Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เรื่องของเปรตธรณีสงฆ์ (เสฐียรพงษ์ วรรณปก) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ใบโพธิ์
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2007
ตอบ: 307

ตอบตอบเมื่อ: 17 ม.ค. 2008, 8:27 am ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เรื่องของเปรตธรณีสงฆ์
โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก


จำได้ว่าเมื่อ พ.ศ.2547 มีข่าวครึกโครมว่าทางรัฐบาลจะเสนอร่างพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดิน โดยรวมเอาที่ดินของวัดและธรณีสงฆ์ของวัดเข้าไปด้วย

พระสงฆ์องค์เจ้าตั้งแต่มหาเถรสมาคมลงมา ตลอดจนสมภารเจ้าวัดทั่วราชอาณาจักร ต่างก็กลัวว่า วัดและที่ดินของวัดจะถูกเบียดบังไปเป็นสมบัติของใครบางคนเข้า โดยอ้างความชอบธรรมทางกฎหมาย ท่านจึงแจ้งมติประชุมของมหาเถรสมาคมว่า จะจัดรูปที่ดินอื่นใดก็จัดไปเถิด กรุณาอย่าแตะที่วัดและที่ธรณีสงฆ์เลย จะด้วยการอ้างเหตุผลอะไรที่ฟังสวยหรูบริสุทธิ์โปร่งใสยิ่งกว่าตาตั๊กแตน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนของโคตรเหง้าเศรษฐีตระกูลใดก็ตามเถิด โปรดได้ตัดข้อความและมาตราที่เกี่ยวกับที่วัด ธรณีสงฆ์ ศาสนสมบัติกลาง ออกไปเถิด

ปรากฏว่าข้อทักท้วงของคณะสงฆ์ได้รับสนองตอบเป็นอย่างดี ทำให้พระเถรานุเถระทั้งหลายโล่งอกตามๆ กัน ไม่ใช่โล่งอกที่ไม่ถูกยึดที่วัดและธรณีสงฆ์ดอกครับ โล่งอกที่ที่วัดไม่ได้ถูกเบียดบังเอาไปนั้นส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งโล่งอกที่ได้เห็นท่านผู้เกียรติในสภาไม่กลายเป็น “เปรตธรณีสงฆ์” หลังตายแล้ว นับว่าเป็นความกรุณาของพระสงฆ์ท่าน

พระสงฆ์ที่ท่านมีเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ท่านไม่ต้องการให้ใครตกนรกหมกไหม้เพราะทำบาปดอกครับ ในพระคัมภีร์มีกวีบทหนึ่งกล่าวความจริงข้อนี้ว่า “มารดารักบุตรสุดที่รักคนเดียว แต่พระรักคนทั้งโลก”

การถือเอาสมบัติของสงฆ์ ของพระศาสนา แม้น้อยนิด เป็นบาปมหันต์ ปู่ ย่า ตา ทวด จึงสอนลูกสอนหลานมิให้เอาของสงฆ์ ท่านจะเล่านิทานให้ลูกให้หลานฟัง ฟังแล้วก็ขนลุกด้วยความกลัว ความจริงนิทานเรื่องนี้มิใช่เรื่องแต่งขึ้น เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นสมัยพุทธกาล เห็นจะต้องเล่าเท้าความสักเล็กน้อย

หลังจากตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้ปัญจวัคคีย์จนได้บรรลุมรรคผล ทรงบวชให้ปัญจวัคคีย์แล้ว ยสกุลบุตรลูกเศรษฐีเมืองพาราณสีพร้อมทั้งเพื่อนๆ อีกกว่าห้าสิบคนก็มาบวชเป็นสาวก แล้วพระพุทธองค์ได้ส่งพระอรหันต์สาวกจำนวน 60 รูป ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนต่างๆ พระองค์เองเสด็จมุ่งหน้าไปยังเมืองราชคฤห์ ทรงแสดงธรรมโปรดชฎิล (นักบวชสามพี่น้อง) พร้อมบริวาร ทรงบวชให้ท่านเหล่านั้นแล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสารและประชาชนชาวเมืองราชคฤห์ ซึ่งเดิมนับถือชฎิลทั้งสามอยู่

พระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ถวายตนเป็นสาวกของพระพุทธองค์ ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการใหญ่ ทรงสร้างวัดแห่งแรกขึ้นชื่อว่า “วัดพระเวฬุวัน” ปัจจุบันใครไปเยี่ยมซากเมืองราชคฤห์เก่า ยังเห็นบริเวณที่เคยเป็นวัดแห่งแรกนี้อยู่

วัดเวฬุวันเดิมเป็นป่าไผ่ที่มีกระแตชุกชุมเป็นพิเศษ และได้รับพระราชทานอภัยทานห้ามใครจับหรือยิงเป็นอันขาด กระแตเหล่านี้มี “พระคุณ” แก่พระเจ้าแผ่นดินเป็นพิเศษ โดยที่ครั้งหนึ่งหลังจากเสด็จกลับจากล่าสัตว์ พระราชาก็มาพักผ่อนใต้ร่มไผ่นอกเมือง ขณะทรงม่อยหลับไปพักใหญ่ก็สะดุ้งตื่นขึ้นเพราะเสียงร้องของเหล่ากระแต ทรงเห็นอสรพิษเลื้อยผ่านไป ก็ทรงเข้าใจว่า เหล่ากระแตพวกนั้นช่วยไล่อสรพิษซึ่งจะมากัดพระองค์หนีไป จึงสำนึกในบุญคุณของพวกมัน ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งสำหรับซื้ออาหารเลี้ยงพวกกระแตเป็นประจำ ตั้งแต่นั้นป่าไผ่แห่งนี้จึงได้นามว่า “กลันทกนิวาปสถาน” (สถานที่ให้อาหารกระแต)

พระเจ้าพิมพิสารจะทำบุญถวายภัตตาหารแก่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เป็นประจำ อยู่มาคืนหนึ่งขณะทรงบรรทมหลับสนิท ก็พลันสะดุ้งตื่น เพราะได้ทอดพระเนตรเห็นสัตว์ทั้งหลายน่าเกลียดน่ากลัว รูปร่างแตกต่างกันบรรยายไม่ถูก แต่ละตัวก็แสดงอาการหิวโหยราวไม่ได้กินอาหารมาเป็นพันๆ ปี ยื่นมือออกมาร้องขอความช่วยเหลือกันเซ็งแซ่ ตื่นเช้าขึ้นพระองค์ก็รีบไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทรงเล่าเรื่องให้พระพุทธองค์ฟัง

พระพุทธองค์ตรัสว่า “สัตว์เหล่านั้นคือเปรต รู้ว่าพระองค์ทรงบำเพ็ญกุศลให้ทาน ก็พากันมาขอส่วนบุญ”

“จะให้ทำอย่างไรพระเจ้าข้า” พระราชากราบทูลถาม

“มหาบพิตรก็จงทำบุญถวายทานแก่พระสงฆ์แล้วตั้งใจอุทิศส่วนบุญแก่เปรตเหล่านั้น” พระพุทธเจ้าตรัส

“เปรตเหล่านั้นเป็นใคร เกี่ยวข้องกับข้าพระองค์อย่างไร” พระราชยังสงสัย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เปรตเหล่านั้นในชาติก่อนอันไกลโพ้น เป็นญาติสนิทกับมหาบพิตร ได้ร่วมกันทำบุญถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์หมู่ใหญ่ พวกเขาได้ตระเตรียมข้าวปลาอาหารไว้มากมายเพื่อถวายแก่พระสงฆ์ ขณะที่พระสงฆ์ยังไม่มา บางคนก็เกิดความหิว จึงหยิบอาหารที่เตรียมไว้ถวายพระกินก่อน ด้วยบาปกรรมอันนี้ พวกเขาจึงเกิดเป็นเปรตประเภท “ปรทัตตูปชีวี” ต้องอาศัยอาหารที่คนอื่นอุทิศให้ยังชีพ บังเอิญว่าที่แล้วมา ไม่เคยมีใครอุทิศส่วนบุญให้พวกเขาเลย จึงหิวโหยผอมโซอย่างที่เห็นนั้นแหละ”

พระเจ้าพิมพิสารจึงทำบุญถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขอีกครั้ง แล้วตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้พวกอดีตญาติๆ ทั้งหลายเหล่านั้น เปรตพวกนั้นได้รับส่วนบุญที่พระเจ้าพิมพิสารทรงอุทิศไปให้ ต่างมีหน้าสดชื่นเบิกบาน ตกดึกคืนหนึ่งจึงพากันมาขอบคุณพระเจ้าพิมพิสารกล่าวอนุโมทนาในบุญกุศลที่พระองค์ทรงบำเพ็ญแล้วก็หายวับในทันใด

นี้คือที่มาแห่งการทำบุญกรวดน้ำในพระพุทธศาสนา ถ้าจะถามว่าก่อนหน้านี้ในพระศาสนาไม่มีพิธีนี้หรือ ก็ตอบได้ว่าคงไม่มี เพราะพระพุทธศาสนาเพิ่งเกิดและแพร่หลายในช่วงนี้ การเกิดขึ้นแห่งประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ก็เพิ่งจะเริ่มเกิดและมีมาตั้งแต่บัดนี้ต่อไป

ถามอีกว่า การกรวดน้ำนี้ เคยมีมาไหม คือก่อนเกิดพระพุทธศาสนา เคยมีการทำอะไรคล้ายๆ นี้ไหม ตอบอีกว่าเคยครับ เท่าที่ทราบมีมานานแล้ว คงจะเป็นวิธีปฏิบัติของคนอินเดียโบราณ

ดังในพระเวสสันดรชาดก ตอนพระเวสสันดรให้พระนางมัทรี พระชายาเป็นทานแก่พราหมณ์แปลง (พระอินทร์แปลงเป็นพราหมณ์มาขอ) ทันที่จะตัดสินใจมอบให้ พระเวสสันดรก็หยิบคนโทน้ำหลั่งลงในมือของพราหมณ์ เป็นสัญลักษณ์ว่ามอบให้เด็ดขาด

แต่การรินน้ำใส่มือผู้รับเป็นสัญลักษณ์ว่ามอบให้เด็ดขาดแล้วเท่านั้น ไม่มีความหมายในการอุทิศกุศลเผื่อคนอื่น ดังในประเพณีการกรวดน้ำของพุทธศาสนา สรุปว่าการกระทำมีการรินน้ำคล้ายกัน แต่จุดมุ่งหมายแห่งการกระทำไม่เหมือนกัน จะว่าการกรวดน้ำมีรากฐานมาจากการรินน้ำหลังจากให้สิ่งของเป็นทานแท้ๆ คงพูดไม่ได้

คล้ายกับการพูดว่า พชป. มีนโยบายคล้าย ทรท. แต่ พชป. ก็หาใช่ ทรท. ไม่ ประมาณนั้น ใช่หรือเปล่าครับท่านว่าที่นายกรัฐมนตรี

Image

ทีนี้มาพูดถึงเรื่องเปรต คำว่า “เปรต” ภาษาบาลีเขียน เปต แปลตามตัวว่า “ผู้ล่วงลับไปแล้ว” คือผู้ที่ตายแล้ว ใช้เป็นคำกลางๆ หมายถึงคนที่ตายไปแล้ว ไม่ว่าตายดี ตายไม่ดี ไม่ว่าคนดี คนชั่ว เมื่อตายแล้วเรียกว่า “เปรต” เหมือนกันหมด

การทำบุญให้ญาติมิตร เราก็เรียกว่า ทำบุญอุทิศให้เปรต ซึ่งหมายถึงทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย มิได้มีความหมายในทำนองเหยียดว่าญาติของเราเป็นเปรต (ในความหมายที่เราเข้าใจส่วนมาก) แต่อย่างใด ทางปักษ์ใต้มีพิธีทำบุญ “ชิงเปรต” ก็มีความหมายในนัยที่ว่านี้ แต่ “เปรต” มันมีอีกความหมายหนึ่ง คือคนที่ทำบาปทำกรรมตายไปแล้วไปเกิดใน “ปิตติวิสัย” (ภพภูมิแห่งเปรต) เป็นทุคติภูมิทำนองเดียวกับพวกสัตว์นรก เปรตพวกนี้มีอยู่ 2 ชนิด คือ

(1) ปรทัตตูปชีวี เปรตที่ต้องอาศัยผลบุญที่มีคนอุทิศให้ ไม่มีปัญญาหากินเอง ถึงจะพยายามหาอาหารกินก็คงไม่ได้ เพราะผลกรรมบันดาลให้เขาต้องอดอยากปากหมอง ทุกข์ทรมาน พวกนี้ถึงอยากกินก็ไม่ได้กิน เพราะฉะนั้นท่านจึงมีสัญลักษณ์ให้รู้ว่า มีปากเท่ารู้เข็ม มีพุงโตเหมือนภูเขา คืออยากมาก อยากกินให้พุงป่องเลย แต่กินไม่ได้เพราะปากมันเล็กว่าอย่างนั้นเถอะ

(2) เวมานิกเปรต (เปรตมีวิมาน) เปรตพวกนี้แปลก ท่านว่ากลางวันพวกเขาจะได้รับทุกข์ทรมานมาก เช่นเดียวกับสัตว์นรกนั่นแหละ แต่พอตกกลางคืนมาก็มีวิมานสวยหรูอยู่ เสวยสุขดังชาวสวรรค์ พอเช้าขึ้นมาความสุขเหล่านั้นก็วับหาย ต้องมาทุกข์ทรมานต่อไป

ทำให้นึกถึงบุคคลในสังคมสมัยนี้ มีชีวิตอยู่ดุจ “เวมานิกเปรต” ไม่ผิดเพี้ยน กลางวันก็ทำงานหน้าดำคร่ำเครียด ตกกลางคืนก็เที่ยวดื่มเที่ยวกินตามโรงแรมหรูๆ ร้านอาหารหรูๆ แพงๆ บางแห่งก็มีดนตรีขับกล่อมให้สบายหู มีสาวเสิร์ฟสวยๆ คอยเสิร์ฟอาหารให้ ยังกับอยู่ในวิมานไม่มีผิด ตำรายังกล่าวว่า เปรตพวกนี้เหาะได้ด้วย สมัยนี้ก็มีรถไง พาเหาะพาซิ่งจากที่นั่นที่นี่ตามต้องการ หรือไม่ก็ขึ้นเรือเหาะไปถึงต่างประเทศก็ได้ เหาะไปปรึกษาการบ้านการเมืองกันต่างแดนก็มี ดูแล้วมันก็เปรตประเภทมีวิมานเราดีๆ นี่เอง

ถามว่า คนทำบาปกรรมอะไรจึงมาเกิดเป็นเปรต พระคัมภีร์กล่าวไว้หลายประเภท คนที่ยักยอกเอาของสงฆ์ตายไปก็เกิดเป็นเปรต ส่วนมากก็เป็นพระภิกษุสมภารเจ้าวัดนั่นแหละ ดูแลเงินทองของวัด แรกๆ ก็คงไม่คิดอะไร พอนานเข้าก็โลภอยากได้ แพ้ต่อมโนธรรมของตนก็ยักยอกเอามาเป็นของตนเสีย ตายไปไม่แคล้วเป็นเปรต ไม่อย่างนั้นเราจะมีคำพูดว่า “เปรตวัดสุทัศน์” หรือครับ (ทำไมต้องเจาะจงวัดสุทัศน์ วัดอื่นไม่มีหรือไง ไม่ทราบสิครับ)

มีเรื่องจริงเขาเล่าให้ผมฟังนานแล้ว มรรคนายกวัดแห่งหนึ่ง เอาเงินวัดไปเข้าแบงก์กินดอกเบี้ย เงินยังอยู่แต่ดอกเบี้ยได้เท่าไรแกเอามาเป็นของตัวหมด อยู่มาวันหนึ่งแกป่วยหนักด้วยโรคประหลาด คือขี้ไหลตลอด กินอะไรลงไปก็ไหลออกหมด จนกระทั่งตาย ก่อนตายแกเพ้อคล้ายสั่งลูกหลานว่า “ใช้ดอกเบี้ยๆ” แล้วก็สิ้นลม

ลูกหลานก็ไม่ทราบว่าแกสั่งลาอะไร ดอกเบี้ยอะไร พอสมภารท่านทราบ ท่านก็ไม่ว่าอะไร สั่งให้ลูกหลานทำสังฆทาน สั่งให้ใส่ปัจจัย (เงิน) เท่าจำนวนที่ท่านคิดว่าเป็นดอกเบี้ยธนาคารที่แกเอาไป โดยที่ลูกหลานไม่ทราบ

อีตามรรคนายกนี้แกคงตายไปเกิดเป็นเปรตแหงๆ เลย

เปรตอีกตัวหนึ่ง อ่านแล้วอดขำมิได้ แกมีลูกอัณฑะโตเท่าตุ่มน้ำ ลำบากลำบนมาก ไปไหนก็แบกอัณฑะไปด้วย เวลานั่งก็นั่งบนอัณฑะของตัวเอง เมื่อมีผู้ทูลถาม พระพุทธองค์ตรัสว่า ชาติก่อนเปรตตัวนี้เป็นผู้พิพากษา พิจารณาอรรถคดีไม่ยุติธรรม ตายไปจึงเกิดเป็นเปรตดังกล่าว หลายคนอ่านแล้วคงเสียวไข่ไม่น้อย (ฮา)


Image
เสฐียรพงษ์ วรรณปก


หนังสือพิมพ์มติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10900
 

_________________
ทำความดีทุกๆ วัน
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
bai_pai
บัวใต้ดิน
บัวใต้ดิน


เข้าร่วม: 09 ก.พ. 2008
ตอบ: 39
ที่อยู่ (จังหวัด): kyeongki-do, korea

ตอบตอบเมื่อ: 06 เม.ย.2008, 5:34 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ ยิ้มเห็นฟัน สู้ สู้
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ ไม่สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง