Home
•
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทาน
•
หนังสือ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
•
แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้
ค้นหา
สมัครสมาชิก
รายชื่อสมาชิก
กลุ่มผู้ใช้
ข้อมูลส่วนตัว
เช็คข้อความส่วนตัว
เข้าสู่ระบบ(Log in)
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
เร่งความเพียร (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
:: ลานธรรมจักร ::
»
บทความธรรมะ
ผู้ตั้ง
ข้อความ
ปุ๋ย
บัวเงิน
เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275
ตอบเมื่อ: 04 ธ.ค.2006, 1:10 am
เร่งความเพียร
โดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
ท่านอาจารย์ส่งเสริม และให้กำลังใจแก่ศิษย์ผู้ปฏิบัติธรรมให้เอาความเพียรชนะความเกียจคร้านอ่อนแอ ท่านสอนไว้ว่า
"...ความขี้เกียจขี้คร้านอ่อนแอ เหล่านี้เป็นเรื่องของกิเลสทั้งมวลจงพากันทราบไว้ ความมักง่าย ความโยกคลอนเอนเอียง มีแต่กิเลสตบต่อยให้เอนให้เอียง ให้ล้มลุกคลุกคลานทั้งนั้น ไม่ใช่ธรรมเป็นผู้พาให้เป็นเช่นนั้น
จงพากันทราบว่าเวลานี้ กิเลสกำลังทำงานในตัวเราอย่างออกหน้าออกตา ซึ่งๆ หน้านักปฏิบัติ คือเราแต่ละรายๆ จงทราบไว้เสียแต่บัดนี้ อย่าเข้าใจว่ากิเลสไม่ได้ทำงานบนหัวใจเรา ในขณะที่กำลังประกอบความเพียรจะฆ่ามัน ในขณะเดียวกันนั้นกิเลสก็ฆ่าธรรม และฆ่าตัวเราไปด้วยในตัวโดยไม่รู้สึก
อุบายของธรรมที่จะให้ทราบกลอุบายของกิเลส จึงต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ในขั้นเริ่มแรกสำคัญมาก เพราะงานยังไม่เคยเห็นผลพอจะเพิ่มกำลังใจให้เข้มแข็งในความเพียร อย่าหวง อย่าห่วง อย่าเสียดาย กิเลสไม่ได้ให้สารคุณอันใดแก่เรา
ความขี้เกียจความอ่อนแอไม่ให้สารประโยชน์อันใด เราเคยขี้เกียจเคยอ่อนแอมามากและนานเพียงไรแล้ว จงเอามาบวกลบคูณหารกันเพื่อทดสอบผลได้ผลเสียของตัวกับกิเลส นักปฏิบัติไม่คิดไม่เทียบเคียงเหตุผลต้นปลายให้รู้ดีรู้ชั่ว รู้หนักรู้เบา ในสิ่งเหล่านี้แล้วจะดำเนินธรรมเพื่อความสงบเย็นใจไปไม่ได้
จึงควรคิดแต่บัดนี้ อย่าให้เสียเวล่ำเวลาตายเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์ ผ้าเหลืองอยู่ที่ไหนก็มี ตลาดร้านค้า ยิ่งไม่อด นั้นเป็นเครื่องหมายของเพศนักบวช ไม่ใช่เป็นผู้ฆ่ากิเลส นอกจากความเพียรของเราเอง จงเป็นผู้หนักแน่นในความพากเพียร เพื่อหักกงกรรมของวัฏจักร ให้ขาดสะบั้นลงจากใจจะหายห่วง
เราได้ดำเนินมาเต็มสติกำลังความสามารถแล้ว จึงกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่า ไม่มีงานใดที่จะลำบากยากเย็นเข็ญใจถึงเป็นถึงตาย ยิ่งกว่างานต่อสู้กับกิเลสเพื่อชัยชนะ งานนี้เป็นงานที่หนักมากสำหรับเราผู้เป็นคนหยาบ
แต่ใครจะหยาบก็ตาม ละเอียดก็ตามพึงทราบว่า ความขี้เกียจความมักง่ายอ่อนแอไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่ทางแก้กิเลส อย่าหวงเอาไว้ มันเป็นเรื่องของกิเลสล้วน ๆ เพื่อพอกพูนทุกข์ไม่สงสัย
ใครจะหยาบละเอียดแค่ไหน นิสัยวาสนามีมากมีน้อยเพียงไร จงยกตนให้เหนือกิเลสประเภทต่างๆ ด้วยความเพียร จะจัดว่าเป็นผู้มีวาสนาบารมีเต็มหัวใจด้วยกัน
หากไม่มีความเพียรเป็นเครื่องแก้ อย่างไรก็นอนกอดวาสนาที่เต็มไปด้วย กิเลสตัวหยิ่ง ๆ อยู่นั่นแล บางก็ฟาดมันลงไปให้แหลกละเอียด หนาก็ฟาดมันลงไปให้แหลกเหมือนกันหมด จะสมนามว่าเป็นนักรบนักปฏบัติเพื่อกำจัดสิ่งที่เป็นข้าศึกออกจากใจโดยแท้..."
