให้เขากลับตัว



เรื่องที่เล่ามาในวันนี้ น่าจะเข้าไปกับข้อที่ 5 คือให้ธรรมะแก่คนในเรือนจำ แต่สิ่งที่หนูจะกราบเรียนคือ ข้อ 3 คือบูชาคุณท่านอาจารย์ เนื่องในโอกาสปีใหม่นี้ บุญกุศลใดที่หนูได้ปฏิบัติมาในการเผยแพร่ธรรมะและปฏิบัติธรรม ขอน้อมบูชาพระคุณท่านอาจารย์ ขอให้บุญกุศลนั้นดูแลรักษาให้อาจารย์แข็งแรงและมีความสุขกาย สบายใจ เป็นมิ่งขวัญร่มโพธิ์ร่มไทรแก่ลูกศิษย์ทุกคนนะคะ หนูยังมีข้อธรรมที่จำไม่ได้อีกเยอะ ต้องเรียนถามอาจารย์ค่ะ



ขอบคุณค่ะ



ขวัญ





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง