Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.พ.2011, 6:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป


วัดป่าปทีปปุญญาราม
ต.เซือม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร



๏ อัตโนประวัติ

หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป มีนามเดิมว่า ผ่าน หัตถสาร เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๖๕ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๒ ปีจอ ณ ณ บ้านเซือม ตำบลโพนแพง อำเภอวานานิวาส (ปัจจุบันเป็น บ้านเซือม ตำบลเซือม อำเภออากาศอำนวย) จังหวัดสกลนคร ตอนที่โยมมารดาได้ตั้งท้องหลวงปู่นั้น โยมมารดาได้ฝันว่าได้มีคนเอามีดด้ามงามมาให้ แล้วโยมมารดาก็ได้เอาไปซ่อนเพราะกลัวว่าจะมีคนมาเห็น ครั้นเมื่อคลอดออกมาแล้วก็ปรากฏว่าท่านเป็นเด็กที่เลี้ยงยากมากและร้องไห้เก่ง โยมมารดาจึงได้พาหลวงปู่ไปให้พระท่านผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือให้ จึงได้เลี้ยงง่ายขึ้น ด้วยความที่หลวงปู่เป็นบุตรคนหัวปี ญาติพี่น้องเห็นก็พากันรักใคร่ ผลัดกันเอาไปเลี้ยง ผลัดกันเอาไปอุ้ม หลวงปู่ท่านจึงมีแม่หลายคน เพราะมีคนเอาไปเลี้ยงหลายคน

โยมบิดาชื่อ ด่าง หัตถสาร โยมมารดาขื่อ จันทร์เพ็ง หัตถสาร ต่อมาภายหลังโยมมารดาของท่านได้บวชเป็นแม่ชีจนกระทั่งได้ถึงแก่กรรม ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๑๓ คน มีชื่อเรียงลำดับดังนี้

(๑) หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป
(๒) นายบาน หัตถสาร
(๓) นายบัว หัตถสาร
(๔) นายบาง หัตถสาร
(๕) นายคำใบ หัตถสาร
(๖) นายบุญไทย หัตถสาร
(๗) นางไสว หัตถสาร
(๘) นายสีใคร หัตถสาร
(๙) นางไสแก้ว หัตถสาร
(๑๐) นางสม หัตถสาร
(๑๑) นายคำกรม หัตถสาร
(๑๒) นายอุดม หัตถสาร
(๑๓) นายนิยม หัตถสาร

เมื่อหลวงปู่โตขึ้นก็ได้ช่วยโยมบิดา-มารดาทำไร่ทำนาทำมาหากินตามปกติ หลวงปู่นั้นมีนิสัยเป็นคนเฉยๆ ไม่เป่าปี่ สีซอ เป่าแคนอย่างคนอื่น ไม่เคยเต้นรำวง ไม่กินเหล้าเมาสุรา หลวงปู่ท่านได้เข้าโรงเรียนเมื่ออายุ ๑๐ ขวบ แต่เรียนยังไม่ทันจบ พอดีโยมพ่อเฒ่าสุขตาย ตามประเพณีทางอีสานลูกหลานนิยมบวชให้เพื่อจูงศพเข้าป่าช้า หลวงปู่จึงได้บวชเป็นสามเณรให้โยมพ่อเฒ่าสุข บวชอยู่ประมาณ ๑ เดือนจึงได้ลาสิกขา


๏ การบรรพชาและอุปสมบท

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ อายุ ๑๕ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดทุ่ง ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร โดยมี พระครูวิรุฬห์นวกิจ (ผาง ฐิตสัทโธ) เป็นพระอุปัชฌาย์

จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๘๒ ญาติพี่น้องได้เดินทางมาจากบ้านหนองศาลา อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร หลวงปู่จึงได้ติดตามญาติพี่น้องไปอยู่ที่วัดโพธิ์ชัย บ้านเชียงเครือ ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านหนองศาลา ครั้นต่อมาหลวงปู่ได้เล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรม โดยมีพระภิกษุอน ซึ่งเป็นญาติของท่านเป็นผู้สอน จากนั้นจึงได้ไปสอบที่วัดธาตุศาสดาราม (ปัจจุบันคือวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร) ปรากฎว่าสอบผ่านนักธรรมชั้นตรี แล้วกลับไปอยู่ที่วัดโพธิ์ชัยตามเดิม หลวงปู่ได้อยู่ที่วัดโพธิ์ชัยอยู่หลายเดือน และก็ได้เดินทางมาอยู่ที่วัดศรีบุญชู บ้านเซือม

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ เพื่อนที่บวชด้วยกันชวนท่านสึก ท่านได้ปฏิเสธ แต่เพื่อนบอกให้สึกด้วยกัน ท่านจึงจำใจสึกออกมาช่วยงานโยมบิดา-มารดาอยู่ถึง ๒ ปี

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๕ อายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์ พ่อใหญ่ป้อง เศรษฐาไชย เป็นพ่อเลี้ยงของหลวงปู่ได้ตายลง ญาติพี่น้องจะทำบุญอุทิศให้ตามประเพณี เมื่อทำบุญอุทิศให้ผู้ตายมักนิยมเรียกกันว่า “กองอัฎฐะ” หรือ “กองบุญ” ถ้าหากมีคนบวชในงานนี้ด้วยจะเรียกว่า “กองบวช” เนื่องทางลูกชายของพ่อใหญ่ป้องไม่สามารถบวชให้พ่อได้ ญาติพี่น้องจึงมาขอให้หลวงปู่ให้บวชพระในครั้งนี้ พอดีวันนั้นจิตใจของหลวงปู่รู้สึกหงุดหงิดอย่างไม่ทราบสาเหตุ เมื่อญาติพี่น้องมาขออย่างนั้น จิตใจปิติยินดีในทันทีเพราะท่านอยากบวชอยู่นานแล้ว ท่านจึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ณ พัทธสีมาวัดทุ่ง จังหวัดสกลนคร แห่งเดิม โดยมีพระครูวิรุฬห์นวกิจ (ผาง ฐิตสัทโธ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระมาก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “เฉโก”

หลังบวชแล้วได้ไปอยู่ที่วัดศรีบุญชู บ้านเชือม เมื่อบวชได้ ๒-๓ วัน ตอนกลางคืนปรากกว่าพ่อใหญ่ป้อง เศรษฐาไชย เดินมาหา ถามว่ามีเทียนใช้แล้วหรือยัง หลวงปู่จึงตอบว่ามีใช้แล้ว พ่อใหญ่ป้องจึงเดินออกไป เมื่อบวชแล้วได้เรียนนักธรรมโท โดยอ่านหนังสือเอง เมื่อไปสอบก็ได้สอบ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เรียนนักธรรมเอก โดยอ่านหนังสือไปสอบเอง แต่คราวนี้สอบตกจึงไม่ได้ไปสอบอีก

ในปีนี้วันหนึ่งพระเณรทั้งวัดได้เข้าไปในป่าหาไม้มาสร้างกุฏิ ถึงเวลาเพลชาวบ้านก็ยังไม่ได้เอาอาหารมาถวาย จนบ่ายเขาจึงได้เอามาถวาย พระเณรก็ฉันกันทุกรูปยกเว้นหลวงปู่กับเจ้าอาวาส แม้จะเหนื่อยและหิวก็ไม่ฉัน หลวงปู่ได้เห็นความประพฤติอันย่อหย่นจากพระวินัยของพระเณร แล้วรู้สึกเบื่อมาก ซึ่งการขุดดิน ตัดไม้ ดายหญ้า รับเงินรับทองเป็นเรื่องปกติที่พระเณรทำกัน แต่หลวงปู่ไม่ทำเพราะท่านตั้งใจรักษาพระวินัยตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ท่านจึงตั้งจิตอธิฐานว่า “จะบวชเป็นพระกรรมฐานเที่ยวธุดงค์ตามป่าเขาตามหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต”

Image
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

Image
พระครูบริบาลสังฆกิจ (หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม)

Image
พระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล)


๏ ญัตติเป็นธรรมยุต

ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงปู่ได้มากราบนมัสการ พระครูบริบาลสังฆกิจ (หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม) ที่วัดอุดมรัตนาราม บ้านอากาศ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเชือมเพียงแค่ ๒-๓ กิโลเมตร หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่จึงได้กราบเรียนกับท่านว่า “อยากจะบวชเป็นพระกรรมฐาน” ท่านจึงแนะนำให้สึกก่อนแล้วค่อยบวชใหม่ เมื่อกลับมาถึงวัดศรีบุญชูได้เข้าไปกราบลาพระอุปัฌชาย์ขอลาสิกขา ท่านก็อนุญาต อาจกล่าวได้กล่าวว่าท่านบวชได้ ๕ พรรษาแล้วสึกก็ได้ ส่วนพระภิกษุอีกรูปหนึ่งก็เข้าไปกราบลาพร้อมกัน พระอุปัฌชาย์ท่านคัดค้าน เพราะยังพรรษาน้อยเพียง ๒ พรรษา หลวงปู่จึงได้ลาสิกขารูปเดียว

