ผู้ตั้ง |
ข้อความ |
amai
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435
|
ตอบเมื่อ:
20 ต.ค.2004, 7:40 pm |
  |
นิด
โดย หลวงตาแพรเยื่อไม้
จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา
หลวงตาเจอนิดก่อนบินไปเชียงใหม่ ตลอดเวลาที่อยู่เชียงใหม่ หลวงตาเฝ้าคิดถึงแต่นิด ขากลับจึงมีของมาฝาก เหตุที่ชักนำให้ได้มาพบกัน ก็เพราะมีพระภิกษุในวัดถึงมรณะภาพลงรูปหนึ่ง ทางวัดได้จัดการศพในฐานะเป็นเจ้าภาพ มีสวดพระอภิธรรมติดต่อกันหลายคืน พระเณรในวัดนับแต่ท่านเจ้าคุณเทพฯ ไปจนถึงเณรเล็กๆ ฆราวาสก็ตั้งแต่มรรคทายก ศิษย์วัด ไปจนกระทั่งสัปเหร่อ ต่างก็แสดงการนำพาอาทร ถือเอาเป็นธุระ มาช่วยกันหยิบโน่นฉวยนี่ เพราะถือเป็นเสมือนหนึ่งคนครอบครัวเดียวกัน
เมื่อใครมีทุกข์ขึ้นมาสักคน ก็ย่อมจะมีผลให้กระเทือนไปทั่ว บางคนทำอะไรไม่ถูก ก็ต้องเห็นใจเพราะไม่เคยตาย และยังไม่คิดจะตาย ก็เลยไม่ได้เตรียมตัว อย่างไรก็ตามขอให้มาเถอะ ! ไม่ทำอะไร เพียงแต่มานั่งให้เห็นๆ หน้ากัน แม้จะคุยทะลึ่งๆ สู่เพื่อนฟังให้หัวเราะกันจนเสียมรรยาท ก็ยังแสดงว่ามีน้ำใจ ยังดีกว่าผู้ดีสมบูรณ์แบบที่นั่งคิดอยู่แต่ว่า ธุระไม่ใช่ !
ที่ศาลาตั้งศพตอนค่ำคืน จะคึกคักพลุกพล่านไปด้วยผู้คนแขกเหรื่อ ทั้งพระเณร และคฤหัสถ์ แต่ตอนกลางวันกลับตรงกันข้ามเงียบเชียบ เพราะแถวศาลาบำเพ็ญกุศลงานศพ ว่าไปแล้วมันก็ป่าช้าดีๆ นี่เอง ใครที่ไม่มีความจำเป็นก็ไม่อยากเฉียดกราย
กลางวันวันหนึ่งสักประมาณบ่าย ๒ โมง หลวงตาลงไปนั่งอยู่ที่ตั้งศพ เพราะเกิดความคิดถึงขึ้นมา เนื่องจากท่านที่มรณะภาพนี้ เคยได้นั่งเปล่งคำอธิษฐานพรรษาคู่กันมาถึง ๒๐ ปี เมื่อเพื่อนมามีอันเป็น (ตาย) ไปก็ใจหาย ความผูกพันทางสำนึกดังนี้ ชักนำหลวงตาให้พาตัวเองไปนั่งมองหีบศพอยู่ที่นั่น ความสงัดวังเวงของบรรยากาศ ณ บริเวณนี้ บวกกับความสังเวชในใจ ทำให้หลวงตาเกิดอุปาทานไปบางขณะ ว่าคล้ายๆ กับได้ยินเสียงของความเงียบ เสียงจากปรภพกระซิบกระซาบอยู่ในอนุสติ หลวงตาอาจจะเคลิ้มไปนาน แต่ก็ต้องตื่นจากภวังค์เมื่อคุณหญิง คุณหญิงชื่อ เมียด
คุณหญิงเป็นผู้หนึ่งที่มีความเคารพนับถือท่านผู้มรณะ วันที่นำศพกลับจากโรงพยาบาล หลวงตายังเห็นคุณหญิงกับลูกสาวพากันร้องไห้เสีย เป็นวรรคเป็นเวร น้ำตาของคุณหญิงหรือของใครก็แล้วแต่ ที่ไหลออกมาในยามนี้ย่อมมีความหมาย อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเครื่องประมาณว่า ชีวิตแตกดับไปแล้วนี้เคยมีประโยชน์ โดยเฉพาะกับคนที่เสียน้ำตา น้ำตาคือเครื่องวัดราคาคน
คุณหญิงมาเก็บกวาดสถานที่ และจัดดอกไม้ด้วยตนเองอย่างไม่ถือเนื้อถือตัวเลย พระเณรทั้งวัดพากันชมเชยและนับถือคุณหญิงอย่างสนิท แม้บรรดาลูกๆ ทั้งหญิงทั้งชายก็พากันมาช่วยเหลือ จนเกิดความสนิทสนมกับพระเณรเป็นอย่างดี โดยเฉพาะคุณผู้หญิงมีลูกสาวหลายคน แต่ละคนหน้าตาดีๆ ทั้งนั้น จึงเป็นเสมือนแรงดึงดูดอีกกระแสหนึ่งซึ่งพาให้ใครต่อใครรุมล้อมห้อมแห่คุณหญิงยิ่งขึ้น
หลวงตาทักทายคุณหญิงพอเป็นกิริยา แล้วก็นั่งเงียบเป็นเบื้อต่อไป เพราะหมู่นี้ไม่รู้ว่ามีอะไรมาทำให้หลวงตารู้สึกปากหนัก ไม่อยากพูดจากับใคร เห็นจะคิดมากเกินไปนั่นเอง ขณะที่นั่งเงียบอยู่นั้น ก็มีใครคนหนึ่งคลานประคองแก้วน้ำเย็นเข้ามาทำท่าจะน้อมถวาย หลวงตารู้สึกตัวจึงรับประเคนแล้วมองหน้าผู้ถวาย
“อยู่ที่ไหน ? ไม่เคยเห็นหน้า” หลวงตาถาม
“อยู่สี่พระยาค่ะ !” ผู้ถวายตอบ
“ลูกสาวฉันเองหลวงตา คนเล็กค่ะ !” คุณหญิงร้องบอกขณะที่กำลังจัดดอกไม้
“ชื่อไรจ๊ะ ?” หลวงตาถามผู้ถวายเบาๆ
“ชื่อนิดค่ะ !”
“นิดอะไร นิตยาใช่ไหม ?”
นิดเฉยๆ ค่ะ ชื่อจริง ชื่อวรรณา”
หลวงตาชวนนิดพูดคุยต่อไปอีกหลายคำ และนิดก็โต้ตอบได้เรียบร้อย ความเคอะเขินมีอยู่ชั่วประเดี๋ยวแล้วก็ปรับตัวเข้าสู่ความปกติได้ จึงทำให้การพูดการคุยเกิดความเพลิดเพลินและสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว หลวงตาเริ่มรู้สึกว่านิดมีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ อาจจะประกอบกับหลวงตาปรกติห่างเหินกับคนอย่างนิดก็ได้ และในที่สุดก็ถึงกับว่าจะห้ามตนเองไม่ให้สนใจนิด ทำได้ยากเสียแล้ว
“หลวงตารักนิดจัง” ค่ำวันหนึ่งหลวงตาบอกนิด และนิดยิ้มเอียงอาย
“นิดรักใครมากที่สุดจ๊ะ !”
“รักคุณแม่ค่ะ !”
“แล้วก็ใครอีก ?”
“คุณพ่อ คุณยาย แล้วก้อพี่ค่ะ !”
“นิดจ๊ะ ! รักหลวงตาอีกสักคนได้ไหม ?”
“ไม่ค่ะ !”
คำปฏิเสธของนิด ช่างหวานหูหลวงตาเหลือเกิน
หลวงตาต้องห่างนิดไปชั่วระยะหนึ่ง เพราะบินไปเชียงใหม่ ตลอดเวลาที่อยู่ที่โน่นไม่ว่าจะไปทางไหน ได้พบอะไรเป็นต้องหวลคิดถึง เนื่องจากการไปครั้งนี้ไปเพื่อเทศน์ฉลองศรัทธาคณะบุญกฐินจากกรุงเทพฯ ซึ่งไปทอดที่วัดสารภี อำเภอสารภี ตอนบ่ายของวันไปถึง เขาจัดให้มีการแห่กฐินขึ้น และขบวนแห่นั้นสิ่งที่เป็นเสมือนวิญญาณก็คือการฟ้อนพื้นเมือง มีฟ้อนเล็บเป็นต้น
เมื่อถึงกำหนดเวลา ผู้จัดการหรือผู้อำนวยการขบวนแห่ ได้จัดรถมารับหลวงตากับประธานคณะกฐิน ไปเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เขาปลาบปลื้มปิติถึงกับแห่แหน หลวงตาจึงมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับ การแสดงศิลปะพื้นเมืองที่นี่ และเกิดสนใจการฟ้อนชุดหนึ่งเป็นพิเศษ เขาเรียกว่า “ฟ้อนแม้ว” ประกอบด้วยเด็กสาวรุ่นแปดคน แต่งกายเป็นชาวเขาเผ่าแม้ว สีของผ้าแดงสลับดำ มีเครื่องประดับ
สิ่งที่ทำให้สนใจ “ฟ้อนแม้ว” จนถึงกับออกปากตั้งชื่อให้เขาว่า “แม้วพัฒนา” ก็คือสร้อยคล้องคอ เพราะสิ่งนี้มันทำให้หลวงตาคิดถึงนิด และกะแผนการไว้ว่า กลับกรุงเทพจะซื้อสร้อยแม้วไปฝากนิด นิดได้คล้องสายสร้อยแบบนี้คงจะสวยน่ารักไม่น้อย และตั้งใจว่าจะคล้องสวมให้นิดด้วยตนเอง นิดคงจะดีใจ หลวงตาฝันถึงนิด จนลืมความสวยงามของขบวนแห่ บางครั้งก็เผลอไปว่าหากนิดมาด้วย คงจะตื่นเต้นกับการต้อนรับของชาวสารภีครั้งนี้ไม่น้อยเลย
(มีต่อ) |
|
|
|
    |
 |
amai
บัวบาน


เข้าร่วม: 24 พ.ค. 2004
ตอบ: 435
|
ตอบเมื่อ:
20 ต.ค.2004, 7:46 pm |
  |
กลับจากเชียงใหม่ หลวงตามีสร้อยแม้วติดย่ามมาจริงๆ และเลือกเฉพาะเส้นที่เห็นว่า สวยเป็นพิเศษเสียด้วย ธุระเรื่องแรก หลังจากมาถึงวัดเรียบร้อยแล้ว สรงน้ำยังไม่ทันตัวจะแห้งสนิท หลวงตาก็ไปหาคุณหญิง แต่ใจจริงนั้นไปหานิด
ตอนค่ำที่งานศพพระภิกษุรูปนั้น มองหานิดเท่าไรก็ไม่เห็น
“คุณหญิง !” หลวงตาตะโกนข้ามกลุ่มพระเณรไปด้วยความรู้สึกว่าเหลือทน
“อะไรหลวงตา ?” คุณหญิงถามเมื่อเดินมาถึง
“มีเรื่องสิคุณหญิง...เอ้อ ! คุณหญิง !!”
“วุ้ย ! หลวงตานี่ อะไรก็ไม่รู้ กะอีเมียสัปเหร่อ ก็เรียกคุณหญิง”
“เออน่า ! มันดีแล้วละ ! ถ้ากูไม่เรียก ต่อให้กูอยู่ไปจนตาย ก็ไม่มีใครเขาตั้งให้”
“ว่าแต่หลวงตาเถอะ ! เรียกทำไม !”
“นิดน่ะซี ! นิดไปไหน ?” ถามด้วยเสียงสะอื้น
“ส่งกลับบ้านแล้วค่ะ !”
“ทำไมไม่ให้นิดอยู่ที่นี่ ?”
“ก้อแกเรียนหนังสือนี่คะ !”
“อะไร ! นิดน่ะเหรอ เรียนหนังสือ ?”
“ค่ะ ! เรียนอนุบาล ก้อแกย่างเข้าห้าขวบแล้วนี่คะ !”
จนกระทั่งบัดนี้หลวงตาก็ยังไม่ได้พบนิด แผนต่างๆ ที่วาดไว้ ก็ไม่มีท่าว่าจะเป็นรูปร่างขึ้นมา ตกลงสร้อยแม้วเส้นที่สวยงามนั้น หลวงตาก็เพียงแต่วางไว้ที่โต๊ะบูชา มองเห็นครั้งใดก็อดคิดถึงนิดไม่ได้ เว้นแต่ความคิดถึงนิดตอนนี้ แตกต่างกว่าตอนโน้น เพราะเกิดความคิดบางอย่างชวนให้เก้อเขิน
“เงื้อค้างง้างเก้อ”
“เงื้อค้างง้างเก้อ เพราะหนูนิดมันยังมีพิษสงถึงขนาดนี้ หากเป็นในรายที่สำคัญกว่าหนูนิด ตัวกูจะบ้าขนาดไหน ?” หลวงตาพึมพำเหมือนวิกลจริต พลางบันทึกความรู้สึกนี้ลงไปในเศษกระดาษ เพื่อเอาไว้ตวาดตัวเอง
“เจ้ายังไม่เข้มแข็งพอที่จะเผชิญกับความรักความหวังใดๆ ดอก เจ้าขลัวเอ๋ย !”
หมายเหตุ :: สร้อยแม้วทำด้วยเมล็ดพืช นัยว่าเป็นลูกเดือย บางคนว่าเป็นเมล็ดมะกล่ำชนิดหนึ่ง แต่เมื่อนำมาพิจารณาแล้ว เมล็ดสีขาวซึ่งมีขนาดประมาณเท่าเม็ดสาคู ดูจะเป็นเมล็ดพุทธรักษา ส่วนเมล็ดเล็กแบนๆ สีดำ เหมือนเมล็ดกระถินใช้ด้ายเหนียวๆ ร้อยอย่างประคำ สลับกันไป สีขาว สีดำ แต่ละเส้นยาวขนาดคล้องแล้ว ย้อยยานมาถึงพกหรือต่ำกว่า เขานิยมคล้องกันหลายๆ เส้น แลดูงาม แปลก สำหรับสวมกันเล่นในยามเทศกาลรื่นเริง เช่น ยี่เป็ง เป็นของไม่มีราคาค่างวดอะไร ซื้อได้เส้นละบาท หรืออาจจะต่ำกว่า
..................... เอวัง ..................... |
|
|
|
    |
 |
หนูนิด
ผู้เยี่ยมชม
|
ตอบเมื่อ:
12 ส.ค. 2006, 3:28 am |
  |
|
|
 |
^^o^^
ผู้เยี่ยมชม
|
ตอบเมื่อ:
15 พ.ค.2007, 2:06 pm |
  |
|
|
 |
|