Home
•
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทาน
•
หนังสือ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
•
แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้
ค้นหา
สมัครสมาชิก
รายชื่อสมาชิก
กลุ่มผู้ใช้
ข้อมูลส่วนตัว
เช็คข้อความส่วนตัว
เข้าสู่ระบบ(Log in)
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
จิตที่มีเครื่องคุ้มภัย
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
:: ลานธรรมจักร ::
»
บทความธรรมะ
ผู้ตั้ง
ข้อความ
สายลม
บัวเงิน
เข้าร่วม: 30 พ.ค. 2004
ตอบ: 1245
ตอบเมื่อ: 04 เม.ย.2006, 7:57 pm
จิตที่มีเครื่องคุ้มภัย [พระไพศาล วิสาโล]
เ มื่อใดที่เผลอยื่นมือไปถูกเปลวไฟ ร่างกายจะรีบถอนมือออกมาทันทีโดยไม่ต้องสั่ง คราใดที่ร่างกายถูกต้องความหนาวเหน็บ ก็จะขดตัวเองโดยอัตโนมัติทั้ง ๆ ที่ยังนอนหลับอยู่ แต่เวลาจิตใจถูกเผาลนด้วยความโกรธ เรากลับปล่อยให้ใจคลุกเคล้ากับไฟโทสะซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยไม่คิดถอนใจออกมาสู่ความสงบเย็น ทั้ง ๆ ที่ยิ่งคิดก็ยิ่งโกรธ แต่แล้วเราก็กลับย้ำคิดย้ำปรุงถึงเรื่องเก่า ๆ ที่กระหน่ำซ้ำเติมจิตใจให้เคียดแค้นชิงชังถ้อยคำที่เสียดแทงใจ ภาพที่บาดตา ล้วนปักตรึงจิตใจ แล้วเราเองนั่นแหละที่คอยย้ำทวนหวนคิดอยู่ไม่จบ จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ
ใช่แต่ไฟโทสะเท่านั้น ก็หาไม่ แม้ในยามที่จิตใจหนาวยะเยือกด้วยความเหงาว้าเหว่และความกลัว เราก็ไม่คิดที่จะถอนใจออกจากอารมณ์เหล่านั้น กลับปล่อยใจให้เข้าไปเกลือกกลั้วไม่สร่างซา จ่อมจมอยู่กับความคิดที่ต่อเติมความเหงาความว้าเหว่ให้เพิ่มพูนทับทวี อะไรที่ทำให้กลัว ก็ยิ่งจดจ่อจิตใจอยู่กับสิ่งนั้น ทั้ง ๆ ที่มันเป็นแค่มโนภาพ แต่ก็ไม่วายหวนคิดซ้ำคิดซาก ราวกับหนังที่ถูกกรอกลับมาฉายใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า
ร่างกายเมื่อเจอกับความทุกข์ มีแต่จะถอยหนี แต่ครั้นใจประสบกับความทุกข์กลับเกาะกุมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น กายรู้จักรักษาตัวโดยไม่ต้องมีคนสอนเพราะมีสัญชาตญาณคอยช่วยคุ้มภัยให้ แต่ใจนั้นแม้จะผ่านการศึกษาอบรมมากมายได้ปริญญายาวเหยียด กลับช่วยตัวเองไม่เป็นคอยหยิบฉวยเอาความทุกข์มาซ้ำเติมตัวเองอยู่ร่ำไป
อันที่จริง ทุกคนมีความปรารถนาที่จะหนีห่างจากทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ใคร ๆ ก็รู้ว่าความโกรธ ความกลัว ความเหงาว้าเหว่นั้นไม่ดี อยากจะปลดเปลี้องใจออกจากอารมณ์เหล่านี้ แต่ก็ทำได้ยาก มันเกิดขึ้นทีไรก็ต้องเผลอใจไปเป็นทาสมันทุกที ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอารมณ์เหล่านี้มีแรงดึงดูด คอยเหนี่ยวใจให้หลงจมปลักอยู่กับมัน มันทำเช่นนั้นก็เพื่อมันจะอยู่รอดได้และเติบใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เปรียบเหมือนไฟที่ต้องการเชื้อเพลิงหล่อเลี้ยง ถ้าไม่มีเชื้อเมื่อไร กองเพลิงก็ดับมอดฉันใด บรรดาอารมณ์ทั้งหลายหากเราไม่สนใจหรือคิดปรุงคิดแต่งมัน มันก็หมดพิษสงและดับไปในที่สุด
เพื่อความอยู่รอด อารมณ์เหล่านี้จึงต้องคอยเหนี่ยวใจเราไว้ให้หวนคำนึงถึงมันอยู่ทุกเวลา และยิ่งเราเฝ้าปรุงไปตามมันมากเท่าไร ก็ยิ่งเพิ่มพลังให้มันสามารถดึงดูดและครอบงำจิตใจของเราได้มากเท่านั้น กลายเป็นวงวัฏฏ์ที่ยากแก่การไถ่ถอนออกมา ไม่ต่างจากหลุมทรายดูด ยิ่งเคลื่อน ยิ่งขยับ ก็ยิ่งจม จนที่สุดก็ถูกมันกลืนไปทั้งร่าง คนส่วนใหญ่ที่ฆ่าตัวตายก็เพราะถูกความทุกข์ครอบงำจิตใจจนถอนตัวไม่ขึ้น ทั้ง ๆ ที่บางครั้งสาเหตุแรกเริ่มอาจจะดูเล็กน้อยด้วยซ้ำ วัยรุ่นบางคนปลิดชีวิตตัวเองด้วยสาเหตุเพียงเพราะอับอายสิวฝ้าบนใบหน้า แรก ๆ ก็อาจไม่รู้สึกกระไรนักแต่เมื่อถูกเพื่อน ๆ ล้อหนักเข้าก็ชักคิดมาก ยิ่งคิดก็ยิ่งอับอาย และเมื่อยิ่งอับอายก็ยิ่งครุ่นคิดมากขึ้น ในที่สุดสิวฝ้าเพียงไม่กี่เม็ดก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องโต เกิดเป็นความคับแค้นและน้อยเนื้อต่ำใจอย่างสุดแสน จนหาทางออกไม่เจอ ความตายจึงกลายเป็นที่หมายไปอย่างง่าย ๆ
คนเราเมื่อเกิดมา ก็ต้องประสบกับอารมณ์นานาชนิดอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ถ้าหากอารมณ์ต่าง ๆ มีอานุภาพต่อจิตใจปานนั้น เรามิต้องจ่อมจมกับความทุกข์ชั่วนาตาปีดอกหรือ? หามิได้ ชีวิตไม่โหดร้ายถึงเพียงนั้น ธรรมชาติมอบสัญชาตญาณเพื่อปกป้องคุ้มภัยร่างกายฉันใด จิตใจของเราก็กำเนิดเกิดขึ้นพร้อมกับเครื่องป้องกันใจฉันนั้น สิ่งนั้นได้แก่การรู้เท่าทันอารมณ์ความนึกคิด หรือที่เรียกว่า สติ นั่นเอง
อารมณ์แม้จะมีแรงดึงดูดต่อจิตใจ แต่ทุกคนก็มีความสามารถที่จะรู้อารมณ์เหล่านั้นได้ทันท่วงที จนหลุดพ้นจากการครอบงำของมันได้ ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่เรามักจะรู้ไม่เท่าทันมัน เมื่อใดที่เกิดผัสสะตากระทบรูป หูได้ยินเสียง จิตคิดนึก ก็เกิดเป็นเวทนา ครั้นรู้สึกทุกข์ขึ้นมา ก็เผลอจิตปล่อยใจไปจดจ่อกับรูป เสียง หรือความคิดนึกที่ไม่น่าอภิรมย์เหล่านั้น จุดนี้เองที่อารมณ์ต่าง ๆ สบโอกาส สามารถฉุดกระชากลากถูจิตใจของเราไปตามอำนาจของมัน
แต่ถ้าเรารู้เท่าทันมัน การฉุดกระชากลากถูก็จะหยุดชะงักขึ้นมาทันที เพราะจิตของเราจะไม่เผลอคล้อยตามอารมณ์เหล่านั้นอีกต่อไป ในขณะเดียวกันอำนาจของมันในการดึงดูดโน้มเหนี่ยวจิตใจของเราก็จะอ่อนลงไปด้วย เพราะขาดเชื้อเพลิงหล่อเลี้ยง เนื่องจากเป็นธรรมชาติของจิตที่ว่าคราใดที่เรามีสติรู้เท่าทันอารมณ์ความนึกคิด อารมณ์ความคิดนึกเหล่านั้นจะจางหายไป แม้ว่าในกรณีที่สติยังไม่เข้มแข็งคล่องแคล่วนัก อารมณ์เหล่านั้นอาจจะกลับมาอีกเพราะความเผลอของเรา แต่หากเรามีสติรู้เท่าทันบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ติดต่อกัน ก็จะทำให้อารมณ์เหล่านั้นขาดช่วงขาดตอน ผลุบ ๆ โผล่ ๆ ไม่ต่อเนื่องเป็นสาย เป็นอย่างนี้ไม่นานก็จะดับไปในที่สุดเปรียบประดุจรถที่แล่นด้วยความเร็ว แม้เหยียบเบรคทีแรกจะไม่หยุด แต่เมื่อย้ำเบรคติด ๆ กัน รถจะค่อย ๆ ชะลอจนหยุดนิ่งในที่สุด
อย่างไรก็ตาม สติไม่เหมือนกับเบรคทีเดียวนัก ตรงที่มิใช่การห้ามคิดหรือหยุดความคิด หากเป็นเพียงการรู้อารมณ์ความคิดที่กำลังเผลอปรุงเผลอตามอยู่ เพียงเท่านั้นอารมณ์ความคิดนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะมีสติมาแทนที่ จะเป็นโชคดีหรือโชคร้ายก็แล้วแต่ ธรรมชาติของจิตนั้นสามารถรับรู้ได้เพียงเรื่องเดียวในแต่ละขณะ ถ้าสติครองจิตอยู่ ความฝันฟุ้งปรุงแต่งก็ต้องล่าถอยไปโดยที่เราไม่ต้องทำอะไรมากกว่านั้น ทำนองเดียวกับน้ำเน่าน้ำเสีย เราไม่ต้องไปเสียแรงวิดดอก เพียงแต่ปล่อยให้น้ำดีไหลเข้ามาแทนที่ น้ำเน่าน้ำเสียก็จะถูกไล่ไปเอง
แต่น้ำดีนั้นไม่ได้มาหาเราเองฉันใด สติก็เป็นสิ่งที่จะต้องสร้างขึ้นมาฉันนั้น ความจริง สติมีอยู่กับทุกคนอยู่แล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ ยิ่งกว่านั้น บ่อยครั้งทุนเดิมที่มีอยู่กลับลดน้อยถอยลงด้วยซ้ำ เพราะเราปล่อยใจไปตามสิ่งเร้าสิ่งกระตุ้นมากเกินไป จนเกิดนิสัยฟุ้งซ่านขึ้นมา ลองพิจารณาดูว่าแต่ละวัน มีสิ่งยั่วยุให้เราเผลอใจอย่างไรบ้าง ตื่นขึ้นมา เพียงแค่นึกถึงงานการที่คั่งค้างหรือจราจรที่แสนจลาจล ก็ทำให้กังวลหงุดหงิดได้ง่าย ๆ จนลืมไปว่ากำลังถูฟันอยู่ ครั้นอ่านหนังสือพิมพ์ ก็มีเรื่องเร้าจิตกระตุ้นใจมากมาย ชวนให้เก็บเอามาคิดในที่ทำงาน ระหว่างที่กินข้าวกลางวัน ก็ครุ่นคิดกับการประชุมที่กำลังจะมีขึ้น ครั้นถึงเวลาประชุม ก็กลับคิดถึงงานเลี้ยงที่จะมีขึ้นในตอนเย็น พองานเลี้ยงมาถึงก็ปล่อยใจสนุกสุดเหวี่ยงเต็มที่ไปกับเสียงเพลงและการสรวลเสเฮฮา จนสติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ชะดีชะร้ายก็อาจมีเรื่องสะกิดใจ จนต้องทุ่มเถียงกับเพื่อนอย่างหัวฟัดหัวเหวี่ยง กลับบ้านแล้วก็ยังเก็บเอาความโมโหโกรธามาคิดมาปรุงต่อจนนอนไม่หลับ
สติหรือความรู้เท่าทันอารมณ์ความนึกคิดนั้นเพิ่มพูดขึ้นได้ เบื้องแรกก็โดยการหมั่นมองตนอยู่เสมอ เพื่อจะได้รู้สภาวะอาการในจิตใจของตนอย่างต่อเนื่อง ไม่เปิดโอกาสให้อารมณ์ปรุงแต่งมาครอบครองจิตโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว แต่คนเราจะทำงานทำการและหันมามองตนในเวลาเดียวกันได้อย่างไร ตรงนี้คือปัญหา เพราะการมองตนเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการควบคุมจิต จริงอยู่การกลับมาสำรวจตนเองในขณะที่ทำอะไรอยู่ก็ตามเป็นเรื่องที่ดี แต่บ่อยครั้งงานการและกิจการภายนอกก็ชักจูงจิตใจออกไปไกลจนลืมกลับมามองตน ถ้าไม่หงุดหงิดหัวเสียกับอุปสรรค ก็มักหลงเพลิดเพลินกับความสำเร็จ และความสนุกจนลืมตัว
เป็นไปได้ไหมที่เราจะทำงานทำการต่าง ๆ โดยไม่ลืมตัว? เป็นไปได้ไหมที่ความรู้ตัวจะเกิดขึ้นควบคู่กับการทำงานทำการ โดยไม่ต้องบังคับจิตให้ทันกลับมามองตนเป็นครั้งคราว? คำตอบก็คือเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ก็ต่อเมื่อเราสร้างนิสัยใหม่ให้แก่จิตใจ นั่นคือความรู้ตัวอย่างฉับไวในยามที่จิตเผลอไผล ความรู้ตัวเช่นนี้ก็จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อหมั่นฝึกจิตให้ทรงอยู่ในความปกติเสมอ จิตที่คุ้นอยู่กับปกติภาพ ยามใดที่เสียสมดุลเพราะถูกความทุกข์ครอบงำ หรือฝันฟุ้งปรุงแต่งไปไกล จิตจะรู้ทันทีว่าความผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว และหันกลับมามองว่าเกิดขึ้นกับจิตใจ ความรู้ทันในอาการผิดปกตินั้นแหละ คือสิ่งที่เรียกว่าสติ
เมื่อรู้อย่างฉับไวในอาการผิดปกติ จิตจะถอนตัวออกมาจากอารมณ์ความคิดที่ทำให้จิตเสียสมดุลได้โดยอัตโนมัติ แล้วกลับคืนสู่ปกติภาพ อันได้แก่การรู้สิ่งต่าง ๆ ตามที่เป็นจริงในขณะนั้น หรือจะเรียกว่าการอยู่กับปัจจุบันขณะก็ได้ การทรงจิตให้อยู่ในปกติภาพไม่ใช่เรื่องพ้นโลก ซึ่งจะเข้าถึงได้ก็แต่ในสภาวะจิตขั้นสูงเท่านั้น เมื่อใดที่มีความรู้ตัวทั่วพร้อมกับการถูฟัน อาบน้ำ กินข้าว ก็เท่ากับว่าจิตได้อยู่ในปกติภาพแล้ว เพราะจิตได้อยู่กับอาการปัจจุบัน รับรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างที่มันเป็น แต่ปัญหาของคนส่วนใหญ่อยู่ตรงที่แม้มือจะถูฟัน แต่ใจกลับล่องลอยไปทางอื่น ครุ่นคิดกับอดีตบ้าง กังวลกับอนาคตบ้าง คนเป็นอันมากอาบน้ำ แต่จิตไม่ได้อยู่กับการอาบน้ำ ลักษณะอาการดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นเป็นนิสัยแล้ว จิตใจก็ไม่สามารถประคองตนเองให้อยู่ในปกติภาพได้ คอยแต่จะเอียงกระเท่เร่หากไม่ยินดีก็ยินร้าย ไม่รักก็ชัง ไม่สุขก็ทุกข์
การฝึกจิตให้มีสติ ควรก้าวไปถึงขั้นรู้กายรู้ใจ รู้กาย คือรู้ตัวทุกขณะในยามทำกิจใด ๆ ไม่ว่าจะล้างจาน ทำกับข้าว ขับรถ ก็รู้ตัวว่ากำลังทำสิ่งนั้น ๆ อยู่ รู้ใจคือการรู้เท่าทันอารมณ์ความคิดที่มาดึงจิตให้คลาดออกจากงานการที่กำลังทำอยู่ ถ้าตาอ่านหนังสือแต่ใจไปคิดถึงเรื่องนัดหมายกับแฟน ก็แสดงว่าเผลอสติแล้ว ในทำนองเดียวกันถึงมือจะล้างจานแต่ใจไม่รู้ลอยไปไหน ก็เรียกว่าไม่รู้ตัวแล้ว เพราะผัสสะต่าง ๆ ในขณะนั้นจะลางเลือน จนแทบไม่รู้สึกถึงการสัมผัสระหว่างมือกับจานและน้ำ สภาวะที่พร่ามัว ไม่กระจ่างชัดนี้จะเรียกว่าสภาวะสะลึมสะลือก็ได้ ตรงกันข้ามผู้ที่ประคองจิตอยู่กับการล้างจานอย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกต่าง ๆ จะชัดเจนไปทั้งตัว จึงเรียกว่าความรู้ตัวทั่วพร้อม และเป็นเพราะความกระจ่างชัดในผัสสะนั้นเอง บางคนจึงเรียกว่าสภาวะแห่งความตื่น
การประคองใจให้อิงแอบแนบแน่นอยู่กับลมหายใจ หรืออยู่กับอิริยาบถที่เคลื่อนไหวไปมา โดยไม่โลดแล่นเผลอไผลไปกับอารมณ์ความนึกคิดที่ผุดขึ้นมา เป็นการเจริญสติที่ลัดตรง และเป็นแบบแผนที่นิยมปฏิบัติสืบทอดกันมา แต่ไม่พึงจำกัดแต่เฉพาะเวลาเข้าวัดเท่านั้น ควรเข้าใจว่าโอกาสและเวทีอย่างดีสำหรับการสร้างสตินั้นมีอยู่ในทุกที่ แม้กระทั่งในบ้าน ในที่ทำงาน หรือแม้แต่บนท้องถนนยามรถติดขนัด ไม่ว่าจะทำอะไร จะเป็นงานทางกายหรืองานทางความคิดก็แล้วแต่ ก็ขอให้ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง เผลอใจไปเมื่อไร ก็ให้รู้ แล้วกลับมาอยู่กับงานการนั้น ๆ ตามเดิม
ถ้าทำเช่นนั้นได้ ขั้นต่อไปก็คือการฝึกจิตไม่ให้หวั่นไหวไปกับความยินดียินร้าย อะไรที่ไม่น่าพึงพอใจ ก็อย่าปล่อยใจไปกับความชังความผิดหวัง พึงประคองจิตอย่าให้ตก ยามทุกข์ก็อย่าปล่อยใจให้จมอยู่กับความทุกข์ หัดสลัด หัดวาง โดยโน้มจิตให้ไปจดจ่ออยู่กับสิ่งอื่นแทน คราใดจิตถูกเหนี่ยวให้ไปคลอเคลียกับทุกข์อีก รู้ตัวเมื่อไรก็พยายามไถ่ถอนจิตออกมา ถ้าทำเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จิตจะรู้จักและเท่าทันกลอุบายของความทุกข์ได้มากขึ้น แต่จะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องเหนี่ยวรั้งจิตไม่ให้ดีใจอย่างสุดเนื้อสุดตัว จิตที่ถาโถมเข้าหาความเพลิดเพลินยินดีอย่างเอร็ดอร่อย เมื่อถึงคราวทุกข์ ก็ทุกข์อย่างสุดเนื้อสุดตัวเหมือนกัน เพราะเป็นจิตที่ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ จึงง่ายที่จะถูกดูดเข้าหาอารมณ์อะไรก็ได้ ที่มีความเข้มข้นรุนแรงจิตเช่นนี้ถูกเร้าถูกกระตุ้นได้ง่าย จึงต้องกระเพื่อมขึ้นลงซ้ำแล้วซ้ำเล่า คนเรานั้น ยามจิตกระเพื่อมขึ้นด้วยความยินดี ก็ไม่สู้กระไร แต่ครั้นกระเพื่อมลงเพราะความยินร้าย กลับทุรนทุราย ดังนั้นถ้ากลัวความทุกข์ก็พึงระวังความสุขไว้ด้วย
จิตที่มีคุณภาพใหม่ด้วยอำนาจของสติ ย่อมเป็นจิตที่สามารถป้องกันตนเองได้ เมื่อเผชิญกับความทุกข์ ความทุกข์ก็ไม่อาจแม้แต่จะลามเลียได้ หรือถึงถูกความทุกข์เผาลน ก็รู้จักถอนใจออกมาได้ อย่างน้อยก็รู้จักดึงดุ้นฟืนออกจากกองเพลิงแห่งทุกข์ จนมันมอดดับไปในที่สุด จิตเช่นนี้มิใช่หรือคือจิตที่มีภูมิต้านทาน และเครื่องปกป้องคุ้มภัย เช่นเดียวกับร่างกาย.
..................................................................................
คัดลอกจาก
http://www.khonnaruk.com/html/verandah.html
_________________
"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"
I am
ผู้เยี่ยมชม
ตอบเมื่อ: 05 เม.ย.2006, 7:19 am
สติต้องฝึกต้องรักษาจริงๆ ครับ สาธุ...
ข้าน้อย
ผู้เยี่ยมชม
ตอบเมื่อ: 05 เม.ย.2006, 9:02 am
เป็นเรื่องที่เยี่ยมมากครับ ขอบพระคุณครับ
การประครองสติให้รู้อยู่กับสิ่งที่ทำตลอด คือสมาธิในขั้นต้นนั่นเอง การประครองสตินั้นเป็นเรื่องยาก ต้องอาศัยวิริยะอย่างมาก และมีศรัทธาแน่วแน่ว่าตนเองสามารถทำได้ หมั่นทำบ่อยๆย่อมเกิดปัญญาคือความรู้แจ้ง จากจิตที่บริสุทธิ์ นั่นคือ
อินทรีย์ห้าเกิดขึ้นแล้วครับ
ลูกโป่ง
บัวแก้ว
เข้าร่วม: 01 ส.ค. 2005
ตอบ: 4089
ตอบเมื่อ: 06 เม.ย.2006, 11:50 am
อนุโมทนาบุญด้วยค่ะ...คุณสายลม
สวัสดีค่ะ...คุณ I am คุณข้าน้อย และญาติธรรมทุกท่าน
หมั่นรักษาจิต...รักษาสติ...ให้รู้ตัวอยู่เสมอ
จะสามารถเป็นเครื่องกั้นกิเลส
ที่มาทำให้เกิดโลภ โกรธ หลง
รักษาใจให้บริสุทธิ์
จิตใจจะได้ไม่เศร้าหมอง
เจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไปนะคะ
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:
แสดงทั้งหมด
1 วัน
7 วัน
2 สัปดาห์
1 เดือน
3 เดือน
6 เดือน
1 ปี
เรียงจากเก่า-ใหม่
เรียงจากใหม่-เก่า
:: ลานธรรมจักร ::
»
บทความธรรมะ
ไปที่:
เลือกกลุ่ม บอร์ด
กลุ่มสนทนา
----------------
สนทนาธรรมทั่วไป
แนะนำตัว
กฎแห่งกรรม
สมาธิ
ฝึกสติ
การสวดมนต์
การรักษาศีล-การบวช
ความรัก-ผูกพัน-พลัดพลาก
กลุ่มข่าวสาร-ติดต่อ
----------------
ข่าวประชาสัมพันธ์
ธรรมทาน
รูปภาพ-ประมวลภาพกิจกรรมต่างๆ
สำหรับนักเรียน นักศึกษา ขอความรู้ทำรายงาน
แจ้งปัญหา
รูปภาพในบอร์ด
กลุ่มสาระธรรม
----------------
หนังสือธรรมะ
บทความธรรมะ
นิทาน-การ์ตูน
กวีธรรม
นานาสาระ
ต้นไม้ในพุทธประวัติ
วิทยุธรรมะ
ศาสนสถานและศาสนพิธี
----------------
สถานที่ปฏิบัติธรรม
วัดและศาสนสถาน
พิธีกรรมทางศาสนา
พุทธศาสนบุคคล
----------------
พระพุทธเจ้า
ประวัติพระอสีติมหาสาวก
ประวัติเอตทัคคะ (ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา)
สมเด็จพระสังฆราชไทย
ประวัติและปฏิปทาของครูบาอาจารย์
ในหลวงกับพระสุปฏิปันโน
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณ
ไม่สามารถ
สร้างหัวข้อใหม่
คุณ
ไม่สามารถ
พิมพ์ตอบ
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลบข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลงคะแนน
คุณ
สามารถ
แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ
สามารถ
ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
เลือกบอร์ด •
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทานธรรมะ
•
หนังสือธรรมะ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
สถานที่ปฏิบัติธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ
•
วิทยุธรรมะ
•
เสียงธรรม
•
เสียงสวดมนต์
•
ประวัติพระพุทธเจ้า
•
ประวัติมหาสาวก
•
ประวัติเอตทัคคะ
•
ประวัติพระสงฆ์
•
ธรรมทาน
•
แจ้งปัญหา
จัดทำโดย กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ
webmaster@dhammajak.net
Powered by
phpBB
© 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
www.Stats.in.th