หลวงปู่ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย โดยเริ่มจากการไปหัดขานนาคอยู่กับหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม ที่วัดอุดมรัตนาราม หัดขานนาคอยู่ด้วยกันหลายคน หลวงปู่ท่านหัดอยู่ได้ประมาณ ๓ เดือน จึงถูกต้องตามอักขรฐานกรณ์ของภาษาบาลีทุกอย่าง เมื่อหลวงปู่ขานนาคได้แล้ว ซึ่งเป็นช่วงวันที่ ๑๗-๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงได้เดินทางโดยรถยนต์ไปกับหมู่นาคที่จะบวชพร้อมกัน โดยจะไปบวชกับ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (หลวงปู่จูม พันธุโล) วัดโพธิ์สมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

แต่ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ได้ไปร่วมงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ ส่วนพระอุปัฌชาย์องค์อื่นๆ ก็ไปกันหมด หมู่นาคที่จะบวชจึงพากันเดินทางไป วัดจอมศรี บ้านนำฆ้อง ตำบลพันดอน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเมื่อไปถึงวันนั้นก็ได้บวชเลย โดยบวชเป็นพระ ๓ รูป และบวชเป็นเณร ๕ รูป ในวันอาทิตย์ที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ตรงกับวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีจอ โดยมี พระครูพิทักษ์คณานุการ (หลวงปู่สี ธัมมทินโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระสมุห์ภา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สำเร็จเมื่อเวลา ๑๓.๕๒ น. ท่านได้รับนามฉายาว่า “ปัญญาปทีโป” แปลว่า ผู้มีปัญญาดุจแสงสว่างแห่งดวงประทีป (ดวงไฟ) จากนั้นท่านก็ได้กลับมาอยู่กับหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม ที่วัดอุดมรัตนาราม จนกระทั่งเข้าพรรษา


(มีต่อ ๑)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.พ.2011, 6:59 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

๏ ลำดับการจำพรรษา

• พรรษาที่ ๑ พ.ศ. ๒๔๙๐

หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม หลวงปู่ผ่านได้เรียนการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ตลอดจนเรียนด้านพระปริยัติธรรมด้วย ระหว่างที่อยู่ที่วัดอุดมรัตนารามนั้น หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม ได้พาหลวงปู่ไปกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งตั้งอยู่กลางหุบเขา ต้องฝ่าป่าดงเทือกเขาภูพานเข้าไปจึงจะถึง ได้ไปอยู่ ๒-๓ ครั้ง เมื่อออกพรรษาปลายปี พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงปู่ผ่านได้พาสามเณรรูปหนึ่งไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) พอถึงวัดดอยบ้านนาเชือกซึ่งเป็นวัดร้างเป็นเวลาค่ำจึงไดพักที่นั้น พักกันคนละกุฏิ พอตกกลางคืนเณรมาหาบอกว่า “ผมอยู่ไม่ได้ ผมกลัว ไม่รู่ว่าเสียงอะไรมันดังตุ้บตั้บๆ” หลวงปู่จึงได้ออกไปดูปรากฏว่าเป็นค้างคาว ตกลงเณรเลยขอมานอนด้วย พอสว่างได้ไปบิณฑบาตที่บ้านนาเชือก กลับมาฉันแล้วก็ได้เดินทางไปที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) พอไปถึงก็ได้ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านได้พูดว่า “ท่านผ่านมากับเณรน้อยแท้ มันไข้ได๋” (หมายความว่า พาสามเณรอายุน้อยมาด้วย สามเณรจะเป็นไข้ป่าได้ง่าย) หลวงปู่จึงได้ตอบว่า “ครับผม ไม่มีคนมา กระผมจึงมากับเณรน้อย”

เวลาเย็นก็พากันไปสรงน้ำท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่เป็นพระผู้น้อยเพียง ๑ พรรษาจึงได้ถูหลังเท้า รูปอื่นก็ได้ถูแข้ง ถูขา ถูแขน หลวงปู่บอกว่า “เท้าของหลวงปู่มั่นนิ่มมากๆ ถึงแม้ว่าจะเดินธุดงค์มาตลอดแต่เท้ากลับนิ่ม” ซึ่งตรงกับที่หลวงปู่หลุย จันทสาโร เคยบอกไว้ว่า “เท้าท่านพระอาจารย์มั่นนิ่ม ท่านเป็นผู้มีบุญมาก เราคนเท้าแข็งเป็นคนบาป” ในครั้งนั้นมีพระเณรพำนักจำพรรษากับหลวงปู่มั่น ประมาณ ๒๐ รูป อาทิเช่น พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน, พระอาจารย์วัน อุตฺตโม, พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร วัดประชาชุมพลพัฒนาราม จังหวัดอุดรธานี, พระอาจารย์หลุย จันทสาโร, พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส, พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต, สามเณรบุญเพ็ง จันใด (พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต) เป็นต้น

วันนั้นสรงน้ำเสร็จ พระอาจารย์มั่นบอกว่า “ท่านผ่านไปฉันน้ำอ้อยสดเด้อ ชาวบ้านเขาเอามาถวาย” หลวงปู่ก็คิดในใจว่า “เราจะไม่ฉันหรอกมันหนักท้อง” ท่านพระอาจารย์มั่นก็พูดซ้ำอีกว่า “ไปฉันน้ำอ้อยเด้อ” หลวงปู่ก็คิดในใจว่าจะไม่ไปฉัน เสร็จแล้วจะไปภาวนาต่อ ถึงตอนค่ำก็มารวมกันที่กุฏิท่านพระอาจารย์มั่นเพื่อรับการอบรม ซึ่งแต่ละครั้งจะนานถึง ๓-๔ ชั่วโมง แต่หลายวันจึงจะได้มีการประชุมสักครั้งหนึ่ง

Image
พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน

Image
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม

Image
พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร

Image
พระอาจารย์หลุย จันทสาโร

Image
พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส

Image
พระอาจารย์หล้า เขมปัตโต

Image
พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต


• พรรษาที่ ๒-๓ พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๔๙๒

หลวงปู่ได้จำพรรษาอยู่กับ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่าบ้านหนองโดก อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และยังมี พระอาจารย์เพียร วิริโย วัดป่าหนองกอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี พระอาจารย์บุญมี ปริปุณโณ วัดป่าบ้านนาคูณ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี พระอาจารย์บุญหนา ธัมมทินโน กับเณร ๒-๓ รูป เมื่อออกพรรษาแล้วหลวงปู่ได้กราบลาหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ มาอยู่ที่วัดป่าม่วงไข่ กับท่านอาจารย์สิงห์ (คนละองค์กับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม) ท่านได้สั่งให้ท่องปาติโมกข์ท่องอยู่ประมาณ ๑ เดือนก็ยังท่องไม่ได้ หลวงปู่ก็เลยคิดว่าจำทำอย่างไรดี ที่นี้เวลาภาวนาท่านเลยท่องแต่ปาติโมกข์นั้นจนเกือบ ๓ เดือน จึงท่องได้สำเร็จ

ช่วงที่หลวงปู่ผ่านอยู่ที่บ้านหนองโดก วันหนึ่งพอออกจากสมาธิท่านได้เห็นบุ้งคีบตัวเล็กๆ คลานอยู่ จึงได้สงสัยว่า “บุ้งตัวเล็กๆ นี้จิตมันใหญ่ไหม ช้างตัวใหญ่ๆ จิตมันเล็กไหม หรือว่าเท่ากัน” พอออกพรรษาแล้วได้เข้ามาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ท่านได้เทศน์ให้ฟังตอนหนึ่งท่านว่า “บุ้งตัวน้อยๆ ช้างตัวใหญ่ๆ จิตมันก็เท่ากันนั้นแหละ” หลวงปู่จึงหายสงสัย เกิดความอัศจรรย์ใจและเกรงกลัวท่านพระอาจารย์มั่นมาก ไม่คิดไปนอกทางเกรงว่าท่านจะดุ

ปี พ.ศ. ๒๔๙๒ หลวงปู่ได้กลับมาจำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองโดก ร่วมกับพระอาจารย์เพียร วิริโย พระอาจารย์บุญมี ปริปุณโณ อีกครั้ง โดยมีพระอาจารย์สิงห์ เป็นหัวหน้า ส่วนหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และพระอาจารย์บุญหนา ธัมมทินโน ย้ายไปจำพรรษาที่วัดป่าม่วงไข่แทน พออกพรรษาแล้วก็ยังพักอยู่ที่นั้น พอดีท่านพระอาจารย์มั่นอาพาธ และได้มาพักอยู่วัดป่าบ้านกลางโนนภู่ ระหว่างนี้หลวงปู่ได้เข้าไปพยาบาลทุกวันเพราะวัดอยู่ไม่ไกลกัน

ในช่วงหลายวันมีรถรับไปจังหวัดสกลนคร ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้มรณภาพที่วัดป่าสุทธาวาส หลวงปู่ผ่านในฐานะลูกศิษย์องค์หนึ่งจึงเข้าไปอยู่ที่วัดป่าสุทธวาส เพื่อช่วยงานถวายครูบาอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย ครั้งนั้นบรรดาลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นได้เดินทางมาจากทุกสารทิศเพื่อมาร่วมงาน มีแต่พระเณรเต็มวัด ญาติโยมยังไม่มากนัก ยังไม่ตื่นพระกรรมฐานเหมือนทุกวันนี้ ก่อนหน้าที่จะอยู่วัดป่าสุทธาวาส ท่านได้ไปพักอยู่ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ บ้านธาตุนาเวง กับ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านเทศน์อบรมทุกวัน เทศน์เรื่อง “การทำจิตให้มีสมรรถภาพ” โดยท่านอธิบายว่า “ให้เพ่งร่างกาย (กายคตาสติ เพ่งให้ติดตา เมื่อติดตาแล้วให้แยกออกเป็นส่วนๆ แล้วปลงลงเพ่งจนชำนาญสามารถทำได้รวดเร็ว)” ท่านสอนเรื่องนี้ทำให้หลวงปู่ติดใจมาก เป็นเหตุให้การภาวนาต่อมาหลวงปู่พยายามจะเพ่งร่างกายนี้อยู่เสมอ ส่วนหลวงปู่ฝั้นก็ทำเช่นกันจนมีความชำนาญ ท่านมีกำลังจิตที่กล้าแข็งมากเป็นที่ยอมรับในหมู่พระกรรมฐาน ครั้นเสร็จงานประชุมเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ช่วงเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านติดตามหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ไปวัดป่าบ้านท่าควาย อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม ครั้งนั้นมีพระอาจารย์คำพอง ติสฺโส หลวงตาจรัส และสามเณร ร่วมเดินทางไปด้วย

หลวงปู่ฝั้นท่านพาเดินทางไปที่วัดดอยธรรมเจดีย์ของ พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ อยู่ ๒ คืน จากนั้นโยมเอารถมารับไปพักที่วัดป่าบ้านท่าควาย เมื่อไปอยู่วัดป่าบ้านท่าควาย หลวงปู่ฝั้นกำลังเร่งความเพียร วันหนึ่งๆ จะฉันนมเพียง ๑ แก้ว พระเณรที่ตามไปด้วยรวมทั้งหลวงปู่ผ่าน จึงพากันฉันวันเว้นวันบ้าง หลายวันต่อมาหลวงปู่ฝั้นพาเทศน์พระเวส (งานบุญพระเวส) มีเทศน์ทำบุญอย่างเดียว ไม่ได้จัดแต่งดอกบัว ดอกผักตบอย่างละ ๑,๐๐๐ ตามที่อื่นเขาทำกัน เป็นเหตุให้พวกชาวบ้านท่าควายไม่กล้ามางาน เพราะกลัวว่าทำไม่ถูกวิธีแล้วจะมีลมพญามารใหญ่พัดมา มีญาติโยมมีศรัทธาเลื่อมใสมานิดหน่อย ท่านก็เทศน์จบแล้วทุกอย่าง ไม่มีลมใหญ่อะไร ต่อมาไม่นานทางวัดที่หมู่บ้านเขาจัดบ้าง หลวงปู่ผ่านได้ไปด้วย ปรากฏตอนบ่ายมีลมพายุพัดทำลายข้าวของในงาน และกระท่อมเสียหายหมด หลวงปู่ว่าด้วยนี้เป็นกำลังจิตของหลวงปู่ฝั้น จึงไม่มีอะไรรบกวน

เมื่ออยู่บ้านท่าควายหลายวันแล้ว วันหนึ่งไปบิณฑบาตพอไปถึงสุดทางบิณฑบาต หลวงปู่ฝั้นท่านได้หยุดยืนแล้วพูดว่า “นั่นๆ ท่านผ่าน ที่จะไปภาวนา” ที่นั้นคือภูกระแต บ้านไผ่ล้อม ๒-๓ วันต่อมาหลวงปู่ฝั้นจึงพาเดินไปประมาณ ๕ กิโลเมตรจนกระทั่งถึงภูกระแต แล้วจึงแยกย้ายกันไปพำนักบำเพ็ญภาวนา ที่นี่เป็นสถานที่สัปปายะ มีสัตว์ป่ามากมาย มีแอ่งน้ำซับซึ่งผุดออกมาจากดิน อยู่ที่ตีนเขา พอรุ่งเช้ามีชาวบ้านมาเล่าถวายว่า “เมื่อคืนฝันเห็นพวกภูตผีปีศาจบนภูเขาพากันแตกตื่นย้ายครอบครัวหนี บอกว่าเจ้านายมา” หลวงปู่ฝั้นอยู่ที่นี้ได้ ๒ เดือน ท่านก็ได้เดินทางไปภูวัวต่อ ส่วนหลวงปู่กับหลวงตาจรัสไปอยู่ที่วัดป่าบ้านท่าควาย

Image
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

Image
พระอาจารย์เพียร วิริโย

Image
พระอาจารย์บุญมี ปริปุณโณ

Image
พระอาจารย์บุญหนา ธัมมทินโน

Image
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

Image
พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ


(มีต่อ ๒)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 11 ก.พ.2011, 8:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

• พรรษาที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๙๓
วัดป่าบ้านขามเฒ่า อ.เมือง จ.นครพนม


ต่อมาหลวงตาจรัสชวนไปภาวนาอยู่บ้านขามเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม และได้จำพรรษาที่นี่ เมื่อแรกไปอยู่ปรากฏว่ามีพระมหานิกายมาไล่ ไม่ยอมให้พระกรรมฐานมาอยู่ด้วย หลวงปู่ได้ตอบพระมหานิกายที่มาไล่นั้นว่า เราต่างมาบวชเพื่อจะไปพระนิพพานเหมือนกัน เหมือนกับการแจวเรือถ้าต่างคนต่างแจวก็ถึงที่หมาย ถ้าขัดกันกลางทางเรือก็ล่ม ผู้ที่เข้ามาบวชเพราะเรื่องลาภยศทำไม เรื่องจึงสงบไป

พรรษานี้มีพระ ๓ องค์ เณร ๑ องค์ คือ หลวงปู่ผ่าน, หลวงตาจรัส, หลวงตาหมอก และเณรภูบาล ทุกคนตั้งใจบำเพ็ญภาวนา วัดนี้เคยมีพระกรรมฐานมาพักอยู่ กำนันพรหมผู้เป็นหัวหน้าญาติโยม เป็นคนมีศรัทธาชักชวนชาวบ้านเข้าวัดฟังธรรม นั่งภาวนา มีญาติโยมบ้านขามเฒ่ามาหัดทำสมาธิเป็นชาย ๑๐ กว่าคน ส่วนโยมผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย วัดนี้อยู่ริมแม่น้ำโขงมีกุฏิเล็กๆ สามารถย้ายได้ อยากไปอยู่มุมไหนก็ย้ายกุฏิไป การภาวนาอยู่บ้านขามเฒ่านี้ภาวนาดี จิตรวมทุกวัน เวลาจิตจะรวมบางทีกุฏิลั่นดังปึ๊บ แล้วจิตก็รวมลง หมดกำลังก็ถอยออกมา การเทศน์อบรมชาวบ้านหลวงปู่ก็เทศน์ไปตามที่ภาวนาได้ ได้แค่ไหนก็เทศน์แค่นั้น จะเทศน์สูงกว่าไม่ได้เพราะพรรษายังน้อย

อยู่ที่นี่จะมีโยมผู้หญิงมาคอยตักน้ำให้สรง และมาคุยทุกวันๆ แต่หลวงปู่ท่านไม่เคยหวั่นไหวในมาตุคาม เพราะท่านได้อธิฐานว่าจะไม่สึกตลอดชีวิต จิตใจจึงมั่นคง โยมนั้นก็เลิกไปเอง ครั้งหนึ่งมีโยมคนหนึ่งมาขออยู่ด้วยเพราะเขาได้ยินเสียงในหูว่า “กูจะมาฆ่ามึงๆๆๆ” เลยกลัวผีมาก นี่เป็นกรรมของโยมคนนั้น ถ้าอยู่วัดแล้วจะไม่ได้ยินแต่ถ้าอยู่ที่อื่นจะได้ยินตลอดเวลา วันนั้นท่านภาวนาแล้วเห็นผู้หญิงนั่งอยู่บนพื้นดินมีผมแหลมๆ ยาวถึงแขน หน้าเหลือง ตอนแรกท่านนึกว่าเป็นผีมาหาโยมคนนี้ แต่ความจริงแล้วเป็นเพียงนิมิตรอันเกิดจากท่านเพ่งอสุภะเท่านั้น

หลังจากออกพรรษาแล้ว หลวงตาจรัสยังอยู่บ้านขามเฒ่า ส่วนหลวงปู่ผ่านโดยสารทางเรือไปอำเภอบ้านแพง อำเภอนครพนม ไปพักวัดเนินคนึงอยู่หลายวัน แล้วไปอยู่กับพระมหาสุด ที่บ้านบะปะทายซึ่งอยู่ใกล้กับภูลังกา พระมหาสุดท่านเป็นคนบ้านหัววัว จังหวัดอุบลราชธานี วันหนึ่งมีลมพายุใหญ่พัดมาเสียงดังอื้ออึง หลวงปู่ท่านขึ้นกุฏิ นั่งสมาธิอธิษฐานจิตว่า “ถ้ามันจะตายให้มันตาย” แล้วปล่อยวางหมด ปรากฏว่าได้ยินเสียงลมพัดมาแล้วเว้นวัดไป ข้ามไปทางอำเภอบ้านแพง ไม้ยางล้มเสียงดังหลายวัน

ต่อมาท่านได้เข้าไปอำเภอบ้านแพง เห็นศาลาเล็กๆ กระต๊อบพังหมด แต่ที่วัดป่าบะปะทายไม่เป็นอะไรเลย ต่อมาหลวงปู่เดินทางไปบึงโขงหลง แล้วไปพักอยู่ที่บ้านโสกก่าม ๗-๘ วัน จากนั้นธุดงค์ขึ้นภูวัว โดยไปพักอยู่ที่ถ่ำแอ่น (ที่ถ่ำแอ่นแห่งนี้ภายหลังเมื่อหลวงปู่มาอยู่ที่วัดป่าปทีปปุญญารามแล้ว ได้นิมิตเห็นควายเดินออกมาจากถ่ำแอ่น ท่านจึงกำหนดจิตถามว่า ทำไมจึงมีควายออกมา ก็เกิดความรู้ขึ้นมาว่า อดีตชาติท่านเคยเกิดเป็นควายและอยู่ที่ถ่ำแอ่นนี้) หลวงปู่ท่านอยู่องค์เดียว พอตอนเย็นเห็นพวกมดดำเดินอยู่ ท่านก็คิดว่าเรามีเพื่อนแล้ว ไม่ได้อยู่องค์เดียว ท่านคิดขำๆ ไปอย่างนั้น เช้ามาโยมที่ไปด้วยทำอาหารถวาย เพราะอยู่ที่นี่บิณฑบาตไม่ได้ อาศัยโยมบ้านดอนเสียด ๖-๗ วันก็ขึ้นมาเอาอาหารแห้ง ปลาแห้ง ตัดยอดบุก ยอดหวาย มาถวายพระ

ต่อมา พระอาจารย์สุภาพ ธัมมปัญโญ จากวัดทุ่งสว่าง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พาพระมาพักอยู่ด้วย หลวงปู่ภาวนาอยู่ที่นั่นปรากฏจิตใจมีความดีอกดีใจ มีปีติมากที่ได้ขึ้นไปอยู่บนภูเขาเพราะจิตอยากไปมานานตั้งแต่ก่อนบวช เพิ่งจะได้มาเป็นครั้งแรก ตอนนั้นทั้งเสือ ช้าง หมี มีชุกชุมมาก แต่หลวงปู่ท่านไม่กลัว ภาวนาดีมาก จิตรวมเป็นปรกติ อยู่ที่นั่นประมาณ ๑ เดือนก็ลงมาพักอยู่บ้านโสกก่าม แล้วมาพักที่บึงโขงหลง ซึ่งเป็นเกาะอยู่กลางน้ำ สายๆ ราว ๘ โมงเช้า ญาติโยมชาวบ้านเอาเรือมารับไปบิณฑบาต อยู่ที่นี่หลายวันจึงมาอยู่ที่บ้านโพธิ์หมากแข้ง ต่อมาได้เดินทางไปอยู่ศึกษาธรรมกับ ท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร ที่วัดอิสระธรรม บ้านวาใหญ่ อำเภอวานรนิวาส (ปัจจุบันเป็นอำเภออากาศอำนวย) จังหวัดสกลนคร

พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร เกิดในปี พ.ศ. ๒๔๒๙ ที่บ้านวาใหญ่ อำเภอวานรนิวาส (ปัจจุบันเป็นอำเภออากาศอำนวย) จังหวัดสกลนคร ท่านออกบวชเนื่องจากสูญเสียบุตรและภรรยาจากการคลอด ท่านมีทุกข์หนักจึงออกบวชที่วัดโพธิ์ชัย บ้านวาใหญ่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ท่านบวชอยู่นานจนเกือบได้เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านพระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก สหธรรมมิกที่ใกล้ชิด ได้ไปฟังเทศน์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ด้วยกันที่เสนาสนะป่าบ้านหนองลาด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ท่านและพระอาจารย์เกิ่งเกิดความเลื่อมใสมากจึงเข้ามอบตัวเป็นศิษย์ และนิมนต์พระอาจารย์มั่นมาบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม และท่านตกลงขอญัตติเป็นธรรมยุติกนิกายพร้อมกับพระอาจารย์เกิ่ง โดยมี พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระอาจาย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และมีพระอาจารย์มั่นนั่งหัตถบาสร่วมด้วย เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ที่โบสถ์น้ำกลางหนองสามผง บ้านสามผง แล้วปีนั้นท่านจำพรรษาร่วมกับพระอาจารย์มั่นที่บ้านสามผงนั้น จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านจึงมาตั้ง “วัดอิสระธรรม” ขึ้นที่บ้านวาใหญ่ และอยู่จำพรรษาเรื่อยมา พระอาจารย์สีลามรณภาพเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๐ สิริรวมอายุได้ ๘๑ ปี พรรษา ๔๑

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย แห่งวัดเขาสุกิม อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ได้มาจำพรรษาอยู่ด้วย ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ หลวงปู่ท่านได้รับเลือกให้เป็นพระอุปัชฌาย์ในการอุปสมบทหมู่ ๒,๕๐๐ รูป เพื่อฉลอง ๒๕ ปีพุทธศตวรรษหรือกึ่งพุทธกาล ครั้งนั้นมีพระอุปัชฌาย์เพียง ๔ รูปเท่านั้น คือ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี), พระธรรมดิลก (ทองดำ จันทูปโม), พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) และ หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป

จากนั้นท่านกลับมาอยู่กับหลวงปู่อุ่น อุตฺตโม อีก ไม่นานท่านก็ไปอยู่บ้านกุดเรือ หลวงปู่อุ่นท่านส่งคนมาตามกลับแต่ท่านไม่กลับ และได้เดินทางไปอยู่บ้านอุ่มเหม้า อำเภอพังโคน

Image
พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร

Image
พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก

Image
พระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)

Image
พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม

Image
พระอาจาย์มหาปิ่น ปัญญาพโล

Image
พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย

Image
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี)


• พรรษาที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๙๔
วัดป่าบ้านอุ่มเหม้า อ.พังโคน จ.สกลนคร


ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ หลวงปู่จำพรรษาที่บ้านอุ่มเหม้า อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร โดยมี พระอาจารย์แตงอ่อน กัลยาณธัมโม เป็นประธานสงฆ์ (ท่านเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต องค์หนึ่ง ปัจจุบันท่านอยู่ที่วัดป่าโชคไพศาลหรือวัดกัลยาณธัมโม บ้านหนองนาหาร อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ท่านอายุเท่ากับหลวงปู่ผ่าน) นอกจากนี้ ยังมีพระคำพันธ์ซึ่งเป็นชาวบ้านอุ่มเหม้า และองค์อื่นๆ อีกหลายองค์จำพรรษาร่วมกัน

หลวงปู่ท่านเร่งความเพียรมาก เดินจงกรมจนเหนื่อยก็ยังไม่ยอมหยุด โดยเอาพระจันทร์เป็นนาฬิกา แต่ทางด้านจิตนั้นจิตก็รวมเป็นสมาธิ มีความเอิบอิ่ม มีปีติอยู่เป็นธรรมดา พรรษากาลนี้ท่านถือธุดงวัตรครุปัจฉาคะทีกังคะธุดงค์ คือไม่รับอาหารที่โยมนำมาถวายอีก ฉันเฉพาะอาหารที่บิณฑบาตได้มาเท่านั้น หมากก็ไม่ฉัน บุหรี่ก็ไม่สูบ นอกจากนี้ บ่าของหลวงปู่ท่านลอกตลอดทั้งพรรษาเนื่องจากสะพายบาตรเดินมาก เมื่อครั้งลงมาจากภูวัว ตอนเย็นไม่ได้ทำวัตรสวดมนต์ร่วมกัน ต่างคนต่างภาวนา ร่วมกันทำวัตรเฉพาะวันพระ

วันหนึ่งมีลมใหญ่พัดมา หลวงปู่ท่านขึ้นกุฏิ นั่งสมาธิอธิฐานจิตว่า “แล้วแต่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ จะรักษา” แล้วเข้าสมาธิ หลวงปู่นั่งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ส่วนลมมาทางทิศตะวันตก ปรากฏว่าลมพัดเข้าไปในหมู่บ้าน ทำให้ต้นหมาก ต้นมะพร้าวหักโค่นลง ส่วนวัดไม่เป็นอะไร ตอนเช้าขึ้นมาญาติโยมชาวบ้านเขาเลยเอามาถวายพระ ตลอดพรรษากาลนี้ เวลาลงอุโบสถฟังปาติโมกข์ต้องไปลงที่วัดป่าศรีจำปาชนบท อำเภอพังโคน กับ หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต โดยพากันเดินลัดทุ่งนาไป

หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๒๔ ท่านได้ศึกษาภาวนากับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ซึ่งธุดงค์มาตั้งวัดป่าบ้านปลาโหลเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙ เวลา ๑๕.๓๓ น. ณ วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสาสนูปกรณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูประสาทคณานุกิจ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อท่านอายุได้ ๕๔ ปี จากนั้นท่านไปศึกษาอยู่กับ ท่านพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ต่อมาไปศึกษากับท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อท่านทั้งสองมรณภาพแล้ว ก็ได้ไปศึกษากับ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และท่านได้มาอยู่ที่วัดป่าศรีจำปาชนบท จนกระทั่งมรณภาพเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ เวลา ๑๐.๑๕ น. ด้วยโรคชราภาพ สิริรวมอายุได้ ๙๖ ปี พรรษา ๔๑ เมื่อฌาปนกิจศพแล้วปรากฏว่าอัฐิของท่านแปรเป็นพระธาตุมากมาย

เมื่อออกพรรษาแล้ว ภรรยาของกำนันพรหม บ้านขามเฒ่า มานิมนต์หลวงปู่ให้ไปอยู่บ้านขามเฒ่าอีก

Image
พระอาจารย์แตงอ่อน กัลยาณธัมโม

Image
หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต

Image
พระอาจารย์วัง ฐิติสาโร

Image
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร


(มีต่อ ๓)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 12 ก.พ.2011, 10:56 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

• พรรษาที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๙๕
วัดป่าบ้านขามเฒ่า อ.เมือง จ.นครพนม


ปีนี้จำพรรษากับ พระอาจารย์คำ (บ้านเดิมท่านอยู่ที่บ้านเศรษฐี อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ท่านเคยมาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่นด้วย) และ พระอาจารย์ปั่น ปัญญาวโร ซึ่งเพิ่งจะบวชในปีนั้น (ภายหลังท่านมาอยู่ที่วัดป่าบ้านคำตานา ตำบลตาลโกน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) คราวที่อยู่บ้านหนองโดก ภาวนาเกิดคำว่า “นโม ข่ายเย็น ข่ายร้อน” นั้นจิตสว่างเห็นทางภายนอก เห็นต้นไม้ เห็นภูเขา เห็นคนนั้นคนนี้ แต่เห็นได้ไม่นาน สักพักแล้วก็ดับไป เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง

คราวนี้มาอยู่บ้านขามเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม จึงพยายามจะให้เห็นร่างกายภายใน เพราะฟังครูบาอาจารย์มา ให้น้อมเข้าไปภายใน ลอกหนังออก เข้าไปถึงเอ็น แล้วเข้าไปกระดูก หลวงปู่ท่านก็พยายามเพ่งเข้าไปภายใน โดยการนึกเอาว่ากระดูก เอ็น เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็ยังไม่เห็นเลยเปลี่ยนเอากระดูกหลังเพียง ๓ ท่อนมาเพ่ง แทนที่จะเพ่งทั้งร่าง ท่านค่อยๆ ทำให้สติกับปัญญามีความสมดุลกัน เพ่งอยู่ไม่นานปรากฏว่าจิตรวม เกิดแสงสว่างจ้าอยู่กลางอก ไม่เห็นกระดูกเลย แต่เห็นไส้พุงทั้งเขียวทั้งดำ จิตใจเกิดความปีติ อัศจรรย์ว่าตั้งแต่บวชมาเพิ่งจะเห็นเป็นครั้งแรก จากนั้นท่านก็เพ่งจนติดตา ตื่นเช้ามาท่านว่า ท่านฉันข้าวไม่อร่อยเลย ตกเย็นมาท่านก็ภาวนาอีก ก็ยังไม่เห็นกระดูกอยู่เช่นเดิม แต่เห็นออกไปภายนอก โดยเห็นตัวหลวงปู่กำลังสรงน้ำอยู่กลางหุบเขา แต่สายน้ำนั้นมีความแปลก คือ ด้านหน้าไหลลงมาจากภูเขา ผ่านหลวงปู่แล้วไหลกลับขึ้นบนเขาด้านหลัง ไหลขึ้นไหลลงอยู่อย่างนั้นจนจิตถอน ท่านว่านิมิตนี้เป็นนิมิตที่ดี เป็นสิ่งบอกว่าท่านจะได้ออกจากทุกข์

พอถึงวันที่ ๓ นั่งสมาธิจิตรวมลง ปรากฏท่านขึ้นไปอยู่บนยอดเขา ตามร่างกายมีเครื่องประดับเป็นเพชรนิลจินดาแพรวพราว จิตเกิดปีติเอิบอิ่ม มองลงมาเห็นมนุษย์ เรือนชานบ้านช่อง หลวงปู่ท่านได้พิจารณาเห็นว่ามนุษย์นี้เกิดขึ้นมา กินแล้วก็พากันนอน ตื่นมาก็ไปทำมาหากิน ได้มาแล้วก็พากันกินแล้วก็นอน เป็นอย่างนี้เรื่อยไป ไม่ได้นึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆ ไม่ได้นึกถึงทางหนีออกจากวัฏสงสารเลย พิจารณาได้อย่างนี้แล้วท่านจึงคิดว่า “เราเห็นแล้ว เราจะไม่ทำอย่างนั้น จะต้องหนีออกจากวัฏสงสารให้ได้” นั่งดูอยู่อย่างนั้นนานเข้า ปรากฏว่าท่านลอยไปถึงบ้านนาโดน เห็นไฟกำลังไหม้พระองค์หนึ่ง ท่านจึงพิจารณาไฟไหม้นั้นคือ ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ พระไฟไหม้คือ พระยังมีราคะ โทสะ โมหะ จากนั้นก็ลอยไปนั่งอยู่บนชะง่อนหินบนภูเขา หันหน้าไปทางทิศเหนือ นั่งภาวนาเพ่งร่างกาย เห็นตับไตไส้พุงอย่างที่เคยเห็น ตอนนี้เครื่องประดับไม่มีแล้ว นั่งเพ่งอยู่นาน จึงถามตัวเองขึ้นว่าที่นี่ที่ไหน ? จิตตอบว่า ถ้ำผากง (ถ้ำนี้อยู่อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ท่านเคยมาเอาพระพุทธรูปเศียรขาดอันเนื่องมาจากตกลงมากับพื้น ท่านเอาไปบูรณะต่อเศียร ปัจจุบัน ท่านพระอาจารย์แบน ธนากโร กำลังไปสร้างวัดอยู่ที่นั่น)

เมื่อออกพรรษาแล้ว ต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๖ หลวงปู่ท่านได้เดินทางมาวัดป่าบ้านภู (วัดป่ากลางโนนภู่) อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เพื่อมาร่วมงานฌาปนกิจศพ ท่านพระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน (ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นผู้ใหญ่องค์หนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพี่ชายของ ท่านพระอาจารย์กว่า สุมโน และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับ ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร) ในงานนี้พ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้มาร่วมงานกันมากมาย อาทิเช่น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และหลวงปู่หลุย จันทสาโร เป็นต้น ท่านได้เข้าไปกราบหลวงปู่อ่อน ซึ่งพรรษานี้หลวงปู่อ่อนท่านไปอยู่ที่บ้านดอนเงิน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี

หลวงปู่อ่อนบอกว่า “ท่านผ่าน พระอุปัชฌาย์มรณภาพอยู่ที่วัดจอมศรี ให้ไปปรงศพท่านนะ” หลวงปู่จึงได้ติดตามหลวงปู่อ่อนไปจังหวัดอุดรธานี ไปพักที่วัดป่าบ้านจิก (วัดทิพยรัฐนิมิตร) อยู่หลายวัน จึงขึ้นรถไฟไปวัดจอมศรี อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี หอศพของ พระครูพิทักษ์คณานุการ (หลวงปู่สี ธัมมทินโน) พระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่ ทำเป็นรูปนกหัสดีลิงค์คือนกมีงวงเป็นช้าง พอถึงวันที่จะเผา เขาแห่ศพด้วยเกวียนเข้าไปกลางหมู่บ้าน พวกญาติโยมก็ถวายทาน กลางคืนจึงเผา ในงานมีมหรสพมากมายทั้งฉายหนัง หมอลำ

หลวงปู่เห็นเขาดูหนัง (ภาพยนตร์) กัน ท่านจึงพิจารณาว่าทำไมเขาเรียกว่า “หนัง” เห็นมีแต่รูปเลยถามตัวเองว่า “อะไรเป็นหนัง” จิตตอบขึ้นว่าคำที่ว่า “หนัง” คือว่ามันสวยเพราะมนุษย์และสัตว์ในโลกนี้ติดอยู่ที่หนัง ที่ว่าคนนั้นสวย คนนี้งาม ก็เพราะมีหนังห่อหุ้ม ถ้าไม่มีหนังก็น่าเกลียดน่าขยะแขยง เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว ท่านรู้สึกว่าหนัง (ภาพยนตร์) นั้นไม่เห็นน่าดู สังขารเขาแต่งขึ้นมาทั้งนั้น ไม่รู้จะไปหลงทำไม จิตไม่อยากดูจึงเลิกดู

Image
พระอาจารย์แบน ธนากโร

Image
พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน

Image
พระอาจารย์กว่า สุมโน


• พรรษาที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๙๖
วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี


เมื่อเสร็จงานศพท่านพระอาจารย์กู่แล้ว หลวงปู่เดินทางกลับมาพักที่วัดป่าบ้านจิก (วัดทิพยรัฐนิมิตร) อีก แล้วไปอยู่ที่บ้านโนนทัน ไปภาวนาอยู่ที่นั่นพร้อมกับหลวงปู่อ่อน, พระบุญหนา (ปัจจุบันคือ พระอาจารย์บุญหนา ธัมมทินโน เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านหนองโดกหรือวัดป่าโสตถิผล อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร), เณรสมบูรณ์, เณรเลย อยู่หลายวัน แล้วหลวงปู่นึกอยากกลับมาเยี่ยมบ้าน จึงไปกราบนมัสการลาหลวงปู่อ่อนแต่ท่านไม่อนุญาต แต่ให้ไปบ้านหนองบัวบานกับท่าน จึงได้ไปช่วยท่านสร้างวัดป่านิโครธาราม ที่บ้านหนองบัวบาน

วันหนึ่งหลวงปู่ท่านมีอาการไข้ป่ากำเริบ จึงไปขอยาจาก หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ได้มาแล้วก็วางยาไว้ข้างตัวแล้วนั่งสมาธิ เนื่องจากท่านพระอาจารย์มั่นได้เคยเทศน์ไว้ว่า ให้รักษาการป่วยด้วยยาปรมัตถ์คือการภาวนา ท่านจึงลองดู เมื่อนั่งแล้วจิตรวมปรากฎแสงสว่าง เห็นต้นไม้หมดทั้งโลก เอายอดทิ่มดินเอารากชี้ฟ้า ครั้นหมดกำลังสมาธิ จิตก็ถอนออก อาการไข้ก็หายเป็นปลิดทิ้ง ท่านก็สงสัยว่าทำไมเป็นอย่างนี้ จึงไปกราบเรียนถามหลวงปู่อ่อน หลวงปู่อ่อนท่านรู้วาระจิตของศิษย์แล้วแต่ท่านไม่พูด ท่านตอบว่า “เออ ! ดีอยู่ ดีอยู่” หลวงปู่ท่านยังสงสัย ก็เดินคิดไปในวัด พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นหัวปูมเป้า (พืชชนิดหนึ่ง) ที่เขาแขวนไว้

ท่านเลยคิดว่า “ถ้ามึงไม่ได้กินดิน มึงตายนะ” ทันใดนั้นท่านก็วาบขึ้นในดวงจิตว่า จิตของสัตว์ในโลกอันนี้ พระพุทธเจ้าท่านเทศน์ว่า “พวกท่านทั้งหลายจงถอนตัณหาพร้อมทั้งราก” หากจิตของเราไม่ไปยึดเอารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ จิตนั้นย่อมเข้าถึงคุณธรรม จิตเป็นอนาสโว คือ จิตไม่ยึดมั่นถือในสิ่งทั้งปวง พ้นจากบ่วงร้อยรัดถึงความพ้นทุกข์ เหมือนกับว่าต้นไม้ที่รากไม่หยั่งลงดินแล้ว

ครั้งหนึ่งหลวงปู่ท่านภาวนาเห็นมนุษย์พากันเอามืองมอยู่ในดินหมดทั้งโลก ท่านพิจารณาได้ว่า มนุษย์นี้เกิดมาก็พากันงมโลก หลงโลก เอาแต่ทำมาหากิน ร้องรำทำเพลง ร้องหากันแต่ผู้หญิงผู้ชาย สัตว์ทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ไม่ได้คิดถึงทางจะหนีจากวัฏสงสาร จึงพากันงมโลก หลงโลก

พอวันใหม่มาเข้าสมาธิอีก ปรากฏลอยขึ้นไปบนอากาศโดยมีไม้กระดาน ๒ แผ่นรองอยู่ข้างใต้ หลวงปู่ท่านจึงอุทานว่า “มันรองเราแล้ว” สิ่งที่รองอยู่คือ ความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา อีกวันหนึ่งภาวนา ปรากฏว่าเข้าไปในถ้ำเสือ หลวงปู่ท่านจึงคิดสละตาย ให้เสือมากินเสีย เพราะรูปอันนี้ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของเขา ท่านปล่อยวางได้ เสือก็ไม่ได้มากินท่าน ปรากฏมีหญิง ๒ คนมาใส่บาตรท่าน แล้วจิตก็ถอนออก หลวงปู่ท่านว่านี่เป็นสิ่งลองใจว่ายังยึดมั่นถือมั่นในรูปนี้หรือไม่

มาถึงจุดนี้ปรากฏว่าจิตของท่านเฉย คือจิตเห็นเกิดเห็นดับ ทำจิตรอบรู้ในสังขาร รู้สภาวธาตุ รู้สภาวธรรม สภาวปัจจัย จิตหยุดไม่นึกไปในอดีต อนาคตเห็นเกิดเห็นดับหมดทั้งโลก ต้นไม้ แผ่นดิน ภูเขา เมื่อจิตเฉยก็ไม่ได้อยากพูดคุยกับใคร ไปไหนก็นั่งเฉย ขึ้นไปกราบหลวงปู่อ่อนแล้วก็เฉย จนหลวงปู่อ่อนท่านว่าพระฤาษี

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านข้ามทุ่งนาจากบ้านหนองบัวบาน มาบ้านหนองแซง ซึ่งไม่ไกลกันนัก ท่านมาศึกษา
กับ หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ ที่วัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) อยู่ประมาณ ๒๐ วัน

หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ เป็นศิษย์อีกองค์หนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นคนร้อยเอ็ด ในช่วงที่ท่านยังครองเรือนมีครอบครัวอยู่นั้น ท่านเป็นผู้ที่เคร่งครัดในการรักษาศีล ๘ มาก และยังภาวนาพุทโธอยู่ตลอดเวลาด้วย อย่างเวลาไถนา ดำนา ตำข้าว ก็บริกรรมพุทโธไม่ขาด

ท่านเคยเป็นผ้าขาวติดตาม หลวงปู่คำดี ปภาโส ไปจำพรรษาที่ถ้ำกวาง กิ่งอำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น กระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ หลวงปู่บัวท่านพบกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และได้ติดตามท่านโดยตลอด โดยตัดสินใจว่าจะบวช หลวงปู่อ่อนท่านจึงสอนขานนาคให้ แต่หลวงปู่บัวท่านเป็นผู้มีปัญญาทึบต้องใช้เวลาท่องอยู่นานถึง ๓ ปี จึงได้บวชที่วัดบึงพลาญชัย อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ขณะท่านมีอายุได้ ๕๓ ปี

เหตุที่ท่านมีปัญญาทึบนั้น ท่านเล่าให้หลวงปู่ผ่านฟังว่า ในอดีตท่านเคยเกิดเป็นหมูหลายชาติมาก ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย เป็นแต่หมูอยู่อย่างนั้น ชาติหนึ่งได้มาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นทหารยศนายพัน แต่ไม่สนใจทำบุญให้ทาน ตายไปจึงเกิดเป็นหมูอีกหลายชาติ เมื่อมาเกิดในชาติปัจจุบันท่านจึงมีปัญญาทึบ หลังจากบวชแล้วท่านได้ไปศึกษากับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน จากนั้นท่านจึงมาตั้งวัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) ขึ้น หลวงปู่บัวท่านมีนิสัยพูดน้อย ทำความเพียรมาก แม้จะบวชเมื่อมีอายุมากแต่มิได้เป็นอุปสรรคอันใด ท่านจึงได้รับคำยกย่องสรรเสริญจากครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่เป็นอันมาก กระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ท่านจึงมรณภาพ หลังจากฌาปนกิจศพท่านแล้วพบว่าอัฐิของท่านแปรสภาพเป็นพระธาตุจำนวนมาก แม้ปัจจุบันอัฐิของท่านก็แปรสภาพเป็นพระธาตุขึ้นเรื่อยๆ (ตามคำบอกเล่าของท่านเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน)

ช่วงที่อยู่วัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) นี้ เวลาใส่บาตรแล้วญาติโยมชาวบ้านเขาจะไม่มาวัดอีกเพราะงานเขามาก วันหนึ่งพระท่านมาชวนไปภาวนาบนภูเขา (แถบวัดถ้ำกลองเพลในปัจจุบัน) หลวงปู่ท่านบอกว่า ขออธิฐานดูนิมิตก่อน วันนั้นท่านนั่งภาวนาปรากฏจิตรวมแล้วเห็นตะขาบตัวใหญ่เท่าต้นมะพร้าวยาว ๖-๗ เมตร นอนกลิ้งไปกลิ้งมา เมื่อออกจากสมาธิจึงไปเล่าให้เพื่อนพระฟัง แล้วบอกว่าอย่าไปนะ อยู่กับครูบาอาจารย์ดีแล้ว เพราะช่วงเดือน ๓ นี้ชาวบ้านเขาขึ้นเขาไปเก็บผักหวานกัน มันจะวุ่นวาย ตกลงก็เลยไม่ไป

วันหนึ่ง เมื่อหลวงปู่ได้ฟังหลวงปู่บัวเล่าถึงอดีตชาติที่เคยเป็นหมูของท่านแล้ว จึงรู้สึกอยากรู้อดีตชาติของตนบ้าง เมื่อเข้าที่ภาวนาจิตรวมแล้ว ปรากฏช้างมานอนอยู่ข้างหน้า จึงถามว่า มาทำไม ? จิตตอบว่า ไม่รู้หรือว่านั่นคือตัวเรา เราเคยเกิดเป็นช้างในสมัยพุทธกาล ได้เป็นลูกน้องของช้างปาลิไลย์ ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับอยู่ด้วยและแสดงธรรมโปรด (กับทั้งทรงมีพุทธพยากรณ์ว่า ในอนาคตเบื้องหน้าช้างปาลิไลย์โพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามีนามว่า พระสุมงคลพุทธเจ้า จะมาตรัสรู้เป็นลำดับที่ ๑๐ เมื่อนับพระศรีอาริยเมตไตรย เป็นลำดับที่ ๑) จากนั้นจิตเห็นสุนัขนอนอยู่ จึงถามว่า ใคร ? ตอบว่า ไม่รู้จักเราหรือ เราเคยเกิดเป็นสุนัข จากนั้นก็เห็นนกกาบบัว (ซึ่งเป็นนกกินปลา) ยืนอยู่ แล้วก็ไปเห็นเป็นคนนั่งอยู่ในกระท่อม (เถียงนา) เป็นคนเลี้ยงวัว เมื่อท่านเห็นอย่างนี้แล้ว เกิดความเบื่อหนายในชาติ-ความเกิดเป็นอย่างยิ่ง เห็นว่ามันเป็นทุกข์หนัก

อีกครั้งหนึ่งหลวงปู่ท่านภาวนาเกิดนิมิตเห็นงูจงอางอยู่ในอก แล้วมันก็ลอยตรงออกมา ตัวงูจงอางยาวมาก ท่านพิจารณาได้ความว่า งูจงอางเป็นสัตว์มีพิษ คือกิเลส เคยอยู่ในตัวเรา บัดนี้มันเริ่มออกจากเราแล้ว ถัดจากนั้น ๒-๓ วันเกิดนิมิตเป็นเสียงว่า “ท่านจะตายนะ” หลวงปู่จึงเร่งความเพียรอย่างหนัก เพราะเห็นว่าเวลาเหลือน้อย ต้องช่วยเหลือตนเองให้มากที่สุด พอถึง ๗ วันก็ยังไม่เห็นตาย จึงเล่าให้พระองค์อื่นฟัง พระองค์นั้นว่า “ตายมีหลายอย่าง ที่ว่าตายนั้น อาจจะเป็นตายจากกิเลสก็ได้”

จากวัดป่าหนองแซง (วัดราษฎรสงเคราะห์) ท่านกลับไปที่วัดป่านิโครธารามอีก ต่อมาจึงกราบนมัสการลาหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ กลับมาบ้านเกิด ได้มาอยู่กับ หลวงปู่อุ่น อุตตฺโม ที่วัดอุดมรัตนาราม ใกล้เข้าพรรษาแล้วหลวงปู่อุ่นให้มาตั้งวัดขึ้นที่บ้านเซือมอันเป็นบ้านเกิด หลวงปู่จึงได้พาเณรมาด้วยมาตั้งวัดขึ้นที่บ้านเซือม

Image
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

Image
หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ

Image
หลวงปู่คำดี ปภาโส

Image
พระครูบริบาลสังฆกิจ (หลวงปู่อุ่น อุตฺตโม)


(มีต่อ ๔)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 13 ก.พ.2011, 9:54 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

• พรรษาที่ ๘ พ.ศ. ๒๔๙๗
ดอนบ้านร้าง บ้านเซือม อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร




*************************************


๏ เสาหลักในร่มธรรมแห่งบวรพระพุทธศาสนา

หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป พระมหาเถระพระป่านักปฏิบัติกรรมฐานอีกรูปหนึ่ง ที่มีศีลาจารวัตรที่งดงามน่าเลื่อมใสศรัทธา เป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อีกองค์หนึ่ง เป็นพระสุปฏิปันโนเนื้อนาบุญของชาวโลก เป็นเสาหลักในร่มธรรมแห่งบวรพระพุทธศาสนา แม้สังขารจะเข้าล่วงปีที่ ๘๕ ปี ครบรอบปีที่ ๗ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา ด้วยสุขภาพที่แข็งแรง ท่านยังได้ออกมาต้อนรับคณะศรัทธาญาติโยมที่เดินทางมาจากแดนใกล้ไกลเป็นจำนวนมาก เพื่อมาคารวะนมัสการทุกวันไม่เว้นมิได้ขาด

ทุกครั้งที่คณะศรัทธาญาติโยมขอพรขอศีล ท่านจะบอกว่า มีหลักอยู่ ๓ อย่าง คือ “ขออย่าได้เจ็บ อย่าได้ป่วยไข้ และสุดท้ายอย่าลืมหายใจ” ครั้นเมื่อได้สดับตรับฟังหลักธรรมจากท่านแล้ว จะทำให้จิตใจสงบและร่มเย็นเป็นสุข


๏ การมรณภาพ





.............................................................

 รวบรวมและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
http://www.watparpateepbhunyaram.com/
 ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง


(มีต่อ ๕)
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065

ตอบตอบเมื่อ: 13 ก.พ.2011, 12:56 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image
(ซ้ายมือ) หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป


ประสบการณ์ทิพยอำนาจจิต
ของ
“หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป”
จากคำบอกเล่าของศิษย์ท่านหนึ่ง

เรื่องราวที่ข้าพเจ้าจะเล่าให้สมาชิกทุกท่านได้ทราบถึงประสบการณ์ที่ได้ผ่านมาเกี่ยวกับประสบการณ์ทางจิตนั้นมีมากมายนัก ทว่าขอยกขึ้นให้ฟังกันเกี่ยวกับเรื่องที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสกับหลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป สักหนึ่งเรื่อง

เมื่อประมาณ ๕ ปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้รู้จักกับน้องคนหนึ่งซึ่งได้บวชรุ่นเดียวกับน้องชายของข้าพเจ้าที่วัดบวรนิเวศวิหาร น้องคนนี้เป็นคนที่คร่ำเคร่งในเรื่องอภิญญา ประสบการณ์ทางจิต พลังจิต ฯลฯ เป็นผู้ที่เดินทางแสวงหาความเป็นเลิศทางจิต ส่วนตัวผมนั้นไม่ค่อยจะเข้าทางนี้สักเท่าไหร่

วันหนึ่ง น้องเขาได้โทรมาหา แล้วบอกว่า พี่ยุทธ หลวงปู่ผ่านจะเดินทางลงมากรุงเทพฯ ท่านรับกิจนิมนต์โยมที่กรุงเทพฯ

ได้ยินดังนั้นข้าพเจ้ายังเฉยๆ แต่น้ำเสียงของน้องเขาดีใจมาก ตอนแรกก็สงสัยว่าทำไมน้ำเสียงถึงดีใจขนาดนั้น

แล้วน้องเขาได้ชวนผมว่า ไปกราบหลวงปู่กันไหม ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่งเลยนะ

เอ๊ะ...ใช้สรรพนามแทนว่า “องค์” เลยรึ ในใจคิดว่า น้องเขาก็ทราบดีอยู่ว่าสรรพนามนี้ใช้แทนองค์อรหันต์...งงงวยอยู่ในใจ แต่ก็ไม่คิดอะไรให้เลยเถิด

ก่อนวันที่หลวงปู่จะเดินทางมา น้องได้โทรมากำชับอีกครั้ง ว่าพรุ่งนี้ให้ไปเจอ ผมก็เออ...ออ...ห่อหมกไป เพราะภารกิจช่วงนั้นค่อนข้างมากนัก

พอถึงวัน ใกล้เวลาที่นัดหมาย ผมได้เดินทางไปยังสถานที่นัดหมาย ไปบ้านหลังหนึ่งแถวลาดพร้าว เมื่อไปถึง...แม่บ้านบอกว่า หลวงปู่ยังไม่กลับมาจากกิจนิมนต์เลย

รอสักแค่เพียงไม่กี่อึดใจ รถก็เลี้ยวเข้ามาในบ้าน น้องเขารีบกุลีกุจอลงเรือนไปรับหลวงปู่ถึงที่รถ ส่วนผมก็เป็นเหมือนไอ้ปื๊ดเดินตาม เพราะไม่รู้จักใคร...ฮึ...หลวงปู่ยังไม่รู้จักเลย...เชยชมัด

เมื่อหลวงปู่ผ่านลงจากรถ ท่านจัดแจงห่มจีวรใหม่ให้งามเรียบร้อย น้องเขายกมือขึ้นพนม นมัสการหลวงปู่ มือผมก็อัตโนมัติ ยกขึ้นนมัสการหลวงปู่

จากนั้นหลวงปู่กับบรรดาศิษย์ประมาณ ๔-๕ คน ก็เดินขึ้นเรือน ไปที่ห้องหนึ่งที่โยมหลวงปู่ได้จัดแจงเตรียมการต้อนรับ ในห้องนั้นมีคนนั่งสมาธิรอหลวงปู่อยู่ประมาณ ๒-๓ คน

ในห้องเปิดแอร์เย็นสบาย หลวงปู่เดินไปที่อาสนะ ขยับจีวร นั่งลงยังอาสนะนั้น

ส่วนลูกศิษย์ทั้งหลายก็เดินตามไปใกล้หลวงปู่ นั่งลง ก้มลงกราบหลวงปู่กันถ้วนหน้า

ส่วนผมนั้นเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบไปนั่งปั้นจิ้มปั้นเจ๋ออยู่ข้างหน้า...ประมาณว่าไม่ค่อยชอบคนเยอะ จึงนั่งรั้งท้ายสุดปลายห้อง ครั้นก้มลงกราบพระพุทธ ๓ ครั้งแล้ว ก็หันมากราบหลวงปู่อีก ๓ ครั้ง...แฮะ โดยอัตโนมัติอีกละ

เมื่อหลวงปู่และศิษย์นั่งเข้าที่เหมาะทาง บรรดาศิษย์ก็เริ่มการสนทนากับหลวงปู่ หลวงปู่ก็สนทนาอย่างโอภาปราศัย น้ำเสียงหลวงปู่นั้นช่างเปี่ยมไปด้วยเมตตาจิตเสียนี่กระไร ในใจคิด...

ส่วนลูกศิษย์ที่นั่งสมาธิอยู่ได้ลุกขึ้นกราบหลวงปู่ แล้วก็เข้าสมาธิกันต่อ โดยไม่พูดอะไร

เรื่องราวการสนทนากันนั้นผมก็ฟังบ้างไม่ฟังบาง เพราะตามัวแต่มองไปรอบๆ เพ่งจิตไปที่คนนั่งสมาธิบาง ดูหลวงปู่หลับตาเป็นระยะๆ

สักพัก...เริ่มเย็นค่ำ แอร์ที่เปิดก็เริ่มเย็นขึ้น ในใจคิดว่า...ทำไมแอร์มันโคตะระหนาวขนาดนี้ว๊ะ...

อะนะ...ฮืม...ฮืม หลวงปู่ ซึ่งนั่งสนทนากับบรรดาศิษย์อยู่ หันมาบอกว่า “ถ้าแอร์หนาวเกินก็ไปหรี่ซิ” ไอ้หยา...โดนเข้าแล้วซิ หลวงปู่อ่านจิตเข้าให้แล้ว คงเพราะมั่วแต่นั่งเหม่อมองซุกซนไปทั่ว ไม่ทันระวังจิตให้ดี...โดนซะ...

พอสิ้นเสียงหลวงปู่ ผมก็เดินเข่าไปยังสวิตปิด-เปิดแอร์ เอื้อมมือขึ้นไปที่ตัวหรี่หมุนองศาความเย็นให้ลดลง จาก ๑๙ ไป ๒๐ ไป ๒๑ ไป ๒๒ พอถึง ๒๓ ในใจก็คิดว่า “แค่นี้คงพอแล้วมั้ง”

เท่านั้นละหลวงปู่ส่งเสียงมาว่า “นั้นแหละ...แค่นั้นพอดีแล้ว”


(เหงื่อตกละงานนี้) เดินเข่ากลับมาที่เดิม ไม่พูดไม่จาอะไร

สักพัก รวมสติจิตกลับมาสู่ฐานดังเดิม ก็ยังไม่วายจะซุกซนต่อ

ในใจคิดว่า เห็นโดยทั่วไปบรรดาญาติโยมเขาชอบขอของดีจากพระกัน ไหงเราไม่เคยได้ขอของดีจากใครเลย...วันนี้น่าจะขอบ้างเนอะ

นั้นเลยคิดในใจว่า “หลวงปู่..ผมอยากได้ชานหมากหลวงปู่ไปบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล” คิดได้สักพัก หลวงปู่ก็จัดแจงหมาก เคี้ยวๆๆๆๆๆๆ

ปกติแล้ว...เมื่อคนทั่วไปหรือพระรูปใดเคี้ยวหมากแหลก จะบ่วนทิ้งที่กระโถน ทว่า ตอนนั้น...เมื่อหลวงปู่เคี้ยวหมากจนแหลก ได้บ่วนเฉพาะน้ำหมาก ส่วนเนื้อหมากนั้น ผมเห็นหลวงปู่ปั้นเป็นคำๆ อยู่ในปาก แต่ยังไม่คาย แล้วหลวงปู่ก็เข้าสมาธิ ไปถึงไหน ตามไม่เจอครับท่านผู้ชม

เมื่อหลวงปู่ออกจากสมาธิแล้ว...หลวงปู่ก็พูดว่า

ทุกวันเมื่อหลวงปู่เข้าสมาธิ หลวงปู่จะไปที่วิหารเล็กวิหารหนึ่ง เข้าไปนั่ง กำหนดเพลิงเข้าเผากิเลสทุกวัน ด้านหน้าวิหารเล็กนั้น มีวิหารใหญ่อยู่วิหารหนึ่ง ภายในมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ กำลังแสดงพระธรรมเรื่องอริยสัจ ๔ อยู่ แต่หลวงปู่ยังไม่เดินเข้าไป ทุกวันที่หลวงปู่ไปที่นั้น มีคนมากมายเดินเข้าไปในวิหารใหญ่นั้น เมื่อได้สดับฟังพระธรรมแล้ว ก็ไม่ออกมาอีกเลย


พอหลวงปู่เล่าจบ หลวงปู่ก็คายชานหมากที่ปั้นเป็นก่อนกลมเล็กๆ ออกมาวางไว้ที่ฝากระป๋อง ที่หลวงปู่เก็บของ ผมนึกในใจ...ตอนนี้คนเยอะ ถามเรื่องร้อยแปด เดี๋ยวให้สงบๆ ก่อนจะเอ่ยปากขอ...

สักพักเมื่อคนเริ่มสงบ ผมก็เอ่ยปากขอชานหมากหลวงปู่ หลวงปู่ก็ตอบว่า “เข้ามา” ผมก็คลานเข่า เข้าไป แบสองมือรับ พนมมือ คลานเข่าออก กลับมานั่งที่เดิม

เมื่อกลับมานั่งประจำที่หลวงปู่กล่าวต่อว่า “ไปตากแดดก่อน ราจะได้ไม่ขึ้น”

ผมก็ตอบไปสั้นๆ ว่า “ครับ”


หลวงปู่ผ่านท่านเป็นอริยสงฆ์โดยแท้ แต่ท่านถ่อมตัวครับ ผมขอพรจากท่านประการหนึ่ง ท่านก็บอกว่า “โอ๊ย อันนั้นต้องเป็นพระอรหันต์ถึงจะให้ได้ อาตมาไม่ใช่หรอก” สงสัยท่านคงนึกในใจว่า ไอ้นี่มันขอมากไป (เดี๋ยวไปขอใหม่ อิอิ)

ท่านถามผมว่า บวชมานานหรือยัง ตอนนั้นไม่รู้ความนัย ก็บอกไปว่า บวชประมาณ ๒ อาทิตย์ครับ แต่ต่อมาได้มารู้ภายหลังว่า ที่ท่านถาม ท่านถามลึกกว่านั้น แต่ตอนนั้นเราตามไม่ทันเอง

รอยยิ้มของท่านเมตตามากๆ ส่วนเรื่องชานหมากเนี่ย ลูกศิษย์ตากแดดไว้เลย เตรียมแจกคนที่จะมาขอ

พระสุปฏิปันโนในประเทศไทยเยอะจริงๆ มีทั่วทุกภาค ทางปราจีนบุรีก็มีเยอะนะครับ แต่ผมยังไม่ได้ไป ทางเหนือก็มี โดยเฉพาะทางอีสานมีเยอะมากที่สุด พระสุปฏิปันโนบางรูปนั้น ท่านอยากอยู่เงียบๆ ไม่เป็นที่รับรู้ของคนทั่วไปมากนัก แต่บางท่านก็ต้องการสงเคราะห์คนนะครับ นี่แหละครับ ถ้าพระสงฆ์ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนอย่างจริงจัง ก็ไม่ไร้ซึ่งพระสุปฏิปันโน ไม่ว่าจะบนผืนแผ่นดินไทย หรือที่ไหนในโลกนี้

Image
หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป, พระอาจารย์ประสิทธิ์ ปุญญมากโร
และหลวงพ่อคำ กาญจนวัณโณ ณ หอพระ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต


เทียน ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ผ่าน ปัญญาปทีโป”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=36404
 

_________________
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง