Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 08 ก.พ.2007, 9:17 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
ภาพจากหนังสือ “วาระก่อนนิพพาน ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ
ณ ศาลาที่พักอาพาธ พ.ศ. ๒๔๙๒” วัดป่ากลางโนนภู่ จ.สกลนคร หน้า ๒๖๙



ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม


วัดป่าบ้านวไลย (วัดป่าวิทยาลัย)
ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์



๏ ชาติกำเนิด

“หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม” เกิดเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๔๙ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะเมีย ที่ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ในตระกูลงามสมภาค บิดาชื่อ นายจ้าย มารดาชื่อ นางแจ๋ว มีพี่น้องรวม ๒ คน คือ หลวงปู่กับน้องชายชื่อ นายแฉล้ม

มีเชื้อจีนเพราะก๋งเป็นจีนนอก นายจ้ายบิดาเป็นเจ้าสัว รับซื้อข้าวจากชาวนา แล้วนำลงเรือสำเภาไปขาย มีที่นาให้เช่า และมีเงินให้กู้ เป็นคนจริง ใจนักเลง แต่ชอบเล่นการพนัน ส่วนนางแจ๋วมารดา นอกจากช่วยงานนายจ้ายผู้เป็นสามีแล้ว ยังแจวเรือขายของอีก เป็นคนขยัน ใจกล้า ไม่กลัวใคร

ตั้งแต่ตั้งท้องหลวงปู่ มารดาก็ทานเนื้อสัตว์อื่นๆ ไม่ได้ นอกจากปลาและผักต่างๆ และปรากฏมีอักษรขอมขึ้นที่แขนของมารดา มารดาจึงอธิษฐานว่า “หากมาให้คุณ ก็ขอให้เข้าใจด้วยเถิด” อักษรขอมนั้นก็เปลี่ยนเป็นหวย ก ข. ที่เล่นกันสมัยนั้น ปรากฏอยู่สองสามวันก็หายไป เมื่อนำไปซื้อก็ถูกรางวัล

เมื่อเด็กเกิดมาจึงตั้งชื่อว่า “ด.ช.หวย” หลวงปู่ได้มาเปลี่ยนเป็น “ฉลวย” ในภายหลัง เมื่อเจริญวัยขึ้นพอสมควรแก่การศึกษา มารดาจึงส่งให้ไปเรียนหนังสือที่วัดใกล้ๆ บ้าน จนกระทั่งพออ่านออกเขียนได้ จึงกลับมาอยู่ที่บ้านอีก ด.ช.หวย นั้นประสบอุบัติเหตุทางน้ำหลายครั้ง บางครั้งจมน้ำอยู่นาน น่าที่จะเสียชีวิต แต่ก็ปรากฏว่าทุกครั้ง ด.ช.หวย ก็ปลอดภัย


๏ อุปนิสัย

อุปนิสัยของหลวงปู่เป็นคนช่างสังเกต ฉลาด ละเอียดรอบคอบ ค่อนข้างตระหนี่ เป็นคนจริง ไม่กลัวใคร และไม่ยอมคน แต่ทว่ามีความเมตตาอยู่ในจิตใจ ชอบช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก บางครั้งช่วยคนมีคดีความจนเกิดวิวาทกับข้าราชการก็มี

หลวงปู่เป็นลูกชายคนโต จึงต้องรับภารกิจการงานเกือบทุกอย่างของครอบครัว ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า “มารดาใช้ลูกจ้างอย่างไร ก็ใช้ท่านอย่างนั้น ถ้ามารดายังไม่นอน ท่านกับลูกจ้างจะนอนก่อนไม่ได้” แต่ถึงอย่างนั้น หลวงปู่ก็คิดได้ว่า “มารดาท่านทำให้กับเราเอง จึงทำใจได้”


๏ อุปสมบทครั้งแรก

เมื่ออายุยังไม่ถึง ๒๐ ปี ท่านได้กับลูกจ้าง จนเกิดบุตรชายคนหนึ่ง ก็พอดีกับอายุครบบวชตามประเพณีของคนไทย ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เดือน ๕ หลวงปู่จึงเข้ารับการอุปสมบทในคณะสงฆ์มหานิกาย ที่วัดพระญาติ โดยมีหลวงพ่อกลั่นเป็นพระอุปัชฌาย์ บิดามารดาได้จัดงานให้ใหญ่โต

คือนิมนต์พระนั่งอันดับ ๒๕ รูป ถวายผ้าไตรจีวรองค์ละ ๑ ไตร บาตรองค์ละใบ ร่มองค์ละคัน น้ำมันองค์ละปีบ หลังจากอุปสมบทแล้ว ทุกวันพระท่านจะมาที่บ้านเพื่อแสดงธรรมให้โยมบิดามารดาฟังเสมอ

ท่านเคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับบุตรชายให้ฟังว่า “ได้มีโอกาสจับหัวเพียงครั้งเดียว โยมย่าพูดหยอกกับหลานว่า จะเป็นลูกย่าหรือจะเป็นลูกพระ ถ้าเป็นลูกย่าก็อยู่กับย่า ถ้าเป็นลูกพระก็ไปอยู่กับพระ อยู่ต่อมาไม่นานเด็กก็ป่วยและตาย ทั้งที่ยังอ้วนๆ อยู่ เขาก็เอาไปวัด ตกลงก็ไปอยู่กับพระ”

หลวงปู่อุปสมบทอยู่เกือบปี ได้ศึกษาพื้นฐานและเริ่มต้นปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน และตั้งใจว่าจะไม่ลาสิกขา แต่ต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารอยู่ ๒ ปี


๏ ติดคุกหนัง ๑๖ ปี

เมื่อปลดจากทหารแล้ว หลวงปู่ก็ขออนุญาตมารดาจะบวชอีก มารดาไม่อนุญาต แต่จะให้แต่งงานมีเหย้าเรือน ทีแรกหลวงปู่จะไม่ยอมแต่ง ภายหลังขัดมารดาไม่ได้ก็จำยอม มารดาบิดาได้ไปขอคุณครูอุทัยวรรณ สุกร์สุคนธ์ ซึ่งเป็นบุตรีของนายอำเภอ และเป็นลูกผู้พี่ของจอมพลเผ่า ศรียานนท์

ในวันส่งตัวเข้าหอ หลวงปู่ถึงกับร้องไห้เพราะมีความเห็นอยู่ว่า ชีวิตครอบครัวนั้นไม่เห็นเป็นเรื่องสนุกตรงไหน ท่านได้ตั้งกติกากับคุณครูอุทัยวรรณในทันทีว่า “ห้ามด่ากัน ถ้าด่ากันวันไหนก็เลิกกันวันนั้น ห้ามเถียงมารดา จะผิดหรือถูกก็ต้องยกไว้ หมาในไม่ให้ออก หมานอกไม่ให้เข้า เรื่องไม่ดีในบ้านอย่าเอาไปพูดนอกบ้าน เรื่องไม่ดีนอกบ้านไม่ต้องเอามาเล่าให้ฟัง”

หลวงปู่ได้เล่าถึงกติกาอันเข้มงวดให้พระเณรฟังต่อไปอีกว่า “ผ้านุ่งมี ๖ ผืน พอแล้วห้ามตัดใหม่ เสื้อห้ามเปลี่ยนสีนอกจากจะอนุญาต ผมห้ามดัด เรื่องการเงินผมเป็นคนเก็บ แต่จะทำบัญชีให้ดู ถ้าผิดไปจากบัญชีชี้หน้าด่าได้ ค่าใช้จ่ายในบ้านจะใส่กระป๋องไว้ให้ใช้ ต้องใช้ให้ตลอดเดือน ส่วนเงินเดือนครูนั้นเป็นของส่วนตัวยกให้ไม่เอามาใช้”

นอกจากทำอาหารเช้า-เย็นแล้ว ตอนเที่ยงยังต้องกลับมาทำอาหารให้กินด้วย ทั้งหมดนี้ถ้าทำไม่ได้จะเลิกกันเมื่อไหร่ก็ได้ ตัวหลวงปู่เองนั้นไม่ได้ทำอะไรท่านว่า “นอนกระดานเป็นมัน มีค่าเช่านาใช้ ข้าวลูกหาบก็หาบมาให้” ท่านไม่ขวนขวายกอบโกยเหมือนคนอื่นๆ มีความเห็นว่า “ตายแล้วเอาอะไรไปไม่ได้”

ท่านไม่เคยไปไหนมาไหนกับภรรยาเสมือนสามีภรรยาทั่วไป เพราะเห็นว่า “ไม่สนุกอะไร” จิตใจของท่านคิดปรารถนาจะออกบวชอยู่เสมอ การกระทำของท่านจึงคล้ายกับจะบีบคั้นให้ภรรยาของท่านขอเลิกชีวิตสมรสไป แต่ภรรยาของท่านก็ทนได้ หลวงปู่ชมเชยว่า “มีคนเดียวแหละ ถ้าเป็นผู้หญิงสมัยนี้ คงอยู่ได้ไม่เกิน ๓ วัน”

แม้จิตใจท่านคิดปรารถนาออกอุปสมบท แต่ความเป็นคนละเอียดรอบคอบ ไม่เชื่อความคิดที่กลับกลอก ดำริถึงเรื่องกามว่า มีอำนาจใหญ่หลวงนัก กลัวว่าเมื่ออุปสมบทไปแล้ว จะสึกออกมาอีก จึงเริ่มทำการทดสอบโดยนอนเฉยๆ บนเตียงกับภรรยา ไม่เสพกามเป็นเวลาแรมปีก่อนอุปสมบท

ท่านมีความเห็นว่า “ความคิดที่จะเสพกาม ถ้าเราไม่ยอมให้มันเสพมันจะมีอำนาจอะไร” และท่านก็ทำได้ ทำให้เกิดความมั่นใจว่า เมื่ออุปสมบทแล้วท่านจะไม่หวนกลับมาเพราะเหตุแห่งกามอีก ในตอนนี้หลวงปู่ให้คำสอนไว้ว่า

“ความคิดนั้น ชี้หน้ามันได้ว่า ไม่มีอำนาจอะไร ถ้าเราไม่ให้มันทำด้วยกาย ด้วยวาจา มันตายแน่ คนเราที่ต้องทนทุกข์ ทนยาก ก็เพราะความคิดนี้เป็นเหตุ”

เพราะหลวงปู่เห็นความกลับกลอกหลอกลวงของใจตนเอง และมองเห็นว่าใจของคนอื่นก็เช่นเดียวกัน ท่านจึงไม่เชื่อใจใครง่ายๆ ท่านกล่าวว่า “ใจผู้หญิงผมไม่เชื่อ เพื่อนก็ไม่เชื่อ เพราะว่าใจของผมเองผมยังไม่เชื่อ คนอื่นผมจะเชื่อได้อย่างไร”

ในการให้ผู้อื่นกู้ยืมเงิน ท่านจึงมีอุบายสอนใจตนว่า “ต้องตัดใจว่ายกให้เขาไป ถ้าเขาเอามาคืนก็คิดว่าได้มาใหม่ ถ้าไม่เอามาคืนก็ไม่ไปทวง แต่คราวหน้าก็ไม่ให้อีก”

หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า “ความคิดหลอกลวงผมมามาก ครั้งหนึ่งมีความคิดน้อยเนื้อต่ำใจจึงผูกคอตาย พอดีภรรยามาเห็นเข้า ช่วยไว้ทันจึงได้รอดชีวิต”

ท่านว่า “จิตที่คิดฆ่าตัวตายนั้นมีด้วยกันทุกคน เพียงแต่จะถึงจังหวะเมื่อใดเท่านั้น”

ถ้ามีกรรมเก่าอยู่ด้วยก็ตายสมใจ เพราะเหตุเหล่านี้จุดมุ่งหมายอย่างหนึ่งในการออกอุปสมบทของท่านก็คือ ท่านจะฆ่าความคิดของตนเอง

นอกจากไม่ยินดีในชีวิตครอบครัวแล้ว หลวงปู่ยังมีความเห็นว่า การเป็นนายของเขานั้น ยังสู้เป็นลูกจ้างเขาไม่ได้ คนเป็นนายต้องลำบากคอยหาข้าวให้กิน จ่ายเงินให้ใช้ ต้องคอยดูแลตรวจตราสิ่งต่างๆ ครอบครัวลูกจ้างนั้น ท่านให้ตั้งไว้รอบบ้าน เพื่อจะได้คุ้มภัยให้ด้วย

แต่พอตกเย็นตกค่ำ ท่านต้องคอยออกสำรวจตรวจดูรอบๆ บ้าน ระมัดระวังทรัพย์สมบัติต่างๆ ทุกวัน ส่วนพวกลูกจ้างพอตกเย็น กินข้าวเสร็จแล้ว ก็นั่งร้องเพลง ไม่ต้องเป็นทุกข์อะไร ทำให้ท่านยิ่งเบื่อหน่ายในชีวิตของคฤหัสถ์ แต่คิดหาทางออกอุปสมบทมา ๑๖ ปี ยังหาไม่ได้

จนกระทั่งมีเหตุเกิดขึ้น คือ โจร ๙ คน ขึ้นปล้นบ้านในเวลากลางวัน ขณะนั้นบิดาท่านอยู่บ้านคนเดียว บิดาเมื่อรู้ตัวแล้ว จึงเอื้อมมือหยิบมีด แต่ว่าไม่ถึงเพราะขาท่านไม่ดีข้างหนึ่ง พวกโจรเข้าถึงแล้วก็ใช้มีดที่ติดตัวมาทั้งฟันทั้งแทง แต่ปรากฏว่าไม่เข้า เกิดการต่อสู้กัน พวกโจรมีมากจึงช่วยกันจับตัวไว้ ใช้มีดสวนทวารหนัก บิดาท่านจึงถึงแก่กรรมในท่านั่ง โจรถูกฆ่าตายไป ๑ คน คนทั้งหลายเชื่อกันว่า ความที่หนังเหนียวของบิดาท่านนั้น เป็นเพราะเหรียญของหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ที่ท่านห้อยคออยู่ตลอดเวลา

ในขณะนั้นหลวงปู่อยู่คนละตำบล เมื่อทราบข่าว ท่านเล่าว่า “วิ่งข้ามตำบลกลับมาเพื่อจะช่วย แต่ไม่ทันเวลา บิดาตายเสียแล้ว” ท่านจึงจัดการบำเพ็ญกุศลศพบิดาท่าน เมื่อครบ ๑๐๐ วันแล้วก็จึงเผา ส่วนพวกโจรทั้งหลายนั้น ก็ถูกทางการติดตามตัว บางคนตกน้ำตายบ้าง ถูกยิงตายบ้าง ถูกจับได้บ้าง

ในสมัยนั้นใช้กฎอัยการศึก คนที่ถูกจับได้ทางตำรวจนำตัวมาให้หลวงปู่ และญาติเป็นผู้ตัดสิน พวกญาติทั้งหลายต้องการให้หลวงปู่ยิงเสียให้ตายตกไปตามกัน แต่หลวงปู่ก็ตัดสินใจไม่ยิงให้เหตุผลว่า “ยิงมันทำไม สุนัขยังวิ่งหนีได้ แต่นี่หนีก็ไม่ได้ ยิงมันก็ตายเปล่า บิดาก็ฟื้นไม่ได้ บิดาจะเคยทำกรรมกันมาอย่างไรก็ไม่ทราบ ไม่ยิงมัน เดี๋ยวมันก็ตายเอง” ท่ามกลางความไม่พอใจของญาติทั้งหลาย

เมื่อเสร็จเรื่องแล้ว เห็นเป็นโอกาสเหมาะ ท่านจึงประกาศบอกมารดาและญาติทั้งหลายว่า “จะขอบวชหน้าศพ อุทิศส่วนกุศลให้บิดา” มารดาและญาติต่างนิ่งเงียบ ไม่มีใครค้าน เมื่อท่านทราบว่าจะได้บวชแน่แล้ว จึงได้จัดการโอนมอบทรัพย์สมบัติซึ่งเป็นสินสมรสทั้งหมดให้แก่ภรรยา มิได้ยักยอกเอาไว้เลย

มารดาจะขอแบ่งให้น้องชายหลวงปู่ก็ไม่ได้ เพราะว่าเป็นของส่วนตัว เห็นใจภรรยาที่ทนลำบากมาตลอด เสร็จแล้วก็นำปืนที่ซื้อมาเพื่อเฝ้าศพบิดาไปขาย นำเงินมาซื้อผ้าไตรจีวร และบริขารสำหรับการอุปสมบท ท่านกล่าวสรุปชีวิตสมรสว่า “ติดคุกหนัง ๑๖ ปี”


(มีต่อ ๑)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 08 ก.พ.2007, 9:25 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม


๏ อุปสมบทครั้งที่ ๒

ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ หลวงปู่มีอายุ ๓๙ ปี เข้ารับการอุปสมบทในคณะสงฆ์มหานิกาย ที่วัดโคกช้าง อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา มีพระอุปัชฌายะคือหลวงพ่ออั้น ลูกศิษย์หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ การบวชในครั้งนี้ต่างจากครั้งแรก โดยเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตองอะไร

หลวงปู่เล่าถึงความตั้งใจจริงของท่านว่า “พอผ้าเหลืองถูกตัว ก็ตั้งใจว่าจะรักษากุศล ไม่ให้อกุศลเกิดขึ้นได้ หน้าคนไม่มอง จะมองดูแค่เท้า” เมื่อประพฤติปฏิบัติเช่นนี้อยู่ ๑๕ วัน ปรากฏว่ามีอกุศลเกิดขึ้นได้ ท่านจึงบ่นว่า “รักษาอย่างนี้แล้วอกุศลยังเกิดขึ้นได้”

ท่านพิจารณาซ้ำไปมา ๓ หน ก็เกิดความรู้ขึ้นที่จิตว่า “จะรักษาได้อย่างไร กุศลก็เกิดจากจิต อกุศลก็เกิดจากจิต ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากจิตทั้งนั้น” หลวงปู่จึงอุทานว่า “พุทธะเกิดขึ้นแก่เราแล้ว” ท่านจึงพิจารณาคืนหมด ทั้งกุศลและอกุศลที่เกิดขึ้น คืนเข้าไปให้จิตทั้งหมด ไม่ให้ล่วงกาย ล่วงวาจาเลย

“สติปัฏฐานทั้ง ๔ เอาแค่ ๒ คือกายกับจิตตั้งลงที่นามรูปนี้ มรรคมีองค์ ๘ เอาแค่ ๔ คือ สัมมาวาจา เว้นจากวจีทุจริตทั้ง ๔ สัมมากันมันโต เว้นจากกายทุจริตทั้ง ๓ สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายาโม มีความเพียรรักษาจิตคือเมื่อสัมผัสอารมณ์ เกิดความรัก ความโกรธ ความพอใจ ความไม่พอใจ ก็คืนเข้าไปที่จิตหมด (หนามยอกเอาหนามบ่ง)

ไม่ให้ล่วงทางกายทางวาจา ถ้าจะตายให้มันตายไป เอาความตายเป็นอารมณ์” หลวงปู่ได้เอาหัวมันกับตราชั่งมาแขวนไว้ที่หน้ากุฏิ เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติว่า “มีอะไรไม่ใช่เรื่องของตัว ชั่งหัวมัน ไม่เอาใจใส่” หากมีใครมาคุยเรื่องอื่น นอกจากเรื่องธรรมะแล้ว หลวงปู่จะไม่คุยด้วยเลย

หลังจากทำเช่นนี้อยู่ประมาณ ๑ เดือน ก็เกิดขึ้นมาที่จิตว่า “จะบูชาพรหมจรรย์” ท่านจึงเข้าห้องปิดประตู ถามลงไปในใจว่า “อะไรเป็นภัยของพรหมจรรย์” สักระยะก็มีคำตอบว่า “เงินและทอง เครื่องสักการะ รูป เสียง เป็นภัยของพรหมจรรย์”

ท่านจึงพิจารณาเข้าไปอีกว่า "เงินทองถ้าเขาเอาถวาย เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน ถ้าเราไม่รับให้ตายได้ไหม เครื่องสักการะเอาให้เป็นของกลาง รูป เสียง ไม่ต้องกลัว ออกมาจากในมุ้ง เชิญให้มันเข้าไป” เมื่อพิจารณาอยู่อย่างนี้ ก็ดับเงียบลงไปที่จิตเป็นเวลานาน ท่านว่า “ดับก็ดับไป ไม่ได้คิดว่าเป็นอะไร”

ต่อมาวันหนึ่ง หลวงปู่ได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับพระเถระรูปหนึ่ง ตอนหนึ่งพระเถระกล่าวว่า “ผมทำวัตรตอนเช้าผูกหนึ่ง ตอนเย็นผูกหนึ่ง” หลวงปู่ก็ตอบว่า “ผมทำวัตรตอนเช้าสองผูก ตอนเย็นสองผูก” พระเถระกล่าวต่อไปว่า “ผมทำกัมมัฏฐานด้วย” หลวงปู่ไม่รู้จักคำว่า “กัมมัฏฐาน” จึงถามว่า “กัมมัฏฐานคืออะไร”

พระเถระก็ตอบว่า “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” หลวงปู่ท่องไปท่องมา จำไม่ได้ จึงขอให้พระเถระช่วยแปลให้ฟัง พระเถระก็แปลให้ฟังว่า “ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง” หลวงปู่จึงร้องว่า “อ้อ แบบนี้ไม่ต้องจำ มีอยู่ในกายนี้แล้ว” ท่านจึงกราบลาพระเถระมาทำกัมมัฏฐาน โดยเพิ่มเข้าไปอีก สาม เป็น "ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก”

ท่านจึงพิจารณาลงไปว่า “สิ่งเหล่านี้ ใครว่าเป็นของเรา ใครรู้ว่าเป็นของเรา ใครจำว่าเป็นของเรา ใครคิดว่าเป็นของเรา ใครยึดถือว่าเป็นตัวตนของเรา” และพิจารณาถอยเข้าไปอีกว่า “ถ้าเอาผมออก เอาขนออก เอาเล็บออก เอาฟันออก เอาหนังออก เอาเนื้อออก เอาเอ็นออก เอากระดูกออก

ใครว่าเป็นของเรา ใครรู้ว่าเป็นของเรา ใครจำว่าเป็นของเรา ใครคิดว่าเป็นของเรา ใครยึดถือว่าเป็นตัวของเรา” จากนั้นก็สร้างขึ้นใหม่ ประกอบกับเข้าเป็นคน แล้วก็ถอยลงไปใหม่ เป็นอนุโลมปฏิโลม อย่างนี้เรื่อยไป เพื่อชะล้าง วิปลาส ความรู้ผิด ความจำผิด ความคิดผิด ในขันธ์ห้า

ท่านกล่าวว่า “มันโง่ ต้องพิจารณาให้มันรู้ ต้องทำที่ใจ พระพุทธเจ้าทรมานกายจนผมขนจะเน่า ก็ไม่สามารถตรัสรู้ได้ จึงหันมาทำที่ใจนี่ ต้องพิจารณาทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ยืนแข้ง เหยียดขา ไม่ใช่นั่งสมาธิอย่างเดียว”

“จะนุ่งห่มจีวร ก็พิจารณาว่า ไม่ได้นุ่งห่มเพื่อจะสะสวยงดงาม หยิบบาตรใส่ไหล่ ก็พิจารณาว่า ไม่ใช่เพื่อสะสมประดับประดา แต่เพียงเพื่อประทังชีวิตเท่านั้น พอออกเดินก็พิจารณาว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา พอถึงที่รับบาตร หยุดกัมมัฏฐาน เปิดฝาบาตร รับบาตรเสร็จแล้ว ปิดฝาบาตร ยกกัมมัฏฐานสู่จิตอีก

ทำอย่างนี้จนกระทั่งกลับวัด บางครั้งเมื่อรับบาตร เห็นแขนของคนใส่บาตรเกิดชอบขึ้น ก็ทวนลงไปว่า ชาตินี้ให้มึงกินแต่มือ แต่เท้าเท่านั้น ไม่ให้มึงกินอีกแล้ว”

“ก่อนจะฉันบิณฑบาต ก็ทำปฏิกูลสัญญา พิจารณาอาหารเป็นของปฏิกูล เมื่อจะฉันจะดูใจว่า อยากฉันอะไร อะไรชอบฉันไม่ให้ฉัน ให้ฉันของที่ไม่ชอบ ไม่ให้เป็นทาสของความอยาก และ ฉันแต่พอประมาณ”

หลวงปู่เล่าให้พระเณรฟังว่า “วันหนึ่งมียี่สิบสี่ชั่วโมงผมทำกัมมัฏฐาน ๒๐ ชั่วโมง อีก ๔ ชั่วโมงให้พัก และหลังฉันแล้ว ให้พักอีกไม่เกิน ๓๐ นาที ทำอย่างนี้ติดต่อกันตลอดพรรษา เกิดปีติสุข อย่างไม่เคยเจอความสุขอย่างนี้มาก่อน ทำจนแม้หลับตา ก็เหมือนมีไฟฟ้ามาติด สว่างไปหมดทั้งหมด ทำกัมมัฏฐานอย่างนี้ ขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น แต่ไม่ค่อยมีใครทำกัน”

ออกพรรษาแล้วหลวงปู่นึกขึ้นได้ว่า เมื่อบวชครั้งแรกนั้นได้เคยขึ้นกัมมัฏฐานไว้ จึงเริ่มขัดสมาธิแบบที่เขาสอนกันและอธิษฐานว่า “จะไม่ให้ต่ำกว่า ๓๐ นาที” พอนั่งลงหลับตา จิตก็ดิ่งลงไป เกิดปีติสุขอย่างยอดเยี่ยม ท่านเล่าว่า “ไม่สามารถบรรยายเป็นคำพูดได้ ถ้าตั้งชื่อก็เรียกว่า “อัปปนา” บางคนอาจจะคิดว่าเป็นนิพพานเสียด้วยซ้ำ”

หลวงปู่เสวยความสุขจากอัปปนาสมาธิได้ประมาณ ๑๕ วัน คราวนี้พอนั่งลงหลับตา กลับเกิดความฟุ้งซ่านเหมือนหม้อข้าวเดือดนั่งอยู่ไม่ได้ พยายามนั่งอีกก็นั่งไม่ได้ เดินไปเดินมา ก็เกิดขึ้นที่จิตว่าไม่ไหว ท่านก็ทวนลงไปว่า

“ไม่ไหวก็ตาย”

เกิดความหงุดหงิดอยู่หลายวัน พอดีมีโอกาสไปทำวัตรตามธรรมเนียมกันกับพระอุปัชฌาย์ จึงเล่าเรื่องให้ท่านฟัง ท่านได้ฟังแล้วกล่าวว่า

“ฉลวย เราไม่ได้ทำนานแล้ว เอาหนังสือนี้ไปอ่านคงเข้าใจ” ท่านได้ให้หนังสือสติปัฏฐานมาเล่มหนึ่ง

เมื่อกลับมาแล้ว หลวงปู่จึงนำมาอ่านดู ท่านเล่าให้ฟังว่า

“เอาตาดู ให้ใจอ่าน อ่านไปๆ พอถึงจังหวะเข้า จิตก็ร้องอ้อ แล้วมันก็ละเอง ไม่ติดความสุขในสมาธินั้นอีก”


๏ ย้ายไปอยู่วัดยม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

หลวงปู่อยู่ที่วัดโคกช้างนั้นไม่รับและไม่ใช้เงิน เพราะต้องการจะรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ จึงไม่ลงกันกับพระที่อยู่ที่นั่นบ้าง ปรารถนาที่จะออกแสวงหาที่วิเวก พอดีได้ยินข่าวเกี่ยวกับวัดยมว่าเป็นวัดปฏิบัติ ท่านจึงออกธุดงค์ไปยังวัดยม เมื่อไปถึงแล้ว เข้าไปขอกับท่านพระอาจารย์เปลื้อง เจ้าอาวาสวัดยม ว่าขออยู่ในบริเวณป่าช้าของวัด ท่านเจ้าอาวาสก็อนุญาตให้สมความปรารถนา

เมื่อมาอยู่ป่าช้า มีกุฏิหลังเล็กๆ หลังหนึ่ง พื้นเป็นไม้กระดาน ๕ แผ่น หลังคามุงสังกะสี พื้นเป็นไม้กระดาน ๕ แผ่น หลังคามุงสังกะสี วันหนึ่งในเวลากลางวัน แดดจัด ในกุฏิร้อนมากหลวงปู่จึงได้ห่มจีวร พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคตอกแล้วนั่งลงในกุฏิ ขัดสมาธิ เม็ดเหงื่อก็ผุดออกจนชุ่มโชกทั่วตัว จากนั้นไม่นานก็รู้สึกว่า วันนี้อากาศเย็นสบายที่สุด ต่อมาหลวงปู่ได้อธิษฐานจิตบูชาคุณของพระพุทธเจ้า และได้เกิดขึ้นที่ใจว่า

“เมื่อมีความอยากได้ อยากถึงอยู่ในใจ ความอยากก็จะกันปัญญาเสียหมด"

ดังนั้น ท่านจึงอธิษฐานจิตว่า “โสดา สกทาคา อนาคา อรหันต์ ข้าพเจ้าไม่ต้องการ สมาธิ สติ ปัญญาก็ไม่ต้องง้อ เมื่อทำไปถูกต้องแล้ว ก็มีเอง”

เมื่อเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว หลวงปู่ก็ตั้งหน้าทำความเพียรต่อไป ทำกัมมัฏฐาน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็นกระดูก จนเกิดขึ้นที่ใจเองว่า กัมมัฏฐานนี้ยาวไป เขาก็ย่อเองเป็น

“เข้มแข็งธาตุดิน เหลวธาตุน้ำ อบอุ่นธาตุไฟ เคลื่อนไหวธาตุลม”

ยังไม่ทันเป็นอนุโลม ก็มองเห็นกระดูกภายในร่างกายบริเวณศีรษะถึงคอ เมื่อทำต่อไป เกิดขึ้นครั้งที่สอง ก็มองเห็นกระดูกภายในไปถึงครึ่งตัว เมื่อทำต่อไป เกิดขึ้นครั้งที่สาม ก็มองเห็นกระดูกภายในหมดทั้งตัว เมื่อถึงจุดนั้นไม่มีอะไรเลย ทั้งตัวผู้พิจารณาก็หายไปที่นั้นเอง

เมื่อถอนออกแล้วหลวงปู่ก็ทำความเพียรต่อไป เกิดดำริว่า จะพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ก็เกิดขึ้นที่ใจว่า ยังไม่ควร หลวงปู่ก็ทำกัมมัฏฐานต่อไป หันมากำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จนลมหายใจไม่เข้าไม่ออก ทำจนกระทั่งสามารถบังคับลมหายใจ ให้เข้าไปแล้วไม่ออกมาก็ได้ ออกไปแล้วไม่เข้าก็ได้

ต่อมาหลวงปู่ดำริว่า จะไปโปรดโยมมารดา พามาบวชนุ่งขาวเพื่อตอบแทนพระคุณ จึงเดินทางไปที่บ้าน ชักชวนโยมมารดา โยมมารดาปฏิเสธว่า เป็นห่วงหลาน ท่านจึงยื่นคำขาดว่า

“หากโยมมารดาไม่มานุ่งขาวให้อาตมาเลี้ยงก็เลิกกัน ไม่ต้องมาเป็นแม่เป็นลูกกันอีก” โยมจึงยอมบวช

เมื่อพามาอยู่วัดยมแล้ว หลวงปู่บิณฑบาตได้โภชนะมาแล้ว ก็นำมาเลี้ยงโยมด้วยทุกวัน และได้ไปเก็บเศษไม้ ในป่าช้าและฝาโลงศพมาทำกุฏิให้พอฝนตกก็เกิดกลิ่นอับขึ้น โยมจึงมาถาม ท่านก็บอกไปตามจริง โยมรู้เรื่องแล้วก็ไม่ว่าอะไร เพราะเป็นคนใจกล้า

โยมมารดานึกขึ้นมาได้ว่า ก่อนที่ลูกชายจะบวชนั้น ตนเองเคยพูดไว้ว่า หากบวชอยู่ได้จะถวายผ้าไตรแพร ๑ ไตร ดังนั้น จึงไปหาซื้อมาถวาย เมื่อหลวงปู่ได้รับแล้ว ก็นำไปซักย้อม

“อ้อ นี่มึงยังอยากสวยอีกหรือนี่ มึงอย่าห่มเลย”

ท่านคอยดูคำตอบจากใจว่าจะตอบว่าอย่างไร ใจก็เงียบไม่มีคำตอบ เหมือนกับว่าไม่กล้าเถียงท่าน ท่านจึงนำผ้าไตรแพรนั้น ไปถวายพระอาจารย์เปลื้อง

ณ วัดยมแห่งนี้เอง หลวงปู่ได้พบสหธรรมิก ที่เรียกได้ว่าเป็นคู่บารมี เพราะต่อมาได้ร่วมจาริกธุดงค์กันมาโดยตลอด ท่านนั้นคือ หลวงพ่อก้าน ฐิตธมฺโม (ปัจจุบันเป็นพระครูวิศาลสมาธิวัตร) เจ้าคณะตำบล (ธ) จ.ประจวบคีรีขันธ์ เจ้าอาวาสวัดราชายตนบรรพต (เขาต้นเกด อ.หัวหิน)

ซึ่งขณะนั้นเป็นครูสอนนักธรรมอยู่ที่วัดบางบาล อ.บางบาง จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อมีโอกาสได้สนทนากัน ในข้ออรรถข้อธรรม ก็ถูกจริตนิสัยกัน จึงสนทนาธรรมกันอยู่เสมอ ครั้งหนึ่ง มีโอกาสสนทนากันถึงข้อวัตรปฏิบัติ ตอนหนึ่ง หลวงพ่อก้าน กล่าวว่า

“หลวงน้าฉันมื้อเดียว เคร่งไป ไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา” หลวงปู่จึงตอบว่า

“คุณก้าน ท่านว่าแม่น้ำมันเชี่ยวนั้น ท่านลองลงว่ายดูหรือยัง ว่ามันเชี่ยวหรือมันเบาขนาดไหน”

ครั้งหนึ่ง หลวงปู่นิมนต์หลวงพ่อก้านมาฉันน้ำร้อน และสนทนาธรรม ตอนหนึ่ง หลวงปู่กล่าวว่า

“คุณก้าน ลองหาดูวิญญาณซิ” หลวงพ่อก้านจึงนั่งสมาธิพิจารณาสักครู่ จึงตอบว่า

“หาไม่เจอ”

หลวงปู่เล่าให้พระเณรฟังว่า

“ผมนั่งอยู่บนกุฏิ เห็นพระเขาคุยกัน ใจมันก็อยากจะไปคุยกับเขา แต่ผมไม่ไป ใจมันอยากคุย ให้มันไปคุย แต่ไม่ให้ตัวไป สักพักหนึ่ง เกิดปวดปัสสาวะ จึงลุกไปปัสสาวะ พอปัสสาวะเสร็จ เท้ามันก็พาเดินอ้อมจะไปที่เขาคุยกัน พอนึกได้ก็ร้อง อ้าว ไม่ได้ กลับเดี๋ยวนี้” ผมบังคับใจมันขนาดนี้

Image
พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร


หลวงปู่ได้มีโอกาสรู้จักกับโยมกิมเฮียง (เจ้าของน้ำอบนางลอย อยู่หน้าวัดเทพธิดาราม กรุงเทพฯ) ได้สนทนากันถึงเรื่องข้อวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ต่างๆ รวมถึง พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร ด้วย โยมกิมเฮียงนั้นจะหาโอกาสไปกราบนมัสการพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร จึงชักชวนหลวงปู่

“หลวงปู่ถามถึงป่าที่นั่นว่าเป็นอย่างไร” เพราะใจต้องการหาที่สงัดมากกว่าหาครูบาอาจารย์ เมื่อรู้ว่าป่าดีก็ตกลง จนกระทั่งออกพรรษาแล้ว โยมกิมเฮียงจึงได้มาหาหลวงปู่อีกครั้ง และกล่าวว่า

“โยมไม่ได้ไปหาพระอาจารย์ลีแล้ว แต่จะไปทอดกฐินกับพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร ท่านจะไปหาพระอาจารย์ลีหรือพระอาจารย์มั่นละ” หลวงปู่จึงถามว่า

“พระอาจารย์ลี กับพระอาจารย์มั่นนั้น ใครเป็นอาจารย์ใครล่ะ”

“พระอาจารย์มั่นเป็นอาจารย์ของพระอาจารย์ลี” โยมกิมเฮียงกล่าว

“อย่างนั้นก็ไปหาพระอาจารย์สิ จะไปหาลูกศิษย์ทำไม” หลวงปู่กล่าวสรุป

ดังนั้น หลวงปู่จึงออกจาริกไปหาหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร โดยมีหลวงตาแย้ม ขอติดตามไปด้วยอีกองค์หนึ่งและมีโยมกิมเฮียงเป็นคนนำทาง


(มีต่อ ๒)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 08 ก.พ.2007, 9:30 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


๏ พบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ครั้งแรก

เพียงย่างก้าวแรกที่เข้าเขตของวัดหนองผือ (อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร) เท่านั้น จิตใจของหลวงปู่ที่เคยเข้มแข็ง องอาจ ไม่กลัวใคร ก็อ่อนลง สงบราบคาบอย่างน่าประหลาด และเป็นไปตลอดระยะเวลาที่อยู่ในวัดหนองผือนั้น

เมื่อเข้าไปถึงกุฏิของหลวงปู่มั่นแล้ว หลวงปู่ทำธุระอยู่ข้างล่าง หลวงตาแย้มจึงขึ้นไปกราบก่อน หลวงปู่มั่นได้ถามถึงการปฏิบัติของหลวงตาแย้มว่าปฏิบัติมาอย่างไร หลวงตาแย้มก็เล่าเป็นปริยัติที่ตนได้เรียนมา พอดีหลวงปู่ขึ้นไปกราบ หลวงปู่มั่นจึงถามว่า

"เอ้า แล้วท่านล่ะ ปฏิบัติมาอย่างไร" หลวงปู่จึงเล่าให้ฟังว่า

"กระผมบวชเมื่อแก่ครับ กระผมไม่ได้ศึกษาอะไรมาก กระผมทำกัมมัฏฐาน ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก พิจารณาทวนเข้าไปหาจิต ใครว่าเป็นเรา ใครรู้ว่าเป็นเรา ใครจำว่าเป็นเรา ใครคิดว่าเป็นเรา ใครยึดถือว่าเป็นตัวตนของเรา

พิจารณาสร้างขึ้นและทำลายลง ทำติดต่อกัน ปรากฏเป็นนิมิตต่างๆ แต่กระผมก็ไม่ติดใจ จนเกิดความสงบ มีปีติ และสุข..." หลวงปู่ได้เล่าถึงการปฏิบัติให้หลวงปู่มั่นฟังทุกอย่าง

หลวงปู่มั่นได้ฟังแล้ว ก็แสดงธรรมย้ำอยู่ตรงจุดนั้นเป็นเวลานาน หลวงปู่ฟังเป็นที่เข้าใจอย่างดี จากนั้น จึงขอพักอยู่ในวัดหนองผือนั้น

ในขณะที่พักอยู่ในวัดนั้น หลวงปู่มั่นจะกล่าวเป็นทำนองไล่หลวงปู่ทุกวัน โดยกล่าวว่า

"เนี่ย ฉลวยเค้าจะไปไหนก็ไม่ไป" ยิ่งคนมีมาก ก็จะยิ่งไล่

แต่หลวงปู่กลับมีความเห็นว่า ท่านไล่กิเลสของเราต่างหาก จึงได้แต่ตอบว่า

"มันมืดครับ ผมมาจากต่างถิ่น ไม่รู้ทิศเหนือทิศใต้ จึงไปไม่ถูก"

หลวงปู่มั่นนั้น ถึงจะพูดเป็นเชิงไล่ทุกวัน แต่ท่านก็แสดงธรรมให้ฟังทุกวันเช่นกัน หลวงปู่จึงคิดว่า หากท่านไล่เราจริง ก็ต้องไม่สอนเราสิ ท่านจึงทำในใจไว้ว่า

"ถ้าท่านอาจารย์มั่นไม่ให้เราอยู่บนกุฏิ เราจะอยู่บนแผ่นดิน เพราะแผ่นดินไม่ได้เป็นของใคร"

"หากท่านอาจารย์มั่น จะตั้งอธิกรณ์เพื่อไม่ให้อยู่ก็คงตั้งได้ ๔ ข้อ คือ ๑. มีสังฆาฏิชั้นเดียว ๒. ต่างนิกาย ๓. ไม่มีคนรับรอง ๔. ไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้า" ท่านพิจารณาเรื่องนี้จนตลอดคืน ได้ความว่า

"๑. ที่ว่ามีสังฆาฏิชั้นเดียว เราจะขอใหม่ก็ได้ เพราะโยมกิมเฮียงเขาปวารณาไว้แล้ว แต่เราไม่ขอ เราเป็นพระ ไม่ง้อคน มีอย่างไรก็ใช้อย่างนั้น

๒. ที่ว่าต่างนิกายนั้น เราก็พร้อมที่จะญัตติทุกเมื่อ

๓. ที่ว่าไม่มีคนรับรองนั้น โยมกิมเฮียงก็เป็นคนรับรองให้เราได้

๔. ที่ว่าไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้านั้น ใบสุทธิเราก็มีอยู่"

เมื่อท่านพิจารณาได้ความอย่างนี้แล้ว ก็จะนำเรื่องนี้ไปกราบเรียนให้หลวงปู่มั่นทราบ หมู่คณะรู้เข้าก็ทัดทานว่าอย่าเลย ท่านเป็นครูบาอาจารย์ อย่าไปรบกวนท่าน หลวงปู่ก็ว่าไม่ได้รบกวนอะไร เพียงแต่กราบเรียนถึงความคิดให้ฟัง เมื่อเข้าไปกราบเรียนหลวงปู่มั่นแล้ว หลวงปู่มั่นก็หัวเราะ

วันหนึ่ง ในเวลาพระเณรกำลังฉันน้ำร้อนน้ำชา หลวงปู่มีใบจากและยาเส้นแต่ไม่มีไม้ขีดไฟ (ในสมัยนั้น ไม้ขีดไฟหายาก เพราะเป็นช่วงสงครามโลก) เมื่อต้องการไฟมาจุดยาสูบ ท่านจึงไปหยิบท่อนไฟในกองไฟมาจุด พระเณรทั้งหลายก็หัวเราะเสียงดังครืน

วันต่อมา ท่านก็ทำอย่างนี้อีก พระเณรก็หัวเราะกันอีก ท่านจึงคอยสังเกตว่าเขาทำกันอย่างไร ปรากฏว่า เมื่อพระเหล่านั้นต้องการไฟจุดยาสูบเขาต้องให้สามเณรนำท่อนไฟ มาประเคนก่อน จึงจุดสูบ หลวงปู่จึงเรียกสามเณรให้ประเคนท่อนไฟบ้าง พระเณรเหล่านั้นก็หยุดหัวเราะ

เมื่ออยู่ได้ระยะหนึ่ง หลวงตาแย้มเกิดจิตตก ไม่อยากอยู่ อยากจะกลับอย่างเดียว เมื่อหลวงปู่มั่นทราบก็ให้เรียกหลวงตาแย้มไปหา ท่านถวายจีวรให้ ๑ ผืน และกล่องยาเส้นอย่างดี ๑ กล่อง หลวงตาแย้มเมื่อถูกวางยารักษาโรคแล้ว โรคอยากกลับก็หายเป็นปกติ อยู่ได้ต่อไป

เมื่อทราบข่าวว่า ที่สำนักสงฆ์นาใน (อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร) ซึ่งเป็นสาขาของวัดหนองผือนั้น ไม่มีพระอยู่แล้ว และทางนี้หลวงปู่มั่นก็กล่าวไล่ทุกวัน หลวงปู่จึงคิดว่า จะไปพักทำความเพียรที่สำนักสงฆ์นาใน จึงขึ้นไปกราบลาหลวงปู่มั่น แต่ยังไม่ทันได้กราบลา หลวงปู่มั่นก็ทักขึ้นก่อนว่า

"อ้าว ฉลวย จะรีบไปไหนละ เดี๋ยวก่อน ให้พระท่านตัดเย็บจีวรให้ก่อน" แล้วยื่นบาตรเหล็กให้ใบหนึ่ง และกล่าวว่า

"ถวายบาตรนี้ให้เอาไปขัดให้ขาวก่อน จะสอนวิธีเผาบาตรให้"

หลวงปู่จึงพักอยู่ต่อไปอีก วันต่อๆ มา เมื่อหลวงปู่มั่นถามว่า

"ขัดบาตรหรือยังล่ะ ฉลวย"

"กระผมขัดแล้วครับ" หลวงปู่กล่าวพร้อมกับส่งบาตรให้ท่าน

"เออ ขาวดีแล้วนะ ถ้าขัดอีกคงทะลุ"

จากนั้นจึงพาหลวงปู่ไปยังที่เผาบาตร และเผาบาตรให้ พร้อมทั้งสอนวิธีการต่างๆ จนเสร็จเรียบร้อย เมื่อผ้าไตรจีวรตัดเย็บเสร็จแล้ว หลวงปู่กับหลวงตาแย้มจึงกราบลาหลวงปู่มั่นไปอยู่ที่สำนักสงฆ์นาใน รวมระยะเวลาที่อยู่ในวัดหนองผือทั้งสิ้น ๑๘ วัน หลวงปู่เล่าให้พระเณรฟังว่า

"ฟังเทศน์ของท่านอาจารย์มั่น ๑๘ วัน ๑๘ คืน แต่ไม่ได้อะไรไป เพราะผมทำและรักษาอยู่แล้ว"

สำนักสงฆ์นาในสมัยนั้น ยังเป็นป่าใหญ่ และมีเสนาสนะอยู่ห่างกันมาก จึงเป็นที่ฝึกและทดสอบการภาวนาได้เป็นอย่างดีวันหนึ่ง หลวงปู่ออกมาเดินจงกรมที่ศาลา ในเวลาพลบค่ำ ในใจก็มีความหวาดระแวงถึงเสือ สักพักหนึ่ง พอใจคิดว่าเสือเท่านั้นก็ตกใจ เงยหน้าขึ้นก็เห็นภาพเสืออยู่ข้างหน้าทันที แต่เมื่อตั้งสติได้ ภาพก็หายไป ท่านจึงจับได้ว่า ใจเรานั้นเองที่โกหกหลอกลวง เชื่อไม่ได้

เมื่อพำนักอยู่ได้ระยะหนึ่ง หลวงตาแย้มเกิดอาพาธหนัก การรักษาก็เป็นไปตามมีตามได้ เพราะอยู่ในป่าห่างไกลจากความเจริญ ในที่สุด หลวงตาแย้มก็มรณภาพ หลวงปู่จึงเขียนจดหมายให้โยมส่งข่าวไปบอกแก่ญาติของหลวงตาแย้ม เย็นวันนั้นญาติโยมมาที่วัดกันหลายคน

แต่พอถึงเวลาค่ำ ต่างคนก็ลากลับบ้านกันหมด จึงเหลือแต่หลวงปู่กับศพหลวงตาแย้ม พอหลวงปู่จะกลับไปนอนที่กุฏิก็เกิดความกลัวว่า เดี๋ยวผีจะตามไปหลอก ท่านจึงต้องกลับมานั่งอยู่หน้าศพ เฝ้าอยู่หลายคืน คอยระวังและคอยดูว่า ผีมันจะออกมาทางไหน เมื่อไร จนกระทั่งตลอดคืนก็เห็นมีแต่น้ำเหลืองเท่านั้นที่ไหลออกมา ไม่เห็นมีผีออกมา

เมื่อคอยข่าวคราวอยู่หลายวัน เห็นไม่มีญาติของหลวงตาแย้มมาแน่แล้ว หลวงปู่กับชาวบ้านจึงตัดสินใจเผาศพเสีย ขณะนั้น หลวงปู่เริ่มมีอาการอาพาธแล้ว โยมกิมเฮียงนั้นกลัวว่าหลวงปู่จะเป็นอะไรไปอีกองค์ คนเขาจะหาว่าตนพาพระมาตายเสียหมด จึงนิมนต์หลวงปู่ให้กลับอยุธยา หลวงปู่นั้นยังไม่อยากกลับ แต่เห็นใจโยมกิมเฮียง จึงตกลงกลับ

เมื่อกลับมาอยู่วัดยมแล้ว อาการอาพาธของหลวงปู่ก็หนักขึ้น ตัวเหลือง ซีดลงทุกวัน ฉันได้แต่น้ำข้าววันละชาม ท่านไม่ฉันยา ยอมสละชีวิตเป็นเดิมพัน พิจารณาความตายเป็นอารมณ์ มีใจเด็ดเดี่ยวว่า จะตายวันละกี่หนก็เอา โยมมารดานั้นเห็นแล้วก็ร้องไห้ ขอให้หลวงปู่ฉันยา หลวงปู่กล่าวว่า

"ถ้าหากฉันยาแล้วมันไม่ฉันข้าวจะว่าอย่างไร"

โยมมารดาก็ยังอ้อนวอนให้ฉันร่ำไป จนหลวงปู่ยอมฉัน พอฉันยาเข้าไปแล้ว ก็ฉันน้ำข้าวไม่ได้อีก หลวงปู่จึงบอกโยมว่า

"ไม่หายหรอก เทยาทิ้งเถอะ ไม่เป็นไร"

หลวงพ่อก้านนั้นอาพาธกลับไปอยู่วัดถนน ตั้งแต่หลวงปู่ยังไม่ได้ไปวัดหนองผือ ครั้นหายจากอาพาธแล้ว ก็กลับมาวัดยมอีก ก็พบว่าหลวงปู่กำลังอาพาธอยู่ หลวงปู่นั้นยังพอเดินได้ วันหนึ่ง จึงชวนกันไปธุระข้างนอก หลวงปู่ได้ไปฉันข้าวราดแกงเนื้อ และฉันได้ถึงสองจาน เมื่อกลับมาแล้วอาการอาพาธก็มีอาการดีขึ้น และต่อมาก็หายเป็นปกติ หลวงปู่กล่าวว่า "ถึงคราวมันจะหาย มันก็หายง่ายๆ"

หลังจากหายดีแล้ว หลวงปู่ฉลวย หลวงพ่อก้านและเพื่อนสหธรรมมิกอีก ๒ รูป คือพระสายบัว และพระทองม้วน จึงชวนกันจาริกธุดงค์ลงมายังจังหวัดเพชรบุรี พักอยู่ที่ถ้ำแกลบ แต่ปรากฏว่า เมื่ออยู่ในถ้ำ หลวงปู่ได้ยินแต่เสียงคล้ายชีสวดมนต์ หรือคุยกันตลอดเวลา

ท่านเห็นว่า รบกวนความสงบ จึงชวนสหธรรมมิกให้ออกธุดงค์ต่อไป เมื่อเก็บบริขารกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อหลวงปู่จะก้าวออกจากถ้ำ ก็เกิดขึ้นที่จิตว่า

"อ้าว เราแพ้ซะแล้ว"

"ไม่เป็นไร แพ้แล้วก็แล้วไป"

คณะสงฆ์จากวัดยม ออกจากเพชรบุรีแล้ว ย้อนขึ้นไปจังหวัดราชบุรี พักอยู่ที่สำนักประชุมนารี หลวงปู่เห็นเป็นที่เหมาะสมสำหรับโยมมารดา จึงไปรับมาและฝากไว้กับคุณจอมทรัพย์ ให้ช่วยเป็นธุระดูแล

ตลอดระยะเวลา ๓ เดือน ที่พำนักอยู่ในสำนักประชุมนารีนั้น หลวงปู่ได้แสดงธรรมเทศนาสั่งสอนอุบาสิกา และญาติโยมทั้งหลายที่มาจากตลาด ทั้งกลางวันกลางคืน จนเกิดศรัทธาเลื่อมใส ญาติโยมทั้งหลายอาราธนานิมนต์ให้อยู่จำพรรษา แต่หลวงปู่ไม่รับและกล่าวว่า

"ถ้าญาติโยมยังไม่เชื่ออาตมา ยังไม่มีศรัทธาแล้ว อาตมาก็จะอยู่ต่อไปอีก แต่ตอนนี้โยมทั้งหลาย มีศรัทธาแล้ว อาตมาเทศน์บอกโยมหมด อาตมาก็ไม่มีเวลาภาวนา อาตมาขอไปอยู่ที่อื่น"

เสร็จแล้วออกจาริกต่อไปพร้อมด้วยหมู่คณะ ตกลงกันไปกราบหลวงปู่มั่น ณ วัดหนองผือ อีกครั้งหนึ่ง

ก่อนจะเข้าไปถึงวัดหนองผือนั้น ปากทางก็คือบ้านของโยมอ่อน อุปัฏฐากใหญ่ผู้ให้ที่พัก และ คอยรับส่งผู้ที่จะเข้าไปยังวัดหนองผือ หลวงปู่และคณะก็ได้ไปอาศัยพักเช่นกัน เมื่อได้สนทนากันโยมอ่อนได้กล่าวถึงสถานที่บริเวณบ้านกุดก้อม ว่าท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เคยกล่าวว่า ที่นั่นมีทำเลอันดี เหมาะที่จะสร้างวัด

หลวงปู่จึงขอให้โยมอ่อนพาไปดู เมื่อหลวงปู่ได้เห็นแล้วก็เกิดชอบ เห็นว่าสัปปายะ เหมาะแก่การภาวนาจริง จึงบอกกับโยมอ่อนว่าจะจำพรรษาที่นี่ ขอให้ช่วยจัดเสนาสนะให้ด้วย หลังจากไปกราบหลวงปู่มั่นแล้วก็จะกลับมา โยมอ่อนรับคำแล้ว หลวงปู่ฉลวย หลวงพ่อก้าน พระสายบัว พระทองม้วน จึงเข้าไปยังวัดหนองผือ

เมื่อเข้ามาในวัดหนองผือแล้วก็ไปยังกุฏิของหลวงปู่มั่น เมื่อพบหลวงปู่มั่น ท่านก็ทักขึ้นก่อนว่า

"อ้าว ฉลวย มาอีกแล้ว ไม่กลัวตายหรือ"

"ครับ กระดูก ๓๐๐ ท่อน ตายตรงไหน ก็ทิ้งมันตรงนั้นแหละครับ" หลวงปู่ตอบ

หลวงปู่และคณะพักอยู่ในวัดหนองผือครั้งนี้ จนกระทั่งใกล้จะเข้าพรรษา หลวงปู่มั่นเทศนา อบรมมุ่งจะแก้ไขแนวการปฏิบัติของหลวงปู่ฉลวย ที่หลวงปู่ฉลวยกล่าวว่า เป็นการปฏิบัติแบบลุยไฟ ชนกับกิเลสซึ่งหน้า ให้มาปฏิบัติแบบเป็นขั้นเป็นตอน

คือฝึกจิตให้เป็นสมาธิก่อน แล้วยกขึ้นพิจารณา แบบค่อยไปค่อยไป แต่ปรากฏว่า หลวงปู่ฉลวยไม่ชอบอย่างนั้น วันสุดท้าย ก่อนที่จะจากกัน หลวงปู่มั่นจึงกล่าวกับหลวงปู่ว่า

"เพื่อนว่าจะแก้ไขให้เพื่อน เพื่อนก็ต้องแก้ของเพื่อนเองเน้อ" และบอกให้รู้

"ฉลวย รีบกลับเถอะ เดี๋ยวเสนาสนะจะไม่เสร็จ" แล้วจึงเข้ามาจับมือหลวงปู่ฉลวย แนะอุบายธรรมให้ว่า

"ฉลวย ธรรมยุตฯ หรือมหานิกาย ไม่สำคัญเน้อ ปัจจุบันเน้อวิสุทธิ อยู่ตรงนั้น"

หลวงปู่ฉลวยก็เข้าใจได้ทันทีว่า ท่านให้ตัดอดีต อนาคตเสีย วิสุทธินั้นอยู่ที่ปัจจุบันธรรม เพราะหลวงปู่นั้นรักษาอยู่แล้ว ท่านจึงเกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น


๏ สร้างวัดแห่งที่ ๑ "วัดป่าบ้านภู่"
(ปัจจุบันเป็นวัดป่ากลางโนนภู่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร)


โยมอ่อนและญาติโยมทั้งหลาย กำลังลังเลว่า คณะของหลวงปู่จะกลับมาจำพรรษาจริงหรือไม่ การสร้างเสนาสนะซึ่งยังค้างอยู่ เมื่อคณะของหลวงปู่มาถึงแล้ว จึงได้ช่วยจัดแจงจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นกุฏิ ๔ หลัง สำหรับพระภิกษุ ๔ รูป ทันเวลาเข้าพรรษาพอดี สถานที่ป่าดง ก็กลายเป็นที่พักสงฆ์เล็กๆ ไป

ในระหว่างที่จำพรรษา หลวงปู่ได้ยกปฏิจจสมุปบาทขึ้นมาพิจารณา ครั้งหนึ่ง เมื่อกำลังพิจารณาไป จะนานแค่ไหนไม่ทราบได้ ก็เกิดนิมิตขึ้น เป็นรูปผู้หญิงแล้วก็ดับลง ก็เกิดความกำหนัดขึ้นที่ใจ ความกำหนัดก็ดับลงอีก ก็เกิดนิมิตมีคนถือดาบจะมาฆ่า ใจท่านก็ไม่ถอน ยอมตายถวายชีวิต ภาพนั้นก็ดับลงไปอีก

ก็เกิดเสียงคนเดินขึ้นมาบนพื้นฟาก รู้ได้ว่าเขาจะฟันคอ ใจก็ยังคงยอมตายเช่นเดิม คอยแต่ดาบจะลงที่คอเท่านั้น พร้อมกันนั้นก็เกิดความกลัวขึ้นมาด้วย แล้วก็ดับลงหมด เมื่อเล่าถึงตอนนี้ หลวงปู่สั่งสอนพระเณรว่า

"ความอยากและความกลัว และธรรมารมณ์อย่างอื่น ที่เกิดขึ้นกับใจนั้น เมื่อเรารู้เท่าทัน อดทนอยู่มันก็ดับลงไปเองเท่านั้น มันเกิดเอง มันก็ดับเอง มีแต่ความเกิดขึ้นและดับลงทั้งหมด ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร

นอกจากการปฏิบัติภาวนาแล้ว หลวงปู่และคณะก็ได้บูรณะ พัฒนาสถานที่ให้เหมาะสม ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่มีความดำริที่จะหาพระพุทธรูป มาประดิษฐานไว้สักองค์หนึ่ง เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ และเป็นที่สักการบูชาของญาติโยม จึงเดินทางลงมากรุงเทพฯ บอกเรื่องนี้กับโยมกิมเฮียง ซึ่งโยมกิมเฮียงได้ปวารณาตัวไว้เพื่อพบกันครั้งแรก

โยมกิมเฮียงก็รับจะถวายพระพุทธรูปให้หนึ่งองค์ หลวงปู่จึงนัดให้จัดส่งทางรถไฟ ไปยังวัดโพธิสมภรณ์ ซึ่งหลวงพ่อก้านได้ไปคอยอยู่ที่นั่น แล้วหลวงปู่ก็เดินทางไปยังวัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี ระหว่างการคอยพระพุทธรูปอยู่นั้น ท่านทั้งสองจึงถือโอกาสหัดขานนาค เพื่อจะญัตติเข้าเป็นคณะธรรมยุตติกนิกาย

เพราะเห็นเป็นประโยชน์หลายประการ เช่น เมื่อจะเข้าฟังธรรมของครูบาอาจารย์ จะได้เข้าหมู่ได้โดยไม่ขัดเขิน เป็นต้น แต่ก็ทำในใจไว้ว่า หากจะต้องให้ลาสิกขาก่อนก็จะไม่ญัตติ"


(มีต่อ ๓)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 08 ก.พ.2007, 9:36 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

๏ ญัตติเป็นคณะธรรมยุตติกนิกาย

เมื่อพระอุปัชฌาย์ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการลาสิกขา เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ เวลา ๒๐.๔๒ น. หลวงปู่ฉลวยและหลวงพ่อก้าน จึงได้ญัตติจากคณะมหานิกาย เป็นคณะธรรมยุตติกนิกาย ณ วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ พนฺธุโล (จูม จันทรวงศ์) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูประสาทคณานุกิจ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า "สุธมฺโม" และ "ฐิตธมฺโม" ตามลำดับ ขณะนั้นหลวงปู่มีอายุ ๔๒ ปี

เมื่อพระพุทธรูปมาถึงแล้ว หลวงปู่และหลวงพ่อก้าน จึงอัญเชิญต่อไปยังวัดป่าบ้านภู่ และท่านทั้งสองก็ได้จำพรรษาที่วัดป่าบ้านภู่นี้อีก ๑ พรรษา ได้สร้างเสนาสนะ และเทศนาสั่งสอนญาติโยมให้เกิดศรัทธาความเลื่อมใส ส่วนในการปฏิบัติภาวนานั้น หลวงปู่จะมีนิมิตภาพเจดีย์ของวัดใหญ่ชัยมงคลปรากฏอยู่เสมอ

ท่านจึงเกิดความสงสัยว่า วัดใหญ่ชัยมงคลกับท่านนั้น มีความสัมพันธ์อะไรกันหนอ เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านจึงชักชวนหลวงพ่อก้านออกธุดงค์กลับมายังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีสามเณรติดตามมาด้วยองค์หนึ่ง ส่วนวัดป่าบ้านภู่นั้น หลวงปู่ได้นิมนต์พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินโน มาเป็นเจ้าอาวาสแทน

การกลับมาบ้านเกิดครั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ท่านจะตรวจสอบด้วยก็คือ เมื่อไปใกล้บ้านโยมอุปัฏฐากแล้ว จิตใจจะยังหวั่นไหวอยู่หรือไม่ ก็ปรากฏเมื่อไปถึงแล้วว่า ไม่มีความคิดที่จะหวนคืนไปยังเพศฆราวาสอีกเลย

เมื่อหลวงปู่ฉลวย หลวงพ่อก้าน และสามเณร มาถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้ว ก็หาที่พักพอเป็นไปได้ ต่อมาจึงได้โยมคนหนึ่ง เป็นผู้พาไปดูสถานที่ของวัดใหญ่ชัยมงคล

วัดใหญ่ชัยมงคลเป็นวัดที่ถูกปล่อยให้รกร้างเกิดศึกสงครามกับพม่า ยังไม่มีพระมาปักหลักอยู่ เนื้อที่ของวัดมีหลายร้อยไร่ ถูกชาวบ้านรุกเข้ามาทำประโยชน์ก็มาก ที่เหลือก็รกร้างไปด้วยต้นหนามและหมามุ่ยรกทึบ จึงเป็นที่หลบซ่อนของพวกมิจฉาชีพต่างๆ พวกขโมย ขโมยวัวควายมาได้ ก็นำมาฆ่าในนี้ พวกขี้ยาก็มาหลบเสพกันในนี้ อาศัยสถานที่ทำสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ

เมื่อกลับมายังที่พักแล้ว ขณะภาวนาหลวงปู่เกิดนิมิตปรากฏเป็นภาพพระพุทธรูปองค์ใหญ่ยืนอยู่ ๓ องค์ องค์แรกเซจะล้มลง องค์ที่สองเข้ามาประคองไว้ทัน เมื่อภาพพระหายไปแล้ว ก็ปรากฏเป็นภาพมีด และหลวงปู่ก็เข้าไปจับมีดนั้นไว้ ท่านพิจารณาในนิมิตที่เป็นพระพุทธรูป ๓ องค์นั้น ได้ความว่า

หากแบ่งศาสนาเป็น ๓ ยุค พุทธศาสนาก็ผ่านพ้นไปได้ยุคหนึ่ง แม้จะเสื่อมโทรมลงบ้าง แต่ก็จะกลับรุ่งเรืองดังเดิม และนิมิตที่เป็นมีดนั้น ได้ความว่า ตัวท่านจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคเป็นอันมาก เมื่อได้ความดังนี้แล้ว ท่านจึงเล่าให้หลวงพ่อก้านฟัง

ท่านทั้งสอง จึงตกลงใจไปอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล และตั้งปณิธานร่วมกันว่า จะรักษาและกอบกู้พระธรรมวินัยให้ถูกต้อง เพื่อให้ศาสนาของพระพุทธองค์มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป ถึงแม้จะต้องต่อสู้กับอุปสรรคเป็นอันมากก็ตาม

เมื่อมาอยู่วัดใหญ่ชัยมงคลแล้วได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มมีโยมมาฟังธรรม หลวงปู่จะเทศนาให้รื่นเริงกล้าหาญ ในอันที่จะละความชั่ว ทำความดีแล้ว ก็ให้อธิษฐานตั้งใจรักษาศีล ๕ จนตลอดชีวิต ต่อมามีผู้ศรัทธามากขึ้น จนถึงขอโกนหัวนุ่งขาว ท่านก็โกนหัวให้นุ่งขาวทุกคน

วันพระถือธุดงควัตร ข้อเนสัชชิก มีอิริยาบถ ๓ คือ นั่ง ยืน เดิน ไม่นอน ในเวลานั่งทำความเพียร หลวงปู่จะนั่งนอนนอกมุ้ง เอายุงเป็นเพื่อน เมื่อยุงกัดเกิดความคัน ก็พิจารณาว่า ใครคัน ใครรู้คัน ใครจำความคัน ใครคิดว่าความคันเป็นตัวตนของเรา ท่านเทศนาและทำให้ดูเป็นตัวอย่างด้วยอย่างนี้

ข่าวพระกัมมัฏฐานปฏิบัติภาวนา ซึ่งญาติโยมไม่เคยได้ยินมาก่อน จึงได้แพร่สะพัดไป เกิดผู้ศรัทธาเลื่อมใสเป็นอันมาก เมื่อออกพรรษาแล้ว พระที่สนใจในการปฏิบัติภาวนา ก็เริ่มแวะเวียนมาศึกษาดูปฏิปทา พระอาจารย์นาด ก็เป็นองค์หนึ่งที่สนใจ จึงเดินทางมายังวัดใหญ่ชัยมงคล จนในเวลาต่อมา ได้ร่วมกับหลวงปู่และหลวงพ่อก้าน ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ส่วนพระรูปอื่นๆ นั้น มักจะมาอยู่ไม่นาน ครั้งหนึ่งหลวงปู่ได้แนะนำพระรูปหนึ่งซึ่งมาอยู่ด้วยว่า

"เมื่อบวชมาแล้ว ก็ให้ใจอยู่กับวัด อย่าไปคิดถึงเรื่องทางบ้าน" พระองค์นั้นก็รับคำ

ต่อมาวันหนึ่ง หลวงปู่กับพระรูปนั้นกำลังนั่งคอยลงปาฏิโมกข์อยู่ด้วยกัน พระรูปนั้นก็คิดไปว่า จะสึกออกไปสร้างบ้านให้โยมอุปัฏฐาก ทันทีนั้นหลวงปู่ก็พูดขึ้นว่า

"ผมบอกท่านแล้วใช่ไหมว่าไม่ให้ไปคิดเรื่องทางบ้าน"

พระรูปนั้นถึงหน้าซีดเกิดความกลัวมาก เมื่อบ่อยครั้งเข้าก็อยู่ไม่ได้ ต่อมาก็ลาสิกขาไป ญาติโยมที่ศรัทธาเลื่อมใสในพระวัดใหญ่ฯ มีเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก จนดึงเอาศรัทธาของวัดที่อยู่ในละแวกนั้นมาด้วย พระที่เอกลาภขาดหายไปบางหมู่ ก็เริ่มเกิดความไม่พอใจ นอกจากนั้น หลวงปู่และคณะไม่รับเงินหรือใบปวารณาใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งยังเทศนาสั่งสอนญาติโยม ถึงเรื่องเงินทองกับพรหมจรรย์ว่า เป็นข้าศึกแก่กันอย่างยิ่ง ทั้งยังผิดวินัยด้วย

เมื่อข่าวแพร่ไป บรรดาพระที่ไม่พอใจเหล่านั้น ยิ่งเกิดความแค้นเคืองพระวัดใหญ่เป็นอันมาก จนกระทั่ง มีการกลั่นแกล้งโจมตี กล่าวหาพระวัดใหญ่ฯ เป็นพระปลอมบ้าง ให้ทางราชการที่เป็นพวกของตนมาอ้างว่า วัดใหญ่เป็นสถานที่ราชการอยู่ไม่ได้บ้าง

เมื่อไม่สำเร็จ ถึงขนาดจ้างหญิงโสเภณีโกนหัวมา เพื่อจะทำให้เกิดอธิกรณ์ในพระวัดใหญ่ ฯ เมื่อหญิงนั้นมาถึง หลวงปู่รู้อยู่ก่อนแล้ว จึงบอกแก่หญิงนั้นว่า

"โยมจะมาหักยอดเจดีย์วัดใหญ่ฯ หรือ หักไม่ได้หรอก ถ้าเป็นความคิดของโยมเอง อาตมาจะไม่บอก โยมเห็นแก่เงินใช่ไหม"

หญิงนั้นหน้าซีดเผือด หลวงปู่จึงสอนว่า มันเป็นบาปกรรม และให้หญิงนั้นกลับไปเสีย

เมื่อไม่สำเร็จ คราวนี้เห็นว่าหลวงปู่เป็นหัวหน้าคณะ จึงจ้างชายขี้ยาคนหนึ่ง ให้มาฆ่าหลวงปู่ฉลวยเสีย โดยโกนหัวห่มผ้าเหลือง ปลอมเป็นพระภิกษุ ครั้นมาถึงวัดใหญ่ ขณะนั้น หลวงปู่นั่งฉันน้ำร้อนคอยท่าอยู่ ท่านจึงถามพระปลอมไปว่า

"ท่านมาจากไหน"

"มาจากหัวรอ" พระปลอมตอบ

"มาจากหัวรอก็ขี้ยาน่ะสิ" หลวงปู่กล่าว (เพราะหัวรอในสมัยนั้นไม่มีวัด มีแต่โรงยาฝิ่น)

พระปลอมนั้น เห็นว่าหลวงปู่รู้ตัวแล้ว จึงรีบเดินเลี่ยงออกไป สามเณรเดินสวนเข้ามา เหลือบเห็นปืนที่ซ่อนอยู่ เข้ามาแล้วจึงบอกกับหลวงปู่ หลวงปู่ก็ตอบว่า

"อืม รู้แล้ว"

พระพุทธเจ้าให้อำนาจแก่สงฆ์ ในการตัดสินและจัดการเรื่องต่างๆ ในกิจการของศาสนา พระวัดใหญ่ในขณะนั้น มีพระภิกษุรวม ๓ รูป จึงเป็นเพียง "คณะพระภิกษุ" จึงมีการเข้าชื่อสงฆ์ เพื่อมาดำเนินการกับคณะพระภิกษุวัดใหญ่ฯ หลวงปู่ฉลวย หลวงพ่อก้าน พระอาจารย์นาด เมื่อทราบข่าว จึงปรึกษากันและได้ตกลงกันว่า

"ฝ่ายเรามีไม่ครบองค์สงฆ์ สู้เขาไม่ได้ก็จริง แต่จะสู้ให้ถึงที่สุด ถึงจะมาถอดจีวรก็จะไม่กล่าวคำลาสิกขา"

เมื่อหลวงปู่กลับมาที่กุฏิ เจริญภาวนาแล้ว พิจารณาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงตั้งจิตอธิษฐานว่า

"ถ้าข้าพเจ้าจะทำประโยชน์แก่พระศาสนา ก็ขอให้มีพระผู้มีกำลังมาร่วมให้ครบองค์สงฆ์เถิด"

ขณะนั้น พระอาจารย์ชา สุภทฺโท พำนักอยู่ที่ จ.อุบลราชธานี เกิดนิมิตเป็นเรื่องราวต่างๆ และเป็นสถานที่แห่งหนึ่ง แต่เมื่อท่านมาพิจารณาดูว่า ธรรมะ หรือข้อวัตรต่างๆ ท่านก็ทราบดี และไม่มีความสงสัยใดๆ แล้ว จึงไม่คิดที่จะไปไหนอีก

วันต่อมา ท่านได้รับจดหมายจากพระมหาสา เพื่อนสหธรรมมิกเก่ารูปหนึ่ง พระมหาสาได้ชักชวนให้เดินทางไปศึกษาแนวการปฏิบัติแบบ "ธรรมกาย" ของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ซึ่งพระมหาสา นั้นเห็นว่าดี และอาจจะตรงกับจริตนิสัยของท่าน ท่านพิจารณาดูจดหมายและนิมิตที่เกิดขึ้นเมื่อวันก่อน จึงตัดสินใจมาตามคำชักชวน แต่ท่านมีญาติอยู่ที่โรงไม้เกษตร ๒ จ.พระนครศรีอยุธยา จึงตกลงแวะไปโปรดญาติเสียก่อน

เมื่อมาถึงอยุธยา ได้พบและได้เทศนาให้เป็นประโยชน์แก่ญาติแล้ว ญาติของท่านจึงเล่าให้ท่านฟัง ถึงวัดใหญ่ชัยมงคลว่า ขณะนี้มีพระซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น มาพำนักอยู่นานแล้ว มีปฏิปทาอันน่าเลื่อมใส มีญาติโยมศรัทธามาก น่าที่จะไปลองศึกษาดู

พระอาจารย์ชาจึงแวะมาที่วัดใหญ่ฯ ตามคำแนะนำของญาติ เมื่อมาเห็นวัดใหญ่ฯ แล้ว ปรากฏว่าสถานที่ต่างๆ นั้น เหมือนที่ปรากฏในนิมิต เมื่อได้พบปะสนทนากันพอสมควรแล้ว ท่านจึงลาเพื่อเดินทางต่อไปยังวัดปากน้ำ ตามจุดมุ่งหมายเดิม

เมื่อท่านได้ศึกษาการปฏิบัติแบบ "ธรรมกาย" อยู่ระยะหนึ่งแล้ว เห็นว่าไม่ตรงกับจริตนิสัยของท่าน จึงเดินทางกลับมาอยุธยา ขอพักปฏิบัติภาวนาที่วัดใหญ่ชัยมงคล พระวัดใหญ่ชัยมงคลจึงมี ๔ รูป ครบองค์สงฆ์ ตามคำอธิษฐาน

สงฆ์ฝ่ายหนึ่ง จะทำกรรมแก่สงฆ์อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ แต่สงฆ์วัดใหญ่ ฯ นั้น สังกัดคณะธรรมยุต ฯ ๒ รูป คือ หลวงปู่ฉลวย และหลวงพ่อก้าน สังกัดคณะมหานิกาย ๒ รูป คือ พระอาจารย์นาด และพระอาจารย์ชา ท่านทั้ง ๔ รูป ถือพระธรรมวินัยเป็นหลัก ไม่กีดกันแบ่งแยกกัน ลงปาฏิโมกข์และทำสังฆกรรมอื่นๆ ร่วมกัน

ดังนั้น จึงมีการกล่าวหาว่า ผิดสังฆาณัติ ในพระราชบัญญัติปกครองพระสงฆ์ แต่คณะสงฆ์วัดใหญ่ฯ ถือเอามาตราหนึ่ง ในพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ที่มีเนื้อความว่า กฎกระทรวงก็ดี สังฆาญัติก็ดี พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชก็ดี หรือกฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่ออกมานั้นจะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับหลักพระธรรมวินัย หากขัดกับหลักพระธรรมวินัยแล้ว ก็ใช้ไม่ได้ คณะสงฆ์วัดใหญ่ฯ ปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย จึงไม่ผิดต่อสังฆาณัติใดๆ ทั้งสิ้น

ต่อมามีการกล่าวถึงว่า หลวงปู่ใช้ใบสุทธิ ๒ ใบ และเรื่องอื่นๆ อีก เมื่อข่าวทราบถึงพระผู้ปกครองทางกรุงเทพฯ คือพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพรหมมุนี สุวโจ (ผิน) วัดบวรนิเวศฯ ท่านจึงเรียกตัวให้หลวงปู่ เดินทางเข้ามาพบ เพื่อจะสอบถามรายละเอียด

เมื่อหลวงปู่และหลวงพ่อก้านเดินทางมาพบแล้ว ท่านจึงถามหลวงปู่ถึงเรื่องใบสุทธิ ๒ ใบ และเรื่องอื่นๆ เมื่อหลวงปู่อธิบายให้ฟังแล้ว ท่านจึงกล่าวว่า

"เมื่อบวชมาอยู่ในคณะธรรมยุตฯ แล้ว ก็ควรจะทำให้เหมือนกันกับหมู่ หลวงปู่จึงตอบว่า

"ผมไม่ได้บวชเป็นธรรมยุตฯ หรือมหานิกาย ผมบวชตามพระธรรมวินัยครับ"

"แล้วอุปัชฌาย์ของท่านคือใครล่ะ" พระเดชพระคุณฯ ถาม

"ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ครับ" หลวงปู่ตอบ

"ถ้าอย่างนั้นท่านก็ไม่เคารพพระอุปัชฌาย์นะสิ" พระเดชพระคุณฯ กล่าว

"พระอุปัชฌาย์ผมก็เคารพครับ แต่ไม่ได้เคารพให้ยิ่งไปกว่าพระธรรมวินัย" หลวงปู่ตอบ

เมื่อพระเดชพระคุณฯ ได้ทราบรายละเอียดต่างๆ จนเป็นที่เข้าใจแล้ว ก็ให้ท่านทั้งสองกลับได้

ต่อมามีข่าวว่า มีการเข้าชื่อสงฆ์ เพื่อให้มาดำเนินการสึกพระวัดใหญ่ชัยมงคล แล้ว หลวงปู่จึงอธิษฐานจิตว่า

"ถ้าข้าพเจ้าทำผิดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ขอให้เขามาเหยียบย่ำให้พินาศฉิบหายไป ถ้าข้าพเจ้าทำถูกต่อคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ขอให้เรื่องนี้ล้มละลายไป"

ต่อมาก็มีข่าวว่า ผู้ที่ส่งชื่อต่างถอนชื่อกันไปหมด

วัดใหญ่ชัยมงคล เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่พระสายกัมมัฏฐานเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งเป็นจุดแวะพัก เมื่อเดินทางผ่านอยุธยา จำนวนพระก็จึงมีเพิ่มมากขึ้น ที่นี่มีสิ่งที่พิเศษอย่างหนึ่ง คือการกราบ ทุกรูปจะล้อมวงหันหน้าเข้าหากัน แล้วกราบพร้อมๆ กัน

การทำงานนั้นเริ่มเมื่อฉันเสร็จแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาเที่ยงตรง จะต้องหยุดทันทีไม่มีการทำต่อ แล้วแยกย้ายกันไปทำความเพียร (เมื่อเป็นธรรมยุตก็ปฏิบัติแบบธรรมยุต เมื่อเป็นมหานิกาย ปฏิบัติแบบมหานิกาย) โดยไม่คิดถึงเรื่องงานอีก พยายามตัดทิ้งให้หมด เพื่อฝึกให้ใจรู้จักจับและรู้จักละวาง ในสิ่งต่างๆ

หลวงปู่ได้ไปรับโยมมารดามาจากสำนักประชุมนารี ตั้งแต่มาอยู่วัดใหญ่ชัยมงคลได้ไม่นาน เมื่อมาอยู่ ๒ - ๓ ปี โยมมารดาก็ป่วยหนัก เย็นวันหนึ่งหลวงปู่ได้ไปหาโยมมารดา และให้สติว่า

"โยม ไม่ต้องกลัว ตายแน่นะ ถ้าหากมีใครมาเรียก อย่าไปกับเขานะ"

โยมมารดาฟังแล้วก็กราบ หลวงปู่ก็กลับไปทำวัตรเย็น ขณะทำวัตรเย็นยังไม่เสร็จ ก็ได้ยินเสียงโยมมารดาร้องเสียงดัง หลวงปู่และภิกษุสามเณรก็ลงมาดู โยมมารดาก็เล่าว่า

"มีคนมาหา ๔ คนชวนให้ไปด้วย เมื่อโยมไม่ไป ก็มาหยิกที่ขาอย่างแรง เจ็บปวดมากจึงร้อง"

เมื่อโยมเปิดให้ดู ก็ปรากฏมีรอยเขียวช้ำที่ขาจริง ต่อมาไม่นานโยมมารดาก็ถึงแก่กรรม

หลวงปู่กล่าวชมถึงโยมมารดาว่า ปฏิบัติเก่ง สามารถปิดอบายได้ จึงนับว่าหลวงปู่ได้ทดแทนพระคุณโยมมารดาไปแล้ว

หลวงพ่อก้าน มีน้องชายคนหนึ่งชื่อ กิ่ง (ปัจจุบันคือพระอาจารย์กิ่ง วรปุตโต วัดเขาต้นเกด หัวหิน) มีจิตฝักใฝ่ในการออกบรรพชาเช่นเดียวกัน แต่บิดานั้นอายุมากแล้ว และพี่ชายทั้งสองคือ หลวงตาใบ และหลวงพ่อก้าน ก็เป็นพระภิกษุหมด

ท่านจึงทำหน้าที่เลี้ยงดูบิดามาโดยตลอดจนกระทั่งบิดาถึงแก่กรรม ท่านจึงมาหาหลวงพ่อก้านพี่ชาย ที่วัดใหญ่ชัยมงคล ขอบรรพชาอุปสมบท หลวงปู่ให้โกนหัวนุ่งขาวแล้ว ภายหลังบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ๓ ปี แล้วจึงได้อุปสมบท

หลวงพ่อชา อยู่วัดใหญ่ชัยมงคลมาเกือบ ๒ ปีแล้ว ระหว่างออกพรรษา หลวงปู่ฉลวย หลวงพ่อชา และสามเณรรูปหนึ่ง ชื่อ สุธรรม ได้มีโอกาสจาริกชั่วคราวไปยังเกาะสีชัง เมื่อพักอยู่บนเกาะสีชังได้ระยะหนึ่ง วันหนึ่ง หลวงปู่กล่าวกับหลวงพ่อชาและสามเณรสุธรรมว่า

"วันนี้อย่าพึ่งไปไหนนะ"

ในวันนั้น ขณะที่หลวงปู่ภาวนาอยู่ เกิดนิมิตเห็นหลวงปู่มั่นมาหา และมีเสียงว่า

"วัดๆๆๆ"

หลวงปู่พิจารณาดูเห็นว่าวัดใหญ่ชัยมงคล คงจะมีเรื่อง จะต้องรีบกลับ เมื่อหาหลวงพ่อชาและสามเณรสุธรรม ซึ่งไปเที่ยวตรวจดูสภาพที่ไม่พบ และได้เวลาเรือจะออก จึงเขียนจดหมายทิ้งไว้ แล้วรีบเดินทางกลับมาวัดใหญ่ชัยมงคล

เมื่อมาถึงวัดใหญ่ชัยมงคล ปรากฏว่า มีพระผู้ใหญ่มาชักชวนพระที่วัดใหญ่ชัยมงคล ไปเสียหมดเหลือแต่หลวงพ่อก้าน นั่งฉันอยู่รูปเดียว เมื่อหลวงพ่อชากลับมา พบว่าพระลูกศิษย์ของท่านรูปหนึ่งถูกพาไปด้วย ท่านจึงไปตามกลับมา ต่อมาพระลูกศิษย์รูปนั้นถึงกำหนดต้องเกณฑ์ทหาร ท่านจึงต้องพากลับไปเกณฑ์ทหารที่บ้านเกิด ระยะเวลาที่หลวงพ่อชาอยู่ที่วัดใหญ่ฯ รวมทั้งสิ้น ๒ ปี

เมื่ออยู่ต่อมาวัดใหญ่ชัยมงคลก็มีพระเพิ่มขึ้นอีก และมีผู้มาขอบวช หลวงปู่ก็ได้พาไปบวชกับหลวงพ่ออั้น วัดพระญาติ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่เมื่อยังเป็นมหานิกาย ซึ่งหลวงพ่ออั้นนั้นก็เต็มใจ ท่านเคยกล่าวออกตัวกับพระอื่นๆ ให้หลวงปู่ว่า

"ฉลวยนั้นศิษย์เราเอง ไปว่าเขาแล้วทำได้อย่างเขาหรือเปล่า"

ขณะนั้นวัดใหญ่ชัยมงคลมีพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา เป็นจำนวนมาก มีความเจริญขึ้นโดยลำดับ มีศรัทธาญาติโยมก็มาก วัดใหญ่ชัยมงคลได้ตั้งมั่นดีแล้ว หลวงปู่และหลวงพ่อก้าน จึงคิดจะออกธุดงค์ต่อไป เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านจึงได้ไปนิมนต์พระอาจารย์เปลื้อง วัดยม มาเป็นเจ้าอาวาสแทน

พระภิกษุสามเณรได้ขอออกธุดงค์ติดตามท่านทั้งสองไปด้วยไปจำนวนมาก ท่านก็ให้ติดตามไป ส่วนอุบาสิกา ท่านว่าให้คอยฟังข่าวดูก่อน หลวงปู่และหลวงพ่อก้านจึงนำกองคาราวานธรรม (ได้ออกธุดงค์) มุ่งหน้าสู่ภาคเหนือ จำเดิมตั้งแต่ครั้งหลวงปู่และหลวงพ่อก้าน ตั้งปณิธานร่วมกัน ในอันที่จะรักษาพระธรรมวินัยให้ถูกต้อง จนกระทั่งวัดใหญ่ชัยมงคลตั้งมั่นดีแล้ว รวมระยะเวลาทั้งสิ้น ๔ ปี


(มีต่อ ๔)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 08 ก.พ.2007, 9:39 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม


๏ หนึ่งพรรษาที่แม่พวก (ดงไม้สัก)

หลังจากลงรถไฟที่สวรรคโลก พักอยู่ระยะหนึ่งแล้ว หลวงปู่หลวงพ่อก้าน และกองคาราวานธรรม ได้เดินเท้าธุดงค์ต่อไป จนกระทั่งถึงสถานีรถไฟแห่งหนึ่ง ก่อนถึง อ.เด่นชัย จ.แพร่ พักอยู่ระยะหนึ่งแล้ว เห็นว่ากันดารน้ำ จึงธุดงค์ต่อไปจนถึงสถานีรถไฟแม่พวก อ.เด่นชัย

ณ จุดนี้ กองคาราวานธรรมได้เหลือเพียงกองเล็กๆ เพราะความลำบากทุรกันดารในระหว่างทาง ผู้ที่สู้ไม่ไหวจึงขอปลีกตัวไปหลายรูป จนมาถึงสถานีรถไฟแม่พวกนี้ ได้พบกับโยมสารและโยมหงษ์ นายสถานี มีศรัทธานิมนต์ให้พักอยู่ที่ดงไม้สัก ใกล้ๆ สถานีนั่นเอง

เมื่อเห็นว่าสถานที่เหมาะสมดี และใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว หลวงปู่และคณะจึงตกลงจำพรรษาในที่นั้น ขณะนั้นไข้มาลาเรียยังมีชุกชุม ตลอดพรรษาพระภิกษุสามเณร ได้อาพาธเป็นไข้มาลาเรียอย่างหนักกันทุกรูปทุกองค์


๏ สร้างวัดแห่งที่ ๒ "วัดแพร่ธรรมาราม"

ออกพรรษาแล้ว โยมกิมเฮียง เทอดตระกูล และโยมกิมฮวย พงษ์เจริญกิต สองพี่น้อง ได้มานิมนต์หลวงปู่และคณะ มาอยู่ที่ตลาดเด่นชัย เพื่อพักฟื้นรักษาไข้ จนเมื่อหายดีแล้วก็มีโยมมาถวายที่ดินให้ มีเนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่ หลวงปู่และคณะจึงย้ายไปอยู่ที่นั่น

ภายหลังทางกรมป่าไม้ถวายเพิ่มเติมให้อีก รวมเป็น ๒๐ ไร่ ใช้ชื่อวัดว่า หอธรรมเทพสุวรรณ (ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดแพร่ธรรมาราม" ในภายหลัง ปัจจุบันมีพระอาจารย์กัณหา สุขกาโม เป็นเจ้าอาวาส)

วันเวลาผ่านไป หลวงปู่อยู่ในที่ที่โยมถวายนั้น เทศนาธรรมทั้งกลางวัน กลางคืน และนำหมู่คณะปฏิบัติภาวนาอย่างเคร่งครัด และสม่ำเสมอ ภิกษุสามเณรทั้งหลาย มีความสงบเสงี่ยม สำรวมกาย วาจา ดูเรียบร้อย น่าเลื่อมใส ญาติโยมทั้งหลายนั้น ไม่เคยเห็นปฏิปทาของภิกษุผู้ปฏิบัติภาวนามาก่อน

เมื่อได้มาพบมาเห็นเข้าก็เกิดศรัทธา ความเลื่อมใส หลั่งไหลเข้ามาทำบุญ รักษาศีล และฟังธรรมเป็นจำนวนมาก ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เอกลาภที่วัดในละแวกนั้นเคยได้รับอยู่ก่อน ก็ขาดหายและลดลงไปโดยลำดับ ความประสงค์ร้ายในหลวงปู่และคณะจึงเกิดมีขึ้นตามมา ในทำนองเดียวกันกับเมื่อครั้งอยู่วัดใหญ่ชัยมงคล

เมื่อกระทำทุกวิถีทางแม้กระทั่งใช้วิชาไสยศาสตร์แล้ว ยังไม่สามารถทำอันตรายแก่หลวงปู่และคณะได้ ภายหลังจึงเลิกล้มความพยายามไปในที่สุด เมื่อสิ้นระยะเวลาเพียง ๓ พรรษาวัดหอธรรมเทพสุวรรณ ก็เป็นวัดที่ตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง

หลวงปู่จึงคิดจะออกธุดงค์ต่อไป เมื่อมีโยมมานิมนต์ให้ไปอยู่บริเวณวัดอโยธยา (วัดเดิม) หลวงปู่ฉลวย หลวงพ่อก้าน และพระอาจารย์กิ่ง จึงเดินทางไปวัดอโยธยา ยกวัดแพร่ฯ ให้พระที่อยู่ดูแลต่อไป

เมื่ออยู่วัดอโยธยาได้ ๑ พรรษา ก็ออกธุดงค์ลงมาจนถึงเขาพระเอก จ.ราชบุรี พักอยู่ระหว่างแล้ว เห็นว่ายังไม่เคยลงมาทางใต้ จึงธุดงค์มุ่งลงมาทางใต้ต่อไป


๏ สร้างวัดแห่งที่ ๓ "วัดราชาตนบรรพต" (เขาต้นเกด)

พ.ศ. ๒๕๐๐ หลวงปู่และคณะมาถึง อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ ได้ไปพักอยู่ท้ายไร่ของชาวบ้านใกล้วัดเขาตะกบ ไปเที่ยวบนเขาต้นงิ้ว มีพระชวนให้อยู่ร่วมกันแต่หลวงปู่ไม่อยู่ และต่อมาได้มาพบที่ซึ่งเป็นวัดเขาต้นเกดในปัจจุบัน เมื่อใครๆ บอกว่าเจ้าที่แรง หลวงปู่ก็ชอบบอกว่า

"เกิดมายังไม่เคยตายเลย ขอลองดู"

จึงย้ายคณะไปอยู่ เมื่อได้ไปคุยกับเถ้าแก่บักเซ้งเจ้าของที่ เถ้าแก่บักเซ้งก็ถวายที่ให้ จึงเริ่มสร้างเสนาสนะเล็กๆ ขึ้น ต่อมาเมื่อหลวงพ่อก้านได้รับมรดกที่นาจากโยมมารดา ท่านได้ขายและนำเงินมาสร้างศาลา ซื้อจักรเย็บผ้าคันหนึ่ง และแบ่งส่วนหนึ่งเป็นทุนสร้างพระอุโบสถ เวลาผ่านไป ๒ ปี พอที่จะเป็นวัดขึ้นมาแล้ว ได้ตั้งชื่อวัดตามต้นเกดที่อยู่หน้าวัดว่า ราชายตนบรรพต ซึ่งแปลว่า "เขาต้นเกด"

หลวงปู่ก็มอบวัดให้หลวงพ่อก้านเป็นผู้ดูแลปกครองหมู่คณะ ส่วนตัวท่านขึ้นไปอยู่บนเขาดำหลังวัดต้นเกดเพียงรูปเดียว เป็นเวลา ๒ พรรษา เมื่อออกพรรษาที่สองแล้ว ท่านจะออกธุดงค์ข้ามเขาไปทางทิศตะวันตกอีก คราวนี้มีพระอาจารย์กิ่ง พระอาจารย์เชื้อและสามเณรอีกหลายรูปขอติดตามไปด้วย

หลวงปู่จึงพาคณะเดินธุดงค์ไปจนกระทั่งถึง ต.หนองพลับ พักอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า "เนินสวรรค์" ณ จุดนี้ หลวงปู่จึงให้พระเณรแยกย้ายกันไปคนละทาง พระอาจารย์กิ่งพาสามเณรทั้งหลายไปอยู่ที่ดงกล้วย พระอาจารย์เชื้อไปอีกทางหนึ่ง ส่วนหลวงปู่นั้นยังอยู่ที่เดิม

และได้มีนายแคล้ว มีนาม เดินป่าล่าสัตว์มาพบเข้า เกิดศรัทธา จึงนิมนต์หลวงปู่ให้ไปอยู่ที่ไร่ของตน ที่หมู่บ้านวลัย หลวงปู่จึงย้ายไปอยู่หลังไร่ของโยมแคล้ว บริเวณต้นตะเคียน จนกระทั่งเข้าพรรษา หลวงปู่ฉลวยได้อยู่จำพรรษาที่นั่นโดยโยมแคล้วได้ต่อเตียงให้อยู่เพียงตัวเดียว

เมื่อท้องฟ้าแจ่มใสก็อยู่บนเตียง แต่เมื่อมีฝนตก หลวงปู่ต้องหลบฝนลงไปอยู่ใต้เตียง แม้เป็นอย่างนี้ ก็ไม่ได้ทำให้จิตใจของหลวงปู่ท้อถอย

ครั้งหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่ภาวนาอยู่บนเตียง ก็มีเสียงหายใจของเสือดัง "ครืดคราดๆ" อยู่ใต้เตียงท่านก็คิดว่า ขณะนี้หลับตาอยู่ก็จะไม่มีลืมตา ถ้าหากลืมตาอยู่ก็จะไม่หลับตา แล้วก็กำหนดเสียงของเสือเป็นอารมณ์ พอกำหนดเข้า เสียงก็ห่างออกไปๆ พอปล่อยเสียงก็ใกล้เข้ามา พอกำหนดอีกเสียงก็ห่างไปอีก พอปล่อยก็ใกล้เข้ามาอีก หลวงปู่จึงอธิษฐานว่า

"ถ้ากรรมจะถูกเสือกัดตาย ก็ขอให้เป็นไปตามกรรมนั้นเถิด"

เมื่อตัดสินใจเอาชีวิตอุทิศแล้ว ก็ปรากฏว่าไม่เป็นไร หลวงปู่ท่านว่า ไม่เชื่อว่าเป็นเสือจริง เป็นเทวดาลองใจดูมากกว่า

ในเช้าวันหนึ่ง หลวงปู่กลับจากบิณฑบาต ก็พบเสือตัวใหญ่กำลังกินน้ำในลำห้วย เมื่อเสือหันมาเห็นท่านมันก็ตกใจ กระโจนหนีเข้าป่าไป

ครั้งหนึ่ง มีเหลือบควายตัวหนึ่ง บินมาเกาะที่แขน และเจาะดูดเลือดจากแขนของท่าน ท่านก็ยอมบริจาคเลือดเป็นทานโดยดุษฎี ปรากฏว่าเหลือบตัวนั้นคงจะติดใจในรสชาติของเลือดมนุษย์ ทุกๆ วัน ในเวลาเดิม จะต้องบินมากินเลือดของหลวงปู่เสมอ เมื่อผ่านไป ๖ - ๗ วัน หลวงปู่จึงพูดเล่นกับเหลือบตัวนั้นว่า

"เฮ้ย เอ็งมาเจาะเอาเลือดข้าไปวันละถุงๆ อย่างนี้ เดี๋ยวเลือดข้าก็หมดน่ะสิ วันนี้ข้าไม่ให้เอ็งนะ"

เพียงเท่านี้ เหลือบตัวนั้นพยายามกัดเจาะแขนอยู่หลายครั้ง ก็ไม่สามารถเจาะได้ จึงบินจากไปไม่มาอีกเลย

เมื่อใกล้จะออกพรรษา หลวงปู่เป็นไข้มาลาเรีย มีอาการทรุดหนัก โยมแคล้วและเพื่อนบ้าน เห็นว่าควรจะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลในตัวอำเภอ แต่สมัยนั้นยังไม่มีใครมีรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ แม้แต่ทางรถยนต์ก็ยังไม่มี จึงนำหลวงปู่ขึ้นเปล หามจากหมู่บ้านวลัยไปจนถึงอำเภอหัวหิน ระยะทางกว่า ๓๐ กิโลเมตร และพาไปรักษาตัวที่วัดเขาต้นเกด จนกระทั่งต่อมามีอาการดีขึ้นและหายเป็นปกติ

เมื่อหายดีแล้ว หลวงปู่ก็ออกธุดงค์อีก คราวนี้ลงทางใต้ โดยมีพระอาจารย์เชื้อติดตามไปด้วย จนไปถึงจังหวัดภูเก็ต และจำพรรษาที่แหลมพรหมเทพ ออกพรรษาแล้วก็กลับขึ้นไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพพระธรรมเจดีย์ พระอุปัชฌาย์ แล้วจึงกลับมาวัดเขาต้นเกดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อใกล้เข้าพรรษา ก็ธุดงค์ไปจำพรรษาที่ทับสะแก ออกพรรษาแล้วก็กลับมาที่วัดเขาต้นเกดอีก

ครั้งหนึ่ง มีโยมนิมนต์ไปในงานบุญที่จังหวัดราชบุรี หลวงปู่และหลวงพ่อก้านก็นั่งรถยนต์คันหนึ่งไป หลวงปู่ได้เตือนคนขับรถว่าอย่าประมาท เมื่อยังไม่ถึงจังหวัดเพชรบุรี หลวงปู่รู้ขึ้นที่จิตว่า รถจะเกิดอุบัติเหตุข้างหน้า จึงคิดว่าจะลง ก็เกิดที่จิตอีกว่า

"ชีวิตของเราพอค่ารถเขาหรือ"

ท่านจึงตัดสินใจยอมตาย นำย่ามมาวางบนตัก พอรถไปถึงตำบลเขาย้อย ยางรถก็แตก รถพลิกไปหลายตลบ หลวงปู่เจ็บคนเดียว หลวงพ่อก้านไม่เป็นอะไรมาก ถึงหลวงปู่เจ็บก็ยังไปที่นิมนต์ได้ และยังแสดงธรรมอีก เมื่อเสร็จกิจนิมนต์แล้ว ก็เดินทางกลับ หลวงปู่เล่าถึงอุบัติเหตุครั้งนั้นว่า

"รู้ตัวอยู่ แต่ไม่รู้สึกถึงเวทนาเลย"

หลังจากนั้น หลวงปู่ได้ขึ้นไปจำพรรษาที่ถ้ำแสงเพชร ซึ่งเป็นสาขาของวัดหนองป่าพง และต่อไปยังวัดหนองป่าพง รวม ๒ พรรษา ท่านว่า ใช้คืนหลวงพ่อชา ที่มาจำพรรษากับท่านที่วัดใหญ่ชัยมงคล เมื่อหลวงปู่ป่วยอีก จึงเดินทางกลับวัดเขาต้นเกด

ต่อมา พระอาจารย์เชื้อ ได้ชวนหลวงปู่กลับไปวัดแพร่ธรรมารามอีกครั้งเพราะทราบว่าไม่มีพระอยู่ หลวงปู่จึงไปอยู่วัดแพร่เป็นครั้งที่ ๒ กลับมาครั้งนี้ หลวงปู่ได้พบหนังสือ "สูตรของเว่ยหล่าง" ซึ่งเป็นหนังสือแปลโดยท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ เมื่อท่านได้อ่านไปเพียง ๒ - ๓ หน้า ก็เกิดความกระจ่างในธรรม เพราะตรงกับที่ท่านได้ปฏิบัติมา

ตั้งแต่นั้นมา หลวงปู่ก็อ่านหนังสือเล่มนั้นมาตลอด การอ่านนั้นท่านสอนว่า

"ไม่ต้องไปตีความในหนังสือ ใช้ตาดูไป ให้ใจอ่าน เมื่อจบแล้วก็เริ่มต้นใหม่อย่างนี้ พอถึงจุด ใจก็จะร้องอ้อออกมาเอง

ขณะเดียวกันนั้น หลวงปู่ได้เริ่มสร้างพระอุโบสถไปด้วย แต่เมื่อยังไม่เสร็จ ท่านก็ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารทะลุ ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลทำการผ่าตัด เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว ขณะพักรักษาตัว ปรากฏว่า อาการยังไม่ดีขึ้น ญาติโยมจึงส่งเข้าโรงพยาบาลสงฆ์

อาการก็ยังไม่ดีขึ้นอีก เหลืองผอมลงไปทุกวัน หลวงปู่จึงขอกลับมาวัดต้นเกด แพทย์ก็อนุญาต เพราะหลวงปู่ไม่ยอมอยู่ ยาช่วยได้แค่ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ กำลังใจช่วยได้ ๖๐ เปอร์เซ็นต์

เมื่อกลับมาวัดต้นเกดแล้ว หลวงพ่อก้านได้ต้มยาแก้กระสายเหน็บชา ได้ตำรามาจากหลวงพ่อวัดเขาเต่า มีตัวยา ๕ อย่าง คือ ข่า ไพร เกลือ พริกไทย และใบมะกา หลวงพ่อก้านใช้ยาขนานนี้ ป้อนให้หลวงปู่อยู่นาน จนกระทั่งหลวงปู่ถ่ายออกมามีสีดำมาก และอาการก็ค่อยๆ ดีขึ้นโดยลำดับจนหายเป็นปกติ ท่านว่า ยังไม่ถึงคราวตาย

หลวงปู่อยู่ที่วัดเขาต้นเกดต่อมาอีก ๔ พรรษา หลวงปู่ปรารภเหตุว่าไม่เคยอยู่ที่ไหนนาน ๔ ปี หลวงปู่จึงจะไปอยู่ที่อื่นอีก เมื่อได้ยินว่า ที่สำนักสงฆ์วังพุไทร อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี (สำนักงานสมเด็จญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ในขณะนั้นยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช) ไม่มีพระอยู่จำพรรษา

ท่านจึงหาพระใหม่ ๓ รูป และสามเณร ๑ รูป ไปจำพรรษา ในขณะที่อยู่ที่นั้น หลวงปู่ได้เทศนาอบรมพระเณร และญาติโยมทุกๆ เย็น เป็นกิจวัตร จนใกล้จะเข้าพรรษาที่สอง หลวงปู่ได้กลับมาที่วัดเขาต้นเกด พักอยู่ไม่นาน ก็อาพาธเป็นไข้มาลาเรียขึ้นสมอง เป็นหนักมากอาการจวนเจียนจะมรณภาพ

เพราะหลวงปู่ไม่ยอมให้แพทย์ทำการรักษา เมื่อข่าวทราบถึงพระเดชพระคุณ สมเด็จพระญาณสังวร ท่านจึงมีรับสั่งให้หมอรับหลวงปู่เข้าไปทำการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ในนามคนไข้ของสมเด็จฯ หลวงปู่จึงมีอาการดีขึ้นโดยลำดับ

ต่อมาหลวงปู่ก็ออกจากโรงพยาบาลได้ และไปพักฟื้นไข้ที่บ้านของลูกศิษย์คนหนึ่ง คือ คุณหมอจิระ อินทรรมพรรย์ ที่ อ.ท่าลาน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อมีสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติแล้ว จึงกลับมาที่วัดเขาต้นเกดอีก


(มีต่อ ๕)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 08 ก.พ.2007, 9:44 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สร้างวัดแห่งที่ ๔ "วัดป่าวิทยาลัย"
(สาขาที่ ๑ วัดเขาต้นเกด)


ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ประมาณเดือนเมษายน หลวงปู่ปรารภถึงหมู่บ้านวลัย ตำบลหนองพลับ ซึ่งท่านเคยไปอยู่ที่นั้น สถานที่เหมาะสมดี ทั้งโยมแคล้วและโยมแฉ่ง มีนาม สองสามีภรรยาเจ้าของที่ ก็มีศรัทธาดี จึงเดินทางมายังหมู่บ้านวลัยอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพระอาจารย์สุชาติ ชาตสุโข (เจ้าอาวาสวัดป่าวิทยาลัยในปัจจุบัน) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระใหม่ และสามเณรอีก ๒ รูป ติดตามมาคอยดูแลและอุปัฏฐากหลวงปู่ด้วย

เพราะหลวงปู่มีอายุถึง ๗๖ ปีแล้ว หลวงพ่อก้าน และหลวงพ่อกิ่ง ก็ตามมาส่งถึงหมู่บ้านวลัย เมื่อพบโยมแคล้วและพูดคุยกันพอเป็นที่ระลึกถึงแล้ว โยมแคล้วจึงพามาอยู่ที่สวนขนุน ข้างลำห้วย แต่ต่อมาปรากฏว่า เมื่อฝนตกหนัก น้ำท่วมถึงที่พัก โยมแคล้วจึงได้พาไปดูที่บนเนินถัดขึ้นไป (ที่ตั้งวัดป่าวิทยาลัยในปัจจุบัน)

เมื่อหลวงปู่ชอบสถานที่โยมแคล้ว โยมแฉ่ง และชาวบ้านจึงช่วยกัน สร้างกุฏิให้ ๒ หลัง และศาลาโรงฉัน ๑ หลัง ทำให้พออาศัยหลบแดดหลบฝนภาวนา ต่อมาเมื่อใกล้จะเข้าพรรษา สามเณรทั้ง ๒ รูป ขอกลับไปจำพรรษาที่วัดเขาต้นเกด จึงเหลือเพียงหลวงปู่และพระอาจารย์สุชาติ ๒ รูป อยู่จำพรรษา

ต่อมาไม่นาน โยมแคล้ว และโยมแฉ่ง เจ้าของที่จึงได้ประกาศขอถวายที่ดินให้สร้างวัดเป็นจำนวน ๕๐ ไร่ หลวงปู่ได้ตั้งชื่อวัดว่า "วัดป่าวิทยาลัย" เพราะเหตุผลว่า เป็นวิทยาลัยทางใจ ปฏิบัติที่จิตใจ นี้เป็นวิทยาลัยทางธรรม วิทยาลัยทางโลกนั้นเรียนไม่จบ แต่วิทยาลัยทางธรรมนี้ มีที่สุดที่จบ ถ้าปฏิบัติได้ถูกทาง

หลวงปู่อยู่จำพรรษา ที่วัดป่าวิทยาลัยเรื่อยมา ในระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ - พ.ศ.๒๕๓๑ ท่านยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี แม้จะมีอายุมากแล้วก็ต้องยังปฏิบัติกิจวัตร คือออกบิณฑบาต นั่งพิจารณาธรรมและเดินจงกรมเป็นนิจ ท่านเทศนาอบรมสั่งสอนภิกษุสามเณรวันละหลายชั่วโมง ทุกๆ วันมิได้ขาด และไม่ว่าเวลาใด ที่มีญาติโยมขึ้นมา หากมีศรัทธา ท่านจะเทศนาธรรมให้ฟังเป็นเวลานาน ครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๑ ชั่วโมง ส่วนใหญ่ธรรมที่ท่านแสดงก็คือเรื่องของใจคน ท่านเคยสั่งสอนไว้ว่า

"คนเรานั้น ดูตรงนี้ก็สวย ตรงนี้ก็ดี ตรงนี้ก็น่ารัก แต่เมื่อดูมาถึงใจคนแล้ว แปรปรวน กลับกลอกสกปรกโสโครกที่สุด ธรรมทั้งหมดต้องพิจารณาที่จิตใจนี้ ไม่ได้สอนนอกไปจากใจคนเลย และเป็นเรื่องที่เรารู้เห็นกันอยู่นี่เอง"

ช่วงเวลาที่ว่างจากการอบรมสั่งสอน หลวงปู่จะนั่งพิจารณาธรรมบ้าง เดินจงกรมบ้าง และอ่านหนังสือบ้าง หนังสือที่ท่านอ่านอยู่เสมอนั้น มีเพียง ๒ เล่ม คือ "สูตรของเว่ยหล่าง" และ "คำสอนของฮวงโป" (แปลโดยเจ้าพระคุณหลวงพ่อพุทธทาส) ท่านบอกว่า หลักปฏิบัติในหนังสือทั้ง ๒ เล่มนี้เป็นวิธีลัดสั้นที่สุด และตรงกับที่ท่านได้ปฏิบัติมา

นอกจากนั้น หลังจากพระเณรทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว หลวงปู่จะให้พระขึ้นธรรมาสน์ และอ่านพระธรรมเทศนาของเจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) อดีตเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ซึ่งหลวงปู่กล่าวว่า

"พระธรรมเทศนาของท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เป็นธรรมที่ไม่มีวันเสื่อม ฟังได้ทุกยุคทุกสมัย"

และหลวงปู่ก็ให้พระเทศน์แต่พระธรรมเทศนาของท่านเจ้าคุณอุบาลีนี้เท่านั้น หลังจากเทศน์เสร็จแล้ว หลวงปู่จะอธิบายให้พระเณรฟังอีกจนเวลาดึกมาก จึงอนุญาตให้พระเณรแยกย้ายกันไปพักผ่อนได้ ทำเช่นนี้ทุกคืนเป็นกิจวัตร ไม่ว่าจะมีพระเณรมามากหรือน้อยก็ตาม

ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ หลวงปู่หยุดการออกบิณฑบาต เพราะสังขารร่างกายไม่อำนวย ต้องงดอาหารที่แข็งและย่อยยาก ฉันแต่อาหารอ่อน โดยมีอุบาสิกาทองเพชร กมลสาร ได้เป็นผู้คอยหุงหาอาหารถวายมาตลอด จนเมื่อใกล้จะเข้าพรรษา โยมทวี นพรัตน์ ซึ่งบ้านอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีความศรัทธาเลื่อมใส ได้ขอนิมนต์ให้หลวงปู่ไปจำพรรษาที่บ้านของตนหลังหนึ่ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่ และไม่มีคนอยู่ ปกติหลวงปู่จะไม่ชอบอยู่ที่ไหนนานๆ ต้องการเปลี่ยนสถานที่อยู่แล้ว จึงรับนิมนต์ และพาสามเณร ๓ รูป และอุบาสิกาทองเพชร กมลสาร แผนกครัว ไปจำพรรษาที่จังหวัดเชียงใหม่

จนกระทั่งใกล้จะออกพรรษา หลวงปู่เกิดอาพาธหนัก เดินไม่ไหว โยมทวี นพรัตน์ จึงส่งหลวงปู่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ จนอาการดีขึ้น คณะศิษย์จึงนิมนต์กลับวัดป่าวิทยาลัย


๏ ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ - พ.ศ. ๒๕๓๖

ในพรรษาต่อๆ มา หลวงปู่มักจะปรารภกับพระ - เณร อยู่เสมอว่า

"คนเราเกิด แก่ เจ็บ ตาย นี้เป็นของธรรมดา ถ้าเราพิจารณาเห็นความเป็นธรรมดาแล้ว เราก็จะไม่กลัว ไม่ดิ้นรน"

และท่านได้สั่งเสียไว้ล่วงหน้าว่า

"เมื่อผมตายแล้ว ไม่ต้องฉีดยาศพ ไม่ต้องเผา ให้เก็บศพไว้บนเขาวัดป่าวิทยาลัยนี้ โดยสร้างเจดีย์ที่เก็บไว้"

เพราะอาศัยเหตุนี้ได้มีคุณเอมอร ลิขิตอิทธิรักษ์ ได้เริ่มตั้งกองทุนไว้ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาจึงมีศิษยานุศิษย์ที่มีศรัทธาเลื่อมใส ทั้งใกล้และไกล ได้ร่วมกันบริจาคทรัพย์ สร้างเจดีย์เก็บสรีระและบริขารรูปทรง ๙ เหลี่ยมขึ้นมา และสร้างแล้วเสร็จในวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔

ในวันทำบุญอายุครบรอบ ๘๖ ปี ในวันที่ ๖ เดือนเมษายน ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ นั้น หลังจากเสร็จงานแล้ว หลวงปู่มีอาการยอกขึ้นในท้อง เดือนต่อมา เมื่อหายจากอาการยอกแล้ว ก็อาพาธมาตลอด ต้องเข้าโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และพักฟื้นที่บ้านของลูกศิษย์หลายแห่ง

เช่น บ้านของคุณสมบุญ กล้าอาษา เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ บ้านคุณทรงตระกูล งามสมภาค หลานของหลวงปู่ ที่จังหวัดนนทบุรี และบ้านคุณไพศาล คุณปราณี กลกิจ ที่จังหวัดราชบุรี เป็นต้น

วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ลูกศิษย์ได้พาท่านไปพักอยู่ที่บ้านของคุณสมบุญ กล้าอาษา จนกระทั่งวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๖ หลังจากที่ท่านดูมีอาการแข็งแรงขึ้น และสามารถเทศนาธรรมได้เสียงดังมากมาหลายวันแล้ว ท่านก็หยุดเทศนา และนอนเฉยๆ ในเวลากลางคืน ท่านเริ่มมีอาการอาพาธอีก และอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ ไม่ฉันอาหารและมีอาการกระสับกระส่าย คณะศิษย์จึงพาท่านเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพญาไท ๒ ในวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖

หลังจากนั้นอีก ๓ วัน ในเวลา ๐๕.๐๐ น เช้ามืดของวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เครื่องจักรคือหัวใจดวงหนึ่ง ซึ่งเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อราว ๘๗ ปีที่แล้ว และทำงานมาอย่างซื่อสัตย์ไม่เคยหยุดพักเลยแม้แต่นาทีเดียว ก็มาหยุดทำงานลงแล้วตลอดกาล

หลวงปู่ได้มรณภาพลงแล้วด้วยอาการสงบ แพทย์วินิจฉัยแล้ว ลงความเห็นว่าหลวงปู่หัวใจล้มเหลว ความเศร้าโศกได้เกิดมีขึ้นในจิตใจของศิษย์ ทุกๆ คน ทั้งๆ ที่ทำใจไว้แล้วว่า จะต้องมาถึงวันนี้แน่นอน

ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากของรักทั้งหลาย เป็นพระธรรมเทศนาที่หลวงปู่ได้แสดงให้เห็นเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเป็นเครื่องเตือนศิษย์ทั้งหลายว่า

จงอย่าเป็นคนประมาท ความตายไม่เว้นใครเลยแม้สักคนเดียว จงเร่งหาธรรมอันเป็นที่พึ่งของตนเสีย ดังที่หลวงปู่ได้ทำเป็นตัวอย่าง และวางแผนที่ไว้ให้แล้ว เร่งเดินเถิดเราทั้งหลาย ก่อนที่จะสายเกินไป



.............................................................

คัดลอกมาจาก ::
หนังสืออนุสรณ์หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม
วัดป่าวิทยาลัย ต.หนองพลับ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง