Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ข้อคิดเรื่องอุททิสมังสะ (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 26 ม.ค. 2007, 8:20 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ข้อคิดเรื่องอุททิสมังสะ
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


ประเพณีบ้านนอก ที่ร้านฆ่าสัตว์ขายยังไม่เจริญ เมื่อถึงคราวทำบุญ เช่น สารทหรือการทำบุญประจำปีอย่างอื่นก็ดีหรือการมงคลบางอย่าง เช่น การวิวาห์อันนิมนต์พระภิกษุไปสวดมนต์ และเลี้ยงก็ดี เป็นการปรากฏชัดเจนอยู่ด้วยกันทุกคนว่า ไก่ ปลา ฟองไก่ ฟองเป็ด ฯลฯ ถูกล้างผลาญอย่างมากมายกว่าธรรมดาในวันนั้น เพื่อประกวดกันในเรื่องอาหารบ้าง ด้วยคิดว่าเมื่อของอร่อยมาก ก็ได้บุญมากบ้าง ล้วนแต่ฆ่าอุทิศเจาะจงภิกษุโดยตรงแท้ๆ ทายกเองก็รู้อยู่แก่ใจ (บางคนถ้าไม่ได้ทำถวายพระแล้วไม่ทำก็มี) ภิกษุสามเณรก็รู้ คนนอกศาสนาก็รู้ ไม่มีใครที่ไม่รู้ เพราะเป็นประเพณีที่สืบกันมานาน นานจนเลือนหรือลืมไปว่า เป็นการทำบาป มันเป็นการทำบาปใหม่ล้างบาปเก่า หรืออย่างดีก็เปรียบเหมือนการหุงข้าวด้วยไม้ฟืนที่ผุๆ และทั้งเปียกน้ำ จะได้ผลเป็นอย่างไร ก็พอจะทราบกันอยู่ทุกคนแล้ว

พอใกล้ถึงวันกำหนด ก็เตรียมซื้อหาสิ่งของเหล่านี้ หรือที่ตนเลี้ยงไว้เองก็ปรนปรือให้อ้วนท้วนเต็มที่ เช่นเดียวกับพวกจีนปรนไก่หรือห่านก่อนวันตรุษสำหรับฆ่ากินเอง แต่ฆ่าในนามของเจ้าหรือผีเหมือนกัน, แล้วก็ "ฆ่าเพื่อทำบุญ" เช่นนี้ คิดดูเถิดมันจะเป็นอุททิสมังสะที่พระองค์ทรงห้ามหรือไม่ ? ถ้าเป็นแล้วทายกจะได้บุญสมตามที่ประสงค์ได้อย่างไร

เรื่องนี้ไม่ยากในการคิดหรือการพิจารณา แต่ยากในการที่จะพูดจะอธิบาย เพราะมันฝืนกิเลสหรือฝืนความนิยมของคนจำนวนมาก ข้าพเจ้าไม่มองเห็นข้อแก้ตัวอย่างใดเลย ถ้าผู้ใดมี, โปรดบอกเล่าแก่กันให้ผ่องแผ้วในใจ และบำเพ็ญกันสืบไปโดยปีติ ปราศจากกังขา ถ้าหากว่าไม่มี และมองเห็นตรงกันว่า แทนที่จะเป็นบุญ กลับเป็นบาปยิ่งขึ้น เหมือนเอาน้ำผสมอุจจาระมาล้างเท้า ซึ่งเพียงแต่เปื้อนด้วยฝุ่นละออง ให้เปื้อนยิ่งขึ้นแล้ว ก็ได้ โปรดร่วมมือร่วมใจกัน หาวิธีแก้ไขสะสางกันเสียใหม่ เพื่อความหมดจดบริสุทธิ์แก่บรรพชิตผู้บริโภคและเป็นกุศลแก่ทายกสมหมาย และทั้งดีมีผลพอที่จะอุทิศส่งไปให้เปรตชนผู้ล่วงลับไปแล้วได้ด้วย

ข้าพเจ้าผู้แถลงความรู้สึกของตนเองดังนี้ มิใช่เพื่อต้องการให้เป็นที่บาดหมางกระทบกระเทือนเลยแม้แต่น้อย นอกจากจะตั้งใจเพียงขอให้ช่วยกันชำระซักฟอกการบำเพ็ญบุญของพวกเรากันเอง ให้สะอาดดีขึ้นเท่านั้น และขอให้มองเห็นอกของบรรพชิตที่ตั้งใจสำรวมศีล อันจะเป็นผู้รับและฉันอาหารนั้นบ้าง โปรดอย่าลืมว่า วิธีอื่นยังมีถมไป ที่เราจะเอิบอิ่มด้วยบุญได้โดยห่างพ้นจากบาปอันนี้ หลักสั้นๆ มีอยู่ว่า อย่าฆ่าสัตว์อุทิศ (คือเจาะจง) ถวายพระก็แล้วกัน เพราะถ้าท่านรู้อยู่ เห็นอยู่ หรือเขารังเกียจขึ้นมาเอง เพราะรู้ดีว่าเดี๋ยวนี้ชาวบ้านเขามีประเพณีเช่นนี้กันทั่วไป และทั้งภิกษุนั้นเอง ก็เคยเป็นชาวบ้านมาแล้วแต่ก่อนด้วย ท่านก็จะรับและฉันอาหารนั้นไม่ได้ ถ้าขืนฉันก็ต้องอาบัติทุกๆ คำที่ฉัน

เช่นนี้แล้วบุญจะเกิดขึ้นได้โดยอาการอย่างไร ภิกษุต้องเป็นบาป คือต้องอาบัติ เพราะฉันสิ่งที่ตนรู้อยู่ว่าเขาฆ่าเพื่อถวายพระแท้ๆ เพราะไม่ถึงวันที่จะไปทำบุญที่วัดพร้อมๆ กันเขาก็ไม่ฆ่า ทั้งทายกก็พูดกันทั่วไป ในเมื่อพบปะไต่ถามกันว่า, "ทำไปวัดพรุ่งนี้เช้า" ด้วยกันทั้งนั้น ทายกเล่าก็เป็นบาปโดยฆ่าเองบ้าง ใช้ผู้อื่นให้ฆ่าบ้าง เมื่อบาปทั้งปฏิคาหกและทายกด้วยกันทั้งคู่เช่นนี้แล้ว บุญจะโผล่ขึ้นมาได้อย่างไร ทายกเองหรือผู้ตายไปแล้วที่ทายกจะอุทิศให้ จะได้รับบุญอย่างไร

แต่ว่าความยุ่งยากเศร้าหมองอันนี้ คงไม่เป็นการยากจนเกินกว่าที่จะแก้ไข ทายกหรือภิกษุฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ก็สามารถแก้ไขได้ ถ้าร่วมมือกันแก้ไขทั้งสองฝ่าย ก็จะยิ่งเร็วขึ้น ทายกอย่าฆ่าเองอย่าใช้ให้เขาฆ่าทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เป็นแต่ละแสวงหาเอาจากที่เขามีขายกันอยู่ตามธรรมดา, อย่านิยมการเห่อเหิม ในการประกวดกันด้วยอาหารที่ทำไป ด้วยอำนาจกิเลสชักนำ, อย่านำให้เกิดประเพณีที่เศร้าหมอง ทั้งทายกและปฏิคาหกเช่นนี้ขึ้นอีก ที่มีมาแล้วช่วยกันทำลายเสีย โดยวิธีนี้เองที่กล่าวว่าทายกฝ่ายเดียวก็อาจปัดเป่าความเสียหายอันนี้ให้หมดไปได้ เพราะถึงอย่างไรก็ตาม ภิกษุไม่อาจฆ่าสัตว์บริโภคเองได้เลย ที่เป็นมาแล้วก็เพราะทายกเป็นผู้ร่วมคิดสมรู้ ทั้งที่เขาใจผิด ขอให้ทายกผู้แสวงบุญจริงๆ จงพิจารณาดู เห็นจริงแล้วขอให้สำนึกไว้เสมอ

เมื่อทายกทำบริสุทธิ์ พระก็พลอยบริสุทธิ์ด้วย, จึงได้กล่าวว่าทายกฝ่ายเดียวก็แก้ไขได้ แต่อย่างไรก็ดี ภิกษุที่มีศีลเป็นที่รักยิ่งกว่าปากกว่าท้อง ฝ่ายเดียวก็แก้ไขได้อีกเหมือนกัน คือเป็นผู้รักษาธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมสมรู้กับทายกที่ทำทั้งไม่รู้สึกตัวในเรื่องนี้ เมื่อไม่ยอมฉันอาหารที่เศร้าหมอง ผิดธรรมผิดวินัยแล้ว, ครั้งเดียวเท่านั้น ทายกก็จะหมุนไปหาความบริสุทธิ์ได้ แต่ข้อนี้จะทำได้ก็เฉพาะในเมื่อเราเป็นภิกษุที่มีศีลเป็นที่รักยิ่งกว่าปากกว่าท้องทุกๆ รูปด้วยกันเท่านั้น ส่วนการร่วมมือร่วมแรงด้วยกันทั้งฝ่ายภิกษุและทายกนั้น เป็นอันว่าได้กำลังแรงสองเท่าตัว จะรวดเร็วและง่ายดายขึ้นอีกมาก

ในกาลก่อน พระพุทธองค์เองก็ดี พระสาวกก็ดี มีวันคืนล่วงไปๆ ด้วยอำนาจการซักซ้อมพรหมวิหารธรรมอย่างชำนิชำนาญอยู่เสมอ ที่เป็นพระขีณาสพแล้วก็ยังทำเพื่อเป็นทิฏฐานุคติแก่ผู้ที่ยังไม่เป็น เรื่องชนิดนี้จึงเกิดขึ้นไม่ได้ การอบรมเมตตากรุณาให้ชำนาญอยู่เสมอนั้น มีอำนาจมากพอที่จะไม่ให้สะเพร่าในเรื่องนี้หรือถึงกับปล่อยให้ความเห็นแก่ปากแก่ท้องครอบงำเอาซึ่งหน้าได้ง่ายๆ เลย และนี้มันก็เป็นจุดหรือแก่นสารอันสำคัญอันหนึ่งของความเป็นสมณะ ในพระบาลี ชีวกสูตร ๑ แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ไม่ทรงประสงค์ให้สาวกทำหูทวนลม ในเรื่องนี้แล้วอ้างว่าฉันไม่รู้ๆ ดังนี้เลย การที่หมอชีวกเข้าไปทูลถามเรื่องนี้ก็เพราะเขาประหลาดใจสุดที่จะทนได้แล้วในเมื่อได้ยินเขาว่ากันว่าสมณะในพระพุทธศาสนา ฉันเนื้อที่เขาฆ่าเจาะจงถวายตน ในบัดนี้ก็เช่นเดียวกัน มันจะบาดหูและบาดตาหรือบาดใจเป็นอันมาก สำหรับผู้เคารพต่อธรรมวินัย ในเมื่อได้เห็นหรือได้ยินว่าเรื่องชนิดนั้นได้เกิดขึ้นในบัดนี้อีก

ภิกษุบางพวกหรือบางนิกาย ที่สมัครไม่ฉันเนื้อเสียเลย ก็เพราะเบื่อต่อการที่จะต้องคอยถามคอยระวังในเรื่องเช่นนี้ กลัวจะเป็นอุททิสมังสะ (คือเนื้อที่ไม่ควรฉัน เพราะทายกฆ่าเจาะจงถวาย) ตามที่ตนระแวงอยู่บ้าง, จะเป็นอกัปปิยมังสะสิบอย่าง (เนื้อไม่ควรฉันโดยกำเนิด เช่น เนื้อเสือเป็นต้น) ที่ทรงห้ามอย่างเด็ดขาดบ้าง มันเป็นการบาปที่จุบจิบหยุมหยิมน่ารำคาญอยู่ นับว่าเขาเหล่านั้นฉลาดในส่วนที่จะหาความสบายให้แก่จิตอยู่ไม่น้อย และที่จริงสำหรับเรื่องนี้ ถ้าจะไม่พยายามขูดเกลากันเสียแล้วอาจเกิดการน้อยใจ หรือการโกรธขึ้นแก่บรรพชิตบางท่าน ที่อาหารส่วนของตนไม่มีเนื้อสัตว์เป็นที่พอใจ เพราะตนเคยติดมาก่อนก็เป็นได้

ขอท่านผู้หวังต่อความงดงามแห่งบุญ โปรดแนะนำส่งเสริมกันให้เป็นที่เข้าใจยิ่งขึ้นไปกว่าที่ข้าพเจ้าพูดมาแล้วแต่ย่อๆ นี้เถิด ในที่นี้ ยังมิได้มุ่งหมายถึงกับว่าจะพากันเลิกบริโภคเนื้อสัตว์อย่างเด็ดขาด เป็นแต่ประสงค์ว่า ถ้าจะทำบุญด้วยเนื้อสัตว์นั้น ควรทำด้วยเนื้อที่บริสุทธิ์เท่านั้น จึงจะเป็นบุญขึ้นมาได้สมประสงค์ มิฉะนั้น จะกลายเป็นการทำบาปใหม่ล้างบาปเก่า หรือทำความเศร้าหมองยุ่งยากเพิ่มให้แก่พระศาสนาอันเป็นที่รักของตนไปโดยไม่รู้สึกถึงความร้ายกาจเลยแม้แต่น้อย มันเป็นสิ่งที่น่าสงสารยิ่งนัก


(มีต่อ 1)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 26 ม.ค. 2007, 8:24 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อุททิสมังสะ คืออะไร ?

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจจ์ใกล้เมืองราชคฤห์ ครั้งนั้น หมอชีวกโกมารภัจจ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วทูลถามว่า

"ข้าแต่พระองค์ ! ข้าพระองค์ได้ฟังเขากล่าวว่า "คนทั้งหลายฆ่าสัตว์มีชีวิต เพื่อถวายพระโคดม พระสมณโคดมรู้อยู่ ก็ยังฉันเนื้อที่เขาฆ่าอุทิศถวายตนนั้น" ข้าแต่พระองค์ การที่เขากล่าวเช่นนั้น ชื่อว่าเขาเป็นผู้กล่าวตามที่พระองค์กล่าวหรือ ? เขาไม่ได้กล่าวตู่พระองค์ด้วยคำเท็จหรือ ? เขาพยากรณ์ถูกตามธรรมหรือ ? สหธรรมิกที่กล่าวตามคำของพวกนั้น ก็ไม่ควรถูกติเตียนหรือ ?"

"ดูก่อนชีวกะ ! พวกคนที่กล่าวเช่นนั้น ชื่อว่ากล่าวตรงตามที่เรากล่าวหามิได้ ชนเหล่านั้นกล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ ไม่มีจริง ไม่เป็นจริง

"ดูก่อนชีวกะ ! เรากล่าวเนื้อสัตว์ว่าไม่ควรบริโภคด้วยเหตุ 3 อย่างคือ เนื้อที่ตนได้เห็นแล้ว เนื้อที่ตนได้ฟังแล้ว, เนื้อที่ตนได้รังเกียจแล้ว, ชีวกะ ! เรากล่าวเนื้อที่ว่าไม่ควรบริโภค ด้วยเหตุ 3 อย่าง นี้แล ?"

ดูก่อนชีวกะ เรากล่าวเนื้อสัตว์ว่า ควรบริโภคด้วยเหตุ 3 อย่าง คือ เนื้อที่ตนไม่ได้เห็นแล้ว, เนื้อที่ตนไม่ได้ฟังแล้ว, เนื้อที่ตนไม่ได้นึกรังเกียจแล้ว, ชีวกะ ! เรากล่าวเนื้อว่า ควรบริโภคด้วยเหตุ 3 อย่าง เหล่านี้แล

ดูก่อนชีวกะ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปอาศัยบ้านหรือนิคมใดอยู่, เธอย่อมแผ่ (จิต ไปสู่ทิศที่ 1-2-3-4 ทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ เบื้องขวาง ตลอดโลก มีที่สุดในที่ทั้งปวง โดยประการทั้งปวง ด้วยจิตอันประกอบด้วยเมตตา--ด้วยกรุณา--ด้วยมุทิตา--ด้วยอุเบกขา อันเต็มเปี่ยม อันเป็นจิตถึงแล้วซึ่งความเป็นจิตใหญ่ ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท คฤหบดี หรือบุตรคฤหบดีย่อมนิมนต์เธอด้วยภัตตกิจอันจะมีในวันรุ่งขึ้น

คำว่าเนื้อที่ได้เห็นแล้ว ได้ฟังแล้ว ได้นึกรังเกียจแล้ว เป็นเนื้อเช่นไร โปรดดูในอัฏฐกถาของพระบาลีนี้ ได้ยกมาใส่ไว้ตอนท้าย พร้อมทั้งความเห็น

ตรงนี้โปรดทราบเป็นความรู้พิเศษอีกบ้างว่า วินัยปิฎกน่าจะเก็บไปจากสุตตันตปิฎกนี่เอง เช่นเรื่องนี้เป็นต้น มีบัญญัติไว้ในวินัย สุตต์ในสุตตันตปิฎกเป็นเรื่องยาวๆ ท่านเลือกเฉพาะตอนที่เป็นวินัยไปรวมกันไว้ เรียกว่า วินัยปิฎก ตั้งแต่ครั้งทำปฐมสังคายนา ถ้าท่านจะคอยสังเกตเสมอไป จะยิ่งพบแก่นอันหนึ่งว่า "สุตตันตปิฎก เป็นปิฎกที่เป็นหลักฐาน เป็นที่รวบรวมแห่งปิฎกทั้งหลาย" ดังที่ข้าพเจ้าเคยแถลงความเห็นไว้ในเล่ม 2 ภาคนี้หน้า 28

ดูก่อนชีวกะ ! ภิกษุนั้น เมื่อเธอปรารถนาก็รับนิมนต์ ครั้นล่วงราตรีไปในเช้าวันรุ่งขึ้น เธอครองจีวร ถือบาตร เข้าไปสู่ที่อยู่ของคฤหบดี หรือบุคคลของคฤหบดี นั่งอยู่เหนืออาสนะแล้วเขาอังคาสเธอด้วยบิณฑบาตอันประณีต เธอนั้นย่อมไม่คิดนึกไปเลยว่า "โอหนอ ! คฤหบดีหรือบุตรคฤหบดีนี้ พึงอังคาสเราด้วยบิณฑบาตอันประณีตเช่นนี้ ในวันต่อๆ ไปอีกเถิด" เธอไม่ติดใจ ไม่หมกใจกะบิณฑบาตนั้น ไม่มูมมามด้วยตะกละ เธอเห็นโทษ (ของอาหารที่กำเริบ) อยู่โดยปกติ เธอมีปัญญาเป็นเครื่องออกไปจากทุกข์ พึงฉันบิณฑบาตนั้น

ดูก่อนชีวกะ ท่านจะเข้าใจอย่างไร ในกรณีอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นจะคิดไปในทางเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นได้เจียวหรือ ?"

"ข้าแต่พระองค์ ! ไม่เป็นได้เลย"

"ดูก่อนชีวกะ ! ในเหตุนั้น ภิกษุเหล่านั้นย่อมเชื่อว่าบริโภคอาหารไม่มีโทษ มิใช่หรือ ?"

"ข้าแต่พระองค์ ! เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระองค์ ที่ข้าพระองค์ได้เคยฟังมาว่า "พรหมเป็นผู้อยู่ด้วยเมตตา" ดังนี้, ข้าพระองค์ได้เห็นสักขีพยานแล้ว คือพระผู้มีพระภาคนี่เอง เป็นผู้อยู่ด้วยเมตตา"

"ดูก่อนชีวกะ ! เจตนาหรือปองร้ายเป็นต้น จะพึงมีได้ด้วยราคะ โทสะ โมหะ เหล่าใด, ราคะ โทสะ โมหะ เหล่านั้นตถาคตละได้แล้ว มันมีรากเหง้าขาดแล้ว เหมือนตาลยอดด้วนถึงภาวะแห่งความไม่มี ไม่บังเกิดขึ้นอีกต่อไป


(มีต่อ 2)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 26 ม.ค. 2007, 8:30 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

อัฏฐกถาแห่งชีวกสุตต์

คำว่า "เนื้อที่เห็นแล้ว" คือเห็นเขาฆ่าเนื้อหรือปลา แล้วนำมาเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุฯ คำว่า "เนื้อที่ได้ฟังแล้ว" คือได้ฟังว่า เขาฆ่าเนื้อหรือปลาแล้ว นำมาเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุฯ คำว่า "เนื้อที่รังเกียจแล้ว" คือรังเกียจเพราะเห็น รังเกียจเพราะได้ยินหรือรังเกียจด้วยอย่างอื่น นอกจากได้เห็นหรือได้ยิน การรังเกียจมี 3 อย่างเช่นนี้ฯ พระสังคาหกาจารย์ทั้งปวงได้วินิจฉัยเรื่องการรังเกียจไว้ดังต่อไปนี้

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นพวกมนุษย์ถือข่ายหรือแหออกจากบ้านแล้วเข้าป่าไป รุ่งขึ้นเธอเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน พวกมนุษย์นำบิณฑบาตมีปลาและเนื้อมาถวาย เธอรังเกียจด้วยการเห็น (ตั้งแต่เมื่อวาน) นั้นว่า นี่เขาทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุกระมังหนอ เช่นนี้เรียกว่ารังเกียจเพราะเห็น, ไม่ควรบิณฑบาตนั้น ต่อไม่ได้เกิดการรังเกียจเช่นนี้ จึงควรรับ, คือพวกมนุษย์ถามว่า ทำไมจึงไม่รับ บอกให้เขาฟังตามที่รังเกียจ เขาตอบว่า ไม่ใช่อย่างนั้นขอรับ, เนื้อนี้เขาทำเพื่อประโยชน์ตนเอง หรือเพื่อพระราชาต่างหาก เช่นนี้ควรรับ

ก็ถ้าภิกษุไม่เห็น แต่ได้ฟังเขากล่าวว่า ได้ยินว่าพวกมนุษย์ถือข่ายและแหเป็นต้น ออกจากบ้านเข้าป่าไปแล้วในวันนี้ รุ่งขึ้นเมื่อเธอเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน เขานำบิณฑบาตมีปลาและเนื้อมาถวาย เธอเกิดความรังเกียจด้วยการฟัง (ตั้งแต่เมื่อวาน) นั้นว่า นี่เขาทำเพื่อประโยชน์แก่ภิกษุกระมังหนอ ? เช่นนี้เรียกว่ารังเกียจเพราะได้ฟัง, ไม่ควรรับ ไม่ได้เกิดการรังเกียจอย่างนี้ จึงควรรับคือถ้าพวกมนุษย์ถามว่า ทำไมจึงไม่รับ ก็บอกให้เขาฟัง เขาตอบว่า ไม่ใช่เช่นนั้น เนื้อนี้เขาทำเพื่อประโยชน์ตนเองหรือเพื่อพระราชาต่างหาก, เช่นนี้ควรรับ

ถ้าภิกษุไม่ได้เห็น และทั้งไม่ได้ยิน แต่เมื่อเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน ชาวบ้านรับเอาบาตรไปแล้ว มีปลาและเนื้อนำมาถวาย เธอเกิดการรังเกียจ (เพราะระแวงในท่าทางบางอย่าง) ว่าเนื้อนี้เขาทำเพื่อภิกษุกระมังหนอ ? เช่นนี้ไม่ควรรับ ไม่ได้เกิดความรังเกียจจึงควรรับ คือพวกมนุษย์ถามว่า ทำไมจึงไม่รับ ก็บอกให้เขาฟัง เขาตอบว่า เนื้อนี้ทำเพื่อประโยชน์ตนเอง หรือเพื่อพระราชา หรือเป็นเนื้อมีขายอยู่ตามธรรมดา พวกเราได้มาโดยทางที่ควรแล้ว จึงปรุงขึ้นต่างหาก, เช่นนี้ควรรับ

ในการทำบุญของชาวบ้านทั้งหลาย เช่นการทำบุญให้ผู้ตายหรือการมงคลต่างๆ ก็ตาม มีนัยจะต้องถืออย่างเดียวกัน

เนื้อที่เขาไม่ได้เจาะจงภิกษุ และภิกษุก็ไม่ได้นึกรังเกียจระแวง เนื้อนั้นควรรับ ถ้าเขาทำเจาะจงภิกษุในวิหารแห่งหนึ่งเธอไม่รู้, และพวกที่อยู่ในวิหารอื่นรู้, พวกที่รู้ย่อมไม่ควร, พวกที่ไม่รู้ไม่เป็นไร ถ้ารู้ทั้งสองพวก็ไม่ควรด้วยกันทั้งสองพวก ไม่รู้ด้วยกันทั้งสองพวก ก็ไม่เป็นไรด้วยกันทั้งสองพวก บรรดาสหธัมมิก 5 พวก (คือ ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สิกขมานา สามเณรี) นี้ แม้เขาทำเจาะจงพวกใดพวกหนึ่ง ก็ไม่ควรรับทั้งห้าพวก

ถ้าเขาฆ่าสัตว์เจาะจงถวายภิกษุรูปหนึ่ง ถวายไปเต็มบาตร, เธอก็รู้อยู่ รับแล้วนำไปให้ภิกษุอื่น, ภิกษุนั้นบริโภคเพราะไว้ใจเธอ (ว่าคงเป็นของบริสุทธิ์) ถามว่า รูปไหนต้องอาบัติในเรื่องนี้, ตอบว่าไม่ต้องอาบัติ (เพราะฉันเนื้อที่เขาฆ่าเจาะจง) ด้วยกันทั้งสอง รูปแรกเป็นเพราะเธอไม่ได้ฉัน, รูปหลังเป็นเพราะเธอไม่รู้

ในการรับเนื้อที่สมควรย่อมไม่ต้องอาบัติ ไม่รู้ว่าเขาทำเจาะจงตน, ต่อฉันแล้วจึงรู้ภายหลัง ก็ไม่ต้องแสดงอาบัติ เว้นไว้แต่เนื้อที่ไม่สมควร (10 อย่าง) ซึ่งแม้ฉันทั้งไม่รู้ก็ต้องอาบัติ เพราะเหตุนั้น ภิกษุที่กลัวอาบัติกำหนดเหตุการณ์อยู่ ควรถามดูเสียก่อนแล้วจึงรับมาฉัน ควรถามในเวลาก่อนบริโภคหรือเวลารับ เพราะเหตุไร ? เพราะว่าเนื้อทั้งหลายรู้ได้ยาก เนื้อหมีก็ดูคล้ายเนื้อสุกร เนื้อเสือเหลืองเป็นต้น ก็คล้ายเนื้อกวาง ท่านจึงกล่าวไว้ว่า ถามเสียก่อนแล้วจึงรับนั่นแหละสมควร

ส่วนเนื้อที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ (พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับที่ว่ามาแล้ว) คำที่ตรัสว่า "เรากล่าวว่าการบริโภคชนิดนั้นสมควร, นั้นหมายความว่า บริสุทธิ์โดยส่วนทั้งสามที่กล่าวแล้ว, จริงทีเดียว การบริโภคของเธอนั้น บริสุทธิ์เหมือนกับการบริโภคผักหญ้าชนิดที่ใช้เป็นกับข้าวได้ อันเกิดอยู่ตามป่าเหมือนกัน อธิบายว่า เมื่อภิกษุผู้มีเมตตาเป็นวิหารธรรมบริโภคอยู่นั้น โทษหรือ
คำติเตียนย่อมไม่มีแก่เธอ เหตุนั้นจึงกล่าวว่า วัตถุที่บริสุทธิ์เช่นนั้นควรบริโภคแท้"

จบความในอัฏฐกถาตอนบริโภคเนื้อเจาะจง เพียงเท่านี้


(มีต่อ 3)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 26 ม.ค. 2007, 8:44 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

ข้อคิดสำหรับศีลข้อหนึ่ง

ศีลข้อหนึ่ง มีความมุ่งหมายเพื่อมิให้มีการฆ่าสัตว์โดยเจตนา มีแง่คิดบางประการที่ยังเป็นปัญหาข้อโต้เถียงกันอยู่ คือควรกินเนื้อหรือกินผัก ท่านโลกนาถภิกขุชาวอิตาเลียนมีหลักประจำตัวว่า ภิกษุและอุบาสกอุบาสิกาไม่ควรกินเนื้อสัตว์เลย โดยอ้างว่าเป็นการล่วงศีลข้อหนึ่ง โดยทางอ้อมและเป็นการเสียเมตตาไป พวกเราชาวสยามผู้มีเลือดเนื้อเป็นพุทธมาหลายชั่วอายุคนแล้วยังไม่เคยรู้สึกหรือจะรู้สึกอย่างท่านโลกนาถ เพราะเราเชื่อด้วยเหตุผลตามพระโอวาทว่า ถ้าไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นกรรมอันจะให้ผล ซึ่งเป็นหลักอันใครจะค้านมิได้ ข้าพเจ้าก็เป็นผู้หนึ่งแห่งพุทธบริษัทชาวสยาม และยังมีความเห็นตรงในหลักนี้ทุกประการ แต่ข้าพเจ้ามีข้อคิดบางอย่าง ซึ่งเห็นว่าเราไม่ควรนิ่งกันอยู่ ควรเผยแพร่ให้รู้สึกไว้ทั่วกันเฉพาะผู้ที่ยังไม่เคยรู้สึก

การทำให้สัตว์ตายโดยไม่มีเจตนานั้นไม่บาป เราเคยรังเกียจไหม ในความจริงประจำวันหนึ่งๆ คือ ทุกๆ ครั้งที่เราหายใจวิทยาศาสตร์บอกแก่เราว่า จุลินทรีย์ (germs) อาจติดลมหายใจเข้าไปด้วยหลายพันตัวต่อหนึ่งครั้ง มันมีชีวิตอยู่ในอากาศ และมันเข้าไปตายในปอดของเรา โดยเราหายใจเข้าไป นี่บาปไหม ? ถ้าบาป ก็อย่าหายใจเพื่อช่วยชีวิตสัตว์ จำนวนหลาย-หลาย-ล้านล้านๆ ไว้ในชั่วชีวิตเราคนหนึ่งๆ ถ้ามิฉะนั้น จะเศร้าหมองใจคือบาป

ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่บาป เพราะเราหายใจเพื่อมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่หายใจเพื่อฆ่าตัวจุลินทรีย์เหล่านั้น หากเช่นนี้เป็นบาปแล้ว เราจะเคลื่อนไหวตัวมิได้เลย ใครจะนับได้ว่า เนื้อที่ชั่วฝ่าเท้าที่เหยียบลงไป จะมีชีวิตซึ่งเรามองไม่เห็นอยู่กี่ชีวิต แต่เราทายได้ และมันก็เป็นความจริงว่ามี แต่ไม่ทราบจำนวนว่ากี่ชีวิต. เพราะฉะนั้น จึงต้องเข้าใจว่า ไปบาปเพราะไม่มีเจตนา มิฉะนั้นแล้วเราไปไหนไม่ได้เลย จะทำงานอาชีวะ เช่น ไถนา เผาไร่ ขุดสวน ก็ไม่ได้หมด เพราะรู้อยู่ชัดว่าสัตว์จะต้องตาย แต่เราทำได้โดยไม่บาปก็เพราะเราไม่มีเจตนามิใช่หรือ หลักที่บาปทั้งไม่มีเจตนานั้นเป็นหลักแห่งลัทธิเดียรถีย์อื่น ซึ่งมีอยู่ก่อนพุทธกาล และยังคงมีมาจนถึงบัดนี้ เรียกกันว่า ศาสนาเชนหรือไชนะ ลัทธินี้เขาถือว่ามีชีวิตกระทั่งเม็ดกรวดเม็ดทรายเคลื่อนไหวไปถูกมันเข้าก็บาปแล้ว เพราะทำให้มันเจ็บช้ำหรือตาย เขาถือว่า มีศีลบริสุทธิ์เฉพาะเมื่อนั่งอยู่กะที่เท่านั้น ใช้ของอ่อนนุ่ม เช่น หางนกยูงปัดฝุ่นแล้วนั่งบริกรรม จึงจะเป็นเวลาที่บริสุทธิ์ ขอให้คิดดูว่าที่ลัทธินี้มีก่อนพุทธกาล กระทั่งบัดนี้ได้แผ่ออกไปได้กี่มากน้อย กี่คนในโลกเป็นบริษัทของลัทธินี้ ? ข้อนี้น่าจะเป็นเหตุผลได้บ้างกระมังว่า เพราะเขาถือจัดเกินไปจนเสียประโยชน์หรือเหตุผลอันจะน้อมโลกให้เลื่อมใส

ปาณาติปาตา เวรมณีสิกขาปทํ สมาทิยามิ = "ข้าพเจ้าสมาทานบทแห่งสิกขา คือเจตนาเป็นเครื่องเว้นจากการทำสัตว์มี ปาณะ ให้ตกล่วง" นี่เป็นการแปลตรงตัวสิกขาบททุกตัวอักษร สัตว์มีปาณะคืออะไร ? อะไรคือปาณะ ?

ปาณะเป็นภาษาบาลี ภาษาไทยเรียกว่า ปราณ, ปราณคืออะไร ข้อนี้มีคำอธิบายมากเกินกว่าที่จะถกกันให้ละเอียดในที่นี้ จะกล่าวตามความเห็นของคนทั่วไปอย่างย่อๆ ตามหลักที่รับรองกัน ปราณคือชีวิตที่ละเอียดผสมอยู่ในสิ่งต่างๆ ที่ยังเป็นอยู่ หมดปราณหรือวายปราณก็ตาย อรรถกถาแก้คำนี้ไว้ว่า ปาณํ ปรมตฺถโต ชีวิตินฺทริยํ = "กล่าวโดยปรมัตถ์ ชีวิตินทรีย์ ชื่อว่าปราณ" หรือจะกลับกันว่า ปราณคือชีวิตินทรีย์ก็ได้ ชีวิตินทรีย์ก็คือชีวิตหรือความเป็นอยู่ ในตัวสิกขาบท ก็ห้ามสิ่งที่มีปราณ (ไม่ได้บ่งว่าต้องมีวิญญาณด้วย), เพราะฉะนั้น การฆ่าสัตว์ที่มีปราณก็คือปาณาติบาต

ต้นไม้มีปราณไหม ? ตัวจุลินทรีย์ (germs) มีปราณไหม ? ข้อนี้ออกจะพิสูจย์ยาก ถ้าต้นไม้มีปราณ การฆ่าต้นไม้ด้วยเจตนาก็บาปแน่ ภิกษุฆ่าต้นไม้ทรงปรับอาบัติเท่ากับฆ่าสัตว์ 1 (1 หมายถึงอาบัติปาจิตตีย์เท่ากัน ตามสิกขาบทที่หนึ่ง แห่งภูตคามวรรค, และสิกขาบทที่หนึ่ง แห่งสัปปาณวรรค) ถ้าทำลายพืชของต้นไม้ เช่น เมล็ดพันธุ์ผักที่ยังเพาะงอก ก็เป็นอาบัติรองลงมา นี่เพราะมันมีปราณหรือ ?

กล่าวกันว่า ทรงบัญญัติข้อนี้เพราะเพื่ออนุโลมตามธรรมเนียมยุคพุทธกาล ส่วนข้าพเจ้ายังไม่เคยพบพุทธาธิบายในเรื่องนี้ มีแต่มติส่วนตนว่า พระองค์ทรงเห็นว่า ต้นไม้มีชีวิต เมล็ดพืชก็มีชีวิต แต่ว่าเป็นชีวิตที่ต่ำเตี้ยลงมา ยังน้อยจนไม่ควรจะห้ามสำหรับฆราวาสผู้ยัง "หนา" อยู่ แต่มากพอที่จะบัญญัติห้ามสำหรับพวกที่ออกบวช หรือผู้ที่ "บาง" แล้ว จึงทรงบัญญัติว่า บาปเฉพาะภิกษุ ภิกษุใช้เขาถอนต้นไม้ หรือ "ฆ่า" ต้นไม้ บาปเท่ากับใช้ให้ฆ่าสัตว์ ภิกษุกินผักโดยเจตนา ก็ควรบาปหรือไม่บาปเท่ากับกินเนื้อสัตว์โดยเจตนา เพราะของสองสิ่งนี้ ทรงวางไว้สำหรับภิกษุโดยเสมอกัน การที่ภิกษุประกาศให้เขาฆ่าต้นไม้-ผัก เจาะจงตน ก็ควรเหมือนหรือเท่ากับการบอกให้เขาฆ่าสัตว์เจาะจงตน ชาวบ้านฆ่าผักหรือต้นไม้เจาะจงพระ ก็ต้องเท่ากับฆ่าสัตว์เจาะจงพระ สำหรับส่วนตัวพระ คือพระคงฉันไม่ได้เช่นเดียวกัน

แต่ขอให้เข้าใจว่า พระยังมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่บาป ก็คือรับอาหารจากชาวบ้านมาตามแต่เขาจะให้อะไร และเป็นอาหารที่เขาไม่ได้มีเจตนาฆ่าเจาะจงพระ เป็นอาหารบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น พระจึงไม่มีทางเลือก หรือจำกัดอาหารได้เลยเป็นอันขาด มันจะเป็นอะไรก็ตามแต่ เมื่อเป็นอาหารที่กินได้สำหรับมนุษย์และไม่ผิดวินัย ก็รับมาฉันก็แล้วกัน มิฉะนั้นจะเกิดบาปขึ้นโดยส่วนใดส่วนหนึ่งแน่นอน ในเมื่อบอกว่าต้องการผักหรือเนื้อ แล้วระบุให้เขาไปฆ่ามาให้ แต่อาจมีโอกาสในเมื่อมีผู้ฆ่าขายอยู่ตามธรรมดาทั้งผักและเนื้อ โดยไม่บาปหรืออาจบาปได้เท่ากัน โดยไม่มีข้อแตกต่างระหว่างเนื้อกับผักสำหรับพระ สำหรับกรณีที่บาป

ส่วนสำหรับชาวบ้านโดยเฉพาะนั้น ผิดกัน เพราะมีข้อยกเว้นเช่นเดียวกับสิกขาบทอื่นๆ เป็นอันมาก เนื่องจากอยู่ในชั้นที่ยัง "หนา" ดังว่ามาแล้ว เขาฆ่าต้นไม้ได้โดยไม่บาป เพราะศีลของเขาจำกัดความแค่นั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงฆ่าผักกินเองก็ได้ถวายพระด้วยก็ได้ แต่เขาจะฆ่าสัตว์กินเองไม่ได้ แม้จะถวายพระด้วยก็ตาม นี่เพราะสิกขาบทผิดกันในชื่อที่เรียกเหมือนกัน

นอกจากสิกขาบทปาณาติบาตนี่แล้ว ยีงมีอีกหลายสิกขาบทที่จำกัดความสูงต่ำกว่ากัน เช่น น้ำเมา เป็นอจิตตกอาบัติสำหรับภิกษุดื่มทั้งไม่รู้ว่าเป็นน้ำเมา ก็เป็นอาบัติ, แต่อุบาสกไม่มีโทษ อุบาสกทำเมถุนกรรมได้โดยให้ถูกต้องตามประเพณี แต่ภิกษุเป็นทำไม่ได้เลยทุกประการ อุบาสกลักทรัพย์แล้วสมาทานศีลได้อีก, อวดอุตริมนุสสธรรมแล้ว ก็ต่อศีลข้อสี่อีกได้ แต่ภิกษุลักทรัพย์เข้าขีด 5 มาสก หรืออวดอุตริมนุสสธรรมแล้ว ก็ "ตาย" จากภิกษุเอาทีเดียว, เหล่านี้พอเป็นตัวอย่าง

รวมความว่า ภิกษุกับฆราวาสมีความหมายแห่งศีลต่างกันคนละขั้น โดยเฉพาะสำหรับสิกขาบทที่ 1 นี้ สรุปได้เป็นใจความว่า ภิกษุฆ่าเองหรือให้ฆ่าซึ่งสัตว์เป็นบาปเช่นเดียวกับฆราวาส ภิกษุฆ่าเองหรือให้ฆ่าซึ่งต้นไม้เป็นบาป แต่ไม่เช่นเดียวกับฆราวาสคือฆราวาสไม่บาป นี้หมายเฉพาะที่มีเจตนารู้อยู่ ถ้าไม่มีเจตนาแล้ว ไม่มีใครบาปเลย


(มีต่อ 4)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 30 ม.ค. 2007, 5:23 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เช่นเดียวกับการหายใจทำให้จุลินทรีย์ตายหรือเดินกลางคืนเหยียบปลวก ซึ่งยกฝูงออกหากินกลางคืนตาย เป็นต้น เราไม่ควรถือโดยอ้อมค้อมค้านกันไปมาเลย จะกลายเป็นการทำให้หดสั้นเข้า แทนการเผยแพร่ออกไปสำหรับพระศาสนา เราจะต้องถือให้ตรง ! ให้มีเหตุผลเพียงพอ ! มิฉะนั้นแล้ว ภิกษุจะใช้เทียนไขก็ไม่ได้ ปลาวาฬจะถูกฆ่าเอาน้ำมันมากขึ้น, จะฉันยาถ่ายท้องก็ไม่ได้ พยาธิไส้เดือน ฯลฯ จะตาย จะถ่ายอุจจาระลงในถานก็ไม่ได้ หนอนในหลุมบางตัวจะตาย ฯลฯ ดูมันเกินไปเสียแล้วกระมัง !

ท่านโลกนาถได้กล่าวผิดพลาดไปหรือ ? ภิกษุควรฉันเนื้ออีกต่อไปหรือ ? แต่ก่อนจะตัดสิน ขอให้ท่านเข้าใจว่า ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ไม่ได้มีส่วนในการเป็นคำตอบของปัญหาสองข้อนี้เลย ท่านโลกนาถกล่าวไม่ผิด ! ถ้าไม่จำเป็นแล้ว ภิกษุไม่ควรฉันเนื้อสัตว์เป็นอันขาด ! นี่คือหลักประเด็นที่จะได้อธิบายกันต่อไป

ในข้อแรกขอกล่าวเสียก่อนว่า ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นคนฝ่ายโลกนาถภิกษุอิตาเลียน หรือฝ่ายใดหมด นอกจากฝ่ายที่ประกอบด้วยเหตุผล ข้าพเจ้าเคยไปสนทนากับท่านโลกนาถเป็นเวลานาน บางตอนถึงกับกลายเป็นการโต้วาทะกันก็มี อย่างน้อยก็คงทำให้ข้าพเจ้ารู้จักท่านได้บ้าง ข้าพเจ้ากล้ากล่าวว่า ท่านโลกนาถกล่าวไม่ผิด ก็เพราะส่วนใหญ่กล่าวไม่ผิดจริง และเพราะข้าพเจ้าเป็นนักเพ่งแต่ฝ่ายดี จึงไม่สนใจถึงการกล่าวพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของท่านโลกนาถนั้นเลย อีกประการหนึ่งเราจะต้องต้อนรับแขกต่างประเทศของเราด้วยเจตนาดีอย่างเดียวเสมอ เราเป็นศิษย์พระพุทธองค์ ควรประกอบกรรมดีโดยส่วนเดียว

ส่วนใหญ่ที่กล้ากล่าวว่า ท่านโลกนาถกล่าวไม่ผิดนั้น หมายถึง การชักชวนให้เราก้าวหน้าในการอบรมใจ ดีกว่าที่จะนิ่งเฉยอยู่ เรื่องบางเรื่องที่มีผู้เห็นเป็นสำคัญ แต่ข้าพเจ้าเห็นเป็นเพียงเกร็ดของเรื่องก็มีอยู่มาก เช่น การพิสูจน์ว่า พระพุทธองค์ฉันเนื้อหรือไม่ เป็นต้น ความจริงพระพุทธองค์ต้องทรงฉันเนื้อแน่ๆ แต่เป็นส่วนน้อยที่สุด เพราะหาฉันยากตามประเพณีพื้นเมืองของอินเดีย แต่ท่านโลกนาถพยายามพิสูจน์ว่าปัจฉิมบิณฑบาตเป็นเห็ดนั้น ขอให้เราให้อภัยแก่ท่านอย่างเดียวกับที่โบราณาจารย์ของเราหวังดีต่อเรา อ้างว่าบนสวรรค์มีนางฟ้าเท่านั้นเท่านี้ เราจะยึดเอาเป็นกรรมสิทธิ์ได้ด้วยการบำเพ็ญบุญอย่างนั้นอย่างนี้อันเป็นการต้อนคนเข้ามาในการปฏิบัติดีงาม แต่เราไม่ถือว่าท่านกล่าวเท็จ กล่าวผิด หรืออะไรหมดก็แล้วกัน เพราะเราเป็นคนเพ่งดีท่าเดียว

ข้อสำคัญ อยู่ที่โลกนาถภิกขุประสงค์ให้เราก้าวหน้าในสัมมาปฏิบัติ ! ข้าพเจ้าจึงว่าท่านกล่าวไม่ผิด เพราะเจตนาของท่านดี

การให้เว้นเนื้อเสพผัก เป็นการก้าวหน้าในสัมมาปฏิบัติอย่างไร ก็เข้ากับปัญหาในประเด็นหลังของข้าพเจ้าแล้ว จะถือโอกาสตอบพร้อมกันไปคราวเดียวกัน ดังต่อไปนี้

คำว่า "จำเป็น" หมายถึง ความจำเป็นของภิกษุ ที่จะเลือกสั่งอาหารไม่ได้ ต้องฉันตามแต่ที่จะได้มา ดังกล่าวมาแล้วในวันก่อน แต่ขอให้เข้าใจว่า สำหรับประเทศซึ่งนิยมกินผักปนเนื้อเช่นประเทศเรานั้น เกือบจะไม่มีการจำเป็นอะไรนัก ที่จะต้องสั่งอาหารผัก เพราะอย่างไรเสีย อาหารนั้นก็คงปรุงกันมาทั้งเนื้อและผัก ซึ่งเราอาจเว้นเนื้อ ฉันแต่ผักได้เสมอไป และยังมีผลไม้อันอุดมกว่าเมืองหนาวอีกเป็นอันมาก ความจำเป็นโดยเฉพาะมักเกิดในคราวเดินทาง หรือในการสมาคมกับพวกที่ชอบกินเนื้อล้วนๆ เป็นต้น แต่เพราะเราจะต้องสมาคม เพื่อประกาศพระศาสนาแก่คนทุกประเภท เราจึงมีข้อแม้ในเมื่อมีเหตุจำเป็น ทั้งเพื่อไม่ให้มีการเลี้ยงยากเป็นพิเศษเกิดขึ้นด้วย

ทำไมเราจึงไม่ควรกินเนื้อสัตว์ (ในเมื่อไม่จำเป็น) ?

เพราะว่า เป็นการทำเพื่อยึดเอาประโยชน์ทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม เป็นการก้าวหน้าของสัมมาปฏิบัติอันหนึ่ง ซึ่งได้ผลมากแต่ลงทุนทางฝ่ายวัตถุน้อยที่สุด ไปมากอยู่ทางฝ่ายใจ, ซึ่งจะแยกอธิบาย ดังนี้

ฝ่ายธรรม เช่น : 1. เป็นการเลี้ยงง่ายยิ่งขึ้น เพราะผักหาง่ายในหมู่คนยากจนเข็ญใจ มีการปรุงอาหารด้วยผักเป็นพื้น นักเสพผักย่อมไม่มีเวลาที่ต้องกระวนกระวายเพราะอาหารไม่ถูกปากเลย ส่วนนักเสพเนื้อต้องเลียบเคียงเพื่อได้อุททิสมังสะบ่อยๆ ทายกเสียไม่ได้ โดยในทีก็พยายามหาให้ ทายกที่มีใจเป็นกลางเคยปรารภกับข้าพเจ้าเองหลายต่อหลายนักแล้ว ว่าสามารถเลี้ยงพระได้ตั้ง 50 องค์ โดยไม่ต้องมีการรู้สึกลำบากอะไรเลย ถ้าไม่เกี่ยวกับปลากับเนื้อ ซึ่งบางคราวต้องฝืนใจทำไม่รู้ไม่ชี้กันมากๆ มิใช่เห็นแก่การที่มีราคาแพงกว่าผัก แต่เป็นเพราะรู้ดีว่ามันจะต้องถูกฆ่าเพื่อการเลี้ยงพระของเรา มีอีกหลายคนทีแรกที่ค้านว่าอาหารผักล้วนทำให้วุ่นวายลำบาก แต่เมื่อได้ลอง เพราะบางคราวไม่ต้องติดไฟเลยก็มี ตัณหาของนักเสพผักกับนักเสพเนื้อ มีแปลกกันอย่างไร จักกล่าวในข้อหลัง เฉพาะข้อนี้ขอจงทราบไว้ว่า คนกินเนื้อเพราะแพ้รสตัณหา, กินเพราะตัณหา, ไม่ใช่เพราะให้เลี้ยงง่าย

2. เป็นการฝึกในส่วนสัจธรรม คนเราห่างจากความพ้นทุกข์ เพราะมีนิสัยเหลวไหลต่อตัวเอง, สัจจะในการกินผักเป็นแบบฝึกหัดที่น่าเพลิน บริสุทธิ์สะอาด ได้ผลสูงเกินที่คนไม่เคยลองจะคาดถึง. มันเป็นอาหารที่จะหล่อเลี้ยง "ดวงความสัจจะ" ในใจของเราให้สมบูรณ์ แข็งแรง ยิ่งกว่าแบบฝึกหัดอย่างอื่น ซึ่งเป็นแบบฝึกหัดที่ค่อนข้างง่ายโดยมาก, หรือยากที่จะได้ฝึกเพราะไม่สามารถนำมาเป็นเกมฝึกหัดประจำทุกๆ วัน เราต้องฝึกทุกวัน จึงจะได้ผลเร็ว การฝึกใจด้วยเรื่องอาหาร อันเป็นสิ่งที่เราบริโภคทุกวัน จึงเหมาะมาก อย่าลืมพระพุทธภาษิตที่มีใจความว่า สัจจะเป็นคู่กับผ้ากาสาวพัสตร์

3. เป็นการฝึกในส่วนทมธรรม (การข่มใจให้อยู่ในอำนาจ) คนเราเกิดมีทุกข์เพราะตัณหาหรือความอยากที่ข่มไว้ไม่อยู่ ข้อพิสูจน์เฉพาะเรื่องผักกับเนื้อง่ายๆ เช่น ข้าพเจ้าเห็นชาวตำบลป่าดอนสูงๆ ขึ้นไป อุตส่าห์หาบอาหารผักลงมาแลกปลาแห้งๆ ทางบ้านแถบริมทะเล ขึ้นไปรับประทาน, ทั้งที่ต้องเสียเวลาเป็นวันๆ และทั้งที่กลางบ้านของเขามีอาหารผักพวกเผือกมัน, มะพร้าว, ผัก, ฟัก ฯลฯ อย่างสมบูรณ์ และทั้งที่อาหารเหล่านั้นยังเป็นของสดรสดี, สามารถบำรุงร่างกายได้มากกว่าปลาแห้งๆ จนราจับ ที่อุตส่าห์หาบขนไปไว้เป็นเสบียงกรังเป็นไหนๆ ผู้ที่ไม่มีการข่มรสตัณหา จักต้องเป็นทาสของความทุกข์และถอยหลังต่อการปฏิบัติธรรม การข่มจิตด้วยอาหารการกินก็เหมาะมาก เพราะอาจมีการข่มได้ทุกวันดังกล่าวแล้ว การข่มจิตเสมอเป็นของคู่กับผ้ากาสาวพัสตร์ ควรทราบว่า มันเป็นการยากอย่างยิ่ง ที่คนแพ้ลิ้นจะข่มตัณหา โดยเลือกกินแต่ผัก จากจานอาหารที่เขาปรุงด้วยเนื้อและผักปนกันมา ! จงยึดเอาเกมที่เป็นเครื่องชนะตน อันนี้เถิด ในการเลี้ยงพระของงานต่างๆ ข้าพเจ้าเคยเห็น เคยได้ยินเสียงเรียกเอ็ด แต่อาหารเนื้อ ส่วนอาหารผักล้วนดูเหมือนเป็นการยากที่จะได้ถูกเรียกกับเขา แล้วยังเหลือกลับไปอีก แม้อาหารที่ปรุงระคน ก็หายไปแต่ชิ้นเนื้อ ผักคงเหลือติดจานกลับไปก็มี และยิ่งกว่านั้นก็คือ ควรทราบว่า แม่ครัวหรือเจ้าภาพเขารู้ตัวก่อนด้วยซ้ำ เขาจึงปรุงอาหารเนื้อไว้มากกว่าอาหารผักหลายเท่านัก ทั้งนี้ ก็เพราะตัณหาทั้งของฝ่ายทายกและปฏิคาหก ร่วมมือกัน "เบ่งอิทธิพล"


(มีต่อ 5)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 02 ก.พ.2007, 6:48 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

4. เป็นการฝึกในส่วนสันโดษ (การพอใจเท่าที่มีที่ได้) ชีวิตพระย่อมได้อาหารชั้นพื้นๆ โดยมาก ข้าพเจ้าเคยเห็นบรรพชิตบางคนเว้นไม่รับอาหารจากคนยากจน เพราะเลวเกินไป คือเป็นเพียงผักหรือผลไม้ชั้นต่ำ แม้จะรับมาก็เพื่อทิ้ง นี่เป็นตัวอย่างที่ไม่มีความสันโดษ หรือถ่อมตน การฝึกเป็นนักเสพผักอย่างง่ายๆ จะแก้ปัญหานี้ได้หมด สันโดษเป็นทรัพย์ของบรรพชิตอย่างเอก

5. เป็นการฝึกในส่วนจาคะ (การสละสิ่งอันเป็นข้าศึกแก่ความสงบหรือพ้นทุกข์) นักเสพผักมีดวงจิตบริสุทธิ์ผ่องใสเกินกว่าที่จะนึกอยากในเมื่อเดินผ่านร้านอาหารนอกกาล หรือถึงกับนึกไปเอง ในเรื่องจะบริโภคให้มีรสหลากๆ เพราะผักไม่ยั่วในการบริโภค มากไปกว่าเพียงเพื่ออย่าให้ตาย, ต่างกับเนื้อซึ่งยั่วให้ติดรสและมัวเมาอยู่เสมอ ความอยากในรสที่เกินจำเป็นของชีวิต, ความหลงใหลในรส, ความหงุดหงิด เมื่อไม่มีเนื้อที่อร่อยมาเป็นอาหาร ฯลฯ เมื่อไม่มีเนื้อที่อร่อยมาเป็นอาหาร ฯลฯ เหล่านี้ ข้าพเจ้ารับรองได้ว่า ไม่มีในใจของนักกินผักเลย ส่วนนักเสพเนื้อนั้น ย่อมทราบของท่านได้เอง เป็นปัจจัตตัง เช่นเดียวกับธรรมะอย่างอื่น

6. เป็นการฝึกในส่วนปัญญา (ความรู้เท่าทันดวงจิตที่กลับกลอก) การกินอาหารจะบริสุทธิ์ได้นั้น ผู้กินต้องมีความรู้สึกแต่เพียงว่า "กินอาหาร" (ไม่ใช่กินผักหรือเนื้อ, คาวหรือหวาน) และเป็นอาหารที่บริสุทธิ์ การที่จะปรับปรุงใจให้ละวางความยึดมั่นว่า เนื้อ-ผัก หวาน-คาว ดี-ไม่ดี ฯลฯ เหล่านี้เป็นแบบฝึกหัดที่ยาก แต่ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นโทษของการยึดมั่นในชื่ออาหารมามีความสำคัญแต่เพียงว่าเป็น "อาหาร" ที่บริสุทธิ์แล้วก็บริโภคอยู่เสมอแล้ว นี่ก็เป็นการก้าวก้าวใหญ่ของการปฏิบัติธรรม ไม่มีอะไรดีไปกว่าอาหารผัก ที่จะเป็นอารมณ์อันบังคับให้ท่านต้องใช้ปัญญาพิจารณามันอยู่เสมอทุกมื้อ, เพราะเนื้อทำให้หลงรส ผักทำให้ต้องยกใจขึ้นหารส เหมาะแก่สันดานของสัตว์ ซึ่งมีกิเลสย้อมใจจับแน่นเป็นน้ำฝาดมาแต่เดิม แต่ปัญญาของท่านต้องมีอยู่เสมอว่า ไม่ใช่จะไปนิพพานได้เพราะกินผักเป็นเพียงการช่วยเหลือในการขูดเกลากิเลสทุกวันเท่านั้น ไว้นานๆ จะทดลองความรู้สึกในใจของท่านว่า จะบริสุทธิ์สะอาดพอหรือยัง ด้วยการลองรสอาหารที่ยั่วลิ้นเสียคราวหนึ่ง, คือเนื้อที่ปรุงให้มีรสวิเศษนั่นเองก็ได้

ข้าพเจ้าเองไม่ได้มีความเห็นว่า ฝ่ายที่จะช่วยเหลือการขูดเกลาจิตใจต้องเป็นผัก, ความจริงมันควรเป็นอาหารชั้นเลวๆ ไปประณีตก็พอแล้ว แต่เมื่อใคร่ครวญดูไปๆ ก็มาตรงกับอาหารผัก เพราะเนื้อนั้นทำอย่างไรเสีย ก็ชวนกินอยู่ตามธรรมชาติ, แม้เพียงแต่ต้นเฉยๆ มันก็ยังยั่วตัณหาอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นฝ่ายที่จะปราบตัณหาจึงกลายเป็นเกียรติยศของผัก, คือหารที่จะข่มตัณหาได้, และมีแต่ทางบริสุทธิ์อย่างเดียวโดยไม่มีการระวังเลยก็ได้, เหมาะสำหรับผู้ที่ระแวงภัยในความประมาทอยู่เสมอ

ฝ่ายโลก เช่น : 1. ผักมีคุณแก่ร่างกายยิ่งกว่าเนื้อหรือไม่, วิทยาศาสตร์ปัจจุบันก็พอที่จะรับว่าจะทำให้มีโรคน้อย มีกำลังแข็งแรง มีดวงจิตสงบกว่ากินเนื้อ, (ชาวอินเดียด้วยกัน ที่เป็นพวกกินเนื้อดุร้ายกว่าพวกที่เป็นพราหมณ์ ไม่กินเนื้อโดยกำเนิด), มีความหื่นในความอยาก-ความโกรธ ความมัวเมาน้อยลงเป็นอันมาก

2. ทางเศรษฐกิจ ราคาผักกับเนื้อ ทราบกันอยู่แล้วว่าผิดกันเพียงไร ของดีไม่ใช่มีหลักว่าต้องแพงเสมอไป แต่ของแพงคือของสำหรับคนโง่ คนทะเยอทะยาน ของที่มีคุณภาพสมค่าหรือเกินค่า ไม่ใช่ของแพงแม้จะมีราคาเท่าไรก็ตาม และเป็นของสำหรับคนฉลาด อาหารเลวๆ ไม่ได้ทำให้คนโง่ลงเลย ยังเนื้อและผักแล้ว เนื้อเสียอีกกลับจะทำให้โง่ คือหลงรสของมันจนเคยชิน คนๆ เดียวกันนั่นเอง ถ้าเขาเป็นนักเสพผักจะเป็นคนเข้มแข็ง มีใจมั่นคง ไม่โยกเยกรวนเร ยิ่งกว่าเป็นนักเสพเนื้อ (กินผักมากที่สุด กินเนื้อแต่เล็กน้อยเท่าที่จำเป็นจริงๆ ก็เรียกว่านักเสพผัก ผักหมายถึงผลไม้-น้ำตาลสด-ขนม ฯลฯ แม้จะหมายถึงนมด้วยก็ได้)

3. ธรรมชาติแท้ๆ ต้องการให้เรากินผัก ขอจงคิดให้ลึกหน่อยว่า ธรรมชาติสร้างสรรค์พวกเราให้มีความรักชีวิตของตนทุกๆ คน เราควรเห็นอกของสัตว์ที่มีความรู้สึกด้วยกัน มิฉะนั้นก็ไม่มีธรรมเสียเลย ลองส่งดวงใจที่เป็นกลางๆ ไปทั่วใจสัตว์ทุกตัวที่ต้องพรากผัว-เมีย-ลูก-แม่-พ่อ ฯลฯ โดยถูกฆ่าเป็นอาหาร แล้วลองเทียบถึงใจเราบ้าง, ถ้ามีพวกยักษ์ใหญ่มาทำแก่เราเช่นนั้น เราจะรู้สึกอย่างไร ? เราจะถึงกับขอร้องให้พระเจ้าช่วยหรือไม่ ถ้ามีพระเจ้าที่จะช่วยได้ ? และคิดสืบไปว่าเมื่อเราอาจช่วย หรืออาจเสียสละรสที่ปลายลิ้นเพื่อช่วยชีวิตสัตว์อื่น หรือผู้อื่นได้แล้ว, ธรรมของมนุษย์ (สัตว์มีใจสูง) จะไม่ช่วยให้เราทำเพื่อเห็นแก่อกเขาและอกเราบ้างเทียวหรือ แม้พระพุทธองค์ก็ทรงบำเพ็ญพระเมตตาบารมีอย่างกว้างขวาง ทำไมเราจึงไม่ช่วยในเมื่อเรารู้ว่าเราอยู่ในฐานะที่จะช่วยได้ แม้ว่าไม่ช่วยก็ไม่บาปก็ตาม ?

ธรรมชาติจะมีผักหญ้าผลไม้ พอให้เราบริโภคพอเพียงเสมอ มนุษย์มากขึ้นๆ ทุกปี, ส่วนสัตว์มีน้อยลงๆ ทุกปี โลกมนุษย์ขยายตัวออก, โลกสัตว์เดรัจฉานหดสั้นเข้า, ในที่สุด เนื้อจะไม่พอกันกิน ต้องเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ก็ที่ดินขนาดเท่ากัน สามารถเลี้ยงสัตว์พอเพื่อมนุษย์ น้อยกว่าปลูกผักเพื่อมนุษย์ คิดดูที่หนึ่งไร่ เราอาจปลูกพืชพันธุ์เลี้ยงคนได้หลายสิบคนในปีเดียวแต่ไม่พอเพื่อเลี้ยงวัว 1 ตัว สำหรับกินเนื้อและต้องหลายปี ปัญหาจึงไปตกหนักอยู่ที่เนื้อสัตว์จะไม่พอ หาใช่ที่ผักจะไม่พอไม่ แม้ปลาในมหาสมุทร ก็บอกสถิติตัวเองอยู่เรื่อยๆ มาแล้วว่าจะต้องขาดมือลง แต่ข้อสำคัญที่สุดนั้น คือมันไม่ให้คุณไปกว่าผักเลย


(มีต่อ 6)
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
TU
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 23 พ.ค. 2004
ตอบ: 1589

ตอบตอบเมื่อ: 05 ก.พ.2007, 5:14 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

มีนักปราชญ์ทางวิทยาศาสตร์ คำนวณว่า เนื่องจากเกิดใหม่มากกว่าการตาย ในเวลานี้ได้มีจำนวนพลโลกเพิ่มขึ้นถึงปีละ 21 ล้านคน และต่อไปจะเพิ่มมากทวีขึ้นอีก ถ้าไม่มีเหตุใดมาทำให้จำนวนลดน้อยลง เป็นต้นว่า การสงครามหรือโรคภัยที่ร้ายแรงมาลดจำนวนลงเสียมากๆ เป็นพิเศษ, ในอีกร้อยปีจะมีจำนวนคนถึง 5,000 ล้าน (ห้าพันล้าน) คน ในเวลานั้นพื้นดินทุกๆ แห่งจะต้องใช้เป็นที่ทำการเพาะปลูก เพื่อได้อาหารมาเลี้ยงมนุษย์ ไม่มีที่ดินและอาหารผักพอที่จะเลี้ยงสัตว์ มนุษย์จะต้องกินอาหารผักและข้าวโดยตรงแทนการกินเนื้อซึ่งเป็นการกินผักโดยทางอ้อม มหาเศรษฐีจึงจะมีนมและเนื้อกินโดยเลี้ยงวัวไว้บนตึกชั้นสุดยอด หรือในสวนข้างๆ บ้าน

เวลานี้มีคนเพียงประมาณ 2,000 ล้านคน เรามีจำนวนคนที่อดอยากอยู่มากมายเพียงไร ? อีกร้อยปีข้างหน้าเมื่อมีคนถึง 5,000 ล้านคน ภาวะของความจนจะเป็นอย่างไร ความจำเป็นจะบังคับให้คนต้องกินอาหารผักและเมล็ดข้าวเท่านั้น

สำหรับภิกษุ ไม่จำเป็นจะต้องรับรู้มาถึงเหตุผลของฝ่ายโลกดังกล่าวมานี้ก็จริง แต่เพราะเป็นเพศนำของเพศอื่น จึงควรดำรงอยู่ในอาการที่เป็นไปฝ่ายข้างพ้นทุกข์สงบเยือกเย็นอยู่เสมอ ไม่เป็นคนดื้อด้านต่อเหตุผล, ไม่เป็นคนเลี้ยงยาก, ไม่เป็นคนละเลยต่อการขูดเกลาความรู้สึกของธรรมดาฝ่ายต่ำ มีการเห็นแต่แก่ตัวหรือความอร่อยของตัว เป็นต้น, ไม่เป็นผู้หาข้อแก้ตัวด้วยการตีโวหารฝีปาก, แต่จะเป็นคนรักความยุติธรรม,รักความสงบ, แผ่เมตตาไม่จำกัดวง-ไม่จำกัดความรับผิดชอบ พร้อมด้วยเหตุผลอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น ภิกษุจึงไม่ควรนิ่งเฉยต่ออารมณ์ที่เกื้อกูลแก่ความก้าวหน้าในส่วนใจของตนแม้แต่น้อย

การเว้นบริโภคเนื้อ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทรงห้ามหรือฝืนพระราชบัญญัติสำหรับดวงใจที่ประสงค์เพื่อขูดเกลากิเลสของตนดวงใจที่ไม่เอาคนนอกส่วนมากเป็นประมาณ-ดวงใจที่ไม่แพ้ลิ้น-ดวงใจที่ไม่ประสงค์การตีโวหาร การไม่บริโภคเนื้อ ก็เป็นธุดงค์อย่างเดียวกับธุดงค์อื่นๆ ซึ่งทรงตรัสไว้ว่าเป็นการขูดเกลากิเลส แต่ก็ไม่ทรงบังคับกะเกณฑ์ให้ใครถือ แต่เมื่อใครถือก็ทรงสรรเสริญเป็นอย่างมาก เช่น ทรงสรรเสริญพระมหากัสสป, ธุดงค์ 13 อย่าง บางอย่าง เช่น เนสัชชิกังคะ ก็ไม่มีใครเชื่อว่าเป็นพุทธภาษิตนัก, แม้จำนวนสิบสาม ก็ไม่ใช่จำนวนที่ทรงแต่งตั้ง เมื่อเช่นนั้น การขูดเกลาใจด้วยการเว้นเนื้อก็เป็นสิ่งที่รวมลงได้ในธุดงค์ หรือมัชณิมาปฏิปทานั่นเอง เพราะเข้ากันได้กับสิ่งที่ทรงอนุญาตในฝ่ายธรรม มิใช่ฝ่ายศีลซึ่งเป็นการ

ท่านคงประหลาดใจหรือสงสัยว่า ข้าพเจ้าเห็นแต่จะสนับสนุนมติของตนเอง จึงส่งเสริมให้ฝึกใจด้วยอาหารผัก ข้อนี้ขอตอบว่า เพราะเป็นโอกาสที่จะฝึกฝนทดลอง ขูดเกลา ได้ทุกวันนั่นเอง วิธีอย่างอื่นโดยมากเราต้องคอยระลึกขึ้นมา ไม่ได้ผ่านมาเฉพาะหน้าเราทุกวันๆ เช่น อาหาร. และอีกอย่างหนึ่งคนธรรมดาเราก็ติดรสอาหารกันแทบทั้งนั้น มันเป็นเครื่องทดลอง หรือวัดน้ำใจเรา เปรียบเหมือนออกสงครามต่อสู้ข้าศึกอยู่เสมอ ถ้าไม่กลัวว่ามันเป็นเครื่องทดลองวัดน้ำใจของท่านเกินไปแล้ว ท่านคงเห็นพ้องกับข้าพเจ้าทีเดียวว่าเราควรยึดเอาบทเรียนประจำวันบทนี้เป็นแน่, เพราะมันจะเป็นผู้เตือนให้เราฝึกมันทุกวันทีเดียว, เป็นบทเรียนที่ยาก แต่เปิดโอกาสให้เราฝึกได้ทุกๆ วัน

ท่านอาจถามข้าพเจ้าว่า เราจะไปนิพพานด้วยการกินผักกันหรือ ? ข้าพเจ้าก็อาจตอบได้โดยย้อนให้ท่านตอบในตัวเองว่า เราจะไปนิพพานได้โดยต้องบวชเป็นบรรพชิตเท่านั้นแลหรือ ? ถ้าท่านตอบว่า การบวชเป็นเพียงการช่วยให้เร็วเข้าเท่านั้น เพราะฆราวาสก็บรรพลุมรรคผลนิพพานได้แล้ว ข้าพเจ้าก็พิสูจน์ให้ท่านได้ทันทีว่า การกินผักก็อย่างเดียวกัน เพราะเป็นการฝึกใจช่วยให้ไปถึงการชำระตัณหาเร็วเข้า ดังกล่าวแล้ว ถ้าใครจะพยายามพิสูจน์ว่า กินผักเพราะพระพุทธองค์ไม่ฉันเนื้อ หรือกินเนื้อเป็นบาปแล้ว ข้าพเจ้าก็เห็นว่าไม่มีเหตุผลเพียงพออย่างเดียวกับท่าน, เพราะเนื้อที่บริสุทธิ์ไม่บาป และพระองค์ก็ฉันเนื้อ

ถ้าท่านยังแย้งว่า การกินผักไม่ได้เป็นการก้าวหน้าของปฏิบัติธรรม ข้าพเจ้ามีคำตอบแต่เพียงว่าท่านยังไม่รู้จักตัวปฏิบัติธรรมเสียเลย ท่านจะรู้จักการกินผักซึ่งเป็นอุปกรณ์ ของการปฏิบัติธรรมอย่างไรได้

ขอให้ทราบว่า "การกินผักไม่ได้ถือเป็นลัทธิหรือบัญญัติ" เราฝึกบทเรียนนี้ โดยไม่ได้สมาทาน หรือปฏิญาณ อย่างสมาทานลัทธิ หรือศีล มันเป็นข้อปฏิบัติฝ่ายธรรมทางใจ ซึ่งเราอาศัยหลัก กาลามสูตร หรือ โคตมีสูตร เป็นเครื่องมือตัดสินแล้วก็พบว่าเป็นแต่ฝ่ายถูก ฝ่ายให้คุณโดยส่วนเดียว เป็นการขูดเกลากิเลส ซึ่งพระพุทธองค์สรรเสริญ แต่ถ้าใครทำเพราะยึดมั่น ก็กลายเป็นสีลัพพตปรามาสยิ่งขึ้น และถ้าบังคับกัน ก็กลายเป็นลัทธิของพระเทวทัต ที่จริงหลัก มัชฌิมาปฏิปทา สอนให้เราทำตามสิ่งที่เรามองเห็นด้วยปัญญาว่าเป็นไปเพื่อความขูดเกลากิเลสเสมอ, แต่เรามองเห็นแล้วไม่ทำ ก็กลายเป็นเราไม่ปรารถนาดีไปเอง, ส่วนผู้ที่ยังมองไม่เห็นนั้น ไม่อยู่ในวงนี้ มัชฌิมาปฏิปทาคือการทำดีโดยวงกว้าง !

วันนี้ข้าพเจ้าเขียนมาก จนคาดว่าบรรณาธิการจะรังเกียจเพราะจะแย่งเนื้อที่ของเรื่องแผนกอื่นมากไปจึงขอไว้อธิบายเพิ่มเติมในโอกาสหลังบ้าง แต่ขออย่าลืมหลักสั้นๆ ว่า เราไม่ได้เสพผักเพื่อเอาชื่อเสียงว่าเป็นนักเสพผัก (Vegetarian) เลย, เราก้าวหน้าในการขูดเกลาใจเพื่อยึดเอาประโยชน์อันเกิดแต่การมีกิเลสเบาบางอีกส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อท่านผู้ใดจะวิเคราะห์เหตุผลทั้งหลายของข้าพเจ้า โปรดใช้กฎประจำใจอันนี้เข้าผสมด้วยเสมอ, และอย่าลืมว่าข้าพเจ้าไม่ได้เป็นคนฝ่ายโลกนาถภิกขุ หรือฝ่ายใคร นอกจากฝ่ายที่มีเหตุผล แล้วและตั้งหน้าปฏิบัติด้วยความเชื่อ-ความนับถือตนเองเท่านั้น และข้อสำคัญที่สุดก็คือ ข้าพเจ้าไม่ได้ขอร้องให้ท่านเป็นนักผัก, เป็นแต่แสดงความคิดเห็นของข้าพเจ้าในเรื่องนี้ ขอร้องเพียงให้ท่านนำไปคิดดู เมื่อท่านคิดแล้วในกาลต่อไปท่านจะเป็นนักผักหรือนักเนื้อก็แล้วแต่เหตุผลของท่าน พุทธบุตรที่แท้จริง คือ "คนมีเหตุผล" ที่จริงนักเนื้อก็ไม่ใช่ผู้อันใครจะพึงรังเกียจเช่นเดียวกับผู้ไม่สมาทานธุดงค์อย่างอื่น เช่น ทรงไตรจีวร, หรืออยู่โคนไม้เหมือนกัน, เพราะเป็นเรื่องที่ไม่บังคับ


>>> จบ >>>



•• รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “การกินเจ-มังสวิรัติ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=19&t=39721
 

_________________
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวYahoo Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง