|
|
|
 |
ผู้ตั้ง |
ข้อความ |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
12 ก.ย. 2006, 11:06 pm |
  |
ประวัติและปฏิปทา
พระครูภาวนาสุทธาจารย์
(พระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ)
วัดเวฬุวันวนาราม (วัดเวฬุวัน)
ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
๏ ชาติภูมิ
พระครูภาวนาสุทธาจารย์ หรือ ท่านพระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ มีนามเดิมว่า สาคร แสงมุกดา เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2488 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ปีระกา ณ บ้านโนนสงเปลือย ต.หนองบัว อ.หนองบัวลำภู จ.อุดรธานี (ปัจจุบันคือ ต.เหล่าโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู) โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายบู่ แสงมุกดา และนางบัวลา แสงมุกดา (สกุลเดิมของโยมมารดาคือ ชามนตรี ทายาทอดีตเจ้าเมืองหนองบัวลำภูในยุคนั้น) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 7 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 5
ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเวฬุวันวนาราม (วัดเวฬุวัน) ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และประธานสงฆ์แห่งวัดป่ามณีกาญจน์ ต.ศาลากลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
๏ การศึกษาเบื้องต้น
หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านนาวังเวิน ต.โพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ก็มิได้ศึกษาต่อ ด้วยเหตุที่ทางบ้านไม่สนับสนุน ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่โยมตาของท่านซึ่งเคยรับราชการในตำแหน่งสูงด้วยความซื่อสัตย์ กลับถูกสอบสวนอย่างไม่เป็นธรรมจนถูกจำคุกอยู่ถึง 20 ปี โยมตาจึงหมดความศัทธาในระบบราชการ จึงไม่สนับสนุนให้ศึกษาต่อ อีกทั้งโยมตาท่านก็อยากให้มาช่วยกันดูแลกิจการทางบ้าน เรือกสวนไร่นา วัวควาย ของครอบครัวตนเองจะดีกว่า และโยมบิดา-โยมมารดาก็เห็นดีด้วย พระอาจารย์สาครซึ่งโดยนิสัยเชื่อฟังผู้ใหญ่อยู่เป็นพื้นฐาน จึงไม่ได้กลับไปศึกษาต่อ แม้ครูจะมาตามให้กลับไปเรียนก็ตาม
๏ เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว
ด้วยทางครอบครัวถือได้ว่ามีฐานะดีพอสมควร เพราะมีเรือกสวนไร่นา ทั้งสัตว์เลี้ยงวัวกระบือที่ต้องดูแลมาก เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ท่านจึงช่วยทางบ้านทำงานอย่างแข็งขัน เมื่อถึงฤดูฝนก็ทำไร่ ทำนา และเมื่อหมดหน้านาก็ต้องต้อนฝูงวัวควายไปขายต่างบ้าน และต้องคุมหมู ไก่ กลับมาขาย บางครั้งก็ตามโยมบิดาเข้าป่าไปหาใบยาและของป่า เนื่องจากโยมบิดาเป็นหมอยา ท่านจึงได้ความรู้เรื่องยาและสมุนไพรอีกด้วย
๏ เห็นทุกข์ทางโลก
ด้วยหมู่บ้านสมัยก่อน บ้านเรือนมักอยู่ไม่ห่างกันนัก มีอะไรก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บางครั้งคนในหมู่บ้านจะคลอดลูก ได้ยินเสียงร้องโอดโอยไปไกลหลายหลังคาเรือน ท่านมีโอกาสได้ตามไปดู ได้เห็นความเจ็บปวด ทุกขเวทนาของผู้หญิงที่จะกำลังคลอดลูก ทำให้ท่านรู้สึกกลัว อีกทั้งเมื่อท่านคิดถึงเด็กที่อยู่ในท้องที่ต้องไปขดอยู่ในที่แคบๆ เป็นเวลานาน ให้รู้สึกอึดอัดเป็นอย่างยิ่ง แค่คิดก็แย่แล้ว แต่นี่คนที่จะเกิดต้องทนอยู่ถึง 9 เดือน และในบางครั้งการคลอดลูก ผู้เป็นแม่ตายบ้าง เด็กไม่รอดบ้าง บางทีก็ต้องมาตายทั้งแม่ทั้งลูก ด้วยการคิดพิจารณาจากประสบการณ์ที่รับรู้มา ทำให้ท่านเห็นว่าการเกิดนั้นเป็นทุกข์อย่างยิ่ง กอปรกับเมื่อท่านต้องช่วยทำงานไร่นาที่บ้านอย่างเหน็ดเหนื่อย ทำให้ท่านเห็นว่าชีวิตคนทางโลกต้องทำมาหากินไม่หยุดหย่อนเพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีอะไรเป็นสาระที่แท้จริง
๏ จะบวชเป็นท่านเจ้าคุณ
ในวัยเด็กเมื่อว่างจากกิจการงานที่ทำแล้ว ท่านมีโอกาสติดตามโยมมารดาและญาติผู้ใหญ่ไปวัดโดยสม่ำเสมอ ด้วยมีญาติพี่น้องบวชอยู่ ท่านจึงคุ้นเคยกับชีวิตสมณะ นักบวช และเนื่องจากโยมพี่ชายของท่าน (หลวงตาวา) ได้บวชเป็นเณรอยู่วัดมหาชัย โยมมารดาจึงได้อาศัยใช้ท่านนำอาหารไปถวายเสมอ ทำให้มีจิตใจฝักใฝ่ในการศึกษาธรรม และท่านก็ได้เห็นเณรพี่ชายท่านต้องถูกฝึกหัดให้ทำงาน และรับใช้อุปัฎฐากท่านเจ้าคุณอยู่ที่วัดอยู่เป็นประจำ ทำให้ท่านเกิดความคิดว่า เมื่อท่านจะบวช ท่านจะไม่บวชเป็นเณร แต่อยากจะบวชเป็นท่านเจ้าคุณ
พระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ
เมื่อครั้งยังมีอายุพรรษาไม่มากนัก
๏ ออกบวช
อำเภอหนองบัวลำภูในยุคนั้น อยู่บนเส้นทางที่พระวิปัสสนากัมมัฎฐานหลายรูปใช้เป็นเส้นทางเดินธุดงค์เพื่อไปอบรมปฏิบัติและฟังธรรมจากองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่จังหวัดสกลนคร และหลายท่านได้มาพักสร้างวัดในธรรมยุติกนิกายที่เน้นการปฏิบัติขึ้น ณ อำเภอแห่งนี้ ซึ่งญาติพี่น้องของท่านพระอาจารย์สาครเองก็ได้บวชเป็นพระเณรกันหลายคน บางท่านบวชเรียนสามารถสอบได้นักธรรม เปรียญธรรมประโยคต่างๆ บางท่านได้รับสมศักดิ์เป็นท่านเจ้าคุณ มีจริยวัตรงดงาม แสดงธรรมเทศนาได้ลึกซึ้งน่าติดตาม
ดังนั้น เมื่ออายุครบอุปสมบท ท่านพระอาจารย์สาครจึงตัดสินใจกราบขออนุญาตโยมบิดา-โยมมารดาลาบวชเพื่อศึกษาธรรม โดยได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2508 ณ พัทธสีมาวัดมหาชัย ต.หนองบัว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู โดยมี พระพิศาลคณานุกิจ (หลวงพ่อเส็ง กัณณวโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระสมุห์คำบาล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า ธมฺมาวุโธ อันมีความหมายเป็นมงคลว่า ผู้มีธรรมเป็นอาวุธ สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ท่านได้อยู่จำพรรษาแรก ณ วัดมหาชัย
๏ จะไม่อยู่ใกล้บ้าน
เมื่อจำพรรษาแรก ณ วัดมหาชัย เพื่อโปรดญาติโยม และเมื่อทางบ้านได้อนุโมทนาการบวชของท่านพอสมควรแล้ว ได้ขอให้ท่านลาสิกขาบทเพื่อมาดูแลไร่นาและบ้านต่อไป หากแต่ด้วยท่านมีจิตใจที่มุ่งมั่นแล้วว่าจะบวช ดังนั้นท่านจึงผัดผ่อนเรื่อยมา หากญาติโยมมาตอนเช้า ท่านก็บอกให้รอตอนเย็นเสียก่อน หากญาติโยมมาตอนเย็น ท่านก็บอกให้รอเช้าเสียก่อน จนออกพรรษาท่านจึงกราบลาอุปัชฌาย์เดินทางเพื่อแสวงหาครูบาอาจารย์ต่อไป โดยท่านตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่อยู่ในจังหวัดเลย อุดรธานี หนองคาย เพราะอยู่ใกล้บ้านใกล้ญาติโยมเกินไป
๏ แสวงหาครูบาอาจารย์
ตลอดพรรษาปี พ.ศ.2508 ท่านพระอาจารย์สาครได้ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัยต่างๆ จนมีความเข้าใจเป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยสร้างพระอุโบสถวัดมหาชัยจนสำเร็จลุล่วง ครั้นเมื่อออกพรรษาและได้ทำพิธีฉลองพระอุโบสถในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2509 แล้ว ท่านจึงกราบลาพระอุปัชาฌาย์เพื่อออกเดินทางไปกับท่านพระอาจารย์แถว โดยออกเดินทางโดยรถไฟจากจังหวัดอุดรธานี แล้วไปเปลี่ยนรถไฟที่ภาชี เพื่อจะไปยังจังหวัดพิษณุโลก เมื่อถึงจังหวัดพิษณุโลกแล้ว ท่านจึงโดยสารรถยนต์ต่อไปยังบ้านป่าหญ้าคา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านพระอาจารย์แถว เพื่อทำกิจธุระ เมื่อทำธุระเสร็จแล้ว ท่านพระอาจารย์แถวจึงพาท่านลงมาที่วัดนิรมลวัฒนา อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งท่านพระอาจารย์แถวเป็นเจ้าอาวาสอยู่
ต่อมาในวันวิสาขบูชา ท่านได้มีโอกาสพบท่านพระอาจารย์ทองดี ชุตินธโร เป็นครั้งแรก ซึ่งมาร่วมลงอุโบสถ์ที่วัดแห่งนี้ และได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านพระอาจารย์ทองดีเรื่องครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่สายองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งขณะนั้นครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่เริ่มทยอยเดินทางกลับสู่ภาคอีสานแล้ว แต่เนื่องจากขณะนั้นใกล้ฤดูกาลเข้าพรรษา ท่านพระอาจารย์สาครจึงจำพรรษาที่วัดนิรมลวัฒนากับท่านพระอาจารย์แถวก่อน
หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
หลวงปู่หลุย จันทสาโร
๏ กราบองค์หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
ครั้นเมื่อออกพรรษา ท่านพระอาจารย์สาครจึงออกเดินทางกลับจากจังหวัดเพชรบูรณ์ สู่ภาคอีสาน การเดินทางในคราวนั้น ท่านต้องเดินทางผ่านจังหวัดเลย ท่านจึงแวะกราบนมัสการองค์หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ซึ่งขณะนั้นองค์หลวงปู่ชอบพักอยู่ที่วัดป่าม่วงไข่ ต.สานตม อ.ภูเรือ จ.เลย เมื่อท่านพระอาจารย์สาครเข้าไปกราบนมัสการองค์หลวงปู่ชอบ ซึ่งท่านมีจิตเมตตาให้ท่านพระอาจารย์สาครพักอยู่ด้วย พร้อมทั้งแนะนำให้อุบายธรรมต่างๆ ให้นำไปปฏิบัติ ทำให้ผลการปฏิบัติธรรมของท่านพระอาจารย์สาครมีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ
ช่วงเวลาที่ท่านได้พักอยู่กับองค์หลวงปู่ชอบนั้น ท่านต้องตื่นแต่ตี 3 เพื่อมารองน้ำหมอกไว้เป็นน้ำฉัน ท่ามกลางอากาศหนาวจัดขนาดที่ว่ากำมือแล้วต้องเอามืออีกข้างหนึ่งมาแกะออก อีกทั้งเครื่องกันหนาวต่างๆ ก็มีไม่มากเหมือนยุคปัจจุบัน ในช่วงกลางวันที่ต้องทำงานก่อสร้าง ท่านต้องหาฟืนและผ่าฟืนด้วย ท่านผ่าฟืนจนมือพอง จากมือพองจนมือแตก ในช่วงกลางคืน องค์หลวงปู่จะพาพระเณรนั่งภาวนาตั้งแต่ช่วงค่ำจนกระทั่ง 5 ทุ่ม จึงพาทำวัตรเย็น ในขณะที่พระเณรนั่งภาวนากันเงียบอยู่นั้น องค์หลวงปู่ก็จะสูบบุหรี่ ฉันหมาก และฉันหมาก สูบบุหรี่ สลับกันไป แต่หากใครพลิกขาหรือขยับแม้แต่นิดเดียว ท่านก็จะรู้ ท่านจะพูดว่า พระพวกนี้เคารพขามากกว่าเคารพธรรม อุตส่าห์แบกกลดแบกบาตรแสวงหาธรรม แต่เมื่อธรรมเกิดขึ้นกลับไม่ยอมพิจารณา สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างอุบายที่องค์หลวงปู่ชอบใช้อบรมสั่งสอนศิษย์
ท่านพระอาจารย์สาครได้อยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมจากองค์หลวงปู่ชอบ ฐานสโม อยู่ช่วงระยะหนึ่ง ต่อมา องค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร ซึ่งขณะนั้นท่านพำนักอยู่ที่วัดกกกอก ต.งิ้วตาก อ.วังสะพุง จ.เลย ได้มีจดหมายส่งไปนิมนต์พระเณรในแถบนั้นให้ไปร่วมงานทำบุญฉลองศาลาวัดกกกอก ท่านพระอาจารย์สาครจึงได้ไปร่วมงาน และได้มีโอกาสกราบนมัสการองค์หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ในครั้งนั้นด้วย
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวัฑฒโน)
ในวาระโอกาสทรงเสด็จเยี่ยมวัดเวฬุวันวนาราม (วัดเวฬุวัน) จ.กาญจนบุรี
เพื่อนมัสการ พระพุทธรัตนสังขละบุรีศรีสุวรรณ (พระแก้วสีขาว)
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2541 โดยมี พระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ ร่วมเฝ้ารับเสด็จ
(มีต่อ 1) |
|
|
|
    |
 |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
11 ก.พ.2008, 11:14 am |
  |
หลวงปู่หลุย จันทสาโร
หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต
หลวงปู่คำดี ปภาโส
๏ อุปัฎฐากองค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร
ในคราวที่ไปร่วมงานฉลองศาลาวัดกกกอกนั้น ท่านพระอาจารย์สาครได้มีโอกาสเข้ากราบนมัสการองค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร ต่อเมื่อเสร็จงานฉลองศาลาแล้ว สามเณรผู้ดูแลอุปัฏฐากองค์หลวงปู่หลุย ต้องไปคัดเลือกทหาร ท่านพระอาจารย์สาครจึงได้รับเมตตาจากองค์หลวงปู่หลุยให้ทำหน้าที่นี้ พร้อมกับได้มีโอกาสฟังพระธรรมาเทศนา อบรมสั่งสอน ฝึกความอดทน และรับการแนะนำธรรมภาคปฏิบัติจากองค์หลวงปู่หลุยอีกด้วย การอยู่ดูแลรับใช้อุปัฎฐากองค์หลวงปู่หลุยนั้น ท่านพระอาจารย์สาครได้มีโอกาสติดตามองค์หลวงปู่ออกธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วจังหวัดเลย รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง
๏ ธุดงค์กับองค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร
ครั้งหนึ่ง ท่านพระอาจารย์สาครมีโอกาสได้ร่วมออกเดินธุดงค์ติดตามเพียงลำพังไปกับองค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร เมื่อองค์หลวงปู่ต้องเดินทางไปงานที่วัดท่าแขก โดยองค์หลวงปู่หลุยพาเดินทางจากบ้านกกกอก ข้ามเขาลงมายังบ้านไร่ม่วง เพื่อกราบองค์หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต ที่วัดป่าอัมพวัน ต.น้ำหมาน อ.เมือง จ.เลย ซึ่งระหว่างทางนั้นเอง ท่านพระอาจารย์สาครได้ถูกฝึกความอดทน ความเพียรจากองค์หลวงปู่หลุยอย่างหนัก กล่าวคือ ครั้งหนึ่งซึ่งตรงกับวันโกนในพระธรรมวินัย ซึ่งองค์หลวงปู่หลุยอนุญาตให้ท่านพระอาจารย์สาครปลงเกศาให้องค์หลวงปู่จนเสร็จแล้ว องค์หลวงปู่ก็ไปสรงน้ำชำระร่างกาย ท่านพระอาจารย์สาครจึงเริ่มปลงเกศาของท่านเอง เมื่อท่านปลงเกศาไปได้เพียงครึ่งเดียว องค์หลวงปู่หลุยก็สรงน้ำเสร็จพอดี ท่านได้บอกกับท่านพระอาจารย์สาครว่า เราออกเดินทางกันต่อไปเถอะ
คำว่า ไป ขององค์หลวงปู่หลุยนี้ ท่านมิได้เพียงแต่พูด ท่านได้ออกเดินทางไปจริงๆ ท่านพระอาจารย์สาครจึงต้องหยุดการปลงเกศาตนเองไว้เท่านั้น รีบไปเก็บสัมภาระอัฐบริขารต่างๆ ทั้งของท่านเองกับขององค์หลวงปู่ด้วย ซึ่งมีถุงบาตรและย่ามอย่างละ 2 ใบ แล้วรีบออกเดินทางต่อเพื่อที่จะเดินทันองค์หลวงปู่หลุย แล้วท่านจึงเริ่มทำการปลงเกศาต่อโดยใช้วิธีเดินไปปลงเกศาไป เพื่อปลงให้แล้วเสร็จก่อนถึงหมู่บ้าน ซึ่งครั้งนั้นเป็นการปลงเกศาที่ลำบากมาก เพราะมือข้างหนึ่งทำการปลงเกศา อีกข้างหนึ่งก็แบกย่ามกับถุงบาตรอีก 2 ใบ ซึ่งโดยปรกติการเดินปลงเกศาก็เป็นเรื่องลำบากอยู่แล้ว แต่ท่านยังต้องสะพายของบนบ่าอีก จึงเป็นการเพิ่มความลำบากให้กับท่านยิ่งขึ้น ในครั้งนั้นท่านจึงถูกมีดโกนบาดเสียหลายแผล
เมื่อกราบลาองค์หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต แล้ว องค์หลวงปู่หลุยได้พาเดินต่อไปยังถ้ำผาปู่ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย เพื่อกราบองค์หลวงปู่คำดี ปภาโส และ ณ ที่นี้ท่านได้รับการฝึกอีกครั้งในระหว่างที่พักอยู่ คือโดยปกติแล้วหลังจากท่านทำอาจริยวัตรถวายองค์หลวงปู่หลุยเสร็จในช่วงเช้า และองค์หลวงปู่ได้เข้าพักแล้ว โดยปกติองค์หลวงปู่จะออกมาอีกครั้ง ในเวลา 2-3 โมง ท่านพระอาจารย์สาครจึงแยกไปภาวนาที่ถ้าผาปู่เพียงลำพัง สักครู่ที่ท่านเดินจงกรมภาวนาอยู่ ปรากฏว่าจิตท่านมีอาการผิดปกติ ข้างในมีอาการเต้นเร็ว ท่านเห็นผิดปกติจึงออกจากการภาวนา เดินออกมา
พอพ้นถ้ำเท่านั้นก็ได้ยินเสียงระฆัง อันเป็นสัญญานเรียกพระเณรที่ถ้ำผาปู่ดังลั่นวัด ท่านพระอาจารย์สาครจึงรีบมาทันที ปรากฏว่าองค์หลวงปู่หลุยเป็นผู้ตีระฆังเพื่อเรียกหาท่าน พระเณรออกมาดูกันทั้งวัด แต่เพราะท่านอยู่ในถ้ำจึงไม่ได้ยินเสียงเลยแม้แต่น้อย องค์หลวงปู่จึงถามท่านและบอกว่าจะเดินทางต่อ อันเป็นนิสัยการมาเร็วไปเร็วขององค์หลวงปู่ ท่านพระอาจารย์สาครจึงกราบเรียนถึงที่อยู่และอาการของจิตท่าน องค์หลวงปู่จึงมิได้ต่อว่าอย่างไร นับเป็นอีกครั้งที่การภาวนาและความจดจ่ออยู่กับครูบาอาจารย์เสมอ ช่วยให้ท่านไม่ถูกตำหนิได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันพึงมีในพระติดตามครูบาอาจารย์ต่อไป
เมื่อออกจากวัดถ้ำผาปู่แล้ว ได้เดินธุดงค์ต่อไปยังวัดท่าแขก อันเป็นเป้าหมาย ท่านพระอาจารย์สาครได้อยู่ช่วยงานศพจนแล้วเสร็จ และเมื่อพระอุปัฎฐากองค์หลวงปู่หลุยได้มาถึงแล้ว ท่านพระอาจารย์สาครจึงกราบลาองค์หลวงปู่หลุยที่วัดท่าแขกแห่งนี้เอง องค์หลวงปู่หลุยวางใจในท่านพระอาจารย์สาครแล้วจึงอนุญาตให้ไปได้ ท่านจึงได้เดินทางย้อนกลับมายังถ้ำผาบิ้ง โดยหมายใช้เป็นสถานที่วิเวกภาวนาต่อไป ช่วงเวลาที่ท่านพระอาจารย์สาครได้อุปัฏฐากรับใช้ และอยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างใกล้ชิดกับองค์หลวงปู่หลุยนั้น เป็นเวลานานถึง 5 เดือน
๏ เวทนาทางกาย
ในปี พ.ศ.2510 ขณะที่ท่านพระอาจารย์สาครเดินธุดงค์มาถึงที่ถ้ำผาบิ้ง ท่านได้พิจารณาพักอยู่เพื่อปฏิบัติภาวนาชั่วระยะหนึ่ง (ขณะนั้นองค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร ยังไม่ได้อยู่ที่ถ้ำผาบิ้งนี้) ท่านได้ไปบิณฑบาตที่หมู่บ้านน้ำทบได้เพียงข้าวเปล่าเท่านั้น และบางวันก็ได้พริกป่นกับเกลือมาด้วย ท่านก็ได้พิจารณาฉันตามฐานะนักบวช หากด้วยความไม่คุ้นเคย ทำให้ท่านปากพองแสบร้อนไปหมด จนแม้แต่ฉันน้ำก็ยังทรมาน เกิดเวทนาทางกายยิ่งนัก
๏ เสือช่วย
ตกคืนนั้นที่ท่านนั่งภาวนาอยู่ภายในถ้ำ ปรากฏมีเสียง สวบ สวบ ดั่งเสียงเสือเดินอยู่หน้าถ้ำ ด้วยความกลัวท่านจึงนั่งหลับตานิ่ง เร่งภาวนา พุทโธ พุทโธ อยู่ภายในใจ จนจิตสงบเงียบลงไป เหลือแต่มีความรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ขณะนั้นท่านพิจารณาร่างกาย สังขาร ข้อธรรมใดก็พิจารณาได้หมด จวบจนกระทั่งเช้าได้เวลาบิณฑบาตจึงได้ถอนออกจากการภาวนา นับเป็นเวลานานที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว นับจากที่ท่านได้เข้าภาวนาขณะได้ยินเสียงเสือเมื่อราว 1 ทุ่ม เมื่อท่านออกจากภาวนาแล้วก็ได้หวนคิดดื่มด่ำกับสิ่งที่เกิดขึ้น อัศจรรย์ว่า ตัวเราภาวนาได้ขนาดนี้เชียวหรือ และคิดว่า ถ้าเสือไม่ช่วยเรา คงยังติดอยู่ ขณะที่ภาวนานั้นก็ไม่รู้เสือหายไปไหน เมื่อท่านมาดูอย่างละเอียดจนเข้าใจว่าน่าจะเป็นบ่างมากินมะขามจากต้นหน้าถ้ำมากกว่า
เช้าวันนั้นท่านออกไปบิณฑบาตก็ได้ข้าวกับพริกเกลือเช่นเดิม แต่ครั้งนี้ท่านฉันแล้วไม่รู้สึกแสบปาก แสบลิ้นดังที่เคย ท่านจึงได้พำนักอยู่ปฏิบัติภาวนาต่อในถ้ำผาบิ้งแห่งนี้ และตลอดเวลา 2 ถึง 3 อาทิตย์ที่อยู่นั้น การภาวนาของท่านได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง แต่เพราะมีนัดหมายกับท่านพระอาจารย์ทองดี ไว้ว่าจะไปพบกันที่วัดถ้ำกลองเพล ต.โนนทัน อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ก่อนสิ้นเดือนเมษายน ทำให้ท่านต้องละจากถ้ำผ้าบิ้งแห่งนี้ไป
หลวงปู่ขาว อนาลโย
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม
พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ
๏ จากถ้ำผาบิ้งไปวัดถ้ำกลองเพล
หลังฉันเช้าเสร็จประมาณ 9 โมงเช้า ท่านพระอาจารย์สาครออกเดินเท้าจากถ้ำผาบิ้งเพื่อไปยังหมู่บ้านโนนสงเปลือย ต.เหล่าโพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองบังลำภู โดยมีระยะทางทั้งสิ้นกว่า 95 กิโลเมตร ท่านเดินทางตามผ่านป่า ผ่านดงหนองไผ่ หากช่วงไหนเป็นหมู่บ้าน ท่านจะเดินเลี่ยงอ้อมเอา โดยท่านจะเดินภาวนาพุธโธไปตลอดระยะทาง ทำให้จิตสงบ กายเบา จิตเบา จนท่านสามารถเดินได้เร็วมาก โดยไม่เหน็ดเหนื่อยเลยแม้แต่น้อย
ท่านมาถึงไร่โยมบิดา บ้านโนนสงเปลือย เวลาบ่าย 5 โมงเย็น ใช้เวลาเดินเท้าทั้งสิ้นเพียง 7 ชั่วโมงเท่านั้น นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง เมื่อมาถึงไร่ ปรากฏว่าโยมบิดากลับบ้านไปแล้ว ท่านจึงกางกลดพักอยู่ที่กระต๊อบในไร่นั้นเอง เช้าวันรุ่งขึ้นได้บิณฑบาตโปรดโยมที่บ้านโนนสงเปลือย แล้วไต่ถามได้ความว่าโยมพี่สะใภ้จะเดินทางไปอุดรธานีพอดี จึงนั่งรถโดยสารไปกับโยมพี่สะใภ้ เพื่อเดินทางไปต่อจนถึงวัดถ้ำกลองเพล
๏ กราบองค์หลวงปู่ขาว อนาลโย
เมื่อถึงวัดถ้ำกลองเพล (พ.ศ.2510) ท่านพระอาจารย์สาครได้เข้ากราบนมัสการองค์หลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งขณะนั้นกำลังอาพาธ และมีครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่สำคัญหลายองค์มาถวายการดูแลองค์หลวงปู่ อันได้แก่ ท่านพระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ, ท่านพระอาจารย์วัน อุตฺตโม, ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ, ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร และท่านพระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต ซึ่งถือว่าเป็นโชคดีของท่านพระอาจารย์สาครที่ได้มีโอกาสรับใช้ครูบาอาจารย์องค์สำคัญในคราวนั้นด้วย หลังจากที่ได้พบกับท่านพระอาจารย์ทองดี ที่ได้นัดหมายไว้ จึงได้กราบลาองค์หลวงปู่ขาว อนาลโย เพื่อออกเดินทางต่อไป
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร
พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต
พระอาจารย์สีลา อิสฺสโร
๏ กราบองค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ครั้งแรก
ท่านพระอาจารย์สาครออกเดินทางจากวัดถ้ำกลองเพล พร้อมท่านพระอาจารย์ทองดี โดยได้พาท่านพระอาจารย์สาครไปงานศพท่านพระอาจารย์สีลา อิสฺสโร พระอุปัชฌาย์ของท่านพระอาจารย์ทองดี ณ สำนักงานสงฆ์วัดโพธิ์ชัย ต.วาใหญ่ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร และ ณ ที่แห่งนี้เอง ที่ท่านพระอาจารย์สาครได้พบองค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นครั้งแรก
ท่านพระอาจารย์สาครได้ระลึกถึงคำขององค์หลวงปู่หลุย ที่บอกว่าองค์หลวงปู่ฝั้นเป็นพระที่ได้รับการยกย่องจากองค์หลวงปู่มั่นในด้านความสามารถทางด้านจิตใจ ทั้งองค์หลวงปู่หลุยแม้พรรษาจะมากกว่าองค์หลวงปู่ฝั้น ก็เรียกองค์หลวงปู่ฝั้นด้วยความเคารพว่า อาจารย์ใหญ่ ดังนั้น องค์หลวงปู่ฝั้นจึงเป็นพระผู้ที่มีความสำคัญมาก ทั้งท่านพระอาจารย์ทองดีก็สนับสนุนให้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมและอุปัฏฐากรับใช้อยู่กับองค์หลวงปู่ฝั้นโดยให้เหตุผลว่า ที่นั้นมีตั้ง 2 วัด หากไม่พอใจในวัดป่าอุดมสมพรก็สามารถขึ้นเขาไปอยู่ที่วัดถ้ำขามได้
ดังนั้น เมื่อเสร็จจากงานศพท่านพระอาจารย์สีลาแล้ว ท่านพระอาจารย์สาครได้แยกกับท่านพระอาจารย์ทองดีที่นี่เอง โดยท่านตั้งจุดหมายการเดินทางต่อไปยังวัดป่าอุดมสมพร ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เพื่อกราบถวายตัวเป็นลูกศิษย์ขององค์หลวงปู่ฝั้นต่อไป
พระอาจารย์แปลง สุนฺทโร
พระอาจารย์ปิ่น ปิยธัมโม
พระอาจารย์อุทัย สิริธโร
๏ ถึงวัดป่าอุดมสมพร
ลุถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ.2510 อันเป็นวันลงอุโบสถ ท่านก็มาถึงวัดป่าอุดมสมพร ได้กราบองค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร และนับจากวันนั้นท่านได้อยู่ถวายตัวเป็นศิษย์องค์หลวงปู่ฝั้นมาตลอด ขณะนั้นที่วัดป่าอุดมสมพรมีพระสงฆ์อยู่เพียง 5 รูป และสามเณรอีก 1 รูป คือ (1) องค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร (2) ท่านพระอาจารย์แปลง สุนฺทโร (3) หลวงตาพรหม (4) หลวงตาไข (5) หลวงตาอ่อน และเณร ด้วยขณะนั้น ท่านพระอาจารย์ปิ่น ปิยธัมโม ไม่อยู่ และ ท่านพระอาจารย์อุทัย สิริธโร ยังไม่ลงมาจากถ้ำขาม ทั้งท่านพระอาจารย์แปลงก็มีภาระดูแลงานอื่นเป็นจำนวนมาก คงมีหลวงตาอ่อนดูแลอุปัฏฐากองค์หลวงปู่ฝั้นอยู่ผู้เดียว
ท่านพระอาจารย์สาครจึงได้เข้ามาช่วยงานหลวงตาอ่อนอีกแรงหนึ่ง นับจากนั้นท่านก็ได้รับหน้าที่ดูแลอุปัฏฐากองค์หลวงปู่ฝั้นมาโดยตลอด จากการที่ได้มีโอกาสอุปัฏฐากรับใช้อย่างใกล้ชิดองค์หลวงปู่ฝั้น ได้รับฟังธรรมโอวาท รวมทั้งได้เห็นจริยาวัตรอันงดงาม ทั้งข้อปฏิบัติที่เพียบพร้อม ทำให้ท่านพระอาจารย์สาครเกิดความเลื่อมใสศรัทธาและลงใจในองค์หลวงปู่ฝั้นเป็นอย่างยิ่ง แม้เพิ่งจะมาถวายตัวรับใช้กับองค์หลวงปู่เพียงไม่นาน
ทัศนียภาพภายในวัดถ้ำผาบิ้ง จ.เลย
บริเวณภายในอุโบสถวัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบังลำภู
(มีต่อ 2) |
|
_________________ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว |
|
    |
 |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
11 ก.พ.2008, 11:20 am |
  |
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
๏ เพชรบนยอดมงกุฎแห่งเมืองเลย มาวัดป่าอุดมสมพร
วันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 พุทธศักราช 2510 หลังจากท่านพระอาจารย์สาครพำนักอยู่กับองค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เพียง 7 วัน องค์หลวงปู่ชอบ ฐานสโม และองค์หลวงปู่หลุย จันทสาโร ได้เดินทางมาเยี่ยมองค์หลวงปู่ฝั้น และรอลงอุโบสถร่วมกันในวันวิสาขบูชา ที่ วัดป่าอุดมสมพร ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เมื่อองค์หลวงปู่ท่านได้กราบคารวะกันแล้ว องค์หลวงปู่หลุยเห็นท่านพระอาจารย์สาครกำลังจัดอาสนะอยู่นั้น ท่านจึงกล่าวขึ้นกับองค์หลวงปู่ฝั้นว่า พระองค์นี้เคยอยู่กับผมมาก่อน องค์หลวงปู่ชอบก็ได้กล่าวขึ้นด้วยว่า เคยอยู่กับผมเหมือนกันพระองค์นี้ ท่านพระอาจารย์สาครจึงกราบเรียนองค์หลวงปู่ฝั้นว่า ท่านเคยอยู่กับองค์หลวงปู่ชอบมาก่อนที่วัดป่าม่วงไข่ จ.เลย แล้วจึงมาอยู่กับองค์หลวงปู่หลุยที่บ้านกกกอก
หลังจากลงอุโบสถในวันวิสาขบูชาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อองค์หลวงปู่ชอบและองค์หลวงปู่หลุยได้กลับไปแล้ว นับจากวันนั้นมาท่านพระอาจารย์สาครเปรียบว่า เหมือนผ้าเช็ดหน้าจะบิดให้ขาดเสียให้ได้ องค์หลวงปู่ฝั้นเปลี่ยนจากองค์หลวงปู่องค์เดิมอย่างสิ้นเชิง หันมาเข้มงวดกับท่านพระอาจารย์สาครมากขึ้น หากมีอะไรผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ก็จะค่อยดุว่า ไม่ปล่อยให้ความผิดพลาดนั้นผ่านไปเฉยๆ บางครั้งความผิดพลาดของท่านก็นำมาเทศน์บนศาลา เทศน์กันเป็นอาทิตย์ๆ เป็นเดือนๆ ในความผิดนั้นๆ ทั้งนี้คงเป็นเจตนาขององค์หลวงปู่ฝั้นที่ต้องการทดสอบความเข้มแข็งทางจิตใจของลูกศิษย์ และต้องการให้ศิษย์ได้ดีในทางธรรม
เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
รูปหล่อเหมือนหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
ประดิษฐาน ณ เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
ภาพแกะสลักรอบฐาน เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
หนังสือสุทธิของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
ประดิษฐาน ณ เจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
๏ คิดเบื่อหน่ายอยากหนีเป็นที่สุด
จากการที่องค์หลวงปู่ฝั้นเข้มงวดกวดขันท่านพระอาจารย์สาคร ไม่ว่าท่านพระอาจารย์สาครจะทำอะไร ดูเหมือนจะผิดไปหมด กลับถูกเข่น ถูกว่าสารพัด เผลอสติเป็นไม่ได้ ไม่เพียงท่านที่ถูกเข่นเท่านั้น สามเณรที่รับใช้องค์หลวงปู่ก็ได้รับความเข้มงวด จนเณรร้องไห้อยู่แทบทุกวัน กระนั้นวันหนึ่งท่านติดขัดเรื่องการจัดยาให้หลวงปู่จึงถามเณร เณรก็ยังตอบว่า ครูบาเอาตามาด้วยหรือเปล่า ครูบาเอาหูมาด้วยหรือเปล่า ทำให้ท่านอึดอัดขัดข้องยิ่งขึ้นไปอีก ขณะนั้นท่านคิดว่า ต่อไปไม่ว่างานเรื่องอะไรในวัดนี้เราจะต้องเรียนรู้ให้หมดให้ได้ ในแต่ละวันไม่ว่าใครจะทำอะไรผิดมาในวันนั้นก็ดี หรือเหตุเก่าก็ดี พอขึ้นศาลาองค์หลวงปู่ต้องดุว่าแต่ท่านพระอาจารย์สาครองค์เดียว ทำให้ท่านคิดเบื่อหน่ายอยากจะหนีเป็นที่สุด
๏ กำหราบความคิด
เมื่อท่านมีความคิดอยากหนีวันไหน พอขึ้นไปบนกุฏิองค์หลวงปู่ฝั้นเพื่อทำอาจริยาวัตรปกติ บางครั้งยังไม่ทันจะนั่งกราบเลย องค์หลวงปู่ก็พูดขึ้นว่า จะไปไหนก็ผีตัวเก่า ถ้าไม่ตั้งใจภาวนา จะอยู่ที่ไหนก็ผีตัวเก่า พออีก 2-3 วันคิดจะไปอีก องค์หลวงปู่ก็พูดขึ้นอีก ทำให้ใจท่านไม่คิดฟุ้งไปกว่านี้ บางครั้งใจก็คิดอยากจะไปดูถ้ำขามบ้างว่าเป็นอย่างไร อยากไปดูวัดดอยธรรมเจดีย์บ้างว่าเป็นอย่างไร พอขึ้นกุฏิ องค์หลวงปู่ก็จะเล่าเรื่องวัดนั้นๆ ให้ฟังทันที ทำให้ท่านต้องคอยสำรวมระมัดระวังความคิดอยู่ตลอดเวลา
๏ หมาแทะกระดูก
บ่อยครั้งเมื่อลูกศิษย์คิดถึงบ้าน องค์หลวงปู่ฝั้นจะเมตตายกเรื่องของท่านขึ้นเทศน์ให้ฟัง ถึงเมื่อครั้งองค์ท่านเองก็เคยเบื่อหน่ายท้อแท้จนคิดจะกลับบ้านเช่นกัน วันหนึ่งขณะที่องค์หลวงปู่ฝั้นเดินบิณฑบาตอยู่นั้น เห็นหมาตัวหนึ่งเดินตามเจ้าของอยู่ สักพักมันเจอกระดูกเก่าท่อนหนึ่ง มันก็หยุดแทะตามประสาหมา แต่เจ้าของก็เดินต่อไป มันแทะอยู่สักพักก็วิ่งตามเจ้าของไปแต่แล้วก็หันวิ่งกลับมาแทะกระดูกต่ออีก แล้วก็วิ่งกลับไปหาเจ้าของอีก กลับไปกลับมาอยู่หลายครั้ง จนเจ้าของเดินไกลออกไปมากแล้ว มันจึงได้วิ่งตามเจ้าของไปอย่างอาลัย องค์หลวงปู่เห็นอาการมันแล้ว ก็กลับมานึกเป็นธรรมอบรมตัวองค์ท่านเองได้ว่า
การอาลัยในบ้านขององค์ท่านก็เหมือนหมาตัวนั้นที่อาลัยในกระดูกเก่าอันจืดชืด แต่มันไม่รู้ว่ากระดูกนั้นไม่มีรสอะไรแล้ว ที่หลงอยู่ ก็หลงในน้ำลายของตัวเองเท่านั้น ชีวิตทางโลกก็เหมือนกระดูกเก่าที่หาค่าอันใดมิได้ ความหลงในสิ่งที่ฉาบทาไว้ก็เหมือนหมาที่หลงอร่อยในน้ำลายตัวเอง
เมื่อองค์หลวงปู่ท่านพิจารณาได้เช่นนั้น ก็วางความคิดถึงบ้านลงได้ ท่านพระอาจารย์สาครก็ได้ธรรมข้อนี้ช่วยให้ท่านผ่านพ้นมาได้ ท่านจึงซาบซึ้งถึงพระคุณขององค์หลวงปู่ฝั้นอย่างถึงที่สุด ว่าทางหนึ่ง ท่านก็เข่นเอาเต็มที่ แต่อีกทางหนึ่งก็เมตตาคอยประคับประคองหาอุบายธรรมช่วยเหลือเต็มที่เช่นกัน ปัจจุบันหากท่านพระอาจารย์สาครเดินทางไปกราบนมัสการเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าอุดมสมพร ท่านจะต้องไปดูภาพแกะสลักเรื่อง หมาแทะกระดูก ที่ฐานองค์เจดีย์ด้วยความระลึกซาบซึ้งในพระคุณอยู่ทุกครั้งไป
๏ ศึกษาปฏิบัติธรรมและอุปัฏฐากองค์หลวงปู่ฝั้น
เมื่อท่านพิจารณาเข้าใจถึงความเมตตาขององค์หลวงปู่ฝั้นแล้ว ท่านพระอาจารย์สาครก็ตั้งใจอยู่รับการอบรมปฏิบัติธรรมอย่างถึงที่สุด คราวนี้ท่านกลับกลัวองค์หลวงปู่ฝั้นจะไล่หนีเอา ทั้งนี้ด้วยเห็นพระบางองค์ถูกองค์หลวงปู่ไล่หนี บางองค์มาถึงวัดยังไม่ทันแก้บาตรเลยก็ถูกบอกให้หลีกไปที่อื่นแล้ว ท่านพระอาจารย์สาครจึงอยู่ด้วยความระมัดระวังในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติให้ดีที่สุด
ท่านพระอาจารย์สาครคอยปฏิบัติองค์หลวงปู่ฝั้นอย่างใกล้ชิดดุจเป็นเงาขององค์หลวงปู่ ท่านจะดูแลองค์หลวงปู่ฝั้นตั้งแต่ตอนที่องค์หลวงปู่ตื่นขึ้นมา โดยจะเข้าไปถวายน้ำล้างหน้า ไม้สีฟัน เปลี่ยนกระโถน รับผ้าจีวรมาที่ศาลา ตอนบิณฑบาตจะช่วยองค์หลวงปู่ครองผ้ากลัดรังดุม และคอยส่งบาตร รับบาตรองค์หลวงปู่ แล้วรีบกลับมาเตรียมน้ำอุ่นล้างเท้าให้องค์หลวงปู่ แล้วจึงคอยเช็ดเท้าให้แห้ง เวลาฉันอาหาร ท่านพระอาจารย์สาครจะเป็นผู้จัดอาหารถวาย ทั้งนี้เพราะองค์หลวงปู่ฝั้นท่านไม่จัดอาหารเอง แม้ในคราวที่มีนิมนต์ไปฉันข้างนอกก็ตาม ท่านพระอาจารย์สาครจะขอโอกาสพระเถระองค์อื่นเพื่อจะได้นั่งใกล้องค์หลวงปู่ฝั้น เพื่อคอยจัดอาหารถวาย ท่านพระอาจารย์สาครต้องฉันให้เสร็จก่อนองค์หลวงปู่ เพื่อจะได้นำบาตรของตนไปล้างก่อน แล้วจึงนำบาตรขององค์หลวงปู่ไปล้าง แล้วนำมาเช็ดให้แห้ง ก่อนนำไปผึ่งไว้ แล้วรีบกลับมาถวายไม้สีฟัน ถวายยา เก็บของ เก็บกระโถน รับผ้าจีวร แล้วรีบนำบริขารขององค์หลวงปู่ไปเก็บไว้ที่กุฏิ แล้วมาคอยเป็นปัจฉาสมณะดูแลองค์หลวงปู่
ถ้ามีงานภายในวัด ท่านจะกราบเรียนขอโอกาสไว้ แล้วไปทำงานนั้นๆ จนเสร็จเรียบร้อย ซึ่งงานส่วนมากเป็นงานที่คนอื่นไม่กล้าทำ แต่ด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยวท่านพระอาจารย์สาครจะรับอาสาทำเสมอ อาทิเช่น ตอนที่แบกเสากุฏิ ท่านบอกว่า ถ้าแบกเสา 1 ต้น ทีละ 2 คน แต่ถ้าแบก 3 คน 2 ต้นน่าจะดีกว่า โดยท่านพระอาจารย์สาครท่านรับเป็นคนที่อยู่ตรงกลาง ยอมแบกคนเดียว 2 ต้น เป็นต้น
พระอาจารย์สุวัจน์ สุจโจ
พระอาจารย์เขี่ยม โสรโย
พระอาจารย์คำดี ปัญโญภาโส
นอกจากนี้ท่านยังดูแลรักษาเสนาสนะ ร่วมทำงานก่อสร้างภายในวัดและภายนอกวัด เช่น งานสร้างเจดีย์ที่หลังกุฏิองค์หลวงปู่ฝั้น งานสร้างถนนวัดถ้ำขาม งานสร้างศาลาวัดถ้ำขาม งานสร้างเขื่อนกั้นน้ำอูน และสะพานบ้านบะทอง งานสร้างโรงพยาบาลหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นต้น เมื่อถึงตอนเย็น ท่านพระอาจารย์สาครจะคอยดูแลสรงน้ำองค์หลวงปู่ เมื่อองค์หลวงปู่สรงน้ำเสร็จต้องรีบเช็ดพื้นห้องน้ำให้แห้งเพราะเป็นพื้นไม้ ตอนกลางคืนต้องทำวัตรสวดมนต์และรับฟังธรรมโอวาทที่ศาลา เมื่อเลิกท่านก็ไปที่กุฏิองค์หลวงปู่เพื่อไปส่งย่าม และคอยจับเส้นถวายองค์หลวงปู่ กว่าจะเลิกบางคืนก็เที่ยงคืน บางคืนล่วงไปจนถึงตีหนึ่ง
เมื่อลงจากกุฏิ ท่านจะลงไปเดินจงกรมต่อแล้วจึงเข้าพัก บางคืนท่านจะเดินจนกระทั่งถึงเวลาที่องค์หลวงปู่ตื่น ซึ่งโดยปกติแล้ว องค์หลวงปู่ฝั้นจะเข้าพักไม่นาน เมื่อองค์หลวงปู่ฝั้นท่านตื่น ท่านพระอาจารย์สาครก็จะรีบเข้าไปถวายน้ำล้างหน้าอีก ในข้อวัตรต่างๆ เหล่านี้ท่านถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอยู่ตลอดเวลา ซึ่งท่านพระอาจารย์สาครจะมีคติสั้นๆ ประจำใจที่ยึดปฏิบัติอยู่ 4 ประการคือ นอนทีหลัง ตื่นก่อน ฉันทีหลัง อิ่มก่อน
นอกเหนือจากการมีข้อวัตรปฏิบัติอันเคร่งครัดแล้ว ในการเดินทางแม้จะมีเป้าหมายที่แน่นอน หากด้วยบนหนทางย่อมต้องพานพบกับอุปสรรคเครื่องกีดขวางอยู่บ้าง ซึ่งการจะฝ่าฟันไปได้นั้น นอกจากจะต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวแล้ว ท่านพระอาจารย์สาครยังมีองค์พระพี่เลี้ยงคอยเมตตาช่วยเหลือยามที่ท่านพบกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าทางด้านใดๆ ก็ดี ท่านได้มีองค์หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ, ท่านพระอาจารย์แปลง สุนฺทโร, ท่านพระอาจารย์เขี่ยม โสรโย, ท่านพระอาจารย์อุทัย สิริธโร และท่านพระอาจารย์คำดี ปัญโญภาโส คอยเมตตาช่วยเหลือ ทำให้การปฏิบัติธรรมของท่านพระอาจารย์สาครดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งท่านพระอาจารย์สาครก็ได้ซาบซึ้งในพระคุณของท่านพระมหาเถระทุกองค์นี้เสมอ ดังนั้น นอกจากท่านจะไปกราบเยี่ยมแล้ว หากท่านสามารถจัดทำธุระสิ่งใดเพื่อตอบแทนได้ ท่านก็จะรีบทำทันที
พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล
๏ มั่นใจว่าจะไม่ถูกไล่หนี
ถึงแม้ท่านจะตั้งใจปฏิบัติข้อวัตร และทำงานทุกอย่างเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ หากแต่ยังหวั่นกลัวองค์หลวงปู่ฝั้นจะไล่หนีเอา จนวันหนึ่งมีสิ่งที่ทำให้ท่านรับรู้และมั่นใจว่าจะไม่ถูกไล่หนี กล่าวคือ ในปี พ.ศ.2515 ท่านเจ้าคุณซึ่งเคารพองค์หลวงปู่ฝั้นได้มากราบเยี่ยมองค์หลวงปู่ และปรารภขึ้นว่า ทางภาคตะวันตกของประเทศนั้นยังมีพระกัมมัฏฐานน้อย ทั้งที่ดินแดนแถบนั้นยังมีป่าอันสัปปายะอุดมสมบูรณ์อยู่ แม้ขณะนั้นจะมีท่านพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล อยู่ แต่ท่านก็อาพาธ จึงอยากจะขอพระจากองค์หลวงปู่ไปอยู่เป็นหลักให้แก่พระสงฆ์และคณะศรัทธาญาติโยมทางด้านนั้นบ้าง องค์หลวงปู่ฝั้นจึงถามว่าคิดจะเอาใครไป ท่านเจ้าคุณฯ ซึ่งได้เคยเห็นอาจริยวัตร และฝีมือการทำงานในตัวท่านพระอาจารย์สาครเป็นประจักษ์แล้ว จึงกล่าวขอตัวท่านพระอาจารย์สาครกับองค์หลวงปู่ฝั้น ซึ่งองค์หลวงปู่ฝั้นก็ไม่อนุญาตให้ไป
การที่องค์หลวงปู่ฝั้นท่านกล่าวไม่อนุญาตนั้น ก็มีความหมายเป็นนัยให้ท่านพระอาจารย์สาครรับรู้ได้ว่า แม้องค์หลวงปู่ฝั้นจะดุ จะว่าเอา แต่องค์หลวงปู่ท่านก็ได้รับรู้ถึงความเอาใจใส่ ไม่ละวางการงานในตัวลูกศิษย์ผู้นี้อยู่เสมอ ซึ่งก็เพียงพอให้ท่านพระอาจารย์สาครซาบซึ้ง และเป็นกำลังใจให้ท่านยิ่งทุ่มเทแรงกายแรงใจถวายองค์หลวงฝั้นยิ่งขึ้นไป เมื่อองค์หลวงปู่ฝั้นอาพาธในปี พ.ศ.2519 ท่านพระอาจารย์สาครเป็นพระรูป 1 ใน 8 รูปที่ได้รับคัดเลือกให้ดูแลองค์หลวงปู่ จากพระทั้งหมดจำนวน 100 รูป ซึ่งท่านทำหน้าที่คอยดูแลออกซิเจนให้องค์หลวงปู่ และถวายอาหารให้องค์หลวงปู่ในตอนเช้าด้วย จวบจนกระทั่งองค์หลวงปู่ฝั้นท่านได้มรณภาพลงเมื่อวันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ.2520 ณ กุฏิวัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร รวมระยะเวลาอยู่อุปัฏฐากรับใช้และศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างใกล้ชิดยาวนานถึง 10 ปีเศษ การอยู่อุปัฏฐากรับใช้และติดตามครูบาอาจารย์นี้ กลายเป็นสิ่งที่ท่านพระอาจารย์สาครภาคภูมิใจและซาบซึ้งใจเป็นอย่างมาก ที่ได้รับความเมตตาจากครูบาอาจารย์ซึ่งมีคุณธรรมอันวิเศษสุด
หลังจากเสร็จพิธีพระราชทานเพลิงศพองค์หลวงปู่ฝั้น ท่านพระอาจารย์สาครก็ได้เดินออกธุดงค์แสวงหาที่ปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะได้เร่งบำเพ็ญภาวนา ตามแนวทางคำสั่งสอนจากครูบาอาจารย์ที่ท่านได้เมตตาอบรมแนะนำธรรม
เสนาสนะและความสงบร่มรื่นภายในวัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร
(มีต่อ 3) |
|
_________________ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว |
|
    |
 |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
14 มี.ค.2008, 3:08 am |
  |
ป้ายชื่อที่พักสงฆ์ กม.27 เลขที่ 75/15 ซ.แข็งขัน 3 ถ.พหลโยธิน 64
ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี (ในปัจจุบัน)
๏ ละจากแดนดินอีสานสู่ภาคตะวันตก
เมื่อสิ้นองค์หลวงปู่ฝั้นและเสร็จงานพระราชทานเพลิงศพแล้ว ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2521 ท่านก็ละจากวัดป่าอุดมสมพร เพื่อเดินทางไปอุปัฏฐากองค์หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเป็นอาจริยบูชาที่องค์หลวงปู่หลุยเคยเมตตาฝึกหัดอบรมให้แก่ท่าน ในโอกาสนี้ท่านจึงมีโอกาสติดตามออกเดินธุดงค์อีกครั้ง โดยไปกับองค์หลวงปู่หลุยทั่วทุกจังหวัดทางภาคเหนือ และองค์หลวงปู่หลุยได้พากราบเยี่ยมยังสถานที่และวัดสำคัญอัน องค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้เคยมาเผยแผ่หลักธรรมคำสอนอยู่ เมื่อใกล้เข้าพรรษา องค์หลวงปู่หลุยซึ่งได้พิจารณารับนิมนต์ไปพำนักจำพรรษาที่บ้านหนองแซง จ.อุดรธานี แล้วก็เดินทางกลับลงมาและแวะโปรดศรัทธาญาติโยม ณ ที่พักสงฆ์ กม.27 ถ.พหลโยธิน 64 ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี
ส่วนท่านพระอาจารย์สาคร ก็มีนายอำเภอมานิมนต์ให้ท่านไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดภูซางใหญ่ จ.อุดรธานี (ในขณะนั้น) ซึ่งท่านมิได้รับนิมนต์ไปแต่อย่างใด ด้วยเมื่อหวนคิดถึงเมื่อครั้งท่านถูกขอตัวจากองค์หลวงปู่ฝั้นเพื่อไปอยู่ทางภาคตะวันตก ด้วยแดนดินถิ่นนั้นขาดพระเณรที่จะเป็นหลัก ทำให้ท่านติดอยู่ในใจที่อยากจะไปช่วยเหลือ ทั้งในทางภาคอีสานนี้ก็มีครูบาอาจารย์พระเณรซึ่งเป็นหลักแก่พระพุทธศาสนาให้พึ่งพิงมากมายอยู่แล้ว ท่านจึงคิดจะไปทางนั้นดู จึงได้กราบเรียนองค์หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร ซึ่งองค์หลวงปู่ก็อนุญาต
ดังนั้นในคืนวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2521 อันวันรุ่งขึ้นองค์หลวงปู่จะเดินทางกลับไปยัง จ.อุดรธานี ท่านพระอาจารย์สาครจึงขอทำวัตรกับองค์หลวงปู่ โดยพูดบอกแก่ศรัทธาญาติโยมที่นั้นว่า เผื่อมันตายไป พรุ่งนี้ไม่ได้ไปกับหลวงปู่ นั่นก็เป็นที่แจ้งแก่ใจญาติโยมที่เคารพนับถือในตัวท่านพระอาจารย์สาครว่าท่านจะไม่กลับไปด้วยแล้ว ก่อให้เกิดความอาลัยร่ำไห้ออกมาหลายคน พอถึงวันรุ่งขึ้น 14 กรกฎาคม พ.ศ.2521 ท่านพระอาจารย์สาครได้ไปส่งองค์หลวงปู่หลุยขึ้นรถไฟที่ดอนเมือง ครั้นถึงเวลารถออก ท่านก็กราบลาลงมา นับเป็นเวลา 5 เดือนเต็มที่ท่านได้ทำอาจริยบูชาปรนนิบัติดูแลองค์หลวงปู่หลุยโดยใกล้ชิด
๏ กำเนิดวัดเวฬุวัน
เมื่อท่านพระอาจารย์สาครขอโอกาสกราบลาจากองค์หลวงปู่หลุยแล้ว ท่านก็ได้พิจารณาแสวงหาที่ปฏิบัติธรรม โดยท่านได้เลือกไปแสวงหาความสงบวิเวกทางแถบจังหวัดกาญจนบุรี เพราะเห็นว่าสถานที่นั้นยังไม่ค่อยมีพระปฏิบัติสายกัมมัฏฐานมาพักจำพรรษาอยู่ ท่านจึงบอกกับลูกศิษย์ให้ขับรถมารับที่วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร เพื่อเดินทางไปทางจังหวัดกาญจนบุรี และได้มาส่งท่านถึงเพียงแค่วัดพุทธวิมุติวนาราม อ.ไทรโยค ด้วยถนนเพิ่งสร้างมาสิ้นสุด ณ ตรงนั้น การเดินทางจึงต้องเดินทางต่อโดยทางเรือจนถึงทองผาภูมิ ท่านจึงให้คณะที่มาส่งกลับไป เหลือแต่ท่านพระอาจารย์สาครเดินทางต่อไปเพียงลำพังองค์เดียว เมื่อถึงทองผาภูมิ เนื่องจากท่านไม่รู้จักใคร ท่านจึงได้สอบถามหาโยมผู้อุปถัมภ์วัดในละแวกนั้น ให้พาท่านไปดูถ้ำต่างๆ เพื่อเป็นที่พำนักปฏิบัติในพรรษาที่ใกล้จะมาถึง พวกโยมได้พาไปดูถ้ำหลายแห่ง จนในที่สุดท่านมาพบถ้ำแก่งกระโต่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เป็นที่จำพรรษาในคราวนั้นเอง
ป้ายชื่อวัดเวฬุวัน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
๏ องค์หลวงปู่ฝั้นนำพาสร้างวัดเวฬุวัน
คืนหนึ่งที่ถ้ำแก่งกระโต่ง ท่านพระอาจารย์สาครเข้าภาวนาตอนหัวค่ำอันเป็นปกติ ปรากฏว่าเมื่อจิตสงบแล้วในค่ำคืนนั้น ท่านได้นิมิตเห็นองค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร นำพาท่านและพระภิกษุสามเณรสร้างกุฏิพระ ศาลา ถนนหนทางในวัดแห่งหนึ่ง ท่านและพระเณรอื่นๆ ก็ช่วยกันสร้างอย่างแข็งขัน เฉกเช่นที่ท่านเคยช่วยงานก่อสร้างกับองค์หลวงปู่ฝั้นมาตามปกติ ท่านอยู่สร้างวัดนั้นนานเหมือนเป็นปี จนท่านคุ้นเคยกับสถานที่นั้นเป็นอย่างดี ด้วยต้องเดินไปทั่วเขตวัดเพื่อสำรวจทาง และหาไม้ หาฟืน อยู่ทุกวัน จนท่านจำได้ว่ามีถนน มีกุฏิ ศาลา อยู่อย่างไร มีคลองทางน้ำ มีต้นไม้อะไรอยู่ตรงไหน สิ่งหนึ่งที่ท่านจำได้ชัดคือบ่อพุน้ำที่มีปลาอาศัย มีต้นไม้ที่ไม่มีรากแก้วล้มอยู่ ด้านโคนต้นอยู่ที่บ่อพุน้ำ ทางปลายต้นพาดคลองชี้ไปทางทิศตะวันออก
วันหนึ่งหลังจากพักการทำงาน ขณะองค์หลวงปู่ฝั้นมาพักฉันน้ำ องค์หลวงปู่ฝั้นก็พูดขึ้นกับท่านพระอาจารย์สาครว่า ท่านอยู่ที่นี่นะ ซึ่งในนิมิตนั้นท่านพระอาจารย์สาครได้ตอบไปว่า กระผมไม่เอา กระผมจะกลับสกลนคร ที่นี่ลำบาก ด้วยการตอบสวนคำที่ไม่เคยทำต่อองค์หลวงปู่ฝั้นมาก่อน จิตท่านจึงถอดออกทันที ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาตี 2 ล่วงเข้าวันใหม่
เมื่อมีโอกาสท่านพระอาจารย์สาครจึงสอบถามกับญาติโยมที่มีศรัทธามาทำบุญใส่บาตรว่า เคยเห็นสถานที่ที่มีลักษณะดังกล่าวในนิมิตนั้นหรือไม่ จนได้ความแล้วจึงได้ออกเดินทางไปดู พบว่าสถานที่นั้นตรงกับในนิมิตทุกประการ ซึ่งขณะที่เดินไปนั้นท่านสามารถบอกล่วงหน้าได้ว่า ประเดี๋ยวตรงทางขึ้นวัดจะมีจอมปลวกและไม้แดงอยู่ ก็พบดังที่ท่านบอก ถัดไปจะมีต้นมะขามป้อม และมีคลองทางน้ำไหลมาจากบ่อพุน้ำด้านบน เดินไปตามคลองจะมีต้นฉะค่าง ครั้นเมื่อข้ามคลองไปแล้วจะเจอต้นแดงคู่อยู่ ก็เจอตามที่ท่านพูดเหมือนกับคุ้นเคยมาก่อน และเมื่อสุดคลองก็พบบ่อพุน้ำมีต้นไม้ล้มอยู่ในลักษณะที่ท่านเห็นในนิมิตทุกประการ
ดังนั้น ท่านจึงตัดสินใจนำพาคณะญาติโยมผู้มีศรัทธา เริ่มก่อสร้างเสนาสนะตามที่องค์หลวงปู่ฝั้นบอกกับท่านในนิมิต และท่านได้อยู่จำพรรษา ณ สถานที่นี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 เรื่อยมา ต่อมาท่านได้สร้างเสนาสนะเพิ่มเติม จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2533 ได้รับการประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการให้ตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์ มีนามว่า วัดเวฬุวัน เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2533 และท่านพระอาจารย์สาครได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2537 ทั้งนี้ ทางวัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2541 ครั้นต่อมาท่านพระอาจารย์สาครได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูภาวนาสุทธาจารย์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2541 นับจากวันที่ได้เริ่มสร้าง วัดเวฬุวัน เป็นต้นมา สถานที่แห่งนี้ได้สร้างได้อบรมพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และได้อบรมสั่งสอนอุบาสก อุบาสิกา สาธุชนโดยทั่วไป ให้ดำรงอยู่ในเส้นทางแห่งความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก
อีกประการหนึ่งอาจเป็นจุดประสงค์ขององค์หลวงปู่ฝั้นที่ต้องการให้ วัดเวฬุวัน เป็นสถานที่คอยสนับสนุนพระภิกษุสามเณรที่มุ่งต่อการประพฤติ ปฏิบัติธรรม เพราะหากพิจารณาสภาพผืนป่าที่เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันนี้ ก็จะเห็นว่าผืนป่าภาคตะวันตกยังคงความอุดมสมบูรณ์มากที่สุด และเป็นสถานที่สัปปายะอย่างยิ่ง ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งของวัดเวฬุวันนั้นเป็นเสมือนประตูที่เข้าไปสู่ผืนป่าดังกล่าว องค์หลวงปู่ฝั้นจึงได้สั่งให้ท่านพระอาจารย์สาครสร้างวัดขึ้น ณ ที่ตรงนี้ เพื่อความเจริญงอกงามแก่พระภิกษุสามเณรและพระพุทธศาสนาต่อไป
เจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล
ณ วัดดอนธาตุ ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
ป้ายชื่อวัดป่ามณีกาญจน์ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
๏ สร้างวัดป่ามณีกาญจน์
สืบเนื่องจากเมื่อช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2545 คราวเตรียมงานฉลองเจดีย์พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ณ วัดดอนธาตุ บ้านทรายมูล ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ท่านพระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ เจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน ได้รับมอบหมายจากคณะทำงานคราวนั้น ให้รับหน้าที่ติดต่อประสานงานทั้งระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และองค์พระเถรานุเถระที่เมตตารับนิมนต์มาร่วมพิธีในคราวนั้น ในการนี้ท่านต้องเดินทางระหว่างจังหวัดกาญจนบุรีกับจังหวัดอุบลราชธานีบ่อยครั้ง อีกทั้งยังต้องติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีที่ทำการอยู่ในกรุงเทพฯ ท่านจึงต้องพำนักพักแรมในกรุงเทพฯ
ด้วยเหตุความจำเป็นในการที่จะต้องพักแรมในกรุงเทพฯ นี้เอง ท่านได้พิจารณาเห็นว่าสถานที่พักที่เหมาะสมสำหรับพระภิกษุสามเณร สังกัดธรรมยุติกนิกาย ในกรุงเทพฯ นั้น ยังมีไม่เพียงพอกับจำนวนพระภิกษุสามเณรที่มีความจำเป็นต้องมาพักแรม ทั้งกรณีอาพาธต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือมีกิจนิมนต์ ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล หรือจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งสถานที่พักส่วนใหญ่ไม่สะดวกในการรักษาข้อวัตรปฏิบัติให้สมบูรณ์ ท่านจึงได้ปรารภเรื่องนี้ในหมู่ลูกศิษย์ของท่าน เวลานั้นลูกศิษย์ท่านหนึ่งทราบความประสงค์อันกอปรด้วยกุศลเจตนาของท่านพระอาจารย์สาคร จึงนำความไปปรึกษากับกลุ่มญาติพี่น้อง ซึ่งมีที่ดินอยู่ ณ ต.ศาลากลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี จำนวน 9 ไร่ 2 งาน ที่ซื้อมาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว
กลุ่มญาติพี่น้องทั้งหมดอันประกอบด้วย ม.ร.ว.วรรณี มณีกาญจน์, นายสันติ มณีกาญจน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเลยและจังหวัดหนองคาย, นางสาวชูพักตร์ มณีกาญจน์, นางบุญล้อม มณีกาญจน์ และลูกๆ ของนายประสิทธิ์ มณีกาญจน์ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรถวายที่ดินผืนดังกล่าวเพื่อก่อสร้างวัดในสังกัดธรรมยุติกนิกาย เพื่อเป็นสถานที่พักปฏิบัติธรรมและประกอบศาสนกิจในบวรพระพุทธศาสนาต่อไป ซึ่งพระอาจารย์สาครได้ให้ชื่อวัดแห่งนี้เพื่อเป็นที่ระลึกแก่กุศลธรรมของญาติโยมที่มีจิตศรัทธาถวายที่ดินว่า วัดป่ามณีกาญจน์ ดังนั้น การดำเนินการก่อสร้างวัดจึงได้เริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2546 เป็นต้นมา
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ (พระสุธรรมคณาจารย์)
พระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ ประธานสงฆ์แห่งวัดป่ามณีกาญจน์
พระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร
เจ้าอาวาสวัดป่ามณีกาญจน์องค์ปัจจุบัน
ครั้นต่อมา ท่านพระอาจารย์สาครได้กราบปรึกษา องค์หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ (พระสุธรรมคณาจารย์) เรื่องการขยายเนื้อที่ของวัดป่ามณีกาญจน์ เพื่อให้เพียงพอแก่การสร้างที่พัก ทั้งของพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส ตลอดจนคนขับรถ พร้อมทั้งที่จอดรถที่สามารถจุรถได้มากเพียงพอแก่การใช้งานจริง โดยเฉพาะพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายพระป่ากรรมฐานจากทั่วทุกจังหวัด จะได้รับความสะดวกใช้เป็นสถานที่พำนักอาศัยและปฏิบัติธรรม ทั้งในกรณีที่ท่านเดินทางเข้ามาเพื่อประกอบศาสนกิจหรือรักษาอาการอาพาธ อีกทั้ง ยังเป็นการช่วยลดอุบัติเหตุอันอาจจะเกิดขึ้นแก่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ในกรณีที่คนขับรถไม่มีที่หลับที่นอน ทำให้เกิดเหตุคนขับรถหลับในได้ ตลอดจนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คณะศรัทธาญาติโยมที่สนใจการปฏิบัติธรรม เจริญจิตตภาวนา ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งในการนี้องค์หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ท่านได้เมตตารับเป็นประธานสงฆ์
ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2548 คุณประมิตร วังพัฒนมงคล และคณะศรัทธาญาติโยมได้ร่วมกันจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อขยายเนื้อที่ของวัดอีกจำนวน 10 ไร่ 2 งาน 25 ตารางวา ดังนั้น ปัจจุบันเนื้อที่ของวัดป่ามณีกาญจน์ จึงมีรวมทั้งหมดจำนวน 20 ไร่ 66 ตารางวา
พื้นที่ตั้งของวัดเป็นที่ราบลุ่ม ภายในบริเวณวัดได้ปลูกต้นไม้ พรรณไม้นานาชนิด ทั้งไม้ดอกและไม้ยืนต้น ตลอดจนผลไม้ชนิดต่างๆ เพื่อให้เกิดความร่มรื่นภายในวัด และเพื่อให้เหมาะแก่การปฏิบัติภาวนา ทางด้านหน้ามีสระน้ำใหญ่และบ่อน้ำ ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังศาลา สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดประกอบด้วย ศาลาอเนกประสงค์ 3 ชั้น ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 16 เมตร, โรงครัวและเรือนพักของผู้ปฏิบัติธรรม 2 ชั้น ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 21 เมตร, ศาลาปฏิบัติธรรมริมสระน้ำ ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 24 เมตร, กุฏิที่พักสงฆ์ 8 หลัง และกุฏิรับรองพระเถระ 2 ชั้น ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 18 เมตร จำนวน 1 หลัง สิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในวัด ล้วนมุ่งเน้นให้มีรูปแบบที่เรียบง่ายและประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ สำหรับ เจ้าอาวาสวัดป่ามณีกาญจน์องค์ปัจจุบัน คือ ท่านพระอาจารย์อำนวย จิตฺตสํวโร ปัจจุบันสิริอายุได้ 48 พรรษา 22 (เมื่อปี พ.ศ.2553)
๏ เจริญรอยตามวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์
ท่านพระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ เป็นพระเถระที่ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอน ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เจริญรอยตามวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์โดยเคร่งครัด กอปรด้วยความกตัญญูกตเวทิตาอย่างมิรู้เสื่อมคลาย เป็นพระปฏิบัติสายกัมมัฏฐานที่สาธุชนกราบไหว้ได้โดยสนิทใจแท้
พระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ
.............................................................
♥ รวบรวมและคัดลอกเนื้อหามาจาก ::
เว็บไซต์ http://www.watpamaneekarn.com/ |
|
_________________ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว |
|
    |
 |
สาวิกาน้อย
บัวแก้ว


เข้าร่วม: 27 มี.ค. 2006
ตอบ: 2065
|
ตอบเมื่อ:
14 พ.ย.2009, 7:28 pm |
  |
อาณาบริเวณภายใน วัดเวฬุวัน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
ศาลาปฏิบัติธรรม ณ วัดป่ามณีกาญจน์ จ.นนทบุรี
สระน้ำด้านหน้าศาลาปฏิบัติธรรมและโรงครัว วัดป่ามณีกาญจน์
กระทู้ในบอร์ดใหม่
ประวัติและปฏิปทา พระอาจารย์สาคร ธัมมาวุโธ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20794 |
|
_________________ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว |
|
    |
 |
|
|
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่ คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ คุณไม่สามารถลงคะแนน คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้ คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
|
| | |