(เข้าสู่แดนนิพพาน หน้า ๒๒๖-๒๒๗)
ภาวนาตลอดรุ่ง
"...ในพรรษานั้นผมไม่นอนกลางวันนะ กลางวันผมไม่จำวัดเลย นอกจากคืนไหนผมนั่งตลอดรุ่ง ผมก็พักนอนกลางวัน ถ้าธรรมดาแล้วเป็นไม่พักให้เลย ปีนั้นหรือพรรษานั้นความเพียรหักโหมที่สุดในชีวิตของเราที่เป็นนักบวช ก็เป็นพรรษาที่สิบ นั่นหักโหมมากทีเดียวเกี่ยวกับร่างกายหักโหม จิตหักโหมมากพอๆ กัน..."
(เข้าสู่แดนอวกาศของจิตของธรรม หน้า ๒๗๕-๒๗๖)
"...ตอนต่อสู้กับเวทนานั้นบังคับมันทุกด้าน หักโหมร่างกาย นั่งฉันกังหันตอนเช้าได้นั่งพับเพียบ ขออภัย ก้นเหมือนกับพองไปหมด นั่งขัดสมาธิไม่ได้ คือตอนนั้นตอนเราไม่ฝืนไม่บังคับ ปล่อยธรรมดาจึงนั่งไม่ได้
ตอนนั้นเราไม่ตั้งใจจะทนกับมันจะสู้กับมัน เราจะสู้กับรสอาหารต่างหาก เราจะขึ้นสู้รสอาหารต่างหาก เราไม่ทนกับมัน จึงต้องนั่งพับเพียบฉันจังหัน นี่หมายถึงวันที่หักโหมกันเต็มที่จิตลงไม่ได้ง่าย มันแพ้ทางร่างกายมาก แต่ถ้าวันไหนที่พิจารณาติดปั๊บๆ เกาะติดปั๊บๆ อย่างงั้นมันก็ธรรมดา
นั่งตลอดรุ่งเวลาเท่ากันก็ตาม ไม่มีอะไรชอกช้ำภายในร่างกายเลย พอลุกขึ้นก็ไปเลยธรรมดาๆ เหมือนเรานั่งสามสี่ชั่วโมงเป็นประจำตามความเคยชิน
เพราะตามธรรมดาผมนั่งภาวนา ๓ - ๔ ชั่วโมงถือเป็นธรรมดานะ นั่งตามอัธยาศัยต้อง ๓ - ๔ ชั่วโมง ถ้ามีเวลาน้อยเช่นกลางวันก็นั่งราว ๑ - ๒ ชั่วโมง เช่นหน้าหนาวกลางวันมีน้อย กลางคืนมีมาก และลงเดินจงกรมไม่ได้ กลางคืนหน้าหนาวตัวมันแข็งไปหมดจะเดินได้ยังไง
นี่แหละเราต้องสงวนเวลาไว้สำหรับเดินให้มาก นั่งภาวนากลางวันเพียงชั่วโมงเดียว จากนั้นก็เดินจงกรมจงกระทั่งถึงเวลาปัดกวาด พอปัดกวาดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ไปอาบน้ำในคลองในอะไรก็แล้วแต่
เพราะเราไปอยู่ในที่ต่างๆ บางทีตามซอกหินซอกผาอะไรก็แล้วแต่ ในห้วยในคลองที่ไหนพออาบก็อาบ ที่นี่เดินจงกรมอีกแล้ว จนกระทั่งเย็น หนาวเข้าๆ ก็เข้าที่พัก ออกเดินไม่ได้เพราะหนาวมาก ที่นี่นั่งนานนะ มันจึงเหนื่อย
กลางวันพอฉันจังหันเสร็จแล้ว ล้างบาตรล้างอะไร เช็ดบาตรเรียบร้อยแล้วไม่เข้าถลกแหละ เอาไปวางไว้ปุ๊บ แล้วเข้าทางจงกรมเลย ฟัดมันจนโน้น ๑๑ โมงเป็นอย่างน้อย หรือเที่ยงวันออกจากทางจงกรมก็พัก ออกจากพักก็นั่งภาวนาราวชั่วโมงก็ลงเดินจงกรมอีกแล้ว อย่างนั้นเป็นประจำ
ถ้าวันไหนร่างกายมันบอบช้ำมากจิตลงได้ยาก วันนั้นแหละได้นั่งพับเพียบ นั่งพับเพียบฉันจังหัน มันเหมือนไฟเผาอยู่ก้น บางทีได้เอามือคลำดู ก้นพองหรือ คลำดูก็ไม่พอง นี่หมายถึงเริ่มแรกนั่งตลอดรุ่ง พอนั่งหลายคืนไป ก้นก็พองและแตกเลอะไปหมด กระดูกทุกส่วนเหมือนจะแตก กลางวันก็ตามมันเจ็บปวดรวดร้าวไปหมด ไม่ใช่เฉพาะเวลาเรานั่งภาวนาจึงปวดกระดูกตามร่างกายส่วนต่างๆ เหมือนมันจะแตกจะหัก เพราะมันบอบช้ำมาตั้งแต่กลางคืน ฉะนั้น จึงต้องเดินให้มากทีเดียวในเวลากลางวันหรือกลางคืนที่ไม่ได้นั่งตลอดรุ่ง..."
(เข้าสู่แดนอวกาศของจิตของธรรม หน้า ๒๗๖ - ๒๗๗)
สำหรับผู้ที่ยังตั้งหลักไม่ได้
ท่านอาจารย์ยังมีเมตตาสอนผู้ที่ยังตั้งหลักตั้งฐานเบื้องต้นไม่ได้ไว้ดังนี้
"...ถ้าจับจุดของความรู้ไม่ได้ ก็อย่าลืมคำบริกรรมภาวนา ไปที่ไหนอยู่ในท่าอิริยาบถใดคำบริกรรมให้ติดแนบกับจิต ให้จิตเกาะอยู่กับคำบริกรรมภาวนานั้นเสมอ เช่น พุทฺโธ ก็ตาม อฏฺฐิ ก็ตาม เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ
บทใดก็ตาม ให้จิตติดอยู่กับบทนั้น ไม่ให้จิตไปทำงานอื่น ถ้าปล่อยนี้เสียจิตก็เถลไถลไปทำงานอื่นซึ่งเป็นเรื่องของกิเลส ไม่ใช่เรื่องของธรรมที่เป็นความมุ่งหมายของเรา บทธรรมที่เราตั้งขึ้นมานั้น เพื่อให้จิตเกาะอยู่กับคำบริกรรมนั้นๆ
ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมที่เราเป็นผู้กำหนดเอง อาศัยธรรมบทต่างๆ เป็นเครื่องยึดเครื่องเกาะของจิต ขณะทำลงไปก็เป็นธรรม จิตใจก็สงบ นี่แลหลักการปฏิบัติที่จะทำให้จิตสงบเยือกเย็นได้ โดยลำดับของนักภาวนาทั้งหลาย
การที่จะตั้งหลักตั้งฐานเบื้องต้นนี้ลำบากมากเหมือนกัน แม้ลำบากแค่ไหนก็อย่าถือเป็นอารมณ์ จะเป็นอุปสรรคแก่การดำเนินเพื่อมรรคเพื่อผลที่ตนต้องการจงถือความเพียร เพื่อความพ้นทุกข์นี้เป็นธรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเพิ่มพูนให้มาก
สติ ซึ่งเป็นธรรมสำคัญจะต้องเพิ่มพูนให้มาก เพื่อความเหนียวแน่นมั่งคง เพื่อความสืบต่อแห่งความระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ
ปัญญา ในโอกาสที่ควรพิจารณาก็ควรพิจารณาแยกแยะทั้งภายนอกทั้งภายในเทียบเคียงกัน มรรคนั้นเป็นได้ทั้งภายนอกทั้งภายใน ปัญญาเป็นได้ทั้งภายนอกภายในถ้าทำให้เป็นปัญญาที่เรียกว่า มรรค
เราจะพิจารณาเรื่องใด เรื่อง อนิจฺจํ เอาภายนอกมาพิจารณาเทียบกับภายในก็ได้ จะพิจารณาภายในเทียบกับภายนอกมันก็เป็นอันเดียวกันนั้นแหละ ไม่ได้ผิดแปลกอะไร เรื่อง อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา
อสุภะอสุภังของปฏิกูลโสโครก มันมีเต็มไปหมดทั้งภายนอกภายใน รูปสัตว์ รูปบุคคล หญิงชาย จะพิจารณาแยกแยะอย่างไร ให้เป็นอุบายวิธีของเราในการพิจารณา
แต่ในเวลาต้องการความสงบ ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำความสงบ ด้วยคำบริกรรมบทใดหรืออานาปานสติ ได้ตามแต่จริตนิสัยชอบ แต่ให้มีสติสืบเนื่องอยู่เสมอ ความรู้จะได้สืบต่อกันกับงาน
เมื่อความรู้สืบต่อกัน จิตใจไม่มีเวลาส่ายแส่ไปภายนอกแล้ว จิตก็รวมตัวเข้ามาๆ กระแสจิตทั้งหมดรวมเข้ามาเป็นตัวของตัวกลายเป็นจุดแห่งความสงบ
เมื่อจุดปรากฏเด่นขึ้นมาที่ใจเรียกว่า ใจเริ่มสงบ ความคิดปรุงก็เบาบางลงไปๆ กระทั่งความคิดปรุงในคำบริกรรมก็ค่อยเบาลงไปๆ กลายเป็นความรู้ที่เด่นขึ้นมา จะบริกรรมหรือไม่บริกรรม
ความรู้ก็เป็นความรู้อยู่อย่างนั้น ที่เรียกว่าจิตรวมตัวเข้าเป็นตัวของตัวแล้ว ก็อยู่กับตรงนั้นเสีย คำบริกรรมก็ปล่อยวางกันในขณะนั้น นี่คือจิตสงบ ให้ตั้งหน้าตั้งตาทำให้เกิดผลตามที่กล่าวมา..."
(เข้าสู่แดนอวกาศของจิตของธรรม หน้า๑๒๒ - ๑๒๓)
(มีต่อ)
ปุ๋ย
บัวเงิน
เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275
ตอบเมื่อ: 04 ธ.ค.2006, 1:19 am
"...ให้ขยันเดินจงกรม กี่ชั่วโมงก็เอ้าเดินไป ให้มันเห็นความลำบากในการเดิน ให้เห็นความเหน็ดเหนื่อยในการเดินจงกรมเช่นเดียวกับเขาทำงานทางโลก เราทำงานทางธรรมก็ให้เห็นความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการประกอบความพากเพียรของเรา
เช่น นั่งนานเป็นยังไง ต้องเจ็บปวดแสบร้อน ดีไม่ดีก็ล้มทั้งหงายเป็นไรไป เพราะสิ่งเหล่านี้ได้เคยบำเพ็ญมาแล้ว ก่อนที่จะมาเทศนาว่าการแนะนำสั่งสอนหมู่เพื่อนตามสติกำลังนี้ได้บำเพ็ญมาแล้วทั้งนั้น
นั่งสมาธิก็เหมือนกัน ฟาดมันลงไป สมาธิเวลานั่งมากๆ นี้สำคัญมักจะมีเวทนาให้เป็นเครื่องพิจารณา งานอื่นๆ ต้องได้ปล่อยทิ้งหมด รวมตัวเข้าสู่ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นในร่างกายจุดต่างๆ จุดไหนที่เด่นกว่าเพื่อน ถือจุดนั้นเป็นสนามรบ สติปัญญาหยั่งลงไปที่นั่น
ออกมาบวชแล้วมีเราเท่านั้น เป็นกับตายก็เรา สุขกับทุกข์ก็เรา จะฉุดลากตนได้มากน้อยเพียงไร ก็เป็นกำลังวังชา สติปัญญาของเรานี้เท่านั้น ไม่มีสิ่งใดที่จะมาช่วยปลดช่วยเปลื้องเราให้หลุดพ้นไปได้ เป็น อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ คือใคร คือเรา พึ่งเรานี้แล ให้ประกอบความพากเพียรเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่าได้ลดละถอยหลัง..."
(ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๒๙๔ - ๒๙๕)
มีสมาธิใช้ปัญญา
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า หลังจากที่ท่านอาจารย์โหมความเพียรในพรรษาที่๑๐ จนจิตได้เจริญขึ้นเรื่อยๆ สมาธิของท่านมีความแน่นหนามั่งคง แต่ท่านก็ติดสมาธินี้อยู่ถึง ๕ ปีเต็ม ยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่ปัญญา จนกระทั่งหลวงปู่มั่นได้ไล่ให้ออกจากสมาธิ ท่านจึงมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมยิ่งขึ้นไปอีก ดังจะเห็นได้จากเทศน์ของท่านที่ได้รวบรวมมา
ในเทศน์ของท่านอาจารย์ที่อ่านในหนังสือต่างๆ จึงพบว่า ท่านสอนและเตือนบรรดาศิษย์อยู่เสมอให้ระวังว่าจะติดสมาธิจนกระทั่งวันตาย
ติดสมาธิ
"...เพราะสมาธินี้เป็นความสุขที่พอจะให้ติดได้ถึงติดได้คนเรา ความสุขในสมาธิก็พออยู่แล้ว จิตใจไม่ฟุ้งซ่านรำคาญ พอจิตหยั่งเข้าสู่ความรู้อันเดียวแน่วอยู่อย่างนั้น ไม่อยากออกยุ่งกับอะไรเลย ตาไม่อยากดู หูไม่อยากฟัง มันเป็นการยุ่งกวน รบกวนจิตใจของเราให้กระเพื่อมเปล่าๆ
เมื่อจิตได้แน่วแน่อยู่ในสมาธินั้น อยู่สักกี่ชั่วโมงก็อยู่ได้ นี่ละมันติดได้อย่างนี้เอง สุดท้ายก็นึกว่าความรู้ที่เด่นๆ อยู่นี้เองจะเป็นนิพพาน อันนี้จะเป็นนิพพาน จ่อกันอยู่นั้นว่าจะเป็นนิพพานๆ
สุดท้ายมันก็เป็นสมาธิอยู่อย่างนั้นละจนกระทั่งวันตาย ก็จะต้องเป็นสมาธิและติดสมาธิจนกระทั่งวันตาย ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์มาฉุดมาลาก ผมเองก็คือหลวงปู่มั่นมาฉุดมาลาก เถียงกันหน้าดำตาแดง
จนกระทั่ง พระทั้งวัดแตกฮือกันมาเต็มอยู่ใต้ถุน นี่เพราะฟังการโต้กับหลวงปู่มั่น ไม่ใช่โต้ด้วยทิฐิมานะอวดรู้อวดฉลาดนะ โต้ด้วยความที่เราก็เข้าใจว่าจริงอันหนึ่งของเรา ท่านก็จริงอันหนึ่งของท่าน สุดท้ายก็หัวเราแตกเพราะท่านรู้นี่
เราพูดทั้งๆ ที่กิเลสเต็มหัวใจ แต่เข้าใจว่าสมาธินี่มันจะเป็นนิพพาน แต่เข้าใจว่าสมาธินี่มันจะเป็นนิพพาน แล้วสุดท้ายท่านก็ไล่ออกมา..."
(ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๓๔๑)
สุขในสมาธิเหมือนเนื้อติดฟัน
"...ทีแรกไปหาท่านเมื่อไร ท่านถามว่า 'สบายดีเหรอ สงบดีเหรอ' 'สงบดีอยู่' เราก็ว่าอย่างนี้ ท่านก็ไม่ว่าอะไร พอนานเข้าๆ ก็อย่างว่านั่นแหละ 'เป็นยังไง ท่านมหาสบายดีเหรอใจ' สบายดีอยู่ สงบดีอยู่' 'ท่านจะนอนตายอยู่นั้นเหรอ'
ฟังซิ ทีนี้ขึ้นละนะพลิกเปลี่ยนไปหมดสีหน้าสีตาอะไร แสดงท่าทางออกหมดแล้วนะนี่ จะเอาเต็มที่ละจะเขกเต็มที่ละ 'ท่านจะนอนตายอยู่นั้นเหรอ' ท่านว่า 'ท่านรู้ไหมสุขในสมาธิเหมือนกับเนื้อติดฟัน ท่านรู้ไหม สมาธิก็เหมือนกับเนื้อติดฟันนั้นแหละ มันสุขขนาดไหน เนื้อติดฟัน ท่านรู้ไหมๆ' นี้เราไม่ลืมนะ จากนั้นมา 'ท่านรู้ไหมว่า สมาธิทั้งแท่งนั้นละคือตัวสมุทัยทั้งแท่ง ท่านรู้ไหม ' นั่น
ตรงนี้มันก็ต่อยกับท่านอีก ดูซิ 'ถ้าหากสมาธิเป็นตัวสมุทัยแล้ว สัมมาสมาธิจะให้เดินที่ไหน' นั่นเอาซิโต้ท่าน 'มันก็ไม่ใช่สมาธิตายนอนตายอยู่อย่างนี้ซิ สมาธิของพระพุทธเจ้าสมาธิต้องรู้สมาธิ ปัญญาต้องรู้ปัญญา อันนี้มันเอาสมาธิเป็นนิพพานเลย มันบ้าสมาธินี่' นั่นเห็นไหมท่านใส่เข้าไป 'สมาธินอนตายอยู่นี้เหรอเป็นสัมมาสมาธิน่ะ เอ้าๆ พูดออกมาซิ' มันก็ยอมละซิ
พอออกจากท่านไปแล้ว โห นี่เราไปเก่งมาจากทวีปไหนนี่ เรามอบกายถวายตัวต่อท่านเพื่อศึกษาอรรถศึกษาธรรมหาความจริง ทำไมวันนี้จึงมาโต้กันกับท่าน ยิ่งกว่ามวยแชมเปี้ยนเขานี่ มันเป็นยังไง
เรานี้มันไม่เกินครูเกินอาจารย์ไปแล้วเหรอ และท่านพูดนั้นท่านพูดด้วยความหลงหรือใครเป็นหลงล่ะ เอาละที่นี่ย้อนเข้ามาหาตัวเอง ถ้าไม่ตั้งประพฤติปฏิบัติตามที่ท่านสอนนี้ มาหาท่านทำไม ถ้าว่าเราวิเศษวิโสแล้วทำไมเราจึงต้องมาหาครูอาจารย์ที่ตนว่าไม่วิเศษล่ะ แต่เราก็ไม่เคยดูถูกท่านแหละ นี่หมายความว่าตีเจ้าของ ย้อนขึ้นมาเข่นเจ้าของ..."
(ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า๓๔๒-๓๔๓)
หลงสังขาร
"...พอปัญญาก้าวแล้วก็ยังกลับไปสู้กับท่านอีกนะ คือเวลามันออกทางด้านปัญญานี้เอาอีกแล้ว กลางคืนไม่ได้นอน บางคืน ๒ คืน ๓ คืน มันไม่ยอมนอน กลางวันยังไม่ยอมนอนอีก เอ้ากูนี่จะตายละนะ ว่าเจ้าของกูนี่มันจะตายละนะ มันยังไงนี่
บทเวลานอนอยู่ในสมาธิมันก็อยู่อย่างนั้น ทีนี้เวลาออกก็ออกอย่างนี้ทำไงนี่ แล้วก็ขึ้นไปหาท่านอีก นี่พ่อแม่ครูอาจารย์ว่าให้ออกทางด้านปัญญา เวลานี้มันออกแล้วนะ ถึงขนาดที่ว่าไม่ได้นอน ๒ - ๓ คืนแล้วนี่นะ กลางวันมันยังไม่นอนอีก
'นั่นละ มันหลงสังขาร' 'ถ้าไม่พิจารณามันก็ไม่รู้นี่น่า' 'นั่นละบ้าสังขาร บ้าหลงสังขาร แล้วก็เอาใหญ่เลย' พอคราวนี้หมอบเลยนะ งูเห่าค่อยหมอบลง ทีนี้ มันอาจจะถูกอย่างที่ท่านว่านั่นแหละ เรานึกในใจนะ ทีนี้ก็นิ่ง
พอออกไปก็ ถึงอย่างนั้นก็ตามเถอะ มันก็หมุนติ้วๆ ของมันเหมือนกัน แต่บทเวลามันจะตายจริง ๆ ก็เข้าสมาธิด้วยการบังคับนะ ถ้าธรรมดาแล้วมันจะไม่ยอมเข้าเพราะเห็นว่าไม่ได้งานมันไม่พอดีนะ เห็นว่าสมาธินี่นอนตายอยู่เฉย ๆ มันไม่เห็นได้ผลได้ประโยชน์อะไร นอนตายอยู่เฉยๆ สมาธิ ปัญญาต่างหากได้ผล ว่างั้น
ทีนี้ก็จะเอาปัญญาแบบไม่หยุดอีกแหละ ว่าการทำงานได้งาน การพักไม่ได้งานก็ไม่พัก...จะทำแต่งาน ก็จะตายอีกเหมือนกัน ทีนี้เวลามันเต็มที่เต็มฐานแล้วจะไปไม่รอดเพราะมันอ่อนไปหมดสกนธ์กาย การทำงานด้วยปัญญา การคิดด้วยปัญญาเป็นอัตโนมัติก็ตาม
แต่ก็เป็นงานของจิตควรที่จะได้พัก เห็นว่ามันหนักเกินไปแล้วก็บังคับ ถึงขนาดที่ได้บริกรรมนะ พุทโธๆ ถี่ยิบไม่ยอมให้ออก คือออกจะทำงานไม่ใช่ออกฟุ้งซ่านรำคาญไปที่ไหนนะ ออกจะออกไปหางานที่ทำยังไม่เสร็จ บังคับไว้ๆ จนกระทั่งถึงสุดท้ายจิตก็ลงแน่ว เงียบเลย และปรากฏว่ากำลังวังชานี้ โอ้โหเพิ่มขึ้นมา ทีนี้เลยพูดไม่ถูกนะ
เมื่อใจมีกำลังในการพักสมาธิแล้ว พอถอนเท่านั้นละโดดผึงใส่งานไปเลยทีนี้เหมือนกับว่าเราได้พักผ่อนนอนหลับแล้ว นี่พูดถึงการงานนะ หรือได้รับประทานอาหารมีกำลังวังชาแล้วทำงานทำการ งานชิ้นนั้นแหละแต่มันเสร็จได้อย่างรวดเร็ว
นี้ก็เหมือนกันไม้ท่อนนั้นแหละ ปัญญาอันนี้แหละ ฟันลงไปมันขาดสะบั้นลงไปเลย เพราะปัญญาได้พักตัว แต่ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ มันไม่อยากจะพักนะ ต้องฝืนเอาเฉยๆ แม้ระลึกถึงคำของท่านพูด มันหลงสังขารนั้นอยู่เสมอแต่อำนาจแห่งการเพลินในการพิจารณานี้ มีกำลังมากกว่ามันถึงไม่ยอมพักง่ายๆ..."
(ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๓๔๓ - ๓๔๔)
กรรมฐาน ๔๐ เป็นได้ทั้งอารมณ์แห่งสมถะและวิปัสสนา
"...ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็ดี หรือนับตั้งแต่พระสาวกทั้งหลายลงมาก็ดี ท่านหลุดพ้นด้วยอำนาจแห่งกรรมฐาน ๔๐ นี้ทั้งนั้นแหละ กรรมฐาน ๔๐ นี้แลเป็นธรรมที่สร้างจิตท่านให้มีความสงบร่มเย็น ต่อจากนั้นไปก็สร้างทางด้านปัญญาให้รู้แจ้งแทงทะลุไป
ไม่พ้นจากกรรมฐานที่กล่าวมาเหล่านี้เลย เพราะกรรมฐาน ๔๐ นี้ไม่ใช่จะเป็นอารมณ์แห่งสมถะอย่างเดียว ยังเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ด้วย เมื่อจิตควรแก่วิปัสสนาแล้วจะเป็นวิปัสสนาได้โดยไม่ต้องสงสัย
ในขณะที่จิตยังไม่เป็นปัญญา จิตยังไม่เป็นวิปัสสนา ก็เอาธรรมเหล่านี้แลมาอบรมจิตใจด้วยความเป็นสมถะ คือเพื่อความเป็นสมถะ ได้แก่ความสงบของใจ พอจิตก้าวเข้าสู่ปัญญาแล้ว ธรรมที่เคยเป็นอารมณ์แห่งสมถะนี้แล จะแปรสภาพเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนาไปได้โดยไม่ต้องสงสัย นี่ละหลักใหญ่อยู่ตรงนี้..."
(ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๕๑)
.............................................................
คัดลอกจาก
หนังสือหลักของใจ
http://www.dharma-gateway.com/
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:
แสดงทั้งหมด
1 วัน
7 วัน
2 สัปดาห์
1 เดือน
3 เดือน
6 เดือน
1 ปี
เรียงจากเก่า-ใหม่
เรียงจากใหม่-เก่า
:: ลานธรรมจักร ::
»
บทความธรรมะ
ไปที่:
เลือกกลุ่ม บอร์ด
กลุ่มสนทนา
----------------
สนทนาธรรมทั่วไป
แนะนำตัว
กฎแห่งกรรม
สมาธิ
ฝึกสติ
การสวดมนต์
การรักษาศีล-การบวช
ความรัก-ผูกพัน-พลัดพลาก
กลุ่มข่าวสาร-ติดต่อ
----------------
ข่าวประชาสัมพันธ์
ธรรมทาน
รูปภาพ-ประมวลภาพกิจกรรมต่างๆ
สำหรับนักเรียน นักศึกษา ขอความรู้ทำรายงาน
แจ้งปัญหา
รูปภาพในบอร์ด
กลุ่มสาระธรรม
----------------
หนังสือธรรมะ
บทความธรรมะ
นิทาน-การ์ตูน
กวีธรรม
นานาสาระ
ต้นไม้ในพุทธประวัติ
วิทยุธรรมะ
ศาสนสถานและศาสนพิธี
----------------
สถานที่ปฏิบัติธรรม
วัดและศาสนสถาน
พิธีกรรมทางศาสนา
พุทธศาสนบุคคล
----------------
พระพุทธเจ้า
ประวัติพระอสีติมหาสาวก
ประวัติเอตทัคคะ (ภิกษุณี, อุบาสก, อุบาสิกา)
สมเด็จพระสังฆราชไทย
ประวัติและปฏิปทาของครูบาอาจารย์
ในหลวงกับพระสุปฏิปันโน
อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณ
ไม่สามารถ
สร้างหัวข้อใหม่
คุณ
ไม่สามารถ
พิมพ์ตอบ
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลบข้อความของคุณ
คุณ
ไม่สามารถ
ลงคะแนน
คุณ
สามารถ
แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ
สามารถ
ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้
เลือกบอร์ด •
กระดานสนทนา
•
สมาธิ
•
สติปัฏฐาน
•
กฎแห่งกรรม
•
นิทานธรรมะ
•
หนังสือธรรมะ
•
บทความ
•
กวีธรรม
•
สถานที่ปฏิบัติธรรม
•
ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ
•
วิทยุธรรมะ
•
เสียงธรรม
•
เสียงสวดมนต์
•
ประวัติพระพุทธเจ้า
•
ประวัติมหาสาวก
•
ประวัติเอตทัคคะ
•
ประวัติพระสงฆ์
•
ธรรมทาน
•
แจ้งปัญหา
จัดทำโดย กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ
webmaster@dhammajak.net
Powered by
phpBB
© 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
www.Stats.in.th