Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 ประวัติพระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ วัดป่าบ้านค้อ จ.อุดรธานี อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
วีรยุทธ
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 24 มิ.ย. 2005
ตอบ: 1790
ที่อยู่ (จังหวัด): สกลนคร

ตอบตอบเมื่อ: 29 ส.ค. 2006, 8:38 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



Rlittlekpy302.jpg


อัตโนประวัติ
พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ
วัดป่าบ้านค้อ ต. เขือน้ำ อ. บ้านผือ จ. อุดรธานี
โทร (๐๘๒) ๒๔๕–๔๘๘




พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ เป็นบุตรของนายอุทธา – นางจันทร์ นนฤาชา เป็นบุตรคนที่ ๕ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๑๐ คน คือ
๑. นายโฮม นนฤาชา (ถึงแก่กรรม)
๒. นางติ่ง ร่วมจิต
๓. นางปุ่น โสมา (ถึงแก่กรรม)
๔. นางบุญน้อย นามคุณ (ถึงแก่กรรม)
๕. พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ
๖. นางบับพา อาร้อน
๗. พระบุญมา สิริธมโม
๘. นายโสภา นนฤาชา
๙. นางบุญหนา ขันธวิชัย
๑๐. นางบัวเงิน กองอำไพ

ภูมิลำเนาเดิม
เกิด ณ บ้านหนองค้อ ตำบลดอนหว่าน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เกิดเมื่อวันจันทร์ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๘ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ พ่อแม่ได้อพยพมาอยู่ที่บ้านหนองแวง (แก้มหอม) ตำบลไชยวาน อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี และได้จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านหนองแวงนี้เอง การเข้าเรียนแต่ละชั้น เพื่อน ๆ ในชั้นเรียนเดียวกันได้ตั้งให้เป็นหัวหน้าในชั้นเรียนทุกชั้นไป เมื่อขึ้นชั้นประถมปีที่ ๔ เด็กชายทูลได้รับความไว้วางใจจากครูว่ามีการศึกษาดี จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ช่วยสอนนักเรียนในชั้นประถม ก. กา และประถมปีที่ ๑ และได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้านักเรียนทั้งหมดในโรงเรียนนั้น เพราะในสมัยนั้นมีครูอยู่เพียง ๒ คน คือ คุณครูหัส และคุณครูอักษร เมื่อครูมีน้อยการสอนไม่ทั่วถึง เด็กชายทูลจึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ช่วยสอนนักเรียนด้วยกันเอง และเป็นที่ยอมรับของเพื่อนนักเรียนด้วยกัน เพราะ
เด็กชายทูลมีความซื่อสัตย์ต่อเพื่อน ๆ ไม่ลักเอาของเพื่อน และยังเก็บของเพื่อนนักเรียนที่ทำตกหายมาแจ้งครูให้ประกาศมารับของคืนไป จึงเป็นที่ไว้ใจแก่เพื่อนนักเรียนทุกคน
เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ แล้ว ครูทั้งสองมีความหวังดีต่อเด็กชายทูลเป็นอย่างมาก จึงได้มาขอต่อพ่อแม่ว่า อยากให้เด็กชายทูลไปเรียนต่อที่จังหวัด แต่พ่อแม่ยังไม่พร้อม จึงได้พูดว่าเพิ่งมาอยู่บ้านใหม่ อะไรยังไม่สมบูรณ์เลย เด็กชายทูลเลยหมดโอกาสที่จะได้เรียนต่อ จึงทำให้เรียนจบเพียงชั้นประถมปีที่ ๔ เท่านั้น ต่อมาก็ได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่บ้านหนองแวง ๑ ปี แล้วลาสิกขาออกมาทำไร่ทำนาช่วยพ่อแม่ต่อไป

แม่ได้เล่าเรื่องอดีตให้ฟัง
ในช่วงนี้เอง แม่และพี่ ๆ ได้เล่าเรื่องอดีตให้ฟังว่าชีวิตของตนเป็นมาอย่างไร แม่เล่าให้ฟังว่าก่อนที่ข้าพเจ้าจะเกิด ในคืนหนึ่ง ขณะที่นอนหลับไป ได้ฝันเห็นสิ่งใส ๆ ลอยเข้ามาในห้องนอน มีแสงเหมือนกับแสงหิ่งห้อยขนาดใหญ่ แม่ก็คว้ามือไปเพื่อจะจับเอาแต่ก็จับไม่ได้ เมื่อตื่นนอน
ขึ้นมา ตาก็มองหาสิ่งที่ใส ๆ ที่ลอยอยู่นั้นก็ไม่เห็น เลยคิดแปลกใจว่านี่เป็นแสงอะไร จะว่าแสงหิ่งห้อยหรือก็ใหญ่ไป และผิดปกติจากแสงหิ่งห้อยทั่ว ๆ ไป แต่ก็ไม่กลัวอะไร คิดว่าเป็นความฝันธรรมดา จึงได้นอนต่อไป
หลายวันต่อมา แม่มีความฝันที่แปลก ๆ เกิดขึ้นอีก ฝันว่าตัวเองได้แต่งตัวด้วยเครื่องประดับประดาสวยงามมาก มีทั้งเพชรนิล สร้อยทองห้อยตามคอ ผูกข้อมือ ผูกตามแขน มีแหวนสวมนิ้วมือ เครื่องนุ่งห่มมีแต่ความแพรวพราวทั้งหมด ทั้งผิวพรรณก็มีความสดใสเป็นประกายออกมารอบตัว ศีรษะก็มีชฎาสวมใส่และสวมรองเท้าสวยงามมาก ในขณะนั้น เหมือนกับว่าจะเดินไปที่ไหนสักแห่งหนึ่ง เมื่อเดินไปก็มีคนมากั้นร่มฉัตรขนาดใหญ่ให้ และมีฝูงชนเดินห้อมล้อมเป็นจำนวนมาก ทุกคนแสดงความเคารพต่อแม่เป็นอย่างมาก ทุกคนพร้อมกันโห่ร้องว่า จะยกแม่ขึ้นเป็นใหญ่ในหมู่ชนทั้งหลาย ขอแม่เจ้า จงเป็นที่พึ่งให้แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วยเถิด เสียงนี้จะประกาศกันเป็นระยะ ๆ จากนั้น แม่ก็ได้ตื่นขึ้นมา

ความกังวลของแม่
เมื่อแม่ตื่นนอนขึ้นมา เกิดความตกใจไม่สบายใจเลย กลัวว่าตัวเองจะตายจากพ่อและ
ลูก ๆ ไป เข้าใจว่าวิญญาณของตัวเองได้ออกจากร่างไป และมีคนจำนวนมากมารับเอาไป จึงคิดไปว่าตัวเองจะตายในเร็ว ๆ นี้ พอตื่นเช้าขึ้นมาก็ได้เรียกพ่อกับลูกที่โตแล้วมารวมกัน แล้วเล่าเรื่องความฝันที่เกิดขึ้นให้ฟังทั้งหมด พ่อกับลูกก็ตั้งใจฟังเป็นอย่างดี แม่บอกว่าถ้าฝันอย่างนี้ ชีวิตก็จะอยู่กับพ่อและลูก ๆ ต่อไปไม่นาน ก็คงจะตายจากพ่อกับลูก ๆ ไป แม่สั่งต่อไปอีกว่า เมื่อแม่ตายไปแล้ว พ่อจะไปหาเมียใหม่มาเลี้ยงลูกก็จงพิจารณาให้ดี อย่าให้แม่ใหม่มาบังคับลูกเก่า พ่อเองก็อย่าหลงใหลในเมียใหม่ลูกใหม่จนเกิดความแตกแยกกัน ให้พ่อเป็นคนกลาง ให้มีความรักกันทั้งสองฝ่าย อบรมลูกใหม่ลูกเก่าให้เข้าใจกัน มีความสามัคคีกัน และสั่งลูก ๆ ว่าต้องฟังคำสั่งสอนของพ่อ ให้เป็นผู้ที่ว่านอนสอนง่าย เพื่อให้พ่อเกิดความสบายใจ ให้มีความขยันช่วยการงานที่พอจะทำได้ และลูกที่โตแล้วก็อย่าไปบังคับน้องผู้น้อย น้องผู้น้อยก็ต้องฟังคำสั่งสอนของพวกพี่ ๆ อย่าทะเลาะตบตีกัน ให้มีความรักกัน มีอะไรก็ให้แบ่งกัน ในขณะที่แม่ได้สั่งเสียพ่อลูก น้ำตาก็ไหลและสะอึกสะอื้นไปด้วย นึกในใจอยู่ว่าอายุยังไม่มากไม่ควรจะตายจากพ่อจากลูกนี้ไปเลย เมื่อแม่ตายไปไม่รู้ว่าลูก ๆ จะอยู่กันอย่างไร นอนกันอย่างไร อยู่กันกันอย่างไร ความอาลัยอาวรณ์ในระหว่างแม่กับลูกจึงเป็นบรรยากาศที่ซบเซาเศร้าโศก เหมือนกับว่าต้นไม้ที่เคยให้ความร่มเย็นต่อเรา มาบัดนี้ จะต้องโค่นไปเสียแล้ว จะให้ลูก ๆ ได้พึ่งพิงอิงอาศัยใครกันหนอ

คำพยากรณ์ของพ่อ
ในช่วงที่แม่เล่าความฝันไป พ่อก็ตั้งใจฟังอย่างจดจ่อ พิจารณาเหตุแห่งความฝันตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ กลับมีความเห็นตรงกันข้ามกับแม่ทีเดียว จากนั้น พ่อก็ได้พูดออกมาในประโยคแรกว่า บ้า ความฝันที่แม่ฝันไปนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องของความตายหรอก ลักษณะในความฝันอย่างนี้มันเป็นเรื่องของคนจะมีลูก และเป็นลูกที่บุญญาวาสนาจะมาเกิดด้วย ลูกนั้นจะเป็นที่พึ่งแก่ญาติ ๆ
ทั้งหลาย และเป็นที่ยอมรับแก่คนทั้งหลายด้วย ฉะนั้น ขอแม่อย่าไปคิดว่าตัวเองจะตายไปเลย ส่วนแม่ก็หยุดฟังทั้งไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น ยังตัดสินใจอะไรไม่ได้ว่าตัวเองจะตายไปหรือตัวเองจะตั้งครรภ์ แต่ก็อยู่ด้วยความไม่ประมาท จากนั้นมาไม่นาน แม่ก็มีอาการตั้งครรภ์ขึ้นมาตามที่พ่อได้พูดเอาไว้ แม่ก็เกิดความโล่งใจขึ้นมา คิดว่ายังไม่ได้ตายจากพ่อและลูก ๆ ไป ส่วนพ่อพูดว่าฝันอย่างนี้คนจะมีลูกนั้น ก็เพราะพ่อได้เรียนโหราศาสตร์เรื่องทำนายความฝันต่าง ๆ มาแล้ว ที่ทำนายว่าความฝันอย่างนั้นเป็นอย่างนั้น ความฝันอย่างนี้เป็นอย่างนี้ ส่วนใหญ่พ่อจะทำนายถูกเป็น
ส่วนมาก จากนั้นมา ก็ได้พูดกันในเครือญาติว่า ดูซิ เมื่อแม่ฝันในลักษณะอย่างนี้แล้วตั้งครรภ์
ขึ้นมา ลูกที่เกิดมาจะเป็นอย่างไร จะมีสิ่งที่ผิดแปลกอย่างไรบ้าง
จากนั้นมา แม่ก็มีอาการผิดแปลกเป็นอย่างมากทีเดียว นั่นคือ มีอาการแพ้ท้องและ
แพ้ท้องไม่เหมือนครั้งก่อน ๆ มีลูกคนอื่นก็ไม่มีอาการแพ้ท้องอย่างนี้ เมื่อลูกคนนี้เข้ามาอยู่ในท้อง อะไรหลาย ๆ อย่างมีอาการเปลี่ยนไป เช่น มีอาการเหม็นคาวสัตว์ทุกชนิด เพราะที่บ้านมีวัวควายอยู่ใต้ถุนบ้านจึงเกิดอาเจียน เนื่องจากกลิ่นวัวควายนั่นเอง จึงจำเป็นต้องเอาวัวควายออกจาก
ใต้ถุนบ้านให้หมด อาการเหม็นคาวก็หมดไป แต่ก็ยังมีอีกอย่างหนึ่งที่แม่เบื่อที่สุด เห็นไม่ได้และกินไม่ได้เลย นั่นคืออาหารคาวทุกชนิด นับแต่ปลาร้าขึ้นมา ตลอดจนถึงเนื้อสัตว์ทุกประเภท จะเกิดอาการเบื่อทั้งหมด จะมากินข้าวร่วมสำรับกับพ่อลูกไม่ได้เลย เมื่อเห็นอาหารคาวหรือได้กลิ่นอาหารคาวก็จะอาเจียนทันที ฉะนั้น แม่จึงได้สั่งลูกไว้ว่า ให้เอาข้าวในก้นหวดใส่กล่องข้าวเอาไว้เป็นพิเศษ อย่าให้ใครไปกินข้าวในกล่องนั้นเลย เอาไว้ให้แม่กินคนเดียว อาหารที่กินได้มีกล้วยกับเกลือเท่านั้น อย่างอื่นกินไม่ได้เลย แม่ตั้งครรภ์มาจนครบกำหนด จึงได้คลอดลูกออกมาเป็นผู้ชาย เมื่อออกมาก็มีลักษณะแปลกไปอีก นั่นคือ สายรกพันตัวออกมาเป็นสายสะพาย เมื่อพ่อเห็น
อย่างนั้นก็นึกในใจแล้วว่า ลูกคนนี้จะเป็นนักบวชอย่างแน่นอน จากนั้น แม่ก็กินอาหารได้อย่างปกติ วัวควายก็เอามาเข้าคอกได้ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เชิญญาติผู้ใหญ่มาตั้งชื่อร่วมกัน
การตั้งชื่อนั้น ก็มุ่งประเด็นของความฝันของแม่เป็นหลัก ในครั้งที่แม่ฝันว่ามีฝูงชนยกแม่ให้เป็นใหญ่ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น จุดนี้เอง ญาติ ๆ จึงได้ลงมติว่าความฝันนี้เป็นลักษณะเทิดทูน หรือยกขึ้นไว้ในที่สูง จึงให้ชื่อไปตามความฝันนั้น จึงให้ชื่อว่า ทูล นับแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จากนั้นมา ญาติ ๆ ก็จับตามองมาตลอดว่าเด็กชายทูลต่อไปนี้ จะมีลักษณะแปลกอย่างไร จะมีนิสัยอย่างไร ญาติ ๆ ต้องคอยสังเกตดูเด็กชายทูลอยู่อย่างใกล้ชิดว่า จะมีอาการแสดงออกมาอย่างไร

ชีวิตวัยเด็ก
ในช่วงที่ยังเป็นเด็กอ่อนกินนมแม่อยู่ ก็เหมือนเด็ก ๆ ทั่วไป ในช่วงที่กินอาหารได้เอง ก็เริ่มแสดงความแปลกออกมาให้คนได้เห็น นั่นคือ ไม่ยอมร่วมกินข้าวในสำรับเดียวกันกับพ่อแม่และ
พี่ ๆ ถ้าจะให้กินร่วมก็ต้องแบ่งอาหารกัน ส่วนอาหารของเด็กชายทูลห้ามใคร ๆ มาแตะต้อง ห้ามหยิบเป็นเด็ดขาด กระติบข้าวก็ห้ามใคร ๆ มาหยิบร่วมเช่นกัน ถ้าใครฝืนข้อห้ามนี้ สำรับข้าวก็จะพังกระจายทันที ถ้วยจานก็จะถูกเหวี่ยง ถูกขว้างไปหมด อาหารก็หก ถ้วยดินก็แตกกระจัดกระจาย ทำให้พ่อแม่และพี่ ๆ เดือดร้อนไปตาม ๆ กัน จากนั้น พ่อแม่ก็ได้วางแผนเสียใหม่คือ จัดที่กินข้าวให้เด็กชายทูลอยู่นอกวง ให้กินอยู่คนเดียว มีอาหารก็แบ่งออกมาใส่ถ้วยพิเศษ และเป็นอาหารที่สุกด้วย กระติบข้าวก็แยกเป็นพิเศษ ห้ามใคร ๆ มาหยิบด้วยเช่นกัน แต่ก็มีพี่สาวคน
ถัดไป เป็นคนสำคัญมาก ชอบมาแกล้งอยู่เสมอ เมื่อพ่อแม่เผลอก็ยื่นมือเข้าหยิบเอาอาหารของเด็กชายทูล เด็กชายทูลก็แสดงความไม่พอใจทันที นั่นคือ ยกถ้วยอาหารขึ้นกระแทกกับพื้นกระดานแตกกระจาย เพราะสมัยนั้นเป็นถ้วยดิน จะเหลืออะไร กระติบข้าวก็โยนทิ้ง ไม่ยอมกินข้าวอีก ทุก ๆ ครั้งต้องเป็นอย่างนี้
พ่อเห็นท่าไม่ดี ต่อไปถ้วยจานจะแตกหมด จึงได้ตัดกระบอกไม้ไผ่ขังข้อทำเป็นถ้วยใส่อาหารให้เด็กชายทูลกินเป็นพิเศษ เมื่อพี่สาวมาหยิบเอาอาหารอีกก็จะทำตามเดิม คือทุบให้แตก ถ้าไม่แตกก็โยนทิ้งไป พ่อแม่จำเป็นต้องตามเก็บมาล้างเพื่อใส่อาหารให้เด็กชายทูลกินในวันต่อไป เด็กชายทูลจะมีนิสัยอย่างนี้มาแต่เด็ก จะทำอะไรจะต้องทำให้ได้ตามที่ตั้งใจ ไม่ให้ใครมาขัดขวาง จะเอาของสิ่งใดก็จะเอาให้ได้ตามใจทุกอย่าง ถ้าไม่ได้ก็จะร้องไห้ไม่ยอมหยุด ครั้งหนึ่งพอจำได้ ครั้งนั้นอยากได้กล้วยตาก แต่บังเอิญกล้วยตากหมด มีแต่กล้วยสุกธรรมดา แม่เอากล้วยสุกให้ก็ไม่ยอมเอา ตั้งใจจะเอากล้วยตากก็ต้องเอากล้วยตากให้ได้ กล้วยตากไม่มีก็จะบังคับให้แม่หามาให้ได้ แม่จำเป็นต้องอุ้มไปดู ให้เห็นว่ามีแต่กระจาดเปล่า ๆ ในขณะนั้นไม่ทราบว่าอะไรบันดาลใจ จึงได้เกิดความสำนึกได้ว่า เรานี้ทำไมจึงเป็นผู้เอาแต่ใจตัวเองอย่างนี้ กล้วยตากไม่มีก็จะบังคับให้มีซึ่งเป็นสิ่งที่เหลือวิสัย ในขณะนั้น ดูสีหน้าของแม่แล้ว มีลักษณะไม่สบายใจเลย แม่ก็อุ้มเด็กชายทูลเดินไปมาปลอบใจอยู่ตลอดเวลา จึงนึกในใจว่า สิ่งที่ไม่มีเราจะบังคับให้สิ่งนั้นมีเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ทั้งกล้วยสุกก็มีรสหวานเหมือนกัน กินทดแทนกันได้ จากนี้ไป เราจะไม่ทำให้แม่มีความยุ่งยากกับเราอีกเลย จากนั้นมาก็ไม่เคยขอกล้วยตากแห้งจากแม่อีก มีกล้วยอะไรที่แม่เอาให้กินก็กินได้หมด ในช่วงนั้น เด็กชายทูลยังเด็กมาก ผ้าก็ยังไม่ได้นุ่ง อายุก็ประมาณปีกว่าเท่านั้น จากนั้นมา ก็รู้ตัวเองว่าจะไม่เอาแต่ใจตัวเองเหมือนที่เคยเป็นมา แต่ก็ยังมีอีกสองอย่างที่เป็นนิสัยมาแต่กำเนิด เป็นธรรมชาติที่เป็นเองเกิดขึ้นเฉพาะตัว นั่นคือ อาหารดิบ และมังสะ ๑๐ อย่าง ทั้งสองอย่างนี้ ใครจะมาหลอกให้กินไม่ได้ เช่น เอากุ้งดิบมาตำให้ละเอียดผสมกับอาหารสุก หรือเอาเนื้องู เนื้อม้า มาหลอกให้กินไม่ได้ เมื่อเอาสิ่งเหล่านี้เข้าในปาก
ก็จะเกิดอาเจียนทันที นิสัยอย่างนี้มีประจำตัว ถึงจะโตเป็นหนุ่มขึ้นมาแล้วก็ยังเป็นนิสัยอย่างนี้
ตลอดมา
ในครอบครัวนี้ พ่อแม่และพี่ ๆ ชอบกินอาหารดิบ ๆ กันทั้งนั้น เช่น ลาบก้อย เนื้อดิบ ลาบปลาดิบ ลาบกุ้งดิบ ลาบหอยดิบ ฯลฯ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารดิบทั้งนั้น จึงมีแต่เด็กชายทูลคนเดียวเท่านั้นที่กินอาหารสุก พ่อแม่เองก็คงเกิดความรำคาญเรื่องทำอาหารสุกให้กิน จำเป็นต้องบังคับเด็กชายทูลให้กินอาหารอย่างพี่ ๆ เขา แต่ก็กินไม่ได้ บางทีถึงกับต้องลงไม้เรียวบังคับให้กิน แต่ก็กินไม่ได้อยู่นั่นเอง ในช่วงยังเป็นเด็กนี้ รู้สึกว่ามีความทุกข์กับการกินอาหารอยู่มาก อยากกินลาบกับพี่ ๆ เขาก็กินไม่ได้ อยากจนน้ำลายไหลก็ได้แต่มองหน้าพี่ ๆ เขากินกัน จำเป็นก็ต้องอดทน เพราะตัวเองทำอาหารกินไม่เป็น วันไหนเห็นหม้อต้มกระดูก เด็กชายทูลก็พอได้กินกับพี่ ๆ อยู่บ้าง เมื่อคิดเรียบเรียงชีวิตในอดีตที่เป็นมาของตัวเองแล้ว เป็นชีวิตที่ต่อสู้อดทนมาตั้งแต่เด็ก ๆ พี่ ๆ ก็หาวิธีกลั่นแกล้งหลอกให้กินอาหารดิบอยู่เสมอ เช่น เอาตั้งไฟนิดเดียวเขาก็ว่าสุกแล้ว เอามาให้กิน แต่ก็เกิดอาเจียนออกมา จึงรู้ว่าอาหารนั้นยังไม่สุกจริง พี่ ๆ เขาได้กุ้ง ปลา หอย เขาก็พากันทำลาบดิบกินกันหน้าตาเฉย ทำให้เด็กชายทูลนั่งกลืนน้ำลายดูพี่ ๆ เขากินแทบไม่กะพริบตา
มิหนำซ้ำ พี่ ๆ ยังพูดเยาะเย้ยไปว่า ใครไม่เข้ามากินก็แสดงว่าไม่อยาก ถ้าอยากจริงก็เข้ามาเลย ที่จริงพี่เขาก็รู้อยู่เต็มใจว่าเด็กชายทูลกินของดิบไม่ได้ แต่พยายามวางแผนฝึกให้เด็กชายทูลกินของดิบให้ได้ แผนของพ่อแม่และพี่ ๆ ที่วางไว้นั้น ไม่สามารถหลอกให้เด็กชายทูลหลงกลได้เลย เมื่ออาหารนั้นไม่สุกจริง ก็จะเกิดอาเจียนออกมาทันที นี้เป็นนิสัยเดิมของเด็กชายทูลมาตั้งแต่กำเนิด จึงได้เล่าให้ฟังว่าชีวิตเป็นมาอย่างนี้ ให้จินตนาการดูก็แล้วกัน ถ้าเป็นเราจะมีความรู้สึกอย่างไร
ในช่วงต่อมา ข้าพเจ้าอายุได้ ๔ ขวบ เกิดภัยแล้งเป็นอย่างมาก และแล้งเป็นบริเวณ
กว้าง ขวางหลายอำเภอ ทุกคนต้องดิ้นรนแสวงหาข้าวปลาอาหาร ส่วนใหญ่จะไปขอทานกัน โดยหาบตะกร้าแล้วก็พากันไปเป็นหมู่ หมู่ละ ๒ - ๕ คน โดยไม่มีอะไรไปแลกเปลี่ยนเลย เมื่อไปถึงบ้านไหนแล้วก็พากันนั่งลง ยกมือใส่หัวแล้วก็พรรณนาความทุกข์ความลำบากต่าง ๆ เจ้าของบ้านก็ให้ข้าวสารหรืออาหารตามสมควร แล้วก็ไปขอบ้านใหม่ต่อไป ในวันหนึ่ง เด็กชายทูลอยู่บ้านกับน้องเล็ก ๆ ตามลำพัง พ่อแม่พี่ ๆ ออกไปหาน้ำมันยางในป่า เพื่อจะนำไปแลกเปลี่ยนเป็นข้าวสารหรือข้าวเปลือกที่บ้านอื่น ในวันนั้น มีคนขอทาน ๕ คนมานั่งอยู่หน้าบ้านแล้วขอทาน ข้าพเจ้าได้ฟังเขาขอทานเท่านั้น เกิดความสงสารเขาเป็นอย่างมาก จึงได้เรียกเขาเหล่านั้นขึ้นมาบนบ้าน แล้ว ก็เอาตะกร้าทั้งหมดไปใส่ข้าวสารที่พ่อแม่หามาไว้ จนข้าวที่อยู่ในถังหมด เมื่อเขาขอปลาร้า พริก เกลือ ก็ขนออกมาให้เขาจนหมด ในขณะนั้น รู้ตัวเองว่ามีความสุขมาก เมื่อเขาเหล่านั้นไปแล้ว พ่อแม่และพี่ ๆ ก็มาถึงและจะจัดเตรียมทำอาหารกินกัน เมื่อไปดูข้าวในถังก็ไม่มี ปลาร้า พริก เกลือ ก็หมด เมื่อพี่ ๆ ถามหาก็บอกว่าให้ทานไปหมดแล้ว พี่ ๆ เขาก็ด่า พ่อแม่รู้เข้าก็จับมาตีจนหลังลายทั้งตัว และพ่อแม่ได้สั่งไว้ว่า จากนี้ไป อย่าเอาข้าวหรืออะไรทั้งหมดให้คนขอทานอีกต่อไป
เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ พ่อแม่ก็ได้ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ที่บ้านหนองแวง (แก้มหอม)
ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น ในช่วงเป็นเด็กอยู่ในโรงเรียนนั้น ก็ช่วยพ่อแม่ในการทำไร่ทำนาตามกำลัง วันเสาร์อาทิตย์ก็เป็นผู้เลี้ยงควายตามประสาเด็กบ้านนอก

ความอัศจรรย์ครั้งแรก
ในช่วงอายุ ๑๑ ขวบ ยังไปโรงเรียนอยู่ ได้เกิดความอัศจรรย์ขึ้นในตัวเป็นอย่างมาก ใน
วันนั้น ได้ไปเลี้ยงควายตามปกติในที่แห่งหนึ่งที่เรียกกันว่า นาหนองจาน และไปคนเดียว ในขณะนั้น ได้นอนเล่นอยู่ใต้ร่มไม้ตามลำพัง ใช้สายตาเพ่งดูใบไม้เล่นอยู่ ในขณะที่เพ่งดูอยู่นั้น เกิดเห็นใบไม้นั้นชัดเจน สายตาและใจก็ได้จดจ่อดูอยู่กับใบไม้นั้นไม่กะพริบตา ในขณะที่เพ่งดูใบไม้นั้น มีความเบากายเบาใจผิดปกติ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เมื่อเพ่งดูใบไม้นั้นนาน ๆ เข้า เหมือนกับใบไม้นั้นเข้ามาติดอยู่กับตาเห็นได้ชัดเจนทีเดียว จากนั้น ปรากฏว่าใบไม้นั้นเล็กลง ๆ ทุกที ทั้งสายตาและใจก็กำหนดจดจ้องดูอยู่กับใบไม้นั้นไม่มีเผลอ จนใบไม้นั้นเล็กลงจนมองไม่เห็นและหายไปในที่สุด เมื่อใบไม้หายไป ก็มีอาการวูบวาบเกิดขึ้นภายในใจ แล้วมีแสงสว่างพุ่งออกมารอบตัวเอง เป็นแสงสว่างที่นุ่มนวลน่าอัศจรรย์ แล้วขยายตัวออกไปกว้างไกลมาก เมื่อความสว่างพุ่งไปถึงไหน ความรู้เห็นตามแสงสว่างนั้นก็อยู่ด้วยกัน เมื่อคิดว่าอยากเห็นของสิ่งใดอยู่ในที่ใด กำหนดจิตไปดูก็จะปรากฏเห็นของสิ่งนั้นทั้งหมด ไม่ว่าของสิ่งนั้นจะอยู่ใกล้หรือไกลจะเห็นได้อย่างชัดเจน คิดอยากดูคนในหมู่บ้านว่าเขากำลังทำอะไรกันอยู่ ก็รู้เห็นทั้งหมดว่าคนนั้นทำอย่างนั้น คนนี้ทำอย่างนี้ โดยไม่มีอะไรปิดบัง อาการลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นไม่รู้ว่าเกิดอยู่นานเท่าไร จากนั้น ความสว่างก็ค่อย ๆ จางลง ๆ และก็หายไปในที่สุด แล้วก็รู้สึกตัวขึ้นมา จากนั้น ก็ได้ลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เริ่มตั้งแต่ดูใบไม้ว่าอาการอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและเป็นอะไร ในขณะนั้น มีความสุขใจเป็นอย่างมาก โดยไม่เคยเห็นและไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อนเลย เมื่อลุกเดินไปกายก็เบาเหมือนจะไม่เหยียบดิน การหายใจออกหายใจเข้าก็ผิดปกติจากธรรมดา มีลักษณะโล่งโปร่งเบา เบาทั้งกายและเบาทั้งใจ ในวันนั้น มีความสุขใจสดชื่นอยู่ตลอดวัน

เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้พ่อแม่ฟัง
เมื่อพ่อแม่ได้ฟังเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับตัวข้าพเจ้าแล้ว พ่อแม่มีกิริยาที่ตกใจและพูดขึ้นว่า จากนี้ไป อย่าไปนอนที่แห่งนั้นอีก นี่คือผีอำคน แต่ยังโชคดีผีไม่ทำให้เราตาย เมื่อพ่อแม่บอกว่า
ผีอำ ข้าพเจ้าก็ยังไม่เชื่ออยู่นั่นเอง เลยมาคิดว่าถ้าผีอำจริง ๆ ทำไมเราจึงมีแสงสว่างออกรอบตัวและใจก็มีความสุขด้วย จึงไม่เชื่อว่าผีอำ แต่ก็ไม่ได้เถียงออกมาทางวาจา เพียงแต่เถียงอยู่ภายในใจและรับฟังไปเท่านั้น จากนั้นมา ก็เป็นในลักษณะอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ แต่ไม่เล่าให้พ่อแม่ฟังอีกเลย และก็ไม่เล่าให้ใคร ๆ ฟังด้วย ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นในตัวจนมีความเคยชินและเกิดขึ้นได้รวดเร็วมาก เพียงใช้ตามองสิ่งใดและมองในที่นั้นเป็นจุดเดียว ใจก็กำหนดรู้ตามในสิ่งที่ตามองเห็น ประมาณไม่ถึง ๕ นาที อาการดังกล่าวมาก็จะเกิดขึ้นทันที มีลักษณะกายเบาใจเบาดังที่ได้อธิบายมาแล้ว ถ้าไม่อยากให้ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นก็ไม่ยาก เพียงลุกเดินหนีไปไม่สนใจในสิ่ง
นั้น ๆ ใช้สายตาดูไปในที่อื่น คิดเรื่องอื่นไปเสีย อาการดังกล่าวนั้นก็จะหายไป หรือใช้วิธีกระดิกมือกระดิกเท้าแกว่งแขนขา ทำท่าโคลงตัวไปมาก็หายได้เหมือนกัน แต่ส่วนมากชอบทำในลักษณะนี้จนเป็นนิสัย เพราะมีความสุขกายสุขใจดี

ในบางครั้งเกิดขึ้นจากเสียง
ในการเกิดขึ้นจากเสียงนี้ ต้องกำหนดใจฟังเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยตั้งใจฟังเสียงให้ชัดเจน แต่ต้องเป็นเสียงที่ดังติดต่อกันไปเรื่อย ๆ เมื่อกำหนดจิตฟังเสียงอย่างจดจ่อแล้ว เสียงนั้นก็จะได้ยินเบาลง ๆ และเบาจนแทบจะไม่ได้ยินเสียงนั้นเลย เรียกว่าเสียงละเอียดอ่อน ใจที่กำหนดรู้ตามเสียงนั้นก็มีความละเอียดอ่อนไปด้วยกัน เมื่อเสียงนั้นหมดไปเวลาใด ก็จะเกิดอาการวูบวาบภายในใจ ความสว่างนั้นก็จะเกิดขึ้นทันที ความรู้เห็นในสิ่งต่าง ๆ ก็เป็นเหมือนกับดังที่เคยเป็นมา อาการที่เกิดขึ้นอย่างนี้จะเป็นอยู่ในช่วงวัยเด็ก เพราะเด็กยังไม่มีอารมณ์เกี่ยวกับกามคุณ ใจยังไม่มีความเศร้าหมอง
ต่อมาเมื่ออายุของข้าพเจ้าได้ ๑๕ ปีขึ้นไป อาการที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก ต้องใช้ความพยายามเต็มที่ เพราะช่วงนี้เริ่มเข้าสู่วัยหนุ่ม ใจก็มีอารมณ์ทางโลกเข้ามาแฝง เพื่อนชายเพื่อนหญิงมีมากเท่าไร อารมณ์ของใจก็เปลี่ยนแปลงไป อาการที่เกิดขึ้นก็หมดสภาพไปเอง ถ้าหากมีครูอาจารย์สอนที่ถูกต้อง การปฏิบัติมีความต่อเนื่องกันมาตลอด ผลของการปฏิบัติอย่างแท้จริงก็คงหายสงสัยไปแล้ว นี่ข้าพเจ้าไม่มีผู้นำในการปฏิบัติเลย สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดดังอธิบายมานี้ เพราะไม่เคยศึกษาในหลักธรรมมาก่อน จึงไม่ทราบว่ามีความหมายเป็นอย่างไร มิหนำซ้ำ ยังไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นเรียกว่าอะไร
การเล่าเรื่องส่วนตัวมานี้ อาจจะมีประโยชน์อยู่บ้าง อย่างน้อย เพื่อให้ท่านได้สำนึกได้ว่าบางทีท่านอาจเป็นอย่างนี้มาแล้ว ถ้าหากท่านเป็นลักษณะอย่างนี้อยู่แล้ว ขอให้ท่านได้ไปปรึกษาครูอาจารย์ เพื่อให้ท่านได้ชี้แนะแนวทางออกให้เรา ดีกว่าเราจะมัวเมาเล่นอยู่กับแสง เสียง สี อยู่อย่างนี้ให้เสียเวลา และห่างจากมรรคผลนิพพานไปมากทีเดียว เมื่อท่านมีอภิญญา มีฌานสมาบัติเพิ่มขึ้นมาอีก ท่านก็จะเกิดความหลงเพิ่มขึ้นอีก โอกาสที่จะเข้าสู่มรรคผลนิพพานนั้นยากมาก และท่านเองก็จะเกิดมานะทิฏฐิ ไม่ยอมฟังเหตุผลของใคร ๆ ทั้งนั้น ถือว่าตัวเองรู้ ถือว่าตัวเองฉลาด ถือว่าตัวเองเก่งกาจในการปฏิบัติธรรม หรืออาจพยากรณ์ตัวเองว่าเป็นพระอริยเจ้าขั้นใดขั้นหนึ่งก็เป็นได้ นี่เป็นคำเตือนสติให้เราได้เกิดความสำนึกแก่ตัวเองเท่านั้น เมื่อเด็กชายทูลออกจากโรงเรียนแล้ว ก็ได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบ้างหนองแวงนั้นเอง

ฝังใจในพระกรรมฐานครั้งแรก
ในครั้งที่ข้าพเจ้าได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ที่บ้านหนองแวง การบรรพชาในครั้งนั้นก็เป็นไปตามประเพณีนิยมเท่านั้น เพราะคนอีสานในสมัยนั้นถือกันว่า ถ้าเป็นผู้ชายต้องบวชเพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ หรือบวชจูงพ่อแม่ไปสวรรค์ ความเชื่อถืออย่างนี้มีความฝังลึกในหัวใจของคนอีสานมายาวนาน และยังมีความเชื่อถือกันอยู่อย่างนี้จนถึงปัจจุบัน และยังจะเชื่อถือกันอย่างนี้ต่อไปอีกยาวนานทีเดียว นี่ก็เป็นความเชื่อถือที่ดีมีประโยชน์ทั้งสามอย่าง คือ ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน และประโยชน์อย่างยิ่งคือได้ทรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา มีการศึกษาธรรมวินัยได้เป็นอย่างดี ในช่วงที่ข้าพเจ้าบวชเป็นสามเณรอยู่นั้น มีภิกษุท่านหนึ่งได้บวชเป็นพระธรรมยุต ภาวนาปฏิบัติกรรมฐานมาแล้วสามปี มีนามว่าพระอาจารย์สม ในช่วงนั้นท่านได้มาเยี่ยมบ้านและได้พักอยู่ในวัดบ้านหนองแวงนั้นเอง ท่านได้อบรมสั่งสอนให้แนวทางปฏิบัติพอสมควร แต่ก็หาเวลาปฏิบัติกับท่านไม่ได้ เพราะกำลังศึกษาในปริยัติธรรมอยู่ แต่ก็ได้ปรนนิบัติท่านด้วยการรับบาตรและล้างบาตรให้ท่านทุกวัน แต่ท่านก็ไม่ได้อบรมสั่งสอนเรื่องมรรคผลนิพพานให้ฟังเลย เพียงสอนให้นึกคำบริกรรมว่า พุทโธ เท่านั้น ข้าพเจ้าก็ยังไม่สนใจในคำบริกรรมนี้ มีแต่การศึกษาธรรมวินัยอย่างเดียว แต่ก็มีความเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านอยู่มากทีเดียว เพราะท่านมีความสำรวมดี มีกิริยา กาย วาจาที่อ่อนโยน จะเดินไปมา นั่ง ยืน นอน ท่านมีความสำรวมดีมากทีเดียว เวลาท่านฉันในบาตรก็สำรวมในการฉันเป็นอย่างดี และยังฉันมื้อเดียวด้วย เมื่อฉันเสร็จท่านก็ใช้ไม้สีฟันแปรงฟันให้สะอาด ข้าพเจ้าเป็นนักสังเกตอยู่แล้ว เมื่อเห็นกิริยาของท่านอย่างนั้น ก็มีความเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านมากขึ้น ในวันหนึ่ง เอากระโถนท่านไปล้าง ได้มองเห็นไม้สีฟันที่ท่านใช้แล้วอยู่ในกระโถน จึงจับขึ้นมาดูและพิจารณาว่า พระกรรมฐานทำไมจึงใช้ไม้สีฟันอย่างนี้ เหลาและทุบให้เป็นแปรงได้เป็นอย่างดี คิดต่อไปว่าพระกรรมฐานคงมีความเพียรมากทีเดียว ขนาดไม้สีฟันก็ยังทำให้ละเอียดสวยงามได้ถึงเพียงนี้ การปฏิบัติภาวนาก็คงมีความละเอียดมากกว่านี้ และก็คิดในใจอยู่ว่า เมื่อเราได้ศึกษาจบแล้ว จะออกปฏิบัติกับท่านอย่างแน่นอน
ต่อมาอีกไม่กี่วัน ท่านก็ได้ตัดเอาไม้ไผ่มาเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ ๙ นิ้ว แล้วเอามาผ่าเป็นซีก ๆ กองกันเอาไว้ แล้วท่านก็ได้บอกว่า เณรทูล ๆ มานี่ เมื่อเข้าไปหาท่าน จึงได้ถามไปว่า เรียกกระผมมาธุระอะไร ท่านก็บอกว่าไปหามีดมาเหลาไม้ ช่วยกันนะ เมื่อได้มีดมาก็เหลาไม้ช่วยท่านไป ท่านก็บอกว่าให้เหลาอย่างนี้ ๆ นะ เลยถามท่านไปว่า ท่านอาจารย์ครับ จะเหลาไม้ไผ่นี้ไปทำอะไร ท่านก็บอกว่า มีที่ทำอยู่นั่นแหละ เหลาไปเถอะ เมื่อเหลา ๆ ไปก็เกิดความสงสัยขึ้นมาอีก ก็ถามท่านไปอีก ท่านก็พูดว่า เหลาไปเถอะ เดี๋ยวรู้เอง ทั้งเหลาไปด้วยพิจารณาไปด้วยว่า จะเหลาไม้นี้ไปทำอะไรกันนะจึงเหลาสวยงามขนาดนี้ เมื่อเหลาเสร็จก็มัดเป็นกำ ๆ ขนาดใหญ่แล้วก็ให้ท่านไป ในวันที่ ๒ ข้าพเจ้าไปห้องส้วม พอดีไปพบไม้ไผ่ที่เหลานั้นอยู่ในห้องส้วมและมีปี๊บใบหนึ่งวางอยู่ด้านข้าง มีไม้ชำระทิ้งอยู่ในปี๊บนั้นสองอัน จึงได้คิดขึ้นมาว่า พระกรรมฐานมีความละเอียดอ่อนขนาดนี้หรือนี่ ขนาดไม้ชำระและไม้สีฟันก็ยังเหลาให้สวยงาม จุดเริ่มแรกที่เกิดมีความฝังใจในพระกรรมฐาน ก็คือในห้องส้วมนั้นเอง
จากนั้นมา ก็มีความสนใจในท่านมากขึ้น จึงได้คิดเปรียบเทียบกันในระหว่างพระที่ปฏิบัติและไม่ปฏิบัติอยู่เสมอ แต่ก็น่าเสียดายที่ท่านไม่ได้สอนธรรมปฏิบัติหมวดอื่น ๆ ให้ฟัง ถ้าหากท่านได้สอนแนวทางปฏิบัติให้ตรงต่อมรรคผลนิพพานในครั้งนั้นแล้ว คิดว่าคงจะไม่ได้เป็นฆราวาสอีกแน่นอน
ในวันต่อมา ท่านให้ไปทำทางเดินจงกรมให้ เมื่อทำเสร็จแล้วท่านก็พูดว่า ในคืนนี้จะพามาเดินจงกรมที่นี่นะ เมื่อรับคำแล้วก็ต้องทำตามท่าน พอถึงเวลาประมาณ ๑ ทุ่ม เป็นคืนที่แสงเดือนกำลังสว่างพอดี ท่านก็บอกว่าให้เณรทูลเดินจงกรมจากนี่ไปนี่นะ ท่านก็ชี้มือไปในเส้นทางที่ไปห้องส้วมนั่นเอง ซึ่งพอดีจะต้องผ่านกอไผ่ขนาดใหญ่ไป ในที่แห่งนี้มีผีเปรตหลอกพระเณรที่ไปห้องส้วมอยู่ประจำ ไม่กี่วันมานี้ก็มีผีเปรตหลอกพระจนร้องเสียงหลงมาแล้ว ถึงเราไม่เคยเห็นผีเปรต แต่ก็กลัวเอาไว้ก่อน ท่านอาจารย์ก็เดินทางจงกรมของท่านไป สามเณรทูลก็ได้เดินจงกรมเส้นทางที่มีผีเปรต เดินใหม่ ๆ ก็กลัวจนหัวเข่าอ่อนไปหลายครั้ง แต่ก็ตั้งมั่นอยู่ในคำบริกรรมว่า พุทโธ ๆ อยู่เสมอ
เมื่อเดินไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมง รู้สึกเหนื่อยมาก เพราะไม่เคยเดินจงกรมเลย เรียกว่าเดินจงกรมในครั้งแรกของชีวิตนั่นเอง ครั้นจะหยุดเดินหรือก็กลัวอาจารย์จะว่าไม่มีความอดทน อย่างไรเสียก็ต้องฝืนเดินต่อไป ถึงจะเหนื่อยก็ต้องอดทนต่อสู้เดินต่อไป ประมาณ ๑ ชั่วโมงผ่านไปท่านก็ยังไม่หยุด สามเณรทูลก็ต้องกัดฟันอดทนเดินสู้ต่อไป ในช่วงนั้นเอง สามเณรทูลได้รับความสุขทางใจมากที่สุด ในขณะที่เดินจงกรมอยู่นั้น จิตมีความสงบวูบไปนิดเดียว ความเบากาย ความเบาใจ ก็ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน เกิดมีความสุขใจความอิ่มเอิบใจมากทีเดียว เดินจงกรมไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่อย่างใด มีแต่ความขยันขันแข็ง จะเดินจงกรมจนถึงสว่างก็ยังได้เลย ครั้นได้เวลาประมาณ ๓ ทุ่ม ท่านก็เรียกให้พักแล้วพาไปกุฏิ แหม ในคืนนั้นไม่อยากไปกุฏิเลย อยากเดินจงกรมอยู่ที่นั่นตลอดคืน แต่เมื่อท่านเรียกก็ต้องไปตามท่าน เมื่อท่านเข้าห้องจำวัด สามเณรทูลกกลับนอนไม่ได้เลย ต้องออกมาเดินจงกรมที่ลานวัดคนเดียว เมื่อดึกมากแล้วจึงเข้าพักในห้องได้ จากนั้นมา ก็เห็นคุณค่าในการเดินจงกรมว่าเป็นผลอย่างนี้ ๆ มาแล้ว
วันต่อมา ท่านมีธุระจะไปกราบพระอาจารย์บุญจันทร์ ที่บ้านจำปา ท่านจึงได้ชวนไปด้วย เมื่อรับคำท่านแล้วก็ไปลาโยมพ่อโยมแม่ เดินทางกับท่านอาจารย์ไป การเดินทางในครั้งนี้เป็นทุกข์มากทีเดียว บาตรขนาดใหญ่ไม่รู้ว่ามีสัมภาระอะไรบ้าง เต็มไปหมด ทั้งบาตร ทั้งกลด ท่านอาจารย์ให้สามเณรทูลแบกสะพายของทั้งหมด สะพายไปได้ประมาณ ๔ กิโลเมตร รู้สึกว่าบาตรนั้นหนักขึ้นทุกที ท่านก็ไม่หยุดพักเอาบ้างเลย ทั้งหนัก ทั้งเหนื่อย ทั้งหิวข้าวเพล จนสามเณรทูลมีน้ำตาไหลออกมาทีเดียว คิดว่าจะบอกท่านอาจารย์ให้หยุดพักก็กลัวท่านว่าไม่มีความอดทน จำเป็นต้องต่อสู้อดทนเดินตามท่านไป ไปได้ประมาณ ๖ กิโลเมตร ท่านก็หยุดพักพอหายเหนื่อยได้นิดหนึ่ง จากนั้นท่านก็พาเดินทางต่อไป เมื่อไปถึงวัดป่าบ้านจำปา ก็เป็นเวลาพระเณรกำลังปัดกวาดลานวัดพอดี เมื่อเข้าไปถึง มีสามเณรออกมารับบาตรไปที่ศาลา ดูพระเณรทุกองค์ถือผ้าย้อมแก่นขนุนกันทั้งนั้น มีสามเณรทูลองค์เดียวถือผ้าสีแตกต่างกันกับหมู่คณะ เมื่อเข้าไปในวัดเห็นความสะอาดในที่ต่าง ๆ เรียบร้อยสวยงามดี จึงทำให้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระกรรมฐานเป็นอย่างมาก ทุกองค์มีความสำรวมเหมือน ๆ กัน การพูดก็มีเสียงเบาเพียงกระซิบกระซาบรู้เรื่องกันเท่านั้น
ในขณะนั้น สามเณรทูลหิวน้ำขึ้นมา คิดว่าจะไปฉันน้ำในตุ่ม เมื่อเดินไปดูก็ไม่มีขันและแก้วน้ำที่จะตักกินเลย เพียงไปเห็นกระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่เท่าขา มีผ้ามัดติดอยู่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร จึงได้ไปหาขันในศาลาจะเอามาตักน้ำในตุ่มฉัน แต่พอดีมีเณรอีกองค์หนึ่งเดินมาพบ จึงได้บอกว่า อย่าเอาขันตักน้ำในตุ่มนี้นะ ให้เอา ธมกรก กรองเอา สามเณรทูลก็ไม่รู้จักเลยว่าธมกรกเป็น
อย่างไร มีแต่กระบอกไม้ไผ่ห้อยอยู่ที่นั้น ๒ - ๓ อันเท่านั้น สามเณรทูลก็จับมาดูแล้วคิดว่านี่หรือเปล่าหนอธมกรก แล้วก็จุ่มลงในตุ่มน้ำ ดึงขึ้นมาน้ำก็ไหลออกหมด สามเณรนั้นก็มาเห็นอีกแล้วถามว่า กรองน้ำไม่เป็นหรือ ก็บอกไปว่ากรองไม่เป็น เณรองค์นั้นก็กรองน้ำให้ดู เมื่อฉันน้ำอิ่มแล้วก็มานั่งคิดรำพึงถึงวิธีฉันน้ำอีก นี่ พระกรรมฐานทำไมมีความละเอียดถึงขนาดนี้ เพียงน้ำธรรมดาก็กรองฉัน เครื่องบริขารอื่น ๆ ส่วนตัว เช่น กาน้ำ แก้วน้ำ บาตร กระโถน ล้วนแต่สะอาดหมดจดกันทั้งนั้น จึงได้มาคิดถึงความเป็นอยู่ของตัวเองในวัดบ้านว่ามีความแตกต่างกันทั้งหมด เรื่องวัดบ้านมีความเป็นอยู่อย่างไรไม่ต้องพรรณนาก็รู้กัน
จากนั้นก็ถึงเวลาค่ำ สามเณรที่วัดก็จัดกุฏิพิเศษให้นอนองค์เดียว ห่างจากศาลาไปประมาณ ๑๐๐ เมตร เป็นป่าดงดิบหนาแน่น มีต้นไม้ใหญ่นานาชนิดมากมาย มีทางเล็ก ๆ ไปหากุฏิที่สร้างใหม่ มีพื้นปูด้วยฟากไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยหญ้าคาอย่างดี เป็นกุฏิที่ใหม่เอี่ยม ยังไม่มีใครไปนอนในกุฏินี้มาก่อนเลย ใต้กุฏิพูนดินขึ้นมาพอสมควร มีถาดใบเล็ก ๆ มีถ้วยอาหารวางอยู่ในที่นั้นด้วย แต่คิดว่าเป็นประเพณีสร้างกุฏิใหม่ของพระกรรมฐาน คงทำเลี้ยงเจ้าที่ไปเท่านั้น ในกุฏิมีกล้วยน้ำว้าสองเครือผูกห้อยอยู่ สุกเหลืองทั้งสองเครือ ในคืนนั้น สามเณรทูลนอนแทบไม่หลับเลย เพราะหิวข้าวนั่นเอง ท้องร้องจ๊อก ๆ มองไปเห็นกล้วยสุกอยู่ข้างที่นอน ถ้าเป็นท่านผู้อ่านจะคิดอย่างไรในเรื่องนี้ ในคืนนั้น สามเณรอดทนไม่ได้ ก็ลุกขึ้นไปจับกล้วยสุกทันที กำลังจะปลิดเอามาฉัน ก็นึกขึ้นได้ว่า นี่ทูล เราเป็นสามเณรรักษาศีล ๑๐ นะ เราเคยรักษาศีลให้มีความบริสุทธิ์มานานแล้ว จะมาให้ศีลขาดไปในขณะนี้ไม่ได้นะ เมื่อนึกได้อย่างนี้ก็ไม่กล้า จึงกลับมานอนดูกล้วยสุกต่อไป ในคืนนั้น ได้ลุกขึ้นไปจับกล้วยสุกว่าจะฉันถึงสามครั้ง แต่ก็สำนึกตัวเองได้ทันทุกครั้งไป ในคืนนั้นได้หลับนิดเดียว เพราะความหิวเป็นเหตุนั้นเอง
ตื่นเช้าไปศาลา อาจารย์ก็จัดบาตรให้บิณฑบาตกับหมู่พระเณรธรรมดา อาจารย์ได้บอกว่า เณรทูล การบิณฑบาตให้ไปตามหลังเณรอื่นเขานะ เดินบิณฑบาตต้องมีความสำรวมตัวให้ดี อย่ามองซ้ายและมองขวา ให้สายตาอยู่กับขาของเณรที่เดินก่อน เมื่อมีคนใส่บาตรก็อย่าไปดูหน้าเขา ให้จ้องตาดูแต่ในบาตร ดูปั้นข้าวเขาตกลงในบาตรแล้วจึงปิดฝาบาตร แล้วค่อยเดินตามหลังเขาไป สามเณรทูลก็ทำได้จริง ๆ ด้วย บิณฑบาตอยู่ในบ้านจำปานั้น ๑๐ วัน ไม่เคยเห็นหน้าใครเลย เพราะความสำรวมของสามเณรทูลนั้นมีความระวังมาก เวลาฉันท่านก็จัดภาชนะให้เป็นพิเศษ จากนั้น อาจารย์ก็ถามว่ากลัวผีไหม ก็ตอบท่านไปว่ากลัว ท่านอาจารย์พูดว่า ที่นี่เป็นป่าช้าของชาวบ้านทั้งหมด กุฏิทุกหลังที่ปลูกเอาไว้ล้วนแต่ปลูกครอบหลุมศพทั้งนั้น กุฏิที่เณรทูลอยู่นั้นก็เป็นหลุมศพผู้หญิงคลอดลูกตายใหม่ ๆ นี่เอง เมื่อสามเณรทูลได้ยินก็เกิดความกลัวมากพอ
สมควร แต่ก็หนีไม่ได้ ถึงจะกลัวเท่าไรก็ต้องอดทน จึงคิดถึงเณรอื่นเขาว่าเณรอื่นก็เล็ก ๆ เท่ากันกับเรา เขาก็อยู่องค์เดียวได้ กุฏิเณรนั้นก็มีหลุมศพเหมือนกันกับกุฏิเรา เมื่อเขาอยู่ได้เราก็ต้องอยู่ได้เช่นกัน จากนั้นมาหลายวัน อาจารย์ก็ได้มาส่งที่วัดบ้านหนองแวง แล้วท่านอาจารย์ก็พูดว่าจะไปงานศพของหลวงปู่มั่นต่อไป
จากนั้น ก็ได้สึกออกมาทำไร่ทำนาช่วยพ่อแม่ต่อไป เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ก็ได้บวชเป็นพระอยู่ในวัดบ้านอีก การบวชทั้งสองครั้งที่ผ่านมาเป็นเพียงบวชตามประเพณีนิยมเท่านั้น การศึกษาเล่าเรียนก็เรียนไปตามหลักสูตรที่วางเอาไว้ แต่ไม่มีครูอาจารย์องค์ใดพูดถึงเรื่องการปฏิบัติธรรมเลย บวชได้อีก ๑ ปี ก็สึกออกมาอีก ในช่วงต่อมา ได้ไปเที่ยวอำเภอบ้านผือ ตามคำชักชวนของเพื่อน ๆ (ไปอยู่บ้านดงหวาย) จึงชวนกันไปทำไร่อ้อยที่ดงไม้เรียว ตัวเองทำบ้างและจ้างคนงานช่วยทำบ้าง ในวันหนึ่ง มีเพื่อนคนงานถามถึงครอบครัว ก็บอกเขาว่ายังไม่มี เหตุที่ไม่ยอมมี
ครอบครัวเนื่องจากสาเหตุใดก็อธิบายให้เพื่อน ๆ ฟังว่า ยังไม่พบผู้หญิงที่ถูกใจ ผู้หญิงที่ถูกใจนั้น คือเป็นผู้ไม่กินอาหารดิบที่เป็นเนื้อสัตว์ทุกชนิด และเป็นผู้มีศีล ๕ ประจำตัว พอพูดจบก็มีเพื่ออีกคนหนึ่งพูดขึ้นว่า หญิงสาวที่ไม่กินอาหารดิบและมีศีล ๕ นั้นมีอยู่ จากนั้นก็คุยกันในเรื่องนี้บ่อย ๆ และตัวเองก็ตัดสินใจว่า ถ้ามีหญิงสาวลักษณะนี้จริงจะยอมแต่งงานด้วย จากนั้น ก็มาคอยดูกันอยู่ที่วัดป่าธรรมยุตแห่งหนึ่งที่บ้านโนนสมบูรณ์ โดยมีอาหารมาทำบุญด้วย การมานี้เพื่อมาดูหญิงสาวเท่านั้น ไม่คิดว่าจะมาบวชแต่อย่างใด

ใจเปลี่ยนไปในทางบวช
เมื่อไปถึงวัดแล้ว ใจเริ่มเปลี่ยนแปลงไป คือไปเห็นวัดมีความสะอาดร่มเย็นดี เดินไปไหน
รู้สึกว่าเป็นสถานที่น่าอยู่ จากนั้น ก็ขึ้นมาศาลารวมกันกับคณะศรัทธาทั้งหลาย เมื่อไปเห็นพระเณรภายในวัดมีความสงบเสงี่ยมสำรวมดี ก็ทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา เมื่อมองเห็นหลวงพ่อองค์หนึ่ง มีความสำรวมดีมาก ข้าพเจ้าได้เฝ้าสังเกตดูท่านอยู่ตลอดเวลา ท่านนั่งเรียบร้อยเหมือนกับหุ่นขี้ผึ้ง และพระเณรองค์อื่น ๆ ก็เรียบร้อยดี จึงเกิดความคิดขึ้นมาว่า นี่เราเคยบวชมาแล้ว การบวชของเรานั้นเหมือนกับว่าเอาผ้าเหลืองคลุมตอไม้เอาไว้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เราจะต้องบวชเป็นพระนักปฏิบัตินี้อย่างแน่นอน เราเกิดมาเป็นมนุษย์ทั้งชาติ เราจะไม่ให้เสียชาติเกิดของเราเลย การบวชในครั้งนี้เราจะบวชตลอดไป ความตั้งใจว่าจะมีครอบครัวนั้นให้ถือว่าเป็นความฝันก็แล้วกัน จากนั้น ก็กลับมาคิดทบทวนเรื่องการบวชของตัวเองว่า การบวชของเราครั้งนี้ จะไม่กลับคืนสู่ฆราวาสอีก จะเป็นอย่างไรก็ขอมอบกายถวายชีวิตไว้กับผ้ากาสาวพัสตร์จนตลอดวันตาย เมื่อคิดทบทวนไปมาหลายครั้งหลายหน ก็มีความกังวลขึ้นมาอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าบวชไปแล้ว บางทีอาจเกิดความสงสัยในทางโลกขึ้นมา จะไม่มีข้อมูลแก้ตัวเลยว่า ทางโลกเราได้ผ่านมาแล้ว ความคิดนี้จะเข้าข้างตัวเองอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เป็นไร พระพุทธเจ้าพระองค์ก็เคยผ่านทางโลกมาแล้ว นี่เราก็จะเอาแบบอย่างของพระพุทธเจ้าบ้าง จากนั้นก็วางแผนเสียใหม่เพื่อให้หายความสงสัยในทางโลก และตั้งใจไว้ว่าเราจะผ่านโลกชั่วคราวเท่านั้น จากนั้น ก็จะออกบวชอย่างแน่นอน ในที่สุด ก็เสียรู้ให้แก่กิเลสตัวนี้จริง ๆ ถึงจะเสียรู้เราก็ไม่ลืมตัว ใช้ปัญญาสอนตัวเองอยู่เสมอว่าเราจะไม่อยู่สร้างโลกตลอดไป จึงให้สัจจะสัญญาไว้กับตัวเองอย่างมั่นคง ในช่วงนี้ยังไม่รู้จักคำว่าภาวนาเลย และยังไม่เคยได้ยินในคำว่า ปฏิบัติ จากใคร ๆ เพราะไปอยู่ในที่นี่
ไม่กี่วัน การปรับตัวเข้าในครอบครัวเขาก็ยังไม่เรียบร้อยดี
วันหนึ่ง ได้ไปวัดในวันพระ หลวงพ่อบุญมาได้สั่งว่า ทูล เย็น ๆ วันนี้ออกมาหาด้วยนะ เมื่อได้รับคำท่านแล้ว ก็ออกมาหาท่านตามนัดหมายเอาไว้ เวลาก็ประมาณ ๖ โมงเย็น เมื่อมาถึงท่านก็พาขึ้นไปที่กุฏิ ยังไม่ได้คุยอะไรกันท่านก็ลงนอน แล้วบอกว่าจับเส้นให้หน่อย ตัวเองจับเส้นไม่เป็นเลย แต่ก็จับไปอย่างนั้นแหละ จากนั้นท่านก็ถามบ้านอยู่ที่ไหน ทำงานอะไร จึงได้มาอยู่ที่นี่ ก็ได้เล่าถวายท่านไป เมื่อจับเส้นให้ท่านพอสมควรแล้ว ท่านอาจจะเกิดความรำคาญในการจับเส้นนี้ก็เป็นได้ แล้วท่านก็ลุกขึ้นมานั่ง พูดประโยคแรกออกมาว่าอยากฟังเทศน์ไหม ก็ตอบท่านว่าอยากฟังครับ ท่านว่าให้ตั้งใจฟังนะ เกิด-ดับ เกิด-ดับ ท่านพูดว่า ฟังรู้เรื่องไหม ตอบท่านว่า รู้ครับ ท่านก็เทศน์อีกว่า เกิด-ดับ เอาละกลับบ้านเสีย เมื่อได้ยิน
คำแรกว่า เกิด-ดับ เท่านั้น เกิดความซาบซึ้งเป็นอย่างมาก ใจมีความเบิกบานจนบอก
ไม่ถูก เหมือนใจได้รู้เรื่องการเกิดดับนี้ทั้งหมด จากนั้น ก็กราบลาท่านกลับบ้าน เมื่อลงจากกุฏิท่านมา ความรู้เห็นในสิ่งที่เกิดดับก็เริ่มกระจ่าง ทุกอย่างเป็นสิ่งที่เกิดดับเหมือนกันไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีวิญญาณครอง หรือไม่มีวิญญาณครองก็ตาม ทุกอย่างมีการเกิดขึ้นแล้วดับไปในที่สุด ในขณะเดินทางกลับบ้าน ก็ใช้ปัญญาพิจารณาในสิ่งที่เกิดดับมาตลอด และคิดแปลกใจตัวเองว่า ความคิดนี้เกิดจากอะไร ทำไมเราจึงคิดในเรื่องการเกิดดับต่อเนื่องกันได้ดีขนาดนี้ แต่ก่อนมา เราไม่เคยคิดในเรื่องเหล่านี้เลย ยิ่งคิดเท่าไร ความเข้าใจในการเกิดดับก็ขยายกว้างออกและมาเข้าใจอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มันก็ดับไปตามธรรมชาติของมัน หรือสิ่งที่มนุษย์เราก่อสร้างให้เกิดขึ้น สิ่งนั้นก็ทนอยู่ตลอดไปไม่ได้ หรือมีการดับไปด้วยน้ำมือของมนุษย์เอง แม้ตัวมนุษย์เองก็มีการเกิดดับเหมือนสิ่งทั่ว ๆ ไป
เมื่อไปถึงบ้านแล้ว ก็นอนคิดตรึกตรองในสิ่งที่เกิดดับอย่างต่อเนื่อง เหมือนในโลกนี้มีแต่สิ่งที่เกิดดับเท่านั้น บางอย่างก็เกิดขึ้นช้าดับไปช้า บางอย่างก็เกิดขึ้นเร็วและดับไปเร็ว หรือบางอย่างเกิดขึ้นช้าดับเร็ว บางอย่างเกิดขึ้นเร็วแต่ดับช้า เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้ว จะดับช้าดับเร็วนั้น มันขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยในตัวมันเอง เหมือนตัวมนุษย์เรา ตลอดทั้งสัตว์ดิรัจฉานทุกประเภท เมื่อเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ไม่ได้ตายพร้อมกันทั้งหมด บางคนตายช้า บางคนก็ตายเร็ว นี่ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคล เมื่อคิดไปในเรื่องการเกิดดับอยู่นั้น เหมือนกับชีวิตเราจะอยู่ต่อไปอีกไม่นานมันก็จะดับไป เมื่อมารู้ตัวว่าชีวิตจะดับไปอยู่แล้ว เราจะมามัวเมาประมาทไม่ได้เลย ความดีที่เราควรจะรีบสร้างเอาไว้ก็รีบทำเสียในช่วงเรามีชีวิตอยู่ โอกาสเรามีแค่ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น เมื่อลมหายใจหมดไปเมื่อไร โอกาสในการสร้างคุณความดีก็สิ้นสุดลงทันที ในคืนนั้นไม่ได้หลับเลย มีแต่คิดเพลินในการเกิดดับตลอดคืน ในเช้าวันใหม่ ก็คิดในเรื่องการเกิดดับต่อไป ยิ่งคิดเท่าไร ความเข้าใจในเรื่องการเกิดดับก็รู้เห็น
ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น จนเกิดมีความเข้าใจในตัวเองว่า นี่เป็นความเห็นที่ถูกต้องในหลักสัจธรรมแน่นอน เรียกว่า ปัญญาความเห็นชอบอย่างแท้จริง
ในวันต่อมา ได้ยินนักปฏิบัติธรรมหลายคนพูดกันเรื่องสมาธิภาวนาว่า จิตมีความสงบอย่างนั้น มีความสงบอย่างนี้ ลักษณะของจิตเป็นอย่างนั้น มีความสุขกายสุขใจอย่างนี้ เมื่อถามเขาในเรื่องการทำสมาธิ เขาก็ให้คำตอบเหมือนกัน คือ นึกคำบริกรรมว่า พุทโธ เวลาหายใจเข้า นึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ ให้มีสติตั้งมั่นอยู่กับ พุทโธ แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่า ที่เขาพูดมานั้นจะถูกต้องหรือไม่ จากนั้น ก็ออกไปถามหลวงพ่อบุญมาด้วยตนเอง ท่านก็พูดเหมือน ๆ กันกับโยมเขาพูดกัน เมื่อเรียนวิธีในการทำสมาธิจากท่านแล้ว ตัวเองก็เริ่มทำตามวิธีที่ท่านสั่งสอนมา เมื่อทำไปในครั้งแรกก็ได้รับผลในคืนนั้น ใจมีความสงบนิ่งแน่วแน่เป็นอย่างดี มีความสุขกายและสุขใจเป็นอย่างมาก จากนั้นมา ก็เริ่มทำสมาธิทุกวัน แต่นิสัยที่เคยใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องการเกิดดับมาก่อนนั้น ก็ยังฝังลึกอยู่ในจิตใจ ในช่วงนั้น หลวงพ่อบุญมาก็ไม่ได้สอนเรื่องการเจริญวิปัสสนา และตัวเองก็ยังไม่รู้เรื่องการเจริญวิปัสสนาเลยว่า การเจริญวิปัสสนามีวิธีการเจริญอย่างไร แต่ก็มีความแปลกใจอยู่อีกอย่างหนึ่งว่า ทำไมหลังจากการทำสมาธิแล้ว ใจมันชอบคิดนึกตรึกตรองเรื่องการเกิดดับอยู่เสมอ ยิ่งพิจารณาเรื่องการเกิดดับมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ใจรู้เห็นได้ชัดเจนขึ้น และใจก็เริ่มเกิดความแยบคาย ความเข้าใจในหลักความเป็นจริงก็ยิ่งมีความแจ่มใสชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทำให้ใจเกิดความศรัทธา
เชื่อมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ และเชื่อมั่นในการปฏิบัติว่าเป็นอุบายวิธีที่ถูกต้องแน่นอน
ในวันต่อมา ก็ได้ไปเล่าวิธีการปฏิบัตินี้ให้หลวงพ่อบุญมาฟัง ท่านก็พูดหนักแน่นว่าถูก
แล้ว ๆ ให้ทำอย่างนี้อยู่บ่อย ๆ จิตก็จะค่อย ๆ ละวางในสิ่งที่จิตมีความยึดมั่นถือมั่นออกไปได้ ท่านก็สั่งให้ขยันหมั่นเพียรภาวนาให้มาก จากนั้นมา ก็พยายามเพิ่มความเพียรให้มากขึ้น และรู้ตัวเองอยู่ว่าการงานที่เราทำประจำวันอยู่นั้นมีมาก จะไปนั่งนึกคำบริกรรมทำสมาธินาน ๆ นั้น
ไม่ได้ ถ้าจะทำสมาธิก็ทำในช่วงพักผ่อนในการทำงานนั้น ๆ จากนั้น ก็เริ่มจับด้ามจอบด้ามขวานทำงานต่อไป ในช่วงขณะที่ทำงานอยู่นั้น ก็ใช้ปัญญาพิจารณาในเรื่องการเกิดดับอยู่เสมอ ทำงานไปด้วยพิจารณาการเกิดดับไปด้วย ทำให้จิตมีความเพลิดเพลินไปในตัว หาอุบายธรรมต่าง ๆ มาสอนตัวเองอยู่เสมอว่า นี่เราทำไมจึงมีความหลงงมงายติดอยู่กับโลกอยู่อย่างนี้ ทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของเราที่แน่นอน แม้ตัวเราเองก็ไม่เป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง ทุกสิ่งเป็นเพียงอาศัยซึ่งกันและกันเท่านั้น สักวันหนึ่งก็ดับสลายจากกันไป พืชผลที่ได้มาจากการเพาะปลูกทั้งหมดนั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดดับด้วยกันทั้งนั้น นี่เราจะมาเอาอะไรให้เป็นสาระแก่นสารในวัตถุสมบัติทั้งหมดนี้ไม่ได้เลย การได้มาจากวัตถุสมบัตินี้ เพียงเอามาบำรุงรักษาก้อนธาตุของตัวเองให้มีชีวิตอยู่ได้เท่านั้น ถึงจะอยู่ได้ก็ไม่นาน ธาตุและสังขารนี้ก็จะดับไปตามเหตุปัจจัยในตัวมันเอง ถ้าเป็นอย่างนี้ ทำไมตัวเองจึงได้มาหลงยึดติดกับวัตถุสมบัติเหล่านี้ เพราะทั้งหมดนี้เป็นวัตถุธาตุของโลก มีอยู่ประจำโลก ตัวเองก็เป็นสัตว์โลก เกิดมาในโลกและมาอาศัยวัตถุธาตุของโลกนี้อยู่เท่านั้น โลกนี้มันเป็นอยู่อย่างนี้มานานแล้ว แม้ปัจจุบันนี้ก็เป็นอยู่อย่างนี้ และจะมีอีกในอนาคตต่อไปหาที่สุดมิได้ ถ้าหากเราได้มาเกิดอีกทีก็จะพบกับความเป็นอยู่อย่างนี้อีกตลอดไป
ฉะนั้น การปฏิบัติของฆราวาส ถ้าเรามีสติปัญญาที่ดี จะไม่มีอุปสรรคในการปฏิบัติแต่อย่างใด จะทำความเพียรในที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นจะเลือกกาลและสถานที่ เราอยู่ที่ไหน แห่งใด ไม่ว่าขณะทำงานหรือหยุดงาน พยายามทำใจให้มีความรู้จริงและทำใจให้มีความเห็นจริงในสิ่งนั้น ๆ อยู่เสมอ เพราะความรู้จริงเห็นจริง จึงเป็นจุดเด่นในการปฏิบัติธรรม และเป็นจุดเด่นของความเพียรที่เราจะเข้าให้ถึง นั่นคือ สัจธรรม เพราะสัจธรรมเป็นศูนย์รวมแห่งธรรมะทั้งหลาย ถึงสัจธรรมนั้นจะหลายแง่หลายหมวดหมู่ แต่ก็อยู่ในขอบเขตของ ไตรลักษณ์ทั้งนั้น ถ้าหากใช้ปัญญาพิจารณาในสัจธรรมใด ก็ให้รวมลงสู่ไตรลักษณ์ทุกครั้ง ถ้าปฏิบัติในลักษณะอย่างนี้อยู่ ก็อย่าได้เกิดความกังวลและอย่าไปสงสัยว่าเราปฏิบัติผิดแต่อย่างใด นี่แหละคือความถูกต้องของการปฏิบัติอย่างแท้จริง แม้ตัวข้าพเจ้าเอง ก็ได้รับผลมาจากการปฏิบัติด้วยอุบายอย่างนี้มาแล้ว จึงได้ชี้แนะอุบายนี้ไว้แก่พวกเราทั้งหลาย เพื่อจะได้เป็นอุบายในการปฏิบัติต่อไป ไม่ใช่ว่าจะมานึกคำบริกรรมทำสมาธิแต่อย่างเดียว แต่ก็ไม่ละทิ้งสมาธิเมื่อมีเวลาว่าง ใจต้องการพักผ่อนก็กำหนดทำสมาธิไปตามกาลเวลานั้นๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วต้องใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เสมอ อุบายที่จะนำมาพิจารณานั้น ต้องเป็นอุบายในเหตุผลของตัวเอง ถ้าฝึกตัวเองได้อย่างนี้ จึงนับได้ว่าเป็นผู้ไม่จนมุม มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นย่อมแก้ปัญหานั้นได้ด้วยตนเอง ฝึกปัญญาให้มีความฉลาดรอบรู้ในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แล้วแก้ปัญหาให้ทันต่อเหตุการณ์ จึงเป็นอุบายภาวนาปฏิบัติที่ถูกต้องอย่างแท้จริง
อุบายการปฏิบัติที่ข้าพเจ้าได้เอามาเป็นหลักยืนตัว คือ วัตถุสมบัติและธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ โดยพิจารณาให้เป็นไปตามไตรลักษณ์ที่เป็นหลักความจริง ถึงจะมีอุบายปัญญาอื่น ๆ อยู่บ้างก็เป็นเพียงอุบายประกอบเท่านั้น ส่วนอุบายการปฏิบัติหลัก คือ เรื่องวัตถุสมบัติกับธาตุ ๔ นั่นเอง จะอยู่ที่ไหน ไปที่ใด ก็ใช้ปัญญาปรารภเรื่องวัตถุสมบัติกับธาตุ ๔ พิจารณาอยู่เสมอ เพราะส่วนนี้เป็นรูปธรรมที่มองเห็นได้ง่าย ถึงจะเป็นอุบายธรรมส่วนหยาบ ๆ ก็ขอให้รู้เห็นด้วยสติปัญญาของเราโดยตรง จึงจะเป็นผลดี และดีกว่าที่จะไปเลียนแบบจากคนอื่นเล่าให้ฟัง ส่วนใหญ่นักปฏิบัติชอบพูดกันอยู่เสมอว่า ธรรมหมวดนั้นก็รู้ ธรรมหมวดนี้ก็เข้าใจ นั่นก็จริงอยู่ แต่ความรู้ที่รู้มานั้นเป็นความรู้เลียนแบบจากผู้อื่นมารู้เท่านั้น หนังสืออธิบายไปอย่างไรก็รู้ไปตามนั้น หรือครูอาจารย์อธิบายให้ฟังอย่างไร ก็รู้ไปตามนั้น ความรู้ลักษณะอย่างนี้เป็นเพียงความรู้ในชื่อของธรรมเท่านั้น แต่ตัวที่เป็นธรรมจริง ๆ ยากที่จะรู้ได้ เพราะเป็นความรู้ที่ลุ่มลึก เป็นความรู้ที่ได้ผ่านความเห็นที่เป็นจริง จึงเรียกว่าเห็นก่อนรู้นั่นเอง หรือเรียกว่าเป็นความรู้ที่กลั่นกรองออกมาจากความเห็นมาแล้ว จึงนับได้ว่าเป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ หรือเรียกว่า พุทโธ ก็คือ ความรู้ที่ผ่านจากความเห็นจริงนั่นเอง ฉะนั้น ความรู้จริงความเห็นจริงนั้น จึงมีน้อยคนที่จะปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่เหลือวิสัยสำหรับบุคคลที่มีความตั้งใจจริง ถ้ามีความตั้งใจปฏิบัติจริง ความรู้จริงความเห็นจริงก็จะเป็นผลตอบแทนให้แก่เราอย่างแน่นอน


ใจหลงติดอยู่ที่ต้นมะม่วง
ในช่วงที่ข้าพเจ้าใช้ปัญญาพิจารณาในวัตถุสมบัติอยู่นั้น ก็สังเกตใจตัวเองอยู่เสมอว่า ใจเรามีความยินดีกับวัตถุสมบัติอะไรบ้าง ดูผิวเผินปรากฏว่า ใจไม่มีความยินดียึดติดอยู่กับวัตถุสมบัติอะไรเลย แต่ในส่วนลึกของใจนั้นยังมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ฝังอยู่ แต่ก็นึกหาในสิ่งนั้นไม่ได้ว่าหลงติดอยู่ในของสิ่งใด
ในวันต่อมา ได้เดินไปดูสิ่งที่ปลูกเอาไว้ บังเอิญไปพบต้นมะม่วงที่ปลูกเอาไว้ พอสายตามองเห็นเท่านั้น ก็เกิดความรู้สึกขึ้นในใจว่า ความดึงดูดกันในระหว่างใจกับต้นมะม่วงนั้นผิดปกติมาก จึงเกิดความยินดีความยึดมั่นในต้นมะม่วงนั้นอย่างเห็นได้ชัด จึงได้อุทานขึ้นในใจว่า วัตถุสมบัติของโลกได้มารวมตัวกันอยู่ที่ต้นมะม่วงนี้แล้ว ความเหนียวแน่นในความยึดติดอยู่กับมะม่วงนั้นรู้เห็นได้ชัดทีเดียว จึงได้ทำความเข้าใจกับตัวเองว่า ถ้าใจได้ตัดขาดจากต้นมะม่วงเมื่อไร กระแสของโลกก็จะขาดจากใจไปได้ จากนั้น ก็ใช้ปัญญาพิจารณาต้นมะม่วงนั้นลงสู่การเกิดดับและไตรลักษณ์อย่างจริงจัง แล้วจึง โอปนยิโก น้อมต้นมะม่วงนั้นเข้ามาหาตัวเอง และพิจารณาตัวเอง คือ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ว่ามีการเกิดดับเหมือนต้นมะม่วงนี้ และใช้ปัญญาพิจารณาความไม่เที่ยงของร่างกายให้เป็นไปตามสามัญลักษณะธาตุ คือ มีความเสมอภาคกันในอนัตตา เมื่อถึงกาลเวลาแล้วก็ต้องดับไป ทุกอย่างก็ต้องผุพังเน่าเปื่อยทับถมในแผ่นดินนี้ทั้งหมด ไม่มีอะไรจะมาเป็นตนและไม่มีอะไรจะมาเป็นต้นมะม่วงนี้อีกเลย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาอย่างนี้ซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่ ใจก็เกิดความรู้เห็นเป็นไปตามหลักความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาและก็ดับไปเป็นธรรมดา เมื่อมารู้เห็นความจริงอย่างนี้ด้วยปัญญาที่เห็นชอบแล้ว กระแสใจที่เคยยึดมั่นในต้นมะม่วงนั้นก็ขาดกระเด็นออกจากใจไปทันที ไม่มีอะไรให้ต่อเชื่อมกันได้เลย
จากนั้น นึกขึ้นได้อีกว่า ยังมีมะม่วงอีกต้นหนึ่งเป็นพันธุ์ดีที่สุด จึงเดินไปดู พอสายตากระทบต้นมะม่วงเท่านั้น ก็เกิดความยึดติดกับต้นมะม่วงต้นนั้นอีก และยึดติดอย่างรุนแรงกว่ามะม่วงต้นที่ผ่านมา เหมือนกับความเหนียวแน่นของใจที่มีในต้นมะม่วงนั้นมันมีความผิดปกติอยู่มาก ๆ ทีเดียว จากนั้น ก็เริ่มใช้ปัญญาพิจารณาดังที่ได้เคยพิจารณามาแล้ว อุบายปัญญาที่เคยพิจารณาอย่างได้ผลมาแล้ว แต่บัดนี้ ไม่ได้ผลเสียเลย ใช้ปัญญาพิจารณาอยู่อย่างนั้นทั้งวัน ก็ไม่ทำให้กระแสใจขาดจากความยึดติดกับต้นมะม่วงนี้ได้ ตกเย็นกลับบ้าน ได้นั่งทำสมาธิ ออกจากสมาธิก็มาใช้ปัญญาพิจารณาต้นมะม่วงนี้อีก แต่ในคืนนั้น ไม่สามารถทำให้ใจเกิดความละถอนปล่อยวางในต้นมะม่วงนั้นเลย ต่อมาในวันที่สอง ก็ใช้ปัญญาพิจารณาอีก ใจยังมีความยึดติดอย่างเหนียวแน่นตามเดิม ในคืนที่สองนี้ก็ใช้ปัญญาพิจารณาต่อไป เมื่อใช้ปัญญานาน ๆ เข้า เหนื่อยจึงหยุดพักในสมาธิไปด้วย เมื่อออกจากสมาธิก็เริ่มใช้ปัญญาพิจารณาต่อไป หลักการที่ใช้ปัญญาพิจารณาก็เป็นอุบายเดียวกัน และได้สังเกตดูใจ
ตัวเองไปพร้อม ๆ กันว่ามีความละเอียดมาก จึงได้รู้เห็นการเกิดดับของต้นมะม่วงและธาตุ ๔ ของตัวเองได้อย่างชัดเจน เมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืน ก็ได้รู้เห็นเป็นไปตามหลักความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยและสิ่งนั้นก็ย่อมดับไปด้วยเหตุปัจจัยในตัวมันเอง ในขณะนั้น กระแสแห่งความยึดถือของใจ ก็ได้พังทลายสูญหายออกไปจากใจในชั่วพริบตา จึงได้รู้ตัวเองว่าอยู่ในฐานะอย่างไร
ฉะนั้น การปฏิบัติในอุบายการใช้ปัญญาพิจารณาในการเกิดดับ ในสรรพวัตถุธาตุทั้งหลาย ทั้งภายนอก ภายใน ใกล้ไกล หยาบ ละเอียด ทั้งสิ่งที่มีวิญญาณครอง และสิ่งที่ไม่มีวิญญาณครอง ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยในตัวมันเอง ไม่มีใครบังคับให้อยู่ในอำนาจของตัวเองได้ไม่ว่าสิ่งนั้นจะชอบใจหรือไม่ชอบใจ ในคืนนั้น มีแต่ความอิ่มเอิบอยู่กับผลของการปฏิบัติธรรมตลอดคืน และรู้ชัดภายในใจว่านับจากวินาทีนี้ไป ใจเราจะไม่มีภาระในการยึดติดอยู่กับวัตถุสมบัติทั้งหลายตลอดไป เพราะใจได้ละวางในวัตถุสมบัติของโลกนี้ได้อย่างสิ้นเชิง ถึงจะแสวงหาวัตถุสมบัติมาได้ รวมทั้งสิ่งที่มีอยู่ ก็รู้สึกว่าเป็นเพียงวัตถุธาตุเท่านั้น ทุกอย่างเป็นเพียงปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิตให้อยู่ได้ในวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น แม้ธาตุขันธ์ที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นเรา และเป็นของเรา ก็เป็นเพียงสมมติโลกที่พูดกันเท่านั้น ส่วนความจริงก็ยังเรียกกันตามโลกนิยม คำว่า สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นในรูปกายหรือรูปธาตุอื่นๆ ย่อมมีการเกิดดับตามเหตุปัจจัยในตัวมันเอง นี้คือรู้จริงเห็นจริงตามหลักความเป็นจริงใน
สัจธรรมอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน
ความสงสัยในพระพุทธเจ้า ความสงสัยในพระธรรม ความสงสัยในพระอริยสงฆ์ ความสงสัยในผลของกรรมดีกรรมชั่ว ความสงสัยในบุญและบาป ความสงสัยในมรรคผลนิพพานก็หมดไป เพราะมารู้จริงเห็นจริงในสัจธรรมอย่างสนิทใจ เป็นความรู้เห็นที่ไม่เสื่อมคลายต่อไป ความเข้าใจผิด ความหลงผิด ก็ได้กลายเป็นอดีตไป มีแต่ความรู้เห็นที่เป็นจริงที่มั่นคงสมบูรณ์ภายในใจ เป็น นิตยทิฏฐิ คือ ความรู้เห็นที่แน่นอน ไม่มีความลังเลสงสัยอีกตลอดไป มีแต่ความอิ่มเอิบในธรรมตลอดทั้งวันทั้งคืน จะยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ที่ไหน ใจย่อมมีความเบิกบานอยู่ตลอดเวลา
ความลูบคลำในศีล ว่ามีความเศร้าหมองขุ่นมัวด่างพร้อย หรือศีลขาดศีลทะลุอย่างไรก็ไม่มีในใจแม้แต่น้อย นี่คือศีลที่เป็นผลสะท้อนออกมาจากธรรม เมื่อใจมีธรรมและธรรมฝังใจอย่างแนบแน่นแล้ว ผลคือ ความละอายในการทำชั่ว ในการพูดชั่ว และการคิดชั่วจะมีมาจากที่ไหน นี่คือศีลที่เกิดจากธรรมโดยตรง จึงเรียกว่า ปกติศีล เป็นศีลที่ไม่มีความหวั่นไหว เป็นศีลที่ไม่มีความวิตกกังวลในสิ่งใด ๆ เพราะศีลฝังลึกอยู่ที่ใจอย่างสนิทแล้ว คำว่าศีลขาดหรือไม่ขาด จะไม่มีในใจที่เป็นธรรมนี้เลย ฉะนั้น จึงเป็น อธิศีล คือ ศีลที่ยิ่ง อธิจิต ความตั้งมั่นที่แน่วแน่ในธรรม จะไม่มีความหลงผิดอีกต่อไป อธิปัญญา ความรู้รอบและรอบรู้ภายในใจก็เป็นไปในเหตุในผล จะคิดนึกตรึกตรองในสิ่งใด ดำริพิจารณาในเหตุปัจจัยอะไร ย่อมเกิดความแยบคายได้ง่าย อธิปัญญา คือ ปัญญาที่รู้รอบในสรรพสังขารทั้งหลาย ไม่มีสังขารใดที่จะเล็ดลอดหลบหลักปัญญาไปได้เลย เพราะปัญญา จึงให้นามว่าความรู้รอบและรอบรู้อยู่แล้ว ฉะนั้น ความลูบคลำในศีลว่าขาดหรือไม่ขาดนั้นจะไม่มีในใจเลย เพราะใจที่มีศีลนั้นไม่มีเจตนาในทางที่ชั่ว เรื่องการแสดงออกมาภายนอกด้วยกิริยาทางกายและวาจา ในสายตาของคนอื่นอาจเข้าใจผิดได้ว่าต้องผิดศีลข้อนั้น ต้องผิดศีลข้อนี้ ย่อมวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ด้วยภาษาของคนมืดบอด เรื่องเหล่านี้เคยมีมาแล้วในครั้งพุทธกาล เช่น พระจักขุบาลที่เดินจงกรมเหยียบแมลงเม่าตายเป็นกอง ๆ ในทางเดินจงกรม ก็มีพระที่มืดบอดด้วยสติปัญญาไปฟ้องพระพุทธเจ้า ว่าจะเอาโทษทางวินัยให้ได้ ในที่สุด พระพุทธเจ้าก็ได้ตัดสินว่า พระจักขุบาลไม่ผิดเพราะไม่มีเจตนา คือ ความตั้งใจที่จะเหยียบแมลงเม่าให้ตาย ฉะนั้น ความลูบคลำในศีลว่าขาดหรือไม่ขาดจึงไม่มีต่อผู้มีธรรมประจำใจ

เกิดนิมิตช่วยกำลังใจ
ในคืนหนึ่ง หลังจากใช้ปัญญาพิจารณาในสัจธรรมในแง่ต่าง ๆ ไปแล้ว ก็มากำหนดจิตให้ลงสู่ความสงบเพื่อเป็นอุบายพักจิตต่อไป เมื่อจิตลงสู่ความสงบแล้วก็เกิดความสว่างอย่างกว้างขวาง เป็นความสว่างที่ไม่มีประมาณ โล่งไปทั้งหมด ในขณะนั้น ก็ปรากฏเห็นรถแก้วคันหนึ่งลอยมาแต่ที่ไกล แล้วก็ลอยตรงเข้ามาหาข้าพเจ้า และหยุดอยู่บนอากาศห่างจากตัวข้าพเจ้าประมาณ ๕ วา จึงมองเห็นรถแก้วคันนั้นได้อย่างชัดเจน รถแก้วคันนั้นมีเครื่องประดับด้วยแก้วนานาชนิด มีแสงสว่างแพรวพราวไปหมด มีรัศมีแผ่ออกไปรอบด้าน ในรถแก้วคันนั้นมี ธนู ศร หอก ดาบ และมีอาวุธอื่น ๆ อีกมากมาย และยังมีพระราชาองค์หนึ่งประทับนั่งอยู่ในรถคันนั้น เครื่องประดับของพระราชาองค์นั้นล้วนแล้วแต่เป็นเพชรนิลจินดา ประดับเครื่องทรงเจิดจ้าแพรวพราวระยิบระยับอยู่รอบองค์ จากนั้น ก็ได้ประกาศลงมาว่า นี่ทูล ข้าพเจ้าเป็นพระยาธรรมมิกราช มาครั้งนี้ เพื่อจะเตือนให้รู้ว่า นับแต่นี้ไป โลกมนุษย์เริ่มหมุนไปสู่ความหายนะ มนุษยโลกจะเกิดโกลาหลฆ่ากันตีกันทำลายกันด้วยวิธีต่าง ๆ จะหาผู้มีศีลมีธรรมประจำใจนั้นมีน้อย ทั้งพระสงฆ์ผู้ทรงศีลอันดีงาม ผู้ทรงธรรมที่เป็นสาระแก่นสารก็จะมีน้อย ฉะนั้น ขอให้ออกบวชเสียแต่ในช่วงนี้ เพื่อจะได้เป็นกำลังแก่พระพุทธศาสนาสืบต่อไป เมื่อสั่งเสร็จแล้ว รถแก้วก็เลื่อนลอยขึ้นไปสู่อากาศ ลอย
สูงขึ้น ๆ จนสุดสายตา จากนั้น ความสว่างก็ค่อย ๆ เลือนลางไป ในขณะนั้น ก็มีลมพัดมาจากทิศตะวันออกดังสนั่นหวั่นไหวเหมือนกับต้นไม้โค่นล้มกันไปเป็นทิวแถว แล้วพัดตรงเข้ามาหาข้าพเจ้า แล้วมีคน ๖ คนวิ่งมากับลมนั้นด้วย จากนั้น ลมก็พัดตรงเข้าที่บ้านอย่างจัง เหมือนกับบ้านจะพังไป แต่ก็เป็นเพียงโยกคลอนไปมาเท่านั้น ทำให้คนรอบข้างเกิดความสะดุ้งตกใจร้องโวยวายขึ้นว่า นี่อะไรเกิดขึ้น มีลมพัดบ้านเหมือนกับบ้านจะพังไป ขณะนั้น ใจก็ถอนออกจากสมาธิ จึงได้บอกคนใกล้เคียงไปตามเหตุที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้บอกทั้งหมด เพราะเขากำลังต่อต้านในการออกบวชของข้าพเจ้าอยู่แล้ว แต่ได้บอกเขาไปเป็นบางส่วนเท่านั้น ส่วนตัวข้าพเจ้าเองได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะออกบวชอย่างแน่นอน
เรื่องของพ่อตู้อ้วน
ก่อนออกบวช มีเรื่องหนึ่งที่จะต้องพูดถึง นั่นคือ เรื่องของพ่อตู้อ้วน พ่อตู้อ้วนนี้เดิมอยู่บ้านค้อนารายณ์ เป็นผู้สนใจในการภาวนาปฏิบัติมาแล้วประมาณ ๓๐ ปี มีการรักษาศีล ๕ มาตลอดชีวิต และมีการรักษาศีลอุโบสถทุกวันพระมิได้ขาด ในช่วงนี้ พ่อตู้อ้วนได้ย้ายมาอยู่บ้านโนนสมบูรณ์ มีบ้านอยู่ตรงกันข้ามกับบ้านข้าพเจ้า ท่านให้ความรักในตัวข้าพเจ้าเหมือนกับลูกคนหนึ่ง ต่อมา พ่อตู้อ้วนได้ไปสร้างกุฏิไว้สองหลัง แต่ละหลังห่างกัน ๒๐ เมตร และคิดโครงการว่าจะสร้างห้องส้วมอยู่ระหว่างกลางของกุฏิทั้งสอง เมื่อกุฏิสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว คิดว่าจะสร้างห้องส้วมต่อไป แต่ขณะนั้นเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาเสียก่อน ลูกหลานจึงได้นำตัวไปรักษาที่บ้านค้อนารายณ์ แต่อาการป่วยก็ไม่ดีขึ้น ในที่สุด ก็ได้เสียชีวิตไปท่ามกลางหมู่ญาติทั้งหลาย เมื่อข้าพเจ้าทราบข่าว ก็ไปร่วมในการประชุมเพลิงศพครั้งนี้ด้วย และใช้ปัญญาพิจารณาความตายอยู่ตลอดว่า อนาคตของเราต่อไปก็ต้องเป็นอย่างนี้ จะหนีจากความตายนี้ไปไม่ได้เลย พ่อตู้อ้วนอายุ ๗๐ กว่าปี แต่ยังมีร่างกายแข็งแรงดี มีความขยันในการงาน และมีความขยันในการภาวนาปฏิบัติอย่างไม่ท้อถอย แต่ก็ได้ตายไปจากญาติลูกหลานไม่มีวันจะฟื้นขึ้นมาอีกเลย ส่วนตัวเราเอง ถึงอายุยังไม่มาก แต่ก็มีสิทธิ์ตายได้เช่นกัน ดังเห็นอยู่ในที่ต่าง ๆ ทั่วไป หลายคนเป็นผู้มีอายุยังน้อยทั้งนั้น นี่เราจะมีชีวิตอยู่อีกต่อไปนานเท่าไรหนอ เราไม่สามารถคาดการณ์ในความตายล่วงหน้าได้ อาจจะเร็ว ๆ นี้ก็ได้ใครจะรู้ ในวันนั้นจะคิดในเรื่องความตายนี้อยู่ตลอด เมื่อกลับจากงานศพมาแล้ว ก็คิดพิจารณาในความตายต่อไป
ในคืนนั้น ทำสมาธิมีความสงบได้ที่แล้วก็เกิดนิมิตขึ้น คือปรากฏเห็นพ่อตู้อ้วนเดินมาหา จึงคิดว่าพ่อตู้อ้วนจะมาที่นี่ทำไม บุญกุศลต่าง ๆ ตลอดการรักษาศีลและการภาวนาปฏิบัติก็มีความมั่นคง ทำไมจึงไม่ได้ไปสู่สุคติหนอ เมื่อพ่อตู้อ้วนเดินเข้ามาใกล้ ๆ คิดจะถามว่า ทำไมจึงไม่ไปสู่สวรรค์ จากนั้น พ่อตู้อ้วนก็ได้เข้ากอดตัวข้าพเจ้าทางด้านหลัง โดยรวบแขนไว้แน่น เมื่อแขนและตัวของพ่อตู้อ้วนถูกร่างกายเราส่วนไหน จะมีความเย็นยะเยือกในร่างกายไปหมด จากนั้น ก็ถามพ่อตู้อ้วนว่า พ่อตู้ ทำไมจึงไม่ขึ้นไปอยู่เมืองสวรรค์ บุญกุศลต่าง ๆ พ่อตู้ก็ได้ทำมามาก หรือมีอุปสรรคขัดข้องในสิ่งใด พ่อตู้ก็ได้กระซิบใส่หูข้าพเจ้าเบา ๆ ว่า มีความเป็นห่วงในห้องส้วมที่ยังไม่ได้ทำ ก็ถามต่อไปว่า พ่อตู้จะสร้างห้องส้วมที่ไหน พ่อตู้ตอบว่า สร้างระหว่างกลางกุฏิสองหลังนั่นแหละ จึงบอกพ่อตู้อ้วนไปว่า ไม่ยากหรอกพ่อตู้ ในวันพรุ่งนี้ ผมจะไปบอกพ่อแสนและญาติทุกคนให้มาร่วมสร้างห้องส้วมหลังนี้ให้เสร็จเร็วที่สุด ขอให้พ่อตู้คอยอยู่รับอนุโมทนาในการสร้างห้องส้วมนี้ก็แล้วกัน พ่อตู้พูดว่า เออให้บอกเขาจริง ๆ นะ พ่อตู้จะคอยอยู่ที่บริเวณนี้ จากนั้น พ่อตู้อ้วนก็ได้วางมือจากตัวข้าพเจ้าไป แล้วจิตก็ได้ถอนออกจากสมาธิ
ต่อมา ข้าพเจ้าก็ได้ใช้ปัญญาพิจารณาในเรื่องนิมิตนี้อย่างละเอียด จนเข้าใจได้อย่าง
ชัดเจน ข้อพิจารณาเป็นอย่างไรนั้นจะอธิบายให้ฟังในช่วงหลัง รุ่งเช้า ข้าพเจ้าก็รีบไปเล่าให้พ่อแสนกับแม่แสนฟังทั้งหมด ทั้งสองตกตะลึงแล้วพูดว่า เคยได้ยินพ่อตู้พูดว่า จะสร้างห้องส้วมนี้เหมือนกัน นี่ถ้าทูลไม่มาบอกเล่าให้ฟังก็คงลืมไปเลย ข้าพเจ้าเองก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน เพิ่งได้รู้ในคืนที่พ่อตู้มาบอกนั่นเอง แล้วก็บอกพ่อแสนไปว่าให้รีบไปหาญาติ ๆ ทางบ้านเดี๋ยวนี้นะ ให้พากันมาสร้างห้องส้วมให้เสร็จอย่างช้าก็อย่าให้เกินสองวัน ขณะนี้ พ่อตู้ยังคอยรับบุญกุศลในการสร้างห้องส้วมอยู่ในบริเวณนี้ ให้รีบสร้างรีบถวาย เพื่อให้พ่อตู้ได้อนุโมทนา แล้วพ่อตู้จะได้ไปสวรรค์โดยเร็ว ไม่เช่นนั้น พ่อตู้จะเป็นเปรตต่อไปอีกนาน เมื่อพ่อแสนได้ฟังดังนั้น ก็รีบแต่งตัวจับได้จักรยานสองล้อถีบไปอย่างรีบร้อนทีเดียว เพื่อไปตามญาติ ๆ มาสร้างห้องส้วม เมื่อไปถึงวัด ข้าพเจ้าก็กำหนดให้สร้างตรงนี้ ๆ ต่างคนก็ช่วยกันขุดหลุมส้วมพร้อมทั้งใส่ท่อเป็นอย่างดี กลุ่มที่ทำไม้ก็ช่วยกันเต็มที่ ตั้งใจว่าจะให้เสร็จในวันนั้นทั้งหมด ในที่สุดก็เสร็จในวันนั้นจริง ๆ เช้าวันรุ่งขึ้น ลูกหลานทุกคนก็ร่วมกันถวายพระเป็นอันเสร็จพิธี ในคืนนั้น ข้าพเจ้าก็ภาวนาเป็นปกติและดำริว่า พ่อตู้อ้วนได้รับกองบุญในวันนี้หรือเปล่าหนอ เมื่อจิตสงบในสมาธิได้ที่แล้ว นิมิตเห็นพ่อตู้อ้วนเดินเข้ามาหา หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสสดชื่นดีมาก ผิวพรรณผ่องใสไปทั้งหน้าและร่างกาย ผ้าที่
นุ่งห่มมีความสวยงามมาก เมื่อเดินมาได้แล้วก็ยืนอย่างเรียบร้อยแล้วพูดว่า ทูลเอย บัดนี้ พ่อตู้หมดห่วงแล้วนะ ถ้าทูลไม่ช่วยพ่อตู้ในครั้งนี้ ไม่ทราบว่าพ่อตู้จะอยู่เป็นเปรตต่อไปอีกนานเท่าไร พ่อตู้จึงขอขอบคุณที่ช่วยเหลือพ่อตู้ได้ทัน ไม่เช่นนั้น พ่อตู้ก็จะอยู่เป็นเปรตทนทุกข์ทรมานอยู่ในโลกนี้สิ้นกาลนาน จึงขอให้ทูล ได้ ทำบุญให้มาก ๆ การรักษาศีลภาวนาก็อย่าได้ขาด และจงบอกคนอื่นด้วยนะ อย่าพากันติดอยู่กับวัตถุสิ่งใด ๆ เลย เมื่อใจยึดติดอยู่กับของสิ่งใด ใจก็จะมืด ยึดติดอยู่กับสิ่งนั้น ๆ โดยไม่มีทางไปแต่อย่างใด จากนั้น พ่อตู้ได้พูดคำ
สุดท้ายว่า จากนี้ไป พ่อตู้จะขึ้นไปอยู่บนสวรรค์แล้วนะ ว่าแล้วก็ลอยขึ้นไปสู่อากาศจนมองสุดสายตา จากนั้น จิตก็ได้ถอนออกจากสมาธิ
ข้าพเจ้าได้ใช้ปัญญาพิจารณาดูในเรื่องของพ่อตู้อ้วนนี้ทั้งหมด เห็นว่าเป็นอุบายสอนใจให้คนทั้งหลายได้เกิดความสำนึกตัวได้ดีมากทีเดียว ข้าพเจ้าจะอธิบายในเรื่องการยึดติดในวัตถุทั้งหลายให้ทราบดังนี้ ความยึดติดทางใจนี้เป็นความยึดติดที่เหนียวแน่นมากและยากที่จะรู้ตัว กำลังความหนักหน่วงจะเป็นลูกถ่วงภายในใจอย่างมืดมิดทีเดียว บุญกุศลอื่นใดที่ทำมาแล้วและสิ้นเงินไปอย่างมหาศาลมาแล้ว ไม่ว่าเท่าไรก็ตาม ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ก่อน จิตจะออกจากร่างกายนี้ไป จึงเป็นโค้งสุดท้ายของชีวิตที่จะเบนเข็มทิศชี้ทางให้ใจได้เปลี่ยนไป ถ้าใจไปยึดติดอยู่กับสิ่งใด ใจก็จะไม่ยอมถอนตัว ถึงบุญกุศลจะสร้างมาแล้วมากน้อยเท่าไรไม่สำคัญ บุญกุศลนั้นจะผลักด้นให้จิตหลุดออกจากการยึดติดนั้นไม่ได้ บุญกุศลนั้นก็ไม่ได้หายไปไหน ยังมีแฝงอยู่ที่ใจนั่นเอง แต่ไม่สนใจกับบุญกุศลที่มีอยู่ มีแต่ความลุ่มหลงในการยึดติดในสิ่งนั้น ๆ จนลืมตัว จะยึดติดนานเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์หลายอย่าง ใจบางคนก็กลับได้ช้า ใจบางคนก็กลับได้เร็ว เหตุปัจจัยที่จะให้ใจถอนตัวออกจากความยึดมั่นต้องได้พูดกันยาวมาก เพราะเหตุปัจจัยในการยึดติดนั้นไม่เหมือนกัน ความหลงตัว การลืมตัว ก็มีความตื้นลึกหนาบางต่างกัน
ฉะนั้น การยึดติดจึงมีอำนาจกว่าบุญกุศลทั้งหลาย ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ บุคคลในโลกนี้ที่จะไปสู่สุคติได้ เท่ากันกับเขาโค บุคคลที่จะไปสู่ทุคติในอบายภูมินั้น เหมือนกันกับขนโค ดูซิว่า โคตัวหนึ่งมีเขามีขนมากต่างกันทีเดียว นี่ก็เพราะความยึดติดของใจที่ฝังแน่นอยู่ในสิ่งที่เรารัก เพราะความยึดติดนั้น เป็นภพที่จะไปสู่ชาติคือความเกิดนั่นเอง ดังคำของนักปราชญ์พูดไว้ว่า ถ้าใจหนักไปในทางกุศล บุญกุศลนั้น ก็จะนำพาไปสู่สวรรค์ ถ้าใจหนักไปในทางบาปอกุศล บาปอกุศลนั้นก็จะนำพาไปทุคติ คำพูดของ
นักปราชญ์อย่างนี้ส่วนมากจะมีความเข้าใจตรง ๆ ไปเลย เช่น คำว่า ผู้มีความหนักแน่นในทางบุญก็จะต้องทำบุญมาก ๆ มีปัจจัย ๔ คือ จีวรผ้านุ่งห่ม อาหารการฉันนานาชนิด สร้างเสนาสนะ มีอุโบสถศาลา กุฏิ วิหาร เป็นต้น หรือยารักษาโรคต่าง ๆ ตามที่เราทำกันอยู่ในขณะนี้ อีกอย่างหนึ่ง คือ หนักไปทางทำบาปอกุศล ก็จะเข้าใจว่าผู้นั้นต้องฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ทำผิดประเวณี พูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล กินเหล้ายาที่เป็นของมึนเมาต่าง ๆ คำนี้จะอธิบายให้ฟังในที่นี้เลยว่า คำว่าทำบุญมาก หรือทำบาปมากนั้น มิใช่ว่าจะเอาเรื่องของการกระทำนั้นมาเป็นเครื่องตัดสินแต่อย่างเดียวเท่านั้น คำว่า มาก ในที่นี้ หมายเอาในชั่วขณะที่จิตจะออกจากร่างกายไปเท่านั้น ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ คือ ในขณะลมหายใจจะหมดไปนี่เองที่เป็นจุดสำคัญ ในช่วงนาทีสุดท้ายนี้ เมื่อใจเกิดความวิตกขึ้นมา หรือเรียกว่า นิมิตหมายที่จะทำให้ใจมากไปในทางใด ก็จุดนี้แหละจะเป็นเครื่องตัดสิน ถ้าใจมีนิมิตหมายไปในทางบาปมาก เมื่อตายไปก็จะไปสู่อบายภูมิ ถ้าใจมีนิมิตหมายไปในทางบุญกุศลมาก เมื่อตายไปก็จะได้ไปสู่สุคติสวรรค์ ฉะนั้น ขอให้ท่านได้พิจารณาในเรื่องคำว่า มาก นี้ให้ชัดเจนด้วยเหตุด้วยผลที่ถูกต้องตามหลักความเป็นจริงด้วยเทอญ

การออกบวช
การออกบวชในครั้งนี้ ตั้งใจเอาไว้อย่างสูงมาก เพราะได้มาพิจารณาความเป็นอยู่ของฆราวาสว่า เป็นอุปสรรคมากในการที่จะรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมระดับสูง เพราะภาระของฆราวาสมีปัญหาในการรับผิดชอบมากมาย ไม่มีอิสระที่จะภาวนาปฏิบัติให้ต่อเนื่องกันได้ ฉะนั้น จึงได้ออกบวชตามความตั้งใจ ถึงจะมีอุปสรรคขัดขวางอยู่บ้างก็แก้ปัญหานั้นไปได้ จากนั้น ก็เข้ามามอบกายถวายตัวกับครูอาจารย์ เมื่อรู้ตัวเองว่าบวชได้แล้ว ความหนักหน่วงในหัวใจในครั้งที่แบกหามโลกอยู่ ก็ได้หลุดออกไปจากจิตใจ มีความร่าเริงเบิกบานอยู่ตลอดเวลา เป็นใจที่มีอิสระ ไม่มีภาระภายนอกมาผูกพัน และความมั่นใจในตัวเองนั้นสูงมาก คือชีวิตเราทั้งชาติจะมอบไว้กับเพศนักบวชนี้ไปจนตลอดวันตาย เมื่อถึงกำหนดวันบวชก็ยิ่งมีความอิ่มเอิบภายในใจมาก
ทีเดียว และมีอุบายสอนใจตัวเองอยู่เสมอว่า วันนี้เราจะได้บวชเป็นพระอยู่แล้ว การบวชเป็นพระของเราในครั้งนี้ เราบวชทั้งกาย และบวชทั้งใจ ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เพื่อทำประโยชน์ตนให้ถึงพร้อมตามที่เราได้กำหนดเป้าหมายเอาไว้ให้สมบูรณ์ แล้วจะได้ทำประโยชน์ท่านที่เป็นส่วนรวมต่อไป
ได้เวลาแล้วก็เข้าสู่พระอุโบสถ ที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี มี พระธรรมเจดีย์ (จูม) พนฺธุโล เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านได้ตั้งฉายาให้ว่า ขิปฺปปญฺโญ มี พระธรรมบัณฑิต (องค์ปัจจุบัน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านเจ้าคุณจันโทปมาจารย์เป็นพระอนุศาสนาจารย์ อุปสมบทวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ เมื่ออายุย่างเข้า ๒๗ ปี เมื่ออุปสมบทแล้ว ก็มาจำพรรษาอยู่ที่วัดเขมวนาราม บ้านโนนสมบูรณ์ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

พรรษาที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๐๔
เมื่อเข้าพรรษาในปีนี้ นึกหาข้อวัตรปฏิบัติว่ามีอะไรบ้างที่จะเป็นอุบายในการทำความเพียรให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงนึกขึ้นได้ในอุบายหนึ่งว่า สัจจะ ถ้าเรามีสัจจะประจำใจตัวเองแล้ว และยืนหยัดอยู่ในความจริงใจที่ตั้งไว้แล้ว ไม่เป็นผู้โกหกพกลมแก่ตนเอง เราจะต้องเป็นนักปฏิบัติที่
จริงจัง เราจะมีสัจจะเป็นหลักยืนตัวที่มั่นคง เพื่อไม่ให้การปฏิบัติมีความย่อหย่อนหละหลวม ไม่ให้เกิดความล่าช้าที่จะให้ถึงจุดหมายปลายทางในชาตินี้ ฉะนั้น เราจะมีสัจจะบังคับใจตัวเอง รีบเร่งในการปฏิบัติให้เต็มที่ ถ้าเรามีสัจจะที่เข้มแข็งก็สามารถบังคับความเกียจคร้าน คือ เห็นแก่หลับนอน เห็นแก่การเล่นมั่วสุมอยู่กับหมู่คณะ อันจะทำให้เสียเวลาไป
เปล่า ๆ เพราะวันหนึ่ง คืนหนึ่ง หรือชั่วโมงหนึ่ง ก็มีคุณค่าในการปฏิบัติธรรม ฉะนั้น ในพรรษานี้ เราจะภาวนาปฏิบัติให้เต็มที่ สติปัญญา ศรัทธา ความเพียร มีเท่าไรก็จะทุ่มเทให้เต็มตัว

มีสัจจะบังคับใจตนเอง
ในวันเข้าพรรษาก็ได้พิจารณาข้อวัตรปฏิบัติที่ตัวเองได้วางเอาไว้ และใช้สัจจะเป็นที่ตั้ง เพื่อให้ข้อวัตรปฏิบัติเกิดความมั่นคง สามารถปฏิบัติให้ได้ครบถ้วนทุกประการ จึงได้เกิดความ
มั่นใจในตนเองว่า จะปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ในพรรษานี้ให้ได้ และมองเห็นความสิ้นสุดแห่งทุกข์ ความหลุดพ้นไปจากวัฏสงสาร เหมือนในชั่วเอื้อมมือเดียวเท่านั้น ทั้งยังมีความมั่นใจในตัวเองว่า นับแต่วันเริ่มเข้าพรรษานี้ไป จะให้รู้กันภายใน ๗ วันเท่านั้น นี่ไม่ใช่พูดโอ้อวด แต่พูดจากความ
รู้สึกที่เกิดขึ้นภายในใจเท่านั้น ความรู้สึกภายในใจอย่างนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น ก็ให้อ่านติดตามกันไป
พอเข้าพรรษาในวันแรก ก็เริ่มทำความเพียรอย่างหนัก อาศัยสัจจะบังคับตัวเองเต็มที่ และมีความกล้าหาญกล้าเสียสละ ไม่คิดเสียดายแม้กระทั่งชีวิต ถึงจะตายไปเพราะการทำความเพียรในขณะนี้ก็ยอม จะได้บูชาคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรม และคุณของพระอริยสงฆ์ไปเลย และรู้ตัวเองอยู่เสมอว่าเราได้ตั้งใจไว้เพียง ๗ วันเท่านั้น จากนั้น เร่งความเพียรให้เต็มที่ สติปัญญามีเท่าไรก็ทุ่มเทให้เต็มกำลัง และอยู่ในอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน นั่ง เท่านั้น อิริยาบถทั้ง ๓ นี้ จะมีความเพียรอยู่ตลอดเวลา เดินบิณฑบาตก็มีความเพียร นั่งฉันอาหารก็มีความเพียร ตลอดทำกิจวัตรต่าง ๆ ก็มีความเพียร ความเพียรในที่นี้ คือ มีสติปัญญาอยู่ภายในใจนั่นเอง ในช่วงทำความเพียรอยู่ในอิริยาบถ ๓ นี้ จะเป็นตายอย่างไรไม่สำคัญ ถึงธาตุขันธ์จะมีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอย่างไรก็ต้องอดทน ตัดสินใจฝืนไปว่าถึงธาตุขันธ์จะแตกหักต้านทานความความเพียรไม่ไหว จะตายไปในขณะนี้ก็ยอม ไม่หวั่นไหวในความตายแม้แต่น้อยเลย เพราะความเกิดความตายเราได้ผ่านมาแล้วทุกภพทุกชาติ แต่บัดนี้ เราจะทำความเพียรให้เต็มที่ ธาตุขันธ์มันจะตายก็ให้มันตายไป ถ้าใจยังมีเชื้อของกิเลสอยู่ก็มาเกิดอีกใหม่ได้ ในช่วง ๗ วันนี้ ชีวิตเราจะหมดไปวินาทีใด เราก็พร้อมแล้วทุกลมหายใจ

เกิดนิมิตเตือนใจ
ในคืนที่ ๗ นับแต่ได้เข้าพรรษามา ถือว่าเป็นวันสำคัญ เป็นวันสุดท้ายแห่งชีวิต ในช่วงนั้น ได้เกิดทุกขเวทนาทางกายขึ้นอย่างหนัก ความเจ็บปวดในร่างกายมีความเจ็บปวดรุนแรงมากขึ้น แทบจะเดินจงกรมนั่งสมาธิไม่ได้เลย เพราะธาตุขันธ์ต้านทานความเพียรไม่ไหว จำเป็นต้องอาศัยสัจจะเป็นกำลังบังคับตัวเองเต็มที่ ทั้งใช้ปัญญาพิจารณาเตือนตัวเองว่า นี่ทูล ตัวเองเป็นพระกรรมฐาน เป็นนักปฏิบัติที่เด็ดเดี่ยว กล้าหาญและกล้าตาย ยอมเสียสละได้แม้กระทั่งชีวิต เพียงมีความทุกข์เจ็บปวดเท่านี้ ยังไม่ได้เสี้ยวหนึ่งส่วนร้อยของพระพุทธเจ้าเลย พระพุทธเจ้าทำความเพียรจนถึงขึ้นสลบไสลแล้วฟื้นขึ้นมาหลายครั้ง พระองค์ก็ยังไม่ท้อถอยในความเพียรนี้เลย นี่เราผู้หวังติดตามพระพุทธเจ้า เราก็อย่ายอมแพ้ในความเกียจคร้านในการปฏิบัติธรรม จึงขอมอบกายถวายชีวิตนี้เพื่อเป็นดอกไม้ธูปเทียนบูชาคุณพระพุทธเจ้า บูชาคุณพระธรรม และบูชาคุณพระ
อริยสงฆ์ ด้วยสัจจะที่ได้ตั้งไว้นี้เถิด เมื่อได้ทอดอาลัยในชีวิตสังขารอย่างนี้แล้ว จากนั้น ก็รีบเร่งภาวนาปฏิบัติให้สุดกำลัง ทั้งเดินจงกรม นั่งสมาธิ ทั้งใช้ปัญญาพิจารณาในสรรพสังขารทั้งหลายให้เป็นไปในสัจธรรม คือไตรลักษณ์ อยู่เสมอ เมื่อเหนื่อยจากการใช้ปัญญาก็กำหนดจิตในการทำสมาธิต่อไป
ในขณะนั่งสมาธิ จิตได้สงบลงเต็มที่ไม่รู้ว่านานเท่าไร จากนั้น จิตก็เริ่มจะถอนตัว ในขณะที่จิตเริ่มจะถอนนี้เอง จึงได้เกิดความรู้ขึ้นที่ใจว่า ผลไม้ยังไม่แก่จะบังคับให้สุกนั้นไม่ได้ จากนั้น จิตก็ถอนออกมา จึงได้พิจารณาดูตามความรู้ที่ได้เกิดขึ้น ดูก็มีเหตุผลที่พอจะเชื่อถือได้ เพราะเราก็เพิ่งบวชเข้ามาได้เพียง ๗ วันเท่านั้น จะมาบังคับให้กิเลสตัณหาหลุดออกไปจากใจในขณะนี้ยังไม่ได้ จำเป็นจะต้องคอยอีกระยะหนึ่ง จากนั้น ก็ตั้งใจให้มีความหวังไว้ว่า เมื่อถึงวันปวารณาออกพรรษาก็จะแก่เต็มที่ ในวันนั้น ก็จะเป็นวันตัดสินกันว่าจะหลุดพ้นไปได้หรือไม่ ถึงจะคาดหมายเอาไว้ในวันออกพรรษาก็ตาม แต่ความเพียรก็ปฏิบัติต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา เป็นอันว่าจะภาวนาให้หลุดพ้นภายใน ๗ วัน ก็เป็นโมฆะไป จึงได้ตั้งใจไว้ในวันปวารณาเป็นวันตัดสินอีกครั้งหนึ่ง การปฏิบัติภาวนาก็ไม่ขาดวรรคตอน ความตั้งใจก็ยังคงเส้นคงวา สติปัญญาก็มีความมั่นคง การปฏิบัติภาวนาก็ต่อเนื่องกันมาตลอด การปฏิบัติผ่านมาได้ ๑ เดือน ก็เกิดนิมิตขึ้นอีก

นิมิตเห็นตาปะขาวมาเตือน
ในช่วงนั้น การปฏิบัติภาวนาก็อยู่ในขั้นอุกฤษฏ์ ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นความตาย สังขารร่างกายจะทรุดโทรมเพราะการอดนอนผ่อนอาหาร ก็ให้เป็นเรื่องร่างกายไป ไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ มีแต่จะกัดฟันต่อสู้ในสัจจะที่ได้ตั้งเอาไว้อย่างจริงจัง ในคืนหนึ่ง ขณะนั่งสมาธิ จิตมีความสงบอยู่ ปรากฏเห็นตาปะขาวคนหนึ่งขึ้นมาหาบนกุฏิ นั่งพับเพียบเรียบร้อยแล้วยกมือไหว้ข้าพเจ้าอย่างสวยงาม แล้วพูดขึ้นว่า นี่ท่าน การปฏิบัติภาวนาของท่านขณะนี้มันตึงเกินไป ถ้าทำความเพียรไม่มีการพักผ่อนหลับนอนอยู่อย่างนี้ ต่อไป ธาตุขันธ์ของท่านอาจเกิดความวิบัติถึงตายได้ ความตั้งใจของท่านก็จะไม่สำเร็จในชาตินี้ได้เลย ฉะนั้น ขอให้ท่านมีการพักผ่อนหลับนอนให้แก่ธาตุขันธ์บ้าง เมื่อสังขารร่างกายมีความสมบูรณ์ทรงตัวอยู่ได้ไม่มีการอ่อนเพลีย การปฏิบัติภาวนาก็ให้ตั้งอยู่ในทางสายกลาง เมื่อปฏิบัติอยู่ในทางสายกลางอย่างต่อเนื่อง การปฏิบัติของท่านและความตั้งใจของท่านก็จะสิ้นสุดได้ในชาตินี้แน่นอน พอพูดจบ ตาปะขาวก็ยกมือไหว้แล้วลงจากกุฏิไปทันที จากนั้น จิตก็ถอนออกจากสมาธิ ขณะนั้น คิดว่าเป็นตาปะขาวจริง ๆ แต่ก็พิจารณาว่าตาปะขาวผู้ชายในถิ่นนี้ไม่มี และไม่เคยพบเห็นตาปะขาวคนนี้มาก่อนเลย จึงเข้าใจว่าเป็นนิมิตเกิดขึ้นจากจิตสงบ
จากนั้น ก็ได้พิจารณาเรื่องของตาปะขาวมาเตือนว่า ให้เราลดหย่อนผ่อนความเพียรลง ใช้ไม่ได้เลย ตาปะขาวคนนั้นเป็นใครมาจากไหน นี่คงเป็นมารมาหลอกลวงเราให้เสียความตั้งใจก็เป็นได้ หรือมารมีวิธีที่จะให้เราหลงกล เพื่อจะให้เราห่างไกลจากมรรคผลนิพพานอย่างนั้นหรือ ความเพียรที่เราปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่มีวี่แววที่จะให้เราหลุดพ้นไปได้ ถ้าหากเราลดหย่อนผ่อนความเพียรลงไปเมื่อไร ก็จะเข้าข่ายในกลหลอกของมารทันที นี่ต้องเป็นมารปลอมแปลงเป็น
ตาปะขาวมาหลอกลวงให้เราเผลอตัวแน่นอน อย่ากระนั้นเลย จากนี้ไปเราจะทำความเพียรให้
เข้มแข็งมากขึ้นเพื่อเอาชนะมารตัวนี้ให้ได้ ไม่ทำตามคำมารที่มาขอร้องบอกกล่าวนี้เป็นเด็ดขาด จากนั้น ก็รีบเร่งภาวนาอย่างเต็มที่ สติปัญญาก็พิจารณาในสัจธรรมแทบไม่มีการพักผ่อนเลย ใช้สติปัญญาสั่งสอนอบรมใจตัวเองอยู่เสมอ ๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนแห่งใด ความเพียรก็มีต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา

สลบแล้วฟื้น
จากนั้น การทำความเพียรก็หนักขึ้น การเดินจงกรม นั่งสมาธิ ก็ทำกันเต็มที่ การอดนอนผ่อนอาหาร การสำรวมกายวาจาใจ ก็ต้องสังวรระวัง ทั้งสติปัญญาก็แนบสนิทคิดพิจารณากายและใจไม่ลดละ ในช่วงที่เร่งความเพียรอยู่นั่นเอง ธาตุขันธ์ก็เริ่มแสดงตัวทำท่าจะไปไม่รอด เกิดมีอาการอ่อนเพลียลงอย่างกะทันหัน การทรุดตัวลงในครั้งนี้ มีอาการไข้ป่ามาลาเรียอย่างหนัก และถูกจังหวะกับอดอาหารพอดี จากนั้น ก็เกิดทุกขเวทนาขึ้นอย่างรุนแรง เมื่อธาตุขันธ์เกิดความแปรปรวนหนักขึ้น ๆ ความอ่อนเพลียอิดโรยเกิดขึ้นจนแทบจะหายใจไม่ได้เลย คิดว่าตัวเองจะอยู่ได้ไม่กี่ชั่วโมงก็จะตายไป ชีวิตเราคงจะได้อยู่เป็นวันสุดท้าย นี้เราบวชมาเพิ่งได้ ๒ เดือน ก็จะมาถึงจุดจบกันในวันนี้หนอ ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว มีแต่สังเกตว่าลมหายใจจะหมดไปเมื่อไรเท่านั้น เมื่อปลงต่อความตายได้แล้ว ก็ไม่กลัวต่อความตายแม้แต่นิดเดียว จึงคิดได้ว่า เราจะมานอนตายอยู่ที่กุฏินี้ไม่สมควรอย่างยิ่ง ไหน ๆ เราก็จะตายอยู่แล้ว เราจะไปตายอยู่ที่ทางเดินจงกรมนั้นดีกว่า เมื่อคิดได้อย่างนั้นแล้ว ก็พยุงตัวเองเกาะฝากุฏิเพื่อจะยืน ในขณะที่ลุกขึ้นยืน ยังไม่ทันได้ทรงตัวดี ก็หมดความรู้สึกล้มสลบอยู่ในกุฏินั้นเอง

เขียนตามคำบอกเล่าของหมู่คณะ
ในช่วงนี้ จะเขียนตามคำบอกเล่าของหมู่คณะหลังจากการฟื้นขึ้นมาแล้ว ในขณะที่ล้มลงไปนั้น มีเพื่อนอีกองค์หนึ่งอยู่กุฏิใกล้กัน ได้ยินเสียงดังขึ้นที่กุฏิอย่างแรงผิดปกติ ต้องมีอะไรเกิดขึ้นที่กุฏิของท่านทูลแน่นอน จึงได้เดินมาดู ท่านองค์นี้ได้ถือสัจจะส่วนตัวคือไม่พูดกับใคร ๆ เรียกว่า มุขวัตร และถือธุดงค์ข้อ เนสัชชิก ไม่มีการหลับนอนอีกด้วย เมื่อท่านเดินมาถึงกุฏิ มองเห็นท่านทูลนอนผิดปกติ จึงได้ขึ้นไปกุฏิแล้วกระดุกขาก็ไม่รู้ตัว มองดูหน้าตาจึงคิดว่าท่านทูลได้ตายไปแล้ว จากนั้น ก็ได้รีบลงจากกุฏิไปหาหมู่คณะ ไปหาองค์ไหนก็พูดไม่ได้ กลัวเสียสัจจะ ได้แต่แสดงความตกใจ และชี้ไม้ชี้มือแสดงท่าทางให้หมู่คณะดู หมู่คณะก็ยังไม่รู้เรื่อง จึงต้องเขียนหนังสือบอกว่าท่านทูลตายแล้ว หมู่คณะรู้เข้าก็รีบมาดู แล้วก็พากันบีบนวดอย่างชุลมุนวุ่นวาย ทุกองค์ที่มาเห็นก็เกิดความสลดใจไปตาม ๆ กัน ทุกองค์ได้พูดว่า น่าเสียดาย มีความอาลัยเป็นอย่างมาก บางท่านได้พูดว่า เมื่ออาการถึงขนาดนี้แล้วคงไม่ฟื้นขึ้นมาอีก เพราะตายมาแล้วหลายชั่วโมง มีทางเดียวคือพากันไปหาฟืน ไปหาสถานที่เผาเท่านั้นเอง อีกองค์หนึ่งพูดว่า อย่าพากันพูดเช่นนั้น ให้พากันบีบนวดช่วยกันไปจนกว่าร่างกายจะเย็นและแข็งกระด้างทั้งหมดจึงหยุดกัน เรื่องหาฟืนหาที่เผาเอาไว้ทีหลัง ขอให้มาช่วยกันจนสุดความสามารถก่อนเถอะ

ฟื้นตัวขึ้นมาเพราะหมู่คณะช่วยเหลือ
หมู่คณะเล่าให้ฟังว่า ตายไปตั้งแต่เที่ยงวันจนถึง ๔ โมงเย็น จึงฟื้นขึ้นมา ถ้าหมู่คณะไม่ช่วยเหลือในช่วงนั้น ข้าพเจ้าคงไม่ได้มานั่งเขียนธรรมะอื่น ๆ หรือเขียนประวัติส่วนตัวให้ท่านได้อ่านอยู่อย่างนี้ ในช่วงนั้น อายุได้ ๒๗ ปี นี่ก็เป็นเดชะบุญที่มีผู้มาช่วยเหลือเอาชีวิตไว้ได้ ในขณะที่รู้สึกตัวขึ้นมาครั้งแรก เพื่อนสังเกตดูสำลีที่ปลายจมูกว่ามีลมหายใจนิด ๆ ขึ้นมาแล้ว จึงพากันตะโกนเรียนชื่อว่า ท่านทูล ๆ ในขณะนั้น ข้าพเจ้าได้ยินเสียงแว่ว ๆ แล้วลืมตาขึ้นมาเล็กน้อย แต่ก็ยังพูดไม่ได้ เพื่อนเอาน้ำหยดเข้าปากไป จึงมีเสียงพูดได้เบา ๆ แล้วรู้ตัวเองเป็นปกติคืนมา แต่ก็นั่งโดยลำพังตัวเองไม่ได้ เพราะอ่อนเพลียมาก การหายใจก็ไม่สะดวก เพื่อน ๆ ก็ได้ประคองตัวให้ลุกขึ้นนั่ง หายาหอมมากระตุ้นหัวใจกันพักใหญ่ พอพูดได้เพื่อนก็ถามสาเหตุที่เกิดขึ้นว่าเป็น
อย่างไร จึงได้เล่าเรื่องความเป็นมาให้หมู่คณะฟังทั้งหมด เมื่อหมู่คณะได้ฟังเรื่องการปรารภความเพียร และเรื่องว่าจะเดินลงไปตายในทางเดินจงกรม ทุกองค์ก็ส่ายหน้าแล้วพูดว่า แหม ความเพียรของท่านทูลนี้เกินไป ทั้งอดนอน ทั้งอดอาหาร ทั้งอาการไข้มาลาเรียก็กำเริบรุนแรง และอยู่ในอิริยาบถ ๓ ท่านจะเอาธาตุขันธ์อะไรไปต่อต้านได้ นี่ยังดีที่มีเพื่อนอยู่ใกล้ ไม่เช่นนั้น ก็จะได้เผากันทิ้งอย่างแน่นอน
หมู่คณะก็เทศน์ให้ฟังว่า การทำความเพียรของท่านทูลในลักษณะนี้ ถึงว่าเราจะทำถูกแต่ก็เกินความพอดี คือตึงเกินไป ถ้าเป็นสายพิณก็จะขาดทิ้งไป ไม่มีใครเลยในหมู่คณะจะทำความเพียรอย่างนี้ ผมเคยมาสังเกตดูท่านทำความเพียรหลายครั้งหลายหน ทั้งกลางวันและกลางคืน ตัวผมเองยอมรับว่าทำความเพียรอย่างท่านไม่ได้ ผมคิดว่าจะเตือนท่านหลายครั้งแล้ว แต่ก็กลัวว่าจะเป็นมารขัดจังหวะในความตั้งใจ เพราะทุกองค์ก็ตั้งใจหวังความหลุดพ้นด้วยกัน นี้ยังดีที่มีหมู่คณะได้เห็น ไม่เช่นนั้น ก็จะตายเน่าอยู่กุฏิองค์เดียว นี่ท่านเพิ่งบวชได้เพียง ๒ เดือน อายุก็ยังหนุ่ม อนาคตในการบวชก็จะยังอยู่ในหมู่คณะไปอีกนาน การภาวนาปฏิบัติก็มีทางจะทำให้ถึงมรรคผลนิพพานได้ แต่ต้องปฏิบัติอยู่ในทางสายกลาง อันเป็นเส้นทางที่จะทำให้ถึงมรรคผล แต่ถ้าหากท่านตายไปในช่วงนี้แล้ว มรรคผลนิพพานที่เราจะพึงได้พึงถึงในชาตินี้ ก็จะหมดสิทธิ์ทันที ต่อไปนี้ ให้ท่านได้ผ่อนความเพียรลงบ้าง อย่าบีบบังคับธาตุขันธ์เกินไป ให้รู้จักความพอดีของธาตุขันธ์ของตัวเอง การพักผ่อนหลับนอนก็เป็นสิ่งสำคัญ อาหารก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะธาตุขันธ์ยังต้องการอาหารประเภทนี้อยู่ ต้องให้อาหารทางกายบ้าง ถ้าเรารู้จักประมาณตนเอง การปฏิบัติก็จะก้าวไปด้วยดี นี้คือทางสายกลาง อันจะทำให้เราถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

หวนระลึกในคำเตือนของตาปะขาว
เมื่อหมู่คณะอบรมสั่งสอนเรื่องปรารภความเพียรว่าให้เป็นมัชฌิมา ทางสายกลาง จึงได้ระลึกได้ในคำของตาปะขาว แต่ก่อนคิดว่าเป็นมารจะมาตัดรอนในความเพียร มีความกล้าหาญมาก มีความเด็ดเดี่ยวจริงจัง มีแต่ความมุ่งหวังความหลุดพ้นอย่างเดียว เมื่อมาพิจารณาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็เป็นไปตามคำของตาปะขาวทุกประการ จึงขอขอบคุณอาจารย์ทุก ๆ องค์ที่ให้ความช่วยเหลือเอาชีวิตของกระผมกลับคืนมาได้ บุญกุศลใดที่กระผมได้บำเพ็ญมาแล้วในอดีตและชาติปัจจุบันนี้ก็ดี ขอบุญกุศลนั้นจงเป็นพลวปัจจัยให้ครูอาจารย์ทุก ๆ ท่านได้ประสบความสำเร็จในมรรคผลนิพพานทุกท่านเทอญ จากนั้น ก็มารักษาอาการไข้ป่า ก็อาศัยหมู่คณะดูแลรักษา อาหารการฉันก็เพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลีย เมื่อร่างกายอยู่ในความปกติแล้ว ก็เริ่มวางแผนในการปฏิบัติของตัวเองให้อยู่ในขั้นมัชฌิมาทางสายกลางต่อไป

ตั้งหลักปฏิบัติใหม่
จากนั้น ก็มาพิจารณาการปฏิบัติที่ผ่านมา มันเป็นเรื่องบังคับมะม่วงอ่อนให้สุก เป็นวิธีใช้ความอยากมากเกินไป จึงทำให้ธาตุขันธ์เกิดความวิบัติ เหมือนกับเครื่องยนต์ทุกชนิด ถ้าเร่งเครื่องแรงเกินกำลังมากไป ก็จะทำให้เครื่องนั้นพังไปได้ ฉะนั้น จึงให้ความเป็นธรรมแก่ธาตุขันธ์ให้มีการพักผ่อนหลับนอนบ้าง ให้อาหารแก่ธาตุขันธ์พอทรงตัวอยู่ได้ไม่
อ่อนเพลียเกินไป การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ก็ให้อยู่ในความพอดีของธาตุขันธ์ ไม่บังคับให้เดินให้นั่งจนธาตุขันธ์เกิดความวิบัติดังที่ผ่านมา ให้รู้จักรักษาสุขภาพของตัวเอง แต่สติปัญญาก็จะตั้งอยู่ให้เป็นห
 

_________________
ท่านสามารถฟังวิทยุเสียงธรรมหลวงตามหาบัวได้ทั่วประเทศ
และโทรทัศน์ดาวเทียมเสียงธรรมทั้งภาพและเสียงได้แล้วที่
http://www.luangta.com
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
วีรยุทธ
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 24 มิ.ย. 2005
ตอบ: 1790
ที่อยู่ (จังหวัด): สกลนคร

ตอบตอบเมื่อ: 29 ส.ค. 2006, 8:48 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



LPTool.gif


( ต่อ )

แต่สติปัญญาก็จะตั้งอยู่ให้เป็นหลักยืนตัว และสำรวมใจในอุบายการทำสมาธิก็ไม่ลดละ การใช้ปัญญาพิจารณาก็ไม่มีการท้อถอย ทั้งสองวิธีนี้ให้เป็นสายโซ่เชื่อมโยงต่อเนื่องกันอยู่ตลอดเวลา เป็นอันว่าการเริ่มภาวนาปฏิบัติในช่วงนี้จะต้องใช้สติปัญญาเป็นหลักสำคัญ ส่วนการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ก็ให้เป็นเพียงอิริยาบถเพื่อประกอบความเพียรเท่านั้น
การใช้ปัญญาพิจารณาความไม่เที่ยง ต้องพิจารณาให้ต่อเนื่องกัน เพราะความไม่เที่ยงก็เป็นสัจธรรมที่เปิดเผยอยู่ตลอดเวลา เราต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นเป็นไปตามความเป็นจริง เพราะความจริงที่เปลี่ยนแปลงของธาตุขันธ์ ก็เป็นไปอยู่ในตัวของมันเอง ถ้าปัญญาไม่มีกำลัง ไม่ฉลาด ก็ไม่สามารถรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ ฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นแสงสว่างส่องทางให้ใจได้รู้เห็น เหมือนกับการเดินทางในที่มืด ถ้าไฟฉายไม่สว่างก็จะเกิดหลงทางได้ง่าย หรือไฟฉายมีความสว่างดี แต่คนที่ถือไฟฉายนั้นตาบอด การเดินทางก็ไปไม่ถึงไหนเช่นกัน นี้ฉันใด ถ้าใจเราขาดปัญญาเป็นตัวนำแล้ว ถึงของจริงจะมีอยู่ที่กายมีอยู่ที่ใจ ก็ไม่สามารถรู้เห็นของจริงได้ เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันไปสัมผัสรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และอารมณ์ที่มีอยู่ในใจ สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในตัวเรา
ทั้งหมด และแสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา แต่เราก็ไม่รู้ไม่เห็น นี่ก็เพราะเราขาดปัญญา พิจารณาให้แยบคายนั่นเอง อาการทั้งหมดนี้ต้องกำหนดพิจารณาแต่ละอย่างและให้ใจได้รู้เห็นตามปัญญาทุกครั้ง คำว่า อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยงนั้น ก็จะเปิดเผยรู้เห็นภายในใจและเป็นไปตามความเป็นจริงทุกประการ ทั้งหมดนี้มีอยู่ในตัวของเรา จะไปเอามาจากที่ไหน คำว่า สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญารู้เห็นอย่างชอบธรรม สัมมาสังกัปโป คือ ใช้ปัญญาดำริพิจารณาในสัจธรรมนั้นให้แยบคาย ดำริพิจารณาตามความเป็นจริง เพื่อให้ใจได้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น ๆ ให้ชัดเจน
การใช้ปัญญาพิจารณา ความทุกข์ ก็ให้พิจารณาอยู่ที่กายและพิจารณาอยู่ที่ใจของ
ตนเอง ความทุกข์เนื่องจากกายเป็นต้นเหตุ สิ่งใดก่อให้เกิดทุกข์ขึ้น หรือทุกข์มีอยู่ที่ใจ เนื่องด้วยเหตุปัจจัยอะไร ก็ต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องรอบรู้ในเหตุปัจจัยนั้น ๆ ความทุกข์ทั้งหลายมีเหตุมาจากตัณหา ตัวเราผู้สร้างเหตุขึ้นมาอย่างไร ผลก็ออกมาอย่างนั้น ดังคำว่า เหตุดีผลดี เหตุชั่วผลชั่ว ความทุกข์ที่ทุกคนเผชิญกันอยู่ในขณะนี้ ก็เนื่องจากตัวเองไม่ยอมรับความจริงของตัวเอง เช่น ทำเหตุชั่วแต่ต้องการรับผลดี เมื่อไม่ได้มาตามความต้องการก็เกิดทุกข์ขึ้นที่ใจ ความทุกข์เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ปรารถนา แต่ก็เป็นผลพลอยได้จากการกระทำของตัวเรา ความทุกข์ที่มนุษย์และสัตว์ทุกประเภทได้รับอยู่ในขณะนี้ก็เนื่องมาจากความอยาก ฉะนั้น ความอยากจึงเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์นานาประการ ดังเห็นกันอยู่ในที่ทั่วไป ใครเกิดที่ไหนไม่สำคัญ เพราะธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นสถานที่รวมทุกข์ทั้งปวง ความทุกข์นี้จะมีอยู่เป็นคู่กับธาตุขันธ์ไปจนตลอดวันตาย เมื่อมาเกิดใหม่ในชาติหน้า ก็จะมารับทุกข์เหมือนเราได้รับทุกข์กันในชาติปัจจุบันนี้เอง ฉะนั้น ความทุกข์จึงมาจากความอยากเป็นต้นเหตุ และมีตัณหาเป็นกำลังที่พาให้ไปก่อเหตุแห่งทุกข์นานาประการ เมื่อดับตัณหา คือความอยาก ได้แล้ว ความทุกข์จะมีมาจากที่ไหน ในคำสอนของพระพุทธเจ้าตรัสว่า ตัณหาเหมือนกับกงจักรหมุนไปสู่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา
คำว่า อนัตตา เป็นสิ่งที่ทำให้เราผิดหวังมาตลอด แต่เรายังไม่รู้ไม่เข้าใจ จึงได้หมายมั่นปั้นมือว่าสิ่งนี้เป็นเราและเป็นของของเรา ไม่อยากให้พลัดพรากจากเราไป มีอยู่อย่างไรก็อยากให้มีอยู่อย่างนั้น คำว่าตายก็ไม่อยากมีแก่เรา ตลอดลูกหลานเหลนก็ไม่อยากให้สูญหายตายจากกัน อยากให้อยู่ในอ้อมอกของเราตลอดไป แต่ความจริงก็หนีความจริงไปไม่ได้ ถึงมีความรักความหวงแหนสักปานใด จำเป็นก็ต้องตายจากกันแน่นอน เหมือนกับเราได้สร้างบ้านพักชั่วคราวในที่แห่งนั้น เมื่อบ้านนั้นพังไป เราก็สร้างบ้านพักหลังใหม่ อยู่ไปชั่วคราวแล้วก็พังไปอีก นี้ฉันใด ใจที่สร้างภพชาติขึ้นมาแล้ว ก็มีชีวิตอาศัยอยู่ในธาตุขันธ์นี้ไป อีกไม่นานธาตุขันธ์ก็พังทลายไปตามหลักอนัตตา คือความสูญหายไปจากตัวตน จะไม่มีคน ไม่มีสัตว์ อีกต่อไป
ร่างกายทุกส่วนก็จะแปรสภาพไปเป็นดิน น้ำ ลม ไฟ ตามธาตุเดิมของมัน ส่วนจิตใจก็ไปตามเหตุปัจจัยในตัวมันเอง ส่วนการทำการพูด ผิดถูกชั่วดีที่กาย วาจา ใจ ได้กระทำมาแล้ว ใจต้องรับผิดชอบทั้งหมด กาย วาจา ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด เพราะเป็นอนัตตา หายสาบสูญไปแล้ว ไม่มีการรับผิดชอบแต่อย่างใด ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นบุญหรือบาป ใจจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ฉะนั้น การอบรมใจและการสอนใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ อุบายที่จะมาอบรมใจได้ ก็เนื่องด้วยปัญญาที่มีความฉลาดรอบรู้เท่านั้น ดังบาลีกล่าวไว้ว่า จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ จิตนี้เมื่อใช้ปัญญาอบรมบ่อย ๆ สอนจิตบ่อย ๆ จิตก็จะเริ่มเกิดความฉลาดและความสุขเป็นผลตอบแทน หรือ จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี ผู้มีปัญญาดีเท่านั้น จึงจะรักษาจิตได้ ฉะนั้น การอบรมจิต การสอนจิต การฝึกจิต การรักษาจิต จึงมีอุบายปัญญาเป็นหลักที่สำคัญ

นิมิตเห็นทางเดินจงกรมขวางหน้าอยู่ ๓ เส้น
ในคืนหนึ่ง ขณะกำหนดจิตให้ลงสู่ความสงบในสมาธิ เกิดนิมิตเห็นทางเดินจงกรมขวางหน้าอยู่ ๓ เส้น ทางเดินจงกรมเส้นที่ ๓ สุดท้ายมีความเตียนสะอาดราบรื่นดี เหมือนกับได้เดินจงกรมทุกวัน แล้วมีเสียงบอกมาว่า ให้กลับออกมาสู่ทางเดินจงกรมสายกลางเสีย ข้าพเจ้าก็กลับเข้ามาเดินจงกรมอยู่ในทางสายกลางทันที ในขณะนั้น ปรากฏว่าทางเดินจงกรมนั้น ได้ขยายออกอย่างกว้างขวาง เท่ากันกับทางรถยนต์ยาวตรงมองดูสุดสายตา ขณะนั้น มีม้าขาวใหญ่ตัวหนึ่งสวยงามมาก ใส่บังเหียนใส่อานพร้อมเสร็จ ได้มายืนอยู่เทียมข้างของข้าพเจ้า แล้วมีเสียงบอกว่า จงขึ้นขี่ม้าตัวนี้เสีย ข้าพเจ้าก็ขึ้นขี่ม้าทันที มีเสียงบอกว่า ให้ขี่ม้าไปตามเส้นทางสายนี้ นี้คือเส้นทางที่จะให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ จากนั้น ม้าก็พาข้าพเจ้าวิ่งไปตามทางนั้นอย่างรวดเร็ว เมื่อม้าพาข้าพเจ้าวิ่งไปใกล้จะถึงจุดหมายปลายทาง ก็มองเห็นที่สุดของเส้นทางนั้นอย่างชัดเจน จากนั้น ม้าก็พาข้าพเจ้าเหาะลอยขึ้นบนอากาศเหมือนกับจรวดที่ทะยานขึ้นสู่อากาศนั่นเอง ม้าก็พาข้าพเจ้าเหาะลอยขึ้นสูงเหนือก้อนเมฆ จนมองลงมาดูโลกมนุษย์ไม่เห็นอะไรเลย
เมื่อม้าพาข้าพเจ้าลอยอยู่บนอากาศได้ที่แล้ว ก็มีเสียงบอกมาว่า ให้ขี่ม้ารอบจักรวาลเสีย ม้าก็พาข้าพเจ้าลอยรอบจักรวาลอย่างรวดเร็ว เมื่อรอบจักรวาลแล้ว ก็มีเสียงบอกว่า ให้พาม้าลงไปสู่โลกมนุษย์เสีย ม้าก็พาข้าพเจ้าลอยลงมาสู่โลกมนุษย์อีก พอใกล้จะถึงพื้นดิน ก็มีเสียงบอกว่า ให้ขี่ม้าสำรวจดูโลกมนุษย์นี้ให้ทั่วถึง จากนั้น ม้าก็พาข้าพเจ้าเหาะลอยไป สูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เส้น มีต้นไม้ใหญ่นานาชนิดอย่างหนาแน่น ในขณะที่ม้าพาข้าพเจ้าเหาะลอยไปในที่ไหน
ต้นไม้ใหญ่ทั้งหลายนั้น ก็แยกช่องทางให้ม้าได้เหาะลอยไปอย่างรวดเร็ว เหาะลอยไปมาในโลกมนุษย์นี้หลายรอบ ได้รู้เห็นความเป็นอยู่ของโลกมนุษย์นี้อย่างทั่วถึง แล้วมีเสียงบอกว่า เมื่อรู้เห็นโลกมนุษย์นี้ทั่วถึงแล้ว ให้พาม้าลงสู่พื้นดินเสีย จากนั้น ม้าก็พาข้าพเจ้าลอยลงสู่พื้นดิน พอเท้าม้าแตะกับพื้นดินเท่านั้น จิตก็ถอนออกมาจากสมาธิพอดี
จากนั้น ก็ใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องนิมิตที่เกิดขึ้น เริ่มต้นจากเห็นทางเดินจงกรม ๓ เส้น เส้นที่ ๑ มีหญ้าเกิดขึ้นในทางจงกรมหนามาก เส้นที่ ๒ มีหญ้าที่ทางเดินจงกรมน้อย เส้นที่ ๓ ไม่มีหญ้าแม้แต่เส้นเดียว ทางนั้นเตียนทั้งหมด และข้าพเจ้าได้เดินจงกรมอยู่ในทางเส้นที่ ๓ นี้ประจำ และพิจารณาได้ความว่า ขณะนี้เราภาวนาปฏิบัติอยู่ในขั้นอุกฤษฏ์เต็มที่ ถ้าเป็นสายพิณก็ตึงจวนจะขาดอยู่แล้ว การกลับเข้ามาทางเดินจงกรมสายกลางแล้วทางขยายออกไป นั้นคือ มัชฌิมาปฏิปทา ม้าขาวที่ได้ขี่วิ่งตามเส้นทางนั้น คือ ปัญญา สิ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่มีความหมายในอุบายการภาวนาปฏิบัติทั้งหมด เรื่องนิมิตนั้นจะเป็นนิมิตที่เกิดขึ้นจากการทำสมาธิ หรือ สุบินนิมิตที่เกิดขึ้นจากการนอนหลับไปก็ตาม ถ้าเราใช้ปัญญาพิจารณาตีความหมายในนิมิตนั้น ๆ ให้มีเหตุมีผล และทำใจให้เกิดความแยบคายในนิมิตนั้น ๆ ได้ตามเหตุการณ์ นิมิตนั้นก็จะเป็นอุบายปัญญาได้เป็นอย่างดี ก็จะทำให้มีกำลังใจใน
การปฏิบัติภาวนามากทีเดียว ถ้าปัญญาไม่ดีไม่ฉลาดและขาดเหตุผล ถึงจะมีนิมิตเกิดขึ้นเป็นลักษณะอย่างไร เช่น เห็นร่างกายตัวเองมีแต่ของเน่าเปื่อยสกปรกโสโครก หรือเห็นโครงกระดูกไปทั้งหมดของร่างกายก็ตาม เห็นแล้วก็เฉย ๆ ไม่มีปัญญาพิจารณาอะไรเลย นิมิตนั้นก็ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด
เมื่อเห็นนิมิตที่เป็นลางบอกเหตุดังนี้แล้ว ก็เริ่มปฏิบัติภาวนาปรับตัวเองให้อยู่ในมัชฌิมา คือทางสายกลาง ว่าจะปฏิบัติอย่างไร จึงจะมั่นใจว่า ตัวเองอยู่ในทางสายกลางที่ถูกต้อง ก็มาใช้ปัญญาพิจารณาเรื่องพิณ ๓ สาย ถ้าหย่อนยานไปก็ไม่มีเสียง หรือมีเสียงก็ไม่ไพเราะ ถ้าตึงเกินไปก็จะขาดเสียเปล่า ถ้าให้ตึงพอดีนั่นแหละ จะทำให้เสียงพิณไพเราะได้ดีมาก จากนั้น ก็มาพิจารณาในอุบายการปฏิบัติของตนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ก็เห็นว่าตึงเกินไป อาจทำให้ร่างกายวิบัติหรือเสียชีวิตไปได้ จากนั้น ก็ได้วางแผนในการปฏิบัติเสียใหม่ คือการพักผ่อนหลับนอนพอประมาณ อาหารก็ฉันให้พอดีกับธาตุขันธ์ต้องการ ทรงตัวอยู่ได้ไม่ให้เหนื่อยจนเกินไป การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ ก็ไม่บีบบังคับร่างกายให้มากนัก แต่สติปัญญาให้คงที่ ไม่ว่าเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิ หรือเวลาพักผ่อนในอิริยาบถต่าง ๆ สติปัญญาจะทำงานต่อเนื่องกัน และมีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่า การทำความเพียรด้วยอุบายใดก็ตาม จะต้องมีสติปัญญาเป็นหลักตัวยืน ส่วนอิริยาบถทางกาย คือ ยืน เดิน นั่ง นอน นั้น เป็นเพียงอุบายส่วนประกอบของสติปัญญาเท่านั้น หรือเป็นส่วนประกอบความเพียรทางกาย ส่วนความเพียรทางใจ คือใช้สติปัญญาพิจารณาให้รอบรู้อยู่ในสัจธรรม นั่นคือความเพียรที่แท้จริง เมื่อได้วางฐานของการปฏิบัติไว้ดีแล้ว แนวทางปฏิบัติก็ตรงต่อมัชฌิมา การภาวนาปฏิบัติก็ไม่ตึงเครียดดังที่เคยเป็นมา สติปัญญาพิจารณาในธรรมหมวดใดหรือสัจธรรมอะไร รู้สึกว่าเกิดความ
แยบคายภายในใจได้ง่าย จึงมีความมั่นใจในตัวเองขึ้นว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลางนั้นอยู่ตรงนี้
เมื่อเข้าพรรษาย่างเข้าเดือนที่ ๓ การปฏิบัติภาวนาก็ยังคงเส้นคงวาในอุบายเดิม ผลของการปฏิบัติก็เริ่มปรากฏขึ้น เกิดกำลังใจและเชื่อมั่นในตัวเองสูง มีความมั่นใจในตัวเองว่า ถ้าเราภาวนาปฏิบัติอยู่ในระดับนี้ เราก็จะได้รู้จริงเห็นจริงตามหลักความเป็นจริงแน่นอน จะเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับเราผู้เดินทาง ถ้าเราเดินช้าก็ต้องใช้เวลาหลายวันหลายเดือน ถ้าเราเดินเร็ว ไม่มีอุปสรรคที่จะทำให้เกิดความลืมตัว ก็จะทำให้ถึงจุดหมายปลายทางได้เร็วขึ้น ถึงอย่างไรก็ตาม ยังมีความมั่นใจในตัวเองและแนวทางการปฏิบัติของตัวเองว่า ชาตินี้จะเป็นชาติที่เกิดสุดท้ายของเราแน่นอน ถ้าผ่านได้ในวันปวารณาออกพรรษา ก็นับว่าบุญวาสนาบารมีของเราพร้อมแล้ว ถ้ายังผ่านไม่ได้ก็แสดงว่าบารมีอินทรีย์ของเรายังอ่อน จำเป็นก็ต้องตั้งใจในการสร้างอินทรีย์ให้แก่กล้ามากขึ้น การสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ต้องระมัดระวังฝึกทำใจให้เป็นกลางอยู่เสมอ ถึงจะได้รับสัมผัส รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มีสติปัญญารักษาใจไม่ให้เอนเอียง และใช้ปัญญาพิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ทุกครั้งไป เมื่อใกล้วันปวารณาออกพรรษา การภาวนาปฏิบัติก็ยังยืนหยัดอยู่ในความเข้มแข็ง ว่าจะไม่ยอมเป็นทาสแห่งความเกียจคร้านให้เข้ามาหลอกใจได้เลย เราจะอยู่ที่ไหน ๆ ก็จะใช้สติปัญญาพิจารณาในสัจธรรมให้ต่อเนื่องกัน เมื่อถึงวันปวารณาออกพรรษาจริง ๆ การภาวนาปฏิบัติก็ไม่เป็นดังที่เราได้ตั้งใจเอาไว้ เมื่อรับกฐินเสร็จแล้ว ก็ชวนเพื่อนอีกองค์หนึ่งออกธุดงค์ต่อไป
ในช่วงที่ออกไปภาวนาปฏิบัติในที่ต่าง ๆ นั้น ในคืนหนึ่ง นิมิตเห็นคนเป็นจำนวนมากมายหลายล้านคน มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เฒ่าแก่ ปานกลาง และหนุ่มสาว มีทั้งเด็กเกาะกันเป็นหมู่ ๆ เล่นกันอยู่อย่างสนุกสนาน ผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชายก็พากันเต้นรำขับร้องด้วยวิธีต่าง ๆ ลักษณะอาการของทุกคนอยู่ในความมึนเมาด้วยกันทั้งนั้น คนทั้งหมดนั้นจึงไม่มีความละอายต่อกันและกัน มีทั้งชายกอดจูบหญิงและมีทั้งหญิงกอดจูบชาย ฟ้อนรำเกาะเกี่ยวกันเป็นหมู่ ๆ หนุ่มสาวก็ฟ้อนรำขับร้องไปตามหนุ่มสาว มั่วสุมกันในทางโลกีย์ไปหมด ไม่รู้ว่าลูกใครหลานใคร ผัวใครเมียใคร ในกิริยาที่ทำต่อกันเหมือนกับสัตว์ดิรัจฉาน ชายแก่หัวขาวจวนจะเข้าโลงอยู่แล้ว ก็ยังมาเต้นรำเกาะเกี่ยวกันกับหญิงสาว ๆ หมู่ขี้เมาเหล้ายาต่าง ๆ ก็ฆ่ากันตีกันด้วยอาวุธนานาชนิด มีทั้งหัวแตกขาหักล้มตายกันไปเป็นจำนวนมาก ในขณะนั้น ก็มีเสียงประกาศบอกมาว่า ถ้าใครต้องการไปสู่บรมสุขสถานที่สิ้นทุกข์ในสังสารวัฏ จงพากันไปตามเส้นทางสายนี้เถิด เมื่อข้าพเจ้ามองไปก็เห็นเส้นทางสายใหญ่เท่ากันกับทางรถยนต์ ปากทางที่มีเสียงประกาศอยู่นั้น มีซุ้มประตูขนาดใหญ่ และมีป้ายติดอยู่ตรงกลางประตูอ่านได้ชัดเจน ในป้ายเขียนบอกว่าใครมีความต้องการพ้นจากทุกข์พบสุขนิรันดร์ จงพากันไปตามเส้นทางสายนี้เถิด และเสียงประกาศเป็นระยะต่อเนื่องกัน บางคนก็ยืนอ่านป้ายแล้วเดินหนีไป ไม่มีความสนใจในเสียงประกาศนั้นเลย บางคนก็เดินตามเส้นทางไปได้ ๒ - ๓ วา แล้วหันหน้ากลับมาดูหมู่กำลังฟ้อนรำ แล้วก็วิ่งกลับคืนมาเต้นรำขับร้องกับหมู่ต่อไป บางคนก็เดินตามเส้นทางไปได้ประมาณ ๑ เส้น เหลียวกลับคืนเห็นเพื่อน ๆ เล่นกันอย่าง
สนุกสนาน ก็รีบวิ่งกลับคืนมาเล่นกับหมู่อีกต่อไป
เมื่อข้าพเจ้าได้ยินเสียงประกาศนี้ และอ่านป้ายที่ประตูแล้ว เกิดกำลังใจอยากจะไปตามเส้นทางนี้เป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถที่จะผ่านฝูงชนนี้ไปได้ จึงหาวิธีเดินอ้อมฝูงชนนั้นไป แล้วเดินโค้งเข้ามาหาเส้นทางเดิม เมื่อมาถึงเส้นทางแล้วก็หาช่องทางที่จะขึ้นไปสู่ถนนใหญ่ มองไปเห็นเส้นทางเล็ก ๆ เส้นหนึ่งพอเดินได้คนเดียว เมื่อดูเส้นทางก็เห็นรอยคนเดินทางไปก่อนแล้ว มีทั้งรอยเก่ารอยใหม่ แต่ไม่ทราบว่าเป็นรอยเท้าของใคร ในขณะนั้นก็มีเสียงประกาศบอกมาว่า นี่คือเส้นทางที่พระอาจารย์มั่นได้พาหมู่คณะไป ท่านจงเดินตามเส้นทางนี้ไปเถิด ข้าพเจ้าตั้งใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะเดินตามทางสายนี้ จากนั้น ก็รีบเดินขึ้นไปด้วยความตั้งใจ เพื่อจะให้ถึงทางใหญ่ที่อยู่ข้างหน้า เพราะทางใหญ่นั้นยกคันสูงประมาณ ๘ เมตร มีป่าไผ่ขนาดใหญ่หนาแน่น เมื่อเดินขึ้นไปได้ประมาณ ๑ วา ปรากฏว่า ดินที่เหยียบขึ้นไปนั้นอ่อนยุ่ยไปหมด เหยียบที่ไหนดินพังที่นั่น แต่มือก็ยังกำต้นไผ่อย่างเหนียวแน่น เท้าก็ยันกอไผ่เอาไว้ แต่กอไผ่ก็ได้โค่นลงไปด้วยกำลังเท้าที่ยันนั้นเป็นกอ ๆ ไป ทำให้ต้องใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ในที่สุดก็ขึ้นไปถึงเส้นทางใหญ่ได้ตามความตั้งใจ เมื่อมองลงมาดูตามเส้นทางที่ขึ้นมานั้น เห็นกอไผ่ขนาดใหญ่โค่นลงไปหลายกอ และยังเห็นกอไผ่เก่า ๆ ที่โค่นลงไปแล้วเป็นจำนวนมาก จึงได้รู้ว่าครูอาจารย์ที่ไปก่อนเรา ท่านก็ใช้เท้ายันกอไผ่นี้โค่นลงไปเหมือนกัน จากนั้น ก็มองดูปากทางที่มีฝูงชนแออัดกันอยู่ ใช้มือกวักเรียกเพื่อให้เขาเดินทางมากับเรา บางคนก็เดินมาได้ไม่กี่วา เมื่อนึกถึงความสนุกในการเต้นรำขับร้องกับหมู่ก็รีบกลับคืนไป จึงมานึกได้ว่าเขายังลืมตัวมั่วสุมในความสนุกในโลกนี้อยู่ ก็ปล่อยตามเรื่องของเขาไป ไฉนเราจะมาคอยเขาให้เสียเวลา หน้าที่ของเรามีแต่จะเดินทางนี้ไปให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ตามความตั้งใจเอาไว้ พอก้าวขาออกไปเท่านั้น จิตก็ถอนออกจากสมาธิ แล้วใช้ปัญญาพิจารณาดูตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิมิตนั้น ๆ ว่า โลกมนุษย์เราเป็นอยู่อย่างนี้มาแต่กาลไหน ๆ ทุกคนก็มีความหลงใหลซึ่งกันและกัน ผูกพันกันด้วยความรัก ความใคร่ ในกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หลงใหลในความสุขของโลกีย์ ยากที่จะออกจากโลกนี้ไปได้ และจะพากันหลงงมงายในโลกนี้ตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด จะมองเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นชั่วเป็นดีเรื่อยไป
การได้เห็นนิมิตเกิดขึ้นในลักษณะอย่างนี้ จึงเกิดมีกำลังใจในการปฏิบัติมากขึ้น ใช้นิมิตนี้เป็นสื่อในการใช้ปัญญาพิจารณาดูความเป็นจริงของโลกว่า โลกมนุษย์นี้มีความเป็นอยู่อย่างนี้มาแต่กาลไหน ๆ ตัวเราเองก็เคยได้อยู่กับโลกนี้มาแล้ว จากนี้ไปเราจะไม่หลงใหลในลักษณะอย่างนี้อีก ใครเข้าใจว่าโลกนี้เป็นสถานที่ที่น่าอยู่ก็ให้เขาอยู่ต่อไป จะให้คนทั้งโลกรู้เห็นทุกข์โทษภัยที่มีในโลกนี้พร้อมกันทั้งหมดนั้นไม่ได้ ใครมีสติปัญญาที่ฉลาด ก็สามารถรู้เห็นความจริงของโลกนี้ได้อย่างฉับไว ไม่มีสิ่งใดมาปิดบัง ดังคำว่า นตฺถิ โลเก รโหนาม ความลี้ลับไม่มีในโลก สำหรับผู้มีปัญญาดีเท่านั้น จึงจะรู้เห็นโลกนี้ได้อย่างชัดเจนว่า ความเป็นอยู่ของโลกเป็นมาอย่างนี้ และจะเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป ใครมาเกิดในโลกนี้ก็จะต้องมาพบเห็นอย่างนี้ ใครจะลอยตามกระแสของโลกนี้ไป หรือใครจะทวนกระแสโลกนี้ไปได้ ก็ขึ้นอยู่กับสติปัญญาแต่ละบุคคล ถ้าผู้มีปัญญาดีก็ผ่านโลกนี้ไปได้ ถ้ามีปัญญาระดับกลางก็พอทรงตัวอยู่ได้ แต่ถ้าผู้มีปัญญาทราม ก็จะหลงระเริงลอยตามกระแสของโลกนี้ต่อไป นี้เราจะมีความยินดีกับโลกนี้ต่อไปอีกหรือ เราเกิดมาได้วัตถุสมบัติของโลกอะไรบ้าง และความสุขของโลกที่แท้จริงอยู่ที่ไหน ความเข้าใจว่ากามคุณเป็นความสุข ที่แท้จริงหาใช่ไม่ เพราะกามคุณเป็นเหตุให้เกิดทุกข์โดยตรง กามคุณเปรียบเสมือนน้ำตาลเคลือบยาพิษ กามคุณเปรียบเสมือนเหยื่อหุ้มเบ็ด ลักษณะของสัตว์โลกทั้งหลายมาหลงใหลติดอยู่ในกามคุณ การแสดงออกมาทางกายเขาทำ
อย่างไร การแสดงออกมาทางวาจาเขาพูดอย่างไร ใจที่หลงใหลในกามคุณเป็นอย่างไร ใคร ๆ ก็คงรู้จักเรื่องของส่วนตัวดี นี้เราคนหนึ่งที่มีความเป็นอยู่ในลักษณะนี้มาแล้ว จากนี้ไป เราจะใช้สติปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นในโทษ ทุกข์ ภัย ที่เกิดจากกามคุณให้มาก เพื่อป้องกันความหลงใหลงมงายเข้าใจผิดในกามคุณให้หมดไปจากใจนั้นแล จึงได้ชื่อว่าเป็นนักภาวนาปฏิบัติอย่างแท้จริง
เมื่อออกจากที่นั้นแล้วก็ธุดงค์ไปเรื่อย ๆ ไปถึงบ้านโคกตังแคน อำเภอสุวรรณคูหา ที่นี่เป็นวัดที่หลวงปู่มหาบุญมีเคยจำพรรษามาแล้ว ๑ ปี มีกุฏิมุงด้วยหญ้าคาเป็นกระต๊อบอยู่หลายหลัง จึงได้พักภาวนาปฏิบัติอยู่ที่นั่น เมื่อปฏิบัติมาได้ประมาณ ๑๐ วัน ก็เกิดนิมิตขึ้นมาอีก ในคืนนั้น ขณะทำสมาธิมีความสงบแล้วเกิดนิมิตขึ้น ปรากฏเห็นเป็นจักรเย็บผ้าคันหนึ่งเย็บผ้าได้เอง ไม่มีคนอยู่ที่นั่น เห็นผ้าที่เย็บเสร็จแล้วไหลออกมาเป็นตัว ๆ จากนั้น จิตก็ถอนออกจากสมาธิมา ปรากฏว่าจิตมีลักษณะหวิว ๆ เกิดขึ้น ความคิดความรู้ในแง่ต่าง ๆ ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม จะรู้ขึ้นอย่างพิสดารอย่างกว้างขวาง เหมือนกับว่าใครจะถามปัญหาอะไรก็จะตอบปัญหานั้นได้ทั้งหมด ไม่ว่าปัญหาในทางโลกหรือทางธรรม จากนั้น ก็ไปบังคับให้เพื่อน ๆ ที่ไปด้วยกันถามปัญหา เมื่อเพื่อนถามปัญหานิดเดียวก็ตอบปัญหานั้นไปอย่างยืดยาว จนเพื่อนเกิดความรำคาญ เมื่อฉันอาหารเสร็จ เพื่อนก็หนีจากกุฏิเข้าป่าไปเสีย ความอยากพูดธรรมะให้ใคร ๆ ฟัง และอยากตอบปัญหาที่คนถามก็ฟุ้งอยู่ตลอด จนภาวนาปฏิบัติไม่ได้เลย แต่ละวันต้องเดินรอบวัดเพื่อหาคนมาฟังเทศน์ ในวันหนึ่ง มีโยมผู้ชายเอาน้ำอ้อยมาถวาย จากนั้น ก็อธิบายธรรมะให้ฟัง ไม่รู้ว่าธรรมะที่นำมาอธิบายนั้นเกิดจากอะไร คำพูดนั้นไหลติดต่อกันเป็นเรื่องเป็นราวต่อเนื่องกันตลอด เขาจะลากลับบ้านก็ไม่ให้เขากลับ ให้นั่งฟังเทศน์ต่อไปจนค่ำมืดจึงปล่อยเขาไป จากนั้น เขาก็ไม่มาให้เห็นหน้าอีกเลย คงจะเข็ดหลาบต่อพระบ้าน้ำลายนี้ไปอีกนาน
จากนั้น มาถึงวันพระ ๘ ค่ำ มีคนออกมาส่งอาหารประมาณ ๑๐ กว่าคน เมื่อฉันเสร็จแล้ว มีโยมคนหนึ่งพูดขึ้นว่า หมู่กระผมไม่ได้ฟังเทศน์จากครูบาอาจารย์มานานแล้ว จึงขออาราธนาท่านครูบาเทศน์ให้หมู่กระผมฟังด้วย ครูบาที่นั่งเป็นหัวหน้าพูดกับโยมว่า นี่โยม อาตมาทั้งสองเพิ่งบวชใหม่ เทศน์ไม่เป็นหรอก ให้พากันกลับบ้านเสีย ไปหาฟังเทศน์องค์อื่นก็แล้วกัน เมื่อโยมกลับบ้านไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ถามกับเพื่อนว่า ทำไมครูบาไม่เทศน์ให้โยมฟัง ครูบาตอบว่า ผมเทศน์ไม่เป็น ข้าพเจ้าพูดว่า ถ้าเทศน์ไม่เป็น ทำไมไม่บอกให้ผมเทศน์เล่า ครูบาว่า ผมลืมไป ๆ คอยวันพระหน้าก็แล้วกัน จากนั้นมาอีก ๗ วัน ก็ถึงวันพระ ๑๕ ค่ำ ก็มีคนไปส่งอาหารเท่าเดิม เมื่อฉันเสร็จแล้ว ครูบาพูดว่า โยม อยากฟังเทศน์ไหม ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากฟัง ครูบาพูดว่า ถ้าอยากฟังก็นิมนต์ให้ครูบาทูลท่านเทศน์ให้ฟังก็แล้วกัน จากนั้น โยมก็อาราธนาธรรม ข้าพเจ้าก็เริ่มแสดงธรรมในหัวข้อว่าด้วย กุสลาธัมมา อกุลสาธัมมา แล้วก็ขยายความออกไปอย่างพิสดารและกว้างขวาง ไม่ทราบว่าตัวเองพูดไปได้อย่างไร คำพูดนั้นจะไหลต่อเนื่องไม่ขาดวรรคตอน เทศน์นานประมาณ ๑ ชั่วโมง จึงยุติลง จากนั้น โยมผู้ชายก็คลานเข้ามาหาแล้วจับเอาฝ่าเท้าของข้าพเจ้าใส่หัวแล้วพูดว่า ผมเคยฟังเทศน์ครูบาอาจารย์มาหลายองค์ แต่ละองค์แสดงธรรมไม่ได้ดีอย่างนี้เลย นี่ครูบาเพิ่งบวชมาเพียง ๑ พรรษา ยังแสดงธรรมได้ดีขนาดนี้ เมื่อครูบาบวชต่อไปได้หลายปี คงจะยิ่งแสดงธรรมไม่มีใครเทียบได้ ทุกคนที่มาก็ต้องยอมรับว่าครูบาทูลแสดงธรรมได้ดีมาก แม้ครูบาที่ไปด้วยกันก็ยอมรับว่าเทศน์ดีเป็นพิเศษ ไม่เคยได้ยินครูบาอาจารย์องค์ใดเทศน์กุสลา อกุสลา ได้ดีขนาดนี้ จากนั้น ก็เลิกลากันไป
เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับตัวเองนี้ ก็รู้อยู่ว่าไม่ถูกต้อง แต่ก็อดไม่ได้ มีแต่อยากเทศน์ให้คนฟัง อยากตอบปัญหาที่คนถาม เมื่อเทศน์ให้คนฟังแล้ว แทนที่จะหยุดไป แต่กลับเพิ่มความอยากเทศน์มากขึ้น ในขณะนั้น ก็เข้าไปในห้องส้วมเพื่อขับถ่าย หลุมส้วมนั้นขุดลึกประมาณ ๑ เมตร ใช้ไม้กระดานเหยียบข้างละ ๑ แผ่นเท่านั้น ขณะที่นั่งถ่ายอยู่นั้น ได้มองเห็นหนอนอยู่ในหลุมส้วมเป็นจำนวนมาก ก็ใช้ปัญญาพิจารณาดูในหมู่หนอนว่า หนอนที่อยู่ในหลุมส้วมทั้งหมดนี้ ไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองกินของสกปรกเป็นอาหาร เข้าใจว่าเป็นของดีมีคุณค่า จึงพากันกินมูตร กินคูถ ตลอดทั้งวันทั้งคืน นี่คือหมู่หนอนที่ลืมตัว เห็นของชั่วว่าเป็นของดี เห็นของเหม็นว่าเป็นของหอม นี้ฉันใด ใจเราก็กำลังหลงลืมตัวว่า ตัวเองมีความรู้ดีอย่างนี้ มีความสามารถตอบปัญหาได้ทุกอย่าง เกิดความลืมตัวว่าตัวเองเก่งกว่าใคร ๆ ความรู้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ก็เหมือนกันกับหนอนที่หลงผิด กินมูตรคูถเป็นอาหารนั่นเอง ในขณะนั้น จิตก็สงบวูบลง ความรู้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ก็หายไปเป็นปลิดทิ้ง จะนึกหาความรู้อะไรไม่ได้เลย นี้ก็เป็นอุบายในการแก้ปัญหาของตัวเองวิธีหนึ่ง ถ้าไม่ได้หมู่หนอนในหลุมส้วมมาเป็นอุบายสอนใจ ก็คงเป็นบัวน้ำลายไปอีกนานทีเดียว ฉะนั้น อุบายปัญญาที่จะนำมาแก้ไขปัญหาตัวเอง จึงมีอยู่ทุกสถานที่ การใช้ปัญญาพิจารณาก็ไม่ต้องจำกัดว่า ต้องเดินจงกรมหรือทำสมาธิให้จิตสงบเสียก่อน จะอยู่ทีไหน อย่างไร ก็ใช้ปัญญาพิจารณาได้ แม้อยู่ในห้องส้วมก็ใช้เป็นอุบายภาวนาได้เช่นกัน ฉะนั้น การแก้ปัญหาต้องรู้จักต้นเหตุของปัญหา จึงจะใช้อุบายปัญญามาหักล้างปัญหานั้นให้ถูกจุดได้ ปัญหานั้นก็จะหลุดออกจากใจได้ง่ายทีเดียว ไม่ว่าปัญหานั้นจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม จะต้องนำมาพิจารณาด้วยปัญญาให้แยบคายทุกครั้งไป

พรรษาที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๐๕
เมื่อออกธุดงค์ในที่ต่าง ๆ พอสมควรก็ถึงเวลาเข้าพรรษา ปีนี้ ไปจำพรรษาที่ยอดทอน อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย มีพระเณรจำพรรษารวมกัน ๑๐ รูป ที่แห่งนี้เป็นป่าใหญ่ มีสัตว์อาศัยอยู่นานาชนิด เช่น เสือ วัวป่า หมูป่า เก้ง กวาง และสัตว์อื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปในที่นี้ครั้งแรก พระเณรองค์ที่ท่านเคยอยู่ก่อน ท่านรู้จักสถานที่ดี ว่าที่แห่งไหนมีเสือชุกชุม ท่านก็จัดให้ไปอยู่ในที่แห่งนั้น ที่นั่นห่างจากหมู่คณะไปไกลประมาณ ๒ กิโลเมตร เมื่อถึงเวลาจะไป ได้ยินเสียงครูบากระซิบบอกเณรว่า ให้ปิดเป็นความลับนะ ดูซิว่าพระกรรมฐานจะเก่งขนาดไหน เมื่อข้าพเจ้าได้ยินคำนี้ก็แปลกใจ จึงเข้าไปถามว่า พูดเรื่องอะไรกัน แต่ครูบาและเณรก็พูดบ่ายเบี่ยงไปอย่างอื่นว่า ไม่หรอก ปีนี้มีพระกรรมฐานที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ดูซิว่าจะภาวนาเก่งขนาดไหน เมื่อได้เวลา มีเณรไปส่งให้ถึงที่ ที่นั่นเรียกว่าถ้ำจันใด อยู่ใกล้กันกับถ้ำโคกฮอม มีแคร่อยู่ตัวหนึ่ง มีทางเดินจงกรมพร้อม เมื่อจวนเวลาค่ำ เณรก็ลากลับ แล้วมีคำสั่งแปลก ๆ ออกมาว่า ครูบา ๆ ในคืนนี้ให้อยู่ตลอดคืนนะ อย่าวิ่งหนีกลางคืนก็แล้วกัน ก็ยังคิดแปลกใจว่าทำไมเณรจึงพูดออกมาอย่างนี้ จากนั้น ก็เตรียมสถานที่ให้เรียบร้อย แล้วเดินจงกรมต่อไป ใจมีความวิเวกวังเวงในการปฏิบัติไม่จืดจาง พอพลบค่ำตะวันตกดินไปแล้ว ได้ยินเสียงเสือคำรามขึ้นเป็นช่วง ๆ เมื่อตัวหนึ่งร้องขึ้น ตัวต่อไปก็ร้องส่งเสียงหากัน สัตว์น้อยใหญ่ในที่แห่งนั้นพากันเก็บตัวเงียบหมด บรรยากาศในความมืดก่อให้เกิดความระวังตัวมากขึ้น เสียงเสือก็ร้องใกล้เข้ามาทุกที มีความรู้สึกว่าตัวเองมีความกลัวเสือเกิดขึ้น ในขณะนั้น จึงได้ตั้งสัจจะอธิษฐานภายในใจว่า ถ้าข้าพเจ้าเคยทำบาปกรรมกันมากับเสือเหล่านี้ ข้าพเจ้าพร้อมที่จะชดใช้กรรมที่ทำมาแล้ว ถ้าไม่เคยสร้าง
เวรกรรมต่อกันเอาไว้ ก็อย่าให้เสือมาทำอันตรายให้แก่ข้าพเจ้าเลย จากนั้น ก็เข้าที่ภาวนาปฏิบัติต่อไป ในคืนนั้น จิตไม่สามารถรวมสงบลงได้เลย เพราะเสือร้องครวญครางห่างตัวไม่ไกลนัก
จำเป็นต้องนั่งฟังเสียงเสือร้องด้วยความระวัง นั่งลืมตาเอาไว้ เพื่อจะได้เห็นเสือเข้ามาหา ในคืนนั้น ไม่ได้หลับนอนจนตะวันส่องแสงมา เมื่อได้เวลาก็ออกไปบิณฑบาตตามปกติ
เมื่อพบครูบา ท่านได้ถามว่า สบายดีไหม ก็ตอบสั้น ๆ ว่าสบายดีเท่านั้น ในพรรษานี้ จะหนักในอุบายการทำสมาธิเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเสือร้องวนเวียนอยู่ใกล้ที่อยู่มาก ในวันหนึ่ง ได้ปรึกษาครูบาว่า เมื่อมีเสือมาร้องอยู่ใกล้ ๆ จะมีวิธีใดป้องกันไม่ให้เสือเข้ามาหา ครูบาตอบว่า
ไม่ยาก ๆ เราต้องก่อไฟในถ้ำเอาไว้ เมื่อเสือเห็นไฟก็จะหนีไปเอง ข้าพเจ้าก็ทำตามที่ครูบาท่านบอกให้ ในคืนนั้น เมื่อก่อไฟแล้วก็เดินจงกรมต่อไป เมื่อได้เวลาพักในการทำสมาธิแล้วก็จำวัด ประมาณตี ๒ ก็ตื่นขึ้นมา มองไปหากองไฟเห็นเป็นเพียงถ่านแดง ๆ กลัวไฟจะดับ ก็รีบเปิดมุ้งกลดออกไปเพื่อจะก่อไฟ ในขณะที่เปิดมุ้งออกไปนั้น พอดีมองเห็นเสือนั่งอยู่ใกล้กองไฟนั้น เมื่อเสือเห็นข้าพเจ้าก็กระโดดเข้าป่าหนีไป ตัวเองก็มุดมุ้งเข้าไปอยู่ในกลด จะนอนต่อไปอีกไม่ได้เลย มีแต่นั่งนึกคำบริกรรมอยู่ตลอดทั้งคืน เมื่อสว่างมาก็คิดได้ว่า เสือตัวนี้ เข้ามานั่งเฝ้าเราตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้ แต่ชะรอยเราคงไม่มีเวรกรรมต่อกัน มิฉะนั้น เสือก็คงจะคาบเอาเราไปกินเป็นอาหารเสียแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาท ต้องตั้งใจตัวเองให้อยู่กับ พุทโธ ตลอดเวลา เพื่อให้ใจได้มีกำลังต่อสู้กับความกลัวที่เกิดขึ้น เมื่อนึกคำบริกรรมทำสมาธิมากขึ้นเท่าไร ใจก็เริ่มสงบเป็นสมาธิมากขึ้นเท่านั้น
อยู่มาคืนหนึ่ง จิตต้องการความสงบมาก ก็กำหนดให้จิตมีความสงบเต็มที่ ทีแรกก็อาศัยคำบริกรรมคือ พุทโธ ๆ เป็นคู่กับใจ ใจเริ่มมีความสงบ คำบริกรรมพุทโธเหมือนกันว่าหยาบไป ก็ได้หยุดคำบริกรรมเอาไว้ แล้วตั้งใจโดยมีสติกำหนดดูลมหายใจเข้าออก เอาลมหายใจเป็นนิมิตหมายของสติไม่ให้เผลอ เมื่อกำหนดเข้า กำหนดเข้า ก็ดูเหมือนลมหายใจนั้นมีลักษณะหยาบอย่างเห็นได้ชัด จากนั้น ก็ใช้อุบายในวิธีปล่อยลมหายใจทิ้งไป เพียงตั้งใจให้มีสติ กำหนดดูผู้รู้โดยตรง ไม่ส่งผู้รู้ไปตามลมหายใจแต่อย่างใด มีแต่ใช้สติกำหนดรู้อยู่กับผู้รู้อย่างเดียว ในคืนนั้น ไม่ทราบว่าจิตมีความสงบเวลาไหน เมื่อจวนสว่างในวันใหม่ จิตก็ได้ถอนออกจากสมาธิ เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิมาแล้ว ก็อยู่ในความอุเบกขา มีลักษณะเฉย ๆ อยู่ตลอดเวลา จะมานึกคำบริกรรมว่าพุทโธ ก็หยาบไปทั้งหมด จะมากำหนดดูลมหายใจเข้าออกก็หยาบไปอีกเช่นกัน วิธีเดียวคือ ทำใจให้รู้อยู่กับผู้รู้เท่านั้น จะอยู่ในอิริยาบถไหน ผู้รู้ก็อยู่ในอุเบกขา คือความวางเฉยอยู่ตลอดเวลา เมื่อเป็นลักษณะอย่างนี้นานประมาณ ๗ วัน ในความรู้สึกจึงนึกได้ว่า ถ้าลักษณะอย่างนี้ คงมิใช่เป็นแนวทางที่ถูกต้องของมรรคผลนิพพานแน่ คงจะเป็นเพียงฌานขั้นละเอียดเท่านั้น เมื่อรู้ตัวได้อย่างนี้ก็หาวิธีที่จะให้จิตถอนตัว พยายามหาอุบายธรรมมาคิดเพื่อให้จิตถอน แต่ก็คิดอะไรไม่เป็นเลย มีแต่เฉยอยู่ตลอดเวลา อุบายปัญญาที่เคยฉลาดปราดเปรื่องมาแล้ว กลับนึกพิจารณาด้วยปัญญาอะไรไม่ได้เลย เมื่อนึกถึงพระที่อยู่ด้วยกันทั้งหมดว่า ท่านเหล่านั้นจะสามารถแก้อาการอย่างนี้ของเราได้ไหมหนอ ก็รู้ว่าไม่มีใครแก้ให้เราได้ นอกจากตัวเราแก้ด้วยตัวเราเองเท่านั้น จึงทำใจไว้ว่าเราไม่ยินดีพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนี้เลย เพราะวิธีนี้เป็นช่องทางไปสู่พรหมโลก แต่เราภาวนาปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน ฉะนั้น เราต้องหาวิธีให้จิตถอนออกมาจากฌานให้ได้
ขณะนั้น ก็นึกขึ้นได้ว่าต้องอ่านหนังสือให้มาก เมื่อได้อุบายนี้แล้ว ก็หยิบเอาหนังสือ
ปาฏิโมกข์มาอ่าน ทีแรกก็ไม่อยากอ่านแต่ก็ฝืนใจ ในวันนั้น มีแต่อ่านหนังสือปาฏิโมกข์ตลอดทั้งวัน การอ่านก็ต้องอ่านแบบออกเสียง เมื่ออ่านนาน ๆ เข้า จิตก็เริ่มถอนตัวออกมา ก็รู้ว่าจิตเริ่มถอนออกจากความสงบแล้ว จากนั้น ก็เร่งการอ่านหนังสือให้มากขึ้น ๆ ประมาณ ๓ วัน จิตก็ถอนออกจากความสงบมาเป็นปกติ จึงได้ดำริพิจารณาดูว่า อาการแห่งความสงบนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุอันใด เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า สาเหตุเนื่องมาจากเรากลัวเสือมากไป จึงได้ตั้งใจนึกคำบริกรรมทำสมาธิตลอดไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถใด ใจก็อยู่กับเอกัคคตา คือ ให้จิตมีความสงบเป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา จึงมีความชำนาญเข้าออกในการทำสมาธิอย่างต่อเนื่อง ในที่สุด จิตก็ได้รวมลงอย่างสนิทดังได้กล่าวมาแล้ว แต่ก็โชคดีที่ข้าพเจ้ามีนิสัยทางปัญญามาก่อน ไม่เช่นนั้น ก็จะตายอยู่กับความสงบของสมาธินี้ไปจนตลอดชีวิตแน่นอน ไม่มีช่องทางจะออกจากสมาธิได้เลย ถ้าตายก็เรียกว่าตายฟรี ชีวิตทั้งชีวิตก็หมดความหมาย เมื่อได้สัมผัสในความสงบในลักษณะอย่างนี้แล้ว ก็ถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญ ทีหลังจะไม่ฝึกจิตให้เป็นสมาธิที่มีความสงบลึกอย่างนี้อีก
จากนั้น ก็เริ่มวางฐานในการภาวนาปฏิบัติเสียใหม่ ในกรณีที่ทำสมาธิก็ให้มีความสงบพอประมาณ จากนั้น ก็ใช้ปัญญาพิจารณาในสัจธรรมให้ต่อเนื่องกันทุกครั้งไป มิใช่ว่าจิตสงบเป็นสมาธิแล้วก็จะปล่อยให้จิตมีความสงบตลอดไป เว้นเสียในบางกรณีที่จิตมีความต้องการในความสงบนาน ๆ ก็ปล่อยให้จิตสงบไป แต่ก็ตั้งใจเอาไว้ว่า เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว จะต้องใช้ปัญญาพิจารณาทันที ตามปกติแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ทีไหน ในอิริยาบถใด ข้าพเจ้ามีนิสัยในการใช้ปัญญาพิจารณาในสัจธรรมอยู่เสมอ หรือเรียกว่าใช้อุบายปัญญามากกว่าการทำสมาธินั่นเอง ฉะนั้น การใช้ปัญญาพิจารณาในธรรม จึงถือว่าเป็นกิจวัตรประจำวัน ถ้าเหนื่อยในการใช้ปัญญาพิจารณา ก็หยุดมากำหนดจิตทำสมาธิเอาไว้ เพื่อจะได้มีกำลังใจใช้ปัญญาพิจารณาต่อไป ฉะนั้น สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งสองอุบายนี้มีผลต่อเนื่องกัน จึงเรียกว่ากรรมฐานมีสองอุบาย จะขาดเสียอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ การภาวนาจะเอากรรมฐานไหนขึ้นก่อนนั้นขึ้นอยู่กับนิสัยของแต่ละท่าน บางท่านอาจถนัดในวิธีภาวนาสมถะก่อน แล้วจึงใช้วิธีภาวนาวิปัสสนาตามหลัง หรือบางท่านอาจถนัดในการเจริญวิปัสสนาก่อน แล้วจึงใช้เจริญสมถะตามหลัง ท่านเรียกว่า สมาธิอบรมปัญญาหรือปัญญา
อบรมสมาธิ ใครมีความถนัดในทางไหนก่อนหรือหลัง ก็ให้เป็นไปตามนิสัยของแต่ละท่าน เหมือนการก้าวขาออกเดินทาง ใครจะก้าวขาซ้ายก่อนแล้วก้าวตามด้วยขาขวา หรือก้าวขาขวาไปก่อนแล้วก้าวตามด้วยขาซ้ายสลับกันไปมา ในที่สุด ก็ถึงจุดหมายปลายทางได้เหมือนกัน นี้ฉันใด การภาวนาปฏิบัติทั้งสองอุบายก็ให้เป็นไปในลักษณะเดียวกันฉันนั้น ขอให้ท่านพิจารณาในอุบายทั้งสองนี้ด้วยเหตุผลอันเป็นธรรมด้วยเถิด
การอธิบายเรื่องภาวนาของข้าพเจ้ามาให้ท่านรับรู้นี้ เพื่อให้ท่านได้สังเกตในเหตุผล แล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขในการปฏิบัติของท่านให้ถูกต้อง ถ้าหากท่านทำสมาธิ จิตมีความสงบบ้าง ไม่สงบบ้างก็ไม่เป็นไร ถ้าหากท่านมีจิตสงบขั้นละเอียดดิ่งลึกลงไปเต็มที่และสงบต่อเนื่องกันหลาย ๆ วันเรียกว่า อรูปฌาน ท่านจะมีอุบายใดมาถอนตัวออกมาจากอรูปฌานได้อย่างไร สมมติว่าผู้นั้นไม่มีฐานในด้านปัญญามาก่อน รับรองว่าจะจมอยู่ในฌานนั้น ๆ จนตลอดวันตาย จะไม่มีอุบายถอนตนได้เลย ดังมีคำพูดกันอยู่ว่า เมื่อจิตสงบแล้วย่อมเกิดปัญญาขึ้นนั้น คำพูดนี้ไม่จริง แสดงว่าผู้พูดนั้นยังไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องความสงบของสมาธิขั้นละเอียดนี้เลย พูดไปแบบไร้สาระพาให้คนอื่นเกิดความเข้าใจผิดมากมาย ดังคำว่า ผู้มีความเห็นผิดเพียงคนเดียว ย่อมทำให้คนอื่นมีความเห็นผิดเป็นหมื่นเป็นแสน คนที่เกิดความเห็นผิด ความเข้าใจผิด การดำริพิจารณาก็ผิดไปตาม ๆ กัน แม้ความเพียรพยายามก็ล้วนแต่ผิดด้วยกันทั้งนั้น เหมือนเงินปลอมที่มีอยู่ในถุงทั้งหมด จะหยิบใบไหนขึ้นมาก็ล้วนแล้วแต่เป็นเงินปลอมทั้งสิ้น ถึงจะเข้าใจว่าเป็นเงินจริง แต่ก็ยังเป็นเงินปลอมอยู่นั่นเอง นี้ฉันใด ความเข้าใจผิดเป็นฐานรองรับในส่วนลึกของหัวใจมีอยู่ ใจก็จะเกิดเป็น มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดตลอดไป ยากที่จะกลับตัวเองได้ เพราะความเขลาปัญญาทรามและขาดเหตุผล จริงอยู่ การอธิบายธรรมะฉะฉานพูดได้อย่างสละสลวยสวยงามต่อเนื่องกันดี แต่อย่าลืมว่า นั่นเป็นการแสดงออกมาจากความรู้เท่านั้น ถึงจะมีความรู้ แต่ถ้าขาดปัญญาที่ฉลาดเฉียบแหลมด้วยเหตุผล ประโยชน์ที่ได้รับจากความรู้นั้นน้อยมาก หรือแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ในที่สุด ก็จะเกิดมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด โดยไม่รู้ตัว
ฉะนั้น จึงขอฝากนักภาวนาปฏิบัติทั้งหลายที่มีความตั้งใจจริง จงใช้วิจารณญาณของท่านให้มีเหตุผล เป็นธรรมาธิปไตย ให้เป็นไปตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ให้สมกับความตั้งใจไว้ว่า เราจะเดินตามรอยยุคลบาทของพระศาสดาและพระอริยเจ้าทั้งหลาย เราก็ต้องศึกษาในเรื่องอริยประวัติของพระอริยเจ้าให้เข้าใจว่า องค์ไหนเริ่มต้นในการปฏิบัติอย่างไร มีอุบายใดเป็นสื่อที่จะนำไปสู่สัจธรรม เราจะนำมาเป็นอุบายปรับปรุงแก้ไขในความคิดเห็นของตัวเอง ให้เป็นไปใน สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบอย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นฐานรองรับความเห็นชอบอย่างอื่น ให้มารวมอยู่ในจุดเดียวกัน ฉะนั้น การภาวนาปฏิบัติ ถ้าเราได้วางรากฐานไว้ในจุดเริ่มต้นถูกต้อง การปฏิบัติต่อไปก็ถูกต้องตลอดแนวทาง ทุกอย่างจะมีแต่ความราบรื่น ก้าวหน้าไปด้วยดี ไม่มีอุปสรรคที่จะทำให้เกิดความสงสัยลังเลในการปฏิบัติแต่อย่างใด จึงนับได้ว่าเป็นผู้มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง จึงสมกับคำว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตนอย่างแท้จริง เรียกว่า เป็นผู้มีสติปัญญาสามารถตั้งอยู่ในเหตุผลของตนเองได้ จึงสมกับบาลีว่า มคฺคามคฺคญาณทสฺสนวิสุทธิ นั้น คือ ความรู้เห็นเส้นทางอันจะก้าวไปสู่ความบริสุทธิ์อย่าแท้จริง
เหมือนการเดินทาง เราต้องเตรียมอุปกรณ์ในการเดินทางให้พร้อม เมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เราก็จะได้แก้ไขปัญหานั้นได้ทันท่วงที นี้ฉันใด ก่อนที่เราจะลงมือภาวนาปฏิบัติ ต้องพร้อมด้วยสติปัญญา อันจะนำมาให้เกิดความรอบรู้ในอุบายการปฏิบัติได้ถูกต้อง เรียกว่า ปัญญา คือแสงสว่างทางใจ เมื่อเรามีปัญญาเป็นเครื่องรอบรู้ในเหตุผลอยู่ การตัดสินใจก็
ถูกต้องและรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ความลังเลสงสัยในอุบายการปฏิบัติว่าอะไรควรหรืออะไร
ไม่ควร ถูกหรือผิดก็ตัดสินใจได้ทันที นี้คือผู้จะเดินทางตามรอยของพระอริยเจ้าอย่างแท้จริง เราคนหนึ่งกำลังเริ่มออกเดินทางไปตามพระอริยเจ้าทั้งหลาย อุบายการภาวนาปฏิบัติอย่างไรยังไม่ชัดเจน ก็ต้องศึกษาจากท่านผู้รู้ทั้งหลาย เพื่อให้เกิดความมั่นใจในตัวเองว่า มีความถูกต้องตรงไปในความเห็นชอบอย่างแท้จริง ข้อควรระวัง คือ อย่าไปถามกับผู้กำลังหลงทางเหมือนกันกับตัวเรา มันจะเข้าตำราที่ว่า คนตาบอดจูงคนตาบอด ไปไม่รอดเพราะตาบอดจูงกัน ถ้าเป็นไปในทำนองนี้ ก็สุดวิสัยที่จะช่วยกันได้ ให้ถือว่าโชคร้ายของเราก็แล้วกัน อีกสักวันหนึ่งข้างหน้า เราอาจจะได้พบคนตาดีจูงเราไปให้ถึงฝั่งก็เป็นได้

เสือโคร่งใหญ่ให้กำลังใจ
เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้ไปทำกระต๊อบเป็นซุ้มใบไม้อยู่ข้างนอกถ้ำ ที่นั่นเป็นลานหินที่
เรียบราบ มีทรายอ่อน ๆ เหมาะสำหรับการเดินจงกรมมากทีเดียว เมื่ออยู่ภาวนาที่นี่ได้ประมาณ ๑๐ วัน ในวันหนึ่ง เวลาประมาณ ๕ โมงเย็น มีนายพรานป่า ๓ คน หาบสัมภาระลงมาจากเขาใหญ่ เข้ามาหาแล้วพูดออกมาอย่างรีบร้อนลุกลี้ลุกลนเหมือนคนหนีภัยว่า ครูบา ๆ รีบเก็บของเร็วเข้า ก่อนที่มันจะมืดค่ำ จึงถามเขาว่ามีเรื่องอะไรที่จะให้อาตมาเก็บของ นายพรานพูดว่า วันนี้เสือโคร่งใหญ่ตัวเก่ามาที่นี่อีกแล้ว เสือตัวนี้เคยกินคนแถบภูฟ้าภูหลวงมาแล้วหลายคน ถ้าเห็นคน มันจะกินทั้งหมดไม่ไว้หน้าเลย เสือตัวนี้เคยมาที่นี่ปีละครั้ง ได้พบเห็นรอยใหม่ ๆ ในวันนี้เอง ถ้ามันมาในถิ่นนี้ ก็จะมาร้องเล่นที่กองทรายที่ครูบาอยู่นี่ทุกปี หมู่ผมจึงจะมารับเอาครูบาหนีจากที่นี่ไปก่อน เมื่อมันหนีไปจึงกลับคืนมาใหม่อีกก็ได้ ภายใน ๕ วันนี้ มันก็จะหนีจากถิ่นนี้ไป ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจพูดกับนายพรานป่าไปว่า อาตมาไม่หนี มันจะมาที่นี่ก็ให้มา มันจะกินก็ยอมให้มันกิน เมื่อได้ทำกรรมต่อกันเอาไว้ ก็ให้มันกินเป็นอาหารเสีย ให้สิ้นเวรสิ้นกรรมต่อกันไป นายพรานก็ไม่ยอมฟังเสียงที่เราพูดแต่อย่างใด พากันเข้ามาเก็บเอาบาตร เก็บเอากลดจะพาหนีไปให้ได้ เขาพูดว่า ถึงยังไง ก็ต้องให้ชีวิตปลอดภัยไว้ก่อนเถอะครูบา ข้าพเจ้าก็ทำท่าดุว่า อาตมาไม่ใช่พระกรรมฐานผู้กลัวตาย ถ้ากลัวตายจะมาอยู่ในที่นี่ทำไม เสือโคร่งจะกินอาตมาในคืนนี้ก็ให้มันกิน
ไปซิ เอาเถอะนะ ถ้ากรรมเวรไม่เคยกระทำต่อกันมา เสือก็ไม่ทำอะไรให้แก่อาตมาแต่อย่างใด เมื่อนายพรานอ้อนวอนข้าพเจ้าไม่สำเร็จก็พากันกลับไป
พอตกค่ำตะวันลับแสง ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางใจ เริ่มจะกลัวเสือขึ้นมา บรรยากาศในป่าใหญ่ก็ดูเหมือนผิดปกติทั้งหมด แสงเดือนที่เคยมีแสงสว่างเจิดจ้าเหมือนกับว่าเป็นแสงมืดสลัวไป สัตว์ป่านานาชนิดที่เคยร้องประสานเสียงกัน แต่ในวันนั้น สงบเงียบเหมือนไม่มีสัตว์ในถิ่นนั้นเลย เมื่อตกค่ำเข้าจริง ๆ สิ่งที่ทำให้เราเพลิดเพลินเจริญใจ ก็ทำให้เราเกิดความวิตกกังวล มองไปเห็นก้อนหินและพุ่มไม้ก็เข้าใจว่าเป็นเสือไปทั้งหมด หูได้ยินเสียงใบไม้กิ่งไม้หักหล่น ก็นึกว่าเสือเข้ามาหาตัวเอง เพราะนายพรานเขาบอกว่า เวลาประมาณไม่เกิน ๓ ทุ่ม เสือตัวนี้จะมาวิ่งเล่นร้องคำรามอยู่ในที่แห่งนี้ นี่เวลาก็ประมาณ ๒ ทุ่มแล้ว ความกลัวและความกล้ารู้สึกว่ามีเท่า ๆ กัน สัญญาเก่าอีกอย่างหนึ่งในสมัยเป็นเด็ก ผู้เฒ่าเล่าให้ฟังว่า เมื่อเวลาเสือโคร่งใหญ่จะออกไปหากินในทางทิศไหน ก็จะมีลมพัดผ่านไปล่วงหน้า เพื่อเป็นสัญญาเตือนสัตว์ทั้งหลายให้รู้ตัวเอาไว้ สัตว์ที่ยังไม่ถึงแก่ความตายก็จะได้กลิ่นเสือ แล้วหาที่หลบซ่อนตัวในที่ต่าง ๆ ให้ปลอดภัย สัตว์ตัวไหนจะเป็นอาหารเสือ สัตว์ตัวนั้นก็จะไม่ได้กลิ่นเสือเลย นี่เป็นอาถรรพ์ลางบอกเหตุให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ในขณะที่ข้าพเจ้าเดินจงกรมอยู่ ก็ปรากฏว่า มีลมพัดผ่านเบา ๆ เรี่ยราดมาตามใบหญ้า ก็เกิดสัญญาความจำ คำพูดของผู้เฒ่าเข้ามาฝังใจว่า เสือใหญ่ตัวนี้กำลังเดินเข้ามายังสถานที่เราอยู่นี้แล้ว เมื่อเสือเห็นเรา ก็จะกระโจนกัดกินเป็นอาหารทันที ถ้าคิดว่าจะหนีไปจากที่นี่ ก็คิดละอายตัวเองว่า ทำไมพระกรรมฐานจึงขี้ขลาดกลัวตายไม่ละอายหมู่เทวดาบ้างหรือไง เราเป็นพระผู้อุทิศตัวไว้แล้วในพระพุทธศาสนา ชีวิตจะเป็นอย่างไร กรรมเป็นผู้ตัดสินให้เอง เมื่อเรามาถึงจุดนี้แล้ว จะถดถอยตัวออกไปไม่ได้เลย จะเป็นตายร้ายดีอย่าไร ก็ขอมอบกายถวายชีวิตนี้เพื่อบูชาคุณพระพุทธเจ้า บูชาคุณพระธรรม และบูชาคุณพระอริยสงฆ์ จึงได้อธิษฐานว่า ถ้าหากเราเคยได้ทำกรรมเวรกับเสือตัวนี้มาแล้ว ก็ให้เสือกินเราเป็นอาหารไปเสีย และให้หมดกรรมหมดเวรต่อกันไป ถ้าไม่เคยทำกรรมต่อกันเอาไว้ ก็ขออย่าให้เสือตัวนี้ทำอะไรแก่ข้าพเจ้าได้เลย ดังคำว่า ธมฺโมหเว รกฺขติ ธมฺมจาริ ธรรมย่อมตามรักษาผู้ประพฤติธรรม ปฏิบัติธรรมกรรมยังไม่ถึงที่สุดย่อมผ่านพ้นไปได้ เมื่อมีปัญญาคิดได้อย่างนี้แล้ว จึงเกิดกำลังใจขึ้นมาและมีความกล้าหาญภายในใจอย่างเข้มแข็ง พร้อมที่จะเผชิญเสือโคร่งตัวนี้ได้อย่างมั่นใจ
อย่างไรก็ตาม เราจะนั่งสมาธิภาวนาอยู่ที่นี่ก่อนเสือจะมาถึง ที่นี่มีช่องทางเดียวที่เสือตัวนี้ขึ้นลงไปมาเป็นประจำ ถ้าเราจะนั่งหันหน้าไปที่ช่องทางที่เสือจะมา ก็คิดว่าจะอดลืมตาดูไม่ได้ ถ้าจะนั่งหันข้างออก ก็จะอดชำเลืองตาไปดูไม่ได้เช่นกัน จึงตัดสินใจนั่งหันหลังให้กับช่องทางที่เสือจะขึ้นมาเสีย เมื่อมันขึ้นมาเห็นเรา จะได้กระโดดคาบคอเอาไปกินเป็นอาหารทันที
ในขณะนั่งสมาธิอยู่นั้น ได้ตั้งใจไว้ว่า การนั่งสมาธิครั้งนี้ อาจจะได้นั่งเป็นครั้งสุดท้ายของชีวิตก็เป็นได้ เมื่ออธิษฐานจิตเรียบร้อยแล้วก็ตั้งใจนึกคำบริกรรมต่อไป เมื่อจิตมีความสงบพอ
สมควร ก็หยุดคำบริกรรมเอาไว้ แล้วกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกเอาไว้ไม่ให้เผลอ เมื่อกำหนดดูลมหายใจในความรู้สึกว่า มีความละเอียดเต็มที่ สติกับผู้รู้มีความสัมพันธ์กันอย่างสนิทละเอียด จนถึงขั้นมีความละเอียดเต็มที่ จากนั้น จิตก็ลงสู่ความสงบอย่างเต็มภูมิ เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิ เวลาก็ประมาณตี ๒ คิดว่าเสือโคร่งใหญ่คงไม่มาที่นี่แล้ว จากนั้น ก็ไปภาวนาอยู่ในกลด ใช้ปัญญาพิจารณาในสัจธรรมให้ต่อเนื่องกัน เมื่อสว่างแล้ว เพื่อความมั่นใจ จึงได้เดินไปดูในช่องทางที่เสือเคยขึ้นมา พุทโธ่เอ๋ย รอยเสือโคร่งใหญ่ตัวนั้น ห่างจากตัวเราเพียง ๓ เมตรเท่านั้น คิดว่าเสือตัวนี้คงยืนดูตัวเราในขณะที่เราทำสมาธิอยู่นั่นเอง จากนั้น ก็เกิดความมั่นใจในตัวเองเป็นอย่างมากว่า ชีวิตนี้เราจะไม่ตายเนื่องจากเสือกินแน่นอน และเชื่อมั่นอย่างสนิทใจว่า พระธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมอย่างฝังใจ จากนั้น ก็ออกบิณฑบาตตามปกติ ขณะที่ออกเดินบิณฑบาต ก็ไปพบกับนายพรานกลุ่มเดิมเดินมาอย่างรีบร้อน มีอาวุธครบมือ เมื่อเห็นหน้าข้าพเจ้า เขาพูดว่า แหม กระผมนอนไม่หลับทั้งคืน คิดเป็นห่วงครูบามาก คิดว่าเสือโคร่งคาบเอาครูบาไปกินแล้ว หมู่ผมจึงพากันตามขึ้นมาดู
นายพรานพูดว่า เมื่อคืนนี้ เสือโคร่งใหญ่ตัวนั้น ได้เข้าไปเอาควายในหมู่บ้านมากินอยู่ที่ดานอีสุกนี้เอง ที่นั่นห่างจากที่ข้าพเจ้าอยู่ประมาณ ๑๕ เส้นเท่านั้น จึงได้บอกกับนายพรานไปว่า เมื่อคืนนี้ เห็นรอยเสือเข้ามาหาเช่นกัน จากนั้น ก็ลงไปบิณฑบาต ส่วนนายพรานก็กลับบ้านไป ต่อมา หลังจากออกพรรษาแล้ว ข้าพเจ้าก็ลาหมู่คณะไปธุดงค์ในที่ต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะไปตาม
บ้านนอกที่ห่างไกลความเจริญ ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น ไม่หวั่นกลัวต่อความตายแต่อย่างใด
ในคืนหนึ่ง ขณะที่ภาวนาจนจิตมีความสงบได้ที่แล้ว เกิดนิมิตขึ้นมา ปรากฏเห็นภูเขาสูงต่อหน้า เป็นหน้าผาสูงชันจนมองสุดสายตา ความยาวก็ประมาณ ๑ กิโลเมตร มีฝูงชนเป็นจำนวนมากกำลังปีนป่ายอยู่หน้าผานั้น แล้วมีเสียงประกาศมาว่า ใครมีความสามารถปีนป่ายขึ้นไปตามหน้าผานี้ได้ ผู้นั้นจะข้ามกระแสของโลกนี้ไป คนทั้งหลายเมื่อได้ยินเสียงประกาศนี้ ก็พากันกระโดดปีนป่ายตามหน้าผานั้นเป็นทิวแถว กระโดดขึ้นทีไรก็ตกลงมาอยู่ที่เดิม ไม่เห็นใครปีนป่ายขึ้นไปได้สักคนเดียว ในขณะนั้น ตัวข้าพเจ้ามีความมั่นใจเต็มที่ว่า เรามีความสามารถปีนป่ายขึ้นไปตามหน้าผานี้ได้อย่างแน่นอน จากนั้น ก็เดินออกไป เมื่อผ่านฝูงชนเข้าไปถึงหน้าผาแล้ว ก็ยกมืออธิษฐานว่า ถ้าข้าพเจ้าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ในชาตินี้แล้ว ขอให้ข้าพเจ้าปีนป่ายขึ้นไปตาม
หน้าผาให้ถึงที่สุดเถิด เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้วก็กระโดดขึ้นเต็มกำลัง พอมือและเท้าแตะหน้าผาเท่านั้น ปรากฏว่า มือและเท้าเกาะหน้าผาได้อย่างเหนียวแน่น จากนั้น ก็วิ่งขึ้นไปตามหน้าผานั้นอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงที่สุดของหน้าผาแล้ว ตาก็มองลงมาข้างล่าง เห็นฝูงชนทั้งหลายร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า ช่วยด้วย ๆ บางคนก็ยกมืออนุโมทนาสาธุการ
เมื่อขึ้นไปถึงสถานที่นั้นแล้ว พบว่าเป็นลานหินที่เรียบราบ แล้วมีเสียงประกาศขึ้นมาว่า ให้ท่านเดินตามทางเล็ก ๆ นี้ขึ้นไป แล้วจะถึงชั้นที่สอง และเดินต่อไปอีกจะถึงชั้นที่สาม เดินขึ้นต่อไปอีกจะถึงชั้นที่สี่ เมื่อถึงชั้นที่สี่นี้แล้ว จะไม่ได้ลงมาเกิดในโลกมนุษย์นี้อีก จากนั้น ข้าพเจ้าเดินตามเส้นทางเล็กนี้ขึ้นไปถึงชั้นที่สอง แล้วเดินขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงชั้นที่สาม เมื่อขึ้นไปถึงชั้นที่สามแล้ว พบปราสาทชั้นเดียวสวยงามมากอยู่ติดกับริมทางพอดี เมื่อไปถึงที่นี้ ก็มีโยมผู้หญิงคนหนึ่งออกจากปราสาทมาต้อนรับ ผู้หญิงคนนั้นมีความสวยงามมาก อายุก็อยู่ในวัยสาวเต็มที่ กิริยา
ท่าทางให้ความเป็นกันเองทั้งหมด การนอบน้อมกราบไหว้มีความอ่อนช้อยสวยงาม แล้วพูดออกมาว่า พระคุณเจ้าเดินทางมาเหนื่อย ขอนิมนต์พระคุณเจ้าเข้าพักผ่อนในปราสาทหลังนี้ก่อน ฉันน้ำให้มีความสบายใจก่อนเจ้าค่ะ ขอนิมนต์พระคุณเจ้าได้พักอยู่ที่นี่นาน ๆ ชั้นที่สี่อยู่ใกล้นิดเดียว ขึ้นไปเวลาไหนก็ได้ ข้าพเจ้าได้พูดไปว่า ไม่หรอก อาตมาต้องการจะไปให้ถึงชั้นที่สี่ในขณะนี้เอง ขอบใจนะ อาตมาจะไม่พักที่นี่ จากนั้น ก็ออกเดินทางต่อไป ชั้นที่สี่นี้มีความสูงชันอยู่มาก แต่เส้นทางเดินราบเรียบขึ้นไปเป็นอย่างดี เมื่อเดินขึ้นไปตามเส้นทางนี้ ถึงจะเป็นภูเขาสูงชัน ก็เดินขึ้นไปอย่างสะดวกสบาย ไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแต่อย่างใด เมื่อขึ้นไปถึงชั้นที่สี่แล้ว สภาพรอบด้านมีการเปลี่ยนไป มองไปที่ไหนไม่เห็นอะไรเลย มีแต่ความเวิ้งว้างไปเสียทั้งหมด จากนั้น จิตก็ได้ถอนออกจากสมาธิมา เหมือนกับว่าอยู่ในเหตุการณ์จริง จากนั้น ก็มาใช้ปัญญาพิจารณาในนิมิตที่เกิดขึ้นว่ามีความหมายไปในทางใดและหมายถึงอะไร ก็ใช้ปัญญาพิจารณาได้ความขึ้นมาอย่างชัดเจน เพราะเรื่องนิมิตนั้นเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติส่วนตัวทั้งหมด เป็นนิมิตหมายไปในทาง
ที่ดี จึงทำให้มีกำลังใจภาวนาปฏิบัติอย่างเต็มที่ พรรษานี้ ตั้งใจเอาไว้ว่าจะมาจำพรรษาที่วัดป่าหนองแซง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี

พรรษาที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๐๖
เมื่อออกจากภาวนาปฏิบัติในสถานที่ต่าง ๆ มาแล้ว ในช่วงฤดูกาลเข้าพรรษาก็เข้ามาอยู่วัดป่าหนองแซง กับ หลวงปู่บัว สิริปุณโณ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ ปีนั้น มีพระอาจารย์สิงห์ทองเป็นพระเถระผู้ใหญ่จำพรรษาอยู่ด้วย จะขอเล่าประวัติของหลวงปู่บัวให้ท่านรู้ไว้สักเล็กน้อย หลวงปู่บัวท่านเป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่ เดิมท่านอยู่จังหวัดร้อยเอ็ด ท่านไม่ได้รับการศึกษาเลย อ่านหนังสือไม่ได้ เขียนไม่เป็น ท่านมีนิสัยชอบภาวนาปฏิบัติธรรมมาแต่วัยหนุ่ม จากนั้น ก็ได้แต่งงานไปตามประเพณีนิยม แต่ท่านก็ภาวนาปฏิบัติธรรมมิได้ขาด ส่วนมากท่านหนักไปในวิธีทำสมาธิเป็นหลักแล้วใช้ปัญญาพิจารณาทีหลัง ดำรงชีพอยู่เป็นฆราวาสจนถึงอายุ ๕๐ ปี ท่านก็ได้ออกบวชเป็นตาปะขาว ติดตามครูอาจารย์ไปหลายที่หลายแห่ง ท่านมีนิสัยที่อ่อนน้อมถ่อมตัว ปรนนิบัติครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพ การขานนาคก็ว่าตามครูอาจารย์ด้วยปากเปล่า กว่าจะท่องคำขานนาคได้ก็ใช้เวลาถึง ๓ ปี จึงได้บวชเป็นพระ ท่านมีความตั้งใจในการภาวนาปฏิบัติอย่างจริงจัง ได้ฟังธรรมจากหลวงปู่มั่นเป็นประจำ เมื่อฟังธรรมมาแล้ว ก็พิจารณาในธรรมนั้นด้วยเหตุด้วยผล ผู้ไม่มีความรู้ทางปริยัติมาก่อน ภารภาวนาปฏิบัติย่อมรู้เห็นในสัจธรรมได้ง่าย ต่างกันกับผู้เรียนหนังสือที่มีความรู้มากทีเดียว เพราะปัญญาที่ใช้กับการพิจารณานั้น เป็นปัญญาที่ฝึกฝนออกมาจากใจล้วน ๆ ไม่มีคำว่าปริยัติเข้ามาเจือปนแต่อย่างใด ไม่เกิดความสงสัยลังเลในหมวดธรรมต่าง ๆ ว่าพิจารณาไปอย่างนี้ถูกกับธรรมหมวดใด ไม่ได้เกิดความกังวล ท่านได้เข้าใจในเรื่องของสัจธรรมดี มีปัญญาพิจารณาเรื่องของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีความคล่องตัวมาก จะพิจารณาเรื่องอสุภะ หรือพิจารณาเรื่องความตายและสัจธรรมทั้งหลาย เป็นปัจจัตตังเฉพาะตัวท่านเอง นี่เป็นประวัติย่อ ๆ ของหลวงปู่บัว
กลับมาดูประวัติส่วนตัวบ้าง นิสัยส่วนตัวแล้ว เป็นผู้ไม่ชอบฟังเทศน์มาก มีคติส่วนตัวว่าถ้าฟังเทศน์มากไป ความรู้ที่ได้จากการฟังเทศน์ก็จะจดจำมากเกินไป ตัวเองจะไม่ได้ใช้ปัญญาคิดหาเหตุผลด้วยตนเอง ถึงท่านจะอธิบายธรรมะไปอย่างยืดยาว เราก็ตั้งใจฟังด้วยความเคารพ แต่พยายามจดจำเอาธรรมะของท่านเป็นบางอุบายเท่านั้น ที่เห็นว่าอุบายธรรมนั้นเข้ากันได้กับนิสัยตัวเอง แล้วนำเอาอุบายธรรมะนั้นไปใช้ปัญญาพิจารณาด้วยตนเอง ไม่จำเป็นจะไปเลียนแบบตามประโยคที่ท่านอธิบายไปทั้งหมด นั้นเป็นสำนวนโวหารปฏิภาณของท่าน ส่วนโวหารปฏิภาณของเรา เราต้องใช้สติปัญญาความสามารถจากตัวเราเอง ปัญญาเรามีความฉลาดเฉียบแหลมมากน้อยแค่ไหน ก็จะเป็นปัญญาความสามารถเราทั้งหมด จึงเป็นปัญญาที่เราสร้างขึ้นมาโดยตรง ถ้าไปเลียนแบบจากผู้อื่นมากเกินไป ก็จะเป็นปัญญาในสัญญาทางปริยัติไปเสียทั้งหมด ผลของการปฏิบัติก็จะออกมาไม่หนักแน่นพอ เหมือนกับสิ่งของที่เราสร้างขึ้นมาด้วยกำลังหยาดเหงื่อของเรา ในความรู้สึกในส่วนลึกของหัวใจแล้ว ย่อมเอาใจใส่รักษาเป็นพิเศษ ส่วนสิ่งของที่ขอจากคนอื่นมาได้ หรือยืมจากผู้อื่นมา การเก็บรักษา การดูแลใช้งาน ความเอาใจใส่นั้นน้อยมาก หรือเหมือนกันกับลูกที่เกิดจากก้อนเลือดของเราโดยตรง กับลูกที่ขอมาจากคนอื่น ความรัก ความสนิท ความเอาใจใส่ จะมีความต่างกันแน่นอน นี้ฉันใด ปัญญาที่เราฝึกฝนอบรมจากความโง่จนมีความรู้ฉลาดในเหตุในผล มีความฉลาดรอบรู้ที่เกิดจากความสามารถของเรา ความเชื่อมั่นในตัวเองจะมีความภูมิใจสูงมากทีเดียว เราสามารถแก้ปัญหาในส่วนตัวเราได้ จึงว่าตนแลเป็นที่พึ่งของตนได้อย่างมั่นคง ถ้าหากความรู้ความคิดที่ไปเลียนแบบจากผู้อื่นมากไป การใช้ปัญญาพิจารณาในหมวดธรรมต่าง ๆ ก็รู้เพียงเป็นหลักการเท่านั้น แต่บางปัญหา การศึกษาเรายังเรียนไม่ถึง เราก็จะงงเป็นไก่ตาแตกอยู่นั่นเอง
เหมือนกันกับพระโปฐิละ แบกตำราพระไตรปิฎกศึกษามาอย่างโชกโชน ธรรมหมวดไหนมีความหมายอย่างไรรู้ไปหมด การแสดงธรรมออกมาในหมวดไหน ก็ทำให้คนอื่นเข้าใจได้ แต่ความรู้ของพระโปฐิละที่เลียนแบบจากผู้อื่นมานั้นแก้ปัญหาให้ตัวเองไม่ได้เลย เพราะพระโปฐิละไม่มีปัญญาความฉลาดเฉียบแหลมในตัวเอง ในคำว่าความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด ก็เป็นในลักษณะนี้ หรือเรียกว่าผู้แบกคัมภีร์เปล่า เมื่อข้าพเจ้าได้อ่านประวัติของพระโปฐิละนี้แล้ว จึงเป็นคติเตือนตัวเองได้เป็นอย่างดี ฉะนั้น การฟังเทศน์เพื่อหาเอาความรู้จากครูอาจารย์นั้น ถ้าหากปัญญาอยู่ในตัวมีความฉลาดอยู่บ้าง ก็พอจะเลือกเฟ้นเอาธรรมะมาปฏิบัติได้ ถ้ามีปัญญาทรามก็จะเป็นเหมือนกับพระโปฐิละนั่นเอง การพูดออกมาอย่างนี้มิได้เกิดความประมาทในปริยัติ มีความเคารพในปริยัติอย่างเหนือเกล้าจริง ๆ การศึกษาในธรรมะก็ศึกษาเป็นพิเศษ เมื่อศึกษามาแล้ว ก็ต้องมาเลือกอีกครั้งหนึ่ง ว่าธรรมหมวดไหนพอจะนำมาแก้ปัญหาของตัวเองได้ ก็เอาธรรมหมวดนั้นมาปฏิบัติให้มาก เหมือนผู้รู้จักในอาการเจ็บไข้ได้ป่วยของตัวเอง ย่อมจะสังเกตในตัวเองได้ว่า ป่วยเป็นโรคอะไร ควรจะกินยาอะไร โรคจึงจะหาย ก็เลือกเอายาอย่างนั้นมากินโดยตรง เมื่อยาถูกกับโรค โรคก็จะบรรเทาและหายไปในที่สุด มิใช่ว่าตำรายาทุกอย่างรู้ไปทั้งหมด แต่เมื่อตัวเองมีการเจ็บป่วยขึ้นมา กลับไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ นี้ฉันใด ความรู้ที่เรียนมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงหลักการที่กว้างขวางมาก แต่ยากที่จะเลือกเฟ้นเอาข้อธรรมหมวด
นั้น ๆ มาแก้กิเลสตัณหาของตัวเองได้เพราะขาดความฉลาดทางปัญญานั่นเอง จำเป็นก็ต้อง
ลูบคลำในตำราตลอดไป ในคำโบราณพูดไว้ว่า บอดชอบอวดฉลาด นี้มีมูลความจริงอยู่มาก
ทีเดียว ตัวท่านอาจจะได้สัมผัสมาแล้ว
ข้าพเจ้าเองชอบอุบายธรรมะของหลวงปู่บัวมากทีเดียว ท่านชอบให้อุบายแก่พระเณร
สั้น ๆ ต้องการให้พระเณรฝึกปัญญาด้วยตนเอง ท่านชอบให้เป็นผู้ช่างคิดในเหตุผล ฝึกตนให้เป็นนักสังเกต ฝึกการดำริพิจารณาด้วยปัญญาอยู่เสมอ ในวันหนึ่ง หลังจากที่สรงน้ำท่านเสร็จแล้ว ขึ้นไปกราบคอยรับฟังอุบายธรรมะจากหลวงปู่ หลวงปู่ให้ข้อธรรมะบทหนึ่งว่า หมามันมีอารมณ์ชอบเที่ยวตามกาลเวลาก็ไม่ถือว่าเลวมาก แต่ใจคนเรายิ่งเลวกว่าหมาเพราะไม่มีกาลเวลา แหม พอได้ฟังอุบายธรรมเพียงเท่านี้ จึงกระตุกถูกเส้นของพระกรรมฐานจริง ๆ จากนั้นก็กราบลาลงกุฏิไป ทุกองค์มองหน้ากันแทบไม่ติด ไม่รู้ว่าธรรมะข้อนี้โดนหัวใจของใครบ้าง แต่ผู้เขียนนี้โดยเข้าอย่างจังเชียวแหละ ก็ให้เกิดความสำนึกในตัวเองมากขึ้น อย่าให้มันเลยเถิดเกินหมาไป ให้มีความละอายต่อหมาเอาไว้บ้าง ทุกครั้งเมื่อท่านพูดออกมา ไม่ว่าอยู่ในสถานที่ไหน จะเป็นอุบายธรรมออกมาให้ได้ใช้ปัญญาคิดพิจารณาอยู่เสมอ อีกครั้งหนึ่ง พระสององค์มีทิฏฐิไม่ตรงกัน เกิดความขัดแย้งกันเรื่องอะไรไม่ทราบ เมื่อสรงน้ำท่านเสร็จแล้ว ก็พากันขึ้นไปกราบคอยฟังโอวาทจากหลวงปู่ วันนั้น หลวงปู่พูดว่า เอ.. เมื่อคืนนี้ เห็นหมาสองตัวแยกเขี้ยวใส่กัน เท่านั้น ท่านก็หยุดไม่พูดอะไรอีก จากนั้น ก็พากันกราบหลวงปู่แล้วก็ลงจากกุฏิมา แล้วก็กระซิบกระซาบกันว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นหรือ เมื่อสอบถามกันไปมาก็รู้ว่ามีพระสององค์ขัดแย้งกันจริง ๆ พระสององค์นั้นรู้สึกว่ามีความละอายต่อหมู่คณะอยู่มากทีเดียว องค์อื่นที่ยังไม่มีเรื่องอะไรต่อกัน ก็พยายามรักษาในคำพูดของตัวเองเป็นอย่างดี จะไม่ให้มีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง
ในวันลงปาฏิโมกข์ต่อมา หลังจากสวดปาฏิโมกข์เสร็จแล้ว หลวงปู่บัวก็ได้พูดให้สติแก่พระเณรว่า ในวัดนี้ต้องการความสงบ ใครจะมาถกเถียงกันในวัดนี้ไม่ได้ ต่อไปถ้าใครมาขัดแย้งกันในเรื่องใดก็ตาม จะให้ออกจากวัดนี้ทันที ในช่วงนั้นอยู่ในระหว่างเข้าพรรษาด้วย แต่ก็โชคดีไม่มีพระองค์ใดฝืนคำเตือนของหลวงปู่ ทุกองค์มีความตั้งใจภาวนาปฏิบัติอย่างเต็มที่ ในคืนหนึ่ง ข้าพเจ้านิมิตเห็นหลวงปู่บัวเข้ามาหาแล้วพูดว่า ท่านทูล ลงมานี่ จะพาไปเที่ยว เมื่อข้าพเจ้าลงมาแล้ว ก็เดินตามหลังหลวงปู่ไป ในขณะนั้น มีลำธารใหญ่ขวางหน้าอยู่ ลำธารนั้นกว้างประมาณ ๘ เมตร มีฝั่งที่สูงชันมาก ลึกก็ประมาณ ๘ เมตร มีน้ำไหลเชี่ยวมาก มองดูจนสุดสายตา เห็นคนล่องลอยมาตามกระแสน้ำนั้นเป็นจำนวนมาก มีทั้งคนเฒ่าคนแก่หญิงชาย ถูกกระแสน้ำพัดไหลมาเป็นแพ ดูแล้วทุกคนมีความกลัวตายเป็นอย่างมากทีเดียว ทุกคนหวังเอาตัวรอดในชีวิตเพื่อไม่ให้ตัวเองตาย ใครยังมีกำลังดีอยู่ก็กอดเอาผู้มีกำลังน้อยลอยเป็นเรือพาไป ผู้ที่มีกำลังเท่าเทียมกันก็กอดรัดฟัดเหวี่ยงกันไปมา เพื่อตัวเองจะได้อยู่ข้างบน ไม่ว่าหญิงกอดชาย หรือว่าชายกอดหญิงมั่วกันไปหมด บางคนก็ร้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น หลาย ๆ คนพากันปีนป่ายเข้าหาฝั่งเพื่อหาทางขึ้น แต่เกาะฝั่งไว้ไม่อยู่เลยหลุดลอยไป บางคนก็เป็นศพลอยมาน่าอนาถใจ มีทั้งผู้ใหญ่และเด็กถูกกระแสน้ำพัดไป ไม่รู้ว่ากระแสน้ำจะสิ้นสุดกันที่ไหน ต้นทางของน้ำและคนที่ตกลงไปในน้ำนั้น ไม่รู้ว่ามาจากไหน มองไปจนสุดสายตาก็ไม่เห็นที่มาของน้ำและฝูงชนนี้เลย
ในลำธารนั้นมีไม้ไผ่ลำเดียว ใหญ่ขนาดแขนพาดเอาไว้ หลวงปู่บัวท่านก็เดินไปตามไม้ไผ่นั้นแล้วข้ามไปได้ จากนั้น หลวงปู่ก็หันหน้ากลับคืนมาแล้วกวักมือเรียกว่า ให้รีบข้ามตามผมมาเดี๋ยวนี้ ก็คิดในใจว่า เมื่อหลวงปู่ข้ามไปได้ ทำไมเราจะข้ามไปไม่ได้ จากนั้น ก็ตั้งใจเดินไปตาม
ลำไผ่นั้น ลำไผ่นั้นวางเฉย ๆ แทนที่จะกระดกไปมา ในขณะที่เดินตามลำไผ่นั้น ไม้ไผ่มีความ
แข็งแรงมาก ไม่มีความอ่อนแต่อย่างใด การเดินไปมีความทรงตัวดีมาก ไม่มีการเอนเอียงแต่
อย่างใด ในที่สุด ก็ข้ามไปได้อย่างปลอดภัย เมื่อถึงฝั่งนั้นแล้ว หลวงปู่ถามว่าเห็นอะไรในลำธารนั้นไหม ก็ตอบหลวงปู่ไปว่า เห็นครับ หลวงปู่พูดต่อไปว่า โลกนี้มันเป็นอยู่อย่างนี้ จากนั้น จิตก็ถอนออกจากสมาธิ เมื่อจิตได้ถอนออกจากสมาธิมาแล้ว ได้เรียบเรียงดูเหตุการณ์ของนิมิตที่เกิดขึ้น แล้วใช้ปัญญาพิจารณาดูในความหมายในภาพนิมิตนั้นให้ชัดเจน ก็รู้เห็นความเป็นจริงในหมู่มนุษยโลกทั้งหลายว่า ความจริงนี้มีมาแล้วในอดีตกาลยาวนานไม่มีที่กำหนด เมื่อทุกคนเกิดขึ้นมาในโลกนี้แล้ว ผู้จะไม่ตกอยู่ในกระแสโลกอย่างนี้มีน้อยมาก จะมีเฉพาะพระอริยเจ้าเท่านั้น
นอกนั้น ถึงจะมีบุญกุศลอย่างไร ก็เพียงไปพักแรมอยู่ในเทวโลกหรือพรหมโลกชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหมดบุญกุศลแล้วก็ลงมาเกิดเป็นมนุษย์อีกตามเดิม ความหลงใหลในราคะตัณหาก็จะพาให้ตกต่ำทำกรรมชั่วได้ ใจที่มีราคะตัณหาครอบงำมากเท่าไร การตกไปในกระแสโลกก็ยิ่งลึกลงไปเท่านั้น ไม่รู้ว่าจะโผล่หัวยกตัวขึ้นจากกระแสโลกเมื่อไร เมื่อตัวเองยังมีความพอใจยินดีว่าโลกนี้เป็นสถานที่น่าอยู่ ก็ให้รู้ตัวเองเสียว่า กำลังผูกมัดตัวเองให้ติดอยู่กับโลกนี้ต่อไป เราเองเคยลอยตามกระแสของโลกนี้มาแล้วยาวนาน ความสุขความทุกข์ที่มีอยู่ในโลกนี้ ตัวเองก็เคยได้สัมผัสมาแล้ว ตัวเองยังจะมีความยินดีผูกพันอยู่กับโลกนี้ต้อไปอีกหรือ ดูซิ ที่มีฝูงชนลอยตามกระแสน้ำนี้ไปเป็นจำนวนมาก ไม่รู้ว่าจะมีที่สิ้นสุดกันตรงไหน ตราบใดที่ยังมีกระแสของกิเลสตัณหาฝังอยู่ในใจ การลอยไปตามกระแสโลกก็จะหาที่สิ้นสุดไม่ได้เลย โลกนี้มีดีอะไร ทำไมเราจึงมาหลงติดอยู่กับโลกนี้ ดูซิว่าความสุขของโลกที่แท้จริงมีอยู่
ที่ไหน ความเข้าใจว่ากามคุณพาให้เกิดความสุขนั้น มันเป็นเพียงน้ำตาลอาบยาพิษเอาไว้เท่านั้น สักวันหนึ่ง เมื่อน้ำตาลละลายตัวไป ยาพิษก็จะแสดงฤทธิ์ขึ้นมาทันที ครั้งนี้แหละ น้ำตาจะได้เช็ดหัวเข่า ดังคำว่า ปิยโต ชายเต โสโก ความโศกเกิดขึ้นจากความรักมิใช่หรือ ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นจากความยินดี ความโศก ความทุกข์ เป็นผลเนื่องจากตัณหามิใช่หรือ ฉะนั้น ความอยากในตัณหาที่มีอยู่ในกามคุณมันจะสิ้นสุดลงไปได้เมื่อไร สิ้นสุดไม่ได้เพราะเป็นรากแก้วของวัฏสงสาร เมื่อตัณหากับกามคุณมีความสัมพันธ์กันอยู่ ตัวเองก็จะได้ลอยตามกระแสของโลกนี้ตลอดไป ดังคำว่า นตฺถิ ตณฺหา สมา นที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี ทำไมตัวเองจึงไม่เห็นทุกข์เห็นโทษเห็นภัยอันมีอยู่ในโลกนี้เล่า จะเอาอะไรในโลกนี้มาเป็นสมบัติส่วนตัวที่แน่นอนไม่ได้ ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านี้เอง จะเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ จะหาความสุขที่แท้จริงไม่พบจนตลอดวันตาย
การเกิดนิมิตขึ้นในครั้งนี้ เป็นอุบายที่ดีในการใช้ปัญญาพิจารณาเป็นอย่างมาก เมื่อหากท่านได้พบนิมิตเป็นอย่างนี้ ไม่ทราบว่าท่านจะมีปัญญาพิจารณาได้หรือเปล่า ถ้าปัญญาไม่ถึงจะเกิดนิมิตขึ้นในลักษณะอย่างไร ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย จะนำมาเป็นอุบายในการปฏิบัติก็
ไม่ได้ ฉะนั้น จงสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นกับตัวเองให้ได้ เพื่อจะได้เป็นอุบายสอนใจตัวเอง ใจเราถ้าขาดปัญญาอบรมสั่งสอนในทางที่ดีแล้ว เหมือนใจที่หมดคุณค่าไปเลย ขณะนี้ใจเราถูกกิเลสตัณหาชักจูงไปในทางที่ต่ำอยู่ตลอดเวลา ความคิดความเห็นของใจก็ได้เอนเอียงไปตามกิเลสตัณหาอยู่มาก จนเป็นนิสัยคุ้นเคยในสิ่งที่ต่ำทรามมาแล้วจนลืมตัว เราจะปล่อยให้ใจเป็นไปในความเห็นผิดอย่างนี้ตลอดไปหรือ ทำไมเราจึงไม่สร้างปัญญาขึ้นมาอบรมใจให้รู้ตัวเอาไว้บ้าง ถ้าปัญญาให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับใจอยู่บ่อย ๆ ใจก็จะค่อยเกิดความฉลาดรอบรู้ตามความเป็นจริงได้ เพราะสรรพสังขารทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ย่อมมีมูลความจริงอยู่ในตัวของมันเอง ดังคำว่า สัพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สรรพสังขารทั้งหลายย่อมมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีสติปัญญาที่ฉลาดเฉียบแหลม ก็มีความสามารถรู้เห็นตามหลักความเป็นจริงได้ ถ้าไม่มีความฉลาดทางปัญญา ถึงครูอาจารย์จะอธิบายธรรมให้ฟัง ก็ยังเกิดความลังเลสงสัยภายในใจอยู่นั่นเอง ถึงตัวเราพิจารณาด้วยปัญญาอยู่บ้าง ก็เกิดความไม่แน่ใจในตัวเองว่าผิดหรือถูก ไม่สามารถตัดสินใจในความรู้เห็นเฉพาะตัวได้เลย หลวงปู่บัวท่านมีนิสัยไม่พูดมาก แต่ก็ให้อุบายธรรมในวิธีต่าง ๆ เพื่อให้พระเณรได้ใช้ปัญญาพิจารณาด้วยตัวเอง ถ้าผู้มีปัญญาที่ฉลาดก็สามารถนำเอาอุบายธรรมของหลวงปู่มาเป็นอุบายสอนตัวเองได้เป็นอย่างดีทีเดียว

หลวงปู่บอกว่าผ่านทุกข์ให้ได้
อยู่มาวันหนึ่ง หลวงปู่บัวพูดว่า ทูล เคยนั่งสมาธิ ผ่านทุกข์ หรือเปล่า ตอบท่านไปว่า ขอโอกาส กระผมไม่เคยผ่านเลย ท่านพูดว่า ในคืนนี้ผ่านทุกข์ให้ได้นะ อย่าให้แพ้ผู้หญิงเขา จึงถามหลวงปู่ต่อไปว่า ผู้หญิงที่เขาผ่านทุกข์ได้เป็นใครหลวงปู่ ท่านบอกว่า แม่สายบัวไงล่ะ เขามีความอดทนเป็นอย่างมากทีเดียว ในวันนั้น ข้าพเจ้าได้ไปถามแม่สายบัวดูว่าอุบายผ่านทุกข์ทำอย่างไร แม่สายบัวอธิบายให้ฟังว่า นี่ครูบา การจะผ่านทุกข์ไปได้นั้น เป็นสิ่งที่ยากมาก ต้องเป็นผู้มีขันติ
อดทนจริง ๆ จึงจะผ่านได้ หลวงปู่บอกให้ดิฉันผ่านทุกข์ครั้งแรกเกือบจะเอาตัวไม่รอด แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยน้ำตา คิดว่าชีวิตคงจะสิ้นสุดกันเพียงเท่านี้ ฉันเองเคยคลอดลูกมาแล้ว ๖ คน ความทุกข์ทรมานในการเจ็บปวดนั้น ทุกข์มากทีเดียว ถึงขนาดนั้นน้ำตาก็ไม่เคยออก แต่เมื่อมานั่งภาวนาเพื่อผ่านทุกข์ในคืนแรก ความทุกข์นั้นร้ายแรงกว่าการคลอดลูกจนน้ำตาไหล แต่เมื่อผ่านได้ครั้งหนึ่งแล้ว เกิดมีกำลังใจเชื่อมั่นในตัวเอง ครั้งต่อไปก็ผ่านทุกข์ได้ง่ายขึ้น เมื่อได้ฟังดังนั้นแล้ว ก็คิดขึ้นได้ว่า เขาเป็นผู้หญิงแท้ ๆ ทำไมจึงมีความกล้าหาญถึงขนาดนั้น นี่เราเป็นผู้ชายเต็มตัว ทำไมถึงจะยอมแพ้ต่อผู้หญิงเขา เราเป็นพระกรรมฐานองค์หนึ่ง ทำไมจะผ่านทุกข์ไม่ได้ ในบ่ายวันนั้น ก็รีบเดินจงกรมแต่หัวค่ำ เมื่อได้เวลาแล้วก็ขึ้นมากุฏิ เตรียมสถานที่ภาวนาให้เรียบร้อย หลังจากไหว้พระเสร็จแล้วก็ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า ในคืนนี้ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิในอิริยาบถเดียว จนถึงสว่างของวันใหม่ จะเป็นตายร้ายดีอย่างไร ชีวิตจะสิ้นสุดในคืนนี้ ก็พร้อมที่จะเสียสละ จากนั้นก็เริ่มทำสมาธิต่อไป แต่ก็เข้าใจในตัวเองดีว่า คืนวันนี้ใจมีความสงบยากมาก เป็นในลักษณะที่
แข็งกระด้างไม่ยอมสงบเลย จะเป็นเพราะมีความตั้งใจไว้สูงมาก หรือกิเลสมารเข้ามาต่อต้านในการทำสมาธิในครั้งนี้ก็เป็นได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม จะนั่งสมาธิผ่านทุกข์ในคืนนี้ให้ได้ เมื่อทำสมาธิไปประมาณ ๓ ทุ่ม ความเจ็บปวดตามขาทั้งสองก็เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงชั่วโมงที่ ๔ ความเจ็บปวดก็รุนแรงขึ้นอย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องกัดฟันอดทนต่อสู้กันต่อไป
ในช่วงที่เกิดความทุกข์อยู่นั้น มากำหนดรู้ทุกข์ที่เกิดขึ้นโดยอาการเพ่งดู เมื่อเพ่งดูเท่าไร เหมือนกับว่าเพิ่มความทุกข์มากขึ้นเท่านั้น แทบจะทนนั่งต่อไปไม่ได้เลย แต่ก็นึกถึงคำสั่งของหลวงปู่บัวขึ้นมาว่า นี่เราได้รับโอวาทจากหลวงปู่บัวมาแล้ว ท่านว่าให้เราผ่านทุกข์ให้ได้ ตัวเองก็รับคำท่านมาแล้วมิใช่หรือ ถ้าตัวเองยอมแพ้ในครั้งนี้แล้ว ครั้งต่อไปก็จะแพ้กันไปตลอด ความชนะจะมีมาจากที่ไหน เมื่อหลวงปู่ถามว่าผ่านทุกข์ได้ไหม ตัวเองจะเอาความพ่ายแพ้ไปตอบท่าน แล้วท่านจะคิดว่าอย่างไรกับเรา และเราจะเข้าหน้าท่านติดหรือไม่ ท่านคงจะคิดในใจว่า พระกรรมฐานขี้โง่ ไม่มีความอดทน ไม่มีความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เป็นพระกรรมฐานที่ไม่มีความ
จริงจังในตัวเอง จะขาดความเชื่อถือจากท่านเป็นอย่างมากทีเดียว ขณะนี้ หลวงปู่ได้ตั้งความหวังไว้กับเราว่า ทูล รีบเร่งภาวนาปฏิบัติให้ผ่านทุกข์ไปให้ได้ เมื่อผ่านไปได้ครั้งหนึ่งแล้ว ต่อไปก็จะผ่านทุกข์ได้อย่างง่ายทีเดียว และจะได้เป็นกำลังแก่พระพุทธศาสนา จะได้เป็นที่พึ่งให้แก่หมู่คณะต่อไป นี่ทูล หลวงปู่ตั้งความหวังไว้กับตัวเองอย่างนี้ ตัวเราจะทำให้หลวงปู่ผิดหวังได้หรือ ท่านคงมองการณ์ไกลไว้แล้วว่า เราจะเป็นผู้หนักแน่นในการปฏิบัติธรรม เราก็อย่าทำตัวเป็นผู้เหลวไหลไร้ความสามารถเลย หลวงปู่เอง ก่อนท่านจะได้มาเป็นผู้นำของหมู่คณะได้ ท่านก็ต้องได้ผ่านการปฏิบัติมาแล้วอย่างโชกโชน มีความอดทนหนักแน่นเข้มแข็งในการปฏิบัติมาแล้ว ผลที่ได้รับก็คือ เป็นผู้รู้จริงเห็นจริงในสัจธรรม ท่านจึงได้นำเอาอุบายการปฏิบัติของท่านมาสอนเรา เราเองต้องเอาตัวอย่างของท่านมาปฏิบัติ ให้มีความเข็มแข็งเหมือนท่านซิ ถ้าตัวเองยอมแพ้ในครั้งนี้ ถึงจะอยู่ที่ใด ก็จะรู้ตัวเองอยู่เสมอว่า นี่คือหน้าพระกรรมฐานขี้แพ้ จะไม่เกิดความละอายแต่กิเลสบ้างหรือไง เมื่อตัวเองได้ตั้งสัจจะอธิษฐานอย่างนี้แล้วยอมแพ้ จะทำให้ตัวเองไม่เกิดความเชื่อถือใน
ตัวเองเลย มีแต่จะกลายเป็นผู้ล้มเหลวเลวทราม ไม่มีความมั่นใจในตัวเองตลอดไป จะเป็นผู้มีนิสัยขี้ขลาด หลอกลวง พึ่งตัวเองไม่ได้จนตลอดวันตาย เมื่อมาถึงจุดนี้แล้วจะถอนกลับไม่ได้แล้ว เป็นอย่างไรก็เป็นกัน ขาจะปวดก็ให้มันปวดไป จะขาดออกเป็นท่อน ๆ ก็ให้มันขาดไป ใจเราก็จะเป็นเพียงรับรู้ให้เท่านั้น เมื่อใช้ปัญญาอบรมใจให้เกิดความเข้มแข็งกล้าหาญได้แล้ว ความปวดนั้น ก็ค่อย ๆ ลดลง ๆ ความเหน็บชาในขาก็ปรากฏขึ้นแทน แล้วนั่งอยู่ในความเหน็บชานี้ต่อไปนานประมาณ ๔ ทุ่ม จากนั้น อาการอย่างอื่นก็ปรากฏขึ้นมาแทน
นั่นคือ ปรากฏความร้อนขึ้นมาที่ขา ความร้อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งนั่งนานเท่าไร ความร้อนก็ยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น ครั้งนี้ ได้เผชิญศึกหนักอีกรูปแบบหนึ่ง ถึงความปวดตามขาไม่มีก็ตาม แต่ความร้อนในขาทั้งสองเหมือนกับถูกไฟเผาอยู่ตลอดเวลา ขาทั้งสองข้างเหมือนอยู่ในกองไฟไหม้เกรียมไปหมด เมื่อความร้อนถึงที่สุดเต็มที่แล้ว เกิดความคิดขึ้นว่า ตัวเองจะอดทนนั่งต่อไปอีกได้ไหมหนอ แต่เมื่อคิดย้อนหลังไปถึงความปวดขาที่ผ่านมา ตัวเองก็ได้ผ่านมาแล้ว เมื่อมีความร้อนอย่างนี้เกิดขึ้นมาอีก เราก็ต้องอดทนต่อสู้ให้เต็มที่ สัจจะอธิษฐานที่เราตั้งไว้แล้วนั้น จะต้องเป็นสัจจะของลูกผู้ชาย เป็นสัจจะของพระกรรมฐานอย่างเต็มตัว ตั้งลงไปอย่างไรต้อง
หนักแน่นในที่นั้น จะไม่หลอกลวงตัวเองแต่อย่างใด ถึงจะมีความร้อนลุกเป็นไฟเผาร่างกายให้ย่อยยับไปก็ตาม เราก็จะไม่ลุกออกจากที่นี่เป็นเด็ดขาด ชีวิตจะหมดไปเพราะความร้อนนี้ก็ยอม ในช่วงนี้ ต้องใช้อุบายปัญญาสอนใจอยู่เสมอว่า ความร้อนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นแผนการของกิเลสแน่นอน เพราะกิเลสใช้กลอุบายต่อต้านเราเต็มที่ เมื่อกี้นี้มันใช้ความทุกข์ ความเจ็บปวด มาเป็นอุบายขัดขวาง แต่ก็สู้สติปัญญาเราไม่ได้ บัดนี้ กลับมาใช้อุบายวิธีความร้อน เพื่อให้เราได้ถอนออกจากการปฏิบัติอีก นี่เรารู้กลอุบายของตัวกิเลสแล้วว่า เป็นตัวขัดขวางไม่ให้เราหลุดออกไปจากวัฏสงสาร มีแต่จะผลักดันให้เราลอยตามกระแสโลก ดังที่เคยเป็นมา กิเลสก็จะพาเราไปในทางที่ต่ำต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด แต่ก่อนมาใจขาดปัญญาความฉลาดรอบรู้ จึงได้ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหาตลอดมา แต่บัดนี้ใจเรามีสติปัญญาเป็นที่อบรมสั่งสอน ใจจึงได้รู้เห็นตามความเป็นจริง ทุกสิ่งที่กิเลสตัณหาจะนำมาเป็นอุบายหลอกใจอีกไม่ได้แล้ว ถึงจะเอาความร้อนมาบังคับให้เราเสียสัจจะนี้ เราก็จะไม่หลงกลของกิเลสตัณหาอีกต่อไป เพราะใจได้ฝึกฝนอบรมจากสติปัญญามาแล้วเป็นอย่างดี มีความรอบรู้ในเหตุผลกลลวงของกิเลสตัณหาที่จะพาให้เราเกิดตายในวัฏสงสารไม่มีที่สิ้นสุด พระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้า
ทั้งหลายที่หลุดพ้นไปแล้วนั้น ล้วนแล้วแต่มีความกล้าหาญอดทน นี่เราผู้กำลังเดินตามรอยของท่านก็ต้องเป็นผู้กล้าหาญเช่นกัน ขณะนั้น เวลาประมาณ ๖ ทุ่ม ความร้อนที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงก็ค่อย ๆ อ่อนลง ๆ ในที่สุด ความร้อนทั้งหมดก็หายไป สภาพความรู้สึกก็กลับคืนสู่ปกติ คิดว่าจะไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีก แต่ก็ไม่ประมาทในตัวเอง จึงใช้สติปัญญาอบรมใจไว้ตลอดเวลา
จากนั้น เหตุการณ์อีกรูปแบบหนึ่งก็ปรากฏขึ้นมา นั่นคือ ความรู้สึกหนาวเย็น ความหนาวเย็นนี้ มีลักษณะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับร่างกายเป็นก้อนน้ำแข็งไปทั้งตัว ความทุกข์ทรมานในความหนาวเย็นนี้ แทบจะเอาตัวไปไม่รอดเช่นกัน แต่ก็อดทนต่อสู้ในความหนาวเย็นนั้นอย่าง
กล้าหาญ โดยใช้อุบายปัญญาปลอบใจตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า นี่ทูล ในช่วงที่ผ่านมาก็เกิดความเจ็บปวดตามขาจนแทบว่าขาจะหลุดออกไป แต่เราก็ใช้ความอดทนจนผ่านพ้นมาได้ เมื่อเกิดความร้อนขึ้นมาเหมือนกับนั่งอยู่ในกองไฟ เราก็ใช้สติปัญญาพิจารณาพร้อมทั้งความอดทน จนสามารถผ่านพ้นจากความร้อนอันนั้นมาได้อีก แต่ขณะนี้ เกิดความหนาวเย็นขึ้นมา ทำไมเราจะผ่านไม่ได้ ในขณะที่นั่งอยู่นั้น ความหนาวเย็นได้เกิดขึ้นเต็มที่ ถึงกับนั่งสั่นไปทั้งตัว จึงต้องใช้อุบายปัญญาปลอบใจตัวเองอีกว่า นี่ทูล ตัวเองได้ตกนรกมาแล้ว ความปวดก็เป็นนรกขุมหนึ่ง ความร้อนก็เป็นนรกขุมหนึ่ง ขณะนี้ กำลังตกอยู่ในนรกขุมหนาวเย็น ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ยังได้เสวยทุกขเวทนาถึงเพียงนี้ หากตัวเองได้ไปตกขุมนรกจริง ก็จะต้องมีความทุกข์กว่านี้หลายร้อยเท่า จะไม่กลัวต่อความทุกข์ที่มีอยู่ข้างหน้าหรือ นรกที่จะมีอีกในข้างหน้านั้นเย็นมากกว่านี้นัก
เมื่อตัวเองยังมีความพอใจหลงใหลในกามคุณอยู่ ผลที่ได้รับคือ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ก็จะมีผลให้ตัวเองได้รับอยู่ตลอดไป ไฉนจึงไม่กลัวในความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นบ้าง เพราะความทุกข์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เป็นผลที่เกิดขึ้นจากกามคุณทั้งนั้น โดยหารู้ไม่ว่า กามคุณเปรียบเหมือนน้ำตาลเคลือบยาพิษ เมื่อน้ำตาลละลายไป ยาพิษก็ออกฤทธิ์ขึ้นมา ทำให้มีการเจ็บปวดร้อนหนาว ดังที่ได้รับในปัจจุบันนี้ นี่คือวิบากกรรมของชาติภพที่ตัวเองได้รับ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจาก อัตตา ที่ยึดถือว่าเป็นตัวตน เมื่อตนมีอยู่ที่ไหน ความทุกข์ก็ต้องมีอยู่ที่นั่น แต่ก็ต้องอดทนต่อไป ไหน ๆ ก็เกิดขึ้นมาแล้ว แต่ให้ตั้งใจไว้ว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากชาติภพนี้เป็นชาติสุดท้ายก็แล้วกัน ฉะนั้น ตัวเองต้องใช้อุบายปัญญาอบรมสั่งสอนใจตัวเองให้เกิดความกลัว ให้เกิดความเบื่อหน่ายในชาติภพและสรรพทุกข์ทั้งหลาย อย่าให้กิเลสตัณหาชักจูงให้เกิดความ
หลงใหลในกามคุณอีกต่อไป ในขณะที่เกิดความหนาวเย็นอยู่นั้น ต้องใช้อุบายปัญญาสอนใจอยู่ตลอด ประมาณตี ๓ ความหนาวเย็นก็อ่อนลง ๆ และอ่อนลงไปเรื่อย ๆ จนความหนาวเย็นนั้นหมดไปเป็นปกติ ในช่วงนี้ เราได้ผ่านชัยชนะมาแล้ว ๓ ขั้นตอน รู้สึกว่าใจมีกำลังกล้าหาญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมา เราก็พร้อมที่จะต่อสู้กันจนถึงที่สุด แม้กระทั่งชีวิตจะดับสูญไป ก็พร้อมที่จะเสียสละ นี่เป็นอุบายธรรมที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น
ในขณะนั้น จิตต้องการพักผ่อนในสมาธิ จึงใช้อุบายวิธีกำหนดจิตด้วยคำบริกรรมว่า พุทโธ ร่วมกันกับ อานาปานสติ คือ กำหนดลมหายใจเข้าออก จิตก็ค่อย ๆ สงบลง แล้วก็พักคำบริกรรมพุทโธเอาไว้ กำหนดเอาเพียง ผู้รู้ เอาไว้อย่างเดียว เมื่อลมหายใจหมดไป ก็มีแต่ผู้รู้เพียงอย่างเดียว ไม่มีความสุขไม่มีความทุกข์แต่อย่างใด เป็นเพียงความรู้อยู่ว่าง ๆ เป็นเอกเทศเฉพาะผู้รู้เท่านั้น จิตมีความทรงอยู่อย่างนี้ นานถึงรุ่งสว่างของวันใหม่ ขณะที่จิตกำลังจะถอนออกจากสมาธิมานั้น ปรากฏเห็นหลวงปู่ขาวมากั้นร่มขนาดใหญ่อยู่ด้านขวามือ หลวงปู่ขาวพูดว่า ลูกหล้า ตั้งใจให้เข้มแข็งนะ อย่าท้อถอย ต้องใช้ความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญในความเพียรเต็มที่ ใช้สติปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริงอยู่เสมอ ไม่มีใครช่วยเรานะ เราคนเดียวเท่านั้นจะช่วยตัวเองได้ ต่อไปก็จะเป็นที่พึ่งแก่ตัวเองอย่างมั่นคงถาวร จากนั้น จิตก็ถอนออกจากสมาธิ ซึ่งเป็นเวลาสว่างพอดี เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว ความเวิ้งว้างภายในใจ ความเอิบอิ่มภายในใจ ความสงบภายในใจ ยังมีความตั้งมั่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะออกบิณฑบาต ฉันอาหาร ตลอดจนทำกิจวัตรต่าง ๆ ช่วยกันกับหมู่คณะ ใจก็มีความตั้งมั่นอยู่เสมอ ตกเย็นในวันนั้น ไปสรงน้ำให้หลวงปู่ตามปกติ เสร็จแล้วก็ขึ้นไปรับฟังโอวาทจากท่าน ท่านก็เตือนสติสั้น ๆ ว่า ทุกองค์ ตั้งใจภาวนานะ อย่าเห็นแก่หลับแก่นอน กินมาก นอนมาก พูดมาก เล่นมาก ไม่ดีทั้งนั้น จากนั้น ก็พากันกราบลาหลวงปู่ ข้าพเจ้ายังทำธุระอยู่ที่นั่น เมื่อพระเณรลงไปหมดแล้ว หลวงปู่บัวพูดว่า ทูล ผ่านทุกข์ได้หรือยัง ตอบท่านไปว่า ขอโอกาส ผ่านเมื่อคืนที่แล้วครับ หลวงปู่ก็ได้สอบถามอาการที่ข้าพเจ้าประสบจากการภาวนาผ่านทุกข์ในครั้งนั้น ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้เล่าถวายดังที่อธิบายผ่านมาแล้ว เมื่อหลวงปู่ได้รับฟังแล้วก็พูดขึ้นว่า จากนี้ไปให้ผ่านให้ตลอดนะ ผู้ที่ผ่านทุกข์ได้ต้องเป็นผู้มีความกล้าหาญ มีความเข้มแข็งไม่กลัวตาย ให้มีความขยันหมั่นเพียรให้มากขึ้น อย่าให้จิตเป็นหมันดื้อด้านเป็นเหล็กก้นเตา ให้ใช้อุบายปัญญาสอนใจอยู่บ่อย ๆ ใจก็จะค่อยรู้เห็นตามความเป็นจริงได้
ในวันต่อมา ท่านอาจารย์สิงห์ทองได้พูดขึ้นว่า ใครจะไปฟังเทศน์หลวงปู่ขาว วัดถ้ำกลองเพล วันพรุ่งนี้ ฉันเสร็จแล้วออกเดินทางโดยไม่ต้องขึ้นรถ เมื่อได้ยินคำว่าจะไปฟังเทศน์ของหลวงปู่ขาวเท่านั้น รู้สึกว่า ใจมีความเบิกบานและเอิบอิ่มเป็นอย่างมาก เพราะคิดอยู่ในใจมาหลายวันว่า อยากไปฟังเทศน์หลวงปู่ขาวอยู่แล้ว ในวันต่อมา เมื่อฉันเสร็จแล้ว ก็พากันออกเดินทาง จากวัดป่าหนองแซง ถึงวัดถ้ำกองเพล ระยะทางประมาณ ๑๕ กิโลเมตร เมื่อไปถึงวัด ท่านอาจารย์สิงห์ทองก็พาหมู่คณะไปคารวะหลวงปู่ ซึ่งหลวงปู่ขาวก็ให้ความเมตตาอธิบายธรรมให้ฟัง มีข้อสำคัญที่จำได้ดังนี้ นักปฏิบัติถ้าเอาความตายไว้หลัง การปฏิบัติจะไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใด การภาวนามีแต่ความเจริญก้าวหน้าไปด้วยดี ถ้าเอาความตายไว้ข้างหน้า การภาวนาจะหดตัวอยู่ที่เดิม เพราะมีความกลัวตายเป็นเครื่องขัดขวาง จึงไม่กล้าทุ่มเทความพากเพียรลงไปอย่างเต็มที่ จะนั่งสมาธิมีการปวดแข้งปวดขานิดหน่อยก็กลัวตาย เดินจงกรมไม่กี่ชั่วโมงก็กลัวตาย อดนอนผ่อนอาหารมีอาการผ่อนเพลียนิดหน่อยก็กลัวตาย ถ้าเป็นอย่างนี้ จะเกิดความรู้จริงเห็นจริงในธรรมได้อย่างไร ฉะนั้น ทุกท่านอย่าพากันกลัวตายนะ ถ้าทำความเพียรแล้วตาย ก็ให้มันตายไปจะกลัวทำไม นักปฏิบัติถ้ายังมีความกลัวตายอยู่ ใช้ไม่ได้เลย มันต้องมีใจเข้มแข็ง
กล้าหาญ ตั้งลงไปเลยว่า ถ้ากูไม่ตาย ให้กิเลสตาย ถ้ากิเลสไม่ตาย กูยอมตาย นั่นคือ นักปฏิบัติที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญจริงจัง ถ้าตั้งใจปฏิบัติอยู่อย่างนี้บ่อย ๆ ก็จะรู้เห็นธรรมอย่างแน่นอน ฉะนั้น เราทั้งหลายอย่าเป็นผู้หลอกลวงตัวเอง ต้องทำตัวเป็นคนจริงเอาไว้ สักวันหนึ่ง ก็จะพบความจริงในสัจธรรมแน่นอน เมื่อหลวงปู่เทศน์จบแล้ว ก็พากันกราบหลวงปู่กลับวัดป่า
หนองแซงตามเดิม ในพรรษานี้ พระอาจารย์สิงห์ทองพาหมู่คณะไปฟังเทศน์ของหลวงปู่ขาวสองครั้ง ไปแต่ละครั้ง ได้อุบายธรรมจากหลวงปู่ขาวมากทีเดียว เมื่อออกพรรษารับกฐินเรียบร้อยแล้ว ก็ได้กราบหลวงปู่บัว ออกภาวนาปฏิบัติในที่ต่าง ๆ ต่อไป

อิทธิบาท ๔ ฝังใจในครั้งนั้น
หลังจากนั้น ได้ไปพักภาวนาอยู่ที่ห้วยกอกยอดทอน อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ในวันหนึ่ง ลงจากศาลาจะไปกุฏิ ได้มองเห็นมดฝูงหนึ่งกำลังช่วยกันทำรูเป็นที่อยู่อาศัย พากันคาบดินขึ้นมาวางรอบปากรูเอาไว้ ข้าพเจ้าก็นั่งพิจารณาดูมดฝูงนั้นด้วยความตั้งใจ พิจารณาว่า มดตัวเล็ก ๆ มันยังรู้วิธีทำที่อยู่เองได้ ทุกตัวมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ต่างตัวก็ทำตามหน้าที่ ไม่มีตัวใดพักผ่อนแต่อย่างใด นี้ฉันใด ใจเราถ้ามีความขยันหมั่นเพียรพิจารณาธรรมอยู่
บ่อย ๆ ใจก็จะมีธรรมเป็นที่พึ่งอย่างมั่นคงได้ เป็นวิหารธรรม คือ ธรรมเป็นที่พักทางใจ ถ้าใจมีธรรมก็จะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติอย่างรวดเร็ว ฐานของใจก็จะมีความมั่นคง ฉะนั้น ตัวเองก็ต้องมีความขยันหมั่นเพียรให้มากขึ้น ดูมดเป็นตัวอย่างเอาไว้บ้าง มดมีความขยันอย่างไร การภาวนาปฏิบัติของเราก็ต้องมีความขยันอย่างนั้น ในขณะที่เอามดมาเป็นอุบายในการภาวนาอยู่นั้น ได้เกิดความรู้ขึ้นที่ใจอย่างชัดเจนว่า ให้ตั้งมั่นอยู่ใน อิทธิบาท ๔ เมื่อรู้ขึ้นมาอย่างนี้แล้ว กลับนึกไม่ได้เลยว่า อิทธิบาท ๔ มีอะไรบ้าง และมีความหมายเป็นอย่างไร ใช้ความพยายามนึกหาความหมายอย่างเต็มที่ จะนึกเท่าไรก็นึกไม่ออก แต่ก็รู้ตัวอยู่ว่า แต่ก่อนเคยอธิบายเรื่องอิทธิบาท ๔ นี้ ไปสอนคนอื่นมาแล้ว เคยเรียนในตำรามาอย่างคล่องตัว
แต่บัดนี้ ทำไมจึงนึกไม่ออกเลยว่าอิทธิบาท ๔ คืออะไรบ้าง และมีความหมายอย่างไร นึกไม่ได้เลย ในศาลานั้น มีหนังสือนวโกวาทเต็มตู้ เมื่อขึ้นไปคิดว่าจะเปิดตำราดู ก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า พระกรรมฐานอะไรตัดสินใจโดยถือเอาตามตำรา เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็เกิดความละอายใจตัวเองว่า ทำไมจึงจะรีบด่วนหาตำรามาอ่าน เพราะความรู้ที่เกิดขึ้นนี้ ได้จากการปฏิบัติ เมื่อยังนึกไม่ได้ก็ใช้ธรรมหมวดอื่นปฏิบัติต่อไปก่อน อย่างไรก็ตาม ก็ยังรู้สึกคับข้องใจอยู่นั่นเอง พยายามนึกคิดอยู่บ่อย ๆ แต่ก็มืดแปดด้าน จะทำกิจวัตรอื่น ๆ อาทีการปัดกวาดลานวัด เป็นต้น ก็ยังคิดนึกหาคำตอบของอิทธิบาท ๔ นี้อยู่ตลอดเวลา แต่ก็นึกหาคำตอบไม่ได้เลย พอตกค่ำมา ในวันนั้นก็เดินจงกรม นั่งสมาธิ คิดหาคำตอบของอิทธิบาท ๔ ตลอดทั้งคืน ก็นึกไม่ออกอยู่นั่นเอง จึงตัดสินใจเด็ดขาดไปว่า ถ้านึกไม่ออกก็อย่าไปนึกเลย จะไปดูตำรามาเป็นเครื่องตัดสินก็ไม่เอา สักวันหนึ่งข้างหน้าคงจะรู้ขึ้นมาเอง แล้วก็ไม่สนใจในคำว่า อิทธิบาท ๔ อีกต่อไป เมื่อภาวนาปฏิบัติไปได้ ๗ วัน ในช่วงนั้น ได้ลืมเรื่อง อิทธิบาท ๔ ไปหมดแล้ว ขณะกำลังเดินจงกรม ใช้อุบายปัญญาพิจารณาเรื่องของขันธ์ ๕ ลงสู่ไตรลักษณ์อยู่นั้น ก็ได้เกิดความรู้ขึ้นมาว่า อิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา พร้อมทั้งความหมายรู้ขึ้นมาพร้อมกันชั่วพริบตาเดียว สติปัญญาเกิดความรอบรู้ได้อย่างชัดเจน จึงเกิดความมั่นใจในตัวเองว่า จากนี้ไป เราจะใช้ธรรมหมวดนี้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างจริงจัง เมื่อหากใครมีปัญหาลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นแล้วนึกไม่ได้ ก็คงจะวิ่งหาตำรามาอ่านเพื่อให้หายความสงสัยหรือหาถามครูอาจารย์ทันที ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็เท่ากับเอาปริยัติมาเป็นเครื่องตัดสินภาคปฏิบัติ คำว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ก็หมดความหมายไป

พรรษาที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๐๗
ในพรรษาที่ ๔ นี้ ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดอรัญญบรรพตกับ หลวงปู่เหรียญ ในพรรษานี้ การภาวนามีความก้าวหน้าเป็นอย่างดี เพราะมีอุบายธรรม คือ อิทธิบาท ๔ มาเป็นหลักในการปฏิบัติของตนเอง คำว่า ฉันทะ คือ ความพอใจ นี้ ก็เป็นข้อสังเกตดูใจได้เป็นอย่างดี เช่น เรามีการพิจารณาในสัจธรรมหมวดใด ก็ต้องดูใจตัวเองก่อนว่า ความพอใจมีในตัวเรามากน้อยเพียงใด ถ้าฉันทะความพอใจมีน้อย ก็ต้องใช้อุบายปลอบใจตัวเองให้เกิดขึ้น เพราะความพอใจนั้น จะเป็นฐานให้กับความขยันหมั่นเพียร และจะทำให้เกิดความจริงจังในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี มีความฝักใฝ่ในความเพียรนั้นให้สม่ำเสมอ มีความตั้งใจ ใช้ความพยายามนั้นอย่างต่อเนื่อง วิมังสา ใช้สติปัญญาครุ่นคิดตรึกตรองในสัจธรรมนั้นอยู่บ่อย ๆ แต่ละวันแต่ละชั่วโมงแต่ละนาที จะให้มีประโยชน์ในการปฏิบัติธรรมแก่ตัวเองให้มากที่สุด จึงได้นับว่าในพรรษานี้ ได้ใช้ปัญญาพิจารณาในอิทธิบาท ๔ ให้สอดคล้องกันเป็นอย่างดี เพราะธรรมทั้งสี่หมวดนี้ มีความเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน จึงเป็นหลักสำคัญที่จะนำมาเป็นอุบายในการปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี อิทธิบาท ๔ นี้ ก็อยู่ใน โพธิปักขิยธรรม ๓๗ นั่นเอง ส่วนภาคปฏิบัตินั้นจะเกี่ยวโยงถึงกันทั้งหมด เช่น สติ
ปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ทุกข้อทุกหมวดมีความสำคัญด้วยกันทั้งนั้น เรียกว่า เป็นธรรมที่เกื้อกูลกันทั้งหมด
เมื่อตั้งอยู่ในธรรมหมวดใดหมวดหนึ่งได้แล้ว ก็จะมีความรอบรู้ในธรรมหมวด
อื่น ๆ ได้อย่างทั่วถึงกัน เหมือนกับห่วงสายโซ่อยู่ในเส้นเดียวกัน เมื่อจับห่วงโซ่อันเดียวดึงไป ห่วงโซ่อื่น ๆ ก็จะไหลตามกันไปด้วย ธรรมะที่นำมาปฏิบัตินั้น เมื่อตั้งหลักความเห็นชอบไว้ตรง เป็นไปในสัจธรรมที่ถูกต้องแล้ว ธรรมะหมวดอื่น ๆ ก็
 

_________________
ท่านสามารถฟังวิทยุเสียงธรรมหลวงตามหาบัวได้ทั่วประเทศ
และโทรทัศน์ดาวเทียมเสียงธรรมทั้งภาพและเสียงได้แล้วที่
http://www.luangta.com
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
วีรยุทธ
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 24 มิ.ย. 2005
ตอบ: 1790
ที่อยู่ (จังหวัด): สกลนคร

ตอบตอบเมื่อ: 29 ส.ค. 2006, 8:57 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



LPTool.gif


ธรรมะหมวดอื่น ๆ ก็มารวมตัวอยู่กับปัญญาความเห็นชอบนี้ทั้งหมด การดำริพิจารณาในธรรมใด ก็จะดำริพิจารณาได้อย่างถูกต้องเป็นธรรมทั้งนั้น ตลอดการงานที่จะต้องทำเนื่องด้วยกาย การพูดออกไปทางวาจา การหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต เพียรพยายามละจากความชั่วทางกาย วาจา ใจ เพียรพยายามสร้างความดีให้เกิดมีขึ้นจากตัวเอง และเพียรพยายามรักษาความดีนั้นไม่ให้เสื่อมคลาย ตั้งใจระลึกรู้ให้ทันต่อเหตุการณ์ ใจมีความตั้งมั่นอยู่กับความเป็นจริงอย่างแน่วแน่ ใจมีความมั่นคงอยู่กับเหตุและผล ใจยอมรับความจริงตามเหตุปัจจัยนั้น ๆ ว่า เหตุดีย่อมเป็นปัจจัยส่งผลให้ดีด้วย เหตุชั่วย่อมเป็นปัจจัยในผลที่ชั่ว การมีความตั้งมั่นภายในใจได้อย่างนี้ จึงเรียกว่าเป็นสัมมาสมาธิที่มีความมั่นคง เป็นความตั้งใจมั่นไม่มีเสื่อม เป็นความตั้งใจมั่นที่ชอบธรรม ฉะนั้น ในพรรษานี้ การภาวนาปฏิบัติจึงมีความก้าวหน้าเป็นอย่างดีทีเดียว
เมื่อออกพรรษารับกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ลาหลวงปู่เหรียญออกไปภาวนาปฏิบัติในที่ต่าง ๆ ต่อไป โดยตั้งใจไว้ว่า จะไปภาวนาที่คำสะโนด บ้านวังทอง อำเภอบ้างดุง จึงได้เดินทางไปเรื่อย ๆ ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น การเดินทางก็ใช้อุบายปัญญาพิจารณาในสัจธรรมไปด้วย หรือบางครั้งก็ใช้อุบายในวิธีทำสมถะนึกถึงคำบริกรรมภาวนาต่อไป ในครั้งนั้น การเดินทางใช้วิธีเดินเท้า เพราะไม่มีเงินค่ารถ เดินผ่านอำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ และเรื่อยมาจนถึงบ้านหนองสองห้อง เข้าเขตอำเภอเพ็ญ ได้ไปพักภาวนาในวัดร้างแห่งหนึ่งที่เรียกกันว่าวัดป่าพระนาไฮ อำเภอเพ็ญ ในคืนหนึ่ง เกิดนิมิตขึ้นอย่างชัดเจนมาก ในขณะที่ภาวนาทำสมาธิ จิตเข้าที่ได้แล้ว ปรากฏเห็นภาพนิมิตเป็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่มองสุดสายตา บนฝั่งที่ข้าพเจ้าอยู่นั้น เป็นคันคูขนาดใหญ่ยาวมากมองจนสุดสายตา บนคันคูดังกล่าวนั้น มีฝูงชนเป็นจำนวนมากหลายล้านคน ยืนแออัดกันอยู่ริมฝั่งมหาสมุทรนั้นอย่างหนาแน่น พร้อมกับมีคลื่นมหาสมุทรขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่ง เสียงดังสนั่นหวั่นไหวอยู่ตลอดเวลา ในขณะนั้น ก็มีเสียงประกาศชักชวนให้คนทั้งหลายที่ยืนรออยู่นั้นให้ทราบว่า พวกท่านทั้งหลาย ใครมีความประสงค์จะข้ามน้ำมหาสมุทรไปฝั่งโน้นบ้าง เมื่อข้ามไปได้แล้วจะไม่ต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
เมื่อทุกคนได้ฟังอย่างนั้น ดูมีความขะมักเขม้นกระโดดเต้นไปมา เตรียมตัวที่จะกระโดดลอยข้ามมหาสมุทรนั้นไป จากนั้น ก็พากันกระโดดลงไปด้วยความตั้งใจเป็นอย่างมากทีเดียว เมื่อพากันกระโดดลงไปครั้งใด ก็ถูกคลื่นน้ำมหาสมุทรขนาดใหญ่ซัดเข้ามาหาฝั่งตามเดิม ดูมีความพยายามไม่ลดละ ต่างคนต่างพากันกระโดดหวังจะข้ามน้ำมหาสมุทรไปให้ได้ เสียงที่ประกาศเชิญชวนฝูงชนทั้งหลายให้ข้ามน้ำมหาสมุทรนี้ไป ก็ประกาศกันเป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องกันอยู่ตลอด ฝูงชนทั้งหลายก็พากันกระโดดลงเพื่อลอยไปฝั่งโน้นอย่างไม่ลดละ บางคนดูมีลักษณะเหน็ดเหนื่อยมาก เพราะถูกคลื่นมหาสมุทรตีเข้าฝั่งอย่างแรง บางคนก็นอนแผ่หราด้วยความอ่อนเพลีย บางคนก็นั่งกอดเข่าดูน้ำมหาสมุทรแบบหมดอาลัย หลาย ๆ คนที่ถูกคลื่นน้ำมหาสมุทรตีซัดขึ้นมาสู่ฝั่งเดิม ดูแล้วเหมือนหมดกำลังใจที่จะลอยข้ามกระแสผ่านคลื่นมหาสมุทรนี้ไป มีแต่นั่ง ๆ นอน ๆ เดินไปมา เหมือนกับนึกคิดในใจว่า ชาตินี้เราคงข้ามน้ำมหาสมุทรนี้ไปไม่ได้แล้ว ถึงจะมีความอยากข้ามกระแสมหาสมุทรไปฝั่งโน้นก็ตาม เมื่อกำลังเรายังไม่พร้อมก็ยากที่จะข้ามกระแสไปได้ มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความตั้งใจพยายามจะข้ามมหาสมุทรนี้ไป แต่ก็มีคนอีกจำนวนมากที่มายืนดูคลื่นน้ำมหาสมุทรอยู่เฉย ๆ ไม่มีกำลังใจพอที่จะข้ามกระแสไปเหมือนคนอื่นเขา บางคนบางกลุ่มก็แต่งตัวหรูหราเพียงมาดูหมู่คนข้ามกระแสเท่านั้น คนทั้งหมดนี้มีทุกเพศทุกวัย มีทั้งห่มเหลือง ห่มขาว และห่มผ้าธรรมดา พากันมาแออัดตั้งใจจะข้ามน้ำมหาสมุทรนี้ไปให้ได้ ข้าพเจ้าพิจารณาดูแล้ว ก็ดำริในใจว่า เมื่อเขาเหล่านี้ยังมีความตั้งใจพยายามอยู่ อีกไม่นานนักก็จะพากันข้ามน้ำมหาสมุทรนี้ไปได้อย่างแน่นอน
เมื่อข้าพเจ้าได้นั่งมองดูฝูงชนเหล่านั้นอยู่ ก็เกิดกำลังใจขึ้นมาว่า คลื่นมหาสมุทรเท่านี้ เรามีกำลังว่ายตัดข้ามไปได้แน่นอน ทั้งได้ยินเสียงประกาศว่า ถ้าข้ามน้ำมหาสมุทรไปถึงฝั่งโน้นแล้วจะไม่ต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก เมื่อได้ยินคำประกาศดังนี้อยู่ ก็ยิ่งมีกำลังใจอยากจะข้ามไปให้ถึงฝั่งโน้นโดยเร็ว จากนั้น ก็ได้ลุกออกไป ทั้งมีความมั่นใจในตัวเองอย่างเต็มที่ จึงเดินผ่าน
ฝูงชนไปยืนอยู่ริมฝั่ง แล้วยกมือขึ้นอธิษฐานว่า บัดนี้ ข้าพเจ้าจะว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรเพื่อไปให้ถึงฝั่งโน้น บารมีที่ข้าพเจ้าได้สร้างมาแล้วในอดีต และบารมีที่ได้สร้างอยู่ในชาติปัจจุบัน ขอจงเป็นพละกำลังให้ข้าพเจ้าได้ว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรนี้ไปให้ถึงฝั่งโน้นด้วยเถิด เมื่ออธิษฐานเสร็จแล้วก็กระโดดออกไปเต็มแรง เหมือนตัวข้าพเจ้าได้เหาะลอยไปไกลประมาณ ๔๐ เมตร เมื่อหน้าอกจะแตะกับพื้นน้ำเท่านั้น ก็ปรากฏว่ามีสัตว์ชนิดหนึ่งไม่ทราบว่าเป็นปลาหรือเป็นควายกันแน่ ได้เอาหลังเข้ามาหนุนหน้าอกของข้าพเจ้าเอาไว้ เมื่อหน้าอกลงติดกันกับหลังสัตว์เท่านั้น สัตว์ตัวนั้นก็พาข้าพเจ้าแหวกน้ำไปอย่างรวดเร็ว ตัวข้าพเจ้าก็ใช้มือว่ายน้ำไปด้วย และใช้ขาใช้เท้าถีบยันน้ำไปอย่างแรง ขณะนั้นมีคลื่นมหาสมุทรขนาดใหญ่ตีมาอย่างแรง ข้าพเจ้าก็ใช้กำลังที่มีอยู่ทั้งหมด พร้อมทั้งสัตว์ที่หนุนหน้าอกอยู่ ใช้กำลังแหวกฝ่าคลื่นมหาสมุทรนั้นไป คลื่นน้ำก็แตกกระจายออกไปคนละด้าน เหมือนกับเรือขนาดใหญ่ได้ลอยตัดกระแสคลื่นมหาสมุทรนั้นไป เมื่อผ่านคลื่นมหาสมุทรลูกที่หนึ่งไปแล้ว ก็มีคลื่นมหาสมุทรลูกที่สอง สาม สี่ ห้า และหก สาดซัดเข้ามาหาอย่างแรง แต่ข้าพเจ้าก็ได้ใช้กำลังทั้งหมดว่ายน้ำฝ่าคลื่นมหาสมุทรนั้นไปได้ทั้งหมด เมื่อผ่านกระแสคลื่นมหาสมุทรขนาดใหญ่นี้ไปได้แล้ว ก็มีคลื่นมหาสมุทรลูกเล็ก ๆ ผ่านมาเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่สามารถทำให้ข้าพเจ้าเกิดความเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด
เมื่อว่ายน้ำมาถึงกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่นั้นแล้ว จะมองไปทางไหนก็ไม่เห็นฝั่งของมหาสมุทรนั้นเลย แต่ก็มุมานะว่ายน้ำไปเรื่อย ๆ จากนั้น ก็มองเห็นเกาะขนาดใหญ่อยู่ท่ามกลางมหาสมุทรนั้น ห่างจากตัวข้าพเจ้าไปไกลประมาณ ๘ กิโลเมตร แล้วมีเสียงประกาศออกมาว่า อย่าเข้าไปใกล้เกาะนั้นนะ ถ้าเข้าไปใกล้จะถูกกระแสน้ำรอบเกาะดูดเข้าไป เมื่อเข้าไปในเกาะนั้นแล้วจะว่ายน้ำต่อไปอีกไม่ได้ มีแต่จะกลับคืนไปทางเดิมเท่านั้น เมื่อได้ยินเสียงประกาศนั้นแล้ว ก็มีความระวังตัวมากขึ้น เพื่อไม่ให้หลุดเข้าไปในกระแสน้ำของเกาะนั้น จากนั้น ก็ได้ว่ายน้ำหลบไปทางด้านซ้ายมือ แต่ก็ยังถูกกระแสน้ำดูดขาเข้าอย่างแรง ข้าพเจ้าได้ใช้กำลังดีดขาออกอย่างแรงจึงสามารถหลุดออกมาได้ กระแสน้ำดังกล่าวนี้จะไหลเวียนซ้ายวนไปรอบเกาะมีบริเวณกว้างมาก ในกระแสน้ำวนนี้ ดูเหมือนจะมีพลังดึงดูดเป็นเกลียว ถ้าใครหลงเข้าไปในกระแสน้ำนั้นแล้ว ก็จะถูกดึงดูดบิดหมุนเข้าไปสู่เกาะนั้นอย่างรวดเร็วและติดอยู่บนเกาะนั้นชั่วกาลนาน
เมื่อข้าพเจ้าว่ายน้ำหลบจากเกาะนั้นได้แล้ว มองหาฝั่งก็ยังไม่พบอีก ข้าพเจ้าก็ไม่ลดละความพยายาม ยังว่ายน้ำตัดกระแสน้ำมหาสมุทรนั้นต่อไป ตั้งใจไว้ว่า เมื่อเราว่ายน้ำไปอย่างนี้ไม่หยุด ก็จะถึงฝั่งทางด้านโน้นได้แน่นอน ในชั่วขณะนั้นเอง ข้าพเจ้ามองไปข้างหน้าก็สามารถมองเห็นฝั่งโน้นดูริบหรี่ไกลมาก จึงรีบว่ายน้ำเข้าไปหาฝั่งอย่างรวดเร็ว เมื่อเข้าถึงฝั่งได้แล้ว สัตว์ที่พาข้าพเจ้าว่ายข้ามมหาสมุทรก็หายไป ข้าพเจ้าจึงเดินขึ้นฝั่งตามลำพัง ข้าพเจ้าเดินไปมองหาช่องทางที่จะขึ้นไปบนตลิ่งนั้น ก็พอดีพบกับช่องทางเล็ก ๆ เป็นร่องลึกขอบสูงประมาณเพียงศีรษะคน พอที่จะดินผ่านไปได้หลวมตัวพอดี ๆ ในเส้นทางสายนั้น ปรากฏเห็นรอยเท้าคนทั้งรอยเก่าและใหม่เดินเข้าไปก่อนแล้ว ก็คิดขึ้นในใจว่า ใครกันหนอที่เดินไปก่อนเรา แต่ถึงอย่างไรก็ตามเถอะ คงต้องได้พบกันแน่นอน ข้าพเจ้าจึงเดินขึ้นฝั่งซึ่งเป็นที่ลาดชันสูงขึ้นไป แล้วก็เดินไปตามช่องทาง
เล็ก ๆ รอยเท้าคนที่เดินไปก่อนแล้วปรากฏเห็นชัดเจนมาก เมื่อเดินไปไม่นานนักก็เป็นที่เวิ้งว้างมองสุดสายตา แล้วมองเห็นปราสาทขนาดใหญ่ชั้นเดียวตั้งอยู่ข้างหน้า ก็คิดว่าผู้ที่เดินไปก่อนเราแล้วนั้น ก็คงจะพบกันในปราสาทหลังนี้ จึงเดินตรงเข้าไปหาปราสาทหลังนั้น เมื่อมองไปอีกทีก็เหลือบเห็นผ้าเหลืองหลายผืนตากเอาไว้ ก็เข้าใจว่ารอยเท้าที่เดินมาก่อนหน้านี้นั้น ต้องเป็นรอยเท้าครูอาจารย์คณะนี้แน่นอน จึงเดินเข้าไปในระยะห่างประมาณ ๔๐ เมตร ก็เห็นพระแก่ ๆ องค์หนึ่ง ยืนมองข้าพเจ้าอยู่ แล้วท่านก็เดินออกมา และข้าพเจ้าก็เดินตรงไปหาท่าน
เมื่อเข้าไปใกล้ตัวก็เห็นเป็นหลวงปู่ขาว ท่านรีบตรงเข้ามาจับแขนข้าพเจ้า และข้าพเจ้าก็จับแขนท่านตอบเช่นกัน ท่านพูดทักทายว่า เป็นอย่างไรว่ายน้ำข้ามกระแสมหาสมุทรยากลำบากไหม ข้าพเจ้าก็ตอบหลวงปู่ไปว่า ขอโอกาส ลอยข้ามมาไม่ยากครับ ท่านถามว่า มากันกี่องค์ ตอบท่านไปอีกว่า กระผมมาองค์เดียวครับผม หลวงปู่ถามต่อไปว่า เขาเหล่านั้นไม่อยากมาหรือ ตอบว่า ขอโอกาส เขาอยากมากทีเดียวแหละหลวงปู่ แต่กำลังของเขายังไม่พร้อม กระโดดลงมา
ทีไร ก็ถูกคลื่นมหาสมุทรพัดซัดทอดเข้าหาฝั่งอย่างหัวปักหัวปำทุกคน แต่พวกเขาก็พยายามอย่างเต็มที่ แต่ไม่รู้ว่าเขาจะข้ามมาถึงฝั่งนี้ได้เมื่อไร หลวงปู่ก็บอกว่า เอาผ้าที่เปียกไปตากให้มันแห้งเสีย แล้วเข้าไปพักในปราสาทด้วยกัน เมื่อข้าพเจ้าตากผ้าแล้ว หลวงปู่ก็พาเข้าไปในปราสาท ซึ่งก็ได้พบกับหลวงปู่บัว วัดหนองแซง กำลังนั่งคอยถามข่าวคราวอยู่ในปราสาทหลังนั้น ท่านได้ถามว่า เป็นอย่างไร คลื่นมหาสมุทรลูกใหญ่ไหม ว่ายน้ำมาอย่างไรจึงตัดคลื่นมหาสมุทรผ่านมากได้ ก็เล่าถวายให้หลวงปู่ฟังว่า ขอโอกาส กระผมมีความมั่นใจในตัวเองมาก ขณะที่กระผมกระโดดลงมา เมื่อหน้าอกจะถึงน้ำ ก็มีสัตว์ประเภทหนึ่งมารองรับแล้วพากระผมว่ายน้ำตัดคลื่นมหาสมุทรมาได้ ท่านถามว่าเห็นเกาะอยู่ในกลางมหาสมุทรไหม ก็ตอบท่านว่า เห็นครับผม ท่านพูดว่า ผู้จะข้ามมหาสมุทรมาได้นี้ ถือว่ามีความพร้อมทุกอย่าง ท่านถามว่ามีผู้ว่ายน้ำตามหลังมาบ้างไหม ตอบว่า ขอโอกาส กระผมไม่ได้มองคืนหลังเลย จึงไม่รู้ว่ามีใครตามหลังมาหรือไม่ ในต้นทางนั้น มีคนเป็นจำนวนมากกำลังเตรียมตัวมา แต่ไม่ทราบว่าจะมาได้หรือไม่ เพราะคลื่นกระแสมหาสมุทรมีความรุนแรงมาก ในขณะที่พูดคุยกันกับหลวงปู่ขาว หลวงปู่บัวอยู่นั้น ก็มีอาจารย์องค์อื่น ๆ คอยฟังอยู่ด้วย จากนั้น จิตก็ถอนออกจากสมาธิ
เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว ก็ใช้ปัญญาพิจารณาในนิมิตนั้นว่ามีความหมายเป็น
อย่างไร คำว่า ฝูงชนเป็นจำนวนมากที่นับถือพระพุทธศาสนา มีการสร้างบารมีมาด้วยกันทั้งนั้น เจตนาของทุกคนก็เพื่อจะทำให้อาสวกิเลสหมดไปจากใจด้วยกัน แต่ใครจะทำให้อาสวกิเลสหมดไปจากใจช้าเร็วอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับผู้สร้างบารมีเอง ผู้ที่กระโดดลงไปแล้วถูกคลื่นมหาสมุทรซัดกลับขึ้นมาฝั่งนั้น หมายถึง ผู้ที่มีเจตนาความตั้งใจดี คืออยากพ้นไปให้สิ้นทุกข์จริง ๆ แต่ก็มีกำลังในภาคปฏิบัติน้อยไป มีความอยากพ้นไปเพียงอย่างเดียวไม่สำเร็จได้เลย คลื่นมหาสมุทรขนาดใหญ่ที่ซัดทอดอยู่นั้น คืออารมณ์ที่สัมผัสในอายตนะ ทำให้เกิดความรัก ความใคร่ ความยินดี ความยินร้าย ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นั่นเอง สัตว์ที่มาหนุนหน้าอกแล้วพาว่ายน้ำตัดคลื่นมหาสมุทรไปได้นั้น คือ สัจจะของผู้มีความตั้งใจจริงในการปฏิบัติของตัวเอง ความเวิ้งว้างในกลางมหาสมุทรนั่นคือ จิตอยู่ในความเป็นกลาง เกาะที่อยู่ท่ามกลางมหาสมุทรนั่นคือ พรหมโลกที่นักภาวนาหลงในการทำสมาธิ หลงในรูปฌาน หลงในอรูปฌาน กระแสน้ำที่ไหลเวียนอยู่รอบเกาะนั้น คือ ความสุข ความสบาย ไม่อยากออกจากความสงบในสมาธิ คำว่าทะเลมหาสมุทรนั้น คือมหาสมุทรที่สัตว์โลกทั้งหลายข้ามพ้นไปได้ยาก หรืออีกความหมายหนึ่ง คือ ตัณหา ๓ อันได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา รวมแล้วเรียกว่า สมุทัย ตัณหา ๓ อย่างนี้ อยู่ในวัฏจักรของภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ รวมเรียกว่า วัฏสงสาร ที่สัตว์โลกทั้งหลายได้เวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่จบสิ้น ฉะนั้น ภพทั้ง ๓ จึงอยู่ท่ามกลางกิเลสตัณหาทั้งหมด จึงยากที่จะผ่านพ้นไปได้เพราะเหตุปัจจัยยังไม่สมดุลกัน เหมือนผู้มีกำลังกายแข็งแรงแต่ขาดกำลังใจ หรือมีกำลังใจแต่ขาดกำลังกาย งานที่จะพึงทำนั้นจึงสำเร็จได้ยาก หรือขาดทั้งกำลังกายและกำลังใจ งานนั้นยิ่งสำเร็จไม่ได้เลย เมื่อใดมีความพร้อมทั้งกำลังกายและกำลังใจ งานนั้นจะสำเร็จลุล่วงได้เป็นอย่างดี

พรรษาที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๐๘
ในพรรษาที่ ๕ ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่บ้านศรีวิชัย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ในปีนี้ หลวงพ่อบุญมา ที่เป็นอาจารย์เก่าเป็นเจ้าอาวาส หลวงพ่อบุญมาองค์นี้เองเป็นผู้ให้ธรรมะเรื่องการเกิดดับเป็นครั้งแรก ก่อนจะเข้าพรรษา คณะศรัทธาทุกคนตลอดทั้งพระเณรภายในวัดทุกองค์พากันตั้งความหวังไว้ว่า พรรษาปีนี้มีความโชคดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีอาจารย์ทูลมาจำพรรษาอยู่ด้วย จะได้ฟังธรรมตลอดทั้งพรรษาทีเดียว เมื่อได้ยินคณะศรัทธาและพระเณรซุบซิบกันอย่างนี้
ตัวเองก็เริ่มวางแผนที่จะแก้ปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ต้องแสดงธรรม เนื่องจากอยากภาวนาปฏิบัติให้ต่อเนื่องกันไปตลอด จึงคิดได้ในอุบายหนึ่งว่า มีทางเดียว คือเอา ธุดงค์มุขวัตร คือ ไม่พูดกับใคร ๆ ทั้งสิ้นในพรรษานี้ แต่ก็มีการยกเว้น ๔ ข้อเอาไว้ คือ ๑. เมื่อหลวงพ่อบุญมาท่านถาม ก็ต้องพูด แต่กับองค์อื่นไม่พูดด้วย ๒. เมื่อมีการเจ็บป่วย มีพระเณรหรือหมอถามอาการ ก็ต้องพูด ๓. แสดงอาบัติ ไหว้พระหรือสวดปาฏิโมกข์ออกเสียงได้ ๔. เมื่อมีอธิกรณ์เกิดขึ้นใน
หมู่สงฆ์ พูดได้ นอกเหนือจาก ๔ ข้อนี้ไป จะไม่พูดกับใคร ๆ ทั้งนั้น เมื่อได้อุบายแล้วก็เก็บเป็นความลับส่วนตัว ไม่ได้บอกให้ใครรู้แต่อย่างใด เมื่อถึงวันเข้าพรรษา มีการไหว้พระสวดมนต์และกล่าวคำเข้าพรรษาเสร็จแล้ว ก็ได้ประกาศต่อหน้าสงฆ์ออกไปว่า นับแต่บัดนี้เป็นต้นไปตลอด ๓ เดือนในพรรษา ผมจะไม่พูดกับใคร ๆ ทั้งสิ้น ๑-๒-๓ ปิดคำพูดทันที ทำให้พระเณร ญาติโยม
ผิดหวังไปตาม ๆ กัน ต่างพากันบ่นว่าอาจารย์ทูลไม่ควรทำอย่างนี้เลย พากันมาขอร้องให้ถอนธุดงค์ข้อนี้ แต่ก็ไม่สำเร็จแต่อย่างใด
ในพรรษานี้ภาวนาปฏิบัติได้ผลดีมากทีเดียว เพราะไม่มีอารมณ์อะไรจะไปพูดกับใคร เมื่อตัวเองไม่พูด ก็ไม่ได้นึกคิดหาคำที่จะมาพูด เมื่องดพูดผ่านไปได้ ๒ เดือน ผลของการงดพูดนั้นเห็นได้ชัดทีเดียว การทำสมาธิให้จิตมีความสงบนั้นเร็วมาก นึกคำบริกรรมไม่กี่นาที จิตก็มีความสงบลงอย่างแน่วแน่ เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว น้อมใจพิจารณาสัจธรรมในแง่ต่าง ๆ นั้น ก็มีความรู้เห็นชัดเจนมากทีเดียว เริ่มในวันเข้าพรรษามา การภาวนามีสติปัญญาเชื่อมต่อกันอยู่ตลอดเวลา แต่ละวันแต่ละชั่วโมง ถึงจะมีพระเณรหลายองค์ก็เหมือนกับอยู่องค์เดียว ไม่สนใจกับคำพูดของใคร ไม่ได้คิดหาคำพูดอะไรกับใคร ใจจึงมีความเป็นหนึ่งอยู่ตลอดเวลา อยู่มาในคืนหนึ่ง เมื่อจิตมีความสงบแล้ว ปรากฏเห็นชายคนหนึ่ง แต่งตัวดี จูงม้าขาวขนาดใหญ่ตัวหนึ่งเข้ามาหา พร้อมทั้งบอกว่า ม้าตัวนี้เป็นม้าของท่าน อีกไม่นานนักท่านก็จะได้ขี่ม้าตัวนี้ จากนั้น จิตก็ถอนออกจากสมาธิ เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาดูแล้ว ม้าตัวนี้คงจะวิ่งดีเป็นพิเศษและมีความแตกต่างจากม้าตัวที่เคยขี่มาแล้วตรงที่ขน เพราะขนของม้าตัวที่เคยขี่แต่ก่อนขาวเหมือนสำลี แต่ม้าตัวนี้มีขนเป็นมันเลื่อมระยิบระยับ เป็นประกายดุจขนเพชร จึงเกิดความมั่นใจในตัวเองว่า อีกสักวันหนึ่งข้างหน้า เราจะได้ขี่ม้าตัวนี้แน่นอน เมื่อออกพรรษารับกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว คิดว่าอยากไปธุดงค์ทาง
ภาคใต้ ในที่สุดก็ได้ไปสมความตั้งใจ
การเดินทางไปทางภาคใต้ในครั้งนี้ก็สะดวกดีทุกประการ และขอสรรเสริญน้ำใจของคนภาคใต้เอาไว้โดยมิรู้ลืม นั่นคือ เมื่อรถได้วิ่งไปจอดที่ไหนตามสายทาง คนขับรถและผู้โดยสารหลายท่าน ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย เมื่อรถจอดที่ไหน หลังจากที่ท่านเหล่านั้นลงไปเข้าห้องน้ำและหาอาหารว่างที่เขาชอบกันแล้ว ทุกครั้ง พวกเขาจะลงไปซื้อน้ำอัดลมหรือน้ำฉันอื่น ๆ มาถวาย พร้อมทั้งแสดงความเคารพนอบน้อมเป็นอย่างดี และเป็นอย่างนี้ทุกครั้งไป และพวกเขายังถามอีกว่า ท่านต้องการอะไรคะ ต้องการอะไรครับ ข้าพเจ้าไม่เคยขออะไรจากเขา แต่เขาก็ซื้ออย่างนั้นอย่างนี้มาถวายหลายอย่างทีเดียว เมื่อได้เวลาฉันอาหารที่อำเภอตะกั่วป่า เขาก็เป็นธุระจัดการให้ เขาทำเหมือนกับข้าพเจ้าเคยเป็นพระในเครือญาติของเขา เหมือนกับเคยได้รู้จักกันมานาน การแสดงออกมาทางกายและวาจามีสัมมาคารวะอ่อนน้อมถ่อมตนดีมาก นี้พูดกันสมัยนั้น แต่สมัยนี้จะเหมือนเดิมหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่คิดว่าคงเหมือนเดิม เพราะคนภาคใต้เป็นคนที่มีน้ำใจดีมาก ความดีต่าง ๆ ทางภาคใต้นั้นมีมาก
เมื่อรถไปจอดที่ตำบลโคกกลอย ก็ได้ถามชายวัยกลางคนว่า วัดราษฎร์โยธีอยู่ที่ไหน เขาก็พูดภาษาภาคใต้เลยฟังกันไม่รู้เรื่อง ขอให้พูดภาษาภาคกลางเขาก็ไม่ยอมพูด บังเอิญมีชายคนหนึ่งเดินมาจึงได้ถามเขา เขาก็บอกทางให้ มิหนำซ้ำยังจัดรถไปส่งถึงวัดด้วยและก็จ่ายเงินค่ารถเองทั้งหมด ทำให้คิดในใจว่า คนภาคใต้จะมีน้ำใจเหมือนกันอย่างนี้ทั้งหมดหรือเปล่า ต่อมาท่าน หลวงพ่อคำพอง ติสฺโส ได้พาไปธุดงค์ในที่ต่าง ๆ หลายแห่ง แต่ไม่ขอเขียนไว้ในที่นี้

พรรษาที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๐๙
ในปีนี้ ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดราษฎร์โยธี ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ในระหว่างเข้าพรรษา ได้ทราบข่าวว่าโยมพ่อได้เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้นิมนต์
หลวงพ่อคำพองขึ้นมาทำบุญพร้อมพระเณรอีกหลายรูป การทำบุญในครั้งนี้จะไม่มีเครื่องมหรสพใด ๆ ไม่มีการฆ่าสัตว์ทุกชนิด และไม่ให้มีเหล้ายาต่าง ๆ ภายในงาน ญาติทุกคนต้องให้รับศีล ๕ ทั้งหมด ให้ทุกคนมีความบริสุทธิ์ในการทำบุญอุทิศกุศลในครั้งนี้อย่างสมบูรณ์ เมื่องานเสร็จสิ้นอย่างเรียบร้อยแล้ว จึงได้คิดขึ้นมาว่า การทำบุญอุทิศกุศลให้โยมพ่อครั้งนี้ โยมพ่อจะได้รับผลบุญของลูกหลานและญาติ ๆ หรือไม่ เมื่ออธิษฐานจิตแล้วก็เร่งภาวนาปฏิบัติเต็มที่ เพื่ออยากรู้ว่าโยมพ่อได้รับส่วนบุญในครั้งนี้หรือไม่ เพื่อจะได้ประกาศให้คนอื่นรู้วิธีทำบุญแบบนี้ต่อไป

ไปโปรดโยมพ่อ
เมื่อภาวนาไปได้ ๓ วัน ในคืนนั้น ได้เกิดนิมิตเห็นเส้นทางอันราบรื่นขึ้นต่อหน้า ข้าพเจ้าได้ออกเดินทางตามทางนั้นไป อีกพักหนึ่ง ได้เห็นประตูเหล็กขนาดใหญ่อยู่ตรงหน้า มีชายฉกรรจ์รักษาประตูอยู่ ๔ คน แต่ละคนถือหอกดาบครบมือ มีหน้าตาเคร่งขรึม ยืนนิ่งอยู่ ข้าพเจ้าก็เดินเข้าไปหาเพื่อจะถามว่านี้เป็นสถานที่อะไร ทางนี้จะไปที่ไหน ทั้ง ๔ คนนั้นได้ไหว้แสดงความเคารพนอบน้อมเป็นอย่างดี แล้วได้พูดขึ้นว่า ที่นี่เป็นประตูเข้าไปสู่ยมโลก ทุกคนที่ตายจากเมืองมนุษย์แล้วต้องเข้ามาให้สืบสวนสอบสวนในที่แห่งนี้ทุกคน เขาถามข้าพเจ้าว่า พระคุณเจ้ามีความประสงค์สิ่งใดจึงได้มาในที่แห่งนี้ จึงตอบเขาไปว่า อาตมามีความประสงค์อยากทราบว่า โยมพ่อของอาตมาที่ตายไปแล้วได้เข้ามาในที่แห่งนี้หรือไม่ เขาถาม ขณะนี้พระคุณเจ้ากำลังติดตามหาโยมพ่อใช่ไหม ตอบเขาไปว่า ใช่แล้ว อาตมากำลังติดตามหาโยมพ่อ เขาพูดว่า ถ้าเช่นนั้น ขอนิมนต์พระคุณเจ้าเข้าไปสอบถามหัวหน้าที่อยู่ภายในเถิด จากนั้น ประตูเหล็กขนาดใหญ่ก็ได้เปิดออก ข้าพเจ้าก็เดินเข้าไป พอดีไปพบกับหัวหน้าใหญ่นั่งอยู่บนเก้าอี้ เป็นผู้ตรวจบัญชีของคนตายทั้งหมดว่าคนที่ตายนั้นมีอายุเท่าไร อยู่ที่ไหน บ้านเลขที่เท่าไร ตำบล อำเภอ จังหวัดอะไร ชื่ออะไร นามสกุลอย่างไร เหมือนกันกับจดลงในใบสำมะโนครัวทั้งหมด
เมื่อเข้าไปถึง ดูเขาทำท่าตกตะลึงไปบ้าง แต่ก็มีความอ่อนน้อมถ่อมตัวดี เมื่อเขายกมือไหว้แล้ว ก็พูดว่า พระคุณเจ้ามีความประสงค์อะไรหรือครับ ก็ได้เล่าให้เขาฟังว่า อาตมากำลังติดตามหาโยมพ่อ เพราะโยมพ่อได้ตายมาแล้วหลายเดือน ไม่ทราบว่าโยมพ่ออาตมาได้เข้ามาอยู่ที่นี่หรือเปล่า เขาถามว่าพ่อของพระคุณเจ้าชื่ออะไร นามสกุลอะไร ก็บอกเขาไปว่า ชื่อนายอุทธา นนฤาชา จากนั้น เขาก็ลุกขึ้นไปหยิบเอาหนังสือมาเปิดดู หนังสือนั้นมีความหนาประมาณ ๑ ศอก เขาใช้นิ้วมือกรีดเปิดพรืดเดียวแล้วอ่านดู และพูดขึ้นมาว่า นายอุทธา นนฤาชา อยู่บ้านหนองแวง (แก้มหอม) ตำบลไชยวาน อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี ใช่ไหมครับ บอกเขาไปว่าใช่แล้ว เขาพูดว่า ยังอยู่ที่นี่ครับ บอกเขาไปว่า อาตมาอยากขอพบโยมพ่อหน่อย เขาก็บอกคนใช้อีกคนหนึ่งว่า รีบไปตามนายอุทธา นนฤาชา ออกมาพบกับพระลูกชายด้วย เขาก็รีบวิ่งไป อีกสักพักหนึ่ง เขาก็ตามโยมพ่อเข้ามาหา เมื่อโยมพ่อเดินมา ลักษณะคล้ายจะมีความละอาย และอีกอย่างหนึ่ง คือ ที่แก้มด้านขวาคล้ำไปนิดหนึ่ง ส่วนแก้มด้านซ้ายเป็นปกติ เวลาเดินเข้ามาจะเอียงหน้าหันด้านซ้ายเข้ามา กางเกง เสื้อผ้าที่นุ่งขณะตายนั้น ใส่อย่างไร ตายไปก็จะนุ่งห่มอย่างนั้นไปก่อน เมื่อได้รับส่วนบุญจากลูกหลานและญาติ ๆ แล้ว ผ้านุ่งห่มจึงจะเปลี่ยนไป เมื่อโยมพ่อเข้ามาแล้วก็กราบตามปกติ จึงถามโยมพ่อว่า จำอาตมาได้ไหม
โยมพ่อตอบ จำได้
ถาม โยมพ่ออยู่ที่นี่ถูกเขาตีไหม
ตอบ แต่ก่อนถูกตีอยู่บ้าง แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ตีเลย
ถาม มาอยู่ที่นี่มีการไหว้พระภาวนาไหม
ตอบ ไหว้พระทุกคืนภาวนาทุกคืน
ถาม ลูกหลานทำบุญอุทิศมาให้ได้รับไหม
ตอบ ได้รับ ๓ ส่วน อีกส่วนหนึ่งไม่ได้รับ
ถาม ทำไมจึงไม่ได้รับ
ตอบ เพราะพระสงฆ์ที่รับเครื่องไทยทานศีลไม่บริสุทธิ์
ถาม กรรมที่จะต้องใช้อยู่ในขณะนี้มีมากไหม
ตอบ มีไม่มาก เพราะกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ หมดไปแล้ว
เหลือแต่กรรมจากวัวตัวเดียว
จากนั้น ก็ได้มาปรึกษากับหัวหน้ายมบาลว่า กรรมของโยมพ่ออาตมาส่วนใหญ่หมดไปแล้ว เหลือกรรมเนื่องจากวัวตัวเดียวเท่านั้น เมื่อกรรมเหลือน้อยนิดเดียวนี้ อาตมาอยากขอบิณฑบาตโยมพ่อพ้นจากกรรมนี้ได้ไหม จากนั้น หัวหน้ายมบาลก็ไปหยิบเอาหนังสือเล่มหนึ่งมาอ่านเพื่อดูกรรมของโยมพ่อที่ทำมา แล้วก็พูดว่า กรรมของโยมพ่อพระคุณเจ้าจะหมดในวันนี้ ผมขอแสดงความเคารพนับถือต่อพระคุณเจ้าเป็นอย่างมากที่ได้ติดตามมาโปรดโยมพ่อถึงที่ จึงได้ถามโยมพ่อว่าอยากบวชไหม โยมพ่อตอบว่า อยากบวช จากนั้น ข้าพเจ้าก็เอาผ้าขาวออกมาจากย่ามยื่นให้ โยมพ่อก็ได้นุ่งห่มผ้าอย่างเรียบร้อย พอนุ่งห่มผ้าขาวเสร็จเท่านั้น ผิวพรรณของโยมพ่อก็เปลี่ยนไปทั้งหมด หน้าตามีความอิ่มเอิบ ผิวพรรณผ่องใสเป็นอย่างมาก แล้วกราบอาตมา ๓ ครั้ง แล้วพูดขึ้นว่า กรรมที่โยมพ่อได้ทำหมดไปแล้วในวันนี้ ขอให้ลูกได้ไปประกาศ ให้ผู้ยังมีชีวิตอยู่พากันสร้างความดีไว้ให้มาก เมื่อตายไปจะได้ไม่เป็นทุกข์ โยมพ่อพูดว่า จากนี้ไป โยมพ่อจะได้ขึ้นไปอยู่ที่สูงแล้วนะ ว่าแล้วก็กราบ ๓ ครั้ง เสร็จแล้วก็ลอยขึ้นไปสู่อากาศ มองดูโยมพ่อลอยขึ้นไปจนสุดสายตา
ขอกลับมาเล่าเรื่องคนตายต่อไป คิดว่าท่านผู้อ่านจะได้นำไปเป็นข้อคิดได้บ้างไม่มากก็น้อย ในช่วงขณะที่ข้าพเจ้าได้พูดคุยกันกับยมบาลและโยมพ่ออยู่นั้น มียมทูตได้นำผู้ที่ทำกรรมชั่วผ่านมาเป็นจำนวนมาก มีทั้งเชือกผูกคอลากเข้ามา มีทั้งโซ่ผูกแขนขาดึงกันเข้ามา มีทั้งเอาไม้เรียวเฆี่ยนตีเลือดอาบตัว พากันร้องโหยหวนระงมไปทั้งหมด บางคนมีผ้านุ่งที่ฉีกขาด บางคนไม่มีผ้าติดตัวมาเลย ยมทูตได้บังคับขู่เข็ญด้วยวิธีต่าง ๆ พวกที่ทำกรรมชั่วมาแล้วได้รับความทุกข์ทรมานมากทีเดียว ผู้ที่ยมทูตนำไปนั้นมีจำนวนมากมายไม่อาจจะนับได้ เมื่อมองไปอีกด้านหนึ่ง จะมองเห็นศาลาว่าการซึ่งใช้เป็นที่ตัดสินของผู้ทำกรรมชั่วทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้ถามยมบาลว่า ศาลานั้นมีเพื่อทำอะไร ยมบาลพูดว่า ศาลานั้นใช้เพื่อเป็นศาลตัดสินโทษที่มนุษย์ได้ทำเอาไว้ ใครทุกคนที่ตายแล้ว เมื่อมีบาปติดตัวมา ต้องได้ขึ้นศาลตัดสินในที่นี้ทั้งหมด ใครทำกรรมชั่วน้อย ก็มีที่คุมขังไว้อีกส่วนหนึ่งต่างหาก ถ้าผู้ที่ได้ทำกรรมชั่วมากก็จะมีที่คุมขังอย่างทรมานแยกไว้อีก
ต่างหาก เมื่อถึงวันกำหนดก็จะได้นำผู้ทำกรรมเหล่านี้มาให้การตามหลักฐานที่มีอยู่แล้ว ขณะนี้
ผู้ที่ทำกรรมชั่วทั้งหมดจะตกเป็นจำเลย ส่วนกรรมชั่วที่เขาทำมาแล้วนั้นจะเป็นโจทก์ฟ้องตามคดี ขณะนั้น หมู่โจทก์ทั้งหลายมีทั้งวัว ควาย หมู หมา เป็ด ไก่ ตลอดสัตว์อื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
พากันเข้าเรียงแถวเป็นโจทก์ฟ้องผู้ที่ทำกรรมชั่วอยู่อย่างเนืองแน่น
การตัดสินในศาลของยมบาลนี้มีความเที่ยงธรรมมาก เรียกว่า ใช้กรรมชั่วดีเป็นที่ตัดสินอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีการคอรัปชั่น ไม่มีการเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเลย ไม่มีคำว่าผู้มีเงินมากจะชนะผู้มีเงินน้อยเหมือนโลกมนุษย์เรา แล้วก็เกิดมีความสลดสังเวชใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ผู้อ้างตัวว่าเป็นสมณะหัวโล้นห่มผ้าเหลือง ก็ยังเป็นจำเลยถูกฟ้องในศาลนี้ก็มีมากทีเดียว ถ้าหากผู้ที่ทำความดีไว้มาก ทำความชั่วน้อย ตายไปก็ต้องมาตัดสินในศาลนี้ก่อน เมื่อกรรมชั่วที่มีจำนวนน้อยหมดไป จึงจะได้ไปสู่สุคติตามกรรมที่ตัวเองได้สร้างไว้แล้ว แต่ถ้ากรรมดีมีน้อย กรรมชั่วมีกำลังมาก ก็จะแจกแจงออกไปตามกรรมต่าง ๆ บางกรรมก็ส่งลงไปอเวจีมหานรก บางกรรมก็ตกไปอยู่ในนรกขุมเล็ก ๆ ตามกรรมจำแนกไว้แล้ว บางกรรมก็จะส่งไปเป็นเปรต บางกรรมก็ส่งไปเป็นสัตว์ดิรัจฉาน บางกรรมก็จะส่งไปในหมู่อสุรกาย ถ้าผู้ทำในกรรมดีล้วน ๆ จะไม่ได้เข้ามาในเขตของยมบาลนี้เลย เมื่อเขาหมดชีวิตไปก็จะไปสู่สุคติทันที ฉะนั้น จึงขอเตือนแก่พวกเราทั้งหลายเอาไว้ โดยมิได้บังคับ ถ้าท่านไม่เชื่อ จะทำกรรมชั่วอย่างไรก็ตามใจ แต่ท่านก็จะได้เป็นผู้รับผลในการกระทำของท่านเอง

พรรษาที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๑๐
ในพรรษาที่ ๗ นี้ จำพรรษาอยู่ที่วัดสันติกาวาส ตำบลไชยวาน อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี มี หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล เป็นเจ้าอาวาส ในพรรษานี้ การภาวนาปฏิบัติก็มีความราบรื่นไปด้วยดี นิสัยของหลวงปู่บุญจันทร์ ท่านมีนิสัยที่พูดน้อย การพูดในธรรมก็น้อย แต่ก็เต็มไปด้วยเนื้อหาสาระ คำพูดที่ท่านพูดออกมา เมื่อนำไปพินิจพิจารณาดูแล้ว มีความหมายอย่าง
ลุ่มลึก และเต็มไปด้วยเหตุด้วยผล ถ้ามีปัญญาตีพิจารณาให้รอบคอบแล้ว มีความหมายอย่างพิสดารมากทีเดียว เว้นเสียแต่ผู้มีหูหนาปัญญาทึบเท่านั้น จึงจะฟังธรรมของท่านไม่รู้เรื่อง ในพรรษานี้ เป็นครั้งแรกที่ได้ยินเสียงของหลวงปู่มั่นมาเตือน เหตุเกิดในคืนวันหนึ่ง ขณะที่จิตมีความสงบอยู่นั้น ได้ยินเสียงของหลวงปู่มั่นว่า ทูล ออกจากที่นี่แล้วให้ไปอยู่กับอาจารย์ขาว วัดถ้ำกลองเพลนะ ความปรารถนาของท่านจะเป็นจริงในไม่ช้านี้เอง จากนั้น จิตก็ถอนออกจากสมาธิ ข้าพเจ้าจึงใช้ปัญญาพิจารณาในคำสั่งของหลวงปู่มั่น แล้วเกิดมีความอิ่มเอิบใจตลอดทั้งคืน เกิดความมั่นใจในตัวเองว่า ออกพรรษาแล้วจะเข้าไปอยู่กับหลวงปู่ขาวแน่นอน และมีความภาคภูมิใจในตัวเองว่า ชีวิตเราไม่เคยเห็นหลวงปู่มั่นเลย แต่ท่านก็ยังมีความเมตตามาเตือนสติให้ และมีความมั่นใจในตัวเองว่า ถ้าได้เข้าไปอยู่กับหลวงปู่ขาวแล้ว จะทำให้รู้เห็นในธรรมอย่างแน่นอน นี่เป็นเพียงตั้งความหวังเอาไว้เท่านั้น ผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น จงติดตามอ่านกันต่อไป
ในพรรษานี้ การภาวนาปฏิบัติก็มีความก้าวหน้าไปด้วยดี ไม่มีอุปสรรคขัดขวางแต่อย่างใด เพราะโดยปกตินิสัยของข้าพเจ้านั้น พยายามที่จะตั้งอยู่ในความเพียรอยู่ตลอด ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนทำอะไรอยู่ก็ตาม สติปัญญาจะคิดหาอุบายธรรมมาพิจารณาให้ลงสู่ไตรลักษณ์อยู่เสมอ เช่น
ปัดกวาดลานวัดหรือทำความสะอาดในศาลาและห้องน้ำ ก็จะเอาเรื่องที่กำลังทำนั่นแหละเป็นอุบายในการพิจารณาในปัญญาต่อไป ไปเห็นต้นมะพร้าวต้นหนึ่งที่ปลูกไว้ในสมัยตั้งวัดครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ต้นใบของมะพร้าวนั้น มีความสดเขียวเป็นปกติ แต่ก็ไม่สูงและไม่ออกผล
แต่อย่างใด ก็เอามะพร้าวต้นนี้แหละมาเป็นอุบายปัญญา โอปนยิโก น้อมเข้ามาสอนตัวเอง
ว่า เราอย่าทำใจให้เหมือนต้นมะพร้าวนี้เลย เพราะมะพร้าวต้นนี้เกิดมานานหลายปี ไม่มีลูกติดต้นแม้แต่ลูกเดียว ถ้าเราบวชเพียงมีพรรษามาก แต่มรรคผลไม่เกิดขึ้นกับเรา เหมือนกับว่าขาดทุนทั้งชาติไปเลย ฉะนั้น เราอย่าทำตัวให้เป็นเหมือนต้นมะพร้าวนี้เลย พอออกพรรษารับกฐินแล้ว ก็ไปอยู่วัดถ้ำกลองเพล

พรรษาที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๑๑
เมื่อเข้ามาวัดถ้ำกลองเพลในครั้งแรก จะต้องวางตัวเองให้เป็นเต่าล้านปี ไม่ให้มีใครจับนิสัยตัวเองได้ ความโง่มีเท่าไรก็จะแสดงออกมาทั้งหมด ปีนั้น มีพระอาจารย์จวนจำพรรษาอยู่ด้วย พอเข้าไปแล้วก็ได้มอบกายมอบตัวเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ขาว หลวงปู่ก็มีความยิ้มแย้ม
แจ่มใส ทักทายไปมาว่า ท่านบวชอยู่ที่ไหน ก็ตอบท่านไปว่า บวชที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี ท่านก็ถามต่อไปว่า ใครเป็นพระอุปัชฌาย์ ตอบท่านไปว่า หลวงพ่อเจ้าคุณธรรมเจดีย์เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่ยิ้ม ๆ แล้วพูดว่า อื้อ บวชในอุปัชฌาย์เดียวกันกับเฮา แล้วหลวงปู่ก็ได้ถามอุบายการปฏิบัติในแง่ต่าง ๆ หลายข้อ ข้าพเจ้าก็ได้เล่าถวายท่านไปในจุดสำคัญ ๆ เมื่อท่านได้รับฟังแล้วก็พูดต่อไปว่า ให้ใช้อุบายปัญญาพิจารณาให้มาก เห็นสิ่งใดให้นำมาพิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ทั้งหมด ปัญญาเท่านั้นที่จะพาให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมได้ เพราะปัญญาเป็นแสงสว่างให้ใจ ขณะใจมันมืดบอด ไม่รู้เห็นในหลักความเป็นจริง เมื่อใช้ปัญญาสอนใจอยู่บ่อย ๆ ใจก็จะค่อยเกิดความฉลาดรอบรู้ตามหลักความเป็นจริง ทุกสิ่งเพียงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเท่านั้น ให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้มากนะ วันหนึ่งคืนหนึ่งผ่านไป ชีวิตของเราก็ผ่านไปด้วย ผลที่จะได้รับจากชีวิตที่มีอยู่เรารู้เห็นหรือยัง อย่าประมาทในชีวิตของตัวเอง เราอาจตายไปในวันไหน เดือนไหนก็ได้ เมื่อรู้ตัวเองว่ามีชีวิตอยู่ในขณะนี้ ก็ให้ถือว่าเรามีโชคดี ถ้าโชคร้ายอาจจะตายไปนานแล้วก็เป็นได้ ขณะนี้ชีวิตเรามีอยู่แค่ลมหายใจเท่านั้น ถ้าลมเข้าไม่ออก ถ้าลมออกไม่เข้า เราก็หมดสิทธิ์ในชีวิตนี้ทันที และหมดสิทธิ์ที่สร้างความดีต่อไปด้วย ฉะนั้น จงเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิตนะ จากนั้น ก็กราบลาหลวงปู่มาที่กุฏิ แล้วเอาอุบายธรรมที่ท่านหลวงปู่สอนเอาไว้มาภาวนาปฏิบัติต่อไป ในปีนี้ มีพระเถระผู้ใหญ่จำพรรษาอยู่ด้วยหลายองค์ แต่ละองค์มีบทบาทสูงมากทีเดียว มีบริษัทบริวารไปมาหาสู่เป็นจำนวนมาก เอกลาภมี น้ำอ้อย น้ำตาล นม เนย เป๊ปซี่ โคล่า เต็มกุฎิไปหมด ตัวข้าพเจ้าเองก็ได้อาศัยขบฉันจากท่านไปด้วย ตลอดการอบรมธรรมสั่งสอนประชาชนในทางธรรมปฏิบัติ รู้สึกว่าแต่ละท่านแต่ละองค์มีความแพรวพราวเป็นสัญลักษณ์ของตัวเอง ตัวข้าพเจ้าก็พลอยมีความรู้จากครูอาจารย์นี้ไปด้วย มีอุบายธรรมบางหมวดหมู่ ฟังแล้ว ถ้าขาดเหตุผลเราก็ปล่อยทิ้งไป ธรรมใดมีเหตุผลดีพอเชื่อถือได้ก็นำมาปฏิบัติแก่ตัวเอง ไม่ต่อต้านใคร ไม่ถกเถียงใครในทางธรรมะ หน้าที่เราคือ มีการฟังอย่างเดียว ใครจะว่าพระทูลโง่อย่างไรไม่สนใจ ขออย่าให้เราเกิดมีปัญหากับใคร ๆ ก็เป็นพอ
อยู่มาในคืนหนึ่ง ในขณะจิตมีความสงบแล้ว มีนิมิตเกิดขึ้นว่า ขณะนั่งอยู่ในกุฏิ ได้ยินเสียงคนพูดกัน ๒ - ๓ คน ได้ยินเสียงว่า พระทูลมาอยู่กุฏิแถวนี้นะ หรือว่าอยู่กุฏินี้หรือเปล่านะ ข้าพเจ้าจึงมองออกจากกุฏิ เห็นชายร่างกายกำยำล่ำสัน ๓ คน ถือปืน หอก และดาบ ครบมือ หวังจะตามฆ่าพระทูลให้ตายไป ได้ยินเขาบอกกันว่า ให้คนหนึ่งขึ้นไปดูในกุฏิบ้างซิ ส่วนอีกสองคนจะคอยอยู่ข้างล่าง เมื่อมันกระโดดลงมาจะฟันให้ขาดเป็นท่อน ๆ ครั้นแล้ว เมื่อคนที่ขึ้นมาบนกุฏิพบข้าพเจ้าอยู่ในกุฏิ ก็ร้องตะโกนบอกกันว่า มันอยู่ที่นี่ รักษาข้างล่างไว้ให้ดีนะ จะเข้าไปจับเอาตัวมันมาฆ่าเอง ข้าพเจ้าคิดขึ้นมาว่า นี่มันเรื่องอะไรกันถึงจะมาฆ่าเรา ตัวเราก็ยังไม่ถึงที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ เดี๋ยวเราจะหลบตัวไปก่อนไม่ให้มันจับเราฆ่าได้เลย คิดได้ดังนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็กระโดดออกทางหน้าต่างเหาะหนีไป เขาทั้ง ๓ คนก็บอกกันว่า มันเหาะหนีไปแล้ว ติดตามมันให้ทัน อย่าให้มันหนีพวกเราไปได้ ในขณะที่ข้าพเจ้าเหาะหนีไป ทั้งสามคนก็วิ่งติดตามอยู่เบื้องล่าง แล้วบอกกันว่า อย่าให้เผลอนะ ถ้ามันหลบไปได้จะติดตามฆ่ามันยากมาก ข้าพเจ้าก็เหาะหนีไปเรื่อย ๆ เมื่อเหาะหนีไปถึงทุ่งเวิ้งว้างกว้างใหญ่ ไม่มีต้นไม้แม้แต่ต้นเดียวพอให้ได้อาศัยเลย กำลังที่ใช้เหาะหนีไปก็ค่อย ๆ ลดลง ๆ เมื่อพยายามบังคับตัวเองให้เหาะต่อไปอีกไม่ได้ก็เหาะต่ำลง ๆ ชายทั้ง ๓ คนก็คอยรับอยู่ข้างล่าง แล้วบอกกันว่า อย่าให้มันตกดินนะ ครั้นแล้วคนหนึ่งก็กอดรัดข้าพเจ้าที่คอ คนหนึ่งเข้าหามกลางตัว อีกคนหนึ่งเข้ากอดที่ขา แล้วปรึกษากันว่าจะนำข้าพเจ้าไปฆ่าที่กลางทุ่งใหญ่ ในช่วงที่หามข้าพเจ้าไปนั้น ก็พากันพูดเยาะเย้ยไปว่า ไอ้ตัวดี คิดอยากจะหนีจากพวกเรา แต่บัดนี้หนีไม่ได้แล้ว มึงจะต้องตายด้วยน้ำมือของกูในครั้งนี้เอง ข้าพเจ้าก็คิดว่า ถ้าเขาจะฆ่าเราจริง ๆ ก็จะฆ่าได้เพียงร่างกายเท่านั้น ส่วนใจเราหาฆ่าให้ตายได้ไม่
จากนั้น เขาก็หามข้าพเจ้าไปบริเวณที่จะฆ่า และวางตัวข้าพเจ้าลงนอนคว่ำหน้าลงดิน คนหนึ่งใช้ปืนยิงลงที่กลางหลัง ฟังเสียงลูกปืนทะลุลงพื้นดินดัง ปุ ๆ ไม่รู้ว่าถูกยิงกี่นัด อีกคนหนึ่งเอาหอกแทงเข้าที่ต้นขาทะลุเสียบปักใส่ดิน อีกคนหนึ่งพูดขึ้นว่า กลัวมันไม่ตายสนิท จึงถอดดาบยาวขนาดแขนออกจากฝัก มือหนึ่งจับคางข้าพเจ้ายกขึ้น อีกมือหนึ่งจับดาบแทงเข้าไปในซอกคอจนปลายดาบทะลุถึงก้น แล้วจับดาบโยกไปโยกมา มีเลือดไหลนองตามพื้นดินเต็มไปหมด ข้าพเจ้าก็ทำท่าตายไป พวกเขาก็บอกกันว่า ขนาดนี้มันก็ตายแล้ว ทิ้งศพมันไว้ที่นี่แหละ จากนั้น เขาก็ถอดเอาดาบและหอกออกแล้วพากันหนีไป เมื่อเขาเข้าป่าไปแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้อธิษฐานว่า หากข้าพเจ้าภาวนาปฏิบัติให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ในชาตินี้แล้ว ขอให้บาดแผลในร่างกายทั้งหมดได้หายเป็นปกติด้วยเถิด ทันใดนั้น แผลทั้งหมดก็หายไปอย่างฉับไว ร่างกายก็มีความแข็งแรงตามเดิม จากนั้น ก็วิ่งหนีเข้าป่าไปอีกทางหนึ่ง พอดีไปพบกับโยมแม่ที่นั่งคอยอยู่ก่อนแล้ว โยมแม่พูดว่า รักษาตัวให้ดีนะ อย่าหลงกลเขาอีก ในขณะนั้น ชาย ๓ คน ก็ได้วิ่งตามมาอีก ข้าพเจ้าจึงกระโดดเหาะขึ้นไปอยู่บนต้นไม้สูงอีกต้นหนึ่ง เขาก็บอกให้ลงมา ข้าพเจ้าก็ไม่ลง อีกคนหนึ่งได้ปีนต้นไม้ตามขึ้นไป ข้าพเจ้าก็เหาะหนีไปอีกแล้วหลบตัวอยู่ที่ปลายยอดของต้นยางกลางดงขนาดสูงใหญ่ แต่เขาทั้ง ๓ คนก็วิ่งตามมาทัน คนหนึ่งก็ปีนต้นไม้ตามขึ้นมา ข้าพเจ้าก็เหาะหนีไปอีก เหาะหนีครั้งนี้ ได้ไปเหาะวนเวียนอยู่เหนือก้อนเมฆหลายรอบ เพื่อให้ ๓ คนนั้นหลงทางตามไม่ทัน แล้วเหาะลงมาหลบอยู่ปลายยอดต้นพะยุงขนาดสูงใหญ่อีกต้นหนึ่ง แต่ชาย ๓ คนนั้นก็ตามมาทันอีก คนหนึ่งในนั้นก็ปีนต้นไม้ตามขึ้นมาอีก ข้าพเจ้าก็ได้เหาะหนีไปอีก เหาะหนีไปครั้งนี้ไปตกทุ่งใหญ่ไม่มีต้นไม้ใหญ่เลย แต่มีต้นมะเกลือต้นหนึ่งสูงประมาณ ๕ เมตร
ในตอนนั้น เกิดความเหน็ดเหนื่อยจนไม่สามารถจะเหาะหนีต่อไปอีกได้ จึงเหาะลงมาอาศัยอยู่ที่ต้นมะเกลือต้นนั้น พวกเขาก็วิ่งตามมาอีก แต่ในคราวนี้เหลืออยู่เพียง ๒ คน อีกคนหนึ่งไม่รู้ว่าหายไปไหน เขาขู่ว่าถ้าไม่ลงมาจากต้นมะเกลือจะพากันขึ้นไปเอาดาบฟันให้ตายเดี๋ยวนี้ ดูท่าทางเขาจะเอาจริงเสียด้วย ข้าพเจ้าจึงคิดวางแผนเอาไว้ว่า เราต้องแกล้งทำความอ่อนน้อมถ่อมตัวต่อเขา และให้เขาสัญญาว่าจะเป็นมิตรกับเราเพื่อเขาจะได้ไม่ฆ่าเรา จึงพูดกับเขาว่า ถ้าจะให้เราลงไป ท่านทั้ง ๒ คนจะยอมเป็นเพื่อนเราไหม เมื่อเขาตอบตกลงและรับปากสัญญาว่าจะไม่ฆ่าฟันกันอีก ข้าพเจ้าจึงลงจากต้นมะเกลือมา หลังจากนั้น เราก็ทำท่าเข้ากอดแสดงความเป็นมิตรต่อกัน แล้วก็พากันเดินไปด้วยความไว้วางใจกัน ข้าพเจ้าจึงเริ่มวางแผนใหม่ว่า ขณะนี้ ปืนกับหอกไม่มีแล้ว ทั้ง ๒ คนมีดาบเพียงเล่มเดียว เราจะต้องหากลอุบายเพื่อจะถือดาบเล่มนี้ให้ได้ เมื่อเราได้ดาบเล่มนี้แล้ว เราจะเอาดาบเล่มนี้ฟันคอทั้ง ๒ คนให้ตายด้วยน้ำมือเราทันที เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วจึงพูดกับเขาไปว่า นี่เพื่อน ไหน ๆ เราก็เป็นเพื่อนกันแล้ว แต่เพื่อนมี ๒ คน แต่เรามีคนเดียว หากเพื่อนให้เราถือดาบเอาไว้ เราก็จะวางใจต่อเพื่อนอย่างสนิทใจ หนึ่งในสองคนนั้นจึงพูดขึ้นว่า ถ้าอย่างนั้นก็ให้มันถือดาบเอาไว้เสีย จากนั้น เขาก็ยื่นดาบมาให้ข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้ากำด้ามดาบให้แน่นแล้วก็เงื้อดาบขึ้นเต็มแรง ในขณะที่เงื้อดาบจะฟันลงไปนั้น จิตก็ได้ถอนออกจากสมาธิ รู้สึกเหมือนกับว่าอยู่ในเหตุการณ์จริง
จากนั้น ก็ใช้ปัญญาพิจารณาคิดเรียบเรียงในนิมิตที่เกิดขึ้นว่าเกี่ยวข้องกับตัวเองอย่างไร ซึ่งพิจารณาได้ความว่า กุฏินั้นหมายถึงร่างกายที่อาศัย เราที่อยู่ในกุฏิหมายถึงใจที่อาศัยกายนี้อยู่ ชาย ๓ คน หมายถึง กิเลส ตัณหา อวิชชา ที่เป็นเพื่อนรักของใจมาตลอด หอก ดาบ ปืน หมายถึง ความโลภ ความโกรธ ความหลง ที่ตามฆ่านั้น หมายถึง ใจจะตีตัวออกห่างจากเพื่อนเก่าหนีไป เพื่อนไม่ยอมจึงติดตามฆ่าเพื่อให้กลัว ทีหลังจะได้ไม่คิดแยกทางทิ้งเพื่อนหนีไป โยมแม่ หมายถึง ธรรมที่ปกป้องตัวเราไม่ให้ตกไปในทางที่ชั่ว เหาะหนีไป หมายถึง อุบายธรรมที่ปฏิบัติให้ออกจากกิเลส ตัณหา อวิชชา อาศัยอยู่ที่ต้นไม้สูง หมายถึง ไปพักผ่อนในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง เหาะลอยอยู่บนอากาศหลายรอบ หมายถึง พรหมโลก คือ รูปฌาน อรูปฌาน เหาะลอยลงมา หมายถึง เมื่อหมดฤทธิ์ของฌานก็ลงมาเกิดในโลกมนุษย์อีก จึงเรียกว่ากำลังของฌานสมาบัติเสื่อมหรือกำลังบุญกุศลหมดแล้ว ที่มาพักอยู่ต้นมะเกลือกลางทุ่งนา หมายถึง ต้องลงมาเกิดอาศัยร่างกายในภพชาติของมนุษย์นี้อีก ต้นมะเกลือสูง ๕ เมตร หมายถึง มาหลงติดว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตนของเรา อุบายที่มีสัญญาเป็นเพื่อนกันนั้น หมายถึง อุบายปัญญาหลอกกิเลส ตัณหา อวิชชา ให้หลงกล อุบายขอดาบจากเพื่อนมาถือ หมายถึง สังขารสมมุติที่เป็นเครื่องมือสำคัญของกิเลส ตัณหา อวิชชา ให้หลงกล หลอกเอาดาบจากเพื่อนมาได้ หมายถึง ความฉลาดเฉียบแหลมของสติปัญญาเหนือกว่าสมมุติและสังขารโดยเอาสังขารสมมุติมาเป็นเครื่องมือ ชาย ๒ คนที่ตามมา หมายถึง โมหะ อวิชชา กำลังเงื้อดาบฟันเพื่อน หมายถึง สมมุติสังขารที่กิเลส ตัณหา อวิชชา ได้ครอบครองมาก่อน เมื่อสติปัญญามีอุบายเอาสมมุติสังขารมาเป็นเครื่องมือได้แล้ว ก็จะตัดสิทธิ์จากกิเลส ตัณหา อวิชชา ทันที การตีความหมายในนิมิตนี้ ไม่ควรจะอธิบายไว้เลย เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ที่จริงนิมิตทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น สุบินนิมิต หรือ อุคคหนิมิต ถ้าเกิดขึ้นกับใครแล้ว ถ้าผู้นั้นไม่มีปัญญาที่ดี ที่ฉลาด นิมิตนั้นก็ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด แต่ถ้าผู้ใดมีสติปัญญาที่ฉลาด ก็สามารถนำเอานิมิตนั้น ๆ มาเป็นอุบายในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี และมีประโยชน์ที่จะทำให้เกิดความเห็นชอบตามหลักความเป็นจริงได้ และเป็นอุบายที่จะทำให้เกิดความแยบคายในเหตุผลได้เป็นอย่างดี
ในปีนี้จำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำกลองเพล จึงมีกำไรในการภาวนาปฏิบัติมากทีเดียว ในวันหนึ่ง ได้ไปขอคำปรึกษาจากหลวงปู่ขาวเรื่องสถานที่ที่จะไปภาวนา ว่าที่ไหนมีความสะดวกในการภาวนา หลวงปู่ก็ได้เล่าถึงสถานที่ที่ไปภาวนามาหลายที่หลายแห่งมากมาย ทุกแห่งก็ภาวนาดีทั้งนั้น แต่จะให้ภาวนาดีที่สุดคือ ไปภาวนาทางภาคเหนือ เพราะภาคเหนือไม่มีคนไปมาหาสู่จุ้นจ้านเหมือนภาคอีสานบ้านเรา เขาเอาข้าวกับอาหารใส่บาตรแล้วก็แล้วกันไป เขาไม่ตามไปขอเลขขอหวยเหมือนทางบ้านเรา แต่ละวัน แต่ละคืน การภาวนามีความต่อเนื่องกันไปตลอด ไม่ขาดวรรคขาดตอน จะยืน เดิน นั่ง นอน ในที่ไหน ไม่คิดว่าจะมีคนไปมาหาสู่ ส่วนภาคเรามีคนเล่นเลขเล่นหวยมาก ไปพักภาวนาปฏิบัติที่ไหน มีแต่คนไปขอหวยขอเบอร์วุ่นวายไปหมด ขอเลขตรง ๆ
แม่น ๆ สองตัวสามตัวบ้าง หรือขอฟังนิมิตความฝันบ้าง บอกว่าไม่ฝันก็ยังบังคับให้ฝันอยู่นั่นแหละ แต่บางองค์ก็อาจจะมีอยู่บ้าง บางองค์ไม่มีเจตนาอย่างนี้เลย บางทีเขาไปจับเอาธรรมที่แสดงไป เช่น พูดเรื่องศีล ๕ ศีล ๘ ก็ไปตีเป็นเลขเป็นเบอร์ไปหรือพูดเรื่องธรรมะอะไรออกมาก็ตาม ก็จะคอยฟังแล้วจะตีเป็นเลขไปทั้งหมด เกาหัวก็ตีเป็นเลข เกามือกำมือก็ตีเป็นเลข ชี้มือแบมือก็ตีเป็นเลขทั้งหมด บางทีมันตรงกับเลขตัวที่มันออกก็เล่าลือกันไปใหญ่ ว่าองค์นั้นใบ้หวยแม่น แล้วก็พากันรุมล้อมเข้ามาอีก ดูซิ อาจารย์ไหนที่เขาเคยได้เงินด้วย ถึงวันกลางเดือนและปลายเดือน ไปเต็มอยู่ที่วัดนั่นแหละ ไปคอยสังเกตจับเอาความเคลื่อนไหวจากท่าน ไปฟังคำพูดจากท่าน โดยที่ที่ท่านไม่มีเจตนาเกี่ยวกับหวยกับเบอร์เลย ถึงขนาดบางคนไปนับเอาก้าวขาจากท่านว่าท่านก้าวขาไปจากที่นี่กี่ก้าว ก็นับเอาไปซื้อเลข บางคนไปนั่งนับดูคำข้าวของท่านว่าท่านฉันกี่คำก็นำไปซื้อเลขอีก ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร วุ่นวายกันไปหมด ทางที่ดีให้ไปภาวนาอยู่ทางภาคเหนือนะ จะได้เร่งภาวนาได้อย่างเต็มที่ ให้ไปภาวนาในเขตจังหวัดเชียงรายนะ ไปหาอยู่ตามบ้านนอก ให้ห่างจากเสียงรถไปมา การภาวนาเมื่อไม่มีเสียงรบกวน จิตก็จะตั้งมั่นได้เร็ว การใช้ปัญญาพิจารณาก็จะต่อเนื่องกันดี จะเป็นที่กายวิเวก จิตวิเวก เป็นเสนาสนะสัปปายะอย่างดีที่สุด เพราะ สถานที่มีส่วนสำคัญในการภาวนาเป็นอย่างดี
เมื่อได้ฟังหลวงปู่เล่าให้ฟังดังนั้น ใจมันอยากจะไปภายในวันสองวันนี้เอง เหมือนกับว่า เมื่อไปภาวนาอยู่ทางภาคเหนือ จะเกิดความรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมได้อย่าง
เร็ววัน นี้ก็เป็นตัณหาอีกอย่างหนึ่ง แต่เป็นตัณหาคิดอยากไปในทางที่ดี มีความอยากไปในทางที่จะหลุดพ้น ตัณหาประเภทนี้เมื่อใช้ให้เป็นประโยชน์จะเป็นกำลังใจในการปฏิบัติเป็นอย่างดี ดังคำบาลีว่า ตณฺหาย ตรติ โอฆํ ผู้จะข้ามมหรรณพได้เพราะตัณหา ตัณหานั้นมี ๒ อย่าง คือ ความอยากในฝ่ายต่ำในกามคุณ หรือความอยากที่จะก่อตัวไปในทางทุจริต เป็นความอยากที่นำไปสู่ความหายนะแก่ตัวเองและเพื่อนฝูง หรือความอยากใดที่ก่อให้เกิดความชั่วทางกาย วาจา และความชั่วที่เกิดขึ้นทางใจ เช่น ความเห็นชั่ว ความดำริคิดไปในทางที่ชั่ว ความอยากประเภทนี้เป็นความอยากของคนพาลสันดานชั่วนั่นเอง ส่วนความอยากอีกอย่างหนึ่ง เป็นความอยากที่จะทำดี มีความสุจริต เช่น อยากทำบุญวิธีต่าง ๆ อยากทำประโยชน์ใน
สาธารณกุศลทั่วไป อยากรักษาศีล อยากภาวนาปฏิบัติ หรืออยากรู้แจ้งเห็นจริงในมรรคผลนิพพาน หรืออยากทำความดีใด ๆ ที่สังคมมีความต้องการ คิดอยากทำอะไรสิ่งนั้นล้วนแต่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมทั่วไป ความอยากประเภทนี้เป็นความอยากของนักปราชญ์บัณฑิต ควรส่งเสริมให้ความอยากอย่างนี้เกิดขึ้นให้มาก เพราะเป็นความอยากที่สังคมโลกต้องการ แม้สังคมในทางธรรมก็มีความต้องการเช่นกัน เช่น อยากภาวนาปฏิบัติ อยากพ้นไปจากวัฏสงสาร ความอยากอย่างนี้พระกรรมฐานมีความต้องการมากทีเดียว ดังคำว่า ผู้จะข้ามมหรรณพไปได้ก็เพราะตัณหา คือความอยากประเภทนี้ ฉะนั้น นักปฏิบัติต้องรู้จักแยกในคำว่าตัณหาคือความอยากให้เป็น ไม่เช่นนั้น จะเกิดความเข้าใจผิดตลอด เพราะได้ยินจากนักสอนภาวนามาหลายท่านว่า ให้ละตัณหาคือความอยากไปทั้งหมด ไม่ให้มีความอยากอะไรอยู่ภายในใจ ไม่ให้ทำอะไรเนื่องด้วยความอยากทั้งหมด ถ้าเช่นนั้นจะทำความดีก็ทำไม่ได้เลย เพราะความอยากไม่มี จะทำความดีได้อย่างไร เป็นธรรมดาของปุถุชนผู้กำลังแสวงหา นั่นคือ มีความอยากอยู่ภายในใจ เช่น แสวงหาครูอาจารย์เพื่อจะได้รับฟังธรรมจากท่าน และอยากให้ตัวเองภาวนาปฏิบัติจนได้รับผลในธรรมนั้น ๆ ฉะนั้น ความอยากจึงเป็นฐานเป็นกำลังใจให้แก่ตัวเอง เพื่อจะได้สร้างในคุณงามความดีต่อไป มิใช่ว่าจะละความอยากทั้งหมดตามที่เข้าใจกัน แต่เป็นผู้
รู้จักวิธีป้องกันความอยากในทางที่ต่ำช้าเลวทราม และรู้วิธีส่งเสริมความอยากในทางที่ดีให้เกิดขึ้นภายในใจ เพื่อจะได้เป็นกำลังในการภาวนาปฏิบัติต่อไป
เหมือนกันกับศรัทธาความเชื่อ มีหลาย ๆ คนยังไม่เข้าใจในคำว่าศรัทธาคือความเชื่อ เพราะตามปกติแล้ว คนเรามีศรัทธา คือ ความเชื่อ อยู่ในตัวทั้งนั้น แต่จะใช้ความเชื่อไปในทางไหนนั้น ต้องเป็นผู้มีปัญญาประกอบด้วยเหตุผล เช่น ได้ยินจากคนอื่นเล่าให้ฟังว่า สิ่งนั้นเป็นอย่างนี้ สิ่งนี้เป็นอย่างนั้น เขาก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาในเหตุผลดูก่อนว่า สิ่งที่คนอื่นพูดมาว่าอย่างนี้ มีเหตุผลพอเชื่อถือได้ไหม ถ้าเหตุผลเชื่อถือไม่ได้ ก็อย่าตัดสินใจเชื่อในคำที่เขาพูดมานั้นเลย นี้เรียกว่า ศรัทธาญาณสัมปยุต คือ พิจารณาด้วยปัญญาให้แยบคายในเหตุผลก่อนจึงเชื่อ นี่จึงเรียกว่าศรัทธาความเชื่อถือของนักปราชญ์บัณฑิต ส่วนศรัทธาคือความเชื่อของบางคนไม่มีเหตุผลอะไรเลย ได้ยินจากใครพูดมาอย่างไรก็เชื่อตาม หรือได้อ่านหนังสือมาอย่างไรก็เชื่อตาม ไม่มีปัญญาพิจารณาในเหตุผลนั้นเลย ถ้าเป็นอย่างนี้ คำว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ก็หมดความหมายไป จะเอาอะไรมาเป็นเครื่องตัดสินในตัวเองไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า จงเป็นผู้มีความเชื่อมั่นในเหตุผลของตัวเองเป็นหลักสำคัญ มิใช่หรือ นี่กระไรเหมือนกันกับเอาไม้ปักทราย หรือเหมือนกันกับเอาไม้ปักขี้โคลนขี้เลนถูกลมพัดไปทางไหนก็เอนเอียงไปทางนั้น นี้ฉันใด ความเชื่อที่ขาดปัญญาพิจารณาในเหตุผลนั้น ก็จะกลายเป็นคนหูเบา และเชื่อในมงคลตื่นข่าวอย่างงมงายโดยไม่รู้ตัว หรือตกอยู่ในหมู่กาลามชน เชื่อที่ขาดจากเหตุผลที่ถูกต้อง เช่น การภาวนาปฏิบัติ ก็เชื่อว่าจะได้มรรคได้ผล แต่อุบายในการภานาปฏิบัตินั้น เราจะเชื่อถือในอุบายการปฏิบัติในสำนักไหน อุบายใดที่ตรงต่อมรรคผลนิพพาน เราก็ต้องศึกษาประวัติของพระอริยเจ้าเอาไว้บ้าง เมื่อท่านเหล่านั้นยังเป็นปุถุชนธรรมดา ท่านเหล่านั้นใช้หลักอุบายภาวนาปฏิบัติกันมาอย่างไร เราต้องศึกษาให้เข้าใจในอุบายนั้น ๆ ด้วยเหตุผลของตนเองให้มาก ไม่เช่นนั้น จะเป็นความเชื่อที่เลื่อนลอย ไม่มีความมั่นคงแต่อย่างใด ท่านเรียกว่า ศรัทธาวิปยุต จะเป็นผู้เชื่ออะไรก็ขาดเหตุผลที่เป็นมูลความจริงไปได้ง่าย ไม่มีความรับผิดชอบในความเชื่อของตัวเองที่มั่นคง เรียกว่า ฝึกตัวเองให้เป็นผู้หูเบา วอกแวก งมงาย ไร้เหตุผล จะพึ่งตนไม่ได้จนตลอดวันตาย ฉะนั้น ศรัทธาคือความเชื่อถือ ต้องเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ นั่นคือ ใช้ปัญญาพิจารณาให้แยบคายก่อนนั่นเอง
ต่อไปจะขอเล่าถึงนิสัยของหลวงปู่ขาว คิดว่าหลาย ๆ คนคงได้เคยไปกราบคารวะฟังธรรมจากท่านมาแล้ว แต่อีกหลาย ๆ คน ยังไม่ได้พบเห็นองค์จริงของท่านเลย เป็นแต่เพียงเห็นรูปถ่ายของท่านเท่านั้น หลวงปู่ขาวเป็นผู้มีนิสัยในความเมตตาสูงมากทีเดียว ใครได้ไปพบเห็นกราบไหว้ท่านแล้ว ไม่อยากลุกหนีจากท่านไป เขาว่ามีความเย็นใจเป็นอย่างมาก ใครมีปัญหาอะไรในครอบครัวมาก็จะขอความเมตตาจากหลวงปู่ให้ช่วยเหลืออยู่เสมอ แต่จะสำเร็จหรือไม่อย่างไรข้าพเจ้าไม่ได้ติดตาม หลวงปู่ขาวท่านมีความเมตตาอย่างสมบูรณ์ เรียกว่า เมตตาพร้อมทั้งกาย วาจา ใจ ที่จริงความเมตตามีอยู่ที่ใจโดยตรง ส่วนกาย วาจา นั้น เป็นเพียงรัศมีการแสดงออกมาทางภายนอกเท่านั้น หลวงปู่ขาวท่านมีความเมตตาเต็มเปี่ยมอยู่ภายในแล้วยังแสดงออกมาทางกาย วาจาด้วย การเคลื่อนไหวไปมาในอิริยาบถต่าง ๆ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน การใช้สายตาจะมีความเมตตาแฝงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนทีเดียว ตลอดทั้งใบหน้าจะมีความยิ้มแย้มแจ่มใส รับแขกอยู่ตลอดเวลา ไม่มีกิริยาที่เป็นไฟแฝงออกมาในทางกายนี้เลย วาจาการพูดออกมา ก็มีเมตตาแฝงอยู่ในน้ำเสียงนั้นอย่างลึกซึ้ง และเยือกเย็นเข้าไปถึงขั้วหัวใจในส่วนลึกทีเดียว จะเป็นพระหรือฆราวาสผู้ที่ได้สัมผัสกับน้ำเสียงของหลวงปู่มาแล้ว จะมีความเข้าใจดีว่ามีรสชาติในความเมตตาอย่างไร ถึงหลวงปู่จะมีน้ำเสียงที่แผ่วเบา แต่ก็อยากฟังน้ำเสียงของท่านไม่มีวันเบื่อหน่าย ในขณะที่ท่านอธิบายธรรมโปรดพระเณรหรือญาติโยม ทุกคนจะตั้งใจฟังอย่างเงียบสนิทและ
จดจ้องดูแทบไม่กะพริบตา คนที่มีนิสัยอ้าปาก ก็จะอ้าปากค้างอยู่นั่นแหละ จนกว่าหลวงปู่จะเทศน์จบ บางคนก็จับเอาอุบายธรรมมาได้คนละข้อสองข้อ แต่อุบายธรรมนั้นมันฝังลึกอยู่ในหัวใจ เป็นธรรมที่มีคุณค่ามากสำหรับท่านผู้นั้น เพราะธรรมนั้นได้มาจากผู้ที่เรามีความเคารพเชื่อถือ ถึงจะเป็นธรรมขั้นพื้นฐานที่ฟังมาจากที่อื่นแล้วก็ตาม แต่มาฟังหลวงปู่ขาวเทศน์แล้วมีความซาบซึ้งถึงใจ และพร้อมที่จะนำธรรมนั้น ๆ ไปภาวนาปฏิบัติอย่างเต็มที่ เหมือนกันกับเราได้รับสิ่งของจากผู้ที่เรามีความเคารพเชื่อถือ ถึงของนั้นจะไม่มีราคาค่างวดก็ตาม แต่ก็ถือว่าของนั้นเป็นมงคลกับเรา เพราะผู้ที่ให้ของแก่เรานั้นเป็นมงคลแก่ตัวเอา นี้ฉันใด หลวงปู่ขาวเราถือว่าท่านเป็นมงคล
กับเรา สิ่งที่ท่านยื่นอะไรให้แก่เราถือว่าสิ่งนั้นเป็นมงคลทั้งนั้น ฉะนั้น การอธิบายพรรณนาพระคุณของหลวงปู่ขาวแล้วจะหาที่จบสิ้นได้ยาก จึงขออธิบายเพียงเท่านี้ก่อน
เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็ได้เข้าไปกราบเล่าถวายในความตั้งใจ เรื่องจะไปภาวนาปฏิบัติทางภาคเหนือให้ท่านฟัง ท่านก็ได้ให้โอวาทในอุบายการภาวนาปฏิบัติอย่างซาบซึ้งทีเดียว จากนั้น ก็ได้ไปรวมกันที่วัดป่าบ้านกุดเต่ากับพระอาจารย์ขาน เพื่อเตรียมบริขารในการออกเดินทางไปจังหวัดเชียงรายต่อไป พระเณรที่ไปด้วยกันทั้งหมดมี ๑๐ รูป เรียงลำดับพระผู้ใหญ่ได้ดังนี้ ๑. พระอาจารย์ขาน ฐานวโร ๒. พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ ๓. พระอาจารย์หวัน ปณฺฑิโต (พระครูบัณฑิตธรรมภาณ) ๔. พระอาจารย์จรัส สุธมฺโม ๕. พระอาจารย์กองเหรียญ กับสามเณรอีก ๕ รูป เมื่อพร้อมแล้วก็ออกเดินทางไปด้วยกัน เมื่อไปถึงจังหวัดเชียงรายแล้ว ได้ไปพักอยู่ที่บ้านเหล่า ตำบลทุ่งก่อ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย พระอาจารย์ขานท่านอยู่ที่เดิม นอกนั้นก็แยกย้ายกันไปพักภาวนาปฏิบัติในที่ต่าง ๆ ในหมู่บ้านแถบนั้น ข้าพเจ้าเองได้ไปพักภาวนาอยู่ที่ป่าช้าบ้านดงหวาย มีชาวบ้านออกมาทำแคร่ให้อยู่ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ในคืนหนึ่ง มีฝนลมกรรโชกแรงมาก ทำให้กลดที่กางนอนปลิวอยู่ตลอดคืน ทั้งฝนก็ได้กระหน่ำตกลงมาอย่างแรง ลมก็พัดเอาต้นไม้กิ่งไม้หักกระเด็นระเนระนาด จำเป็นต้องเก็บบริขารอื่น ๆ ลงในบาตร แล้วเอากลดมากั้นพอหุ้มตัวและบริขารเอาไว้ แต่ก็ถูกฝนสาดเปียกปอนไปหมด จำเป็นต้องนั่งอยู่ด้วยความหนาวเย็นตลอดคืน ที่พักนั้น อยู่ใต้ต้นมะม่วงป่าขนาดใหญ่ มีลมพัดกิ่งไม้เอนเอียงไปมาอยู่ตลอดเวลา ในทันใดนั้น กิ่งไม้ขนาดใหญ่ก็หักตกลงมา ห่างจากตัวข้าพเจ้าเพียง ๑ เมตรเท่านั้น ส่วนตัวเองก็ได้แต่เพียงอธิษฐานว่า ถ้าข้าพเจ้าจะได้ทรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนานี้ต่อไป ขออย่าให้ชีวิตของข้าพเจ้าได้ตายไปในช่วงนี้เลย แล้วก็ภาวนาปฏิบัติอยู่ในความหนาวเย็นของคืนนั้นตลอดทั้งคืน ในที่นั้น มีหมู่ตะขาบเป็นจำนวนมากยั้วเยี้ยเต็มไปหมด หลายตัวที่วิ่งขึ้นมา บางตัวก็วิ่งขึ้นมาเกาะอยู่ตามหลัง แต่ก็ไม่ทำอันตรายแต่อย่างใด เมื่อฝนและลมได้สงบไปแล้วก็สว่างพอดี ชีวิตนี้เมื่อยังไม่ถึงที่ตายก็อย่าประมาท หากว่าชีวิตถึงฆาตในคืนนั้นแล้ว ข้าพเจ้าคงไม่ได้มาเขียนประวัติให้พวกท่านได้รับรู้เลย จากนั้น ก็เร่งภาวนาปฏิบัติอย่างเต็มที่
ในคืนหนึ่ง ขณะที่จิตมีความสงบได้เกิดนิมิตขึ้น ปรากฏเห็นต้นมะพร้าวหลายแถว แต่ละแถวมีมะพร้าวอยู่ ๔ ต้น ในแถวที่ ๑ มะพร้าวต้นแรกสูง ๑ ศอก มีลูกขนาดใหญ่ดกหนาแน่นเต็มต้นกองอยู่กับพื้นดิน ต้นที่ ๒ มีความสูง ๑ ศอกเท่ากัน มีลูกดกประมาณ ๑๐ ลูก ต้นที่ ๓ สูงเท่ากัน มีลูก ๓ ลูกเท่านั้นเอง ส่วนต้นที่ ๔ ไม่มีลูกเลย มีแต่ใบคลุมลำต้นอยู่เท่านั้น ส่วนมะพร้าวแถวที่ ๒ ถัดมา มีลำต้นสูง ๒ ศอกเท่ากันหมด ในแถวนี้ก็มีมะพร้าวในแถวอยู่ ๔ ต้นเช่นกันกับแถวแรก ต้นที่ ๑ มีลูกดกหนาเต็มต้น ต้นที่ ๒ มีลูกประมาณ ๑๐ ลูก ต้นที่ ๒ มีลูกเพียง ๓ ลูก ต้นที่ ๔ ไม่มีลูกเลย มีแต่ใบคลุมอยู่เท่านั้น และสำหรับมะพร้าวแถวถัดไปนั้น ก็มีต้นมะพร้าวสูงขึ้นไปเป็นลำดับ จนถึงแถวสุดท้ายสูงสุดประมาณ ๘๐ ศอก มีลักษณะแตกต่างจากต้นอื่น ๆ นั่นคือ ก้านมะพร้าวไม่มี มีเพียงยอดชี้ฟ้าโด่เด่อยู่ยอดเดียวเท่านั้น ส่วนลูกมะพร้าวก็มีจำนวนมากน้อยตามลำดับเช่นเดียวกันกับแถวอื่น ๆ เมื่อนิมิตเห็นต้นมะพร้าวกลุ่มนี้แล้ว จากนั้น ก็ปรากฏ
เห็นต้นมะพร้าวอีกต้นหนึ่งสูง ๘ ศอก มีลูกดกหนาแน่นเต็มไปหมด ลำต้นก้านใบก็มีความสมบูรณ์ดี มีความรับรู้ขึ้นว่า นี่คือต้นมะพร้าวของเรา จากนั้น เหมือนตัวเองกระโดดขึ้นไปกอดอยู่ในลูกมะพร้าวทั้งหมดเอาไว้ จากนั้น จิตก็ถอนออกจากสมาธิ ข้าพเจ้าได้ใช้ปัญญาพิจารณาในนิมิตนั้น ๆ จึงได้ความว่า ต้นมะพร้าวมีหลายแถว แต่ละแถวมีความสูงเท่ากันทั้ง ๔ ต้น และมีลูกมะพร้าว ๓ ต้นแรก ดกไม่เท่ากัน ส่วนต้นที่ ๔ ของแต่ละแถวไม่มีลูกเลย นิมิตอย่างนี้เป็นเพียงสรุปผลของนักปฏิบัติทั้งหลายว่าไม่เท่าเทียมกันนั่นเอง นิมิตอย่างนี้ จึงขอฝากให้เป็น
การบ้านสำหรับนักปฏิบัติทั้งหลายก็แล้วกัน

ณ บ้านป่าลัน
ก่อนเข้าพรรษาได้เดินทางไปบ้านป่าลัน ตำบลปงน้อย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย สถานที่แห่งนี้เป็นป่าดงดิบมีต้นไม่ใหญ่นานาชนิดอย่างหนาแน่น ชาวบ้านก็ได้พากันออกมาทำ
ที่อยู่อาศัยให้ โดยทำเป็นกระต๊อบเล็ก ๆ มุงด้วยหญ้าคา เสาไม้ไผ่ปูพื้นและกั้นฝาด้วยฟากไม้ไผ่ห้องเดียวพอแขวนกลดได้ มีระเบียงด้านหน้าพอได้อาศัยนั่งพักผ่อนตามสมควร เมื่อจวนจะเข้าพรรษาเหลืออีกไม่กี่วัน ในคืนหนึ่ง นิมิตเห็นหลวงปู่ขาวเข้ามาหา ใช้มือจับไหล่ข้าพเจ้าแล้วพูดว่า จากนี้ไปไม่นานหรอกนะ ความตั้งใจที่ท่านได้ตั้งเอาไว้ จะสำเร็จอยู่ในที่แห่งนี้ ในขณะนั้น ปรากฏมีเส้นทางขนาดใหญ่เรียบราบดี มีแนวทางที่ตรงมาจรดในที่ข้าพเจ้านั่งอยู่ หลวงปู่ขาวพูดว่า ท่านต้องเดินตามเส้นทางนี้ไป ก็จะได้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ในไม่ช้า จากนั้น จิตก็ถอนออกจากสมาธิ จึงได้พิจารณาในคำพูดของหลวงปู่ขาวไปว่า จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะขณะนี้เรายังไม่มีอุบายใดที่จะทำให้เกิดความมั่นใจในตัวเองว่าจะสำเร็จได้ แต่ละวันที่ผ่านมาการภาวนาก็เป็นปกติ ยังไม่มี
ช่องทางที่จะพ้นจากทุกข์ไปได้เลย เส้นทางที่เห็นในนิมิตนั้นก็เพียงเป็นนิมิตเท่านั้น จะเอามาเป็นหลักอุบายในการภาวนานั้นไม่ได้ มีนิมิตเห็นเส้นทางนี้มาก็หลายครั้ง แต่ก็ยังพ้นจากทุกข์ไม่ได้ ความตั้งใจเอาไว้ว่าในชาตินี้เราจะภาวนาปฏิบัติให้เต็มที่ จะสำเร็จได้หรือไม่นั้น ก็ให้ลมหายใจเป็นเครื่องตัดสินในวาระสุดท้าย ลมหายใจเข้าออกจะหมดไปภายใน ๑ นาที จะได้หรือไม่ได้ก็มีโอกาสเพียงเท่านั้น ในขณะที่เรายังมีชีวิต มีร่างกายแข็งแรง มีสติปัญญาที่ดี มีความสามารถภาวนาปฏิบัติได้เต็มที่ เราก็อย่าเป็นผู้ประมาทในชีวิตของตน วันคืนล่วงไป ๆ ชีวิตเราก็ล่วงไปเช่นเดียวกัน ขณะนี้เรายังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ เราก็ต้องรีบเร่งภาวนาปฏิบัติให้เต็มที่ แล้วก็ไม่ให้ความสนใจในนิมิตนั้นเลย
ในพรรษานี้ มีพระร่วมจำพรรษาด้วยกัน ๒ รูป สามเณร ๑ รูป มี พระอาจารย์หวัน (พระครูบัณฑิตธรรมภาณ) และสามเณรไสว ในที่แห่งนี้ชาวบ้านถือกันว่ามีผีดุมาก คนพื้นเมืองเดิมเขาจะไม่เข้ามาในที่แห่งนี้เลย เพราะผีได้ทำให้คนตายไปแล้วหลายคน เมื่อได้มาภาวนาอยู่ที่นี้ได้ ๗ คืน ในคืนนั้น ขณะที่จิตมีความสงบอยู่ในสมาธิ ได้ยินเสียงดังเหมือนกับภูเขาพังทลายลงมาจากทางน้ำตกห่างจากที่อยู่ไปประมาณ ๑๐๐ เมตร จึงได้กำหนดจิตไปดู เห็นหมูป่าขนาดใหญ่ ๒ ตัว มีกิริยาอาการที่โกรธจัดมากทีเดียว ดูนัยน์ตาเป็นสีแดงเหมือนกับแสงไฟที่กำลังลุกโชน แสดงความไม่พอใจในตัวข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง จากนั้น หมูทั้ง ๒ ตัว ก็ได้แสดงฤทธิ์ด้วยวิธีต่าง ๆ ทำท่าทางเพื่อให้ข้าพเจ้าได้เกิดความกลัว แล้ววิ่งเข้ามาหาข้าพเจ้าอย่างรวดเร็ว ในลักษณะที่จะมาทำร้ายให้ตายไป ทั้งสายตาก็ลุกเป็นไฟ เสียงก็แสดงการข่มขู่คำราม เมื่อเข้ามาใกล้ห่างจากตัวข้าพเจ้าไปเพียง ๓ ศอกเท่านั้น หมูทั้ง ๒ ตัวก็ทำท่าโคลงตัวไปมาพร้อมกัน จากนั้น ก็พากันกระโดดเข้ามาหา หวังจะกัดให้ข้าพเจ้าตายไป ขณะนั้น ข้าพเจ้าได้กำหนดจิตตั้งรับไว้แล้ว เมื่อหมูทั้ง ๒ ตัวกระโดดมา ข้าพเจ้าก็ใช้กำลังจิตเพ่งปะทะทันที หมูทั้ง ๒ ตัวก็ล้มกองกันอยู่ในที่แห่งนั้น หมอบไปชั่วครู่ แล้วก็ฟื้นตัวกลับกลายเป็นคน คลานเข้ามาหาข้าพเจ้าด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตัว พากันยกมือไหว้ แล้วพูดขึ้นว่า กระผมทั้งสองเป็นใหญ่ในที่แห่งนี้มานาน ได้ทำให้คนตายไปแล้วเป็นจำนวนมาก ในครั้งนี้ กระผมทั้งสองก็จะทำให้ท่านอาจารย์ได้ตายไปอีกเช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถทำให้ท่านตายไปได้ กระผมทั้งสองจึงขอยอมแพ้ท่านอาจารย์ในครั้งนี้ ขอให้ท่านอาจารย์จงได้ยกโทษให้แก่กระผมทั้งสองในครั้งนี้ด้วย กระผมทั้งสองขอปวารณาตัวเป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป เมื่อท่านอาจารย์มีความประสงค์สิ่งใดที่จะให้กระผมทั้งสองช่วยเหลือ ขอจงเรียกกระผมทั้งสองได้ทุกเมื่อ พวกกระผมมีความยินดีพร้อมที่จะรับใช้ท่านด้วยความเต็มใจ และจะให้ความปลอดภัยกับพระเณรที่อยู่กับท่านอาจารย์ด้วย จึงขอให้ท่านได้โปรดเมตตาแก่กระผมทั้งสองนี้ด้วยเถิด
จากนั้น จิตก็ได้ถอนออกมาจากสมาธิ แล้วใช้ปัญญาพิจารณาดูจึงได้รู้ว่า หมูทั้งสองเป็นพญานาคอยู่ในที่นี้เอง แต่ละคืนที่ไหว้พระสวดมนต์ปฏิบัติภาวนา ก็ได้แผ่เมตตาให้แก่เขาอยู่เสมอ และเขาเหล่านั้นก็มีความเคารพในตัวข้าพเจ้าเป็นอย่างมาก ให้ความช่วยเหลือปกป้องในตัวข้าพเจ้าเป็นอย่างดี ต่อมาอีกไม่กี่วัน ในขณะนั้น เกิดความรำคาญกับเสียงอีเห็นร้องเป็นอย่างมาก แต่ละคืนอีเห็นได้มาร้องอยู่ใกล้กุฏิทุกคืน และร้องเป็นเวลาหลายชั่วโมงก็ไม่หยุด ไม่สะดวกในการภาวนาปฏิบัติเลย จึงนึกขึ้นได้ว่า เราจะบอกพญานาคช่วยไล่อีเห็นตัวนี้ให้หนีไป เมื่อนึกบอกแล้วเขาก็มาทันที โดยในขณะที่นั่งสมาธิอยู่ที่กุฏิเวลาประมาณ ๔ ทุ่ม ได้ยินเสียงคนพูดกันขึ้นมาว่า ท่านอาจารย์มีความรำคาญในเสียงร้องของอีเห็นตัวนี้ พวกเราจงพากันไปไล่ให้มันหนีจากที่นี้ ไล่หนีไปให้ไกลอย่าให้มันมาร้องอยู่ในที่นี้อีก จากนั้น เขาพากันเดินเข้ามาใกล้กุฏิ ทุกคนถือไม้ค้อนกระบองครบมือ แล้วก็ตรงเข้าไปหาอีเห็นตัวนั้นทันที อีเห็นก็ได้วิ่งหนีจนสุดกำลัง แล้วพวกเขาก็กล่าวสำทับไปว่าจากนี้ไปอย่าได้มาร้องในที่แห่งนี้อีกเด็ดขาด ถ้ามาร้องอีกเมื่อไรกูจะฆ่าให้ตายทันที ข้าพเจ้านั่งดูเขาไล่อีเห็นนั้นไปประมาณ ๒ กิโลเมตร จึงปล่อยให้อีเห็นหนีไป จากนั้นมา ไม่เคยมีอีเห็นหรือสัตว์ตัวใดมาร้องอยู่ในที่ใกล้กุฏินี้เลย การภาวนาปฏิบัติก็มีความต่อเนื่องกันเป็นอย่างดี
ขออธิบายเรื่องผีกับเทวดาให้ท่านฟังสักเล็กน้อย เพื่อจะได้เป็นข้อคิดว่าเป็นมาอย่างไร เพราะใคร ๆ ก็เคยพูดกันในเรื่องนี้มานาน จนทำให้นักปฏิบัติขี้ขลาดตาขาวเกิดความกลัวอยู่เสมอ จะไปภาวนาปฏิบัติในที่ไหน มีแต่กลัวผีกันทั้งนั้น เหมือนกับว่าผีจะมีความดุร้ายหลอกเราไปเสียทั้งหมด ที่จริงแล้ว ทางศาสนาพุทธเราไม่นิยมในคำเรียกว่า ผี มีแต่คำยกยอสรรเสริญว่าเป็น เทวดา กันทั้งนั้น คำว่าผีนั้น เป็นภาษาของชาวบ้านเรียกกันเอง เป็นคำเรียกที่ฝังลึกอยู่ในหัวใจของคนเรามานาน พอเริ่มรู้ภาษา พ่อแม่และญาติ ๆ ก็ยกคำว่าผีนี้ เข้าไปฝังไว้กับใจเด็กตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าผีนั้นเป็นลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ มีร่างกายอย่างนั้น มีตาอย่างนี้ สุดแล้วแต่จะพรรณนาไป เพื่อให้เด็กเกิดความกลัว ไม่กล้าไปที่ไหนในเวลาค่ำคืน ถึงจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาแล้ว ความกลัวผีก็ยังติดตัวติดใจมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับคนที่ขี้ขลาดก็จะนึกถึงผีขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง คิดว่าผีจะมาหลอกเราอย่างนั้น หลอกเราอย่างนี้ จึงได้เกิดความกลัวขึ้นมา ที่แท้จริงตัวเองนั่นแหละ เป็นผีหลอกตัวเองโดยไม่รู้ตัว ฉะนั้น การกลัวผีหลอกจึงเป็นเพียงความคิดหลอกตัวเองเท่านั้น ตัวสำคัญก็คือนักภาวนาปฏิบัติ เมื่อพูดกันในเรื่องธรรมในหมวดต่าง ๆ ก็พูดได้จนน้ำไหลไฟดับ จนน้ำลายฟูมท่วมปาก ก็ยังหาที่จบลงไม่ได้ ธรรมหมวดไหนเป็นระดับใดรู้ไปหมด แต่ถ้าพูดเรื่องของผีขึ้นมาแล้ว จะตาตั้งหูผึ่งขึ้นมาทันที นี้หรือผู้จะรู้แจ้งเห็นจริงในธรรม ผู้จะนำตัวเองเข้าสู่กระแสแห่งพระนิพพาน ในด่านแรกของผีก็ยังผ่านไปไม่ได้ ไฉนคนขี้ขลาดตาขาวจะผ่านพ้นไปจากโลกนี้ได้เล่า คำว่าผีกับเทวดาก็อยู่ในตัวคนเดียวกัน แต่ละวัน ๆ เราคนเดียวจะเป็นได้ทั้งเทวดาและผี เช่น มีอารมณ์ที่ไม่ชอบใจในหมู่คณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะเกิดหน้าแดงตาเขียวขึ้นมาทันที นี่คือผีตัวจริง ทำไมจึงไม่กลัวผีตัวนี้เล่า หรือเมื่อใดใจมีความผ่องใสร่าเริง คิดอยากจะทำบุญกุศล ใจมีความเมตตาต่อมวลสัตว์
ทั้งหลาย ใจมีความละอายในการทำความชั่วทั้งปวง ใจมีความกลัวต่อผลของบาปกรรม ใจมีความอยากรักษาศีลภาวนา ในเวลานั้น ก็จะกลายเป็นเทวดาขึ้นมาในตัวเอง ฉะนั้น ถ้าอยากดูผีดูเทวดาตัวจริง ขอให้มาดูตัวเองก็แล้วกัน นี้เรียกว่า ผีภายใน และ เทวดาภายใน
ส่วน ผีและเทวดาภายนอก ก็เป็นลักษณะอย่างนี้เหมือนกัน เช่น วิญญาณอันเดียวนั้นย่อมเปลี่ยนไปได้ทั้งสองอย่าง เพราะมีความโลภ มีความโกรธ มีความหลง เต็มอยู่ในวิญญาณนั้นทั้งหมด จึงหลอกให้คนกลัวได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ หรืออาจทำให้คนตายไปได้เช่นกัน ถ้าอย่างนี้จึงเรียกกันว่าเขาเป็นผี แต่ถ้าเขาชอบใจในวิธีการทำของหมู่มนุษย์อย่างเช่น ทำบุญอุทิศให้เขา หรือภาวนาปฏิบัติแผ่เมตตาให้เขา เขาก็จะมีความรักต่อเราและช่วยเหลือเราให้มีความสุขความเจริญ ถ้าเขาทำให้เราในลักษณะอย่างนี้ ก็เรียกเขาว่าเป็นเทวดา ฉะนั้น ผีกับเทวดาและมนุษย์จึงมีอยู่ในวิญญาณอันเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันเพียงว่า ผีกับเทวดามีวิญญาณอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไม่มีกายหยาบ ส่วนมนุษย์มีทั้งวิญญาณและกายหยาบ แต่นิสัยความประพฤติ ความต้องการ จะมีลักษณะเหมือนกัน หรือมนุษย์เราอาจหลอกมนุษย์กันเองยิ่งกว่าผีหลอกคนไปเสียอีก ส่วนวิญญาณที่มีคุณธรรมแฝงอยู่ก็เรียกว่า เทวดาชั้นสูง เขาจะไม่มายุ่งเกี่ยวกับหมู่มนุษย์เราเลย เพราะเขามีบุญเป็นที่พึ่งอาศัย มีหิริโอตตัปปธรรมภายในวิญญาณนั้น ๆ ส่วนวิญญาณที่ต่ำด้วยคุณธรรม จะมีความสัมพันธ์อยู่กับหมู่มนุษย์อยู่ตลอดเวลา เช่น ทำบุญในพิธีต่าง ๆ จะอัญเชิญให้เขาได้มาร่วมอนุโมทนากับหมู่มนุษย์นี้ด้วย มิหนำซ้ำ ยังมาหลอกกินเครื่องสังเวยในหมู่มนุษย์นี้อีกด้วย แต่การหลอกอย่างนี้ก็ยังไม่เท่า มนุสสเปโต ที่อ้างตัวว่าเป็นมนุษย์แต่ใจนั้นเป็นเปรต ได้หลอกลวงต้มตุ๋นในหมู่มนุษย์ด้วยกันเองดังเห็นกันในที่ทั่วไป มนุษย์เปรต มนุษย์ผีกลุ่มนี้ จึงมีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวยิ่งกว่าผีไปเสียอีก จึงได้จัดกลุ่มมนุษย์นี้ออกไปหลายหมวดหมู่ เช่น มนุสสเทโว ถึงร่างกายจะเป็นมนุษย์ แต่จิตใจเป็นเทวดา มนุสสมนุสโส ร่างกายเป็นมนุษย์ จิตใจก็ยังเป็นมนุษย์ที่ใฝ่ใจในทางคุณธรรม มนุสสเปโต ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ใจนั้นกลายเป็นเปรตไปเสียแล้ว มนุสสดิรัจฉาโน ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่จิตใจได้กลายเป็นสัตว์ดิรัจฉาน อีกพวกหนึ่ง ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่จิตใจเป็นอสุรกาย มนุษย์อสุรกายกลุ่มนี้จะมีวิชาเก่งในทางต้มตุ๋นหลอกลวงเป็นพิเศษ อะไรที่พอจะเอาได้เป็นประโยชน์ส่วนตัวจะคว้าเอาทั้งนั้น หรือสิ่งใดพอจะได้มาเป็นประโยชน์ในกลุ่มของตัวเอง ก็หาวิธีแยกแยะด้วยเล่ห์กลที่หลอกลวงเอาในสิ่งนั้นให้ได้ ใจไม่มีคุณธรรมแม้แต่นิดเดียว แต่การพูดการแสดงมีความตลบ
ตะแลงแพรวพราวไปทั้งหมด นี่เรียกว่าปีศาจครองร่างมนุษย์ ส่วนปีศาจที่ไม่มีร่างกายครอง ก็จะหลอกลวงกินเครื่องสังเวยของมนุษย์นี้ได้เป็นอย่างดี ที่ไหนมีคนโง่ตั้งศาลพระภูมิขึ้น มีหัวหมู เป็ด ไก่ คาวหวานนานาชนิด พวกปีศาจเหล่านี้ชอบไปแสดงตัวในที่เช่นนั้น จะทำตัวเป็นเทพารักษ์
ผู้ศักดิ์สิทธิ์เข้าอยู่อาศัยในศาลพระภูมินั้นทันที มนุษย์โง่ก็จะนำเครื่องสังเวยดี ๆ ไปให้กินเป็นประจำ มิหนำซ้ำ ยังกราบไหว้ขอความช่วยเหลือจากปีศาจเหล่านี้อีกด้วย ดูแล้วน่าสังเวชใจ
ในช่วงก่อนเข้าพรรษานี้ ในความรู้สึกส่วนตัวแล้วจะรู้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา การภาวนาปฏิบัติมีความเข้มแข็ง ใจมีความมั่นคงผิดปกติ ใจมีความหนักแน่นมั่นคง กำลังของสติ กำลังของปัญญา กำลังความสามารถเฉพาะตัวนั้นมีสูงมาก ลักษณะมีความเฉียบขาดกล้าหาญ
เด็ดเดี่ยวเต็มที่ ลักษณะอย่างนี้เริ่มจากการปฏิบัติภาวนาในช่วงที่ผ่านมา เพิ่งได้รู้เห็นความสามารถส่วนตัวก็ในครั้งนี้นี่เอง เป็นลักษณะปัจจัตตัง รู้เฉพาะตัว จะเป็นในลักษณะใดจึงไม่ควรอธิบายออกมาให้คนอื่นรู้เห็นได้ เหมือนกันกับผู้กินอาหารอิ่มแล้ว จะเขียนลักษณะอาการความอิ่มในอาหารนั้น ออกมาให้คนที่กำลังหิวอาหารอยู่รู้ในความอิ่มนั้นไม่ได้ นี้ฉันใด สิ่งที่เป็น
ปัจจัตตังเฉพาะตัวแล้ว จะเล่ารสชาติให้คนอื่นได้สัมผัสในรสชาตินั้นไม่ได้เลย ถึงจะเล่าไป ผู้ที่ยังไม่เคยสัมผัสก็ยังไม่หายข้องใจอยู่นั่นเอง เหมือนความหวานของรสน้ำตาล คนหนึ่งกำลังอมน้ำตาลและกำลังกินน้ำตาลนั้นอยู่ แล้วอธิบายในรสชาติความหวานของน้ำตาลให้อีกคนหนึ่งฟัง ความหวานของน้ำตาลนั้น จะเข้าไปสัมผัสในปากในลิ้นของอีกคนหนึ่งไม่ได้เลย ดังนั้น ธรรมที่เป็นผลเกิดขึ้นจากการปฏิบัติของท่านผู้ใดแล้ว ผลของการปฏิบัตินั้นก็เป็นของส่วนตัวไป นักวิเคราะห์วิจัยในปริยัติทั้งหลายไม่สามารถจะสุ่มเดาถูกได้ ฉะนั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ถึงจะเป็นเส้นทางอันเดียวกันก็ตาม ปริยัติก็ยังเป็นสูตรของปริยัติอยู่นั่นเอง จะกลายเป็นผลให้เหมือนกันกับผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติไม่ได้ แม้ตัวข้าพเจ้าเองได้เคยศึกษาในทางปริยัติมาพอสมควร จึงได้นำปริยัตินั้นไปปฏิบัติจนได้รับผลจากการปฏิบัติอย่างแท้จริง จึงรู้ได้ว่าผลของการปฏิบัตินั้นมีความแตกต่างกันกับทางภาคปริยัติอยู่มากทีเดียว
ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้กล้าพูดให้สาธารณชนได้รับรู้เอาไว้ สักวันหนึ่งข้างหน้า ถ้าหากท่านมีความสนใจในการปฏิบัติธรรมอยู่ ท่านก็จะรู้ด้วยตัวท่านเองอย่างแน่นอน ถึงเวลานั้น ท่านจะกล้าพูดให้คนอื่นฟังได้อย่างกล้าหาญ ถ้าจะเปรียบเทียบ ก็เหมือนกับท่านถือผลไม้อยู่ในมือโดยยังไม่ได้กิน รสชาติของผลไม้นั้นตัวเองก็ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน จะให้รสชาติผลไม้นั้นเกิดขึ้นที่ปากที่ลิ้นนั้น เป็นไปไม่ได้เลย นี้ฉันใด ท่านที่เพียงศึกษาในภาคปริยัติ แต่ไปวิพากษ์วิจารณ์ผลของการปฏิบัติของคนอื่นว่าผิดอย่างนั้น ผิดอย่างนี้ หรือถูกอย่างนั้น ถูกอย่างนี้ นั่นเป็นเพียงการสุ่มเดาของท่านเท่านั้น แต่ผลของการปฏิบัติที่จริงเป็นอย่างไร ท่านหารู้ไม่ ถ้าท่านยังไม่รู้จริงเห็นจริงในผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติเฉพาะตัวเอง อย่าอวดฉลาดไปทำนายคนนั้นคนนี้ว่าปฏิบัติผิดหรือปฏิบัติถูกอะไรเลย นี่เป็นเพียงให้ข้อคิดไว้แก่ท่านเท่านั้น ถึงตัวข้าพเจ้าเองจะได้อธิบายผลของการปฏิบัติให้ท่านได้อ่านอยู่ในขณะนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ไปยืมผลของการปฏิบัติของใครมาเขียน และไม่มีเจตนาที่จะอวดตัวว่าภาวนาดีหรือไม่ดีให้คนอื่นมีความเคารพเชื่อถือ แต่เขียนตามความเป็นจริงที่ข้าพเจ้าได้รับผลจากการปฏิบัติมาเท่านั้น คนอื่นจะมีความคิดความเห็นเป็นอย่างไรนั้น ก็ให้เป็นเรื่องของคน ๆ นั้นไป แต่ขออธิบายความจริงที่เป็นผลจากการปฏิบัติในส่วนของข้าพเจ้า เพื่อให้ลูกหลานที่เกิดมาสุดท้ายภายหลังได้รับรู้เอาไว้เท่านี้ก็พอ
แรกเริ่มที่ได้เข้าไปภาวนาปฏิบัติในที่แห่งนี้ มีความผิดสังเกตในตัวเองมาก การพิจารณาอุบายธรรมในแง่ต่าง ๆ ด้วยปัญญา จะเกิดความกระจ่างชัดเจนมากทีเดียว พิจารณาในสัจธรรมใดจะเกิดความแยบคายได้ง่าย และหายสงสัยภายในใจทันที การพิจารณาด้วยปัญญาให้เกิดความแยบคายนั้น เป็นศูนย์รวมการพิจารณาในสัจธรรมทั้งหลาย เพราะความแยบคายนั้นเป็นเครื่องทำลายความยึดมั่นถือมั่นของใจโดยตรง เมื่อพิจารณาในปัญหานั้นเกิดความแยบคายเมื่อไร ความยึดมั่นภายในใจก็จะหลุดออกไปจากใจทันที แต่ก่อนมาใจเคยลุ่มหลงในภพทั้งสามนี้มาตลอด ก็เพราะใจถูกอวิชชา คือความไม่รู้จริงเห็นจริงปิดบังเอาไว้มาช้านาน ไม่เคยมีปัญญาอมรมสั่งสอนเปิดเผยความจริงให้ใจได้รู้เห็น แต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละชาติ กิเลสได้ประกาศความเท็จ ให้ใจได้เกิดความหลงอยู่ตลอดเวลา ใจจึงได้เกิดความเคยชิน
หลงใหลในโลกนี้มาโดยตลอด บัดนี้ใจมีปัญญาเป็นพี่เลี้ยงคอยอบรมสั่งสอนข้อเท็จจริงให้ใจได้รับรู้อยู่เสมอ ใจก็เริ่มมีความรู้ความฉลาดสามารถรู้เห็นได้ว่าอะไรจริงอะไรปลอม เมื่อใจมีเหตุผลอยู่ในตัวอย่างนี้ ใจก็เริ่มมีความฉลาดขึ้นมาในขั้นหนึ่ง เมื่อใจใช้ปัญญา
อบรมอยู่บ่อย ๆ ใจก็จะค่อย ๆ ตื่นตัวขึ้นมา นั่นคือ ปัญญาอบรมใจให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ทุกสิ่ง ใจก็จะมีปัญญารอบรู้อย่างอาจหาญชัดเจนขึ้นมาทันที ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าเคยพิจารณาในสัจธรรมให้มีความแยบคายไปแล้ว ความยึดมั่นความสงสัยจะถูกตัดขาดทันที ไม่มีการพิจารณาเป็นรอบที่สองแต่อย่างใด นี่คือใจได้รับความรู้จริงเห็นจริงด้วยปัญญาอย่างชัดเจน ความลังเลสงสัยก็ถูกทำลายไปเป็นอัตโนมัติในตัว ความละถอนปล่อยวางในสิ่งที่รักที่ชัง ความพอใจหรือไม่พอใจในสิ่งใด ก็จะดับสูญออกจากใจในขณะนั้นทันที ในช่วงนั้น เหมือนได้รวบรวมเอาสามภพ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ มารวมไว้ในที่แห่งเดียวกัน วัฏฏะความหมุนเวียนไปในภพทั้งสามนั้นเป็นอย่างไร อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความลุ่มหลง ทำให้เกิดตายในภพทั้งสามนี้ ก็มีความรู้เห็นเป็นแนวทางทั้งหมด และรู้เห็นวิธีที่จะยับยั้งใจตัวเองไม่ให้หมุนตามวัฏสงสารนี้ด้วยว่า การหมุนเวียนในวัฏสงสารนี้มีความทุกข์อย่างไร และมีโทษมีภัยอย่างไร จึงได้ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างละเอียดรอบรู้ไปเสียทั้งหมด เรื่องอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันและอนาคตที่จะไปเกิดเอาภพชาติต่าง ๆ เป็นอย่างไร ความเข้าใจด้วยปัญญาที่เฉียบแหลมก็รู้เห็นได้ชัดเจน ไม่มีสิ่งใดในสามภพมาปิดบังปัญญาไว้ได้เลย ทุกอย่างจะรู้เห็น แทงทะลุปรุโปร่งไปตามหลักความจริงเสียทั้งหมด

วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น
ในวันหนึ่ง หลังจากเสร็จจากการภาวนาและพักผ่อนแล้ว เวลาประมาณบ่าย ๓ โมงเย็น เป็นเวลาที่จะออกเดินจงกรม ในขณะนั้น ได้ออกมานั่งพักผ่อนอยู่ที่ระเบียงกุฏิ มองไปเห็นเครือตูดหมูตูดหมา (เครือกระพังโหม) พุ่มหนึ่งเกิดขึ้นข้างทางเดินจงกรม แต่ก่อนเคยให้เณรเอาออกมาแล้วสองครั้ง แต่ก็ได้เกิดขึ้นมาในที่เดิมอีก ในช่วงนั้น ใจมีปัญญารู้เห็นในสัจธรรมต่าง ๆ อยู่แล้ว และรู้เห็นเหตุปัจจัยที่จะพาให้เป็นไปในภพทั้งสามอย่างชัดเจน เมื่อมาเห็นเครือตูดหมูตูดหมา
เท่านั้น ก็เอามาเป็นอุบายของปัญญาทันทีว่า เครือตูดหมูตูดหมานั้นก็เหมือนกันกับตัวเรา มันเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยในตัวมันเอง เมื่อใดหัวเครือตูดหมูตูดหมานั้นยังฝังอยู่ในดิน ปัจจัยที่จะเกิดขึ้นมาอีกนั้นย่อมเป็นผลต่อเนื่องกัน เมื่อใดได้ขุดเอาหัวเครือตูดหมูตูดหมาขึ้นมาจากพื้นดินได้แล้ว ตากแดดให้แห้ง หรือเอาไฟเผาให้ไหม้เสีย เหตุปัจจัยที่จะทำให้เครือตูดหมูตูดหมานั้นเกิดขึ้นอีกเป็นอันไม่มี นี้ฉันใด ใจที่ไปก่อเอาภพชาตินั้น ก็เพราะใจยังมีกิเลส ตัณหา อวิชชา พาให้เป็นไป เมื่อใดที่ได้ทำลายกิเลส ตัณหา อวิชชา ให้หมดไปจากใจได้แล้ว ชาติภพที่เกิดขึ้นมาอีกจะมีมาจากที่ไหน ในขณะนั้น ลักษณะของใจมีความว่างไปเสียทั้งหมด ไม่มีสถานที่ใดในภพทั้งสามมีความยึดถือผูกพัน ในช่วงนั้น สติปัญญามีความกล้าหาญมาก จากนั้น ก็ลงสู่ทางเดินจงกรม ใช้ปัญญาพิจารณาในเรื่อง อัตตาตัวตน ที่มีอยู่ พิจารณาลงไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้อย่างเฉียบขาดทีเดียว หลักที่ใช้ปัญญาพิจารณาทั้งหมดนั้น ก็เหมือนกันกับหลักที่เคยใช้ปัญญาพิจารณามาก่อนแล้ว ความแตกต่างกัน คือ ใจยอมรับความจริงจากปัญญานี้ทั้งหมด พิจารณาสิ่งใด ใจมีความรู้เห็นเป็นไปในหลักความจริง
ทั้งสิ้น ทั้งเกิดความแยบคาย ทั้งหายสงสัยไปพร้อม ๆ กัน ฉะนั้น ใจจึงไม่มีที่พึ่งในโลกนี้อีกแล้ว เพราะที่ไหน ๆ ใจก็รู้เห็นในทุกข์ภัยไปเสียทั้งหมด ใจจึงได้เกิดความกลัวที่จะมาเกิดในโลกนี้อีกต่อไป กำหนดใจพิจารณาดูในของสิ่งใด ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์โทษภัยด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดมีความจีรังยั่งยืนอยู่ตลอดไปได้ ไปยึดถืออะไรล้วนแล้วแต่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ หาความสุขที่แท้จริงในโลกนี้ไม่ได้เลย ทุกอย่างที่โลกนิยมกันอยู่ในขณะนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นความสุขที่แฝงด้วยความทุกข์ทั้งหมด หรือเป็นก้อนยาพิษที่เคลือบด้วยน้ำตาลทั้งนั้น สักวันหนึ่ง ความเศร้าโศกก็จะตามมาให้รับผล ความดิ้นรนในกามคุณ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มากขึ้นเท่าไร ความทุกข์ก็ย่อมเป็นไฟเผาใจให้เดือดร้อนทั้งวันทั้งคืนมากขึ้นเท่านั้น จะยืน เดิน นั่ง นอน ในที่ไหน ความทุกข์ใจให้ผลอยู่ตลอดเวลา
ฉะนั้น การใช้ปัญญาพิจารณาในสิ่งที่ไม่เที่ยง และพิจารณาในความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ จึงเป็นอุบายสอนใจได้ดีที่สุด เพราะใจมีความลุ่มหลงในกามคุณนี้มากอยู่แล้ว จึงเกิดความเห็นผิดและเข้าใจผิด ยึดติดอยู่ในกามคุณอย่างแนบแน่นทีเดียว เมื่อใจได้เห็นทุกข์โทษภัยในกามคุณเมื่อไร ใจก็จะเกิดความกลัวขึ้นมาเมื่อนั้น ไม่กล้าที่จะเข้าไปผูกพันยึดมั่นในสิ่งนั้นอีก ถึงใจจะมีความห่วงอาลัยในภาพเก่า ๆ ที่เคยยึดติดมาแล้ว แต่บัดนี้ ต้องอดทนทวนกระแสของกิเลสตัณหานี้ไปให้ได้ ใจเท่านั้นจึงจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดเพียงอย่างเดียว ส่วนอุบายปัญญาที่นำมาเป็นข้อมูลนั้นเป็นเพียงพยานหลักฐาน ที่มาของความเป็นจริง เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพราะเป็นข้อมูลที่มีเหตุผล มีผลที่เป็นจริงทั้งหมด เมื่อใจได้รับข้อมูลที่มีเหตุผลและเป็นจริงอย่างนี้ ใจก็พร้อมที่จะรับความจริงตัดสินชี้ขาดได้ทันที ไม่มีความลังเลสงสัยแฝงอยู่ในใจนี้เลย ใจเริ่มเกิดความรู้ตัวว่าได้ถูกกิเลสตัณหาหลอกลวงให้หลงใหล ให้ใจได้ลอยตามกระแสแห่งวัฏฏะมานาน มีความทุกข์ทรมานในการเกิดแก่เจ็บตายอยู่ในภพทั้งสาม ถ้าปล่อยใจไปตามกิเลสตัณหานี้ต่อไป จะไม่มีช่องทางหลีกเลี่ยงจากความทุกข์นี้ไปได้เลย มีแต่จะจมอยู่กับความรักความใคร่ในกามคุณอย่างถอนตัวไม่ขึ้น นับวันแต่ใจจะเป็นทาสของกิเลสตัณหานี้ตลอดไป
นั่นคือ ใจได้ถูกลอยแพไปตามกิเลสตัณหา ไม่มีกาลเวลาที่จะเป็นอิสระเสรีเฉพาะตัวเลย มีแต่ความทนทุกข์ทรมานไปตามคำสั่งของกิเลสตัณหาทั้งหมด อดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นมาอย่างไร ขณะนี้เป็นอย่างไร ความเป็นไปในอนาคตก็ไม่รู้ เคยอยู่ด้วยความทุกข์อย่างไรก็อยู่กันไปอย่างนั้น นี้คือถูกกิเลสตัณหาล้างสมองได้แล้ว จึงเรียกว่า ตโมตะมะปรายะโน มีทั้งมืดมาแล้วและมืดต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด หลงใหลในสมมุติของโลกนี้ต่อไปไม่มีที่กำหนด จะมีโทษทุกข์ภัยอย่างไรก็ถือว่าเป็นเรื่องของธรรมดาไปเสีย จะเกิดแก่เจ็บตายในชาติภพใด ๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องของธรรมดาไป ในที่สุดก็เอาธรรมดามาเป็นเครื่องตัดสิน คือ ยอมรับสภาพว่าจะอยู่อย่างนี้ต่อไป ไม่ยอมคิดแก้ไขในความเห็นที่เป็นธรรมดานี้บ้างเลย ในที่สุดก็จะลอยไปตามกระแสโลกอันเป็นธรรมดาต่อไป เมื่อใจได้ตัดสินเอาเรื่องของธรรมดาเป็นใหญ่แล้ว ก็ยากที่จะรู้ตัวและฟื้นตัวขึ้นมาได้ เช่น ใจมีความรักใคร่ใน
กามคุณ ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา จึงปล่อยให้เป็นไปตามใจตัวเอง ใจมีความโลภ ก็ถือว่าเป็นธรรมดา ปล่อยให้โลภไป ใจมีราคะก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ใจมีโมหะความลุ่มหลงก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาไป มีความหลงอย่างไรก็ปล่อยให้ใจได้หลงอยู่อย่างนั้น อวิชชาคือความไม่รู้เห็นจริงในสิ่งใด ก็จะปล่อยให้เป็นเรื่องของธรรมดา ไม่ยอมศึกษาหาความจริงในเหตุผลนั้นเลย ลักษณะอย่างนี้ จึงอยู่ในขั้น ปทะปรมะ หรือ ตโมตะมะ มืดมามืดไป ไม่ยอมแก้ไขในปัญหาตัวเอง ถ้าเป็นดอกบัว ก็ยังไม่มีตุ่มอยู่ในเหง้าบัวเลย ถ้าเป็นม้า ถึงจะเอาปฏักแทงลงไปให้ถึงกระดูกก็จะไม่ยอมวิ่ง ฉะนั้น เรื่องของธรรมดาจึงเป็นเส้นทางที่ผู้ไร้ปัญญานำมาเป็นข้ออ้างอยู่ตลอดเวลา และจะเอาเป็นข้ออ้างต่อไป
ในช่วงนั้น สติปัญญา ศรัทธา ความเพียร ตลอดจนความรู้เห็นทางใจมีความพร้อมมาก
ที่สุด เมื่อนึกคิดในสัจธรรมใดขึ้นมา สติปัญญาจะมีความรอบรู้ไปทั้งหมด ไม่มีสิ่งใดตกค้างอยู่ภายในใจอันจะทำให้เกิดความสงสัยลังเลแม้แต่น้อย ทุกอย่างจะรู้เห็นอย่างแจ่มแจ้งไม่มีอะไรมาปิดบัง นี้เพราะมีสติปัญญาที่มีความฉลาดเฉียบแหลมนั้นเอง สายทางของสังสารวัฏนั้นมีความสลับซับซ้อนอยู่มากทีเดียว จึงทำให้สัตว์โลกทั้งหลายได้หลงวนเวียนกันมาไม่มีที่สิ้นสุด ถึงตัวเองเคยเกิด เคยตาย วนเวียนไปมาอยู่ในวัฏฏะนี้ ก็ยังไม่รู้วิถีแห่งชีวิตของตัวเอง ว่าเป็นมาอย่างไร อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัยพาให้เป็นไปก็หารู้ตัวเองไม่ ในโลกมนุษย์นี้เราเคยได้มาเกิดตายอยู่หลายชาติ แต่ละชาติมีความเป็นอยู่อย่างไรก็ลืมไปเสียทั้งหมด อนาคตที่จะไปเกิดอีกในชาติต่อไปก็ไม่รู้ว่าจะเป็นชาติภพอะไร จะเป็นชาติภพของเทวดา จะเป็นชาติภพของเปรต จะเป็นชาติภพของสัตว์ดิรัจฉาน หรือเป็นชาติภพของมนุษย์ก็ยังไม่รู้อยู่นั่นเอง ตลอดจนรูปภพ อรูปภพ ที่เป็นขั้นละเอียด อันเป็นที่อยู่ของพรหมทั้งหลายก็ยังไม่แน่นอนว่าจะได้ไปเกิดที่นั้นหรือไม่ ฉะนั้น ภพทั้งสามจึงเป็นที่ท่องเที่ยวและเป็นที่อาศัยของคนบาปและคนมีบุญ ถ้าคนมีบาป สถานที่ที่รองรับก็มีอยู่แล้ว ถ้าคนมีบุญ สถานที่ที่มีความสะดวกสบายก็มีไว้รองรับเช่นกัน ฉะนั้น ภพทั้งสามจึงเป็นที่รองรับของสัตว์โลกโดยทั่วไป ใครจะไปอยู่ในภพอะไรก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของตัวเอง ถ้าทำกรรมไว้ดีก็ได้รับผลดี ถ้าทำกรรมไว้ชั่วก็ได้รับผลชั่ว
ฉะนั้น กรรมดีกรรมชั่วจึงมีอยู่ในภพทั้งสามนี้ ยากที่จะออกจากภพทั้งสามนี้ไปได้ เพราะกรรมทั้งสองนี้มีความผูกพันอยู่กับมนุษยโลกทั้งหลาย มนุษยโลกทั้งหลายมีความผูกพันกับโลกนี้มานาน ความรัก ความหวงแหน ความยึดติดกับโลกนี้จึงมีอยู่อย่างแนบแน่นสนิทใจ อย่างมาก็เพียงทำกรรมดีเพื่อไปเกิดในสุคติสวรรค์ เมื่อหมดกรรมดีก็กลับลงมาเกิดในโลกมนุษย์อีก ถ้าหากเผลอตัวไปทำความชั่ว กรรมชั่วก็ส่งผลให้ไปเกิดในอบายภูมิตามภพต่าง ๆ ที่ทำความชั่วเอาไว้ วนไปเวียนมาอยู่ในภพทั้งสามนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด คำว่า โลกวิทู ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้ว่าเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงในโลกนั้น ก็คือโลกทั้งสาม คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก ดังได้อธิบายมานี้เอง ฉะนั้น โลกทั้งสามนี้มีความเกี่ยวโยงกัน เรียกว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของสัตว์โลกทั้งหลายก็ว่าได้ จึงเรียกอีกคำหนึ่งว่า วัฏจักร คือ เป็นสถานที่วนเวียนขึ้นลงไปมาของสัตว์โลกทั้งหลาย ถึงบางภพจะมีความสุขอยู่บ้าง แต่ความสุขนั้นก็ยังเป็นโลกียสุข คือ ความสุขที่เจือด้วยกิเลสตัณหาอยู่นั่นเอง หรือไปอยู่ใน รูปภพ อรูปภพ ที่มีอำนาจฌานยังไม่เสื่อม สามารถบังคับควบคุมกิเลสตัณหาได้ก็มีความสุขกันอยู่บ้าง แต่เมื่ออำนาจฌานเสื่อมไป ก็ต้องมาเกิดในกามโลกอีกเช่นเคย กิเลสตัณหาก็แสดงตัวขึ้นมาที่ใจอีก มีความรักความใคร่ในกามคุณเหมือนกันกับมนุษยโลกทั่วไป มีผัว มีเมีย เกิดลูก เกิดหลานเหมือนกันกับชาวโลกที่มีกันอยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้น ผู้ไปเกิดในรูปโลก อรูปโลก ก็ไม่พ้นไปจากความทุกข์อยู่นั่นเอง ถ้าเช่นนั้นจะไปหลงอยู่ในภพทั้ง ๓ นี้ทำไม ใช้สติปัญญาพิจารณาในความเป็นอยู่ของภพทั้งสามนี้ให้รอบรู้ทั่วถึง ดังภาษิตว่า นตฺถิ โลเก รโหนาม ความลี้ลับไม่มีในโลก ก็คือ มีความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงในโลกทั้งสามนั่นเอง
ดังนั้น ผู้จะหนีจากโลกทั้งสามนี้ไปได้ต้องเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยสติปัญญา สามารถรู้เห็นความเป็นจริงของโลกทั้งสามนี้ทั้งหมด เพราะโลกทั้งสามก็ยังตกอยู่ใน
ไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังผู้ไปเกิดอยู่ในพรหมโลก ก็ยังต้องลงมาเกิดในโลกมนุษย์นี้อีก เรื่องของความไม่เที่ยงนั้นคงจะนำมาเขียนให้ท่านอ่านทั้งหมดไม่ได้ เพราะจะทำให้หนังสือเล่มใหญ่เกินไป แต่อยากให้เข้าใจอย่างรวบรัดไว้ว่า สพฺเพ สงฺขารา
อนิจฺจา สรรพสังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง คำนี้ก็บอกชัดอยู่แล้วว่า สรรพสังขาร
ทั้งหลายไม่มีสิ่งใดแน่นอน มีความเกิดขึ้น แล้วก็เปลี่ยนไปสลายไปไม่คงที่ ไม่ว่าสังขารนั้นเกิดขึ้นจากธรรมชาติหรือสังขารที่มนุษย์ก่อสร้างขึ้นมา จะเป็นสังขารที่มีวิญญาณครอง หรือสังขารที่ไม่มีวิญญาณครอง สังขารทั้งหลายย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปทั้งนั้น จะเปลี่ยนไปเร็วหรือช้านั้น ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยในตัวสังขารเอง แม้แต่สามภพก็ยังตกอยู่ในอำนาจของสังขารทั้งหมด ฉะนั้น จะไปยึดถือเอารูปสังขาร จิตสังขาร เป็นเราหรือเป็นตัวตนของเราได้อย่างไร ไม่ว่าสังขารภายใน สังขารภายนอก สังขา
 

_________________
ท่านสามารถฟังวิทยุเสียงธรรมหลวงตามหาบัวได้ทั่วประเทศ
และโทรทัศน์ดาวเทียมเสียงธรรมทั้งภาพและเสียงได้แล้วที่
http://www.luangta.com
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
วีรยุทธ
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 24 มิ.ย. 2005
ตอบ: 1790
ที่อยู่ (จังหวัด): สกลนคร

ตอบตอบเมื่อ: 29 ส.ค. 2006, 9:07 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



LPTool.gif


( ต่อ )

ไม่ว่าสังขารภายใน สังขารภายนอก สังขารอยู่ใกล้อยู่ไกล สังขารหยาบละเอียด ล้วนแล้วแต่เป็นของไม่เที่ยงด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่บาปบุญคุณโทษก็ยังตกอยู่ใต้อำนาจของสังขารทั้งสิ้น ไฉนจึงไปหลงใหลในสังขารนี้เล่า จะเอาสังขารใดเป็นที่พึ่งอย่างแน่นอนไม่ได้เลย สัตว์โลก
ทั้งหลายที่มีความทุกข์ ร้องไห้น้ำตาแทบจะเป็นสายเลือด ก็เพราะมาหลงใหลในสังขารโลกและไม่รู้เห็นจริงตามสังขารโลกนี้เอง ถึงสังขารนั้นจะสมมติว่าเป็นเราหรือเป็นของของเราอยู่ก็ตาม นั่นก็เป็นเพียงสมมุติเท่านั้น แต่เราก็ยังตามไปหลงในสมมุตินั้นอีก เมื่อสมมุตินั้นมีการเปลี่ยนแปลงไป ก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมามิใช่หรือ ดังนั้น ความทุกข์จึงเกิดขึ้นที่ใจได้หลายทางและเหตุให้เกิดทุกข์นั้นมีมากทีเดียว จะเขียนเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งหมดคงไม่ได้ แต่จะเขียนไว้เป็นเพียงแนวทางเท่านั้น
คำว่า ทุกข์นั้นมีศูนย์รวมแห่งเดียวคือใจ หรือสุขก็มารวมที่ใจแห่งเดียวเช่นกัน ฉะนั้น ความทุกข์จึงไม่มีใคร ๆ ต้องการ ตลอดจนสัตว์ดิรัจฉานก็แสดงความไม่ต้องการเช่นกัน ถึงจะไม่ต้องการในความทุกข์ แต่เมื่อสร้างเหตุแห่งทุกข์ไว้แล้ว ก็จะต้องได้รับทุกข์อยู่นั่นเอง เหตุแห่งทุกข์นั้นเราจะสร้างขึ้นด้วยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม สร้างขึ้นด้วยความรู้เท่าไม่
ถึงการณ์ หรือสร้างขึ้นด้วยความหลงความเข้าใจผิดก็ตาม ผลที่เกิดต้องกระทบถึงใจ
แน่นอน จะกระทบมากน้อยอย่างไรขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยภายนอกที่จะทำให้ใจเป็นทุกข์นั้นมีมาก แม้แต่ฤดูกาลที่เป็นธรรมชาติของโลกก็ทำให้ใจเป็นทุกข์ได้ เช่น ร้อนเกินไป หนาวเกินไป ฝนตกหนักเกินไปทำให้น้ำท่วมไร่นาหรือไปมาไม่สะดวก ก็ทำให้เกิดความทุกข์ได้
เช่นกัน หรือร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคนานาชนิด ร่างกายได้รับความกระทบกระทั่งจากของแข็งหรือของมีคมเป็นบาดแผล หรือสิ่งใดทำให้ร่างกายผิดปกติไป ก็จะเกิดความทุกข์ใจทันที
แม้กระทั่งอิริยาบถต่าง ๆ ทางร่างกายที่ใช้กันอยู่ประจำวัน ยืนนาน นั่งนาน เดินนาน นอนนาน
ก็ยังเกิดความทุกข์ใจได้ ได้รับเสียงที่ไม่ชอบใจ เช่น คำกล่าวนินทาว่าร้าย ก็เกิดความทุกข์ใจ
แม้ปรารถนาในสิ่งใดแล้วไม่สมความตั้งใจก็เป็นทุกข์ขึ้นที่ใจ อุปาทานขันธ์ ความยึดมั่นใน
ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอัตตาตัวตน นี้ก็จะเป็นที่รวมเหตุแห่งทุกข์ทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะเช่นไร
ฉะนั้น ความทุกข์ไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุอันใดก็ล้วนแต่ไม่มีใครในโลกนี้ต้องการหรือปรารถนา แต่ก็หนีไปไม่พ้นเพราะเป็นผลที่ต่อเนื่องกันกับความเกิด จึงเรียกว่าความเกิดเป็นเหตุ ความทุกข์เป็นผล ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้แล้วย่อมได้รับผล คือ ความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ใครจะเกิดมาจากที่ไหน ฐานะเป็นอย่างไร ไม่สำคัญ ย่อมได้รับผลคือ ความทุกข์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนจะได้รับทุกข์มากหรือทุกข์น้อยนั้นขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ดังที่พบเห็นกันในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วไป ถึงจะไม่ชอบความทุกข์ แต่ตัวเองได้สร้างเหตุแห่งทุกข์เอาไว้ ถึงจะไม่พอใจในทุกข์แต่ก็ต้องได้รับผลคือความทุกข์อยู่นั่นเอง ถ้าหากยอมรับความจริงที่ตัวเองได้กระทำไว้แล้ว ความทุกข์ใจก็อาจจะทุเลาลงไปได้บ้าง ให้ถือว่าเป็นบทเรียนที่ดี ถึงจะมีความทุกข์อย่างไร เราก็ต้องทำใจให้อดทนและรู้เท่าทันเอาไว้ ให้ถือว่าเป็นฝันร้ายในชีวิตของเราก็แล้วกัน ฉะนั้น เราต้องรู้จักวิธีที่จะปกป้องตัวเองไม่ให้ได้ไปเกิดในชาติหน้าอีก เพราะการเกิดในชาติหน้านั้น มีความเกี่ยวพันกันอยู่กับ อัตตา คือตัวตน เมื่อมีอัตตาตัวตน สิ่งที่เป็นของของตนก็เกี่ยวโยงถึงกันทั้งหมด ฉะนั้น ความยึดติดความผูกพันก็เกิดเนื่องจากตนและของของตน
ทั้งนั้น การทำลายอัตตาก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ให้มีพยานหลักฐานยืนยันว่า อัตตาตัวจริงที่แน่นอนไม่มี ถึงจะมีธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม
ธาตุไฟ อาศัยกันอยู่ ก็เป็นเพียงก้อนธาตุที่ใจอาศัยอยู่ชั่วขณะเท่านั้น ไม่กี่วัน เดือน ปี ก้อนธาตุนี้ก็ต้องแตกสลายไปตามอายุขัยของมันเอง ดังเราเห็นกันตามป่าช้าหรือที่เมรุต่าง ๆ คิดว่าทุกคนคงเคยไปงานศพมาแล้ว ให้เราใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริงว่า ผู้ที่ตายไปแล้วนั้น แต่ก่อนเขาก็มีความเข้าใจเหมือนกันกับเราว่า ร่างกายนี้เป็นตัวตนของเขา แต่เมื่อจิตได้ออกจากร่างกายไปแล้ว อัตตาตัวตนมันอยู่ที่ไหน เมื่อถูกไฟเผาไปแล้วก็เหลือเพียงกระดูก จะเอากระดูกนั้นมาปั้นเป็นอัตตาตัวตนอีกก็ไม่ได้ นั่นคือ อนัตตา ไม่มีอะไรเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่เป็นตัว ไม่เป็นตน
แต่อย่างใด
ที่เข้าใจว่าเป็นอัตตาตัวตนก็เป็นเพียงสมมติเท่านั้น ถึงสิ่งอื่นภายนอกที่เข้าใจกันว่าเป็นของของตน เช่น สามีภรรยา ลูกหลาน หรือสมบัติที่มีอยู่ทุกชนิด ก็เป็นเพียงสมมุติโลกพูดกัน
เท่านั้น เพราะสมบัติทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่มีอะไรเป็นของของเราที่แน่นอน ทุกอย่างเป็นเพียงปัจจัยสำหรับคนอาศัยในชั่วขณะที่เรามีชีวิตอยู่เท่านั้น หรือเรียกว่าเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกของชีวิต เพราะสิ่งทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสมบัติของโลก ทุกคนที่เกิดมาต้องแสวงหาเพื่อเอามาบำรุงร่างกายให้อยู่ได้ในชั่วชีวิตที่มีอยู่เท่านั้น จะไปยึดติดว่าอันนี้เป็นเรา และเป็นของของเรานั้น จึงไม่สมควรแก่ผู้จะหนีจากโลกนี้ไป ผู้จะหนีจากโลกนี้ไปต้องทำใจให้ปฏิเสธในอัตตาทั้งหมด เพราะการยึดติดนั้นเป็นสะพานเชื่อมโยงต่อกันกับภพชาติ ยึดติดในสิ่งใดใจก็จะไปเกาะในสิ่งนั้นเพื่อเกิดเป็นภพชาติต่อไป แต่ก็ให้เป็นสิทธิแก่ผู้อยากจะอยู่ในโลกนี้ เพื่อเป็นสายพันธุ์ให้แก่สัตว์โลกทั้งหลาย เมื่อเขามีความพอใจอยากอยู่กับโลกนี้ ก็ให้เขายึดติดกอดคอกันตาย และลอยไปตามกระแสของโลกนี้ไป ตราบใดที่เขายังไม่รู้เห็น ทุกข์ โทษ ภัย ในโลกนี้ ก็จะมีความคิดว่า อยากจะอยู่เป็นคู่กับโลกนี้ตลอดไปไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อท่านผู้ใดได้รู้เห็นทุกข์ โทษ ภัย ในโลกนี้แล้ว ก็จะเกิดความกลัวในภพชาตินั้น ๆ ขึ้นมาที่ใจ ไม่ยึดติดผูกพันในสมมุติโลกทั้งหลาย ไม่ยอมต่อชาติของตัวเองให้ยืดยาวอีกต่อไป
นั้นคือ นิสัยของผู้จะหนีไปจากภพทั้งสาม จึงไม่มีการต่อรองกับกิเลสตัณหาอีก
ต่อไป เพราะชาติภพที่ผ่านมายาวนานนั้น เราเสียเปรียบกิเลสตัณหามาตลอด ชาตินี้จะเป็นชาติสุดท้ายของเรา กิเลสตัณหาจะเอาอะไรมาต่อรองอีก เราจะไม่รับทั้งสิ้น กิเลสตัณหาได้พาให้เรายึดติดในขันธ์ ๕ ว่าเป็นตน ใจก็หลงกลลวงของกิเลสตัณหามาตลอด บัดนี้ใจเรามีปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในขันธ์ ๕ อย่างชัดเจน เช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นรูปธรรม นามธรรม ประจำตัว เราจะไม่หลงยึดติดอยู่ในขันธ์ ๕ นี้อีกต่อไป เพราะเคยอาศัยอยู่กับรูปธรรม นามธรรม นี้มาแล้ว แต่ละชาติที่เกิดมาก็เหมือนกันกับชาติปัจจุบันนี้ จะมีชาติ อนาคตต่อไปก็เป็นธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ คือรูปธรรม นามธรรม เหมือนชาติปัจจุบันนี้เอง ถ้าธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ยังมีการเกิดดับไปตามเหตุปัจจัยของโลกนี้อยู่ เราจะตามเอาสิ่งที่เกิดดับมาเป็นตัวตนได้อย่างไร เราเองเคยตามภพชาตินี้มาแล้วและเคยได้ครองร่างของธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้มาจนนับชาติ
ไม่ถ้วนประมวลไม่ได้ ก็ไม่มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ในภพชาติใด ๆ เป็นตัวตนได้เลย ชาติก่อนเป็นมาอย่างไร ในชาตินี้ก็จะเป็นไปอย่างนั้น ในอนาคตชาติหน้าก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน ฉะนั้น จะไปยึดติดกับธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อันเกิดดับนี้ไปทำไม เกิดมาชาติไหน ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ก็ดับไปในชาตินั้น เกิดมาในชาตินี้ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ก็ดับไปในชาตินี้ จะเกิดมาอีกในชาติหน้า ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ก็ดับไปในชาติหน้า ถ้าธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เกิดดับซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ทำไมจึงไม่มีความเบื่อหน่อยใน
ภพชาตินั้นเล่า จะมัวเมายึดติดในธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นี้ไปทำไม นี่ก็เพราะใจมีเชื้อแห่งความเกิด คือตัวสมุทัย นั่นเอง
เมื่อตัวสมุทัยยังฝังแน่นอยูในใจ ก็จะพาให้ใจไปก่อภพชาติในวัฏสงสารไม่มีที่
สิ้นสุด ถ้าทำลายตัวสมุทัย คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา ให้หมดไปจากใจ
ได้แล้ว ความเกิดเป็นภพชาติอีกจะมีมาจากที่ไหน ถ้าภพชาติไม่มี ความทุกข์ก็หมดสภาพไป เมื่อใจไม่มีกิเลสตัณหาเป็นเชื้ออยู่ เมื่อนั้นกระแสแห่งพระนิพพานก็จะเปิดรับทันที คำว่ากระแสแห่งพระนิพพานนั้น จะมีเฉพาะพระอริยเจ้าเท่านั้นจะเข้าถึงได้ อย่างน้อยเป็นผู้บรรลุอริยธรรมขั้นพระโสดาบัน เส้นทางที่ตรงสู่กระแสแห่งพระนิพพานนั้น มีเฉพาะศาสนาพุทธเท่านั้น ชาวพุทธหลาย ๆ ท่านมีความต้องการอยากจะเข้ากระแสแห่งพระนิพพานกันทั้งนั้น แต่จะมีสักกี่ท่านที่เข้ากระแสแห่งพระนิพพานได้แล้วอย่างสนิทใจ ส่วนเราผู้กำลังเดินตามรอยของพระอริยเจ้า ก็ต้องใช้อุบายการปฏิบัติที่เป็นแนวทางอันเดียวกัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเข้าใจผิดโดย
ไม่รู้ตัว พระพุทธเจ้าได้ทรงวางแนวทางในการปฏิบัติไว้แล้วอย่างชัดเจน ดังเราเห็นกันอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ ที่พระองค์ทรงเรียบเรียงเอาไว้แล้ว และทรงแนะแนวทางที่ตรงต่อมรรคผลนิพพานเป็นที่สุด จึงไม่ควรที่จะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้แหวกแนวไปจากหลักเดิม นั่นคือ ปัญญา ศีล สมาธิ ให้ไปเปิดดูในมรรค ๘ เสียบ้างว่า พระองค์ทรงวางแนวทางไว้อย่างไร นั่นเป็นหลักปฏิบัติเดิมที่มีมาในครั้งพุทธกาล เราไม่ควรที่จะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้
คนอื่นมีความเห็นผิด ความเข้าใจผิด โดยไม่รู้ตัว
ขอย้อนกลับมากล่าวถึงการยกเอาต้นเครือกระพังโหมมาเป็นอุบายในการใช้ปัญญาพิจารณา ในครั้งนั้น การใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นในสัจธรรมที่เกิดขึ้นดับไปทั้งภายนอก ภายใน ใกล้ไกล หยาบละเอียด จะเกิดความแยบคายหายสงสัยไปทั้งหมด เป็นปัญญาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย เพิ่งได้รู้จักว่า เป็นปัญญาที่กล้าหาญเกิดขึ้นในครั้งนี้ เมื่อปัญญามีความกล้าหาญแล้ว ศรัทธา สติ ความเพียร และความตั้งมั่นภายในใจก็มีความกล้าหาญกันทั้งหมด ความรู้เห็นในสรรพสังขารทั้งหลายก็เป็นไปตามไตรลักษณ์ทั้งหมด จึงเป็นภาวนามยปัญญา หรือ วิปัสสนาญาณ อันเป็นมรรคญาณที่จะประหารกิเลสตัณหาให้หมดไปจากใจโดยตรง เป็นปัญญาที่ถอนรากถอนโคนวัฏจักรให้หยุดหมุนเวียนอยู่ในภพทั้งสาม เป็นปัญญาที่หักกงกำของตัณหา สังขาร และสมมุติให้สูญสิ้นไป เป็นปัญญาที่รู้เห็นเหตุปัจจัยของบุญและบาปว่ามีความเกี่ยวโยงให้ผลต่อกันอย่างไรได้ชัดเจน เป็นปัญญาที่เปิดเผยความลับของโลกโดยไม่มีสิ่งใดมาปิดบัง เป็นปัญญาที่ทวนกระแสโลก และทวนกระแสของกิเลสตัณหาทั้งหลาย เป็นปัญญาที่ตัดกระแสแห่งราคะ โทสะ โมหะ ให้หมดไป เป็นปัญญาที่ข้ามกระแสแห่งความรัก ความยินดี ในกามคุณ เป็นปัญญาที่พาให้พ้นกระแสโลก คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก และเป็นปัญญาที่จะทำให้พบกระแสธรรมอย่างสมบูรณ์ เป็นปัญญาที่กำจัดอวิชชาพร้อมด้วยเหตุปัจจัย เป็นปัญญาที่ชำระสังขารการปรุงแต่งในสมมุติทั้งหลาย เพื่อให้ใจได้เกิดความรู้จริงเห็นจริงทั้งหมด เป็นปัญญาที่ทำลายเหตุปัจจัยในวิญญาณ เหตุปัจจัยในนามรูป เหตุปัจจัยในสฬายตนะ เหตุปัจจัยในผัสสะ เหตุปัจจัยในเวทนา เหตุปัจจัยของตัณหา เหตุปัจจัยของอุปาทาน เหตุปัจจัยของภพ เหตุปัจจัยของชาติ ที่จะทำให้ได้ไปเกิดอีกในภพทั้งสาม เป็นปัญญาที่ทำลายตัวสมุทัย คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา ให้หมดไปจากใจอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นนิโรธที่ทำให้แจ้งแล้วในสรรพสังขารทั้งหลาย ใจไม่มีความเห็นผิดลุ่มหลงในภพทั้งสามอีกต่อไป

นิโรธคือความดับทุกข์
ในคืนนั้น กำหนดจิตอยู่ในความสงบตลอดคืนจนถึงสว่างของวันใหม่ จากนั้น จิตก็ลงสู่ความดับ ให้เข้าใจเอาไว้ว่า ความสงบของสมาธิ ความสงบในฌาน ไม่เหมือนกันกับความดับ เพราะความสงบในสมาธินั้นยังมีวิญญาณความรู้แฝงอยู่ที่ใจ ถึงจะมีความสงบเป็นสมาธิในระดับไหน ก็ยังมีวิญญาณรับรู้อยู่นั่นเอง ส่วนความดับนั้น ไม่มีวิญญาณรับรู้อะไรทั้งสิ้น นั่นคือ วิญญาณที่รับรู้ได้ดับไป เมื่อวิญญาณรับรู้ได้ดับไปอย่างเดียวเท่านั้น ความสัมผัสในอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็ไม่มีวิญญาณรับรู้อะไรเลย ตาก็สักว่าตา หูก็สักว่าหู ลิ้นก็สักว่าลิ้น กายก็สักว่ากาย ใจก็สักว่าใจ ไม่มีความรู้ในการสัมผัสอะไรเลย ถึงสิ่งภายนอกจะมาสัมผัส เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น นี่คือส่วนของรูป ในส่วนที่เป็นนาม คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็เป็นนามล้วน ๆ ไม่มีความรู้สึกนึกคิดอะไร อารมณ์ภายในใจที่เป็นความสุข ความทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ ก็ไม่รับรู้อะไรทั้งสิ้น สัญญาความจำในเรื่องอดีตที่ผ่านมา และความจำในปัจจุบันก็ไม่มีวิญญาณรับรู้ สังขารการปรุงแต่งภายในใจก็คิดปรุงแต่งอะไรไม่ได้ เพราะวิญญาณดับไปอย่างเดียวเท่านั้น ทุกอย่างของรูปธรรมและทุกอย่างของนามธรรมก็ดับไปพร้อมกันทั้งหมด จึงเป็นนิโรธ คือ ความดับและดับไม่มีเหลือ กิเลสน้อยใหญ่ที่เป็นอาสวะหมักดองใจมายาวนาน จะมาสิ้นสุดอยู่กับนิโรธ คือความดับในขณะนี้ทั้งหมด ชาติภพที่เคยเกิดแก่เจ็บตาย เวียนว่ายอยู่ในภพทั้งสามก็หมดสภาพไปในขณะนี้ จึงสมกับคำว่า อวิชชาดับ สังขารก็ดับ วิญญาณก็ดับ นามรูปก็ดับ นามรูปดับ สฬายตนะก็ดับ สฬายตนะดับ ผัสสะก็ดับ ผัสสะดับ เวทนาก็ดับ เวทนาดับ ตัณหาก็ดับ ตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ อุปาทานดับ ภพก็ดับ เมื่อภพดับ ชาติแห่งความเกิดก็ดับ เมื่อชาติแห่งความเกิดอีกไม่มี ชราความแก่ มรณะความตาย จะมีมาจากที่ไหน ความโศกเศร้าโศกา ความทุกข์ใจนานาประการก็ดับสนิททั้งหมด ไม่มีเชื้อกิเลสตัณหาอะไรที่ตกค้างภายในใจนี้อีกต่อไป จึงให้นามว่า นิโรโธโหติ คือความดับทุกข์ให้หมดไปจากใจอย่างสิ้นเชิง
ในขณะที่มีความดับอยู่นั้น เกิดความรู้อีกอย่างหนึ่งซึ่งมีความละเอียดอ่อนมากอยู่ในส่วนลึกของใจ คำว่ารู้นี้มิใช่ความรู้ที่เกิดจากวิญญาณ มิใช่ความรู้ที่เกิดจากรูปนามแต่อย่างใด เป็นรู้ที่ไม่มีจุดหมายที่นอกเหนือไปจากรูปนาม เป็นรู้ที่ไม่มีอะไรแอบแฝง เป็นรู้ที่เหนือจากความรู้โดยไม่มีสมมุติอะไรมาเทียบได้ เพราะเป็นลักษณะรู้ที่ไม่มีนิมิตหมายในสมมุติใด ๆ ไม่สามารถอธิบายหรือบอกให้ใคร ๆ ฟังได้ เป็นรู้ที่ไม่มีขอบเขต เป็นรู้ที่ไม่มีสมมุติให้รู้ เป็นรู้ที่โดดเด่นเฉพาะรู้เท่านั้น เมื่อความดับนี้อยู่ได้ประมาณ ๑ ชั่วโมง เกิดลักษณะอาการวูบขึ้นมา แล้วเกิดความกล้าหาญขึ้นมาที่ใจ เมื่อใจมีความกล้า สติปัญญาก็กล้าไปตาม ๆ กัน เหมือนกับว่าจะสามารถเหยียบกระทืบภูเขาให้พังพินาศไปในชั่วพริบตา หรือราวกับว่าจะทำลายอะไรในโลกนี้ให้เป็นจุลไปในชั่วขณะเดียว นี่เป็นเพียงความกล้าหาญที่เกิดขึ้นมาเท่านั้น
เมื่อผู้ภาวนาปฏิบัติมาถึงจุดนี้แล้ว จึงนับได้ว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตนได้อย่างแท้จริง ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะทำให้เกิดความเห็นผิดอีกต่อไป ในอีกนาทีข้างหน้านี้ ก็จะเกิดความอัศจรรย์ขึ้นที่ใจอย่างสมบูรณ์เต็มที่ โดยไม่เคยมีมาก่อนในชีวิตนี้เลย นับแต่ได้เทียวเกิดตายในวัฏสงสารมาเป็นเวลาอันยาวนาน จนนับภพชาติไม่ถ้วนประมวลไม่ได้ก็ตาม ความอัศจรรย์ในธรรมที่เป็นผลเกิดขึ้นจากการภาวนาปฏิบัติก็จะเกิดขึ้นในขณะนี้เอง จะอยู่ที่ไหนอิริยาบถใดไม่สำคัญ ความอัศจรรย์ในธรรมก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันทันที จึงเป็น ปัจจัตตัง รู้เฉพาะตัวเอง ความอัศจรรย์ในธรรมที่เกิดขึ้นนี้เป็นประการใดนั้น ผู้ปฏิบัติภาวนาจะรู้เองเห็นเองอย่างชัดเจน โดยไม่มีสิ่งอื่นใดมาปิดบัง และจะหายความสงสัยในตัวเองทันที รู้เห็นในขณะใดก็หายความสงสัยในตัวเองในขณะนั้น ไม่ว่า
เชื้อชาติใดภาษาใด ชนชั้นวรรณะฐานะอย่างไรไม่สำคัญ จะเป็นพระ เป็นเณร ฆราวาสหญิงชายในวัยไหนก็ตาม เมื่อภาวนามาถึงจุดนี้แล้ว ความอัศจรรย์ในธรรมย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เมื่อธรรมอัศจรรย์นี้เกิดขึ้นกับท่านผู้ใดแล้ว ท่านผู้นั้นจะไม่ต้องไปถามใคร ๆ อีกต่อไป เพราะความวิตก ความสงสัย ความไม่แน่ใจในตัวเอง จะไม่มีกับผู้ที่รู้เห็นในธรรมอัศจรรย์นี้เลย นี่คือผู้ที่หายความสงสัยในตัวเองอย่างสมบูรณ์ ในยุคสมัยนี้ หากมีผู้ได้รับผลธรรมอัศจรรย์นี้แล้ว ความรู้เห็น ความหายสงสัยในตัวเอง จะเหมือนกันทั้งหมด ไม่ว่าคุณธรรมจะอยู่ในระดับไหน ก็จะรู้เห็นคุณธรรมนั้นด้วยตัวเองทันที ไม่ต้องไปหาคำพยากรณ์จากใคร ๆ ทั้งสิ้น นี่คือผู้ตัดกระแสของโลกธรรมออกจากใจได้แล้ว จึงไม่มีความยินดี ไม่มีความยินร้ายในภพทั้งสามอีกต่อไป จึงเป็น กตํ กรณียํ กิจอื่นที่จะพึงทำให้เป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้อีกไม่มี นี่คือผลของการภาวนาปฏิบัติที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง
ฉะนั้น การปฏิบัติ จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย คำว่ายากนั้น คือ นักปฏิบัติใช้อุบายในแนวทางไม่ตรงกับจริตนิสัยของตัวเอง ตัวเองเคยมีนิสัยการสร้างบารมีมาอย่างหนึ่ง แต่เลือกใช้อุบายในแนวทางปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงกันกับนิสัยเดิมที่เคยสร้างบารมีมาแล้วในอดีต จึงเหมือนกันกับเอาสว่านเจาะไม้ให้เป็นรูไว้แล้วแต่ยังไม่ทะลุ แต่ก็มีอันเป็นไป ไม่ได้เจาะให้ติดต่อกัน เมื่อจะมาเจาะต่อก็จำที่เจาะรูเก่าไม่ได้ เพราะเปลือกไม้ได้เกิดหุ้มเอาไว้แล้ว เมื่อมาเจาะใหม่ก็เจาะไม่ถูกรูเก่า จึงกลายเป็นเจาะที่ใหม่ไปเสีย ถ้าอย่างนี้ก็ทะลุไปไม่ได้เลย นี้ฉันใด การปฏิบัติไม่ได้ผลไม่ก้าวหน้า เพราะอุบายการปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ไม่ตรงกับอุบายเก่าที่ได้ปฏิบัติเป็นนิสัยมาแล้ว เรียกว่า บารมีใหม่ที่กำลังปฏิบัติอยู่เชื่อมกันกับบารมีเก่าไม่ต่อเนื่องกันนั่นเอง ถ้ามีคำถามว่า จะทำอย่างไรจะเชื่อมกันกับบารมีเก่าได้ ก็ตอบว่ายากมาก เพราะไม่มีใครรู้จักว่าเราสร้างบารมีมาแล้วอย่างไรและสร้างด้วยอุบายวิธีไหน ไม่เหมือนในครั้งพุทธกาลที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนมชีพอยู่ พระองค์รู้จักบารมีของพระสาวกและบารมีของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย พระองค์ได้ทรงชี้แนะให้อุบายธรรมให้ถูกกับจริตนิสัยเดิมของท่านเหล่านั้น เมื่อนำไปปฏิบัติก็ได้รับผลทันที เช่น พระองค์ให้ผ้าขาวแก่พระจุลบัณฑก ให้อุบายแก่ลูกศิษย์ของพระสารีบุตร เป็นต้น หรือให้อุบายธรรมแก่พระสาวกองค์อื่น ๆ เป็นจำนวนมาก ฉะนั้น ในครั้งพุทธกาลจึงมีผู้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้า
ได้ง่าย ทั้งพระภิกษุและฆราวาสมีจำนวนนับหลายหมื่นท่าน เมื่อถึงยุคปัจจุบันนี้ นักปฏิบัติต้องพึ่งตัวเองในการปฏิบัติธรรมให้มาก อุบายธรรมต่าง ๆ ก็ฟังได้จากครูอาจารย์บ้าง และคิดหาอุบายส่วนตัวบ้าง พิจารณาดูแล้วก็เหมือนกับว่าสุ่มเดาเอาเอง เมื่อสุ่มเดาถูกนิสัยตัวเองได้ การภาวนาก็จะได้ผลทันที เมื่อสุ่มเดาไม่ถูก ถึงการภาวนาปฏิบัติจะมีการทุ่มเทความพากเพียรอย่างเต็มที่เท่าไร การปฏิบัติก็ยังไม่ได้รับผลอยู่นั่นเอง ถึงจะปฏิบัติมานานหลายสิบปีหรือปฏิบัติไปจนถึงที่สุดของชีวิต ก็จะไม่ได้บรรลุธรรมแต่อย่างใด ถึงจะมีนิสัยวาสนาบารมีพอจะบรรลุธรรมในชาตินี้ได้อยู่ก็ตาม ถ้าปฏิบัติไม่ถูกกับนิสัยเดิมของตัวเองแล้วก็ยากที่จะบรรลุธรรมได้
ถึงเราจะไปหาครูอาจารย์เพื่อฟังธรรมจากท่านอยู่บ่อย ๆ หรือจะไปคอยเอาอุบายธรรมจากท่านมาปฏิบัติ ถ้าได้อุบายธรรมนั้นมาไม่ตรงกับนิสัยบารมีของตัวเอง ถึงจะเป็นอุบายธรรมที่ดีเข้มข้นในเหตุผลและสาระ หรือเป็นอุบายธรรมของผู้ที่ท่านได้บรรลุธรรมนั้นมาแล้วก็ตาม ถ้าอุบายธรรมนั้นไม่ตรงกับนิสัยเรา ก็ไม่ได้ผล เหมือนกับยาขนานนี้ ยาชุดนี้ เคยได้ใช้รักษาคนป่วยให้หายมาแล้ว เมื่อเราเอายานี้มากิน ถ้าเราเป็นโรคประเภทเดียวกันกับคนป่วยรายนั้น เราก็มีสิทธิ์จะหายได้ แต่ถ้าโรคเราไม่เหมือนกันกับท่านผู้นั้น ถึงจะกินยานี้ไปจนถึงวันตาย โรคก็ยังไม่หายอยู่นั่นเอง นี้ฉันใด นักปฏิบัติต้องพิจารณาในอุบายธรรมให้ดี เตรียมหาอุบายธรรมเอาไว้ให้มาก เพื่อจะได้เลือกเอาอุบายธรรมนั้นมาประกอบในนิสัยตัวเอง เรียกว่า ธัมมวิจยะ คือเลือกเฟ้นหาอุบายธรรมนั้นมาปฏิบัติให้ถูกกับจริตนิสัยของตัวเอง ให้เป็นไปในความรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม เช่น ผู้มีนิสัยเคยทำสมาธิมามากในอดีต ในชาตินี้ก็มีนิสัยชอบทำสมาธิมากกว่าปัญญา ถ้าผู้ที่เคยใช้ปัญญามาแล้วในอดีตจนเป็นนิสัย เมื่อมาในชาตินี้ ก็ต้องใช้ปัญญามากกว่าการทำสมาธิ ทั้งสองอุบายนี้จะให้ผลออกมาเหมือนกัน ผู้ที่ทำสมาธิมากกว่าปัญญา ผลที่ออกมาเรียกว่า เจโตวิมุติ ผู้ที่ใช้ปัญญามากกว่าการทำสมาธิ ผลออกมาเรียกว่า ปัญญาวิมุติ ฉะนั้น ต้องรู้จักตัวเองว่ามีนิสัยอย่างไร ควรใช้อุบายใดเป็นหลักในการปฏิบัติธรรม เพื่อไม่ให้ฝืนนิสัยเดิมที่เคยสร้างบารมีมาแล้วอย่างนี้ในอดีต จึงเรียกว่ามีปัญญาความรอบรู้ในนิสัยของตัวเอง ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ ผลของการปฏิบัติจะเกิดขึ้นได้ยากมาก จึงเป็น ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา กว่าจะรู้เห็น กว่าจะได้รับผลจากการปฏิบัติอย่างแท้จริงได้ ต้องผ่านความทุกข์ภายทุกข์ใจมากทีเดียว
คำว่าง่าย ก็เหมือนกันกับเราเอาสว่านไปเจาะรูไม้ที่เจาะไว้แล้ว ถึงแม้จะทิ้งไว้นานจนเปลือกไม้เกิดหุ้มปิดรูเอาไว้ เมื่อบังเอิญได้โอกาสมาเจาะอีกในคราวหลังให้ถูกรูเดิม ก็เจาะทะลุได้อย่างง่ายดาย นี้ฉันใด ผู้ที่ท่านภาวนาง่ายได้รับผลจากการปฏิบัติเร็ว จึงมีเหตุผลใหญ่ ๆ อยู่ ๓ ประการ คือ ๑. วาสนาบารมีเก่าเคยทำมาแล้วในอดีต ที่เรียกว่า ปุพเพกตะปุญญตา คือ ผู้ที่ได้บำเพ็ญบุญกุศลมาแล้วในปางก่อน ๒. ได้อุบายธรรมในการปฏิบัติตรงกับนิสัยวาสนาบารมีของตัวเอง ๓. มีความตั้งใจที่แน่วแน่จริงจังในการปฏิบัติธรรม ทั้ง ๓ อุบายนี้ เมื่อมารวมตัวกันเมื่อไร การภาวนาปฏิบัติก็ง่ายไม่มีอุปสรรคในการปฏิบัติแต่อย่างใด จะเรียกได้ว่า สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา คือ ปฏิบัติง่ายและรู้เห็นในสัจธรรมได้เร็ว ไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใด
ฉะนั้น นักปฏิบัติต้องฝึกใจให้มีความฉลาดรอบรู้ในการปฏิบัติธรรม พยายามหาอุบายต่าง ๆ มาสอนใจตัวเองอยู่เสมอ เมื่อใจเรามีความฉลาดรอบรู้ตามความเป็นจริง การภาวนาปฏิบัติก็จะก้าวหน้าไปด้วยดี เพราะมีความตั้งใจในการปฏิบัติ ให้มุ่งหมายที่ใจเป็นจุดสำคัญ จะรักษาศีลก็รักษาเพื่อใจ จะทำสมาธิก็มุ่งหมายเพื่อให้ใจมีความสงบ การใช้ปัญญาก็เป็นอุบายสอนใจให้มีความฉลาดในเหตุผล เพราะใจเรามันยังโง่ ใจเรามันยังหลง ไม่มีความรอบรู้ ไม่มีความฉลาด ไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่ใจได้ ฉะนั้น จึงให้ใช้ปัญญาอบรมสั่งสอนใจอยู่เสมอ เพื่อให้ใจได้มีความรอบรู้ตามหลักความเป็นจริง ดังคำบาลีที่กล่าวไว้ว่า จิตฺตํ ทนฺตํ
สุขาวหํ เมื่อใช้ปัญญาอบรมจิตได้แล้วย่อมนำความสุขความฉลาดมาให้จิตเอง เรื่องของใจจึงเป็นเรื่องใหญ่ในการปฏิบัติธรรม ส่วนอุบายในการปฏิบัติที่เนื่องด้วยกาย เนื่องด้วยวาจา ในหลักธรรมในแง่ต่าง ๆ นั้น ก็เพื่อเป็นผลสะท้อนถึงใจทั้งหมด ดังคำว่า ปุพฺพงฺคมาธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ นี้เป็นอุบายที่ชัดเจนมาก แต่ผู้ปฏิบัติเองจะตีความให้ถูกกับความหมายหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของบุคคล แต่ก็มีหลายท่านที่ตีความไปในความเห็นของตัวเอง ดังคำว่า สำเร็จแล้วด้วยใจ ก็เอาใจอย่างเดียวนั้นแหละ จะภาวนาแต่ละครั้งก็มุ่งหวังเอาแต่ใจอย่างเดียว เช่น ให้มีสติอยู่ที่ใจ ให้ใจมีความสงบ ให้ใจอยู่ในความว่างเปล่า ให้ใจอยู่ในความเป็นกลาง จะภาวนาแต่ละครั้งก็มุ่งหวังให้ใจมีความสงบแต่อย่างเดียว เพราะมีความเข้าใจว่า เมื่อใจมีความสงบเป็นสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาขึ้นนั่นเอง หรือบางท่านเข้าใจว่า เมื่อใจมีความสงบเป็นสมาธิแล้ว กิเลส ตัณหา อวิชชา อาสวะน้อยใหญ่จะหมดไปจากใจ เมื่อมีความเห็นแตกต่างกันไปอย่างนี้ ก็ปล่อยให้เป็นไปตามยุคสมัยก็
แล้วกัน
การภาวนาปฏิบัติ กว่าจะเข้าถึงวิปัสสนาญาณได้นั้น ไม่ใช่เป็นของง่ายเลย เพราะวิปัสสนาญาณนั้นเป็นต้นทางของอริยมรรค เมื่อท่านผู้ใดทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นได้แล้ว เรียกว่า นิตยมรรค คือ เส้นทางที่ตรงและเป็นเส้นทางที่แน่นอน ไม่มีทางแยกอื่นใด ที่จะทำให้เกิดความลังเลสงสัย และไม่มีทางอื่นอันจะทำให้เกิดความหลง เพราะเส้นทางนี้จะตรงเข้าสู่พระนิพพานโดยตรง เมื่อวิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นกับท่านผู้ใดแล้ว ท่านผู้นั้นจะรู้ตัวทันทีว่า ปัญญาญาณของเราได้เกิดขึ้นแล้ว การภาวนาปฏิบัติก็ไม่ต้องไปหาถามใครอีกต่อไปว่าผิดหรือถูก เพราะตัวเองจะรู้ทั้งหมดแล้ว โอกาสที่จะไปถามผู้อื่นนั้นไม่มี เหมือนกับบัณฑิตสามเณรผู้เป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร เมื่อเข้าไปบิณฑบาตกับอาจารย์ ไปเห็นชาวนาเอาน้ำเข้านา ก็ถามอาจารย์ว่าเขาทำอะไร อาจารย์บอกว่าเขากั้นดินเอาน้ำเข้านา เขาต้องการจะให้น้ำไหลไปทางไหน เขาก็กั้นดินเอาไว้ น้ำก็จะไหลไปในทางที่ต้องการ เมื่อสามเณรได้ฟังดังนั้น ก็ดำริพิจารณาว่า น้ำไม่มีหัวใจไหลไปตามธรรมชาติ และไหลไปในทางที่ต่ำอยู่ตลอดเวลา คนผู้มีปัญญาที่ฉลาดก็สามารถกั้นเอาน้ำไปใช้ประโยชน์ในการทำนาในพื้นที่สูงได้ โอปนยิโก สามเณรก็น้อมเอาชาวนากับน้ำที่ไหลไปนั้นเข้ามาหาตัวเองว่า ใจเราก็ชอบคิดไปในทางที่ต่ำอยู่เสมอ ถ้าปล่อยให้คิดไปอย่างนี้ก็ไม่มีประโยชน์กับตัวเราเลย มิหนำซ้ำ ยังจะเป็นโทษให้แก่เราผู้ปล่อยใจไปตามอารมณ์อย่างแน่นอน
สามเณรเดินตามหลังอาจารย์ไปด้วย คิดพิจารณาไปด้วย ไปถึงอีกแห่งหนึ่งก็เห็นนายพรานเขากำลังดัดลูกศร ก็ได้ถามอาจารย์ว่า ท่านอาจารย์ครับ คนเหล่านั้นเขาทำอะไร อาจารย์ก็บอกว่า คนเหล่านั้นเป็นนายพราน เขากำลังดัดลูกศรให้ตรง สามเณรถามต่อไปว่า เขาดัดลูกศรให้มันตรงเพื่ออะไร อาจารย์ตอบว่า ถ้าลูกศรดัดให้ตรงแล้ว เขาก็จะเอาไปยิงสัตว์ และยิงถูกเป้าหมายตามที่เขาต้องการ ถ้าลูกศรไม่ตรง ถึงจะยิงสัตว์หรือยิงอะไรก็ตาม ก็จะไม่ถูกตาม
เป้าหมายนั้นเลย เมื่อสามเณรได้ฟังดังนั้น ก็ โอปนยิโก น้อมเข้ามาหาตัวเอง พิจารณาด้วยปัญญาทันที เกิดความฉลาดรอบรู้ขึ้นที่ใจ จึงได้พูดกับอาจารย์ว่า ท่านอาจารย์ครับ นิมนต์ท่านอาจารย์ไปบิณฑบาตองค์เดียวเถิด กระผมจะกลับวัด ถ้าท่านอาจารย์ได้อาหารขอได้เอามาฝากกระผมด้วย จากนั้น สามเณรก็กลับวัด แล้วขึ้นสู่บนกุฏิเข้าที่นั่งภาวนาอย่างกล้าหาญทีเดียว
เมื่อท่านได้ฟังได้อ่านมาถึงจุดนี้แล้ว ท่านคิดว่าสามเณรจะนั่งภาวนาอย่างไร ต้องตอบว่า สามเณรคงรีบไปนั่งสมาธิภาวนาทำใจให้มีความสงบใช่ไหม รับรองว่าท่านต้องตอบอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น เพราะ ขณะนี้ นักภาวนามักจะเข้าใจและทำกันจนเป็นนิสัย เพราะเข้าใจว่าการนั่งภาวนาก็คือ การนั่งทำความสงบในสมาธินั่นเอง ที่จริงแล้วสามเณรนั่งภาวนานั้น มิใช่นั่งสมาธิภาวนาตามความเข้าใจของเรา แต่นั่งเจริญวิปัสสนาภาวนาต่างหากเล่า นั่นคือ สามเณรได้ข้อมูลจากชาวนาที่กำลังเอาน้ำเข้านา และไปเห็นนายพรานกำลังดัดลูกศรที่จะไปยิงสัตว์ เมื่อนั่งได้ที่แล้วก็ โอปนยิโก น้อมเอาเรื่องของชาวนาเอาน้ำเข้านามาเป็นอุบาย และน้อมเอาเรื่องของนายพรานดัดลูกศรมาเป็นข้อมูลในการใช้ปัญญาพิจารณา เอาอุบายเหตุภายนอกเข้ามาประกอบเปรียบเทียบเหตุภายใน คือ กายและใจ ให้เป็นไปตามหลักความเป็นจริงที่เพียบพร้อมด้วยเหตุผล สามเณรพิจารณาในเรื่องนี้อย่างไร จะไม่เขียนไว้ให้อ่านหรอกนะ ขอให้เราได้ใช้ปัญญาของตัวเอง ถ้าเราพบเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น เราจะใช้ปัญญาพิจารณาเปรียบเทียบได้อย่างไร ให้ทดสอบดูปัญญาเราก็แล้วกัน
ในช่วงนั้น สามเณรภาวนาอย่างหนักทีเดียว แต่ก็ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ฝ่ายพระสารีบุตรได้หางปลาตะเพียนและอาหารอย่างอื่น ๆ แล้ว ก็นึกถึงสามเณรว่า ขณะนี้สามเณรคงจะหิวอาหาร และนั่งรอเราอยู่ที่กุฏิแล้ว จึงรีบนำเอาอาหารไปให้สามเณร ขณะนั้น พระพุทธเจ้ามีพระญาณอันรอบรู้ในเรื่องของสามเณรนี้อยู่แล้ว พระองค์ทรงดำริว่า ถ้าเราไม่ไปกันพระสารีบุตรเอาไว้ก่อน พระสารีบุตรก็จะไปเรียกสามเณรมาฉันอาหารซึ่งจะไปทำลายวิถีจิตของสามเณรผู้กำลังจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์นี้อย่างแน่นอน จากนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้มาปรากฏพระองค์อยู่ในเส้นทางของพระสารีบุตรที่กำลังเดินมา จากนั้น พระพุทธเจ้าก็มีอุบายธรรมต่าง ๆ สนทนากับพระสารีบุตรเพื่อถ่วงเวลาเอาไว้ เพราะขณะนี้สามเณรยังไม่ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อสามเณรบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว พระพุทธเจ้าก็ปล่อยให้พระสารีบุตรนำอาหารมาให้สามเณรทันที นี้เพียงอธิบายให้ลักษณะผู้จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ให้ท่านได้รู้เอาไว้
ฉะนั้น อุบายของผู้จะบรรลุธรรมนั้นไม่เหมือนกันทั้งหมด แต่เมื่อได้บรรลุธรรมแล้ว ความบริสุทธิ์จะเหมือนกันทั้งนั้น ถ้าท่านผู้ที่เคยอ่านตำราเกี่ยวกับปฏิปทา ๔ จะเข้าใจทันที นั่นคือ สุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา สุขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ทุกขาปฏิปทา ทันธาภิญญา ทั้งสี่อย่างนี้มีอุบายธรรมแตกต่างกัน แต่ก็เป็นไปตามวาสนาบารมีของแต่ละท่านที่สร้างมาแล้วในอดีตชาตินั้นเอง ผู้จะบรรลุธรรมได้เร็วหรือผู้จะบรรลุธรรมได้ช้า อย่าไปถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพระอรหันต์ท่านไม่มีนิสัยอย่างนี้ ไม่มีการโอ้อวดกันว่า ผู้บรรลุธรรมก่อนจะดีกว่าผู้ที่ได้บรรลุธรรมทีหลัง อย่างไรก็ขอให้ภาวนาให้ถึงที่สุดในชาตินี้ก็แล้วกัน เพราะความบริสุทธิ์ของพระอรหันต์นั้นเหมือนกันทั้งหมด ไม่ได้แบ่งแยกกันเป็นหมวดเป็นหมู่ในความบริสุทธิ์นี้เลย นับแต่พระพุทธเจ้าลงมาถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ผู้ถึงพร้อมด้วยจตุปฏิสัมภิทา พระอรหันต์ผู้มีฉฬภิญโญ พระอรหันต์ผู้มีเตวิชโช พระอรหันต์ผู้เป็นสุกขวิปัสสโก ทั้งหมดนี้มีความบริสุทธิ์เสมอภาคกัน ถึงพระนิพพานคือความดับทุกข์อย่างสนิทเหมือนกัน ฉะนั้น พระอรหันต์ที่อยู่รวมกันตั้งแต่สององค์ขึ้นไป ท่านไม่ได้ถามถึงจิตที่มีความบริสุทธิ์ต่อกันแต่อย่างใด อย่างมากก็ถามเพียงว่าได้อุบายใดเป็นหลักของวิปัสสนาญาณ หรือได้กำลังใจอย่างเต็มที่อยู่ที่ไหนไปทำนองนั้น ไม่ได้ถามซักไซ้กันถึงเรื่องความบริสุทธิ์แต่อย่างใด ที่ถามกัน ซักไซ้กันนั้น เป็นเรื่องของคนตาบอดคลำช้างนั่นเอง
ดังนักปราชญ์กล่าวไว้ว่า คนตาบอดกลุ่มหนึ่งอวดตัวว่ารู้จักช้างดี เมื่อพบช้างต่างคนก็เข้าไปลูบคลำตัวช้าง แล้วพากันอ้างว่าตัวรู้จักช้างดีกว่าใคร ๆ คนไหนคลำถูกหางก็ว่าช้างเหมือน
ไม้กวาด คนไหนคลำถูกลำตัวช้างก็ว่าช้างเหมือนฝาเรือนไป คนไหนคลำถูกใบหูช้างก็ว่าช้างเหมือนกระจาดไป คนไหนคลำถูกขาก็ว่าเหมือนท่อไป ต่างคนก็ต่างคลำถูกคนละที่กัน ต่างคนต่างมีความมั่นใจในตัวเองว่าช้างต้องเป็นอย่างนี้แน่นอน ในที่สุดก็ไปนั่งถกเถียงกันใต้ต้นมะกอก เถียงกันไปเถียงกันมา ต่างคนก็ว่าตัวเองเป็นผู้ที่มีความเห็นถูกต้อง และบังคับให้คนอื่นเชื่อตามตัวเองทั้งหมด ต่างฝ่ายต่างไม่ลงรอยกัน ต่างก็ว่าข้อมูลเหตุผลของตัวเองถูกต้องกันทั้งนั้น
ในขณะนั้น มีลมพัดมา ลูกมะกอกซึ่งกำลังสุกอยู่พอดี เมื่อถูกลมพัดเพียงเบา ๆ ลูกมะกอกทั้งหลาย ก็หล่นลงมาถูกหัวกลุ่มคนตาบอดที่กำลังถกเถียงกันอยู่อย่างจัง เหล่าคนตาบอดต่างก็เข้าใจผิด คิดว่าเพื่อนตีหัวตัวเอง ต่างก็ลุกขึ้นพากันขว้างหมัดออกไป และร้องว่าใครตีหัวกู ๆ ในที่สุดหมู่คนตาบอดก็ทะเลาะตบตีกันเอง นี้ฉันใด นักปฏิบัติที่ไม่ค่อยลงรอยกัน เนื่องจากทิฏฐิของตนเป็นเหตุ ใครศึกษามาอย่างไร ก็ชอบเชื่อกันอย่างนั้นว่าถูกต้องแล้ว หรือได้ฟังจากครูอาจารย์ที่สอนมาอย่างไรก็เชื่อกันไปอย่างนั้น ถ้าศึกษาจากหนังสือคนละเล่ม ความเห็นก็จะไปคนละอย่าง หรือได้ฟังจากครูอาจารย์ที่ท่านสอนแนวทางปฏิบัติที่ต่างกันไป ความเข้าใจความคิดเห็นก็ย่อมจะไม่ตรงกันเป็นธรรมดา หลักอุบายภาวนาปฏิบัติก็มีอุบายต่างกัน ใคร ๆ ก็ว่าหนังสือเรามีข้อมูลที่ถูกต้องด้วยกันทั้งนั้น หรืออาจารย์เราสอนแนวทางปฏิบัติที่ตรงต่อมรรคผลนิพพานที่สุด ถ้าเป็นลักษณะอย่างนี้ก็ไม่แตกต่างกันกับหมู่คนตาบอดที่ลูบคลำช้าง
นั่นเอง แต่ถ้าเป็นผู้ตาดีมีความรอบรู้ในเหตุผลทั้งหมดแล้ว เขาจะไม่เข้าร่วมวงถกเถียงกับคนกลุ่มตาบอดนี้เลย
ที่จริงประวัติของพระอริยเจ้าทั้งหลายในครั้งพุทธกาล ในพระสูตรต่าง ๆ ได้อธิบายไว้แล้วอย่างชัดเจนว่า ท่านองค์นั้น ๆ แต่ก่อนท่านก็เป็นปุถุชนธรรมดาเหมือนคนทั่วไป ก่อนที่ท่าน
เหล่านั้นจะกลายเป็นพระอริยเจ้าได้นั้น จุดเริ่มต้นท่านปฏิบัติกันมาอย่างไร ถ้าเราได้ศึกษาด้วยเหตุผลที่ถูกต้องตามแนวทางของพระอริยเจ้าแล้ว เราก็จะเข้าใจในแนวทางเริ่มต้นในหลักภาวนาปฏิบัติได้เป็นอย่างดี จะไม่มีปัญหาในการภาวนาปฏิบัติแต่อย่างใด ในชาตินี้อาจจะพบกระแสธรรมได้อย่างแน่นอน หรืออย่างน้อยเมื่อเรายังไม่พร้อมในชาตินี้ แต่เรามีแนวทางที่ปฏิบัติตรงอยู่แล้ว ก็จะเป็นนิสัยเป็นปัจจัยในตัวเรา ไม่มีการสูญหายไปไหน เมื่อได้เวลาที่พระพุทธเจ้าองค์ใดบังเกิดขึ้นในโลกนี้แล้ว เราอาจจะได้มาเกิดในสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น และเราก็จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าหรือพระอริยเจ้าอย่างแน่นอน คำสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์จะเหมือนกันทั้งหมด นั่นคือ อริยสัจ ๔ มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เหมือนกัน เมื่อฐานของการปฏิบัติที่เราเคยอบรมมาแล้วจนเป็นนิสัยติดตัวมา พอได้ยินในคำว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เท่านั้น ก็จะเป็นพุทโธ มีความรู้เห็นเป็นไปในหลักสัจธรรมทันที
ไม่ว่าเราจะได้ไปเกิดในที่แห่งใดในสมัยนั้น พระพุทธเจ้าก็จะทรงรู้ได้ด้วยพระญาณของพระองค์เองว่า เรามีวาสนาบารมี มีอินทรีย์แก่กล้าพอจะได้พบกระแสธรรมแล้ว พระองค์ก็จะเสด็จไปโปรดเราทันที และเราก็จะได้สิ้นสุดของภพชาติที่จะเกิดตายเวียนว่ายในวัฏจักร แทนที่จะต้องเทียวเกิดตายในวัฏสงสารไปอีกนานไม่มีที่กำหนด ฉะนั้น ขอให้พวกเราได้วางแนวทางการภาวนาปฏิบัติให้ถูกต้องเอาไว้ ไม่เช่นนั้น จะเป็นผู้เล็ดลอดจากพระญาณของพระพุทธเจ้าไปอย่างน่าเสียดาย ดังที่เราได้เล็ดลอดจากพระญาณของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ มาแล้ว เราจึงได้ตกค้างมาเกิดตายอยู่ในวัฏสงสารนี้มาจนถึงปัจจุบัน เมื่อมาถึงยุคที่มีพระพุทธศาสนานี้อยู่ หากเราทำตัวเป็นผู้ประมาทในชีวิต ไม่ได้สนใจการบำเพ็ญกุศลให้แก่ตน ในชาติหน้าก็จะเป็นผู้ห่างจากพระพุทธศาสนาไปไกลมากทีเดียว จะกลายเป็น ตโมตะมะปรายะโน มืดมาแล้วก็มืดไป ไม่ได้พบแสงสว่างในทางธรรมแต่อย่างใด และจะกลายเป็น ปทะปรมะ อยู่นอกข่ายพระญาณของพระพุทธเจ้าจะโปรดเราได้ เพราะไม่มีนิสัยปัจจัยในการสร้างคุณงามความดีเอาไว้เลย

ณ วัดถ้ำกลองเพล
เมื่อออกพรรษาแล้วก็กลับวัดถ้ำกองเพล ได้คิดไว้แล้วว่า ถ้าหลวงปู่ขาวท่านถามเรื่องผลของการภาวนาก็จะเล่าถวายท่านไป แต่ถ้าท่านไม่ถาม ก็จะไม่ขอโอกาสเล่าถวายให้ท่านฟังเลย เมื่อไปถึงวัด เป็นเวลามืดค่ำราว ๆ ประมาณ ๒ ทุ่ม จึงไม่ได้ขึ้นไปกราบท่าน เช้าวันต่อมาก่อนออกบิณฑบาต ท่านหลวงปู่ก็ลงมาที่ศาลา จึงได้เข้าไปกราบท่าน กราบยังไม่ทันเสร็จ ท่านก็รีบถามขึ้นมาว่า เป็นอย่างไร ทูล การภาวนา เล่าให้ฟังหน่อยซิ จึงเรียนท่านไปว่า ขอโอกาสหลวงปู่ ตอนเย็นวันนี้ กระผมจะไปเล่าถวายให้หลวงปู่ฟังที่กุฏิครับ หลวงปู่ก็พยักหน้า แล้วก็ออกบิณฑบาตตามปกติ เมื่อถึงตอนเย็นหลังจากที่พระเณรลงจากกุฏิหลวงปู่ไปหมดแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้โอกาสอยู่กับหลวงปู่เพียงลำพัง จากนั้น ก็ขอโอกาสเล่าถวายเกี่ยวกับผลของการปฏิบัติให้ท่านฟัง เมื่อเล่าถวายเสร็จแล้ว หลวงปู่ท่านก็พูดว่า ผลของการปฏิบัติอย่างนี้ น้อยองค์นักที่จะเป็นไปได้ ผมก็เป็นมาอย่างนี้เหมือนกัน ผลของการปฏิบัติที่เป็นของจริง ไม่ต้องพูดกันมาก เมื่อพูดกันเพียงประโยคแรกก็รู้ความหมายทันที ทุกวันนี้มีผู้รู้ผลของการปฏิบัติน้อยมาก หลวงปู่ถามว่า บวชมาได้กี่ปีแล้วจึงรู้ผลอย่างนี้ ตอบว่า ขอโอกาส กระผมบวชมาได้ ๘ ปี หลวงปู่ก็ยิ้ม ๆ แล้วพูดว่า คงเป็นเพราะบารมีเก่าได้สร้างมาแล้วในชาติก่อนเป็นเหตุปัจจัย ไม่เช่นนั้น จะไม่รู้ผลของการปฏิบัติเร็วถึงขนาดนี้หรอก หลวงปู่ถามว่า ก่อนที่จะมีปัญญาเกิดขึ้น ได้มีอะไรเป็นอุบายในการพิจารณา ก็ขอโอกาสต่อหลวงปู่ แล้วก็เล่าถวายในเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญญา ได้เล่าเรื่องเครือกระพังโหม ให้หลวงปู่ฟัง การเล่าเรื่องทั้งหมดนั้น ก็เหมือนกับที่ได้อธิบายมาแล้วทั้งหมด
เมื่อเล่าถวายจบ หลวงปู่ก็ยิ้ม ๆ แล้วพูดขึ้นมาว่า เหตุและอุบายที่ทำให้เกิดปัญญา ดังที่ท่านได้เล่ามานี้ เหมือนกันกับเฮา แต่ต่างกันเพียงเป็นวัตถุคนละอย่างกัน จึงขอโอกาสถามหลวงปู่ว่า เหตุที่ทำให้เกิดอุบายปัญญาของหลวงปู่นั้น หลวงปู่มีอะไรเป็นเหตุเป็นอุบายครับผม จากนั้น หลวงปู่ก็ได้เล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาแล้วหลายสิบปี หลวงปู่เล่าให้ฟังอย่างละเอียดติดต่อกัน เหมือนกับว่าประสบการณ์นั้นเพิ่งเกิดขึ้นเพียง ๒ - ๓ วันนี้เอง กิริยาท่าทางการแสดงออก หลวงปู่จำได้อย่างแม่นยำทีเดียว หลวงปู่เล่าถึงเหตุที่ทำให้เกิดปัญญาในครั้งนั้นว่า ในบ่ายวันหนึ่ง ได้ลงไปสรงน้ำที่เชิงดอย เป็นเวลาที่ชาวนากำลังเก็บเกี่ยวข้าว เมื่อมองดูทุ่งนา ก็ล้วนแต่มีข้าวแก่เหลืองเต็มไปหมด ในตอนนั้นน้ำก็ยังไม่ได้สรง ในขณะที่ดูข้าวในนาเขาอยู่นั้น มีความคิดเกิดขึ้นที่ใจว่า เมล็ดข้าวนี้เกิดมาจากอะไร มีอะไรเป็นเหตุให้เมล็ดข้าวเกิดขึ้น ก็คิดตอบทันทีว่า เมล็ดข้าวเกิดขึ้นจากเมล็ดข้าวเอง เพราะเมล็ดข้าวนั้นมีเชื้อพาให้เกิด เมื่อคนเอาเมล็ดข้าวที่มีเชื้อนั้นไปหว่านลงบนพื้นดิน เชื้อของเมล็ดข้าวนั้นก็เริ่มแตกตุ่มออกมาจากเมล็ดข้าวนั้น ทีแรกก็เป็นตุ่มขาว ๆ เล็ก ๆ มีรากหยั่งลงไปในพื้นดิน แล้วดูดเอาปุ๋ยต่าง ๆ จากพื้นดินมาเป็นอาหาร ต่อมาก็มีต้นข้าวเล็ก ๆ งอกออกมาจากเมล็ดข้าวนั้น หลายวันต่อมาก็งอกงามเหมือนกับต้นหญ้า เมื่อได้ประมาณ ๑ เดือน เขาก็ถอนขึ้นมา แยกออกไปปลูกในพื้นดินอีก ต้นข้าวก็ใหญ่ขึ้นแก่ขึ้น เมื่อโตเต็มที่แล้วก็ออกรวงเป็นเมล็ดข้าวเปลือกอ่อน ๆ จากนั้นเมล็ดข้าวเปลือกอ่อน ๆ ก็แก่ขึ้น มีเมล็ดข้าวสารเกิดขึ้นในเมล็ดข้าวเปลือกนั้น และมีเชื้อติดอยู่กับหัวเมล็ดข้าว เมื่อแก่แล้ว ชาวนาก็จะเก็บเอาเมล็ดข้าวที่มีเชื้อนั้นไว้ เพื่อจะไว้ใช้ทำพันธุ์ต่อไป เมล็ดข้าวที่จะได้เกิดขึ้นมาใหม่ ก็เหมือนกันกับเมล็ดข้าวเก่านี่เอง
หลวงปู่อธิบายต่อไปว่า เมล็ดข้าวที่มีเชื้ออยู่นี้ เมื่อไปตกอยู่กับพื้นดินที่ชุ่มเมื่อไรก็จะเกิดเป็นต้นขึ้นมาอีก แต่ถ้าแกะเอาเปลือกนอกมันออกทิ้งไป แล้วใช้เล็บมือแกะเอาหัวเชื้อที่เมล็ดข้าวออกทิ้งไปเสีย เมล็ดข้าวที่เหลือถึงจะเอาไปหว่านลงในพื้นดินที่ชุ่มไปด้วยน้ำและปุ๋ย เมล็ดข้าวนั้นก็จะไม่เกิดเป็นต้นขึ้นมาอีกเลย หรือเอาเมล็ดข้าวเปลือกนั้นไปคั่วด้วยไปให้ร้อนไหม้ เมื่อนำมาหว่านบนพื้นดินก็จะไม่เกิดอีกเช่นกัน เพราะเชื้อในเมล็ดข้าวนั้นได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว จึงหมดเหตุหมดปัจจัยที่จะทำให้เมล็ดข้าวเกิดขึ้นมาได้อีก เมื่อพิจารณาเมล็ดข้าวเสร็จแล้วก็ โอปนยิโก น้อมเอาเมล็ดข้าวนั้นเข้ามาหากาย และน้อมเข้ามาหาใจ แล้วใช้ปัญญาพิจารณาต่อไปว่า ต้นข้าวทั้งหมดเหมือนกันกับร่างกายเรา เมล็ดข้าวนั้นเหมือนกันกับใจเรา เชื้ออยู่ในหัวเมล็ดข้าวนั้นเหมือนกันกับกิเลส ตัณหา อวิชชา การใช้เล็บมือแกะหัวเชื้อที่อยู่ในเมล็ดข้าวทิ้งไป ก็เหมือนกันกับได้ใช้สติปัญญากำจัดกิเลส ตัณหา อวิชชา ออกจากใจได้แล้ว ถ้าใจไม่มีเชื้อที่จะพาให้เกิดเป็นภพเป็นชาติอีก ร่างกายนี้จะมีมาจากที่ไหน ฉะนั้น เรื่องของใจและเรื่องกิเลส ตัณหา อวิชชา ที่มีอยู่ในใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องกำจัดให้หมดไปในชาตินี้ให้ได้ เพื่อจะไม่ให้ภพชาติของเรายืดเยื้อในการไปเกิดใหม่อีกต่อไป ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ในช่วงที่หลวงปู่เอาเมล็ดข้าวมาพิจารณาด้วยปัญญานี้เอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นของวิปัสสนาญาณที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ถ้าดูเพียงผิวเผินก็เหมือนกับใช้ความคิดพิจารณาธรรมดา ไม่แตกต่างกันกับความคิดพิจารณาของนักปฏิบัติทั่ว ๆ ไป แต่มีอีกอย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนกัน นั่นคือ กำลังของใจ กำลังของสติ กำลังของปัญญา และกำลังบารมี ที่มาบรรจบกันพอดี เรียกว่า บารมีที่อบรมสะสมมาแล้วในอดีตชาติทั้งหมด และบารมีที่หลวงปู่ได้ภาวนาปฏิบัติ สะสมอินทรีย์ที่แก่กล้ามาในชาตินี้ ตลอดทั้งกำลังความเพียรอื่นใดที่หลวงปู่ได้บำเพ็ญมาแล้วทั้งอดีตและปัจจุบัน เมื่อรวมตัวกันได้แล้วจึงได้เกิดกำลังขึ้น เรียกว่า กำลังของวิปัสสนาญาณ นั่นเอง กำลังของวิปัสสนาญาณนี้จะประหารกิเลส ตัณหา อวิชชา ให้หมดไปจากใจทันที เพราะกำลังของวิปัสสนาญาณนี้ เหนือกว่ากำลังของกิเลสตัณหาทั้งปวง กำลังของวิปัสสนาญาณนี้เอง จึงเป็นจุดเด่นเฉพาะตัวของผู้ที่จะได้บรรลุธรรม
หลังจากนั้น หลวงปู่ก็ได้สรงน้ำ และใช้กระบอกไม้ไผ่ตักเอาน้ำสะพายกลับมากุฏิทันที ในระหว่างที่เดินกลับนี้ หลวงปู่ก็ใช้อิริยาบถเดินจงกรม โดยใช้ปัญญาพิจารณาในสัจธรรมอยู่ตลอด ปัญญานี้จะมีความต่อเนื่องกันจากเมล็ดข้าวดังที่ได้อธิบายมาแล้ว เพื่อเป็นอุบายสอนใจอยู่ตลอดเวลา พิจารณาด้วยปัญญาประกอบเหตุผลให้เป็นไปตามความเป็นจริง ให้ใจได้เห็นทุกข์ โทษ ภัย ในชาติ คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ว่าไม่มีอะไรเป็นของของเราอยู่ตลอดเวลา ปัญญาที่นำอุบายธรรมมาสอนใจนั้นห้าวหาญเด็ดเดี่ยวมาก จะพิจารณาเรื่องใดก็รู้เห็นชัดเจนไปทั้งหมด อุบายปัญญาที่นำมาพิจารณานั้นก็เป็นอุบายเก่า ๆ ที่เคยใช้มาแล้วทั้งหมด แต่ก่อนพิจารณาไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะใจยังไม่ยอมรับความจริงในสิ่งนั้น ๆ แต่เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นที่ใจได้แล้ว ก็จะประหารกิเลสตัณหาอวิชชาที่มีอยู่ในใจให้หมดไป นั่นคือ ใจยอมรับตามความเป็นจริงทั้งหมด จะรู้เห็นในความเกิด แก่ เจ็บ และตาย ว่าเป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นภัย ที่น่ากลัวไปเสียทั้งหมด ชาติคือ ความเกิดในอดีตที่ผ่านมา ก็มีแต่ทุกข์ โทษ ภัย ในชาติปัจจุบันนี้ก็มีแต่ทุกข์ โทษ ภัย เต็มอยู่ในกายในใจทั้งหมด อนาคตที่จะไปเกิดในภพชาติต่อไป ก็จะมีแต่ทุกข์ โทษ ภัย เหมือนในชาติปัจจุบันนี้เอง ใจจึงมีความกลัวในการเกิดเป็นอย่างยิ่ง และเบื่อหน่ายในธาตุขันธ์ที่จะไปเกิดเอาภพชาติอีกต่อไป ในตอนเย็นวันนั้น หลวงปู่เดินจงกรมใช้ปัญญาพิจารณาอยู่ตลอด เมื่อค่ำมืดหลวงปู่ก็ขึ้นไปภาวนาที่กุฏิต่อไป หลวงปู่เล่าว่า การขึ้นไปภาวนาที่กุฏินั้นใช้อุบายในการทำสมาธิ เมื่อใช้สติกำหนดจิตนิดเดียวเท่านั้น ก็ลงสู่ความสงบเต็มที่ หลวงปู่ว่า นับแต่ปฏิบัติภาวนามาหลายปี เพิ่งรู้จักจิตสงบเป็นสมาธิในครั้งนี้เอง แต่ก่อนจิตมีความสงบเหมือนกับสายฟ้าแลบแวบเดียวก็ถอนออกมา แล้วจึงใช้ปัญญาพิจารณาด้วยอุบายธรรมต่าง ๆ ตลอด แต่บัดนี้ จิตมีความสงบหนักแน่นแน่วแน่มาก หลวงปู่จำคำสอนของหลวงปู่มั่นที่สอนไว้ว่า ขาว ถ้าจิตมีความสงบถึงฐานของสมาธิแล้ว อย่าไปบังคับให้ถอนนะ ปล่อยให้อยู่ในความสงบนั้นไปจนจิตได้มีความอิ่มตัวในสมาธินั้น ๆ ได้เวลาแล้วจิตก็จะถอนออกมาเอง เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว ก็ให้ใช้ปัญญาพิจารณาต่อไป ในคืนนั้น หลวงปู่ข่าวได้ปฏิบัติตามโอวาทของหลวงปู่มั่นได้เป็นอย่างดี ในที่สุด หลวงปู่ขาวก็ได้ตัดกระแสวัฏจักรให้ขาดไปจากใจในคืนนั้นเอง ฉะนั้น วิปัสสนาญาณจึงเป็นญาณที่คมกล้า เป็นญาณที่มีกำลัง เป็นญาณที่เกิดขึ้นเพื่อตัดกระแสของกิเลส ตัณหา อวิชชา โดยตรง เมื่อตัดกระแสของอาสวะกิเลสทั้งปวงหมดไปจากใจแล้ว วิปัสสนาญาณก็สลายไป ไม่ได้ตั้งอยู่นาน และไม่มีวิปัสสนาญาณใดเกิดขึ้นมาอีกเป็นรอบสอง เพราะไม่มีกิเลส ตัณหา อวิชชา เหลืออยู่ภายในใจอีกแล้ว หลวงปู่ขาวพูดว่า ในเวลาจวนจะสว่างของคืนนั้น กิเลส ตัณหา อวิชชา ที่เป็นเจ้าครองหัวใจมานาน กับวิปัสสนาญาณที่เกิดมาต่อสู้กันนั้น ถือว่าเป็นมหาสงครามเลยทีเดียว กิเลส ตัณหา อวิชชา ก็มีความเหนียวแน่นไม่ยอมหลุดออกไปจากใจ และเกาะยึดติดที่ใจเอาไว้ไม่ยอมปล่อยวาง แต่ก็ทนต่อกำลังของวิปัสสนาญาณไม่ไหว วิปัสสนาญาณจึงได้ฆ่ากิเลสให้ตายคายกิเลสออก สำรอกให้กิเลสหลุด จิตก็เข้าถึงวิมุตินิพพานในคืนนั้นแล เป็นอันว่าสงครามระหว่างกิเลสตัณหากับสติปัญญาที่ห้ำหั่นกันมาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ก็ได้สิ้นสุดลงในเวลาจวนสว่างของคืนนั้นเอง หลังจากที่สนทนากับหลวงปู่จนได้เวลาอันสมควร ก็ต้องลาหลวงปู่กลับไปกุฏิ หลวงปู่ได้สั่งว่า คืนต่อไปมาคุยธรรมะกันอีกนะ คุยกันยังไม่จบ นับแต่เฮารู้ธรรมมานี่ก็หลายปี ยังไม่เคยสนทนาธรรมกับใครยาวถึงขนาดนี้ เพราะไม่รู้ว่าจะพูดให้ใครฟัง เพราะไม่รู้ภาษากัน หลวงปู่พูดว่า ในครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เคยได้พูดเรื่องธรรมกับอาจารย์มหาบัว แต่ก็ไม่ได้พูดกันนานเพราะไปในงานกิจนิมนต์ด้วยกัน จากนั้นมาก็เพิ่งมีท่านนี่แหละ พาให้ผมได้พูดธรรมะอีก
ในคืนต่อมา เมื่อได้เวลาปลอดพระเณรแล้ว ก็ขึ้นไปที่กุฏิหาหลวงปู่เพื่อสนทนาธรรมกัน
ต่อไป ในคืนนี้ หลวงปู่ได้ปรารภเรื่อง อัตตาและอนัตตา หลวงปู่พูดว่า เรื่องอนัตตา ที่จะรู้เห็นได้ชัดนั้น ก็เมื่อจิตได้ลงสู่มัคคสมังคีได้เต็มที่แล้ว เพราะมีความดับในตัวอัตตาทั้งหมด จึงไม่มีอะไรที่จะไปยึดติดต่อกันและกัน รูปไม่ใช่เรา เราไม่ใช่รูป รูปไม่มีในเรา เราไม่มีในรูป เวทนาไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่เวทนา เวทนาไม่มีในเรา เราก็ไม่มีในเวทนา สัญญาไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สัญญา สัญญาไม่มีในเรา เราก็ไม่มีในสัญญา สังขารไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สังขาร สังขารไม่มีในเรา เราไม่มีในสังขาร วิญญาณไม่ใช่เรา เราไม่ใช่วิญญาณ วิญญาณไม่มีในเรา เราไม่มีในวิญญาณ กาย เวทนา จิต ธรรม ทุกอย่างก็ไม่เป็นสัตว์เป็นบุคคลตัวตนเราเขา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็เป็นขันธ์ล้วน ๆ ไม่มีอัตตา คือ กิเลสตัณหาแฝงอยู่ในขันธ์ ๕ นี้เลย จึงเป็นความว่างจากอัตตาไปทั้งหมด ไม่มีความหมายและไม่มีสาระอะไรเลย เหมือนกับเลขศูนย์ ถึงจะมาเรียงกันอยู่เป็นจำนวนมากก็ไม่มีความหมายอะไร แต่ถ้าหากมีเลข ๑ - ๒ - ๓ … นำหน้าเอาไว้ ศูนย์ทั้งหมดนั้นก็จะมีความหมายขึ้นมาทันที
หลวงปู่ได้เปรียบเทียบว่า มีเก้งตัวหนึ่งเข้าไปอยู่ในป่าละเมาะแห่งหนึ่ง มีคนหลายพันคน ต่างก็เห็นเก้งตัวนั้นเข้าไปในป่าด้วยตาตัวเองทั้งหมด จากนั้น คนหลายพันคนนั้น ก็โอบล้อมป่าละเมาะนั้นไว้ แล้วเข้าแถวเรียงหน้ากระดานเข้าไปเพื่อจะจับเอาเก้งตัวนั้นให้ได้ ต่างพากันค้นหาแทบจะเปิดดูใบไม้ใบหญ้าทั้งหมด แต่ก็ไม่พบเห็นเก้งตัวนั้น จึงพากันถากถางเอาต้นไม่ใบหญ้าออกหมด ให้พื้นดินเป็นที่เตียนโล่ง และคนหลายพันคนเข้าไปยืนเต็มอยู่ในที่นั้นทั้งหมด ไม่มีที่ว่างแม้แต่กระเบียดมือเดียว แต่ก็ยังไม่เห็นเก้งตัวนั้นเลย นี้ฉันใด ที่เข้าใจว่า ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตนมาแล้วก็ตาม เมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นและได้ทำลายตัวความเห็นที่เป็นอัตตาสิ้นไปแล้ว จึงเป็นอนัตตา คือ ความสูญเปล่าจากสัตว์และบุคคลไปทันที ไม่มีสมมุติในอัตตาใดที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อไป ข้าพเจ้าได้ถามหลวงปู่ว่า ขอโอกาสหลวงปู่ หลวงปู่ค้นหาอีเก้งอยู่ที่ไหน เดือนอะไร หลวงปู่บอกว่า อยู่ที่โหล่งขอด อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. นั้น สัญญาอนิจจาเอาไปกินหมด ส่วนเวลาก็จวนจะสว่าง รู้กันในอิริยาบถนั่ง
นั่นเอง หลังจากที่รู้แล้วเกิดความคิดถึงพระพุทธเจ้า ความคิดถึงท่านครูบาอาจารย์มั่นอย่างมากทีเดียว ทั้งนี้เพราะท่านมีบุญคุณต่อสานุศิษย์ทุกองค์ ให้อุบายธรรมปฏิบัติอย่างทั่วถึงกันหมด เมื่อท่านเหล่านั้นภาวนาปฏิบัติได้ผลเป็นที่สุดแล้ว ก็นึกถึงบุญคุณของท่านที่ให้ธรรมะไว้แก่พวกเราทั้งหลาย เฉพาะความคิดถึงพระพุทธเจ้านั้น ถึงพระองค์ได้ปรินิพพานไปแล้ว แต่แนวทางปฏิบัติที่พระองค์ได้ทรงวางไว้ให้พวกเราทั้งหลาย ได้ปฏิบัติตามจนถึงที่สุดแห่งทุกข์ในชาตินี้ได้ ก็เพราะพระมหากรุณาธิคุณ พระ
ปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้านั่นเอง
หลวงปู่ได้ย้อนถามข้าพเจ้าบ้างว่า เมื่อรู้ธรรมขึ้นมาแล้ว มีการเปรียบเทียบกับอะไร ตอบว่า ขอโอกาสหลวงปู่ เมื่อรู้ธรรมแล้ว ในขณะนั้น เหมือนกันกับเอาถ่านไฟที่ลุกแดงก้อนใหญ่ จุ่มลงในน้ำให้ท่วม แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้นานแล้วเอาขึ้นมา ไฟนั้นก็จะดับสนิทไปทั้งหมดครับผม หลวงปู่ยิ้ม ๆ แล้วพูดว่า มีการเปรียบเทียบเหมือนกันกับเฮานี้ ถามหลวงปู่ต่อว่า ในเมื่อหลวงปู่รู้ธรรมแล้ว คิดอยากจะสอนธรรมะให้ใครบ้างไหม หลวงปู่พูดว่า ไม่คิดอยากสอนธรรมะให้ใคร ๆ เลย แต่เป็นในลักษณะนี้อยู่ประมาณ ๕ นาทีเท่านั้น เรื่องที่ไม่อยากสอนใคร ๆ นั้น มันเป็นเองโดยไม่ได้ตั้งใจไว้ ส่วนกำลังใจในวันต่อมารู้สึกว่ามีกำลังมาก ถ้ามีกำลังกายประกอบกันได้ก็จะทำอะไรได้ทุกอย่าง หลวงปู่ถามว่า ท่านมีกำลังใจไหม ตอบว่า ขอโอกาส มีมากจริง ๆ เหมือนกับว่าจะแบกหามต้นไม่ใหญ่ได้ทั้งต้นทีเดียว เพราะความรู้ที่บริสุทธิ์นี้มีความละเอียดลึกซึ้งมาก ส่วนธรรมะที่อยู่ในตำรานั้นเหมือนกับว่าหยาบไป เพราะปริยัติทั้งหมดนั้นเป็นสมมุติบัญญัติ ปริยัติเหมือนกันกับน้ำกะทิมะพร้าวที่ยังไม่ได้ต้มเคี่ยว ส่วนความบริสุทธิ์นั้นเหมือนกันกับน้ำมันมะพร้าวที่ต้มเคี่ยวออกมาแล้ว ความรู้ในปริยัติยังอยู่ในสมมุติ เป็นตำราที่ศึกษาแนวทางหรือกำลังเดินทาง ส่วนความรู้ที่บริสุทธิ์นั้น เหมือนกันกับไปถึงที่สุดของจุดหมายปลายทางได้แล้ว การสนทนาธรรมกับหลวงปู่นั้น หลังจากที่เล่าผลของการปฏิบัติถวายหลวงปู่แล้ว หลวงปู่ก็พูดว่า เมื่อจิตมีความบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือไม่อยากสอนธรรมะให้กับใคร ๆ ความคิดถึงพระพุทธเจ้า และมีกำลังใจเกิดขึ้นนั้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นไม่นาน ประมาณ ๗ วัน ต่อจากนั้นก็ค่อย ๆ เลือน ๆ ไปวันละนิด ๆ อีกประมาณ ๗ วันก็กลับเป็นปกติ ส่วนความรู้อันบริสุทธิ์นั้นไม่ได้เสื่อมไปด้วย ความบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นแล้วในวันนั้น ก็ยังมีความบริสุทธิ์อยู่เหมือนเดิม ไม่มีความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด จึงเป็น ญาณทัสสนวิสุทธิ อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร และอยู่ในอิริยาบถใด ความบริสุทธิ์ก็เป็นความบริสุทธิ์ ไม่ติดอยู่กับสมมุติใด ๆ ในโลก ทุกองค์เมื่อทำกิจภายในส่วนตัวเสร็จสิ้นไปแล้ว จึงเป็น กตํ กรณียํ ไม่มีความคิดหาอุบายธรรมใด ๆ มาปฏิบัติให้หลุดพ้นไปอีกเลย
ทุกองค์ต้องเป็นอย่างนี้ เว้นไว้แต่จะไม่พูดให้ใครฟังเท่านั้น ถึงจะพูดให้ใครฟัง ความบริสุทธิ์นั้น
ก็ไม่มีความเสื่อมไปแต่อย่างใด ข้อสำคัญคืออย่าพูดให้ผู้ที่ไม่รู้ภาษาฟังก็แล้วกัน
เมื่อเล่าผลของการปฏิบัติถวายให้หลวงปู่ฟังแล้ว จากนั้น ก็สนทนากันแบบย้อนหลังกันเล่น ๆ เท่านั้น หลวงปู่ถามว่า ในสถานที่ที่ได้รู้ธรรมนั้น ได้พิจารณาดูไหมว่าในที่นั้นเราเคย
เกี่ยวข้องอะไรบ้าง จึงขอโอกาสหลวงปู่ว่า ในที่นั้น กระผมเคยได้เป็นหมามาตายอยู่ที่นั้นมาแล้ว หลวงปู่ก็หัวเราะ ข้าพเจ้าก็ได้ถามหลวงปู่คืนไปว่า ขอโอกาส ที่หลวงปู่ได้รู้ธรรมที่โหล่งขอดนั้น มีความเกี่ยวข้องในที่แห่งนั้นอย่างไรบ้าง หลวงปู่บอกว่า แต่ก่อนเฮาเคยเป็นอีเก้งอาศัยอยู่ในที่นั้นมาแล้ว และได้แก่เฒ่าตายอยู่ในที่แห่งนั้น หลวงปู่ถามอย่างนี้เพื่อหยั่งเชิงดูว่า จะรู้เรื่องความเป็นมาของตัวเองหรือไม่ เมื่อตอบหลวงปู่ไปได้ หลวงปู่ก็เข้าใจ แต่หลวงปู่ก็ได้ถามในเรื่องใหม่อีก ถามว่า ท่านสร้างบารมีอะไรเป็นหลักสำคัญ และสร้างมาตั้งแต่เมื่อไร ในยุคไหน เมื่อหลวงปู่ได้ถามเรื่องต่าง ๆ มาอย่างลึก ๆ เช่นนี้ ข้าพเจ้าก็เล่าถวายให้หลวงปู่ฟังตามที่รู้ว่า ขอโอกาสหลวงปู่ ในสมัยก่อนที่ล่วงเลยมานาน คือในสมัยนั้น กระผมได้สร้างนิสัยส่วนตัวในเรื่องสัจจะ จะทำอะไรต้องทำจริง จะพูดอะไรก็ฝึกตัวให้เป็นคนที่พูดจริง มีสัจจะในตัวเองและมีสัจจะกับคนอื่น ๆ แม้การงานที่ทำก็มีสัจจะในการทำงาน และมีความซื่อสัตย์ต่อคน
ทั่วไป จึงเป็นสัจบารมีเป็นอันดับหนึ่ง ต่อมาก็มีปัญญาบารมี เมตตาบารมี ศีลบารมี ตามมาเป็นลำดับ เรื่องที่ว่าได้สร้างบารมีมาตั้งแต่เมื่อไรนั้น ต้องได้พูดกันยาว กระผมขอลำดับเรื่องเท่าที่รู้มาให้หลวงปู่ฟังว่า
ในยุคหนึ่ง กระผมได้เกิดร่วมในปลายพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้า พุทธสิขี ในสมัยนั้น กระผมเป็น อารามิกวัตร (ผู้อุปฐากพระเณรและดูแลเสนาสนะภายในวัด) ได้ปรนนิบัติพระอรหันต์เป็นจำนวนมาก ปรนนิบัติด้วยความเคารพเชื่อถือในทุก ๆ รูป ตลอดทั้งสามเณรทุกรูปด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ในวัดนั้นมีพระเณรรวมกันไม่ต่ำกว่าห้าร้อยรูป กิจวัตรประจำคือต้มน้ำร้อนให้พระเณรฉันและต้มน้ำร้อนให้พระมหาเถระสรง นำเอาน้ำร้อนเครื่องฉันต่าง ๆ ไปถวายพระมหาเถระตามกุฏิ อุปฐากพระเณรที่เจ็บป่วยภายในวัดด้วยความเต็มใจ ดูแลความสะอาดที่กุฏิพระเถระ ทำความสะอาดศาลาและภายในวัดด้วยความตั้งใจ ฝึกตัวเองให้ตรงต่อเวลาอยู่ตลอดเวลา เวลาไหนควรทำอะไร ความตั้งใจเอาไว้ว่าจะทำอะไรต้องตั้งใจทำให้สำเร็จ และตั้งใจไว้ว่าจะช่วยแบ่งเบาภาระของพระเณรทุกองค์ ทำตัวเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ไม่ให้พระเณรภายในวัดมีความหนักใจ แสดงความเคารพเชื่อฟังต่อพระเณรทุกรูป ฝึกตนให้เป็นผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตัวต่อพระเณรทั้งหมด ในครั้งนั้นรู้สึกว่ามีความเหนื่อยมากแต่ก็อดทน ตั้งสัจจะต่อตัวเองว่า จะปรนนิบัติพระเณรอย่างนี้ไปตลอด ถึงชีวิตจะสิ้นไปเพราะความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ก็ขอบูชาพระพุทธเจ้าพุทธสิขี พร้อมด้วยพระธรรม และพระอริยสงฆ์ ด้วยสัจวาจาที่ได้อธิษฐานนี้ ขอจงเป็นนิสัย เป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าได้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมของพระพุทธเจ้าองค์ข้างหน้าโน้นเทอญ ส่วนปัญญาบารมีนั้น ก็ฝึกตัวให้เป็นผู้มีความรู้รอบในเหตุผลอยู่เสมอ ในสมัยนั้นก็มีความอยาก
หลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพาน เป็นอันว่าได้สร้างบารมีเพื่อมรรคผลนิพพานนับแต่กาลครั้งนั้นเป็น
ต้นมา หลวงปู่พูดขึ้นมาว่า เรื่องการสร้างบารมีเพื่อมรรคผลนิพพานนั้น ต้องมีสัจจะอธิษฐานภายในใจด้วยว่า จะสร้างบารมีเพื่อมรรคผลนิพพานเป็นจุดสำคัญ ไม่ใช่ทำบุญกุศลแล้วปรารถนาหวังเอาลาภยศสรรเสริญ และหาความสุขในกามคุณ
เมื่อเล่าเรื่องในการสร้างบารมีถวายหลวงปู่ฟังแล้ว ก็ขอโอกาสถามหลวงปู่ดูบ้างว่า เคยสร้างบารมีมาอย่างไร มีบารมีข้อไหนที่หลวงปู่มีความหนักแน่นเป็นพิเศษ หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า ในสมัยนั้น เฮาก็ได้เกิดร่วมในศาสนาของพระพุทธเจ้าพุทธสิขีเหมือนกัน เฮาเป็นหัวหน้าพ่อค้าเกวียน มีลูกน้องเป็นจำนวนมาก การค้าขายในครั้งนั้น จะมีสินค้าหลักคือข้าวสาลี และมีสินค้าอย่างอื่นเสริมไปบ้าง ต่อมาได้พาลูกน้องเตรียมสิ่งของใส่เกวียนไปขายต่างเมือง และซื้อของต่างเมืองกลับมาขายในเมืองตัวเอง ในช่วงนั้นเป็นปลายฤดูฝน ทางเดินจึงไม่แห้งทั้งหมด พอดีเกวียนเฮาติดหล่ม วัวก็ลากเกวียนขึ้นจากหล่มไม่ได้ จึงใช้ไม้เรียวตีวัวอย่างแรง เพื่อบังคับให้วัวลากเกวียนขึ้นจากหล่มให้ได้ วัวก็ดันอย่างเต็มแรง แต่ก็ไม่สามารถฉุดเกวียนขึ้นจากหล่มได้ ในช่วงนั้น ใช้ไม้เรียวตีวัวอย่างรุนแรง และตีอย่างใช้โทสะมาก วัวก็ร้องขึ้นด้วยความเจ็บปวด แต่ก็ไม่ฟังเสียง มีแต่เอาไม้เรียวตีวัวอย่างเดียว และเรียกลูกน้องมาช่วยผลักดันเกวียน จนในที่สุดก็สามารถลากเกวียนขึ้นจากหล่มได้ หลังจากนั้น จึงพาลูกน้องจอดเกวียนพักในที่แห่งหนึ่ง เมื่อลงมาปลดวัวออกจากเกวียน ได้มองเห็นน้ำตาวัวทั้งสองตัวไหลลงอาบแก้ม จึงเกิดความคิดเมตตาสงสารวัวขึ้นมาทันที จึงจูงวัวไปกินน้ำกินหญ้าและได้มองดูน้ำตาวัวอยู่ตลอดเวลา เกิดความคิดในใจว่า วัวมันก็ลากเกวียนหนัก ทั้งเกวียนก็ติดหล่ม กำลังจึงไม่พอที่จะลากเกวียนขึ้นจากหล่มได้ ถึงจะบังคับจะตีก็จะตายอยู่กับหล่มนั้นเอง จึงคิดน้อมเข้ามาหาตัวเองว่า ถ้าเราเป็นวัวลากเกวียนหนักอย่างนี้และเกวียนยังติดหล่ม ทั้งเจ้าของเกวียนก็ตีอย่างรุนแรง เราจะมีความทุกข์มากขนาดไหนหนอ
จากนั้นมา ก็คิดเมตตาสงสารวัวเป็นอย่างมากทีเดียว เมื่อทำการค้าขายเสร็จแล้ว ก็พากันกลับเมืองตัวเอง ตลอดทางก็คิดอยู่ในใจเสมอว่า เรานี้เอาเปรียบวัวเกินไป ทั้งลากเกวียนให้แล้ว เรายังมานั่งทับเกวียนให้หนักคอวัวอีก เมื่อกลับถึงบ้านเมืองของตัวเองแล้วก็นึกพิจารณาว่า ไปค้าขายแต่ละครั้งก็จำเป็นต้องอาศัยกำลังวัวทั้งหมด เมื่อเราคิดเมตตาสงสารต่อวัว เราก็ต้องเลิกจากการค้าขาย จากนั้น ก็หยุดในการค้าขายทั้งหมด และได้ตั้งใจเอาไว้ว่าจะเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญกุศล หลังจากเข้าวัดและได้ฟังธรรมจากพระอรหันต์ ท่านก็พรรณนาเรื่องความเมตตา ความสงสารต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานให้ฟังว่า มนุษย์เราต้องมีธรรมประจำใจคือ ความเมตตาสงสารต่อกัน ทุกคนทุกตัวสัตว์ต้องการความเมตตาสงสารด้วยกันทั้งนั้น เราเป็นมนุษย์ที่
รู้จักผิดถูกชั่วดีกว่าสัตว์ดิรัจฉาน ดังนั้น เราต้องให้อภัยแก่สัตว์ดิรัจฉานทุกตัวไป ไม่ว่าสัตว์ประเภทไหนในโลกนี้ ในครั้งนั้น หลวงปู่ได้เจริญเมตตาให้เกิดขึ้นที่ใจ และฝึกใจให้มีความเมตตาอยู่เป็นนิจจนตลอดวันตาย เฮาจึงได้สร้างเมตตาบารมีมาตั้งแต่ครั้งสมัยพระพุทธเจ้าชื่อว่าพุทธสิขีในครั้งนั้นเหมือนกันนั้นแล
หลวงปู่ถามข้าพเจ้าอีกว่า ในครั้งพระพุทธเจ้าของเรายังมีชีวิตอยู่ ท่านได้ร่วมศาสนาของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ตอบว่า ขอโอกาสหลวงปู่ ถ้าจะให้กระผมเล่าในเรื่องนี้ก็คงยาวพอสมควร หลวงปู่ว่า ยาวก็ไม่เป็นไร เล่าไปเถอะ จากนั้น ก็ปรารภเรื่องหลวงปู่มั่นว่า กระผมภาวนาปฏิบัติมาในชาติปัจจุบันนี้ กระผมไม่เคยเห็นหลวงปู่มั่นมาก่อนเลย เพียงรู้ชื่อตามครูอาจารย์และหนังสือที่ครูอาจารย์ได้เขียนไว้เท่านั้น ต่อมาวันหนึ่ง กระผมพิจารณาปัญหาธรรมไม่แยบคาย พิจารณาเท่าไรก็เหมือนเดิม มีความลังเลสงสัยอยู่ในใจ จน ๒ วันผ่านไป ก็ยังตีความหมายในปัญหาธรรมข้อนั้น ๆ ไม่แยบคาย ก็เลยปล่อยปัญหานั้นไว้ก่อนแล้วหันมาทำสมาธิ นึกคำบริกรรม เมื่อจิตมีความสงบแล้ว หลวงปู่มั่นก็ปรากฏให้เห็น พร้อมทั้งชี้แนะการแก้ปัญหาให้ฟัง แล้วก็หายไป จิตก็ถอนออกจากสมาธิพอดี จากนั้น ก็ใช้ปัญญาพิจารณาตามอุบายของหลวงปู่มั่นที่ชี้แนะเอาไว้ ความเข้าใจในปัญหานั้น เกิดความแยบคายหายสงสัยทันที การที่หลวงปู่มั่นได้มาปรากฏในนิมิตนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก อย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้งขึ้นไป ถ้ามีปัญหาอะไรพิจารณาไม่แยบคาย หลวงปู่มั่นจะมาปรากฏแนะอุบายในนิมิตนั้นทันที ในบางครั้ง หลวงปู่มั่นได้มาปรากฏในนิมิตติดต่อกันถึง ๔ คืนซ้อนก็มี แต่ละครั้งก็มีอุบายธรรมมาให้กำลังใจและได้ครุ่นคิดอยู่เสมอ เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว ก็ใช้ปัญญาพิจารณาในปัญหานั้น ๆ จนเกิดความแยบคายหายสงสัยปัญหาธรรมนั้น ๆ อย่างชัดเจน จึงคิดภายในใจว่า ในชาตินี้เราไม่เคยเห็นหลวงปู่มั่นเลย ทำไมจึงมีนิมิตเห็นหลวงปู่มั่นเป็นประจำ หรือจะมีอะไรที่เกี่ยวข้องกันกับท่านในอดีตชาติที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง
ในคืนหนึ่ง เกิดนิมิตเห็นหลวงปู่มั่นอีก นิมิตในคืนนี้ยาวพอสมควร เพราะเกี่ยวกันกับสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนมชีพอยู่ มีนิมิตปรากฏว่า มีสำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง มีหลวงปู่มั่นเป็นประธานสงฆ์ กระผมเองเป็นศิษย์ผู้ใหญ่รองจากหลวงปู่มั่นลงมา ในสำนักสงฆ์แห่งนี้มีพระอยู่ด้วยกันประมาณ ๑๐๐ องค์ การปกครองของหลวงปู่มั่นนั้นเด็ดขาดมาก พระองค์ไหนทำผิดพระธรรมวินัยแล้ว ท่านจะดุด่าว่ากล่าวตักเตือนอย่างเผ็ดร้อนขึ้นมาทันที จึงทำให้พระภายในวัดทุกองค์มีความกลัวต่อท่านเป็นอย่างมาก ทั้งความเคารพก็มีความเคารพอย่างฝังใจ กิจวัตรน้อยใหญ่ไม่มีความย่อหย่อนหละหลวม ทั้งเดินจงกรม นั่งสมาธิ ท่านก็ทำเป็นตัวอย่างให้ดูทุกรูปแบบ ธรรมที่อบรมพระทั้งหมดก็เฉียบขาดเข้มข้นจริงจัง ในครั้งนั้น หลวงปู่มั่นเกิดเป็นสัญญาวิปลาสโดยไม่มีพระองค์ใดกล้าเตือนท่านได้ จะเกิดขึ้นเนื่องจากอุบายภาวนาปฏิบัติอย่างไรก็ไม่ทราบ ในเช้าวันหนึ่ง หลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว ท่านก็นั่งซึมอยู่องค์เดียวโดยไม่พูดกับพระองค์ใดเลย จึงผิดปกติกว่าทุกวันที่ผ่านมา จากนั้น ก็หันหน้ามาหาคณะสงฆ์แล้วพูดขึ้นว่า ผมจะลาสิกขาจากหมู่ท่านไปแล้วนะ กระผมก็ขอร้องด้วยวิธีต่าง ๆ ท่านก็ไม่ยอมฟัง ว่าแล้วก็หันหน้าไป กราบลงที่นั่ง ๓ ครั้ง แล้วลุกไปหยิบเอาผ้าขาวมานุ่งแก้ผ้าเหลืองทิ้งออกไป กระผมเข้าไปขอร้อง ท่านก็ดุด่า พอนุ่งผ้าขาวเสร็จแล้ว ท่านก็ลงศาลาไป กระผมก็ได้มาปรึกษาคณะสงฆ์ว่าพวกเราจะทำกัน
อย่างไร คณะสงฆ์ก็มอบให้กระผมเป็นผู้ออกความคิดและตัดสินใจ กระผมก็ได้ประกาศแก่คณะสงฆ์ว่า ทุกองค์อย่าลงหนีจากศาลานี้ ให้ทุกองค์นั่งภาวนาส่งกระแสจิตเมตตาไปหาท่านอาจารย์ของเรา จากนั้น พระสงฆ์ก็เข้าที่ภาวนา กระผมได้จัดพระ ๓ องค์ และโยมอีก ๓ คน ให้คอย
ติดตามท่านไปห่าง ๆ ท่านไปที่ไหนก็ไปด้วย แต่อย่าให้ท่านรู้ตัวว่า เราติดตามท่านไป และอย่าปล่อยทิ้งท่านเป็นอันขาด จากนั้น พระที่ถูกแต่งตั้งกับโยมทั้ง ๓ คนก็ออกติดตามท่านทันที
กระผมได้ไหว้พระตั้งสัจจะอธิษฐาน ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรม คุณของพระอริยสงฆ์ และอธิษฐานนึกถึงบารมีที่ได้เคยบำเพ็ญมาแล้ว ขอจงช่วยดลบันดาลให้ท่านอาจารย์ได้กลับคืนมาในที่นี้ด้วยเทอญ จากนั้น ก็กำหนดจิตภาวนา ตั้งสัจจะอธิษฐานว่า ถ้าหากท่านอาจารย์ไม่กลับคืนมาในที่นี้ กระผมก็จะไม่ลุกออกจากที่นี่เป็นเด็ดขาด ถึงชีวิตจะหมดไปก็ยอม เมื่อเวลาประมาณ ๔ โมงเย็น หลวงปู่มั่นก็ได้เดินเข้ามาในวัดเอง เมื่อท่านเดินเข้ามาในวัด กระผมก็พาคณะสงฆ์ทั้งหมดออกไปต้อนรับ พากันห้อมล้อมท่านขึ้นบนศาลา นิมนต์ท่านนั่งบนอาสนะที่จัดไว้แล้ว แต่ท่านก็ไม่ยอมนั่งบนอาสนะนั้นเลย กระผมพร้อมด้วยคณะสงฆ์จะพากันกราบท่าน ท่านก็ห้ามเอาไว้ไม่ให้กราบท่าน ท่านพูดขึ้นมาว่า นี่ผมเป็นอะไร ผมนุ่งขาวอย่างนี้ ไม่เป็นพระใช่ไหม กระผมได้กราบเรียนท่านไปว่า ขอโอกาสท่านพ่อแม่ครูอาจารย์ การทำอย่างนี้ไม่ได้ขาดจากความเป็นพระเลย เพียงลืมตัวไปชั่วขณะเดียวเท่านั้น จากนั้น กระผมจึงได้เผดียงต่อคณะสงฆ์ทั้งหมดว่า ขอคณะสงฆ์ทั้งหลายจงรับทราบ ในขณะนี้ พ่อแม่ครูอาจารย์ของพวกเราทั้งหลายได้กลับคืนมาหาหมู่คณะสงฆ์แล้ว ความสมบูรณ์ในเพศที่เป็นพระยังไม่ขาดหายไป ถ้าคณะสงฆ์มีความเห็นว่าครูอาจารย์ยังเป็นพระที่สมบูรณ์อยู่ ขอทุกท่านได้อนุโมทนาพร้อมกันด้วยเทอญ จากนั้น พระสงฆ์ทั้งหมดก็อนุโมทนาสาธุพร้อมกัน แล้วก็ยกเครื่องบริขารอันมี สบง จีวร สังฆาฏิ ถวายท่าน เมื่อท่านรับไปนุ่งห่มเรียบร้อยแล้ว ก็นิมนต์ท่านขึ้นนั่งบนอาสนะ กระผมและหมู่คณะสงฆ์ก็พากันกราบท่าน เสร็จแล้วก็พากันนั่งอยู่ด้วยความสงบ หลวงปู่มั่นได้พูดขึ้นว่า คณะสงฆ์
ทั้งหลาย นับจากนี้ไป ผมขอยกการปกครองของผมทั้งหมดนี้ ให้ท่านทูลเป็นตัวแทนผม ทุกองค์ต้องพากันอยู่ในโอวาทของท่านทูลทั้งหมด ผมเองถ้าไม่ได้ท่านทูลเป็นลูกศิษย์แล้ว ก็ไม่ทราบว่าผมจะเป็นไปในรูปแบบใด บัดนี้ ให้ผมได้อยู่เป็นปกติส่วนตัวเถิด ขอทุกองค์จงอยู่ในโอวาทของท่านทูลต่อไป ผมเองจะอยู่ในฐานะเป็นประธานสงฆ์ให้เท่านั้น
จากนั้นมา หลวงปู่ก็ไม่เคยดุด่าพระองค์ไหนอีกเลย มีแต่ตั้งใจภาวนาปฏิบัติอยู่เป็นส่วนตัวเท่านั้น ต่อมา กระผมต้องเป็นผู้รับผิดชอบในหมู่คณะสงฆ์ทั้งหมด และหลวงปู่มั่นมีความสบายใจ มีความเบาใจในฐานะที่เป็นประธานสงฆ์ กระผมได้ปฏิบัติต่อเนื่องมาตราบเท่าที่ถึงอายุขัยเป็นไปตามกาลเวลา ต่อมาในชาติปัจจุบันนี้ จึงนิมิตเห็นหลวงปู่มั่นมาให้ความเมตตา มาให้อุบายตักเตือนแนวทางปฏิบัติด้วยวิธีต่าง ๆ หลวงปู่มั่นมาให้กำลังใจในนิมิตนับเป็นร้อยครั้ง
ขึ้นไป ที่จริงหลวงปู่มั่นก็ได้นิพพานไปแล้ว ในชาตินี้กระผมก็ไม่เคยเห็นท่านเลย ที่มาปรากฏในนิมิตนั้นเป็นเรื่องคุณธรรมที่มีความเกี่ยวข้องกันมาในอดีตชาติเท่านั้น และไม่เพียงแต่หลวงปู่มั่นเท่านั้นที่มาให้อุบายธรรม ยังมีองค์อื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกันได้มาให้อุบายธรรม แต่ก็จำไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องในทางธรรมกันมาแต่เมื่อไร เพียงรู้ได้ว่าท่านนั้นเคยเป็นครูอาจารย์มาก่อน ถึงท่านได้เข้าสู่พระนิพพานไปนานแล้วก็ตาม แต่คุณธรรมที่เคยมีความเกี่ยวข้องกันยังมีอยู่ ถึงครูอาจารย์องค์ทีท่านยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ ก็ยังมีนิมิตมาปรากฏให้อุบายธรรมได้เช่นกัน ในสมัยนั้น หลวงปู่มั่นเป็นศิษย์ของพระสารีบุตร ส่วนกระผมก็เป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่นนั่นเอง ขณะที่เล่าเรื่องนี้อยู่ หลวงปู่ตั้งใจฟังเงียบทีเดียว เมื่อเล่าจบลง หลวงปู่หัวเราะแล้วพูดว่า โอ้โฮ..เล่าได้ละเอียดมาก คงจะฝังอยู่ในส่วนลึกของหัวใจมานานแล้วซินะ ไม่เช่นนั้นคงไม่เป็นเรื่องต่อเนื่องยาวมาถึงขนาดนี้
จากนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ถามหลวงปู่ว่า ในอดีตที่ผ่านมาในครั้งพุทธกาลนั้น หลวงปู่ได้สร้างบารมีมาอย่างไร กระผมขอนิมนต์หลวงปู่เล่าความเป็นมาในอดีตให้กระผมฟังด้วยเถิดครับ หลวงปู่ก็ยิ้ม ๆ แล้วเริ่มเล่าความเป็นมาในสมัยครั้งนั้น หลวงปู่บอกว่าในสมัยนั้น เฮาเป็นพระนวกะเพิ่งบวชใหม่ ยังไม่รู้จักความผิดถูกในธรรมวินัยดี ตลอดข้อวัตรปฏิบัติก็ยังไม่เข้าใจพอ แต่มีความหวังดีในการบวช มีความยินดีในการปฏิบัติ และอยากพ้นไปจากทุกข์ทั้งหลาย ในครั้งนั้น มีพระบวชใหม่ด้วยกันประมาณ ๕๐๐ องค์ ทุกองค์ต่างก็ยังไม่รู้ในพระธรรมวินัยดี แล้วก็มีพระองค์ที่ท่านบวชก่อนมาชักชวนให้ไปเป็นหมู่คณะ โดยพูดว่า มีพระอาจารย์องค์หนึ่งท่านได้เป็นพระอรหันต์ มีความรู้เฉลียวฉลาดเฉียบแหลมมาก แนวทางปฏิบัติตรงต่อมรรคผลนิพพานทีเดียว มีข้อวัตรปฏิบัติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย จึงทำให้ผู้ปฏิบัติถึงพระนิพพานได้เร็วขึ้น เฮาเองก็มีความเชื่อ เพราะอยากเป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว พระผู้บวชเก่าองค์นั้นก็ได้พูดในลักษณะเดียวกันนี้ให้พระบวชใหม่ฟังอีกหลายองค์ ซึ่งทุกองค์ก็เชื่อแล้วยอมมอบตัวเป็นลูกศิษย์เพิ่มขึ้นมาอีก และพร้อมใจยินยอมติดตามไปด้วย เมื่อถึงวันเวลาแล้ว ก็พากันออกเดินทางพร้อมกัน ทั้งหมดมีพระใหม่ประมาณ ๕๐๐ องค์ เมื่อไปถึงสถานที่แห่งหนึ่ง มีพระเถระผู้ใหญ่คอยอยู่ในที่นั้นแล้ว จากนั้น ก็พากันเข้าไปกราบคารวะคอยรับฟังโอวาทต่อไป ขณะนั้น มีประธานสงฆ์ให้โอวาทว่า คณะสงฆ์ทั้งหมดต้องอยู่ในข้อปฏิบัติอันเดียวกัน ๕ ประการ คือ ๑) ไม่ฉันเนื้อสัตว์ทุกชนิดเป็นวัตร ๒) ต้องอยู่ป่าเป็นวัตร ๓) ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ๔) บิณฑบาตเป็นวัตร ๕) อยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร ทั้ง ๕ ข้อนี้ให้พระสงฆ์ทุกองค์ถือเอาเป็นข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อาจารย์ใหญ่ที่เป็นประธานสงฆ์นั้นชื่อว่า พระเทวทัต องค์ที่รองลงมาชื่อว่า พระโกกาลิก และยังมีรองลงไปอีกหลายองค์ จากนั้น ก็พากันปฏิบัติในข้อบัญญัติ ๕ ประการอย่างจริงจังทีเดียว ต่อมาไม่นานนัก ได้เห็นพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตรตามไป แล้วทำความสนิทสนมกับพระเทวทัตเป็นอย่างดี ในคืนหนึ่ง พระเทวทัตให้โอกาสแก่พระสารีบุตรได้แสดงธรรมแก่พระบวชใหม่ทั้งหลาย ในขณะนั้น เฮามีความเลื่อมใสในพระสารีบุตรมาก ท่านแสดงธรรมได้ไพเราะมีเหตุผลพอเชื่อถือได้ จึงคิดเปลี่ยนใจว่าเราจะขอติดตามกับท่านสารีบุตรไปอย่างแน่นอน
ในขณะนั้น พระเทวทัตผู้มีทิฏฐิสูงไม่ยอมฟังธรรมของพระสารีบุตร เอาแต่นอนเฉยไม่
สนใจในการฟังธรรมเลย พระโกกาลิกก็พากันนอนฟังเช่นเดียวกัน อาจจะเป็นเพราะอำนาจฤทธิ์ของพระโมคคัลลาน์ก็เป็นได้ จึงทำให้พระเทวทัตและพระโกกาลิกนอนหลับไปอย่างสนิททีเดียว พระใหม่ทั้งหมดมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลาน์เป็นอย่างมาก เมื่อพระ
สารีบุตรพูดว่า จะพาพระใหม่ไปกราบพระพุทธเจ้าเท่านั้น ทุกองค์ก็เตรียมพร้อมทันที เมื่อพร้อมกันแล้ว พระใหม่ทั้งหมดก็ออกเดินทางตามพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตรไป เฮาก็ได้เป็น
ลูกศิษย์ของพระสารีบุตรองค์หนึ่ง แต่เฮาก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไรเลยในสมัยนั้น แต่มีความศรัทธายินดี เชื่อว่าการบวชนั้นมีอานิสงส์มาก และยินดีในการปฏิบัติ ยอมเสียสละชีวิตอุทิศต่อพระพุทธศาสนาจวบจนวันตาย จึงเป็นอันว่าหลวงปู่ขาวก็เคยเป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตรมาแล้วในอดีตชาติ ในชาติปัจจุบันของหลวงปู่ที่กำลังภาวนาปฏิบัติอยู่ ก็นิมิตเห็นพระ
สารีบุตรมาแสดงธรรมให้ฟังอยู่เสมอ นี่คือความเกี่ยวข้องกันมาในชาติอดีต ถึงท่านจะเข้าถึงพระนิพพานไปแล้วก็ตาม คุณธรรมในความเมตตานั้น ยังมาแสดงตนเป็นภาพในนิมิตเพื่อโปรดผู้ที่ยังตกอยู่กับโลกนั่นเอง ก็เหมือนกับท่านที่ไม่เคยเห็นครูอาจารย์มั่นมาก่อน แต่ทำไมท่านจึงมีนิมิตปรากฏเห็นท่านครูอาจารย์มั่นมาแสดงธรรมให้ฟังเป็นประจำเล่า เฮาก็เหมือนกัน ท่านพระสารีบุตรนิพพานไปนานแล้ว แต่เฮาก็เห็นนิมิตเห็นท่านมาสอนเช่นกัน เรื่องอย่างนี้ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร หรืออาจารย์ทูลแต่งขึ้นเอง เพื่อความแน่ใจ ให้ไปถามท่านอาจารย์บุญเพ็ง วัดถ้ำกองเพล ดูก็แล้วกัน หลวงปู่เคยเปรย ๆ ให้ฟังมาแล้ว แต่ท่านไม่ได้พูดมาก กลัวพระเณรจะไม่เข้าใจ ตัวข้าพเจ้าได้ถามเรื่องนี้กับหลวงปู่โดยตรง หลวงปู่จึงได้เปิดเผยเรื่องนี้ทั้งหมดออกมาอย่างละเอียด และมีข้าพเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่ได้รับฟังในเรื่องนี้ทั้งหมด
หลวงปู่ได้ถามเรื่องนรกว่า ท่านเคยไปตกนรกไหม ก็ตอบว่าเคยได้ไปตกครับผม หลวงปู่ถามว่า ทำกรรมอะไรไว้จึงได้ไปตกนรก จึงได้เล่าเรื่องที่ไปตกนรกให้หลวงปู่ฟังว่า ในครั้งหนึ่ง กระผมมีครอบครัวแล้ว แต่ก็มีน้องเมียอีกคนหนึ่งเป็นสาวสวยงามมาก (ไม่อยากเขียนในเรื่องนี้ ให้นึกเดาเอาเองก็แล้วกัน) แต่ก็ได้เล่าให้หลวงปู่ฟังไป เมื่อตายไปแล้ว กรรมนี้ก็ให้ผล จึงได้ไปตกนรกขุมหนึ่ง เรียกว่า ขุมอัคคีไฟ นรกขุมนี้เป็นไฟไปเสียทั้งหมด เหมือนกันกับอยู่ในอุโมงค์ไฟที่มีแผ่นเหล็กขนาดหนาล้อมรอบและกว้างขวางมาก เมื่อตกเข้าไปในที่นั้นแล้ว ไฟก็ได้พุ่งออกมารอบด้าน กระแสความร้อนล้วนพุ่งเข้ามาหาตัวทั้งหมด ความร้อนนั้นแสนสาหัสจริง ๆ เนื้อหนังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไหม้เกรียมไปหมด เหมือนกันกับเหล็กที่อยู่ในเตาไฟอันแดงกล้า ความทุกข์ทรมานในขณะนั้นก็เหลือที่จะมีอะไรมาเปรียบเทียบได้ เนื้อหนังเส้นเอ็นถูกไฟนรกเผาไหม้ไปหมด จะเหลือเพียงโครงกระดูกเท่านั้น จากนั้น ไฟนรกก็อ่อนลง ๆ เหลือเพียงไออุ่น ๆ จากนั้น เนื้อหนังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นมาอีก แล้วก็ถูกความร้อนของไฟนรกเผาไหม้หมดไปอีก เป็นอยู่อย่างนี้นานไม่รู้ว่ากี่ปี เมื่อกรรมนี้จะหมดไปก็รู้ตัวเองว่า ที่เราได้มาตกนรกขุมไฟนี้ ก็เป็นเพราะเราล่วงเกินศีลข้อกาเมนี้เอง จึงได้ตั้งใจไว้ว่า เมื่อเราได้พ้นจากนรกนี้ไปแล้ว เราจะไม่ล่วงเกิดศีลข้อกาเมนี้อีกเป็นเด็ดขาด เพราะกลัวความร้อนของไฟนรกขุมนี้อย่างเข็ดหลาบทีเดียว ความตั้งใจในครั้งที่ได้ไปตกนรกนั้นจึงกลายเป็นนิสัยประจำใจ และเป็นนิสัยมาจนถึงชาติปัจจุบันนี้ แม้ในชาตินี้ก็ยังมีเรื่องอย่างนี้แฝงเข้ามาอยู่เรื่อย แต่ก็มีความละอายเกิดขึ้นที่ใจเอง ไม่กล้าที่จะทำเหมือนสัตว์ดิรัจฉานทั่วไป
เมื่อเล่าเรื่องนี้จบลง หลวงปู่ก็หัวเราะเอิ้กอ้าก ๆ แล้วพูดว่า นี่เคยไปตกนรกขุมเดียวกันกับเฮา จากนั้นก็ขอนิมนต์ให้หลวงปู่เล่าเรื่องไปตกนรกให้ฟัง หลวงปู่พูดว่า ในครั้งนั้น เฮาก็ได้ไปตกนรกขุมไฟนี้เหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็นกับน้องเมียเหมือนท่านนะ แต่เป็นกันกับหญิงทั่วไปไม่เลือกหน้าทั้งนั้น พูดไปก็หัวเราะไป แล้วเล่าต่อไปว่า เมื่อเฮาตายไป จ่ายมบาลก็จับตัวไปลงนรกขุม
ไฟนี้ ตกลงไปครั้งแรกมีแต่ความมืดทั้งหมด ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนดี จากนั้น ก็เกิดความร้อนขึ้นที่ฝ่าเท้า เหยียบลงไปที่ไหนก็ร้อนที่นั่น ถึงกระโดดหนีไปยืนที่อื่น ความร้อนก็เกิดขึ้นตามมาอีก กระโดดไปกระโดดมาจนหัวไปชนฝานรกเกือบตาย จากนั้น ก็เกิดความร้อนพุ่งออกมารอบด้านและร้อนขึ้น ๆ เป็นทวีคูณ เมื่อความร้อนนั้นพุ่งเข้ามาหากาย ร่างกายก็แห้งกรอบไปหมด แต่ก็ยังไม่ตาย ยังรู้สึกตัวอยู่ ร่างกายแดงเหมือนกันกับแท่งเหล็ก ความร้อนนั้นสุดที่จะหาความร้อนใดมาเปรียบได้ ทนทุกข์ทรมานอยู่ในนรกขุมนี้ตั้งนานกว่าจะได้พ้นขึ้นมา ได้ถามหลวงปู่ต่อไปว่า ขอโอกาสหลวงปู่ เมื่อพ้นจากนรกขึ้นมาแล้ว ในชาติต่อมา หลวงปู่เคยล่วงเกิดศีลข้อกาเมอีกหรือไม่ หลวงปู่พูดว่า ในชาตินี้ก็เหมือนเดิม และก็พูดไปยาวมาก เพียงสรุปได้ว่า ถ้านายขาวไปเล่นสาวหรือไปเที่ยวที่อื่นใดก็ตาม พ่อต้องขายวัวเอาไว้เพื่อเป็นค่าปรับไหม วัวที่คอกที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเกือบจะหมดคอกก็แล้วกัน เพียงเท่านี้ ท่านผู้อ่านก็พอจะเข้าใจเรื่องของหลวงปู่ขาวหรอกนะ หลวงปู่พูดว่า ในชาตินี้ ถ้าภาวนาพ้นไปไม่ได้ ก็คงจะได้กลับไปเยี่ยมนรกขุมเก่าอีกแน่นอน ข้าพเจ้าได้พูดแหย่เล่นกับหลวงปู่ไปว่า ถ้าเช่นนั้น จ่ายมบาลก็คงจำหน้าหลวงปู่ได้แน่นอน ถ้าจ่ายมบาลมีลูกสาว เขาก็คงไม่ไว้ใจ ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษแล้วซิท่า เขาอาจจะเพิ่มโทษนรกขุมไฟขึ้นเป็นพิเศษอีกหลายเท่า เพื่อให้นายขาวได้เข็ดหลาบ แม่นบ่หลวงปู่ แล้วหลวงปู่ก็หัวเราะ
เอิ้กอ้าก ๆ จนน้ำตาไหล ในคืนนี้คุยกันสนุกมาก เพราะเป็นเรื่องหมูไม่กลัวน้ำร้อนเหมือนกัน
จากนั้น ก็ลาหลวงปู่กลับกุฏิเพราะจวนสว่างของวันใหม่แล้ว
ในคืนต่อมา ได้คุยกันถึงเรื่องเทพบุตรและเทวดากันบ้าง หลวงปู่เป็นผู้เริ่มต้นถามก่อนเช่นเคย ถามว่า ท่านเคยได้ไปเกิดบนสวรรค์ไหม เล่ามาให้ฟังบ้างซิ ตอบว่า ขอโอกาสหลวงปู่ สวรรค์นั้นผมก็เคยไป การไปสวรรค์แต่ละครั้งนั้น ก็ทำให้หลงได้ เพราะสวรรค์มีความสุขใน
กามคุณรื่นรมย์ดี แต่กระผมไม่ชอบ เพราะอยู่ในสวรรค์ทำให้เสียเวลาในการสร้างบารมี เพียงไปอยู่ด้วยความสนุกสนานเป็นการพักผ่อนชั่วคราวเท่านั้น ถ้าไปอยู่นาน ๆ ก็อาจทำให้ลืมตัวได้ เมื่อหมดบุญกุศลที่ได้ทำเอาไว้ในเมืองมนุษย์แล้ว ก็ต้องกลับมาเกิดที่เมืองมนุษย์อีก ถ้ามาเกิดในเมืองมนุษย์ หากได้พบกับบัณฑิตนักปราชญ์เป็นกัลยาณมิตรก็โชคดีไป ถ้าได้ไปเกิดในสถานที่ที่มีคนพาล ก็อาจหลงทำความชั่วได้
ฉะนั้น การไปเกิดบนสวรรค์ชั้นสูง โอกาสที่จะได้สร้างบารมีนั้นยากมาก วันคืนผ่านไป ๆ ไม่ได้นึกถึงบุญกุศลแต่อย่างใด มีแต่เสพสุขในกามคุณที่เป็นทิพย์เท่านั้น มนุษย์เขาทำบุญให้ทานรักษาศีลภาวนาอย่างไรก็ไม่เคยรู้เรื่อง ถึงหมู่มนุษย์จะร้องกล่าวบทชุมนุมเทวดาให้มาร่วมบุญกุศล เทวดาชั้นสูงเขาก็ไม่ได้มาร่วมงานด้วย ที่มานั้นเป็นเทวดาชั้นต่ำ ๆ ที่เรียกว่า รุกขเทวดาและภุมเทวดา นั่นเอง หลวงปู่พูดว่า ไหนลองเล่ามาให้ฟังซิว่าเขามากันอย่างไร จึงได้เล่าต่อไปว่า ในสมัยหนึ่ง กระผมเป็นหัวหน้าอุบาสกอุบาสิกาอยู่ในเมืองมนุษย์ ได้พาคณะศรัทธาทั้งหลายไปบำเพ็ญกุศลตามวัดต่าง ๆ และทำประโยชน์ใน
สาธารณกุศลทั่วไป มีวัดหนึ่งเป็นถ้ำใหญ่ มีพระเป็นจำนวนมาก กระผมได้พาหมู่คณะไปบำเพ็ญกุศลในวัดนี้เป็นประจำ และทำไปจนตราบเท่าอายุขัย เมื่อกระผมตายไป จึงได้ไปเกิดเป็นรุกขเทพบุตร ได้ไปอาศัยต้นรังใหญ่ต้นหนึ่งในป่าใหญ่แห่งนั้น กระผมสามารถเนรมิตให้ต้นรังใหญ่กลายเป็นปราสาทได้อย่างสวยงาม และได้เป็นใหญ่ในหมู่รุกขเทวดาทั้งหลาย ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วัน ๘ ค่ำ วัน ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ กระผมจะพาหมู่เทวดาทั้งหลายไปบำเพ็ญกุศลตามวัดต่าง ๆ โดยจะออกเดินทางในช่วงตี ๓ - ๕ ก่อนที่มนุษย์เขาจะไปถึง สำหรับพาหนะที่ใช้เดินทางนั้นไม่เหมือนกัน บางกลุ่มเขาก็เนรมิตให้เป็นเรือ นั่งได้ประมาณ ๔ - ๕ คน หรือนั่งได้ ๒ คน บางกลุ่มเขาก็เนรมิตเป็นปราสาทนั่งอยู่ในนั้น แล้วพากันลอยไปเป็นกลุ่ม ๆ ดูแล้วสวยงามมาก ระดับความสูงที่ลอยไปนั้น สูงกว่าปลายไม้ไปไม่กี่เมตร บางกลุ่มก็แยกไปที่
ต่าง ๆ ตามที่ต้องการ แต่ใครจะไปที่ไหนต้องมารายงานตัวต่อกระผมทุกครั้งไป
อีกงานหนึ่งเรียกว่างานรับเชิญ นั่นคือ งานบุญกุศล พวกเทพเหล่านี้จะได้ไปในงานนี้บ่อยครั้งทีเดียว เพราะมนุษย์เวลาทำบุญได้อัญเชิญเทวดา คำอัญเชิญเทวดานั้น มีความหมายแปลว่าอย่างไรก็ให้ไปถามท่านนักปราชญ์เอาเอง และมีเทวดาอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า เคหเทวดา คือ เทวดาที่อาศัยอยู่ตามบ้านเรือนของมนุษย์ เทวดากลุ่มนี้ไม่ต้องเชิญเขาก็รู้หน้าที่กันเอง เพราะเขาถือว่าเป็นเจ้าของบ้านดูแลรักษาบ้านนั้นอยู่ เมื่อเจ้าของบ้านจะทำบุญเขาก็ส่งข่าวให้รุกขเทวดาให้มาร่วมบุญนี้เหมือนกัน บ้านที่เทวดากลุ่มนี้อยู่ เจ้าของบ้านนั้นต้องมีคุณธรรม มีการบำเพ็ญกุศลอยู่เสมอ เช่น เทวดาที่อาศัยบ้านของโยมแม่ของพระโสณกุฏิกัณณะที่ร้องทำนองสรภัญญะให้พระพุทธเจ้าฟัง เมื่อร้องจบลง พระพุทธเจ้าก็อนุโมทนาสาธุ เทวดาของโยมแม่ของพระโสณะ ก็ได้สาธุด้วยเช่นกัน ฉะนั้น รุกขเทวดา ภุมเทวดา หรือ เคหเทวดา จึงได้เปรียบกว่าหมู่เทวดาชั้นสูง เพราะได้บำเพ็ญบารมีกับหมู่มนุษย์เป็นประจำ เรื่องของเทวดานั้นยาวมาก จะไม่นำมาเขียนไว้ในที่นี้ทั้งหมด
เมื่อเล่าเรื่องเทวดาทั้งหมดให้หลวงปู่ฟัง หลวงปู่ก็ยอมรับว่าความจริงเป็นอย่างนั้น แล้วหลวงปู่ก็ได้อธิบายต่อไปว่า การเป็นเทวดาอยู่ในระดับต่ำนี้มีกำไร เพราะได้บำเพ็ญกุศลร่วมกันกับหมู่มนุษย์มิได้ขาด ได้อนุโมทนาส่วนบุญที่มนุษย์ได้ทำแล้ว การไปอยู่บนสวรรค์ชั้นสูง ๆ นั้น ก็เหมือนอย่างที่ท่านว่านั่นแหละ ถึงจะไปอยู่ก็อยู่ได้ไม่ตลอด เมื่อบุญกุศลหมดเมื่อไร ก็ต้องลงมาเกิดในเมืองมนุษย์อีก เพราะ การบำเพ็ญบุญกุศลนั้น ต้องกระทำอยู่ในเมืองมนุษย์นี้ ผู้จะเป็นพระพุทธเจ้าหรือพระอริยเจ้าทั้งหลาย ก็ต้องมาสร้างบารมีอยู่ที่เมืองมนุษย์นี้ทั้งนั้น ฉะนั้น เมืองมนุษย์จึงเป็นสถานที่สร้างบารมี ถ้าผู้มีความประมาทลืมตัว ก็เอาเมืองมนุษย์นี้เป็นสถานที่ทำบาปอีก น่าเสียดายที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วไม่ได้ทำประโยชน์ให้แก่ตัวเอง ส่วนใหญ่จะทำเพื่อเสียประโยชน์ให้ตัวเองทั้งนั้น คำว่า เสียประโยชน์ นั้น คือเราทำในสิ่งที่ไม่ดีนั่นเอง เมื่อทำไปแล้ว ผลที่ไม่ดีก็ต้องได้รับเอง หลวงปู่ขาวได้พูดกับข้าพเจ้าอีกว่า นี่ทูล จากนี้ไป จงตั้งใจประกาศศาสนา อบรมพระเณรและญาติโยมให้เขาได้รู้จักแนวทางปฏิบัตินะ เพราะแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องอย่างแท้จริงนั้น หาผู้สอนได้ยากมาก เมื่อหลวงปู่มีเจตนาดีออกมาอย่างนี้ คงเป็นเพราะหลวงปู่ต้องการให้ช่วยเป็นภาระแบ่งเบาในการ
อบรมสั่งสอนช่วยหลวงปู่นั่นเอง จากนั้น ก็ได้ขอโอกาสแสดงความคิดเห็นให้หลวงปู่ฟังว่า ขอโอกาสหลวงปู่ ที่หลวงปู่อยากให้กระผมช่วยเหลืออบรมพระเณรและญาติโยมในช่วงนี้นั้น กระผมเห็นว่ายังไม่เหมาะไม่ควรเลย มีเหตุผลว่า อัตตัญญู กระผมรู้ตัวเองว่ายังอยู่ในวัยที่ไม่เหมาะสม กระผมบวชมาเพิ่งได้ ๙ พรรษานี้เอง มันจะขัดกับความรู้สึกของผู้จะรับฟังธรรมะ ผู้จะรับฟังธรรมะนั้น ในความต้องการของเขา เขาชอบฟังธรรมจากผู้มีอายุพรรษามาก ๆ และเป็นครูอาจารย์ที่ยอมรับจากคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ ถ้ากระผมจะออกลวดลายในวัยหนุ่มเช่นนี้ ผู้ที่ไม่เข้าใจกระผม เขาก็จะเข้าใจว่า กระผมพูดธรรมะเกินตัวไป และจะไม่มั่นใจในตัวกระผม ถ้าเขาไม่เคารพไม่เชื่อถือในตัวบุคคลแล้ว ถึงจะอธิบายธรรมะได้ดีมีเหตุผลตรงต่อหลักความจริงเพียงใด ก็จะไม่เกิดประโยชน์อันใดกับท่านผู้ฟังเลย ถ้าพูดตามหลักตำราไปก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าพูดหลักภาวนาปฏิบัติที่ออกมาจากใจแล้ว เขาก็จะไม่เชื่อพระหนุ่มคือตัวกระผมเอง มิหนำซ้ำ ก็จะเกิดความประมาทในตัวกระผมไปต่าง ๆ นานา และหาว่ากระผมอวดอุตริมนุษยธรรมไป เพราะในยุคนี้ ไม่มีพระพุทธเจ้าที่จะมาเป็นผู้ตัดสิน ลักษณะอย่างนี้เคยมีมาแล้วในครั้งพุทธกาล มีการกล่าวหาพระผู้มีความบริสุทธิ์ว่า ต้องอาบัติปาราชิกหลายองค์ พระพุทธเจ้าได้ประชุมสงฆ์ตัดสินให้เป็นไปตามความจริง เรื่องจึงได้ยุติลง ถ้าเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน คือตัวกระผมเอง คงจะไม่มีใครมาตัดสินชี้ขาดให้ว่าใครผิดใครถูก ถึงความรู้ความสามารถของกระผมจะพร้อมแล้วทุกอย่าง
ก็ตาม แต่วัยของกระผมยังไม่พร้อม ฉะนั้น จึงขอให้เป็นไปตาม กาลัญญู เมื่อใด อัตตัญญู กาลัญญู ปริสัญญู พร้อมแล้ว เมื่อนั้นกระผมจะเปิดเผยตัวเองในช่วงนั้น เมื่อหลวงปู่ได้ฟังเหตุผลนี้แล้วก็พยักหน้าแล้วพูดว่า ถ้าเช่นนั้น ก็ อย่าไปเก็บตัวนานนะ บางทีอาจจะมีพระเณรองค์ใด หรือฆราวาสคนไหนพอจะเข้าใจในธรรมะนี้ได้ ก็ช่วยอบรมสั่งสอนเขาไปหน่อย อย่าปล่อยทิ้งทั้งหมดก็แล้วกัน เพราะทุกวันนี้ ผู้ตั้งใจจริงจังในการปฏิบัตินี้ยังมีอยู่
ให้เขาได้รู้เห็นช่องทางในการปฏิบัติที่ถูกต้องเอาไว้ เพื่อจะได้เป็นกำลังของพระพุทธศาสนาต่อไป
การสนทนาธรรมกับหลวงปู่ขาวนั้นมีมากมาย แต่ได้นำมาเขียนเอาไว้ในที่นี้เพียงบางส่วนเท่านั้น จากนั้น ข้าพเจ้าเองก็ได้วางตัวเป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปีอยู่ในหมู่คณะมาตลอด ความโง่มีเท่าไรพยายามเอาออกมาใช้ให้เต็มที่ ทำตัวเป็นผู้ไม่มีบทบาทใด ๆ ในวันถ้ำกองเพลนี้เลย ตลอดทั้งไปในที่ใด ๆ หรือวัดไหน ๆ ก็วางตัวเข้ากับหมู่คณะนั้นได้อย่างสนิททีเดียว เพราะ มีธรรมหมวดหนึ่งที่ข้าพเจ้านำมาปฏิบัติอย่างฝังใจ นั่นคือ สัปปุริสธรรม ๗ อย่าง ๑) ธัมมัญญุตา ฝึกตัวให้เป็นผู้รู้จักเหตุ ๒) อัตถัญญุตา ฝึกตัวให้เป็นผู้รู้จักผล ๓) อัตตัญญุตา ฝึกตัวให้เป็นผู้รู้จักตน ๔) มัตตัญญุตา ฝึกตัวให้เป็นผู้รู้จักประมาณ ๕) กาลัญญุตา ฝึกตัวให้เป็นผู้รู้จักกาลเวลา ๖) ปริสัญญุตา ฝึกตัวให้เป็นผู้รู้จักชุมชน ๗) ปุคคลัญ
 

_________________
ท่านสามารถฟังวิทยุเสียงธรรมหลวงตามหาบัวได้ทั่วประเทศ
และโทรทัศน์ดาวเทียมเสียงธรรมทั้งภาพและเสียงได้แล้วที่
http://www.luangta.com
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
วีรยุทธ
บัวทอง
บัวทอง


เข้าร่วม: 24 มิ.ย. 2005
ตอบ: 1790
ที่อยู่ (จังหวัด): สกลนคร

ตอบตอบเมื่อ: 29 ส.ค. 2006, 9:13 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน



LPTool.gif


( ต่อ )



หมวดหนึ่งที่ข้าพเจ้านำมาปฏิบัติอย่างฝังใจ นั่นคือ สัปปุริสธรรม ๗ อย่าง ๑) ธัมมัญญุตา ฝึกตัวให้เป็นผู้รู้จักเหตุ ๒) อัตถัญญุตา ฝึกตัวให้เป็นผู้รู้จักผล ๓) อัตตัญญุตา ฝึกตัวให้เป็นผู้รู้จักตน ๔) มัตตัญญุตา ฝึกตัวให้เป็นผู้รู้จักประมาณ ๕) กาลัญญุตา ฝึกตัวให้เป็นผู้รู้จักกาลเวลา ๖) ปริสัญญุตา ฝึกตัวให้เป็นผู้รู้จักชุมชน ๗) ปุคคลัญญุตา ฝึกตัวให้เป็นผู้รู้จักบุคคล อุบายธรรมทั้ง ๗ ข้อนี้มีความชำนาญในการปฏิบัติเป็นส่วนตัวมากทีเดียว เพราะเราอยู่ในสังคมมนุษย์ด้วยกัน แต่ละท่านมีนิสัยไม่เหมือนกัน เราจะปรับตัวเองอย่างไรจึงจะอยู่กับท่านเหล่านั้นได้ ในภาคปฏิบัติแล้ว ไม่จำเป็นจะเรียงลำดับเกินไป ให้ถือว่าประสบการณ์ในปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไรเป็นจุดสำคัญ เพราะเราจะได้แก้ปัญหานั้นได้ทันต่อเหตุการณ์
เหมือนกันกับการชกมวย ต้องดูคู่ต่อสู้ว่าเขาจะมาด้วยอาวุธอย่างไร จะรับเขาอย่างไร และจะโต้ตอบเขาไปอย่างไร เราควรจะเอาอาวุธเราออกไปอย่างไรจึงจะได้ผล นั่นคือผู้มีหัวสมองมีความฉลาดในการชก นี้ฉันใด การที่เราจะเอาธรรมะหมวดใดมาปฏิบัติ เราต้องรู้จักตัวเองก่อนว่า ควรจะเอาธรรมะหมวดไหนเข้ามาแก้ไข ต้องฝึกตัวให้มีความฉลาดและฝึกตัวให้เป็นผู้มีเหตุมีผล และฝึกตัวเป็นผู้กล้าหาญในการตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง เหมือนการขับรถ เมื่อเรานั่งอยู่หลังพวงมาลัยแล้ว การตัดสินใจในตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทางตรงไหนควรผ่อน ทางตรงไหนควรเร่ง ตรงไหนควรแตะเบรก ตรงไหนควรปล่อย ตรงไหนควรเลี้ยวซ้าย ตรงไหนควรเลี้ยวขวา คนขับรถต้องกล้าตัดสินด้วยตัวเองให้ทันต่อเหตุการณ์ นี้ฉันใด นักปฏิบัติต้องฝึกตัวให้พร้อมในทุก ๆ ด้าน มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นจะได้แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที มิใช่ว่า จะคอยหาถามคนนั้นคนนี้เพื่อให้ท่านตัดสินใจให้แก่เราอย่างเดียว ดังคำว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ในภาคปฏิบัติแล้วเราพึ่งตัวเองอะไรได้บ้าง สติปัญญาเราพึ่งตัวเองได้ไหม ความฉลาดรอบรู้ในสรรพสังขารทั้งหลาย เราได้ฝึกตัวเองพร้อมแล้วหรือยัง หรือเพียงเรียนรู้ตามตำรามาเท่านั้น การเรียนรู้มาเท่านี้ยังไม่พอ ต้องฝึกตัวให้เป็นไปตามตำรานั้น ๆ จึงจะได้ผล จึงจะสมกับคำที่ว่า ตนเตือนตนด้วยตนเอง และตนอบรมตนด้วยตนเอง
อยู่มาวันหนึ่ง ข้าพเจ้ามีกิจธุระไปวัดป่าหนองแซง และได้ไปกราบหลวงปู่บัว เมื่อกราบแล้ว หลวงปู่ก็ถามทันทีว่า เป็นอย่างไร ได้ยินข่าวว่าไปภาวนาปฏิบัติที่จังหวัดเชียงราย ผ่านทุกข์ได้หรือยัง ไหนเล่ามาให้ฟังดูซิ จึงได้เล่าถวายหลวงปู่ไปว่า ขอโอกาสหลวงปู่ กระผมได้ผ่านทุกข์ไปได้แล้ว หลวงปู่ถามอีกว่า ผ่านทุกข์ไปได้แค่ไหน เพราะทุกข์มันมีหลายขั้นตอน จากนั้น ก็เล่าถวายให้หลวงปู่ฟังทั้งหมด เมื่อหลวงปู่รับฟังจบแล้ว ได้พูดขึ้นมาว่า แหม ไปภาวนาทางไกล กลับคืนมามันต้องได้ของดีมาฝากครูอาจารย์อย่างนี้ซี ผู้ที่ผ่านทุกข์ได้ในขณะนี้มีน้อยเต็มที ส่วนมากมันกลัวทุกข์ทั้งที่ตัวเองยังไม่เห็นทุกข์ ทางที่ไปพระนิพพานมันต้องผ่านทุกข์นี้ไป ถ้ามันรู้ทุกข์เห็นทุกข์จริง ๆ แล้ว มันจะต้องผ่านทุกข์ไปได้ คนที่กลัวทุกข์มันก็จะจมอยู่กับทุกข์ในโลกนี้ตลอดไป หลวงปู่ถามว่า บวชมานานเท่าไรถึงได้ผ่านทุกข์ไปได้ ก็เล่าถวายท่านว่า บวชมาได้ ๘ ปีครับผม หลวงปู่ถามว่า เล่าให้หลวงปู่ขาวฟังแล้วใช่ไหม ก็ตอบท่านไปว่า เล่าถวายท่านแล้ว หลวงปู่ถาม ท่านว่าอย่างไร ตอบ ท่านก็อนุโมทนาด้วย และพูดว่า ในยุคนี้ จะมีผู้รู้ความจริงตามหลักความเป็นจริงในสัจธรรมนั้นน้อยมาก หลวงปู่บัวพูดว่า เมื่อท่านสอนตัวเองได้แล้วก็อย่าลืมไปสอนอาจารย์ของท่านนะ หลวงพ่อบุญมานั้น ผมพยายามเทศน์ให้ฟังทุกอย่างในเรื่องการปฏิบัติธรรม ก็ยังเป็นพระที่หัวรั้นหัวแข็ง ไม่ยอมผมอยู่นั่นเอง ฉะนั้น ขอให้ท่านไปโปรดหลวงพ่อบุญมาบ้างสิ บางทีความเกี่ยวข้องกันอาจจะโปรดกันได้
เมื่อรับคำหลวงปู่แล้ว ในคืนวันนั้น ข้าพเจ้าก็ไปหาหลวงพ่อบุญมาที่กุฏิ ขณะนั้น ท่านกำลังเดินจงกรมอยู่ เมื่อเห็นข้าพเจ้าไป ท่านก็หยุดเดินจงกรมและขึ้นมาที่กุฏิ เมื่อกราบเสร็จแล้ว ท่านก็ถามทันทีว่า เป็นอย่างไร ได้ทราบข่าวว่าไปภาวนาที่จังหวัดเชียงราย ดีไหม ก็ตอบท่านไปแบบถ่อมตัวว่า ขอโอกาส พอทรงตัวอยู่ได้ครับผม ท่านพูดไปว่า ก็เท่านั้นแหละ ถ้ามีความตั้งใจจริงไม่จำเป็นต้องไปภาวนาไกลหรอก ในภาคอีสานเราที่ธุดงค์มากมาย ในวัดป่าหนองแซงนี้ก็มีสัปปายะดีอยู่แล้ว แต่มันขาดความตั้งใจจริงเท่านั้น เมื่อข้าพเจ้าได้จังหวะก็ขอโอกาสท่านทันทีว่า ขอโอกาสหลวงพ่อ ความตั้งใจจริงนั้น จะตั้งอย่างไรจึงจะถูกต้อง จากนั้น ท่านก็ได้อธิบายในความสงบของสมาธิที่ท่านมีความชำนาญอยู่แล้ว ท่านได้อธิบายในเรื่องญาณ เรื่องฌาน เรื่องสมาบัติ ๘ ไปอย่างละเอียดมาก จิตมีความสงบอย่างนั้น มีญาณรู้ขึ้นมาอย่างนี้ ท่านก็อธิบายฌานนั้นฌานนี้ไปเรื่อย ๆ ข้าพเจ้าก็นั่งฟังไปเรื่อย ๆ เช่นกัน ในจุดหนึ่ง ท่านจะเน้นหนักเรื่องนิโรธสมาบัติ พูดไปวนมาเหมือนวัวพันหลักหาที่สรุปลงไม่ได้ ปล่อยให้ท่านพูดไปประมาณ ๑ ชั่วโมง คำพูดของท่านก็อ่อนลง ๆ พอดีท่านฉันน้ำ ข้าพเจ้าก็ได้จังหวะพอดี จึงขอโอกาสถามท่านว่า ขอโอกาสหลวงพ่อ ที่หลวงพ่ออธิบายไปนั้นไม่เกี่ยวกับมรรคผลนิพพานเลย หลวงพ่อคิดว่ามรรคผลนิพพานนั้นอยู่ตรงไหน ท่านก็พูดออกมาว่า โอ๊ย มรรคผลนิพพานมันอยู่ไกลแสนไกล ในชาตินี้จะถึงหรือไม่นั้น ก็ภาวนาปฏิบัติกันไป ถามท่านว่า เมื่อหลวงพ่อพูดเรื่องนิโรธสมาบัติ ผมคิดว่าหลวงพ่อถึงพระนิพพานแล้ว เพราะ นิโรธสมาบัตินั้น เป็นวิหารธรรมของพระอรหันต์เท่านั้นจะเข้าได้ ปุถุชนธรรมดาจะเจ้าได้แต่สมาบัติเท่านั้นเอง ผู้จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานไม่จำเป็นจะเข้านิโรธสมาบัติเสมอไป ทำไมหลวงพ่อจึงไม่ใช้ปัญญาพิจารณาในสัจธรรมให้มากขึ้น ท่านก็ถามว่า การใช้ปัญญาพิจารณาในหลักธรรมนั้นมีหลักการอย่างไร อธิบายให้ผมฟังได้ไหม ตอบว่า อธิบายให้ฟังได้ จากนั้น ข้าพเจ้าก็กราบท่านสามครั้ง แล้วขอโอกาสท่าน แล้วก็เริ่มอธิบายอุบายการใช้ปัญญาพิจารณาในหลักความจริงให้ท่านฟัง เริ่มจากการ เกิด-ดับ ที่สมัยหลวงพ่อบุญมาสอนข้าพเจ้ามาแล้วในสมัยเป็นฆราวาส ได้อธิบายต่อเนื่องกัน ตลอดจนถึงความรู้จริงเห็นจริงที่บ้านป่าลันเป็นจุดสุดท้าย เมื่อได้จังหวะดีแล้วก็แสดงความจริงนั้นให้ท่านได้รู้ มีทั้งการขู่ มีทั้งการปลอบโยนไปในตัว อุบายขู่และปลอบโยนนั้น มันเป็นวิธีการของข้าพเจ้าที่จะต้องพูดเอง
เมื่อท่านได้รับฟังข้าพเจ้าอธิบายให้ฟังในผลของการปฏิบัติแล้ว ท่านหลวงพ่อก็ร้องไห้พร้อมทั้งพูดว่า ผมขอยกมือสาธุในธรรมที่ท่านอธิบายมาแล้ว จากนั้น ก็ใช้อุบายปลอบโยนท่านไปว่า หลวงพ่อครับ ในชาตินี้มีบารมีแล้วนะ มีความโชคดีที่ได้ผมเป็นลูกศิษย์ ผมจะไม่ลืมบุญคุณของหลวงพ่อที่มีต่อตัวผม ในสมัยผมเป็นฆราวาส หลวงพ่อก็ได้โปรดผมมาแล้ว จนผมได้ออกบวชภาวนามาจนได้ผลอย่างนี้ บัดนี้ ผมได้มาโปรดหลวงพ่อให้กลับอุบายในการปฏิบัติธรรมเสียใหม่ เมื่อชี้นำแนวทางปฏิบัติให้ท่านแล้วก็บอกสถานที่ไปว่า ให้หลวงพ่อไปอยู่บ้านฝั่งแดง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย นับแต่บัดนี้เป็นต้นไปให้หลวงพ่อรู้ตัวเสียว่า หลักอุบายภาวนาของหลวงพ่อนั้นผิดแล้ว ให้กลับตัวใหม่ ยังไม่สายเกินไป จากนี้ไป หลวงพ่ออย่าพูดธรรมะให้ใคร ๆ ฟังอีกเป็นอันขาด ให้เร่งภาวนาปฏิบัติไปอย่างเดียว อย่าเกี่ยวข้องกับใคร ๆ ทั้งสิ้น ไม่เพียงแต่ไม่คุยในธรรมะเท่านั้น แม้เรื่องทางโลกก็ห้ามคุยอีกเช่นกัน ไม่เช่นนั้น กระผมจะปล่อยหลวงพ่อไปตามยถากรรม ถือว่าเป็นชาติสุดท้ายที่จะได้พบกัน ชีวิตของหลวงพ่อไม่เหลืออยู่นานหรอกนะ ก่อนจะตายก็ขอให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ในช่วงที่มีชีวิตอยู่นี้ก็แล้วกัน จากนั้น หลวงพ่อก็รับปากว่าจะไปจังหวัดเชียงราย รับคำว่าจะไม่พูดธรรมะให้ใคร ๆ ฟังทั้งนั้น และรับคำว่าจะเอาอุบายภาวนานี้ไปปฏิบัติให้เต็มที่ เมื่อถึงวันรุ่งขึ้น ท่านก็ได้จัดเก็บสิ่งของและออกเดินทางต่อไป จากนั้น ข้าพเจ้าก็ได้นำเรื่องนี้ไปเล่าให้หลวงปู่บัวฟัง หลวงปู่บัวก็หัวเราะเป็นการใหญ่แล้วพูดว่า ต้องเอาขนาดนั้นแหละพระหัวแข็ง ตัวเองภาวนาผิดแล้วไม่ยอมเชื่อผู้อื่น ถือว่าตัวเองภาวนาถูกไม่ยอมฟังเสียงใคร ในปีนั้น หลวงพ่อบุญมาก็ไปจำพรรษาที่บ้านฝั่งแดง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย รีบเร่งภานาปฏิบัติอย่างเต็มที่ ในที่สุดก็รู้แจ้งเห็นจริงในพรรษานั้นเอง การเขียนอัตโนประวัติส่วนตัวมาจนถึงพรรษาที่ ๙ นี้ คิดว่าท่านผู้อ่านคงจะได้อุบายต่าง ๆ ไปพิจารณาปฏิบัติดูบ้าง และขอให้ทุกท่านจงมีเหตุผลเป็นของตัวเอง จะเชื่ออะไรต้องมีเหตุผลเป็นที่รองรับ และพิจารณาให้แยบคายในสิ่งที่ได้ฟังมาและได้ศึกษามา ต้องฝึกตัวให้เป็นศรัทธาญาณสัมปยุต คือใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อน
จึงเชื่อ นั้นแลจึงชื่อว่าเป็นผู้ภาวนาปฏิบัติอย่างแท้จริง

บทส่งท้าย
หลังจากได้รับผลของการปฏิบัติที่บ้านป่าลันในเวลาประมาณ ๓ โมงเช้าแล้ว ในคืนนั้น มีนิมิตเห็นหลวงปู่มหาบัว วัดป่าบ้านตาด เข้ามาหาเป็นองค์แรก ท่านได้เข้ามาในกุฏิด้วยความเป็นกันเอง ข้าพเจ้าคิดว่าจะปูอาสนะให้ท่านนั่ง แต่ท่านก็ได้รีบนอนลงไปเสีย แล้วท่านก็พูดขึ้นมาว่า ท่านทูล นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตัวใครตัวมันนะ จากนั้น จิตก็ได้ถอนออกจากสมาธิ แล้วจึงได้พิจารณาในคำพูดของท่าน ตัวใครตัวมันนั้น มีความหมายว่า นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ต่างก็พึ่งตัวเองได้แล้ว จึงเรียกว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตนได้แล้วอย่างสมบูรณ์ จึงหมดภาระในตัวเอง ไม่มีอุบายธรรมะใดที่จะให้เป็นไปได้อีกแล้ว จึงเป็นตัวใครตัวมันอย่างเต็มตัว
ในคืนที่ ๒ - ๕ สี่คืนนี้ มีนิมิตเห็นหลวงปู่มั่นเข้ามาหา เพื่ออนุโมทนาในผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรม และสนทนาธรรมในแง่ต่าง ๆ อย่างร่าเริง ท่านแสดงความยิ้มแย้มอยู่ตลอดเวลา สนทนาแบบกันเอง ท่านไม่ถือตัวในการบวชก่อนหรือบวชทีหลัง เพราะ ธรรมย่อมอยู่ด้วยกันกับธรรม ไม่มีต่ำไม่มีสูง มีแต่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะความบริสุทธิ์นั้นไม่ขึ้นอยู่กับอายุและไม่ขึ้นอยู่กับพรรษา จึงไม่มีสูงไม่มีต่ำ ไม่มี่ขึ้นไม่มีลงไปตามสมมุติใด ๆ นี่พูดเฉพาะธรรมกับธรรมเท่านั้น ถ้าพูดเรื่องบุคคลผู้ครองธรรมนี้อยู่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การทำการพูดต่อกันก็ให้เป็นไปตามสมมุติบัญญัติที่มีต่อกัน การแสดงออกมาทางกายและวาจาต่อกันก็ให้เป็นธรรมอีกระดับหนึ่ง เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมที่มีต่อกัน เช่น สังคมของพระก็ต้องเอาพรรษาเป็นหลัก ถึงจะมีอายุมากแต่พรรษาในการบวชมีน้อย ก็ต้องกราบไหว้ผู้มีอายุพรรษามากกว่า แม้แต่พระที่บวชพร้อมกัน ๒ - ๓ องค์ ถึงจะสวดญัตติอุปสมบทจบลงพร้อมกันก็ตาม ผู้เป็นพระด้านซ้ายก็ต้องกราบไหว้พระที่อยู่ด้านขวาของอุปัชฌาย์อยู่นั่นเอง นี่คือระเบียบสมมุติที่มีต่อกัน และถือตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้น จะเป็นอาบัติตลอดไป ดังได้พูดกันอยู่เสมอว่า พระทุศีล นั่นเอง
ในคืนที่ ๖ ข้าพเจ้าได้ดำริว่า ความสูงสุดของสมาธิอยู่ที่ตรงไหน มีอะไรเป็นเครื่องหมายในสมาธิขั้นนั้น ๆ ในคืนนี้จะทำสมาธิให้ถึงที่สุดให้เต็มที่ จากนั้น ก็เริ่มทำสมาธิขั้นหยาบ ๆ เป็นพื้นฐานเอาไว้ แล้วเข้าสู่สมาธิขั้นกลาง และลำดับต่อไปจนถึงสมาธิขั้นละเอียด คือ รูปฌาน และขึ้นสู่อรูปฌานขึ้นไปตามลำดับ นั่นคือ อากาสานัญจายตนะ วิญญานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ และเลยขึ้นไปถึง เวทยิตนิโรธ เมื่อถึงจุดนี้แล้ว จะตั้งอยู่ได้ไม่นาน จะถอยออกมาเองโดยอัตโนมัติ ถอยลงมาเนวสัญญานาสัญญายตนะ ถอยลงมาอากิญจัญญายตนะ ถอยลงมาวิญญานัญจายตนะ ถอยลงมาอากาสานัญจายตนะ และถอยออกมาจนถึงรูปฌาน แล้วก็พักอยู่ในรูปฌานนานพอสมควร จากนั้น ก็กำหนดจิตขึ้นสู่อรูปฌานอีก จนถึงเวทยิตนิโรธ จนเป็นวสี คือความชำนาญ เข้าออกอยู่อย่างนี้จนเวลาใกล้สว่าง ในขณะนั้น พระพุทธเจ้าทรงมาปรากฏให้เห็น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามาในกุฏิแล้ว ก็ประทับนั่งอยู่ชิดตัวข้าพเจ้า ในขณะนั้น ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าอย่างชัดเจน จากนั้น ข้าพเจ้าก็ได้ลงกราบบนพระเพลาของพระพุทธเจ้าทันที และมีความดำริว่า ถ้าพระพุทธเจ้าทรงตรัสถามถึงผลของการปฏิบัติ ข้าพเจ้าก็จะเล่าถวายให้พระองค์ฟังทั้งหมด และคิดอีกในแง่หนึ่งว่า พระพุทธเจ้าคงไม่ตรัสถาม เพราะพระองค์คงทรงทราบผลของการปฏิบัติของข้าพเจ้าอยู่แล้ว จากนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงให้พระโอวาทว่า ทูล การทำสมาธินั้นมันมากไป ให้ถอยออกมาบ้าง ข้าพเจ้าขอโอกาสว่า จะให้ข้าพระองค์ถอยออกจากสมาธิมามากน้อยเท่าไรพระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า ถอยออกมาขีดหนึ่ง เพียงเท่านี้ จิตก็เริ่มถอนออกจากสมาธิ ก็สว่างเป็นวันใหม่พอดี จึงได้มาดำริพิจารณาว่า พระพุทธเจ้าให้ถอยออกจากสมาธิมาขีดหนึ่งนั้นถอยอย่างไร ก็รู้ว่า ให้ถอยออกจาก เวทยิตนิโรธ นั่นเอง จากนั้นมา ก็ทำสมาธิเข้าออกเพียง รูปฌาน อรูปฌาน เท่านั้น จึงเป็นวิหารธรรมส่วนตัว
ในคืนที่ ๗ ในขณะอยู่ในสมาธิ ปรากฏมีปืนสั้นกระบอกหนึ่งในมือข้างขวา โดยกำปืนเอาไว้อย่างมั่นคง จากนั้น ข้าพเจ้าก็เหนี่ยวไกปืนทันที เสียงปืนดังอยู่ไกลมาก และดังสนั่นสะเทือนไปทั้ง ๘ ทิศ จากนั้น เสียงปืนก็สะท้อนกลับมา ทั้งเสียงใกล้เสียงไกลได้ยินอย่างสม่ำเสมอกัน ข้างบนก็เหมือนกับเสียงฟ้าคำรามดังสม่ำเสมอกันกับข้างล่าง และเสียงนั้นดังอยู่นานมากทีเดียว จากนั้น จิตก็เริ่มถอนออกจากสมาธิ เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว เสียงปืนนั้นก็ยังดังสั่นสะเทือนได้ยินชัดทีเดียว พิจารณาดูก็รู้ในเหตุการณ์ข้างหน้าของตัวเองทั้งหมด ข้าพเจ้าไม่ต้องเขียนไว้ใน
ที่นี้ เพราะความจริงจะปรากฏเอง ถึงอย่างไร ก็ให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาด้วยเหตุผลก็แล้วกัน
ในคืนที่ ๘ ข้าพเจ้าได้ดำริภายในใจว่า นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะทำประโยชน์ท่านให้เต็มที่ นั่นคือ เผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้าสู่ประชาชน ให้เขาได้รับข้อมูลและเหตุผลที่เป็นจริง เพื่อให้เกิดความเห็นชอบในศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง เพื่อทรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงต่อไป การเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าในยุคสมัยนี้ จะมีอุปสรรคขัดข้องอะไรบ้าง หรือจะมีความสะดวกราบรื่นเป็นอย่างไร ขอให้ข้าพเจ้าได้รู้เห็นด้วยเทอญ จากนั้น ก็ทำความวางเฉย จิตก็รวมสงบในสมาธิอย่างแน่วแน่ ในขณะนั้น เกิดนิมิตเห็นสุนัข ๒ ตัวไล่กระต่ายมาติด ๆ เมื่อสุนัขตัวหนึ่งกำลังจะกัดกระต่ายได้ สุนัขอีกตัวหนึ่งก็กระโดดกัดสุนัขที่กำลังจะกัดกระต่ายตัวนั้นเสีย เมื่อสุนัขสองตัวมัวแต่กัดกันอยู่ กระต่ายก็ได้วิ่งหนีห่างไปเสีย เมื่อสุนัขสองตัวกัดกันเหนื่อยแล้วก็พากันวิ่งตามกระต่ายต่อไป เมื่อสุนัขตัวแรกกำลังจะกัดกระต่ายอีก สุนัขตัวหลังก็กระโดดกัดสุนัขตัวแรกอีก กระต่ายก็วิ่งหนีห่างไปอีก ในที่สุด สุนัขก็ตามกัดกระต่ายไม่ทัน เพราะมัวแต่แยกเขี้ยวกัดกันเอง
จากนั้น จิตก็ได้ถอนออกจากสมาธิ จึงได้พิจารณาดูและได้รู้ว่า เหตุการณ์ข้างหน้าที่ข้าพเจ้าจะเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น คงจะไม่เป็นผลสำเร็จเท่าที่ควร ก็คงจะเป็นในลักษณะสุนัขไล่กัดกระต่ายนั่นเอง แต่ก็รู้อยู่เต็มใจว่าอะไรเป็นอะไร เพราะเฝ้าดูอยู่ในเรื่องนี้มานาน ในยุคนี้ก็มีความเป็นอยู่อย่างนี้ อนาคตต่อไปก็ยิ่งจะเลวร้ายลงไปกว่านี้อีก เพราะไม่ยอมรับความจริงในเหตุผล และไม่ยอมรับความจริงต่อกันและกัน จึงเกิดความคิดเห็นขัดแย้งกันไป ต่างฝ่ายก็ต้องปกป้องกลุ่มของตัวเองเอาไว้ด้วยวิธีการต่าง ๆ วิธีไหนพอจะหักล้างฝ่ายหนึ่งลงไปได้ก็ต้องทำ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง และปกป้องบริวารของตัวเองเอาไว้ เมื่อมีใครโดดเด่นขึ้นมาจะแซงหน้าตัวเองไป กลัวบริวารของตัวเองจะหันเหไปหาอีกฝ่ายหนึ่ง จำเป็นต้องหาวิธีปกป้องเพื่อสกัดกั้นเอาบริวารตัวเองเอาไว้ มีอะไรพอจะเอามาเป็นเหตุโจมตีได้ก็ต้องทำ เรื่องความผิดถูกตามพระธรรมวินัยนั้นไม่สนใจ หรือหากท่านผู้นั้นมีอายุพรรษามาก ก็จะเอาอายุพรรษานั่นแหละมาเป็นอำนาจเครื่องมือเพื่อข่มขู่ผู้มีพรรษาน้อยอยู่เสมอ ที่จริงแล้วเรื่องอายุมากพรรษามากก็รู้ ๆ กันอยู่ว่าใครเกิดก่อนก็อายุมาก ใครบวชก่อนก็มีพรรษามากเป็นธรรมดา แต่จะเอามาเป็นเครื่องวัดในคุณธรรมว่าถูกต้องไปเสียทีเดียวนั้นยังไม่ได้ เพราะคุณธรรมนั้นมันขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีที่ได้สร้างมาแล้วในอดีตชาติ เช่น ในครั้งพุทธกาล สามเณรองค์เล็ก ๆ ที่เกิดมาไม่กี่ปีและบวชมาไม่กี่วัน ก็สามารถบำเพ็ญให้คุณธรรมเกิดขึ้นได้ ฉะนั้น เรื่องอายุและพรรษาให้ถือว่าเป็นชาติที่เกิดในทางโลก และชาติเกิดในทางธรรมไปเสีย ควรจะสำนึกถึงความจริงในบารมีแต่ละท่านเป็นหลัก ว่าใครได้สร้างบารมีมาแล้วนานเท่าไร และบารมีนั้นพอจะบรรลุในคุณธรรมในชาตินี้ได้หรือไม่ ถ้าใจมีเหตุผลในทางธรรมแล้ว เรื่องอย่างนี้ก็จะไม่เกิดขึ้นกับนักปฏิบัติธรรมนี้เลย ทั้งผู้น้อย ผู้ใหญ่ ก็จะมีแต่ความสามัคคีต่อกัน ปรึกษากันในเหตุผล การที่เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าเพื่อประกาศพระพุทธศาสนานั้น ก็จะเป็นผลสำเร็จอย่างแน่นอน และทรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาตลอดไปชั่วกาลนาน ฉะนั้น ขอนักปฏิบัติทั้งหลาย จงมุ่งทำลายอาสวกิเลสของตัวเองให้หมดไปจากใจ ดีกว่าจะมุ่งทำลายผู้อื่นด้วยวิธีต่าง ๆ ดังที่รู้กันในยุคปัจจุบัน จงฝึกตัวให้เป็นมิตรต่อกันเอาไว้ และมองใคร ๆ ไปในทางที่ดี นี่คือนิสัยของผู้เป็นปราชญ์ที่ฉลาดในธรรม จึงนับได้ว่า เป็นพุทธบริษัทของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง

การดูพระอริยเจ้านั้นดูได้ยาก
การดูพระอริยเจ้านั้น ส่วนมากจะสุ่มเดาตามกิริยาที่แสดงออกมาทางกายและวาจา การดูในลักษณะอย่างนี้ก็ยากที่จะถูกต้องได้ เพราะพระอริยเจ้ากับผู้ยังเป็นปุถุชนมีกิริยามรรยาทการแสดงออกมาทางกายและวาจาเหมือน ๆ กัน ถึงท่านผู้นั้นจะได้บรรลุธรรมถึงขั้นเป็นพระอรหันต์แล้วก็ตาม จะตัดนิสัยเดิมของท่านเองไม่ได้ นิสัยเป็นมาอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น เช่น พระสารีบุตรในชาติก่อนมา เคยเป็นลิง นิสัยลิงก็ยังติดตัวมา ฉะนั้น พระสารีบุตรจึงชอบกระโดดโลดเต้นอยู่เป็นนิสัย เห็นกิ่งไม้ใดพอจะกระโดดจับโหนตัวเล่นก็ต้องทำ หรือเห็นน้ำบ่อพอจะกระโดดข้ามได้ก็ต้องกระโดดไปมา จนพระองค์อื่นเห็นก็เกิดความแปลกใจ ทำไมพระสารีบุตรจึงแสดงในกิริยามรรยาทที่ไม่เหมาะสมอย่างนี้ ไม่สมศักดิ์ศรีที่ได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าว่า เป็นพระอรหันตสาวกข้างขวาของพระพุทธเจ้าเลย จึงมีพระองค์อื่นโจษขานกันขึ้น และเล่าเรื่องของพระสารีบุตรถวายแด่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิสัยเดิมของพระสาวกนั้นละไม่ได้ นิสัยเคยเป็นมาในอดีตมีอย่างไร การแสดงออกมาทางกายและวาจา ก็ชอบแสดงออกมาอย่างนั้น ฉะนั้น จึงได้เปรียบนิสัยของพระอริยเจ้าและปุถุชนไว้ดังนี้
๑. น้ำลึกเงาลึก ๒. น้ำลึกเงาตื้น ๓. น้ำตื้นเงาลึก ๔. น้ำตื้นเงาตื้น ทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นวิธี
ตัดสินได้ยากมาก เพราะไม่มีญาณหยั่งรู้พิเศษเฉพาะตัว นอกจากจะสุ่มเดาไปเท่านั้น
ข้อ ๑ คำว่า น้ำลึกเงาลึก นั้น หมายความว่า ท่านผู้นั้นมีคุณธรรมอยู่ในใจแล้ว และก็ยังมีนิสัยกิริยามรรยาทการแสดงออกมาทางกายและวาจามีความสุขุมลุ่มลึก เป็นนิสัยเดิมของท่านเป็นมาอย่างนั้น ถ้าลักษณะอย่างนี้ก็พอจะเดาถูกบ้าง
ข้อ ๒ คำว่า น้ำลึกเงาตื้น หมายความว่า ท่านผู้นั้นมีคุณธรรมอยู่ภายในใจแล้ว แต่กิริยามรรยาทการแสดงออกมาทางกายและวาจาไม่มีความสำรวมเลย อยากแสดงตัวอย่างไร อยากพูดอย่างไร ก็เป็นในความไม่สำรวมทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ผิดในพระธรรมวินัย ไม่มีอกิริยาภายในใจ แต่เป็นเพียงกิริยาที่แสดงออกมาเท่านั้น ถ้าหากไปพบเห็นผู้ที่ท่านเป็นนิสัยอย่างนี้ ก็จะเดาภายในใจไปเลยว่า ท่านผู้นี้ยังเป็นปุถุชนทันที เพราะมีนิสัยไม่น่าเคารพเชื่อถือได้เลย
ข้อ ๓ น้ำตื้นเงาลึก หมายความว่า ท่านผู้นั้นยังไม่มีคุณธรรมภายในใจ แต่กิริยามรรยาทการแสดงออกมาทางกายและวาจานั้นมีความสุขุมลุ่มลึกมาก การสำรวมทางกาย การสำรวมทางวาจาน่าเลื่อมใส ใครได้พบเห็นแล้วจะเกิดความเชื่อถือเป็นอย่างมาก เพราะความ
บกพร่องในความชั่วร้ายในตัวท่านไม่มี ถ้าได้พบเห็นผู้ที่ท่านมีนิสัยอย่างนี้ ก็จะเดาไปว่าเป็นพระอริยเจ้าทันที
ข้อ ๔ น้ำตื้นเงาตื้น หมายความว่า ท่านผู้นั้นยังไม่มีคุณธรรมภายในใจเลย กิริยามรรยาทการแสดงออกทางกายทางวาจาไม่มีความสำรวมแต่อย่างใด ทำไปพูดไปตามใจชอบ ถ้าหากพบเห็นท่านผู้ใดมีกิริยาการแสดงออกมาอย่างนี้ ก็จะพอเดาถูกอยู่บ้าง
ถ้าจะดูนิสัยน้ำลึกเงาตื้น หรือดูนิสัยน้ำตื้นเงาลึก คิดว่าท่านจะต้องเดาผิดอย่างแน่นอน ฉะนั้น การสุ่มเดาว่าใครเป็นพระอริยเจ้า และใครเป็นปุถุชนนั้น จึงยากที่จะสุ่มเดาให้ถูกทั้งหมดได้ ถึงพระอริยเจ้าด้วยกันก็ยังไม่รู้กันทั้งหมดได้ เช่น พระอริยเจ้าขั้นพระโสดาบันก็ยังไม่สามารถดูภูมิธรรมของพระอริยเจ้าขั้นพระสกิทาคามี พระอริยเจ้าขั้นพระสกิทาคามีก็ไม่สามารถดูภูมิธรรมของพระอริยเจ้าขั้นพระอนาคามีได้ พระอริยเจ้าขั้นพระอนาคามีก็ไม่สามารถดูภูมิธรรมของพระอริยเจ้าขั้นพระอรหันต์ได้ แม้พระอรหันต์องค์ที่ท่านไม่มีญาณพิเศษส่วนตัว ก็ไม่สามารถรู้ภูมิธรรมขององค์อื่นได้ แต่เมื่อได้สนทนาธรรมกันแล้ว ท่านจะรู้ทันทีว่า ท่านผู้นั้นมีภูมิธรรมขั้นนั้นขั้นนี้ทันที ในบางกรณีพระอรหันต์ก็ย่อมรู้กันได้ หรือรู้ภูมิธรรมของพระอริยเจ้าขั้นอื่นได้ด้วย นั่นคือ เป็นผู้มีนิสัยเกี่ยวข้องกันมาในอดีต เคยสร้างบารมีร่วมกันมา และเคยร่วมสุขร่วมทุกข์กันมาหลายภพหลายชาติ ถ้าในกรณีอย่างนี้ก็พอรู้กันบ้าง ถึงจะรู้ท่านก็ไม่โฆษณา นอกจากว่าจะพูดเป็นนัย ๆ ให้ลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิดฟังบางโอกาสเท่านั้น เช่นว่า เพชรน้ำหนึ่งอยู่ที่โน้นที่นี้ หรือพูดว่า ท่านองค์นั้นมีสติดีแล้วนะ อย่างนี้เป็นต้น
เมื่อศาสนาล่วงเลยมาจนบัดนี้แล้ว ความคิดเห็นของแต่ละท่านก็ย่อมมีความแตกต่าง
กันไป ดังได้ยินอยู่เสมอว่า ในยุคนี้สมัยนี้ ไม่มีพระอรหันต์เกิดขึ้นได้เลย เพราะหมดยุคหมดสมัยไปแล้ว ส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจกันอย่างนี้ แต่ก็ยังมีผู้เชื่อว่าในยุคนี้สมัยนี้ยังมีพระอรหันต์อยู่ แต่ก็มีน้อยองค์ จะนับเป็นเปอร์เซ็นต์ออกมาไม่ได้ ดังคำว่า เมื่อใดยังมีผู้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอยู่ เมื่อนั้นจะไม่ขาดจากพระอรหันต์ ถึงจะมีพระอรหันต์ หรือพระอริยเจ้าขั้นอื่น ๆ น้อยก็ตาม ก็ยังนับว่ายังมีอยู่นั้นเอง ถ้าหากมีคำถามว่า ในยุคนี้สมัยนี้ถ้าหากยังมีพระอรหันต์อยู่จริง ว่าใครเป็นพระอรหันต์ ก็บอกแล้วว่าดูยากมาก ถ้าหากจะดูจริง ๆ ก็ดูอัฐิของหลวงพ่อต่าง ๆ ที่ถูกเผาไปก็แล้วกัน ถ้าอัฐินั้นได้แปรสภาพเป็นเม็ดใสเหมือนกับเมล็ดงา หรือมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง หลักจากเผาไปแล้วไม่นานนัก นั้นแหละคือพระอรหันต์โดยแท้ ส่วนพระอนาคามี พระสกิทาคามี พระโสดาบัน อัฐิยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด เพราะมีกิเลสภายในใจละยังไม่หมด บางท่านยังเข้าใจว่า อัฐิได้แปรสภาพเป็นพระธาตุตั้งแต่ภูมิธรรมพระโสดาบันขึ้นไป
ความเข้าใจอย่างนี้ไม่มีประวัติในครั้งพุทธกาลเลย ถ้าเช่นนั้น พระโสดาบันผู้ที่จะไปเกิดอีก ๗ ชาติข้างหน้าโน้น แต่ละชาติภูมิธรรมก็ไม่ได้เสื่อมไปจากใจ เมื่อตายไปแต่ละชาติ อัฐิก็จะกลายเป็นพระธาตุทุกชาติไปอย่างนั้นหรือ บางท่านก็เข้าใจว่า การอธิษฐานให้อัฐิกลายเป็นพระธาตุก็เป็นได้ นี้ความเข้าใจของคนเรา จึงมีความแตกต่างกันไป ดังได้ยินว่า อัฐิของหลวงปู่องค์นั้นได้แปรสภาพเป็นพระธาตุขึ้นมาแล้ว อีกฝ่ายหนึ่งก็สวนขึ้นมาทันทีว่า เรื่องไร้สาระหาวิธีหลอกประชาชนให้งมงาย คนประเภทนี้ก็มีอยู่ในโลก ไม่ยอมรับความจริงจากใคร ๆ ไม่ว่าในยุคนี้หรือครั้งพุทธกาล แม้พระพุทธเจ้าของเรา ก็ยังมีคนอีกประเภทหนึ่งยังไม่เชื่ออยู่นั่นเอง ฉะนั้น ในโลกนี้จึงเกิดลัทธิขึ้นมาเป็นกลุ่มเป็นคณะ แต่ละกลุ่มแต่ละหมู่ก็พยายามปกป้องในกลุ่มตัวเองและ
ปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง โจมตีกันไปว่าฝ่ายโน้นไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ไป ในที่สุดก็เกิดสงครามน้ำลายกัน หรือมากกว่านี้ก็ใช้เครื่องทุ่นแรง มีปืน มีระเบิดเข้าถล่มกัน ล้มตายกันไปทั้ง
สองฝ่าย ลักษณะอย่างนี้นับวันจะเกิดความรุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ นี่คือความแปรปรวนที่เป็น
ธรรมชาติของสัตว์โลกทั้งหลาย เมื่อถึงกาลเวลาแล้วจะต้องเป็นไปในตัวของมนุษย์เอง อาวุธทุกประเภทที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ก็เพื่อสังหารในหมู่มนุษย์กันเองมิใช่หรือ
ฉะนั้น นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้ปัญญาชนผู้มีเหตุผลเป็นส่วนตัว ก็พอจะเข้าใจแล้วว่า การเปลี่ยนไปในสังคมโลก จะเบี่ยงเบนไปในทางทิศใด ถ้าหากเราจะพิจารณาย้อนหลังลงไปสัก ๕๐ - ๑๐๐ ปีที่ผ่านมาแล้ว มาเปรียบเทียบดูในสังคมยุคปัจจุบันว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร แล้วให้คาดการณ์ล่วงหน้าไปอีกสัก ๑๐๐ - ๒๐๐ ปีข้างหน้า ก็จะรู้ว่าสังคมในหมู่มนุษย์ทั่วโลกย่อมมีการเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน
ฉะนั้น ขอนักปฏิบัติทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต บุญกุศลใดที่เราจะพึงทำในขณะนี้ก็รีบทำเอาเสีย เพราะไม่รู้ว่าชีวิตเราจะหมดไปเมื่อไร เมื่อถึงวันนั้นแล้วจะปรับตัวไม่ทัน ดังเราเห็นกันอยู่ในขณะนี้เอง และบุญกุศลที่ได้พิมพ์หนังสือประวัติหลวงพ่อทูลในครั้งนี้ ขอจงเป็นพลวปัจจัยให้ได้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมในชาติปัจจุบันนี้เทอญ.


หากมีศรัทธาท่านใดอยากพิมพ์ “อัตโนประวัติพระอาจารย์ทูล ขิปปปญโญ”
เป็นธรรมทาน โปรดติดต่อได้ที่หลวงพ่อโดยตรง
โทร. (๐๔๒) ๒๔๕–๔๔๘ หรือ กทม. ๒๘๑–๒๙๗๕
ร.ศ. วรรณี ชาลี บ้าน: โทร ๓๒๓-๐๕๑๓
ที่ทำงาน: โทร. ๒๕๘๐๓๑๐ ๓ ต่อ ๑๘๘
ร.ศ. ปรีดา นาคเนาวทิม บ้าน: โทร. ๒๗๑–๒๒๘๐, ๒๗๐–๑๔๖๙
อ. ประยูร แสงมณี บ้าน: โทร. ๓๑๖–๖๕๐๔, ๓๑๖–๗๔๘๔ - ๕๓
อ. ประพีร์พรรณ โพธิ์กระจ่าง บ้าน: โทร. ๔๒๔–๘๘๓๗
 

_________________
ท่านสามารถฟังวิทยุเสียงธรรมหลวงตามหาบัวได้ทั่วประเทศ
และโทรทัศน์ดาวเทียมเสียงธรรมทั้งภาพและเสียงได้แล้วที่
http://www.luangta.com
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัว
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง