Home  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  •  สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทาน  • หนังสือ  •  บทความ  • กวีธรรม  • ข่าวกิจกรรม  • แจ้งปัญหา
คู่มือการใช้คู่มือการใช้  ค้นหาค้นหา   สมัครสมาชิกสมัครสมาชิก   รายชื่อสมาชิกรายชื่อสมาชิก  กลุ่มผู้ใช้กลุ่มผู้ใช้   ข้อมูลส่วนตัวข้อมูลส่วนตัว  เช็คข้อความส่วนตัวเช็คข้อความส่วนตัว  เข้าสู่ระบบ(Log in)เข้าสู่ระบบ(Log in)
 
ได้ทำการย้ายไปเว็บบอร์ดแห่งใหม่แล้ว คลิกที่นี่
www.dhammajak.net/forums
15 ตุลาคม 2551
 หลวงตาของเรา (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
ผู้ตั้ง ข้อความ
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 02 ธ.ค.2006, 11:40 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

Image

หลวงตาของเรา
โดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


เรื่องที่ท่านหลวงตามหาบัวอบรมสั่งสอนพระเณรของวัดป่าบ้านตาดนั้นมีมากมาย ได้คัดมาเพียงบางเรื่องดังนี้

มีสติไม่เกี่ยวเกาะ

"...วันคืนยืนเดินนั่งนอนมีแต่การดูหัวใจของตน ซึ่งเป็นสถานที่เกิดขึ้นแห่งเหตุทั้งหลาย ส่วนมากตัวเหตุคือสมุทัยมันเกิดที่ใจ นอกนั้นยังมีเครื่องเสริมให้เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ มีจำนายมากมาย เรียกว่ารอบตัวของเรานี้ มีแต่ทางไหลเข้ามาแห่งกิเลสทั้งหลาย ตากระทบรูป ถ้าสติไม่มีก็เป็นไปเพื่อกิเลส หู จมูก ลิ้น กาย กระทบอะไรที่เป็นคู่เคียงแห่งกันและกัน เช่น เสียง กลิ่น เป็นต้น มันก็เป็นความหมายไปเพื่อกิเลสทั้งนั้น

นี่เรื่องของข้าศึกมีอยู่รอบตัว แม้จิตนั้นแลจะเป็นผู้ที่คิดผู้ปรุงผู้แต่งผู้ให้ความสำคัญมั่นหมาย เพื่อให้กิเลสทั้งหลายกำเริบขึ้นภายในจิตใจของตัวเอง

ไม่ใช่รูปรสกลิ่นเสียง เครื่องสัมผัสทั้งหลายเหล่านั้นมาเป็นตัวภัยเสียเอง แต่เป็นเรื่องของจิตที่ได้พบได้เห็นสิ่งเหล่านั้นแล้วมาวาดภาพขึ้น ตีความสำคัญมั่นหมายออกไปกว้างขวางลึกซึ้งด้วยความเป็นสมุทัย แล้วกลายเข้ามาเป็นทุกข์ เผาลนจิตใจของตนเอง ก็คือจิตใจของเรานี้ ที่คิดออกไปด้วยความไม่มีสติ

ไม่ใช่สิ่งอื่นใดมาเป็นข้าศึกต่อเรา แต่เป็นเพราะจิตไปสัมผัสสัมพันธ์กับสิ่งใดแล้วเกิดกิเลสขึ้น ท่านจึงให้ระมัดระวัง ถ้าไม่ควรจะได้สัมผัสสัมพันธ์ก็อย่าไปสัมผัสสัมพันธ์ คือ ไม่ควรเห็น อย่าเห็นอย่าดู ไม่ควรฟังอย่าฟัง

ดังพระพุทธเจ้าท่านทรงรับสั่งสอนพระอานนท์ ตอนที่พระอานนท์ขึ้นทูลถามพระพุทธเจ้าว่า การปฏิบัติต่อมาตุคาม นี่เป็นต้นนะ จะให้ปฏิบัติอย่างไร คำว่ามาตุคามใครก็ทราบแล้ว อยู่ในสถานที่นี่ ไม่จำเป็นต้องอธิบายออกไป

เรายกตัวอย่างเพื่อให้ตีความหมายไปกับสิ่งต่างๆ ที่เป็นภัย ว่าไม่เห็นเสียเลยละดีอานนท์ นั่นฟังซิ คือ สิ่งที่เป็นภัยใดๆ ก็ตาม เมื่อเห็นเข้าไปแล้วจะเป็นภัย ให้พึงสำรวมเสียก่อน ก่อนที่จะเห็นจะดู ด้วยความไม่ดูไม่เห็นนั้นแลดี อานนท์

นั่น อันนี้ดีนะ หากจำเป็นจะได้เห็นได้ยินจะทำยังไง อย่าพูด คืออย่าสำคัญอย่าครุ่นคิดอย่าติดใจ ในสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยิน อย่าถือมาเป็นอารมณ์ ให้พยายามตัดเสมอๆ กับสิ่งนั้นๆ ที่จะเป็นเครื่องเกี่ยวโยงเข้ามาให้เป็นข้าศึกต่อจิตใจ

นี่ละเราเทียบเพียง ๒ ประโยคเท่านี้ ก็ให้พึงทราบเอาในเรื่องทั้งหลายที่ไม่ควรแก่การบำเพ็ญของเรา มันเป็นสิ่งที่จะมากำจัดการบำเพ็ญนี้ให้ด้อยหรือให้เสียไป จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องความเพียรในสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อตนไปเสีย

จึงต้องได้ระมัดระวัง นี่ละที่ท่านว่าให้ระมัดระวัง ตาเวลากระทบรูป หูเวลากระทบเสียง สิ่งทั้งหลายที่เข้ามาเกี่ยวข้องสัมผัสสัมพันธ์กับอายตนะภายในของเรา คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้พึงระมัดระวังด้วยสติ หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรที่จะเห็นจะดูจะฟังจะสัมผัสถูกต้องสิ่งเหล่านั้น

นอกจากมันจำเป็น ฟังแต่คำว่าจำเป็นนั่นเถอะ 'หากจำเป็นจะได้เห็นเล่าพระเจ้าข้า' ดังพระอานนท์ทูลถามพระพุทธเจ้า 'หากจำเป็นจะได้เห็นได้ดู อย่าพูด' แน่ะ ท่านมีทางเลี่ยงไปอีก 'หากจำเป็นที่จะพูดจะทำอย่างไรล่ะ' 'ให้ตั้งสติให้ดี อย่าให้เป็นไปตามอำนาจแห่งตัณหา' ท่านว่า นั่นฟังซิ สิ่งทั้งหลายก็เหมือนกันเช่นนั้น

กิเลสนี้มีนมีประเภทต่างๆ กัน แต่สิ่งที่กล่าวมายกขึ้นมาเป็นตัวอย่างตะกี้นี้ เป็นประเภทที่หนัก เป็นประเภทที่ถือเป็นข้าศึกจริงๆ สำหรับนักบวชที่ประพฤติแม่เหล็กก็ดูดเอาจนกระทั่งถึงตัวกลิ้งไป ไม่รู้สึกตัวเลย ถลอกปอกเปิกไปก็ไม่รู้ ถูกมันดูดเอา จึงต้องระมัดระวังให้มาก..."

(ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๑๙๕ - ๑๙๖)


การทำความเพียรอย่างจริงจัง

"...นี่เห็นทำความเพียรก็มีแต่กิริยาๆ อาการ ใจไม่ทราบไปไหน หาความจดจ่อต่อเนื่องด้วยความมีสติสตังไม่ได้ แล้วทางจงกรมเป็นยังไงทุกวันนี้ มันไม่ใช่เป็นดงเสือไปหมดแล้วเหรอ มาอยู่นี้มาอยู่กันอะไร นั่งสมาธิมันได้ถึง ๕ นาทีไหมนี่ เดินจงกรมได้พอ ๓๐ นาทีไหม ผมจะอกแตกแล้วนะอยู่กับหมู่กับเพื่อน หนักมากทีเดียว

มองดูแพล็บๆๆ มันหากขวางตาขวางหูอยู่นั่นแหละ มันทำไมถึงขวาง เรารับหมู่เพื่อนไว้ด้วยความเมตตาสงสาร และแนะนำสั่งสอนด้วยความเมตตาแท้ๆ เหตุใดมันจึงขวางหู ขวางตา พิจารณาบ้างซิหมู่เพื่อน มันขวางธรรมมันก็ขวางตาซิ เราคิดเป็นธรรมแท้ๆ กับหมู่กับเพื่อน ดูด้วยความเป็นธรรม บกพร่องตรงไหนๆ มันมีแต่เรื่องกีดเรื่องขวาง ความบกพร่องทั้งนั้น มันจะไม่ขวางยังไง..."

(ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๔)


การฝึกทรมานตัวเอง

"...การฝึกการทรมานตัวเองนั้น คือการฝึกการดัดสันดานกิเลส เราอย่างเข้าใจว่าเราดัดสันดานเรา เราทรมานตัวเรา ถ้าเราว่าเราดัดสันดานเรา เราทรมานเราแล้ว จะก้าวไม่ออกจะทำไม่ลงฝึกไม่ได้นะ กิเลสมันอยู่กับเรา เวลากิเลสมันดัดสันดานเรา เราทำไมไม่คิดบ้างว่าเวลานี้กิเลสดัดสันดาน ความโลภดัดสันดาน ความโกรธดัดสันดาน ราคะตัณหาดัดสันดาน ความรักความชังดัดสันดาน มันดันสันดานอยู่ตลอดเวลา ภายในจิตใจนี้

เราไม่ทราบบ้างหรือว่านี้คือกิเลส แต่เวลาเราจะดัดสันดานมันบ้าง เราจะทรมานมันลงไปให้ถึงขั้นหายพยศ ปรากฏธรรมคือ ความสงบเย็นใจขึ้นภายในจิตใจของเรา ทำไมจึงอิดหนาระอาใจ ว่าเป็นทุกข์หรือกลัวจะเป็นทุกข์ นี่มันก็ไม่ทันกลมายาของกิเลสโดยไม่ต้องสงสัยแหละ ไม่ทันทุกข์ก็ยอมทุกข์ ถึงเวลาจะทุกข์เพราะการต่อสู้ เช่นเดียวกับเขาต่อยกันบนเวที นักมวยไม่ได้คำนึงถึงความเจ็บปวดแสบร้อนประการใด มีแต่หวังจะให้ได้ชัยชนะเท่านั้น นี่ก็เหมือนกัน เราหวังจะได้ชัยชนะจากการต่อสู้กับกิเลส

เพราะเราเคยแพ้มันมานานแสนนานแล้ว ระยะนี้เป็นกาลเป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งแล้ว ที่เราจะเอาชัยชนะจากการต่อสู้กับกิเลส เราจะไปคำนึงถึงความลำบากลำบนนี้ เป็นอันว่าแพ้ตั้งแต่ยังไม่ขึ้นเวทีเลย ให้พากันจำเอาไว้ ครูบาอาจารย์องค์ใดที่ท่านดำเนินมาเป็นสรณะของพวกเราในวงปัจจุบันนี้ ก็ได้เคยศึกษากับท่านมาพอประมาณ องค์ใดก็เดนตายกันทั้งนั้น ฟังแล้วลืมไม่ลงเพราะเป็นอุบายที่เด็ดๆ เผ็ดๆ ร้อนๆ ที่ท่านนำมาใช้

กิเลสไม่ตายท่านก็ตาย นั่นฟังซิ แต่สุดท้ายกิเลสตายท่านยัง ครองวิมุตติธรรมวิมุตติจิตภายในจิตใจ เพราะความผาดโผนโจนทะยานกับกิเลส ท่านไม่มีความท้อถอยอ่อนแอท้อแท้เหลวไหล เหมือนเราๆ ท่านๆ ที่เป็นอยู่เวลานี้ ให้ยึดมาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ถ้าเราอยากชนะกิเลสนี้ถ้าเราเข้มแข็ง มันจะอ่อนตัวลง พอเราอ่อนมันจะเข้มแข็งขึ้นทันที มันอยู่ในฉากเดียวกัน จิตดวงเดียวกันนั้นแล มันเหมือนกับเก้าอี้ตัวเดียวนั่นละ

กิเลสนั่งเราก็ไม่ได้นั่ง เรานั่งกิเลสก็ไม่ได้นั่ง ผลัดกันขึ้นผลัดกันลงอยู่นั้นละ กิเลสอยู่บนเก้าอี้อันเดียวกันนั่นละ นี่กิเลสอยู่บนหัวใจเรา เหมือนกับคนที่นั่งบนเก้าอี้นั่นแหละ ถ้าคนหนึ่งจะนั่งคนหนึ่งก็ต้องลง เอากิเลสก็ต้องให้เป็นอย่างนั้น เอาให้กิเลสมีแต่ลง อย่าให้มันได้ขึ้น สู้กันอย่างนั้น..."

(ก้าวเดินตามหลักศาสนธรรม หน้า ๓๓๖ - ๓๓๗)



(มีต่อ )
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
ปุ๋ย
บัวเงิน
บัวเงิน


เข้าร่วม: 02 มิ.ย. 2004
ตอบ: 1275

ตอบตอบเมื่อ: 02 ธ.ค.2006, 11:52 pm ตอบโดยอ้างข้อความขึ้นไปข้างบน

เรียนแล้วต้องนำมาปฏิบัติ

"...เรียนไปทำไม เรียนไม่สังเกต เรียนไม่พิจารณา เรียนไม่นำมาเป็นคติ เครื่องพร่ำสอนตน จะเกิดประโยชน์อะไร เพราะการเรียนการจดจำเปล่าๆ นั้น ถ้าไม่นำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตนน่ะ..."

(ศาสนาธรรมปลุกคนให้ตื่น หน้า ๔๘๕)


"...เราเป็นมนุษย์ผู้ฉลาดและเป็นชาวพุทธ ต้องดูตัวของตัวเสมอ เพื่อรู้จุดบกพร่อง จะได้แก้ไขดัดแปลงให้ดี ไม่อย่างนั้นไม่ได้เรื่องได้ราวอะไรนะ ศาสนากระเทือนโลกมาได้ ๒,๕๐๐ กว่าปีนี้ สำหรับพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันของเรา ศาสนาพุทธกับเราชาวพุทธได้กระเทือนใจของเราบ้างไหม เป็นอย่างไร มีแต่ สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม สวดกันไปเปล่าๆ ไม่ได้สนใจอรรถสนใจธรรม ไม่ได้สนใจประพฤติปฏิบัติ

ธรรมนั้นจะปรากฏได้อย่างไร ก็มีแต่ลมปากน่ะซิ ศาสนาก็มีแต่ตำราเขียนไว้ในตำราเต็มไปหมด แต่ศาสนาที่แท้จริงซึ่งจะปรากฏขึ้นในใจไม่มี มีแต่กิเลสเต็มหัวใจ บรรจุอยู่เต็มหัวใจมีแต่กิเลส ไม่ได้มีธรรมบรรจุบ้างเลย เกิดประโยชน์อะไร เอาไปพิจารณาดู ถ้าอยากทราบข้อเท็จจริงของศาสนา และ สวากขาตธรรม ประจักษ์ใจ..."

(ศาสนาธรรมปลุกคนให้ตื่น หน้า ๔๘๘)


อย่าว่าผู้อื่น จงดูตัวเอง

"...ไปไหนก็มีแต่กิเลสมันขวางหน้าๆ เสีย ไปวัดนั้นว่าเป็นอย่างนั้น ไปวัดนี้ว่าเป็นอย่างนี้ ไปดูพระองค์นั้นเป็นอย่างนั้น พระองค์นี้เป็นอย่างนี้ ตัวเองเป็นอย่างไร ไม่ดู ไม่คิดบ้างเลย มันได้ประโยชน์อะไร ไปหาดูแต่นอกๆ ไม่สนใจดูตัวเอง

เท้าสะดุดรากไม้หัวตออยู่ตลอดเวลา จนล้มลุกคลุกคลาน ไม่ดูที่สะดุด ดูแต่ต้นไม้ภูเขา ดินฟ้าอากาศโน่น อวกาศโน่น แต่หัวตอที่จะให้โดนสะดุดหัวแม่เท้าอยู่ไม่สนใจดู ความผิดมันอยู่กับเจ้าของไม่ได้อยู่ที่รากไม้หัวตอ จึงควรดูเจ้าของมากกว่าดูสิ่งอื่นใด..."

(ศาสนธรรมปลุกคนให้ตื่น หน้า ๔๘๗)


สถานที่ที่ควรอยู่ควรไป

"...นี่แหละที่ท่านแสดงสถานที่ที่อยู่ ที่ไป ให้เราทั้งหลายได้ปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยกับสิ่งทั้งหลายที่กล่าวมาเหล่านี้ เช่นในป่า ป่าจะมีอะไร ก็มีแต่ต้นไม้ ป่าไม้กับป่าคนต่างกันอยู่มาก ป่าไม้เป็นที่ร่มรื่น ชุ่มเย็นสบาย สบายกายสบายใจ ป่าคนเป็นที่รุ่มร้อน มาทุกด้านทุกทางจากข้าศึกของคน จึงต้องได้ระมัดระวัง นี่ละคำว่าป่าเป็นอย่างนี้ สถานที่ที่เปลี่ยว อยู่คนเดียวดีกว่าอยู่หลายคน อยู่หลายคนมีหลายเรื่องหลายราว

แม้จะเป็นนักปฏิบัติด้วยกัน อยู่ด้วยกันหลายๆ คนก็ยังไม่เหมาะ จะว่าอะไรกับคนทั่วๆ ไปที่ไม่เคยได้รับการอบรมทางอรรถทางธรรมเลย จะไม่เป็นข้อศึกต่อกัน ท่านจึงให้ระมัดระวังให้ไปหาอยู่ตามรุกขมูลร่มไม้ คือว่าโคนต้นไม้บ้าง ในป่าทั่วๆ ไปบ้าง ในถ้ำบ้าง เงื้อมผาบ้าง ชายป่าชายเขา หลังเขาไหล่เขา ที่ไหนเป็นที่สะดวกสบายแก่การบำเพ็ญสมณธรรม และรักษาจิตได้ง่ายกว่ากันกับสถานที่ทั่วๆ ไปแล้ว ให้พึงเสาะแสวงหาในสถานที่เช่นนั้นเถิด

เพราะฉะนั้น บรรดาพระสาวกทั้งหลายบรรลุธรรมท่านจึงมักบรรลุในสถานที่เหมาะสม ตามที่พระโอวาทพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ มากกว่าที่จะบรรลุในตลาดลาดเล เช่นอย่างสมัยทุกวันนี้ก็เรียกว่า เทศบาล ๑ เทศบาล ๒ มีที่ไหน ธรรมท่านมีอยู่ทั่วไป แต่ไม่สามารถที่จะรื้อฟื้นธรรมให้เกิดขึ้นในสถานที่เช่นนั้นได้สะดวกสบายยิ่งกว่าสถานที่เหมาะสม เช่นในป่าในเขาเป็นสำคัญ นี่ละพระพุทธเจ้า ท่านจึงสอนให้พวกเราทั้งหลายได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติบำเพ็ญตามเข็มทิศทางเดิน ที่ทรงแสดงไว้แล้วนั้น อย่าให้เคลื่อนคลาด

ผู้มีความรักในมรรคผลนิพพาน ให้พึงรักให้พึงเคารพในพระโอวาทอันถูกต้อง ดีงามอันตายตัวเพื่อความถูกต้องดีงามทั้งหลายของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้แล้ว อย่าให้เคลื่อนคลาดไป อย่าให้จืดจางภายในจิตใจ ตั้งใจประพฤติปฏิบัติยากก็ตามเถอะ การเดินทางย่อมมีทั้งทางคดทางโค้ง ทางสะดวกขรุขระ มีผสมผเสกันไป แต่สายทางอยู่ที่ตรงนั้น จำเป็นผู้เดินทางต้องผ่านไปตามสายทางที่เป็นเช่นนั้น เราเลือกเอาไม่ได้..."

(ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๑๙๖ - ๑๙๗)


สอนตนให้ได้เสียก่อน

"...อยู่ที่นี่ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ก็นับวันร่อยหรอลงๆ ต่อไปนี้จะไม่มีผู้ชี้แจงอรรถธรรม เพราะถ้าเราไม่สามารถทำความรู้ความฉลาดให้เกิดขึ้นกับเราแล้ว เราสอนเราก็ไม่ได้จะไปสอนอะไรให้คนอื่นเขาได้ดิบได้ดี ถูกต้องแม่นยำ ถ้าเราไม่ถูกต้องแม่นยำเสียคนเดียวก่อน

เวลานี้เป็นยังไงถูกต้องแม่นยำหรือผิดอย่างแม่นยำ ส่วนมากมีแต่ผิดอย่างแม่นยำ กิเลสมันเอาอย่างแม่นยำๆ มันก็ผิดอย่างแม่นยำๆ ของกิเลส ไม่ใช่แม่นยำของธรรม เวลานี้เราอยู่ในขั้นแม่นยำในเรื่องของกิเลสสับเอายำเอา สับตรงไหนตูมเลยๆ แม่นยำทั้งนั้น ธรรมะสับยังไม่ถูกเถลไถล ผิดๆ พลาดๆ ล้มระเนระนาดไปเพราะอำนาจของกิเลสฟันเอาๆ..."

(แสวงโลก แสวงธรรม หน้า ๒๕๗)


"...มีคนนับถือมากน้อยนั่นเป็นเรื่องของเขา ผู้ปฏิบัติธรรมควรระวังเพราะเป็นกังวลวุ่นวาย ไม่สะดวกแก่ความเพียร ไม่ควรยุ่งกับอะไร นอกจากธรรมกับใจสัมผัสสัมพันธ์ กันไม่ตลอดเวลาเท่านั้นเป็นความเหมาะสม ถ้าจิตกลายเป็นโลกสงสาร มันจะเลยโลกไปจนหาเขตหาแดนหากำหนดกฎเกณฑ์ไม่ได้ มีคนนับถือมากเท่าไร ใจพระใจคนมีกิเลสคอยรับกันอยู่แล้ว มันก็ยิ่งฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมลืมเนื้อลืมตัว เผยอเย่อหยิ่งยิ่งกว่าน้ำล้นฝั่งนั่นแล

เพราะมันเป็นเรื่องของกิเลส ไม่ใช่เรื่องของธรรม เรื่องของธรรมต้องสม่ำเสมอ ต้องมีสติไม่ลืมตัวอยู่เสมอ ท่านผู้ปฏิบัติยกตนพ้นทุกข์มาแล้ว ท่านดำเนินดังที่กล่าวมานี่แล ผู้ต้องการพ้นทุกข์อย่างท่าน ก็ต้องปฏิบัติแบบท่าน หรือแบบศิษย์มีครู ไม่ใช่จะปฏิบัติแบบถูลู่ถูกัง อวดตนว่าเก่งไม่ยอมฟังเสียงใคร นั่นคือการปฏิบัติเพื่อขึ้นเขียง เพื่อหอมกระเทียมไม่ใช่เพื่อมรรคผลนิพพาน..."

(เข้าสู่แดนนิพพาน หน้า ๒๔ - ๒๕)


อย่าลืมตัว

"...ไปที่ไหนอย่าลืมเนื้อลืมตัวว่าตนเป็นนักปฏิบัติ เป็นองค์แทนพระศาสดาในการดำเนินพระศาสนา และประกาศพระศาสนาด้วยการปฏิบัติ โดยไม่ถึงกับต้องประกาศสั่งสอนประชาชนให้เข้าใจในอรรถในธรรมโดยถ่ายเดียว แม้เพียงข้อวัตรปฏิบัติที่ตนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้น ก็เป็นทัศนียภาพอันดีงามให้ประชาชนเกิดความเชื่อ ความเลื่อมใส ได้เพราะการได้เห็นได้ยินของตนอยู่แล้ว ยิ่งได้มีการแสดงอรรถธรรมให้ถูกต้องตามหลัก ของการปฏิบัติโดยหลักธรรมของพระพุทธเจ้าด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นการประกาศพระศาสนาโดยถูกต้องดีงาม ให้สาธุชนได้ยึดเป็นหลักใจ ศาสนาก็มีความเจริญรุ่งเรืองไปโดยลำดับในหัวใจชาวพุทธะ..."

(เข้าสู่แดนนิพพาน หน้า ๙๔)


"...เอาเจ้าของให้พอซิ เพื่อพอแล้วใครนับถือไม่นับถือก็เรื่องของเขา ตำหนิก็อยู่ปากเขาโน่น นินทาก็อยู่ปากเขาโน่น อยู่ใจเขาโน้น ดีของเขา ชั่วของเขาต่างหาก เราเป็นแต่เพียงว่าได้ยิน เมื่อสัมผัสพั๊บเราไม่หลงเราก็ไม่บ้า ไปตามลมปากของเขา จะเป็นอะไรไป เอส ธมฺโม สนนฺตโน ความสรรเสริญนินทาเป็นของเก่า เคยมีมาดั้งเดิมแล้ว ท่านสอนว่าอย่างนั้น แล้วตื่นอะไร หาเจ้าของให้พอซิ

อย่าไปหาเอาสิ่งอื่น เอาของคนอื่นเขา เรื่องอื่นเข้ามาเพิ่มให้เขาสรรเสริญ นั่นหาเอามาจากภายนอก ให้เขายกยอเขาสรรเสริญ เขาเลื่อมใสเราถึงจะภูมิใจ อะไรอย่างนั้น คนหิวจะตายอย่างนั้น คนไม่มีธรรมในหัวใจ หาเก็บตกเอาข้างนอกๆ โน่น อะไรที่ไหนตกเก็บเอาๆ ไม่ทราบว่าดีว่าชั่ว ฟาดกิเลสให้พังทลายลงไป ตัวมันอยากๆ นี้ให้พังทลายไปแล้ว อะไรจะมาอยาก..."

(ความลึกลับซับซ้อนของจิตวิญญาณ หน้า ๒๓๐)


"...เราจึงไม่ควรถือเป็นสรณะ เป็นที่ยึดถือให้เสียเวล่ำเวลา ให้กิเลสสร้างตัวขึ้นมา ด้วยการสั่งสม ด้วยการสำคัญตนว่ามีความรู้ความฉลาด ว่าตนมั่งมีศรีสุข ว่ามีบ้านมีเรือนมีบริษัทบริวารมากเพียงเท่านั้น อันเป็นบ่อเกิดของกิเลส อย่าพึงคิดอย่าพึงนึกให้เสียเวล่ำเวลา..."


อย่าติดในลาภสักการะ

"...นี่ละมันวิตกวิจารตรงนี้นะ มันเป็น จะไม่เป็นยังไง สกฺกาโร ปุริสํ หนฺติ ว่าไง ลาภสักการะสำหรับคนโง่แล้วติดเร็วที่สุดเลยจะว่าไง นี่เราแปลทางภาคปฏิบัติ ถ้าแปลทางด้านปริยัติ สกฺกาโร ปุริสํ หนฺติ แปลว่า ลาภสักการะย่อมฆ่าบุรุษที่โง่เขลา นั้นแปลตามปริยัติ ถ้าแปลทางด้านปฏิบัติก็อย่างที่ว่านี้ ทำไมจะแปลไม่ได้ แปลเอาความ เอาอรรถเอาธรรม เอาให้ถึงกิเลส เอาให้ถึงหัวกิเลส ฟาดหัวกิเลสออกไป ด้วยการเข้าใจในธรรมทั้งหลายนี้ซิ..."

(ก้าวเดินตามหลักศาสนธรรม หน้า ๔๑)


คำปรารภของหลวงตา

"...ต่อไปนี้มันจะเทศน์ไม่ได้ ก็เหมือนรถนั่นละ ออกมาจากอู่ใหม่ๆ นี้โถวิ่งเท่าไร วิ่งไปเถอะ พอชำรุดเข้าไปมากๆ แล้วทีนี้มันขับไปสัก ๓ ชั่วโมง กลับมานี่เข้าอู่ซ่อม ๓ เดือนก็ไม่ออก เพราะเครื่องมันเริ่มโปเกแล้ว นี่ก็เหมือนกัน ความจำเสื่อมมาก การเทศน์ไม่เอาขันธ์ใช้จะเอาอะไรใช้ ขันธ์เป็นเครื่องมือทั้งหมด

สำหรับการเทศน์ มีแต่จิตล้วนๆ แสดงออกไม่ได้ ต้องอาศัยอาการของจิต ออกอาการก็ต้องออกตามอวัยวะตามขันธ์ ๕ เช่นอย่างเสียงออกจากความจำความปรุง ความปรุงก็สังขาร ความจำก็สัญญา เหล่านี้ออกมาพร้อมๆ กัน

ถ้าสมมุติว่าสัญญาขาดไปนี่ก็จำไม่ได้ ไม่ทราบว่าเทศน์อะไรต่ออะไร มันเริ่มแล้วนี่ต่อไปนี้ เทศน์ถึง นโม ไม่มีที่ไปเพราะจำไม่ได้ก็จะตั้งแต่นโมทั้งวันจะว่าไง ความจำมันเสื่อม ตั้งมาแล้ว นึกว่าไม่ได้ตั้งเลยจะว่าแต่นโมทั้งวัน ผู้ฟังก็ฟังแต่นโมมันจะเป็นแล้วนะเดี๋ยวนี้..."

(สมถธรรม-วิปัสสนาธรรม หน้า ๒๔๕)


หลักของใจ รวบรวมจากเทศน์ของท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี



.............................................................

คัดลอกจาก
http://www.dharma-gateway.com/
 
ดูข้อมูลส่วนตัวส่งข้อความส่วนตัวMSN Messenger
แสดงเฉพาะข้อความที่ตอบในระยะเวลา:      
สร้างหัวข้อใหม่ตอบ
 


 ไปที่:   


อ่านหัวข้อถัดไป
อ่านหัวข้อก่อนหน้า
คุณไม่สามารถสร้างหัวข้อใหม่
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ
คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลบข้อความของคุณ
คุณไม่สามารถลงคะแนน
คุณ สามารถ แนบไฟล์ในกระดานข่าวนี้
คุณ สามารถ ดาวน์โหลดไฟล์ในกระดานข่าวนี้


 
 
เลือกบอร์ด  • กระดานสนทนา  • สมาธิ  • สติปัฏฐาน  • กฎแห่งกรรม  • นิทานธรรมะ  • หนังสือธรรมะ  • บทความ  • กวีธรรม  • สถานที่ปฏิบัติธรรม  • ข่าวกิจกรรม
นานาสาระ  • วิทยุธรรมะ  • เสียงธรรม  • เสียงสวดมนต์  • ประวัติพระพุทธเจ้า  • ประวัติมหาสาวก  • ประวัติเอตทัคคะ  • ประวัติพระสงฆ์  • ธรรมทาน  • แจ้งปัญหา

จัดทำโดย  กลุ่มเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ธรรมจักรดอทเน็ต
เพื่อส่งเสริมคุณธรรม และจริยธรรมในสังคม
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2546
ติดต่อ webmaster@dhammajak.net
Powered by phpBB © 2001, 2002 phpBB Group :: ปรับเวลา GMT + 7 ชั่วโมง