Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ช้อบปิ้งบุญ-- ขวัญ เพียงหทัย-- อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
gafiew
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 11 ม.ค. 2005, 11:59 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กฐินของฝนสุย



ฝนสุยกำลังจัดเตรียมข้าวของเพื่อไปงานกฐิน ขณะที่ทุกอย่างพร้อมสรรพแล้ว เธอก็นึกถึงกลองที่จะไว้เล่นท้ายรถ จึงแล่นมาหาหล่าล้า เพื่อขอยืมกลองของน้องชาย

“เขาไม่อยู่ เอากลองไปด้วย” หล่าล้าบอก ฝนสุยร้องเฮ้อ

“งั้นค่อยมาใหม่ นี่ ปีนี้ฉันได้กฐินไกลถึงเชียงรายเชียวนะ เค้าว่ายิ่งไกล ยิ่งลำบากยิ่งได้บุญน่ะ เธอว่าจริงมั้ย”

ฝนสุยหวังว่าหล่าล้าจะรีบรับรอง แต่หล่าล้าเฉยๆ

“งั้นก็เดินไปสิ จะได้บุญเยอะ”

ฝนสุยหน้าหงิก อยากได้บุญเยอะ แต่ไม่อยากเดินไปหล่าล้าจึงสาธยาย

“นั่งรถไปก็ได้ แต่ไปให้ได้บุญ บุญอยู่ที่กายใจ ระหว่างไปกฐินคอยรักษากายใจให้เป็นกุศลไว้ อย่าหงุดหงิดง่าย อย่าฟุ้งซ่าน อย่าพร่ำพูดแต่เรื่องไม่เป็นเรื่อง อย่าเอากลองไปเล่นเลย พวกเด็กๆก็จะร้องแต่เพลงทางโลก เป็นโลภะความเพลิดเพลินงดสักวัน เปิดเทปธรรมะให้ฟังกันดีกว่า ระยะทางตั้งไกล ฟังไปฟังมาพิจารณาดีๆ ฝนสุยอาจจะบรรลุ”

ฝนสุยยิ้มเขินๆ “ยังไม่ถึงขั้นนั้นหรอกย่ะ แล้วไงอีก”

“เวลาไปถึงงาน ถ้านัดแนะกับทางวัดได้ ก็จัดให้มีเทศน์ก็ดีนะ แล้วอาหารถ้าเป็นมังสวิรัติได้ก็ยิ่งดี จะได้ไม่เบียดเบียนสัตว์มาก แค่มื้อสองมื้อคงไม่ลำบากหรอกใช่มั้ย ไปทำบุญไม่ใช่ไปกิน ฝนสุยคอยรักษากายใจให้อยู่ในศีลตลอดเวลา ไม่ต้องถึงกับนุ่งขาวห่มขาวหรอก ทำใจให้ขาวไว้ก็พอ ทำได้มั้ยล่ะ”

ฝนสุยยิ้มแย้ม ดวงตาสดชื่นเหมือนยามเช้า

“ดีจัง ฉันจะอธิบายให้คณะฟังก่อนให้เข้าใจกันทั่วๆ เวลาเปิดเทปธรรมะในรถจะได้ตั้งใจฟังกัน แล้วเวลางานก็จะได้สำรวมใจกันให้ดี ไปคราวนี้ต้องได้บุญเยอะกว่าปีก่อนๆ แน่เลย แล้วทำไมหล่าล้าไม่ไป”

“ชั้นไม่ค่อยแข็งแรง อยากอยู่บ้าน ฝากหนังสือธรรมะให้เธอไปแจก วันทอดกฐินก็ถือศีลสวดมนต์ที่บ้าน”

“ทำบุญสบายนะ” ฝนสุยเหน็บ หล่าล้าหัวเราะ

“พระพุทธเจ้าท่านทรงอนุญาตให้เราสบายได้ตามสมควรแห่งภาวะ อย่างฝนสุยมีรถไป ก็ไปรถได้อนุญาต การอยู่บ้านถือศีลสวดมนต์ส่งใจไปทำบุญตอนเธอทอดกฐินก็สมควรแห่งภาวะฉันในครั้งนี้ เอวัง”



...มีต่อ...

 
gafiew
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 01 ธ.ค. 2004
ตอบ: 12

ตอบตอบเมื่อ: 20 ก.พ.2005, 6:50 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สร้างพระ

ล้วนศรีดีใจได้มีโอกาสสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ถวายวัด เธอรู้สึกมีความสุขมาก นึกไม่ถึงว่าจะได้รับโอกาสเช่นนี้ เพราะเธอรู้สึกว่าไม่มีความสามารถจะดำเนินการในสิ่งนี้ให้ลุล่วงได้

“ป้ามาลีจัดการให้ทุกอย่างเลย พาไปร้านพระ ติดต่อหลวงพ่อที่กำลังสร้างวัด มีคนมารับพระไปส่งถึงวัดให้ด้วย นี่กำลังนัดแม่ครัว จะเลี้ยงพระกัน ฉลองพระของเราก่อนส่งไปขอนแก่น”

ล้วนสุขยิ้มๆ “ป้ามาลีคงเคยทำบุญกับพี่มาชาติก่อน ชาตินี้เขามาช่วยให้พี่ได้ทำบุญสะดวก”

ล้วนศรี ปลาบปลื้มทุกวัน นึกถึงแต่เรื่องสร้างพระ ใบหน้าอิ่มเอิบผ่องใส



จนกระทั่งวันหนึ่ง ไปอ่านเอกสารเจอว่าสร้างพระได้บุญน้อยกว่านั่งสมาธอ ใจของล้วนศรีแป้วแป๋วแหวว บอกกับล้วนสุขว่า

“อย่างนี้เราก็ไม่ต้องสร้างพระซี”

ล้วนสุขยิ้มๆ ส่ายหน้าพลางอธิบายว่า

“ไม่ใช่ นั่นแสดงว่าเขาเขียนถึงระดับของบุญ ซึ่งมี 4 ระดับ จากน้อยไปหามากคือ ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา การสร้างพระจึงจัดอยู่ในทานแบบหนึ่ง ซึ่งเมื่อเทียบกับชั้นสมาธิแล้ว เขาจึงเทียบว่าน้อยกว่าสมาธิ”

ล้วนศรีติดใจ “บุญน้อยแค่ไหนล่ะ เท่าถ้วยซีอิ๊วเหรอ”

ล้วนสุขขำกลิ้งกว่าจะพูดใหม่ได้

“คำว่าน้อยนี่เทียบจากอะไรล่ะ อย่างโลกเราแผ่นดินมีน้อย แผ่นน้ำมีมาก แต่ขนาดแผ่นดินน้อยก็มหาศาลสำหรับเราแล้วจริงมั้ย ถ้าเอาแผ่นดินไปเทียบกับจักรวาลยิ่งน้อยใหญ่เลย ฉันว่าทานนี่เหมือนแผ่นดิน”

ล้วนศรีโล่งอก เหมือนกลิ้งครกลงจากภูเขา ล้วนสุขช่วยเสริมกำลังใจ

“สร้างพระน่ะได้บุญเยอะแยะ เพราะพระที่เราสร้างไว้นั้น เมื่อคนได้พบเห็นก็เกิดกุศลจิต เขามากราบไหว้ เขาก็สบายใจ เป็นบุญของเราทุกวัน”

ล้วนศรียิ้มออก

“นอกจากนี้ ท่านยังบอกอานิสงส์ผลบุญการสร้างพระไว้มาก เช่น อกุศลกรรมในอดีต จะเปลี่ยนจากหนักเป็นเบา เจ้ากรรมนายเวรเมื่อได้รับส่วนบุญไปแล้ว ก็จะเลิกจองเวรกัน เราจะมีจิตใจสงบ สุขภาพแข็งแรง เป็นต้น สบายใจหรือยัง”

ล้วนศรีพยักหน้า ชื่นใจ ยิ้มแฉ่ง ล้วนสุขยังไม่หยุดเติมพลังให้

“ยังไงเราก็ควรทำทาน ไม่ต้อคิดว่าบุญมากหรือน้อย เพราะเรายังไม่ถึงพระนิพพานชาตินี้หรอก ทำทานให้เป็นบุญกะเตงติดเอวไปชาติหน้า จะได้ไม่ต้องไปเกิดเป็นคนยากจน หาเช้ากินดึก ไม่มีเวลาฟังธรรม เพราะเหนื่อย หลับทั้งยืน พบพุทธศาสนาแล้ว แต่ไม่มีเวลาเรียน เพราะกรรมบัง”

ล้วนศรีนึกภาพตาม พยายามจะเข้าใจ

“ถ้าเราทำทาน บุญจะช่วยให้เราเกิดที่ดี คอยแวดล้อมเกื้อหนุนให้มีโอกาสปฏิบัติธรรมได้ เช่นมีป้ามาลีมาช่วยจัดการจนถวายพระได้สำเร็จอย่างนี้แหละ แล้วยังคอยเอาหนังสือมาให้อ่าน เจริญสติปัญญาให้เข่าใจธรรมะได้มากขึ้น ชีวิตเราก็จะดีขึ้นๆ ทุกๆ ชาติไป”



“ชาติหน้าคอยนานเนอะ” ล้วนศรีว่า

“คำว่าชาติหน้าท่านอธิบายว่า ตั้งแต่พรุ่งนี้ไปจนถึงชาติหน้าโน้น นู้น ชาติก่อนก็คือ ตั้งแต่เมื่อวานไปถึงชาติก่อนโน้นไหนก็ไม่รู้ ปัจจุบันคือวันนี้วันเดียวแหละ”

ล้วนศรีตาโตกับคำบอกเล่าของล้วนสุข “เหรอ โอ้โฮ ไม่เคยได้ยิน”

“อย่างพี่สร้างพระมาเดือนหนึ่งแล้ว เห็นยิ้มผ่องใสทุกวันนี่ก็รับผลบุญทุกวันอยู่แล้ว และยังรับไปอีกนานถึงชาติหน้าโน้น”

ล้วนศรีพยักหน้ารับรอง ยิ้มแย้มหุบไม่ลง

“จริง จริง พอนึกถึงทีไร มันปลื้มใจทุกที ไหนเขาว่าได้บุญน้อย”

ล้วนสุขจึงเสริมว่า

นี่ขนาดว่าบุญน้อย ยังส่งให้เราปลื้มขนาดนี้ ถ้าเรามีศีล สมาธิ ปัญญา ให้ครบเครื่องเข้าไปอีก ชีวิตเราจะมีความสุขไปตลอดเวลาอีกขนาดไหน เราจึงควรทำทั้ง 4 อย่างให้ครบถ้วนดังนี้แล”

ล้วนศรีสบายใจ สิ่งที่สะกิดใจหายไป เธอยิ้มให้ล้วนสุขอย่างมีความสุขอีกครั้ง





***มีต่อ**

 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 22 ก.พ.2005, 1:39 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ศึกมังฉงาย



มังฉงายวางกล่องเปล่าลงตรงหน้าตู้เสื้อผ้า วันนี้จะหาเสื้อไปบริจาค เพราะอาจารย์สอนมาว่า ความโลภอย่างละเอียดนั้น ก็คือการที่เราติดพันผูกใจอยู่กับทรัพย์ของตนมากจนเกินไป เช่น เสื้อผ้านี่แหละเป็นต้น ให้รู้สึกอยากจะหัดเลิกความติดพันนี้เสียบ้างไม่น่ายาก เรียนแล้วก็ต้องลองทำ



หยิบเสื้อที่ไม่เคยใส่มานานออกมาชูดู เอ๊ะ ตัวนี้ก็สวย ยังดูดีด้วย เอาไว้ใส่ได้ เก็บก่อน



การณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ๆ ในที่สุด มังฉงายก็ยกกล่องเปล่าไปเก็บ



ต่อ ๆ มา ตอนเช้าจะรีบไปทำงาน เปิดตู้ออกมาเจอแต่ตัวที่วันนี้จะไม่ใส่ อยากใส่ตัวที่หาไม่เจอ หัวมุดไปมุดมาอยู่ในตู้จนเหงื่อซก อ้าว ตัวนี้ก็มีด้วยเหรอ ลืมไปแล้ว แต่ไว้ก่อน ยังไม่ใช่ตัวที่อยากใส่ พอดีเจอตัวที่อยากใส่ก่อนหน้ามืดชั่วอึดใจเดียว



การณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ในที่สุดมังฉงายก็เบื่อความเต็มตู้อยากบริจาคอีก



แต่ก็ต้องยกกล่องเปล่าไปเก็บเหมือนเดิมอีก 2 ครั้ง ให้นึกตะขิดขวงใจขึ้นมากับคำว่า โลภแบบละเอียดของอาจารย์ เอมันชักทำง่าย



อย่ากระนั้นเลย เสียชื่อมังฉงาย คราวนี้เอาใหม่ โทรศัพท์ไปหาเกลออ้อน บอกให้ช่วยสงเคราะห์มารับกล่องเสื้อผ้าไปไว้บ้านนะ เวลาไปต่างจังหวัดช่วยติดรถไปแจกคนยากจนให้ด้วย เกลออ้อนใจดีรับคำ บอกว่าไปเดี๋ยวนี้เลย นายรีบยกลังลงมา



นัดกันเสร็จ มังฉงายยกทัพไปที่ตู้เสื้อผ้า ตั้งกติกามารยาทว่า เอาเสื้อที่ทั้งปีมายังไม่เคยใส่เลยนะแหละไป ต้องเชื่อใจการตัดสินใจตอนเช้ากันหน่อยซี่ นี่ปีหนึ่งแล้วยังไม่เคยอยากใส่แล้วมันจะไปอยากกกกกก ตอนไหนวะ



รีบ ๆ หน่อย มังฉงายบอกตัวเอง ก่อนที่ผู้คุมวิญญาณจะมาชักใยความห่วงหาอาวรณ์อีก ดูแล้วห้ามคิดว่ายังสวยอยู่ เดี๋ยวไม่ได้ไป เอากฏข้อเดียวคือปีนี้ไม่เคยใส่



หยิบแล้วลงกล่อง หยิบแล้วลงกล่อง ไม่นานก็เต็มกล่องรีบปิดกล่องแล้วยกลงข้างล่าง ยีนแป๊บเดียวรถของเกลออ้อนก็เฉี่ยวมา รับของเสร็จก็รีบไป จะกลับไปดูภราดรตีเทนนิสที่อินเดีย



มังฉงายกลับขึ้นไปอาบน้ำสระหัวอยู่นาน รู้สึกโล่ง ๆ ดีใจพิชิตตู้เสื้อผ้าสำเร็จ



เปิดตู้เสื้อผ้า ลิ้นชักมีเสื้อผ้าวางพอเหมาะ ไม่ล้นและไม่ยุ่ง ดูดีจัง ราวแขวนเสื้อก็สบาย ๆ ไม่แน่น ดูความรู้สึกตัวเองก็เฉย ๆ ไม่อาลัยอาวรณ์อะไร เพราะจำไม่ได้ว่าตัวไหนไปมั่ง ช่างมันเถอะจำไม่ได้ก็ดีแล้ว



มังฉงายยิ้มเท่ให้ตัวเองเป็นรางวัลแก่ผู้พิชิตในศึกครั้งที่ 4 นี้



.....มีต่อ.....
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.พ.2005, 5:02 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ให้อภัยตัวเอง



เช้าวันนี้ ปรุงศรีสวดมนต์เสร็จกราบพระแล้ว ยังคงนั่งอยู่ต่อ มองดูพระพุทธรูปองค์เล็กที่ตนกราบไหว้บูชามานาน พลางระลึกว่า กำลังได้มีโอกาสสั่งทำพระพุทธรูปองค์ใหญ่ เพื่อไปถวายวัดสร้างใหม่อย่างไม่คาดฝัน มีความปลาบปลื้มล้นอยู่ในใจ หันหลังไปมองรูปใบเก่าของแม่ แม่นั่งอยู่หน้าพระองค์ใหญ่ ซึ่งสร้างถวายวัดเมื่อครั้งกระโน้น ปรุงศรียินดีที่ตนได้ทำอย่างแม่บ้าง



พินิจพิเคราะห์นานไปหน่อย ความคิดของปรุงศรีเริ่มหันเหสายตามาคิดถึงแม่ ความเบิกบานค่อย ๆ ลดลง อารมณ์เปลี่ยนไปตามสภาวะที่เกิดขึ้นใหม่ในใจ



เวลาคิดถึงแม่ เธออดจะคิดถึงช่วงสุดท้ายของแม่ไม่ได้ตอนที่แม่ไม่สบายมาก แม่เรียกเธอเข้าไปใกล้ ๆ กระซิบให้เธอช่วยตัดเสื้อใหม่ให้แม่ตัวหนึ่ง ปรุงศรีคิดในใจว่าแม่คงพูดไปยังงั้นเอง ไม่สบายอยู่จะใส่เสื้อใหม่ไปไหน เธอจึงไม่ได้ตัดให้ แม้แม่จะบอกเป็นครั้งที่สอง จนกระทั่งมีญาติคนหนึ่ง บอกว่า แม่เขารู้ตัวนะซี วันที่เขาตายเขาจะได้มีเสื้อใหม่ใส่ไปไหว้พระบนสวรรค์ปรุงศรีรีบตัดเสื้อให้แม่ทันทีจนดึกดื่น แต่เมื่อเอาเสื้อใหม่ไปให้แม่ดู เพื่อให้แม่สบายใจ แม่ก็ไม่สามารถรับรู้ข่าวนี้ได้แล้ว



ปรุงศรีน้ำตาไหลเสียใจทุกครั้งที่คิดขึ้นมา แม้ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน แต่อารมณ์นั้นก็ยังคงเหมือนเดิม



แก้ว เดินเข้ามาในห้องเพื่อจะสวดมนต์ เห็นแม่นั่งทำหน้าเศร้า ๆ อยู่จึงไถ่ถาม "อ้อ เรื่องนี้อีกแล้ว แม่ต้องปล่อยเรื่องมันไปอยู่ในเวลาของมันสิจ๊ะ พอดีเมื่อคืนหนูฟังเทปท่านชยสาโรภิกขุ ท่านพูดเรื่องการให้อภัยตัวเอง เดี๋ยวหนูไปเะอามาเปิดให้แม่ฟังนะ" แก้วรีบรุดออกไปจัดการเอาเทปมาเปิดให้แม่ฟังในห้องพระ เสียงพระเทศน์ว่า



" การให้อภัยตัวเอง อาศัยปัญญา ที่ยอมรับว่าเรายังมีกิเลสและมีโอกาสหลงทำสิ่งที่ผิดได้ เรื่องที่เราเคยทำไว้ไม่ถูกต้องถ้าเราพิจารณาแล้วต้องเห็นว่า การที่ทุกวันนี้ เราคิดว่าในสมัยนั้นไม่ควรทำอย่างนั้น ว่าตัวเอง ก็ไม่ยุติธรรม อย่างอาตมาอายุ 43 คิดถึงตอนอายุ 16 ปีทำให้รู้สึกละอาย ถ้าอาตมาว่าตัวเองว่าตอนนั้นไม่น่าทำ ก็ไม่ยุติธรรม เพราะเอาปัญญาของผู้มีปัญญาอายุ 43 ไปตัดสินเด็ก 16 เหมือนว่าเด็ก 16 ปี ควรมีปัญญาเท่าผู้มีอายุ 43 คือ เราเอาปัจจุบันไปตัดสินอดีต ซึ่งยังไม่เคยศึกษาธรรมะ



พวกเราก็เหมือนกัน ได้ปฏิบัติธรรม ความคิดก็เปลี่ยนไปแต่จะเอาอดีตที่ยังไม่เข้าวัด ก็ไม่ยุติธรรม ควรยอมรับว่าสมัยนั้นมีความรู้แค่นั้น มีสติ มีความรอบคอบแค่นั้น มันจึงมีการกระทำอย่างนั้น เราก็ให้อภัยตัวเองได้...



เราให้อภัยแล้ว เหมือนให้โอกาสที่ให้ตัวเองปรับปรุงแก้ไขต่อไป ไม่ใช่เราเคยผิดพลาด ทำไม่ดี จะต้องเป็นคนไม่ดีตลอดชีวิต เราไม่ควรให้กรรมเก่ากำหนดชีวิตของเรา.......



ถ้าพวกเรายังรู้สึกว่ามีเรื่องในอดีตเป็นอุปสรรค ถ่วงไม่ให้ก้าวหน้าก็ควรจัดการ ปล่อยวาง ให้อภัยตัวเอง ตั้งต้นใหม่เพราะคนเราเปลี่ยนได้ คนเราสามารถกลับตัวได้.......



พวกเราให้ระวังความคิด ความคิดสร้างขอบเขตกั้นรั้วไม่ให้เราก้าวหน้าในธรรม ความจริงเรามีโอกาสพอที่จะเห็นธรรม แต่นอกจากความเชื่อมั่นในพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณแล้ว เราต้องปลูกฝังศรัทธาในตัวเองว่าเราทำได้ เราเข้าถึงธรรมได้ ถึงแม้ในอดีตเราเคยประมาท เคยทำพูดคิดไม่ดี ก็ไม่เป็นอุปสรรค



แต่เราควรได้บทเรียนจากประสบการณ์ ป้องกันไม่ให้ผิดอีก และให้อภัยตัวเอง แล้วแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดมาใส่ชีวิตของตน"



แก้วเข้ามากอดแม่ ปรุงศรียิ้ม กอดมือลูกสาวไว้



"ถ้าแม่คิดว่าทำผิดเรื่องยาย แม่ต้องปล่อยไป ไม่อย่างนั้นแม่จะทำผิดเป็นเรื่องที่สอง คือไม่เชื่อฟังคำที่พระอาจารย์เทศน์นะจ๊ะ"



........มีต่อ........
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.พ.2005, 5:43 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บุญบนโต๊ะทำงาน



ช่วงกุมภาพันธ์ของทุกปี บนโต๊ะของอารียาจะมีงานเพิ่มขึ้นมา คือกองเอกสารภาษีเงินได้ประจำปีที่เพื่อนพนักงานแผนกอื่นมาฝากให้ช่วยทำ เพราะทำไม่เป็น มันเป็นยาขมเสมอสำหรับคนที่ไม่รู้เรื่องบัญชี



ละเอียดรัตน์ มายืนเฮ้อ เฮ้อ อยู่ข้าง ๆ ตอนจะชวนไปกินข้าว



"เฮ้ออะไร เขามาฝากฉันทำ ไม่ได้ฝากหล่อนนะยะ" อารียาว่า



"แค่เห็นก็เฮ้อแล้ว เรื่องอะไรรับมาทำ ของใครก็ให้ใครทำซี"



"ทำบุญ เขาทำกันไม่ได้ เราทำได้ ช่วยทำเอาบุญ นั่งอยู่ตรงนี้ก็ได้บุญแล้ว ไม่ต้องไปไหนไกล"



"บุญอาราย ช่วยแค่เนี๊ยะ จะเอาบุญนะ"



"เอาไม่เอาก็ได้อยู่แล้ว เราช่วยให้เขาพ้นความเดือดเนื้อร้อนใจ มันอยู่ในพรหมวิหาร 4 รู้จักมั้ย เมตตาช่วยเขาเป็นสุขที่ส่งภาษีจนได้ กรุณาช่วยเขาพ้นทุกข์ คือทำเอกสารแทนเขา มุทิตายินดีด้วยถ้าเขามีรายได้ดี อุเบกขา วางเฉย ไม่ว่าเขาจะมีรายได้มากกว่าหรือน้อยกว่าเรา"



บุญเยอะขนาดนั้นเชียว" ละเอียดรัตน์เหน็บ อารียาจึงเหน็บเข้าบ้าง "ตัวเองน่ะ ระวังอย่าทำบาปบนโต๊ะก็แล้วกัน"



ละเอียดรัตน์ตาโต "อาไร๊ บนโต๊ะใต้โต๊ะไม่เคยทำบาปซะหน่อย"



"ก็ที่เที่ยวได้กระซิบว่าคนนั้นคนนี้เขามีเงินเดือนเท่าไหร่นะ บาป ..2..ต่อ"



"2 ต่อด้วย อะไร บอกมานะ" ละเอียดรัตน์ดุ แต่อารียายังยิ้ม



"การที่บริษัทจะให้เงินเดือนใครเท่าไหร่ ต้องมีเหตุผลและบางครั้งเกี่ยวกับการบริหาร เราไม่รู้หรอก การเปิดเผยอาจไปทำให้ผู้ใหญ่มีปัญหาในการบริหาร บริษัทมีบุญคุณกับเรานะ เขาจ้างเราทำงาน เราไม่ควรสร้างปัญหาให้มันบาป เราเองก็มีบุญคุณกับบริษัท ถ้าเราทำงานดี บริษัทต้องดูแลเราดีตอบแทนเรา จึงจะอยู่กันได้ ไม่งั้นบริษัทก็บาปเหมือนกัน"



ละเอียดรัตน์เฉย ๆ เหตุผลนี้ไกลตัว ไม่ชอบคิดไกล เบื่อ



"อันที่ 2 เราอาจทำบาปให้ตัวเองโดยไม่รู้ตัว" อารียาพูดต่อ เออ อันนี้ใกล้ ละเอียดรัตน์หันมาสนใจใหม่



"สมมุติว่าเราบอก ก. ว่าเขาได้เงินเดือนต่ำกว่า ข. และสูงกว่า ค. เราไม่รู้นิสัยเขานี่ ก. อาจไม่ขอบ ข. ขึ้นมาด้วยความอิจฉาแต่ชอบ ค. เพราะด้อยกว่า แล้วไปยุ ค. ให้เกลียด ก. ด้วย ส่วน ข. พอทำงานไม่ได้รับความร่วมมือ ก็ไปฟ้อง จ. จ. ก็ดุ ก. ก.ก็เกลียด จ. จ. รู้ว่าเธอเป็นแหล่งข่าวจนเกิดเรื่อง จ. ก็เกลียดเธอ"



"โอ๊ย อะไรยังกะละครหลังข่าว " ละเอียดรัตน์ว่าเสียงเบื่อ ๆ



" เธอทำให้ ก. ทุกข์ใจด้วยความอิจฉา เธอทำให้ ข. เดือดร้อน บาปอย่างนี้เรียกบาปที่ไม่ตั้งใจ ต่อไปจะได้รับผลกรรมแบบที่คนอื่นเขาไม่ตั้งใจ เช่นว่าเขวี้ยงของไปโดนหัวหมาเพราะไม่ได้ดู วันหนึ่งเดินไปเจอกระถางต้นไม้หล่นมาใส่หัว เพราะเจ้าของบ้านไปโดนเข้าโดยไม่ตั้งใจเหมือนกัน "



ละเอียดรัตน์นั่งมอง อารียา ฟังการเกิดผลของกรรมเหมือนไม่เชื่อหูตัวเอง อารียาหัวเราะเมื่อเห็นอาการ



"ที่คิดว่าตัวเองสำคัญ เป็นแหล่งข่าวรู้สึกเท่นะ แต่ไปทำร้ายใครไว้เท่าไหร่ แล้วจะมีใครกล้ามาคุยด้วยมั้ย เขาก็กลัวเธอเอาไปพูดอีกเหมือนกัน ไม่มีใครไว้ใจเธอ

พระพุทธเจ้าสอนว่า ควรพูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ส่วนที่พูดแล้วไม่เป็นประโยชน์ แม้จะเป็นเรื่องจริงก็ไม่ควรพูด เราต้องพิจารณาความควรไม่ควร และดูกาลเทศะด้วย จึงจะเหมาะสม ท่านให้สำรวมวาจาไว้จึงจะไม่เผลอไปทำบาปเข้าโดยไม่รู้ตัวนะจ๊ะ"



...........มีต่อ..........
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 24 ก.พ.2005, 6:02 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ข้าวแกงใส่ธรรม



ป้าลำเพาขายข้าวแกงอยู่บ้างบริษัท ช่วยชีวิตพนักงานไว้เยอะตอนกลางวัน ข้าวแกงร้านใกล้ ๆ กันขายจานละ 20 บาท ป้าลำเพาขาย 25 บาท







แต่ร้านป้าลำเพาแน่นเอี๊ยด จนบางวันชายสมแทบจะยืนกิน







วันหนึ่งชายสมโผล่มาเอาเกือบบ่าย 2 เป็นลูกค้าตกค้างป้าลำเพากำลังเก็บร้าน แกเลยทำ "แกงรวม" ให้ชายสมจานใหญ่แล้วให้กินฟรี



"ยังงี้ผมมาเก็บร้านให้ป้าทุกวันดีกว่า"



"คิดไม่ดี" ป้าลำเพายกจานกลับ ชายสมห้ามเสียหลงรีบประพฤติตัวดีแล้วรีบกิน



"ป้าทำกับข้าวอร่อยนะ ขายถูกด้วย ตักเยอะ จานเดียวอิ่มเลย ทำไม่ไม่ตักน้อยลงหน่อยละ จะได้กำไรเยอะ ๆ







ถ้าขายหมดกำไรเยอะเองแหละ กำไรแค่นี้พอแล้ว อยู่ได้ ถ้าทำไม่ดีขายไม่หมด ต่อให้ตักน้อย ๆ ขายจานละ 20 ก็อยู่ไม่ได้หรอก"



"ป้าทำดีจริง ๆ ไก่เป็นไก่ หมูเป็นหมู ไม่เป็นเศษๆ แบบว่าแค่เห็นก็ไม่อิ่มแล้ว ยังงั้น"



ป้าลำเพาหัวเราะชอบใจ แกชอบเวลาคนชม ชายสมก็ชอบชมคน



"ป้าเป็นแม่ค้า ต้องยืนขายที่นี่ทุกวัน ไปทำบุญที่ไหนไม่ได้ ป้าทำบุญกับอาชีพป้านี่แหละ หลวงพ่อท่านเทศน์ทางวิทยุว่าให้ซื้อสัตย์ต่อหน้าที่การงาน ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า"



"สาธุ" ชายสมยกมือไหว้



"คนเขาทำงานกันเหนื่อยหิวมา เราเอากับข่าวดี ๆ ให้เขากินเขาอิ่มสบายดี เราได้บุญ เวลาไปจ่ายตลาดป้าเลือกแต่ของดี ๆ พวกกินแล้วเป็นอันตรายป้าไม่ใส่ หรือผงชูรสนี่ไม่ใช้เลย"



"แต่ก็อร่อย" ชายสมชมอีก ป้าลำเพายิ้มอีก





" หลวงพ่อเทศน์ว่า ทำบุญด้วยการให้อภัย อภัยนี่มันมี 2 อย่างน่า รู้เปล่า อภัยให้คนอื่นที่มาทำเรา กับอภัยที่แปลว่าไม่เป็นภัย ป้าทำอาหารดี สะอาด ไม่เป็นภัยกับคนกิน ป้าได้บุญรู้มั้ยล่ะ ท่านเรียกว่าอภัยทาน เท่ากับป้าได้ทำบุญทำทานทุกวัน เคยฟังเทศน์หรือเปล่าทางวิทยุน่ะ"



"ถ้าแม่ค้าคิดอย่างป้าทุกคน เราคงแข็งแรงกันทั้งประเทศ"



"อ้าว เรื่องจริงนา เกิดเราไปใส่อะไรไม่ดี คนเขากินแล้วเข้าโรงพยาบาลล่ะ เราบาปไปตลอดชีวิตเลยนา ป้าไม่เอาด้วยหรอกทำดีอย่างนี้สบายใจ ทำเหมือนทำให้ลูกหลานกิน คนเรามันต้องอยู่อย่างสบายใจ รวยจนไม่สำคัญ สำคัญที่สบายใจทุกวันจริงมั้ย อิ่มยัง เอาจานของคุณไปล้างเองนะ"



ป้าลำเพาหัวเราะตบท้าย



.......มีต่อ........
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 25 ก.พ.2005, 9:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

นักขายประกัน



ตวงเพชรเป็นนักขายประกันระดับรางวัลมรกต เธอตั้งหน้าตั้งตาออกไปหาลูกค้าทั้งวัน เพื่อจะคว้ารางวัลเพชรอันเป็นรางวัลสูงสุด ถ้าไปหาลูกค้ากลางคืนได้คงจะไปทั้งคืน



ตวงเพชรเพิ่งจะเริ่มผ่อนบ้าน เธออยากจะรีบหาเงินเทให้แบงก์จบ ๆ ไป เธอเคยอ่านธรรมะมามาก แต่พอมาทำประกันเธอก็วาง เพราะคิดว่าการมีธรรมะใช้กับชีวิตทำงานไม่ได้



"ฉันต้องทำตัวเลขเยอะ ๆ นะ จะมาให้สันโดษ พอใจในสิ่งที่มีอยู่ แล้วนั่งเฉย ๆ ไม่ได้ ต้องทำเยอะ ๆ เข้าใจมั้ยเยอะ ๆ "



"คิดผิด" วุ้นสีพูดไม่มองหน้า ตามองจานทุเรียน หยิบพูที่เล็กที่สุดเข้าปาก



"สันโดษคือพอใจตามที่ได้ หากมีกำลังเพิ่มขึ้นก็อาจหาให้ได้ดีขึ้น พอใจตามกำลัง มีกำลังเท่านี้ สติปัญญาเท่านี้ หาได้เท่านี้ ก็ดีแล้ว คิดได้อย่างนี้จิตใจจะได้ไม่เร่าร้อน สันโดษไม่ได้แปลว่าให้นั่งเฉย ๆ"



วุ้นสีร้องเฮ้อ ! ตวงเพชรร้องอ๋อ !



"ทุกวันนี้เธอก็สันโดษอยู่แล้ว คือไม่โลภอยากได้ของคนอื่น ไม่งั้นคงขโมยแหวนเพชรเวลาไปเยี่ยมลูกค้าที่บ้าน เอามาช่วยผ่อนบ้าน ยอมผิดศีลข้อลักทรัพย์ แต่นี่ศีลเธอเยี่มมาก"



ตวงเพชรฟังคำแล้วงง อ้าปากหวอ วุ้นสีเลยบิทุเรียนใส่เข้าปาก





"ธรรมะมันต้องใช้หลายข้อ อย่างข้อขยันหมั่นเพียรในการทำงาน ทำไมไม่หยิบมาใช้มั่ง อ๋อ ขยันอยู่แล้วลืมไป สันโดษ มันก็เรื่องเดียวในหลาย ๆ เรื่องนะ สันโดษเหมือนสาก เอาไว้ตำน้ำพริก นี่เธอเอาสากไปกวาดบ้าน เอาสากไปตัดต้นไม้ เอาสากไปรีดผ้า อย่างนี้เขาเรียก อุ้ยใส่ ช."



"อะไร" ตวงเพชรดุ "อยู่ดี ๆ มาว่าฉันชุ่ย ก็ฉันเข้าใจว่าเขาให้รู้จักพอ ก็คือหยุด ก็ตอนนี้มันหยุดไม่ด้ายยยย"



"ช่ายยยย" วุ้นสีลากเสียงยาว หยิบทุเรียนพูเล็กที่สุดใส่ปาก



"แต่สันโดษคือพอใจในสิ่งที่หามาได้โดยสุจริต ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน พอใจเท่าที่ได้มาตามกำลังของตน และถ้ามีพอสมควรแล้วก็จึงหยุด ถ้าวันนี้เธอไปซื้อบ้านอีกหลังมาผ่อน นั่นโลภแล้ว ไม่สันโดษแล้ว ไม่รู้จักพอ เอาบ้านไปทำไมสองหลังมันเกินอย่างนี้เสียสันโดษ"



ตวงเพชรรู้สึกเหมือนหน้าต่างบานที่ปิดอยู่ถูกเปิดออก มีอากาศเย็นโชยเข้ามา เพราะเธอก็ตะขิดตะขวงใจอยู่เหมือนกันตอนทิ้งธรรมะ แต่ดันทุรังว่าตัวเองถูก



"พระพุทธเจ้าตรัสว่า "แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี" เพราะว่าแม่น้ำยังรู้จักเต็ม แต่ตัณหาไม่รู้จักเต็ม ถ้าเราไม่มีธรรมะในใจเราจะถูกความโลภจิกหัวใช้จนตาย เธอทำงานยังไงก็ไม่พอหรอก ถ้าใจไม่รู้จักพอ เหมือนว่าไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ ใส่เชื้อเข้าไปเท่าไหร่ ๆ ไฟก็ไหม้จนหมดนั่นแหละ วิธีที่จะดับไฟได้คือต้องไม่เติมเชื้อให้มันเพราะฉะนั้น ตัณหาของเราก็เหมือนกัน ถ้าจะให้มันเหือดแห้งก็คือ ไม่ไปสนองความต้องการของมัน"



ตวงเพชรนั่งเหมือนนักเรียนตั้งใจฟังครู



"ทำประกันชีวิตต้องเรียนธรรมะเยอะ ๆ " วุ้นสีเอ่ย ตวงเพชรหยิบทุเรียนพูเล็กที่สุดส่งให้เอาใจ เวลามีทุเรียน วุ้นสีพูดเก่ง



"ธรรมะสอนอริยสัจไว้สำหรับแก้ไขปัญหาชีวิต เวลาเธอไปพบลูกค้าทุกข์ใจ คุยแนวอริยสัจช่วยได้ ลูกค้าจะได้สบายใจ มีชีวิตยืนยาว ส่งเบี้ยประกันนานๆ "



"ดี ดี ชอบ" ตวงเพชรกระตือรือร้น



"ใช้ธรรมะคุยกับลูกค้าได้ทุกเรื่องแหละ เรื่องทำมาหากินเรื่องครอบครัว เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วย เรื่องอนิจจังไม่เที่ยง เรื่องสารพัด เธออย่ามองผิดมุมอย่างสันโดษก็แล้วกัน ไปอ่านธรรมะใหม่เถอะเดี๋ยวรวยเอง ชอบมะ รวยน่ะ"



วุ้นสีจบปาฐกถา หยิบทุเรียนพูเล็กที่สุดพูสุดท้ายเข้าปาก





......มีต่อ........
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 28 ก.พ.2005, 4:08 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สุดสาครสันโดษ



คุณยายพริ้มเพรา เดินตามหาหลานชายจนทั่วบ้าน พบว่าออกไปนอนอยู่ในสวนคนเดียว จึงตามไปนั่งลงข้าง ๆ



"อิกคิวซัง ทำไมมานอนคนเดียว" คุณยายถาม หลานชายส่ายหน้า



"ไม่ช่ายอิกคิวซัง ชื่อสุดสาคร"



คุณยายพริ้มเพราหัวเราะหลานชายที่ชอบเอาชื่อละครในโทรทัศน์มาตั้งให้ตัวเองและใคร ๆ ในบ้าน



"แล้ววันนี้คุณยายเป็นอะไรล่ะ"



"เป็นฤาษี ถึงคุณยายไม่ใช่ผู้ชาย แต่ก็แก่เหมือนกัน"



"แล้วทำไมมานอนคนเดียว ไม่เรียกคุณยาย"



"สุดสาครกำลังสันโดษ" หลานชายจีบปากจีบคอพูด



"สันโดษยังไงล่ะ สุดสาคร"



"สันโดษแปลว่าอยู่คนเดียว" สุดสาครอธิบาย คุณยายพริ้มเพราหัวเราะ เอ็นดูหลานชายตัวน้อย



"สันโดษไม่ได้แปลว่าอยู่คนเดียวจ๊ะ แต่แปลว่าเรามีอะไรเท่าไหร่ เราก็พอใจของเราเท่านั้น ไม่ไปอยากได้ของคนอื่น "



"ไม่อยากได้ของคนอื่น แล้วยังงาย" หลานชายยานคาง



"ก็ไม่ไปขโมยของใคร ถ้าทุกคนสันโดษ ก็ไม่มีใครมาขโมยของเราด้วย"



"ไม่ขโมยแล้วเป็นยังงาย"



"ก็ไม่ต้องทำเหล็กดัด เหมือนขังเราอยู่ในบ้านอย่างทุกวันนี้ ไม่ต้องมีรั้ว ไม่ต้องมีกุญแจบ้าน ประหยัดเงินไปเยอะเลย เพราะไม่มีขโมย"



"ไม่มีขโมยแล้วเป็นยางงาย"



"ก็ไม่ต้องมีตำรวจน่ะซีลูก"



"ไม่มีตำรวจแล้วเป็นยางงาย"



"ก็ไม่ต้องมีโรงพัก"



"ไม่มีโรงพักแล้วเป็น.......เอ๊ะ ตำรวจก็ตกงานเหมือนคุณตาสนข้างบ้าน"





คุณยายพริ้มเพราหัวเราะ "คุณตาสนไม่ได้ตกงาน เขาเรียกเกษียณ คนอายุเลย 60 แล้ว เขาต้องเกษียณ คือไม่ต้องไปทำงานแล้ว"



"งั้นคุณยายฤาษีเกษียณแล้วเหมือนกัน"



"ยังจ๊ะ" คุณยายพริ้มเพราพูดยิ้ม ๆ หลายชายทำหน้างงๆ



"สุดสาครไม่เห็นคุณยายทำงานเลย"



"ก็เลี้ยงสุดสาครอยู่ยังไงล่ะจ๊ะ"



หลานชายยิ้มผ่องทันที พูดคำของคุณยาย



"สุดสาคร น่ารักที่สุดเล๊ย"



........ ...............

 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 02 มี.ค.2005, 5:06 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ติ่มซำอิจฉา



สร้อยขิม กับติ่มซำ กราบพระประทานในโบสถ์เสร็จแล้วก็ออกมาเดินชมวัด ผ่านป้ายติดบนกำแพงเขียนว่า



"คุณเมตตา อารีประเสริฐ บริจาคปัจจัยเป็นจำนวน 14 ล้าน บาท เพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์โบสถ์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2546"



ติ่มซำอ่านแล้วทำจมูกย่น "ต้องประกาศด้วย มีเงินก็บริจาคได้อยู่แล้ว"



สร้อยขิมขำท่าทางขวาง ๆ ของติ่มซำ



"อย่างนี้เขาเรียกอิจฉา" สร้อยขิมว่า ติ่มซำฉุนกึก



"ไม่ได้อิจฉา อิจฉาเรื่องอะไร ใครอยากทำอะไรก็ทำไปซีแต่ประกาศอย่างนี้ มันทำบุญเอาหน้าไม่ใช่เหรอ"



สร้อยขิมหยุดเดิน หันไปพิจารณาป้ายนั้นอีกครั้ง ก่อนจะพูดช้า ๆ อย่างไตร่ตรอง ติ่มซำเท้าสะเอวอยู่ข้าง ๆ



"เรื่องนี้มันมองได้หลายมุมนะ เอากลาง ๆ ก่อนละกัน ป้ายนี้วัดอาจจะอยากทำให้เอง โดยที่คุณเมตตาไม่ได้ขอก็ได้ วัดอาจจะรู้สึกว่าเขาให้มาก อยากจะตอบแทน เพราะไม่รู้จะขอบคุณยังไงดี เลยประกาศเกียรติคุณให้คนอื่นได้รู้ จะได้อนุโมทนา ส่วนคุณเมตตาเขาก็มีจิตกุศลนะ ไม่ใช่ว่ามีเงินก็ทำได้อย่างที่ติ่มซำว่า คนมีเงินที่ไม่ทำบุญก็มีเยอะไป ส่วนเรื่องป้ายถ้าเขาจะขอให้วัดทำ หรือวัดทำให้เอง ก็ไม่น่าเป็นไร ก็เขาให้จริง ๆ "



"เขาว่าทำบุญไม่ต้องประกาศไม่ใช่เหรอ" ติ่มซำยังแย้งสร้อยขิมทำท่านึก



"ถ้าดูตามหนังสือโอวาท 4 ของเหลี่ยวฝาน เรื่องวิธีทำความดีแล้วก็ใช่ คือท่านมองว่า การทำบุญแบบปิดทองหลังพระ เป็นความดีที่แท้จริง แต่ในเมื่อมันก็ทำป้ายขึ้นมาแล้วอย่างนี้ เราก็มองในแง่ศรัทธาให้คนอื่นก็ได้ แต่บางคนเขาก็ถือว่า ถ้าประกาศแล้ว มันเหมือนได้รับผลบุญมาก่อนส่วนหนึ่งแล้ว เวลาผลบุญมาจริง ๆ อาจจะได้รับไม่เต็มที่"



"อ๋อ เก็บมัดจำไปแล้ว" ติ่มซำหัวเราะ







"แต่ที่สำคัญที่พูดมานี่มันเรื่องของคนอื่นหมดเลย ติ่มซำเองต่างหากที่ควรจะมองตัวเอง"



"มองยังงาย" ติ่มซำงอน อะไร คุยกันดี ๆ มาว่าเรา



"อาจารย์สอนให้รักษาใจตัวเองนะ เวลามีอารมณ์มากระทบรับกระทบได้ แต่อย่าให้กระเทือน รู้ทันอารมณ์ แล้วรักษาใจให้อยู่เหนือความยินดียินร้ายเสียได้ อย่างเนี๊ยะที่ไปอิจฉาเขาเนี่ย กระเทือนแล้ว เรียกว่าอยู่ ๆ เดินมาเก็บบาปในวัดซะแล้ว เราควรจะอนุโมทนากับเขา เก็บบุญให้ตัวเราดีกว่า"



"มาด้วยกันรึเปล่าเนี่ย" ติ่มซำว่า "บอกว่าไม่ได้อิจฉา จับตาดูสิยังเย็นอยู่"



"อิจฉาหมายถึง การไม่ยินดีในคุณความดีของคนอื่น ติ่มซำควรจะยินดีที่คุณเมตตาเขาบริจาค เพราะติ่มซำเองบริจาคไม่ไหวหรอก เอา อนุโมทนาซะ"



ติ่มซำยกมือไหว้อย่างเด็กดี แล้วแลบลิ้นให้สร้อยขิม



"อีกอย่างหนึ่ง อาจารย์สอนว่า อย่ามัวไปเพ่งโทษคนอื่น ใครจะทำอะไร เป็นกรรมของเขา เขาทำอะไรยังไงเขาก็ได้อย่างนั้น แต่เราเพ่งโทษเขานั้น เราคิดไม่ดี แสดงว่าเราทำไม่ดีอยู่ เพราะการเพ่งโทษเป็นสิ่งไม่ดี ให้เลิกเพ่งโทษคนอื่น แต่ดูตัวเองว่าทำอะไรดีแล้วหรือยัง"







"ไปไหนกับเธอดีอย่าง เหมือนหนีบพระไตรปิฎกไปด้วยแล้วอาจารย์สอนอะไรเธออีกล่ะ"



"อาจารย์สอนว่า เวลาเจอคนชั่ว เราต้องดีใจว่าโชคดีที่เราไม่ต้องชั่วอย่างเขา" สร้อยขิมพูดหน้าตาเฉย



"จริงอ่ะ นี่เธอว่าฉันชั่วเหรือ" ติ่มซำจะวางมวย สร้อยขิมหัวเราะ



"ในภาษาธรรมะ ก็มีแต่คนดีกับคนชั่ว ทำผิดนิดเดียวท่านก็เรียกว่าชั่วแล้ว อย่างเธอนี่ยังไม่เข้าขั้นนั้นหรอก รู้ตัวแล้วอย่างนี้ก็ให้อภัยได้

วันหลังมาวัดหัดเก็บบุญให้มาก ๆ ระวังใจอย่าให้คิดอะไรเป็นอกุศลเลย ต้องรู้ให้ทันอารมณ์ ถ้าจะคิดไม่ดี ก็ให้เปลี่ยนมุมมองไปทางด้านดีซะ ให้ใจเราเป็นบุญ ถ้าไม่ได้ก็เฉยไปเลยดีกว่า รักษาใจให้ดีไว้ อยู่ดี ๆ ไปยอมให้เรื่องของคนอื่นมาสร้างบาปให้เราได้ยังไง จริงมะ"



สร้อยขิมขอคะแนนเสียง ติ่มซำพยักหน้าหนักแน่นอย่างเข้าใจในคำแนะนำ



"ใช่ มันขาดดุล"



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 03 มี.ค.2005, 5:28 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กรรมมาเยี่ยม





กีตาร์นั่งก้ม ๆ เงย ๆ อยู่ที่โต๊ะคัดสไลด์ ด้วยอารมณ์บูดทำให้ดูภาพไหน ๆ ก็ไม่สวย เลยลุกไปชงกาแฟ แล้วนั่งมองกาแฟหมุนอยู่ในถ้วย



อำพลนั่งแปะลงข้าง ๆ "ไง อังกะลุง วันนี้หน้าบูด ไม่ม่ปาท่องโก๋กินกับกาแฟแล้วหงุดหงิด"



กีตาร์ส่ายหน้าที่ยังไม่หายบูดจนเริ่มมีกลิ่นนิด ๆ



"แม่อาละวาดแต่เช้า พูดผิดหูนิดเดียว " เขาตอบ "ที่เขาว่ามีกรรมมาจากชาติก่อน นายว่าจริงมั้ย"



อำพลพยักหน้าอย่างผู้รู้ "จริงสิ พระพุทธเจ้าบอกไว้ คนมีกรรมผูกพันกันถึงมาเกิดเป็นแม่ลูกกัน อย่างนายยังดี ยังดูแลเกื้อxxxลกัน บางคู่เกิดมาเพื่อจะสร้างทุกข์ให้กัน อย่างนั้นแย่หน่อย"



"หนีมันไม่ได้เลยใช่มั้ย" กีตาร์หน้ายุ่ง



"หนีไม่ได้ แต่อาจจะผ่อนหนักเป็นเบาได้ นายต้องทำบุญมาก ๆ รู้มั้ย อังกะลุง"



"โอ๊ย เราไม่มีตังค์ อย่างที่เขาถวายสังฆทานกันใช่มั้ย เคยเห็น" กีตาร์หน้ายุ่งเป็น 2 เท่า อำพลหัวเราะเบา ๆ หวังช่วยแก้หน้ายุ่งให้เหลือเท่าเดียวตามเดิม



"บุญเกิด 4 ระดับนะจากน้อยไปหามาก มีทาน ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ต้องใช้ตังค์หรอก นายทำทานด้วยการยิ้มให้แม่ ยิ้มให้ใคร ๆ พูดจาดีๆ ให้คนฟังแล้วสบายใจ นั่นทานแล้ว อย่าโกรธใครภาวนาก็เช้าเย็น สวดมนต์ที่บ้าน สวดเสร็จอุทิศส่วนกุศลจากการสวดมนต์ให้พ่อแม่และสรรพสัตว์ทั้งหลายทุกวัน ปัญญาก็รู้ตรงตามความเป็นจริงว่า ทุกอย่างในโลกนี้มันไม่เที่ยง อะไรๆ ก็ไม่เที่ยง หายใจเข้าแล้วก็ต้องหายใจออก เด็กก็ต้องโต โตก็ต้องแก่แม่ป่วยได้วันหนึ่งก็หายได้ เข้าใจยัง อังกะลุง"



กีตาร์มองอย่างทึ่งในบทเทศน์ โอ้โฮ เหรอ งั้นทำบุญที่ตัวเรานี่เองสินะ





"อีกอย่าง นายดูแลแม่เขาเรียกลูกกตัญญู เป็นบุญมากที่หนึ่งเลย ต้องมองว่านายโชคดีที่มีโอกาศดูแลแม่นะ ลูกกีตาร์กตัญญู"



"แต่เรามีกรรมมากใช่มั้ย ที่แม่เป็นอย่างนี้" กีตาร์รู้สึกกลัวกรรม



"ก็ไม่เต็มร้อยหรอก นายมีบุญที่แม่มาเป็นตอนที่นายโตแล้ว มีงานทำ เลี้ยงดูแม่ได้ ลองคิดดูสิ ถ้าวันนี้นายอายุ 10 ขวบทำไง จะพาแม่ไปหาหมอก็ยังไม่ได้"



"โอย คงยุ่งน่าดู" กีตาร์คราว ดวงตาเห็นจริงไปด้วย



"บางทีเราไม่ค่อยสังเกตบุญที่เรามี เราได้เกิดเป็นคน ได้มีอวัยวะสมบูรณ์ ได้มีสมองดีจนเรียนจบ ได้ทำงาน การที่เราได้มาอย่างนี้ก็คือบุญ สิ่งที่คุ้มครองเราอยู่ตลอดเวลาให้มีชีวิตดีขนาดนี้ก็คือบุญ เราต้องเข้าใจไว้ และต้องกตัญญูต่อบุญ"



"กตัญญูต่อบุญทำยังไงเหรอ" กีตาร์สนใจ



"ก็เหมือนกตัญญูต่อพ่อแม่ เราก็ดูแลพ่อแม่เสมอ ๆ กตัญญูต่อบุญ ก็คือหมั่นทำบุญ ไม่ใช่ประมาทว่าเราสบายแล้ว ก็ไม่ต้องทำบุญแล้ว ยิ่งบุญคุ้มครองเรา เรายิ่งต้องทำบุญ แล้วเราโชคดีที่มีโอกาสได้ทำด้วยนะ"



กีตาร์รู้สึกดีขึ้น ฟังแล้วมีความหวังในใจ อำพลเสริมต่อ



"พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อใดบุญสิ้นไปทุกอย่างก็พินาศหมด นายเห็นมั้ยว่าบางคนดูไม่น่ามีชีวิตอยู่ได้ อย่างคนบ้าข้างกองขยะ ไม่ตาย ถ้าเป็นเรากินขยะ เราคงติดเชื้อตาย รู้มั้ยว่าที่เขาไม่ตายน่ะ ไม่ใช่มีบุญนะ แต่เป็นบาปรักษาเขาเอาไว้ไม่ได้ตาย เพื่อจะได้รับผลของกรรมต่อไป



อย่างนายน่ะแค่มีพายุดีเปรสชั่นมาเป็นครั้งคราวเท่านั้นคนมันก็ต้องเจอพายุมั่ง จะให้ฟ้าใสตลอดได้ยังไง คนเรามักจะมองเห็นแต่สิ่งที่เราขาด เราต้องหัดมองสิ่งที่เรามีบ้าง จะได้สบายใจขึ้น"



หน้ากีตาร์หายบูด ดวงตามีความหวังขึ้นบ้าง



"รีบทำบุญใส่ตัวซะวันนี้เลย อภัยให้แม่ที่อาละวาดแต่เช้า เมตตาแม่ที่แม่ไม่สบาย แผ่เมตตาขอให้แม่เป็นสุข ๆ เถิด ทุกครั้งที่นึกถึงแม่ขึ้นมา " อำพลให้กำลังใจ



"เอ้า ยิ้มให้เราหน่อยเป็นค่าวิทยากร เร็ว"



..............................



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
nongnamaoy
บัวผลิหน่อ
บัวผลิหน่อ


เข้าร่วม: 03 มี.ค. 2005
ตอบ: 3

ตอบตอบเมื่อ: 03 มี.ค.2005, 6:55 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

โอ้ .. เยอะ อ่านมะหวาย มึนๆ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 04 มี.ค.2005, 5:18 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

บุญงามยามเช้า



เช้าวันนี้ พลอยช่วยแม่หิ้วตะกร้าใส่ของตักบาตรไปวัดชลประทานๆ ไปนั่งกินข้าวที่ร้านค้าซึ่งวัดจัดบริเวณไว้ให้ บรรยากาศที่ไม่เร่งรีบชวนให้สบายใจ กินเสร็จก็เดินไปในสวน นั่งที่ศาลาริมสระ ต้นไม้ใหญ่ครึ้มใบสวยทอดเงาลงในสระ เป็นที่ร่มรื่นชื่นใจเสียงนำสวดมนต์เริ่มเมื่อเวลา 9 โมง สวดบททำวัตรเช้า ไปจนถึง 9 โมงครึ่ง พระสงฆ์จำนวนมากเริ่มเดินแถวมาที่ลานหินโค้ง เพื่อนั่งฟังเทศน์ร่วมกับญาติโยม เห็นจีวรเหลืองอร่ามเป็นแนววงรอบลานดูน่าประทับใจ พระเริ่มเทศน์เวลา 9 โมงครึ่ง ผ่านลำโพงไปยังทุกจุดของวัด แลวแต่ใครจะชอบนั่งในบรรยากาศไหน



แม่นั่งฟังพระเทศน์อย่างสงบ ใบหน้าแช่มชื่นเบิกบานพลอยเองก็รู้สึกสงบกับบรรยากาศดี ๆ เช่นนี้เหมือนกัน



แต่แล้วก็มีหญิงวัยกลางคน 3 คน เข้ามานั่งในศาลาด้วย มีข้าวของพอสมควรเตรียมมาถวายพระ มาถึงก็นั่งลงตั้งวงแล้วคุยแข่งกับเสียงพระเทศน์



แม่พยักหน้าเรียกพลอย แล้วนำเดินไปหาที่นั่งใหม่โดยไม่พูดอะไรเลย ฟังพระเทศน์จนจบ แล้วแม่จึงพูดกับพลอย



"พลอย มาวัดให้ได้บุญนะลูก เป็นสถานที่ควรสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่รบกวนการฟังธรรมของคนอื่น เราเองก็ควรได้ฟังธรรมด้วย การรบกวนการฟังธรรมนั้นเป็นบาป ต่อไปจะมีคนมากั้นทางบุญของเราเหมือนกัน เรื่องคุยกันคุยที่บ้านก็ได้ หรืออย่างน้อย ก็นอกเวลาเทศน์ อาทิตย์หนึ่งพระเทศน์ชั่วโมงเดียวเท่านั้น ควรรู้ค่าของชั่วโมงนี้"



พลอยจัดเตรียมของในตะกร้าให้แม่จบอธิษฐาน แล้วพากันเดินไปที่ลานหินโค้งเพื่อตักบาตร เมื่อตักบาตรเสร็จแล้วก็พากันกลับลงมานั่งเก้าอี้ข้าง ๆ ลาน เพื่อรอกล่าวคำถวายพร้อม ๆ กันทั้งวัด







ขณะที่นั่งรอ หญิงสาวคนหนึ่งรูปร่างงดงาม ทรวดทรงองค์เอว เหมือนหุ่นโชว์เสื้อนั่นเทียว สวมเสื้อยืดรัดรูป แขนกุดอวดผิวขาวนวลสวย เสื้อเอวลอยเผยให้เห็นผิวเนียนเหนือขอบกางเกงรำไร แม่สะกิดพลอยให้มองตาม



"พระหนุ่มเพิ่งเริ่มศึกษา เป็นเพียงปุถุชนสมมติสงฆ์นะลูกจะไปหวังให้ท่านสำรวมจิตแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ เราควรแต่งตัวสุภาพมิดชิด เพื่อส่งเสริมการสำรวมของพระให้เป็นไปด้วยดี จึงจะเป็นบุญแก่เรานะลูก"



พลอยยิ้ม เข้าใจในสิ่งที่แม่สอน แม่เอ่ยต่อว่า



"ขนาดคุณยายของลูก ท่านแก่แล้ว เวลาไปวัดท่านยังพันสไบขาวทับเสื้ออีก ท่านบอกว่าบางที แม้แต่กิริยาของเรา ยังอาจไปคล้ายกับใครสักคน ที่ทำให้พระหวนระลึกถึงโยมได้ สไบทำให้เราแตกต่างได้ ช่วยพระให้ไม่ต้องวอกแวกไป เวลากราบพระ ท่านก็ใช้ชายสไบปูแล้วกราบด้วย ได้ประโยชน์อีก"



มัคนายกเริ่มนำสวดถวายทาน พระให้ศีลและรับทานแล้วกล่าวอนุโมทนา แม่ประนมมือกล่าวคำกรวดน้ำในใจ อุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย



พลอยมองดูแม่ด้วยความสุขใจ แม่มีศรัทธารักษาบุญและทั้งยังรักษาใจไม่ให้ถูกกระทบได้ตลอดเวลา ทำให้เช้าของแม่เป็นเช้าที่มีแต่สิ่งดีงาม แม่มองสบตาพลอยแล้วยิ้ม



"มาวัดทั้งทีให้ได้บุญนะลูก"



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
nkc
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 07 มี.ค.2005, 12:40 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ได้อ่านหนังสือที่คุณขวัญหทัย เขียน 2 เล่ม ธรรมะรอบกองไป และ ชอบปิ้งบุญ

อ่านแล้วนอกจากได้ธรรมะแล้ว ผู้เขียนยังมีอารมณ์ขันอีกด้วย อ่านแล้วสนุก

มาก มีคำถามแต่ไม่ทราบว่าจะติดต่อคุณขัญหทัยได้อย่างไร
 
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 08 มี.ค.2005, 12:57 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ห้องหนังสือเรือนธรรม

290/1 อาคารพงศ์วราภา

ถนนพิชัย แขวงถนนนครชัยศรี

เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300

ติดต่อทางจม.(ปลาจ่อม)ได้ตามที่อยู่นี้นะครับ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 08 มี.ค.2005, 4:30 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ใครก็ได้ช่วยพิมพ์ต่อด้วย

ไม่มีเวลาพิมพ์ครับช่วงนี้งานเยอะ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 08 มี.ค.2005, 8:29 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

รายละเอียดเกี่ยวกับเรือนธรรม


http://www.dhammajak.net/ruendham/activity.php





 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 10 มี.ค.2005, 9:02 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

การพยาบาลของวันวิสาข์



แขทิพย์เป็นคนไข้ห้องพิเศษมากว่าอาทิตย์แล้ว วันนี้กำลังจะกลับบ้าน วันวิสาข์นางพยาบาลใจดียังคงนำยามาให้กินก่อนอาหารเช้า



แขทิพย์เคยนึกทบทวนถึงเมื่อสมัยเด็ก ครั้งแรกที่เข้าโรงพยาบาลผ่าตัดไส้ติ่ง สมัยนั้นห้องแน่นไปหมด เธอถูกเข็นเตียงไปนอนที่ระเบียง คืนแรกที่ท้องยังตึง เอื้อมมือขึ้นไปแขวนหูมุ้งไม่ถึง คุณยายเตียงข้าง ๆ แขวนหูมุ้งที่ตะปูให้ด้วยความเมตตา นางพยาบาลก็แว้ดใส่



"ทำเองสิ ใช้คนแก่ได้ไง"



คุณยายยิ้มให้ "ช่างเขาเถอะลูก อย่าไปสนใจ"



พอเข้าโรงพยาบาลครั้งที่สอง ตอนคลอดลูก ก็ถูกดุบ่อย ๆ คนไข้แปลกหน้าที่ร่วมห้องก็ว่า "ช่างเขาเถอะ อย่าไปสนใจ"



แขทิพย์คิดว่า การเป็นคนที่คนอื่นต้องยกให้"อย่าไปสนใจ" เป็นที่ที่โมฆะมาก ๆ แขทิพย์ภาวนาขอให้ตัวเอง อย่าต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะเป็นสถานที่ที่ขมขื่นที่สุด



แต่มาที่นี่ ได้เห็นวันวิสาข์ ยิ้มแย้มใจดี ทุกคนดูใจดีไปหมด คนทำความสะอาดก็มีมารยาทมาก คนส่งอาหารก็อารมณ์ดียิ้มแย้มทักทาย



"เดี๋ยวนี้ คนในโรงพยาบาลเปลี่ยนไปเยอะเชียวนะคะ เขาอบรมกันได้อย่างไร"



วันวิสาข์ยิ้ม "ส่วนของโรงพยาบาล ให้นโยบายว่าคนไข้คือลูกค้าที่เราจะต้องดูแลค่ะ แต่ดิฉันเอง ดิฉันคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ได้ทำบุญทุกวัน"



"รู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ หรือคะ" แขทิพย์แปลกใจ สมัยก่อนเธอเคยได้ยินทัศนคติที่ว่า พยาบาลต้องคอยดูแลเช็ดของสกปรกให้คนไข้ อยู่ใกล้ชิดกับเชื้อโรค อยู่กับหน้าตาที่เจ็บป่วยหดหู่ของคนไข้ ดูเหมือนชีวิตของนางพยาบาลจะเป็นชีวิตที่น่าเบื่อหน่าย



วันวิสาข์ยิ้ม "คนไข้มีความทุกข์อยู่แล้ว เราดูแลให้เขาสบายกายสบายใจขึ้นบ้าง เป็นบุญค่ะ ลูกหลานเขายังดูแลไม่ได้อย่างเราเลย"



แขทิพย์ ชื่นชมความคิดของวันวิสาข์ มิน่าเล่า เธอเห็นวันวิสาข์อารมณ์ดีทุกวัน



"เราต้องอยู่ในอาชีพนี้ทุกวัน ตลอดชีวิต ถ้าคิดให้สุขก็สุข ตลอดชีวิต จริงมั้ยคะ ธรรมะสอนให้โยนิโสมนสิการ คือคิดเป็นเพราะชีวิตเราจะสุขหรือทุกข์ขึ้นอยู่กับความคิดของเราเอง ว่าเราจะเลือกคิดแบบไหน แล้วทำไมเราจะไม่เลือกคิดอย่างที่จะทำให้เราเป็นสุขล่ะคะ เวลาเห็นคนไข้ยิ้มให้เรา เพราะเขามีความสุขขึ้นเราก็สบายใจ เวลาเขาต้องการความช่วยเหลือ เราก็ช่วยได้ ช่วยเขาแล้วเรารู้สึกว่าตัวเราเองมีประโยชน์ มีคุณค่า ไม่ใช่คนไร้ค่าที่ไม่มีใครต้องการ"



"ถ้าทุกคนคิดได้อย่างคุณ ก็คงจะดีมากนะคะ" แขทิพย์เอ่ย วันวิสาข์พยักหน้าเล็กน้อย ยังคงยิ้มแย้มเช่นเคย



"เวลาแต่งตัวจะมาเข้าเวร ดิฉันจะนึกว่ากำลังแต่งตัวจะไปทำบุญ มีความสุขดีค่ะ พระพุทธเจ้าสอนว่า เราควรมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ดิฉันว่าการทำงานของพยาบาลนี่ ปฏิบัติธรรมข้อนี้ได้เต็มที่ทั้งวันทุกวันเลยค่ะ"



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 11 มี.ค.2005, 8:32 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

กรรมโบราณ



พิณอัปสร วางพวงมาลัยบนจานเชิงแล้วตั้งที่หน้าหิ้งพระถัดจากนี้เหลือเพียงการจัดแจกันดอกไม้ เพื่อวางสองข้างขององค์พระพุทธรูป พรุ่งนี้บริษัทนิมนต์พระมาเทศน์ที่ห้องจริยธรรมเพื่อแสดงธรรมให้พนักงานฟัง



พิณอัปสรนั่งพับเพียบบนพื้นเวที เธอเริ่มพับกลีบดอกบัว กิ่งแก้วตามมานั่งลงข้าง ๆ ช่วยพับด้วย



“คุณป้าขา เค้าว่าธรรมะทำให้คนเฉื่อย เพราะว่าอะไร ๆ ก็ยกให้กรรมหมด จริงหรือเปล่าคะ”



พิณอัปสรหัวเราะเบา ๆ มองกิ่งแก้วด้วยแววตาเอ็นดู



“ไม่จริงเลยจ้ะ แต่คนเรามักจะพูดแต่ว่ากรรม ความจริงมีทั้งกรรมดีกรรมชั่ว ศาสนาพุทธสอนเรื่องกรรม และการมีชาติก่อนชาตินี้ชาติหน้า กรรมดีกรรมชั่วเราสร้างเองและรับผลเองไม่ใช่ใครทำ”



“กรรมชาติก่อนให้ผลชาตินี้จริงหรือคะคุณป้า” กิ่งแก้วถาม



“ใช่จ้ะ กรรมดีเหมือนเรามีตู้เย็น เราเก็บผลไม้ไว้ พอมาชาตินี้เราก็เปิดตู้เย็นเอาผลไม้มากิน และชาตินี้เราก็ทำดี คือหาผลไม้ใส่ตู้เย็นด้วย”



“ถ้าเป็นหนังนี่เหมือนใส่ไทม์แมชชีนมาเลยนะคะ” กิ่งแก้วหัวเราะ พิณอัปสรหัวเราตามเบาๆ



“ใช่ ส่วนกรรมชั่ว ก็เหมือนถังขยะ มันใส่ไทม์แมชชีนมาด้วยเหมือนกัน ขยะแต่ละชิ้นในถัง ก็คอยจะลอยมาโดนเรา หลบไม่ได้ ตรงนี้แหละ ที่ชาตินี้เราก็ต้องขวนขวายหาเสื้อมาใส่คลุมไม่ให้เปื้อน ขวนขวายหาน้ำมาไว้ล้างตัว และรีบขุดหลุมใหญ่ ๆ เพื่อฝังขยะพวกนี้ให้มันไม่ตามเราต่อไป เห็นไหมคะว่าการยอมรับกรรมยิ่งทำให้ขวนขวายมาก ไม่เฉื่อยหรอกจ้ะ”



" แล้วแต่ละอย่างที่คุณป้าว่ามา หมายถึงอะไรบ้างคะ"



“เอาเสื้อมาคลุม ก็คือการยอมรับว่าเรามีกรรมนั้น ๆ ยังไงมันก็ต้องมาโดนตัวเรา การยอมรับทำให้เราสงบ มีสติได้ ไม่ฟุ้งซ่าน หรือโกรธเกลียดอะไรต่าง ๆ เสื้อคลุมเป็นการรักษาใจให้อยู่รอดได้ ไม่เศร้าหมอง การหาน้ำมาล้างก็คือทำความดี ทำบุญมาก ๆ ล้างสิ่งสกปรกไป ส่วนการขุดหลุมฝังขยะ ก็คือการให้อภัย การอโหสิกรรม กับคนหรืออะไรต่าง ๆ ที่ผูกพันมีเวรมีกรรมกันมา ให้เลิกแล้วต่อกัน บางทีผูกพันกันมาหลายชาติก็มีนะ”



“โอ้โฮ กรรมโบราณ” กิ่งแก้วหัวเราะอีก “ให้อภัยแล้วจะจบกันหรือคะ คุณป้าขา”



“ก็เหมือนกิ่งแก้วโกรธกับใคร เขามาขอโทษ เราก็ให้อภัยความผิดใจก็หมดไปจากใจของทั้งสองฝ่าย”



“ถ้าเขาไม่มาขอโทษล่ะคะ”



“ไม่ขอโทษก็ให้อภัย เพราะเขายิ่งน่าสงสารไปใหญ่ ที่เป็นคนขอโทษใครไม่เป็น แต่นั่นก็เป็นปัญหาของเขาเอง ปัญหาของเราคือเราจะดูแลจิตใจของเราให้สงบ และมีความสุขได้อย่างไร เราจะทำอะไรดี ๆ ให้ตัวเองได้บ้าง โดยที่ไม่เบียดเบียนใคร”



กิ่งแก้วหัวเราะ “เหมือนยกซูเปอร์มาร์เก็ตไปชาติหน้าเลยใช่ไหมคะ คุณป้า”









 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
เจียง
บัวใต้น้ำ
บัวใต้น้ำ


เข้าร่วม: 04 ต.ค. 2004
ตอบ: 118

ตอบตอบเมื่อ: 11 มี.ค.2005, 8:51 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ล้างจานล้างใจ



วันนี้แก้มอิ่มล้างจานโดยไม่ได้ร้องเพลงไปด้วย เงียบจนแม่ต้องชะโงกหน้าเข้ามาดู แต่เห็นแก้มอิ่มหน้าไม่หงิก



“เป็นไรหรือเปล่าลูก” แม่อดถามไม่ได้



“กำลังฝึกสติ”



คำตอบนั้นลากแม่ให้เดินเข้ามายืนเท้าสะเอวอยู่ข้าง ๆ แก้มอิ่มบอกว่า



“อ่านติช นัท ฮันห์ มาเขาบอกว่าเวลาล้างจานให้มีสติ ไม่ใช่ล้าง ๆ ให้เสร็จเร็ว ๆ แล้วใจอยากจะไปทำอย่างอื่นต่อ ทำให้ถูกลากไปอนาคตเสมอโดยไม่อาจอยู่กับปัจจุบันขณะได้”



“เออ อย่างนี้ค่อยสมกับที่ส่งให้เรียนหนังสือหน่อย”



“เขาว่านอกจากเราจะล้างเพื่อให้จานสะอาดแล้ว เรายังล้างจานเพียงเพื่อจะล้างจาน เพื่อมีชีวิตเต็มเปี่ยมอยู่ในแต่ละขณะที่ล้างจานด้วย เราจะมีชีวิตเปี่ยมในทุกขณะและมีความสุขด้วย แม่ว่าไงจ๊ะ”



“ดี แต่ล้างจานแล้วล้างใจด้วยหรือเปล่า” แม่เอ่ยคำของหลวงพ่อชา สุภัทโท แก้มอิ่มตาโต



“โห แม่ เฉียบ” แก้มอิ่มร้องเสียงสูงจนแม่หัวเราะ



“อ้าว มันก็ต้องเสริมกัน ยิ่งแกชอบเก็บอะไร ๆ มาคิด เป็นนักหงุดหงิด จนมันหงิกงอมาอยู่บนหน้าแก อย่างนี้ต้องล้างใจด้วยแล้วถึงจะมีความสุขกับการล้างจานได้”



แก้มอิ่มถามว่า “ล้างใจยังไงล่ะแม่”



“ก็จานนี่มันเลอะ แกเอาน้ำล้างใช่มั้ย น้ำก็คือพระธรรม เอาพระธรรมมาล้างใจ ฟองน้ำนี่ก็คือสติที่แกว่านั่นแหละ เอาสติขัดถูล้างใจให้สะอาดเหมือนจาน หน้าจะได้ขาวผ่องเหมือนจาน”



แก้มอิ่มลอยหน้าฉีกยิ้มให้หน้าบานเหมือนจาน



“พระธรรมท่านว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี่หัวใจพุทธศาสนา ท่านสอนว่าอย่าไปยึดอะไรไว้ในใจ ให้ใจสะอาด สบาย ปล่อยวาง ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นทุกข์ เพราะอะไร ๆ มันก็เป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้น รู้จักมั้ยไตรลักษณ์”แก้มอิ่มพยักหน้ารีบตอบกลัวเสียคะแนน



“ไตรลักษณ์ ลักษณะ 3 อย่าง คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน บังคับไม่ได้”



“เออ ใช้ได้ อย่างนี้จะส่งให้เรียนต่อ “ แม่ว่า แล้วเทศน์ต่อ “หลวงพ่อชาสอนว่าให้ท่องไว้ว่า “มันไม่แน่” เจออะไรก็พูดใส่มันเลยว่า อันนี้มันก็ไม่แน่หรอก รู้สึกสุข อันนี้มันก็ไม่แน่หรอกเดี๋ยวก็ไป รู้สึกทุกข์ อันนี้ก็ไม่แน่หรอก เดี๋ยวก็ไป”



“มันไปไหน” แก้มอิ่มถามขำ ๆ



“ไปตามใจมัน เราบังคับมันก็ไม่ได้นะ อย่างเวลาใจเป็นสุขเราอยากให้มันสุขไปตลอด มันก็ไม่ เดี๋ยวมันก็ไปละ เวลาทุกข์อยากให้มันหายทุกข์ มันก็ไม่หาย แต่บางทีลืม ๆ มันก็หายไปเองอย่างแก้วใบนี้สวย อยากให้มันอยู่กับเราไปตลอด มันก็ไม่แน่พรุ่งนี้อาจจะตกแตกก็ได้ ถ้าเราไปยึดเราก็ทุกข์ จานนี้ เมื่อกี้สกปรก แต่มันก็ไม่เที่ยง เห็นมั้ย ตอนนี้สะอาดแล้ว อย่างเมื่อกี้แม่ยืนสบาย ตอนนี้ก็ไม่เที่ยง มันเมื่อยแล้ว ต้องจำคำหลวงพ่อไว้ เจออะไรก็ มันไม่แน่ ๆ ๆ นี่คาถาล้างใจ”



แก้มอิ่มหัวเราะ “สาธุ แม่ กระเป๋าหนูก็ไม่เที่ยงนะจ๊ะ ตอนนี้มันว่าง เดี๋ยวแม่จะมาเติมให้เต็มใช่ไหมจ๊ะ”



แก้มอิ่มล้างจานเสร็จ จูงแม่ออกไปจากห้องครัว “เราไปคุยกันต่อที่ห้องพระนะแม่ เพราะเดี๋ยวแม่จะต้องสวดมนต์แน่ ๆ จริงมั้ย”



“ไม่แน่ บางทีแม่อาจจะเทศน์แกจนง่วง ไม่ได้สวดมนต์”



แม่ว่า แก้มอิ่มหันมาตาโต “โห เทศน์หนูเนี่ยนะ”



“อ้าว ไม่เทศน์แกแล้วจะให้แม่เทศน์ใคร”







 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
สายลม
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245

ตอบตอบเมื่อ: 11 มี.ค.2005, 10:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน





ขออนุโมทนา พยายามต่อไปนะครับ



 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง