Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 เจ้าอุบล (หลวงตาแพรเยื่อไม้) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 25 ต.ค.2004, 5:17 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

เจ้าอุบล
โดย หลวงตาแพรเยื่อไม้

จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา


เจ้าเด็กขายผักตัวดำๆ ตาโตๆ มันให้ของราคาถูกแต่มันแพงบาดใจ จนต้องเก็บเอามันมาอาทร และเจ้าตัวมันคงรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของหลวงตาด้วยสัญชาตญาณของมัน จึงกลับมาหาหลวงตาอีก เมื่อวันสงกรานต์ ขณะที่มันประคองกระปุกน้ำอบรินรดลงบนมือ มันไม่ได้อวยพรด้วยถ้อยคำไพเราะเหมือนใครๆ แต่มันพูดว่า

“หลวงตารับหนูไว้เป็นลูกสาวอีกซักคนนะหลวงตา”

เมื่ออาทิตย์ก่อนเจ้าอุบลมากับมารี เผลอคุยนานไป ประกอบกับไม่รู้จักรถเมล์สายที่ผ่านไปเมืองนนท์ จึงหลงขึ้นรถผิดกลับถึงบ้านเอามืด ทางบ้านพากันตกใจ พ่อกับแม่ต้องออกตาม เพราะก่อนหน้านี้แม่ไปดูหมอดู หมอทักว่าชะตาอุบลไม่ดีนัก ให้ระวังผู้หญิงผิวเนื้อดำจะล่อลวงไปในทางไม่งาม

เมื่อถึงบ้าน ทุกคนก็รุมดุว่า “ไปนั่งวิปัสสนายังไงกันจนมืดค่ำ” ยายทวดเปรียบเปรย

“แม่นึกว่า ใครมันพาไปวิปัสสนาในโรงแรมเสียแล้ว”

“ทีหลังไม่ให้ไปละวัดวา พระเจ้าสมัยนี้ก็น่าไว้ใจเสียเมื่อไหร่” ย่าซ้ำ

“พ่อชักหมั่นไส้เต็มทีแล้วนะ จะบอกให้”

ใครจะว่ากระทบกระเทียบรุนแรงอย่างไร เจ้าอุบลก็เฉยๆ แต่พอมาถึงพ่อน้ำตาเจ้าซึมถอนสะอื้น เพราะปกตินั้นพ่อรักอุบลมากไม่เคยดุว่าเลย ฉะนั้น เพียงแต่คำน้อยของพ่อเท่านี้ก็สะเทือนใจจนกลั้นน้ำตาไม่ไหว

มันนุ่งผ้าถุงสีแดงจางๆ เนื้อหนาสวมเสื้อสีซีดๆ รวบผมไว้ด้วยยางรัด เครื่องประดับประจำคอก็มีแต่สร้อย ส่อถึงฐานะครอบครัวว่าอยู่ในสภาพตีนถีบปากกัด เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัวเพราะเป็นลูกสาวคนโต ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๗ คน และจะเป็น ๘ เพราะกำลังจะโผล่จากท้องแม่มาอีก ๑ แล้วก็ยังมียาย มีย่า มียายทวด รวมเป็น ๑๒ คน

พ่อตกงานมาหลายเดือนแล้ว อาชีพประจำก็คือ แม่ขายผักอยู่ในตลาดเมืองนนท์ กำไรจากขายผักประมาณ ๕๐ ถึง ๖๐ บาท นี่แหละรายได้ที่ประคองคน ๑๒ คน ให้ยังมีลมหายใจอยู่ได้

เจ้าอุบลต้องออกไปขายผักในตลาดตั้งแต่ตี ๕ เรื่อยไปจนบ่าย บางวันก็เย็น

“ไม่มีใครเขาอยากให้หนูมาวัดหรอก เพราะทำให้ขาดรายได้” เจ้าอุบลว่า

“อ้าว แล้วนี่ทำไมถึงมาได้ล่ะ ?” หลวงตาซัก

“หนูขอมา หนูขอวันเดียวเท่านั้น ถ้าไม่ให้หนูก็ไม่ยอม”

“อือม์ แปลกนิ แปลก ! ตัวเท่าเรานี่ อย่าว่าแต่นั่งกรรมฐานเลย เพียงแต่หันหน้าเข้าวัดก็หน้าบูดเหม็นเบื่อแล้ว ไอ้แกนี่เป็นเด็กแปลกโว้ย” ยิ่งคุ้นเข้า หลวงตาก็ยิ่งเผลอปล่อยธาตุแท้ออกมาคือภาษาลูกทุ่ง

“ใครวะ พาแกมาวัดมหาธาตุ ?”

“หนูได้ยินทางวิทยุค่ะว่าหลวงพ่อเทพสิทธิมุนี ท่านสอนกรรมฐาน พอฟังปุ๊ปก็ตัดใจว่า จะต้องมาให้ได้ แหมครั้งแรกหนูหลงไปปากคลองตลาดแน่ะ กว่าจะหาวัดมหาธาตุเจอ ก็ต้องเดินเสียเหนื่อย” เจ้าอุบลเล่าด้วยกิริยาอาการสนุกสดชื่น แต่หลวงตากลับเศร้า เหตุที่มันหลงนั้นก็คือมันอ่านหนังสือไม่ออก

“อายุเท่าไรแล้วล่ะ ! เราน่ะ ?” หลวงตาถามอีก

“หนูยังไม่ได้ทำบัตรเลยค่ะ !”

“ก็มันเท่าไรแน่ล่ะ ที่ว่ายังไม่ได้ทำบัตรน่ะ !”

“หนูก็ไม่ทราบเหมือนกัน”

“บ๊ะ ! แล้ว ไม่รู้กระทั่งอายุตัวเอง”

มันนั่งหัวเราะอาย ๆ

จากการสังเกตของหลวงตาพบว่า เจ้าอุบลมีความดื่มด่ำในรสอารมณ์กรรมฐานมาก ยามที่พูดถึงวิธีปฏิบัติก็ดี พระอาจารย์แต่ละองค์ก็ดี มันจะเอิบอิ่มยิ้มแย้มแสดงถึงปิติปราโมทย์อย่างแท้จริง พร้อมทั้งส่อให้เห็นความไม่เดียงสาผสมผสานกันไป เป็นเหตุให้จิตใจหลวงตาคล้อยตามจนกลายเป็นพระช่างคุย

โดยนำเอานิทานคติออกมาเล่าให้มันฟังหลายเรื่อง เรื่องที่เกาะอารมณ์ของมันมากก็เห็นจะได้แก่เรื่องเยี่ยมนรก เพราะตลอดเวลาที่เล่า มันนั่งเงียบราวกะถูกสะกดจิต พอจบมันก็ถอนใจ เงียบไปชั่วขณะ แล้วก็เงยหน้าขึ้นมองหน้าผู้เล่า

“หลวงตาคะ !”

“หือ ! ว่าไง ?”

“หนูจะถวาย ?”

สิ่งที่มันลั่นปากว่าจะถวายนั้นทำเอาหลวงตาถึงกับสะอึกนึกไปถึง


(มีต่อ)
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
amai
บัวบาน
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435

ตอบตอบเมื่อ: 25 ต.ค.2004, 5:22 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

พระภิกษุรูปหนึ่ง ยังหนุ่มออกบวชจากตระกูลมั่งมี จิตใจยังเต็มอยู่ด้วยความหยิ่งในทรัพย์ในตระกูล การประพฤติก็ไม่สู้จะเอื้อต่อปฏิปทาของสมณะนัก เพราะถือว่าไม่ง้อใคร ฉันจะดีจะชั่วก็เรื่องของฉัน ไม่ใส่บาตรให้ฉันกิน ฉันไปกินข้าวบ้านพ่อฉันก็ได้ เพราะพ่อฉันเป็นเศรษฐี

อยู่มาจนเช้าวันหนึ่งออกบิณฑบาตร ผ่านไปถึงกระท่อมของหญิงเข็ญใจสองแม่ลูก ความคับแค้นถึงขนาดว่าหุงข้าวหม้อหนึ่ง แบ่งเป็นสองส่วนของใครของมัน จะล่วงล้ำก้ำเกินกันไม่ได้ เมื่อพระหนุ่มรูปนั้นผ่านไปถึง บังเอิญหญิงผู้เป็นแม่กำลังป่วยนอนอยู่ในกระท่อม เมื่อเห็นพระมาก็ร้องบอกลูกสาว

“อีหนูเอ๊ย ! เอาข้าวไปใส่บาตรให้แม่ทีซีลูก”

“ข้าวไม่มีหรอกจ้ะแม่ หมดแล้ว” ลูกสาวตอบ

“มีซีลูก ต้องมี แม่ยังไม่ได้กินนี่นา” แม่ประท้วง

“ก็มีเหลือแต่ส่วนของแม่เท่านั้นแหละจ้ะ ! ถ้าใส่บาตรเสีย แม่จะกินอะไรล่ะ ? ยิ่งไม่สบายอยู่”

“เอาเถอะ ! ไม่ต้องเป็นห่วงแม่ เอาส่วนของแม่นั่นแหละใส่บาตร วันนี้แม่ไม่กินหรอก เร็วๆ เข้าซีลูก เดี๋ยวพระท่านจะคอย”

ตลอดทางที่เดินกลับวัด ภิกษุหนุ่มให้รู้สึกหนักเหลือเกิน เปล่า ! ไม่ได้หนักที่บาตรหรอก มันขึ้นไปหนักบนหัวขมอง หนักด้วยอำนาจความรู้สึก ความคำนึง อะไรหนอ ? ที่ทำให้หญิงชราเข็ญใจผู้นี้สละข้าวที่ควรจะกลืนกินให้เรา อะไรทำให้นางกล้าถึงเพียงนี้ นางกำลังป่วยควรต้องสงวนไว้กินบำรุงกาย เมื่อมาสละให้เราเสียแล้ว นางก็ต้องอด อดแน่ๆ

นางสละเพราะสงสารเรารึ ? ไม่ใช่น่า ! เรายังแข็งแรง หนุ่มแน่น

ถ้าอย่างนั้น นางสละเพื่ออะไร ? อ้อ ! คงอยากได้บุญ

ถ้าอยากได้บุญ ทำไมต้องมาให้เรา ?

นี่นางคงเชื่อตามที่คนทั้งหลายเชื่อกันมานานแล้ว ว่าพระสงฆ์อย่างเราเป็นเนื้อนาบุญอย่างเอกของโลก เพราะมีปรกติเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ แล้วเราล่ะ ! เป็นผู้ปฏิบัติถูก ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแล้วหรือ ?

ภิกษุหนุ่มเศร้าสลดอเนจอนาถในปฏิปทาดั้งเดิมของตัวเองยิ่งนัก เพราะพบว่าตัวเองเป็นพระลวงโลกตลอดมา อยู่ในคราบของผู้ที่ชาวโลกเขาพากันบูชา โดยปราศจากคุณสมบัติที่คู่ควร แม้กระทั้งจะเข้านั่งเข้าใกล้

หลวงตาถอนใจ เมื่อคำนึงเรื่องนี้จบลง แล้วหันไปหาเจ้าอุบล

“จะมาถวายหลวงตาทำไม ? หลวงตารวยนะ ! เทศน์กัณฑ์หนึ่งเป็นร้อย เป็นพัน”

“หนูอยากจะได้บุญกับหลวงตาค่ะ !” มันตอบหน้าระรื่น

หลวงตาขรึมเศร้าลงทันใจ พยักหน้าช้าๆ เจ้าอุบลรู้ถึงนิมิตอาการนั้นว่า หลวงตายอมโปรด จึงแกะกระเป๋าเล็กๆ ที่เหน็บสะเอวขึ้นมาเปิดออก หยิบเอากระดาษแผ่นเล็กๆ ที่เก่าสกปรกจนออกกลิ่นใบหนึ่ง คลี่รีดให้เรียบหายยู่ยี่ แล้วประคองจบเหนือศีรษะ คลานเข้ามาประเคนด้วยความสดชื่นแจ่มใส ใบหน้าอิ่มเอิบราวกะผู้สำเร็จมรรคผล ผิดกว่าใบหน้าของผู้รับประเคนซึ่งหม่นหมอง เหมือนคนที่มีความเจ็บปวดซ่อนเร้นอยู่ในส่วนลึก

โต๊ะบูชาประจำกุฏิหลวงตามีของบูชาพิเศษหลายอย่างตามที่แฟนๆ เคยรู้ ก็มีเหรียญสลึงอันหนึ่ง กระถางน้ำมนต์และสร้อยแม้ว แต่ละอย่างล้วนมีประวัติความเป็นมาเจ็บๆ คันๆ ทั้งนั้น สงกรานต์ปีนี้ก็ได้เพิ่มขึ้นมาอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะให้ความรู้สึกที่เจ็บปวดมากกว่าทุกสิ่งที่เคยได้รับ มันคือแบ๊งค์ห้าบาท ที่ชุ่มชื้นด้วยเมือกคาวปลาและยางผักของเจ้าอุบล



.................... จบ ....................
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวชมเว็บส่วนตัวMSN Messenger
เจ้าอุบล
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 12 ส.ค. 2006, 6:24 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 
^^o^^
ผู้เยี่ยมชม





ตอบตอบเมื่อ: 15 พ.ค.2007, 2:02 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

สาธุ
 
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง