|
|
|
 |
ผู้ตั้ง |
ข้อความ |
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่

เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773
|
ตอบเมื่อ:
25 มิ.ย.2008, 9:56 am |
  |
ปัญหา การเจริญกรรมฐานมี ๒ อย่างคือ สมถะ และวิปัสสนา ใน ๒ อย่างนี้ จะเจริญสมถะก่อนหรือวิปัสสนาก่อน ? จะเจริญควบคู่กันไปจะได้หรือไม่ ?
พระอานนท์ตอบ ว่า
....ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า (หรือ).... เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า (หรือ).... เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป.... มรรคย่อมเกิด เธอย่อมเสพเจริญ กระทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อเธอเสพ เจริญกระทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายได้ อนุสัยย่อมสิ้นสุด....
ปฏิปทาวรรค ที่ ๒ จ. อํ. (๑๗๐)
ตบ. ๒๑ : ๒๑๒ ตท. ๒๑ : ๑๘๓-๑๘๔
ตอ. G.S. II : ๑๖๒
จาก http://www.84000.org/true/220.html
ถ้าพิจารณา จาก ที่ ท่านพระอานนท์กล่าวนี้
จะแยก แนวทาง การเจริญกรรมฐาน(ภาวนา) เป็น 3แบบ คือ
1.เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า
2.เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า
3.เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป
ข้อ1. .เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า.... คือ ใช้ปัญญานำหน้าสมาธิ. แนวทางนี้ ปัญญาเด่น
ข้อ2.เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า..... คือ ใช้ สมาธินำหน้าปัญญา. แนวทางนี้ สมาธิเด่น
ข้อ3.เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป..... คือ เจริญทั้งสมาธิ และ ปัญญา ในระดับพอๆกัน ไม่มีสิ่งใดเด่นกว่าสิ่งใด
สังเกต จาก ที่พระอานนท์ท่านกล่าวไว้.... ทั้ง 3แนวนี้
ไม่มีแนวทางไหน ที่ปราศจากสมถะ100%เลย
เพราะ ทั้ง3แนวทางนี้ ต่างล้วนแต่ ต้องมีส่วนของ สมถะด้วยกันทั้งสิ้น
ที่ท่านพระอานนท์กล่าวนี้ อาจจะไม่ตรงกับที่ทางคัมภีร์ชั้นหลังจัดแบ่ง วิธีการเจริญภาวนา ตามที่เรา-ท่าน คุ้นเคยกัน คือ
1.สมถะยานิกะ ซึ่งหมายถึงต้องได้ฌานเสียก่อน แล้วยกองค์ฌานขึ้นสู่วิปัสสนาภายหลัง
2.วิปัสสนายานิกะ ซึ่งหมายถึงการเจริญวิปัสสนาล้วนๆ100% โดยต้องไม่มีส่วนของสมถะเข้ามาเจือปนเลย
ลองเปรียบเทียบที่คัมภีร์ชั้นหลังแบ่ง กับ ในระดับพระสูตรที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้น่ะครับ
1.สมถะยานิกะ ก็คือ ที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้ในแนวทางที่2(เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า ). และมีพระพุทธวจนะโดยตรง ในการใช้องค์แห่งฌาน มาเป็นอารมณืแห่งวิปัสสนาดังนี้
ปัญหา การบำเพ็ญสมาธิจนได้ฌาน จะเป็นเหตุละอาสวะได้หรือไม่ ?
พุทธดำรัสตอบ .....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย เพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง จตุตถฌานบ้าง ฯลฯ เพราะอาศัยแนวสัญญานาสัญญายตนะบ้าง....
.....ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุปฐมฌาน ฯลฯ เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอยู่ในขณะแห่งปฐมฌานนั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาหร เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุด ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้วเธอย่อมโน้มจิตไปเพื่ออมตธาตุ นั้นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละ คือ อุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน เธอตั้งอยู่ในปฐมฌานนั้นย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย....
ฌานสูตร นว. อํ. (๒๐๔)
ตบ. ๒๓ : ๔๓๘-๔๓๙ ตท. ๒๓ : ๓๙๐-๓๙๑
G.S. IV : ๒๘๔-๒๘๕
http://www.84000.org/true/262.html
พระอานนท์ท่านกล่าวถึง การใช้องค์ฌานเป็นอารมณ์แห่งการเจริญวิปัสสนา โดยตรง .ในลักษณะ ได้เจริญสมถะล้วนๆเต็มรูปแบบมาก่อน และ นำองค์ฌานเป็นอารมณ์แห่งการเจริญวิปัสสนา. แบบนี้ จะตรงกับที่ ท่านพระอานนท์กล่าวว่า เป็นเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า
ลองอ่านน่ะครับ
http://larndham.net/cgi-bin/tread.pl?start_book=13&start_byte=23985
รูปฌาน ๔
ขอเสนอ ให้ความสำคัญตรงที่กล่าวว่า
เธอพิจารณาอยู่อย่างนี้ ย่อมรู้ชัดว่า
แม้ปฐมฌาน(....ทุยฌาน.... ตติยฌาน... จตุถฌาน)นี้ อันเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ก่อสร้างขึ้น ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่ง อันเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นก่อสร้างขึ้น สิ่งนั้นไม่เที่ยง มีความดับไปเป็นธรรมดา ดังนี้ เธอตั้งอยู่ในธรรม คือ สมถะและวิปัสสนานั้น ย่อมถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายเพราะความยินดีเพลิดเพลินในธรรม คือ สมถะและวิปัสสนานั้น เพราะความสิ้นไปแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ เธอย่อมเป็นโอปปาติกะ จะปรินิพพานในที่นั้น มีอันไม่กลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา.
เป็น คำบรรยาย ถึงการใช้องค์ฌานเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนาโดยตรง ในระดับพระสูตร ที่มีรายละเอียดชัดเจนมาก จุดหนึ่ง
และ ผลที่กล่าวไว้ในที่นี้ คือ หากไม่สิ้นอาสวะ(เป็นพระอรหันต์) ก็จะบรรลุอนาคามีผล
แต่วิธีในแนวทางนี้ คงไม่เหมาะกับฆราวาสทั่วไปที่ไม่ได้ปลีกตัวไปภาวนาในสถานที่อันเหมาะสม.วิธีการนี้ ก็คือ วิธีการที่พระสาวกที่ท่านได้เคยบำเพ็ญสมถะ100%(เช่น กสิณ)มาก่อน ใช้ต่อยอดเจริญวิปัสสนา
2.วิปัสสนายานิกะ ซึ่งถ้าเป็นในความหมายของการปราศจากส่วนของสมถะ(ซึ่งให้ผลเป็นสมาธิ)100%แล้ว ก็ไม่น่าจะตรงกัย วิธีที่1(เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า )ที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้. เพราะท่านพระอานนท์ก็กล่าวไว้ชัดเจนว่า เจริญวิปัสสนา"มีสมถะเป็นเบื้องหน้า"..... คือ ก็ยังคงต้องมีส่วนของสมถะ(ซึ่งมีผลคือสมาธิ)มาประกอบอยู่ดี
ในไตรสิกขา มี ศีล สมาธิ ปัญญา..... ถ้าสมาธิเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือเป็นตัวถ่วงให้เสียเวลาในการเจริญวิปัสสนาจริงๆแล้ว พระพุทธเจ้าจะไปสอนสมาธิไว้ในไตรสิกขา ทำไม
และ ในอริยมรรคที่มีองค์แปด มี"สัมมาสมาธิ"เป็นองค์แห่งมรรคในข้อสุดท้าย เป็นที่ประชุมรวมลงแห่งองค์แห่งอริยมรรคอีกทั้งเจ็ด. ถ้า สัมมาสมาธิ เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น หรือเป็นตัวถ่วงให้เสียเวลาในการเจริญวิปัสสนาจริงๆแล้ว พระพุทธเจ้าจะไปสอนสัมมาสมาธิไว้ในองค์แห่งอริยมรรค ทำไม.....
ลองพิจารณาดูกันน่ะครับ |
|
|
|
  |
 |
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่

เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773
|
ตอบเมื่อ:
25 มิ.ย.2008, 1:41 pm |
  |
การที่ชาวพุทธบางท่าน "ไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่าง สมถะ กับ วิปัสสนา" ก็เป็นปัญหาระดับหนึ่งจริง
แต่ การที่ชาวพุทธบางท่าน "แยกขาด สมถะ ออกจาก วิปัสสนา โดยกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องเอาแต่เพียงวิปัสสสนา100%เท่านั้น" กลับ เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเสียอีก..... เพราะนั่น หมายถึง ไตรสิกขาข้อสมาธิจะต้องถูกตัดออกข้อหนึ่ง หรือ อริยมรรคที่มีองค์แปดคือ"สัมมาสมาธิ"จะต้องถูกทอนออกจากอริยมรรค ให้เหลืออริยมรรคที่มีองค์เจ็ด.
สัมมาสมาธิ ซึ่งคือ องค์แห่งอริยมรรคข้อสุดท้าย ที่เป็นจุดประชุมรวมของอริยมรรคอีกเจ็ดข้อ.....
สัมมาสมาธิ ที่อยู่ในพระสูตรโดยตรง มีกล่าวถึงคุณสมบัติไว้สำคัญ2ประการ คือ
1. เป็นสมาธิที่มีกำลังแห่งสมาธิในระดับ(หรือ เทียบเท่ากับ) รูปฌาน๑ ถึง รูปฌาน๔
จาก http://larndham.net/cgi-bin/tread.pl?start_book=10&start_byte=447351
สัมมาสมาธิ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจาก
อกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะ
วิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมี
อุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน
ที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส
โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมา
สมาธิ ฯ
2.สัมมาสมาธิในองค์มรรคนี้ เป็นสมาธิที่มีองค์แห่งอริยมรรคอีก7อย่างแวดล้อม(เป็นบริขาร)
เช่น ที่ทรงแสดงใน มหาจัตตารีสกสูตร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง
ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิ
ฌานฤาษี (เช่น การเพ่งกสิณ)ถึงแม้นจะมีกำลังแห่งสมาธิในระดับรูปฌาน๑ ถึง รูปฌาน๔ ได้ก็จริง..... แต่ขาด คุณสมบัติข้อ2 ตามมหาจัตตารีสกสูตร. จึงไม่จัดเป็นสัมมาสมาธิในอริยมรรค และ ไม่เป็นประโยชน์ต่อการเห็นธรรม..... เว้นเสียแต่ จะนำฌานนั้นมาเจริญวิปัสสนาดังที่มีพระสูตรแสดงกล่าวเอาไว้
สัมมาสมาธิ เป็นจุดรวมขององค์แห่งอริยมรรคทั้งเจ็ด ก่อนที่จะบังเกิดผลเป็น สัมมาญาณะ และ สัมมาวิมุติ
ถ้า ปฏิบัติถูกตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้.... ต่อให้ปฏิบัติแบบแนวทางที่๑ (คือ เจริญวิปัสสนามีสมถะ เป็นเบื้องหน้า) แบบที่ท่านพระอานนท์กล่าว....สัมมาสมาธิ ก็จะต้องบังเกิดขึ้นแน่นอน.
เพราะ ถ้าหากปราศจาก สัมมาสมาธิ เสียแล้ว มรรคสมังคี ย่อมไม่บังเกิดขึ้น...... |
|
|
|
  |
 |
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่

เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773
|
ตอบเมื่อ:
25 มิ.ย.2008, 2:18 pm |
  |
จาก ที่ ท่านพระอานนท์กล่าวไว้นี้
จะแยก แนวทาง การเจริญกรรมฐาน(ภาวนา) เป็น 3แบบ คือ
1.เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า
2.เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องหน้า
3.เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป
วิธีที่2 เป็นวิธีที่กล่าวถึงแล้ว ว่า อาจจะไม่เหมาะกับฆราวาสในยุคสมัยนี้ เพราะต้องได้ฌานก่อน แล้วนำองค์ฌานมาเจริญวิปัสสนาอีกที
วิธที่น่าสนใจ คือ วิธีที่1 และ วิธีที่3 ครับ
ขอ เสนอ แนวทางที่1ก่อนน่ะครับ
วิธีที่1(เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องหน้า)
ก็มีพระสาวกจำนวนมากมายในครั้งพุทธกาล ที่มาในแนวนี้ เช่น ท่านที่ไม่เคยออกบวชบำเพ็ญฌาน หรือ เจริญสติปัฏฐานมาก่อนเลย แต่ฟังธรรมต่อหน้าพระพักตร์ของพระศาสดา ส่งจิตตามพระธรรมเทศนา และบรรลุอรหัตผลไปเลย ณ ที่นั้น. แต่ ผมเองมองว่า ท่านเหล่านั้น เป็นบุรุษผู้ยอดเยี่ยม ที่มีพื้นฐานของจิตที่สงบในระดับหนึ่งอยู่แล้ว.... เรียกว่า ไม่จำเป็นต้องมาฝึกสมาธิเลยเสียด้วยซ้ำ .... อาจจะเป็นเพราะ ท่านเหล่านั้นมีบารมีแต่หนหลังอยู่แล้ว หรือ เป็นเพราะ สิ่งแวดล้อมบ้านเมืองในสมัยนั้น ไม่ได้สับสนวุ่นวายเหมือนในสมัยนี้. แต่ในยุคสมัยนี้ สังคมเป็นเช่นนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าจะมีบุคคลที่มีจิตสงบอยู่แล้วโดยพื้นฐาน เช่น ท่านเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน.....
แต่ ก็เห็นด้วยทุกประการน่ะครับ ถ้าใครจะกล่าวว่า "สามารถเจริญวิปัสสนาได้โดยตรงเลย".เพราะ มีหลักฐานปรากฏจริงๆ ให้เห็นในครั้งพุทธกาล
อนึ่ง แนวทางนี้ ในตอนขั้นดำเนินมรรค ก็ยังคงต้องมีสมาธิระดับหนึ่ง(ที่ยังไม่ถึงขั้น สัมมาสมาธิ)อยู่ดี เช่นที่ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ กล่าวไว้ใน หนังสือพุทธธรรม
"....วิธีการที่มุ่งเฉพาะด้านปัญญา คือการปฏิบัติอย่างที่กล่าวไว้บ้าง
แล้วในเรื่องสัมมาสติ เป็นวิธีปฏิบัติที่สติมีบทบาทสำ คัญ คือ ใช้สมาธิแต่
เพียงขั้นต้นๆ เท่าที่จำ เป็นสำ หรับการปฏิบัติ หรือใช้สมาธิเป็นเพียงตัวช่วย
แต่ใช้สติเป็นหลักสำคัญ สำหรับยึดจับหรือมัดสิ่งที่ต้องการกำ หนดไว้ ให้
ปัญญาตรวจพิจารณา นี้คือวิธีปฏิบัติที่เรียกว่า วิปัสสนา
แท้จริงนั้น ในการปฏิบัติวิธีที่ ๑ นี้ สมถะก็มีอยู่ คือการใช้สมาธิขั้น
ต้นๆ เท่าที่จำเป็น...."
ท่านผู้รู้ ท่านจัดสมาธิที่จำเป็นต้องใช้ในขั้นการดำเนินมรรคตรงนี้ว่า เป็น สมาธิระดับ ขณิกสมาธิ หรือ อุปจาระสมาธิ เท่านั้น
อนึ่ง ถึงแม้น สัมมาสมาธิ จะมีกำลังแห่งสมาธิ อยู่ในระดับ(หรือเทียบเท่ากับ) รูปฌาน๑ ถึง รูปฌาน๔ ก็จริง..... แต่ ผู้ที่ดำเนินมรรคตามแนวทางที่1นี้ ไม่จำเป็นต้องได้ฌานมาก่อน (ผู้ที่ได้ฌานก่อน แล้วค่อยมาเจริญวิปัสสสนาจะเป็น แนวทางที่2ครับ). ผู้ดำเนินมรรคตามแนวทางที่1นี้ สามารถเจริญวิปัสสสนาได้โดยตรงเลย โดยไม่ต้องไปกังวล เรื่องฌานแต่อย่างใด
ส่วน เมื่อบังเกิดมรรคสมังคีเมื่อใด .....สัมมาสมาธิ จะต้องบังเกิดมีขึ้นเช่นกัน(มีสมถะเป็นเบื้องหน้า) |
|
|
|
  |
 |
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่

เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773
|
ตอบเมื่อ:
25 มิ.ย.2008, 4:49 pm |
  |
มาต่อ กันถึงเรื่อง การเจริญสมถะ-วิปัสสนาแบบที่3 (ตามที่ท่านพระอานนท์กล่าวไว้น่ะครับ
วิธีที่3 เจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป
(ปล...
ตรงจุดนี้ ต้องเคลียร์กันให้ชัดก่อนน่ะครับ ว่านี่กำลังกล่าวตามพระสูตร. เพราะ ถ้าใช้การแบ่งตามตำรารุ่นหลัง เป็นแบบ สมถะยานิก(ต้องได้ฌานก่อนแล้วมาเจริญวิปัสสนา) และ วิปัสสนายานิก(วิปัสสนา100% ต้องปราศจากสมถะ) ก็จะไม่มีลักษณะการเจริญสมถะและวิปัสสสนาควบคู่กันไปแน่นอนน่ะครับ....)
กรรมฐานที่มีลักษณะ ที่มีทั้งการเจริญ สมถะ และ วิปัสสสนา ควบคู่กันไป ที่ชัดเจน ก็คือ กรรมฐานในมหาสติปัฏฐานสูตร
อนึ่ง การเจริญสติปัฏฐานนั้น มีทั้ง สมถะ และ วิปัสสนา ในตัว
ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ ท่านได้ให้ความเห็นไว้ในหนังสือพุทธธรรม ดังนี้ครับ
การเจริญสติปัฏฐานนี้ เป็นวิธีปฏิบัติธรรมที่นิยมกันมา และยกย่อง
นับถือกันอย่างสูง ถือว่ามีพร้อมทั้งสมถะ และวิปัสสนาในตัว
แต่ สติปัฏฐานที่ มีพระสุปฏิปันโนในไทยหลายท่าน พากันปฏิบัติ เช่น กายคตาสติ และ อานาปานสติ ก็ยังคงมีความเห็นจากบางท่าน(ที่อิงกับทางพม่า และ คัมภีร์รุ่นหลัง)จัดให้เป็นเพียง อุบายแห่งสมถะอย่างเดียว มิได้มีส่วนแห่งวิปัสสนากรรมฐานเลย.....และ เหมือนจะกล่าวว่า ไม่ควรเจริญกายคตาสติ ให้เสียเวลาเลยเสียด้วยซ้ำ
ตรงนี้ ผมขอเสนอให้ดูจากหลักฐานระดับพระสูตรโดยตรง.... เช่น กรณีของกายคตาสติกรรมฐาน
จากพระสูตร กายคตาสติ มีอานิสงส์ ดังนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กายคตาสติอันภิกษุเสพแล้วโดยมาก เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นฌานแล้ว ทำให้เป็นพื้นที่ตั้งแล้ว ให้ดำรงอยู่เนือง ๆ แล้ว อบรมแล้ว ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๐ ประการนี้ คือ
(๑) อดกลั้นต่อความไม่ยินดีและความยินดีได้ ไม่ถูกความไม่ยินดีครอบงำ ย่อมครอบงำความไม่ยินดีที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ด้วย ฯ
(๒) อดกลั้นต่อภัยและความหวาดกลัวได้ ไม่ถูกภัยและความหวาดกลัวครอบงำ ย่อมครอบงำภัยและความหวาดกลัว ที่เกิดขึ้นแล้วด้วย ฯ
(๓) อดทน คือเป็นผู้มีปรกติอดกลั้นต่อความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย ต่อสัมผัส แห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาก ต่อทำนองคำพูดที่กล่าวร้าย ใส่ร้าย ต่อเวทนาประจำสรีระที่เกิดขึ้นแล้ว อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ ไม่ใช่ความสำราญ ไม่เป็นที่ชอบใจ พอจะสังหารชีวิตได้ ฯ
(๔) เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันเกิดมีในมหัคคตจิต เครื่องอยู่สบายในปัจจุบัน ตามความปรารถนา ไม่ยาก ไม่ลำบาก ฯ
(๕) ย่อมแสดงฤทธิ์ได้เป็นอเนกประการ คือ คนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ปรากฏตัวหรือหายตัวไปนอกฝา นอกกำแพง นอกภูเขาได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ทำการผุดขึ้นและดำลงในแผ่นดิน เหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำ ไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศ โดยบัลลังก์เหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์และพระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากปานฉะนี้ ด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ ฯ
(๖) ย่อมฟังเสียงทั้งสอง คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ทั้งที่ไกล และที่ใกล้ได้ด้วยทิพยโสตธาตุ อันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์ ฯ
(๗) ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น และบุคคลอื่นได้ ด้วยใจ คือ จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ
จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ
จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ
จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ว่าจิตเป็นมหัคคตะหรือจิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหัคคตะ
จิตยังมีจิตอื่นยิ่งกว่ารู้วาจิตยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า
จิตตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตตั้งมั่น หรือจิตไม่ตั้งมั่นก็รู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น
จิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่าจิตหลุดพ้นแล้ว หรือจิตยังไม่หลุดพ้นก็รู้ว่าจิตยังไม่หลุดพ้น ฯ
(๘) ย่อมระลึกถึงขันธ์ ที่อยู่อาศัยในชาติก่อนได้ เป็นอเนกประการ คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง หลายสังวัฏกัปบ้างหลายวิวัฏกัปบ้าง หลายสังวักวิวัฏกัปบ้าง ว่าในชาติโน้น เรามีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุข และทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเท่านี้ เรานั้นเคลื่อนจากชาตินั้นแล้ว บังเกิดในชาติโน้น
แม้ในชาตินั้น เราก็มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้ มีผิวพรรณอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ เสวยสุขและทุกข์อย่างนี้ มีกำหนดอายุเท่านี้ เรานั้นเคลื่อนจากชาตินั้นแล้ว จึงเข้าถึงในชาตินี้ ย่อมระลึกขันธ์ที่อยู่อาศัยในชาติก่อนได้เป็นอเนกประการ พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ เช่นนี้ ฯ
(๙) ย่อมมองเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ........... ย่อมมองเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม เช่นนี้ ฯ
(๑๐) ย่อมเข้าถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ทำให้แจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในปัจจุบันอยู่ ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ฯ กายคตาสติอันภิกษุเสพแล้วโดยมากเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ทำให้เป็นฌานแล้ว ทำให้เป็นพื้นที่ตั้งแล้ว ให้ดำรงอยู่เนือง ๆ แล้ว อบรมแล้ว ปรารภสม่ำเสมอดีแล้ว พึงหวังอานิสงส์ ๑๐ ประการได้ ดังนี้แล ฯ"
อานิสงส์9ข้อแรกเป็นผลของสมถะโดยตรง
อานิสงส์ข้อ10 คือ ถึงพระอรหัตตผล เป็นผลจากวิปัสสนา
พระมหาสาวก ที่ใช้กายคตาสติเป็นหลักในการภาวนา คือ ท่านพระอานนท์ พุทธอนุชาผู้ทรงพหูสูต
ในพระวินัยปิฎก เล่ม 7 จุลวรรคภาค 2 ขันธกะ
ระบุถึงการบรรลุพระอรหันต์ของท่าน ดังนี้
[617] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุม
ข้อที่เรายังเป็นเสกขบุคคลอยู่จะพึงไปสู่ที่ประชุมนั้น ไม่ควรแก่เรา
จึงยังราตรีเป็นส่วนมากให้ล่วงไปด้วย กายคตาสติ
ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรีจึงเอนกายด้วยตั้งใจว่า จักนอน
แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้ายังไม่ทันพ้นจากพื้น
ในระหว่างนั้น จิตได้หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เป็นพระอรหันต์ได้ไปสู่ที่ประชุม ฯ
ท่านพระอานนท์ ตอนที่ตั้งใจเจริญกายคตาสตินั้น ท่านบรรลุเป็นพระโสดาบันมานานแล้ว(ท่านบรรลุโสดาบัน ตั้งแต่ ฟังธรรมจากท่านพระปุณณมันตานีบุตร เมื่อคราวอุปสมบทใหม่ๆ).
ในคืนก่อนวันปฐมสังคายนาที่ท่านพระอานนท์บรรลุอรหัตตผล ท่านเจริญกรรมฐานส่วนใหญ่ด้วยกายคตาสติ.... คือ ท่าน เร่งภาวนาเพื่อให้บรรลุอรหัตตผลในคืนนั้น เพื่อที่จะได้ทันเข้าร่วมปฐมสังคายนา.
กรรมฐานที่พระโสดาบันที่ทรงพหูสูตรที่สุดเลือกในการมุ่งอรหัตตผล ย่อมน่าสนใจมากครับ... และ ไม่น่าจะเป็นเพียงแค่ อุบายแห่งสมถกรรมฐานอย่างเดียว โดยไม่มีส่วนของวิปัสนาอย่างที่บางท่านเข้าใจ.....
ท่านพระอานนท์ ที่เป็นผู้ฟังและทรงจำพระพุทธพจน์มามากที่สุด คงไม่เลือกกรรมฐานที่เป็นแต่เพียงสมถกรรมฐานอย่างเดียว มาใช้ภาวนาให้เสียเวลา ในคืนที่สำคัญขนาดนั้นแน่
ลองพิจารณากันดูน่ะครับ |
|
|
|
  |
 |
ตรงประเด็น
บัวบานเต็มที่

เข้าร่วม: 25 ก.ค. 2006
ตอบ: 773
|
ตอบเมื่อ:
25 มิ.ย.2008, 5:06 pm |
  |
เรื่อง ของความไม่ตรงกันในเรื่อง สมถะ-วิปัสสสนา.... ระหว่าง พระพุทธพจน์ในพระสูตร กับ คัมภีร์รุ่นหลัง ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือกรณีของ อานาปานสติกรรมฐาน
จาก คัมภีร์รุ่นหลัง บางเล่ม กล่าวไว้ว่า
ว่าด้วยอานาปานสติ
เป็นภูมิมนสิการแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจจกพุทธ พุทธบุตร และผู้เป็นมหาบุรุษเท่านั้น มิใช่กรรมฐานเล็กน้อย และมิใช่สัตว์เล็กน้อย (ผู้มีปัญญาน้อย) จะซ่องเสพได้
จาก คัมภีร์รุ่นหลัง ถ้าถือตามมติแห่งคัมภีร์นี้ ชาวพุทธทั่วไปที่ไม่เข้าข่ายแห่งมหาบุรุษ ก็ไม่ควรเจริญอานาปนสติให้เสียเวลา
แต่ ลองเปรียบเทียบดูกับ อานาปนสติกรรมฐาน จากพระสูตร
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใด ยังเป็นเสกขะ (ผู้ยังต้องศึกษา) ยังมิได้บรรลุอรหัตตผล เมื่อปรารถนาธรรมอันยอดเยี่ยม อันปลอดโปร่งจากโยคะ (เครื่องผูกมัด) อยู่ สมาธิที่มีสติกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ อันภิกษุเหล่านั้นเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะ (กิเลสที่ดองสันดาน)."
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ๑๙/๔๑๓
จากพระสูตร ตรัสถึงทรงแนะนำให้ภิกขุเสขะทั่วไป(ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นมหาบุรุษ) ควรเจริญอานาปนสติกรรมฐาน
ก็ ลองพิจารณาเปรียบเทียบกันดูเอาเองน่ะครับ |
|
|
|
  |
 |
เฉลิมศักดิ์1
บัวบาน

เข้าร่วม: 17 เม.ย. 2007
ตอบ: 272
ที่อยู่ (จังหวัด): ระยอง
|
ตอบเมื่อ:
01 ก.ค.2008, 5:49 am |
  |
เรียนคุณตรงประเด็น อย่าทำตนเป็นอรรถกถา ตีความพระไตรปิฏกเองเลยครับ
ความเห็นของคุณจะเป็นอันตราย ต่อการปฏิบัติวิปัสสนา ก็ได้
ฟังภิกษุผู้ทรงพระไตรปิฏก ท่านบรรยาย ดีกว่าครับ
สมถะที่เป็นบาทของวิปัสสนา
จากหนังสือ พุทธวิทยาน่ารู้ โดย พระครูศรีโชติญาณ (พระมหาแสวง)
http://larndham.net/index.php?showtopic=25151&st=0
โดยมากชาวพุทธผู้ที่สนใจการปฏิบัติธรรม มักจะพูดกันเสมอว่า การที่จะเจริญวิปัสสนาในเบื้องต้น จำเป็นจะต้องทำสมถะเสียก่อนแล้วจึงจะทำวิปัสสนาต่อไป ถ้าไม่ทำสมถะเสียก่อนแล้ว จะก้าวขึ้นไปทำวิปัสสนาได้อย่างไร เพราะสมถะเป็นเบื้องต้นของวิปัสสนา
เท่าที่ผู้วิจัยเคยสังเกตมา ส่วนมากมักจะเป็นแบบนี้แทบทั้งนั้น เพื่อจะทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นโดยยึดพระปริยัติเป็นหลัก ก็ใคร่ที่จะขออธิบายให้เป็นที่เข้าใจกันเสียในที่นี้เลย
อันที่จริง แนวในการปฏิบัติธรรม เพื่อทำใจให้หมดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ได้ทรงวางไว้แล้ว โดยแยกการปฏิบัติออกเป็น ๒ แนว คือ
แนวที่ ๑ เรียกว่า "สมถยานิกะ" คือ เจริญฌานสมาบัติให้เกิดขึ้นเสียก่อน แล้วให้ฝึกหักฌานจนเกิดเป็นวสี ๕ คล่องแคล่ว ชำนิชำนาญ จากนั้นจึงค่อยต่อเป็นวิปัสสนา โดยเข้าฌานใดฌานหนึ่งแล้วก็ออกจากฌาน จากนั้นก็ให้ยกเอาองค์ของฌานเท่ที่ตนจะเข้านั้น เฉพาะองค์ที่ชัดที่สุดขึ้นพิจารณาโดยความเป็นพระไตรลักษณ์
การเจริญวิปัสสนาปัญญาแบบที่ว่านี้ท่านเรียกว่า "สมถยานิกะ" ถ้าสำเร็จมรรค-ผล ท่านก็เรียกผู้สำเร็จแนวที่ว่านี้ว่า "เจโตวิมุตติ" อาจมีชื่อพิเศษเป็น เตวิชโช ฉฬภิญโญ คือ ผู้ที่ได้วิชชา ๓ หรือผู้ได้อภิญญา ๖ เป็นต้น
แนวที่ ๒ เรียกว่า "วิปัสสนายานิกะ" คือ เจริญวิปัสสนาปัญญาล้วนๆ ทีเดียว โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องไปทำฌานสมาบัติอะไรให้เกิดขึ้นก่อนก็ได้ พอเริ่มทำก็กำหนดนามรูปกันทีเดียว
หมายความว่า พอตนเรียนอารมณ์ พร้อมทั้งวิธีกำหนดจากอาจารย์ผู้สนอจนเข้าใจแล้ว ก็ลงมือปฏิบัติหลังจากที่ตนได้สถานที่ที่สบาย บุคคลที่สบาย ละปลิโพธกังวลเล็กๆ น้อยๆ หมดแล้ว ก็ทำวิปัสสนาได้ทีเดียว พอวิปัสสนาเกิดขึ้นตนเองก็จะต้องประคองพลธรรมทั้ง ๕ ประการ มีศรัทธาเป็นต้นให้เสมอภาคกัน ในไม่ช้าก็จะสามารถแยกฆนสัญญาออกจากกันได้
เมื่อสามารถทำลายฆนสัญญาให้แตกออกจากกันได้แล้ว นามรูปก็จะปรากฎขึ้น ถ้าผู้ปฏิบัติพยายามทำต่อไปโดยไม่ลดละก็สามารถที่จะบรรลุถึงมรรค-ผล ได้ตามประสงค์ วิธีปฏิบัติแบบหลังที่ว่านี้ท่านเรียกว่า "ปัญญาวิมุตติ" และจะได้ชื่อพิเศษว่า "สุขวิปัสสโก" ที่มักแปลกันว่า "เห็นแจ้งอย่างแห้งแล้ง"
นอกจากนั้น ยังได้พูดถึงความสามารถของพระอริยบุคคลทั้ง ๒ จำพวกนี้ไว้อีกว่า
๑. สมถยานิกะ ทำลายตัณหาก่อน
๒. วิปัสสนายานิกะ ทำลายอวิชชาก่อน
อันที่จริง ตัณหาเป็นอกุศลเหตุเดียว มีอาณาเขตแคบส่วนอวิชชานั้นเป็นอกุศล ๒ เหตุ มีอาณาเขตกว้างขวาง
อันนี้หมายความว่า ในที่ใดมีตัณหาในที่นั้นก็จะต้องมีอวิชชาเกิดร่วมด้วยเสมอไป แต่ตรงกันข้ามในที่ใดมีอวิชชาในที่นั้นจะมีตัณหาเกิดร่วมด้วยก็ได้ ไม่เกิดร่วมด้วยก็ได้ เพราะอวิชชาเป็นบาปที่ทั่วไปในอกุศลทั้งปวง อันนี้พูดกันเฉพาะสหชาติ
แต่ถ้าจะพูดกันโดยอารัมมณสัตติและอุปนิสสยสัตติแล้ว อวิชชาก็ตั้งอยู่ในฐานะเป็นบิดาของตัณหา เพราะเป็นอดีตเหตุนั่นเอง ส่วนตัณหาเล่า ก็มีฐานะเป็นเสมือนบุตร ที่เป็นเช่นนี้ เพราะตนเป็นได้เพียงปัจจุบันเหตุในอันที่จะส่งผลต่อไปในอนาคตภพนั่นเอง
เพื่อสนับสนุนเรื่องเกี่ยวกับบาทฐานของวิปัสสนาที่กำลังจะพูดกันนี้ จึงใคร่ขอยกหลักฐานจากยุคนัทธวรรค ซึ่งมีมาในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย แห่งปฏิปทาวรรค ฉบับฉัฏฐะ หน้า ๔๗๕ ข้อ ๑๗๐ แล้วแก้ด้วยอรรถกถาชื่อ "มโนรถปูรณี ฉบับ ฉัฏฐะ" ภาค ๒ หน้า ๓๔๖ ข้อ ๑๗๐ และขยายด้วยอังคุตตรฎีกาชื่อ "สารัตถมัญชุสา" ภาค ๒ หน้า ๓๔๔ ข้อ ๑๗๐ ว่า
บาลีตอนที่ ๑
อิธ อาวุโส ภิกฺขุ สมถปุพฺพงฺคมํ วิปสฺสนํ ภาเวติ, ตสฺส สมถปุพฺพงฺคมิ วิปสฺสนํ ภาวยโต มคฺโค สญฺชายติ, โส ตํ มคฺคํ อาเสวติ ภาเวติ พหุลีกโรติ. ตสฺส มคฺคํ อาเสวโต ภาวยโต พหุลีกโรโต สํโยชนานิ ปหียติ, อนุสยา พฺยนฺติ โหนฺติ.
ความว่า
ผู้มีอายุ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนามีสมถะเป็นเบื้องต้น เมื่อเธอทำวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้นให้เจริญอยู่ มรรคย่อมเกิดพร้อม เธอปฏิบัติเจริญบำเพ็ญให้มากขึ้น เมื่อเธอ(ไม่ยอมลดละ) ปฏิบัติเจริญ บำเพ็ญมรรคนั้นให้มากๆ เธอย่อมละสังโยชน์เสียได้ อนุสัยทั้งหลาย ก็ย่อมเป็นโทสชาติที่มอดไหม้หมดไปฯ
อรรถกถาแก้บาลีตอนที่ ๑
สมถปุพฺพงฺคมนฺติ สมถํ ปุพฺพงฺคมํ ปุเรจาริกํ กตฺวา. มคฺโค สญชายตีติ ปฐโม โลกุตฺตรมคฺโค นิพฺพตฺตติ โส ตํ มคฺคนฺติ เอกจิตฺตกฺขณิกมคฺคสฺส อาเสวนาทีนิ นตฺถิ, ทุกติ ยมคฺคาทโย ปน อุปฺปาเทนฺโต ตเมว อาเสวติ ภาเวติ พหุลีกโรตีติ วุจฺจติ.
ความว่า
พระบาลีบทว่า "สมถปุพฺพงฺคมํ" แก้ว่า ทำสมถะให้เป็นเบื้องต้น คือ ทำให้เป็นปุเรจาริก (นำไปข้างหน้า)
พระบาลีสองบทที่ว่า "มคฺโค สญฺชายติ" แปลว่า โลกุตตรมรรคที่หนึ่ง (พระโสดาปัตติมรรค) บังเกิดอยู่ฯ
พระบาลีสามบทที่ว่า "โส ตํ มคฺคํ" ท่านแก้ไว้ว่า กิจทั้งหลายมีอาเสวนะเป็นต้น หาได้มีแก่มรรคที่เกิดเยงขณะจิตเดียวไม่ แต่เมื่อบำเพ็ญมรรคเบื้องสูงทั้งหลาย มีมรรคที่สองเป็นต้นให้เกิดขึ้น มรรคที่สองเป็นต้นนั่นเอง จึงจะตรัสเรียกว่า "อาเสวติ ภาเวติ และ พหุลีกโรติ" ได้ฯ
ฎีกาแก้ขยายความตอนที่ ๑
สมถปุพฺพงฺคมํ วิปสฺสนํ ภาเวติ อิทํ สมถยานิกสฺสวเสน วุตฺตํ. โส หิ ปฐมํ อุปจารสมาธึ วา อปฺปนาสมาธึ วา อุปฺปาเทติ, อยํ สมโถ, โสตญฺจ ตํสมฺปยุตฺเต จ ธมฺเม อนิจฺจามีหิ วิปสฺสติ, อยํ วิปสฺสนา, อิอติ ปฐมํ สมโถ, ปจฺฉา วิปสฺสนา, เตนวิจฺจติ "สมถปุพูพงฺคมํ วิปสฺสนํ ภาเวตีติ."
ความว่า
บาลีข้อที่ว่า "สมถปุพฺพงฺคมํ วิปสฺสนํ ภาเวติ" นี้ ท่านพูดไว้ด้วยอำนาจของสมถยานิกะฯ เพราะโยคีบุคคลผู้นั้นทำอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิให้เกิดขึ้นก่อน..อันนี้เป็นสมถะ โยคีบุคคลผู้นั้นจึงใช้ปัญญาพิจารณาถึงสมาธินั้น และธรรมที่สัมปยุตด้วยสมาธินั้น ให้เห็นแจ้งด้วยลักษณะมีอนิจจลัษกาณะเป็นต้น..อันนี้จัดเป็นวิปัสสนา ด้วยประการดังทีได้กล่าวมานี้ สมถะจึงเป็นเบื้องต้น วิปัสสนาจึงเกิดในภายหลัง ด้วยเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า "เจริญวิปัสสนาที่มีสมถะเป็นเบื้องต้น"เข้าไว้ฯ
ข้อที่ควรสังเกตในข้อที่ ๑ นี้ ก็มีอยู่ว่า การเจริญวิปัสสนาในแบบที่ ๑ นี้ เป็นการเจริญสมาธิให้เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงเจริญปัญญาให้เกิดต่อภายหลัง แต่ถ้าขืนเจริญแต่สมาธิเรื่อยไปโดยไม่เปลี่ยนอารมณ์ด้วยการออกจากฌานสมาธิแล้ว รับรองว่าวิปัสสนาปัญญาจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย ไม่ต้องดูอื่นไกล ขอให้ดูดาบสทั้งสองที่เป็นอาจารย์สอนพระพุทธองค์ตอนเมื่อก่อนตรัสรู้เถิด ปรากฏว่าท่านดาบสทั้งสองไม่อาจทำวิปัสสนาปัญญาให้เกิดขึ้นได้ ด้วยการอาศัยสมาธิแบบนั้นเป็นบาทฐาน ผลที่สุดก็ต้องตายจากโลกนี้ไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นอรูปภพ ซึ่งมีอายุยืนถึง ๘๔,๐๐๐ มหากัป เป็นตัวอย่างฯ
บาลีตอนที่ ๒
ปุน จปรํ อาวุโส ภิกฺขุ วิปสฺสนาปุพฺพงฺคมํ สมถํ ภาเวติ, ตสฺส วิปสฺสนาปุพฺพงฺคมํ สมถํ ภาวยโต มคฺโค สญชายติ, โส ตํ มคฺคํ อาเสวติ ภาเวติ พหุลีกโรโต สํโยชนานิ ปหียนฺติ, อนุสยา พฺยนฺตี โหนฺติ.
ความว่า
ผู้มีอายุ ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุเจริญสมถะ ที่มีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น เมื่อเธอทำสมถะ อันมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น ทำให้เกิดอยู่ มรรคย่อมเกิดพร้อม เธอปฏิบัติเจริญ บำพ็ญมรรคนั้นให้มากขึ้น เมื่อเธอปฏิบัติเจริญ บำเพ็ญมรรคนั้นให้มากๆ เธอก็ย่อมจะละสังโยชน์ทั้งหลายเสีย อนุสัยทั้งหลายก็ย่อมเป็นธรรมที่มอดไหม้หมดไปฯ
อรรถกถาแก้บาลีตอนที่ ๒
วิปสฺสนาปุพฺพงฺคมนฺติ วิปสฺสนํ ปุพฺพงฺคมํ ปุเรจาริกํ กตฺวา สมถํ ภาเวติ, ปกติยา วิปสฺสนาลาภี วิปสฺสนาย ฐตฺวา สมาธึ อุปฺปาเทตีติ อตฺโถ
ความว่า
พระบาลีข้อที่ "วิปสฺสนาปุพฺพงฺคมนฺติ" ความว่า โยคีบุคคลทำวิปัสสนาให้เป็นเบื้องต้น คือ ให้เป็นตัวนำแล้วจึงเจริญสมถะตามปกติ ผู้ที่ได้วิปัสสนาตั้งอยู่ในวิปัสสนาแล้ว จึงทำสมาธิให้เกิดขึ้นฯ
ฎีกาแก้ขยายความตอนที่ ๒
วิปสฺสนาปุพฺพงฺคมํ สมถํ ภาเวตีติ อทํ ปน วิปสฺสนายานิกสฺส วเสน วุตตํ. โส ตํ วุตฺตปฺปการํ สมถํ อสมฺปาเทตฺวา ปญฺจุปาทานกฺขนฺเธ อนิจฺจาทีหิ วิปสฺสติ.
ความว่า
ส่วนพระบาลีข้อที่ว่า "เจริญสมถะที่มีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น" นี้ ตรัสไว้ด้วยอำนาจของพระวิปัสสนายานิก คือ ผู้ที่เจริญวิปัสสนาล้วนๆ เธอยังมิได้ทำสมถะที่มีประการตามที่กล่าวมาแล้วนั้นให้สมบูรณ์เลย ก็พิจารณาเบญจขันธ์ที่เป็นอารมณ์ของอุปทานโดยความเป็นอนิจจะเป็นต้น
ตรงตอนที่ ๒ นี้ก็หมายความว่า ท่านเจริญเฉพาะวิปัสสนาล้วนๆ มาก่อน ...ยังมิทันที่เธอจะทำสมถะให้สมบูรณ์เลย ก็ใช้ปัญญาพิจารณาถึงเบญจขันธ์โดยความเป็นไตรลักษณ์เสียแล้ว...นี่เป็นคำอธิบายตามนัยของฎีกา
ส่วนคำของอรรถกถาท่านหมายความง่ายๆ ว่า ได้วิปัสสนาแล้วแต่อยากได้ฌานก็ทำฌานให้เกิดขึ้นเท่านั้น เราก็พอจะถือเอาความได้ว่า พระอริยะผู้ที่เป็นวิปัสสนาลาภี คือ ผู้ที่ได้วิปัสสนาจนเป็นพระโสดา - สกทาคามี -อนาคามี และพระอรหันต์แล้ว แต่ต้องการที่จะได้ฌาน ก็มาทำฌาน คือ สมาธิ หรือสมถะให้เกิดขึ้นในภายหลังจนกระทั่งได้สมาบัติ ๘ อย่าง นี้เรียกว่า ทำสมถะที่มีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นฯ
บาลีตอนที่ ๓
ปูน จปรํ อาวุโส ภิกฺขุ สมถวิปสฺสนํ ยุคนทธฺ ภาเวติ ตสฺส สมถวิปสฺสนํ ยุคนฺธํ ภาวยโต มคฺโค สญฺชายติ, โส ตํ มคฺคํ อาเสวติ ภาเวติ หุลีกโรโต สํโยชนานิ ปหียนฺติ, อนุสยา พฺยนฺติ โหนฺติ.
ความว่า
ข้ออื่นยังมีอยู่อีกผู้มีอายุ ภิกษุผู้เจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป เมื่อเธอเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป มรรคย่อมเกิดพร้อม เธอปฏิบัติเจริญ กระทำมรรคนั้นให้มาก เมื่อเธอปฏิบัติเจริญ(และ) ทำมรรคนั้นให้มาก สังโยชน์ทั้งหลายก็ย่อมถูกละเลยไป อนุสัยทั้งหลายย่อมเป็นธรรมที่มอดไหม้หมดไปฯ
คำแปลอรรถกถาแก้บาลีตอนที่ ๓ อันมี "ยุคนทฺธํ ภาเวตีติ ยุคนทฺธํ กตฺวา ภาเวติ.ฯ " เป็นต้น ความว่า
พระบาลีข้อที่ว่า "เจริญควบคู่กันไป" นั้น พระอรรถกถาจารย์ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า เจริญทำให้ควบคู่กันไป ฯ
ในการเจริญดังกล่าวเหล่านั้น ใครๆ ก็ไม่อาจที่จะเข้าสมาบัติด้วยจิตดวงนั้นนั่นแหละ แล้วก็พิจารณาสังขารทั้งหลายด้วยจิตดวงนั้นนั่นเอง แต่โยคีบุคคลผู้นี้เข้าสมาบัติได้เพียงใด ก็ย่อมพิจารณาสังขารได้เพียงนั้น พิจารณาสังขารได้เท่าใด ก็เข้าสมาบัติได้เท่านั้น ที่ว่านี้หมายความว่าอย่างไร
หมายความว่า ตนเข้าปฐมฌานได้ ออกจากปฐมฌานแล้ว ก็พิจารณาสังขารทั้งหลายอีก เมื่อพิจารณาสังขารทั้งหลายแล้ว ก็เข้าตติยฌาน ฯลฯ เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ เมื่อออกจากอรูปสมาบัติที่ ๔ แล้วก็ได้พิจารณาสังขารทั้งหลาย ตามวิธีอย่างที่ได้อธิบายมานี้ ชื่อว่าเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปด้วยประการฉะนี้ฯ
ข้อสังเกตตามที่พระอรรถกถาจารย์และพระฎีกาจารย์อธิบายมา จะเห็นได้ว่าเป็นการยากที่เราจะไปตีความเอาโดยพลการ เพราะถ้าไม่ตรงต่อคำอธิบายของท่านแล้ว แทนที่จะเป็นการช่วยกันเผยแผ่พระพุทะศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป กลับจะเป็นการช่วยกันทับถมคำสอนของท่านให้เสื่อมสูญลงโดยไม่รู้ตัว
ดังนั้นท่านผู้ที่รักจะช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนา จะอธิบายอะไรก็ควรที่จะตรวจตราดูเสียให้เรียบร้อยก่อน เพราะการบรรยายธรรมเป็นการแนะแนวในการดำเนินชีวิต และการปฏิบัติที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน เพื่อให้หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ซึ่งไม่เหมือนกับการ้องเพลงที่จะชวนให้คนฟังเกิดแต่กิเลสเป็นความเศร้าหมองอย่างเดียว
ถ้าเราจะสรุปความในท่อนที่ ๓ ที่ท่านได้อธิบายมา เราก็พอจะจับใจความของท่านได้ว่า ในการเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปนั้น ที่จริงก็คือ การเจริญสมะจนได้ฌานใดฌานหนึ่งแล้วก็ออกจากฌาน จึงจะพิจารณาสังขารต่อไป จนกว่าจะเกิดมรรคนั่นเอง
เพราะท่านปฏิเสธไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ไม่มีนักปฏิบัติคนใดดอก ที่จะสามารถเข้าสมาบัติด้วยจิตดวงนั้นแล้วก็พิจารณาสังขารด้วยจิตดวงนั้นได้
บาลีตอนที่ ๔
ปุน จปรํ อาวุโส ภิกขุโน ธมฺมุทธจฺจวิคฺคหิตํ มานสํ โหติ, โส อาวุโส สมโย ยํ ตํ จิตฺตํ อชฺฌตฺตเมว สนฺติฏฐติ สนฺนิสีทติ เอโกทิ โหติ สมาธิยติ, ตสฺส มคฺโค สญฺชายติ, โส ตํ มคฺคํ อาเสวติ ภาเวติ พหุลีกโรติ. ตสฺส ตํ มคฺคํ อาเสวโต ภาวยโต พหุลีกโรโต สํโยชนานิ ปหียนฺติ, อนุสยา ยนตี โหนฺติ .
ความว่า
ผู้มีอายุ ก็ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุมีใจปราศจากความฟุ้งซ่านในอริยธรรม ผู้มีอายุ สมัยนั้น จิตดวงนั้นก็ย่อมตั้งมั่นดิ่งลงในภายในทีเดียว เป็นเอกุคคตารมณ์เป็นสัมมาสมาธิ มรรคย่อมเกิดพร้อมแก่เธอ เธอปฏิบัติเจริญ ทำมรรคนั้นให้มากๆ เมื่อเธอปฏิบัติเจริญบำเพ็ญมรรคนั้นให้มากได้ เธอก็ย่อมละสังโยชน์ทั้งหลายเสียได้ อนุสัยทั้งหลายก็ย่อมเป็นธรรมที่มอดไหม้ไปในที่สุดฯ
อรรถกถาแก้บาลีตอนที่ ๔
ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิตนฺติ สมถวิปสฺสนาธมฺเมสุ ทสวิปสฺสนุหกิเลสสงฺขาเตน อุทฺธจฺเจน วิคฺคหิตนฺติ อตฺโถ โส อาวุโส สมโยติ อิมินา สตฺสตฺนํ สปฺปายํ ปฏิลาภกาโล กถิโต. ยํ ตํ จิตฺตนฺติ นสฺมึ สมเย ตํ วิปสฺสนาวิถึ ปจฺโจตฺถริตฺวา ตสฺมึเยว โคจรชฺฌตฺตสงฺขาเต อารมฺมเณ สนฺติฏฐติ. สนฺนิสีทตีติ อารมฺมณวเสน สมฺมา นิสีทติ. เอโกทิ โหตีติ เอกคฺคํ โหติ. สมาธิยตีติ สมฺมา อาธิยติ สุฏฐปิตํ โหติ. เสสเมตฺถ อุตฺตา นมตฺถเมว
ความว่า
พระบาลีที่ว่า"ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิตํ" ความว่า คลายออกจากความฟุ้งซ่าน คือ ความเศร้าหมองของวิปัสสนา ๑๐ ประการ ในธรรมคือสมถะและวิปัสสนา คือ จับอารมณ์ได้ดีแล้วนั่นเอง
พระพุทธองค์ตรัสถึงเวลาที่ได้สัปปายะ ๗ อย่างไว้ด้วยพระบาลีข้อที่ว่า "โส อาวุโส สมโย" นี้
พระบาลีที่ว่า "ยํ ตํ จิตฺตํ" คือ ในสมัยใดจิตปรากฏก้าวลงสู่วิถีของวิปัสสนานั้น ฯ
พระบาลีสองบทที่ว่า "อชฺฌตฺตเมว สนฺติฏฐติ" ความว่า จิตนั้นแผ่ตรงไปเฉพาะวิปัสสนาวิถีได้แล้ว ก็ย่อมจะตั้งมั่นได้ในอารมณ์ คือ อารมณ์ที่เป็นภายในนั้นเท่านั้น ฯ
บทที่ว่า "สนฺนิสีทติ" ได้แก่แนบสนิทดีด้วยอำนาจของอารมณ์ฯ
สองบทที่ว่า "เอโกทิ โหติ" คือ เป็นจิตที่มีอารมณ์เป็นอันเดียว
บทว่า "สมาธิยติ" หมายความว่า เป็นจิตที่ดำรงอยู่ได้โดยชอบ คือ เป็นจิตที่ได้ตั้งไว้ดีแล้วนั่นเอง
แปลฎีกาแก้ขยายความตอนที่ ๔ มี ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิตมานสนฺติ เป็นต้น ความว่า
คำของอรรถกถาบทที่ว่า "ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิตมานสํ" ความว่า ความฟุ้งซ่านที่ปรากฏในวิปัสสนูปกิเลส มีแสงสว่างป็นต้นว่า "เป็นอริยธรรม" คือความฟุ้งชื่อว่า "ธัมมุทธัจจะ" จิตใจที่จับอารมณ์ผิดพลาดเป็นไป โดยการดำเนินออกจากวิถีของวิปัสสนา เพราะความฟุ้งซ่านไปในธรรมนั้น จัดเป็นจิตใจที่จับอารมณ์ผิดพลาด เพราะความฟุ้งซ่านไปในธรรมนั่นเอง
คำนี้สมจริงตามบาลีปฏิสัมภิทามรรค หน้า ๒๙๑ ฉบับฉัฏฐะว่า
ใจที่จับอารมณ์ผิดพลาดเพราะความฟุ้งซ่านในธรรมปรากฏขึ้น ผู้ปฏิบัติที่กำลังใส่ใจโดยความเป็นอนิจจะ แสงสว่างก็เกิดขึ้น ก็ย่อมรำพึงถึงแสงสว่าง
"แสงสว่างเป็นธรรมะ ความฟุ้งซ่านที่เกิดเพราะความสนใจถึงแสงสว่างนั้น ผู้ปฏิบัติที่มีใจจับอารมณ์ผิดพลาดเพราะความฟุ้งซ่านนั้น ก็ย่อมหารู้ชัดถึงความปรากฏโดยความเป็นอนิจจะตามความเป็นจริงไม่ได้ ความปรากฏโดยความเปฌนทุกขะ ฯลฯ เป็นอนัตตะก็หารู้ชัดตามความเป็นจริงไม่ได้เช่นกัน
แต่ถ้าเมื่อเธอมนสิการโดยความเป็นอนิจจะเหมือนอย่างนั้น ญาณความรู้ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ฯลฯ ปีติ ปัสสัทธิ สุข อธิโมกข์(การตัดสินใจเชื่อ) ปัคคาหะ(ความเพียรเกินไป) อุปัฏฐาน(ความปรากฏชัดเกินไป) อุเบกขา (วางเฉยเกินไป)นิกันติ(ความต้องการ ๙ ข้อข้างต้น)เกิดขึ้น ผู้ปฏิบัติก็นึกถึงความต้องการว่า "นิกันติ" เป็นธรรมะ ความฟุ้งซ่านย่อมเกิดเพราะความมนสิการผิดพลาดนั้น
เพราะความฟุ้งซ่านอันนั้นเป็นเหตุ เธอผู้มีใจจับอารมณ์ผิดพลาด ก้ย่อมหารู้ชัดถึงความปรากฏโดยความเป็นอนิจจะตามความเป็นจริงไม่ได้ ความปรากฏโดยความเป็นทุกขะ และอนัตตะ ก็หารู้ชัดตามความเป็นจริงไม่ได้เช่นกัน
หมายเหตุ ตามคำอธิบายของท่าน ก็พอจะจับใจความได้ว่า ธมฺมุทฺธจฺจวิคฺคหิตํ คือ ขณะที่ผู้ปฏิบัติเจริญวิปัสสนาไปจนกระทั่งถึงอุทยัพพยญาณ หรือตีรณปริญญา ถ้าเกิดอุปกิเลสของวิปัสสนา ๑๐ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น หากไปมนสิการถึงอุปกิเลสดังว่านั้น ก็จะทำให้เกิดความสนใจพอใจในแสงสว่างเป็นต้น จิตก็จะฟุ้งซ่านตกจากวิปัสสนาวิถีไป ไม่อาจที่จะเห็นพระไตรลักษณ์ได้โดยชัดเจนนั่นเอง เพราะวัตถุประสงค์ของการเจริญวิปัสสนานั้น ก็จำเป็นจะต้องปลูกโยนิโสมนสิการ ให้ตั้งมั่นอยู่แต่เฉพาะลักษณะของนามรูปเท่านั้นนั่นเองฯ
ตามที่ได้อธิบาย พร้อมทั้งยกเอาหลักฐานมาเป็นเครื่องยืนยันทั้งหมดนี้ จะเห็นได้แล้วว่าเป็นเรื่องที่น่าระมัดระวัง ในการเผยแผ่ธรรมะชั้นสูงเป็นกรณีพิเศษทีเดียว ถ้าไม่จำเป็นแล้วขออย่าได้ผลีผลามใช้ความเห็นของตนแสดงออกเป็นอันขาด เพราะถ้านักปราชญ์ที่เขาคงแก่เรียนไปรู้เข้า มิใช่จะเสียหายเฉพาะตัวเองเท่านั้น ยังเสียไปถึงคนที่หลงเดินตามปฏิปทาที่ตัวสอนอีกมากมายด้วย จึงขอสะกิดใจไว้เพียงเท่านี้ฯ |
|
|
|
  |
 |
|
|
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่ คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ คุณไม่สามารถลงคะแนน คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้ คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
|
| | |