Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เจโตขีลสูตร (สมเด็จพระญาณสังวรฯ) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
admin
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 15 ธ.ค. 2004
ตอบ: 1886

ตอบตอบเมื่อ: 23 ม.ค. 2007, 2:29 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เจโตขีลสูตร

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก



บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม จะแสดงพระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐานตามเจโตขีลสูตร นำสติปัฏฐานในพระสูตรนี้แสดงว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนภิกษุทั้งหลาย ให้ละกิเลสอันเป็นเหมือนอย่างตะปูที่ตอกตรึงจิต และกิเลสที่ผูกพันจิต โดยตรัสสอนก่อนให้รู้จักว่า มีกิเลสอันเป็นเหมือนอย่างตะปูที่ตอกตรึงจิตอยู่ ๕ ประการ เรียกสั้นๆ ว่า เจโตขีละ คือตะปูตอกใจ


๏ ตะปูตอกใจ ๕ ประการ

อันได้แก่มีกังขาคือ สงสัยในพระศาสดา สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ สงสัยในสิกขา และมักโกรธขัดใจในสพรหมจารี คือผู้ประพฤติธรรมร่วมกันทั้งหลาย

สงสัยในพระศาสดานั้น ก็คือสงสัยในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา ว่าพระองค์ได้เป็นผู้ตรัสรู้จริงหรือ แม้ตามบทที่สวดกันว่า อิติปิโส ภควา อรหังสัมมาสัมพุทโธ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ไกลกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้เองชอบ แม้อย่างนี้ แม้อย่างนี้ ดั่งนี้เป็นต้น ทรงเป็นผู้ไกลกิเลสจริงหรือ ตรัสรู้เองชอบจริงหรือ ดั่งนี้เป็นต้น

มีกังขาสงสัยในพระธรรมนั้น ก็คือสงสัยในพระธรรมที่ตรัสรู้ ว่าทรงตรัสรู้อะไร ความตรัสรู้นั้นเป็นความรู้จริง หรือว่ารู้ไม่จริงอย่างไร และธรรมะที่ทรงสั่งสอนเป็นจริงตามที่ทรงสั่งสอน หรืออย่างไร


๏ ผู้เห็นผิดในครั้งพุทธกาล

ในข้อนี้ก็ได้มีเรื่องเล่ามาแล้วในครั้งพุทธกาล ถึงภิกษุผู้มีความเห็นผิดบางรูป ได้คัดค้านคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสั่งสอนเอาไว้ว่า ธรรมะข้อนี้ๆ เป็นอกุศลธรรม ซึ่งทำอันตรายให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติกระทำ แต่ว่าข้อที่ทรงสั่งสอนเอาไว้ว่าทำอันตรายนั้น หาได้กระทำอันตรายแก่ผู้ปฏิบัติกระทำไม่ เช่นทรงสั่งสอนแสดงโทษของกามต่างๆ แต่ว่ากามต่างๆ นั้นหาได้เป็นโทษดังที่ทรงสั่งสอนไว้ไม่

มีกังขาคือความสงสัยในพระสงฆ์ ก็คือมีความสงสัยว่าหมู่แห่งสาวกคือศิษย์ของพระพุทธเจ้านั้น เป็นผู้ปฏิบัติดีจริงหรือ เป็นผู้ปฏิบัติตรงหรือ ดั่งนี้เป็นต้น คือเป็นผู้ปฏิบัติชอบหรือ

สงสัยในสิกขานั้น ก็คือสงสัยในข้อที่จะพึงศึกษาเล่าเรียน ที่จะพึงศึกษาปฏิบัติ เช่นในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ว่าที่ปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ ปฏิบัติในปัญญา จะได้ผลสมจริง คือจะได้ผลดีจริงหรือไม่ หรือว่าสงสัยว่าจะให้เกิดผลที่ไม่ดีแก่ผู้ปฏิบัติ คือสงสัยในข้อที่ตนเองกำลังปฏิบัติอยู่ในศีลในสมาธิในปัญญา

มักโกรธขัดใจในสพรหมจารี คือผู้ประพฤติธรรมะร่วมกันทั้งหลาย ก็คือมักจะเป็นผู้ที่มีใจน้อยโกรธง่าย หรือมักจะเพ่งโทษของผู้ที่อยู่ด้วยกัน เพราะว่า เมื่ออยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมากก็อาจจะมีความประพฤติต่อกันที่กระทบกระทั่ง ไม่ถูกใจกันเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้างในบางครั้งบางคราว ก็มักจะถือโกรธง่ายๆ ขัดใจอยู่บ่อยๆ เพราะเหตุที่บางทีก็อาจมีการกระทบกระทั่งกันบ้างจริงๆ บางทีก็อาจเป็นเพราะความเห็นไม่ตรงกัน หรือเอาแต่ใจของตนเอง เมื่อได้เห็นการกระทำ ได้ฟังคำพูดของเพื่อนสพรหมจารีที่อยู่ด้วยกัน อันไม่ตรงกับความชอบใจของตน ก็มักจะถือโกรธขัดเคือง หรือบางทีก็มักจะมีนิสัยเพ่งโทษต่อผู้อื่น เห็นอะไรผิด หรือสงสัยว่าผิด ก็มักจะโกรธแค้นขัดเคืองไม่ถูกใจ หรือว่าบางทีก็เป็นเพราะความต้องการของตน ที่ไม่ได้สมตามความปรารถนาเกี่ยวแก่การแบ่งลาภแบ่งผลของสงฆ์ ที่บางทีก็ได้ไม่สม่ำเสมอกัน หรือเกี่ยวแก่ที่อยู่อาศัย ที่ได้รับจัดให้อยู่ ที่อาจจะเป็นที่สะดวกสบายบ้าง ไม่สู้จะสะดวกสบายบ้าง ดั่งนี้เป็นต้น ก็น้อยใจ ขัดใจ โกรธ เป็นผู้ที่มักโกรธมักขัดใจอยู่เสมอๆ

มีกังขาสงสัยในพระศาสดา มีกังขาสงสัยในพระธรรม มีกังขาสงสัยในพระสงฆ์ มีกังขาสงสัยในสิกขา และมักโกรธขัดใจในสพรหมจารีทั้งหลาย ทั้ง ๕ ข้อนี้หากเกิดขึ้น มีขึ้นในจิตใจ ก็เป็นเหมือนอย่างตะปูที่ตอกตรึงใจ ทำให้จิตใจมีทุกข์ ทำให้จิตใจมีกิเลส หรือเจริญกิเลสกองราคะหรือโลภะบ้าง กองโทสะบ้าง กองโมหะบ้าง เป็นจิตใจที่ไม่มีเสรีในอันที่จะปฏิบัติกรรมฐาน ในการที่จะปฏิบัติธรรมะ เป็นต้นว่าศีลสมาธิปัญญาให้เจริญ เพราะมีทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นอุปสรรคขัดขวาง ไม่ให้เกิดความตั้งใจที่จะปฏิบัติกรรมฐาน หรือปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา ขัดขวางต่อศรัทธา ขัดขวางต่อวิริยะความเพียร ต่อสติ ต่อสมาธิ ต่อปัญญา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นตะปูที่ตรึงใจ ที่ตอกใจเอาไว้ ไม่ให้ใจมีความสามารถที่จะปฏิบัติให้ดีขึ้นได้

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้รู้จักว่า ข้อเหล่านี้หากบังเกิดขึ้นในจิตใจของผู้ใด จิตใจของผู้นั้นก็เหมือนอย่างมีตะปูที่ตอกตรึงอยู่ จึงให้ปฏิบัติละเสีย ถอนตะปูที่ตรึงใจนี้ออกเสีย คือถอนกังขาสงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา และดับความมักโกรธขัดใจที่บังเกิดขึ้นในสพรหมจารีทั้งหลาย และเมื่อได้ถอนกังขาสงสัย และดับความโกรธขัดใจดังกล่าวได้ ก็เป็นอันว่าถอนตะปูใจออกได้ เมื่อถอนตะปูใจออกได้จึงจะทำให้การปฏิบัติกรรมฐาน หรือกล่าวรวมๆ ว่าทำให้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ทำให้การศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัยเจริญก้าวหน้าขึ้นไปได้


๏ เครื่องผูกพันใจ ๕ ประการ

อีกหมวดหนึ่งตรัสสอนให้รู้จัก เจโตวินิพันธะ คือเครื่องผูกพันใจ อันได้แก่ความติดใจ ความยินดีในกาม ความติดใจยินดีในกาย ความติดใจยินดีในรูป ความที่กินแล้วก็นอน และความปรารถนาต้องการเทวนิกาย คือความที่จะไปเกิดในหมู่เทพ คือปรารถนาที่จะไปสวรรค์ ทั้ง ๕ ประการนี้ได้ชื่อว่า เจโตวินิพันธะ คือเครื่องผูกพันใจ เพราะเหตุว่าผูกพันใจไว้ไม่ให้หลุดพ้นได้ ให้ติดอยู่ในกาม ในกาย ในรูป ในการเอาแต่กินนอน และติดอยู่ในสวรรค์


๏ ตัณหาจริตอย่างหยาบ

เนกขัมมะนั้นแปลกันว่าออก ก็คือออกบวชตามความหมายทั่วไป แต่ก็มีความหมายในทางจิตใจ ที่ใช้ได้ทั้งบรรพชิตทั้งคฤหัสถ์เหมือนกัน ก็คือออกจากความติดใจยินดีอยู่ในกามนั้นเอง เมื่อจิตไม่มีเนกขัมมะก็ไม่ได้สมาธิ

ติดใจยินดีในกายนั้นก็คือในกายของตน อันนับว่าเป็นตัณหาจริตอย่างหยาบ ทำให้พอใจในการที่จะตบแต่งกาย จึงไม่คิดที่จะตบแต่งจิตใจ มุ่งแต่จะตบแต่งกาย ติดในกาย และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็ออกไม่ได้ และนอกจากนี้ยังหมายถึงติดอยู่ในสุขเวทนาทางกายมากอีกด้วย เช่นมุ่งที่จะทะนุบำรุงกายให้มีความสุข จะต้องอยู่ในที่ๆ มีความสุขทางกาย จึงเป็นอันทำให้ไม่สามารถที่จะปฏิบัติกระทำสิ่งที่จะทำให้ร่างกายเป็นทุกข์ จะตากแดดสักหน่อยหนึ่งก็ร้อนไม่ได้ จะตากฝนสักนิดหนึ่งก็ไม่ได้ จะถือศีลข้อไม่นั่งไม่นอนบนที่นอนที่ยัดนุ่น ก็เจ็บกายทำไม่ได้ จะนั่งกรรมฐานสักหน่อยหนึ่งก็ปวดเมื่อยกาย ทำไม่ได้ ดั่งนี้ ก็รวมอยู่ในข้อว่าติดใจยินดีอยู่ในกาย

ติดใจยินดีอยู่ในรูปนั้น ท่านอธิบายว่ารูปภายนอกต่างๆ ตั้งต้นแต่เครื่องแต่งกาย บ้านเรือน เครื่องแต่งบ้านเรือน และทุกๆ อย่างจะต้องเป็นสิ่งที่สวยงาม จะต้องเป็นสิ่งที่ประณีตต่างๆ ความติดใจยินดีอยู่ในรูปภายนอกดังกล่าวมานี้ ก็ทำให้ขวนขวายแต่ในเรื่องของการที่จะประดับตบแต่งที่จะทำให้สิ่งต่างๆ โดยรอบมีความสวยงามวิจิตรพิสดาร จึงเป็นอันว่าไม่มีเวลาที่จะมามุ่งปฏิบัติกรรมฐาน หรือปฏิบัติธรรม คือไม่คิดที่จะมาตบแต่งธรรม คือตบแต่งกุศลธรรมทั้งหลายให้บังเกิดขึ้น


๏ การมุ่งที่สวนทางมรรคผลนิพพาน

กินแล้วนอนก็เป็นการตัดประโยชน์ทำนองว่าชีวิตนี้ดำรงอยู่ก็เพื่อกินนอน ไม่ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ เสียทั้งทางโลกทั้งทางธรรม และความมุ่งที่จะเกิดในหมู่เทพคือมุ่งสวรรค์ ก็เป็นความมุ่งที่สวนทางกับมรรคผลนิพพาน อันเป็นวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมนั้นเพื่อมรรคผลนิพพาน หรือว่าถ้าพูดอย่างสามัญลงมา ก็เพื่อความดี เพื่อความบริสุทธิ์ ไม่ใช่เพื่อสวรรค์ จะเป็นสวรรค์ในโลกนี้ อันหมายถึงว่าความสุขต่างๆ ในโลกนี้ ทางวัตถุ หรือสวรรค์ในโลกหน้าตามที่แสดงไว้ก็ตาม แต่ว่ามุ่งที่จะขัดเกลาตนเอง ฝึกตนเองให้เจริญด้วยธรรมะที่เป็นคุณธรรม นำให้เกิดความดีงามต่างๆ ทั้งในปัจุบัน ทั้งในภายหน้า และทั้งที่เป็นความดีงามอย่างยิ่งคือมรรคผลนิพพาน


๏ เจโตวินิพันธะ

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้รู้จักว่าทั้ง ๕ ข้อนี้ คือมีความติดใจยินดี อันเรียกว่าราคะ อยู่ในกาม ในกาย ในรูป และเอาแต่กินนอน กับมุ่งสวรรค์ ก็คือมุ่งความสุขทางวัตถุต่างๆ เป็น เจโตวินิพันธะ คือเครื่องผูกพันใจ ผูกพันใจเอาไว้ให้ปฏิบัติกระทำ หรือจะเรียกว่าสิกขาศึกษาก็ได้เหมือนกัน เพื่อกาม เพื่อกาย เพื่อรูป เพื่อกินนอน และเพื่อสวรรค์ เพราะฉะนั้น จึงไม่อาจที่จะทรงจิตใจมาศึกษาธรรมะ อันเป็นคุณธรรม นำให้เกิดความดีงามต่างๆ ไม่ตบแต่งหรือปรุงแต่งธรรมะปฏิบัติอันเป็นส่วนดีงาม ไม่ปฏิบัติปรุงแต่ง รูปฌาน อรูปฌาน หรือพูดเป็นกลางๆ ว่าไม่ปฏิบัติปรุงแต่งธรรมะ ที่เป็นคุณงามความดี แม้ตั้งแต่ขั้นรูปธรรมที่เป็นส่วนดีส่วนชอบ และเอาแต่กินนอน ไม่ประกอบชีวิตใช้ชีวิตให้ทำประโยชน์อะไร และไม่มุ่งธรรมะที่เป็นคุณงามความดี มุ่งความสุขที่เป็นวัตถุ


๏ เรื่องมุ่งสวรรค์ในปัจจุบัน

อันเรื่องของมุ่งสวรรค์อันเป็นความสุขที่เป็นวัตถุนี้ เป็นการกล่าวถอดความเข้ามา ให้เห็นสวรรค์ที่เป็นปัจจุบัน เพราะแม้สวรรค์ในโลกหน้าตามที่แสดงไว้ ก็ล้วนเป็นสถานที่ๆ เต็มไปด้วยความสุขทางวัตถุทั้งนั้น ประกอบไปด้วยรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่งดงาม น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ตามที่คนในโลกที่เป็นคนสามัญต้องการกัน

คราวนี้มาพูดถึงปัจจุบัน ก็คือความสุขทางวัตถุที่เป็นปัจจุบันต่างๆ คนเราที่เห็นแก่ได้ เช่นเห็นแก่เงินแก่ทอง เห็นแก่ความร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี ก็กล่าวได้ว่า ล้วนแต่มุ่งสวรรค์ในปัจจุบันได้ทั้งนั้น และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงทำให้ตีราคาของวัตถุ เช่นเงินทอง ทรัพย์สิน ยิ่งกว่าธรรมะที่เป็นคุณธรรมอันเป็นตัวความดีต่างๆ คนจึงทิ้งธรรมะ ทิ้งศีล ทิ้งสมาธิ ทิ้งปัญญา ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ คือไม่ศึกษาปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา แต่ไปศึกษาในทางที่ว่าจะได้เงินมามากๆ อย่างไร จะลักขโมยอย่างไร จะโกงอย่างไร จะรวบรวมมาได้อย่างไร เหล่านี้เป็นต้น เพราะเมื่อได้วัตถุนั้นมา เช่นว่าได้เงินได้ทองมา ก็เป็นอันว่านั่นเป็นที่ประสงค์ ตีราคาของสิ่งเหล่านี้ยิ่งไปกว่าราคาของธรรมะที่เป็นตัวคุณงามความดี

เพราะฉะนั้น ข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ามุ่งสวรรค์นั้น ก็ควรจะทำความเข้าใจลงมาดั่งนี้ด้วย ซึ่งเป็นอันตรายต่อศีลธรรม ต่อความสงบสุขของหมู่ชนเป็นอันมาก ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะคนมุ่งวัตถุดังกล่าวนี้ และตีราคาของวัตถุดังกล่าวนี้สูงกว่าราคาของธรรมะที่เป็นคุณงามความดี

เพราะฉะนั้น แต่ละข้อที่ตรัสไว้จึงเป็นสัจจะคือความจริง ที่เป็นเครื่องผูกพันใจ ไม่ให้ใฝ่หาธรรมะที่เป็นตัวคุณงามความดี แต่ให้ใฝ่หาแต่กาม แต่กาย แต่รูป แต่การกินการนอน แต่สวรรค์ ก็คือความสุขทางวัตถุต่างๆ ตามที่ต้องการ เพราะฉะนั้น จึงตรัสสอนให้ละเสีย จึงจะสามารถปฏิบัติธรรมะ อันเป็นส่วนคุณงามความดีให้ก้าวหน้าสืบไปได้ และก็ไม่ต้องว่าถึงมรรคผลนิพพาน เอาแค่ธรรมะที่เป็นคุณงามความดี ที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน เป็นประโยชน์ภายหน้า เท่านี้ ก็จะต้องละเครื่องผูกพันใจเหล่านี้เสียด้วย จึงจะปฏิบัติให้ถูกต้องได้

และถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติละเสีย ความเบียดเบียนกันในโลกก็จะยิ่งมีมากขึ้นๆ จนถึงเรียกว่าเป็นกลียุค คนก็จะยิ่งเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ทำร้ายร่างกายกัน ฆ่าฟันกัน มากขึ้นทุกทีๆ ต่อเมื่อละเสียได้มามุ่งที่จะศึกษาปฏิบัติธรรมะ ที่เป็นส่วนคุณงามความดีกันให้มากขึ้น ละความมุ่งที่จะบำรุงปรับปรุงกาม กาย รูป กินนอน และมุ่งสวรรค์ คือความสุขทางวัตถุต่างๆ ดังกล่าว


๏ ธรรมะที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ

อนึ่ง เมื่อได้ตรัสสอนให้ละตะปูที่ตรึงใจ ตะปูที่ตอกตรึงใจ ๕ ประการ และเครื่องผูกพันใจ ๕ ประการดังกล่าวนี้ ก็ได้ตรัสสอนให้อบรม อิทธิบาท คือธรรมะที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ วิมังสาความใคร่ครวญพิจารณา สำหรับเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติธรรมะที่เป็นคุณงามความดีต่างๆ ให้บังเกิดขึ้น และตรัสเพิ่มอีกข้อหนึ่ง อันเรียกว่า (ฟังไม่ชัด) แปลกันว่าความขมักเขม้น แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วก็อาจหมายถึงขันติคือความอดทน ความอดกลั้นทนทาน ซึ่งเป็นเหตุให้สามารถมีความเพียรขมักเขม้น ปฏิบัติกิจที่พึงปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมะที่เป็นคุณงามความดี ให้สำเร็จได้อีกข้อหนึ่ง รวมเป็น ๕ ข้อด้วยกัน

เพราะฉะนั้นจึงรวมเป็น ๑๕ ข้อ คือในด้านละเสีย ๑๐ ข้อ ละตะปูที่ตอกตรึงใจ ๕ ข้อ ละเครื่องผูกพันใจ ๕ ข้อ และอบรมอิทธิบาท ๔ กับอบรมขันติคือความอดทน อดกลั้นทนทาน อันทำให้ขมักเขม้นปฏิบัติกรณียะคือกิจที่ควรทำต่างๆ ให้สำเร็จได้ รวมเป็น ๑๕ ข้อ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะสามารถปฏิบัติธรรมะที่เป็นคุณงามความดีได้ ทั้งที่เป็นประโยชน์ปัจจุบัน ทั้งที่เป็นประโยชน์ภายหน้า ทั้งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือปฏิบัติในกรรมฐาน ทางด้านสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน ให้บรรลุถึงความสำเร็จยิ่งๆ ขึ้นไปได้ ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป



.......................................................

คัดลอกมาจาก
เทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
http://www.mahayana.in.th/tsavok/tsavok.html
 

_________________
-- การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง --
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวส่ง Emailชมเว็บส่วนตัว
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089

ตอบตอบเมื่อ: 24 ม.ค. 2007, 3:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุค่ะ

ธรรมะสวัสดีค่ะ

สาธุ สาธุ สาธุ
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง