Home
•
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทาน
•
หนังสือ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
•
แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้
ค้นหา
สมัครสมาชิก
รายชื่อสมาชิก
กลุ่มผู้ใช้
ข้อมูลส่วนตัว
เช็คข้อความส่วนตัว
เข้าสู่ระบบ(Log in)
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
รบกวนท่านช่วยอธิบายหน่อยครับผม
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
:: ลานธรรมจักร ::
»
สนทนาธรรมทั่วไป
ผู้ตั้ง
ข้อความ
อยากกระจ่าง
ผู้เยี่ยมชม
ตอบเมื่อ: 14 ต.ค.2005, 8:12 am
สมุหทัย/อิทัปปัจจยตา/ทุกข์ มีความสัมพันธ์กันยังไงครับ
ขอบคุณครับ
max
ผู้เยี่ยมชม
ตอบเมื่อ: 14 ต.ค.2005, 9:06 am
มีความจริงอยู่ 4 ประการคือ การมีอยู่ของทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และ หนทางไปสู่ความดับทุกข์ ความจริงเหล่านี้เรียกว่า อริยสัจ 4
1. ทุกข์
คือ การมีอยู่ของทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ และตายล้วนเป็นทุกข์ ความเศร้าโศก ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความวิตกกังวล ความกลัวและความผิดหวังล้วนเป็น ทุกข์ การพลัดพรากจากของที่รักก็เป็นทุกข์ ความเกลียดก็เป็นทุกข์ ความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น ความยึดติดในขันธ์ทั้ง 5 ล้วนเป็นทุกข์
2. สมุทัย
คือ เหตุแห่งทุกข์ เพราะอวิชา ผู้คนจึงไม่สามารถเห็นความจริงของชีวิต พวกเขาตกอยู่ในเปลวเพลิงแห่งตัณหา ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความเศร้าโศก ความวิตกกังวล ความกลัว และความผิดหวัง
3. นิโรธ
คือ ความดับทุกข์ การเข้าใจความจริงของชีวิตนำไปสู่การดับความเศร้า โศกทั้งมวล อันยังให้เกิดความสงบและความเบิกบาน
4. มรรค
คือ หนทางนำไปสู่ความดับทุกข์ อันได้แก่ อริยมรรค 8 ซึ่งได้รับการหล่อ เลี้ยงด้วยการดำรงชีวิตอย่างมีสติความมีสตินำไปสู่สมาธิและปัญญาซึ่งจะปลดปล่อย ให้พ้นจากความทุกข์และความโศกเศร้าทั้งมวลอันจะนำไปสู่ความศานติและ ความเบิกบาน พระพุทธองค์ได้ทรงเมตตานำทางพวกเราไปตามหนทางแห่งความรู้แจ้งนี้
เพื่อความเข้าใจในวงจรปฏิจจสมุปบาทคลิ๊กครับ
http://www.nkgen.com/1mainpage.htm#title
Jr_m
บัวผลิหน่อ
เข้าร่วม: 17 ต.ค. 2005
ตอบ: 7
ตอบเมื่อ: 17 ต.ค.2005, 3:26 pm
ดีใจมากที่ผ่านมาเห็นเวปนี้โดยบังเอิญ เมื่อเห็น เมื่อได้อ่าน ได้รับรุ้ ก็เลยขอร่วมด้วยซักคนนะครับ
จากกระทู้ข้างบนนี้ เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ในความทุกข์ ผมว่า มันเป็นเรื่องทุกข์ทั้งหมดแหละครับ พระพุทธองค์ สอนแต่เรื่อง ทุกข์ กับเรื่อง การดับทุกข์ล้วนๆ แต่ผมหนักใจเป็นห่วงอยู่อย่างเดียว คือครูผุ้สอนในปัจจุบัน มักไม่เอาคำสอนของพระพุทธองค์มาสอนโดยตรง กับเอาความคิดเห็นของตัวเองสอดแทรกลงไปด้วย ทำให้คำสอนพุทศาสนา ไปกันคนละทิศละทาง ขึ้นอยู่กับความศรัทธาในตัวบุคคล (ความดังของหลวงปู่ หลวงตา) ที่จริงแล้วเราควรพิจารณาด้วยตนเองให้มากที่สุด ถอดความให้ออก อ่านความหมายให้ลึกซึ้ง แล้วนำมาปฏิบัติ ถึงจะเข้าใจ สิ่งที่พระพุทธองค์ตรัส เป็นวิทยาศาสตร์ทั้งหมดครับ พิสูจน์ได้หมด
เป็น อกาลิโก = ไม่มีกาลเวลา หมายถึงอยู่ได้ทุกยุคทุกสมัย
เป็น..สัณทิฐิโก = เห็นตามได้
เป็น..เอหิปัสสิโก = พิสูจน์ได้
เป็น..โอปณยิโก = นำมาปฏิบัติได้
เป็น..ปัจจัตตัง - เวทิตัพโพ - วิญญูหิ = รู้ได้ด้วยตนเอง
ตรงที่รู้ได้ด้วยตัวเอง นี่แหละครับ สำคัญ เพราะทำให้เรา มีสติ มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เห็นความเป็นไปในสิ่งต่างๆทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติทั้งสิ้น...
อะไรคือธรรมชาติ - ธรรมชาติ คือ ธัมมะ + ชาตะ แผลง อะ เป็น อิ ตามศัพท์ เทคนิคทางภาษา
ธัมมะ คือความเป็นไปอย่าง ธรรมดา
ชาตะ คือการเกิด
เมื่อสองคำมารวมกัน ก็หมายถึง ความเป็นไปธรรมดาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ นั่นเอง
เหมือนกับคำว่า "อิทัปปัจยตา" มาจากคำสามคำ คือ อิทุ+ปัจจัย+ตา
อิทุ (อิทัป) ตามเทคนิคทางภาษา...= สิ่งนี้
ปัจจัย = เหตุ
ตา = ความ - เรื่อง - เป็นไป
อิทัปปัจจยตา = เพระสิ่งนี้เป็นเหตปัจจัย สิ่งนี้จึงมี หรือ จะพูดว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี
ถ้ามองกันตามรูปภาษา งงตาย
.....ถ้าถอดใจความตามกระบวนการพิจารณาไตร่ตรอง ก็จะมองเห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีของมันอยู่เป็นธรรมดาของธรรมชาติ แต่ละอย่างมันมีเหตุปรุงแต่ง ทำให้แต่ละสิ่งแต่ละอย่าง เปลี่ยนแปลงไปเป็นลูกโซ่ เกิดเป็นตัวอ่อน ได้น้ำ ได้นม ได้อาหาร มันก็โต นี่คือปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จะเห็นได้ว่า มันเป็นไป่ตามธรรมดา ของธรรมชาติ
แล้วเราจะหลีกหนีธรรมชาติได้หรือ ในเมื่อ มันเป็นไปของมันเอง เพราะเหตุปัจจัยที่มีอยู่
เพราะฉะนั้น ความสุข ความทุกข์ที่มีที่เกิด เราต้องรุ้ทัน พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ไม่เกิดเป็นดีที่สุด....คำว่าไม่เกิด (ในความเข้าใจของผมเองนะ) หมายถึง ไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ หรือ อีกนัยหนึ่งคือ อย่าเกิดทุกข์ เมื่อทุกข์จะเกิดก็ "ดับ" ซะ ดับในที่นี้ไม่ได้หมายถึง...ตาย... แต่ดับความทุกข์ เหมือนที่พระพุทธองค์ ดับ ก่อนปรินิพพาน
.....คำว่า เกิด ดับ..... จึงไม่ได้หมายถึง เกิดจากท้องแม่ แล้วก็ ดับ คือตายจากกัน..
มันเป็น ....อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปปาโท...เช่นนี้แล.
max
ผู้เยี่ยมชม
ตอบเมื่อ: 18 ต.ค.2005, 5:07 pm
ในครั้งนั้น ท่านพระอัสสชิเถระได้เดินเข้าไปบิณฑบาตในเมืองเวสาลีในเวลาเช้า สัจจกนิครนถ์ก็ออกเดินในเวลาเช้า เมื่อได้เห็นท่านพระอัสสชิจึ่งได้เดินเข้าไปหาท่าน และก็ได้ตั้งปัญหาถามท่านขึ้นว่า พระสมณโคดมแนะนำพวกสาวกอย่างไร คำสั่งสอนของพระสมณโคดมมีส่วนอย่างไรที่เป็นไปมากในพวกสาวก
ท่านพระอัสสชิก็ได้ตอบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำสาวกทั้งหลายที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย ดังที่เราได้สวดกันในเวลาหลังทำวัตรเช้านั้น คือทรงสั่งสอนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปเป็นอนัตตาไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ดั่งนี้
สัจจกนิครน๔ได้กล่าวว่า จะไปพบกับพระสมณโคดม จะได้สนทนากันบ้าง ถ้ากระไร ตนก็จะได้ปลดเปลื้องพระสมณโคดมเสียจากความเห็นที่เลวทรามนั้น
เมื่อสัจจกนิครนถ์ได้กล่าวฝากไปดังนี้ก็ได้ชักชวนเจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ประมาณ ๕๐๐ องค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และก็ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ทรงสอนพวกสาวกทั้งหลายมากอย่างไร หรือว่าอย่างไรเป็นส่วนมาก
พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสตอบเหมือนอย่างที่ท่านพระอัสสชิได้กล่าวตอบนั้น
สัจจกนิครนถ์จึงได้กล่าวแย้งว่า เหมือนอย่างว่าพืชพันธุ์ไม้ก็ดี บุคคลจะทำการงานอะไรก็ดี ก็ต้องอาศัยแผ่นดิน ต้องตั้งอยู่ในแผ่นดิน ต้นไม้จึงจะเกิดเจริญได้ การงานจึงจะทำได้ฉันใด บุคคลก็ฉันนั้น มีรูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นต้น ต้องตั้งอยู่ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จึ่งจะได้ประสบผลบุญผลบาปฉันนั้น
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามสัจจกนิครนถ์ให้ยืนยันถ้อยคำของตนว่า ท่านกล่าวอย่างนี้ว่า รูปเป็นของตน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของตน ดั่งนี้ใช่หรือไม่
สัจจกนิครนถ์ก็กราบทูลว่า ได้กล่าวดั่งนั้น
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามสัจจกนิครนถ์ว่า พระองค์จะตรัสสอบถาม ขอให้แก้ตามที่เห็นสมควร ในอาณาเขตใดอาณาเขตหนึ่งของพระราชาองค์ใดองค์หนึ่ง พระราชาองค์ใดองค์หนึ่งนั้น ย่อมมีอำนาจที่จะทำอะไรได้ในอาณาเขตนั้น ใช่หรือไม่ เช่นว่า มีอำนาจที่จะฆ่าคนที่ควรฆ่า ริราชบาตรคนที่ควรริบ เนรเทศคนที่ควรเนรเทศ
สัจจกนิครนถ์ก็ได้ทูลว่า พระราชาผู้ครองแคว้นใดแคว้นหนึ่งเหล่านั้น ย่อมทรงมีพระราชอำนาจที่จะทำเช่นนั้นได้ในแคว้นที่ทรงปกครองอยู่
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามว่า ก็ข้อที่ท่านกล่าวว่ารูปเป็นตน หรือว่ารูปเป็นตนของเรา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของเราจงเป็นดั่งนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนี้เลย ดั่งนี้หรือ
สัจจกนิครนถ์ก็นิ่งเสีย ๒ ครั้ง
พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า เวลาบัดนี้ไม่ใช่เป็นเวลาที่จะนิ่ง แต่จงแก้
ในที่สุด สัจจกนิครนถ์ก็ต้องทูลแก้ว่า ข้อนี้เป็นไปไม่ได้เลย คือข้อที่ว่า จะมีอำนาจบังคับให้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นไปอย่างนี้ อย่าเป็นไปอย่างนั้น
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสย้ำว่า ให้คิดดูเสียให้ดี คำที่พูดไว้ก่อน กับคำที่พูดทีหลังตรงกัน หรือขัดแย้งกัน เพราะว่า ทีแรกพูดว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นของตน เมื่อเป็นดั่งนี้จึงต้องหมายความว่า มีอำนาจเป็นไปในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และขอให้เป็นดั่งนี้ อย่าให้เป็นอย่างนั้น
สัจจกนิครนถ์ก็ยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามต่อไปว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง
สัจจกนิครนถ์ก็ได้ทูลตอบว่า ไม่เที่ยง จึงได้ตรัสถามต่อไปว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ก็ทูลว่า สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ก็ตรัสถามต่อไปว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นสิ่งนั้นว่านั่นเป็นเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาตัวตนของเรา
สัจจกนิครนถ์ก็ทูลว่า ข้อนั้นไม่ควรเลย
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามต่อไปว่า ก็ผู้ที่ติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์ กล้ำกลืนทุกข์ แล้วยังตามเห็นว่าทุกข์นั้นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเราดั่งนั้น จะกำหนดทุกข์ได้เอง หรือจะทำทุกข์ให้สิ้นไปได้อยู่มีบ้างหรือ
สัจจกนิครนถ์ก็กราบทูลว่า จะพึงมีได้เพราะเหตุไร ข้อนี้มีไม่ได้
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสชี้เข้ามาที่ตัวของสัจจกนิครนถ์นั้นว่า เมื่อเป็นดั่งนี้ ท่านก็ติดทุกข์ เข้าถึงทุกข์ กล้ำกลืนทุกข์แล้ว ก็ยังตามเห็นทุกข์ว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตนของเรา ดั่งนี้มิใช่หรือ
พระพุทธเจ้าตรัสถามดั่งนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ ก็ยอมรับว่า ข้อนี้ต้องเป็นอย่างนั้น
ก็เป็นอันว่า สัจจกนิครนถ์ต้องยอมรับในสัจจธรรมตามเหตุและผลของพระพุทธเจ้าและก็เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงชนะสัจจกนิครนถ์ที่ยังไม่เคยแพ้ใครมา และสัจจกนิครนถ์ก็กราบทูลถามพระพุทธเจ้าต่อไปว่า ด้วยเหตุเท่าไร สาวกของพระโคดมจึงชื่อว่าเป็นผู้ทำตามคำสั่งสอน ทำถูกโอวาท ข้ามความสงสัยเสียได้ ปราศจากความแคลงใจ อันเป็นเหตุให้กล่าวว่า ข้อนี้เป็นอย่างไร ถึงความแกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น อยู่ในคำสอนของศาสดาตน
พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ ย่อมเห็นเบญจขันธ์ด้วยปัญญาอันชอบ ตามเป็นจริงดั่งนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่ยังมาไม่ถึง ทั้งที่เกิดขึ้นในบัดนี้ ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี ตั้งอยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี ทั้งห
xxx
็เป็นแต่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเราดั่งนี้ ด้วยเหตุเท่านี้แหละสาวกของเราจึงชื่อว่า เป็นผู้ทำตามคำสั่งสอน ทำถูกตามโอวาท ข้ามความสงสัยเสียได้ ปราศจากความแคลงใจอันเป็นเหตุให้กล่าวว่า ข้อนี้เป็นอย่างไร ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น อยู่ในคำสั่งสอนของศาสดาตน
สัจจกนิครนถ์ได้กราบทูลถามต่อไปว่า ด้วยเหตุเท่าไร ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ มีกิจที่ควรทำ ทำสำเร็จแล้ว ปลงภาระเสียได้ มีประโยชน์ตนถึงแล้วโดยลำดับ มีสังโยชน์อันนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้วเพราะรู้ชอบ
พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ภิกษุมนธรรมวินัยนี้ เห็นเบญจขันธ์ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่ล่วงไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่มาถึง ทั้งที่เกิดเฉพาะในบัดนี้ ที่เป็นภายในก็ดี ที่เป็นภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี ตั้งอยู่ในที่ไกลก็ดี ที่ใกล้ก็ดี ทั้งหมดเป็นแต่รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาตัวตนของเราดั่งนี้ จึ่งพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น ด้วยเหตุเท่านี้แหละ ภิกษุชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระเสียได้ มีประโยชน์ตนถึงแล้วโดยลำดับ มีสังโยชน์อันนำไปสู่ภพสิ้นแล้ว พ้นวิเศษแล้ว เพราะรู้ชอบ ภิกษุผู้ที่พ้นวิเศษแล้วอย่างนี้แหละ ประกอบด้วยคุณอันยอดเยี่ยม ๓ ประการคือ
ความเห็นอันยอดเยี่ยม ๑
ความปฏิบัติอันยอดเยี่ยม ๑
ความพ้นวิเศษอันยอดเยี่ยม ๑
เรียกตามศัพท์ธรรมว่า
ทัสสนานุตตริยะ ความเห็นอันยอดเยี่ยม
ปฏิปทานุตตริยะ ความปฏิบัติอันยอดเยี่ยม
วิมุตตานุตตริยะ ความพ้นวิเศษอันยอดเยี่ยม
เมื่อจิตพ้นกิเลสแล้วดั่งนี้ ย่อมสักการะเคารพนับถือบูชาตถาคตว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นตรัสรู้แล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อให้ตรัสรู้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงฝึกพระองค์แล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อฝึก พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นสงบแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อสงบ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นพ้นแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อข้ามพ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงดับสนิทแล้ว ย่อมทรงแสดงธรรมเพื่อความดับสนิท
สัจจกนิครนถ์ได้ทูลสารภาพตนเอง ยกย่องพระพุทธเจ้าว่า ตนนั้นเป็นคนคอยกำจัดผู้อื่น เป็นคนคอยคะนองวาจา ได้สำคัญถ้อยคำของพระโคดมว่าตนอาจรุกรานได้ด้วยถ้อยคำของตน บุรุษมาปะทะช้างซับมันเข้าก็ดี เจอะกองไฟอันกำลังลุกโพลงเข้าก็ดี เจอะงูพิษที่มีพิษร้ายก็ดี ยังพอเอาตัวรอดได้บ้าง แต่มาเจอะพระโคดมเข้าแล้ว ไม่มีเอาตัวรอดได้เลย ข้าแต่พระโคดม ข้าพเจ้าเป็นคนคอยกำจัดผู้อื่น เป็นคนคอยคะนองวาจา ได้สำคัญถ้อยคำของพระโคดมว่า ตนอาจรุกรานได้ด้วยถ้อยคำของตน ขอพระโคดมพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จงรับนิมนต์เพื่อฉันในวันพรุ่งนี้
เมื่อได้นิมนต์พระพุทธเจ้าเพื่อทรงรับบิณฑบาตที่อารามของตนในวันรุ่งขึ้นแล้ว ก็ได้กล่าวชักชวนเจ้าลิจฉวีทั้งหลายไปร่วมถวายอาหารพระพุทธเจ้า วันรุ่งขึ้นพระพุทธเจ้าพร้อมพระสงฆ์สาวกก็ได้เสด็จไปยังอารามของสัจจกนิครนถ์ ทรงรับอาหารบิณฑบาตเสวยพร้อมกับพระสงฆ์เสร็จแล้ว สัจจกนิครนถ์จึงทูลขอให้บุญและผลบุญที่มีในทานนี้ จงมีเพื่อความสุขแก่ทายกทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า บุญและผลบุญในทานนี้อาศัยทักขิไณยบุคคลที่ยังไม่สิ้นราคะ โทสะ โมหะ เช่นกับท่าน จงมีแก่ทายกทั้งหลาย ส่วนบุญและผลบุญอาศัยทักขิไณยบุคคลที่สิ้น ราคะ โทสะ โมหะเช่นเรา จักมีแก่ท่าน คือจักมีแก่สัจจกนิครนถ์ ฉะนี้
ก็เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงชนะสัจจกนิครนถ์ในการที่ สัจจกนิครนถ์มุ่งมาทูลโต้วาทะกับพระองค์ และสัจจกนิครนถ์ก็ได้ยอมรับธรรมที่พระพุทธจ้าทรงแสดงอย่างจริงใจ และก็ได้ถวายทาน คืออาหารบิณฑบาตแก่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก
ฉะนั้น เรื่องสัจจกนิครนถ์ที่มากราบทูลถามพระพุทธเจ้าเพื่อโต้วาทะ และที่พระองค์ได้ตรัสตอบนี้ จึงเป็นข้อธรรมที่มีสารัตถะ คือเนื้อความที่เป็นสาระแก่นสารตั้งแต่ต้นมาจนจบ และโดยเฉพาก็เป็นภูมิปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐานโดยตรง อันผู้ปฏิบัติทางสมถะปละวิปัสสนา โดยเฉพาะทางวิปัสสนาจะพึงถือเป็นแนวปฏิบัติได้ และก็แสดงถึงภูมิธรรมของท่านพระอัสสชิเถระที่ท่านสามารถแสดงธรรมในพุทธศาสนา จับเอาสาระสำคัญขึ้นแสดงโดยย่อ ซึ่งคำตอบของท่านพระอัสสชิเถระต่อคำถาม อันเป็นคำตอบที่แสดงธรรมในพุทธศาสนาอย่างย่อที่สุด แปลว่าเป็นคำตอบแสดงธรรมถึงขั้นที่เรียกว่าเป็นหัวใจ ที่ปรากฏอยู่ในประวัติก็คำตอบของท่านต่อคำถามของพระสารีบุตรเถระเมื่อยังเป็นปริพาชก ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ได้เห็นท่านพระอัสสชิเดินทางมาบิณฑบาต มีอาการสำรวมเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส จึงได้คิดว่า ท่านบรรพชิตผู้นี้จะต้องมีศาสดาที่ดี มีธรรมที่ดี จึงมีอากัปกิริยาที่สำรวมน่าเลื่อมใส จึงได้ติดตามท่านอัสสชิไป เมื่อได้โอกาสก็ได้ถามปัญหาท่าน ท่านก็ตอบว่า ท่านเพิ่งเข้ามาใหม่ ยังไม่มีความรู้อะไรกว้างขวาง จะตองได้ก็แต่โดยย่อ ท่านพระสารีบุตรก็ตอบว่า ขอให้ตอบโดยย่อ เพราะก็พอใจที่จะได้รับคำตอบแต่โดยย่อ ท่านพระอัสสชิจึงได้ตอบที่ท่านมาผูกไว้เป็นคาถาอันเป็นที่นับถือว่าเป็นหัวใจอริยสัจ จารึกอยู่ในศิลาจารึกทั้งหลายของพระเจ้าอโศกเป็นอันมากว่า
เตสญฺจ โย นิโรโธ จ เอวํวาที มหาสมโณ
ซึ่งแปลความว่า
ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด หรือว่าเกิดแต่เหตุ พระมหาสมณะ ตรัสเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้ ดั่งนี้
คาถานี้เป็นคาถาที่มีชื่อเสียง ถือว่าเป็นหัวใจของอริยสัจหรือพุทธศาสนาดังกล่าว ก็เป็นคำตอบของพระอัสสชิ และในเรื่องสัจจกนิครนถ์นี้ก็บังเอิญให้สัจจกนิครนถ์ได้ไปพบพระอัสสชิอีก ซึ่งท่านก็เดินบิณฑบาต ก็ไปถามท่านอีกว่า พระพุทธเจ้านั้นตรัสสอนสาวกทั้งหลายเป็นส่วนมากอย่างไร ถามเอาเฉพาะมี่เป็นส่วนมากด้วย คือที่สอนมาก สอนบ่อย ๆ นั้นสอนอย่างไร
ซึ่งคำตอบของท่านนี้ เราก็ได้นำมาสวดกันอยู่ทุกวัน ในบทสวดตอนทำวัตรเช้า ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็เป็นถ้อยคำตอบของท่านพระอัสสชิอีกเหมือนกัน และก็เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนสาวกมากจริง ๆ ให้ใช้ปัญญาพิจารณาว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนิจจะ ไม่เที่ยง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตาตัวตน สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตามิใช่ตัวตน ดั่งนี้
นั่งขัดสมาธิ ต้องศึกษากำหนดว่า
หนึ่งต้องศึกษากำหนดให้รู้จักว่า รูปเป็นอย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ สังขารเป็นอย่างนี้ วิญญาณเป็นอย่างนี้ นี้เรียกว่าวิปัสสนาภูมิ
สองเมื่อรู้จักตัววิปัสสนาภูมิตามข้อ ๑ ก็กำหนดพิจารณาว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนิจจะ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน
ข้อว่าไม่เที่ยงนั้นก็คือ เป็นสิ่งที่เกิดดับ ข้อที่ว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตนนั้น เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาไม่ได้ ว่าขอให้รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณจงเป็นอย่างนี้ อย่าได้เป็นอย่างนั้น ฉะนั้น จึงไม่ควรที่จะเห็น ยึดถือว่า เอตัง มะมะ นี่เป็นของเรา เอโสหะมัสมิ เราเป็นนี่ เอโส เม อัตตา นี่เป็นอัตตา ตัวตนของเรา ที่พูดกันสั้น ๆ ว่า มิใช่ตัวเรา มิใช่ของเรา และ
สามเพื่อพิจารณาแยกแต่ละอย่าง คือแยกแต่ละอย่าง ว่ารูป ว่าเวทนา ว่าสัญญา ว่าสังขาร ว่าวิญญาณ แต่ละข้อว่าเป็นอนิจจะ เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดั่งนี้แล้ว ก็มาถึงข้อสาม ก็คือพิจารณารวมเข้ามาว่า สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งปวงเป็นอนิจจะ ไม่เที่ยง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน
ข้อสามนี้ มีข้อที่จะอธิบายแยกแยะให้เข้าใจ คือ
ข้อ ๓.๑ข้อว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ก็คือว่า สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง เป็นคำรวมของสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ละข้อนั้นก็ล้วนเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น จึงรวมเข้าในคำว่าสังขารคำเดียว และแม้ว่าจะเป็นสิ่งอื่นใด คือจะเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของสัตว์ทั้งหลายในโลก เช่น บรรดาสัตว์เดียรัจฉานทั้งหลาย ช้าง ม้า โค กระบือเป็นต้น ก็ดี และแม้ว่าจะเป็นสิ่งทั้งหลายในโลกที่ไม่มีใจครอง เช่น แผ่นดิน ภูเขา ทุก ๆ อย่างซึ่งเราได้เรียนกันมาว่าเป็น อุปาทินกสังขาร สังขารที่มีใจครอง อนุปาทินนกสังขาร สังขารที่ไม่มีใจครอง ก็รวมเข้าในคำว่าสังขารทั้งหมด ตลอดถึงกรรมที่ประกอบกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ รวมทั้งข้อปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ต่าง ๆ ก็ไม่พ้นไปจากคำว่าสังขาร เพราะว่าต้องผสมปรุงแต่งจึงจะเป็นขึ้นมา เช่นว่า กรรมก็ต้องทำ จึงจะเป็นกรรมขึ้นมา เป็นกรรมดี เป็นกรรมชั่ว แม้สมาธิก็ต้องทำขึ้นมา จึงจะเป็นสมาธิ เพราะฉะนั้น จึงได้มีจำแนกสังขารออกไปอีกนัยหนึ่งเป็น ปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบุญ อปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบาป อเนญชาภิสังขาร ปรุงแต่ง อเนญชา คือสิ่งที่ไม่หวั่นไหว
เพราะฉะนั้น คำว่าสังขารนี้จึงคลุมไปทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง อันรวมอยู่ใน สังขตลักษณะ คือลักษณะของสิ่งที่ผสมปรุงแต่ง คือ บรรดาทุกอย่างที่มีลักษณะดั่งนี้ เรียกว่าสังขารทั้งนั้น อันได้แก่ อุปฺปาโท ปญฺญายติ ความเกิดขึ้นปรากฏ วโย ปญฺญายติ ความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ เมื่อยังตั้งอยู่ ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นปรากฏ สิ่งที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ ทุกอย่างเรียกว่าสังขารทั้งนั้น จะมีใจครองหรือไม่มีใจครองก็ตาม เพราะฉะนั้น คำว่า สพฺเพ สงฺขารา จึงคลุมถึงสังขารทั้งหมดดังกล่าว
๓.๒ข้อว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ก็เป็นคำคลุมอีกเหมือนกัน คลุมถึงสังขารและวิสังขาร เมื่อคลุมถึงสังขารและวิสังขารดั่งนี้จึงแยกอธิบายว่า สังขารทั้งปวงดังกล่าวใน ๓.๑ นั้นก็เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน เรียกว่าสังขตธรรม ธรรมที่เป็นสังขาร คือที่ปรุงแต่ง ส่วนที่เป็นวิสังขาร หรือเรียกว่า อสังขตธรรม ธรรมที่ไม่ปรุงแต่งอันหมายถึงภูมิที่บรรลุไปโดยลำดับ และที่เป็นอย่างสูงก็หมายถึงนิพพาน นี้ในด้านจิตใจ เพราะว่า ภูมิที่บรรลุไปโดยลำดับนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่บุคคลสร้างขึ้น แต่ว่าเป็นสิ่งที่บุคคลบรรลุ สิ่งที่บุคคลสร้างขึ้นนั้น ก็คือการปฏิบัติการดำเนินที่เป็นส่วนเหตุทั้งหลาย ส่วนผลทั้งหลาย แต่ว่าภูมิที่บรรลุนั้นไม่ใช่คนสร้างขึ้นมา เป็นสิ่งที่บรรลุ จึงชื่อว่าเป็นวิสังขารหรือเป็นอสังขตธรรม ทุก ๆ ภูมิที่บรรลุจนถึงนิพพานก็เป็นวิสังขารหรืออสังขตธรรม ไม่ได้ถูกปรุงแต่ง สิ้นความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง แม้อสังขตธรรม หรือ วิสังขารนี้ก็เป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน ก็เป็นธรรม ข้อนี้แหละเป็นข้อสำคัญในพุทธศาสนา คือ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา อันแสดงว่าพุทธศาสนานั้น แม้ในอสังขตธรรม หรือวิสังขารดังกล่าว ก็ไม่ให้ยึดถือว่าเป็นตัวเรา ของเรา เพราะว่าที่จะเป็นอัตตาขึ้นมานั้น อัตตาในพระพุทธศาสนาก็คือสิ่งที่ยึดถือตัวเราของเรา แม้ว่าสิ่งนั้นจะมีอยู่ ดำรงอยู่ ตั้งอยู่ คือวิสังขาร หรือ อสังขตธรรมทั้งหลาย เป็นสิ่งที่มีอยู่ ตั้งอยู่ ดำรงอยู่ ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ดังที่เรียกในที่อื่นว่า ธรรม หรือ ธรรมธาตุ หรือว่า ธาตุ ดังที่ตรัสไว้ในบางพระสูตรว่า ธาตุนั้นตั้งอยู่เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยาม
เป็นธรรมฐิติ ก็คือความตั้งอยู่แห่งธรรม เป็นธรรมนิยามก็คือความกำหนดแน่แห่งธรรม เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงไม่ปฏิเสธสิ่งที่ตั้งอยู่ สิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่ดำรงอยู่ คือ วิสังขาร คือ อสังขตธรรมว่า มีอยู่จริง ดำรงอยู่จริง และโดยเฉพาะภูมิธรรมที่บรรลุตลอดจนถึงนิพพานนี้ พระพุทธเจ้ายังตรัสเรียกชื่อว่าเป็นอายตนะ ดังที่ได้ตรัสไว้ในที่แห่งหนึ่งว่า อตฺถิ ภิกฺขเว อายตนํ ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ที่เรียกว่า อายตนะ แปลว่าที่ต่อ หมายความว่า บุคคลปฏิบัติให้บรรลุได้ ให้ถึงได้ ก็เป็นอันว่า ให้จิตนี้ต่อเข้าไปได้ ดังที่มีตรัสไว้ในคาถาหนึ่งว่า วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ จิตถึงวิสังขาร คือนิพพาน ปราศจากสังขารเครื่องปรุงแต่งแล้ว ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา ถึงความสิ้นไปแห่งตัณหาทั้งหลายแล้วดั่งนี้
ถ้าหากว่าไม่เป็นอายตนะก็บรรลุไม่ได้ ถึงไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอายตนะ คือต่อได้ บรรลุได้ ถึงได้ ก็คือวิสังขาร หรือ อสังขตธรรม คือภูมิธรรมที่บรรลุและนิพพาน นิพพานก็เป็นภูมิธรรมอันหนึ่งที่บรรลุอันเป็นที่สุด แต่ก่อนจะถึงก็ต้องบรรลุถึงภูมิธรรมที่พึ่งบรรลุไปโดยลำดับ แต่ว่าไม่ให้ยึดถือว่าเป็นตัวเรา ของเรา เพราะถ้ายังมีความปรารถนา ต้องการอยากได้ อยากถึงอยู่ ก็ถึงไม่ได้ บรรลุไม่ได้ ต้องปล่อยวางทั้งหมด ปล่อยวางเมื่อใดก็เป็นอันว่า บรรลุได้ ถึงได้ จิตเชื่อมเข้ากับวิสังขาร คือ อสังขตธรรมได้
เพราะฉะนั้น อัตตาในพระพุทธศาสนา พึงเข้าใจว่า หมายถึงสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นตัวเรา ของเรานี้แหละ แต่ว่าสิ่งที่มีอยู่ ดำรงอยู่ ตั้งอยู่ ก็มีอยู่ นั่นก็คือภูมิธรรมที่บรรลุโดยลำดับ ตลอดจนถึงนิพพานดังกล่าว เป็นสิ่งที่มีอยู่ ดำรงอยู่ ตั้งอยู่ ไม่เสื่อมสิ้นสูญไปไหนตลอดเวลา ไม่มีกาลเวลา เพราะฉะนั้น แม้อสังขตธรรม หรือวิสังขารนั้นก็เป็นอนัตตา มิใช่เป็นอัตตาตัวตน คือมิใช่สิ่งที่จะพึงยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา นี้เป็นคติทางพระพุทธศาสนาซึ่งพึงเข้าใจ เพราะฉะนั้นหลักของพระพุทธศาสนาที่เป็นข้อสำคัญที่สุดนั้นก็คือ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา นี้แหละ หรือว่ารวมเข้าเป็น ๒ ข้อ สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา นี้เป็นสัจจธรรม ที่เป็นหลักใหญ่ในพระพุทธศาสนา
ท่านพระอัสสชิได้กล่าวหลักนี้ขึ้นมา เป็นคำตอบว่า พระพุทธเจ้าได้สอนสาวกเป็นส่วนใหญ่หรือเป็นส่วนมากดั่งนี้ ที่เราสวดกันอยู่ทุกวันนั้น ได้มาจากคำตอบของท่านที่ท่านตอบแก่สัจจกนิครนถ์ในคาถาที่ยกมาแสดงดังนี้
๓.๓ ในคำตอบนี้จะพึงเห็นว่า แสดงทไวลักษณ์ คือลักษณะ ๒ ได้แก่อนิจจะและอนัตตา ส่วนโดยทั่วไปนั้น แสดงไตรลักษณ์ คือลักษณะ ๓ อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา ท่านอธิบายว่า ทุกขะอันเป็นข้อที่ ๒ นั้นก็รวมอยู่ในอนิจจะ คือไม่เที่ยง แม้จะแยกออกเป็น ๓ อธิบายทุกขะก็ต้องอิงอยู่กับอนิจจะ ดังที่มีอธิบายว่า ที่เรียกว่าทุกขะนั้นก็คือ มีลักษณะที่ถูกบีบคั้น ถูกอะไรบีบคั้น ก็คือถูกความเกิดความดับ บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา จึงทนอยู่คงที่มิได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป
คำว่า ทนอยู่ไม่ได้ นั่นเป็นพยัญชนะของคำว่า ทุกขะ ที่แปลว่าทนยาก ก็คือ ทนไม่ได้ ทนไม่ได้ก็คือว่า อยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่าต้องถูกความเกิดความดับบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอธิบายทุกขะจึงต้องอิงอยู่กับอนิจจะ ไม่เที่ยง เพราะอนิจจะนั้นก็คือเกิดดับ ฉะนั้น ในที่บางแห่งท่านจึงแสดงไว้แต่ลักษณะ ๒ ไม่มีทุกขะ โดยที่ทุกขะนั้นรวมอยู่ในอนิจจะ
อีกอย่างหนึ่ง ทุกขะนั้นเป็นคำรวมทั้งหมด คือสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ตามที่เป็นอนิจจะ เป็นอนัตตานั้นก็รวมอยู่ในคำว่าทุกขะคำเดียว ดังที่ยกขึ้นในอริยสัจจะข้อที่ ๑ ว่า ทุกขอริยสัจจะ อริยสัจจะคือทุกข์ ซึ่งมีอธิบายว่า ชาติเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ เป็นต้น และเมื่ออธิบายรวมเข้ามาแล้วก็คือ ทุก ๆ อย่างที่เป็นสังขาร จะต้องเป็น อนิจจะ เป็นทุกขะ เป็นอนัตตา หรือเป็นอนิจจะ เป็นอนัตตานั่นเอง รวมเข้าในคำว่า ทุกข์ ซึ่งปรากฏอาการเป็น เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น เพราะฉะนั้น คำว่าทุกขะ จึงเป็นคำรวม ดังคำว่า ทุกขอริยสัจจ์นี้ เป็นอธิบายประกอบ ๚ ๛
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/somdej-13-06.htm
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:
แสดงทั้งหมด
1 วัน
7 วัน
2 สัปดาห์
1 เดือน
3 เดือน
6 เดือน
1 ปี
เรียงจากเก่า-ใหม่
เรียงจากใหม่-เก่า
:: ลานธรรมจักร ::
»
สนทนาธรรมทั่วไป
ไปที่:
เลือกกลุ่ม บอร์ด
กลุ่มสนทนา
----------------
สนทนาธรรมทั่วไป
แนะนำตัว
กฎแห่งกรรม
สมาธิ
ฝึกสติ
การสวดมนต์
การรักษาศีล-การบวช
ความรัก-ผูกพัน-พลัดพลาก
กลุ่มข่าวสาร-ติดต่อ
----------------
ข่าวประชาสัมพันธ์
ธรรมทาน
รูปภาพ-ประมวลภาพกิจกรรมต่างๆ
สำหรับนักเรียน นักศึกษา ขอความรู้ทำรายงาน
แจ้งปัญหา
รูปภาพในบอร์ด
กลุ่มสาระธรรม
----------------
หนังสือธรรมะ
บทความธรรมะ
นิทาน-การ์ตูน
กวีธรรม
นานาสาระ
ต้นไม้ในพุทธประวัติ
วิทยุธรรมะ
ศาสนสถานและศาสนพิธี
----------------
สถานที่ปฏิบัติธรรม
วัดและศาสนสถาน
พิธีกรรมทางศาสนา
พุทธศาสนบุคคล
----------------
พระพุทธเจ้า
ประวัติพระอสีติมหาสาวก
ประวัติเอตทัคคะ (ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา)
สมเด็จพระสังฆราชไทย
ประวัติและปฏิปทาของครูบาอาจารย์
ในหลวงกับพระสุปฏิปันโน
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณ
ไม่สามารถ
สร้างหัวข้อใหม่
คุณ
ไม่สามารถ
พิมพ์ตอบ
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลบข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลงคะแนน
คุณ
ไม่สามารถ
แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ
ไม่สามารถ
ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
เลือกบอร์ด •
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทานธรรมะ
•
หนังสือธรรมะ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
สถานที่ปฏิบัติธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ
•
วิทยุธรรมะ
•
เสียงธรรม
•
เสียงสวดมนต์
•
ประวัติพระพุทธเจ้า
•
ประวัติมหาสาวก
•
ประวัติเอตทัคคะ
•
ประวัติพระสงฆ์
•
ธรรมทาน
•
แจ้งปัญหา
จัดทำโดย กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ
webmaster@dhammajak.net
Powered by
phpBB
© 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
www.Stats.in.th