ผู้ตั้ง |
ข้อความ |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
18 ม.ค. 2007, 9:18 am |
  |
๏ พรรษาที่ ๓๘ พ.ศ. ๒๕๐๕ จำพรรษา ณ เขาสวนกวาง
กิ่ง อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น
ในต้นปี ๒๕๐๕ นี้ท่านยังท่องเที่ยวธุดงค์อยู่ในเขตจังหวัดเลย ท่านจะเดินทางรวดเร็วมาก บางทีก็ไปถ้ำผาบิ้ง ถ้ำผาปู่ อันเป็นถิ่นที่ท่านคุ้นเคยมาแต่สมัยเป็นพระผู้น้อย ผ่านไปทางอำเภอเชียงคาน ซึ่งเป็นที่ซึ่งท่านเคยใช้วัยหนุ่มทำราชการอยู่กับพี่เขยมาหลายปี พอดีวัดโพนแก่นที่เชียงคานมีงานถวายเสนาสนะ ท่านก็ช่วยเทศน์อบรมประชาชนให้ด้วย
ครั้นถึงเดือน ๗ พ.ศ. ๒๕๐๕ (ตรงกับเดือนมิถุนายน ๒๕๐๕-ผู้เขียน) ท่านเดินทางต่อไปถ้ำมโหฬาร และบันทึกไว้ว่า
ถ้ำมโหฬาร เดือน ๗ พ.ศ. ๐๕ ฝันเห็นท่านอาจารย์ (มั่น-ผู้เขียน) ท่านนั้นคล้ายเชือกอู่ลงมา เราเห็นชัด เป็นมงคลยิ่ง
.....เดือนนี้ เราป่วยเป็นไข้คนเดียว อาการหนักมาก เกิดวิตกวิจารณ์ใหญ่ เกิดสงสัยในเวลาจิตกับเวทนา ป่วยผสมกัน ในขณะนั้นทำให้จิตป่วนปั่นมาก นอนไม่หลับ ๒ คืน ก็มี กลางวันก็ไม่ได้นอนอีก แต่สงบนอนด้วยฌาน หลับๆ ตื่นๆ ก็อิ่มเหมือนกัน
ภาวนาแลเห็นนิมิตนอกร้อยแปดอย่างปรากฏเสมอ หลบเข้าอารมณ์ได้ ต่อนั้นได้รับความสงบ จิตเข้าสู่อารมณ์แห่งความตายบ้าง
ท่านถึงกับอุทานว่า
แหม่ ผู้มีภูมิจิตเป็นถึงขนาดนี้ ถ้าผู้ที่ไม่มีแม้จิตนั้น จิตคงยิ่งแปรปรวนใหญ่ ระยะนี้จะได้ระวังตัวและจิตเรื่อย ๆ เพราะเห็นภัยใหญ่หลวง ๓ อย่าง ๑. เราอาพาธที่จะมรณะ ๒. เราแก่ชราแล้วใกล้มรณะ ๓. สงครามจะมาถึงในวันไหน ภัยทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นเทวทูต ให้เราทำความเพียรอย่างขนาดหนัก เพื่อจะได้สำเร็จก่อนกว่าภัย ๓ อย่างนี้จะมาถึงตัวเรา อีกนัยหนึ่ง เราก็อยู่ในสถานที่วิเวกคนเดียว เปลี่ยว
ท่านรำพึงว่า
ภาวนานั้น ถ้ามีแต่สมาธิอย่างเดียว ต้องมีนิมิตต่างๆ หลอกอยู่เรื่อยๆ เกิดจากอุปจารสมาธิ มีอุคคหนิมิตทำให้เป็นบ้าไปได้ ทำให้ไม่อยู่ในสมาธิ ความสงบและสุขไปได้ ถ้าเอาภาวนา เอาวิปัสสนาผสมสมาธิแล้ว ย่อมไม่เกิดนิมิต เพราะไตรลักษณ์ล้างอยู่เสมอ และไม่สำคัญตน และไม่เป็นบ้า เกิดนิมิตทั้งหลายก็รู้เท่า
ท่านมิได้ฉันยา หากใช้ธรรมโอสถพิจารณาลงไปที่ ชรา พยาธิ และมรณะ เฉพาะพยาธิและมรณะ นั้น ท่านพิจารณาหนักแน่นเป็นพิเศษ แล้วบันทึกว่า
อาพาธเปลี่ยนฤดู เปลี่ยนอิริยาบถไม่เสมอ อาพาธตอนเพียรกล้า อาพาธกรรมวิบาก เย็น ร้อน อ่อน หนาว หิวข้าว กระหายน้ำ อุจจาระปัสสาวะ มีประการต่างๆ ของกายนี้ทั้งนั้น เมื่อพิจารณาเห็นความเป็นจริงแล้ว ย่อมไม่รับ ย่อมเสียสละ ย่อมบรรเทาเสีย ย่อมให้พินาศเสีย ย่อมไม่เกิดต่อไป
ท่านตั้งปณิธานเด็ดเดี่ยว เพื่อเอาชนะกิเลสลงไปว่า
ทำความเพียรให้แข็งแรง เอาเป็นเอาตายทีเดียว ป่าช้าอยู่ที่ไหน...ไป ! กำหนดตายที่ไหน เผา ณ ที่นั้น ดังนี้
ความจริง เมื่อท่านเอาชนะกิเลสได้แล้ว เวลาก็จวนแจจะเข้าพรรษาแล้ว เป็นบุคคลอื่นก็คงจะจำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำมโหฬารนั้นเอง เพราะสถานที่ก็ค่อนข้างคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ด้วยท่านเพิ่งได้จำพรรษาที่ ๓๖ ณ ถ้ำมโหฬาร เมื่อปี ๒๕๐๓ นี้เอง
แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ใช่หลวงปู่
ท่านเห็นว่า การเที่ยววิเวกเปลี่ยนสถานที่ทำความเพียรไปเรื่อยๆ จะทำให้จิตตื่นอยู่เสมอ ที่เก่าซึ่งเคยได้อธิบายวิธีชนะกิเลสมาแล้ว ไม่ใช่ว่าครั้งใหม่จะใช้วิธีเก่าได้เสมอไป
โรคมันชินยาอย่างหนึ่ง หรือสถานที่มันจืดไปอีกอย่างหนึ่ง
ความจริง ท่านเองนั้นแหละ ที่คิดว่า ที่เก่านั้นมัน จืดไป ควรแสวงหา สถานที่ใหม่ บุคคลใหม่ อากาศใหม่ ต่อไป
ท่านเดินทางออกจากเลย ผ่านอุดร แล้วเข้าเขตจังหวัดขอนแก่น และในพรรษาที่ ๓๘ นี้ ท่านก็กลับไปเข้าพรรษาที่ เขาสวนกวาง ซึ่งท่านได้เคยจำพรรษามาแล้วในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พรรษาที่ ๒๘
เวลาห่างกัน ๑๐ ปีเต็ม ทำให้ท่านรู้ดีกว่าเป็นสถานที่แห่งใหม่ ที่ควรวิเวกจิตเปลี่ยว กายเปลี่ยว มันเปลี่ย จิตวิเวก กายวิเวก มโนวิเวก ท่านจึงมีเวลาทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง ณ ที่นี้ท่านได้พบญาติโยมที่ท่านเคยอบรมสั่งสอนมาแต่ครั้งก่อน ต่างก็ปีติยินดีที่ได้มีโอกาสกราบรับธรรมะอีกวาระหนึ่ง ท่านจึงต้องเป็นธุระเทศนาอบรมสั่งสอนพวกเหล่านั้นต่อไป รวมทั้งบรรดาญาติมิตรของเขาซึ่งเมื่อทราบข่าวก็มาร่วมฟังธรรมด้วย กลายเป็นเกิดมีที่มาทำบุญทานการกุศล ถือศีลภาวนาอยู่ด้วยท่านเป็นกลุ่มใหญ่แทบทุกวัน
ในบันทึกของท่านตอนหนึ่ง ท่านได้สำเนาคำเทศนาอบรมญาติโยมไว้กัณฑ์หนึ่งเป็นการพรรณนาถึงอานิสงส์ของการทำทานและรักษาศีล ซึ่งจะทำให้ไปเกิดในสุคติภพโลกสวรรค์ ให้เว้นจากกรรมอันชั่วร้าย เพื่อไม่ต้องไปอุบัติในนรก นับเป็นการแจกแจงอย่างละเอียดกว่าที่เคยฟังท่านเทศน์ในสมัยหลังๆ จึงขอนำสำเนาบันทึกเทศน์กัณฑ์นี้มารวมพิมพ์ในประวัติด้วย
โลก คือหมู่สัตว์ มนุษย์ทุกชาติทุกภาษาที่อาศัยอยู่ในโลกเวลานี้มาจากภพต่างๆ ด้วยกรรมดีและกรรมชั่ว มาเกิดเลวและประณีต แล้วแต่กรรมของสัตว์ตบแต่งสัตว์นั้นๆ สัตว์เหล่านั้นจะเป็นพวกเปรต อสุรกายสัตว์เดรัจฉาน ในประเภทไหนก็ตาม ต้องมาทำความชั่วในมนุษย์ทั้งนั้น สุคติจนถึงพระนิพพานก็มาสร้างในมนุษย์นี้เช่นเดียวกัน มนุษย์เป็นที่ประชุมแห่งรถไฟสายต่างๆ บุคคลจะไปจังหวัดใดๆ ก็ต้องออกประชุมที่ต้นทางทั้งนั้น
จะกล่าวถึงนรกนั้นร้ายกาจ ไหม้สรรพสัตว์ทุกอย่างโดยไม่เหลือ ให้เป็นจุณไปทั้งนั้น ยิ่งกว่าไฟมนุษย์นี้หลายเท่า แม้สาวกพุทธชิโนรส ท่านผู้มีฤทธิ์พระโมคคัลลานะ พระมาลัยเถรเจ้า เมื่อท่านองค์ใดองค์หนึ่งไปเยี่ยมนรก แม้พระอรหันต์ขีณาสพสาวกเจ้าทั้งหลายองค์อื่นๆ ต้องเกรงกลัวขยาด น้อยคนนักที่จะมีอภิญญาต่อสู้นรกได้
ในสภาพภูมิประเทศที่สัตว์ทำชั่วไว้ในอดีตเป็นปัจจัยอยู่ในนรกนั้นเป็นสัตว์ที่ขาดแคลนที่สุด ปราศจากผ้านุ่งผ้าห่ม ข้าวน้ำโภชนะอาหารทุกประเภท เช่น มีสิ่งอื่นๆ จะอุปโภคบริโภคก็กลายเป็นดินน้ำไปเป็นน้ำกรดไปทั้งนั้น ตั้งใจจะทำบุญก็สายเกินไป สัตว์นรกไม่มีสมบัติอะไรจะทำบุญ และไม่มีพระเจ้าพระสงฆ์ที่จะมารับทักขิณาทานในนรกนั้นด้วย ครั้นจะปลีกตนมาทำบุญในมนุษย์โลกก็ไม่ได้เพราะอยู่ในที่คุมขังเสียแล้ว พญายมบาลรักษาอย่างกวดขันหมดหนทางที่จะทำบุญเช่นนั้น แม้จะภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆได้อย่างไร เพราะนรกเผาอยู่ทั้งกลางวันและกลางคืน มิได้ขาดระยะ ครั้นสัตว์นรกเหล่านั้นอดๆ อยากๆ จะหาโอกาสไปปล้นกิน ก็ไม่มีเศรษฐีอยู่ในนรกให้สัตว์นรกปล้น
เมื่อพ้นจากนรกแล้วก็พากันมาเกิดตามยถากรรมอีกต่อไป สัตว์บางอย่างตกนรกแล้วตกอีกเล่า ประเดี๋ยวตกขุมน้อยบ้าง ขุมใหญ่บ้างสับสนกัน ไปเกิดเป็นเปรตบาง เป็นอสุรกายบ้าง สัตว์เดรัจฉานบ้าง แม้เศษบาปที่ทำในมนุษย์ไซร้นั้น มาเกิดเป็นมนุษย์ก็ไม่บริสุทธิ์ มีอวัยวะพิการอย่างใดอย่างหนึ่งและมีการอดๆ อยากๆ ถือกระเบื้องกะลาขอทานเขากินตามท้องตลาด
เมื่อสัตว์เหล่านั้นกระทำดีเป็นกุศลนั้นเล่า บุญส่งให้เกิดบนสวรรค์เทวโลกทั้งรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ละอย่างๆ ล้วนแต่เป็นของที่เลิศๆ ทั้งนั้น เทวโลกสมบูรณ์ไปด้วยสมบัติต่างๆ เทวโลกนั้นจะทำบุญให้ทานแก่ใครเล่า สถานที่เทวโลกนั้นเป็นสถานที่มีสมบัติมั่งคั่งด้วยกันทั้งนั้น ก็เทวดาองค์ใดที่จะรับทานกันเล่า ครั้นจะภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆก็ไม่ได้ เพราะสถานที่เทวโลกนั้นเป็นสถานที่มีอารมณ์อันฟุ้งซ่านทั้งนั้นไปโดยรอบ ไม่วิเวกสงบสงัด ครึกครื้นไปด้วยเสียงต่างๆ ครั้นจะกระวายให้ล้ำเลิศ ก็ไม่มีพระเจ้าพระสงฆ์รับทักขิณาทานในสถานที่นั้น แม้เทวโลกจะทำบุญกุศลสิ่งใดก็ไม่ได้ทั้งนั้น ไม่เหมือนมนุษย์โลกที่เราอยู่นี้ บนสวรรค์ไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาถนนหนทางเหมือนมนุษย์โลก ตลอดคุกตะรางไม่มีเทวโลก เทวดาท่านเหล่านั้นไม่มีอันธพาลทะเลาะวิวาทกัน เทวดาทั้งหลายล้วนแต่มีความสุขสำราญด้วยกันทั้งนั้น พักผ่อนหย่อนใจ กล่าวคือ นั่งๆ นอนๆ ยืนเดิน บำเรอความสุขของตนที่พากันทำไว้แต่มนุษย์โลกทั้งนั้น หมดบุญแล้วจุติไปเกิดตามยถากรรมของท่าน
พระองค์ตรัสไว้ว่า สวรรค์นั้นมีการทำบุญและความดีบ้างเล็กๆ น้อยๆ ท่านว่าเป็น อัพโพหาริก มีเหมือนไม่มีดุจน้ำติดอยู่ในจอกแก้วนิดหน่อย มีบุคคลอื่นถามว่าน้ำในแก้วมีหรือไม่มี ใครๆ ก็คงตอบว่าจะมีก็ได้ไม่มีก็ได้ ย่อมเป็นผลพลาดพลั้งทั้ง ๒ อย่างเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเทพบุตรบางองค์ เช่น พระเตมีย์โพธิสัตว์จึงกลั้นใจตาย จากชั้นดุสิตเทวโลกมาเกิดมนุษยโลก เพื่อสร้างพระบารมีต่อไป ฉะนั้น เทวดาอยู่เทวโลกไม่มีประโยชน์อะไร ล้วนแต่เสวยความสุขของท่านเท่านั้น ก็เป็นข้อวินิจฉัยตามตำรา
พระสูตรปิฎก ท่านกล่าวไว้ มนุษย์เป็นภูมิสถาน มีอุดมสมบูรณ์ด้วยสมบัติต่างๆ อุดมเลิศกว่าเทพต่างๆ เรียกว่า เทพพระอินทร์ เทพพรหม เลิศกว่านรกเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เลิศกว่าพระยาครุฑ พระยานาค เพราะภพเหล่านั้น พระพุทธเจ้า พระปัจเจก พระสาวกเจ้าทั้งหลายไม่ไปบังเกิดตรัสรู้ เหตุนั้นชมพูทวีปมนุษย์เป็นที่เลิศ พระพุทธองค์ตรัสว่า อคฺคํ มนุสฺเสสุฯ การที่ได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นของที่เลิศ ฉะนั้นมนุษย์จะเป็นหญิงเป็นชายก็ต้องพากันเลิศทั้งนั้น
ศีล ทาน ภาวนา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าล้วนแต่เป็นของที่เลิศ ทำสัตว์ผู้ปฏิบัติไปสุคติภพได้ แม้พระพุทธเจ้า พระปัจเจก พระอรหันต์ท่านเหล่านั้นย่อมมาตรัสรู้ในมนุษย์โลกนี้ทั้งนั้น ท่านเหล่านั้นมาสร้างพระบารมีในมนุษย์โลกทั้งนั้น มนุษย์เป็นธาตุที่พอ เป็นธาตุที่ถูกส่วนเป็นสถานที่บริบูรณ์ย่อมประดิษฐานอยู่ในมนุษย์โลกทั้งนั้น มีพร้อมทั้งทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีพร้อมครบทุกอย่างไม่บกพร่องด้วยประการใด จึงได้นามว่าธาตุพอ ภพอื่นไม่พอ ไม่บริบูรณ์ ไม่ครบครันทุกอย่างเช่น สวรรค์มีแต่อารมณ์ความสุข ทุกข์ไม่มี พรหมโลกธาตุไม่พอ มีแต่สุขอย่างเดียว อีกประการหนึ่ง นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานภพเหล่านี้ธาตุไม่พอ มีแต่ทุกข์อย่างเดียว นิโรธมรรคไม่พบ
นี่แหละ มนุษย์เราเป็นภพอันเลิศ เป็นสถานที่รับรองพระพุทธเจ้าพระปัจเจก พระอรหันต์สาวกตรัสรู้ และท่านเหล่านั้นจะต้องเกิดเป็นมนุษย์สร้างพระบารมี เมื่อสร้างพระบารมีครบครันแล้วจึงพากันตรัสรู้ตามวาสนานิสัยของท่าน สัตว์ไหนที่สร้างพระบารมีพอแล้วควรที่เป็นพระพุทธเจ้าก็เป็น ควรเป็นพระปัจเจกก็เป็น ควรเป็นพระอรหันต์ก็เป็น แม้สัตว์ทั้งหลายที่ทำบุญทำบาปที่จะไปภพต่างๆ ก็พากันทำบุญในมนุษยโลกทั้งนั้น เช่น สัตว์ทำไม่ดีควรไปตกนรก สัตว์มนุษย์คนไหนทำไม่ดีที่ไม่ร้ายแรงควรไปเกิดเป็นเปรต อสุรกายก็ไปเกิดภพนั้นสัตว์มนุษย์ทำดีเพียงสวรรค์ก็ไปเกิดบนสวรรค์เท่านี้เป็นอาทิ นี้แหละสัตว์ไหนทำดีไม่ดี ที่หอบสู่ภพต่างๆ สร้างกรรมบุญ กรรมบาป ไปจากมนุษย์โลกนี้ทั้งนั้น
ขอท่านคณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ควรรู้ตามที่อาตมาได้บรรยายมาแล้วนี้ นำไปปฏิบัติ เว้นจากกรรมอันชั่วร้ายไม่ให้ทาน การบริจาค มีศีล เว้นจากกรรมอันชั่วร้าย มีภาวนา อารมณ์ดวงจิตให้ฉลาด หลีกเลี่ยงอุปสรรคความชั่วร้ายต่างๆ ขอให้ประพฤติปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ล้วนแต่เป็นกรรมที่ดี นำไปสู่สุคติโลกสวรรค์ เพราะพวกเราคณะอุบาสกอุบาสิกาบังเกิดมาในชาติภูมิที่ดีแล้ว ที่ปฏิบัติควรแก่สวรรค์และนิพพานเดินตามพระพุทธองค์กล่าวไว้ จึงได้ชื่อว่าตามรอยพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตามรอยพระปัจเจกทั้งหลาย ตามรอยพระอริยเจ้าคณะอุบาสกอุบาสิกา พระภิกษุสามเณรจึงปฏิบัติได้สวรรค์นิพพานได้เป็นข้อที่พวกเราควรสนใจในศาสนาให้มาก
ชีวิตมนุษย์เป็นของน้อย นรก สวรรค์เป็นของอายุมาก นับตั้งกัปตั้งกัลป์ทีเดียว ขออย่ามัวเมาในวัยของตน เช่นเด็กมัวในความเป็นเด็กเล่นฝุ่น คนหนึ่งก็เมาในความเป็นหนึ่งของตัว เช่นตบแต่งร่างกายให้สวยงามเล่นบ้าง สาวทะเยอทะยาน ขวนขวายแต่ทางกามจนค่ำจนมืด จนลืมกิจการทุกอย่าง หัวไร่มัวนาเรือกสวนไปต่างๆ คนจนก็มัวเมาความทุกข์จนของตน คนมั่งมีก็เมาความมั่งมีของตน นี้แหละคน เกิดมาในโลก ไม่ว่าคนประเภทไหน ความมัวเมาประกอบด้วย ราคะ โทสะ โมหะ ธาตุเมาอันนี้ยังวุ่นวายอยู่ในโลก พากันเดือดร้อนอยู่ในโลก เกิดทะเลาะวิวาทกันอยู่ในโลก ฆ่าฟันล้มแทงกันจนติดคุกติดตะรางกัน ฟ้องร้องกัน เป็นคดีโรงร้านโรงศาล ประเทศต่อประเทศก็เกิดสงครามฆ่าฟันกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เกิดจากธาตุเมากันทั้งนั้น
ท่านผู้เป็นสัปปุรษนักปราชญ์ เมื่อมาพิจารณาตริตรองในโลกนี้เป็นของที่วุ่นวายอยู่เช่นนี้ ท่านเหล่านั้นก็พากันบำเพ็ญ ทาน รักษาศีล ภาวนา ด้วยการสดับพระธรรมเทศนา พากันหลีกเร้นออกจากสงสาร หวังใจเดินตามรอยพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย ที่เป็นประวัติการสั่งสอนกันสืบๆ มาเป็นแบบ เป็นตัวพิมพ์ เมื่อไม่ผิดธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แม้ธาตุเมาอันนี้สู่สิงอยู่ในดวงจิตของผู้ใด ไม่ว่าหญิงชาย ไม่ว่าหนุ่ม เด็กแก่ ชรา ทำให้ฆ่าสัตว์ก็ฆ่าไปเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียเลี้ยงผัวเลี้ยงหลาน พอที่ลักก็ลัก พอที่จะทำกามเสพสมบุตรภรรยาคนอื่นก็ทำไป พอที่มุสาหลอกลวงอำพรางไป พอได้เลี้ยงชีพชั่ววันหนึ่งๆ พอที่จะดื่มสุราเมรัยก็ดื่มสุราเมรัยให้มันเมา เสียเงินเสียชื่อเสียเสียง ด่าบ้านด่าเมืองไปต่างๆ
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ได้ชื่อว่าผิดศีลผิดธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า คนเช่นนี้ไม่มีโอกาสจะปฏิบัติศีลธรรมภาวนา มีคติอันชั่วร้าย บุคคลคนนั้นมีชีวิตอยู่ในโลกก็หนักโลก แม้ตายไปก็ไปทุคติ หรือพูดง่ายๆ ก็คือนรกนั่นเอง เป็นที่หนักใจแก่พระยายมบาล จะลงโทษทัณฑกรรมต่างๆ นี้แหละขอท่านคณะอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย พึงสนใจว่า คนที่ทำชั่วผิดศีลธรรมแล้วต้องได้รับกรรมอันร้ายเช่นนั้น เพราะฉะนั้นให้พากันเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรมว่าเราทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเช่นนั้น ในที่สุดธรรมเทศนานี้ ขออวยพรให้
ท่านทั้งหลายพึงอยู่โดยอายุ วรรณะ สุขะ พละ พรทั้ง ๔ ประการนี้ประสิทธิ์ประสาทมาแต่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าระหว่างที่พระองค์ทรงพระชนม์อยู่
(มีต่อ ๑๙) |
|
|
|
    |
 |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
18 ม.ค. 2007, 9:28 am |
  |
บริเวณภายในวัดถ้ำกองเพล
๏ พรรษาที่ ๓๙ พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้อุบายธรรมจากกัลยาณมิตร
จำพรรษา ณ ถ้ำกลองเพล อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี
ออกพรรษา ปี ๒๕๐๕ ในเดือนตุลาคม ท่านก็ออกจากเขาสวนกวางขอนแก่น กลับไปบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง ด้วยรสชาติอันดูดดื่มแห่งการภาวนา ณ ที่นั้นยังเป็นที่ระลึกถึงอยู่ ท่านเดินทางแบกบาตร แบกกลดไปแต่เพียงองค์เดียว ท่านบันทึกไว้ในปลายปี ๒๕๐๕ ว่า
มาอยู่ถ้ำมโหฬาร มาตั้งแต่เดือน ๑๑ ตุลาคม จนถึงเดือนอ้าย ๐๕ (ธันวา ๒๕๐๕-ผู้เขียน) อยู่ที่นี่สงัดดี วิเวกดีเหลือที่สุด เป็นสัปปายะทุกอย่าง อากาศดี เสนาสนะดี อาหารค่ำแต่บุคคลไม่ค่อยดี ภาวนาได้ทั้งกลางวันและกลางคืน
ท่านหลบอยู่ในถ้ำ หลีกเร้นตัว เร่งทำความเพียรอย่างหนัก ไม่ติดต่อกับญาติโยม หรือสำนวนของท่านที่ว่า อาตมาไม่รับต้อนแขก รับต้อน คือ ต้อนรับ นั่นเอง
ทำให้ท่านได้รับความสงบกว่าทุกแห่ง ที่พอมีข่าวรั่วไปว่ามีพระธุดงค์หรือโดยเฉพาะ หลวงปู่ ไปอยู่ใกล้ๆ ก็จะมีผู้มารบกวน ขอโน่นขอนี่ ซึ่งคราวนี้ท่านบันทึกไว้ว่า
ดี...บัตรเบอร์ไม่มีคนมารบกวน เพ่งไตรลักษณ์ดีนัก
พักจากการนั่งภาวนาหรือเดินจงกรม หลวงปู่ก็ใช้การเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการพิจารณาธรรมชาติบ้าง การอ่านพระไตรปิฎกบ้าง
ดังที่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ว่าในการออกเดินธุดงค์ของท่านทุกครั้ง นอกจากบริขารจำเป็นสำหรับสมณะแล้ว ที่จะขาดไม่ได้สำหรับท่านก็คือ หนังสือ ๒ หรือ ๓ เล่ม ซึ่งท่านจะต้องนำติดองค์ไป ขนาดพอใส่ย่าม จำนวนไม่มากเพื่อประหยัดน้ำหนักในการต้องสะพายขึ้นเขาลงห้วยไปด้วยกัน โดยมากจะเป็นหนังสือพระไตรปิฎกเล่มหนึ่ง อีกเล่มหนึ่งก็เป็นพวกบุพพสิกขาวรรณนา หรืออะไรทำนองนั้นและที่สำคัญที่สุด เป็นสมุดเล่มเล็กที่ท่านจะบันทึกข้อธรรมะต่างๆ อันอาจจะเป็นหัวข้อธรรมที่ท่านเห็นว่าสำคัญหลังจากอ่านหนังสือใดๆ มาแล้ว หรืออาจจะเป็นเรื่องที่ประหวัดคิดถึงเหตุการณ์ หรือธรรมะที่ท่านได้รับการอบรมมาจากบูรพาจารย์องค์ใดองค์หนึ่งของท่านแต่ก่อนเก่า หรือเป็นธรรมะที่ผุดพรายขึ้นมาหลังการภาวนา สิ่งเหล่านี้ท่านจะบันทึกลงไปโดยสิ้นเชิง
อยู่ถ้ำมโหฬาร ท่านได้อ่านพระไตรปิฎกซ้ำแล้วซ้ำอีก ได้บันทึกความที่เห็นว่าสำคัญลงไปมากมายหลายประการ ถ้ำมโหฬารนี้ ท่านเคยมาวิเวกหลายครั้งและครั้งสุดท้ายได้มาจำพรรษาอยู่เมื่อปี ๒๕๐๓ เห็นว่าเป็นที่สัปปายะแก่การบำเพ็ญเพียร ท่านจึงหวนกลับมาอยู่ และการบำเพ็ญเพียรคงได้ผลดีมาก ท่านจึงอยู่ถึง ๓ เดือน
เมื่อล่วงขึ้นปีใหม่ ปี ๒๕๐๖ อันเป็นฤดูกาลที่หมดฝนแล้ว ตามวัดต่าง ๆก็เริ่มมีงานบุญกัน การมาอยู่ในละแวกถิ่นบ้านเกิด หลวงปู่ในฐานะที่เป็น ลูก ของจังหวัดเลย และหมู่เพื่อนยกย่องว่ามีวาทะโวหารดี สามารถพูดจาโน้มน้าวจิตใจญาติโยมพุทธบริษัทให้เลื่อมใสศรัทธาในการบุญทานการกุศลได้ดีกว่าหมู่พวก จึงได้รับนิมนต์ให้เป็นผู้เทศนาในการเริ่มงานบุญบ้าง เขียนใบเชิญชวนบอกกำหนดการบุญในนามของเจ้าอาวาสบ้าง เผอิญท่านเป็นคนละเอียดลออ เทศน์ไปให้แล้ว เขียนใบเชิญชวนให้ไปแล้ว ท่านก็บันทึกข้อความไว้ในสมุดส่วนตัวของท่าน พร้อมทั้งมีวันที่กำกับ ทำให้ติดตามประวัติท่านได้ ว่า ขณะนั้นท่านอยู่ ณ จุดใด ที่ใดในประเทศไทย
เช่น วันที่ ๒๓-๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ตรงกับวันแรม ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือนยี่ ท่านกำลังอยู่ที่ถ้ำแก้งยาว บันทึกย่อข้อความสำหรับเทศนา ที่จะแสดงในการบุญของถ้ำผาปู่ ซึ่งได้มีศรัทธาญาติโยม นายอำเภอ บริจาคทรัพย์จัดสร้างทาง ๔ สายเข้าวัดถ้ำผาปู่ พร้อมทั้งศาลาหอฉัน อีกไม่นานต่อมาก็จะเป็นบันทึกข้อความโดยละเอียดของเทศนาที่ท่านแสดงโดยพิสดาร ณ ถ้ำผาปู ถึงการบุญและอานิสงส์ต่างๆ รวมทั้งข้อความพรรณนาสรรเสริญความสงัดวิเวกของถ้ำผาปู่ด้วย
ส่วนใหญ่จะเป็นวัดในเขตละแวกใกล้เดียง แต่บางครั้งก็จะเป็นวัดที่อยู่ในอำเภอห่างไกลออกไป คงจะไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ในเขตอำเภอเมือง วังสะพุงภูกระดึง เชียงคาน หากวัดกัมมัฏฐานวัดใดจะมีงาน วัดนั้นก็จะมานิมนต์หลวงปู่ไปร่วมงานโดยให้เป็นองค์สาธกอานิสงส์แห่งการบุญเสมอ
ท่านได้ทำความเพียรเพื่อตน เป็น อัตตัตถประโยชน์ ช่วยงานหมู่พวกและญาติโยม เป็นญาตัตถประโยชน์ ส่วนปรมัตถประโยชน์ อันเป็นประโยชน์สุดยอดสูงสุด เพื่อความเกษมหลุดสิ้นแห่งอาสวกิเลสทั้งปวงนั้น ท่านก็กำลังทำความพากความเพียรอยู่ แต่ครูบาอาจารย์ที่เมตตาสั่งสอนผ่านมา ดั่งเช่น ท่านพระอาจารย์บุญท่านพระอาจารย์เสาร์ และท่านพระอาจารย์มั่น แต่ละองค์ล้วนมีพระคุณล้นฟ้าล้นดิน ซึ่งหลวงปู่ท่านได้เทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้าด้วยความเคารพรักนั้น แต่ละองค์ท่านก็ได้นิพพานไปแล้ว คงมีแต่ ตน ซึ่งจะต้องเป็นที่พึ่งแห่งตนอยู่ในขณะนี้อย่างเดียวดาย
ท่านเล่าว่า นึกถึงตนขณะนั้น บางครั้งให้เกิดความรู้สึกว้าเหว่นัก
ปี ๒๕๐๖ นี้ ท่านได้ตกลงใจไปจำพรรษา ณ ถ้ำกลองเพลอีกครั้งหนึ่ง ด้วยรำลึกนึกถึงหลวงปู่ขาว ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรสนิทสนมกัน ว่าอะไรก็เห็นด้วยกันไม่ขัดแย้งกัน ท่านบันทึกถึงการจำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำกลองเพลงไว้สั้นๆ ว่า
พ.ศ. ๒๕๐๖ จำพรรษาอยู่ ณ ถ้ำกลองเพล ภาวนาดีนัก เสนาสนะดี ปรุโปร่งแจบจมดี ได้กัลยาณมิตรดี ท่านอาจารย์ขาว ดีกว่าจำพรรษา ณ ที่อื่น
ต่างองค์ต่างอยู่ในที่ภาวนากันเหมือนดังที่ท่านเคยได้มาจำพรรษาอยู่แล้วในปี ๒๕๐๑-๒๕๐๒ บริเวณวัดถ้ำกลองเพลนั้นกว้างขวางมาก เป็นป่า เป็นเขามีโขดหิน มีธารน้ำ เต็มไปทั้งบริเวณวัด จะอยู่ที่ใดก็เป็นที่เงียบสงบ สัตว์ป่าก็ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกช้างป่า ซึ่งดูจะเป็นมิตรสนิทสนมกับหลวงปู่ขาวอย่างยิ่งท่านเล่าว่า หลวงปู่ขาวนั้นมีบุญบารมีเกี่ยวกับช้างมากมาย เห็นทีว่าท่านคงจะเคยมีชาติกำเนิดเก่ามาแต่ปางก่อน เป็นพญาช้าง บรรดาช้างซึ่งเกิดในชาติปัจจุบันจึงเคารพยำเกรงท่านมาก สมัยเมื่อท่านขึ้นไปจังหวัดภาคเหนือ เพื่อติดตามหาท่านพระอาจารย์มั่นเมื่อได้พบท่านระยะหนึ่งก็ธุดงค์ไปด้วยกัน ได้มีช้างออกหากินอยู่ข้างทางซึ่งเป็นไหล่เขาทางนั้นเป็นทางซึ่งหมิ่นเหม่ที่จะตกลงเหวอีกข้างหนึ่ง ด้านหนึ่งเป็นเขาอันสูงชันเป็นที่อันจำกัด แล้วช้างนั้นก็ยังขวางทางอยู่ ท่านพระอาจารย์มั่นก็บอกให้หลวงปู่ขาวให้จัดการ เจรจา กับช้างเหล่านั้น เข้าใจว่า โดยที่ท่านพระอาจารย์มั่นหยั่งรู้ถึงอดีตชาติของหลวงปู่ขาว ท่านจึงบอกเช่นนั้น
หลวงปู่ขาวก็ออกหน้าหมู่เพื่อน เข้าไปเจรจากับช้างบอกว่า
พี่ชายท่านก็เป็นสัตว์ซึ่งใหญ่น่ากลัว พวกเราเป็นมนุษย์ จะต้องเดินทางต่อไปทางนั้นซึ่งมีทางเดียว ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงไปที่นั่นได้ ขอให้พี่ชายจงเห็นใจเรา เพราะร่างของท่านนั้นก็แสนจะน่ากลัว ถ้าเผื่อเห็นใจกันได้ ขอให้ท่านเอาหน้าซุกเขาหลบทางให้พวกเราวางใจว่าท่านจะไม่ทำอันตราย เราจะได้เดินทางผ่านไป พวกเราเป็นเพศนักบวชจะพากันไปเจริญศีล ภาวนา ได้กุศลก็จะได้แผ่เมตตาให้แก่ท่าน ขอให้ผ่านทางให้แก่เราด้วยเถอะ
หลวงปู่ขาวบอกว่า ช้างนั้นก็ดูแสนรู้คำพูดนั้น ฟังแล้วก็นั่งหันหลังให้ เอาหน้าซุกเข้าก้อนหิน ดูท่าทางจะรู้ภาษากันดี ดังนั้นคณะธุดงค์ชุดนั้นก็เดินผ่านเข้าไปได้ ข้อนี้ซึ่งหลวงปู่บอกว่า เป็นอัศจรรย์ข้อหนึ่ง
จำพรรษาในปีนี้ ท่านได้แยกอยู่ห่างจากหมู่เพื่อน มาอยู่คนเดียวอีกด้านหนึ่งของบริเวณถ้ำกลองเพล มานั่งคิดนึกถึงตนแล้ว ก็ให้นึกสะท้อนใจ ท่านรู้องค์ว่าท่านได้พยายามปฏิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนามาอย่างเด็ดเดี่ยว สิ่งใดที่ครูบาอาจารย์พูดว่าให้กล้า ให้ทำความเพียร ก็ได้พยายามทำตามคำที่ท่านแนะนำ หรือได้ยินได้ฟังท่านพูดท่านอบรมให้ฟัง อย่างเช่น การอดนอน ผ่อนอาหาร ผ่อนข้าว ผ่อนน้ำ อาหารเคยฉันเต็มอิ่ม ก็ลดละให้เหลือเพียงวันละ ๒๐ คำ ผ่อนเหลือ ๑๐ คำ ๕ คำ หรือไม่ฉันเลยก็มี ไม่ฉันเป็นวันๆ หรือเป็นอาทิตย์ก็มี อดข้าวเพื่อจะดูกำลังความเพียรของตนว่าจะสามารถอดทนได้เพียงใด ส่วนน้ำนั้นก็แสนจะประหยัดมัธยัสถ์ ใช้วันละกา ครึ่งกาเป็นที่กล่าวขวัญกันมานานแล้ว เคยพูดกันว่า อดข้าวนั้นอดได้ แต่อดน้ำนั้นลำบากแต่ท่านเองก็พยายามแม้แต่การอดน้ำ
ท่านเคยได้รับคำทักจากครูบาอาจารย์ว่า ท่านนั้นเป็นคนราคจริต คือเป็นคนรักสวยรักงาม ชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย เห็นสิ่งไม่งดงามจะทนไม่ได้ท่านก็พยายามทรมานตนเอง ให้เห็นเป็นอสุภะ ความไม่สวยไม่งามของกาย แม้แต่เครื่องนุ่งห่ม จีวรก็ต้องเย็บปะชุนจนแทบจะหาเนื้อเดิมไม่ได้ เอาผ้าบังสุกุลหรือที่เขาเรียกว่าผ้าเกลือกฝุ่นที่ทิ้งไว้ตามทุ่งนา เอามาปะเย็บเป็นของตน หากมีใครถวายจีวรใหม่สบงใหม่ ก็จะถวายให้พระองค์อื่นไป แต่ตัวเองนั้นจะต้องใช้ของเก่า ซอมซ่อดูสกปรกเพราะปะซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ความจริงก็ต้องซักให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ
ท่านทรมานตนเพื่อที่จะไม่ให้เป็นคนราคจริต รักสวยรักงาม อดทนทุกอย่าง เพราะว่าจิตเดิมเคยรักความงาม เคยเกิดมาในบ้านในตระกูลที่ร่ำรวยมีอันจะกิน เคยกับของงามของสูง ก็ดัดสันดานจิตของตนให้ไปเคยชินชากับความไม่สวย คิดขึ้นมาได้ว่า แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดในปราสาทราชวัง เกิดเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ มีนางสนมกำนัลห้อมล้อม มีความสุขความสบาย แต่กระนั้นท่านก็ยังกล้าสละความสำราญความสบายเหล่านั้น ออกมาแสวงหาโมกขธรรม ตัวเรานั้นเทียบไม่ได้เลยกับองค์พระบรมศาสดา ไฉนทำไมเราจะทำเป็นคนทุกข์คนยาก ลำบากเช่นนั้นไม่ได้
ส่วนการพักการนอนนั้น ท่านก็ทำเนสัชชิก อธิษฐานไม่นอน ไม่ยอมให้หลังแตะพื้นเป็นเดือนๆ อยู่เพียงในอิริยาบถ ๓ คือ เดิน ยืน และนั่ง เท่านั้นส่วนอาหารการกิน ก็อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ให้อยู่ด้วยความอดอยากยากแค้นเหลือเกินการเดินจงกรมก็เดินครั้งละเป็นครึ่งค่อนวัน เดินจนเท้าแทบจะแตก ทะลุ แต่ส่วนใหญ่ก็ได้เพียงความสงบ จะพิจารณาให้เห็นเป็นไตรลักษณ์ ก็ดูเลือนลางอยู่ อย่างเช่นการม้างกาย เห็นเป็นปฏิภาคนิมิตคล่องแคล่วว่องไว กำหนดไปครั้งใดจิตจะรวมลงกายแตกแยกเป็นส่วนๆ กำหนดไปให้กายราบ กองร่างกายที่แยกออกเป็นส่วนนั้นให้ราบลงเป็นหน้ากลอง กำหนดให้กลับคืนขึ้นมาเป็นกาย ขยายไปให้ใหญ่โตจนกายนั้นจะใหญ่คับห้องคับถ้ำ หรือจะย่นย่อลงเล็กในขนาดเท่าตุ๊กตุ่นตุ๊กตาตัวน้อยทำได้หมด จนกระทั่งม้างกายตนเองก็กระทำได้ว่องไว ม้างกายไปสนุก จนกระทั่งเก่งกล้าไปม้างกายครูบาอาจารย์ จนกระทั่งถูกดุ ถูกกำราบ สมัยที่อยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น ท่านนึกขึ้นมาแล้วก็แสนจะให้นึกอายใจที่กล้าดี ม้างท่านพระอาจารย์มั่น ไปดูจิตของท่านจนเห็นแสงจิตท่านเป็นสีทองสว่างไสว ท่านพระอาจารย์มั่นท่านรู้ ท่านจึงกำราบเสียยกใหญ่ ดูเป็นการที่สนุกสนานที่จะได้ม้างกาย ได้รู้จิตคนอื่น แต่นั่นก็เป็นเพียงด้านสมถะ ครูบาอาจารย์สอนให้เอาไตรลักษณ์เข้าฟอกก็รู้อยู่ มันก็เป็นหลักกฎเกณฑ์อยู่ แต่จะบอกว่าเป็น อนิจฺจํ เป็น ทุกฺขํ เป็น อนตฺตา ปากมันว่าเป็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แต่ใจมันยังไม่ยอมรับ เหมือนกับมีอะไรที่มาปกคลุม กั้นกางอยู่
หลวงปู่เล่าว่า เมื่อท่านมองดูหมู่เพื่อน ใครๆ ที่รุ่นราวคราวเดียวกันอย่างเช่น หลวงปู่ขาว ซึ่งเป็นสหธรรมิก ได้บวชในเวลาเดียวกัน เป็นคู่นาคซ้ายขวาด้วยกัน ก็ดูท่านจะผ่านไปสู่ความสงบถึงที่สุดจิตนานแล้ว ก่อนหน้าเราหลายปี ตัวเรานั้นเป็นอย่างไรถึงทำไม่ได้ เพื่อนเราซึ่งบวชพร้อมกันกับเรา ทำไมท่านทำได้ เราเป็นอย่างไร ไม่ได้กินข้าวเหมือนกับเขาหรือ เลือดของเราไม่มีสีแดงเหมือนกันหรือ ท่านไม่มีหิว ไม่มีกระหาย ไม่หนาว ไม่ร้อน ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ดีกว่าเรากระนั้นหรือ ก็ต่างคนก็ต่างเหมือนกัน ทำไมท่านจึงทำได้ ทำไมเราจึงทำไม่ได้ เถอะน่า
หลวงปู่ได้พยายามคิดถึงเรื่องนี้ ระหว่างทำความเพียร ท่านบอกว่า บางครั้งท่านรู้สึกว้าเหว่และอาจจะน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งก็รู้ว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูก แต่มันก็พยายามสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความอุตสาหะวิริยะที่จะทำความเพียร แต่ท่านก็ทราบดีว่าการทำความเพียรนั้นท่านก็ไม่ได้ย่อหย่อนน้อยหน้ากว่าใคร แต่มันอาจจะเป็นได้ไหมว่าปัญญายังไม่ได้เกิดขึ้น ปัญญาซึ่งเป็นประดุจเส้นผมบังภูเขา ซึ่งเราเองนึกไม่ออก แต่คนอื่นจะนึกออก
หวนนึกถึงคำที่ท่านอาจารย์มั่นท่านได้เคยพูดว่า ท่อนซุงนั้นมันไม่เข้าตาใครหรอกเส้นผมเล็กๆ นั้นต่างหากเล่าที่จะเข้าไปในดวงตา กำบังตาไม่ให้เห็นประการใด
คืนวันนั้น หลังจากที่จงกรมแล้วระยะหนึ่ง ก็ได้มาพูดคุยกันกับหลวงปู่ขาว แสดงธรรมสากัจฉาซึ่งกันและกัน หลวงปู่เล่าว่า หลวงปู่ขาวก็คงจะเข้าใจความคิดของท่าน แต่คำน้อยมิได้พูดให้เป็นที่กระเทือนใจ ท่านคงเข้าใจดีว่า ระยะนั้นเพื่อนสหธรรมิกของท่านกำลังกระสับกระส่ายที่จิตไม่เป็นไปตามที่ต้องการ แต่ท่านจะพูดอะไรตรงๆ ก็ลำบาก ท่านก็ได้แต่เปรยขึ้น
หลวงปู่ขาวท่านทำทีเป็นเล่าถึงเรื่องสมัยที่ท่านยังอยู่เชียงใหม่กับท่านพระอาจารย์มั่น ขณะที่นั่งภาวนาอยู่ข้างล่าง ท่านก็ไม่สบายใจ นึกบ่นว่า ทำอย่างไรๆ ทำไมจิตมันจึงแข็งอยู่อย่างนั้น ทำสมาธิก็ไม่ลง ทำอย่างไรๆ ก็ไม่ลง ทำอย่างไรๆ มันก็ไม่สงบ ท่านรำคาญเต็มที จึงโกรธว่าตัวเองขึ้นมาว่า
ที่นั่นมันผีนรกวิ่งขึ้นมาจากอเวจีนี่นา จิตมันถึงได้แข็งกระด้างอย่างนี้ ไฟเผามันอย่างนี้ น่าจะกลับให้มันลงไปอเวจีอีก อย่าให้มันขึ้นมา ให้อเวจีมันเผา
ท่านด่ามัน เสร็จแล้วก็ลงนอน พอตื่นเช้า หลวงปู่ขาวก็ขึ้นไปจัดการถ่ายกระโถนของท่านอาจารย์มั่น ปฏิบัติท่านอาจารย์ของท่าน ท่านอาจารย์ก็ลุกขึ้นมาว่า
เอ๊ะ ! ท่านขาว ท่านทำไมทำอย่างนี้ ท่านก็เป็นผู้ประเสริฐเป็นมนุษย์ประเสริฐอยู่แล้ว มาด่าตัวเองเฮ็ดหยัง (ทำไม) ให้ลงนรกอเวจีอย่างไร ไม่ถูกนี่ ท่านมาประจานตน ว่าตนอย่างนี้ไม่ได้ ท่านก็ทำความเพียรอย่างดีแล้ว จะไปว่ามันทำไม ถ้าว่าหนักๆ เข้า ท่านอาจฆ่าตัวตายได้นะ และถ้าเผลอไปฆ่าตัวตายเข้าแล้วชาตินี้ ต่อไปนับชาติไม่ได้นะ ที่จะต้องวกวนกลับไปฆ่าตัวตายอีก ฆ่าตัวตายนี่ถ้าท่านเริ่มขึ้นชาติหนึ่งแล้ว ก็จะต้องต่ออีก ๕๐๐ ชาติ แล้วก็ไปเที่ยวเอาภพเอาชาติผูกเวรผูกกรรมกัน ฆ่าตัวตายอยู่อย่างนั้น อย่าไปทำอีกนะท่าน ไม่ถูกตัวเองบริสุทธิ์อยู่ ทำไมถึงไปทำตน ไปด่าตนอย่างนี้
หลวงปู่ขาวบอกว่า ใครไปนึกอย่างไร ทำอย่างไร อยู่ที่ไหน ท่านพระอาจารย์มั่นท่านรู้หมด ท่านก็อยู่กุฏิของท่าน อยู่ทั้งนั้นแหละ แต่ทำไมท่านรู้จิตคนอื่นก็ไม่ทราบ ถึงถูกท่านพระอาจารย์มั่นดุแล้ว แต่หลวงปู่ขาวทั้งๆ กลัว มันก็ยังนึกโกรธตัวเองอยู่นั่นแหละ
ขึ้นไปอยู่ดอยมูเซอกับพวกมูเซอ เสือก็มีตัวใหญ่ๆ ลายพาดกลอน เดินอยู่กลางคืนก็นึกบอก เจ้า นี่มันเลวจริงๆ มันเป็นหยัง มันหยาบแท้ มันแข็งแท้ ให้เสือมาคาบมึงไปกินซะ
หลวงปู่ขาวท่านเล่า สมัยนั้นท่านเป็นคนโทสจริต ท่านโกรธง่าย โกรธนี่ สมัยที่ท่านมีลูกเล็ก ลูกร้องไห้ท่านจับขาแขวนห้อยลงมาแล้วตีก้น ทั้งตีทั้งด่า มีอะไรนิดหน่อยก็โกรธ ไม่น่าเชื่อเลยเมื่อได้ยินอย่างนี้ เพราะว่าภาพหลวงปู่ขาวที่พวกเราเห็นระยะหลัง ท่านงามพร้อม ยิ้มของท่านเป็นยิ้มที่เปิดโลก สว่างเข้าไปในหัวใจ ยิ้มที่ทำให้ทุกคนได้เห็นแล้วก็ชื่นใจ เต็มไปด้วยความเมตตากรุณาอย่างที่สุด แต่ท่านบอกว่าเดิมนั้นท่านเป็นคนโทสจริต
นี่แหละ สิ่งที่หลวงปู่หลุยเล่าให้ฟังถึงเรื่องเก่าๆ หลวงปู่ขาวก็เล่าให้ท่านฟังว่า ด่าตัวเอง นึกว่าตัวเอง โกรธที่จิตไม่ลง ให้เสือมาเอาไปกินซะนึกว่าฆ่ามันได้แล้ว จิตมันจะได้กล้า มันจะได้เกรง อ่อนน้อมยอมต่อเรา ท่านด่าไปจบแล้ว ก็ไปเดินจงกรม นั่งสมาธิ นั่งอย่างไรๆ จิตมันก็ไม่ลง ท่านก็เลยนอน
คืนนั้น ท่านบอกว่า พอหลับไปปรากฏมีนิมิตเห็นมารดามานั่งอยู่ข้างๆ เห็นพวกมูเซอมาจากไร่ หอบผักใส่ตะกร้าแบกขึ้นหลังมา โยมมารดาท่านบ่นขึ้นว่า ขาว...ขาว นี่ ทำอย่างไรถึงเป็นหนอ
พวกมูเซอก็พูดว่า ไม่ยากๆ เอาของอ่อนให้กินเด้อ อย่าไปกินของแข็ง ถ้ากินของแข็งไม่เป็น กินของอ่อนล่ะเป็น
แม่ท่านก็เลยบอกว่า ไม่เข้าใจ เป็นอย่างไร ของอ่อน ของแข็ง แม่ท่านก็เอิ้น (เรียก) ถามขึ้นว่า ของอ่อนมีอะไรไหม
ของอ่อนก็อย่างสาหร่ายไงล่ะ
แม่ท่านก็บอกว่า ขาว...ขาว กินของอ่อนเด้อ
ท่านตื่นขึ้นจากนิมิตความฝัน ไปนั่งสมาธิ เริ่มต้นพิจารณา พิจารณาของแข็ง ก่อน
อะไรหนอที่มูเซอร์ว่าเป็นของแข็ง เรามีอะไรที่เขาว่าเรากินของแข็ง
พิจารณาไปๆ มาๆ ผู้รู้ก็ตอบขึ้นว่า ที่ว่าของแข็งคือความโกรธ ความมักโกรธ นั่นแหละ ของแข็งล่ะ
แล้วอ่อนล่ะ ที่บอกว่าให้เอาของอ่อนมากิน อะไรคือของอ่อน ?
พิจารณาไปๆ มาๆ ก็รู้ขึ้นว่า ของอ่อนก็ต้องเอาเมตตา
ท่านได้ข้อคิดอันนั้น ต่อนั้นมา ท่านก็แผ่เมตตาทั่วสารทิศ แผ่แม้แต่สัตว์ทั้งหลาย แผ่เมตตาไปไม่แต่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงมิตรสหาย แม้แต่ศัตรูก็แผ่ไป แผ่ไปโดยไม่มีประมาณ ความโกรธที่เคยสิงอยู่ในดวงจิตนั้นก็ค่อยๆ อ่อนลง อ่อนลงแทบจะไม่นึกโกรธอะไรเลย มีแต่ความเมตตาสงสารสรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วโลก ให้นึกเห็นใจเขา เขาจะทำอะไรที่ผิดไปบ้าง เขาก็ไม่ตั้งใจ หากเขาตั้งใจ ก็เห็นใจว่าเขาเป็นอย่างนั้น เขาถึงได้ทำอย่างนั้น เป็นความลำบากของเขาเอง ที่เขาไม่ดี ไม่ได้เกี่ยวอะไร ให้นึกสงสารเขา เมื่อแผ่เมตตาไปๆ ความโกรธนั้นก็ค่อยๆ อ่อนลง จิตก็ไม่ค่อยแข็ง จิตอ่อนแล้ว จิตอ่อนควรแก่การงานแล้ว นึกจะทำอะไรก็ได้ เป็นจิตที่ดี เป็นจิตที่ควรชม ควรแก่การงาน จะพิจารณาอะไรก็ได้ จิตอ่อนหมายถึงว่าจิตเบา จิตว่าง
ท่านเล่าให้หลวงปู่หลุยฟัง แล้วท่านก็หัวเราะ ว่าตอนนั้นในนิมิตที่เกี่ยวกับโยมแม่มาพูด ขาวต้องกินของอ่อนเด้อ มันชัดอยู่ในใจ ไม่มีนิมิตอันนั้น ท่านจะคิดไม่ออก มันเป็นเส้นผมบังภูเขาจริงๆ
หลวงปู่หลุยได้ยิน ท่านก็ได้คิดว่า อธิบายธรรมทั้งหลายนั้น มันไม่ได้ตรงเป็นการชี้แจงอธิบายอะไรตรงไปตรงมา คำพูดบางคำ พูดนิดหน่อยก็จะสามารถสะกิดใจผู้เป็นปราชญ์ให้คิดขึ้นได้เอง
ท่านก็กลับมาหวนพิจารณาตัวท่านเอง ความโกรธท่านไม่ได้มีอย่างท่านอาจารย์ขาว แต่ท่านมีอะไรที่ท่านรู้อยู่ว่ามันค้างคาอยู่ อุบายธรรมเกี่ยวกับเรื่องของอ่อน ของแข็ง ของหลวงปู่ขาว ก็กลับมาทำให้ท่านคิดได้ สิ่งนั้นคือสิ่งที่ได้ค้างอยู่ในใจมานาน ท่านก็ไม่ค่อยยอมบอกให้แก่ใคร เกรงเพื่อนจะว่า คิดการใหญ่โต คิดเกินตัว นั่นก็คือการที่ท่านปรารถนาพุทธภูมิ ต้องการเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมโดยตนเอง ไม่ต้องอาศัยคำสั่งสอนของใคร อาจารย์ของท่านที่ได้ทราบแต่องค์แรก ก็คือท่านพระอาจารย์สิงห์ ที่หลุดปากสารภาพไปก็เพราะว่าได้เกิดเรื่องรอยอดีตที่ฝังมาแต่ชาติก่อน ซึ่งท่านได้พยุงพาไป หนีจากอันตรายจากพรหมจรรย์ไปวัดป่าบ้านเหล่างาในครั้งกระนั้น ส่วนท่านพระอาจารย์มั่น ในภายหลังก็คงทราบเช่นกัน เพราะตอนหลังท่านก็มีเมตตา และเห็นใจว่า หลวงปู่ยังและละความปรารถนาที่จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ค่อยเด็ดขาด การดุว่าตอนหลังท่านจึงเพลาไปมาก
หลวงปู่ท่านบ่นว่า ความจริงท่านเลิกละแล้ว การปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านั้นท่านมาคิดดูว่า ครูบาอาจารย์ที่มีอยู่ ต่างองค์ดีกว่า วิเศษกว่าท่านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นท่านพระอาจารย์บุญ ท่านพระอาจารย์เสาร์ หรือ ท่านพระอาจารย์มั่น แต่ละองค์ก็ยังต้องกลับมาปรารถนาเพียงพระอรหันตสาวก เราดีวิเศษเช่นไร ถึงจะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ควรจะต้องละความคิดอันนั้นเสีย
แต่ท่านว่า ท่านละแล้ว มันก็ยังไม่แน่ใจแท้ เพราะทำอะไรดูมันขัดเขินอยู่ตลอด อย่างน้อยเมื่อปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็ย่อมต้องมีผู้ปรารถนามาเกิดด้วยเป็นคู่บารมีกัน คงจะได้สร้างบารมีปรารถนาเช่นนั้นมาด้วยกันหลายภพหลายชาติหรือช้านานแล้ว เช่นที่เป็นบิดา มารดา บุตร ภริยา ทั้งบริวาร ก็คงจะได้ไปเกิดพร้อมกันเป็นบิดา มารดา บุตร ภริยา หรือบริวารของพระพุทธเจ้า เมื่อท่านจะเลิกละไปท่านเหล่านั้นก็ย่อมมาทวงความปรารถนาอยู่ คงยังไม่ยอมเลิกรากันไปได้ ครั้งแรกก็ว่าปรารถนาให้มาพบกันก็เป็นของยาก ก็พยายามให้พบกัน เพื่อว่าเมื่อพบกันแล้วจะได้ช่วยกันสร้างบารมีกว่าจะตรัสรู้นั้นประการหนึ่ง เกิดมาซ้ำซากหลายชาติเป็นอนันตนัย พระพุทธเจ้าถึงตรัสว่า เอาเข็มจี้ลงแผ่นหินไม่ถูกกองฟอน ตถาคตไม่มี สร้างบารมีกันนานหนักหนาจนกว่าจะสำเร็จพระพุทธเจ้าได้ บุตรบริวารว่านเครือโดยเฉพาะคู่บารมีนั้นก็ย่อมจะต้องมาเกิดใกล้ชิดกัน เมื่อท่านผู้เป็นหัวหน้าจะเลิกละผู้อื่นก็ย่อมจะต้องไม่ยอมง่ายๆ จะต้องเจรจากัน
ท่านไม่ทราบว่าตัวท่านนั้นจะได้เกิดมานานเท่าไรที่ตั้งปรารถนาอันนี้ แต่ท่านก็ทราบดีว่าผู้ปรารถนาพุทธภูมินั้น เกิดมาชาติใดย่อมไม่ทิ้ง ทาน ศีล ภาวนา ไม่ทิ้งการสงเคราะห์ฝูงชนเป็นอย่างยิ่ง ไม่ทิ้งการเมตตาแก่สัตว์ทั้งหลายเสมอภาคกัน เกิดภพใดชาติใด ภพน้อยภพใหญ่ ย่อมไม่ทิ้งการสร้างพระบารมี เป็นบารมีที่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ ไม่ใช่บารมีที่จะตัดภพตัดชาติ ในชาตินี้ท่านได้พบผู้ที่เคยข้องแวะเกี่ยวข้องกันในชาติต่างๆ จึงทำให้ดูหวั่นไหวไปบ้าง แต่ด้วยความรักในเพศพรหมจรรย์จึงได้ผ่านมา แต่การดำเนินไปสู่ความหลุดพ้นที่สุดของจิตนั้น ก็ยังอยู่ ขัดขวางอยู่มาก ท่านแน่ใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ท่านจะต้องดำเนินผ่านไปให้ได้
ท่านเล่าว่า พรรษานี้ท่านรู้สึกปลอดโปร่งใจที่ว่า สามารถหาเส้นผมที่มาบังภูเขาได้ จากข้อคิดที่ได้จากเพื่อนกัลยาณมิตร นี่แหละ ท่านจึงได้พูดว่า การภาวนาถ้าจะเป็นไปได้ดีนั้น นอกจากจะต้องมีครูบาอาจารย์ที่ดีแล้ว ก็ควรจะต้องมีกัลยาณมิตร มีมิตรดี มีสหายที่ดีด้วย จริงอยู่ท่านไม่ไม่ได้คิดว่า ข้อขัดข้องของท่านจะเป็นเรื่องโทสจริต ท่านไม่ค่อยได้มีด้านโทสจริต เพราะท่านไม่ได้โกรธใครง่ายๆ ของท่านนั้นเป็นราคจริต ซึ่งท่านได้พยายามแก้อยู่แล้ว แต่สิ่งขัดข้องของท่านนั้น มันเป็นเรื่องที่ฝังลึก ฝังรากไว้ช้านานแล้วต่างหาก ท่านจึงกล่าวว่า ในบรรดาผู้ที่จะเจริญภาวนานั้น ย่อมใช้อารมณ์ธรรมต่างๆ กัน คนหนึ่งอาจจะขัดเกลาด้านโทสจริต อีกคนหนึ่งด้านราคจริต ฯลฯ แต่ทุกคนต่างมุ่งเพื่อละกิเลสอย่างเดียวกัน ปราชญ์ท่านว่าไว้ว่า ดุจผู้เป็นเสนาม้า เสนารถ เสนาเดินด้วยเท้า แต่ทุกด้านก็ต่างเพื่อทำสงครามเอาชนะอย่างเดียวกัน ฉะนั้น
(มีต่อ ๒๐) |
|
|
|
    |
 |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
18 ม.ค. 2007, 9:34 am |
  |
๏ พรรษาที่ ๔๐ พ.ศ. ๒๕๐๗ สุดสะพานรุ้งสู่อวกาศ
จำพรรษา ณ บ้านกกกอก ต.หนองงิ้ว อ.วังสะพุง จ.เลย
หลังจากที่ได้ข้อคิดจากหลวงปู่ขาวแล้ว ท่านก็ได้แยกมาบำเพ็ญประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ ระยะแรกท่านยังวิเวกอยู่ต่อไปบริเวณวัดถ้ำกลองเพล เนื่องจากเห็นว่าเป็นที่สงัดวิเวกอย่างมาก อย่างไรก็ดี ต่อมาท่านก็ต้องเปลี่ยนความคิด ด้วยที่วัดถ้ำกลองเพลนั้น ใครก็รู้ว่า พระคุณเจ้าหลวงปู่ขาว อนาลโย มาพำนักอยู่ที่นั่นหมู่สานุศิษย์จึงมากราบมาไหว้กันอยู่เสมอ สำหรับเวลาระหว่างเข้าพรรษานั้น ต่างองค์ต่างต้องจำบำเพ็ญภาวนาอยู่ในอาวาสของตน จึงจะมาได้แต่เพียงทำวัตรพระเถระผู้ใหญ่แล้วก็กลับไปเท่านั้น ครั้นเมื่อออกพรรษาปวารณาแล้ว แต่ละท่านแต่ละองค์ก็จะสามารถเดินทางธุดงค์หรือวิเวกไปตามที่ต่างๆ ได้ ถ้ำกลองเพลเป็นสถานที่ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องความสงบ สงัด วิเวก อุดมด้วยป่าเขาและภูเขา ซอกหินผามากมาย จึงมักมีหมู่พวกสัญจรมาเยือนมิได้ขาด
สุดท้าย หลวงปู่เห็นว่าที่นี่จะไม่ได้รับความวิเวกเต็มที่ ท่านก็เก็บบาตรแบกกลด เดินทางต่อไป ท่านได้มุ่งหน้ากลับไปอยู่ที่จังหวัดเลย ด้วยเห็นว่าที่นั่นอยู่ห่างไกลออกไป และยังมีที่น่าภาวนาอยู่อีกมาก เถื่อนถ้ำต่างๆ ในจังหวัดเลยนั้นก็ยังเป็นที่ดึงดูดจิตใจให้สงบ สงัด น่าบำเพ็ญภาวนามาก จะเป็นถ้ำผาปู่ก็ดี ถ้ำมโหฬารก็ดี ถ้ำผาบิ้งก็ดี ถ้ำแก้งยาวก็ดี หรือแม้แต่ที่วิเวก อย่างเช่น บ้านไร่ม่วง หนองบง ก็ล้วนแต่เป็นที่ซึ่งสงบสงัด น่าภาวนาทั้งสิ้น ระยะต้นท่านได้ธุดงค์เลยไปถึงบริเวณแถวแก่งคุดคู้ จังหวัดเลย
ที่แก่งคุดคู้ ท่านเห็นพญานาคทำทางให้แม่ของเขา โดยพังหินลงมาแล้วเกลี่ยทางเป็นสีแดงเถือกพาดขึ้นไปบนไหล่เขา ระยะนั้นหลวงปู่ก็ได้พบเห็นพญานาคอีกหลายครั้ง ท่านจึงค่อนข้างจะคุ้นเคยกันอยู่บ้าง เฉพาะที่แก่งคุดคู้นี้ท่านเล่าว่า
ที่เห็นน่าอัศจรรย์นั้นคือ ได้เห็นกระต่ายมาเต้นชมจันทร์ เวลากลางคืนฟ้าสว่างมาก ก้อนหินน้อยใหญ่ที่อยู่ในลำแม่น้ำโขง ก็แพรวพราวรับแสงจันทร์ ท่านภาวนาจิตถอนออกมา ก็เปลี่ยนอิริยาบถออกมาเดินเล่น จึงเห็นบรรดาหมู่กระต่ายมาเต้นชมจันทร์อยู่ และเมื่อท่านเดินจงกรม พวกกระต่ายก็มาเดินอยู่ใกล้ทางอยู่เช่นกัน มากันเป็นหมู่ ตัวหัวหน้านั้นมากราบนมัสการ แต่พวกลูกเล็กหางแถวก็ยังเล่นอยู่เหมือนกับว่า บิดามารดาพาลูกเล็กๆ ตามมา บิดามารดายังเข้ามากราบนมัสการพระเจ้าพระสงฆ์อยู่แต่เด็กๆ มิได้เดียงสาอะไร พ่อแม่ให้กราบก็กราบ แต่ก็ยังมีเล่นซนกันอยู่ มองดูแล้วน่ารักน่าสงสารเหลือ คือพวกสัตว์เหล่านี้เขาก็ต่างมีชีวิตเช่นเดียวกับคน มีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกัน หากแต่กรรมนั้นปรากฏอยู่ เขาจึงเสวยชาติเป็นสัตว์ แต่บางครั้งนิสัยเช่นคนก็ยังมีอยู่ อย่างเช่น พระเถรเจ้าหลายองค์ก็เคยพบ เมื่อเวลาที่ท่านกำลังนั่งภาวนา จะมีกระต่ายมานั่งอยู่ที่ใต้แคร่ นั่งหลับตาพริ้มภาวนา ยกมือขึ้นกอดอกก็มี บางองค์ก็พบว่า ระหว่างที่ท่านกำลังเดินจงกรม มีเจ้ากระต่ายน้อยมายืนอยู่ที่ปลายทางจงกรม ใช้ขาสองข้างกอดอกหลับตาพริ้มอยู่ เดินมาถึงหัวทางจงกรมก็ยังอยู่กลับไปจนสุดรอบ ย้อนมาก็ยังอยู่ที่นั่น จนกว่าท่านจะเลิกจงกรม มันจึงจะละวาง กระโดดเข้าป่าไป
ความอัศจรรย์ที่หลวงปู่ท่านชอบเล่ามากที่สุดก็คือเรื่องที่ท่านพระอาจารย์สิงห์ อาจารย์องค์ลำดับแรกๆ ของท่าน ซึ่งท่านไปจำพรรษาอยู่ด้วยที่วัดป่าบ้านเหล่างา หรือวัดป่าวิเวกธรรม ที่จังหวัดขอนแก่นนั้น ท่านได้เล่าถึงว่า เมื่อเวลาท่านพระอาจารย์สิงห์เดินจงกรมในป่า ด้วยจิตท่านนั้นอ่อน แผ่เมตตาไปโดยไม่มีประมาณ ถึงกับว่า เมื่อมีเสือมานั่งอยู่ใกล้ทางจงกรม ท่านแผ่เมตตาให้จนจิตของเสือนั้นอ่อนรวมลงเป็นมิตรสนิทต่อท่าน ท่านหัดให้เสือเดินจงกรมตามท่านไปได้ ความนี้แม้แต่ภายหลัง ท่านพระอาจารย์มั่นก็กล่าวยกย่องท่านพระอาจารย์สิงห์ กรณีนี้อยู่เสมอ ท่านถึงกล่าวว่า สัตว์นั้น สุดท้ายย่อมทำให้อ่อนได้ด้วยแรงเมตตา ไม่ใช่การใช้กำลังอำนาจที่จะเอาชนะกัน มนุษย์สมัยนี้เอาชนะกันด้วยกำลัง จึงมีการฆ่าฟันกันตาย โกรธขึ้งหึงสาพยาบาทซึ่งกันและกัน พยาบาทแล้วก็เคียดแค้นกัน ก่อเวรก่อกรรมไม่มีที่สิ้นสุด
หากทุกท่านจะใช้พรหมวิหาร ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นอัปปมัญญาพรหมวิหารแผ่ไปให้มาก แผ่ไปโดยไม่มีประมาณ สัตว์โลกทั้งหลายก็จะเป็นมิตรสนิทกัน ไม่มีการก่อเวรก่อกรรมแต่อย่างใด
ในปี ๒๕๐๗ ที่ท่านคิดว่าทางด้านสมถะของท่านก็ได้เป็นไปพอตัวแล้วจิตมีแต่จะเสวยสุขต่อไป ถ้าหากไม่ฝึกปรือให้มันอ่อนลงควรแก่การงาน ให้พิจารณาให้ถ่องแท้ ใช้ไตรลักษณ์เข้าไปกำกับหรือ ฟอกเช็ดจิต อย่างที่ท่านเคยกล่าวอยู่เสมอแล้ว ก็อาจจะเปล่าประโยชน์ ท่านคงจะกลายเป็นพรหมลูกฟัก หรือไปเกิดเป็นพรหมต่อไปอย่างน่าเสียดายที่ชาตินี้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาแล้ว ความปรารถนาลี้ลับที่คิดว่าจะรู้ธรรมด้วยตัวเอง ไม่ต้องการจะรู้ธรรมจากผู้ที่มาสอนให้ ไม่ต้องการเป็นสาวกใคร นั้นก็ได้อ่อนละลายลง เพราะยิ่งได้เห็นได้ฟังจากท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านยังต้องเกิดเป็นสุนัขนับเป็นอสงไขยชาติ ด้วยระหว่างที่เกิดชาติหนึ่งๆ นั้น เกิดไปพบนางสุนัขตัวใหม่เกิดผูกพันรักใคร่ขึ้น ก็ตั้งจิตปรารถนาที่จะพบกันในชาตินั้นต่อๆ กันไป จึงต้องเวียนกลับมาเกิดเป็นสุนัข ไม่มีที่สิ้นสุด นึกขึ้นได้แล้วก็ควรจะตัดภพตัดชาติ หาทางตัดภพตัดชาติ มุ่งไปสู่ที่สุดจิตเสียโดยดี
ท่านเล่าว่า การตัดความปรารถนานั้น ต้องตัดในเวลาที่จิตเข้าสู่อัปปนาสมาธิที่ลึกที่สุด แล้วถอนขึ้นมา กำหนดจิตตัดว่า ที่เราได้เคยปรารถนาพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น เราขอลาแล้ว เราขอตัดเด็ดขาดแล้ว เราไม่ต้องการ เราต้องการมุ่งลัดตัดตรงไปสู่ที่สุดของจิตนี้โดยเร็ว ตั้งความปรารถนาย้ำหนักแน่นตลอดกาล ประกอบกับในระยะนั้นคู่บารมีของท่าน ที่มาเป็นประดุจอนุสัยก่อกวนกิเลสอยู่ตลอดให้รำลึกถึง ก็ได้สิ้นชีวิตไปแล้วหลายปี ความรู้สึกที่คล้ายๆ กับว่าหนามปักจิตอยู่ยอกจิตอยู่ มันเหมือนมาสะกิดอยู่ ก็ถูกบ่งหายไปแล้ว ระลึกได้แต่ความเมตตาความสงสารที่ว่าเธอนั้นยังไม่ได้พบทางอันเกษม ไม่มุ่งไปหาทางอันดี มีแต่ความอาลัยอาวรณ์ถ่ายเดียว ความจริงคู่บารมีของท่านนั้น แม้แต่ท่านไปจำพรรษาที่ถ้ำเจ้าผู้ข้า พ.ศ. ๒๕๒๕ เธอผู้นั้นก็ยังแวะเวียนมากราบนมัสการด้วยความเคารพอยู่ ซึ่งท่านก็ได้เมตตาสั่งสอน ให้รีบลัดตัดเข้าสู่ทางเกษมโดยเร็ว
ปีนี้ท่านได้มุ่งไปที่บ้านกกกอก ที่ท่านเคยมาจำพรรษาแต่เมื่อปี ๒๔๙๙ ได้พบความอัศจรรย์อยู่ที่นั่นแล้ว บ้านกกกอกเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในระหว่างหุบเขาด้านทิศใต้ ติดกับภูหลวง ทางทิศเหนือก็มีภูเขากั้นระหว่างบ้านกกกอกกับบ้านไร่ม่วง ด้านทิศตะวันตกก็มีภูเขาขวางกั้นอยู่อีก มีทางเข้าหมู่บ้านด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว มีลำธารน้ำไหลผ่านวัด มีน้ำตก และสัตว์ป่ามากมาย หมู่บ้านนี้มีอยู่ประมาณ ๑๐ กว่าหลังคาเรือน อยู่ในดงป่าทึบ ชาวบ้านมีอาชีพทำไร่เล็กๆ น้อยๆ และเก็บของป่าขาย ซึ่งพออาศัยโคจรบิณฑบาตได้ เป็นสถานที่วิเวก วังเวง สงบ สงัด เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถทำความเพียรได้ทั้งกลางวันและกลางคืน สถานที่นี้เป็นสถานที่สมกับคำสอนของหลวงปู่ ซึ่งมักจะเน้นถึง สถานที่วิเวก ๑ กายวิเวก ๑ จิตวิเวก ๑ จึงจะเกิดธรรมะอันน่าอัศจรรย์ของจิตอันวิเศษสุด
บ้านกกกอกนี้ สถานที่เป็นมงคล เป็นที่ที่เคยมีพระอริยเจ้าได้เคยมานิพพานอยู่ที่นั่น ดังที่เคยกล่าวมาแล้วในเรื่องหลวงปู่เอีย ที่บ้านกกกอกนั้น เป็นบริเวณป่าเขาอันสงบวิเวก
เมื่อท่านกลับไปครั้งนี้ ต้นไม้ใหญ่ก็ยังมีอยู่อีกมากมาย สมัยปี ๒๕๐๗ ยังไม่มีการตัดไม้ทำลายป่าเท่าไรนัก ความสงัดวิเวกดังที่เคยพบในปี ๒๔๙๙ ยังเหลืออยู่ส่วนมาก น้ำซำที่อยู่ใกล้บริเวณเคยทำความเพียร ยังมีน้ำไหลออกมาเกือบตลอดปี
ท่านยังจำได้ว่า เสมอไปอยู่ครั้งก่อนนั้น นั่งได้ทุกที่ เดินจงกรมได้ทุกแห่ง เป็นภาวนาไปหมด ภาวนาได้จนมองเห็นทะลุไปทั้งตัว ภาวนาลมหายใจทุกเส้นขน เป็นที่ที่สัปปายะ พร้อมทั้งสถานที่ อากาศ บุคคล ถึงด้านอาหารการกินจะไม่สะดวกเท่าไร แต่ การอด นั้นเป็นสิ่งที่หลวงปู่ได้ประสบพบเห็นเสมอ ท่านไม่ได้ถือเรื่องอาหารขบฉันเป็นเรื่องสำคัญแต่ประการใด ท่านกล่าวว่า การอยู่สถานที่เป็นมงคลนั้นดีมาก เพราะทำให้เราต้องคอยตรวจวินัยให้บริสุทธิ์ ตรวจข้อวัตรให้เคร่งครัด เพราะว่า เจ้าภูมิ เจ้าสถานที่ซึ่งมีอยู่มากมาย ย่อมดูเราอยู่ จึงควรต้องแผ่เมตตาจิตถึงเทพและอมนุษย์ให้เสมอหน้ากันด้วย มิให้รังเกียจรังงอน ว่านี่เป็นอมนุษย์ นี่เป็นเทพเราต้องเอาใจมากกว่า การแผ่เมตตาไปโดยไม่มีประมาณ ให้มากเสมอกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เป็นการทำความคุ้นเคยกับเจ้าถิ่น เวลาน้อมจิตเข้าไปถึงหลัก จิตจึงสว่างไสวเป็นที่เบาจิต เราสามารถตรวจปฏิภาค อุคคหนิมิตได้แจ่มแจ้งดี จิตจะเข้าสู่วิปัสสนาเพื่อความรู้เท่าสังขาร นำมาซึ่งความสงบเย็นใจและสงบเป็นอย่างดี
ระหว่างที่อยู่ที่นี่ ท่านก็คิดทบทวนถึงที่ครูบาอาจารย์เคยสอนเคยสั่งมาตลอดเวลา เคยยังจำได้ซึ่งเป็นรากฐานที่จะต้องจดจำเสมอว่า ต้องพิจารณาอสุภะเพื่อแก้ราคะ ทำเมตตาเพื่อแก้โกรธ อานาปานะ เพื่อแก้วิตกวิจารณ์ อนิจจสัญญา แก้ถอนทิฐิมานะ อนัตตาให้ตั้งใจไว้โดยดี เพื่อจะได้ถอนอัสมิมานะขึ้นไปได้นิพพาน มีปัญญาเลิศกว่าทั้งปวง
ในระยะนี้ท่านพากเพียรการพิจารณาอสุภะมาก เพื่อจะตัดขาดจากอนุสัยซึ่งติดค้างมา ท่านเล่าว่าการทำความเพียรนั้น ได้จัดอยู่อย่างแบบนี้ตลอดมา คือว่า ตั้งแต่อรุณขึ้นมาถึงพลบค่ำเวลาหนึ่ง ตั้งแต่พลบค่ำไปถึงยามหนึ่งเวลาหนึ่ง ยามกลางคืนตั้งแต่ ๔ ทุ่มไปจนถึง ๘ ทุ่มนั้นนอน นอกนั้นลุกขึ้นมาภาวนาตลอดสว่าง ท่านกล่าวนำไว้ว่า แบ่ง ๓ เวลาดังนี้ ใช้ชีวิตเป็นไปด้วยวิธีนี้ตลอด หมายความว่าตั้งแต่อรุณขึ้นมาถึงพลบค่ำนั้น ท่านทำภาวนาตลอดเลย แทบจะไม่ได้เอ่ยถึงเวลาฉันจึงหันเลยจนนิดเดียว นี้แปลว่า ระยะนั้นท่านมักจะผ่อนอาหารมาก ตั้งแต่พลบค่ำไปถึงยามหนึ่งติดต่อกันไป เป็นในช่วงเวลาที่เดินจงกรมมาก ยามกลางคืนตั้งแต่ ๔ ทุ่มถึง ๘ ทุ่มนั้นนอน ๔ ชั่วโมง นอกนั้นลุกขึ้นภาวนาตลอดเกือบสว่าง สว่างเสร็จแล้วก็ตั้งต้นกันใหม่ เป็นการทำความเพียรอย่างเอกอุ การภาวนาระหว่างอยู่ที่บ้านกกกอกนี้ ท่านกล่าวว่าได้เร่งภาวนามาก แต่ขณะเดียวกันก็มีอาการไข้อาพาธขึ้น
ไข้ก็เกิด ความเพียรก็ต้องทำ ไม่มีฝ่ายใดสามารถที่จะย่อหย่อนอ่อนข้อกัน ความจริงการเป็นไข้ทำให้เป็นลมอ่อนเพลีย แต่ในขณะเดียวกันก็กลับให้ประโยชน์ เพราะว่าสามารถได้พิจารณาทุกขเวทนาทางกาย ซึ่งเป็นเรือนรังแห่งความทุกข์ได้ ไข้ยิ่งเกิดก็ยิ่งเท่ากับเวทนามากขึ้น ทุกข์เพิ่มขึ้น ยิ่งเห็นทุกข์ ก็ยิ่งพิจารณาตัดไป
ท่านบันทึกไว้หลายแง่หลายมุม ในระยะต้นท่านยังกล่าวอยู่มาก ตอนต้นเดือน กรกฎาคม
ก่อนเข้าพรรษา มีนิมิตเห็นท่านอาจารย์สิงห์เดินมาหาแล้วเดินผ่านไป นับว่าเป็นพระคุณมาก ท่านเดินมาคนเดียว แสดงความบริสุทธิ์ในทางพรหมจรรย์
ต่อไปนี้ จะได้ขอนำบันทึกของท่านบางตอนมาลงโดยเรียงตามลำดับที่ท่านว่าเป็นการพิจารณาด้านความตาย
เข้าใจว่าตนจะตายอยู่เสมอ ร่างกายแปลกมาก เป็นลม ๑ อ่อนเพลีย ๑ จิตวิตก ๑ วิจารณ์ในตาย ๑ จิตไม่ฝักใฝ่สูง ๑ ไม่ทะเยอทะยาน ๑ จิตมัธยัสถ์ในการภาวนาเตรียมตัว ๑ ไม่อยากรับแขกให้เวลาล่วงไป ๑ ชอบสันโดษมักน้อยในปัจจัย ๑ (รู้สึกการเป็นลมเกือบล้มตาย ณ ที่ภูเวียง นอกนั้นก็เป็นบ่อยๆ แต่เป็นเล็กๆ น้อยๆ)
๑ สิงหา ๐๗ กกกอก ให้พิจารณาสังขารมันเป็นเรื่องของเขา ให้รู้ตามความเป็นจริง เพราะแสดงอยู่เป็นนิตย์ทุกอิริยาบถ นั่ง นอน เดิน ยืน สังขารแปรปรวนอยู่เสมอไม่ขาดสาย ให้ผู้ที่รู้นั้นไม่ร้อนไม่หนาวไปตาม เมื่อรู้ตามเป็นจริงแล้ววางตามสภาพได้ เรื่องของสังขารบังคับบัญชาเขาไม่ได้ เขาไม่อยู่ใต้อำนาจของใคร ร่างกายไม่มีการเกิด มีแต่แปรไปเรื่อยๆ ส่วนเดียวไปหาความตาย จิตอาศัยกายยังมีแตกดับ
๒ สิงหา บ้านกกกอก พ.ศ. ๐๗ ได้วางเจตนาสู่การตายไปจริงๆ เพื่อชำระกิเลส ไม่ห่วงอัตภาพร่างกายว่าเป็นของเรา เพราะการเจ็บป่วยอยู่เฉพาะตนคนเดียว ไม่ได้อยู่กับหมู่เพื่อน หากอยู่กับหมู่เพื่อนก็มีความขัดข้องด้วยประการต่างๆ หมายความว่าชีวิตเป็นของน้อย รีบทำความเพียร เพราะชีวิตไม่พอกับการทำความเพียรให้สิ้นกิเลสเท่านั้น เพราะจิตยังยินดีอยู่ในโรคเป็นบางครั้งบางคราว อยู่ดีก็มีประโยชน์ ถ้าอยู่ไม่ดีก็ไม่มีประโยชน์อะไร บุคคลที่ไม่มีความประมาทมีราตรีเดียว ดีกว่าผู้มีชีวิตตั้งร้อยปีอยู่ด้วยความประมาท ชราแล้วเร่งความเพียรอยู่เรื่อยๆ ไม่ให้ขาดวรรคขาดตอน เพราะชีวิตเป็นของแพง
ท่านเล่าว่า การทำความเพียรนั้นกล้ามาก จิตใจมุ่งต่อความเพียร สติปัญญาดูงอกงามขึ้น ไม่มีอับเฉา ง่วงเหงาเหมือนอย่างแต่ก่อนๆ รู้สึกว่าอุบายวิธีที่ได้จากท่านอาจารย์ขาว ที่ให้ตรวจว่าเราขัดข้องเรื่องอะไร เมื่อท่านละสิ่งที่คาข้องใจแล้วทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเปิดโล่งให้ดำเนินต่อไป การกินก็ไม่อยากกิน การนอนก็แทบไม่อยากนอน แม้แต่สวดมนต์บทต่างๆ ที่เคยสวดมาแต่เก่าก่อนต้องพัก เพื่อไปเร่งทางด้านสติปัญญาอย่างเดียว ท่านว่า เมื่อความตายมาเคาะประตูเรา เกรงว่าจะเอาไม่ทันไม่เร่งความเพียรอาจจะไม่ทันกาลเวลา กลัวจะล่วงลับดับไปเสียก่อนยังไม่ทันถึงจุดหมายที่มุ่งมาดปรารถนามาแต่ก่อนให้ทันกาล
อาการไข้ที่เกิดขึ้น ทุกข์ทรมานปล้ำลุกปล้ำนั่งอยู่คนเดียว ยิ่งทำให้เห็นตัวทุกข์มากขึ้น นี่คือทุกข์ ร่างกายก็อาจจะแปรปรวนไป ไม่เที่ยง ไม่นานก็อาจจะต้องคืนเขาไป ท่านอาจารย์มั่นเคยบอกว่า เราได้ยืมธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟจากเขามาสร้างบารมี เมื่อสร้างเสร็จก็จะต้องคืนเขาไป คงน่าอนาถนัก ถ้าจะต้องคืนธาตุ ๔ ไปให้แก่โลกเขาไป ตั้งแต่เรายังสร้างบารมีไม่เสร็จ ไม่ไปถึงจุดมุ่งมาดปรารถนาปลายทาง
ดังนั้น ทุกข์มากเท่าไร เวทนาเกิดขึ้นเท่าไร ก็ราวกับว่าเป็นเชื้อเพลิงที่โหมใส่สติปัญญาให้หมุนเป็นเกลียวขึ้นมาอย่างเป็นใจ ถือเอาทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นจากไข้ นึกถึงความตายที่ขวางอยู่ข้างหน้าที่จะต้องพุ่งเหมือนพญาเสือที่จะพุ่งเข้าใส่ศัตรู เอาชนะห้ำหั่นมัน กิเลสที่เกิดขึ้นจะต้องประหารกันให้เขาเสียบ้าง สติปัญญาเกิด สติแก่กล้า ปัญญาเกิด ทุกขเวทนามันขึ้น จะหลีกเลี่ยงไปไหนก็ไม่ได้ ต้องสู้กัน เมื่อมันจนตรอกอยู่ ไม่เห็นทางที่จะหนีหายไปไหนได้ จึงมีแต่ว่าจะต้องหันหน้าสู้กันอย่างเดียว จึงจะเอาชนะกันได้
ท่านเร่งภาวนามาก ใจดำริมาเป็นเวลาหลายอาทิตย์ว่า พระอริยเจ้าทำสำเร็จ เราทำไมไม่สำเร็จ ธรรมก็มีอยู่ในตัวเราแท้ พระอริยเจ้าทำสำเร็จ เราทำไมไม่สำเร็จ ให้อาหารแก่จิต ให้กำลังใจแก่จิต
การ ม้างกาย ที่ดำเนินมานาน หนักไปทางสมถะ ในระยะนี้ท่านก็ได้เดินวิปัสสนาควบคู่ไป เป็นการม้างกาย ที่ท่านเรียกว่า ม้างกายที่ฉลาด ม้างกายด้วยไตรลักษณ์ พยายามประหารกิเลสให้สิ้นไป จบไป ดังที่ท่านได้เขียนบันทึกไว้ในปีหลังๆ อธิบายความโดยสรุปว่า
ม้างกายให้ฉลาด ม้างกายด้วยไตรลักษณ์ ม้างอนุสัยให้ฉลาดทางจิตและเจตสิก รวมทั้ง ๒ ประเภท แก้เกิดในไตรภพว่าเป็น ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา โดยธรรม ๒ ประเภท ชำระกิเลสออกจากดวงจิตจนเห็นไม่ถือไปเกิดอีกในภพหน้า ม้วนกลมในปัจจุบัน พระอรหันต์ไม่ก่อกิเลสในปัจจุบัน ละกิเลสทั้งอดีต อนาคต ไม่ทำกิเลสเกิดขึ้นในปัจจุบัน เสียความสุขในปัจจุบัน กว่าจะนิพพานในครั้งสุดท้าย รอรถรอเรือ จะไปนิพพาน สิ้นภพ สิ้นชาติ ทำความรู้แจ้งแทงตลอดเญยยธรรมในปัจจุบันนี้ทีเดียว
ปัญญาพาค้นคว้า ดำเนินไป จิตก็ตามไป หมุนเป็นเกลียวอย่างไม่หยุดยั้ง ลืมมืด ลืมแจ้ง ลืมวัน ลืมคืน บางเวลาจิตก็ม้วนกลมลงสู่จิตเดิม จิตหด แต่บางเวลาปัญญาหมุนติ้ว จิตเหินตามไป ที่สุดของจิตซึ่งท่านเคยคิดว่า อยู่แสนไกล ประดุจอยู่ปลายสุดสะพานรุ้ง ก็กลับเป็นดูใกล้ แทบจะเอื้อมมือถึงได้ บางเวลา เกิดปีติปลื้มคิดว่า นี่แหละ...นี่แหละ ถูกแล้ว...ใช่แล้ว
จิตกลับตกลงมาใหม่ เกิดสะดุดหยุดยั้งคิด เพียรซ้ำ เพียรซ้อน ล้มแล้วลุก...ลุกแล้วล้ม ล้มลุกคลุกคลานอยู่คนเดียว
จิตที่ถูกทรมาน ลงแซ่กำราบมาอย่างหนัก สุดท้ายก็เหนื่อยอ่อน จิตวางจิตสงบ จิตไม่กำเริบ จิตคงที่ ไม่แปรไปตามสังขารจิต ไม่ขึ้นไม่ลง จิตเกษม
ราวกับว่า สุดสะพานรุ้งนั้น จะพุ่งไปสู่อวกาศอันเวิ้งว้าง
แล้วท่านก็ได้ลาจากบ้านกกกอกมาด้วยความระลึกถึงบุญคุณของสถานที่แห่งนี้เป็นที่สุด
จิตเคยว้าเหว่ บัดนี้จิตมีที่พึ่งแล้ว
(มีต่อ ๒๑) |
|
|
|
    |
 |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
18 ม.ค. 2007, 9:47 am |
  |
๏ พรรษาที่ ๔๑-๔๒ พ.ศ. ๒๕๐๘-๒๕๐๙ เสวยสุข
จำพรรษา ณ วัดป่าถ้ำแก้งยาว บ้านโคกแฝก ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย
ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ และ พ.ศ. ๒๕๐๙ นั้นควรจะนับได้ว่า เป็นปีแห่งการ เสวยสุข โดยแท้ วัดป่าถ้ำแก้งยาวเป็นสถานที่ซึ่งท่านเคยมาจำพรรษาแล้วแต่ในปี ๒๕๐๔ ได้พบงูใหญ่มานอนขดอยู่ใต้แคร่ถึงสามวันสามคืนจึงจากไป และเมื่อจากไปก็ได้ฝากรอยทิ้งไว้ในนาข้าว ขนาดตัวที่ทอดไปตามนานั้นใหญ่ขนาดทับข้าว ๓ กอเป็นแนวโล่งตรงไปทีเดียว ระหว่างการภาวนาก็ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงจีวรสีเหลืองคร่ำจนเกือบจะเป็นสีใบไม้เสด็จมาเยี่ยม อนุโมทนาที่ท่านได้ทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ทำให้ท่านรู้สึกปีติเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีผู้รอบรู้การบำเพ็ญเพียรตลอดเวลา
เมื่อจากบ้านกกกอกมา ท่านจึงระลึกถึงสถานที่อันเป็นมงคลนี้ ถือเป็นที่วิเวกซึ่งจะได้พิจารณาย้อนไปเป็นอนุโลม ปฏิโลมได้อย่างสงัดเงียบ
สำหรับสถานที่เป็นมงคลนี้ ท่านเคยเทศนาสอนศิษย์รุ่นหลังๆ อยู่เสมอว่าต้องตรวจวินัยให้บริสุทธิ์ ข้อวัตรให้เคร่งครัด และที่ลืมไม่ได้คือ การแผ่เมตตาจิตออกไปโดยไม่มีประมาณ แผ่ไปในที่ใกล้ แผ่ไปในที่ไกล แผ่ไปในเบื้องบน แผ่ไปในเบื้องล่าง แผ่ไปในทางเบื้องซ้าย แผ่ไปในทางเบื้องขวา...หน้า หลัง...กว้าง ไกลแผ่ถึงเทพและอมนุษย์เสมอ เพื่อทำความคุ้นเคยเป็นมิตรไมตรีต่อกัน รวมทั้งสิงสาราสัตว์น้อยใหญ่ จตุบาท ทวิบาททั่วถ้วนกัน เขาจะได้รับกระแสแห่งความเย็นใจอาบรดจิตใจอย่างชุ่มฉ่ำ เวลาเจริญภาวนา
น้อมจิตเข้าไปถึงหลัก จิตสว่างไสวมุทุจิต เบาจิต ตรวจปฏิภาค อุคคหนิมิตแจ่มแจ้งดี จิตสู่วิปัสสนาเพื่อความรู้เท่าสังขาร นำมาซึ่งความเห็นใจและสงบ
หลวงปู่บันทึกในเดือนตุลาคม ๒๕๐๘ ถึงการภาวนา ณ ที่ถ้ำแก้งยาว ว่า
ถ้ำแก้งยาว ตุลา ๐๘
เมื่อแต่ก่อน ภาวนาแน่วแน่ แต่ปฏิภาค แต่ธาตุ แต่ไม่แน่วแน่ทางจิต เดี๋ยวนี้แน่วแน่ทางปฏิภาคด้วย แน่วแน่ทางจิตด้วยความรู้อริยสัจจึงแม่นยำดีกว่าเก่านั้นมาก จิตสละตายลงไปถึงอมตธรรม แต่ก่อนสละตายลงไปไม่ได้เกิดกลัว เพราะภูมิสมถะและวิปัสสนาไม่พร้อมสามัคคีกัน
เมื่อภาวนาพิจารณาแยบคายแล้ว สังขารโลกปลงให้เขาเสีย แล้วแต่เขาจะแกเจ็บตาย เป็นเรื่องของเขา รีบเดินมรรคให้พ้นไปจากสังขารโลก เพราะสังขารโลกเป็นภัยใหญ่โต จะอยู่ไปก็เป็นเรื่องของเขา จะตายก็เป็นเรื่องของเขา แต่ภาวนาความรู้ความเห็นในอมตธรรมนั้นให้มาก นั้นเองเป็น วิหารธรรม ที่พึ่งของจิต เมื่อตายแล้วนั้นเองจะไปเกิดในที่ดี แปลว่าไม่อุทธรณ์ร้อนใจในความแก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นเรื่องของสังขาร
เมื่อรู้เท่าแล้ววางเฉย เป็นความสุขอย่างยิ่ง ถ้ามีความรักความชังอยู่ นั้นเองเป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะยินดียินร้ายในเรื่องนั้น แปลว่า เจ็บ แสบ ร้อนไปด้วยเขา จึงเป็นทุกข์
ท่านได้รับความสงัดวิเวกมาก มีบันทึกด้านธรรมะมากมาย ซึ่งได้แยกนำไปรวบรวมไว้กับภาค ธารแห่งธรรม แล้ว ประหนึ่งธรรมนั้นได้หลั่งไหลออกมาประดุจกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก ตกลงมาจากภูผาสูง แรกๆ อาจจะไหลแรง แต่ต่อไปก็จะไหลระเรื่อยไปตามโขดหิน กลายเป็นธารแห่งธรรม
ออกพรรษาแล้ว คงจะมีคณะญาติโยมมาอาราธนานิมนต์ให้ท่านไปร่วมงานกฐิน ทอดผ้าป่า ถวายพระไตรปิฎก ฯลฯ ตามวัดต่างๆ ในเขตจังหวัดเลยมากมาย ด้วยกล่าวกันว่า หากหลวงปู่ไปด้วยแล้ว ธรรมกว่าของท่านจะโน้มน้าวจิตใจคนให้ยินดีในทาน และปัจจัยบำรุงวัดมากขึ้นเสมอ ซึ่งท่านคงเมตตารับนิมนต์ไปตามที่เหล่านั้น เพราะได้มีบันทึกโดยย่อของธรรมกถาที่แสดงพรรณนาลักษณะที่ตั้งความงดงามน่าประทับใจของวัด และอานิสงส์ในการที่มาร่วมทำทานการกุศลในครั้งนั้นๆ หลายแห่งด้วยกัน
สำหรับบันทึกเกี่ยวกับความรู้สึก วิจารณ์การบำเพ็ญภาวนาขององค์ท่านไม่ค่อยมี แต่เมื่อท่านไปอยู่ถ้ำผาบิ้งแล้ว ในปี ๒๕๑๐ ท่านได้เขียนสั้นๆ ไว้ในสมุดบันทึกถึงการพักภาวนาระหว่างอยู่ที่ถ้ำแก้งยาวนี้ ว่า
พ.ศ. ๐๔, ๐๘, ๐๙ จำพรรษา ณ ที่วัดป่าถ้ำแก้งยาว ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย ได้รับความสงบสงัดมาก วิเวกมาก เพราะสถานที่เป็นมงคล ดีกว่าจำพรรษาทุกๆ แห่ง เพราะไม่มีกังวลด้วยสิ่งใดๆ ถึงจะมีการก่อสร้างสิ่งใดๆ ก็ไม่เป็นสัญญา
หลังจากการทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ณ บ้านกกกอก แล้ว ท่านก็ได้พัก เสวยสุข อยู่ จิต ไม่มีกังวลด้วยสิ่งใดๆ ทุกอย่างได้ เปลื้อง ออกไปหมดแล้ว
๏ พรรษาที่ ๔๓-๔๔ พ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๕ สร้างวัดถ้ำผาบิ้ง
จำพรรษา ณ ถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก ต.ผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย
เมื่อเสร็จจากงานบุญที่วัดต่างๆ ในเขตจังหวัดบ้านเกิดของท่าน ที่ขอร้องให้หลวงปู่ไปเป็นประธาน และช่วยในการเทศนาโน้มน้าวให้มหาชนสนใจการทำบุญ ทาน การกุศลแล้ว ใกล้จะถึงเวลาเข้าพรรษาของปี ๒๕๑๐ ท่านก็คิดหาสถานที่ซึ่งจะ หยุดยั้ง อยู่กับที่บ้าง ท่านเคยอยู่องค์เดียวไปองค์เดียวมาโดยตลอด จนภายหลังจากปี ๒๕๐๐ จึงได้มีเณรดูแลบ้าง เช่น ระหว่างที่อยู่บนเขา แต่ถ้าหากเป็นการทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ที่จะต้องแบกกลดขึ้นเขาไปเช่นนี้ บางทีท่านก็ไปองค์เดียวโดยไม่รอพระหรือเณรเลย
ปี ๒๕๑๐ ท่านได้กลับไปจำพรรษาที่ถ้ำผาบิ้ง บ้านนาแก ตำบลผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เป็นการเริ่มของเวลาจำพรรษาที่ยาวนานที่สุดในชีวิตของท่าน กล่าวคือ ท่านได้อยู่จำพรรษา ณ ถ้ำผาบิ้งนี้ แต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ไปจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นเวลาถึง ๖ พรรษาติดต่อกัน นามถ้ำผาบิ้งปรากฏในสมุดบันทึกของหลวงปู่เท่าที่ค้นได้เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ซึ่งท่านได้บันทึกไว้ว่า
อยู่ถ้ำผาบิ้ง วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ ทำจิตสงัดเงียบมาก วิถีจิตวิปัสสนาสุขุม กลัวแต่ทีแรก ต่อไปไม่กลัว ปฏิภาคเกิดมาก จิตเกิดความรู้แปลกๆ สถานที่ไม่เป็นมงคลเท่าไร สู้ถ้ำโพนงามไม่ได้ วิถีจิตเดินไปตามลำดับ ไม่ขอบบังคับจิต ไปตามสายกลาง รู้ตามความเป็นจริง
ท่านบันทึกไว้อีกแห่งหนึ่งในวันเดียวกัน แสดงว่าท่าน ประทับใจ ในถ้ำผาบิ้งมาก
ทำจิตสงัดเงียบมาก วิถีจิตสุขุม กลัวแต่ทีแรก แล้วไม่กลัว ปฏิภาคเกิดมาก จิตตามรู้แปลกๆ ถ้ำโพนงามที่ ๑ ถ้ำผาบิ้งที่ ๒ ถ้ำผาปู่ที่ ๓
หมายความว่า ในการไปทำความพากความเพียรระหว่างนั้น ท่านถือว่า ถ้ำโพนงามเป็นที่ ๑ อยู่ แต่ถ้ำผาบิ้งนั้นเป็นที่ ๒ ซึ่งอย่างไรก็ตาม ยังดีกว่าถ้ำผาปู่ซึ่งเป็นที่ ๓ ปี ๒๔๘๑ นั้น ท่านอยู่ที่ถ้ำผาบิ้งแห่งเดียว ถึง ๗-๘ เดือน จนกระทั่งจะเข้าพรรษา และถึงปี ๒๔๘๒ ท่านก็ได้กลับไปอีก ท่านได้วนเวียนกลับไปวิเวกที่ถ้ำผาบิ้งอีกนับครั้งไม่ถ้วน นับจากเวลาที่ได้พบความอัศจรรย์ที่ถ้ำผาบิ้งนั้น จนกระทั่งถึงวันย้อนกลับมาเข้าพรรษาครั้งนี้ เป็นเวลาถึง ๓๐ ปีเต็ม
ท่านเล่าว่า ที่ถ้ำผาบิ้งเป็นที่พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล คือ ท่านพระอุบาลีเหาะมาด้วยบุญฤทธิ์มานิพพานที่นี่ และท่านพระอาจารย์มั่นก็เคยมาจำพรรษา ณ ที่นี้เหมือนกัน สำหรับท่านผู้เป็นศิษย์รุ่นพี่ของหลวงปู่ที่มาเที่ยวธุดงค์ที่นี้นั้น ตามที่ปรากฏชื่อก็คือ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่กล่าวว่า ถ้ำผาบิ้งเป็นสถานที่เป็นมงคลอย่างยิ่งนอกจากเป็นที่นิพพานของพระอรหันต์แล้ว ยังมีเทพรักษาสถานที่อย่างดี ระหว่างภาวนาจะได้กลิ่นดอกไม้หอมอยู่บ่อยๆ เป็นการนอบน้อมบูชาของรุกขเทพที่ดูแลสถานที่
ระยะแรกที่หลวงปู่มาวิเวกที่ถ้ำผาบิ้ง ท่านจะใช้เพิงนี้ บริเวณในถ้ำ เป็นที่พัก ปากรู้ถ้ำทางขวาเป็นรูพญานาค วันดีคืนดีจะมีเสียงร้องคำรามมาจากภายในรูถ้ำนี้
การกลับมาพักที่ถ้ำผาบิ้งอีกในครั้งนี้ ท่านได้มาบูรณะตั้งเป็นวัด ด้วยความอนุเคราะห์ของท่านเจ้าคุณมหาศรีจันทร์ แห่งวัดเลยหลง (เจ้าคณะจังหวัดเลย) ในสมุดบันทึกได้มีข้อความกล่าวถึงการที่จะริเริ่มทำการก่อสร้างว่า
ถ้ำผาบิ้ง เจ้าคณะอำเภอจะริเริ่มทำการก่อสร้างแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นต้นไป เพื่อความถาวร เพื่อความมั่นคง เพื่อความรุ่งเรือง บูชาอุทิศไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อนำคณะอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย ให้เป็นมหากุศลอันไพศาล สืบบุตรลูก บุตรหลาน บุตรเหลน เป็นประวัติการณ์ต่อไปในอนาคต
เวลานี้ถ้ำผาบิ้งที่ได้ก่อสร้างขึ้นแล้ว เป็นศาลาก็ดี เป็นกุฎีก็ดี เป็นวัตถุชั่วคราวมุงด้วยหญ้าแฝกเป็นกำมะลอ ที่พักอาศัยยังไม่ถาวรตามที่ท่านทั้งหลายได้พากันทัศนาการเห็นแล้ว
ถ้ำผาบิ้งจะมีการทำบุญประจำปีทุกปี เพื่อสะสมเงินทอง การก่อสร้าง ขยับขยายไปทีละเล็กละน้อย ให้นึกดู คณะอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย พากันบริจาคปัจจัยก่อสร้างปีละเล็กละน้อยตามความสามารถ ของพวกเราทั้งหลาย เรียกว่า พวกเราพุทธบริษัท แสวงหาเงินมาด้วยปลีแข้ง ทำการก่อสร้างไว้ในศาสนา
สถานที่ถ้ำผาบิ้ง เป็นสถานที่ตั้งแห่งภูเขาเอกเทศลูกหนึ่งต่างหาก ไม่ติดต่อกับเขาลกอื่นๆ มีถ้ำอยู่ทางทิศตะวันออกกบทางทิศตะวันตกตรงกัน เป็นสถานที่ติดต่อกับทุ่งนา อากาศดีบริสุทธิ์ มีลมพัดมาชำระสิ่งโสโครกในถ้ำและภูเขาให้สะอาด ปราศจากเชื้อโรค และมีบ่อน้ำใกล้ชิดเป็นที่อาศัยอุปโภคบริโภคได้สะดวก ทั้งในฤดูแล้งและฤดูฝน ฤดูหนาว ไม่ให้ขัดข้องด้วยน้ำ ไม่กันดารน้ำเหมือนถ้ำผาปู่ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมือง จังหวัดเลย วัดถ้ำผาบิ้ง ห่างไกลจากหมู่บ้านนาอ้อ และนาแก ๕๐๐ คันธนูบ้านอื่นๆ ก็ไม่ไกลนัก เข่น บ้านกกเกี้ยง บ้านนาเหล่า เป็นต้น และไม่ห่างไกลจากอำเภอวังสะพุง ทางรถยนต์ไปมาได้สะดวกในฤดูแล้ง ศาสนิกชนมาร่วมกินร่วมทานได้สะดวก ไม่ขัดข้องด้วยประการใด
ถ้ำผาบิ้ง เป็นสถานที่บรรพบุรุษของพวกเราเหล่าพุทธบริษัทได้นับถือกันสืบๆ มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ว่า เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ถึงฤดูเทศกาลปีใหม่มา ท่านพุทธศาสนิกชน พุทธบริษัท เฒ่าแก่ หนุ่มสาวตลอดพระภิกษุสงฆ์ ได้พากันมานมัสการพระพุทธรูปและรอยพระพุทธบาทซึ่งประดิษฐาน ณ ถ้ำผาบิ้งทุกๆ ปี เพื่ออายุ วรรณะ สุขะ พละ และขอฟ้าขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล นี้ก็นับว่าถ้ำผาบิ้งเป็นสถานที่อันอัศจรรย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ อำนวยความต้องการของมนุษย์ได้
ระยะต่อนี้ ขอเชิญชวนท่านศาสนิกชน พุทธบริษัททั้งหลายพากันก่อสร้างให้เป็นวัตถุถาวรมั่นคง ดำรงไว้ในพระพุทธศาสนาถึงกึ่งพุทธกาลต่อไปในอนาคตข้างหน้า เพื่อสืบบุตรลูก บุตรหลาน บุตรเหลนของพวกเราทั้งหลาย พากันฝากฝังอริยทรัพย์ไว้ในพุทธศาสนา ที่ไม่ฉิบหายด้วยโจรภัย อัคคีภัย อุทกภัย ราชภัยใดๆ เป็นที่สืบประวัติการณ์ไปข้างหน้า
อนึ่ง พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย พระภิกษุสามเณรที่ทรงเพศในศาสนา ท่านเหล่านั้นรักใคร่รักษาธุดงค์ เดินตามทางพระอริยเจ้าที่สืบๆ กันมาแต่กาลก่อน พากันมาเที่ยววิเวกเจริญสมณธรรม มาพักพาอาศัยที่ร่มที่เย็น ณ ถ้ำผาบิ้ง ที่เราได้ก่อสร้างไว้แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายพุทธบริษัทคณะอุบาสก อุบาสิกา พึงพิจารณา พึงดำริ พึงสนใจ พึงตริตรองที่พวกท่านทั้งหลายพากันก่อสร้างไว้แล้ว อันเป็นบุญมหากุศลไพศาล อนึ่ง บุญกุศลอันนี้จะพาพวกเราเหล่าพุทธบริษัทไปสู่สุคติโลกสวรรค์ นำมาซึ่งความสุขอันเลิศ กายก็เลิศ วาจาก็เลิศ น้ำใจก็เลิศ เลิศตลอดทั้งที่นั่ง นอน ยืน เดิน เครื่องอุปโภค บริโภค เป็นของที่เลิศๆ ทั้งนั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ เป็นเหตุให้พวกเราปลื้มอกปลื้มใจต่อสมบัติอันเลิศในกิจที่พวกเราทำบูชาไว้แล้ว
นอกจากที่ท่านบันทึกถึงการเชิญชวนให้มาร่วมกันก่อสร้างถ้ำผาบิ้ง ซึ่งขณะเริ่มแรกนั้น ศาลา กุฏิ ที่สร้างคงยังมีสภาพ กำมะลอ อย่างที่ท่านกล่าวไว้คือ เป็นวัตถุชั่วคราว หลังคามุงหญ้าแฝก ท่านได้บันทึกเกี่ยวกับการเจริญสมณธรรมที่ถ้ำผาบิ้งไว้อีกหลายแห่ง เช่น
ทำความเพียรเจริญสมณธรรม ณ ถ้ำผาบิ้ง ไม่มีวันจืดจาง จิตปลื้มใจดูดดื่มเรื่อยๆ เพราะสถานที่เป็นมงคล สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่พระอริยเจ้านิพพาน
ภายในจิตตัดลงไปเรื่องอริยสัจอย่างเดียว ไตรลักษณ์ลบนิมิตทั้งหลาย เพราะนิมิตและสังขารเป็นตัวมาร กำลังวิปัสสนารู้เท่าถึงการ เมื่อรู้จริงแล้วจิตไม่กำเริบด้วยประการต่างๆ จิตปกติ จิตบริสุทธิ์ ตั้งอยู่ด้วยอมตธรรม เพิ่งเจริญธรรมได้ ณ ถ้ำผาบิ้งนี้ ที่ไม่ประกอบด้วยความฝันเพราะจิตไม่ถือสังขารนิมิตใดๆ เป็นตัวมารของจิต
ความตอนนี้ท่านบันทึกต่อท้ายไว้ว่า ตุลาคม ๒๕๑๑ แสดงว่า ท่านบันทึกในระยะนั้น
เดินบิณฑบาตมีสติทั้งไปและทั้งกลับ ภาวนาเรื่อยๆ ดีกว่าอยู่แห่งอื่นทั้งหมด
การบิณฑบาตในขณะปี ๒๕๑๐ กว่านั้นเป็นอย่างไร มีพระซึ่งระหว่างนั้นยังเป็นเณรอยู่ด้วย ท่านเล่าว่า ยังคงต้องเก็บใบมะขามมาตำ ผสมกับน้ำปลาร้าต้มถวายให้ฉันอยู่แทบทุกวัน เพราะไม่มีจริงๆ...! แต่ท่านก็คงมิได้สนใจกับอาหารว่าขาดแคลนอย่างไร ท่านสนใจแต่สติ และจิตที่ดูดดื่ม กับการภาวนามากกว่า
การภาวนาเป็นเครื่องจูงใจในอารมณ์ที่คุ้นเคยในกัมมัฎฐาน กระดูกและลมหายใจเป็นคู่กัน มีสมาธิเป็นบาทหน้า มีปัญญาเกิดทีหลัง คอยแก้คอยไข ส่วนร่างกายให้เห็นไตรลักษณ์ของขันธ์แปรปรวนอยู่เสมอ ลมฟืดออกถอนพิษตัณหาอาสวกิเลส พิจารณากระดูกให้เห็นแยกออกจากกันเป็นส่วนๆ ด้วยญาณทัสนะ ด้วยความจริงใจในสังขารทั้งปวงให้เห็น ใจหดมาตั้งอยู่อมตธรรม ให้เดินอารมณ์ทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นนิจ
ท่านบันทึกย่อๆ ไว้ตอนท้ายข้อความว่า ถ้ำผาบิ้ง เดือน ๘ พ.ศ. ๒๕๑๐
ระหว่างที่อยู่ถ้ำผาบิ้ง ได้มีพวกที่นครเวียงจันทน์มานิมนต์พระเถระผู้ใหญ่ของฝ่ายไทยไปทำบุญ ได้ความว่า พยายามนิมนต์ ๑๐ องค์ มี หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่หลุย จันทะสาโร หลวงปู่ชามา อจุตโต หลวงปูอ่อน ญาณสิริ หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม เป็นต้น ความจริงเขานิมนต์หลวงปู่ขาว อนาลโย ด้วย แต่ท่านมอบให้พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต เดินทางไปแทน
เรื่องนี้ได้เรียนถามท่านผู้ที่เกี่ยวข้องในการนิมนต์ที่เวียงจันทน์ เเละผู้นิมนต์ได้เล่าให้ฟังว่า ในการเดินทางไปเมื่อปี ๒๕๑๓ ก็ได้นิมนต์ท่านไปแล้ว ให้ไปพักอยู่ที่ วัดจอมไตร ที่เวียงจันทน์ ที่ดงนาซ๊อก เป็นเวลา ๒ อาทิตย์ หลังจากที่ทางเวียงจันทน์นิมนต์แล้ว มีคนไทยท่านหนึ่งซึ่งระหว่างนั้นกำลังทำงานอยู่ในองค์การระหว่างประเทศที่เวียงจันทน์ ทราบข่าวก็มาขอนิมนต์ท่านและคณะไปทำบุญบ้าน เธอเล่าว่า หลวงปู่ชอบ หลวงปู่หลุย หลวงปู่ชามา หลวงปู่บุญมา หลวงปู่อ่อน ท่านอาจารย์บุญเพ็ง ก็รับนิมนต์มา เมื่อมาถึงบ้าน เธอได้รู้สึกประทับใจอย่างมากหลายประการ โดยเฉพาะเมื่อหลวงปู่ชอบมาถึง หลวงปู่หลุยซึ่งมาถึงก่อน ก็มาช่วยล้างเท้าให้ และเช็ดเท้าให้หลวงปู่ชอบเอง ท่านบอกว่า หลวงปู่ชอบคุณธรรมสูงกว่า ท่านต้องขอปรนนิบิต หลังจากการถวายจังหันแล้วก็ได้ตามไปที่วัด เธอก็ได้ลองเรียนถามว่า ได้ยินข่าวว่า พระคุณเจ้าเหล่านี้ทรงคุณธรรมอันล้ำเลิศ อยากจะทราบว่า ถ้าเผื่อท่านแผ่เมตตามาถึงเรา เราจะได้รับกระแสแห่งเมตตานั้นหรือไม่ เผอิญเธอก็เป็นคนที่ช่างเจรจาสักหน่อย จึงกล่าวต่อไปเป็นเชิงตัดพ้อว่า หลวงปู่มีลูกศิษย์มากจะแผ่เมตตามาถึงได้อย่างไร จะต้องเจือจานคนมากมาย จะมาถึงได้ครบทุกคนกระนั้นหรือ หลวงปู่หลุยเป็นผู้ตอบว่า ถึงซิ เมตตาต้องมาถึงแน่ แต่หลวงปู่ชอบนั้นยิ้ม ไม่ได้ตอบว่ากระไร
เธอเล่าว่า ในคืนนั้น เธอและสามีก็เข้าห้องพระภาวนา ต่างคนต่างเข้าที่ภาวนา จุดธูปเทียนบูชาพระแล้ว นั่ง สมาธิต่อไปไม่นานก็ได้กลิ่นหอมดอกไม้ป่าตลบเต็มไปทั้งห้อง หอมจนทนไม่ได้ ต้องออกปากถามกัน ได้ความว่า ทั้งสามีและภรรยาต่างได้กลิ่นหอมเหมือนกัน กลิ่นอธิบายไม่ถูกเช่นกัน รุ่งขึ้น พอไปกราบที่วัดจอมไตร เธอก็ต่อว่าว่า ไหนว่าจะแผ่เมตตามาให้ลูกหลาน ไม่เห็นได้รับ ไม่เห็นมาหาเลย หลวงปู่หลุยเป็นองค์ที่ตอบแทนว่า ทำไมจะไม่ไป ไปแล้ว ถามว่า ไปอย่างไร ไม่เห็นองค์มา ไม่เห็นตัว หลวงปู่นั่งอยู่เฉยๆ แล้วบอกว่าไป ใครจะเชื่อ
ท่านก็ยิ้ม แล้วตอบว่า ก็ไปแล้วนะซิ ไปด้วยกลิ่น หลวงปู่ชอบก็ไป ไม่ได้กลิ่นหรือ หอมกลิ่นศีลของท่าน ได้ยินเช่นนั้น เธอและสามีก็ต่างมองตากันด้วยความอัศจรรย์ใจ เพราะการที่ได้กลิ่นดอกไม้ป่าหอมเต็มห้องนั้น ไม่ได้เคยพูดกับใคร นอกจากรำพึงกันระหว่างสองสามีภรรยา ก่อนจะไปกราบท่าน ท่านก็กลับตอบเช่นนี้ และตั้งแต่วันนั้นมา เธอก็ได้กลิ่นหอมตลอดมา และทราบว่า ถ้าเป็นหลวงปู่หลุยจะหอมกลิ่นหนึ่ง ท่านหลวงปู่ชอบจะหอมอีกกลิ่นหนึ่ง
เวลาท่านอบรม ท่านก็แนะบอกให้รักษาศีล ๘ เมื่อบอกว่าทำไม่ได้ ทำราชการไม่มีวันเวลาที่จะดูแเลตนเพื่อรักษาศีล ๘ ให้บริสุทธิ์ได้ หลวงปู่หลุยท่านก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้น รักษาศีลอุโบสถเฉพาะวันพระก็แล้วกัน
วันหนึ่งอยู่เวียงจันทน์ไปเที่ยว วันนั้นไม่ได้เป็นวันที่รักษาศีล แต่กลับหอมดอกไม้ หอมชื่นใจไปหมด รู้ว่าเป็นดอกไม้ที่ไม่มีขายในท้องตลาด เพียงนึกถึงท่านก็ได้กลิ่นดอกไม้ เมื่อเล่าว่า กลิ่นในครั้งก่อนๆ นั้นเป็นกลิ่นดอกไม้สด แต่เดี๋ยวนี้ดูจะปนกลิ่นกระแจะด้วย ระยะนั้นหลวงปู่ชอบยังไม่อาพาธ ท่านเทศน์ให้ฟังอยู่ด้วย จำได้ว่า เทศน์ที่ท่านเทศน์ให้ฟังนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับให้ทุกคนทำจิตให้สงบ ท่านเทศน์อยู่เป็นเวลาถึง ๑๕ นาที แล้วก็สรุปว่า ความสุขจะเท่ากับจิตสงบเป็นไม่มี เอวํ ง่ายๆ เช่นนี้
ในระยะที่พักอยู่ที่เวียงจันทน์ นอกจากท่านจะพักกันที่วัดจอมไตรแล้ว ก็พักที่นาคำน้อย แต่ก็มีการนิมนต์ไปภาวนาที่ถ้ำผาพร้าวด้วย เธอว่าเธอรู้สึกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งเกี่ยวกับหลวงปู่ทุกองค์ โดยเฉพาะวันนั้นจวนจะถึงกำหนดกลับแล้ว เพราะท่านได้มาพักอยู่หลายอาทิตย์ จึงไปกราบหลวงปู่ชอบ เรียนถามว่าจะกลับเมืองไทยอย่างไร ท่านบอกว่า กลับเครื่องบิน สามีของเธอที่เป็นผู้กราบเรียนถามก็งงว่าจะกลับอย่างไร เพราะถ้าจะกลับโดยเครื่องบิน จะต้องเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่เวียงจันทน์ซึ่งห่างจากที่หลวงปู่และคณะกำลังพำนักอยู่มาก เป็นร้อยกว่ากิโลเมตร ก็ในเมื่อตำบลที่คณะท่านพักอยู่นั้น อยู่ตรงข้ามกับฝั่งไทยพอดี เพียงข้ามแม่น้ำโขงก็จะถึงเมืองไทย การเดินทางกลับทางเรือดูจะเป็นการสะดวกที่สุด อีกประการหนึ่ง ถึงจะไปเวียงจันทน์แต่เครื่องบินไม่มีทุกวัน ตั๋วเครื่องบินก็ยังไม่ได้จอง จะทำอย่างไร เมื่อท่านบอกว่ากลับเครื่องบิน จึงคิดว่าไม่มีทางจะทำได้
แต่จะอย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลา ปรากฏว่ามีผู้นำเสนอจะนำเครื่องบินมาส่งให้ เป็นเครื่องบินของทางราชการ ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาใด ตกลงพระ ๙ องค์ ก็ขึ้นเครื่องบินมา สามีของเธอได้ติดตามมาดูแลท่านมาในเครื่องบินลำนั้นด้วย ขณะที่นั่งอยู่ในเครื่องบิน ได้กราบเรียนหลวงปู่ชอบว่า อยากจะขอของดีไว้ให้พวกที่เขามาส่งนี้ด้วย เช่น พวกนักบินและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องบินได้มีไว้คุ้มครองตัว เพราะต้องปฏิบัติงานเสี่ยงอันตรายตลอดเวลา ท่านก็ยิ้มๆ แล้วก็ล้วงลงไปในย่าม ซึ่งย่ามนั้นมองเหมือนไม่มีอะไร แต่ท่านหยิบออกมาทีไร ก็มีพระให้ทุกที ได้ครบกันทุกคนทั้ง ๖-๗ คน สามีของเธอเป็นคนสุดท้าย ก็คิดอยู่ในใจว่าเราจะขอไอ้งั่งเถอะ ไอ้งั่ง นี้เป็นพระที่ทางประเทศลาวยกย่องกันมากว่าศักดิ์สิทธื์ ช่วยในด้านแคล้วคลาด ก็นึกขออยู่ในใจในสิ่งที่เขาคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเวลาที่เฝ้าดูนั้นออกสงสัยเป็นกำลังว่า หลวงปู่ชอบหยิบอะไรออกจากย่าม พระแต่ละองค์ที่แต่ละคนได้ไม่เหมือนกัน และขนาดก็ไม่ใช่เล็กน้อย ทำไมจึงมีได้ทุกครั้ง จึงแกล้งนึกว่า ขอไอ้งั่งเถอะ แต่น่าประหลาด หลวงปู่ชอบท่านก็ควักออกมาจากย่าม แล้วก็ได้พระงั่งจริงๆ
เรื่องนี้แม้จะเป็นการแสดงเรื่องพระเรื่องเครื่องราง แต่ก็แสดงว่าท่านมีจิตบริสุทธิ์ สามารถทำสิ่งใดๆ ได้เสมอ เพียงแต่ท่านไม่พูดไม่แสดงเท่านั้น
เธอกล่าวว่า อย่างไรก็ดี สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความอ่อนน้อมถ่อมองค์ของหลวงปู่หลุย ระยะนั้นท่านพรรษา ๔๐ กว่า และอายุก็มากถึง ๖๘ พรรษาแล้ว คุณธรรมของท่านเองก็มีอย่างเหลือล้นแล้ว ประดุจน้ำเต็มแก้วเต็มฝั่งแล้ว แต่ท่านก็ยังคุกเข่าล้างเท้าให้หลวงปู่ชอบ และเช็ดเท้าให้อย่างนอบน้อมถ่อมตน เป็นบุคลิกประจำองค์ของท่านโดยแท้
ถ้าจะนำบันทึกธรรมที่หลวงปู่บันทึกไว้ระหว่างที่อยู่จำพรรษามาลงพิมพ์ในประวัติคงจะยืดบาวมากมาย และความจริงก็ได้รวบรวมไปไว้ในภาค ธารแห่งธรรม แล้ว เฉพาะครั้งนี้จะขอนำบันทึกอันหนึ่ง ซึ่งท่านจดไว้ตอนที่อยู่ถ้ำผาบิ้ง ซึ่งแสดงถึงอารมณ์ขันของท่านอย่างยิ่ง เป็นบันทึกที่ท่านคงจะอ่านพบจากหนังสือพิมพ์ และเห็นความน่าขัน ท่านจึงจดลงในสมุดบันทึกของท่าน และเมื่อสิ้นกระแสความจากหนังสือพิมพ์ท่านก็แสดงเป็นธรรมะต่อไปเป็น
เบื่ออะไรไม่เท่าเบื่อเมีย เบื่อกับข้าว เลิกกินกลับอยากอีก เบื่อดูหนัง เลิกชั่วคราวกลับชอบดูอีก เมียไม่ใช่วัตถุเช่นนั้น เบื่อแล้วจะเปลี่ยนก็ยาก จะขายก็ไม่ได้ จะเก็บไว้ก็ไม่สนิท จะให้คนอื่นเสียก็ไม่ถนัด จะทิ้งก็ไม่รู้ว่าจะทิ้งที่ไหน เบื่อแล้วยังต้องเห็นต้องพบ เข้าใกล้ก็ยิ่งเบื่อ ต้องเป็นเช่นนั้น นี้แหละ ความเบื่อถึงอุกฤษฎ์ ความเบื่อเกิดจากความซ้ำซากจำเจ แก้เบื่อด้วยวิธี หยุด ย้ายที่ หรือพัก หรือเปลี่ยน จะแก้เบื่อพอแล้ว จิตเสมอๆ แล้วก็พออยู่ โบราณท่านว่า หนามปักเอาหนามบ่ง เมื่อเบื่อเกิดจากความช้ำซาก หนักเข้าก็ชาจนชิน การเบื่อมีขึ้นแล้ว ความเบื่อก็หมด ธรรมดาผู้ชายทั้งหมดต้องเบื่อเมีย ส่วนผู้หญิงเป็นเจ้าของผู้ชายต้องทนความเบื่อ ไม่มีความรู้สึกชนิดใดอีกแล้ว ที่มีฤทธิ์รุนแรง เท่ากับความรู้สึกเบื่อเมีย จำเป็นจำใจต้องอดทนไป เบื่อแล้วกลับชอบ เช่นนักเรียนคนหนึ่ง เบื่ออาหารที่เธอกิน ยิ่งกินช้ำซากบ่อยด้วยการจำเป็นจนชิน ต่อไปเธอกลับชอบ เมื่อเธอมีครอบครัวแล้ว เธอก็แต่งอาหารชนิดนั้น กินบ่อยๆ อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค เป็นคู่กัน ชังแล้วกลับรัก รักแล้วกลับชัง เพราะไม่เที่ยง ปุถุชนมีอารมณ์วนเวียนอยู่กับอารมณ์เท่านั้น วางความรัก ความชังไม่ได้ เหมือนพระอริยเจ้าทั้งหลายเพราะเหตุไม่รู้เท่าสังขาร ผัวเมียวนเวียนนอนนำกันอยู่เรื่อยๆ
ปี ๒๕๑๕ ปีสุดท้ายที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่นี่ เป็นปีที่ท่านได้รับกฐินจากคณะศรัทธาจากกรุงเทพฯ นำโดย พล.อ.อ.โพยม เย็นสุดใจ และ คุณหญิงสมควร เย็นสุดใจ ซึ่งท่านเล่าว่า สมัยที่เข้าไปนั้น เป็นครั้งแรกที่มีคณะกฐินใหญ่โตไปถึง ทางเข้าก็ยังไม่มี ต้องใช้รถเกรดนำหน้า ชาวบ้านใกล้บริเวณวัดดีอกดีใจมากที่ได้มีศรัทธามาจากกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะเป็นกฐินที่ได้เงินสูงสุดสำหรับระยะนั้น คือ ๑๕๐,๐๐๐ บาท จากนั้นพอถึงสิ้นปี ๒๕๑๕ ท่านก็ได้จากถ้ำผาบิ้งมาโปรดประชาชนทางภาคอื่นต่อไป แต่ท่านก็ได้ให้ความเมตตาอุปถัมภ์ บำรุงวัดถ้ำผาบิ้งเสมอมามิได้ขาด หลวงปู่เป็นประดุจพญาช้างที่พอใจซอกซอนซ่อนตัวอยู่ในป่าลึก ไม่ค่อยยอมออกมาพบความศรีวิไลของบ้านเมือง จนล่วงเข้าสู่ปัจฉิมวัยอายุกว่า ๗๐ ปี ท่านจึงยอมรับนิมนต์เข้ามากรุงเทพฯ บ้าง
(มีต่อ ๒๒) |
|
แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 18 ม.ค. 2007, 9:58 am, ทั้งหมด 1 ครั้ง |
|
    |
 |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
18 ม.ค. 2007, 9:53 am |
  |
๏ พรรษาที่ ๔๙-๕๐ พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๑๗
กลับไปบูรณะบ้านหนองผือ และถ้ำเจ้าผู้ข้า
พ.ศ. ๒๕๑๖ จำพรรษา ณ วัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
พ.ศ. ๒๕๑๗ จำพรรษา ณ ถ้ำเจ้าผู้ข้า ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
หลังจากการจัดสร้างวัดถ้ำผาบิ้งแล้ว ท่านก็ได้เดินทางมาเตรียมบูรณะที่บ้านหนองผือต่อไป ความรู้สึกผูกพันที่ท่านมีต่อบ้านหนองผือนั้นมีมากอย่างยากที่จะกล่าวได้ ชาวบ้านเล่นกันว่า เมื่อครั้งแรกตอนที่นิมนต์ท่านมาพร้อมกับยาหม้อใหญ่ในปี ๒๔๗๘ จำพรรษาแล้วท่านก็หายไป กว่าจะกลับมาให้ชาวบ้านได้เห็นอีกก็ปี ๒๔๘๖ ชาวบ้านนึกว่าหลวงปู่ล้มหายตายจากไปแล้ว เพราะเห็นหายไปนาน ก็ได้แต่อาลัยอาวรณ์ด้วยว่าเป็นพระที่เมตตากรุณา เข้ากับพวกเขาได้มากที่สุด ในยามอัตคัตขาดแคลนท่านก็ช่วยแนะนำสั่งสอนการช่วยวิธีการครองชีพ แม้แต่การทอผ้าท่านก็มาสอนแนะ หาคนมาเป็นครูสอนให้ ทำยาหม้อใหญ่อย่างที่กล่าวแล้ว ช่วยให้ชาวบ้านได้อาศัยกินไม่ต้องซื้อหาหยูกยาอย่างอื่นต่อไป เมื่อร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยเบียดเบียนแล้ว ซึ่งพวกเขาได้รู้สึกประจักษ์แก่พุทธภาษิตที่ว่า อโรคยา ปรมา ลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ (เมื่อก่อนที่หลวงปู่จะไปอยู่แถวบ้านหนองผือ มีการเจ็บไข้อยู่เรื่อยเพราะบ้านหนองผือเป็นหมู่บ้านที่อยู่กลางหุบเขา มีเขาล้อมรอบ อากาศย่อมชื้น จริงอยู่สำหรับพระธุดงค์กัมมัฏฐานจะใช้เป็นที่หลบขึ้นไปแสวงหาความวิเวกบนเขาได้เกือบรอบด้าน แต่ผู้ที่อยู่จำเจ ณ ที่นั้นจะต้องถูกอากาศกดอยู่เสมอ การที่ได้รับประทานยาตำรับของหลวงปู่ ทำให้คนในหมู่บ้านมีความสุขขึ้น สุขภาพแข็งแรง เมื่อไม่เจ็บไม่ไข้ ก็สามารถใช้สติปัญญากำลังกายทำมาหาเลี้ยงตนได้ต่อไป) พวกเขากล่าวกันว่าเขารู้สึกสำนึกในพระคุณของหลวงปู่อยู่เสมอ เมื่อเห็นหายหน้าไปนาน เข้าใจว่าท่านคงมรณภาพแล้ว เมื่อกลับมาให้เห็นจึงดีใจกันขนานใหญ่
เมื่อกลับมาในรอบที่แล้ว ก็ยังได้เป็นผู้นำหมู่ให้อุบายจนสามารถอาราธนานิมนต์หลวงปู่ใหญ่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ให้อยู่เป็นขวัญตาขวัญใจเป็นหลักชัยที่พึ่ง ให้ชาวบ้านหนองผือได้ยึดประจำใจอยู่เป็นเวลานาน ท่านจากมาหลังจากที่หลวงปู่มั่นมรณภาพแล้ว ในระหว่างนั้น แม้ท่านจะไม่ได้จำพรรษาที่บ้านหนองผือ แต่ท่านก็เข้าออกไปมา และคอยดูแลกำกับการอยู่ตลอด ท่านกลับไปอีกทีหนึ่งในปี ๒๕๑๖ จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ และปี ๒๕๑๗ ที่วัดถ้ำเจ้าผู้ข้าซึ่งอยู่ไม่ไกลกันในเขตอำเภอพรรณานิคมด้วยกัน และเป็นที่ซึ่งหลวงปู่ได้ไปบูรณะช่วยเหลือสร้างขึ้นให้เป็นวัดอย่างถาวร ท่านได้บันทึกไว้ว่า
อยู่บ้านผือ ภาวนาดีมากกว่าอยู่แห่งอื่นเพราะสถานที่พระอริยเจ้า ท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์เมียง ประทับอยู่ ณ ที่นั้น เป็นสถานที่เป็นมงคล สถานที่เตือนสติบ่อยๆ คล้ายอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ความรู้ธรรมลึกลับสุขุมคัมภีรภาพ ฉะนั้นการบำรุงก่อสร้างจึงทำให้ถาวรมั่นคงรุ่งเรืองให้สมฐานะกับสถานที่เป็นมงคล เทศนามีปฏิภาณดี บุคคลสอนง่าย อุบาสกอุบาสิกากลัวเรามาก เพราะเราทรมาน เขามาแต่ก่อน ดุด่าเขาไม่โกรธ อยู่ได้แต่ออกพรรษา เข้าพรรษาอยู่ไม่ได้ อากาศดับ ถ้ำผู้ข้าอากาศดี มีถ้ำเป็นมงคลดี บ้านผือสงัดดีกว่า เกิดธรรมะ สถานที่ดีมาก พระเณรเราว่ากล่าวสั่งสอนได้ ได้มีธรรมะจากสถานที่ ๒ แห่งนี้มากมาย
ท่านได้เห็นว่า หลังจากที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้มรณภาพแล้ว สภาพวัดป่าบ้านหนองผือดูทรุดโทรมมาก ระยะนั้นแทบไม่มีใครที่จะมาดูแล ได้กล่าวกันว่าแม้แต่ฐานที่ท่านพระอาจารย์มั่นเคยอยู่ถ่าย ก็ได้มีผู้มาขอขุดเอาดินไป ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นพระธาตุทั้งนั้น อย่าว่าแต่กระดูกของท่านจะกลายเป็นพระธาตุเลย แม้แต่สิ่งซึ่งถ้าเป็นบุคคลธรรมดาก็จะถือเป็นของปฏิกูลสกปรกโสมมน่าสะอิดสะเอียน ของดีท่านถ่ายทิ้งลงแล้ว หากเป็นของผู้บริสุทธิ์ สิ่งใดผ่านร่างท่าน ผ่านการภาวนาแผ่เมตตาชำระความบริสุทธิ์อยู่ตลอด มูลมูตรมูลคูถจึงกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป ท่านไปจัดการสอนให้ชาวบ้านรู้จักรักและภาคภูมิใจในสิ่งที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้ฝากร่องรอยไว้จะเป็นกุฏิของท่านก็ดี ศาลาธรรมก็ดี บริเวณวัด ทางจงกรม ขอให้รักษาไว้ให้อยู่ในสภาพเดิมดังที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้เคยอยู่ ท่านกล่าวกับชาวบ้านไว้ว่า สถานที่นี้จักมีชื่อเสียงต่อไปอีกนานแสนนาน พวกเราอยู่แล้วก็จะตายไปเพียงอายุเท่าชั่วชีวิตของเรา แต่สถานที่นี้ จะอยู่ตลอดไป เพราะเป็นสถานที่พระอรหันตเจ้าได้มาอยู่ในระยะเวลาปัจฉิมวัยของท่าน เป็นสถานที่ได้อบรมบ่มร่ำศิษย์ของท่านให้กลายเป็นต้นโพธิ์อันงดงามในพุทธศาสนา แตกกิ่งก้านสาขาเป็นที่พักพึ่งพิงทางใจแก่พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ แต่ละต้นต่างมีชื่อเสียงขจรขจายตามรอยต้นโพธิ์พ่อโพธิ์แม่ คือท่านพระอาจารย์มั่น
โพธิ์เหล่านั้นที่ได้รับธรรมจากบ้านหนองผือมีอีกมากมายหลายองค์ อย่างเช่น หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว หลวงปู่ชอบ หลวงปู่ตื้อ หรือท่านอาจารย์พระมหาบัว หรือรุ่นเล็กๆ ต่อไปเช่น ท่านพระอาจารย์วัน ท่านพระอาจารย์จวน ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง เป็นอาทิ พวกท่านชาวบ้านหนองผือควรจะต้องบำรุงรักษาสถานที่เหล่านั้น อาจจะขาดแคลนกำลังทรัพย์ แต่คนไทยจากจังหวัดถิ่นอื่นก็คงจะส่งมาให้ความช่วยเหลือได้
พวกเจ้าอาจจะไม่มีกำลังทรัพย์ แต่เจ้ามีกำลังกายที่จะช่วยบำรุงให้อยู่ต่อไป อย่างน้อยรักษาความสะอาดเรียบร้อยไว้ อย่าให้สกปรกรกรุงรัง ทางเดินจงกรมเป็นดินก็ต้องให้ดูแลไว้พระสงฆ์องคเจ้าที่จะมาจำพรรษาอยู่ที่นี่เป็นการสืบต่อพระศาสนา ก็ขอให้ถวายการอุปัฎฐากอย่างดี
ชาวบ้านเล่าว่า หลวงปู่ได้เมตตาสั่งสอนให้พวกเขาได้สามารถมีส่วนแห่งการบุญ ขาดกำลังทรัพย์ ก็ช่วยได้ทางกำลังกายและกำลังใจ จัดเป็นบุญกุศลอย่างมหาศาลเช่นกัน
ระยะนั้นกำลังศรัทธาที่จะมาช่วยสนับสนุนท่านยังมีไม่มาก ท่านก็ได้แต่แนะให้ชาวบ้านรู้จักหน้าที่ รู้จักหวงแหนสมบัติอันมีค่าของตน ท่านกล่าวว่าท่านได้ไปดูทั้ง ๒ วัด ด้วยความเป็นห่วง ไม่ต้องการให้ทรุดโทรมเสื่อมสลายไป การภาวนา ณ สถานที่ ๒ แห่งนั้นได้รวบรวมไว้อยู่ในภาคธารแห่งธรรมเรียบร้อยแล้ว หลวงปูได้กลับมาบูรณะใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อปี ๒๕๒๕ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
๏ พรรษาที่ ๕๑ พ.ศ. ๒๕๑๘ โปรดชาวภาคตะวันออก
จำพรรษา ณ สวนบ้านอ่าง อ.มะขาม จ.จันทบุรี
ออกพรรษาแล้ว หลวงปู่คงอยู่เป็นหลักชัยให้ญาติโยมที่อยู่ใกล้เคียงกับถ้ำเจ้าผู้ข้า และบริเวณใกล้เคียงแถบอำเภอพรรณานิคมต่อไปอีกระยะหนึ่ง พอดีมีงานนิมนต์ทางกรุงเทพฯ ท่านจึงเดินทางลงมาตามคำนิมนต์ โดยพักที่วัดอโศการามบ้าง ที่พักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ บ้าง
ระหว่างอยู่กรุงเทพฯ นั้น นายแพทย์โรจน์ สุวรรณสุทธิ และภรรยามากราบท่าน และปฏิบัติธรรมกับท่าน คุยให้ท่านฟังถึงที่สวนของท่านที่จังหวัดจันทบุรีซึ่งปลูกยางเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีต้นผลไม้อื่น เช่น ส้มเขียวหวานและมะม่วงบ้าง รวมทั้งมีสวนพริกไทยซึ่งเป็นพืชพันธุ์ไม้ที่ทำให้จันทบุรีมีชื่อเสียง มีพริกไทยเป็นสินค้าขาออกสำคัญของจันทบุรี นอกเหนือจากอัญมณีอย่างพลอยด้วย
คุณหมอกราบเรียนท่านว่า บริเวณสวนนั้นกว้างใหญ่ มีอาณาบริเวณหลายร้อยไร่ ต้นยางก็สูงระหง มีร่มเงาดีบริเวณด้านหลัง มีเนินเขา มีอ่างน้ำ มีลำธาร ควรถือได้ว่า เป็นป่า เป็นเขา อุดมด้วยต้นไม้ใหญ่ ท่อธารละหานห้วย ดังเช่นป่าเขาที่หลวงปู่ได้เคยเดินธุดงค์วิเวกมาในภาคอีสาน หากท่านจะเมตตาไปพักบำเพ็ญภาวนา ก็จะเป็นมงคลแก่สถานที่เป็นอย่างยิ่ง
เมื่อท่านไปเห็นสถานที่ และได้พักภาวนา กำหนดจิตแผ่เมตตาอยู่ระยะหนึ่งก็รับว่าสถานที่นั้นสัปปายะอย่างยิ่ง คุณหมอและภรรยาจึงอาราธนานิมนต์ว่า ในพรรษาที่จะถึงนี้ ขอให้หลวงปู่เมตตาอยู่จำพรรษา ณ สวนบ้านอ่างนี้
เมื่อท่านรับนิมนต์แล้วนั้น มีเวลาพอควรก่อนถึงเวลาปวารณาเข้าพรรษาหลวงปู่จึงกลับมาโปรดญาติโยมทางกรุงเทพฯ ก่อน ระหว่างนั้นทางที่สวนก็เตรียมจัดสถานที่รอรับคณะท่าน คุณหมอเล่าว่า ผู้อยู่ว่าพระป่าไม่ชอบสถานที่หรูหราฟุ่มเฟือย ขอเพียงมีแคร่เล็กๆ พอแขวนกลด แขวนมุ้งก็พอแล้ว แต่โดยที่ระหว่างพรรษาเป็นเวลาหน้าฝน และฝนทางจันทบุรีนั้นตกหนักและชุกมาก จำจะต้องจัดให้ท่านมีที่มุงที่บังอันแข็งแรงพอจะป้องกันลมกันฝนได้
อย่าว่าแต่ความหรูหราฟุ่มเฟือยเลย แม้แต่การจะไปซื้อวัสดุ เช่น ไม้ จากข้างนอก หลวงปู่ก็ปรารภห้ามไว้ก่อนแล้ว ดังนั้น เจ้าภาพจึงหาทางประนีประนอมที่จะจัดสร้างที่พักให้แข็งแรงทนแดดทนฝนได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่เป็นการจัดซื้อให้เสียเงิน โดยจัดหาวัสดุในสวน ก็ตามมีตามเกิด...นะ ! อย่างที่ท่านสั่ง
กล่าวคือ ในสวนแถบจันทบุรีย่อมอุดมด้วยต้นระกำป่า คุณหมอก็ให้ตัดต้นมา สร้างเป็นกุฏิไม้ระกำได้ ๑ หลัง ส่วนพระและเณรที่จะติดตามท่านมานั้น ก็หาไม้ไผ่ในสวนมาสร้างเป็นกระท่อมเล็กๆ ขนาดกว้างพอแขวนกลดและมุ้งได้ มุงด้วยหญ้า ซึ่งก็เก็บเกี่ยวจากในเขตสวนยางสวนส้มนั่นเอง บริเวณใกล้อ่างน้ำและลำธารทำเป็นศาลา ใช้ทั้งเป็นที่ประชุม สวดมนต์ ฟังธรรม และทั้งเป็นที่ฉันจังหันด้วย
ใช้วัสดุเรียบง่าย และตามมีตามเกิด คือหาได้ในสวนตรงตามหลวงปู่สั่งไว้...! ดังนั้น เมื่อท่านมาเห็นเข้า จึงพอใจสถานที่จำพรรษานี้อย่างยิ่ง
ท่านได้บันทึกชมเชยสถานที่จำพรรษาครั้งนี้ว่า...ดีกว่าภาคอีสาน
ภาวนาดีนัก ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่กลางคืนเพ่งอารมณ์กรรมฐานโดยเฉพาะ ประกอบไตรลักษณ์ไม่ให้ยึดมั่น ถือมั่น ในสังขารทั้งปวง เห็นว่า สังขารเป็นภัยใหญ่
ปกติในการเดินทางไปพำนักอยู่ที่ใดก็ตาม หลวงปู่มักจะนำหนังสือติดองค์ไปอ่านด้วยเสมอ เป็น วิหารธรรม เป็น เครื่องอยู่ ของท่าน ระหว่างว่างจากเวลารับแขกหรือเวลาภาวนา แต่สำหรับที่สวนเมืองจันท์นี้ เมื่อนำหนังสือขึ้นมาอ่าน ท่านก็ต้องรำพึง ว่า
ดูหนังสืออยากนอน เข้าอารมณ์ภาวนาไม่อยากนอน ชวนให้ภาวนาเรื่อยๆ นิมิตไม่ฝันร้าย นิสัยถูกกับเขา (หมายถึงญาติโยม) อยากนำเขาไปเรื่อยๆ
เพ่งกาย ตรวจกายไปเรื่อยๆ ไม่ให้ยึดมั่น ถือมั่นในสังขารใดๆ ถูกกับอากาศทะเล ไม่เจ็บป่วยเหมือนกะอยู่ภาคอีสาน กินข้าวมีรส นอนหลับดี ร่างกายสมบูรณ์ไม่เจ็บป่วย เทศนาแก่บุคคลมีปาฎิหาริย์ ลึกตื้นมีคนเข้าใจ
ทำให้ท่านแทบไม่ได้หยิบหนังสือเล่มใดขึ้นมาอ่าน เพราะจิตใจดูดดื่มเพลิดเพลินในการภาวนาโดยตลอด อีกตอนหนึ่ง ในสมุดบันทึกท่านกล่าวว่า
ตรวจกายถึงหลักธรรมะเสมอ ค้นอนุสัยของจิตเสมอ คุณหมอโรจน์พร้อมด้วยภรรยา เข้าใจธรรมะมาก สอนให้ม้างกาย เข้าใจมากกว่าคนอื่นในจังหวัดพระนคร
ความจริง เมื่อกล่าวแต่ต้นว่าหลวงปู่ พอใจสถานที่จำพรรษานี้อย่างยิ่งนั้น ตั้งใจจะกล่าวต่อไปว่า แต่สิ่งที่ทำให้ พอใจอย่างที่สุดนั้น มิใช่สถานที่อันสงัดวิเวกแต่เป็นบุคคล ผู้เป็นศิษย์ ผู้รับฟังคำสอนจากท่านด้วยความเลื่อมใสศรัทธา และสามารถปฏิบัติตามได้...!!
เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อหลวงปู่ไปพักอยู่ที่ใด ท่านจะนำคนให้ไหว้พระสวดมนต์ รักษาศีล รู้จักการให้ทาน การภาวนา เป็นประจำทุกวัน ณ ที่สวนบ้านอ่างนี้แต่แรกก็อบรมเฉพาะผู้ที่อยู่ในเขตสวน เช่น ผู้จัดการและคนงานพร้อมครอบครัว ต่อมาชาวบ้านใกล้เรือนเคียงทราบข่าว ก็เข้ามาฟังธรรมด้วย รวมทั้งจากอำเภอนอกๆ หรือที่ตลาดในตัวจังหวัดที่จันทบุรี หรือระยองก็มาใส่บาตร ฟังเทศน์ด้วย ตอนระยะหลังๆ มีผู้เลื่อมใสศรัทธามาขอนอนวัดภาวนาทุกคืน
อันที่จริง แถบจังหวัดภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่จันทบุรีนี้ เคยมีพระเถระผู้ใหญ่ฝ่ายกัมมัฏฐานสาย ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้มาโปรดญาติโยมทางนี้อยู่มากแล้ว เช่น พระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์) ท่านพระอาจารย์ลี ธัมมธโร (พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์) ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ เป็นอาทิ ศรัทธาญาติโยมจึงเป็นผู้คุ้นเคยกับพระกัมมัฏฐาน เคยต่อการทัสนานุตริยะ ได้เห็นพระ กราบไหว้พระ บังเกิดความชื่นอกชื่นใจ เลื่อมใส เชื่อฟัง นิสัยจึงน้อมมาทางธรรม เชื่อมั่นในธรรมอยู่แล้ว เมื่อได้มากราบหลวงปู่หลุย ท่านจึงชมพุทธบริษัททางภาคตะวันออกนี้ว่า เป็น ช้างที่ฝึกแล้ว ว่าง่าย สอนง่าย
บาปมี บุญมี อานิสงส์ของบุญ มีอย่างจริงแท้ ท่านผู้ให้ที่พักในการบำเพ็ญเพียรภาวนาแก่พระภิกษุ สามเณร และญาติโยมผู้ประพฤติปฏิบัติ ย่อมได้รับอานิสงส์แห่งการนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างน้อยที่สุดที่เห็นโดยพลันก็ได้ทำให้การภาวนาของท่านก้าวหน้าไปอย่างน่าปลื้มใจ
คุณสำรวย สุวรรณสุทธิ ภรรยาคุณหมอโรจน์ เป็นผู้ที่หลวงปู่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างยกย่องเสมอ
ท่านสอนเสมอ ให้ทุกคน ม้างกาย ซึ่งเป็นการพิจารณากาย กายคตานุสติแบบหนึ่ง โดยใช้วิธีแยกกายออกเป็นส่วนๆ ให้เห็นความเกิด ความเสื่อม ความดับไปแห่งสกลกายนี้ เพ่งพิจารณากายให้เป็นอุคคหนิมิต ให้เป็นปฏิภาคนิมิต แล้วดำเนินจิตเข้าสู่ไตรลักษณ์
หลวงปู่สอนไป สอนไป แต่ก็แทบไม่มีใครจะสามารถกำหนดจิต ม้างกาย ทำตามท่านได้ กระทั่งท่านมาอยู่ที่สวนเมืองจันทบุรีนี้ ท่านได้ เคี่ยว ศิษย์ กระทั่งวันหนึ่ง ศิษย์ผู้นั้น หรือคุณสำรวย ก็สามารถกราบเรียนเรื่องการหัด ม้างกาย ของเธอถวายให้หลวงปู่ฟังได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ
สอนให้ม้างกาย...เข้าใจมากกว่าคนอื่นในจังหวัดพระนคร ตามที่หลวงปู่บันทึกไว้ คือ
คุณสำรวยเล่าว่า เมื่อไม่ทราบจะ ม้างกาย อย่างไร ทำแบบไหน ท่านว่า ให้แยกกาย ให้ตัดกาย เฮ้อ...ก็เลยนึกแบบทำกับข้าว สับไก่ ฉีกไก่ เอ...มันก็ยังไม่ได้ความ
วันหลังเล่าถวายท่านว่า สับก็แล้ว ฉีกก็แล้ว กายมันก็ยังเป็นแท่งทึบอยู่นั่นแล้ว หลวงปู่ก็เอ็ดเปรี้ยงเข้าให้
แม่มีตีน มือ...! มีเอาไว้ทำไม ? เอามือฉีก เอาตีนถีบ ตบมันออกไปซี...! นะแม่นะ
เมื่อก็กลับมาทำต่อ ผ่าอกตัวเองออกไป เหมือนผ่าอกเป็ด อกไก่ ผ่าออกเป็น ๒ ซีก จะฉีกให้เป็นชิ้นๆ แล้วก็น้อมเข้ามาที่ตัวเรา สับเหมือนสับเป็ด สับไก่ สับจนละเอียด
พยายามเพ่งกาย สับกาย อยู่เช่นนั้น น้อมนึกอยู่ดังนั้นเรื่อยๆ
วันหนึ่งเมื่อไปทำบุญที่พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ที่วัดป่าสุทธาวาส ได้เห็นอัฐิพระธาตุของท่านที่ใสเป็นแก้ว ก็บังเกิดความปลื้มปีติ คำนึงว่าเราได้ทำบุญอย่างเต็มเปี่ยมกับท่าน น่าชื่นใจ
นึกย้อนดูกายเรา กระดูกของเรา มันเป็นอย่างไร ?
ความที่เคยหัด ม้างกาย ตามคำหลวงปู่สอน สับมัน...หั่นมัน...ฉีกมัน...ถีบมัน...ตบมัน อยู่เป็นประจำบ่อยๆ วันนั้นเกิดปีติส่ง
นึก ม้างกาย ตามกรรมวิธีของท่าน เพียงอึดใจเดียว ก็รวมพั่บลง เห็นกระดูกในร่างกายแหลกละเอียดลงเป็นฝุ่น แล้วไปหมดเลย
เหลือแต่ ผู้รู้
เด่นดวงอยู่อย่างเดียว
(มีต่อ ๒๓) |
|
|
|
    |
 |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
18 ม.ค. 2007, 10:05 am |
  |
๏ พรรษาที่ ๕๒ พ.ศ. ๒๕๑๕ เดินทางไปโปรดชาวภาคใต้
และจำพรรษา ณ วัดกุมภีร์บรรพต
นิคมควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล
ออกพรรษาแล้ว ท่านยังคงพำนักที่สวนคุณหมอโรจน์ต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อโปรดญาติโยมในตัวจังหวัดจันทบุรี อำเภอโดยรอบและจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะเพื่อพานำไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ทุกคนก็สนใจทำตามด้วยจิตอันนอบน้อมต่อคุณพระรัตนตรัย สำหรับภรรยาคุณหมอโรจน์ ที่เมื่อท่านสอนการม้างกาย ก็พยายามปฏิบัติตามจนปรากฏผลเป็นที่พอใจ
ท่านได้บันทึกไว้ว่า ท่านจากจังหวัดจันทบุรีมาเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ เนื่องด้วยคณะพุทธบริษัทของวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ อาราธนาให้มาพักผ่อนล่วงหน้าก่อน เพราะบรรดาศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนผู้มีความเคารพรักในองค์ท่าน จะได้จัดงานทำบุญฉลองอายุให้ท่าน และ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ซึ่งต่างเกิดในเดือนเดียวกัน คือ เดือนกุมภาพันธ์ และปีเดียวกัน คือ ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๔๔ เพียงแต่วันเกิดห่างกันวันเดียว คือ ท่านเกิดวันอังคารที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ส่วนหลวงปู่ชอบเกิดวันพุธที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ เท่านั้น ดังนั้น คราวนี้คณะศิษย์จึงได้กำหนดจัดงานฉลองพระคุณท่านทั้งสองรวมกัน ๒ วัน คือ วันที่ ๑๑ และ ๑๒ กุมภาพันธ์ ณ วัดอโศการาม
ปกติ พระเณร แม่ชี ที่วัดอโศการามก็มีจำนวนมากอยู่แล้ว แต่เมื่อเป็นงานของครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ ผู้เป็นประดุจธงชัยคู่เอกของพระกัมมัฏฐานถึง ๒ องค์ จำนวนพระ เณร ชี และศรัทธาญาติโยม ที่มาชุมนุม ณ วัดอโศการาม ในโอกาสสำคัญนี้จึงคับคั่ง ทำให้บริเวณอันกว้างใหญ่ของวัดดูแคบไปถนัดตา
ระหว่างงาน มีผู้ทราบว่า หลวงปู่ยังไม่เคยเดินทางไปภาคใต้เลย จึงนิมนต์ขอให้ท่านเดินทางไปโปรดชาวภาคใต้บ้าง ท่านรับนิมนต์ และเพียงวันรุ่งขึ้นเสร็จจากงานคือวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ท่านและ ท่านเจ้าคุณโสภณคณาจารย์ หรือขณะนั้นยังเป็น พระมหาเนียม ก็เดินทางโดยรถด่วนสายใต้ทันที
ไป...ของท่าน คือ ไป ! และ ไป ทันที !
รถด่วนถึงหาดใหญ่ เช้าวันรุ่งขึ้นที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ได้พักที่ วัดสระน้ำ อ.หาดใหญ่ มีคณะศรัทธาญาติโยมมาฟังเทศน์และปฏิบัติธรรมด้วยท่านอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะคณะศรัทธาชาวการรถไฟ ซึ่งปกติมีความเลื่อมใสในแนวการปฏิบัติธรรบของพระกัมมัฏฐานสาย หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อย่างแน่นแฟ้นอยู่แล้ว ก็ได้นำญาติสนิทมิตรสหายมากราบหลวงปู่กันเป็นประจำ
ท่านได้พาไหว้พระ ทำวัตรสวดมนต์ สอนให้ถึงพระไตรสรณาคมน์อย่างแท้จริง คำสวดนำของท่านจะไบ่มีแต่เพียงภาษาบาลี หากมีคำแปลอย่างพิสดารประกอบด้วย ทำให้ผู้ที่สวดตามสามารถใคร่ครวญและน้อมจิตพิจารณาความตามไปด้วยอย่างซาบซึ้ง และเพิ่มความศรัทธายิ่งขึ้น
ท่านได้ศิษย์หน้าใหม่ๆ มาสวดมนต์ ปฏิบัติภาวนาด้วยอีกมาก
ระหว่างที่พักวัดสระน้ำ เผอิญ คุณบันยง ศรลัมพ์ อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นยังดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ ได้เดินทางไปตรวจงานที่หาดใหญ่ ทราบว่าหลวงปู่อยู่ที่นั่น จึงไปกราบเยี่ยม และนิมนต์ให้ท่านเดินทางไปกับขบวนรถพิเศษ ให้ถึงชายแดนสุไหงโกลกด้วย เพราะเมตตาของพระกัมมัฏฐานระดับครูบาอาจารย์นั้น ย่อมกอปรด้วยพลังอันบริสุทธิ์ และแผ่ไปโดยรอบ...แผ่ไปในที่ใกล้...และแผ่ไปในที่ไกล...แผ่ไปโดยไม่มีประมาณ เป็นมงคลแก่สถานที่ซึ่งท่านพำนัก เป็นมงคลแก่สถานที่ซึ่งเดินทางผ่านไป
ท่านเดินทางไปจนถึงสุดชายแดนประเทศไทย ผ่านสุไหงโกลก เข้าไปในลันตู เขตประเทศมาเลเซียด้วย ขากลับได้แวะลงที่สถานียะลา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พักที่ วัดยะลาธรรมาราม ท่านเจ้าคุณพระราชญาณเวที เจ้าคณะจังหวัดยะลา (ธรรมยุต) ได้มาต้อนรับและเชิญชวนให้พุทธบริษัททางยะลามาฟังธรรมคำสั่งสอนจากหลวงปู่ โดยเฉพาะการฝึกหัดภาวนา
ท่านพักอยู่ ณ วัดยะลาธรรมาราม ๓-๔ วัน อบรมพระเณรและประชาชนพอควรแล้วก็เดินทางกลับ ท่านลงรถไฟที่สถานีควนจง ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีหาดใหญ่ประมาณ ๘ กิโลเมตร ด้วยทราบว่า ที่ควนจงนี้ มีวัดกัมมัฏฐานอยู่วัดหนึ่ง ชื่อวัดควนจง เจ้าอาวาสชื่อ พระมหาสมจิตต์ เป็นศิษย์ ท่านพ่อลี หรือ พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ แห่งวัดอโศการาม ท่านจึงแวะไปเยี่ยม
ท่านกล่าวว่า ไปให้กำลังใจ และชมว่า จัดทำเป็นวัดป่าได้อย่างเหมาะสมมีความสงบ สงัด สัปปายะดี
พักวิเวกมีความสงบระยะหนึ่งแล้ว ทางนายช่างรถไฟก็ได้ส่งรถยนต์มารับให้ท่านไปขึ้นรถไฟที่หาดใหญ่ เพื่อเดินทางไปในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ณ โรงงานรถจักรทุ่งสง อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
จากทุ่งสง ท่านพัก ณ วัดเขาน้อย อำเภอร่อนพิบูลย์ วัดนี้สมัยพระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ หรือ พระนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาจารย์ แห่งวัดหินหมากเป้ง เดินทางไปมาระหว่างจังหวัดภูเก็ตและนครศรีธรรมราช ได้มาพักโปรดญาติโยม ณ ที่วัดเขาน้อยนี้เสมอ เมื่อหลวงปู่เทสก์จากปักษ์ใต้ไปเป็นเวลาช้านานกว่าสิบปี ผู้ที่เคยได้รับกระแสเมตตาธรรมของท่านย่อมรู้สึกว้าเหว่ขาดที่พึ่งทางใจ มาพบหลวงปู่องค์ใหม่ซึ่งพรรษาอายุใกล้เคียงกันผ่านมาโปรด จึงอดเป็นน้ำหูน้ำตาบ้างไม่ได้ และพากันกุลีกุจออุปัฏฐาก รับต้อน (สำนวนของหลวงปู่ แทนที่จะใช้คำว่า ต้อนรับ ท่านเรียกว่า รับต้อน) เป็นอย่างดี
มองปราดเดียวก็รู้ว่า ผ่านการสมาคมอบรมมาแล้ว เคยเป็นศิษย์มีครูมาแล้ว
ท่านกล่าวว่า ไม่ต้องดูเลยไปถึงกิริยาอาการอันสงบเสงี่ยมนิ่มนวลของอุบาสกอุบาสิกา เพียงดูการ กราบ ก็รู้แล้ว...!
แสดงอาการว่า ดิฉันเป็นลูกศิษย์หลวงปู่เทสก์...! ทำให้พระกัมมัฏฐานไปมาได้รับความสะดวกเป็นพิเศษเจือจานมาด้วย
หลังจากนั้น ญาติโยมก็พาท่านเดินทางมาพังงาและภูเก็ต เมื่อแวะเยี่ยมเละพักตามวัดต่าง ๆ ที่พระคุณเจ้าหลวงปู่เทสก์ได้เผยแผ่ธรรมะ มีผู้เลื่อมใสสร้างวัดถวายให้แก่ท่าน เช่น ที่ วัดนิโรธรังสี อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา วัดเจริญสมณกิจ หลังศาลจังหวัดภูเก็ต และ วัดไม้ขาว ใกล้สนามบินภูเก็ต เป็นต้น
ต่อมาหลวงปู่ได้ไปพักที่ วัดควนกาไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา วัดนี้เริ่มแรก ท่านเจ้าคุณพระอริยเวที (พระมหาเขียน ป. ๙) ได้ไปพักเพื่อวิเวก หลวงปู่ให้อุปถัมภ์ถวายปัจจัยเดือนละ ๕๐๐ บาททุกเดือน เป็นค่าภัตตาหารแก่ภิกษุสามเณรอยู่ในวัด ในสมัยหลวงปู่มีชีวิตตลอดมา เพราะท่านระลึกถึงอุปการคุณที่แม่ชีกัลยาเคยถวายให้แก่หลวงปู่
ท่านพักที่วัดควนกาไหลจนใกล้เข้าพรรษา จึงกลับมาหาดใหญ่ ท่านอาจารย์พระมหาเนียม กราบเรียนถึงสถานที่อันควรบำเพ็ญภาวนาตลอดพรรษาที่ วัดกุมภีร์บรรพต ซอยเว นิคมควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสงขลา ว่ามีเงื้อมเขา มีถ้ำ อันสงัดวิเวกเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม หลวงปู่เห็นด้วย ญาติโยมจึงจัดรถยนต์ไปส่งท่านที่วัดกุมภีร์บรรพต
ตลอดพรรษา คณะศรัทธาในเขตอำเภอหาดใหญ่ สงขลา และจังหวัดใกล้เคียง ก็ได้เดินทางไปถวายจึงหัน และหาโอกาสไปฟังธรรมกันเสมอมิได้ขาดพร้อมทั้งได้ช่วยกันเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน ณ วัดกุมภีร์บรรพต เมื่อออกพรรษาแล้วด้วย
เสร็จจากพิธีทอดกฐินระยะหนึ่ง หลวงปู่เดินทางกลับมาจากวัดกุมภีร์บรรพตใช้หาดใหญ่เป็นจุดศูนย์กลางที่จะอยู่โปรดชาวหาดใหญ่ ชาวสงขลา และจังหวัดใกล้เคียงวัดที่ท่านพำนักในระยะหลังจากออกพรรษา คือ วัดควนเจดีย์ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากทะเลมากนัก และห่างจากเมืองสงขลาเพียงประมาณ ๑๐ กิโลเมตร สะดวกแก่คณะศิษย์และญาติโยมที่จะมาทำบุญและประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็มีความสงัดเงียบไม่พลุกพล่าน ท่านจึงอยู่ด้วยความสัปปายะ สัปปายะทั้งอากาศ สัปปายะทั้งบุคคล สัปปายะทั้งอาหาร และ สัปปายะทั้งสถานที่ คณะศิษย์กลุ่มใหญ่ๆ ที่มาฟังธรรมกันเป็นเนืองนิตย์ ได้แก่ คณะการรถไฟ คณะโรงพยาบาล คณะอธิการวิทยาลัยครูสงขลา และคณะนายทหารและครอบครัวจากค่ายคอหงษ์ เป็นอาทิ
ท่านอบรมธรรม นำภาวนา อยู่จนใกล้จะถึงเวลาเข้าพรรษาของปี ๒๕๒๐ บังเอิญเกิดอาการอาพาธ ป่วยเจ็บที่คอ แม้จะพยายามหายาต่างๆ มารักษา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่พร้อมภรรยาและคณะซึ่งเป็นศิษย์ของท่าน ก็มาดูแลรักษาแต่อาการนั้นก็ไม่หาย ได้แต่ขอร้องให้ท่านลดละการทำกลดลงบ้าง เพราะการที่ท่านก้มศีรษะคร่ำเคร่งกับการทำกลดแจกพระเณรและญาติโยมผู้ศรัทธายินดีในการปฏิบัติธรรมนั้น อาจเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้อาการอาพาธไม่หายขาด มีแต่ทรงตัวอยู่หรือกำเริบทรมานมากขึ้นก็ได้
ข่าวอาพาธของท่านที่จังหวัดภาคใต้ ทราบมาถึงกรุงเทพฯ ท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโร ทราบเรื่องจึงเดินทางลงไปกราบท่านที่วัดควนเจดีย์ ขอนิมนต์พ่อแม่ครูจารย์กลับมาจำพรรษาที่กรุงเทพฯ เพื่อให้โอกาสศิษย์ได้อุปัฏฐากรับใช้ และสะดวกแก่การดูแลถวายยารักษาโรค เพราะในนครหลวงย่อมใกล้นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมืออันทันสมัยมากกว่าต่างจังหวัด
หลวงปู่รับฟังคำนิมนต์ และเหตุผลหว่านล้อมที่ท่านอาจารย์ทิวายกขึ้นมากล่าวด้วยความเคารพนอบน้อมแล้ว ในที่สุดท่านก็ยอมรับนิมนต์กลับกรุงเทพฯอันเป็นเวลาจวนแจ ก่อนเข้าพรรษาเพียงวันสองวันเท่านั้น
(มีต่อ ๒๔) |
|
|
|
    |
 |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
18 ม.ค. 2007, 12:15 pm |
  |
๏ พรรษาที่ ๕๓-๕๗ โปรยปรายสายธรรม
พ.ศ. ๒๕๒๐ จำพรรษา ณ สวนปทุมธานี ต.สวนพริกไทย อ.เมือง จ.ปทุมธานี
พ.ศ. ๒๕๒๑ จำพรรษา ณ วัดป่าหนองแซง อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี
พ.ศ. ๒๕๒๒ จำพรรษา ณ โรงนานายแดง คลอง ๑๖ อ.องครักษ์ จ.นครนายก
พ.ศ. ๒๕๒๓ จำพรรษา ณ วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
พ.ศ. ๒๕๒๔ จำพรรษา ณ ที่พักสงฆ์บ้านคุณประเสริฐ โพธวิเชียร อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
นับจากที่ท่านได้จำพรรษาปี ๒๕๑๙ ที่วัดกุมภีร์บรรพต นิคมควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล แล้วต่อมาท่านได้วิเวกไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นลำดับจนใกล้จะถึงเวลาเข้าพรรษาปี ๒๕๒๐ ท่านก็มาพักโปรด ชาวจังหวัดภาคใต้ อันเป็นสำนวนของท่าน อยู่ที่วัดควนเจดีย์ จังหวัดสงขลา ปรากฏว่าในระหว่างนั้นท่านอาพาธมีอาการเจ็บที่คอ ได้รักษากันอยู่นานแต่ไม่หาย ท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโร จึงได้เดินทางไปรับท่านกลับมาที่กรุงเทพฯ และขอให้ท่านเลือกสถานที่จำพรรษาในกรุงเทพฯ ทั้งนี้ นอกจากการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว ยังต้องการหมอนวดเส้นเป็นพิเศษที่จะรักษาอาการอาพาธของท่านได้ ท่านบอกว่า แม้แต่จะเอี้ยวคอก็รู้สึกเจ็บมากแต่ถึงกระนั้น หลวงปู่ก็จะไม่ค่อยฉันยาสักเท่าใด
ในเรื่องเกี่ยวกับอาพาธนี้ หลวงปู่มีข้อสัญญาตกลงกับท่านพระอาจารย์ทิวา ซึ่งหลวงปู่เล่าว่า ท่านบังคับให้ท่านพระอาจารย์ทิวาเซ็นสัญญากับท่านก่อน ท่านจึงจะยอมมากรุงเทพฯ ด้วย เป็นสัญญาสุภาพบุรุษ โดยต่างองค์ต่างก็เป็นอนาคาริกไม่มีที่อยู่ เดินทางไปเรื่อยๆ ไม่มีลูกศิษย์ปฏิบัติใกล้ชิด ไปองค์เดียวตลอด ดังนั้นหากองค์ใดองค์หนึ่งเกิดอาพาธขึ้น อีกองค์จะต้องเดินทางมาดูแลกัน อันนี้เป็นอุบายของท่านพระอาจารย์ทิวา ถ้าท่านไม่ยอมรับสัญญาสุภาพบุรุษจากหลวงปู่เช่นนั้น หลวงปู่ก็คงไม่ยอมรับความปรารถนาดีจากท่านพระอาจารย์ทิวาเป็นแน่แท้ คือหมายความว่า ต้องมีการแลกเปลี่ยนกันว่า เมื่อหลวงปู่อาพาธ ท่านพระอาจารย์ทิวาขอเข้ามาดูแลท่าน และในกรณีกลับกัน ท่านพระอาจารย์ทิวาก็ต้องยอมรับว่า เมื่อท่านเกิดอาพาธขึ้นบ้าง หลวงปู่ก็จะต้องไปดูแลเช่นกัน เป็นการที่หลวงปู่ถือว่า เท่าเทียมกันไม่เอาเปรียบกัน โดยหลวงปู่ท่านไม่ได้คำนึงถึงเลยว่า ท่านนั้นเป็นเถระผู้ใหญ่ ซึ่งมีพรรษาถึง ๕๓ พรรษาแล้ว ในขณะที่ท่านพระอาจารย์ทิวาเพียง ๒๐ พรรษา แต่หลวงปู่ก็ถือว่าเท่าเทียมกัน อันนี้เป็นคุณธรรมอีกประการหนึ่งที่หลวงปู่ได้แสดงให้เห็นว่าท่านไม่เคยถือว่า องค์ท่านเองเป็นพระเถระผู้ใหญ่เลย
สถานที่ซึ่งท่านเลือกเป็นที่จำพรรษาในปีนั้นคือ ที่สวนปทุมธานี เป็นที่สวนซึ่ง คุณประชา และ คุณไขศรี ตันศิริ ได้ซื้อไว้ส่วนหนึ่ง และในบริเวณสวนที่ติดต่อกันนั้น เป็นของ คุณมานพ กับ คุณอารี สุภาพันธุ์ สภาพบริเวณนั้นคล้ายป่า ทั้งนี้เพราะเจ้าของที่ซื้อแล้วก็ไม่ได้ทำอะไร อีกทั้งมีคูน้ำลัดเลาะในบริเวณ สงบ สงัดเหมาะแก่การเจริญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง
ความจริงท่านเคยมาพักอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนที่จะไปจำพรรษาที่จันทบุรีในปี ๒๕๑๘ ท่านพอใจสถานที่นี้มาก และกล่าวว่า ที่นี่เป็นสถานที่มงคล ภาวนาดี
เจ้าของที่ได้จัดสร้างกุฏิสองหลัง แยกกันอยู่กุฏิละด้าน หลังหนึ่งสำหรับเป็นที่พักของหลวงปู่ และอีกหลังหนึ่งเป็นที่พักของท่านพระอาจารย์ทิวา พรรษานั้นท่านจำพรรษากันเพียงลำพังสององค์ โดยมีข้อตกลงว่า หลังจากที่ท่านพระอาจารย์ทิวาถวายยาตามกำหนดเวลาอันควรแล้ว และเมื่อฉันจังหันแล้ว ต่างองค์จะแยกกันไปวิเวกเจริญภาวนาอยู่ในที่ของตน ไม่มาวุ่นวายเกี่ยวข้องกัน ต่างองค์ต่างอยู่ ไม่รบกวนกันให้เวลาแต่ละองค์ได้ปรารภความเพียรอย่างเต็มที่ ต่อเมื่อถึงตอนค่ำ หากว่ามีญาติโยมมากราบนมัสการ จึงจะออกมาทำวัตรสวดมนต์พร้อมกัน หากไม่มีทั้งสององค์ก็จะอยู่แต่ในที่ของท่าน เพียงแต่ท่านพระอาจารย์ทิวาคอยดูแลถวายยาตามกำหนดเวลาเท่านั้น
ตอนปลายพรรษานั้นเป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปกราบท่านได้กิตติศัพท์ของท่าน ได้ไปกราบท่านพระอาจารย์ทิวาที่เรือนพักของท่านก่อน ท่านก็บอกว่า ให้มารอที่ศาลาซึ่งมีลักษณะเป็นอาคารชั่วคราว พื้นดูเหมือนระยะนั้นจะไม่ได้ราดซีเมนต์ด้วยซ้ำ แต่มีที่ตั้งพระพุทธรูป มีแคร่สำหรับพระสงฆ์ที่จะนั่งฉันจังหันเราก็ปูเสื่อรออยู่ที่พื้น ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนก็มองไปรอบๆ ด้วยความชื่นชมด้วยได้กลิ่นดอกจำปาหอมตลบอบอวลไปหมด เงยหน้าขึ้นไปก็มองเห็นเชือกที่ท่านขึงเป็นราวไว้ เข้าใจว่า ก่อนหน้านั้นก็คงมีผู้ที่ได้ไปกราบท่าน และได้ถวายพวงมาลัยเป็นพุทธบูชา ท่านให้แขวนไว้ตามรายเป็นพวงๆ ไป มองดูว่าอุบะของพวงมาลัยเหล่านั้นจะมีอุบะพวงใดที่มีดอกจำปาบ้าง แต่ก็แปลกใจมากที่ไม่เห็นดอกจำปาตามอุบะเหล่านั้นเลย แต่เหตุใดทั้งบริเวณจึงมีกลิ่นจำปา และกลิ่นถึงได้หอมมากเช่นนั้น ลุกขึ้นเดินอยู่รอบศาลาแล้วก็มองไปในป่า
ท่านอาจารย์ทิวาซึ่งตามมาจากกุฏิ ท่านก็เห็นเราเดินวนๆ อยู่จึงถามว่า นั่นผู้เขียนเดินดูอะไร ก็กราบเรียนท่านว่า เดินมองหาต้นจำปาเจ้าค่ะ เพราะได้กลิ่นหอมมากเหลือเกิน ไม่ทราบว่าเจ้าของส่วนไปปลูกไว้ที่ตรงไหน ท่านก็หัวเราะ บอกว่าที่นี่นั้นไม่มีต้นจำปา ผู้เขียนสงสัยว่า ถ้าเช่นนั้นกลิ่นจำปาจะมาจากที่ไหน ท่านไม่ตอบโดยตรง แต่กล่าวว่า เรื่องพรรค์นี้ อาตมาไม่ค่อยพบ คุณพบบ่อย หมายความว่า คงเป็นเรื่อง พิเศษ แล้ว ระยะนั้นผู้เขียนเริ่มทราบแล้ว เพราะได้พบสิ่งที่พิเศษ ไม่อยากจะเรียกว่าปาฏิหาริย์ ทำนองที่ว่าบางครั้งเราไปกราบครูบาอาจารย์องค์ใด ที่คิดว่าท่านผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ และมีจิตบริสุทธิ์นั้นมักจะมีกลิ่นหอมพิเศษให้เราได้กลิ่นอยู่เสมอ ดอกไม้ไนบริเวณนั้นไม่มี ป่าใกล้นั้นก็ไม่มีต้นไม้ชนิดนั้นอยู่ แต่กลิ่นดอกไม้ประเภทนั้นก็อาจจะเกิดขึ้นได้ บางครั้งอาจจะเป็นมะลิหรือจำปา หรือเป็นจำปีหรือกุหลาบ หรือแม้แต่มีกลิ่นพิเศษซึ่งไม่อาจจะตอบได้ว่าเป็นกลิ่นของดอกไม้ใด และบางครั้งก็อาจจะ เป็นกลิ่น ของดอกไม้ที่มีเสียงบอกขึ้นมาชัดว่า ดอกไม้นี้ไม่มีในโลกนี้
คราวนี้ก็เช่นกัน การที่ได้กลิ่นหอมดอกไม้เป็นพิเศษในวาระแรกที่จะได้กราบทำให้ผู้เขียนอดแอบคิดขึ้นในใจไม่ได้ว่า ท่านองค์นี้ย่อมทรงศีลบริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์อย่าว่าแต่มนุษย์จะบูชาเลย แม้แต่เทพยดาก็ยังมาบูชาด้วย ทำให้เราพลอยได้กลิ่นหอมของดอกไม้ทิพย์ด้วย
หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสอาราธนานิมนต์ให้หลวงปู่มาโปรดญาติและเพื่อนของเราที่บ้านลาดพร้าวบ้าง ซึ่งท่านได้เมตตามาให้หลายครั้ง ตลอดปี ๒๕๒๐, ๒๕๒๑, ๒๕๒๒, ๒๕๒๓ ระยะนั้นเป็นระยะที่ท่านเวียนมาโปรดเรามาก และตลอดระยะเวลาเหล่านั้น ก็ทำให้เราได้ซาบซึ้งในความเมตตาของท่าน และประจักษ์ในบุญบารมีอันน่าอัศจรรย์หลายประการ ซึ่งหากมีเวลาก็คงจะได้กล่าวแยกต่อไปโดยเฉพาะ
ระยะเวลาเหล่านี้ควรจะกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่ที่หลวงปู่เข้ามาในกรุงเทพฯมาจำพรรษาอยู่ในจังหวัดต่างๆ หลังจากที่ท่านออกมาจากถ้ำผาบิ้งแล้ว ควรจะถือว่าเป็นเวลาที่ท่านได้โปรยปรายสายธรรมให้แก่บรรดาพุทธบริษัทในเขตภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออก เป็นอันมาก
ท่านจะเปลี่ยนสถานที่จำพรรษา ไม่ได้อยู่ซ้ำในสถานที่เดิม กล่าวคือ ต่อจากปี ๒๕๒๐ ในปี ๒๕๒๑ ท่านกลับไปโปรดศรัทธาญาติโยมทางจังหวัดอุดรฯ จำพรรษาที่วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ ปี ๒๕๒๒ ก็กลับมาจำพรรษาที่โรงนาแห่งหนึ่งที่คลอง ๑๖ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ปี ๒๕๒๓ ก็ไปพักจำพรรษาที่วัดอโศการาม ตำบลบางปิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. ๒๕๒๔ ไปอยู่ที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี แต่ละจุด แต่ละแห่ง ท่านก็ได้เทศนาอบรมผู้คนในละแวกใกล้เคียงกับสถานที่ที่จำพรรษาอยู่เสมอ นอกจากนั้น ในระหว่างพรรษาแต่ละปีท่านก็ไม่อยู่เป็นที่ประจำ ท่านคงเดินทางธุดงค์ไปเรื่อยๆ
ในระยะนั้น เมื่อมีผู้ทราบกิตติศัพท์ของท่าน ก็มากราบนมัสการนิมนต์ให้ท่านไปพักอยู่ตามที่ต่างๆ การธุดงค์ระยะนี้ของหลวงปู่ ซึ่งเจริญชนมายุกว่า ๗๐ แล้วก็ไม่ได้เดินด้วยเท้าเหมือนอย่างที่ท่านเคยกระทำมาแต่สมัยยังเป็นพระหนุ่ม หรือในช่วงมัชฌิมวัย กล่าวคือ มีรถยนต์นำไป ท่านมักพูดอย่างขมขื่นว่า ตอนนี้กลายเป็น กัมมัฎฐานขุนนาง ไปแล้ว ! คือไม่ได้สะพายบาตร แบกกลด เดินด้วยเท้าอย่างสมัยก่อนๆ แต่กลับเดินทางด้วยรถ เป็นการธุดงค์ด้วยรถ !
ระหว่างนอกพรรษา ท่านมักจะพาลูกศิษย์ไปกราบเยี่ยมนมัสการพระเถระผู้ใหญ่ตามที่ต่างๆ อย่างเช่น ขณะที่ท่านอยู่ที่วัดป่าหนองแซงในปี ๒๕๒๑ ลูกศิษย์ชาวกรุงเทพฯ ได้ติดตามไปกราบท่านที่วัดในวันสุดสัปดาห์ เพื่อฟังธรรมและภาวนาเสร็จแล้วท่านได้พาออกไปกราบครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ ที่ท่านเห็นสมควรว่า จะได้มีความคุ้นเคย ได้กราบท่านเหล่านั้นให้เป็นบุญตาบุญใจ หรือสำนวนท่านพูดว่า ไปกราบท่านที่ เป็นขวัญตาขวัญใจ ของเรา อย่างเช่น หลวงปู่ขาว อนาลโย ที่วัดถ้ำกลองเพล พาไปกราบหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่วัดป่าสัมมานุสรณ์ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย พาไปกราบหลวงปู่คำดี ปภาโส ที่วัดถ้ำผาปู่ อำเภอเมือง จังหวัดเลย พาไปกราบหลวงปู่ชามา อจุตโต ที่วัดป่าอัมพวัน ตำบลไร่ม่วง จังหวัดเลย หรือมิฉะนั้นก็จะพาไปยังจังหวัดสกลนคร เพื่อดูสถานที่ที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้เคยจำพรรษาอยู่ถึง ๕ พรรษา คือ วัดป่าบ้านหนองผือ เป็นอาทิ การที่ท่านเมตตาพาไปนี้ทำให้ได้มีโอกาสเห็นจริยานุวัตรที่ท่านปฏิบัติต่อกันตามพรรษาอ่อนหลังกัน ได้ฟังธรรมสากัจฉาที่ท่านสนทนากันเป็นบุญตา บุญใจ เป็นทัสนานุตริยะอันงามยิ่ง
ขณะนั้นหลวงปู่มีอายุมากเกือบ ๘๐ ปีแล้ว แต่ท่านก็ยังมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ดีมาก ท่านยังไปคล่องมาคล่องอย่างที่เราแอบปรารภกันว่า ใครจะสามารถทำได้อย่างท่าน ที่หลวงปู่ไปเยี่ยมลูกศิษย์ได้วันละ ๕-๖ บ้าน แทนที่ลูกศิษย์จะมากราบนมัสการท่าน วันไหนว่างไม่มีคนมา ท่านก็จะพาออกไปเที่ยวเยี่ยมตามบ้านต่างๆ ซึ่งทำให้ลูกศิษย์ส่วนใหญ่รู้สึกในพระคุณของท่านเป็นอย่างยิ่ง ท่านมีเมตตาแผ่มาโดยไม่มีประมาณ คนอายุเกือบ ๘๐ ก็ยังสามารถไปมาได้อย่างน่าอัศจรรย์
ความจริงระยะนั้นท่านก็มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว คือโรคหัวใจและเบาหวานมิหนำซ้ำยังเป็นฝีคัณฑสูตรอยู่นานแล้วด้วย แต่ท่านไม่ยอมบอกให้ใครทราบเรื่องเหล่านั้นท่านทำเป็นเฉยอยู่
หลวงปู่มีเมตตาโปรดไปทั่วไป ดังที่เราจะขอกล่าวว่า อันนั้นเป็นการโปรยปรายสายธรรมของท่านโดยเฉพาะ ท่านไม่ได้เมตตาแต่เฉพาะชาวอีสานถิ่นกำเนิดหรือเฉพาะจังหวัดเลย ท่านบอกว่าคิดถึงโดยเฉพาะคนภาคกลาง คนจังหวัดพระนครเพราะคนทางนี้ได้ส่งปัจจัยไปช่วยเหลือเจือจานทางฝ่ายอีสาน ทั้งสิ่งก่อสร้าง ศาสนวัตถุต่างๆ ในจังหวัดอีสานนั้น ได้อาศัยปัจจัยไปจากชาวจังหวัดพระนครและจังหวัดใกล้เคียงมาก ท่านถือเป็นบุญคุณที่จะต้องตอบแทน ให้ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาในศาสนาได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างถูกต้อง
ทุกๆ วันหยุดพวกบรรดาศิษย์จะได้เห็นภาพที่หลวงปู่นำพระเถรานุเถระและบรรดาพวกญาติโยมที่มาทำบุญกันทั้งหลายทำวัตรสวดมนต์ โดยท่านจะกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ไม่เฉพาะแต่ภาษาบาลีที่เคยทราบหรือเคยได้ยิน ได้ฟังกัน แต่จะมีคำแปลอย่างวิจิตรลึกซึ้ง ให้สมกับที่เราจะได้ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย
คำสวดของท่านจะเริ่มตั้งแต่ ยมหํ ในแบบที่ท่านฝึกมาจากท่านพระอาจารย์บุญ อาจารย์องค์แรกของท่านด้วย และท่านจะเติมถ้อยคำคำแปลเป็นภาษาไทยเพิ่มขึ้นไปด้วย
ครั้งแรกที่เราฟังกัน เราจะไม่ทันรู้สึกซาบซึ้งถึงถ้อยคำคำแปลนั้นมากนัก แต่เมื่อคิดนึกตามไปก็จะยิ่งเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้นๆ
อย่างที่ท่านกล่าวในตอนต้นตอนหนึ่งที่พูดถึงการบรรยายพระคุณของพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่า คนที่จะบรรยายพระคุณของพระพุทธเจ้านั้น ดุจคล้ายๆ กับนกบินไปในอากาศ ฟังเผินๆ ก็ดูแค่นั้น แต่ถ้าคิดลงไปให้ลึกซึ้งแล้วละก้อ จะเข้าใจได้ว่าอากาศที่นกน้อยจะต้องบินอยู่นั้น แสนจะเวิ้งว้าง กว้างใหญ่ไพศาลจนสุดที่จะหยั่งได้หรือบอกได้ว่า ความกว้างใหญ่ไพศาลของอากาศนั้นเป็นเช่นไร ส่วนตัวของเรานั้นเช่นกัน เกิดมาชีวิตนั้นช่างน้อยนิดนี่กระไร และถ้าจะไปเทียบกับพระคุณของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งแผ่ไพศาลไปดุจห้วงอวกาศ ไม่แต่โลกนี้ หากเป็นทั่วทั้งไตรภพ เจ้านกน้อยตัวนั้นจะสามารถรู้ถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าได้เช่นไรนกที่มีความรู้สึกต่ออากาศฉันใด ก็เป็นเช่นเราต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฉันนั้น อากาศยังเป็นอาหารที่ช่วยให้นกได้สูด ได้ลมกลิ่นอากาศอันบริสุทธิ์ พระคุณของพระพุทธเจ้า คำสั่งสอนของพระองค์ท่านที่มีต่อปวงสาธุชนก็เช่นเดียวกัน เป็นอาหารวิเศษทางใจ เหมือนกับที่เราจะขาดอากาศไม่ได้เพราะเท่ากับจะขาดชีวิต เช่นนั้นด้วยถ้อยคำเพียงสั้นๆ แค่นี้ ถ้าเราเพียงแต่จะคิดไปให้ลึกซึ้งเท่านั้น จะได้ความที่ซาบซึ้งพรรณนาไปได้กว้างไกลเหลือเกิน
นอกจากการไหว้พระสวดมนต์ ท่านยังให้ปฏิญาณตนรับพระไตรสรณคมน์ด้วย ท่านอธิบายว่า แม้เรารับพระไตรสรณาคมน์มาแต่ก่อนแล้ว อาจจะขาดบ้างทะลุบ้าง ด่างพร้อยบ้าง เหมือนกับพระเป็นอาบัติ ซึ่งต้องแสดงต่อสงฆ์จึงจะเกิดความบริสุทธิ์ได้ ดังนั้น ท่านมักกล่าวนำลูกศิษย์ให้ปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณาคมน์ก่อนการรับศีลเสมอๆ
สำหรับการรักษาศีล โดยเฉพาะในวันอาทิตย์ ท่านจะเน้นให้บรรดาศิษย์รักษาศีลเพิ่มขึ้นจากศีล ๕ เป็นศีล ๘ โดยท่านให้เหตุผลว่า สำหรับวันพระซึ่งควรเป็นวันรักษาศีลอุโบสถนั้น ส่วนใหญ่พวกเราต้องทำราชการผิดการงานต่างๆ ไม่ได้มีโอกาสมาวัดเลย เมื่อได้มาก็มาเฉพาะวันหยุดคือวันอาทิตย์ ก็ควรจะต้องรักษาให้ได้ใช้วันอาทิตย์เป็นวันพระแทน
ท่านได้อธิบายอานิสงส์ของศีลให้ฟังว่า ศีล ๕ นี่ พระพุทธเจ้าท่านมีเมตตาต่อผู้ครองเรือน ให้รักษาศีล ๕ อย่าดูถูกศีล ๕ นะ เพราะผู้รักษาศีล ๕ ย่อมสำเร็จโสดาบันได้ สำหรับศีล ๘ นั้น ก็จะสำเร็จถึงอนาคามีได้ ท่านจะไม่บังคับว่าใครควรจะรักษาศีล ๕ ใครควรจะรักษาศีล ๘ โดยท่านจะกล่าวนำ เริ่มต้นจากศีล ๕ ซึ่งทุกคนจะต้องกล่าวตาม จากนั้นก่อนที่ท่านจะกล่าวนำศีลข้อ ๖-๘ ท่านจะแนะนำให้ผู้ที่รักษาศีล ๕ กราบแล้วนั่งอยู่ ไม่ต้องกล่าวตาม เฉพาะผู้ที่จะรักษาศีล ๘ ให้กล่าวตามคำที่ท่านกล่าวนำต่อไป เพื่อจะรักษาให้ศีลให้บริบูรณ์ สิ้นวันหนึ่งกับคืนหนึ่งด้วยอำนาจกุศลนี้ ขอจงเป็นบุพนิสัยเพื่อจะกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ต่อจากนั้นท่านจะเทศน์อบรมก่อนแล้วจึงให้พร พระธรรมเทศนาที่หลวงปู่มักจะหยิบยกขึ้นมาย้ำเตือนเสมอได้แก่ เรื่องการบริจาคทาน การรักษาศีล และการเจริญภาวนา
ท่านมักจะเน้นเรื่องศีลอยู่เสมอ เพราะศีลแปลว่า ความปกติ เป็นการรักษาใจให้ปกติ ศีลเป็นบาทเบื้องต้นของการภาวนาด้วย ถ้าหากเรารักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้วการภาวนาก็จะเจริญงอกงามไปอย่างรวดเร็ว ผู้ที่มีศีลย่อมต้องมีจิตใจผ่องใส เป็นที่รักของญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และในสังคมที่เราอยู่ด้วย ถ้าทุกคนรักษาศีลอยู่ได้ เพียงแคศีล ๕ บ้านเมืองก็จะสงบราบรื่น ปราศจากขโมย ลักเล็กขโมยน้อย ไม่มีการฆ่าฟันกันอิจฉาริษยา เกลียดชังกัน เพราะอานุภาพแห่งศีลย่อมรักษาตัวผู้รักษาศีล และสังคมโดยรอบ ได้
ส่วนด้านการภาวนา ท่านก็จะนำชาวนาในตอนกลางคืน โดยท่านเทศนาให้ฟัง แล้วให้ศิษย์ภาวนาไปด้วย ระหว่างฟังเทศน์ท่านถือว่า ก่อนจะเริ่มการภาวนาเราต้องแต่งตัวให้เรียบร้อย อาบน้ำชำระจิตใจให้สะอาด ฟอกจิตของเราด้วยการรักษาศีลการบำเพ็ญทานนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้จิตโน้มน้าว ตัดความตระหนี่ให้มีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ถึงกัน
ศีลก็มี ทานก็มี แล้วยิ่งมีการภาวนาด้วย ก็จะยิ่ง ต่อ ไปได้ไกล
เรื่องจิตภาวนานั้น ท่านเน้นมากว่า ถ้าไม่หัดไว้ก็แสนจะลำบาก ท่านมักจะกล่าวบ่อยๆ ว่า การภาวนานั้นมีอานิสงส์มาก อย่างแค่ ช้างพัดหู งูแลบลิ้น แค่นั้น ก็ยังมีอานิสงส์มหาศาล ถ้าได้มากกว่านั่นก็จะยิ่งดีขึ้น ท่านเคยพูดว่า จิตติดที่ไหน ย่อมไปเกิด ณ ที่นั้น จิตติดเรือนก็อาจจะมาเกิดเป็นจิ้งจกตุ๊กแกได้ แม้แต่พระภิกษุติดจีวรยังไปเกิดเป็นเล็น น่าหวาดกลัวนัก แล้วกิเลสมิร้อยแปดประตู พุทโธมีประตูเดียว เพราะฉะนั้น ให้ฝึกหัดปฏิบัติให้คุ้นเคย วาระที่เราจะเปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติจะเข้าจิตได้ทันหรือเปล่า
ท่านละเอียดพิถีพิถันมากในการที่จะนำศิษย์ให้รู้จัก ศีล ทาน ภาวนา การไหว้พระสวดมนต์ แม้แต่การ กราบ ซึ่งทุกคนรู้สึกว่าเป็นเรื่องหญ้าปากคอกหลวงปู่ก็จะหัดให้ศิษย์บางคนแสดงท่ากราบให้ดู สุภาพสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์ได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้า มีคำนำหน้าเป็นคุณหญิง หลายท่านจึงออกตกใจเมื่อมากราบนมัสการท่าน แล้วจู่ๆ ท่านก็สั่งว่า ไหนลองกราบให้ดูซิ แล้วเมื่อเธอท่านนั้นได้กราบด้วยท่าทางที่เก้งก้างตามวิสัยชาวกรุงเทพฯ ซึ่งทำอะไรก็มักจะรีบร้อนลุกลน ถือเสียว่าการกราบก็กราบเพียงสักแต่ว่าให้เสร็จเรื่อง ท่านจะนำการกราบให้ดูโดยท่านจะแสดงท่านั่งกระหย่ง พร้อมกับอบรมว่า กราบอย่างนี้เรียกว่า กราบแบบเบญจางคประดิษฐ์
ท่านอธิบายว่า นอกจากเข่าทั้งสอง มือสองมือ ศอกจรดพื้นหน้าผากต้องแตะถึงพื้นด้วย ถึงจะเป็นท่ากราบที่งดงาม แล้วก็ไม่ใช่ท่าที่รีบร้อนจะไปไหน ในขณะที่จะกราบก็ต้องค่อย ๆ กราบลงไป พร้อมกับที่จิตน้อมรำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า นั่นเป็นครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่สองก็นึกถึงพระธรรม คำสั่งสอนของท่านที่สืบต่อพระศาสนามาจนทุกวันนี้ กราบครั้งที่สามระลึกถึงคุณพระสงฆ์ สาวกของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสมมุติสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สืบพระศาสนามาจนทุกวันนี้ พร้อมกับการกราบทุกๆ ครั้ง ต้องน้อมจิตให้รำลึกไปด้วยเสมอ จิตจะเอิบอาบในการบุญ จิตจะเป็นจิตที่อ่อนน้อมควรแก่การงาน เมื่อฝึกอยู่เช่นนี้ก็จะเข้าใจดีขึ้น จะเป็นผู้ที่นอบน้อมถ่อมตน น่ารัก ท่านเคยพูดเล่นๆ ว่า มองดูแค่การกราบก็สามารถบอกได้ทันทีเลยว่า เป็นลูกศิษย์มีครูหรือไม่
จะสังเกตได้ว่า ในภายหลังผู้ที่ผ่านการอบรมจากหลวงปู่จะกราบได้อย่างงดงาม ทั้งหญิง ทั้งชาย ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ เวลาเมื่อกราบพร้อมๆ กันจะดูงดงามยิ่งนักเป็นระเบียบที่น่าชม
ช่วงระยะเวลาเหล่านั้น ท่านคงถือที่พักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ ดอนเมือง เป็นคล้ายๆ กับฐานที่ตั้งซึ่งจะเดินทางไปที่อื่นต่อไป เมื่อไปที่ใดกลับมาก็จะพักที่ที่พักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ ซึ่งท่าน พล.อ.อ.โพยม เย็นสุดใจ และคุณหญิง ได้เป็นศรัทธาที่น่าเลื่อมใสเคารพครูบาอาจารย์ จัดที่พักของท่านให้เป็นที่ครูบาอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ได้มาพักระหว่างเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เป็นเวลาที่ครูบาอาจารย์จะได้สามารถเทศนาอบรมสั่งสอนคนกรุงซึ่งมัวแต่วุ่นวายกับธุรกิจการงาน จนลืมนึกถึงที่สงบทางใจ
ในระยะหลัง ได้มีผู้เลื่อมใสศรัทธา จัดสร้างที่พักในบ้านของตน โดยหาที่ว่างส่วนหนึ่งในบริเวณบ้านจัดสร้างขึ้น พอให้มีที่พักได้หลายแห่งอยู่ ในระยะนี้หลวงปู่ไม่ได้เดินทางไปไหนแต่เพียงองค์เดียว เริ่มมีพระปฏิบัติไปด้วยกับท่านด้วยแต่ก็เพียงองค์เดียว อย่างไรก็ดี ต่อมาก็เริ่มขอติดตามท่านมากขึ้น เพราะท่านเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็มีความประสงค์ที่จะได้รับการฝึกฝนอบรมจากท่านด้วย เพราะการอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่นั้น เท่ากับว่าได้อาจารย์ที่จะฝึกหรือไปตลอดทั้ง ๒๔ ชั่วโมง
การฟังคำเทศนาสั่งสอนของท่านก็ดี การอบรมของท่านในระหว่างกลางคืนหรือตอนเจ้าก็ดี นั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่สิ่งที่จะได้จากท่านนอกเหนือไปกว่านั้นคือ ให้รู้ในสิ่งที่ท่านทำ ทำตามที่ท่านสอนก็จะได้ประโยชน์มหาศาล ปฏิปทาของท่านกิริยาอาการของท่าน ทุกอย่างมีความหมาย เป็นเนติ เป็นแบบอย่างให้ศึกษา ให้ปฏิบัติตามต่อไปทั้งนั้น
พระเณรใดที่ได้ปฏิบัติใกล้ชิดครูบาอาจารย์ ก็เท่ากับว่าผ่านการฝึกปรืออย่างหนักแล้ว ส่วนใหญ่จึงพยายามหันเข้าหาครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่
ระยะนี้หลวงปูก็เหมือนกับต้นพฤกษาใหญ่ มีนก กา มาอาศัยความร่มเย็นของท่านอยู่มาก ตั้งแต่ระยะแรก ๗-๘ องค์ ก็เพิ่มเป็น ๑๐ กว่าองค์ ท่านก็เมตตาไปอยู่ตามบ้านต่างๆ ที่พักที่จัดเป็นที่แสดงธรรม ที่ท่านต้องไปตามบ้านที่พักเหล่านั้นบ้างก็เพราะว่า ท่านเล็งเห็นหมดว่า การคมนาคมในจังหวัดพระนครนั้นลำบาก รถติดทำให้เสียเวลาในการเดินทาง หากไปอยู่ที่ต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงก็สามารถเข้ามาฟังธรรมรับการอบรมได้
ระยะแรกๆ ท่านพิถีพิถัน สถานที่ที่จะให้แสดงธรรม ผู้เขียนยังจำได้ว่าท่านมาดู ท่านตรวจหมดว่า ที่ไหนควรจะนั่งได้ให้จัดสถานที่เตรียมไว้ ท่านลงมาอำนวยการโดยละเอียด โดยเฉพาะทางจงกรม เพราะท่านไม่นิยมที่จะให้มีการนั่งภาวนาไปนานๆ ท่านบอกว่าจะกลายเป็นอัมพาต ต้องพยายามทำความเพียรแบบชนิดที่เปลี่ยนแปลงอิริยาบถให้สลับกันทั้งอิริยาบถ ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน แต่ท่านมักจะพูดหัวเราะๆ ว่า พวกเรามักจะไปติดอยู่ในอิริยาบถที่ ๔ นอนกันมากกว่า
การเมตตาโปรดญาติโยมนี้ ท่านก็ไม่ได้เลือกเฉพาะที่เป็นมนุษย์เท่านั้นท่านยังกล่าวถึงเสมอว่า เราจะต้องแผ่เมตตาไปทั้งผู้ที่เป็นอมนุษย์ด้วย ทุกผู้ทุกคนก็ควรจะได้รับกระแสแห่งความเมตตานั้นเสมอกัน มาพบในบันทึกของท่านในระยะหลังนี้หลายครั้งว่า การที่ท่านแผ่เมตตาไปนั้น พวกเทพยดาอารักษ์ อมนุษย์ทั้งหลายนั้นชอบมาก ดีใจมาก เพราะได้รับกระแสแห่งความเมตตา เป็นที่เยือกเย็น แม้แต่สัตว์ต่างๆ เวลาท่านจะจากมาก็มีความอาลัย ท่านกล่าวว่า เขาชอบนัก เพราะได้ความเมตตา
เหตุนี้ท่านจึงสอนว่า เมื่อลูกศิษย์ของท่านคนใดจะเดินธุดงค์ไปในที่ต่างจังหวัดหรือป่าเปลี่ยว ให้พึงแผ่เมตตาไปให้ผู้ที่เราไม่เห็นด้วยตาด้วย คือนอกจากให้เพื่อนร่วมทุกข์ทั้งหลายซึ่งมีชีวิตอยู่แล้ว ก็ให้นึกถึงเขาเหล่านั้นด้วย
นึกถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นท่านได้รับนิมนต์ให้ไปพักภาวนาที่ชายทะเลแห่งหนึ่ง ใครๆ ก็เข้าใจว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนอากาศ แต่จุดประสงค์อันหนึ่งที่ท่านไปอยู่ที่นั้นเนื่องจากท่านได้เมตตา ชาวบ้านในบริเวณนั้นซึ่งมีหน้าตาดำคร่ำเครียดไม่เคยพบแสงแห่งธรรมะเลย เนื่องจากพวกเขาเป็นชาวประมง ไปจับสัตว์น้ำ เหวี่ยงแหขึ้นมาทีหนึ่ง ลากแหขึ้นเรือครั้งหนึ่ง ปลาเล็กปลาน้อยเป็นพันเป็นหมื่นตัว ก็คือพัน-หมื่นชีวิตที่จะต้องดับไปสิ้นไป ซึ่งเป็นกรรมอันหนัก และเขาเหล่านั้นไม่รู้ ท่านก็ไปอยู่ใกล้เพื่อให้โอกาสเขาเหล่านั้นได้ทำบุญบ้าง เป็นการสร้างกรรมดีขึ้นมาเมื่ออาจจะได้ละลายกรรมชั่ว หรืออำนาจแห่งกรรมชั่วนั้นให้ลดลง แต่ท่านก็บ่นว่าจิตใจคนแถบนั้นรับธรรมะได้ช้า แต่ท่านก็เมตตาอยู่ โปรดพวกเขาได้มีโอกาสได้บุญบ้างเหล่านี้ย่อมเป็นเหตุการณ์ที่ประจักษ์ถึงความเมตตาอันมหาศาลของท่านอีกประการหนึ่ง
ท่านเล่าถึงการภาวนาระยะนั้นว่า ได้มีผู้มาขอความเมตตามาก ตำจิตท่าน ท่านใช้คำว่า ตำจิต ท่านเล่าว่า ในระหว่างที่ท่านภาวนาจะมีผู้เข้ามาขอความเมตตาจากท่าน ไขว่คว้าหาที่พึ่งที่องค์ท่านภาวนา ซึ่งเปรียบเสมือนแสงสว่างที่อยู่กลางป่าใหญ่อันมืดสนิท ผู้ที่หลงติดอยู่ในความมืดมนอนธการ เมื่อมองเห็นแสงสว่างก็ย่อมกระเสือกกระสนเข้ามาขอพึ่งแสงสว่างนั้น ท่านบอกว่า ผู้ที่มาร้องทุกข์ขอบารมีจากท่านนั้นกลายเป็นทหารญี่ปุ่น ซึ่งมาตายระหว่างการสู้รบขณะที่ยกพลขึ้นบก ที่ชายทะเลของจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย ในช่วงระยะสงครามโลกครั้งที่ ๒ พวกเขาเหล่านั้นเมื่อตายไปแล้วก็ไม่รู้จะไปที่ใด ยังเซซังยึดติดอยู่ในภพ เมื่อมาเห็นประทีปสว่างอยู่ที่นี่ วิญญาณเหล่านั้นก็เข้ามาขอบารมีของท่านเป็นที่พึ่ง ท่านก็แผ่ออกไปบางครั้งวิญญาณเหล่านั้นก็ยังไม่เข้าใจจึงรับไม่ได้ ท่านจึงคิดจัดให้มีการทำบุญและถวายสังฆทาน เพราะการถวายสังฆทานนั้น มีอานิสงส์อยู่มากกว่าที่จะถวายเฉพาะพระภิกษุองค์ใด ซึ่งพระพุทธองค์เคยทรงมีพุทธดำรัสไว้ว่า การถวายสังฆทานนั้น มีอานิสงส์มากกว่า แม้แต่ที่จะถวายพระพุทธเจ้าเสียอีก หลวงปู่จึงให้จัดทำสังฆทาน ทำบุญอุทิศให้แก่ทหารญี่ปุ่นเหล่านั้นหลายครั้งติดต่อกัน และกล่าวว่า สุดท้ายวิญญาณที่มาขอส่วนบุญนั้นก็เงียบสงบไป
นี่เป็นเรื่องที่แสดงถึงเมตตาบารมีของหลวงปู่ที่แผ่ออกไปโดยรอบ มีลูกศิษย์กราบเรียนถามท่านว่า ทหารไทยเป็นอย่างไร ท่านเล่าว่า ทหารไทยเรานั้นที่เสียชีวิตมีจำนวนน้อยกว่าทหารญี่ปุ่นบาก แล้วจิตใจดั้งเดิมของทหารไทยนั้น มีความเลื่อมใสมั่นคงอยู่ในพุทธศาสนาอยู่แล้ว เข้าใจง่าย รับง่าย เมื่อท่านแผ่เมตตาไปให้แต่แรกก็รับไปได้หมด เหลืออยู่แต่ทหารญี่ปุ่น ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
การเดินทางของท่านอย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ท่านมาเร็วไปเร็ว และไปได้ง่ายเห็นจะสามารถยกตัวอย่างได้ถึงการที่ท่านโยกย้ายตัวเองไปได้เร็วที่สุด ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ซึ่งหลังจากที่ท่านจำพรรษาที่สวนปทุม พอออกพรรษาแล้วท่านก็รับนิมนต์ไปโปรดพวกญาติโยมตามที่พักต่าง ๆ แห่งละสามวัน เจ็ดวัน ตามแต่จะมีศรัทธามาฟังธรรมทำภาวนาน้อยมากเพียงไร ท่านไปพักวิเวกที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ที่บางปะอินระยะหนึ่ง
พอปลายเดือนพฤศจิกายน ท่านเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีศิษย์ขับรถพาไปส่ง ระยะนั้นมีท่านพระอาจารย์สำลี และท่านเจ้าคุณมหาเนียม เป็นพระติดตามไปด้วย ท่านให้พาไปนมัสการวัดเจดีย์หลวงเป็นลำดับแรก ท่านถือว่าเป็นวัดที่ท่านพระอาจารย์มั่น บูรพาจารย์ของท่านได้มาอยู่จำพรรษา รวมทั้งท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ด้วย เสร็จแล้วก็เลยไปวัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว เพื่อไปเยี่ยมหลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่แหวนก็เป็นยอดมณีอันมีค่าของจังหวัดเลยเช่นกัน อายุท่านรุ่นเดียวกับหลวงปู่ขาว อนาลโย แต่พรรษาที่ท่านมาญัตติเป็นธรรมยุตนั้น หลังหลวงปู่ขาว และหลวงปู่หลุย ถึง ๒ พรรษา ท่านได้พบปะแสดงธรรมสากัจฉาซึ่งกันและกัน อยู่ได้ไม่กี่วัน ท่านทราบข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการหลวงปู่แหวน
หลวงปู่หลุยก็รีบย้ายหนีไปที่อื่นทันที เพราะตอนนั้นท่านเกรงมากกับการที่จะพบ ท่านใช้คำว่า เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน ท่านบอกว่า อาตมาพูดไม่เป็น ท่านจึงหลบไปพักที่วัดป่าอรัญญวิเวกที่ตำบลบ้านปง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ วัดนี้ก็เป็นวัดที่มีประวัติในสมัยบูรพาจารย์ท่านพระอาจารย์มั่น เคยมาพัก หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม เคยมาจำพรรษาด้วยกันที่นี่ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม และหลวงปู่หลายต่อหลายองค์ได้เคยมาพักอยู่ที่นี่ เป็นสถานที่มงคลอย่างยิ่ง ปัจจุบัน ท่านพระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป เป็นเจ้าอาวาส
ท่านพักอยู่ที่วัดป่าอรัญญวิเวกอยู่นาน ด้วยถือว่าเป็นวัดของพ่อแม่ ครูอาจารย์เคยอยู่มาก่อน ใช้ที่วัดอรัญญวิเวกนี้เป็นศูนย์กลางสำหรับเมื่อไปเยี่ยมตามวัดต่างๆ ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ท่านได้เดินทางเลยไปที่ดอยผาแด่น ซึ่งเป็นสถานที่ที่หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ไปจัดสร้างขึ้น อยู่บนยอดเขา ท่านไปในงานฉลองกุฏิใหม่ที่มีคนถวาย มีคณะศรัทธาญาติโยมจากกรุงเทพฯ ไปกันมาก
และระหว่างพักอยู่วัดป่าอรัญญวิเวกนั้น ท่านก็ยังพาคณะศรัทธาญาติโยมสวดมนต์ไหว้พระตามแบบฉบับของท่านเสมอ เมื่อคนโดยรอบบริเวณทำวัตรสวดมนต์ได้ตามแบบวิธีของท่านได้ และรู้จักการรักษาศีลภาวนาดีแล้ว ท่านก็จะย้ายไปวัดอื่นก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ การย้ายสถานที่อยู่เรื่อยๆ อย่างนี้เพราะหลวงปู่ต้องการโปรดญาติโยมในที่ต่างๆ ให้มีศรัทธายึดมั่นในพระไตรสรณาคมน์
เมื่อท่านย้ายที่บ่อยๆ พระที่ติดตาม และคณะศรัทธาญาติโยมที่ตามมาก็ชักจะลดจำนวนไปเรื่อยๆ จนเหลือเพียงพระผู้ปฏิบัติเพียงองค์เดียว ท่านก็ออกจากเชียงใหม่ไปที่จังหวัดพะเยา พักที่วัดรัตนวนาราม ซึ่งเป็นวัดของท่านพระอาจารย์ไพบูลย์ มังคโล ไม่ว่าที่วัดนั้นจะมีระเบียบทำวัตรสวดมนต์แบบใด ท่านก็คงนำตามวิธีของท่านอยู่ โดยให้ทำวัตรเช้าตั้งแต่ก่อนฉัน และสวดมนต์ไหว้พระในตอนเย็น จากนั้นท่านวิเวกไปพักที่วัดอรัญป่าน้อย และใช้วัดอรัญป่าน้อยนี้เป็นศูนย์กลางอีกครั้งหนึ่งเพื่อเยี่ยมเยียนวัดต่างๆ ทางภาคเหนือ
ท่านได้เลยต่อไปถึงจังหวัดเชียงราย หรือเชียงแสน จนกระทั่งปลายเดือนมีนาคม จึงย้ายมาที่จังหวัดลำปาง ไปเยี่ยมตามวัดต่างๆ เช่น วัดพม่า วัดดอยม่อนพญาแก้ว วัดถ้ำพระสบาย ระหว่างที่พักที่วัดพม่านั้น วิศวกรใหญ่ของการรถไฟที่พม่าได้มากราบนมัสการนิมนต์ให้ท่านไปโปรดที่พม่าด้วย ด้วยเกิดศรัทธาในปฏิปทาของท่าน ท่านรับนิมนต์จะไปพม่า แต่เกิดขัดข้องเพราะทางราชการได้ปิดพรมแดนระหว่างไทยพม่าขึ้นทุกเส้นทาง คงไปได้แต่ทางอากาศ ซึ่งจะต้องมีหนังสือเดินทางมีการจัดทำวีซ่า ท่านจึงต้องงดการไปพม่าในครั้งนั้น
ออกจากวัดพม่าไปอยู่วัดม่อนพญาแก้วเสร็จแล้ว ทางผู้อำนวยการศูนย์ ร.พ.ช. ภาคเหนือ คุณอุทัย ก็มานิมนต์ให้ไปโปรดชาวคณะ ร.พ.ช. ซึ่งระหว่างการปฏิบัติงานขณะนั้น จะมีอุบิตเหตุเกิดขึ้นบ่อยๆ ท่านพักอยู่ที่บ้านรับรองของ ร.พ.ช ประมาณ ๑ เดือน โดยพาคณะศรัทธาที่นั่นไหว้พระสวดมนต์ตามตำรับของท่านและสอนให้รักษาศีล ฝึกหัดภาวนา แล้วก็ขอให้มีการทำบุญใหญ่ นิมนต์พระมาจากทั้งเชียงใหม่ ฝาง น่าน ลำปาง พะเยา ประมาณ ๕๐ รูป โดยท่านกล่าวว่า ขอให้มาแต่พระกัมมัฏฐาน เพื่อมาทำบุญให้กุศลนี้แผ่ไป อุบัติเหตุจะได้น้อยลง
ระยะนั้น การจัดทำทางของ ร.พ.ช. ภาคเหนือนั้นต้องเข้าไปในเขตที่มีผู้ก่อการร้าย ทำให้มีอุบัติเหตุหรือมีการขัดขวางจากฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลมาก มีการเผารถแทร็กเตอร์บ้าง ยิงเจ้าหน้าที่บ้าง ทาง ร.พ.ช. ได้นิมนต์ท่านให้ไปดูตามจุดต่างๆ ของงานด้วย ซึ่งบางครั้งต้องเข้าไปในป่าลึก ซึ่งมีการยิงกันและต่อสู้กันระหว่างอีกฝ่ายหนึ่ง กับฝ่ายคณะผู้ปฏิบัติงานของรัฐบาล เมื่อไปยังจุดทำงานต่างๆ เหล่านั้น ท่านก็ยังพาคณะทำงานนั้นสวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรเพื่อความเป็นสิริมงคลและปลอดภัยของทุกๆ คนด้วย
ณ ที่ทำการ ร.พ.ช. นี้ท่านให้รื้อศาลพระภูมิออกเพราะท่านกล่าวว่า ศาลพระภูมินี้เป็นต้นเหตุทำให้ผู้อยู่อาสัยเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ได้สร้างศาลนี้ให้ใหญ่โตแล้วก็ตาม ท่านบอกว่า การตั้งศาลพระภูมิเป็นการขาดพระไตรสรณาคมน์ ไม่ควรไปยึดถือเป็นใหญ่กว่าพระรัตนตรัย ท่านจึงเป็นผู้ดำเนินการสั่งรื้อถอนเองแล้วนำไปไว้ที่วัด หลังจากรื้อศาลพระภูมิและทำบุญเลี้ยงพระ ๕๐ รูปแล้วท่านก็อยู่ให้ความอบอุ่นแก่คณะ ร.พ.ช. นี้อีกระยะหนึ่ง จนปลายเดือนพฤษภาคมท่านจึงกลับกรุงเทพฯ
การเดินทางกลับกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ เป็นการแสดงให้เห็นความอดทนแข็งแรงของหลวงปู่ได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ท่านเดินทางจากลำปางมาโดยรถยนต์มาถึงที่พักสงฆ์ ที่ ก.ม. ๒๗ ดอนเมือง เวลาประมาณบ่าย ๒ โมง พอมาถึงกรุงเทพฯแล้ว ท่านก็ให้พาไปเยี่ยมตามบ้านศรัทธาญาติโยมต่างๆ ในกรุงเทพฯ อีก ไปได้ถึง ๕ หลัง โดยแต่ละบ้านท่านจะเทศน์อีกประมาณแห่งละครึ่งชั่วโมง รวมทั้ง ๕ บ้านในวันที่กลับมาถึงกรุงเทพฯ นั้นเลย ถึงตอนเย็นเมื่อลูกศิษย์ชาวกรุงเทพฯ ทราบข่าวก็มากราบเยี่ยม ท่านก็พาสวดมนต์ทำวัตรเย็นอีก และยังเทศนาให้อีก ๑ กัณฑ์ คิดดู ขนาดที่พวกเราอายุน้อยกว่า เดินทางไกลจากลำปางมากรุงเทพฯ ก็คงเหนื่อยอ่อนพอดูแล้ว ท่านยังไปแวะเยี่ยมตามศรัทธาญาติโยมอีก ๕ บ้าน เทศน์อีก ๕ กัณฑ์ ตอนกลางคืนนำไหว้พระสวดมนต์เอง เทศน์ให้อีก ๑ กัณฑ์ แล้วนำภาวนา อีกทั้งระยะนั้นท่านมีอายุถึง ๗๖ ปีแล้ว
ท่านได้พักอยู่ในที่ต่างๆ อีกหลายแห่ง เช่น ไปโปรดญาติโยมแถบบริเวณชายทะเลศรีราชา แล้วจึงย้ายไปพักที่วัดธุดงคนิมิต จังหวัดกาญจนบุรี ออกจากกาญจนบุรีย้ายกลับมาพักที่เรือนไทย ลาดพร้าว ระหว่างนี้เองที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงทราบว่า หลวงปู่ชอบ ฐานสโม และ หลวงปู่หลุย จันทะสาโร มาพักอยู่ จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้องคมนตรีอัญเชิญแจกันดอกบัวสัตตบงกช และน้ำผึ้งมาถวายหลวงปู่ทั้ง ๒ องค์
จากนั้นท่านเข้าไปโปรดพวกโรงพยาบาลแพทย์ปัญญา ที่หัวหมาก และเพื่อที่จะรับการตรวจร่างกายด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อทางแพทย์ขอให้ท่านจัดทำทะเบียนประวัติ บัตรคนไข้ ท่านได้ให้ลงมือในทะเบียน แล้วท่านได้กรอกในช่องสังกัดที่อยู่ โดยท่านกรอกเองว่า เที่ยวโปรดสัตว์เรื่อยๆ ไป และก็เช่นเคย ณ ที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญานี้ ท่านก็ได้พาคณะแพทย์และนางพยาบาลทั้งหมด สวดมนต์ไหว้พระตามตำรับของท่าน แม้การรับนิมนต์ออกไปฉันนอกสถานที่ ไปถึงท่านก็จะนำไหว้พระให้ศีล เทศน์ ยถาสัพพี เสร็จแล้วจึงฉันเช้า
พักที่โรงพยาบาลแพทย์ปัญญาพอสมควรแล้ว ท่านก็ย้ายไปพักที่บ้านนายแดง อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก อยู่จนกลางเดือนกรกฎาคม จึงย้ายกลับมาที่พักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ จากนั้นท่านไปจำพรรษาที่วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งวัดนี้อดีตเคยเป็นวัดของ หลวงปู่บัว สิริปุญโญ ในการเดินทางที่จะไปอุดรฯ นี้ หลวงปู่ขอเดินทางในตอนกลางวันด้วยรถไฟขบวนรถเร็ว หลวงปู่ได้อธิบายว่า เพื่อจะได้ดูความเจริญของบ้านเมืองในเวลากลางวันด้วย
อันนี้เป็นตัวอย่างว่า การเดินทางโปรดพวกประชาชนคนไทยนั้น ท่านใช้เวลาอย่างไร หลังจากออกพรรษาปี ๒๕๒๐ จนถึงตอนที่จะเข้าพรรษาในปี ๒๕๒๑ อันที่จริง ในระหว่างที่ท่านอยู่เชียงใหม่ ท่านยังแวะพักที่วัดป่าห้วยน้ำริน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ วัดป่าแก่งปันเต๊า ของพระอาจารย์ มหาถวัลย์ ด้วย สำหรับวัดป่าห้วยน้ำรินนั้น เป็นที่สหธรรมิกของท่าน ชอบมาพัก คือ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่แหวน สุจิณโณ และ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม ต่างเคยมาพักและมีประสบการณ์อันน่าอัศจรรย์เกี่ยวกับภพภูมิลึกลับมากมาย
ดูรายการและสถานที่ที่ท่านเดินทางอย่างนี้แล้ว ต้องเรียกว่า เป็นการเดินทางธุดงค์อย่างที่ท่านลงไว้ในทะเบียนช่องสังกัดที่อยู่ ณ โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา ว่า เที่ยวโปรดสัตว์เรื่อยๆ ไป อย่างจริงแท้แน่ทีเดียว
(มีต่อ ๒๕) |
|
|
|
    |
 |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
18 ม.ค. 2007, 12:36 pm |
  |
๏ พรรษาที่ ๕๘ พ.ศ. ๒๕๒๕ พิจารณาธาตุขันธ์จะแตกดับ
กลับไปจำพรรษาถ้ำเจ้าผู้ข้า ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
ในต้นปี ๒๕๒๕ นี้ หลวงปู่ไปพักที่วัดอโศการาม สมุทรปราการมีอาการอาพาธด้วยไข้หวัดใหญ่ หัวใจเต้นแรง ครั่นเนื้อครั่นตัว นอนไม่หลับ ไอมาก ท่านบันทึกไว้ ในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๒๕ ถึงอาการของโรคและการภาวนาสู้โรคในครั้งนี้ว่า
ลมตีขึ้นข้างบนแล้วโรคกำเริบ ถ้าลมตีลงข้างล่างแล้วโรคหายทำให้วิงเวียนหัว ทำให้ตามัวเป็นประจำ ดีอย่างเดียวไม่ปวดศีรษะนอนไม่หลับ กินข้าวไม่อร่อย (ไม่ได้) ทำให้ความดันค่อนข้างสูงอยู่บ่อยๆ
พิจารณาแต่การเป็นการตาย พิจารณาธาตุขันธ์จะแตกดับ มีเวทนามากน้อยเท่าไร พิจารณาออกจากสภาพใหม่ด้วยอาการกิริยาอย่างไรพิจารณาโลกมนุษย์เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ต้องเปลี่ยนอิริยาบถทั้ง ๔ นั่ง นอน ยืน เดิน พยาบาลร่างกายให้ชีวิตทรงอยู่ พิจารณาอาพาธ ยังทรงอยู่ หรือกำเริบ หรือปานกลาง กำหนดให้รู้เท่าทัน ตรวจดูศีล สมาธิ ปัญญาสม่ำเสมอ เป็นกิริยาผู้ที่จะละโลกนี้ไปสู่สุคติภพ พ.ศ. ๒๕๒๕ ไม่มีที่พึ่ง นอกจากธรรมะไปแล้ว ตนช่วยตนเอง ให้ชำระความบริสุทธิ์ของจิตเสมอไป
พิจารณาก่อนตายให้ชำนิชำนาญ คล่องแคล่ว อารมณ์แห่งความตายเรื่อยๆ ไม่ให้จิตส่งไปข้างนอก
วางอารมณ์เฉยๆ โรคบรรเทาลงบ้าง แต่กำเริบเป็นบางครั้งบางคราว โรคชราพาธเป็นโรคจรมา มีร่างกายแปรไปต่างๆ อวัยวะภายในมีกำลังน้อย ต้านทานโรคไม่ได้ เขาเรียกว่า ชราพาธ เป็นธรรมดาของคนแก่ยอมเป็นดังนี้ แก้ไขไม่ได้ รักษาแต่อารมณ์เข้าสู่มรณภาพเท่านั้น แก้ไขทางอื่นไม่ได้ เรียกเป็น ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ของชีวิตแก้ไขอย่างหนึ่งแล้วย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่งร่ำไป
ต้นไม้แก่ชราเต็มที่แล้ว ย่อมไม่ดูดดื่มปุ๋ยเลี้ยงลำต้นได้เลยมีแต่ทรุดโทรมหาความตายเสมอ ฉะนั้น วางธุระของขันธ์เข้าสู่อารมณ์แห่งความตายเสียดีกว่า เพราะไม่มันไม่เที่ยงของชีวิต
พุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า เกวียนซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่ ไม่ยั่งยืนถาวรของชีวิต พระองค์ตรัสให้แก่สงฆ์ทั้งหลายทราบ ซึ่งมีมาในพระไตรปิฎก
นับตั้งแต่ป่วยมา ระวังตัวอยู่เป็นนิตย์ ไม่เพลิดเพลินต่อสิ่งใดเพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นของไม่เที่ยงอยู่แล้ว เราผู้ที่ไปติดก็ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีอย่างเดียวรีบเร่งความบริสุทธิ์ทางใจเพราะชีวิตไม่อยู่นาน จะมีเวลาแตกดับโดยไม่ช้า จะเพลินเพลินอะไรกับโรคที่ไม่เที่ยง เป็นของที่ไม่แน่นอน
เราเกิดมาในโลกมาค้าขาย ขาดทุนใหญ่ ร่ำรวยใหญ่ มิจฉาทิฐิ ขาดทุนใหญ่ เป็นสัมมาทิฐิ ร่ำรวยใหญ่ ไม่ว่า กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร และไม่ว่ากษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล เศรษฐีมหาศาล
หลวงปู่ได้ปฏิญาณฐานะของท่านต่อไปว่า
เกิดมนุษย์อันเลิศแล้ว พบพุทธศาสนาอันเลิศแล้ว ได้บวชในศาสนาอันเลิศแล้ว ได้ปฏิบัติเดินธุดงค์อันเลิศแล้ว อายุ ๘๒ ปี พรรษา ๕๗ จำพรรษาวัดบ้าน ๒ ปี มหานิกาย ๑ ธรรมยุต ๑ รวม ๒ ปี
ใครติดตามประวัติของท่านมาถึงช่วงนี้ ถ้าไม่น้ำตาซึมก็คงใจแข็งมากทีเดียว เพราะในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๒๕ ซึ่งท่านบันทึกถึงอาการซึ่งกำลังเจ็บไข้ ไอ แน่นหน้าอก หายใจแทบไม่ออก และท่านกำลังชำระความบริสุทธิ์ของจิต ตรวจดูศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ เตรียมตัวที่จะละปล่อยวางขันธ์ แต่ต่อมาไม่นาน เมื่อท่านรู้สึกอาการว่าค่อยยังชั่วบ้าง ท่านก็บันทึกต่อไปว่า
ถ้าท่านไม่มากด้วยความเมตตาต่อศิษย์ ท่านคงไม่อดทนดังนี้ อันที่จริงท่านบันทึกไว้หลายตอน ถึงการที่ท่านป่วยอาพาธ เหน็ดเหนื่อยแทบหายใจไม่ออก แต่ก็พยายามฝืนสังขารเทศน์ หรือนำสวดมนต์ไหว้พระ นำภาวนา เพราะ เราได้สละชีวิตให้ญาติโยมมาดูดกินเลือดเนื้อของเรา ดังที่ท่านบันทึกไว้
หลังจากที่ท่านค่อยยังชั่วจากการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่นี้ ทางคณะศิษย์ก็ได้จัดงานทำบุญต่ออายุถวายให้ท่าน ณ ที่วัดอโศการาม ตกถึงเดือนมีนาคม ท่านก็ออกจากกรุงเทพฯ ธุดงค์ไปถ้ำเจ้าผู้ข้า ซึ่งหลวงปู่ได้เคยไปภาวนาแต่สมัยสร้างวัดป่าหนองผือ พ.ศ. ๒๔๗๘ และในภายหลังได้ไปจำพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เป็นครั้งสุดท้าย
ท่านมาพักภาวนาที่ถ้ำเจ้าผู้ข้า แต่เดือนมีนาคม และอยู่ตลอดไปจนอธิษฐานพรรษา แล้วรับกฐินในเดือนตุลาคม ท่านบันทึกไว้ว่า
เดือนมีนาคม ๒๕ มาภาวนาถ้ำผู้ข้า สถานเป็นมงคลดี วิเวกดี อาศัยภาวนาเป็นยาโอสถ ศิษย์คั้นนวด กินยาแพทย์ปัญญาเอามาจากกรุงเทพฯ โรคค่อยหายเป็นปกติ กินข้าวอร่อย นอนหลับ ภาวนาพร้อมด้วยสมถวิธี วิปัสสนาวิธี ม้างกายกระดูกให้เห็นอสุภะ ให้เกิดนิพพิทาญาณความเบื่อหน่าย แล้วเจริญวิปัสสนาต่อ เมื่อเหนื่อยแล้ว เข้าสงบอารมณ์สมถะ หายเหนื่อยแล้วเจริญวิปัสสนาต่อ ภาวนาดังนี้ เสมอต้นเสมอปลาย จึงจะละกิเลสได้
ภาวนาสถานถ้ำผู้ข้าดูดดื่มมาก เพราะพระเถระมรณภาพที่ถ้ำนี้ ๒ องค์ มีท่านอาจารย์กู่ ๑ องค์ พระเถระอีก ๑ องค์ สละชีวิตเพื่อพรหมจรรย์ได้ อยู่แห่งอื่น สละชีวิตไม่ได้ แม้วัดป่าบ้านหนองผือ นาใน ถิ่นท่านอาจารย์มั่นมรณภาพก็ดุจเดียวกัน ล้วนแต่สถานที่วิเวกและเป็นมงคล ฉะนั้น พระโยคาวจรเจาควรสนใจสถานที่เช่นนั้น
โดยที่บันทึกของท่านเกี่ยวกับการวิเวกภาวนาที่ถ้ำเจ้าผู้ข้านี้รวมอยู่ในสมุดบันทึกเล่มเดียวกัน และอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุด ผู้เขียนจึงขอนำมาลงทั้งหมด เรียงกันไปตามหน้ากระดาษแต่ละตอนที่ท่านบันทึก และจะได้เห็นว่า ท่านมิได้บันทึกเรียงกันไปตามเหตุการณ์ความคิดที่เกิดขึ้นก่อนและหลัง หากทว่า พบกระดาษหน้าใดว่าง ท่านก็บันทึกไว้ มีความนึกคิดใดเกิดขึ้นอีก เปิดพบหน้าใดว่าง หรือภายในหน้ากระดาษแผ่นนั้น แม้จะบันทึกไปบ้างแล้ว แต่หากยังมีบางช่วงบางตอนในหน้านั้นว่าง ท่านก็จะบันทึกแทรกลงไป สังเกตได้จากสีหมึก เส้นหนักเบาต่างกัน หรือมีวันที่กำกับแสดงเวลาที่บันทึกคนละช่วง
ทั้งนี้เพื่อแสดงตัวอย่างเป็นพิเศษสำหรับ บันทึกในพรรษาหนึ่ง ของท่านซึ่งปกติจะรวมข้อความทั้งช่วงที่แสดงประวัติของท่าน ธรรมะที่อุบัติขึ้นระหว่างการภาวนา และความระลึกถึงอดีตที่ผ่านมา โอวาทที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนอบรมท่านมา เหล่านี้ด้วย
๑๒ มิถุนา ๒๕
การทำความเพียร ถ้ำผู้ข้า จิตไปเอง ระลึกธรรมะได้เสมอ เพราะเป็นสถานที่เป็นมงคล ธรรมะสิ่งใดโดยไม่เกิดขึ้นแต่ก่อน ก็เกิดขึ้นเสมอตาลคำ จันทา มีศรัทธาเต็มที่ ต้องการอะไรได้ทุกอย่าง เขาอยากให้จำพรรษา ณ ถ้ำนี้ ติดต่อกับบ้านหนองผือ ต.นาใน ได้ดี
การทำร่ม ธาตุแปรปรวนวิงเวียนศีรษะ แต่พออดทนทำได้ เพราะยินดีในการทำ ให้เป็นทาน ทำจนเป็นอาจิณกรรม มาอยู่ที่นี่ได้ทำก่อสร้างสะดวกดี
ภาวนาเห็นนิมิตเป็นตัวคน ภายในจิตสมมติ นิมิตนั้นเป็นพระอรหันต์ฉันข้าว หลับตาเห็นความแยบคายของอาหารที่ฉันลงไป มีเมตตาจิตแก่แม่ชีมาก เพราะคิดถึงแม่กวย ให้ร่มแม่ชีไปประมาณ ๑๕ คน พร้อมด้วยมุ้งกางนอน จ่ายผ้าขาวแม่ชี หนองผือ ถ้ำผู้ข้า ชี ๑ ไม้กว่าๆ รวม ๒ อาวาส
ภาวนาเกิดความรู้แปลกๆ ถ้าจะโคจรไปทางอื่น ไปง่าย สะดวก แต่เดินทางไกลไม่ได้ เพราะป่วยชราพาธ
คั้นเอ็น (นวดเส้น-ผู้เขียน) มีผลมาก โรคหาย ภาวนาสะดวกดี
๒๒ ส.ค. ๒๕ ถ้ำผู้ข้า
คนมีธรรมะเป็นที่สบายของจิต คนไม่มีธรรมะข่มจิต เป็นทุกข์อย่างยิ่ง เพราะแบกขันธ์ หาบขันธ์ ๕ ธรรมะความเกิดดับ แสดงเป็นอริยสัจอยู่เรื่อยๆ ไม่ขาดสาย พราหมณ์ผู้เพ่งอยู่ของความแปรปรวน ย่อมรู้ธรรม เห็นธรรม จิตอยู่ที่ไหน ย่อมรู้แจ้ง ณ ที่นั้น ดังนี้ ขยายปฏิภาคมากไว้เช่นนั้น เห็นธรรมะอยู่เช่นนั้น ย่อมแก้ความสงสัย รู้ธรรม เห็นธรรมะอย่างสุขุมลุ่มลึก จิตอย่าออกจากกาย เห็นแปรปรวนอยู่เรื่อยๆ
พุทธศาสนาทำให้เชื่อกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ธรรมะไม่เป็นหมัน
เห็นความเสื่อมของร่างกายอย่างเดียว ไม่เห็นความเจริญเลย ความเกิดมี แล้วมีความเสื่อมไปจนตายของร่างกายดังนี้ ธรรมะสว่างโร่ ทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่มีปิดบังด้วยประการใดๆ
พระพุทธองค์ตรัสว่า ความสะดุ้งกลัวมีแล้ว ขนพองสยองเกล้ามีแล้ว ธาตุจะตีลังกาเปลี่ยนภพ ในระหว่างนั้น นับว่าขวัญเสีย แต่ให้ระลึกถึงตถาคตเรื่อยๆ ความกลัวจะหายไป เป็นวาจาพระองค์ ซึ่งมีราคาสูง ที่แย้มมาจากน้ำพระทัยของพระองค์ เป็นพระมหากรุณาอย่างยิ่ง เพราะพระองค์ไม่กลัวตาย น้ำพระทัยพระองค์ถึงอมตธรรม ดังนี้
สังขารทั้งหลายเกิดมาแล้ว หันไปหาความตายอย่างเดียว ไม่ว่าสัตว์มนุษย์ สัตว์เดรัจฉาน และต้นไม้ภูเขาก็ดุจเดียวกัน หันไปหาความตายด้วยธาตุขันธ์แปรปรวนดังนี้
ทำความเพียรเด็ดเดี่ยว ยิ่งเห็นอานิสงส์ใหญ่โต แล้วจะเกิดวิบัติ วิบัติแล้วจะเกิดภาวนาดี หมายความว่า ความดีความชั่วเป็นคู่กันไป เมื่อเห็นดีแล้วเห็นชั่ว เห็นชั่วแล้วเห็นดี มืดกับแจ้งเป็นคู่กัน วิปัสสนูกับวิปัสสนาคู่กัน ทุกข์กับสุขเป็นคู่กัน
มนุษย์เป็นภูมิใหญ่ชั้นพิเศษ ได้ชื่อว่ามนุษย์เป็นฐานะที่เลิศ เป็นที่ที่ประชุมใหญ่ ให้ร้ายให้ดีก็เป็นชาติมนุษย์ อินทร์พรหม อบายภูมิ นรก สู้มนุษย์ไม่ได้ มนุษย์มีฐานะอันเลิศ เลิศทั้งหญิง เลิศทั้งชาย มีอยู่ในชาติเป็นมนุษย์นี้ทั้งนั้น แม้ปรารถนาใดๆ สำเร็จได้ในชั้นมนุษย์ มนุษย์แปลว่า ใจสูง ใจกล้าหาญ ทำบาป ทำบุญได้ทั้งนั้น เพราะบุคคลเกิดเป็นมนุษย์เป็นลาภอย่างยิ่ง ทั้งพบพระพุทธศาสนายิ่งลาภใหญ่ ปฏิบัติมรรคผลนิพพานได้
มนุษย์ทำจริง เห็นจริง ในอริยสัจ แจ้งชัดจนสำเร็จมรรคผล เป็นชาติที่เลิศวิเศษมากกว่าสัตว์อื่น กว่าภพอื่น ดังนี้ เว้นจากมนุษย์ไปแล้วไม่มีจะให้เป็น พุทธเจ้า พระปัจเจก พระสาวก ได้ดังนี้
ราคะ โทสะ โมหะ เป็นผลร้ายที่สุด ที่ฝังอยู่ในจิตมนุษย์ มนุษย์กระทำได้ทุกอย่าง มีอำนาจได้ มีเดชานุภาพได้ ไม่เหมือนสัตว์อื่น
มนุษย์ แปลว่าใจสูง ใจแกล้วกล้า ประกอบด้วยความฉลาดประดิษฐ์การงานได้ทุกอย่าง ยิ่งกว่าประเภทสัตว์อื่นในไตรภพ เป็นธาตุที่พอทุกอย่าง จึงปฏิบัติสำเร็จมรรคผลได้ ใจไม่วางจากความเพียร ใจเด็ดเดี่ยว จึงเป็นพุทธเจ้า พระปัจเจก พระอรหันต์ได้ สัตว์อื่นไม่ได้ ต้องอาศัยพุทธเจ้าสั่งสอน กล้าหาญ สร้างพระบารมีให้สำเร็จได้ไม่ท้อถอย ที่แยกออกจากมนุษย์ทั้งดีและชั่ว มนุสสนิรยิโก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานที่มนุษย์ทำไม่ดี ทำบาป มนุสสพุทโธ พระปัจเจก พระอรหันต์ มนุสสเทโว มนุสสพรหมา เหล่านี้เป็นต้น ล้วนแต่ทำความดีและชั่วในชั้นมนุษย์ทั้งนั้น เหตุนั้น มนุษย์เป็นที่ประชุมใหญ่ ที่ออกมาจากชาติมนุษย์ทั้งนั้น ได้นามว่า อคฺคํ มนุสฺเสสุ มนุษย์เลิศ มนุษย์ไม่ใช่หินชาติต่ำ เป็นชาติที่สูงสุด
มนุษย์อยู่ในท่ามกลาง ข้างบนเทวดา ข้างล่างอบายภูมิ ๔ มัชเฌมนุส มนุษย์อยู่ในท่ามกลางของชาติที่เกิด มนุษย์พออริยสัจจึงปฏิบัติสำเร็จอรหันต์ คล้ายๆ แม่ครัว แกงมัน พอพริกพอเกลือ เอร็ดอร่อยมาก ไม่ควรเหยียบย่ำชาติที่เกิดของตัวให้ตกต่ำ ตกนรก เปรต อสุรกายไปได้ ควรพากันปฏิบัติในศาสนา เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ดี ควรแก่การจะได้รับมรรคผล มัชเฌวัน ท่ามกลาง เดินปฏิบัติสายกลางให้สำเร็จดังนี้ สัตว์ทั้งหลาย รู้จักกิน รู้จักนอน รู้จักสืบพันธุ์ รู้จักทำความดี ความชั่ว ไปนรก สวรรค์ ได้ทั้งนั้น มนุษย์นั้นระคนด้วยบุญ บาป ชื่อว่า คน ก็ได้ ชื่อว่า มนุษย์ ก็ได้ไม่ผิดแปลกกัน
มนุษย์โอนไปทางโลกีย์มากกว่าประพฤติศาสนา ที่จะเอาตัวรอดจากอบายภูมิทั้ง ๔ ได้ ฉะนั้นนักปราชญ์เลือกค้นเอา ประพฤติปฏิบัติเอา เอาความดีไปนิพพาน เอาความชั่วไปอเวจีนรก มนุษย์เป็นชาติที่สูงสุดปรารถนาสมบัติอะไรก็ได้ทั้งสิ้น ไม่ตกต่ำเหมือนชาติอื่นๆ ภพอื่นๆ ภพเหล่านั้น ธาตุไม่พอ เป็นชาติที่ขาดมรรคผลนิพพาน มนุษย์เป็นฐานะที่จะสร้างบารมีให้สำเร็จได้ ไม่มีความสงสัยด้วยประการใดประการหนึ่ง
อุบาสก เรียกว่า เป็นพ่อพระ อุบาสิกา เรียกว่า เป็นแม่พระ พระ แปลว่า ประเสริฐ ดังนี้
ธรรมชาติโลกีย์เป็นสถานถิ่นที่แปรปรวน เพราะไม่เที่ยง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ยักย้ายแปรผันอยู่เป็นนิตย์ ธรรมชาติโลกุตระเป็นสถานที่เที่ยงธรรม เป็นโลกเหนือโลกทั้งหลาย เป็นโลกที่เกษม เป็นโลกที่ไม่ตายเหมือนโลกมนุษย์
บุคคลที่แลเห็นธรรม สิ่งที่แปรปรวนว่าเป็นของร้ายกาจ แล้วปฏิบัติศาสนา เดินมรรคให้ถึงมรรคผลนิพพาน แม้จะปริยาย ชาติมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด โลกียะเป็นโลกที่แปรปรวนไม่เที่ยงธรรม เพราะทำตามราคะ โทสะ โมหะ ตามมติกิเลสของตัว
๓ ส.ค. ๒๕ ถ้ำผู้ข้า
ถ้ำผู้ข้าเยือกเย็นที่สุด วิเวกดีที่สุด พระโยคาวจรภาวนาได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นถิ่นที่รับรองพระโยคาวจรทั้งหลายที่โคจรมาจากจตุรทิศทั้ง ๔ พึ่งร่มพึ่งเย็นของคณะญาติโยมที่ก่อสร้างไว้แล้ว
ฉะนั้นต้องเดี๋ยวๆ เวียนมาพักเจริญสมณธรรม ถ้ำผู้ข้าเสมอไปจนกว่าจะสิ้นชีวิต สถานที่สัปปายะ เจริญสมณธรรมระย่อระยองสะท้อนถึงจิตเสมอไป จิตใคร่ใช้ตบะอย่างยิ่ง ห่วงทำความเพียรเสมอไป ธรรมะเกิดขึ้นในจิตแปลกๆ ชอบเจริญวิปัสสนาโดยมาก ธาตุขันธ์ให้โอกาสทำความเพียร ไม่นั่งๆ นอนๆ ยืนๆ เดินๆ เสียเปล่า วันเวลาเป็นเงินเป็นทอง อย่าให้ล่วงไปเสียเปล่า
สมณะเป็นสมณะที่ดี รักษาความสงบ จิตไม่ส่งเดชฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ต่างๆ ให้เสียความสงบทางใจให้เสียไป
สานุศิษย์คั้นเอ็น ปรากฏว่า เห็นอวัยวะภายในได้หมดทุกอย่างแต่อดเจ็บไม่ได้ เป็นโรคหายด้วยคั้นเอ็นโดยกว่ากินยา ร่างกายปกติ โรคชราพาธนั้นเป็นธรรมดาของสังขาร ภาวนาแนบเนียนดีกว่ายังเป็นหนุ่มเพราะคิดถึงความตายนั้นเสมอ มีความประมาทน้อย หนุ่มประมาทมาก จิตเดินทางวิปัสสนาโดยมาก รู้เอง เห็นเองของธรรมะทั้งปวง ความตายผ่านมาหลายครั้งเนื่องด้วยโรคหัวใจวายโดยมาก ลืมเผลอสติโดยมาก การเทศนามีโวหารขึ้นหน้า โดยปฏิภาณ เทศนามากทำให้แน่นหัวใจ นายแพทย์จึงบอกไม่ให้รับแขกและเทศนา
๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕ ถ้ำผู้ข้า
เมื่อคราวเราอยู่กะท่านอาจารย์มั่น ห้วยหีบ จ.สกลนคร นั้น เราทรมานตนอย่างขนาดใหญ่ มีประการต่างๆ กำลังม้างกาย ประกอบจิตเด็ดเดี่ยว กล้าตาย ส่งเข้าภายใน มารตัวสำคัญ คล้ายมันปัดออก แต่เราสละตายเข้าไป เกิดระเบิดใหญ่ภายในนั้น
ข้อ ๑ ถือธรรมะนิสัยท่านอาจารย์มั่น จึงชนะได้
ข้อ ๒ เราเข้าป่า หัดม้างกายอย่างเต็มที่ จนร่างกายเกิดวิบัติจนกระดูกคล้าย ๆ ออกจากกัน แม้เราเดินเสียงกรอบกราบ แต่นานไปหาย มีกำลังทางจิต
คราวท่านอาจารย์มั่นไปจุดศพ (เผาศพ-ผู้เขียน) ท่านอาจารย์เสาร์ ณ จังหวัดอุบลราชธานี นั้น เราเดินจงกรม ระลึกถึงท่านเป็นที่พึ่งพร้อมทั้งอิทธิบาท ๔ ไม่ละซึ่งความเพียร
มีมารกระทบ นอนสะพาน มีผู้หญิงไปหาโดยไม่ตั้งใจ นั้น ครั้ง ๑
มีพระหนุ่มมาฟ้องท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์มั่นดุเอา ประกาศต่อสงฆ์ ทำสังคายนาใหม่ ดังอย่างร้ายกาจทุกๆ คราว ตามที่พรรณนามานี้
คราวอยู่กะท่านอาจารย์เสาร์ เรามาทรมานภาวนาในถ้ำโพนงาม นั้นก็ร้ายกาจเต็มที่ ประกอบด้วย เสือ งู สัตว์ต่างๆ กับท่านอาจ เกิดวิบัติแทบเอาตัวไม่รอด อยู่ถ้ำนั้น ในระยะหลายเดือน เกิดวิบัติเกือบปลงสังขาร
มาเกิดวิบัติ มาจำพรรษากับท่านอาจารย์เสาร์ ณ วัดสุทธาวาส จังหวัดสกลนครนั้น ก็เกิดวิบัติเกือบเอาตัวไม่รอด ร้ายแรงมากทีเดียว
พ.ศ. ๒๕๒๕ มาจำพรรษา ถ้ำผู้ข้า เกิดธรรมะอัศจรรย์เมื่ออายุ ๘๒ พรรษา ๕๗ เกิดความรู้แปลกๆ อาศัยกำลังสมถวิธี และวิปัสสนาวิธี แก้เรื่องหัวใจโต แก้หัวใจวาย แก้โรคนานาประการ เกิดมีพร้อมชราพาธไปต่างๆ รู้สึกตัวเสมอว่าจะตายเร็วๆ อยู่ด้วยกำลังนวด และกินยา จิตวิเวก กำลังภาวนาธาตุขันธ์ปกติ การเจริญภาวนา สมถะและวิปัสสนา เกิดธรรมรู้แยบคายมาก
อยู่ ณ กรุงเทพฯ ไม่ได้วิเวก รับแขก เทศนามาก หัวใจวาย เกือบตาย ที่บ้านจำพรรษาคุณประเสริฐ นั้นครั้งหนึ่ง เกิดจากโรงพยาบาลแพทย์ปัญญาอีกครั้งหนึ่ง มาจำพรรษาถ้ำผู้ข้า โรคจึงบรรเทามาดังนี้
มาอยู่ ณ ที่นั้นบุคคลดี อาหารดี อากาศพอทนอยู่ไปได้ เสนาสนะดี หมู่เพื่อนสหธรรมิกดี ญาติโยมดี แต่ทำร่มประจำเรื่อยๆ ไม่ท้อถอยและมีการปรับปรุงก่อสร้างใหญ่โต ดูแลพร้อม หนองผือ นาใน การก่อสร้างให้เสร็จไป เพื่อยุวชนในกาละภายหลัง มีความเพียรโดยไม่จืดจาง พระเถรานุเถระมีเมตตาถึงกัน น่าปลื้มใจในเขตจังหวัดสกลนคร
ไปเที่ยวอินเดีย เห็นปาฏิหาริย์หลายอย่างในสถานที่ตรัสรู้ ตลอดจนเห็นสถานที่ปรินิพพานของพุทธองค์ ภาวนาทำจิตได้ง่ายกว่าอยู่เมืองไทย เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายท่านเมตตา ภาวนาการทำจิตได้เร็วกว่าอยู่เมืองไทย เข้าจิตถึงอริยสัจเสมอไป กำหนด ๑๕ วัน กลับเมืองไทยด้วยเครื่องบิน ล้วนแต่เป็นสถานที่เป็นมงคลทั้งนั้น ค่าพาหนะเดินทางเสียเงินไปมาก ดุจประหนึ่งว่าเราเกิดอินเดียมาหลายชาติ สร้างบารมีครั้งสุดท้าย มาเกิดเมืองไทย ผู้คนพลเมืองหนาแน่น มีลัทธิร้อยแปด นักพรตในอินเดีย ประสบโจรลักถุงย่ามในที่พักรถไฟ
เมืองไทยทำความเพียรจนหัวปอกหัวลอกจึงเห็นธรรม ไม่ง่ายเหมือนอยู่อินเดีย นอนโรงแรมราคาสูง
เกิดมาในโลกมนุษย์ ทุกข์มาก รู้สึกเป็นอย่างยิ่ง จึงพยายามเจริญสมณธรรม ให้สิ้นทุกข์ในชาตินี้ ทุกข์ปัญจขันธ์ก็พออยู่แล้ว ทุกข์ภายนอกกลัวอันตรายทุกอย่างที่มนุษย์เบียดเบียนกัน ฆ่ากัน แย่งชิงกัน อาชีพเพื่อลาภยศบ้าง สารพัดทุกอย่าง สุขแต่ผู้มีธรรมะเป็นเรือนของใจ ไม่มีธรรมะเป็นทุกข์อย่างยิ่ง
ถ้ำผู้ข้า ๔ กันยา ๒๕๒๕
ดีใจได้สงเคราะห์แม่ชี บ้านหนองผือ นาใน ๒ คราว พันกว่าบาท ครั้งแรก ๖๐๐ บาท ครั้งที่ ๒ ๕๐๐ บาท จ้างฉีดยา แม่เป็นมะเร็งทวารเบา แม่เบ่งอาตมาออกมาเป็นมนุษย์ กล่อมเลี้ยงดูอาตมาสืบตระกูล นี่พูดตามพระไตรปิฎก พระองค์ตรัส มนุษย์เกิดมาในโลก ไม่เคยเป็นพ่อ เป็นแม่กันนั้นไม่มีดังนี้
๗ ต.ค. ๒๕
อยู่บ้านผือ ภาวนวดีมากกว่าอยู่แห่งอื่น เพราะสถานที่พระอริยเจ้า ท่านอาจารย์มั่น ท่านอาจารย์เนียม ประทับอยู่ ณ ที่นั้น เป็นสถานที่เป็นมงคล สถานที่เตือนสติบ่อยๆ คล้ายอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ความรู้ธรรมะลึกลับสุขุมคัมภีร์ภาพ ฉะนั้นการบำรุงก่อสร้างจึงทำให้ถาวรมั่นคง รุ่งเรือง ให้สมฐานะกับสถานที่เป็นมงคล เทศนามีปฏิภาณดี บุคคลสอนง่าย อุบาสกอุบาสิกากลัวเรามาก เพราะเราทรมานเขามาแต่ก่อน ดุด่าเขาไม่โกรธ อยู่ได้แต่ออกพรรษา เข้าพรรษาอยู่ไม่ได้ อากาศทับ ถ้ำผู้ข้าอากาศดี มีถ้ำเป็นมงคล บ้านผือสงัดดีกว่า เกิดธรรมะ สถานที่วิเวกดีมาก พระเณรเราว่ากล่าวสั่งสอนได้
ถ้ำผู้ข้า ๒๔ ต.ค. ๒๕๒๕
มนุษย์เกิดมาในโลก มีบิดามารดา พี่ๆ น้องๆ และวัตถุข้าวของในปัจจุบันที่เกิดนั้น ประกอบด้วยจิตมีราคะ โทสะ โมหะ เหล่านี้พากันรักใคร่ เพลิดเพลิน เห่อกัน ฉะนั้นมีราคะ โทสะ โมหะ เพราะติดภาพ ติดชาติ ติดโลกธรรม ๘ ประการ ไม่เพียงพอ อยากได้โน้น อยากได้นี้ ความพอความอิ่มในดวงจิตไม่เพียงพอ แม้แม่น้ำทะเลยังรู้จักบกพร่องหรือเต็มดังนี้ นั่นแหละเป็นเรื่องตัณหาของโลก จึงพากันประพฤติทุจริตต่างๆ พากันทำบาปนานาประการ เมื่อบุคคลฟังโอวาทคำสั่งสอนพุทธเจ้า รู้สึกตัว ปฏิบัติมรรคผลให้เกิดขึ้นก็พ้นโลกไป ข้อนี้เป็นข้อลี้ลับสุขุม จะต้องอบรมในศาสนาให้มากๆ เพื่อแก้สันดานที่หยาบๆ ของตนให้ถึงมรรคผล ให้เชื่ออริยสัจความจริงของศาสนา นรก สวรรค์ นิพพานมีจริงๆ ให้เกิดความเลื่อมใสในศาสนา
ผู้ที่จะเห็นมรรคผลนิพพานจริงๆ ต้องเพียรตปะความเพียรอย่างยิ่ง ทรมานตัว นอนใจไม่ได้ เกียจคร้านไม่ได้ เพราะมรรคผลนิพพานมีจริงๆ ประมาทนั้นไม่ได้ ต้องเดินสายมรรค ๘ ประการ เป็นหนทางของพระอริยเจ้า และพุทธเจ้า พระปัจเจก อรหันต์ขีณาสพทั้งหลาย
ภาวนาถึงหลักอริยสัจ นิมิตแสดงออกมาให้ปรากฏรูปร่างเหมือนมนุษย์ที่บริสุทธิ์ ต่อนั้นน้อมนิมิตให้เป็นไตรลักษณ์ เพราะนิมิตนั้นจะแปรปรวนเป็นอาการต่างๆ จะติดดี แก้ความดีให้เป็นอริยสัจ กลั่นกรองให้เป็นชาตินิพพาน ข้อนี้สำคัญนัก
๒๕ ตุลาคม ๒๕๒๕ พักภูทอก ๓ คืน
ฝันลุยน้ำ ปั้นผ้าอาบน้ำ และลืมผ้า ต่อไปจะได้รับทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง ประกอบการก่อสร้าง ฝันตามที่ผ่านมาแล้ว ลุยน้ำลึกแต่ไม่ได้ลอยน้ำนั้น น้ำแปลว่า โอฆะ เป็นกรรมมาจรให้ระวังตัว
พิจารณาภาวนาเดี๋ยวนี้ไม่มีความฝัน เพราะก่อนนอนได้นอนหลบนิมิตทั้งหลาย เพราะเห็นว่านิมิตนั้นเป็นมาร เป็นตัวสังขาร จึงเอาไตรลักษณ์ล้างเช็ดให้บริสุทธิ์ก่อนนอน
ภาวนาไตรลักษณ์ทุกขณะจิต ให้เห็นภายในสว่างเสมอไป เป็นตัววิปัสสนา ล้างเช็ดให้จิตสะอาด ทุกอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน อย่าประมาทด้วยประการใดประการหนึ่ง
๕ พ.ย. ๒๕๒๕ ถ้ำผู้ข้า
สมถะรับระงับนิวรณ์ได้ชั่วคราว เสียความสุขด้วยความสงบแต่กิเลสเกิดขึ้นอีก ส่วนวิปัสสนารู้แจ้งแทงตลอด ทำให้สิ้นกิเลสได้หัวใจไม่มีพิษมีภัยด้วยนานาประการ จิตเกษม จิตอมตธรรม จิตอกุปธรรม จิตไม่กำเริบ จิตคงที่เพราะจิตรู้แจ้งแทงตลอด
ไตรลักษณ์ม้างไปได้ทั้งไตรภพ มีอำนาจเหนือโลกีย์ โลกุตระเป็นโลกหนึ่งต่างหาก
แก่ชราพาธ ร่างกายเหี่ยวแห้ง หมดยาง กำลังไม่ติดต่อ กำลังน้อย อ่อนเพลีย อิริยาบถผิดอนามัยแล้วไม่ได้ ธาตุแปรปรวน ชักชวนให้ล้ม เดินไปมาคล้ายกับเด็กหัดเดิน ซวนหน้าซวนหลัง ไปไม่ตรง มีคนอื่น
พยุงเรื่อยๆ เว้นจากพระพิลาอุปัฏฐากนั้นไม่ได้ ต้องบำรุงยาฉันเสมอ พอพยุงตัวไปได้ แต่จิตแน่นหนาในทางธรรมะ เพราะระลึกการตายเสมอ ความประมาทน้อย แต่กำลังจิต กำลังโคจรสะดวก แต่ร่างกายเดินไม่ไหวเหมือนยังหนุ่ม ชอบสันโดษ มักน้อยด้วยปัจจัย ๔ เพราะระลึกถึงความตายจะสะสมไว้ทำไม รีบบริจาคยังมีชีวิตอยู่
การทำบุญต่ออายุ เห็นอานิสงส์ปัจจุบันเป็นอัศจรรย์อย่างใดอย่างหนึ่งฉะนั้น พระยาพิมพิสารบำเพ็ญอุทิศถึงเปรต เปรตได้รับอนุโมทนาไปเกิดบนสวรรค์ การทานมีแรงกล้าถึงขนาดนั้น
ภาวนาจิตเดินถูกมรรคสะดวกมาก ไม่ขัดข้องด้วยประการใดๆ เพราะเป็นหนทางของพระอริยเจ้า เดินผิดมรรค ถูกนิวรณ์ครอบงำ จิตลำบากมาก
อยู่ประเทศอินเดีย ภาวนาง่ายที่สุด ไม่ต้องชำระนิวรณ์ ภาวนาจิตถึงอริยสัจเลยทีเดียว เพราะวิญญาณพระอรหันต์อุ้ม อินเดียเป็นต้นศาสนา พระอรหันต์นิพพานในที่นั้นมาก ช่วยพระ คนทุกข์ คนจน ท่านอุ้มชู
พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลายถือธุดงค์บริสุทธิ์ดีแล้ว เทพต้องไปเยี่ยม พระจะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม เทพไปเยี่ยม ท่านอาจารย์มั่นพูด
ถ้ำผาบิ้งเป็นมงคล ๒ อย่าง พระอรหันต์อุบาลีนิพพานในที่นั้น ๑ มีนาครักษาอยู่ ณ ที่นั้น ๑ พระโยคาวจรเจ้าภาวนาจึงสะดวกมากเป็นสถานที่เป็นมงคล อาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ ณ ที่นั้น รู้อภิธรรมไปอื่นลืม ? ท่านอาจารย์สิงห์สำคัญตนสำเร็จดุจพระโมคคัลลาน์
ท่านอาจารย์บุญสำเร็จในถ้ำ อ.ผือ จ.อุดร
ภาวนาธาตุนาเวิง คิดถึงพระอริยเจ้า ภาวนาบ้านหนองผือ คิดถึงท่านอาจารย์มั่น ท่านเนียม ท่านทั้งสองเป็นพระอริยเจ้า
ความสันโดษนั้นเบากาย เบาใจ เพราะไม่มีการสะสมปัจจัย ๔ จะสะสมไว้ทำไม ญาติโยมเขาเลี้ยงอยู่แล้ว ลาภเหลือแล มีโอกาสภาวนาให้ยิ่ง
ถ้ำผู้ข้า ๑ ก.ย. ๒๕
เจริญกายานุปัสสนา ตั้งแต่เท้าขึ้นถึงบนศีรษะ ตั้งแต่บนศีรษะถึงเท้า เป็น ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ทำให้มากแล้ว ทำให้ชำนาญแล้วทำให้คล่องแคล่วแล้ว จะเกิดนิพพิทาญาณ คือ ความเบื่อหน่ายในอวัยวะทุกส่วน แล้วเจริญความเบื่อหน่ายให้มาก แล้วจะเกิด วิราโค แปลว่าสำรอก ออก ไม่ยินดีในกามคุณ มรคุณ จิตจะถึงความเกษม ไม่มัวเมาใน กาม คุณ
ที่จะเปลี่ยนใจไปสู่ภพใหม่นั้น มัจจุราชมายาทุกอย่างมันพอจึงเข้าถึงความตาย ตายดีไปสวรรค์ ตายทั่วไปสู่ทุคติภพ มี ๒ อย่างเท่านั้น ถ้าสิ้นกิเลสแล้วก็ไปนิพพาน ไม่ปรารภเกิดในภพน้อยใหญ่
ถ้าเดินมรรคไม่พอ ยังคานิมิตดีและชั่วอยู่ เพราะอ่อนทางวิปัสสนา ล้างเช็ดกิเลสไม่หมด
ภาวนา ณ ถ้ำผู้ข้า เดินทางวิปัสสนา จิตสว่างไสวดี ปรุโปร่งดี รู้แต่เท้าถึงศีรษะ ทวีขึ้นทวนลง อนุโลม ปฏิโลม เพ่งไตรลักษณ์ลบเล่ห์เหลี่ยมของกิเลสทั้งหลายให้เห็นอมตธรรม เห็นปกติของจิต ให้จิตเป็นอกุปธรรม ไม่ให้จิตกำเริบ ให้รู้แจ้งแทงตลอดอยู่เป็นนิตย์ ด้วยกำลังวิปัสสนา ไม่ใช่กำลังวิปัสสนู
พิจารณาการตายไปสู่ภพใหม่ จะเป็นกิริยาอย่างไร ในขณะที่ธาตุขันธ์จะตีลังกานั้นแหละ ใจหาย ขวัญเสีย เอาสติได้เป็นการดี ถ้าเอาไม่ได้ก็เสียท่าใหญ่โต ความรู้แจ้งแทงตลอดของอวัยวะ เป็นสมบัติอย่างยิ่ง แลเห็นอริยสัจด้วยความจริง
๑ พ.ย. ๒๕ ถ้ำผู้ข้า
กายานุปัสสนา กรรมฐาน ๕ เป็นมรรคที่จิตเดินถูกต้อง เร่งความเพียร เดินมรรค เป็นหนทางของพระอริยเจ้า
ร่างกายอวัยวะเป็นธรรมะที่แปรผันอยู่ในไตรลักษณ์ เมื่อเห็นความไม่จริงแล้ว ย่อมเห็นความจริงของอริยสัจ จิตไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น แก้ไขเดินมรรคให้ถูกเป็นอันที่แล้วกัน เดินมรรคผิดแล้วยุ่งวุ่นวายใหญ่โต
๘ พ.ย. ๒๕ ถ้ำผู้ข้า
อยู่ ณ ถ้ำผู้ข้า ภาวนาสงัดดี ศิษย์เอาใจใส่อุปัฏฐากดี อาหารดี อากาศ อยากเจ็บเวลาฝนตก สนใจในการภาวนามาก เกิดความรู้แปลกๆ ละเอียดสุขุม สถานที่เป็นมงคล ญาติโยมว่าง่ายสอนง่าย ภาวนาถึงหลักของจิต เพ่งนิมิตให้ละลายเป็น ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา แต่ไม่ฝัน เพราะภาวนาล้างอนุสัย เพ่งร่างกายปรุโปร่งตลอดทั่วไปของร่างกายและลึกซึ้ง
จิตหายสงสัยทางนิวรณ์ ไม่รับนิมิตพิจารณา เพราะนิมิตเป็นตัวสังขาร
อาพาธค่อยหายไปเรื่อยๆ เพราะคั้นเอ็น (นวดเส้น-ผู้เขียน) แต่เดินทางไกลไม่ได้เจ็บขาข้างขวา แน่นหัวใจ มักมีบ่อยๆ ไม่อยากอาหาร กินไปก็พอกิน มักเวียน เป็นลมเป็นบางวัน ลุกนั่ง เดินลำบาก เดินคล้ายเด็กหัดเดิน เพราะชรา อวัยวะบกพร่อง กำลังน้อย อ่อนเพลีย ต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ นั่งนานเส้นตึง อายุแก่เท่าไรยิ่งเห็นความลำบากของร่างกาย
พิจารณาตามเรื่องของสังขาร แต่อย่าทิ้งไตรลักษณ์ ลบล้างให้หายไป อย่าปรุงมันขึ้นมา เห็นความไม่เที่ยง แล้วเห็นเที่ยงของอริยสัจ
(มีต่อ ๒๖) |
|
|
|
    |
 |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
18 ม.ค. 2007, 12:48 pm |
  |
๏ พรรษาที่ ๕๙-๖๕ พ.ศ. ๒๕๒๖-๒๕๓๒
แสงตะวันลำสุดท้าย
พ.ศ. ๒๕๒๖ และ ๒๕๒๘
จำพรรษา ณ วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) กิ่ง อ.ศรีวิไล จ.หนองคาย
พ.ศ. ๒๕๒๗ และ ๒๕๓๒
จำพรรษา ณ ที่พักสงฆ์ ก.ม.๒๗ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร
พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๑
จำพรรษา ณ ที่พักสงฆ์เย็นสุดใจ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
จากพรรษา ๕๙ ถึงพรรษา ๖๕ จัดได้ว่าเป็นช่วงปัจฉิมกาลของหลวงปู่จริงๆ ท่านมีอายุยืนยาวมาถึงกว่า ๘๐ ปี อายุ ๘๒-๘๘ พรรษา เมื่อสมเด็จพระบรมครู สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงปลงพระชนมายุสังขาร เสด็จเข้าสู่มหาปรินิพพานนั้นก็มีพระชนม์เพียง ๘๐ พรรษาเท่านั้น หรือแม้แต่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตบูรพาจารย์ของท่านก็ละสังขารไปเมื่ออายุ ๘๐ ปีพอดี องค์ท่านมีอายุเกินกว่าแปดสิบมาหลายปีแล้ว แต่หลวงปู่ก็ยังเมตตา นำพระ เณร อุบาสก อุบาสิกา สวดมนต์ทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น ตลอดจนเทศนาอบรมสั่งสอนและนำภาวนามิได้ขาด โดยการสวดมนต์ทำวัตรเช้าและเย็น หลวงปู่ได้มีแบบฉบับของหลวงปู่เอง ดังที่เคยกล่าวมาแล้ว โดยหลวงปู่จะน้อมนำให้ระลึกถึง คุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างน่าซาบซึ้งก่อนแล้วจึงให้สวดบาลีต่อไป
ถึงแม้ว่าหลวงปู่จะเจริญด้วยวัยอันสูงยิ่ง และมีสภาพสังขารดังที่หลวงปู่บันทึกไว้ว่า คำนวณชีวิตเห็นจะไม่ยั่งยืน ร่างกายบอกมาเช่นนั้น ทำให้เวียนศีรษะเรื่อยๆ แต่มีติระวังอย่าให้ล้ม มีคนอื่นพยุงเมื่อ และ ธาตุขันธ์ทำให้วิงเวียนอยู่เรื่อยๆ คอยแต่จะล้ม ต้องระวังหน้า ระวังหลัง ท่านก็ยังมีเมตตาไปโปรดเยี่ยมลูกศิษย์ตามที่ต่างๆ บ่อยครั้ง โดยทุกครั้งจะไปวันละหลายๆ บ้าน และทุกๆ บ้านท่านมักจะอบรมเทศน์เป็นเวลาครึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
นึกถึงวัย นึกถึงสังขาร ผู้ที่มีอายุปานนั้นแล้ว ควรจะพักผ่อนได้แล้วแต่กลับมาเหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่ง ท่านไม่น่าจะปฏิบัติภารกิจเช่นนี้ได้ไหว แต่หลวงปู่ก็ยังคงมีเมตตาอยู่เช่นนั้นเสมอมา บำเพ็ญตนดุจเหล็กไหล ไปมาคล่องแคล่วว่องไวแทนที่ลูกศิษย์จะเป็นฝ่ายมากราบนมัสการเยี่ยมท่าน ท่านกลับไปเยี่ยมลูกศิษย์เสียเอง
เมื่อดูจากภายนอก ท่านเป็นเสมือนบุรุษเหล็ก แต่จากบันทึกที่ค้นพบปรากฏว่า องค์ท่านเองกลับเหน็ดเหนื่อยยิ่งนัก ดังที่ว่า
...เราสละชีวิตให้ญาติโยมมาดูดกินเนื้อเลือดของเรา...
มีอยู่หลายครั้งที่ท่านสารภาพว่า การเทศน์ก็ดี การอบรมก็ดี ดูดกินกำลังของท่านไปหมด จนแน่นหน้าอกแทบหายใจไม่ออก แต่ท่านก็อดทนทำ ด้วยว่าเป็นกิจของศาสนาตามที่ท่านว่า
ในปีพรรษา ๕๙ (พ.ศ. ๒๕๒๖) และพรรษา ๖๑ (พ.ศ. ๒๕๒๘) หลวงปู่เมตตาไปโปรดญาติโยมทางจังหวัดหนองคาย โดยไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) และโดยเฉพาะในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ นั้น ท่านได้กรุณารับผ้ากฐินของวัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) ด้วย
ความจริงที่ภูทอกนี้ ท่านได้เคยไปวิเวกพักผ่อนแล้วหลายครั้ง แต่ปี ๒๕๒๑ เป็นต้นมา เช่น มาร่วมในงานกฐินบ้าง ผ้าป่าบ้าง ปี ๒๕๒๕ ท่านมาในงานกฐินรับผ้าป่า แล้วท่านบันทึกไว้ว่า
ภูทอก ซึ่งมาอยู่ใหม่ๆ วันที่ ๒๒ ต.ค. ๒๕
ภาวนามีชีวิตต่อดี เป็นสถานที่เป็นมงคล ภาวนาอวัยวะปรุโปร่งดี สงัดวิเวกดี มีเทพศักดิ์สิทธิ์ประทับอยู่ บุคคลยังภาวนา ยังไม่เป็นไป ยุ่งอยู่กับการงานค่าครองชีพ ยังไม่เห็นอานิสงส์ของศาสนาเต็มที่ ขาดครึ่งๆ กลางๆ การก่อสร้างถาวรมาก เทียบกับวัดเอราวัณ ถ้ำผาปู่ ถ้ำขาม ถ้ำผาบิ้ง
สร้างถาวรมั่นคง รุ่งเรืองดี ทันสมัยนิยม แม้สิ้นเงินเป็นล้านๆ ทีเดียว เราเทศน์ไปดูเหมือนไม่เข้าใจเท่าไร
ต่ออนาคตจะเป็นเจดีย์ที่สำคัญของประเทศไทย เป็นที่อัศจรรย์แห่งหนึ่งของประเทศไทย ทัศนาจรของคนต่างจังหวัด จะหาสมภารเหมือนท่านอาจารย์จวนยากนัก เพราะพุทธศาสนิกชนเลื่อมใสท่านมาก หาเงินก่อสร้างและปกครองพระภิกษุ เณร ได้ดียิ่งกว่าเรา
ภาวนาข้างบน (บนภูเขา-ผู้เขียน) ดี ข่าวล่างภาวนาไม่ค่อยดี ที่เราได้ผ่านมาแล้ว ปรากฏเป็นอัศจรรย์
ถ้ำผาปู่ ๑ ถ้ำขาม ๑ ภูทอก ๑ ถ้ำเอราวัณ ๑ ถ้ำผาบิ้ง ๑ ถ้ำมโหฬาร ๑ ทุ่มเทเงินการก่อสร้างมากมาย ของประเทศไทยน่าอัศจรรย์เป็นหลักวัดป่าที่วิเวกของประเทศไทย เป็นขวัญตาขวัญใจของประเทศไทย ชาวพุทธศาสนิกชนทัศนาการ ต้องคัดเลือกอาจารย์ที่สำคัญอยู่ จึงสมกับฐานะของถ้ำที่เป็นมงคล
ภูทอก เป็นสถานทัศนาจรหลายแห่ง มีสถานที่ใกล้ ๆ กัน สะดวกแก่พระโยคาวจรเจ้าเจริญภาวนา ล้วนแต่บุคคลเป็นเศรษฐีการก่อสร้างทั้งนั้น
เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่มาพบบันทึกของท่าน ที่บันทึกไว้แต่ปี ๒๕๒๕ ว่า ต่ออนาคตจะเป็นเจดีย์ที่สำคัญของประเทศไทย เป็นที่อัศจรรย์แห่งหนึ่งของประเทศไทย
ขณะนั้น เดือนตุลาคม ๒๕๒๕ ความคิดที่จะสร้างเจดีย์โดยเสด็จพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังเพิ่งเริ่มต้น ยังมิได้มีการหาทุนมาเพื่อสร้างเลย เพราะบรรดาศิษย์กำลังกังวลเรื่องจะช่วยจัดสร้างเจดีย์ถวายหลวงปู่ฝั้นให้เสร็จสิ้นก่อนและเราก็มีความคิดสั้นๆ เพียงว่า จะทำเจดีย์เพียงแค่ ๓-๔ ล้านบาท และความจริงเงิน ๓-๔ ล้านบาท สำหรับเราในปี ๒๕๒๕ นั้น ก็ยังฟังเป็นเรื่องเกินฝันอยู่เหลือเกิน
ไม่มีใครคิดว่า สุดท้ายเจดีย์พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ จะใช้ทุนในการก่อสร้างไปถึง ๑๗ ล้านบาท มีความสูงจากพื้นดินเดิมถึงยอดเจดีย์ถึง ๓๗ เมตร !
และหลวงปู่ท่านเขียนไว้แต่ครั้งนั้น !
คงต้องขอยืมคำของท่านที่ท่านกล่าวบ่อยๆ นั่นเอง มารำพึงในวันนี้
น่าอัศจรรย์นัก !
ที่ภูทอกเป็นสถานที่ซึ่งสงบสงัด เส้นทางที่เข้าไปสู่ภูทอกค่อนข้างลำบาก อีกทั้งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ ๘๐๐ กว่ากิโลเมตร ในขณะนั้นหลวงปู่มีอายุ ๘๔ ปีแล้ว ท่านก็ยังแสดงพระธรรมเทศนาเกือบทุกวัน อบรมพระเณร ตลอดจนผู้ที่มีศรัทธาแรงกล้าที่ได้ติดตามท่านไปด้วย ท่านได้นำพระเณรขึ้นไปบำเพ็ญภาวนาอยู่บนวิหารยอดเขาภูทอก ชั้นที่ ๕ เป็นเวลากว่าเดือน ในระยะนั้นธรรมะของหลวงปู่มีมาก ซึ่งท่านก็ได้บันทึกไว้ แต่เป็นการยากยิ่งที่จะนำธรรมะของหลวงปู่มารวมพิมพ์ไว้ได้ทั้งหมด คงจะสามารถคัดลอกและนำมาพอเป็นตัวอย่างบ้าง ดังนี้
เร่งความเพียรเข้าไป เส้นเอ็น กระตุก ปีติไล่กิเลสออกจากดวงจิต อำนาจวิปัสสนาฟอกหัวใจให้สะอาด
อุบายกิเลสมีนานาประการ มรรคทำให้มาก ให้รู้เท่าทันกับกิเลส ไตรลักษณ์ตัดกระแสกิเลสทั้งหลายให้ขาดจากดวงจิต หัวใจเปลี่ยนแปลงอวิชชาให้เป็นวิชชา เรื่องนี้ควรสนใจ เพราะมันเดินถูกมรรค
ชอบสวยงาม พิจารณาให้เป็นอสุภะ-ไม่งาม ของอวัยวะทุกส่วน ดำเนินเข้าไปดู จักเห็นความเป็นจริงของอริยสัจ
รู้แจ้งอวัยวะของร่างกายยิ่งกว่าเก่า ละเอียดกว่าเก่า ด้วยไตรลักษณ์ ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ขยายธรรมะรู้ทั่วไป ระงับนิวรณ์ได้ รู้เองเห็นเอง เป็นปัจจัตตัง ปฏิภาคและวิปัสสนาผสมกัน แต่วิปัสสนามากกว่าสมถะ
พิจารณาการตาย เกิดสะกิดใจว่าจะต้องตายง่าย อายุไม่ยืนนาน บอกมาเรื่อยๆ เริ่มความเพียรมากก่อนตาย เพื่อให้ชำนิชำนาญ เพื่อเข้าจิตสู้การตาย ข้อนี้สำคัญมากกว่าอย่างอื่น
ทำวิปัสสนามากกว่าทำปฏิภาคนิมิต ให้จิตรู้เองเห็นเอง ไม่มีความอาลัยในชีวิต พิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ชำนาญเข้าสู่อารมณ์แห่งความตาย
เทศน์ของหลวงปู่ บ่อยครั้งจะกล่าวถึงการให้ ทาน ซึ่งไม่เฉพาะแต่คำเทศน์เท่านั้น ท่านยังปฏิบัติเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่พระ เณร อุบาสก อุบาสิกาอีกด้วย ท่านกล่าวว่า อานิสงส์ของการให้ทานนั้น จะมีผลให้ผู้บริจาคทานมีฐานะร่ำรวย คือ พระเวสสันดรในพระไตรปิฎก และจะอุดหนุนให้ตัวเราสบาย ซึ่งย่อมเห็นอานิสงส์นี้ได้ในชาติปัจจุบัน ดังที่ท่านได้รับอยู่ ตามบันทึกของท่านที่ว่า
เงินฝากธนาคาร ช่วยอาหารพระเณรวัดป่าที่กันดารนั้น ยิ่งปลื้มใจ หาที่สุดมิได้ มีตบะความเพียรอย่างยิ่ง และมีศาลาเกิดขึ้นทุกวันนี้ก็เพราะอนุเคราะห์หมู่เพื่อนสหธรรมิกนั่นเอง ก็ด้วยอานิสงส์อันนี้แหละอดหนุน จึงมีชีวิตประทังตัวอยู่ทุกวันนี้
เงินในที่นี้ได้มาจากไหน ก็ได้มาจากปัจจัยที่เหล่าญาติโยม ลูกศิษย์ถวายท่านนั่นแหละ โดยอัธยาศัยของหลวงปู่แล้ว เป็นผู้มัธยัสถ์ ประหยัดมาก ด้วยท่านชอบธุดงควัตร จึงฝึกหัดให้มีชีวิตอยู่อย่างประหยัด อย่างไม่กังวลต่อความอัตคัดขัดสนดังมีเรื่องเล่าที่ว่า น้ำปลาขวดเดียว เป็นอาหารที่ท่านฉันได้ทั้งพรรษา ดังนั้น ปัจจัยที่เหล่าญาติโยมและลูกศิษย์ถวายท่านนั้น จึงเกิดอานิสงส์ผลบุญถึง ๒ ชั้น คือ บุญที่เกิดจากการถวายปัจจัยหลวงปู่ชั้นหนึ่ง และบุญที่เกิดจากหลวงปู่นำปัจจัยนั้นไปเพื่อการสงเคราะห์พระเณรในป่ากันดารอีกชั้นหนึ่ง ท่านได้จัดตั้งมูลนิธิจันทะสาโรขึ้นให้นำดอกผลส่งไปช่วยเป็นค่าอาหารสำหรับวัดป่าที่อยู่ในที่ทุรกันดารและขาดแคลน
นอกจากจะช่วยเพื่อนสหธรรมิกในด้านปัจจัยแล้ว การช่วยเหลือในลักษณะอื่นๆ ก็ถือว่าเป็น ทาน อีกชนิดหนึ่ง ดังบันทึกของท่านที่ว่า
เราได้แลกโวหารเทศนาหาเงินช่วยการก่อสร้าง ช่วยเพื่อนสหธรรมิก นี้ก็เห็นอานิสงส์เหมือนกัน การให้ทานร่ำรวยเหมือนพระเวสสันดรมีอานิสงส์ตามที่ท่านกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก
หลวงปู่มักจะมีเรื่องต่างๆ เล่าให้ญาติโยมและลูกศิษย์ฟังเสมอๆ ประกอบกับคำสั่งสอนอบรมของท่าน และเรื่องหนึ่งที่ท่านมักจะกล่าวถึงก็คือ คำสรรเสริญเพื่อนสหธรรมิกของท่าน หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ผู้ที่มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว มีธรรมคมในฝัก สันโดษ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของพระโยคาวจรเจ้าในสมัยปัจจุบัน ดังเรื่องเล่าที่ท่านยกขึ้นมาว่า ในสมัยหนึ่ง หลวงปู่ชอบธุดงค์เข้าไปในป่าทึบ ทางเดินนั้นเป็นทางเปลี่ยว หนทางนั้นมีเสือกินคนหลายรายแล้ว กลางคืนนั้นท่านเดินเข้าไปคนเดียว แม้ญาติโยมจะห้ามปรามหรือทัดทานอย่างไร ท่านก็ดื้อไป แล้วท่านก็พบเสือใหญ่ลายพาดกลอน ร้องขึ้นขนทางข้างหน้าท่าน ๑ ตัว ข้างหลังอีก ๑ ตัว หลวงปู่ชอบจึงเข้าสมาธิอยู่ ณ ที่นั้นราว ๑ ชั่วโมง รู้สึกตัวแล้วก็เดินทางต่อไป ตอนเช้าท่านออกบิณฑบาต ญาติโยมทั้งหลายเห็นเป็นอัศจรรย์ ที่ท่านเดินทางกลางคืนในป่า โดยที่เสือไม่กินท่าน
ความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ของหลวงปู่ชอบ เป็นเรื่องที่หลวงปู่มักนำมากล่าวสรรเสริญให้ญาติโยม ลูกศิษย์ได้ยิน ได้ฟังดำเนินรอยตาม เหล่านี้เป็นการยืนยันถึงอุปนิสัยการถ่อมองค์ของหลวงปู่ ที่มักจะเล่าและยกย่องผู้อื่นมากกว่ากล่าวถึงตนเอง
พรรษา ๖๐ (พ.ศ. ๒๕๒๗) หลวงปู่จำพรรษาที่สำนักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ ดอนเมือง กรุงเทพฯ ถึงแม้ว่าจะมีเสียงเครื่องบินรบกวนบ้าง หลวงปู่ก็หาได้ทิ้งเรื่องการภาวนาไม่ กลับมุ่งหน้าเข้าหาการภาวนาย่างจริงจัง ดังความตามบันทึกส่วนหนึ่งว่า
การภาวนา เมื่อว่างเครื่องบินแล้ว สงัดดี วิเวกดี พิจารณาร่างกาย แจ่มแจ้งดี ของอวัยวะร่างกายตั้งแต่ขาต่อไปถึงหน้า สละชีวิตโดยเฉพาะเอกเทศอย่างหนึ่ง พยายามให้สละซากความเป็นความตาย ณ ที่นั้นให้ชำนิชำนาญ ทำให้มากจะเกิดปาฏิหาริย์ใหญ่ เห็นธรรมเป็นอัศจรรย์อย่างใดอย่างหนึ่ง สละกิเลสทั้งหยาบ ทั้งอย่างกลาง อย่างละเอียด มีในนั้นเสร็จ กลั่นเอาความไม่ตายจากที่นั้นเป็นตัวนิพพาน เมื่อก่อนไม่เที่ยงเช่นนั้น จะเห็นตอนที่ไม่ตาย อมตธรรมอย่างสุขุมลุ่มลึกไปเป็นลำดับ
เร่งความเพียร นอนไม่หลับ เพราะมีปีติล่อใจ รักใคร่ภาวนาเรื่อยๆ ลืมมืดลืมค่ำ แต่มีการอ่อนเพลีย การนอนไม่หลับ แต่ความรู้ความฉลาดก้าวหน้า ใคร่ในวิปัสสนาวิธี นิสัยย่อมเป็นไปเข่นนั้น นอนดึกๆ ทุกคืน ทำให้เพลินทางธรรมมาก
เจริญภาวนาสะดวก ม้างกายให้เห็นทั่วด้วยวิปัสสนาอย่างเดียว สมถะมีการทำน้อยไป เพราะที่อยู่ไม่วิเวก
ในระหว่างระยะเวลาเหล่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนั้น หลวงปู่ก็พักอยู่ที่สำนักสงฆ์หัวหิน เช่นกัน ท่านบันทึกไว้ว่า
อยู่หัวหิน อยู่ใกล้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้ว มักจะเกิดธรรมแปลกๆ เป็นอัศจรรย์เป็นเพราะ ทั้งสองพระองค์ทรงมีพรหมวิหารอยู่ในน้ำพระทัยของพระองค์ ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์และพระราชินีที่เพียบพร้อมทุกอย่าง ไม่ทรงทิ้งธรรม เป็นคนมีบุญเสด็จอวตารมาจากสวรรค์มาเกิด มาบริหารชาติ มาทำนุบำรุงศาสนาให้เจริญ ประเทศไทยไม่สิ้นจากคนดี นี้เป็นอัศจรรย์ประการหนึ่งของประเทศไทย
ท่านมักจะอบรมบรรดาลูกศิษย์ ทั้งพระ เณร อุบาสก อุบาสิกาเสมอให้รู้สึกระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถอยู่เสมอ โดยองค์ท่านเองก็เขียนไว้ในบันทึกว่า
สมเด็จในหลวงรัชกาลที่ ๙ ขอให้พระองค์มีพระปรีชาญาณปราดเปรียว ปกครองชาวประเทศไทย ให้เป็นสุขทั่วกัน พร้อมทั้ง ๗๔ จังหวัด ประชาชนนับถือพระองค์ดุจบิดามารดาของชาวไทย ทั้งหญิงทั้งชาย เหตุนั้นชาวไทย อุบาสก อุบาสิกา ท่านทั้งหลาย บำเพ็ญทานก็ดี รักษาศีลก็ดี ภาวนาก็ดี ขอกุศลอันใหญ่มหาศาล อุทิศบุญกุศลอันนี้ จงดลบันดาลให้ความสนับสนุนถวายสมเด็จในหลวงและองค์ราชดินี (ราชดินี เป็นคำเฉพาะที่หลวงปู่ชอบใช้เมื่อจะกล่าวถึงสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ) พึงเจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ สิ้นกาลนานเทอญ (ตรงตามโบราณาจารย์ท่านทั้งหลายกล่าวไว้ ปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้เป็นสุขทั่วหน้ากัน)
พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๑ หลวงปู่จำพรรษาอยู่ ณ ที่พักสงฆ์เย็นสุดใจ อำเภอหัวหิน และ พ.ศ. ๒๕๓๒ อยู่ ณ ที่พักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ ดอนเมือง ถึงแม้วัยของท่านจะสูงยิ่ง แต่หน้าที่อย่างหนึ่งซึ่งท่านไม่ยอมทิ้ง แต่จะปฏิบัติเป็นประจำก็คือ อบรมสั่งสอนพุทธบริษัททั้งหลาย ท่านว่า นี้เป็นหน้าที่ของพระเถระที่จะต้องดำเนินงานของศาสนา ไม่ว่าคืนนั้นท่านจะเพลิดเพลินทางธรรมภาวนาจนตลอดถึงรุ่งเช้าก็ตาม สังขารเหนื่อย หายใจหอบอย่างไรก็ตาม แต่เช้าของวันถัดมาท่านก็จะถือเอาหน้าที่การอบรมสั่งสอนมาปฏิบัติอยู่เสมอมิได้ขาด ท่านเขียนไว้ว่า
เรามีหน้าที่แผ่เมตตาจิตอย่างเต็มที่ อย่างสุขุม เพื่อให้เขาเห็นอานิสงส์ และเราได้สละชีวิตแผ่เมตตาสะท้อนให้เขาภาวนาดียิ่งขึ้นไป พ้นจากอบายภูมิทั้งสี่
ณ ที่สำนักสงฆ์หัวหิน ท่านปรารภว่า มาอยู่หัวหินในข่วงสุดท้ายของชีวิตนี้มีความสุขบริบูรณ์ทุกอย่าง พรั่งพร้อมทั้งพระ เณรที่ดูแลอุปัฏฐาก ตลอดจนญาติโยมทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต จากทั้งทางใกล้และทางไกล ก็ได้มาเยี่ยมนมัสการเสมอๆ ไม่ขาดระยะ แม้กระทั่งพระเถระผู้ใหญ่ อย่างหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน ก็ได้มาเยี่ยมท่านด้วย แต่การมาเยี่ยมของท่านพระอาจารย์ทั้งสององค์นั้น เป็นการมาอย่าง พิเศษ ซึ่งหลวงปู่ได้บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ว่า
ฝันเห็นท่านอาจารย์เทสก์กับท่านมหาบัวมาเยี่ยมเรา ท่านทั้งสองถามธรรมกันอย่างไพเราะ คล้ายๆ สอบเรา เราดีใจอยู่ในท่ามกลางท่านทั้งสอง ปรากฏท่านทั้งสองชมเชยเราดังนี้ นี้เป็นมงคลอย่างยิ่ง
พิจารณาการตาย เกิดสะกิดใจว่าจะต้องตายง่าย อายุไม่ยืนนาน บอกมาเรื่อยๆ เร่งความเพียรมากก่อนตาย เพื่อให้ชำนิชำนาญ เพื่อเข้าจิตสู้การตาย ข้อนี้สำคัญกว่าอย่างอื่น
ในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๓๒ ท่านรำพึงไว้ระหว่างพักอยู่ ณ ที่พักสงฆ์ ก.ม. ๒๗ ดอนเมือง ความว่า
แก่ ชรา มานานเท่าไร พึงภาวนาให้คุ้นเคยกับความตาย เพราะจะต้องตายอยู่แล้ว เตรียมตัวไว้ก่อนตาย รอรถ รอเรือ ที่จะต้องขึ้นไปสวรรค์พระนิพพาน หูยิ่งหนวกหนักเข้าทุกวัน ตายิ่งไม่เห็นหน ตีนเท้าอ่อนเพลีย หันไปหาความตายเสมอไป ถือภาวนาในไตรลักษณ์ ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา มีเกิดแล้วย่อมมีตาย เพราะโลกไม่เที่ยงอยู่แล้ว แปรปรวนไปต่าง ๆ สังขารเราบอกเช่นนั้น เที่ยงแต่พระนิพพานอย่างเดียว
สมถะกับวิปัสสนา เป็นธรรมมีอุปการะแก่พระเถระ และพระขีณาสวเจ้า แต่ต้นจนวาระสุดท้ายแห่งขันธ์ ต้องอาศัยสมถะและวิปัสสนา เป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่ระหว่างขันธ์และจิตที่อาศัยกันอยู่ จนกว่าขันธ์อันเป็นสมมติ และจิตอันวิสุทธิและวิมุตติจะเลิกลาจากกัน
ซึ่ง ขันธ์ และ จิต ของหลวงปู่ ก็ใกล้จะเลิกลาจากกันไปจริงๆ !
แสงตะวันที่กำลังจะอัสดงลับเหลี่ยมขุนเขา แมกไม้ หรือผืนน้ำ ย่อมจะเจิดจ้า ทอแสงจับขอบฟ้า เปล่งเป็นรังสีสะท้อนเป็นสีจ้าจับตา ดูงดงามยิ่งนัก บารมีธรรมในระยะเวลาช่วงหลังๆ นี้ของหลวงปู่ ก็เป็นประดุจ แสงตะวันลำสุดท้าย ที่ใกล้จะอัสดงเช่นกัน ให้ความอบอุ่นทางจิตใจ ให้แสงสว่างในทางธรรมแก่บรรดาพุทธศาสนิกชนทุกถ้วนหน้า ด้วยเมตตาธรรมอันสูงส่งของท่านอย่างมิมีประมาณ
(มีต่อ ๒๗) |
|
|
|
    |
 |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
18 ม.ค. 2007, 1:10 pm |
  |
๏ ตะวันลา...ลับแล้ว
กิจวัตรประจำวันของหลวงปู่ ระหว่างพักที่ที่พักสงฆ์เย็นสุดใจ หัวหิน ตามปกติท่านจะออกจากห้องเวลาประมาณ ๐๗.๓๐ น. แล้วเดินจงกรมอยู่ที่ระเบียงหน้ากุฏิเสมอ จนได้เวลาประมาณเกือบ ๐๘.๐๐ น. ท่านจึงจะลงมารับประเคนอาหาร แต่ในเช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ นั้น ท่านออกมาจากห้องก่อนเวลาตามปกติ คือท่านออกมาแต่เวลา ๐๗.๐๐ น. แล้วเรียกพระเณรที่อุปัฏฐากท่านให้เอายามาฉัน ฉันยาเสร็จแล้ว ท่านเรียกพระ ๒ รูป ที่เพิ่งกลับจากจังหวัดเลย คือ หลวงพ่ออมรและพระสมนึก มาขอนิสัยใหม่ อีกสักพักหนึ่งประมาณ ๑๐ นาทีต่อมา ท่านก็เรียกพระเณรที่อยู่และบวชใหม่ด้วย มาขอนิสัยอีกครั้ง ต่อจากนั้นท่านก็อบรมธรรมะโดยให้พระเณรนั่งภาวนาไปด้วย
เทศน์สั้นๆ ในเช้าวันนั้น ท่านเน้นหนักในเรื่องของจิต คือให้ดูจิตของตัวเอง ภาวนาให้จิตสงบ มัธยัสถ์ปัจจุบัน ม้างกายให้มาก เพราะกรุงเทพฯ มีสีสันมาก ม้างกายจะช่วยให้หมดความกำหนัด ระหว่างที่ท่านให้พระเณรนั่งภาวนาต่อ ท่านก็ลุกไปเดินจงกรม จนกระทั่งถึงเวลาฉันเช้า เวลาประมาณ ๐๗.๕๐ น. ท่านจึงลงมาที่ฉันข้างล่าง
เช้าวันอาทิตย์นี้ หลวงปู่มีอารมณ์ร่าเริงแจ่มใส ซึ่งเป็นปกติของท่าน ท่านทักทายญาติโยมที่มารอถวายจังหันอย่างอารมณ์ดี แต่คำพูดของท่านในวันนี้ปรารภถึงความตายบ่อยครั้ง จนคนฟังรู้สึกสะดุดใจ แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ด้วยคิดว่าท่านคงจะเตือนให้ทุกคนระลึกถึงมรณานุสติให้มากเข้าเท่านั้น บังเอิญอาทิตย์นี้มีศรัทธาญาติโยมมาทำบุญมากพอสมควร และมีบางคน บางท่าน ได้กราบเรียนท่านว่า ระหว่างไปตลาดพบเขาขายปลา เต่า และกบ ให้คนซื้อไปทำอาหาร จึงได้ซื้อมาถวายให้หลวงปู่ปล่อยในวัด เป็นการช่วยชีวิตสัตว์เหล่านั้นให้ยืนยาวไป หลวงปู่รับฟังแล้วก็ยิ้ม ชมว่า ดี ท่านรับประทานอาหารตามปกติ ฉันอาหารได้มากพอสมควร ไม่เป็นที่สังหรณ์ใจต่อพระเณรที่อุปัฏฐากนัก พอพระเณรฉันจังหันเสร็จเรียบร้อย ท่านก็ให้โยมที่ซื้อเต่า ปลา และกบมาปล่อยนั้น นำสัตว์เหล่านั้นไปปล่อยในวัด แล้วให้พระเณรสวดชยันโตด้วย เสร็จแล้วท่านก็อธิบายกับโยมถึงอานิสงส์ของการช่วยชีวิตสัตว์โดยเฉพาะเป็นสัตว์ที่เขาจะนำไปฆ่า ว่ามีอานิสงส์มาก
กล่าวคือทำให้อายุยืนหนึ่ง ไม่ติดคุกติดตะรางหนึ่ง ถึงแม้จะตกทุกข์ได้ยากก็มีคนช่วยเหลือ
หลังจากนั้น ท่านก็คุยกับญาติโยมต่อไปตามปกติ แต่มีพิเศษอีก คือท่านบอกลาด้วยว่า ท่านคงจะอยู่กับลูกศิษย์ไม่ได้นาน จึงขอลาล่วงหน้าไว้ก่อน เดี๋ยวจะหาว่า หลวงปู่หลุยไม่ลาลูกศิษย์ลูกหาเลยนะ
บรรดาลูกศิษย์ก็ยังไม่เฉลียวใจ ว่านั่นเป็นการบอกลาของท่าน แต่ก็ตามปกตินิสัยที่จะต้องรีบนิมนต์ท่านไว้เป็นการปลอดภัยไว้ก่อน จึงรีบเขียนท่านกันอย่างระเบ็งเซ็งแซ่ว่า ขอให้หลวงปู่อยู่นานๆ ท่านตอบว่า ไม่ได้ สังขารมัน ไม่เที่ยง เอาแน่ ไม่ได้
บางคนมีโอกาสเรียนถามท่านเรื่องการปฏิบัติภาวนา ท่านก็เมตตาตอบแนะนำให้ ได้เวลาที่หมอขอให้พัก ท่านก็ขึ้นห้อง พระเณรอุปัฏฐากขึ้นไปทำกิจวัตรประจำวันที่ห้องหลวงปู่ เตรียมเครื่องใช้ต่างๆ ถวายท่าน ของใดควรตั้งที่ใด ให้ท่านหยิบง่ายฉวยง่าย ของใดควรประเคนยังไม่ได้ประเคน ก็ต่างจัดทำถวาย เพราะเวลานี้เป็นเวลาพักผ่อนของท่าน ท่านจะอยู่ตามลำพังองค์เดียว ในช่วงเวลาระยะหลังท่านมักจะจำวัดในเวลากลางวัน แต่ตื่นทำความเพียรกลางคืนตลอดคืน ด้วยเป็นเวลาสงัดเงียบดี อย่างไรก็ดี สำหรับเวลากลางวันที่กำหนดในระยะช่วงเวลาหลังว่าจะเป็นเวลาจำวัดนั้น บางทีก็กลายเป็นเวลาภาวนาของท่าน หรือเป็นเวลาอ่านหนังสือ บันทึกหัวข้อธรรมะต่างๆ ที่ผุดขึ้นมาหลังจากที่ท่านเข้าที่พิจารณาไปก็ได้
ทำกิจวัตรประจำวันถวายท่านเสร็จแล้ว พระเณรปฏิบัติท่านก็ออกจากห้องหลวงปู่มา ต่อมาอีกประมาณ ๑๐ นาที ท่านก็จากห้องมาเดินจงกรม จนถึงเวลาประมาณ ๑๑.๐๐ น. ท่านก็เข้าห้องอีก
เวลา ๑๒.๐๐ น. ท่านออกจากห้องมานั่งตากอากาศ โดยมีหนังสือธรรมะติดองค์มาด้วย ท่านอ่านหนังสือธรรมะพักหนึ่ง แล้วก็เดินจงกรม เวลาประมาณ ๑๒.๓๐ น. ท่านก็กลับเข้าห้องพัก
เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. ท่านออกมาเรียกพระอุปัฏฐากขึ้นไปพบปรารภให้ฟังว่า ท่าน ไม่ได้พักเลย รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก รู้สึกว่าลมมันตีขึ้นเบื้องบน ท่านบ่นว่า หรือเป็นเพราะว่า อาหารไม่ย่อย
แล้วท่านก็บอกให้ช่วยนวดขา เผื่อว่าลมมันจะได้วิ่งลงข้างล่าง อาการอาจจะดีขึ้น
นวดขาได้สักพักหนึ่ง ท่านก็บอกให้พอ เพราะ อาการดีขึ้นแล้ว หายแล้ว พอดีมีลูกศิษย์จากกรุงเทพฯ คณะหนึ่งเพิ่งมาถึง ท่านเห็นก็เรียกให้ขึ้นไปกราบท่าน โดยท่านทักทายเป็นอันดี
อ้อ...มาน้อ ใครบอกให้มา ดูหน้าหลวงปู่ไว้นะ และก็จำไว้ เดี๋ยวจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว
ลูกศิษย์เรียนท่านว่า หลวงปู่ไม่เป็นไรหรอก ขอนิมนต์หลวงปู่อยู่นานๆ พระอุปัฏฐากท่านก็เสริมว่า หลวงปู่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เป็นไรหรอก หลวงปู่ยังอยู่อีกนาน ขอนิมนต์หลวงปู่อยู่ถึง ๑๐๐ ปี
ท่านตอบว่า ไม่ได้หรอก ฝืนสังขารไม่ได้หรอก ข้างนอกมันดี แต่ข้างในมันเสียหมด เหมือนกับเกวียนไม้ไผ่ที่ใช้มานานแล้ว ย่อมขำรุดเป็นธรรมดา
คุยธรรมะต่อไปอีกพักหนึ่ง พระปฏิบัติก็ขอให้โยมทำน้ำปานะถวายหลวงปู่เพราะกลัวท่านจะท้องผูก
เวลา ๑๔.๐๐ น. พระปฏิบัติตรวจน้ำตาลเป็นปกติแล้ว ถวายน้ำปานะท่านฉันแล้ว ก็นิมนต์ให้ท่านกลับเข้าห้องพักผ่อน
เวลา ๑๕.๐๐ น. ท่านเรียกพระอุปัฏฐากขึ้นไปพบ แล้วปรารภให้ฟังว่า วันนี้เป็นอย่างไรไม่ทราบ นอนไม่ได้เลย พอเอนกายลงจะไม่สบาย เวลานั่งพิงหรือเดินจงกรมค่อยยังชั่วหน่อย
พระอุปัฏฐากเสนอขอนวดเส้นถวาย ท่านตกลงยินยอม แต่สุดท้ายท่านกลับบอกให้ขึ้นเหยียบ เหยียบแต่ปลายเท้าขึ้นไปจนถึงเอว กลับไปกลับมาหลายเที่ยว แล้วก็นวดเส้นต่อ บีบตรงต้นคอ หลัง ประมาณ ๑๐ นาที ท่านก็ให้หยุด บอกว่า ดีขึ้นมาก หายแล้ว !
เพ้อให้ท่านหายแน่น และหายใจคล่องขึ้น จึงถวายยาหอมให้ท่านฉัน ท่านอนุญาตให้พระอุปัฏฐากออกมาได้ เพื่อท่านจะเข้าที่
เวลา ๑๖.๐๐ น. ท่านออกจากห้องมายืนตรงราวลูกกรง ระหว่างนั้นพระเณรกำลังมารวมกันอยู่ที่ลานข้างล่าง ด้วยเป็นเวลาฉันน้ำร้อน น้ำปานะ พอดีพระอุปัฏฐากเดินผ่านไป ท่านก็กวักมือเรียกให้ไปพบ บอกว่า
เร็วๆ มัน...มันหายใจไม่ออก มาช่วยนวดหน่อย
พระเณรทั้งหมดก็เลยรีบขึ้นไปข้างบนกันหมดทุกองค์ บังเอิญท่านพระอาจารย์อุทัย สิริธโร จากวัดป่าถ้ำพระ อ.เซกา จ.หนองคาย พาญาติโยมจะมากราบหลวงปู่ มาถึงพอดี จึงได้ขึ้นไปด้วย
หลวงปู่ไปนั่งที่เก้าอี้ มีพระเณรช่วยกันกุลีกุจอนวดกันสักพักหนึ่ง ท่านก็ลืมตาขึ้น บอกว่า ดีขึ้น หายแล้ว...หายแล้ว เลยช่วยกันจัดที่นอนถวายท่าน ให้ท่านนอนพักก่อน
ระหว่างนั้นขอนิมนต์ท่านไปโรงพยาบาล ท่านไม่รับ บอกว่า หมอก็ช่วยไม่ได้ ขอตายที่หัวหิน ไม่เข้ากรุงเทพฯ ดอก สถานที่ไม่สงบเลย เราจะเข้าจิตไม่ทัน
เมื่อท่านไม่ยอมไปโรงพยาบาล ท่านอาจารย์อุทัยซึ่งเป็นประธานสงฆ์ในขณะนั้น เห็นด้วยที่จะให้ไปตามแพทย์มาดูอาการของท่าน เพราะขณะนี้แม้ท่านจะบอกว่า ดีขึ้น หายแล้ว...หายแล้ว แต่ก็ไม่น่าไว้วางใจ ด้วยอาการมีกำเริบเป็นระยะๆ ท่านอาจารย์อุทัยถามว่า หลวงปู่เคยมีอาการแบบนี้บ้างไหม พระปฏิบัติเรียนท่านว่า เคยมี บางครั้งโรคของท่านกำเริบขึ้นจนถึงกับเหงื่อแตกก็ยังเคยมี
เวลาประมาณเกือบ ๑๘.๐๐ น. นายแพทย์จึงมาถึง เพราะเป็นวันหยุดวันอาทิตย์ จึงตามนายแพทย์ได้ยากกว่าปกติ หมอตรวจท่านพลางถามอาการ หลวงปู่บอกหมอว่า ท่านนอนไม่หลับมา ๒ วันแล้ว แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกเลย หมอตรวจอาการแล้วบอกว่า อาการโรคหัวใจกำเริบ ทั้งอาหารไม่ย่อยด้วย ท่านตอบว่า แม่นแล้ว หมอฉีดยาบำรุงหัวใจถวาย ๑ เข็ม พร้อมทั้งให้ยาระบายด้วย เพราะท่านบอกว่าท้องผูก
ประมาณ ๑๘.๒๐ น. หมอรอดูอาการอยู่ระยะหนึ่ง เห็นอาการดีขึ้นจึงให้สวนท้อง แล้วหมอก็กลับไป หลวงปู่เข้าที่พักเงียบ บอกไม่ให้ทุกคนกวน ท่านจะอยู่คนเดียวในห้อง พระเณรทุกองค์จึงออกมาจากห้องด้วยความเคารพในคำสั่งของท่าน แต่ก็เฝ้ารอกันอยู่ที่หน้าห้องทุกองค์ด้วยความเป็นห่วง
ราวสองทุ่มครึ่ง อาการกำเริบขึ้นอีก พระอุปัฏฐากจึงให้ใยมออกไปตามแพทย์อีกครั้งหนึ่ง นายแพทย์มาถึง ปรากฏว่าหลวงปู่กำลังพัก หมอจึงสั่งว่าถ้าอาการของท่านไม่ดีขึ้น ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
เวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. ท่านออกมาจากห้องพัก เรียกพระเข้าไปปรารภอาการให้ฟังว่า แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกเลย เอ...ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ แปลกจัง แต่...แม้ ท่านพูดเสียงดัง ใบหน้ายังยิ้มแย้ม ถ้าตายตอนนี้ก็ดีนะ
พระเณรรุมกันเข้าไปในห้องทั้งหมด ท่านบอกธาตุขันธ์จะไม่ไหวแล้ว ขอแสดงอาบัติ พระปฏิบัติช่วยท่านครองผ้า เฉวียงบ่า แล้วประคองท่าน ท่านบอกว่า ขอแสดงอาบัติ และบอกบริสุทธิ์ต่อท่ามกลางสงฆ์
เสียงที่ท่านแสดงอาบัติและบอกบริสุทธิ์นั้นแจ่มใสยิ่งนัก แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า เวลาต่อไปอีกไม่ถึง ๓ ชั่วโมง ท่านก็จะจากทุกคนไป ครั้นแล้วพระเณรก็ช่วยกันประคองท่านนั่งบนเก้าอี้
หลวงปู่กำหนดจิตต่อสักพักหนึ่ง ใบหน้าของท่านก้มนิดๆ เอียงในท่าอันสงบเย็นอย่างที่ท่านปฏิบัติเป็นอาจิณเมื่อเข้าที่ภาวนา
อดไม่ได้ที่จะนึกถึงคำเทศนาของหลวงปู่เอง ที่เคยสอนศิษย์ แลดูท่านผู้บริสุทธิ์ด้วยศีลก็ดี ด้วยสมาธิก็ดี บริสุทธิ์ด้วยปัญญาก็ดี ผู้แลดูนั้น เรียกว่า ทัศนานุตริยะ เห็นอย่างเยี่ยม ดูไม่เบื่อ ยิ่งดูยิ่งปลื้มใจ
ถูกแล้ว แม้แต่ในเวลาที่ท่านกำลังจะละขันธ์ มีพระยามัจจุราชผู้มีเสนามารเป็นใหญ่ กำลังมารออยู่แล้ว เมื่อเราทอดตา แลดูท่าน
ก็เป็น ทัศนานุตริยะ เห็นอย่างเยี่ยม เห็นอย่างยอด ดูไม่เบื่อ ดูไม่จืดจาง ยิ่งดูยิ่งปลื้มใจ จริงแท้ !
ท่านลืมตาขึ้น นัยน์ตาใสกระจ่าง บอกพระเณรที่นั่งใจหายใจคว่ำอยู่โดยรอบ ว่า
หายแล้ว...หายแล้ว หายเหมือนปลิดทิ้ง ! ความจริง ถ้าตายตอนนี้ก็ดี ได้ตายในท่ามกลางสงฆ์ ภูมิใจมาก ท่านกล่าวเสียงดัง แม้...ได้ตายตอนนี้ดีทีเดียว
พระเณรขอให้ท่านหยุดพูด ด้วยเกรงท่านจะเหนื่อย ขอให้พักผ่อนก่อนเพราะดึกแล้ว และกลางวันท่านก็ไม่ได้พักเลย
ท่านเอ็ดเสียงดัง ไม่ได้ๆ ไม่พูดได้ยังไง เผื่อมีลูกศิษย์ลูกหาเขาถามท่านอาจารย์หลุยเป็นอะไร พวกท่านจะตอบญาติโยมไม่ได้ ก่อนท่านอาจารย์หลุยจะตาย ท่านพูดว่ายังไง มีอาการอย่างไรบ้าง นั่งเป็นอย่างไรบ้าง นอนเป็นอย่างไรบ้าง เอียงไปทางไหน ก็จะได้ตอบเขาได้ถูก แม้...ไม่พูด แล้วพวกท่านจะตอบเขายังไง
ท่านพระอาจารย์อุทัย รีบกราบเรียนท่าน หลวงปู่ไม่ตายหรอก !
ท่านหันมาหาท่านพระอาจารย์อุทัย ไม่ตายได้ยังไง เมื่อกี้ผมเกือบตายแล้ว หายใจไม่ออก เหมือนใจจะขาด เหมือนมีอะไรมาปกคลุมอยู่ทั่ว ดูมืดไปหมด มองอะไรไม่เห็นเลย กำหนดจิตตามมันทัน มันก็เลยคืนมา ท่านนิ่งไปชั่วอึดใจหนึ่ง ก็เล่าต่อ
กำหนดดูธาตุขันธ์ เนื้อหนังมันทำงาน...มันดิ้น...มันเต้น หัวใจมันทำงาน เห็นมันเต้น ตุ๊บ...ตุ๊บ ธาตุขันธ์จะเอาไม่ไหวแล้ว ต้องกำหนดจิตอย่างเดียว ตอนเมื่อกี้ กำหนดจิต ถึงคืนมา ม้างกาย จนมันสว่างโร่ขึ้น หายเหมือนปลิดทิ้งเลย
ท่านพระอาจารย์อุทัยกราบเรียนอีก จิตหลวงปู่ไม่ตายหรอกครับ ที่มันจะตายน่ะ ธาตุขันธ์ดอก
หลวงปู่พยักหน้านิดๆ ยิ้มรับ กล่าวว่า
อย่างที่ท่านอาจารย์อุทัยพูดก็จริงอยู่หรอก ที่ว่าจะตายแต่ธาตุขันธ์ จิตไม่ตาย แต่ทุกวันนี้มันก็เหมือนเกวียนไม้ไผ่ที่ใช้กันมานานแล้ว
พระเณรช่วยกันนวดท่าน ด้วยท่านเคยปรารภให้ฟังหลายครั้งว่าการนวดเส้นนั้นมีประโยชน์มาก นวดไล่ลมให้ค่อยยังชั่วขึ้น แต่ประการสำคัญที่สุดนั้นระหว่าง การคั้นเอ็น....สำนวนของท่าน หมายถึง การนวดเส้น เมื่อท่านกำหนดจิตตามจะมองเห็นเส้นเอ็น กระจก อวัยวะภายในของท่านอย่างทะลุปรุโปร่ง เป็นการ ม้างกาย ทำปฏิภาคนิมิต และทำเป็นธรรมโอสถให้โรคภัยหายได้
นวดได้ระยะหนึ่ง ท่านก็บอกให้พระเณรหยุด แล้วปรารภธรรมให้ฟังอีก ดูเหมือนจะเป็นปัจฉิมโอวาทในเรื่อง ม้างกาย ของท่านจริงๆ โดยครั้งนี้ท่านได้นำกายของท่านออก ม้าง ให้ฟังเป็นตัวอย่าง รวมถึงภาพการที่เวลา ธาตุมันจะตีลังกาเปลี่ยนภพ ดังที่ท่านเทศน์เสมอๆ
สังขารของเรา ตอนนี้มันเหมือนเนื้อที่ถูกเขาฆ่าแล้ว นำไปแขวนบนตะขอ แต่เนื้อมันยังไม่ตาย มันยังดิ้นทรมานอยู่ ก้อนเนื้อที่มันดิ้นมันเต้นนั้น เหมือนเนื้อวัวที่เขาปาดออกมาใหม่ๆ มันเต้น...ตุ๊บ ตุ๊บ ยังไงยังงั้น
ท่านเปรียบให้ฟังในเรื่อง ภาคปฏิบัติ ของการ ม้างกาย ไม่ใช่เพียงแค่ ภาคทฤษฎี ที่เรียนมา ตอนที่เนื้อแยกออกจากเอ็น ออกจากกระดูก
ท่านแจกให้ฟังเป็นส่วนๆ แล้วก็บ่นอีก ถ้าตายตอนนี้ก็ดีที่ตายท่ามกลางสงฆ์ เสียดายมันหายเสียแล้ว เอ...ทำไมมันจึงหาย หายเหมือนปลิดทิ้งเลย
ท่านกล่าวต่อไปโดยไม่ทิ้งช่วงให้พระเณรองค์ใดขัดจังหวะ ขอโอกาสให้ท่านพักเลย
สังขารเราขณะนี้เหมือนพระจักขุบาลบำเพ็ญความเพียรมาตลอดสามเดือน เราเหมือนกับเกวียนทำด้วยไม้ไผ่ที่ใช้มานานแล้วจะต้องผุพังลง
แม้ท่านจะปฏิญาณปลงอายุสังขารแล้ว แต่หน้าท่านก็กลับแช่มชื่นผ่องใสอย่างประหลาด ท่านทอดสายตามองกวาดไปตามประดาหน้าของศิษย์ทุกองค์ แล้วปรารภปัจฉิมเทศนาในเรื่องการทำจิตให้ฟังโดยทั่วกัน
การภาวนาหรือทำจิต ให้ดูอาการของจิต ก่อนตาย อย่าไปตามดูอาการของเวทนา ให้ดูจิตอย่างเดียว เอาจิตอย่างเดียว เวลาธาตุจะตีลังกาเปลี่ยนภพจิตจะออกจากร่าง พิจารณาตามจิต จะเห็นว่าจิตจะออกจากร่างอย่างไร ไปอย่างไรจิตจะเข้าๆ ออกๆ อย่างไร มืดๆ สว่างๆ อย่างไร จิตจะเข้าๆ ออกๆ มืดๆ สว่างๆ อย่างนั้น เหนื่อยหอบมาก กำหนดตามจิตคืน เห็นอาการของจิตชัด ถ้าเอาไม่ทันก็ไปเลย ท่านย้ำว่า อย่าไปตามดูอาการของเวทนา ให้ดูจิตอย่างเดียว
พระเณรนิ่งฟังด้วยความอัศจรรย์ใจที่เห็นท่านยังแสดงความองอาจแกล้วกล้าต่อมรณภัยที่กำลังคุกคาม ท่านเทศน์เสียงดัง มีใบหน้าอิ่มเอิบด้วยรอยเมตตาไม่มีใครกล้าซักถามประการใด และไม่มีใครกล้าทัดทานไม่ให้ท่านเทศน์ด้วย แม้จะเกรงสักเพียงใดว่า ท่านจะเหนื่อยหอบ ทำให้อาการทรุดลง
เมตตาของหลวงปู่ ไม่มีประมาณจริงๆ เป็นอกาลิโก ไม่อ้างกาล ไม่อ้างเวลา เวลาสบายจึงจะเทศน์ เวลาไม่สบาย...ก็ยังไม่เทศน์...กระนั้นหรือ ?
หามิได้...ไม่ใช่เช่นนั้น
ธรรมะของท่านหลั่งไหลออกมา แม้แต่เวลาที่ท่านกำลังอาพาธอย่างหนัก...อาพาธครั้งสุดท้ายที่จะละขันธ์ !
โอ้...เมตตาธิคุณของทาน...กรุณาธิคุณของท่าน
พระเณรเริ่มน้ำตาซึม ปลงธรรมสังเวช นิมนต์ให้ท่านพักก่อน และขอโอกาสนิมนต์ท่านไปโรงพยาบาล
ท่านยอมเข้าห้องพัก แต่เรื่องโรงพยาบาลท่านไม่ยอม ไม่ไปหรอก หากอาหารหนักจริงๆ หมอก็รักษาไม่ได้ นอกจากเราจะพึงตัวเองเท่านั้น
พระเณรกราบเรียนชี้แจงว่า ทุกคนเป็นห่วงหลวงปู่ อยากจะขอให้หลวงปู่ ไปเช็คร่างกายเท่านั้น ที่โรงพยาบาลหัวหินนี้ก็ได้ ท่านก็ปฏิเสธอีก
เวลาประมาณ ๒๓.๓๐ น. อาการของท่านกลับหนักขึ้นอีก ท่านออกมาบอกว่า กลับแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยออกอีกแล้ว เห็นจะประคองธาตุขันธ์ต่อไปไม่ไหว คงจะต้องปล่อยวางแล้ว...เอาจิตอย่างเดียว
พระเณรอันมีท่านพระอาจารย์อุทัย สิริธโร และท่านพระอาจารย์เลิศ เขมิโย เป็นหัวหน้า จึงปรึกษากันว่า หลวงปู่เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ เป็นที่เคารพสักการะของคนทั้งประเทศ แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ก็ทรงมีพระราชศรัทธาปสาทาธิการในท่าน ทรงสดับธรรมโอวาทของหลวงปู่ ถวายพระบรมราชานุเคราะห์ตามพระราชวโรกาสอันควรเนืองๆ แม้การสร้างขยายที่พักสงฆ์ที่หัวหินนี้ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ถวายหลวงปู่เพื่อการนี้ด้วย หากหลวงปู่เป็นอะไรไป โดยคณะสงฆ์ผู้เป็นศิษย์มิได้พยายามติดต่อโรงพยาบาลเพื่อการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ ก็จะเป็นที่ติเตียนได้ จึงกราบขอโอกาสเรียนชี้แจงเหตุผลเหล่านี้ อย่างน้อยไปที่โรงพยาบาลหัวหินก็ได้ เครื่องมือแพทย์ก็มีครบครัน และแพทย์จะได้ดูแลอย่างใกล้ชิด
หลวงปู่เอาแต่จิตนั้นดีแล้ว แต่ธาตุขันธ์ขอให้ปล่อยวางให้หมอเขาดูแลเถิดและ ถ้าหลวงปู่เป็นอะไรไป จะลำบากพวกกระผม
จะลำบากพวกกระผม ! เหตุผลข้อหลังนี้เอง ทำให้หลวงปู่นิ่งไป ท่านคงเห็นใจพระเณรผู้ปฏิบัติอย่างยิ่ง สุดท้ายท่านจึงยอมออกปากว่า สุดแล้วแต่พวกท่านจะจัดการ
เมื่อพยุงท่านมานั่งรถเข็นนั้น ท่านยังมีสติกล่าวอย่างเมตตาต่อไปว่า ท่านทราบดีว่า พระเณรทุกๆ องค์เป็นห่วงท่าน ช่วยอุปัฏฐากท่านมาอย่างดีตลอดมาท่านขอขอบใจอย่างยิ่ง การอยู่ด้วยกันอาจจะมีการกระทบกระทั่ง พลาดพลั้งไปด้วยกาย วาจา หรือใจ ตามวิสัยของครูบาอาจารย์และศิษย์ แต่ก็เป็นไปด้วยความเมตตาปรารถนาดีต่อกัน หากองค์ท่านเองได้ล่วงเกินท่านทั้งหลายองค์ใดไป ก็ขออโหสิกรรมด้วย และหากท่านทั้งหลายองค์ใดได้ล่วงเกินองค์ท่าน จะด้วยตั้งใจก็ตาม หรือไม่ตั้งใจก็ตาม หลวงปู่ก็ขออโหสิกรรมให้ทุกประการ
เป็นมธุรสวาจาที่ไพเราะนัก ที่อ่อนโยนนัก และเปี่ยมด้วยความเมตตาอย่างยิ่ง วาระนั้นผู้ได้ฟังอดมิได้ที่จะระลึกถึงคำเทศนาของท่าน ซึ่งยามใดที่ท่านพรรณนาถึงความที่สมเด็จพระพุทธองค์ทรงเมตตา ท่านจะกล่าวว่า เป็นความที่ แย้มออกมาจากน้ำพระทัยของพระองค์ เป็นพระมหากรุณายิ่ง
ฉะนั้น ในวาระนี้คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ความเมตตา...แย้มมาจาก น้ำใจอันเต็มไปด้วยมหากรุณายิ่ง ของท่านโดยแท้ ด้วยท่านทราบฐานะอันแท้จริงของท่านดีว่า ท่านเป็นผู้ซึ่งไม่มีบุญไม่มีบาปจะต้องคำนึงถึงแล้ว กรรมใดไม่มีโอกาสจะแผ้วพานดวงจิตท่านได้แล้ว อโหสิกรรมสำหรับท่านจึงไม่จำเป็น แต่สำหรับพระหนุ่มเณรน้อยผู้ใกล้ชิดปฏิบัติท่าน อาจจะมีการพลั้งพลาดทางกาย หรือวาจา หรือใจได้ หากมิได้มีการขออโหสิกรรม ก็จะเป็นบาปอันมหันต์ ที่ล่วงเกินท่านผู้ทรงศีลและครองจิตอันวิสุทธิ์ จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ท่านจึงได้กล่าวการอโหสิกรรมทั้ง ๒ ฝ่าย ซึ่งดูเผินๆ อาจจะคิดว่าท่านกล่าวตามธรรมเนียมนิยม แต่แท้ที่จริง เป็นความกรุณาอย่างลึกซึ้งยิ่งของท่าน
และยิ่งคำนึงถึงว่า ขณะที่ท่านทุกองค์ ผู้ซึ่งธาตุขันธ์ปกติ ร่างกายไม่ป่วยเจ็บ สมบูรณ์ทุกประการ มีภาระการคิดอยู่เพียงอย่างเดียว จะรักษาพยาบาลครูบาอาจารย์...ก็ยังไม่ทันนึกได้ถึงการทำวัตร ขอขมา ขออโหสิกรรมต่อท่าน จนองค์ท่านต้องเมตตาให้อธิบายกล่าวนำขึ้น ทั้งๆ ที่ท่านเองก็กำลังแบกภาระอันเป็นทุกข์ยิ่งของขันธ์ ๕ ไว้อย่างหนักหน่วง
แต่ท่านก็มีเมตตา มีความคิดอันกว้างไกล นึกถึงศิษย์...กรุณาศิษย์อย่างเมตตายิ่ง รำลึกได้เช่นนั้น พระเณรทุกองค์จึงอดน้ำตาคลอด้วยความตื้นตันใจมิได้...ทั้งเคารพรักท่าน ทั้งเทิดทูนบูชาท่าน ทั้งสงสารท่าน หลายองค์ถึงกับสะอื้นออกมา มีเฉพาะพระเถระเท่านั้นที่ท่านจะแสดงธรรมสังเวช เข้าใจว่าทุกองค์ท่านคงจะซึ้งใจในบัดนั้นเอง เมื่อระลึกขึ้นได้ว่า ในวาระที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานนั้น พระอานนท์ผู้เป็นพุทธอุปัฏฐากได้หนีไปสู่วิหารเหนี่ยวสลักเพชร (หัวลิ่มประตูทำรูปเป็นศีรษะวานร) ยืนร้องไห้อยู่
โอ้...พระองค์ผู้ทรงเป็นร่มฉัตร แผ่บารมีไปทั่วไตรภพ ที่ท่านพระอานนท์เคยถวายการปรนนิบัติรับใช้อุปัฏฐากมาช้านาน จะเสด็จดับขันธ์เข้าส่ปรินิพพานแล้วกระนั้นหรือ !
สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบ ก็ตรัสเรียกให้เข้าเฝ้าตรัสปลอบใจ เป็นธรรมดาที่จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไป จะปรารถนาให้สิ่งที่มีความทรุดโทรมเป็นธรรมดา มิให้ทรุดโทรม ย่อมเป็นไปไม่ได้ แล้วตรัสสรรเสริญการอุปัฏฐากของพระอานนท์ ที่เมตตาทั้งกาย วาจา และใจต่อพระองค์ตลอดมา โดยมิได้คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า จัดเป็นบุญกุศลอันเลิศ ต่อนี้ไปขอให้พระอานนท์เร่งตั้งความเพียรเถิด จะเป็นผู้สิ้นอาสวะโดยพลัน ตามรอยบาทสมเด็จพระบรมศาสดา !
ต่อนี้ไป ขอให้ท่านทุกองค์เร่งตั้งความเพียร จะได้เป็นผู้ประจักษ์ในธรรม ตามรอยที่ครูบาอาจารย์พาดำเนินมา ความในประโยคหลังนี้ แม้หลวงปู่จะมิได้เอ่ยออกมาเป็นวาจา แต่สายตาของท่านก็ดูประหนึ่งจะกล่าวเช่นนั้น
ขอให้เร่งทำความเพียร ทุกๆ คนที่อยู่ร่วมกัน สามัดูดีกันกลมเกลียวกัน
เป็นปัจฉิมโอวาท โอวาทครั้งสุดท้ายที่ท่านมอบให้คณะสงฆ์ผู้เป็นสานุศิษย์ แล้วพระปฏิบัติก็ประคองท่านขึ้นรถ ออกเดินทางไปโรงพยาบาล
ถนนขรุขระ รถจึงค่อยๆ คลานไปอย่างช้าๆ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนองค์ท่าน กระนั้นท่านยังบอกให้รถจอดพักหลายระยะ ด้วยมีอาการกำเริบ เจ็บหน้าอก
หยุดก่อน ขอทำจิตก่อน
รถกระเทือน ไม่สะดวก ไม่สงบต่อการกำหนดจิต
เป็นคำพูดที่ท่านกล่าวระหว่างนั้น
ทางโรงพยาบาลเตรียมการไว้พร้อมแล้ว เมื่อท่านไปถึง ทางนายแพทย์ก็รีบให้การรักษาทันที โดยให้ออกซิเจน ให้น้ำเกลือ และฉีดยา ทำให้รู้สึกว่าอาการของท่านดีขึ้น
พระอุปัฏฐากจึงปรึกษากับแพทย์ว่าสมควรจะนำท่านมารับการรักษาต่อที่กรุงเทพฯหรือไม่ เนื่องด้วยระยะทางไกลมาก แพทย์กล่าวว่า อาจจะกระทำได้โดยทางโรงพยาบาลจะจัดแพทย์ดูแลไปด้วยในรถพยาบาล แต่ควรต้องแวะพักตามโรงพยาบาลรายทางเป็นระยะๆ ไปก่อน เพราะยังไม่เหมาะที่จะเดินทางรวดเดียว
เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อม รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ฉุกเฉินในรถพยาบาลการเดินทางออกจากโรงพยาบาลก็เริ่มต้น ซึ่งเป็นเวลาล่วงเข้ามาสู่วันใหม่แล้วประมาณครึ่งชั่วโมง ตอนขึ้นรถ ท่านบ่นปวดสันหลัง นั่งไม่ได้ นอนก็เจ็บอยู่ เลยจัดให้ท่านนั่งพิงไป ท่านบอกอยากให้เอาออกซิเจนออก แต่แพทย์เกรงจะเป็นอันตรายจึงไม่ยอม
รถพยาบาลออกเดินทางมาถึงเพียงประตูโรงพยาบาล ท่านก็ขยับตัวไปมาบ่นทั้งแน่นหน้าอกและปวดสันหลัง เอาขันธ์ไว้ไม่ไหวแล้ว สิ้นคำท่านก็มีอาการตัวอ่อนแน่นิ่งไป แพทย์ที่มาในรถพยาบาลดูสายออกซิเจนและน้ำเกลือ แล้วสั่งให้ย้อนรถกลับเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง ทำการปั๊มหัวใจ ดูดเสมหะ อาการไม่ดีขึ้น หมอพยายามปั๊มหัวใจจนสุดความสามารถแต่ไม่เป็นผล ในที่สุดแพทย์ก็บอกว่า หลวงปู่จากไปแล้ว
เวลานั้นเป็นเวลา ๐๐.๔๓ น. ของคืนวันที่ ๒๔ ธันวาคม หรือล่วงเข้าสู่วันจันทร์ที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ มาแล้ว ๔๓ นาที
พระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย จันทะสาโร ได้มรณภาพแล้ว
ผ่าน...ปัจฉิมวาร...วันสุดท้าย
สู่...ปัจฉิมกาล...เวลาสุดท้าย
โดยให้...ปัจฉิมโอวาท...โอวาทคำรบสุดท้าย
และ เปล่ง...ปัจฉิมวาจา...วาจาครั้งสุดท้าย...
ท่านผู้เป็นประดุจดวงประทีป ซึ่งโปรยปรายสายธรรมให้แก่มหาชนทั้งประเทศมาช้านานกว่าหกสิบห้าวัสสา
...ไม่แต่ภาคอีสาน ไม่แต่ภาคกลาง
...ไม่แต่ภาคเหนือ ไม่แต่ภาคใต้
...ไม่แต่ภาคตะวันออก ไม่แต่ภาคตะวันตก
ท่านธุดงค์โปรดไปเรื่อยๆ
บัดนี้ ท่านได้ลาลับดับขันธ์ไปแล้ว
(มีต่อ ๒๘) |
|
|
|
    |
 |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
18 ม.ค. 2007, 1:21 pm |
  |
จันทสาโรนุสรณ์ ประดิษฐาน ณ วัดถ้ำผาบิ้ง
บ้านนาแก ต.นาแก อ.วังสะพุง จ.เลย
๏ ตะวันลา...ลับไปแล้ว
น้ำตาของหลายท่านหลายองค์พรั่งพรูออกมา เสียงสะอื้นดังขึ้นอย่างไม่อาจจะหักห้ามได้
ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ๕ เป็นภาระแล
ภารหาโร จ ปุคฺคโล แต่บุคคลก็ยังยึดถือภาระไว้
ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก การถือเอาภาระเป็นทุกข์ในโลก
ภารนิกฺเขปนํ สุขํ การปล่อยวางภาระเสียเป็นสุข
นิกฺขิปิตฺวา ครํ ภารํ ครั้นปล่อยวางภาระอย่างหนักได้แล้ว
อญฺญํ ภารํ อนาทิย ไม่ยึดถือสิ่งอื่นเป็นภาระอีก
สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห ถอนตัณหาพร้อมทั้งรากได้แล้ว
นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโตติ หมดความปรารถนาแล้ว ปรินิพพานดังนี้แล.
ประมวลภาพ หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=26087
รวมคำสอน หลวงปู่หลุย จันทสาโร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44178 |
|
|
|
    |
 |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
06 ต.ค.2009, 11:43 pm |
  |
|
    |
 |
|